สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลเวือะ,การผสมกลมกลืน,วัฒนธรรม,แม่ฮ่องสอน
Author พระครูประภากรพิศิษฎ์ (บุญรัตน์ ทาประภากร)
Title วัฒนธรรมและการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวลัวะ บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 131 Year 2545
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏเชียงใหม่
Abstract

ทุกวันนี้ลัวะมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่าง เพราะความเจริญเข้ามาในหมู่บ้าน จึงมีการผสมผสานวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน เช่น ภาษาพูดไทยกลาง ไทยล้านนาและประเพณีของไทย ตลอดจนการแต่งกาย นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งก็มาจาก คนในหมู่บ้านไปขายแรงงานต่างถิ่น เมื่อกลับบ้านเกิดจึงนำเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ มาเผยแพร่ แทนวัฒนธรรมเดิมที่เป็นแบบลัวะเพียงอย่างเดียว

Focus

ศึกษาการผสมกลมกลืน ทางวัฒนธรรมของลัวะ บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ลัวะ (Lua) หรือ ละว้า (Lawa) มีหลายชื่อ คนจีนเรียก "อาหว่า" หรือ หว่า คนพม่าเรียก "กวงยัด" คนไทยใหญ่เรียกว่า "ข่าวะ" คนมูเซอ เรียกว่า "เลาะ" คนไทยล้านนาเรียก "ลัวะ" แต่กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง จะเรียกตัวเองว่า "ละเวือะ" ลัวะบ้านละอูบจะเรียกตัวเองว่า "ละว้า" (หน้า1, 2)

Language and Linguistic Affiliations

ลัวะมีภาษาพูดอยู่ในกลุ่มประหล่อง-ว้า (Palaung-Wa) และเรียง (Riang) ในตระกูลมอญ-เขมร ภาษาลัวะคล้ายกับภาษามอญและภาษาเขมร นักวิชาการจัดกลุ่มลัวะ ให้อยู่ในกลุ่มที่พูดภาษาตระกูล ออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic) สาขามอญ - เขมร ที่เป็นกลุ่มเดียวกับภาษาขมุและผีตองเหลืองลัวะ มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน ในประเทศไทยกลุ่มภาษาแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มชนลัวะในเขตลุ่มน้ำปิงอยู่ในกลุ่ม ว้า (Wa) และกลุ่มอยู่ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในกลุ่ม อัง-ข่า (Ang-Ka) สองกลุ่มนี้มีภาษาพูดที่ต่างกันแต่ก็สามารถสื่อสารกันได้ (หน้า 1,20,36)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ลัวะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แต่ก่อนนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำคง หรือแม่น้ำสาละวิน รัฐฉาน ประเทศพม่า ทุกวันนี้ชนชาติลัวะอยู่ในหลายประเทศ ได้แก่ ในมณฑลยูนานของจีน ภาคเหนือของพม่า ในลาว และในประเทศไทย อยู่ในภาคกลางและภาคเหนือ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง ในจังหวัดเชียงใหม่ มีคนเชื้อสาย ลัวะ มากกว่าจังหวัดในภาคเหนืออื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่มีคนลัวะอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ในเขต อำเภอหางดง อำเภอแม่ริม อำเภอสันป่าตอง อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง ลัวะในอดีตเป็นเจ้าของเขตแดนที่เป็นเมืองเชียงใหม่ในทุกวันนี้แต่ถูกศัตรูโจมตีจึงย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น หรือไปอยู่ตามหุบเขา ลัวะ บ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นกลุ่มชนลัวะอีกกลุ่มหนึ่งที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่นก่อนที่จะมาอยู่ที่บ้านละอูบเช่นทุกวันนี้ ปัจจุบันมีประชากรทั้งหมด 962 คน 164 หลังคาเรือน 273 ครอบครัว (หน้า 1-3)

Settlement Pattern

การสร้างบ้านเรือนนิยมสร้างบนยอดเขาและไหล่เขา รูปแบบการสร้างบ้านจะลดหลั่นลงไปตามไหล่เขาโดยมีทางเดินเล็ก ๆ เชื่อมต่อระหว่างบ้านแต่ละหลัง การวางรูปแบบหมู่บ้านจะอาศัยเส้นขอบภูเขา (Contour Line) เป็นตัวกำหนด การหันหน้าของบ้านเรือนจะพิจารณาจากทำเลที่ตั้งและความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติเป็นตัวกำหนด ศูนย์กลางของหมู่บ้านจะอยู่กันอย่างกระจัดกระจายตามไหล่เขา บริเวณท้ายหมู่บ้านจะเป็นลานกว้างที่สร้างศาลเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน (หน้า 80-81) ( รายละเอียดของโครงสร้างบ้านอยู่อาศัยดูหัวข้อ Art and Crafts )

Demography

ในประเทศไทยมีลัวะ 59 หมู่บ้าน 3,228 ครอบครัว ประชากรทั้งหมด 16,931 คน ลัวะบ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประชากรทั้งหมด 879 คน (หน้า 1, 2,18) ลัวะอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ มี 28 หมู่บ้าน 1,764 ครอบครัว มีประชากร 8,473 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 17 หมู่บ้าน 848 ครอบครัว มีประชากร 5,144 คน จังหวัดเชียงราย มี 10 หมู่บ้าน 396 ครอบครัว มีประชากร 2,372 คน จังหวัดลำปาง มี 1 หมู่บ้าน 12 ครอบครัว มีประชากร 75 คน จังหวัดสุพรรณบุรี มี 2 หมู่บ้าน 45 ครอบครัว มีประชากร 120 คน จังหวัดอุทัยธานี 1 หมู่บ้าน 33 ครอบครัว มีประชากร 161 คน

Economy

การบริโภค : กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ข้าวเหนียวจะใช้ทำขนมในงานบุญต่างๆ ชอบอาหารรสเผ็ดจัดและเค็ม มีเครื่องปรุง เช่น พริก เกลือ และถั่วเน่า โดยใช้ถั่วเหลืองหมักจนเน่าคล้ายกะปิ กินน้ำพริก ต้มผักหรือแกงผัก เป็นอาหารหลัก ชื่อแกงจะเรียกตามชื่อผักที่นำมาประกอบอาหาร เช่น ใส่ผักกาดจะเรียก เกอโต๊ะโกละคือ โต๊ะโกละ (ผักกาด) และเกอ แปลว่า แกง ลัวะจะชอบกินผักตากแห้งหรือย่างไฟ เช่น ฮละละซอง หรือ ใบผักขม จิ้มน้ำพริก และจะน้ำปลามาโขลกใส่พริกเรียกว่า "ก๊ะคลาวม์" (แอ็บปลา เป็นอาหารเหนือ โดยจะตำเครื่องปรุง เช่น พริก หอม เนื้อปลา เนื้อสัตว์ แล้วห่อใบตองนำไปหมกไฟ) ข้าวเบื๊อะทำจากข้าวสารต้มกับเกลือใส่พริกต้มให้ข้าวเปื่อย เหมือนโจ๊ก ในงาน เช่น งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ งานศพจะทำอาหารที่ปรุงจากเนื้อวัว ควาย หมู เรียกว่า "โต๊ะสะเบื๊อก" หากไม่ทำจะโดนว่าลับหลังว่าตะหนี่ขี้เหนียว ของว่างหรือของหวาน ทำด้วยข้าวเหนียว เช่น "อ๊อพเญื้อก" คือ ข้าวเหนียวนึ่งตำผสมงาดำกับแกงเกลือละลางหรือ ข้าวหลาม ลัวะยังชอบกิน แมงมัน หนอนผีเสื้อ และแมลงอื่นๆ (หน้า 36-37,54,76) อาหารส่วนมากจะเป็นของพื้นบ้าน หรือ พืชผักที่เก็บตามป่า เมื่อมีงาน เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ ก็จะฆ่า วัว ควายหรือหมู แต่เมื่อมีความเจริญเข้ามาพ่อค้า จะนำกับข้าวมาขายในหมู่บ้าน และมีร้านขายของชำในหมู่บ้าน กับข้าวที่ขายเช่น ปลาทู ปลากระป๋อง ไข่ไก่ บะหมี่ ปลาสด และใช้เครื่องปรุง เช่น ผงชูรส น้ำมันพืช น้ำมันหมูน้ำปลาเป็นต้น (หน้า47) อาชีพหลัก ของชาวบ้านทำอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็นแบบยังชีพ พืชที่ปลูก จะแบ่งขาย ทุกวันนี้บางส่วนปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กระหล่ำปลี และหารายได้เสริมจากการทอผ้า ทำเครื่องเงิน ตีเหล็กการท่องเที่ยว เป็นต้น (หน้า 49-51, 59-66) การผลิต ระบบเกษตรเป็นแบบตัดฟันโค่นเผา (Swidden) ปลูกพืชแบบไร่หมุนเวียนโดยจะปลูก 1 ปี แล้วจะปล่อยให้ที่ดินพักตัวแล้วกลับมาปลูกพืชใหม่ ในอดีตจะหมุนเวียน 10 ปี ถึงจะกลับมาปลูกอีกครั้ง แต่ทุกวันนี้ จะใช้เวลา 7-8 ปี จะกลับมาปลูกอีกรอบ (หน้า 51, 52, 55) การแลกเปลี่ยน การใช้แรงงานจะแลกเปลี่ยนช่วยกันทำงานในหมู่บ้าน เมื่อเพื่อนบ้านไปช่วยงานเจ้าของไร่จะให้ข้าวเป็นค่าตอบแทนน้ำใจโดยแบ่งข้าวให้ หนึ่งถังต่อหนึ่งวัน เมื่อก่อนเวลาไถนาทำนาใช้ควายแต่ปัจจุบันใช้รถไถ เพราะการใช้แรงวัวควายทำให้เสียเวลา เวลาทำงานไถได้เพียงตอนเช้า กับตอนเย็น เพราะกลัววัวควายจะร้อนแดดผิดกับใช้รถไถซึ่งไถได้ตลอดวัน (หน้า 53, 54-56, 59, 89) หนุ่มสาวกว่า 70 % จะทำงานรับจ้าง เช่น งานเกษตรและไปทำงานในตัวเมือง โดยจะส่งเงินให้ทางบ้าน (หน้า62)

Social Organization

เป็นครอบครัวแบบขยาย รวมกันอยู่ 3 รุ่น (Generation) คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน อยู่กันแบบบ้านหลังเดียวอยู่หลายครอบครัว การแต่งงานจะยึดแบบผัวเดียวเมีย (Monogamy) ไม่หย่าร้าง ผู้หญิงจะไปอยู่บ้านฝ่ายชายหลังการแต่งงาน (Patrilocal resident) ลูกชายคนโตจะแยกครอบครัวไปสร้างบ้านใหม่เมื่อแต่งงาน ส่วนลูกชายคนสุดท้องจะทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่และจะเป็นผู้รับมรดก มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานในครอบครัว ผู้ชายทำไร่ ไถนา ล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงจะทำงานบ้าน สำหรับการเพาะปลูก จะช่วยกันทำทุกคน ฝ่ายชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะทำหน้าที่เมื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนผู้หญิงจะไม่ข้องเกี่ยวกับการประกอบพิธี (หน้า 29,89)

Political Organization

ละว้าแบ่งการปกครองเป็น 2 แบบ คือ มีแบบผู้นำประเพณี คือ "สะมัง" เป็น "ชนชั้นขุน" ถือว่าเป็นคนชั้นสูงของละว้า และผู้นำอย่างเป็นทางการคือ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ปกครองท้องถิ่น แต่ถ้าคนในสังคมละว้าประกอบประเพณี ผู้นำอย่างเป็นทางการต้องเชื่อฟังและนับถือสะมังหรือผู้นำประเพณี (หน้า14, 27) ในหมู่บ้านมีหัวหน้ากลุ่มผี 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม สะมัง 10 ครอบครัว กลุ่มย่วงมอยจ์ 50 ครอบครัว กลุ่มย่วงไตรซ์ ปล่อง 47 ครอบครัว กลุ่มย่วงละเมียง 14 ครอบครัว กลุ่มย่วงเฮ่ง 17 ครอบครัว (หน้า 28) การปกครองแบบทางการเริ่มในหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ.2490 ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านชาวบ้านจะเลือกคนมีความรู้ หรือ คนที่สนิทกับผู้ใหญ่บ้านคนเดิม ผู้ใหญ่บ้านจะไปประชุมประจำเดือนที่อำเภอ และรับนโยบายของทางการ มาแจ้งให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ โดยผ่านการประชุมหรือแจ้งผ่านศูนย์กระจายข่าวประจำหมู่บ้าน (หน้า 29)

Belief System

ลัวะ เคารพผีและประเพณีเก่า แม้ว่าศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์จะเข้าไปเผยแพร่ศาสนา เมื่อแต่งงานผู้ชายจะพาผู้หญิง มาอยู่ที่บ้านของตนโดยจะให้ผู้หญิงเข้ามารับเอาผีของตน ลัวะมีความเชื่อเรื่องผีตั้งแต่เกิดจนตายจึงมีการเซ่นไหว้หลายแบบ เช่น การเกิด การแต่งงาน ปลูกบ้าน ถางป่า เป็นต้น ลัวะจะมีความเชื่อเรื่องผีมากจนมีเรื่องเล่าว่า เมื่อจะนำผีกลับบ้านของแต่ละกลุ่มชนจะใส่ภาชนะแตกต่างกัน ความเชื่อของแต่ละกลุ่มจึงมีไม่เท่ากัน เช่น กะเหรี่ยง จะนำผีใส่แปม (ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่คล้ายกระบุง) เมื่อเดินทางผีจะโดดออกจากแปม จึงเหลือผีกลับบ้านไม่เยอะ คนไทยเอาผีใส่ก๊อก เป็นภาชนะเหมือนกระบุงห่างสานจากไม้ไผ่ ผีจึงออกตามช่องและทางปากของกระบุงเยอะมาก คนไทยจึงไม่ค่อยเชื่อเรื่องผี ลัวะเอาย่ามใส่ผีแล้วปิดย่ามผีจึงออกไม่ได้ ลัวะจึงได้ผีกลับบ้านเยอะจึงทำให้เชื่อเรื่องผีมาก (หน้า 16, 31, 38, 39) ผี มี 2 ประเภท คือ "ผีดี" (benevolent spirits) มีหน้าที่คุ้มครอง คนในบ้าน หมู่บ้านและเมืองไม่ว่าจะเป็น ผีปู่ ผีย่า ผีบรรพบุรุษ ผีคุ้มครองหมู่บ้าน ผีดีดูแลลูกหลานที่ประพฤติดี และจะลงโทษผู้ที่ทำผิดกฎของครอบครัวและสังคม "ผีร้าย" (malevolent spirits) คือ ผีที่ชอบรังแกคนหรือสัตว์ทำให้ไม่สบายหรือตาย ผีร้ายจะอยู่ในป่าเขา เช่น ผีกะหือ ผีตะกละ ผีกระสือ ผีตายโหง ผีตายทั้งกลม ผีป่า ผีเขา (หน้า 42-43) ลัวะมีความเชื่อเรื่องผีจำนวนมาก เช่น ผีป่า ผีน้ำ ผีไร่ ผีนา ผีบ้าน ดังนั้นพิธีกรรมเลี้ยงผีจึงมีหลายแบบ เช่น - นกต๊ะงอ หรือ พิธีเลี้ยงผีต๊ะงอ หรือ เลี้ยงผีฟ้า จะทำพิธีหลังเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม พิธีนี้มีความสำคัญคือ ไม่อยากให้ฟ้าผ่าคน หรือ สัตว์ - นกกุมคือผีเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าแม่น้ำ เจ้าแผ่นดิน เพื่อช่วยปกป้องคน และสัตว์ในหมู่บ้าน - นกตังเกย หรือ ผีป้องกันรักษาหมู่บ้าน "เกย" หมายถึง "ป้องกัน" ผีตังเกยคือ ผีป้องกันหมู่บ้าน ไม่ให้ผีอื่น มาทำร้ายคนสัตว์เลี้ยงและพืชผักต่างๆ ในหมู่บ้าน - นกอัดยา หรือ ผีเจ้านาย เป็นผีที่เป็นผู้รักษาและสร้างกฎของผีเพื่อให้ผีใช้นกอัดยาเป็นผีที่สามารถควบคุมผีกันผีเจ้านายมีหน้าที่ป้องป้องคุ้มครองรักษา หมู่บ้าน คน สัตว์เลี้ยงและพืชผลที่ชาวบ้านปลูก - นกต๊ะตู หรือ ผีต๊ะตู คือ ผีบนสันเขา นกไกก์สปาย หรือพิธีเลี้ยงผีไฟ (รวมทั้งผีป่าเขา) ทำหลังจากถางป่าและกำลังจะเผาป่า นกฮละ หรือเลี้ยงผีไร่ - นกละมัง คือ พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ และพิธีจ้าหรือพิธีเลี้ยงผีแก้บน - นกจาวะตี หรือ พิธีเลี้ยงผีเจ้าที่ เลี้ยงผีข้างที่นากับที่ไร่ - นกฮ็อกกรง หรือ นกฟาย เลี้ยงผีฝาย เป็นผีที่คุ้มครอง แม่น้ำ และผีห้วย - นกซะอ๊อป หรือ พิธีเลี้ยงผีร้าย หรือ ผีตายโหง - นกกายบง หรือ พิธีเลี้ยงผีหัวเสาบันได - นกชู หรือ นกโชว์ เลี้ยงผีหัวเสาด้วยสัตว์เลี้ยงตัวผู้ - นกนันท์ (นา-อัง) หรือ พิธีข่มขวัญผี - นกฟูกเต่ยเกี๊ยก หรือ นกลำบุกครัก พิธีมัดมือควายเป็นพิธีขอขมาควาย ที่ไถนาไถไร่ - นกฟูกเตยเกี๊ยก หรือ นกลำบุ้กครัก หรือ พิธีนกซะไปค์ คือเลี้ยงผี เจ้าบ้านเจ้าเมือง - นกเหยอะเนอโม หรือนกเหยอะกุมโม หรือพิธีเลี้ยงผีดอย - นกตาวเคราะห์ คือ พิธีส่งเคราะห์จะทำเมื่อเกิดการระบาดของโรคกับคนและสัตว์ - นกอลาจุ้ก เลี้ยงผีที่เสาบันไดจะทำได้ตามสะดวก เช่น หากฝันร้ายก็จะทำพิธีเพราะเชื่อว่าผีเรือนโกรธ - นกลำบุ้กกูลุ้ยช์ หรือพิธีเลี้ยงผีที่มากวนทารกที่เพิ่งคลอดออกมาใหม่ ๆ - นกต๊ะ หรือพิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่าเมื่อเกิดฟ้าผ่าจุดไหนก็จะเลี้ยงผีจุดนั้น หากไม่เลี้ยงก็จะเกิดเรื่องไม่ดีกับคนในบ้าน (หน้า 14 ดูพิธีกรรมเลี้ยงผีแบบต่างๆ ตั้งแต่หน้าผนวก ง หน้า 101-120) การผิดผี เช่น คนนอกครอบครัวถ้าเลือดตกยางออกในบ้านจะถูกปรับด้วยไก่สองตัวเพื่อขอขมาผีเรือน ถ้าคนนอกครอบครัวเดินเข้ามาระหว่างเตาหล่มหรือเตาไฟ (โต๊ะจ๊ะ) กับหิ้งบูชาผีถือว่าผิดผีแขกที่เป็นผัวเมียกัน ต้องแยกกันนอน ผู้หญิงนอนในห้อง ผู้ชายต้องนอนที่นอกชาน การส่งเสียงดังต้องบอกเจ้าบ้านก่อน เพราะผีเรือนจะโกรธจะทำให้คนในครอบครัวไม่สบาย (หน้า 43) การทำนายในหน้าเพาะปลูกจะทำพิธี ดีคัย เพื่อปลูกข้าวไร่ สะมังหรือ ผู้นำประเพณีจะขอพรเจ้าที่ให้ปกป้อง ผู้มาทำไร่ และถ้าอยากจะรู้ว่าที่ตรงนั้นจะปลูกข้าวได้ดีหรือไม่ดีก็จะฆ่าไก่แล้วดูดีไก่ ถ้าดีไก่สมบูรณ์ก็ทำไร่ตรงนั้นได้แต่ถ้าดีไก่แห้งก็ต้องเปลี่ยนไปตรงจุดอื่น (หน้า 40,41หน้าผนวก ง หน้า122) การฝังศพ ลัวะไม่ชอบฝังคนตายวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันร้อนและเป็นวันห้ามขุดดินขุดหลุม โดยเชื่อว่าถ้าฝังคนตายวันนี้จะทำให้คนตายร้อนและมีความทุกข์ (หน้า 80)

Education and Socialization

ลัวะบ้านละอูบส่วนมากอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ รัฐบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ให้งบประมาณ สร้างอาคารเรียน 2 ห้องเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยเปิดสอนในปี พ.ศ. 2513 ทุกวันนี้มี โรงเรียน 2 แห่งคือโรงเรียนประชาบาลกับโรงเรียนเด็กเล็ก เด็กทุกคนจะต้องเรียนภาคบังคับที่โรงเรียน ส่วนคนที่มีฐานะดีจะส่งลูกไปเรียนในอำเภอ หรือ ในจังหวัด (หน้า 37, 47-48) เด็กหญิงลัวะ อายุ 7 ถึง 13 ปี จะต้องเรียนหนังสือภาคบังคับ หลังเลิกเรียนจะช่วยงานบ้าน เช่น ตักน้ำ หุงข้าว เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ และดูแลน้อง ในวันหยุดจะไปทำไร่ช่วยครอบครัว (หน้า 30)

Health and Medicine

รักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการเสี่ยงทาย - ลัวะถ้าอยากรู้ว่าป่วยเพราะอะไรก็จะเสี่ยงทายหรือสะโป๊ก มี 2 แบบคือการใช้เมล็ดข้าวสารและฆ่าไก่ วิธีนี้จะใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต แต่ทุกวันนี้จะรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน หรือกินยาแพทย์แผนปัจจุบันหากไม่หายหรือไม่ทุเลาก็จะสะโป๊ก การนับข้าวสารคนแก่หรือผู้นำประเพณีจะเป็นผู้ทำพิธีและตกลงกับผีบ้านว่าหากนับได้เลขคู่หมายถึงอะไร และถ้านับเลขคี่หมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น หากนับได้เลขคู่ว่าผีที่ทำให้ไม่สบายคือผีไร่ ก็จะเลี้ยงผีไร่ เป็นต้น รักษาด้วยไสยศาสตร์ ลัวะเชื่อว่าหากมีอการปวดหัวตัวร้อนหรือปวดท้อง เกิดจากผีมาทัก จะรักษาโดยนำกับข้าวใส่กระทงไปไหว้ผีขอกฟ้าตายืนก็จะหายเจ็บป่วย (หน้า 41-43, 67-68, 70 หน้าผนวก ง หน้า 123-124) รักษาด้วยสมุนไพร - จะใช้สมุนไพรตามป่าหรือใกล้บ้าน - ถ้าเด็กเป็นไข้จะรักษาโดยใช้หัวเต่าผสมกับตะไคร้ ข่า เนื้อไม้จันทร์แดง จันทร์ขาว น้ำ กับข้าวสารจ้าวให้เด็กกินหรือทาที่หัว - ยาแก้ผื่นคัน ถ้าเด็กเป็นผื่นที่หูซอกขาหรือลำตัว จะใช้โคลนที่ติดโคนเสาที่หมูไปเล่นโคลนแล้วมาขูดที่เสาบ้าน โดยจะขูดดินที่เสาไปทาให้เด็ก ลัวะเรียก "ขูดลคาย" - ยาล้างแผลสดจะต้มเปลือกมะขามจนเดือดเมื่อเย็น จะนำน้ำต้มเปลือกมะขามมาล้างแผลก็จะหาย - ยารักษาไข้หวัดเด็กอ่อนจะนำ "ใบเญื้อะตง" เป็นใบสีเขียวเข้มกลิ่นฉุนเมื่อขยี้ ต้นไม่สูงเป็นพืชกึ่งไม้พุ่มกึ่งไม้เลื้อย นำต้มให้เด็กอาบ (หน้า 67) การคลอดบุตร มี 2 แบบ คือ คลอดกับแม่ฮับหรือแม่ช่าง (หมอตำแย) และคลอดที่โรงพยาบาล วิธีคลอดกับหมอตำแยจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น หม้อต้มน้ำ กระด้ง ผิวไม้รวกตัดสายสะดือ ด้ายผูกสายสะดือ ถ่านรองสายสะดือขณะตัด เมื่อคลอดแล้วจะนำเด็กไปใส่กระด้ง ล้างด้วยน้ำส้มป่อยเพื่อล้างสิ่งไม่ดีออกจากตัวเด็ก ส่วนรกจะห่อใบตองแล้วไปฝังที่พื้นบันไดบ้าน หรือ ประตูบ้าน เพราะเชื่อว่าถ้าเด็กโต จะทำให้ไม่ทิ้งพ่อแม่ไปทำงานที่อื่น ส่วนพ่อบ้านก็จะไปบอก ผู้นำประเพณี หรือผู้ที่รู้เรื่องผี ให้บอกผีประจำหมู่บ้านดูแลเด็ก และจะนำลูกไก่ 1 ตัวไปเซ่นไหว้และจะฆ่าไก่เอาเลือดบูชาผี ส่วนแม่เด็กจะนอนใกล้เตาไฟเพื่อให้เลือดในตัวหมุนเวียนและจะอยู่กรรม หรืออยู่เดือน หยุดทำงาน 30 วัน การคลอดที่โรงพยาบาล คนที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อแม่เด็กคลอดแล้วกลับบ้านจะทำพิธีเช่นเดียวกับคลอดที่บ้าน ส่วนชาวคริสต์จะไม่ทำพิธีที่เกี่ยวกับผีทุกประเภท (หน้า 69,70) การสูบบุหรี่ ผู้ชายที่แต่งานแล้วชอบ สูบยาเส้นที่มวนด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือ กระดาษเขียนหนังสือและชอบพกถุงยาเส้นและพับแผ่นกระดาษมวนยาติดตัวเป็นประจำ ทุกวันนี้ชอบสูบบุหรี่ที่ขายตามร้านขายของชำ และไม่ชอบสูบกล้องหรือไปป์ โม๊คอ๊อพเญื๊อะ สำหรับคนแก่ผู้ชายชอบสูบกล้องยาเส้น (หน้า 31)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

บ้าน มี 2 แบบ คือ บ้านเก่าแบบลัวะมุงหลังคาด้วยใบตองและหญ้าคามีชานบ้าน ใต้ถุนบ้านสูงใช้เลี้ยงสัตว์และเก็บฟืน เสาบ้านทำด้วยไม้เนื้อแข็งยกสูงจากพื้นดิน 2 ถึง 2.5 เมตร ฝาห้องครัวจะเจาะสี่เหลี่ยมผืนผ้า 3-4 นิ้ว เพื่อใช้ส่องดูนอกบ้าน ในบ้านจะเป็น "โต๊ะเยื้อก" (ห้องโถง) เพียงห้องเดียวมี "เกอไอ๊ " (ที่นอน) "โต๊ะจ๊ะ" (เตาไฟ) เพื่อทำกับข้าวรวมกันอยู่ในห้องเดียว พ่อแม่ และลูกที่ยังไม่ได้แต่งงานจะนอนที่ห้องนี้ จะกั้นห้องเล็กๆ เป็นที่นอนของลูกชายและลูกสะใภ้และจะมีเตาไฟอีกที่หนึ่ง บ้านแบบประยุกต์ เป็นบ้านชั้นเดียว หลังคาบ้านไม่ค่อยติดกาแล มุงกระเบื้องมีชานบ้าน บ้านทำจากไม้เนื้อแข็ง ใต้ถุนบ้านเป็นที่เลี้ยงสัตว์เก็บฟืนและที่เก็บ "เบ่าตกเงาะ" (ครกกระเดื่อง) เสาบ้านทำจากเสาไม้เนื้อแข็งหรือเสาซีเมนต์ยกพื้น สูง 2-3 เมตร ในบ้านแยกเป็นห้องนอนห้องรับแขกและห้องครัว (หน้า 22, 26, 81, 82) การแต่งกาย มี 2 แบบ คือ ชุดแต่งกายในแต่ละวันกับในพิธีต่างๆ ในอดีตผู้หญิงจะแต่งชุดประจำเผ่า สวม "เคริงอาเวียะ" ผ้าสิ้นทรงแคบสั้นถึงเข่าสีดำสลับสีบานเย็น และสีขาวลายขวางลายเสือ "อะปิปุย" เสื้อสีขาวแขนสั้นคล้ายกับเสื้อกุยเฮงของจีนพันด้วย "ปาเตะ" คือผ้าพันแขนกันแดดโดยมากจะใช้สีฟ้าน้ำเงินและดำยาวถึงข้อมือ สวม "เบรย" หรือกำไลเงินหรือกำไลไม้ไผ่ทาสีด้วยน้ำรักสวมทับผ้าพันแขนไม่ให้ผ้าพันแขนหลุด พัน "ปาจอง" หรือผ้าพันน่องแทนถุงเท้านิยมสีน้ำเงินและดำมีกำไลไม้ไผ่ทาด้วยสีน้ำรักรัดใต้เข่า เพื่อไม่ให้ผ้าพันน่องหลุด สวม "เสลียง" หรือกำไลต้นแขนใส่ "โบระ" หรือต่างหูเงินรูประฆังหงาย บางส่วนก็จะใส่ต่างหูงาช้าง วัยรุ่นหญิงชอบเสียบหูด้วยไหมพรมสีเหลืองแดงและส้มขนาดยาวของไหมพรมยาวถึงไหล่ กลุ่มหญิงสาวจะชอบใส่ต่างหูไหมพรม บางคนจะสวมแกนเสียบหู "ฮนางโต๊ะพเยะ" หรือสร้อยติดคอทำด้วยไหมพรมปลายเป็นพู่ยาว สวม "นังสะครัก" หรือสร้อยลูกปัดสีแดง นังสะเวย์หรือสร้อย ลูกปัดสีเหลือง "นังสะไมย์" หรือ สร้อยเงินเม็ด (หน้า 31) การแต่งกายของชายลัวะ สวมเสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตผ่าอกแบบเสื้อกุยเฮงกางเกงสีขาวหลวม ๆ สะพายย่ามสีขาวขลิบสีชมพูหรือแดง ย่ามมีหลายลาย เช่น สีแดงแนวตั้ง สีส้มแดง สีดำ ขาว ด้านข้างสีชมพู ชุดแต่งกายหญิงลัวะในพิธีต่างๆ แต่งชุดสีดำในพิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่า และงานแต่งงาน จะสวมชุดดำเฉพาะเจ้าสาวและหญิงสาวที่ฝ่ายเจ้าบ่าวส่งให้มารับเจ้าสาว ในงานศพ หญิงลัวะจะสวมเสื้อสีดำทับเสื้อสีขาว เสื้อสีดำลายแดงที่ปลายเสื้อ ผู้หญิงชอบมวยผมด้วยปิ่นกับขนเม่น สวมสร้อยเงินและสร้อยลูกปัด สีแดง เหลือง ผู้หญิงที่เข้าแต่งงาน หากนับถือผีหรือศาสนาพุทธจะคลุมหน้าด้วยผ้าสีแดงเหลืองหรือขาว ใช้มือจับมุมผ้าอีกมือถือเคียว ส่วนเพื่อนเจ้าสาวจะกางร่มสีดำให้เจ้าสาว หญิงที่นับถือคริสต์จะคลุมหน้าด้วยผ้าขาว ในงานแต่งงาน ชายลัวะ สวมเสื้อขาวแขนยาวทับเสื้อเชิ้ต นุ่งกางเกงแบบกางเกงขาก๊วยสีขาว เหน็บมีดด้ามงาช้างฝักมีดทำจากเงิน ที่เอวโพกห้วด้วยผ้าแดงหรือชมพู พันเอวด้วยผ้าทอสีขาว "กะซี" หรือผ้าคาดเอวที่ใช้ใส่เงินแถบเจียงและเงินพดด้วงแทนเข็มขัด "บูฮูด" หรือ เชือกทำด้วยไหมพรมสีแดง ปลายผ้าเป็นพู่ยาว 1 ฟุต ใช้ผูกคอ งานเลี้ยงผีประจำปีหรือปีใหม่จะพันหัวด้วยผ้าแดง หรือ ชมพู ต่างกับงานแต่งงานตรงที่ไม่ผูกกะซี (หน้า 32-33 ดูรูป หน้า 34-35,74-75,77-78) ลานหู หญิงสูงอายุจะเจาะหูแล้วใส่ "ลานหู" เพราะแต่ก่อนนี้นำใบลานม้วน แต่ทุกวันนี้ทำจากเงินและโลหะกล้องยาเส้น หญิงลัวะอายุ 50 ปีขึ้นไปชอบสูบกล้องยาเส้น "โม๊คเหยื๊อหรือไปป์" ส่วนมากกล้องยาจะทำด้วยดินเหนียวและไม้ (หน้า 30) การเล่นชวงละมาง งานศพคนร่ำรวยจะฆ่าควาย 2 ตัว เลี้ยงแขกถ้าฆ่าควายก็จะเล่นชวงละมางหรือเต้นที่ใช้ไม้ไผ่ เหมือนลาวกระทบไม้ แต่จะใช้ไม้ไผ่ 5 คู่ แต่ลัวะตระกูลชั้นขุนหรือซะมังจะใช้ 7 คู่ การจะเล่นในกลุ่มผู้ชายเท่านั้น การเล่นชวงละมางจะเล่นเฉพาะเมื่อมีการฆ่าควาย (หน้า 79) หัตถกรรม - โลงศพ มี 2 อย่าง คือ แบบโบราณดูด้านนอกจะเหมือนต้นไม้ โดยจะนำไม้ในป่า มาผ่าครึ่ง เจาะเนื้อไม้ด้านในเป็นร่อง ทำฝาแบบสมัยใหม่ เหมือนโลงศพของคนพื้นเมือง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (หน้า 79) - อูบ ทำจากเงิน เป็นกล่องมีฝาปิดสำหรับของใช้ ตลับมีฝาปิด (หน้า 27) - แปม รูปทรงคล้ายกระบุง สานจากไม้ไผ่ ตรงปากทำจากหวาย มีสายเชือกทำจากหนังสัตว์หรือเชือกธรรมดา จะนำเชือกคาดหัวตอนใช้งานจะเอาแปมไว้ด้านหลังใส่ของเมื่อเดินทางก๊อก รูปทรงคล้ายตากระบุงห่าง สานจากไม้ไผ่ (หน้า 38) - เสื่อไม้ไผ่ ลัวะจะสานเสื่อไม้ไผ่ กว้าง 6 ศอก ยาว 8 ศอก ใช้รองเมล็ดข้าวเวลานวดข้าวจะเอาเสื่อย่างไฟก่อนเอาไปใช้ เพื่อให้เกิดความทนทานไม่ให้มอดกินไม้ (หน้า 56) - ฆ้อนปุ๊กเงาะ เป็นไม้ตีข้าวทำ ยาว 50 เซนติเมตร มี 2 ด้ามทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตรงปลายจะงอเอาไว้ดึงฟางข้าวแอก ไม้พาดคอควายเมื่อไถนา - กาลบัด รูปร่างกลมสานจากไม้ไผ่มีด้ามสำหรับถือ ใช้พัดข้าวลีบออกจากข้าวเปลือก (หน้า 57) - กระชุ หรือคุไม้ไผ่ ทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรครึ่งถึง 2 เมตร (หน้า 58)

Folklore

นิทานเรื่องผี ที่แสดงถึงความใกล้ชิดของลัวะกับคนพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ช่วยกันแก้ปัญหาถูกผีหลอกว่าพระยาวีวอ ได้ช่วยคนพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ถูกผีรบกวน โดยให้คนเมืองเชียงใหม่แต่งตัวเป็นลัวะและให้ลัวะแต่งกายเป็นคนเชียงใหม่เพื่อให้ผีงงจำไม่ได้ว่าเป็นคนไทยหรือคนลัวะ (หน้า 2) ชื่อหมู่บ้าน ราวปี พ.ศ.2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำบ้านเขาโกเงระกับผู้นำบ้านโมซัมเบียง ตกลงกันรวมหมู่บ้าน โดยตั้งหมู่บ้านบนเขาโมซัมเบียง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ยวงละเอิ๊ก" หรือบ้านละอูบเพราะมีคนแปลกหน้าที่ชาวบ้านเชื่อว่าคงจะเป็นเจ้านายมาจากในเมืองเพราะแต่งตัวดี ต่างจากคนบนดอยมาขอพักในหมู่บ้าน เมื่อเชิญให้นอนบนบ้านก็ไม่ยอม ชาวบ้านจึงสร้างที่พักให้แขกแปลกหน้าเมื่อไปแล้วได้ลืม "อูบ" ที่ทำจากเงินเอาไว้ที่พัก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ละอูบ" ตามที่แขกแปลกหน้าลืมอูบเงินไว้ (หน้า 27) เสาอินทนิล จากตำนานสุวรรณคำแดง (พระมหาหมื่นวัดเจดีย์หลวง) แปลจากหนังสือพื้นเมืองบอกว่าที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ทุกวันนี้ แต่ก่อนเคยเป็นเมืองของลัวะ ลัวะถูกผีรบกวนพระอินทร์จึงเสกให้เกิดบ่อเงินบ่อทองบ่อแก้ว ในเมืองให้ชาวเมืองอธิษฐานเอง ช่วงเวลานั้นคนในเมือง มี 9 ตระกูล แยกเป็น 3 กลุ่มเพื่อเฝ้าบ่อและตั้งชื่อเมือง เป็น นพบุรี ในภายหลังเมื่อเมืองอื่นๆ รู้ข้อมูล คนในเมืองเกรงว่า คนเมืองอื่นจะยกทัพมาแย่ง บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้วจึงไปหารือกับฤาษี ดังนั้น ฤาษีจึงไปบอกพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้ยักษ์ 2 ตน ขุดเอาเสาอินทนิลมาที่เมืองนพบุรีนับจากนั้นชาวเมืองจึงทำพิธีบูชาเสาอินทนิลกับรูปยักษ์ทุกปี (หน้าผนวก ง หน้า 125) ตาเหยี่ยวหรือเฉลวเจ้าชายเทืองหรือขุนเทือง เจ้าเมืองเงินยางไปล่าสัตว์ในป่าแล้วพบผีป่าผู้หญิง ตนหนึ่ง ผีแปลงกายเป็นสาวงามมาหลอกเจ้าชายเทืองไปอยู่ด้วยจนมีลูก เจ้าชายเทืองมารู้ความจริงในภายหลัง จึงขอกลับไปบ้าน ผีจึงขอให้นำลูกกลับไปด้วย ในเวลาต่อมาเจ้าชายทึงซึ่งตั้งตามชื่อตามใบไม้ที่ห่อตัวมาว่า ทึงได้เป็นเจ้าชายเงินยางขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากบิดา เจ้าชายทึงชอบล่าสัตว์เมื่อเข้าไปในป่า ผีป่าจึงเล่าประวัติของพระองค์ให้ฟังและบอกให้ออกจากถ้ำงูยักษ์ที่มีของวิเศษ งูตัวนี้เป็นปู่ย่า ของขุนทึง เมื่อขุนทึงได้ของวิเศษจึงสร้างเมืองและเป็นเมืองหลวงในภายหลัง เมื่อเจ้าชายทึงเป็นกษัตริย์ สัตว์ป่าทั้งหลายก็มาแสดงความเคารพ พระองค์จึงห้ามชาวเมืองไม่ให้ทำร้ายสัตว์ที่เป็นบรรพบุรุษ ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะสัตว์เข้าไปกินพืชผลในไร่นา เมื่อรู้ข่าวพระองค์จึงตั้งให้เหยี่ยวเป็นผู้ดูแลไร่นา แต่สัตว์ป่าได้ทำลายศาลเทพารักษ์ เทพารักษ์จึงฆ่าเหยี่ยว ขุนทึงจึงให้ประชาชนสานเส้นตอกเป็นรูปตาเหยี่ยวผูกไว้ที่ปลายเสาไว้ในไร่นา เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เข้าไปทำลายไร่นาและขณะปักเสาก็ขอให้เหยี่ยวดูแลไร่นาของตน (หน้าผนวก ง. หน้า 121)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลัวะกับไทยล้านนา มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานและมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กลุ่มลัวะแต่เดิมอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นชาวพื้นเมืองอยู่ที่เวียงเจ็ดลินหรือเชิงดอยสุเทพ ต่อมามอญ ขอม และไทยผลัดเปลี่ยนเข้ามาครอบครองอาณาจักร ภายหลังกลุ่มไทยยวนได้ย้ายถิ่นมาสร้างบ้านเรือนร่วมกันกับกลุ่มลัวะ ในสมัยพระยาสระเกตุ ผู้นำฝ่ายไทยกับพระยาวีวอ ขุนตระกูลลัวะและเป็นประธานลัวะ ต่างก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (หน้า 2) ความสัมพันธ์ของลัวะกับคนไทยล้านนามีความเกี่ยวพันกันทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กลุ่มลัวะอยู่ในฐานะไพร่เมืองเหมือนกับไพร่โดยทั่วไปที่จะต้องปฏิบัติกับชนชั้นปกครอง (หน้า 13) วัฒนธรรมลัวะกับวัฒนธรรมไทย ลัวะบ้านปางไฮ เคารพผู้ที่มีเชื้อสายแสนหลวง หรือ ขุนหลวงวิลังคะ แต่เดิมมี ความเชื่อเรื่องผีภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในบางส่วน เพราะไม่เหมาะกับยุคปัจจุบัน (หน้า 15) ลัวะจะสั่งสอนลูกหลานให้เกลียดชังคนไทยพื้นราบหรือ "แซม" ซึ่งมาจากคำว่า สยาม (Siam) ตามคำบอกเล่า ของลัวะบอกว่าลัวะต้องตกเป็นบริวารของแซมและถูกข่มเหงจนลัวะต้องเจ็บและตายจำนวนมากจนต้องหลบหนี ไปอยู่บนภูเขา ในเชียงใหม่ กับแม่ฮ่องสอน ลัวะจึงอาฆาตและสั่งสอนให้ลูกหลานเกลียดชังคนไทยพื้นราบ เช่น ในงานศพ หญิงลัวะสูงอายุจะสวดเล่าถึง ความโหดร้ายของคนไทยพื้นราบ หรือ "แซม" ที่ทำกับลัวะ โดยจะตักเตือนลูกหลานว่าถ้าจะคบกับคนแซมขอให้คบกับคนแซมที่ฉลาดน้อยกว่า และหากมีนายจ้างเป็นแซมก็ให้เป็นคนสติไม่ค่อยดี (หน้า 38-39) ลัวะจะเรียนรู้ การเพาะปลูกข้าวแบบนาดำ และการทำนาแบบขั้นบันไดตามไหล่เขาจากคนไทย (หน้า 49) ลัวะ ไม่ชอบแต่งงานในกลุ่มญาติพี่น้องเพราะเชื่อว่าจะทำให้เป็นผีกะหรือปอบ เพราะคนที่เป็นปอบ ชาวบ้านจะเกลียดชังและจะไล่ออกจากหมู่บ้าน ไม่ให้ร่วมทำกิจกรรมทางสังคมในหมู่บ้าน (หน้า 72-73)

Social Cultural and Identity Change

ลัวะบ้านละอูบย้ายบ้านเรือนมาจากบ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เพราะขาดแคลนที่ทำกิน เนื่องจากมีคนมากขึ้น การย้ายที่อยู่นำโดยกลุ่มย่วงละเมียง และกลุ่มย่วงไตรปลองที่เป็นกลุ่มที่นับถือผี ที่ได้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนที่ดอยหลวงโกละจักร ซึ่งทุกวันนี้จะอยู่ตรงทางเข้าหมู่บ้านแม่งะ ตำบลห้วยห้า อำเภอแม่ลาน้อย ไกลจากบ้านละอูบ 4 กิโลเมตร (หน้า 26) คนที่ไปทำงานในเมือง จะแต่งตัวเหมือนคนพื้นราบ เพราะคิดว่าสวยกว่า และราคาถูกกว่าเสื้อผ้าลัวะ ที่ต้องทอใช้เวลานานแต่จะสวมชุดประจำเผ่าเมื่อเข้าร่วมพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน บ้านใหม่ งานศพ (หน้า 32, 46, 63, 87) ลัวะบ้านละอูบกำลังเปลี่ยนแปลง ความเชื่อเรื่องผี เพราะเส้นทางเข้าหมู่บ้านสะดวกมากขึ้นลัวะส่วนหนึ่งที่นับถือผีก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ แต่ส่วนหนึ่งก็ยังนับถือผีเช่นเดิม สำหรับกลุ่มที่นับถือคริสต์จะไม่ทำพิธีเกี่ยวกับผีทุกประเภท ส่วนคนนับถือพุทธก็ยังเลี้ยงผีในกลุ่มที่นับถือผี ก็ยังปฏิบัติตามความเชื่อเดิม (หน้า 44,48,59,80,88,90) ในอดีตจะมีผู้นำอยู่ 2 แบบแต่ทุกวันนี้จะมีผู้นำมากขึ้น ได้แก่ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีกำหนดระยะการทำงาน 5 ปี โดยมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้การศึกษาที่สูง สำหรับผู้นำอื่นๆ ที่ทางการส่งมา เช่น ครู เจ้าหน้าที่อนามัยและตำรวจ (หน้า 45) แต่ก่อนเมื่อหมดหน้าทำนาทำไร่ ชาวบ้านละอูบจะไม่มีอะไรทำแต่ทุกวันนี้จะปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และคนวัยหนุ่มสาวก็ไปขายแรงงานในเมือง การร้องเพลงไทย การลอยกระทงและงานสงกรานต์จะเป็นเป็นวัฒนธรรมภายนอกหมู่บ้านที่ คนรุ่นใหม่นำมาเผยแพร่ในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่จะร้องเพลงซอของลัวะได้ วัยรุ่นจะร้องไม่เป็นแต่จะชอบร้องเพลงไทย (หน้า45,46,88) แต่ก่อนชาวบ้านละอูบจะพูดกันด้วยภาษาลัวะในหมู่บ้าน ต่อมาจะรับวัฒนธรรมภาคกลางและไทยล้านนา เพราะมีการสร้างถนนหนทางความเจริญจึงเข้ามาในหมู่บ้าน คนหนุ่มที่ไปขายแรงงานต่างถิ่น และเยาวชนจะพูดภาษาไทยภาคกลางได้ เพราะได้รับการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน (หน้า 47,87) ทุกวันนี้ ชาวบ้านปลูกกะหล่ำปลีในป่าทำให้ลัวะพบปัญหาขาดแคลนพื้นที่เลี้ยง วัว ควาย เพราะเลี้ยงแบบปล่อยให้กินหญ้าตามป่าไม่ได้เช่นเดิม (หน้า 56,61)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

รูปภาพ การแต่งกายของชายหญิงลัวะสูงอายุ, การแต่งกายของเด็กหญิงลัวะ, การแต่งกายของชายลัวะปัจจุบัน แต่งตัว เหมือนคนพื้นราบ, การแต่งกายของชายลัวะในงานแต่งงาน, การแต่งกายของหญิงลัวะในงานแต่งงาน (หน้า34, 35) บ้านลัวะแบบดั้งเดิม,บ้านลัวะแบบประยุกต์และการเพาะปลูก (หน้า127) เสาสะกังประจำหมู่บ้าน, การฆ่าไก่, หมูในพิธีบูชาผี, ความเป็นอยู่ของลัวะ, การเล่นชงระมังและการกินอาหาร (หน้า128) การปลูกข้าวไร่, พิธีเลี้ยงผีฟ้า (หน้า 129) พิธีแต่งงานของลัวะ (หน้า 130) งานหัตถกรรม เช่น อุปกรณ์ทำไร่การตีเหล็กทอผ้าการแต่งตัว (หน้า131) แผนที่เส้นทางการเดินทางจากเชียงใหม่-บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า23) แผนที่เส้นทางสู่บ้านละอูบ (หน้า24) แผนผัง อาณาเขตของหมู่บ้านละอูบ ตำบลห้วยล้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า25) ตาราง ข้อมูลประชากร (ภาคผนวก ข หน้า99)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ลเวือะ, การผสมกลมกลืน, วัฒนธรรม, แม่ฮ่องสอน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง