สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,อิทธิพลความเชื่อ,ประเพณี,พิธีกรรม,การพัฒนาคุณภาพชีวิต,นครปฐม
Author เรณู เหมือนจันทร์เชย
Title การศึกษาอิทธิพลความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของชาวไทยโซ่งที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต : กรณีศึกษาหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ตำบลลำบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 234 Year 2541
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชนบทศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

ไทยโซ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่มีการสืบทอดและสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ ความเชื่อทางศาสนา พิธีกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย, การทำมาหากิน, วัฏจักรชีวิต, การแต่งกายและการประดับตกแต่ง, การป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่อย่างไรก็ตาม ไทยโซ่งก็มีการพัฒนา และปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ เป็นผลมาจากปัจจัยผลักดันทาง สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากร การปรับตัวดังกล่าว โดยทั่วไปสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของไทยโซ่งให้ดีขึ้น และด้วยการปฏิบัติตนตามความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมที่สืบทอดกันมานาน ก็ทำให้ไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นปกติสุขทั้งในระดับครอบครัวและหมู่บ้าน

Focus

ผลกระทบของวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม ของไทยโซ่งที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของไทยโซ่ง (หน้า 5)

Theoretical Issues

เป็นการพรรณนาวัฒนธรรมของไทยโซ่งที่บ้านแหลมกะเจาและพยายามจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ไม่เห็นหลักฐานที่ชัดเจน

Ethnic Group in the Focus

ตามที่ผู้วิจัยระบุไว้ "ชาวไทยโซ่ง" เป็นชนชาติไทยกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ เช่น ลาวโซ่ง, ไทดำ, ผู้ไทยดำ, ไทยทรงดำ, ไทยโซ่ง, ลาวเซ่ง, ลาวซ่วงดำ, และลาวทรงดำ คำว่า "โซ่ง" แผลงมาจากคำว่า "ส้วง" ซึ่งแปลว่า "กางเกง" ดังนั้น "โซ่งดำ" จึงแปลว่า "กางเกงดำ" ต่อมาคำว่า "ดำ" หายไปเหลือแต่คำว่า "โซ่ง" แต่ที่เรียกกันว่า "ลาวโซ่ง" ผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจจะเพราะเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากราชอาณาจักรลาว และมีขนบธรรมเนียมที่คล้ายกับคนในราชอาณาจักรลาว ข้อสันนิษฐานอีกอันหนึ่งคือ เกิดจากการที่คนสมัยก่อนมักนิยมเรียกคนจากถิ่นอื่นที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่ว่า "ลาว" เช่น ลาวเวียง, ลาวพวน, เป็นต้น ผู้ไทยดำ หรือ ไทยโซ่ง เมื่อได้อพยพมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรีจึงถูกเรียกว่า "ลาว" ไปด้วย แต่สำหรับไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ตำบลลำลูกบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐมจะเรียกตัวเองว่า "ชาวไทยโซ่ง" (ประวัติความเป็นมาของชาวไทยโซ่ง, หน้า 61) ไทยโซ่งโดยทั่วไปมีสีผิวค่อนข้างคล้ายคนจีน รูปร่างสันทัด ผมเหยียดตรง มีตาชั้นเดียว จมูกค่อนข้างแบน ศรีษะกลม ส่วนไทยโซ่งที่พบในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีสีผิวขาวและคล้ำ รูปร่างคล้ายคนไทย (หน้า 71)

Language and Linguistic Affiliations

ไทยโซ่งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง มีสำเนียงที่ผิดเพี้ยนจากลาวเวียงจันทน์และลาวทางภาคอีสานไม่มากนัก มีตัวอักษรเป็นของตนเอง รูปอักษรคล้ายอักษรลาว และมีระเบียบทางภาษาหรือไวยกรณ์ที่เป็นแบบเดียวกันกับภาษาไทย การเขียนนิยมเขียนลงในสมุดพับเป็นชั้น ๆ หรือสมุดข่อย ภาษาลาวโซ่ง ก็คือ ภาษาไทดำนั่นเอง ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท (Tai family) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Branch) ภาษาโซ่ง มีความแตกต่างและแปรผันไปจากภาษากลาง (Standard Thai) เล็กน้อย ไทยโซ่งจะใช้ภาษาของตนสื่อสารภายในกลุ่มไทยโซ่งด้วยกันเอง แต่จะใช้ภาษาไทยกลางสำหรับติดต่อกับคนนอก หรือคนไทยอื่น ๆ และเชื่อกันว่าภาษาโซ่งมีความสัมพันธ์กับภาษากลุ่มไทดำ ไทขาว ที่อยู่ในประเทศเวียดนาม (ภาษา หน้า 81 - 82)

Study Period (Data Collection)

ในงานวิจัยระบุว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2539 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2540

History of the Group and Community

ไทยโซ่งเป็นกลุ่มไทยโบราณมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในบริเวณแคว้นสิบสองจุไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองแถน ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ไทยโซ่งมีชื่อเดิมว่า "ไทยดำ" หรือ "ผู้ไทยดำ" เพราะนิยมใส่เสื้อสีดำล้วน ต่อมาด้วยเหตุผลทางสงคราม ไทยดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนและอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี (ประมาณปี 2322 สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ประมาณ ปี 2335 สมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2371 และ 2381 สมัยรัชกาลที่ 3 และ พ.ศ. 2430 กรณีปราบฮ่อ สมัยรัชกาลที่ 5) ในระยะแรกไทยโซ่งทั้งหลายถูกจัดให้มาอยู่รวมกันในบริเวณที่ในปัจจุบันคือ จังหวัดเพชรบุรี (หน้า 61-68) ในปัจจุบันมีผู้พบเห็นไทยโซ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางอพยพของพวกเขา ได้แก่ จังหวัดสระบุรี, ลพบุรี, ชัยนาท, นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, และสุโขทัย (หน้า 66) นอกจากนี้ยังมีผู้พบในจังหวัดเลย, สุพรรณบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร และนครปฐม (หน้า 67-68) ปัจจุบันนี้ ไทยโซ่งมีสัญชาติไทย แต่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามีจำนวนประชากรเท่าใด หมู่บ้านแหลมกะเจา 2 เกิดจากการที่ไทยโซ่งซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้เอาคำว่า "แหลม" มาตั้งชื่อหมู่บ้านของตน ส่วน "กะเจา" มาจากการที่แถบนั้นมีต้นกะเจามาก ส่วน 2 เป็นชื่อ "หมู่" ที่ตั้งขึ้นต่อจาก "หมู่ 1" ของหมู่บ้านแหลมกะเจา 1 ซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนไทย (หน้า 25)

Settlement Pattern

ไทยโซ่งนิยมตั้งบ้านเรือนใกล้แหล่งน้ำเพื่อทำนาและมักอยู่รวมกันเป็นหมู่ใหญ่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นญาติผีเดียวกัน บ้านหลังหนึ่งจะอยู่รวมกันหลายครอบครัว การจัดเรือนเป็นห้องกว้างๆ เวลานอนจะมีมุ้งกาง ไม่มีฝากั้นห้อง กลางเรือนมีเตาไฟเรียงรายหลายเตาสำหรับก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่นและไล่ยุงในบ้าน เรือนของไทยโซ่งส่วนใหญ่ ไม่มีรั้วล้อมรอบ แต่บางแห่งก็มีรั้วเตี้ยๆ ทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หรือตีเป็นระแนง หรืออาจนำไม้ไผ่ทั้งลำที่ยังไม่ได้ริดหนามออกมากองเป็นแนวรั้ว เรือนของไทยโซ่งเป็นเรือนหลังใหญ่ มีห้องกว้าง มีระเบียงด้านหน้าจั่วทั้งสองด้าน ชายคาด้านหน้าจั่วทำเป็นวงโค้ง หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่มัดรวมกันเป็นตับ ลักษณะของหลังคานั้นสูงชัน ชายคายาวต่ำลงมาจนบังมิดพื้นบ้านเป็นทั้งหลังคาและฝาบ้านไปในตัว มีบันไดขึ้นเรือนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่บันไดด้านหน้าเรือนใหญ่กว่าด้านหลัง ระเบียงด้านหน้าเรือนใช้เป็นที่รับแขกและนั่งเล่นเรียกว่า "กกซาน" ส่วนระเบียงด้านหลังเรียกว่า "กว้าน" ใช้เป็นที่ประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่เป็นผู้ท้าว และจัดให้มุมใดมุมหนึ่งของกว้านเป็นที่อยู่ของผีบรรพบุรุษ ซึ่งที่ส่วนนี้ลาวโซ่งเรียกว่า "กะล่อหอง" ส่วนกลางของเรือนใช้เป็นที่นอน ที่ทำครัวและที่เก็บข้าวของต่างๆ ถ้าครอบครัวใดสืบผีผู้น้อยที่จะทำ "กะล่อหอง" ไว้ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้านส่วนนี้ (หน้า 71-72 ดูรูปประกอบใน หน้า 75-76)

Demography

จากข้อมูลของสาธารณสุขประจำสถานีอนามัยตำบลลำลูกบัว หมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ใน พ.ศ. 2539 มี 69 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 528 คน ชาย 251 คน หญิง 286 คน ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นไทยโซ่ง ส่วนที่เป็นคนไทยก็เป็นเขย สะใภ้ ซึ่งก็มีไม่มากนัก (หน้า 26)

Economy

เศรษฐกิจของหมู่บ้านแหลมกระเจา 2 ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรม ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม, และเลี้ยงปลา, อาชีพรอง คือ ทำนาข้าว, ทำไร่อ้อย, เลี้ยงหมู, เลี้ยงไก่, เป็ดและปลูกผักสวนครัวสำหรับบริโภค นอกจากนี้ก็ค้าขาย กรรมกรและรับจ้างทั่วไป และทำหัตถกรรม เช่น กระเป๋า, ที่รองแก้ว, ตุ๊กตา ไทยโซ่งนิยมทำมาหากินในที่ดินของตนเองซึ่งเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ เอกสารสิทธิ์ที่ได้รับเป็นโฉนด ผู้ที่มีที่ดินน้อยหรือไม่มีก็ประกอบอาชีพรับจ้าง เช่น ลากกุ้ง ถางหญ้า พรวนดิน ขุดดิน ได้ค่าแรงวันละ 100 - 150 บาท การเช่าที่ดินทำกิน ส่วนใหญ่จะเช่าที่ดินของคนในหมู่บ้าน ค่าเช่าไร่ละ 300 บาทต่อปี ถ้าเช่าเพื่อเลี้ยงกุ้งก็ 1,000 - 1,500 บาทต่อปี (หน้า 28) ไทยโซ่งที่มีอาชีพทำนาข้าวมีอยู่น้อย เพราะมักขาดทุนจึงหันมาเลี้ยงกุ้งและเลี้ยงปลาซึ่งให้รายได้ดีกว่าแทน ในหมู่บ้านมีร้านค้า 6 ร้าน ไทยโซ่งบางส่วนไปเป็นกรรมกรที่โรงสีเจริญวัฒนา ซึ่งมีค่าล่วงเวลา มีข้าวเช้าและข้าวกลางวันให้กิน รายได้เดือนละ 3,000 บาท มี 3 ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพบริการ เช่น เปิดร้านซ่อมรถ ร้านซ่อมจักรยาน ร้านเสริมสวย บางรายก็มีอาชีพเป็นบุรุษไปรษณีย์ ภารโรง และขับรถสองแถว (หน้า 28 - 31) ไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 นิยมกู้เงิน ธกส. รองลงมาคือกู้จากนายทุน หรือญาติพี่น้อง ส่วนใหญ่กู้ไปลงทุนทางกการเกษตร ถ้าทุนไม่พอก็กู้ธนาคารพาณิชย์ สำหรับในหมู่บ้านไม่มีแหล่งกู้ขนาดใหญ่ ปัจจุบันหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 เจริญขึ้นกว่าเดิมมาก ทุกบ้านมีไฟฟ้า น้ำประปา (ยกเว้น 2 ครอบครัว) การคมนาคมสะดวก มีรถประจำทางผ่านหมู่บ้าน (หน้า 31 - 32)

Social Organization

ลักษณะครอบครัวของไทยโซ่งเป็นแบบครอบครัวขยาย (Extended Family) คือ ฝ่ายชายจะนำภรรยาไปอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ของตน หลังจากที่ได้ไปอาสาทำงานที่บ้านฝ่ายหญิงระยะหนึ่งตอนแต่งงานแล้ว แต่ปัจจุบัน ครอบครัวไทยโซ่งมีขนาดเล็กลง ลูกชายนิยมพาภรรยาแยกครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนใหม่ รูปแบบของครอบครัวจึงมีขนาดเล็กลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น(Nuclear Family) มีเฉพาะพ่อ แม่ ลูกเท่านั้น โดยบิดาเป็นใหญ่มีอำนาจมากในบ้านและเป็นผู้นำในการตัดสินใจต่างๆ การสืบตระกูลก็นับทางฝ่ายบิดา ลูกชายนับถือผีบรรพบุรุษทางพ่อ ส่วนลูกสาวจะไปนับถือผีทางสามีภายหลังการแต่งงาน ครอบครัวไทยโซ่ง มีการแบ่งเป็นกลุ่มตระกูลหรือสิ่งต่างๆ กลุ่มคนในตระกูลหรือ "สิง" เดียวกันถือว่าเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน สกุลของไทยโซ่งมีหลายตระกูล ได้แก่ สิงลอ สิงคำ สิงเลือง สิงวี สิงกวาง สิงกา เป็นต้น ปัจจุบันไทยโซ่งได้หันมาใช้นามสกุลแบบไทยแล้ว (หน้า 77) ระบบเครือญาติ ของไทยโซ่งเป็นแบบฝ่ายเดียว (Unilateral Kinship) โดยถือญาติทางฝ่ายพ่อเป็นสำคัญเรียกว่า การสืบเชื้อสายหรือการถือผีฝ่ายพ่อ (Patrilineal Kinship) และมีการตั้งบ้านเรือนหลังแต่งงาน (Residence rule) แบบปิตาลัย Patrilocal (หน้า 77) ส่วนโครงสร้างอำนาจภายในครอบครัว ของไทยโซ่งเป็นแบบ ผู้ชายมีอำนาจ คือ ผู้ชายจะได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่กว่าฝ่ายหญิงในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นผู้นำในสังคม ตลอดจนเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วใช้นามสกุลของสามีและนับถือผีข้างสามี ลูกที่เกิดมาก็ใช้นามสกุลของพ่อและนับถือผีฝ่ายพ่อสืบต่อไป พ่อหรือสามีทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว มีอำนาจมากที่สุดในบ้าน เป็นผู้รับผิดชอบสมาชิกในครอบครัว (หน้า 78) โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมของไทยโซ่ง ขึ้นอยู่กับระบบเครือญาติประกอบด้วยเครือญาติทางสายโลหิต และญาติทางการแต่งงานซึ่งนับเป็นญาติผีเดียวกัน คือ ในหมู่บ้านประกอบด้วยหลายครอบครัวที่เกี่ยวดองเป็นญาติกัน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมและโครงสร้างทางสังคมของไทยโซ่งนั้น สถานภาพขึ้นอยู่กับเพศ คือ ผู้ชายมีความสำคัญมากกว่าฝ่ายหญิง ครอบครัวไทยโซ่งให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะจะต้องเป็นฝ่ายที่เลี้ยงพ่อแม่ และเมื่อพ่อแม่ตายก็จะเป็นผู้เลี้ยงผีพ่อแม่ต่อไปด้วย ไทยโซ่งใช้วงศ์ตระกูลเป็นตัวจัดลำดับชั้นทางสังคม ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนชั้น คือ 1.ชนชั้นผู้ท้าว คือ บุคคลที่เกิดในตระกูลผู้ท้าวซึ่งไทยโซ่งเชื่อว่าเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าในสมัยก่อน กับ 2. ชนชั้นผู้น้อย ซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกิดในตระกูลสามัญชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้ท้าว ถ้าผู้ใดเป็น สิงลอ บุคคลนั้นเป็นผู้ท้าว ถ้าเป็นสิงเลือง สิงลู สิงกวาง สิงตอง เป็นผู้น้อย (หน้า 79) ไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีความผูกพันในความเป็นไทยโซ่งด้วยกัน โดยที่ความสัมพันธ์ในแต่ละครอบครัวจะเป็นเครือญาติในวงศ์วานเดียวกันหรือตระกูลเดียวกัน มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีพ่อ แม่ ลูก และคนอื่น ๆ ด้วย เมื่อลูกชายแต่งงานจะนำภรรยามาอยู่ที่บ้าน บางคนก็แยกออกไปปลูกบ้านอยู่ตามลำพังทั้งในและนอกหมู่บ้าน แต่ยังคงไปมาหาสู่กัน ภายในครอบครัว คนเฒ่าคนแก่เป็นที่เคารพของลูกหลานและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้ชายที่อาวุโสที่สุดจะเป็นหัวหน้าครอบครัว และลูกชายจะเป็นผู้สืบตระกูล ส่วนลูกสาวเมื่อแต่งงานก็จะต้องไปนับถือผีฝ่ายบ้านสามี ไทยโซ่งในหมู่บ้านส่วนมากนามสกุล "ตรีอินทอง" เป็นนามสกุลของผู้ใหญ่กรีที่เสียชีวิตไปแล้ว (หน้า 80)

Political Organization

ในระดับหมู่บ้านหรือระดับชุมชนของโซ่งมีการปกครองโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนอยู่ได้อย่างดี ปลอดภัย แต่ถ้าโซ่งบางกลุ่มที่ไม่เคารพผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องอาศัยคนเฒ่าคนแก่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของไทยโซ่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมต่ออำนาจที่เหนือกว่าอำนาจของมนุษย์ และมีความเชื่อประเพณีและพิธีกรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ซึ่งไทยโซ่งเชื่อว่า เป็นผู้ปกครองที่จะทำให้เกิดความสุขแก่ชุมชนได้ (หน้า 167) การปกครองในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 1 คน หมู่บ้านปกครองแบบพี่น้อง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งอีกคณะหนึ่งมี 8 คน คณะกรรมการชุดนี้แม้ว่าจะแบ่งหน้าที่การงานแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีงานหรือกิจกรรมก็จะช่วยเหลือ นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน หรือ ช่วยกันคิดแก้ปัญหาหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริการ เช่น กลุ่มสหกรณ์, กลุ่มแม่บ้าน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน, กลุ่มเศรษฐกิจสังคม เช่น กลุ่มฌาปนกิจ, กลุ่มเกษตร, กลุ่ม ธ.ก.ส., กลุ่มกองทุน เช่น กองทุนสุขาภิบาล, กองทุนโภชนาการ, กองทุนยา เป็นต้น (หน้า 22 - 23)

Belief System

ไทยโซ่งนับถือ "ผี" และมีความเชื่อเรื่อง "ขวัญ" เป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกอยู่ภายใต้อำนาจของผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังนั้น ชีวิตความเป็นอยู่และพิธีกรรมต่างๆ จึงมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับผีประเภทต่างๆ การนับถือผีของไทยโซ่งมีทั้งผีดีและผีร้ายที่จะสามารถบันดาลให้ชีวิตและครอบครัวเป็นไปตามความพอใจของผีได้ ความเชื่ออีกแบบหนึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า "ลัทธิบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ" คือ เชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตายแล้วจะไปอยู่อีกโลกหนึ่งคล้ายกับโลกมนุษย์ ถ้าผู้ตายอยู่ดีมีสุข ญาติพี่น้องในโลกมนุษย์ก็จะมีความสุขไปด้วย ฉะนั้น ไทยโซ่งจึงปฏิบัติต่อวิญญาณบรรพบุรุษเป็นอย่างดี จัดที่อยู่อาศัยให้ในบ้าน เวลาเชิญมาจัดอาหารเซ่นไหว้เป็นประจำในพิธีที่เรียกว่า "เสนเฮือน" นอกจากผีบรรพบุรุษ ผีที่ไทยโซ่งนับถือยังมีอีกหลายชนิด ได้แก่ ผีฟ้าหรือแถน, ผีบ้านผีเมือง, ผีป่า, ผีเขา, และผีอื่น ๆ (หน้า 88 - 89) ส่วนความเชื่อเรื่อง "ขวัญ" ไทยโซ่งเชื่อว่า "ขวัญ" เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ประกอบอยู่ในร่างกายรวม 32 ขวัญ ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแต่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวและทำงานได้ ไทยโซ่งเชื่อว่าคนจะอยู่ดีมีสุขหรือเจ็บป่วยก็เพราะ "ขวัญ" ที่อยู่ในตัวเป็นสาเหตุ ถ้าขวัญออกจากตัวหรือหลงทางไปก็จะทำให้เจ็บป่วยได้ ต้องทำพิธี "เรียกขวัญ" หรือ "สู่ขวัญ" ให้กลับมาอยู่ในร่างกายตามเดิม และยังเชื่อว่าเมื่อคนตายขวัญในร่างกายก็จะแยกย้ายหรือถูกส่งไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ โดย "หมอมด" หรือ "ผู้นำส่ง" (หน้า 90) ไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีความเชื่อเกี่ยวกับผี, ขวัญ, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย, ศาสนาพุทธ, ศาสนาพราหมณ์, และศาสนาคริสต์ โดยได้ปฏิบัติตามประเพณี และพิธีกรรมมาจนถึงทุกวันนี้ (หน้า 90) อย่างไรก็ตาม ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1. ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ในการปลูกบ้านหรือขึ้นบ้านใหม่ต้องเลือกวันดี มีห้องสำหรับผีเรือนเรียกว่า "กะล่อหอง" มีการเสี่ยงทาย การหาฤกษ์ การยกเสาเอก มีศาลเจ้าที่หรือ ศาลพระภูมิ เป็นต้น (หน้า 101-106) 2. ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากิน เช่น นับถือพระแม่โพสพ ผีนา มีการบนบาน การแก้บน การทำพิธีกรรมปาดตงข้าวใหม่ พิธีแรกนาขวัญ และมีพิธีทำขวัญข้าวขึ้นยุ้ง เป็นต้น (หน้า 107-110) 3. ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิต คือ มีความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกช่วง ตั้งแต่เกิด บวช แต่งงาน และตาย เช่น การโกนผมไฟเด็ก ทำขวัญเด็ก การฝากบุตร พิธีเสนฆ่าเกือด การบรรพชา การอุปสมบท การแต่งงาน พิธีศพ การไว้ทุกข์ เป็นต้น (หน้า 110-126) 4. ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งกายและการประดับตกแต่ง เช่น ใส่ เสื้อฮี ในงานมงคล ใส่เสื้อต๊ก สำหรับไว้ทุกข์ให้ลูก หลาน และญาติสนิท เป็นต้น (หน้า 126-130) 5. ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับการป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บ คือ ไทยโซ่งมีความเชื่อว่า การเจ็บป่วยเป็นการกระทำของผี ต้องทำพิธีกรรมเพื่อจะได้หายจากความเจ็บป่วย หมดเคราะห์ เช่น ต้องทำพิธีเสนแก้เคราะห์ พิธีเสนตัว พิธีแปลงขวัญ เรียกขวัญ พิธีเสนเต็ง เป็นต้น (หน้า 130-141) 6. ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนา ไทยโซ่งนับถือผีบรรพบุรุษ และเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตายแล้วจะมาคุ้มครองให้มีความสุข ต้องทำพิธีกรรมต่างต่าง ๆ เช่น มีการเซ่นอาหารให้กินทุก 10 วันสำหรับผู้น้อย, ทุก 5 วันสำหรับผู้ท้าว, และทุก 2 หรือ 3 ปี จะทำพิธีเสนเรือน นอกจากนี้ ไทยโซ่งยังมีการทำพิธีเสนหับเพื่อรับผีมด พิธีทำสังกบาล พิธีสงกรานต์ พิธีเสนปาดตง พิธีเสนหับมด พิธีเสนกินปาง ฯลฯ อีกด้วย (หน้า 141-154)

Education and Socialization

ไทยโซ่งได้รับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ คือ มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ไม่มีโรงเรียนในหมู่บ้าน เด็กในหมู่บ้านไปเรียนที่โรงเรียนบ้านแหลมกะเจา ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปัจจุบันมีชั้นอนุบาลด้วย มีครู 6 คน โดยทั่วไปเด็กไทยโซ่งจะเข้าเรียนตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับอายุ 7 ปี พ่อแม่นิยมให้เด็กมาเรียนที่หมู่บ้านแหลมกะเจา เนื่องจากใกล้บ้าน และเดินทางสะดวก เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้วส่วนใหญ่ก็ไปเรียนต่อทั้งสายสามัญ เช่น โรงเรียนคงทองวิทยา และสายอาชีพนิยมเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีนครปฐม โรงเรียนสหบำรุงซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่เด็กไทยโซ่งนิยมไปเรียน ส่วนการเรียนนอกระบบนั้น ไทยโซ่งมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมให้เกิดการเรียนรู้ ด้านต่าง ๆ เช่น การทำมาหากิน, งานหัตถกรรม, วิธีการรักษาไข้, ในปัจจุบัน ไทยโซ่งนิยมให้ลูกเรียนต่อระดับมัธยม มหาวิทยาลัย หรือให้เรียนต่อสายอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 มีผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนอยู่บ้างโดยเฉพาะผู้สูงอายุแต่ก็พูดภาษาไทยได้ (หน้า 26-27)

Health and Medicine

หมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ไม่มีสถานีอนามัยในหมู่บ้าน ชาวบ้านไปใช้บริการสถานีอนามัยในตำบลลำลูกบัว ซึ่งห่างจากหมู่บ้าน 2 กิโลเมตร มีเจ้าหน้าที่ประจำ 5 คน ภายในหมู่บ้านมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน มีอาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 1 คนทำหน้าที่รักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งนำผู้ป่วยส่งอนามัย มีผู้สื่อข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4 คน ทำหน้าที่กระจายข่าวสาธารณสุขกับชาวบ้าน ในหมู่บ้านมีการจัดตั้งกองทุนยา และมีการรักษาพยาบาลกับหมอพื้นบ้าน ไทยโซ่งนิยมไปรับการรักษาพยาบาลทั้งกับหมอพื้นบ้านในหมู่บ้าน และรักษาแผนปัจจุบันที่อนามัยและโรงพยาบาล ด้านการสาธารณูปโภค หมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีไฟฟ้าใช้ครบทุกครัวเรือน มี 2 ครัวเรือนไม่มีน้ำประปาใช้ แต่ไทยโซ่งก็ยังนิยมรองน้ำฝนเก็บไว้กิน สำหรับส้วมมีใช้ทุกครัวเรือน ส่วนมากจะใช้ส้วมซึมแยกออกจากตัวบ้าน และเรื่องการวางแผนครอบครัวไทยโซ่งนิยมการคุมกำเนิดโดยฉีด, กินยาคุม และการทำหมัน (หน้า 27-28)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สถาปัตยกรรม : ในปัจจุบันลักษณะบ้านในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ได้เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน ตัวเรือนเริ่มเปลี่ยนเป็นบ้านไม้สมัยใหม่ เรือนของไทยโซ่งแบบเดิมเป็นเรือนไม้ ยกพื้นสูงประมาณ 1.5 เมตร บนบ้านจะเป็นห้องโล่งกว้าง ไม่กั้นเป็นห้อง มีเพียงห้องสำคัญ 1 ห้อง คือ "กะล่อหอง" (ห้องผีบรรพบุรุษ) ห้องถัดไปเรียกว่า "กว้าน" เอาไว้เก็บของ มีนอกชานเป็นไม้ระแนงกั้นบริเวณรอบนอกเอาไว้รับแขก ทำงานหัตถกรรม บ้านของไทยโซ่งมีเสาเป็นจำนวนมาก หลังคามุงด้วยกระเบื้อง, สังกะสี, มี 2 - 3 หลัง ที่มุงด้วยหญ้าแฝกและจาก ห้องน้ำ ห้องส้วมแยกออกจากตัวบ้าน ใต้ถุนใช้เป็นที่รับแขกและเก็บอุปกรณ์ในการทำงาน ไม่นิยมล้อมรั้ว หลังบ้านทำเป็นสวนครัว ส่วนบ้านสมัยใหม่ปลูกด้วยปูนทั้งหลัง กั้นห้องเป็นสัดส่วน (หน้า 74) เสื้อผ้าและการแต่งกาย : งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งลักษณะการแต่งกายของไทยโซ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การแต่งกายของผู้ใหญ่ ซึ่งนิยมใช้ชุดสีดำหรือสีครามแก่เป็นสีพื้น จนได้ชื่อว่า "ลาวทรงดำ" การแต่งกายแบ่งออกเป็นชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันและชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษ ชุดธรรมดาเสื้อผู้ชายเรียกว่า "เสื้อไท" เสื้อผู้หญิงเรียกว่า "เสื้อก้อม" ผู้ชายมักสวมเสื้อไทกางเกงขาก๊วยสีดำหรือสีคราม เสื้อผ้าและการแต่งกายอย่างอื่น ได้แก่ ผ้าซิ่นหรือผ้านุ่งของผู้หญิง, ผ้าเปียวสำหรับคาดอก, เสื้อฮีของผู้ชาย, ส้วงฮีหรือกางเกงขายาวสีดำ, และเสื้อฮีของผู้หญิง ส่วนการแต่งกายของเด็ก จะใช้ผ้าผืนหนึ่งปิดหน้าอก หน้าท้อง มีสายโยงไปข้างหลังผูกมัดไว้ ไม่นุ่งกางเกง มีหมวกทำด้วยผ้าสีดำ เรียกว่า "มู" คล้ายถุงผ้าไม่มีปีกหมวก ด้านหน้าหมวกปักเป็นลวดลายด้วยไหมหรือด้าย และยังมีสายสะพายสีดำเรียกว่า "พลา" เป็นผ้าพันรอบตัวเด็กแล้วคล้องกับไหล่แม่เวลาอุ้ม (หน้า 92) เครื่องประดับ : สตรีไทยโซ่งนิยมใช้เครื่องประดับเงิน ได้แก่ กำไลข้อมือ, เข็มขัด, ต่างหู, และปิ่นปักผม ส่วนผู้ชายสมัยก่อนนิยมสักตามตัว แขน ขา ไทยโซ่งหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ทั้งชายและหญิงนิยมเครื่องประดับประเภทสร้อยทอง พระห้อยคอ รวมทั้ง แหวน ต่างหู สร้อยข้อมือ และนาฬิกา เป็นต้น (หน้า 93 ดูภาพในภาคผนวก หน้า 215-220) ทรงผม : สตรีไทยโซ่งสมัยก่อนจะเกล้าผมแบบต่างๆ ทั้งในชีวิตประจำวันและในโอกาสพิเศษ เรียกว่า "ปั้นเกล้า" กว่าที่เด็กจะมีผมยาวพอที่จะปั้นเกล้าได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนของทรงผมต่าง ๆ ดังนี้ เอื้อมไรหรือเอื้อมไหล่, สับปิ่น, จุกผม, ผมขอดกระตอก, ผมขอดซอย, ผมปั้นเกล้าซอย, ผมปั้นเกล้าหรือปั้นเกล้าถ้วน, และผมปั้นเกล้าตก ไทยโซ่งหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ผู้หญิงอายุ 50 ปี ขึ้นไปยังคงไว้ผมปั้นเกล้า ส่วนที่อายุ 50 ลงมาไว้ผมหลายรูปแบบ ส่วนผู้ชายนิยมไว้รองทรง คนแก่นิยมตัดสั้นเกรียนเหมือนทรงทหาร (หน้า 94 ดูภาพในภาคผนวก หน้า 210) ศิลปการแสดง : ดนตรีพื้นบ้านของไทยโซ่ง คือ แคน ชอบฟังเพลงแอ่ว หรือที่เรียกว่า "แอ่วลาว" ส่วน "เพลงขับ"ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องแบบลำนำถือว่าเป็นเพลงที่ไทยโซ่งนิยมกันมาก และใช้ร้องในเกือบทุกโอกาส ในปัจจุบันไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 นิยมเสียงเพลง ทั้งเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และเพลงสตริง นอกจากนี้ ไทยโซ่งยังมีการละเล่นพื้นบ้านแบบต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ การเล่นลูกช่วง, การเล่นแคน, การเล่นสะบ้า, การเล่นตะกร้อ, และการเล่นผีมดแดง เป็นต้น (หน้า 95-97) งานหัตถกรรม : เครื่องใช้ไม้สอยของไทยโซ่งที่พบในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ที่ยังคงใช้อยู่ทุกวันและในพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนมากทำจากไม้ไผ่ ได้แก่ กระเหล็บ, ขมุก, กะแอบ, ปานเสน, ปานเผือน, ขันมะ, ซ้าไก่ไถ่, โฮ้, หาบเข่ง, กะหมอง, กระต้าส่วยปลา, กระแต๋งตากปลา, ลอบ, ลัน, ไหนึ่งข้าว, กระโล้งฟัดข้าว, กระจาดมะ, อู๋ไม่, หมอนอิฐ, ปั๊บผีเรือน, เป็นต้น (หน้า 98-99 ดูภาพในภาคผนวก ค.หน้า 205-209)

Folklore

มุขปาฐะ นิทาน และตำนานของไทยโซ่ง มีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นเพียงคำบอกเล่า ที่เป็นคำบอกเล่าได้แก่ นิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย สุภาษิต ข้อห้าม และเพลงกล่อมเด็ก ส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเขียนลงในสมุดข่อย ได้แก่ เรื่องจำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน ขูลูนางอั้ว พระลักพระราม ขุนบูลม (ขุนบรม) บทสวดในพิธีเสนเรือน เรียกขวัญ และบอกทางศพ ปัจจุบันในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 ไม่มีวรรณกรรมหลงเหลือให้อ่านแล้ว ส่วนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับ (หน้า 87 - 88) ตัวอย่างเช่น - เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ผีบรรพบุรุษ" ที่ว่า บรรพบุรุษที่ตายไปแล้วจะมาคุ้มครองครอบครัวให้มีความสุข ความเจริญ และลูกหลานจะต้องเชิญมาอยู่ที่ "กะล่อหอง" วิญญาณที่ถูกเชิญมาเรียกว่า "ผีเรือน" (หน้า 141) - เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ศาลเจ้าพ่อพระอินทร์" เล่ากันว่า "เป็นศาลที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน" (หน้า 142) ไทยโซ่งเชื่อว่า "สมัยก่อนเจ้าพ่อเลี้ยงไก่" ดังนั้น ต้องทำถวายไก่ในพิธีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อด้วย และถ้าไม่ทำพิธีเลี้ยงศาลเจ้าพ่อ เจ้าพ่อก็จะไม่คุ้มครองปกป้องรักษาหมู่บ้าน (หน้า 142) - เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ศาลเจ้าแม่ขอด" เล่ากันว่าสร้างศาลนี้ขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ "แม่ขอด" ผู้ซึ่งเป็นแม่ของยายพรม (เอมเฒ่าที่ไทยโซ่งนับถือ) และเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อพระอินทร์เพื่อรักษาคนไข้ในหมู่บ้าน มีเรื่องเล่ากันว่า ผู้ที่มารักษาถ้าต้องการใช้ยาอะไร เพียงแค่ "แม่ขอด" ยื่นมือออกไป ยานั้นก็จะมาวางอยู่บนมือของแม่ขอดแล้ว เป็นต้น (หน้า 143)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม : ไทยโซ่งโดยทั่วไปมีลักษณะรูปร่าง สีผิวค่อนข้างคล้ายคนจีน รูปร่างสันทัด ผมเหยียดตรง มีตาชั้นเดียว จมูกค่อนข้างแบน ศรีษะกลม ส่วนไทยโซ่งที่พบในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 มีสีผิวขาวและคล้ำ รูปร่างคล้ายคนไทย (หน้า 71) ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยโซ่งในหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 พบว่ามีพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยโซ่งอยู่ 6 เรื่อง ได้แก่ 1) พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกบ้าน 2) พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากิน 3) พิธีกรรมเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิต 4) พิธีกรรมเกี่ยวกับการแต่งกายและการประดับตกแต่ง 5) พิธีกรรมเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ 6) พิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนา (หน้า 101-155) นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยโซ่ง ได้แก่ ลักษณะครอบครัว อาหารการกิน ภาษา วรรณกรรม การแต่งงาน ความเชื่อ และลักษณะของเครื่องมือเครื่องใช้ (หน้า 79 -99)

Social Cultural and Identity Change

ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของไทยโซ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ - ยุคที่ 1 คือ ยุคดั้งเดิม ซึ่งเป็นยุคที่ไทยโซ่งยังมีชีวิตผูกพันกับผี ให้ความเคารพนับถือผี ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเกี่ยวกับผี เช่น ผีเรือน ผีนา ผีทุ่ง เป็นต้น - ยุคที่ 2 คือ ยุคศาสนาพราหมณ์ เป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามามีความสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของไทยโซ่งในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น การอยู่อาศัย การสร้างศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่คงคา แม่โพสพ เป็นต้น แต่ความเชื่อดั้งเดิมก็ ยังคงอยู่ - ยุคที่ 3 คือ ยุคศาสนาพุทธ เป็นยุคที่ศาสนาพุทธได้เข้ามามีบทบาทต่อจากศาสนาพราหมณ์ ไทยโซ่งมีความศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างมาก มีการสร้างวัด เพื่อปฏิบัติธรรมและจัดพิธีกรรม การบรรพชา ศาสนาพุทธกลายเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของไทยโซ่งมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาพราหมณ์ก็ยังคงอยู่ (หน้า 161-162) - ยุคที่ 4 คือ ยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ไทยโซ่งได้รับอิทธิพลของศาสนาคริสต์ที่เข้ามาในหมู่บ้านโดยมิชชันนารี ผู้ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ศาสนา ต้องการให้ไทยโซ่งเลิกนับถือผี แต่ก็ไม่สำเร็จ มีเพียง 4 ครอบครัวที่นับถือคริสต์ ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันไทยโซ่งได้หันไปให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประหยัดเวลา สะดวก และรวดเร็ว เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ หม้อหุงข้าว ตู้เย็น เป็นต้น รวมทั้งค่านิยมต่างๆที่มาจากคนเมือง เช่น การแต่งกาย การกินอาหาร ภาษาพูด ได้เข้ามาสู่สังคมของไทยโซ่งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ, และค่านิยมสมัยใหม่ ก็คงดำรงอยู่ร่วมกัน (หน้า 162)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ : ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของหมู่บ้านแหลมกะเจา 2 (หน้า 24) ถิ่นที่อยู่และเส้นทางการอพยพของผู้ไทดำหรือชาวไทยโซ่ง(หน้า 64) จังหวัดนครปฐม แสดงอำเภอ ตำบล หมู่บ้านของชาวไทยโซ่ง(หน้า 67) อำเภอดอนตูม ตำบล แสดงหมู่บ้านของชาวไทยโซ่ง(หน้า 70) บริเวณบ้านของชาวไทยโซ่งที่มีผีเดียว(หน้า 75) และบ้านของชาวไทยโซ่งที่มี 2 ผี(หน้า 76) ภาพประกอบ : เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวไทยโซ่ง(หน้า 205-209) แบบทรงผม(210) ที่อยู่อาศัย(หน้า211) การเกิด(หน้า 212) การตาย(หน้า 213-214) การแต่งกาย(215-220) การป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บ(หน้า221-222) พิธีเสนตัว(หน้า 223-226) พิธีเสนกินปาง(หน้า 226-229) พิธีเสนเรือน(หน้า 230-231) ประเพณีสงกรานต์ (หน้า 232) ศาลเจ้าพ่อพระอินทร์ และขาดศาลเจ้าแม่ขอด(หน้า 233)

Text Analyst ธิกานต์ ศรีนารา Date of Report 05 พ.ย. 2555
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, อิทธิพลความเชื่อ, ประเพณี, พิธีกรรม, การพัฒนาคุณภาพชีวิต, นครปฐม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง