สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง,เมี่ยน อิวเมี่ยน,ลัวะ,การสื่อสาร,สภาพสังคม,เศรษฐกิจ,น่าน
Author กองควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักนายกรัฐมนตรี
Title สภาพสังคมเศรษฐกิจและพฤติกรรมการสื่อสารของชาวเขาเผ่า เย้า ม้ง และถิ่น ในจังหวัดน่าน ข้อเสนอแนะสำหรับการวางแผนผลิตสื่อเพื่อการเผยแพร่นวัตกรรม
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, ม้ง, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 161 Year 2527
Source กองควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักนายกรัฐมนตรี
Abstract

ในกระบวนการพัฒนาผู้ที่จะนำในการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีคุณสมบัติทางจิตวิทยา และพบว่าการแพร่ขยายของสื่อมวลชนจะช่วยให้คนล้าหลังกลายเป็นคนทันสมัย ดังนั้นนักพัฒนาจึงต้องหยิบใช้เครื่องมือจากสื่อให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับข่าวสารเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งกองควบคุมพืชเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีนโยบายหลักที่จะช่วยให้ชาวเขาลดหรือขจัดการปลูกฝิ่น โดยได้ทำการศึกษาชาวเขาเผ่าเย้า ม้ง ถิ่น ใน 4 หมู่บ้านคือ บ้านละเบ้ายา บ้านกอก บ้านสะกาดเหนือและบ้านสะกาดกลางในจังหวัดน่าน ตั้งแต่วันที่ 3-9 พฤศจิกายน พ.ศ 2526 สภาพสังคมของชาวบ้านทั้ง 4 เขต มีประเพณีของชนเผ่ายึดถือและปฏิบัติกันเป็นรอยรีต และเริ่มมีการรับความเชื่ออื่นเข้ามา เช่น พุทธศาสนา เป็นต้น ด้านเศรษฐกิจเป็นระบบการผลิตเพื่อยังชีพ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ้าง เช่น เมี่ยง ฝ้าย ข้าวโพด และสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมการสื่อสาร ชาวบ้านมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นส่วนมากและมีความสนในต่อการอบรมในเรื่องการเกษตรและการทำมาหากิน โดยวิทยุเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เข้าถึงชาวบ้านมากที่สุด แต่ในรูปแบบอื่นยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านเนื่องจากความไม่เข้าใจ

Focus

ศึกษาสภาพสังคม เศรษฐกิจและพฤติกรรมการสื่อสารของม้ง เย้า และถิ่นในจังหวัดน่าน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ม้ง เย้า และถิ่น ใน 4 พื้นที่ของจังหวัดน่าน คือ บ้านละเบ้ายา ตำบลถืมตอง อำเภอเมือง บ้านกอก ตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียงกลาง บ้านสะกาดเหนือ และบ้านสะกาดกลาง ตำบลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน (หน้า 4,5)

Language and Linguistic Affiliations

ถิ่นจัดเป็นชาวเขากลุ่มหนึ่งในสาขามอญ-เขมร อยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติก (หน้า 20) ม้งถูกจัดเข้าอยู่ในกลุ่มภาษา ตระกูลจีนธิเบต (Sino-Tibetan) (หน้า 23) และเย้า เป็นชาติพันธุ์ที่ได้รับการจัดให้อยู่ในพวกมองโกลอยด์ ทางด้านภาษาศาสตร์ บ้างก็จัดเย้าให้อยู่ในกลุ่มภาษาม้ง-เย้า-ปาเต็ง ในตระกูลภาษาชีโน-ธิเบตัน (จีนธิเบต) บ้างก็ว่าอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร นอกจากนั้นยังมีผู้จัดให้ภาษาเย้าอยู่รวมกับภาษาม้ง ไท กะได อินโดเนเชียน มอญ-เขมร และเวียดนามในตระกูลภาษาโปรโตร-ออสตริค (หน้า 25) ม้งเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีเพียงภาษาพูดโดยไม่มีตัวหนังสือใช้ เสียงพยัญชนะมีมากกว่า 50 เสียง และมีพยัญชนะหลายเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงแตกต่างไปจากพยัญชนะไทย เสียงสระมีประมาณ 14-15 เสียงและเสียงวรรณยุกต์ประมาณ 7-9 เสียง ดังนั้นการใช้ตัวอักษรไทยเขียนภาษาม้ง โดยใช้อักขระวิธีแบบไทยจึงมีความคลาดเคลื่อนจากเสียงที่แท้จริงอยู่มาก (หน้า 36) ภาษาม้งขาวมีความผิดเพี้ยนกับภาษาม้งน้ำเงินอยู่บ้างแต่ยังสามารถใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นที่เข้าใจ (หน้า 38)

Study Period (Data Collection)

3 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

History of the Group and Community

ในพื้นที่ของจังหวัดน่านได้ปรากฎร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์ไม่น้อยกว่า 10,000 ปี มาแล้ว จากการค้นพบหลักฐาน เครื่องมือ เครื่องใช้ของมนุษย์หิน ตั้งแต่สมัยกลางและสมัยหินใหม่ (ราว 3,000 - 4,000 ปี) ตามบริเวณที่ราบบนไหล่เขาและที่ราบลุ่มในหุบเขาใกล้กับลำน้ำหลายแห่งด้วยกัน หลักฐานของมนุษย์สมัยหินกลางค้นพบที่ บริเวณดอยแก้วและดอยชมภูซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำน่าน ใกล้กับบ้านดู่และบ้านเชียงรายได้ค้นพบเครื่องมือหินกะเทาะ แกนหินและสะเก็ดหินพร้อมทั้งได้พบขวานหินขัดในหลายท้องที่เป็นต้นว่า อ.สา อ.ปัว และอ.นาน้อย นอกจากนี้ยังได้ค้นพบเครื่องมือทำการเพาะปลูกบนที่ราบในเขต อ.แม่จริม อันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยหินใหม่ ในยุคโลหะ (ราว 1,700 3 2,000 ปี) ได้ค้นพบเครื่องมือจำพวกพร้า สำริดและขวานบ้อง ส่วนใหญ่จะพบทางใต้ของจังหวัดที่ติดต่อกับจังหวัดแพร่และจังหวัดอุตรดิตถ์ น่านในสมัยประวัติศาสตร์ เริ่มเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18 และต้นพุทธศตวรรษที่ 19 "พญาภูคา" ผู้นำกลุ่มคนไทยเมืองย่าง ได้สร้างเมืองปัว (วรนคร) ในแถบตำบล ศิลาเพชร อ. ปัว ในปัจจุบัน และให้เจ้าขุนฟองราชบุตรเป็นผู้ปกครองเมือง (ตรงกับรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง) ต่อมาปี พ.ศ. 1901 ในสมัยของพระยากลางเมืองซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ต่อมาได้อพยพผู้คนมาตามลำน้ำน่านและสร้างเมืองใหม่บริเวณ ดอยภูคาแช่แห้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 1911 เกิดความแห้งแล้ง พระยาผากองซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครในขณะนั้นจึงได้อพยพผู้คนไปสร้างเมืองใหม่บริเวณห้วยไค้ อันเป็นที่ตั้งของเมืองน่านในปัจจุบัน แล้วขนานนามเมืองว่า "เมืองน่าน" หรือนันทบุรี หลังจากเจ้าผาแสงถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2004 เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ส่งขุนนางมาปกครองเมืองน่านแทน จนถึงปี พ.ศ. 2257 น่านก็อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงค์กษัตริย์พม่าคือเจ้าฟ้าเมียวซา ซึ่งเมื่อถึงแก่พิราลัยขุนนางชาวเมืองน่านได้ขอพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์พม่าเพื่ออัญเชิญเจ้าพระยาหลวงติ๋นมหาวงค์ เจ้าเมืองเชียงใหม่มาเป็นผู้ปกครองในปี พ.ศ. 2269 จนกระทั่งมีการยกเลิกการปกครองโดยเจ้าผู้ครองนครในปี พ.ศ. 2474 (หน้า 10-11) "ถิ่น" อพยพเข้าประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ 60 - 80 ปีมาแล้วโดยอพยพจากประเทศลาวเข้ามาอยู่ในจังหวัดน่าน แต่ในหนังสือบางเล่ม ผู้เขียนมีความเห็นว่าถิ่นอาจอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานก่อนที่คนไทยอพยพมาจากประเทศจีนก็ได้ เพราะถิ่นอาศัยอยู่ตามพรมแดนไทยลาวโดยไม่ทราบเส้นกั้นอาณาเขตของประเทศ ส่วนการอพยพครั้งใหญ่นั้น เมื่อเกิดมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาวเป็นระบบสังคมนิยมในปี พ.ศ.2518 (หน้า 20) "เย้า" มีชื่อปรากฎในเอกสารของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราชและได้เริ่มอพยพโยกย้ายลงมาทางใต้ของจีนเมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตศักราช รายงานบางฉบับกล่าวว่าเย้าได้อพยพลงมาทางใต้เข้าสู่ตังเกี๋ยเมื่อคริสตวรรษที่ 4 แต่ส่วนมากมีความเห็นว่าการอพยพของเย้าเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา กล่าวกันว่าเย้าเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้เองคือหลัง ค.ศ. 1800 และเย้ากลุ่มใหญ่ได้เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 (หน้า 25) และเล่ากันว่าในอดีตกาลเย้ามีรูปแบบการปกครองที่มีหัวหน้าสูงสุดเป็นกษัตริย์ด้วย (หน้า 28) หลักฐานเก่าแก่ที่สุดตามประวัติศาสตร์จีนที่มีเอ่ยถึงม้ง คือ เมื่อประมาณศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสตกาลหรือประมาณ 4,600 กว่าปีมาแล้วแม้กระนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่กล่าวถึงแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของชนเหล่านี้ นักเขียนหลายคนได้ตั้งข้อสมมติฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของม้งแตกต่างกันไปหลายประการ แต่หลักฐานที่ปรากฎพวกเขาได้อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองแล้วต่อมาได้มีการปะทะกับชาวจีนมีศึกสงครามอยู่เรื่อยมาแล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ลาว ไทยในที่สุด ประมาณกันว่าม้ง อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมานี้เอง (ประมาณ พ.ศ.2393) โดยแยกเคลื่อนย้ายกันมาเป็น 3 เส้นทาง คือบริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศลาว ที่จังหวัด เชียงราย น่าน และเลย (หน้า 30)

Settlement Pattern

หมู่บ้าน "ถิ่น" จะมีบ้านตั้งแต่ 5-7 หลังคาเรือน การปลูกบ้านของ "ถิ่น" ไม่มีระเบียบต่างคนต่างปลูก บ้านแต่ละหลังไม่มีรั้ว แสดงอาณาเขตของบ้านโดยอาศัยแนวต้นไม้ ส่วนบ้านจะปลูกยกพื้นสูง สร้างด้วยไม้ไผ่หรือไม้เบญจพรรณ ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงในเวลากลางคืน หรือบางบ้านอาจมีคอกสัตว์แยกต่างหาก ส่วนยุ้งข้าวนั้นถ้ามีข้าวไม่มากก็จะทำไว้บนบ้าน ถ้ามีข้าวมากและบ้านแคบเกินไปก็มียุ้งข้าวสร้างขึ้นต่างหาก (หน้า 21) หมู่บ้าน "เย้า" มีขนาดหมู่บ้านประกอบด้วยบ้านตั้งแต่สองสามหลังไปจนถึงร้อยหลังคาเรือน เป็นครัวเรือนของ "เย้า" จากหลายตระกูล โดยมีหนึ่งหรือสองตระกูลที่จะมีสมาชิกมากและเป็นตระกูลของผู้นำหรือผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน (หน้า 26) ม้งตั้งหมู่บ้านอยู่ในระดับความสูงแตกต่างกันตั้งแต่ระดับความสูงเกินกว่า 3,000 ฟุตลงมาจนถึงระดับพื้นราบ ขนาดของหมู่บ้านโดยเฉลี่ยมีประมาณ 21-30 หลังคาเรือน ลักษณะของบ้านเป็นเรือนไม้ปลูกคร่อมลงบนพื้นดินโดยจะปลูกบ้านหันหน้าไปตามลาดเขา ภูมิประเทศที่เหมาะสมในการตั้งหมู่บ้านคือพื้นที่ลาดเขา มีลำห้วยอยู่บริเวณใกล้เคียงเบื้องหลังลำห้วยออกไปมีแนวเขาสับหว่างกันขวางอยู่ (หน้า 33-34)

Demography

เขตสะกาดเหนือ มีประชากร 86 ครัวเรือน เขตสะกาดกลางมีประชากร 215 ครัวเรือน เขตละเบ้ายามีประชากร 130 ครัวเรือน และเขตบ้านกอกมีประชากร 48 ครัวเรือน (หน้า 6) "ถิ่น" ในประเทศไทยที่ศูนย์วิจัยชาวเขาได้รวบรวมไว้ ในปี 2522 มีจำนวน 47 หมู่บ้าน 3,231 หลังคาเรือน และประชากร 19,700 คนโดยอาศัยอยู่ใน 6 อำเภอของจังหวัดน่านทั้งหมด โดยเฉพาะที่อำเภอปัว มีมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีถิ่นอพยพจากประเทศลาว อยู่ในศูนย์อพยพบ้านน้ำยาว อ.ปัว และศูนย์อพยพบ้านสบตวง อ.แม่จริม จังหวัดน่าน ประมาณ 4,000 คน (หน้า 21) เชื่อกันว่ามีเย้าในเอเชียอาคเนย์ทั้งหมดประมาณไม่เกิน 8,000,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ รายงานบางฉบับกล่าวว่าใน พ.ศ.2473 มีเย้าในประเทศไทย 3,000 คน และข้อมูลของศูนย์วิจัยชาวเขารายงานว่ามีเย้ากระจายตัวอยู่ใน 9 จังหวัดในภาคเหนือ คือเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร ประมาณ 23,801 คน (หน้า 26) ปัจจุบันประชากรม้งที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย ยังไม่อาจยืนยันอย่างแน่ชัดถึงตัวเลขที่แน่นอนและถูกต้องได้ แต่มีแหล่งอ้างอิง 2 แหล่งที่นำมาพิจารณา คือการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชาวเขาภาคเหนือในประเทศไทย พ.ศ. 2508-2509 ว่ามีจำนวนประชากรม้งในจังหวัดน่าน 9,454 คนและรวมทั้งหมด 53,031 คน และแหล่งที่ 2 คือทำเนียบหมู่บ้านชาวเขาประจำปี 2521 โดยโครงการรวบรวมข้อมูลชาวเขาของศูนย์วิจัยชาวเขา ว่ามีชาวเขาเผ่าม้งในจังหวัดน่าน 7,173 คน และรวมทั้งหมด 39,304 คน (หน้า 30,31)

Economy

การผลิตของ "ถิ่น" เป็นการผลิตเพื่อการยังชีพที่ต้องมีการปลูกข้าวไร่ให้พอกินตลอดปีเป็นหลัก ส่วนรายได้ที่เป็นเงินสดนั้น ถิ่นจะหาได้จากการล่าสัตว์ ขายสัตว์เลี้ยง การรับจ้างหรือหาของป่าไปขาย นอกจากข้าวไร่ที่ปลูกกันทุกหมู่บ้านแล้วก็มีบางหมู่บ้านที่เริ่มทำนาดำ พืชที่ปลูกมีทั้งข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชผักต่างๆ บางหมู่บ้านมีการเก็บชาป่ามาทำเมี่ยง เพื่อขายต่อไป และบางหมู่บ้านแถบตำบลบ่อเกลือเหนือและบ่อเกลือใต้ มีการทำนาเกลือเพื่อขายให้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย (หน้า 24) "เย้า" เป็นเกษตรกรที่ทำไร่ "เลื่อนลอย" ปลูกข้าวเพื่อการบริโภค และปลูกข้าวโพดบ้างเพื่อเลี้ยงสัตว์และบริโภคบ้าง แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ปลูกข้าวโพดเพื่อการค้ามากขึ้น เย้าเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเกษตรกรที่มีความชำนาญในการปลูกฝิ่น และหมู่บ้านเย้าที่อยู่ในระดับความสูงมากๆ ยังคงปลูกฝิ่นอยู่ แต่ลดปริมาณการปลูกลงมากแล้ว หมู่บ้านเย้าจำนวนมากได้อพยพลงสู่ที่ต่ำและบ้างก็เลิกปลูกฝิ่นโดยเด็ดขาด หันมาปลูกข้าวโพดและฝ้ายแทน การทำไร่ของเย้าคล้ายกับของกะเหรี่ยง กล่าวคือ ถ้าเป็นป่าทุติยภูมิจะทำการปลูกข้าวเพียงปีเดียวแล้วหมุนเวียนไร่ แต่ถ้าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อาจทำถึง 1-3 ปี (หน้า 26) ม้งทำเกษตรกรรมแบบทำไร่ "เลื่อนลอย" โดยการโค่นถางป่าและเผาเพื่อปลูกพืช จนเมื่อดินหมดความอุดมสมบูรณ์จึงอพยพย้ายถิ่นเสียครั้งหนึ่ง พืชหลัก 3 ชนิดที่ชาวเขาเผ่าม้งปลูกกันมาแต่ดั้งเดิมคือ ฝิ่น ข้าว และข้าวโพด (หน้า 32) หัวหน้าครัวเรือนเกือบทั้งหมดใน 4 เขต ทำสวนทำไร่เป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพรองในบางหมู่บ้าน และอาชีพรองเป็นการทำการเกษตรเช่นกัน เช่น ทำสวนครัวหรือสวนเมี่ยง เฉพาะที่บ้านละเบ้ายา มีอาชีพขอทานเพียง 1 ราย ที่เขตสะกาดกลางไม่มีอาชีพ 1 ราย (หน้า41) ส่วนอาชีพของคู่สมรสพบว่าส่วนใหญ่ทำไร่ทำสวนเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 50 ไม่มีอาชีพรอง ยกเว้นเขตบ้านกอกที่เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพรอง นอกนั้นจะเป็นการเกษตรชนิดที่ไม่ซ้ำกับอาชีพหลัก ที่เขตสะกาดกลาง และเขตละเบ้ายามีผู้ระบุทำสวนส้มเป็นอาชีพรองเขตละ 1 ราย เนื่องจากอาชีพหลักของชาวเขา คือ การทำไร่ทำสวนจึงพบว่ารายได้ของแต่ละครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก (หน้า 42) มีการใช้ยาปราบศรัตรูพืชบ้างบางส่วนแต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากไม่เคยรู้จักและไม่มีเงินซื้อ (หน้า 55) ลักษณะการจำหน่ายผลผลิตพบว่า นอกจากการผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้วยังมีผลผลิตที่มีคนมารับซื้อถึงที่แต่เป็นจำนวนที่ไม่มาก เช่น เมี่ยง เป็นต้น (หน้า 60)

Social Organization

การแต่งงานของ "ถิ่น" ในบ้านหลังหนึ่งๆ อาจประกอบไปด้วยครอบครัวเดี่ยว (เป็นครอบครัวใหม่) หรือครอบครัวขยาย ซึ่งเกิดจากการที่ลูกสาวแต่งงานและนำสามีเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย ถ้าหากมีลูกสาวหลายคนก็มีหลายครอบครัว ครอบครัวของพี่สาวคนโตสามารถแยกไปตั้งบ้านใหม่ได้ ส่วนครอบครัวของลูกสาวคนเล็กจะต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ตลอดไป จึงทำให้ถิ่นอยากได้ลูกสาวมากกว่าลูกชาย เพราะเมื่อแต่งงานแล้วลูกชายต้องไปอยู่บ้านภรรยาทำให้ครอบครัวขาดแรงงาน ถิ่นมีการสืบสายหรือนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายมารดา ผู้ชายที่แต่งงานแล้วต้องตัดขาดจากผีเดิมมานับถือผีของฝ่ายภรรยา (หน้า 21) และเมื่อมีลูกแล้วลูกก็นับถือผีฝ่ายมารดาเช่นกัน ถิ่นที่นับถือผีเดียวกันจะมีอยู่เฉพาะภายในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเครือญาติของแต่ละคน การใช้นามสกุลของถิ่นไม่สามารถบอกลักษณะความเป็นพี่น้องกันได้เพราะในหมู่บ้านหนึ่งจะมีเพียง 1 นามสกุลเท่านั้น ส่วนนามสกุลที่นอกเหนือจากนี้แสดงถึงการอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านทีหลัง ถิ่นนิยมแต่งงานกับคนในหมู่บ้านเดียวกันมากกว่าคนจากหมู่บ้านอื่น และไม่นิยมได้เสียกันก่อนแต่งงาน เพราะเป็นที่รังเกียจของคนในหมู่บ้านและจะต้องมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษและถูกปรับไหม พิธีแต่งงาน จะกระทำขึ้นที่บ้านฝ่ายหญิง มีการเลี้ยงผีและให้พรของผู้อาวุโสและเลี้ยงเพื่อนบ้านที่มาช่วยงาน จากนั้นฝ่ายชายก็จะมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง ผู้ชายจะมีภรรยาได้เพียงคนเดียว ถึงแม้ว่าฐานะดีก็กระทำมิได้นอกจากต้องหย่าขาดจากภรรยาคนเดิมเสียก่อน จึงทำให้การหย่าร้างของคู่แต่งงานเกิดขึ้นเสมอ แต่ในการหย่าร้างต้องได้รับการอนุญาตจากผู้อาวุโสเสียก่อน (หน้า 22) ครอบครัวและการแต่งงานของม้ง องค์กรขั้นพื้นฐานที่สำคัญ คือครอบครัวและแซ่สกุล ม้งมีระบบการนับถือผู้อาวุโสอย่างเคร่งครัด โครงสร้างของครอบครัวเป็นแบบครอบครัวขยาย มีรูปแบบครอบครัวเดี่ยวที่แตกออกมาจากครอบครัวขยาย และภายหลังได้เปลี่ยนรูปแบบกลับไปเป็นครอบครัวขยายในที่สุด ในครอบครัวชายเป็นใหญ่กว่าหญิงและเป็นหัวหน้าครัวเรือน ผู้อาวุโสสูงฝ่ายชายเป็นบุคคลสำคัญภายในแซ่ อันเป็นลักษณะการปกครองแบบชายเป็นใหญ่ การแต่งงานนิยมแต่งงานภายในเผ่า แต่ห้ามมิให้แต่งงานภายในสกุลเดียวกัน หญิงและชายอาจมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงานได้ แต่เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชาย จะต้องออกจากแซ่สกุลเดิมของตน (หน้า 23) และภายในหมู่บ้านจะมีประเพณีขนบธรรมเนียมของหมู่บ้านที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาซึ่งเรียกรีตหรือฮีต เป็นกฎหมายของหมู่บ้านด้วย (หน้า 24) การแต่งงานของเย้า เย้าเป็นกลุ่มที่มีระบบการแต่งงานกับคนในชาติพันธุ์เดียวกัน แต่การปฏิบัติในปัจจุบันได้คลายความเคร่งครัดลงมาก มีการแต่งงานกับคนนอกเผ่ามากขึ้น เย้ามีลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย นิยมให้ลูกชายนำภรรยาเข้ามาอยู่ร่วมกับครอบครัวของบิดามารดาเป็นเวลาหลายปี มีบิดามารดาเป็นหัวหน้าครัวเรือน มีอำนาจเด็ดขาดเหนือบุตรทั้งหลาย ครอบครัวของบุตรจะทำไร่ของตนเอง ยกเว้นบุตรที่ยังไม่ได้แต่งงานจะทำไร่กับบิดามารดาผลผลิตที่ได้จากไร่จะนำมาบริโภคร่วมกันยกเว้นรายได้จากการปลูกฝิ่น ถือว่าเป็นทรัพย์ของแต่ละครอบครัว การมีภรรยาหลายคนเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับเนื่องจากเย้ายังถือว่าคนเป็นแรงงานและครอบครัวต้องแสวงหาแรงงานจึงต้องการมีบุตรมาก อย่างไรก็ตามการแต่งงานต้องใช้จ่ายเงินมากการมีภรรยาหลายคนจึงนิยมปฏิบัติกันแต่เฉพาะผู้มีฐานะความเป็นอยู่มั่งคง หรือ ภรรยาคนแรกไม่สามารถมีบุตรให้สืบสกุล แต่ไม่ทำกันอย่างแพร่หลายเพราะเย้ามีการรับเด็กจากภายนอกเข้าเป็นบุตรบุญธรรม การแต่งงานกับภรรยาคนแรกมักจะประกอบพิธีกรรมใหญ่โตเชิญคนไปกินเลี้ยงทั้งหมู่บ้าน หากเจ้าบ่าวเป็นคนมีฐานะพอที่จะจ่ายค่าตัวเจ้าสาวได้หมดหรือจ่ายได้ส่วนใหญ่ พิธีแต่งงานจะกระทำเป็นงานใหญ่ 3 วัน 3 คืนที่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อแต่งงานแล้วภรรยาจะอาศัยอยู่กับสามีตลอดไป บุตรที่เกิดมาจะนับถือบรรพบุรุษของบิดา แต่หากเจ้าบ่าวยากจนจ่ายค่าตัวเจ้าสาวได้เล็กน้อย พิธีแต่งงานอาจจะจัดที่บ้านเจ้าสาวด้วยพิธีกรรมเล็กๆ มีการกินเลี้ยงภายในวันเดียว เมื่อแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวจะอาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยา ทำงานรับใช้เพื่อแลกกับเงินค่าตัวเจ้าสาว เมื่อครบกำหนดที่ตกลงกันไว้สามีสามารถจะนำภรรยากลับไปอยู่กับครอบครัวของตนได้ บุตรที่เกิดในระยะที่ขึ้นเขย จะต้องนับถือบรรพบุรุษและสืบตระกูลของฝ่ายแม่ นอกจากนั้น ถ้าหากชายยากจนจริงๆ และครอบครัวฝ่ายหญิงมีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชายอาจต้องอาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยาตลอดชีวิตก็ได้ (หน้า 27)

Political Organization

การปกครองของถิ่นเป็นไปอย่างง่าย มีหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ปกครองสูงสุด ซึ่งอาจได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของคนในหมู่บ้าน ตลอดจนเป็นผู้รักษาระเบียบประเพณีของเผ่า นอกจากนี้ยังมี เจ้าฮีต หมอผี และคณะผู้อาวุโส เป็นคณะกรรมการของหมู่บ้านด้วย ซึ่งมีกฎระเบียบในการปกครอง (หน้า 22) เย้า มีรูปแบบการปกครองที่ให้ความสำคัญในระดับหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะมีหัวหน้าซึ่งมักได้แก่ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น และตำแหน่งหัวหน้าจะตกทอดจากพ่อสู่ลูก เมื่อหมู่บ้านเย้าถูกจัดให้อยู่ในระบบการปกครองของไทย หมู่บ้านเย้าก็กลายเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล หัวหน้าหมู่บ้านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในกรณีที่มีคนไทยพื้นราบเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่หากหมู่บ้านเย้าได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล เย้าก็จะได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและอาจมีหัวหน้า 2 คน ซึ่งเป็นหัวหน้าทางราชการซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับทางราชการ และหัวหน้าทางจารีตประเพณี ซึ่งลูกบ้านจะให้ความเคารพยำเกรงกว่าคนแรก กิจกรรมใดของหมู่บ้านที่ต้องการการตัดสินใจ หัวหน้าหมู่บ้านมักจะหารือกับผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือน คล้ายๆ กับการมีสภาที่ปรึกษาอาวุโส (หน้า 28) ระบบการปกครองของม้งในหมู่บ้าน เริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดคือ จากหัวหน้าครอบครัวมาสู่หัวหน้าครัวเรือนและผู้อาวุโสของแซ่สกุล ตามปกติถ้าหมู่บ้านหนึ่งมีหลายสกุล ผู้ที่มีอิทธิพลที่สุดในหมู่บ้าน หรือกล่าวได้ว่าเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ก็คือผู้อาวุโสของสกุลที่มีสมาชิกมากที่สุดในหมู่บ้าน สำหรับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในสกุลเดียวกัน ผู้อาวุโสในสกุลนั้นอาจตัดสินให้เสร็จสิ้นไปได้ แต่ในกรณีพิพาทระหว่างสกุล หัวหน้าหมู่บ้านจะต้องเชิญผู้อาวุโสสกุลอื่นมาร่วมในการพิจารณาด้วย และหากมีการปรับค่าปรับไหม ก็จะถูกแบ่งให้ผู้ร่วมตัดสินทุกคนรวมทั้งผู้ชนะคดีด้วย(หน้า 34)

Belief System

ถิ่น ส่วนมากยังนับถือผี เช่น ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีประจำหมู่บ้าน เป็นต้น และเชื่อว่าปรากฎการณ์ต่างๆ นั้นเกิดจากการกระทำของผีซึ่งมีทั้งดีและร้ายทำให้เกิดการเจ็บป่วย จึงต้องมีการเซ่นเลี้ยงผีในโอกาสต่างๆ เป็นประจำ แต่มีถิ่นบางหมู่บ้านเริ่มหันมานับถือพุทธศาสนาบ้าง มีการทำบุญที่วัด แต่จะเลี้ยงผีเฉพาะประเพณีที่สำคัญของเผ่าเท่านั้น (หน้า 24) เย้า นับถือผีบรรพบุรุษ และได้รับอิทธิพลจากจีนมาก มีรูปเคารพซึ่งเชื่อว่าเป็นผีใหญ่คุ้มครองโลกมนุษย์และโลกของผี ในแต่ละบ้านจะมีหิ้งผีสำหรับเชิญผีบรรพบุรุษมาสิงสถิตย์เมื่อจัดพิธีกรรมต่างๆ เย้ามีวันปีใหม่และวันเชงเม้งซึ่งตรงกับของจีน ชาวเย้าทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วถือว่าเป็นคนดิบถ้าตายต้องนำไปฝัง แต่ถ้าเป็นคนสุกแล้วด้วยการผ่านพิธีบวชตามประเพณีกวางตุ้งและโตไช เมื่อตายต้องเผา การเจ็บป่วยถือว่าเป็นการกระทำของผีร้ายต่างๆ และขวัญจะออกจากร่างกาย การรักษาจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ทำพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ร่างกายแล้วเท่านั้น ในปัจจุบันเย้าเริ่มหันไปนับถือศาสนาพุทธ มีการส่งบุตรหลานไปบวชเป็นพระและสามเณร และมีเย้าที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วยเช่นกัน (หน้า 28) ม้ง มีการบูชาผีบรรพบุรุษแนวความคิดทางศาสนาจัดอยู่ในระดับ "Animism" และความเชื่อในเรื่องผีนี้เกี่ยวพันกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ผีตามความเชื่อของม้งแบ่งได้ดังนี้ 1. ผีฟ้า เป็นผีที่สิงสถิตย์อยู่บนฟ้า มีอิทธิพลเหนือมนุษย์ เช่น - เหย่อโช้ว เป็นผู้ดูแลโลก กล่าวกันว่ามีเสียงเป็นฟ้าร้องและมีอาวุธเป็นสายฟ้า - ยุ่วั้งตั่วเต่ง มีหน้าที่สอบสวนวิญญาณคนตายและเป็นผู้อนุญาตให้คนและสัตว์ไปเกิดใหม่ได้ - ยงเหล่า มีหน้าที่ไม่แน่ชัดบ้างกล่าวว่าเป็นหัวหน้าผีฟ้าทั้งปวง บ้างก็ว่าเป็นผู้มาเอาชีวิตคนไป - หนะสือกลั๊ง เป็นผีแม่ผีพ่อของทารก ก่อนจะมาเกิดยังโลกมนุษย์ - ก๊ะยิ่ง เป็นผู้สามารถให้บุตรแก่คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรได้ถ้าประกอบพิธีพิเศษขึ้น 2. ผีเรือน เป็นผีที่อยู่ภายในบ้านเรือน ได้แก่ ผีประตู ผีเตาไฟใหญ่ ผีเตาไฟเล็ก สื่อกั๋ง ผีบรรพบุรุษ ผีครู (ในกรณีที่คนในบ้านเป็นหมอผี) ผียา (ในกรณีที่คนในบ้านเป็นหมอยา) ผีกลอง ในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะมีกลองที่มีผีอยู่เพียงใบเดียวเพื่อใช้ในพิธีศพและกลองนี้จะตกทอดสู่ลูกหลานต่อไป บางหมู่บ้านอาจไม่มีกลองชนิดนี้ เมื่อมีการตายก็จะทำกลองขึ้นใช้ชั่วคราวและเมื่อเสร็จพิธีก็จะทำลายทิ้งไป 3. ผีทั่วไป ได้แก่ ผีป่า ผีดอย ผีไร่ ผีนา ผีจอมปลวก เป็นต้น ถ้ามีการทำผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดมักจะให้โทษเจ็บป่วยจนถึงตายได้ จึงต้องมีการเซ่นสรวงเป็นกรณีๆ ไป (หน้า 35)

Education and Socialization

พบว่า เขตสะกาดเหนือ มีผู้ไม่ได้รับการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 29 และมีผู้จบการศึกษาหรือเทียบเท่า 3 ราย เขตสะกาดกลางมีผู้จบการศึกษามีผู้จบประถมศึกษาคิดเป็นร้อยละ 15.4 และไม่เคยศึกษาเลยร้อยละ 7.7 และเขตบ้านกอกมีผู้ไม่เคยเข้ารับการศึกษาเลยร้อยละ 40 เขตที่มีการศึกษาดีคือ เขตสะกาดกลาง และละเบ้ายา ส่วนบ้านกอกเป็นเขตที่ไม่มีการศึกษาเลย ส่วนระดับการศึกษาของผู้หญิงพบว่าส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย (หน้า 41)

Health and Medicine

ในเขตสะกาดเหนือมักมีผู้คนล้มป่วยด้วยไข้มาลาเรีย และไข้หวัดมากที่สุด และโรคระบบทางเดินอาหารเป็นอันดับสอง ในเขตสะกาดกลาง มีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดมากที่สุด (หน้า 45) เขตละเบ้ายา จะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารมากที่สุด และเขตบ้านกอก ป่วยเป็นไข้มาลาเรียมากที่สุด เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ ชาวเขาทั้ง 4 เขตส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการกระทำของสิ่งลึกลับหรือผีลงโทษ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีแนวโน้มที่เกิดความไม่แน่ใจและไม่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ และเริ่มไม่แน่ใจว่าการรักษาโดยพ่อมอหมอผีจะรักษาให้หายได้ (หน้า 46) น้ำดื่มน้ำใช้ของชาวเขาทั้ง 4 เขตมักจะได้จากลำห้วยเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีการต้มก่อนดื่ม มักขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจาก ขาดแหล่งน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวเขามักอาบน้ำกันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งทุกวัน มีการแปรงฟันทุกวันเช่นกัน แต่ก็มีเป็นจำนวนน้อยที่ไม่ได้แปรงฟันซึ่งมักเป็นคนแก่และเด็ก ทุกหมู่บ้านทารกจะได้รับข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าเป็นอาหารหลักแต่เพียงอย่างเดียวโดยคลุกผสมน้ำตาลมีทั้งข้าวสวยและข้าวต้ม รองลงมาเป็นนมแม่และกล้วย ยกเว้นที่บ้านสะกาดกลาง ละเบ้ายา และบ้านกอก ที่ให้อาหารประเภทเนื้อมากกว่านมและกล้วย โดยทั่วๆ ไปเด็กทารกไม่มีลักษณะของโรคขาดสารอาหารและไม่ซีดเหลือง การให้ภูมิคุ้มกันโรค ในบ้านสะกาดเหนือและสะกาดกลางมีเด็กได้รับภูมิคุ้มกันโรคมากกว่าที่บ้านละเบ้ายาและบ้านกอก อาหารหลักของชาวบ้านคือผักและน้ำพริก อาหารประเภทโปรตีนได้รับเป็นส่วนน้อย (หน้า 47) กล่าวคือชาวเขาทั้ง 4 หมู่บ้านได้รับสารอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ โดยขาดสารอาหารประเภท เกลือแร่ ไขมันและเนื้อสัตว์ ชาวเขาทั้ง 4 เขตมีการคุมกำเนิดโดยการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นส่วนน้อย แต่มีการทำหมันชาย เป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบแหล่งจำหน่ายยาคุมกำเนิด ทัศนคติในการสูบฝิ่นของชาวเขา คือ ในเขตสะกาดเหนือส่วนใหญ่เห็นว่าการสูบฝิ่นไม่ทำให้เกิดโรคแต่อย่างใด เขตละเบ้ายาส่วนใหญ่เห็นว่าทำให้เสียเงิน และทำให้ร่างกายอ่อนแอทำมาหากินไม่ได้ ส่วนเขตบ้านกอกเห็นว่าฝิ่นทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสียทรัพย์(หน้า 48) ส่วนการรักษาแบบดั้งเดิมมีระบุแค่การรักษาของม้งว่า หมอผีมีบทบาทสำคัญมากในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แม้ว่าม้งจะมีวิธีการรักษาผู้ป่วยอยู่หลายวิธีแต่การใช้หมอผีเป็นผู้รักษานับเป็นวิธีที่นิยมกันอย่างมาก โดยมีหมอผีอยู่ 2 ประเภท คือ หมอผีที่ผีเข้า เรียกกันว่า "เน่งเท่อ" การที่ผีเข้าจะเป็นได้ก็โดยความประสงค์ของผีเท่านั้น และหมอผีที่ใช้คาถาเรียกว่า "เน่งเก่อ" หรือผีเรือน โดยเรียนจากคนที่เป็นหมอผีคาถาอยู่แล้วซึ่งใครที่อยากเป็นก็สามารถเรียนเอาได้ (หน้า 36)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชาวเขาเผ่าม้งรู้จักการทอผ้าใช้เอง การย้อมผ้า การทำเครื่องเงิน การตีเหล็ก ถึงขั้นรู้จักการทำอาวุธปืนซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากจีน การทำกระดาษใช้เอง และมีเครื่องดนตรีหลายชนิด เช่น ขลุ่ย เเคน ใช้ในงานศพและงานบันเทิง และเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "หยั่ง" ลักษณะคล้ายจ้องหน่อง ใช้เป่าเป็นเพลง และใช้เป็นเครื่องมือเรียกหญิงสาวให้ออกมาหาในเวลากลางคืน รวมทั้งเพลงร้องซึ่งมีมากมาย ลักษณะการเต้นรำมีปรากฎเฉพาะเพศชาย มีทั้งการฟ้อนแคนและการรำดาบ มีการโยนลูกบอลผ้าระหว่างหนุ่มสาว และการเล่นลูกข่างในวันปีใหม่ (หน้า 36)

Folklore

"เย้า" เรียกตนเองว่า "เมี่ยน" มีความหมายว่า "คน" และจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า "เย้า" คนไทยก็เรียกเช่นนั้นด้วย คำว่า "เย้า" กล่าวกันว่าหมายถึง สุนัขป่าเถื่อน หรือผู้สืบสายจากสุนัข ตามนิยายปรัมปราที่เล่ากันมาว่า บรรพบุรุษของเย้าเป็นสุนัขมังกรสีเหลือง ชื่อ "พั่นหู" ในเวียดนามและลาวเรียกชนกลุ่มนี้ว่า "หม่าน" (หน้า 25) ตามความเชื่อของชนเผ่าม้ง "เหย่อโช้ว" เป็นผีฟ้าชนิดหนึ่ง มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลโลก มีตำนานเล่ากันมาว่า กาลครั้งหนึ่ง "เหย่อโช้ว" ได้ลูกชายแต่ภรรยาของตนไม่มีน้ำนมจะเลี้ยงลูก ตนจึงไปขอน้ำนมจากม้งแต่กลับถูกปฏิเสธ เหย่อโช้วจึงโกรธมากและได้สาปแช่งไว้ว่าถ้าหญิงม้งให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกของตนกินนม คนผู้นั้นจะต้องตาย ซึ่งจวบจนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดกล้าฝ่าฝืนเลย (หน้า 35)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

เย้าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถในการปรับตัว มีการติดต่อกับสังคมพื้นราบอย่างกว้างขวาง และรับเอาวัฒนธรรมของคนพื้นราบไปใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแต่งกาย มีความสนใจให้บุตรหลานได้รับการศึกษาเล่าเรียน รวมถึงความสนใจในเรื่องการค้าขาย (หน้า 29)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

การติดต่อสื่อสาร ชาวบ้านจะมีการพบปะสนทนาในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำมาหากิน และการเกษตร รวมถึงมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็นต่อคำบรรยายของเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ และมีความสนใจในการอบรมเรื่องการเกษตร และการทำมาหากินมาก (หน้า 50,51) วิทยุเป็นสื่อสารมวลชนที่ค่อนข้างแพร่หลายมากที่สุด และมีความสนใจในการชมภาพยนตร์กลางแปลงเป็นจำนวนมาก (หน้า 52) มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวบ้านเมื่อรับฟังรายการต่างๆ แล้วจะนำมาเล่าสู่กันฟัง และวิพากษ์วิจารณ์กันรวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้อีกด้วย ส่วนภาพโปสเตอร์เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ชาวเขาส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่เข้าใจแผนภาพ (หน้า 53)

Map/Illustration

1. ภาพปกเทปรายการวิทยุภาษาผลิตโดย กองควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส., หน่วยควบคุมยาเสพติดของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย NAU เรื่อง - มาปลูกกาแฟอาราบิก้ากันเถอะ - การปลูกและดูแลรักษาต้นกาแฟ - โรคกาแฟและวิธีป้องกันรักษา - โรคอหิวาต์ไก่ (หน้า 12 หลังสรุปโครงการ) - อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย - โรคไข้หวัดและภูมิคุ้มกันโรค (หน้า 13 หลังสรุปโครงการ) - วิธีทำปุ๋ยหมัก - การปลูกและดูแลรักษาต้นกาแฟ - การเก็บผลกาแฟและการผลิตสารกาแฟ - การตัดแต่งกลิ่นกาแฟ (หน้า 14 หลังสรุปโครงการ) 2. แผ่นพลิก Flip Chart สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและ หน่วยควบคุมสาเสพติดของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย NAU เรื่อง - หมู่บ้านของเราสีเขียว (หน้า 15 หลังสรุปโครงการ) - ช่วยกันรักษาป่าไม้ไว้ให้ลูกหลาน - อนามัยดีแต่เล็ก อนาคตเด็กแจ่มใส (หน้า 16 หลังสรุปโครงการ) 3. แผนภาพแสดงแบบบ้านของแม้วน้ำเงินซึ่งประกอบด้วย ห้องนอน ที่เก็บข้าวโพด ข้าว ประตูใหญ่ เตาไฟ หิ้งผี เป็นต้น (หน้า 33) 4. แผนภาพแสดงแบบบ้านของแม้วขาวซึ่งประกอบด้วย ห้องนอน ห้องเก็บผลผลิต ประตู เตาไฟ หิ้งผี (หน้า 34)

Text Analyst จันทิวา ก๋าวงศ์อ้าย Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ม้ง, เมี่ยน อิวเมี่ยน, ลัวะ, การสื่อสาร, สภาพสังคม, เศรษฐกิจ, น่าน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง