สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กะเลิง,วิถีชีวิตความเป็นอยู่,ประเพณี,ความเชื่อ,มุกดาหาร
Author สุวิทย์ ธีรศาศวัต, ณรงค์ อุปัญญ์
Title การเปลี่ยนแปลงวิถีครอบครัว และชุมชนอีสาน: กรณี กะเลิง จังหวัดมุกดาหาร
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กะเลิง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 301 Year 2540
Source ภาควิชาประวัติศาสตร์ และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น สนับสนุนการวิจัยโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม แห่งชาติ
Abstract

เนื้อหาระบุถึง วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ในด้านต่างๆ ของกะเลิงบ้านโนนสังข์ศรี ต.บ้านซ่ง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร อธิบายให้เห็นภาพการดำรงชีวิต การใช้เครื่องไม้ เครื่องมือ ในการเลี้ยงชีพ และการละเล่นต่างๆ ของกะเลิง

Focus

ศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้านกะเลิง บ้านโนนสังข์ศรี ต.บ้านซ่ง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร และศึกษาการเปลี่ยนแปลง วิถีครอบครัวและชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง (หน้า 4)

Theoretical Issues

ไม่ปรากฏ แต่การเก็บข้อมูลใช้ทั้งวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ และการศึกษาเชิงปริมาณ การศึกษาเชิงคุณภาพ ได้แก่ สัมภาษณ์ ผู้นำชุมชน ผู้นำ และ อดีตผู้นำชุมชน ผู้รู้ในด้านต่างๆ ที่เป็นกะเลิง ในบ้านโนนสังข์ศรี และหมู่บ้านใกล้เคียง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโนนก่อ บ้านโพธิ์ศรีและบ้านนาสีนวล จำนวน 29 คน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2539 ถึง 12 กรกฎาคม 2540 การศึกษาเชิงปริมาณ ใช้วิธีสัมภาษณ์ โดยสัมภาษณ์หัวหน้า ครัวเรือน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 29 ปี 10 คน, กลุ่มที่อายุ 30-50 ปี จำนวน 10 คน, กลุ่มที่อายุ 51 ปี ขึ้นไป จำนวน 10 คน ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม-15 เมษายน 2540 (หน้า 5)

Ethnic Group in the Focus

กะเลิง เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีความเป็นอยู่เหมือนกับชนกลุ่มน้อยเผ่าข่า (บรู) ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ระบุว่า กะเลิง เป็นชื่อคนลาวจำพวกหนึ่ง เรียกว่า ลาวซ้ง หรือ ไทกะเลิง คำว่า "กะเลิง" มาจากคำว่า "ข่าเลิง" มาจากคำว่า ข่า กับ เลิง หรือ ข่าที่ทำมาหากินใกล้น้ำ เพราะว่า เลิง ในภาษาอีสาน หมายถึง ห้องน้ำ หรือ หนองน้ำ เป็นข่ากลุ่มหนึ่งในตระกูล มอญ เขมร ข่า กะโซ่ กะเลิง (หน้า 5,145)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษากะเลิง เป็นภาษาตระกูล มอญ-เขมร ภาษาพูดอยู่ในตระกูล ภาษาออสโตรอาเซียติค เมื่อประมาณ 150-200 ปีที่แล้ว มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ภาษาพูด และภาษาเขียนได้สูญหายไปเพราะกะเลิงได้รับวัฒนธรรมไทย-ลาว มากว่า 100 ปี ทุกวันนี้กะเลิง พูดภาษาอีสาน และเขียนหนังสือด้วยตัวอักษรไทย (บทคัดย่อ ข, หน้า 5,13 เปรียบเทียบภาษาดู หน้า 14, 287)

Study Period (Data Collection)

1 พฤศจิกายน 2539 - 31 สิงหาคม 2540 (หน้า ก)

History of the Group and Community

บ้านโนนสังข์ศรี ก่อตั้ง เมื่อ พ.ศ.2301 เดิมชื่อบ้านนาเสียงแคน หรือ บ้านโนนตูม แรกเริ่มกะเลิงที่บ้านโนนสังข์ศรี ได้อพยพมาจากประเทศลาว หมู่บ้านกุดน้ำแล้ง เมืองดงเห็น อยู่ไกลจากเมืองสุวรรณเขต ไปทางทิศตะวันออก 90-100 กิโลเมตร เพราะเกิดสงครามระหว่างเมืองเวียงจันทน์กับเมืองนครพนม ซึ่งในเวลานั้นชื่อว่า เมืองลคร ได้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านนาเสียงแคน อยู่ใกล้กับห้วยน้ำเช็ดหรือห้วยช้างเช็ด แต่ตั้งหมู่บ้านได้เพียง 10 ปี เพราะเกิดไฟไหม้ทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงย้ายจากทิศเหนือของห้วยน้ำเช็ดมาอยู่ทางทิศใต้ของห้วยมุก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านโนนสังข์ เนื่องจากกลางหมู่บ้านมีต้นสังข์ขนาดใหญ่ และทางการได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า บ้านโนนสังข์ศรี เมื่อ ปี พ.ศ. 2501 ต่อมาชาวบ้านส่วนหนึ่ง ได้โยกย้ายออกไปขยายตัวเป็นหมู่บ้านต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เช่น บ้านโนนก่อ บ้านโพธิ์ศรี บ้านศรีนวล เพราะชาวบ้านต้องการไปอยู่ใกล้นาปลูกข้าวของตน บางส่วนได้อพยพหนีโรคฝีดาษที่เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2459 ไปตั้งหมู่บ้านใหม่อยู่ที่บ้านแสนพัน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร อีกส่วนหนึ่งย้ายหนีความแห้งแล้งไปอยู่ที่บ้านโดนสวนปอ บ้านบัวโคก อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย (หน้า 15-20, 280)

Settlement Pattern

บ้านของกะเลิง เมื่อ 40 ปี ก่อน จะสร้างหลังคาเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มียอดแหลม มุงด้วยหญ้า ประตู มี 2 บาน และ หน้าต่าง (ภาษาถิ่น เรียก ป่องเอี้ยม) 1 บาน ฝาบ้านกั้นด้วยไม้ขัดแตะ โดยใช้ไม้พาง ซึ่งเป็นพืชในตระกูลไผ่ พื้นบ้านสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร เสาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง มะค่า เต็ง รัง เสาต้นหนึ่งมีความยาว 11-13 ศอก (4. 80 - 5.70 เมตร) ใต้ถุนบ้านจะใช้ผูกวัวควาย สำหรับบ้านที่มีบริเวณกว้าง ก็จะผูกควายเอาไว้นอกบ้าน เพราะควาย ทนแดดทนฝน สำหรับบางบ้านจะใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านตั้งครกกระเดื่อง (ภาษาถิ่นเรียก ครกมอง) เล้าข้าว หรือ ยุ้งข้าว จะสร้างไว้ข้างบ้าน บ้านจัดสรรพื้นที่ ใช้สอย โดยแยกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ - เรือนใหญ่ แบ่งเป็นหนึ่งหรือสองห้อง สำหรับเป็นห้องนอนของ พ่อ แม่ และห้องนอนลูกสาว ซึ่งเรียกว่า "ส้วม " และอีกห้องหนึ่งจะกั้นทำห้องผี โดยจะทำเป็นหิ้งผี หรือเรียกว่า "ขันกระหย่อง" ไว้ที่ข้างฝา เหนือศีรษะ ถ้ามีลูกชายก็จะให้นอนห้องนี้ แต่จะไม่ให้ลูกเขย หรือ ลูกสะใภ้ เข้าไปในห้องนี้ ถ้าเข้าไปจะต้องปรับไหม หรือเรียกว่า "ไหมเขยกินควาย ไหมสะใภ้กินหมู" - เปิง คือห้องเอนกประสงค์ สร้างไว้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างต่อจากเรือนใหญ่ แต่เปิดโล่งไม่กั้นฝา บันไดทางขึ้นจะสร้างไว้ขึ้นทางเปิง (ดูแผนผังบ้าน หน้า 104) - ชานบ้าน ต่อจากเปิงด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ ในส่วนนี้จะใช้ทำกับข้าวและวางตุ่มน้ำเป็นที่อาบน้ำ มีบันไดลงจากตัวบ้าน (บันไดชาน) - ห้องครัว สร้างต่อจากชานบ้าน มุงหลังคาและสร้างฝากั้นเอาไว้ (หน้า 96-110,130,148,149,283)

Demography

แต่ก่อนบ้านโนนสังข์ศรี มีหมู่เดียว กระทั่งปี พ.ศ. 2535 ได้แยกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ 3 และ หมู่ 7 มีประชากรทั้ง 2 หมู่รวม 193 ครัวเรือน จำนวน 1,109 คน เป็นชาย 549 คน หญิง 560 คน วัยทำงาน อายุ 14-60 ปี มีทั้งหมด 772 คน หรือ 69.6 % จำนวนชาวบ้านที่อยู่ในหมู่ 3 จากการสำรวจ เมื่อ ปี พ.ศ. 2539 มี จำนวน 440 คน ชาย 221 คน หญิง 219 คน 76 ครัวเรือน ส่วนหมู่ 7 มีจำนวนประชากร 669 คน ชาย 328 คน หญิง 341 คน มีจำนวนครัวเรือน 117 คน อัตราการเพิ่มของประชากร ในระหว่าง พ.ศ. 2301-2490 มีอัตราการเพิ่มค่อนข้างช้าเพราะการแพทย์ไม่ทันสมัย ซึ่งแต่เดิมมี 10 ครัวเรือน เพิ่มเป็น 142 ครัวเรือน คิดอัตราการเพิ่มประชากรต่อปี 0.7 ครัวเรือน แต่ในระหว่างปี พ.ศ. 2490 -2539 มีอัตราการเพิ่มของประชากรค่อนข้างเร็ว โดยประชาชนใน 4 ชุมชน เพิ่มจาก 142 ครัวเรือน ขึ้นเป็น 591 ครัวเรือน โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 449 ครัวเรือน หรือเฉลี่ยปีละ 9.16 ครัวเรือน (หน้า 13, 25, 272)

Economy

การบริโภค อาหารการกินของกะเลิง บ้านโนนสังข์ศรี เหมือนกับ อาหารอีสานทั่วไป พัฒนาการด้านอาหาร เช่นปลาร้า เพิ่งจะกินเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมา กะเลิงกินง่ายอยู่ง่าย ไม่ค่อยคำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร จนมีคำพูดติดปากว่า ไม่มีอาหารอื่นกิน เอาข้าวจิ้มปลาร้าก็พออยู่ได้ หรือกินให้พอทำงานได้ก็พอแล้ว ในอดีตบ้านโนนสังข์ศรี มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหารป่าหลายอย่างที่ชาวบ้านรับประทาน เช่น แมลง ได้แก่ จักจั่น แมงว่าว แมงอีไร แมงกุดจี่ แมงกินูนส่วนใหญ่จะคั่วกิน แมงเบ้าเป็นดักแด้ของกุดจี่แดง บึ้ง พืชผักผลไม้ - ผักบ้าน ได้แก่ ผักกุ่ม ผักแค ผักขี้เหล็ก ผักกระถิน ตำลึง ผักหนอก ผักสะเดา ลิ้นฟ้า รุม (ผักอีฮุม) - ผักป่า ได้แก่ ผักกระโดน ผักเม็ก ผักติ้ว ผักอีลอก ผักหวาน ผักหนอก ผักเพียง ผักขม ข่า ขิง ผักกระเจียว มะกอก หน่อไม้ - เห็ด แบ่งเป็นเห็ดขอนและเห็ดดิน - เห็ดขอน ได้แก่ เห็ดบด เห็ดหูหนู เห็ดขาว เห็ดซิ้น - เห็ดดิน ขึ้นบนภูเขา หรือโคก ได้แก่ เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมาก เห็ดเพิ่ง (เห็ดผึ้ง) เห็ดเผาะ เห็ดบุ่ง หรือเห็ดไค เห็ดที่เกิดตามป่า ได้แก่ เห็ดขี้ควาย เห็ดไร่ เห็ดหนวด เห็ดเดือน เห็ดดาว เห็ดก้อนทั่ง - ผลไม้ป่า เช่น หมากก่อหิน หมากก่อหนาม หมากลำดวน หมากค้อ หมากยาง หมากพิพ่วน หมากคายเข้า มะม่วงป่า มะไฟ (หมากไฟ) หมากเบ้า มะแงว (ตะขบ) มะไฟ มะเดื่อ หว้า เป็นต้น (หน้า 22, 81-86, 92-95) อาหารประเภทสัตว์น้ำ ปู ในบริเวณบ้านกะเลิง มี 3 ชนิด ได้แก่ - ปูนา มีมากในฤดูฝนในหน้าแล้งชาวบ้านจะใช้เสียมขุดตามท้องนา ปูนาในหน้าแล้งจะรสอร่อยกว่าหน้าฝนเพราะมีรสชาติมัน - ปูขี้เหล็ก ตัวสีดำอยู่ในห้วย - ปูแดง ตัวสีแดง ชอบอยู่ตามรูในแหล่งน้ำตามภูเขา ปูชนิดนี้ขุดยาก เพราะขุดรู อยู่ลึก ๆ อาหารประเภทปู ชาวบ้านจะนำมาจี่ไฟแล้วป่นทำกับข้าว บางครั้งก็ผสมกับปลา หรือทำปลาร้าโดยใส่ลงไหปลาร้า เวลาตำส้มตำก็ทำเป็นปูดอง (หน้า 63) - หอย ชาวบ้านจะนำหอยมาประกอบอาหารหลายอย่าง อาทิ - หอยจูบ อยู่ตามห้วยหนอง และแปลงนา - หอยโข่ง มีมากในช่วงเดือน 6 น้ำในนามีเยอะ - หอยปัง เหมือนหอยโข่งแต่ใหญ่กว่า เปลือกสีดำ อยู่ในห้วยและหนองน้ำ ชาวบ้าน ชอบเอามาทำก้อย - หอยหอม จะอยู่ตามป่ามีในช่วงหน้าฝนแต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีเพราะป่าถูกทำลาย (หน้า 65) - การเบื่อปลา ชาวบ้านจะเก็บหมากละเวียง มาทุบแล้วนำไปละลายลง แหล่งน้ำที่จะจับปลา เมื่อละลายลงน้ำปลาจะเมา บางตัวถ้าเมามากก็จะตาย ปลาเหล่านี้เวลาคนจับมาทำกับข้าว คนกินจะไม่เป็นอะไร (หน้า 53, 54) การแลกเปลี่ยน การผลิตฝ้ายจะไม่ค่อยเพียงพอในการนำฝ้ายมาปั่นด้ายของชาวบ้าน เพราะปลูกรวมกับพืชชนิดอื่น เช่น แตง ข้าวโพด ฟักทอง เป็นต้น โดยแต่ละครอบครัวจะปลูกเพียง 1- 2 ไร่ โดยจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ธ.ค.- ก.พ. กะเลิง ก็จะเอาของ เช่น มะเกลือ กระบอง (ไต้) น้ำอ้อย กบ เขียด ไปแลก หรือไปหาขอฝ้าย กับชาวผู้ไทย ที่บ้านคำชะอี บ้านคำบก บ้านบาก การแลกฝ้ายถ้าสนิทกับบ้านที่ไปแลกก็จะได้ฝ้ายมากกว่าปกติ สำหรับคนที่ไปแลกฝ้ายโดยมาก จะเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ก็จะมีการแลกข้าว โดยจะนำของใช้ของกิน อื่นไปแลกข้าว เช่น กระบองหรือไต้ น้ำอ้อย เป็นต้น (หน้า 111, 112, 259) การผลิต : แต่ก่อนชาวบ้านจะยึดอาชีพเพาะปลูกเป็นหลัก โดยจะถางป่าปลูกข้าวไร่ พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ พันธุ์ข้าวห้าวดำ ห้าวดอกดู่ ข้าวห้าวแดง ข้าวดอญวน ข้าวหนอน เป็นต้น โดยเฉลี่ยจะปลูก 2 ไร่ ต่อครอบครัว สำหรับในที่ลุ่มถ้าปลูกข้าวไร่ได้ 2-3 ปี ก็จะยกคันนาเพื่อปลูกข้าวนา นอกจากนี้ยังปลูกพืชพาณิชย์ เช่น ปลูกปอ แต่ทุกวันนี้ไม่ปลูกกันแล้วเพราะราคาไม่ดี, มันสำปะหลัง มีคนปลูก 2 ครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 5 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 2 ตัน ขายได้ราคาประมาณ กิโลกรัมละ 80 สตางค์ มะม่วงหิมพานต์ เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล และ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสนับสนุนให้ปลูกเมื่อปี พ.ศ 2528 - 2529 ไม่ประสบความมำเร็จ ปลูกแล้วไม่มีผู้มารับซื้อ นอกจากนี้มีการปลูกต้นยูคาลิปตัส ที่เกษตรตำบลนำกล้ามาแจกในปี 2439-2540 ส่วนอาชีพอื่นได้แก่ อาชีพ รับจ้างไถไร่ ค้าขาย และขายแรงงาน (หน้า 258-278)

Social Organization

สมาชิกในครอบครัว จะนับถือพ่อ เพราะว่า เป็นผู้นำและรับผิดชอบเลี้ยงดูคนในครอบครัว การทำงานนอกบ้านจะเป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน ส่วนงานบ้าน เช่น การทำกับข้าวหุงหาอาหาร จะเป็นหน้าที่ของแม่บ้าน ลักษณะครอบครัว เป็นแบบครัวครัวเดี่ยว และ ครอบครัวขยาย เพราะในอดีตนิยมมีลูกมาก บ้านหลังใดที่มีลูกสาวเมื่อแต่งงานแล้ว ก็จะนำสามีมาอยู่ในครอบครัวด้วย ผู้ที่เป็นลูกเขยก็จะทำงานช่วยเหลือครอบครัวฝ่ายหญิง ลูกเขย แบบนี้เรียกว่า "เขยซู" หากมีลูกสาวหลายคนก็จะมีลูกเขยมาช่วยงานบ้านหลายคน เมื่อมีหลายครอบครัวมาอยู่รวมกันมากๆ ก็จะแยกครอบครัว ไปสร้างบ้านอยู่ใกล้ๆ กับบ้านพ่อแม่ ส่วนครอบครัวใด มีแต่ลูกชาย ก็มักจะขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน เพราะเมื่อแต่งงานไปแล้วก็จะย้ายไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง แต่ถ้าหากที่บ้านมีแต่พ่อ แม่ ที่สูงอายุ ลูกชายก็จะพาลูกสะใภ้มาอยู่กับพ่อ แม่ เพื่อช่วยทำงานบ้านและเลี้ยงดู พ่อแม่ (หน้า 41-52, 282, 283) งานแต่งงาน การถือฤกษ์วันแต่งงานของกะเลิง จะเลือกวันที่เป็นมงคลหรือ วันฟู ซึ่งความเชื่อเรื่องวัน แบ่งออกเป็นวันฟู กับวันจม คือวันที่ไม่เป็นมงคลทำอะไรก็ไม่เจริญรุ่งเรือง สำหรับวันฟูกับวันจมในแต่ละเดือนแบ่งได้ดังต่อไปนี้ เดือนเจียง วันจม คือวันศุกร์ วันฟู วันจันทร์ เดือนยี่ วันจม วันเสาร์ วันฟู วันอังคาร เดือน 3 เดือน 8 วันจมวันอาทิตย์ วันฟู วันพุธ เดือน 4, 9 วันจม วันจันทร์ วันฟู วันพฤหัสบดี, เดือน 5,10 วันจม วันอังคาร วันฟู วันศุกร์ เดือน 6,11 วันจมวันพุธ วันฟูวันเสาร์ เดือน 7,12 วันจม วันพฤหัสบดี วันฟู วันอาทิตย์ เมื่อตกลงค่าสินสอดแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกสิ่งของหรือเรียกว่า ฮีต จากฝ่ายเจ้าบ่าว ได้แก่ 1.ค่าน้ำนม 3 บาท 2. ค่าหัวหมู 6 บาท 3. "ค่าตำเนืองเครื่องบ้าน" หรือเครื่องเงิน ซึ่งถ้าใครเป็นเขยจากบ้านอื่น หรือ เขยนอกหมู่บ้านจะต้องเสียให้ฝ่ายเจ้าสาว และ เงิน 300 - 400 บาท ซึ่งแต่ก่อนเมื่อยังไม่เจริญจะเสียเพียง 3-4 บาท เพื่อเป็นค่ารักษาเวลาป่วยไข้ 4. ไก่กลม จำนวน 12 ตัว เพื่อฆ่าแล้วนำเนื้อไปแจกจ่ายกับญาติฝ่ายหญิง แต่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้ไม้ขีดไฟแทนไก่ โดยทุกวันนี้จะใช้ประมาณ 25 ห่อ หรือ 250 กลัก เพื่อแจกจ่ายแก่ญาติเจ้าสาว 5. กระบุงกะสัด ซึ่งจุข้าวได้ประมาณ 1 ปี๊บ หรือ 20 ลิตร ในกระบุจะใส่ของต่างๆ เช่น "บั้งแจ่ว"หรือกระบอกไม้ไผ่ใส่พริกป่น "บั้งเกลือ" หรือกระบอกใส่เกลือ ถ้วย 1 ใบ เงิน 10 สตางค์ (ทุกวันนี้ใช้ 10 บาท) ไม้ไผ่เส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 1.5 ซม. ตรงปลายตอกตะปูตามแนวยาว โดยจะใส่ในกระบุง 6. พาข้าว ( ถาด ) ซึ่งประกอบด้วย ถ้วย 2-3 ใบ ช้อน 1-2 คัน และกระติบข้าว เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมเนื้อวัวหรือเนื้อควาย และจะมีหัว (วัว หรือ ควาย) แต่ปัจจุบันจะเหลือเฉพาะเนื้อ แต่จะตัดหูกับเท้า (ของ วัว ควาย หรือ หมู ) เมื่อส่งให้เจ้าฝ่ายแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวก็จะจะแบ่งกลับคืน ให้ฝ่ายเจ้าบ่าว ครึ่งหนึ่ง และ เจ้าบ่าวจะต้องนำเครื่องมือทำกิน เช่น แหลูกทอง มองลูกกั่ว ก้อนทั่ง ค้อน ไม้แสด เริ่มพิธี ฝ่ายเจ้าสาวจะผูกแขนพราหมณ์ แล้ว "ฟายเหล้า" โดยจะใช้ใบพลูจุ่มเหล้าในถ้วย รดเจ้าบ่าว เจ้าสาว เพื่อบอกให้ทั้งสองมั่นคงซื่อสัตย์ต่อกัน, ป้อนไข่สุกเจ้าบ่าว เจ้าสาว ตอนป้อนหมอสื่อหรือล่าม (ลูกเขย หรือ หลานเขย) จะเป็นคนป้อนเวลาป้อนเจ้าสาวจะหงายมือ และเมื่อป้อนเจ้าบ่าวจะคว่ำมือจากนั้นก็จะนำไก่มากวาดหลัง เพื่อขับไล่ความเจ้าชู้ และ สิ่งไม่ดีต่างๆ และ เพื่อให้อายุยืนยาว คนกวาดมือขวาจะจับไก่ตัวเมีย มือซ้ายจับไก่ตัวผู้ เมื่อกวาดหลังจะไขว้มือโดยจะใช้ขาไก่ตัวเมียกวาดหลังเจ้าบ่าว และไก่ตัวผู้กวาดหลังเจ้าสาว (รูปหน้า 204) ไก่ทั้งสองตัวถือว่าเป็นไก่ขวัญของบ่าวสาว ห้ามฆ่าทำอาหารจะต้องเลี้ยงไว้จนมันตายจึงจะนำไปฝัง แต่ถ้าหากมีลูกก็ฆ่าทำกับข้าวได้เหมือนไก่ตัวอื่นๆ จากนั้น หมอสื่อจะจับศีรษะเจ้าบ่าว เจ้าสาวชนกันเบาๆ 3 ครั้งแล้วพูดว่า ปีลูก ปีลูก ปีลูก ต่อไปสะใภ้ฝ่ายเจ้าสาว จะจูงเจ้าบ่าวขึ้นบนบ้าน ก่อนขึ้นจะเหยียบใบตองที่คลุมก้อนหิน และคนจูงจะใช้น้ำขมิ้นล้างเท้าเจ้าบ่าว และเจ้าบ่าวก็จะมอบเงินแก่สะใภ้ฝ่ายหญิง ราว 10-20 บาท เพื่อ สินน้ำใจ เมื่อขึ้นบนบ้านผู้อาวุโสก็จะจัดสำรับอาหารให้คู่บ่าวสาวรับประทาน หรือ "กินข้าวฮ่วมพา กินปลาฮ่วมถ้วย" คือ กินข้าวร่วมพา กินปลาร่วมถ้วย อันดับต่อไป หมอสื่อ 2 คน และ วังคอง (บางครั้งเรียก "วางคอง" เป็นญาติผู้ใหญ่เจ้าสาว) อีก 1 คน จะตกลงกันเรื่องการวางตัวของคู่บ่าวสาว เพื่อให้อยู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว และช่วยกันทำมาหากิน โดยวังคองจะบอกว่าไม่ให้ทำผิดอะไรบ้าง จากนั้นหมอสื่อ ก็จะกล่าวว่า ถ้าเขยทำผิดครั้งแรกก็ให้เตือน ครั้งที่สองให้ปรับเหล้า ครั้งที่สามให้ปรับ กินควาย หมู ไม่ให้ไล่ไปซะเฉยๆ ต้องเตือนลูกเขยก่อน ทั้งนี้วังคองจะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการปรับไหม อาทิ ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่ ฝ่ายเจ้าสาวเห็นว่า ลูกเขยทำผิด ก็ต้องได้รับการตัดสินใจจากวังคองก่อน เมื่อเสร็จพิธีที่บ้านเจ้าสาวก็จะแห่ไปบ้านลูกเขย เมื่อก่อนจะต้องจูงควายและสะพายฟืมทอผ้าไปด้วย แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนรูปแบบ โดยตัดการจูงควายออกไปเหลือไว้แต่เชือกผูกควาย ส่วนฟืมก็ยังคงใช้ถือเหมือนเดิม ตอนไปส่งจะมอบหน้าที่ให้ เขย 4 คน ฝ่ายเจ้าสาวไปส่ง ระหว่างเดินทางไปส่งจะโปรยขี้เหล้าสาโทใส่เจ้าสาวเพื่อให้อยู่ร่มเย็นมีความสุข ต่อมาเมื่อรัฐบาลไม่ให้ชาวบ้านทำเหล้าสาโท ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมาใช้เมล็ดฝ้ายแทน จนกระทั่งการอิ้วฝ้ายเหลือน้อยลง จะเหลือบางบ้านที่ทำอยู่ เมื่อเจ้าสาวมาถึงฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมของตามฮีตต้อนรับ ได้แก่เสื่อ หมอน 1 ชุด ถาดกับถ้วยหนึ่งใบ 1 ชุด ดาบ 1 เล่ม และ ไก่ 2 ตัว โดยจะนำวางห่างกันราว 1 วา เมื่อเขย 4 คนมาถึง ก็จะไปเลือกเอาของที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดเอาไว้ แล้วแต่ใครจะเอาอะไรก็ได้ตามใจชอบ เว้นแต่ของที่เจ้าบ่าวยืมของคนอื่นมา เช่น ดาบ ที่นำมาใส่ตามฮีต เมื่อเสร็จพิธี ก็จะเข้าไปคุยเพื่อไถ่คืนเจ้าของ ทั้งนี้ ถ้าเจ้าบ่าวจะไม่พาเจ้าสาวมาอยู่บ้านพ่อแม่ก็ไม่ต้องทำพิธีนี้ เมื่อเจ้าสาวจะขึ้นบ้านฝ่ายชาย จะต้องเหยียบใบตองที่วางบนก้อนหินที่หน้าบันได สะใภ้ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะล้างเท้าด้วยน้ำขมิ้น ด้านเจ้าสาวก็จะมอบเงินจำนวนหนึ่งเพื่อขอบคุณ เมื่อขึ้นบนบ้าน เจ้าสาวก็จะมอบของสมมาแก่พ่อแม่ และญาติพี่น้องของเจ้าบ่าว ของสมมาที่นำมาประกอบด้วย ฟูก หมอน ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า หรือซิ่นไหม โดยจะมอบให้ตามความสำคัญ พ่อกับพ่อเจ้าบ่าวจะได้รับของสมมาที่ มีค่าที่สุด ส่วนญาติเจ้าบ่าวก็จะผูกแขนด้วยฝ้ายที่ผูกเงินเอาไว้ตรงกลาง เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของเจ้าสาว ตอนกลางคืนเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวก็จะไปสมมา ญาติพี่น้องที่ไม่มาร่วมงานตอนกลางวัน จากนั้นก็จะนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอพรจากพระที่วัด ก็จบพิธี (หน้า 193-209, 285, 286) ลักษณะสังคมในหมู่บ้าน ชาวบ้าน จะอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี เคารพผู้นำชุมชน มีการจัดแบ่งกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มฌาปณกิจ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่ม อสม. เป็นต้น ในสังคมจะอยู่ร่วมกัน เช่นการตัดไม้จะห้ามตัดไม้ในเขตป่าช้า แต่ถ้านำมาสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ก็ตัดมาสร้างได้ เช่น สร้างศาลาวัด เป็นต้น ( หน้า 250 - 257 ,278 )

Political Organization

การปกครองหมู่บ้าน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะมีพ่อบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านปกครองหมู่บ้าน ตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน เมื่อ พ.ศ. 2301 จนถึงทุกวันนี้ มีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 14 คน ในหมู่บ้านจะมีกฎหมายในการดูแลหมู่บ้าน เช่น ห้ามตัดต้นไม้ทำลายป่าที่เป็นต้นน้ำ หรือห้ามขุดดินในเขตป่าสงวน (หน้า 16-17, 250, 251) ความขัดแย้งทางการเมือง ในระหว่างปี พ.ศ. 2512-2523 รัฐบาลได้ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ซึ่งสถานการณ์ในหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพราะหากฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะเป็นภัยกับตัวเอง ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องระมัดระวังตัวกันเป็นอย่างมาก ในการต่อสู้กับฝ่าย พ.ค.ท. ในครั้งนั้นทางรัฐบาลได้เปิดรับชาวบ้าน เข้าทำงานเป็น อ.ส. โดยฝึกอาวุธและอบรมความรู้ทางการเมืองให้ อย่างไรก็ดี ยังมี อ.ส.ส่วนหนึ่งได้รังแกชาวบ้าน โดยการขูดรีดเงินทองชาวบ้าน หากใครไม่ให้ก็จะใส่ร้ายว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวบ้านเกรงกลัว บางคนต้องเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ การตอบโต้จากฝ่ายที่ถูกใส่ร้ายก็ตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นกันกระทั่งมีการเสียชีวิต การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายได้ยุติลงเมื่อ ปี พ.ศ. 2523 มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เดินทางมามอบตัวและมอบอาวุธ ต่อฝ่ายทางรัฐบาล กว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 30 เปอร์เซ็น (หน้า 38-40, 281, 282)

Belief System

ความเชื่อเรื่องบ้าน ก่อนจะปลูกบ้านจะทำพิธี 3 พิธี ดังต่อไปนี้ 1) ย้ายธรณี โดยจะจัดขันห้าซึ่งประกอบด้วยของหวาน 3 พา ซิ่น 1 ผืน และแพรวา 1 ผืน เพื่อทำพิธีบอกแม่ธรณีให้รู้ว่าจะสร้างบ้าน 2) พิธีผาบ (ปราบ) จะทำหลังจากทำพิธีย้ายธรณี ก็จะผาบแม่เข็ด แม่ขวงหรือเสนียดจัญไร เมื่อทำพิธีแล้วจึงจะปลูกบ้านได้ 3) พิธีไม้ลื่นวา ปลาลื่นฮอย ถ้าพื้นที่ที่จะปลูกบ้านเคยมีฟ้าผ่าต้นไม้ หรือบริเวณนั้นคนที่เคยอยู่ตาย หรือไม่สบาย บริเวณนั้นจะเรียกว่า "มันเข็ดมันขวาง" หรือเสนียดจัญไรถ้ามีใครจะไปอยู่ที่ดินผืนนี้อีกครั้ง ก็จัดพิธีโดยจะแต่งขันห้าแล้วไปตัดไม้โตเท่าหัวแม่มือ แล้ววัดความยาว 1 วา หรือประมาณสุดแขน ตอนทำพิธีจะสัคเคฯเทวดาและขอให้พระแม่ธรณีคุ้มครองจากนั้นก็จะเสี่ยงทาย โดยใช้ไม้ที่ตัดมานั้น ตีพื้นเบา ๆ 3 ครั้ง จากนั้นก็นำไม้มาวัด หากยาวเกินกว่ามือคนที่วัดโดยกางสุดแขน ถ้าเลย 1 วา แสดงว่าสร้างบ้านได้และจะทำให้คนที่อยู่มีความสุข ถ้าไม่ถึงวาก็สร้างบ้านไม่ได้ ถ้าไม่ถึงก็ทำพิธีอีกครั้ง แล้วเสี่ยงไม้ใหม่แล้ววัดอีกครั้งจนกว่าจะได้ (หน้า 107-110, 251, 252) ขึ้นบ้านใหม่ ก่อนขึ้นบ้านใหม่ กะเลิงจะทำพิธีโดยจะให้ผู้สูงอายุไปนอนบนบ้านก่อนเพื่อความเป็นศิริมงคล ขั้นตอนมีดังนี้ เจ้าของบ้านจะนำใบตองมาทับก้อนหินที่บันได เมื่อเดินมาถึงก็จะเหยียบใบตอง ก่อนขึ้นบ้านก็จะมีคน นำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้ การจัดจะแบ่งคนเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มแรก จะให้ไปอยู่บนบ้านก่อนประมาณ 3 - 4 คน เมื่อคณะของเจ้าของบ้านแห่มาถึง คนบนบ้านก็จะถาม ว่ามาจากไหน ทำมาหากินอะไร เจ้าของบ้านก็จะบอก เมื่อขึ้นไปบนบ้าน ผู้สูงอายุ ที่ได้รับมอบหมายให้สะพายย่าม ที่บรรจุ ตลับเงิน ตลับทองคำ ตลับหมาก ตลับพลู สิ่ว ค้อน ก็จะตอกสิ่ว ใส่เสาขวัญ เพื่อแขวนย่าม โดยจะตอกให้ครบ 7 ครั้ง เมื่อตอกแต่ละครั้งก็จะอธิษฐานไปด้วย เช่นตอกครั้งที่หนึ่งได้ฆ้อง หน้ากว้าง 9 กำ ตอกครั้งที่ 2 ได้คำ 9 หมื่น ตอกครั้งที่ 3 ได้ข้าวหมื่นยุ้ง ตอกครั้งที่ 4 ได้เมียสาว ตอกครั้งที่ 5 ได้ช้างใหญ่ ตอกครั้งที่ 6 ได้เหล้า ตอกครั้งที่ 7 ได้ผู้เฒ่าผู้แก่มานอนจะได้ทำให้เจริญรุ่งเรือง เมื่อตอกเสร็จแล้ว ผู้อาวุโสที่ทำพิธีก็จะนอนสมมุติว่าหลับบนบ้านหนึ่งคืน คนที่มาร่วมงานก็จะเงียบสักพัก แล้วทำเสียงไก่ขัน จากเสียงไก่ขันตัวเล็ก มาไก่ใหญ่ กระทั่งไก่เฒ่าขัน คนที่ไปก็จะถามว่าฝันดีไหม คนที่นอนก็จะเล่าความฝันให้ฟัง แล้วล้างหน้าทำความสะอาด เหมือนตื่นนอนตอนเช้าจริงๆ เจ้าของบ้านตัวจริง ก็จะจัดสำรับอาหารคาวหวาน มาเลี้ยงต้อนรับขับสู้ และ ขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานและผู้อาวุโสที่มานอน เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่บ้าน (หน้า 209 -212) ผี : กะเลิง มีความเชื่อเรื่องผี ผีที่นับถือมีหลายประเภท อาทิเช่น ผีเรือน ผีปู่ตา ผีหมอ (หมอเหยา) ผีที่นับถือจะช่วยคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุข และช่วยทำให้คนในชุมชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี คนที่ทำผิดจารีตประเพณี เรียกว่า " ผิดฮีต" ผู้ทำผิดอาจจะอยู่ไม่มีความสุข หากทำผิดจะต้องทำพิธี เซ่นผีเรือน ผีจะอยู่หลายที่เช่น ผีในป่า ผีในน้ำ คือ "เงือกปากแหล่ แข้ปากกว้าง" เวลาเล่นน้ำเงือกจะกล่อมคนที่เล่นน้ำจนจมน้ำตาย ( หน้า 148-174, 250 , 253 ,284 ) งานศพ การจัดงานศพของกะเลิง ทุกคนจะมาช่วยกัน โดยพร้อมเพรียง โดยไม่ต้องบอกกล่าว หากใครมีความสามารถด้านใดก็จะช่วยด้านนั้น เช่นเป็นช่างก็ช่วยสร้างโลงศพ โดยจะตัดเมื่อผู้ตายตายแล้วเท่านั้น โลงศพจะใช้ไม้เนื้ออ่อน เช่น ต้นงิ้ว ต้นมะม่วง เพราะติดไฟง่าย แต่ทุกวันนี้จะใช้ไม้อัด เพราะไม้ไม่ค่อยมี ส่วนผู้หญิงก็จะช่วยทำอาหาร โดยความเชื่อแล้ว เชื่อว่า คนตายนั้น เป็นเหมือน "ขอน" ซึ่งนับวันมีแต่จะผุพัง เป็น "ขอนดอก" การตั้งศพจะไม่ตั้งตรงกับขื่อบ้าน โดยจะตั้งกลางห้องโถง ซึ่งถ้ามี 3 ห้อง ก็จะตั้งไว้ห้องกลาง ในงานญาติผู้ตายจะจัดอาหารมาเลี้ยงเพื่อนบ้านทั้ง กลางวัน และกลางคืน ในตอนกลางคืนผู้ที่มางานก็จะเล่นกันพนัน บ้างก็เล่นเกม เพื่อแก้ง่วงอยู่เป็นเพื่อนของญาติพี่น้องผู้ตาย ในวันปลงศพชาวบ้านจะนำข้าวสาร 1 - 2 กำมือมาช่วยเจ้าภาพ สำหรับความเชื่อในวันปลงศพจะห้ามปลงศพในวันปากเดือน ( ขึ้น 1 ค่ำ) วันพุธ และวันศุกร์ เพราะถ้าปลงในวันที่ห้าม เด็กที่เป็นญาติคนตาย จะตาย เพราะชาวบ้านเชื่อว่า มันแพ้ เด็ก เมื่อแห่ศพถึงป่าช้าก็จะ "เสี่ยงไข่" ถ้าคนเสี่ยงโยนไข่แตกตรงไหน ก็สร้างกองฟอนเพื่อเผาศพได้ แต่ถ้าไข่ไม่แตกก็จะเปลี่ยนที่ไปสร้างที่ใหม่ ( หน้า 212-237) พยากรณ์ขี้เถ้าหาสาเหตุการตาย เมื่อยกศพลงจากบ้าน กะเลิง จะนำขี้เถ้าละเอียดมาใส่กระด้งเอาไว้ แล้วนำกระด้งอีกใบมาครอบ เมื่อกลับจากเผาศพที่ป่าช้า ก็จะมาเปิดดูกระด้ง สำหรับคำพยากรณ์มีดังนี้ ถ้ามีรอยเท้าสุนัข ตายเพราะปอบกิน มีรอยเท้าคน (ขนาดเล็ก) ตายเพราะถูกคุณไสย์ มีรอยไส้เดือน หรือรอยงู ตายเพราะโรคพยาธิ ถ้าไม่มีรอยอะไร แสดงว่าคนตาย ตายตามอายุไข ( หน้า 228 , รูปหน้า 229 ) คันแร้วส่งวิญญาญขึ้นสวรรค์ เมื่อเก็บกระดูกแล้ว ญาติ ๆ จะนำกระดูกใส่หม้อ แล้วปิด หม้อด้วยผ้าขาว ตรงปากหม้อจะผูกสายสิญจน์ นำมาผูกกับคันแร้ว โดยจะอยู่ในลักษณะโค้งงอ ถ้าสายสิญจน์ขาด วิญญาณผู้ตายก็จะขึ้นสวรรค์ การผูกแร้วกับหม้อแต่ก่อนจะฝังหม้อไว้ในดิน ต่อมานำหม้อมาตั้งบนดินกระทั่งแร้วขาดเอง แต่ทุกวันนี้ญาติพี่น้องจะนำอัฐิเข้าไปเก็บไว้ในธาตุ เมื่อนำกระดูกใส่หม้อแร้ว ก็ผูกกับแร้ว จากนั้นก็รวบรัดพิธีโดยจะจุดไฟรนสายสิญจน์ขาด เมื่อพระสวดบังสกุลเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเข้าเก็บไว้ในธาตุได้ โดยไม่ต้องรอให้สายสิญจน์ขาดเองตามธรรมชาติ (หน้า 234, รูปหน้า 235 ) วิธีป้องกันผี : เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน กะเลิงจะมีวิธีป้องกันผี ไม่ให้มาหลอก หรือพาไปด้วย วิธีป้องกันมีดังนี้ 1. นำใบมะเขือ และหว้านชน (พลับพลึง) มาผูกที่หัวบันไดกันไม่ให้ผีขึ้นบ้าน ถ้าผีมา หนามใบมะเขือจะปักมือผี ส่วนหว้านผี ก็จะชนผีทำให้ขึ้นบ้านไม่ได้ จากนั้นก็ใช้ปูน แต้มเป็นรูปกากบาท ที่หน้าผากลูก ขณะแต้มจะดูดว่า "ลูกกูแพ้ลูกเผื่อน" หมายถึง "ลูกกูชนะลูกเขา" 2. ตอนหามศพไปป่าช้า หรือตอนเที่ยง จะไม่ให้ใครนอนหลับ ถ้าหลับก็ต้องปลุกให้ตื่น เพราะถ้าหลับผีจะพาไปอยู่ด้วย 3. งากบันไดบ้าน ปิดประตูบ้าน แล้ววิ่งเข้ามุ้ง สำหรับ งากประตูบ้าน ผู้เขียนอธิบายว่า บันไดบ้านแต่ก่อนจะเป็นบันไดแบบขั้น พาดกับบ้าน มีเชือกผูก เวลาจะไม่ให้ใครขึ้นบ้านก็จะผลักบันไดออกห่างจากตัวบ้าน บริเวณทางขึ้น เมื่อจะลงก็ดึงเชือกเข้ามา 4. แต้มปูนที่หน้า ถ้าใครหลับตอนไปช่วยงานศพ 5. เมื่อไปเผาศพตอนกลับให้นำไม้มาพาดขวางทางเดิน 6. อาหารในงานศพ ถ้าเป็นแกงจะไม่ใส่ผัก เพราะถ้าใส่ผักที่เป็นเถา จะทำให้การตายนั้นลาม แต่ทุกวันนี้เนื้อแพงใครจะใส่ผักก็อนุโลมให้ใส่ได้ เพราะคนรวยจนไม่เท่ากัน ให้คิดเสียว่าการตายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนเกิดมาต้องตายทุกคน (หน้า 235-237 ) ฮีต 12 การทำบุญในแต่ละเดือนในหนึ่งปีประกอบด้วย - เดือน 1 บุญเข้ากรรม คือการอยู่กรรม หรือการล้างบาปของพระ โดยพระที่อาบัติจะนั่งสมาธิ และจะแบ่งเวลานอนต่างหาก โดยจะมีพระผู้ใหญ่คอยดูแล สำหรับชาวบ้านก็จะนำอาหารไปถวายพระตามปกติเท่านั้น - เดือน 2 บุญคูณลาน จะทำช่วงที่ขนฟ่อนข้าวมารวมที่ลาน แล้วจะนำสายสิญจน์โยงล้อมกองข้าว แล้วจะนิมนต์พระมาสวด และพรมน้ำมนต์ - เดือน 3 บุญข้าวจี่ ก่อนถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะไปหาฟืน มารวมกันที่วัด พอถึงวันบุญ ก็จะนำ ข้าวเหนียวนึ่ง น้ำมันหมู เกลือ ไข่ไก่ เพื่อนำมาทาข้าวจี่ เมื่อจี่เรียบร้อยแล้วก็จะนำไปถวายพระ เมื่อรับพรจากพระก็จบพิธี - เดือน 4 บุญผเวส หรือบุญมหาชาติ ที่บ้านโนนสังข์ศรีไม่ทำบุญนี้มาประมาณ 25 ปีแล้ว - เดือน 5 บุญสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำพระ เมื่อถึงวันสงกรานต์ก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งที่โต๊ะ ชาวบ้านก็จะมาทำพิธีสงน้ำพระ โดยจะนำไม้ไผ่มาผ่าครึ่งโดยอีกข้างหนึ่งจะสูงกว่าอีกด้าน ส่วนที่อยู่ต่ำกว่า จะอยู่เหนือเศียรพระ เวลารดน้ำ ชาวบ้านจะเทน้ำผสมน้ำหอมไหลมาตามรางไม้ ช่วงบ่ายจะไปเก็บดอกไม้ป่ามาลอยน้ำเล่นสาดน้ำ และจะนำดอกไม้มาบูชาพระในตอนเย็น - เดือน 6 บุญบั้งไฟ บ้านโนนสังข์ศรีไม่ทำบุญนี้เพราะ ไม่มีช่างทำบั้งไฟ - เดือน 7 บุญซำฮะ (ชำระ) หรือบุญบ้าน คือ บุญที่ทำเพื่อล้างสิ่งที่ไม่ดี ให้แก่บ้าน เช่น เมื่อมีเหตุที่ไม่ดี เกิดในหมู่บ้าน อาทิ สัตว์ป่า วิ่งเข้าหมู่บ้าน การทำพิธีชาวบ้านจะนำสายสิญจน์ มาล้อมหมู่บ้านโดยเริ่มจากที่วัด กระทั่งอ้อมหมู่บ้านแล้วมาจรดกันที่วัด ช่วงเย็นชาวบ้านจะไปฟังพระเทศน์ที่วัด ตอนเช้าก็จะนำอาหารไปถวายพระ แล้วแยกเป็นสองกลุ่มกลุ่มแรกจะนิมนต์พระขึ้นเกวียน พระกับเณรก็จะสวดมนต์ แล้วหว่านกรวด ทราย ไปตามหลังคาบ้าน และ บริเวณบ้าน สำหรับพระอีกกลุ่มก็จะนิมนต์ขึ้นนั่งบน " ตะเหลี่ยง " หรือ แคร่คานหาม ชาวบ้านจะช่วยกันแบก โดยพระจะสวดรอบหมู่บ้านบริเวณที่อ้อมด้วยสายสิญจน์ - เดือน 8 บุญเข้าพรรษา - เดือน 9 บุญข้าวประดับดิน - เดือน 10 บุญข้าวสาก - เดือน 11 บุญออกพรรษา - เดือน 12 บุญกฐิน บุญทั้ง 5 เดือนนี้ ผู้เขียนไม่ได้บอกรายละเอียดเพียงแต่บอกว่าชาวบ้านยังทำบุญกันเป็นประจำทุกปี (หน้า 174-182 ,251 ,284 )

Education and Socialization

โรงเรียนบ้านโนนสังข์ศรี สร้างเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2479 และในปีนั้นเองทางการได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่โนนจาน บ้านนาหลวง ไกลจากที่ตั้งเดิม 1 กิโลเมตร เพื่อให้นักเรียนจากบ้านนาหลวง บ้านโนนสังข์ศรี บ้านโนนก่อ มาเรียนง่ายขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ.2503 ได้ย้ายกลับมาตั้งโรงเรียนในสถานที่ปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2517 โรงเรียนได้เปิดสอนถึงชั้น ป.7 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2533 ได้เปิดสอนชั้น ม.1 เป็นครั้งแรก สำหรับอัตราการเรียนต่อเมื่อเรียนจบชั้น ม.3 เพื่อเรียนต่อชั้น ม.4 นักเรียนมีโอกาสได้เรียนคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนนักเรียนในโรงเรียน (หน้า 28-30,281)

Health and Medicine

ประเภทของหมอรักษาโรค หมอสมุนไพร หรือหมอ " ฮากไม้ " ชาวบ้านจะไปรักษากับหมอสมุนไพรก็ต่อเมื่อ ไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลไม่หาย การไปรักษากับหมอสมุนไพร จะต้องเสียค่า "คาย" ซึ่งประกอบด้วย 1. ขัน 5 ได้แก่ ดอกไม้ 5 คู่ และเทียน 5 คู่ 2. เหล้าก้องไข่หน่วย ได้แก่ เหล้า 1 ขวด ไข่ไก่ 1 ฟอง 3. ซิ่นผืน แพรวา ได้แก่ ผ้าถุง 1 ผืน ผ้าแพร 1 วา 4. เงิน 12 บาท (เงินหัวโล้น) สำหรับสมุนไพรที่รักษาหมอจะไปหา เฉพาะในวันอังคารเท่านั้น ถ้าไปหาในวันอื่นเชื่อว่าจะได้ยาที่ไม่ดี ดังนั้นการไปเสาะหายาในป่าจะต้องเดินทางกลับในวันนั้น การรักษาหมอจะถามอาการแล้วฝนยาให้กิน สำหรับการรักษานั้นจะใช้สมุนไพรหลายชนิด อาทิ เป็นไข้ จะฝนน้ำให้ดื่มด้วย กกตอด ,กกผู้เฒ่า กกไม้คอน เหมือด กกแหล้ บำรุงร่างกาย ใช้ม้าน้ำ (ทะเล) ฝนให้ดื่มเมื่อรักษาห้ามหมอ กิน "คาย" ที่คนไข้นำมาให้ และ เงินใส่คานต้องไม่เกิน 12 บาท ส่วนค่ารักษาแล้วแต่คนป่วยจะมีจิตศรัทธาให้ หมอสมุนไพรจะไม่เรียกร้องค่ารักษา (หน้า 123-127) - หมอมอ รักษาด้วยวิธีอธิษฐาน จะรักษาโรคที่เชื่อว่าเกิดจากผีทำ หมอมอจะใช้ฝากระบอกปูนผูกเชือก และท่องคาถาว่า "ภวิ สันติ" 7 ครั้ง แล้วถามว่าใช่ผีมาทำหรือไม่ ถ้าเป็นฝีมือของผี ฝากระบอกปูนก็จะแกว่ง ถ้าแกว่ง หมอมอก็จะถามว่าอยากกินอะไร เนื้ออะไร เมื่อทราบแล้วหมอมอก็จะบอกคนป่วย ให้ไปหาเนื้อสัตว์ดังกล่าวมาประกอบพิธี การแก้บางทีก็สมมุติ หากไม่มีเนื้อสัตว์ชนิดนั้น เช่น ควายหาม ก็จะใช้ปูแดง หากเป็นไก่ขาว ก็จะใช้ไข่ขาว เป็นต้น ( หน้า 127-131 ) - หมอธรรม รักษาผู้ป่วยโดยการใช้ไสยศาสตร์และใช้สมุนไพร จะรักษาตามความเชื่อแบบพื้นบ้านหรือเรียกว่าการ "ส่อง" นิ่ว รักษาโดยใช้คาถาแล้วต้มสมุนไพรให้ดื่ม การรักษาจะรักษาเฉพาะนิ่วก้อนเล็กๆ เท่านั้น สำหรับนิ่วที่เป็นก้อนใหญ่ๆจะรักษาไม่ได้ ก้างติดคอ ใช้เท้าของคนที่ตอนเกิดส่วนเท้าออกมาก่อน กวาดที่บริเวณคอของคนที่ก้างติดคอ - หมอเหยา ( หมอผี ) จะรักษาด้วยการเหยา โดยไม่ใช้ยาเวลารักษาโรค โรคที่ชาวบ้านมารักษา ส่วนใหญ่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่หาย ก็จะมาหาหมอเหยา เพราะเชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นจะต้องมีอะไรทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะรักษาผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยจะหาดอกไม้เทียนคู่ และแต่งคายเหยา ที่ประกอบด้วย ขัน 5 ซิ่นผืนแพรวา ไข่ไก่ 1 ฟอง เงิน 4 บาท 4 สลึง โดยจะใส่ขันกระหย่องหรือใส่จาน เวลาทำพิธี อีกอย่างที่ต้องเตรียมคือ " ขันสลา" ประกอบด้วย หมาก 2-3 ชิ้น พลูแต้มปูนแล้วมวน แก่นคูณ ประมาณ 4-5 ชิ้น ยาสูบ 2 มวน เวลาหมอเหยาดื่มน้ำ คนจะรินน้ำใส่แก้ว วางไว้บนขันสลา หมอเหยาก็จะหยิบดื่ม เวลาทำพิธีจะมีหมอแคน เป่าแคนขณะทำพิธี (หน้า 135 - 146,253) โรคระบาดต่างๆ และ วิธีการรักษา - โรคฝีดาษ เคยระบาด 2 ครั้ง คือในช่วงปี พ.ศ.2459 และในช่วงปี พ.ศ.2487 มีคนตาย ทั้ง 4 หมู่บ้าน จำนวน 60 คน สันนิษฐานว่า ชาวบ้านที่เดินทางไป อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ หรือ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น นำกลับมาติดต่อคนอื่น การรักษาที่ค่อนข้างได้ผลคือ ใช้หมากเชือก ต้นขี้ไฟนกคุ้ม รากเปื่อย รากส้มพอ กับ รากก่อหนาม นำทั้ง 5 ชนิดมาแช่น้ำ แบบสดๆแล้วนำน้ำที่แช่มาให้คนป่วยดื่ม 3 เวลา สูตรนี้ชาวบ้านเล่าว่าเมื่อดื่มแล้วตุ่มที่ขึ้นตามตัวจะยุบ ( หน้า 23 - 26, 280 ) - อหิวาตกโรค เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2491 ตอนนั้น คนบ้านโนนสังข์ศรีตาย 10 คน คนบ้านโนนก่อ ตาย 3 - 4 คน ผู้เขียนไม่ได้บอกวิธีรักษาแบบพื้นบ้านว่าใช้วิธีไหน เพียงแต่บอกว่าตอนนั้นทางการได้ส่ง เฮลิคอปเตอร์นำหมอมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ชาวบ้าน ( หน้า 25 ) ของแสลงสำหรับหญิงมีครรภ์และอยู่ไฟ ผู้หญิงมีครรภ์ ห้ามกิน ส้มตำ เมล็ดมะขาม ของฝาด ของหวาน และของที่มีมัน เพราะเชื่อว่า กินแล้วจะทำให้คลอดลูกยาก เพราะจะทำให้เป็นไขติดทารก เวลาคลอดจะคลอดยาก ผู้หญิงอยู่ไฟ (อยู่กรรม) ห้ามกิน กบ เขียดที่คางลาย เขียดขาคำ เขียดเหลือง หน่อไม้ไผ่บ้าน วัว ควายเผือก ปลาไหล และปลาไม่มีเกล็ด เพราะจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด ( หน้า 96,ประเพณีการเกิดหน้า 186-193 ,285 ) สถานีอนามัย อสม. และโรงพยาบาล ในหมู่บ้านสร้างสถานีอนามัย ในระหว่างปี พ.ศ.2508-2509 ในช่วงนั้นมีนางผดุงครรภ์ ทำงาน1 คน โดยจะรักษาขึ้นพื้นฐานแก่ชาวบ้าน และจะมี อสม.หรือ "อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" เป็นผู้ช่วยเหลือ โดย อสม.1 คนจะช่วยดูแล 10 ครัวเรือน โดยจะทำงานที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานของหมู่บ้าน คนป่วยจะมาหา อสม.ก่อนไป อนามัยหรือโรงพยาบาล สำหรับการรักษาโรคที่รักษายากๆ ชาวบ้านก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลในอำเภอ หรือใช้บริการกับคลินิก ในตัวอำเภอ ( หน้า 37,257,258,283 )

Art and Crafts (including Clothing Costume)

พุ กับ ลูกดอก ทำจากไม้ไผ่ (ไม้ส้าง) ยาวราว 1 วา หรือ 1.5 เมตร โดยจะเอาเหล็กเผาไฟ เจาะรู ส่วนลูกดอก จะทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 ฟุต ปลายลูกดอกจะพันด้วยนุ่น หรือ ฝ้าย เมื่อยิงสัตว์จะใช้ปากเป่าตรงปากกระบอกพุ ชาวบ้านจะใช้พุยิงสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระแต กระรอก กระต่าย นก (หน้า 21) ปืนไฟ ในสมัยก่อนใช้ล่าสัตว์ขนาดใหญ่ คนที่มีปืนไฟส่วนมากจะเป็น กำนัน หรือ ผู้ใหญ่บ้าน (หน้า 21, 22) น่าง สานด้วยป่านเส้นใหญ่ เหมือนกับตาข่ายดักปลา ตาห่างประมาณ 10 เซนติเมตร ยาวราว 20 เมตร เครื่องมือนี้เอาไว้ดักสัตว์ ชาวบ้านจะดักน่างไว้บนทางที่สัตว์ป่าชอบเดิน เมื่อสัตว์ป่าเดินมา ชาวบ้านที่ไปล่าก็จะช่วยกัน โห่ไล่สัตว์ป่าให้ตื่นตกใจวิ่งเข้าไปติดน่างเมื่อสัตว์ติดน่าง ชาวบ้านก็จะใช้ไม้หรืออาวุธทำร้ายจนตาย แล้วก็เอาเนื้อมาแบ่งกัน (หน้า 21, 69,70) เครื่องมือจับปลา เครื่องมือสำหรับผู้ชาย ได้แก่ แห โต่ง (รูปร่างเหมือนโพงพาง) จิบ เครื่องมือสำหรับผู้หญิง ได้แก่ สะดุ้ง หรือ ยอ สวิง กะด้งเขิง ลันดักปลาไหล ไซ ซ่อน สุ่ม เบ็ดเผียก หรือ เบ็ดราว จั่น เครื่องมือที่ใช้ได้ทั้งชายและหญิง ได้แก่ เบ็ด (หน้า 23) กะโซ้ เป็นเครื่องมือวิดน้ำเวลาจับปลา เมื่อไปวิดน้ำหาปลาก็จะไปหลายคน และช่วยกันวิดโดยใช้กะโซ้ หลายอัน เวลาวิดจะวิดจากบริเวณน้ำตื้นๆ ก่อน เมื่อวิดจนน้ำหมดก็จะช่วยกันจับปลาในหนองน้ำแห่งนั้น (หน้า 53) จั่น เป็นกรอบไม้ 4 เหลี่ยม ขนาด 20 x 20 X 40 ซ.ม ด้านหน้าทำเป็นประตูเลื่อนขึ้นลงได้ ตอนดักปลาจะเลื่อนประตูขึ้น เอาคานไม้ ขัดไว้ตรงประตูด้านบน ด้านหนึ่งจะผูกด้วยเกล็ด และคล้องด้วยลวดเป็นรูปตัวยู คว่ำเอาไว้ ปลายเกล็ดจะมีคานขัดไว้ ในส่วนกลางจะผูกด้ายเอาไว้ 3-4 เส้น โยง เข้ามาด้านใน ผูกกับตะปู ที่อยู่ในกล่องด้านในซึ่งตอกทางด้านขวาง เมื่อจะดักปลาจะวางจั่นไว้ริมตลิ่ง ให้จมน้ำ 3-4 ส่วน จัดส่วนที่จมน้ำให้เหมือนธรรมชาติ เมื่อปลาว่ายน้ำเข้าไปถูกด้าย ประตูก็จะปิด ปลาก็จะติดอยู่ในนั้น นอกจากดักปลาแล้ว ยังใช้จั่นดักสัตว์บก เช่น หนู กระแต หรือพังพอน ได้อีกด้วย (รูปหน้า 54, 55) ต้อน สานด้วยไม้ไผ่ รูปทรงกระบอกปากบานเหมือนแตร แบ่งเป็น 2 อย่างคือ ต้อนเล็ก กับ ต้อนใหญ่ ต้อนเล็ก สานจากไม้ไผ่ยาว 2 ป้อง หรือ ราว 2 ศอก จักเป็นตอก 2 อย่าง คือ ตอกเหง ซึ่งเป็นโครงเอาไว้สานหรือตอกยืน กว้าง 0.7-1.0 ซ.ม. หนา 0.2 ซ.ม. และตอกสานที่มีขนาดบางกว่า คือ 0.1 ซ.ม.ส่วนความกว้างจะมีขนาดเท่ากัน ต้อนเล็ก สานด้วยตอกเหง 15 -17 เส้น สานด้วยตอกสาน 5 เส้น เมื่อสานเสร็จเรียบร้อยจะได้ต้อนที่มีขนาด 5-7 ซ.ม. ต้อนใหญ่ สานด้วยไม้ไผ่ยาว ตอกเหง 27-29 เส้น ต้อนใหญ่ จะใส่ ในห้วยที่น้ำไหลแรงๆ ช่วงดักต้อนจะอยู่ในเดือน 8 -11 ( หน้า 55 รูป 56, 57) หลี่ สานด้วยไม้ไผ่เป็นฝาขัดแตะนำไปกั้นน้ำ ด้านหน้าทำเป็นฝา 2 ข้าง ตรงกลางจะทำเป็นช่องกั้น เหมือนห้อง ยาว 3 เมตร และทำฝากั้น ฝาด้านหน้าและด้านในจะใส่ต้อนดักปลา ประมาณ 4-5 อัน การใส่หลี่ นิยมใส่ในเดือน 11 เพราะน้ำน้อยเพราะหากใส่ในช่วงน้ำหลากน้ำจะเชี่ยวมากจะพัดหลี่พัง ชาวบ้านจึงไม่นิยมใส่ในช่วงน้ำหลาก (รูปหน้า 58) โต่ง จะใหญ่กว่าแห ตรงปากเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 2 คูณ 2 เมตร ตาของโต่งจะถี่ประมาณ 1 ซ.ม. จากปากโต่งถึงก้นโต่งยาว 6 เมตร ตรงก้นโต่ง จะผูกเชือกเป็นหูรูดเพื่อเปิดเอาปลา เวลาปลาติดโต่ง จากก้นโต่งมาทางปากโต่งประมาณ 1 - 1.5 เมตร จะผูกเอาไว้เป็นหูรูดที่สอง การดักโต่งนิยมดักในช่วงเดือน 11 เพราะน้ำไหลแรง (หน้า 58, รูปหน้า 59, 60 ) จิบ มีรูปร่างคล้ายโต่งแต่มีขนาดเล็กกว่า คันจับทำด้วยไม้ไผ่ 2 ลำยาวประมาณ 4 เมตร ไม้ค้ำคันจิบแยกเป็นสามเหลี่ยม และจะมีไม้อีกอัน ผูกไว้ทางด้านล่าง เพื่อไม่ให้จิบขยับ ไม้อันนี้จะอยู่ติดดินตรงปากจิบจะเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านแหลมตั้งขึ้นด้านบน บริเวณก้นจิบจะผูกเชือกเอาไว้ เรียกว่าสายนิก หรือ สาย แนม เพื่อเอาไว้เป็นสัญญาณเวลาปลามาติด ก้นจิบก็จะกระตุกคนที่มานั่งเฝ้าจิบก็จะรู้ได้ เพื่อสายแนมกระตุก การนั่งจิบจะอยู่ในราวเดือน 9-11 ซึ่งเป็นเดือนที่น้ำไหลไม่แรง (หน้า 60,รูปหน้า 61, 62) ก้องเกาะ เป็นเครื่องมือจับกุ้งมีรูปร่างเหมือนยอเล็กๆ กว้าง ยาวประมาณ 1 คูณ 1 เมตร ทำจากมุ้งเก่าๆมีคันไม้ 2 อัน เพื่อขึงมุ้งให้ตึง และมีคันไม้เอาไว้เกี่ยว เวลาจับกุ้งใช้นำข้าวเปลือก มาคั่วไฟจนไหม้ป่นให้แหลก บางครั้งก็จะใช้ปูเน่า เป็นเหยื่อล่อ วางไว้ตรงกลางก้องเกาะ นำไปแช่น้ำลึกประมาณเท่าหัวเข่า แช่เอาไว้ประมาณ 10 - 20 นาที ก็ยกขึ้นเมื่อดูว่ามีกุ้งมาติดหรือไม่ ( รูปหน้า 64 ) แงบ สานด้วยไม้ไผ่ รูปทรงคล้ายตะกร้า เส้นผ่าศูนย์กลาง 13-15 ซ.ม. ยาว 25 - 30 ซ.ม. ด้านก้นจะไม่สานไม้ปิด โดยจะบีบขอบตรงข้ามเข้ามาแล้วมัด ด้วย ตอก ด้านปากจะใช้งาแซงปิดเป็นฝา ตอนดักกบจะกวาดโคลนให้เรียบ วางขอบปากแงบไว้ด้านล่าง จากนั้นก็กวาดโคลนมาหนุนด้านข้าง เพื่อกันไม่ให้แงบเคลื่อน จากนั้นก็จะหาปลาเน่าตัวเล็กๆ ใส่ในแงบ เพื่อเป็นเหยื่อล่อ แล้วพรางแงบด้วยหญ้า เมื่อกบเข้าไปกินเหยื่อล่อ ก็จะติดอยู่ในนั้น ( หน้า 65, รูปหน้า 66 ) ตุ้ม รูปทรงเหมือนตะข้อง ห่างจากก้นราว 10 ซ.ม. จะเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม ใส่ประตูกล ใช้ปลาเน่าเป็นเหยื่อล่อเมื่อกบเข้าจะออกไม่ได้ ( หน้า 66, 67 ) แร้ว มี 2 แบบ คือ แบบ ที่ใช้เหยื่อล่อ และไม่ใช้เหยื่อล่อ แร้วที่ไม่ใช้เหยื่อล่อ เรียกว่า กะต่ำ หรือ กะถีบ แบ่งเป็นกะต่ำดีด กับ กะต่ำขอน กะต่ำดีด ไม้ที่ลั่นทับสัตว์จะใหญ่เท่าแขน ยาว 3 - 4 เมตร ในส่วนหางจะงอเอาไว้เพื่อให้เกิดแรงดีดเวลาดักสัตว์ กะต่ำขอน ตัวลั่นจะทำด้วยขอนไม้ เส้นผ่าศูนย์กลางราว 10-15 ซ.ม. ยาว 2-3 เมตร ปลายด้านหนึ่งจะยกขึ้น ส่วนอีกด้านจะติดกับพื้น เมื่อสัตว์เดินลอดช่องแล้วเหยียบตะแกรงกลไกก็จะทำงานขอนไม้ก็จะหล่นลงมาทับสัตว์ตาย ดูรูปหน้า 72 ( หน้า 71 ,รูปหน้า 72, 73 ) ทอย ทำด้วยไม้ไผ่หนาราว 4 ซ.ม. ยาว 20 -25 ซ.ม. ปลายด้านหนึ่งจะแหลม ด้านหนึ่งจะทู่ จะใช้ตอกกับต้นไม้เวลาขึ้นต้นไม้ใหญ่ เช่น ตอนขึ้นไปเอาน้ำผึ้งบนต้นไม้สูงๆ ( ดูรูปหน้า 79 ) บั้งตัง ทำด้วยไม้ไผ่ เอาไว้ใส่ตัง ซึ่งเป็นน้ำยางที่ได้จากต้น ขนุน มะเดื่อ ยาง ต้นไทร เป็นต้น นำมาผสม กับ น้ำมันยาง แต่พอเหมาะ เมื่อเคี่ยว จนเข้ากัน แล้วจะนำไม้มาหมุนกับตังเอาไปเก็บในบั้งตัง เวลาจะจับจักจั่น จะใช้ไม้ยาวประมาณ 1 ศอก ทาตัง ตรงปลาย เรียกว่า " ดิ้วตัง " แล้วนำไปเสียบที่ปลายไม้ที่มีรู เรียกว่า " คันตัง " ยาว 4 - 6 เมตร เอาไว้ดักจักจั่น เมื่อตัง ถูกปีกจักจั่น มันจะติดและบินหนีไม่ได้ ชาวบ้านก็จะตัดปีก และแกะไปทำกับข้าว ( รูปหน้า 80,81 ) เครื่องหีบอ้อย ( อิ้วอ้อย ) โม่ของหีบอ้อยทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้พยุง แต่ไม้แดงจะนิยมมากที่สุด โดยจะเลือกท่อนกลมและเรียบเลาะเปลือกออกให้หมดใช้เฉพาะในส่วนแก่น เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 15-20 ซ.ม. อิ้วหนึ่งอันจะทำอิ้ว 2 หรือ 3 อันก็ได้ แล้วทำเฟืองตรงกลาง สำหรับเฟืองจะมี 2 แบบ คือแบบที่แกะเลาะอิ้วเป็นเฟืองกับ เฟืองที่ทำจากไม้อื่นมาประกอบ กับ เลาอิ้ว สำหรับเลาอิ้วส่วนที่เหนืออิ้วขึ้นไป จะเล็กกว่าส่วนที่อยู่ใต้เฟือง ที่เป็นส่วนป้อนอ้อย เครื่องหีบอ้อย จะทำเป็นกรอบสูงประมาณ 80 - 90 ซ.ม. และ มีลางส่งน้ำอ้อยด้านข้างให้ไหลลงกระป๋อง หรือ ครุถังเก็บน้ำอ้อย ที่วางไว้ในหลุม ด้านบน ซึ่งติด กับ เลาอิ้ว จะทำคันกว้าน เพื่อให้คนหรือใช้ควายลาก เมื่อทำน้ำอ้อย (หน้า 86 ดูรูป หน้า 87) เตาฮาง เป็นเตาที่ขุดบริเวณจอมปลวกเล็กๆ เจาะด้านบนเป็นช่องสำหรับวางกะทะ เวลาต้มน้ำอ้อย และมีรูสำหรับเปลวไฟในด้านข้าง จะเหลือช่องด้านล่างเอาไว้ ใส่ฟืน ( หน้า 88 ) กระโสบอ้อย ทำจากกาบกล้วยด้านกว้าง มีขนาด 5 ซ.ม. ด้านยาว ประมาณ 60-70 ซ.ม. ทำมาไว้กันเป็นรูปกากบาท ตรงกลางจะใส่ก้อนน้ำอ้อย ประมาณ 10-20 ก้อน แล้วแต่ขนาดของกระโสบว่า จะทำขนาดใหญ่แค่ไหน ( หน้า 90 ) บั้งจังหัน ทำจากบั้งไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ หรือ ไผ่บ้าน เส้นผ่าศูนย์กลางราว 9 ซ.ม.ป้องตัดเป็นข้อทั้งสองข้าง ด้านข้างแกะสลักเป็นรูปภาพ เช่น รูปพราหมณ์ หรือรูปอื่นๆและเขียนด้วยตัวอักษรลาวน้อย เอาไว้ด้านข้าง ตรงหัวและท้าย ป้องไม้ไผ่จะเจาะรูร้อยเชือก เพื่อให้ถือสะดวก เวลาใส่อาหารไปถวายภัตตาหารเช้า และ เพล แก่พระที่วัด ในภาษาอีสานเรียกว่า " จังหัน "เป็นช่วงเวลาฉันในเวลา 7.00 - 8.00 น. และช่วงเวลาภัตตาหารเพล โดยพระ จะฉันอาหารในช่วงเวลา 11.00 -12.00 น. บั้งจังหันเริ่มมีครั้งแรกในระหว่างปี พ.ศ. 2480-2502 โดยผู้ใหญ่บ้าน บ้านโนนสังข์ศรี ในสมัยนั้น ( หน้า 182-185 ,ดูรูปหน้า 184,285 ) ก้อนเส้า หรือ ก้อนขี้เส้า ใช้รองก้นปี๊บหรือหม้อ โดยจะขุดดินจอมปลววกโดยจะใช้พร้าถากเป็นทรงสี่เหลี่ยม ขนาด 20 คูณ 20 ซม. หนาราว 10 ซม.เอาไว้รองก้นปี๊บหรือหม้อ จำนวน 3 ก้อน เพื่อใช้ต้มน้ำอาบเวลาคลอดลูก ( หน้า 189 ) การแต่งกาย ไม่ได้ระบุเรื่องกายแต่งกายเอาไว้ เพียงแต่เล่าถึงกระบวนการปั่นฝ้าย การย้อมผ้า และความเชื่อที่เกี่ยวกับเสื้อผ้า กางเกง ผ้าถุง เชื่อว่าเป็นของต่ำ ไม่ให้วางไว้สูงกว่าศีรษะ หรือ ไม่ให้หนุนหัวนอน เพราะถ้าทำจะทำให้ทำมาหากินไม่ดี ส่วนผู้หญิงท้องแก่ ในเดือนที่จะคลอดลูกให้ใส่ผ้าถุงกลับหัว เพราะเชื่อว่าถ้าทำอย่างนี้เวลาคลอด ลูกจะได้เอาหัวออกเวลาคลอด ( หน้า 122 ) อุปกรณ์ผลิตไยฝ้าย อิ้ว ทำด้วยไม้ เลาอิ้วจะกลึงจนกลมมี 2 เลายาวประมาณ 10 ซ.ม. ส่วนที่กลมข้างๆเลาจะทำเป็นเฟือง ด้านขวามือมีมือหมุน ( แขนอิ้ว ) เสาอิ้วทั้งสองข้างจะร้อยด้วยเชือกคล้องตะกร้า เพื่อรองรับไยอิ้ว (หน้า 112 , ดูรูปหน้า 113 ) คันโต้ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ดีดฝ้ายให้เป็นปุย ทำจากไม้ไผ่ หรือไม้ไร่ ยาว 80-100 ซ.ม. ปลายทั้งสองด้านดัดจนงองุ้ม ด้านที่งอมากๆเรียกว่า ทางหัว ส่วนทางหาง จะงอน้อยกว่า ในส่วนที่เป็นสายจะมี 3 ส่วน ด้านหัวจะผูกด้ายสายสั้นๆ แล้วติดกับสายไม้ ยาวประมาณ 40 ซ.ม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตร ปลายไม้จะผูกสายฝ้าย ซึ่งยาวกกว่าเชือกในส่วนหัว ตรงปลายเชือกในส่วนนี้จะทำเป็นบ่วง คล้องกับ ปลายคันโต้ง แกะออกได้ เมื่อใช้แล้วก็แกะเชือกที่คล้องเอาไว้ออก เมื่อจะใช้ค่อยนำมาคล้อง ( หน้า 113 , รูปหน้า 114 ) กะเพียด เป็นอุปกรณ์ ดีดฝ้าย กันฝ้ายนุ่นไม่ให้ปลิว รูปทรงเหมือนตะกร้า ยาว 120 - 150 ซ.ม. ส่วนปากกะเพียดเป็นทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 80 ซ.ม. ( หน้า 114 รูปหน้า 115 ) สีย้อมผ้าจากธรรมชาติ สีเหลือง จากการต้มแก่นเข, สีแดงจากการต้มแก่นฝาง, สีดำ จะทำจากการนำ ผล มะเกลือมาทุบแช่น้ำ หากจะเพิ่มความเข้มก็จะนำไปหมักโคลนประมาณ 2-3 ชั่วโมง ครามถ้านำใบมาแช่น้ำประมาณ 2-3คืนจะได้น้ำคราม เพื่อนไปทำหม้อนิลย้อมก็จะได้สีดำ (หน้า 121-122) หีบศพ หรือ กำปั่น แต่ก่อนทำด้วยไม้เนื้ออ่อน เช่น ต้นงิ้ว ต้นมะม่วง แต่ทุกวันนี้จะทำจากไม้อัดเพราะ ต้นไม้มีน้อย ทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตรงมุมโลงจะใช้นุ่นผสมผสมดินเหนียว กันน้ำเหลืองไหล ทุกวันนี้จะใช้ดินน้ำมันอุดแทน ผนังโลงจะทาด้วยดินหม้อ ( ชาวบ้านเรียก "มินหม้อ " )เขียนเป็นลวดลาย ทุกวันนี้โลงมี 2 ชั้น ชั้นนอกจะตัดแต่งด้วยกระดาษเป็นลวดลาย อย่างงดงาม ชั้นในเป็นโลงจริงจะไม่มีลวดลาย ( หน้า 213 ) ฝาครอบศพ ใช้ครอบศพเพื่อกันภาพอุจาดตา จะทำแบบฉุกเฉินเมื่อมีคนตาย เพราะทำโลงไม่ทัน เมื่อมีคนตาย ชาวบ้านจะไปตัดไม้ไผ่เหลา เป็นลำเท่านิ้วก้อย วัดความยาวตามความสูงของผู้ตาย ทำเป็นโครงทรงสามเหลี่ยมเหมือน จั่วบ้าน แล้วนำผ้ามาทับ นำไม้มาทำไม้หนีบเป็นผ้ากั้น ชาวบ้านจะรื้อฝาครอบ เมื่อทำโลงศพเรียบร้อยแล้ว ( หน้า 213, รูปหน้า 214 ) กองฟอนเผาศพ มี 2 แบบ คือ แบบไม้ง่าม 2 เสา กับแบบ 4 เสา แบบ เสาไม้ง่าม จะฝังเสาแล้วเอาด้านไม้ ที่เป็นง่ามขึ้น เสากองฟอนจะมีชื่อเรียกว่า " หลักสะกอน " ไม้ง่ามนี้จะสูงจากดินราว 150 ซม. แล้วนำไม้มาพาดเรียงจนเต็ม กองฟอนแบบนี้ไม่ค่อยนิยมสร้างกันแล้ว แบบ 4 เสา จะฝังไม้แต่ละต้นเป็นทรง สี่เหลี่ยมผินผ้า สูงจากดิน ราว 150 . แล้วนำไม้มาวางเรียงจนเต็มมิดเสา ( หน้า 218-รูปหน้า 219 ) ปะลำ ( ประรำ ) สร้างไว้ย่างไก่ ข้างๆกองฟอน เพื่อให้ฝูงแร้ง ฝูงกา มากินไก่ย่าง จะได้ไม่ไปจิกกินศพที่เผา วิธีทำจะนำไม้ขนาดย่อมเท่า นิ้วก้อย ยาวราว 1 ศอก มาผ่าซีกเหมือนไม้ปิ้งไก่ ทำ 4 เสา แล้วนำเปลือกไม้ เช่นไม้นุ่น ยาวประมาณ 1 วา กว้าง 1 คืบมากั้นเป็นฝา ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยเสียบตรงกลางไม้ที่ผ่า ส่วนตรงปลายจะมัดด้วยตอก แล้วตัดเปลือกไม้ทำพื้น และจะตัดเปลือกไม้อีกด้านหนึ่งเพื่อทำประตู สำหรับไม้ปิ้งไก่จะผ่าไม้ซีกเหมือนไม้ปิ้งไก่ทั่วไป แต่ทำ 2 ไม้ เวลาย่างไก่ จะทำเป็นรูปกากบาท โดยเรียกว่า "ไก่กาเลว" คือไก่ สำหรับกา และ แร้ง ที่จะบินมาทะเลาะจิกกันแย่งกินไก่ เมื่อปิ้งไก่แล้วจะนำมาวางบนปะลำ ข้างๆ ปะลำจะวางไหลกระเทียมเอาไว้ ตรงปากไหลจะพันหญ้าคา เพื่อกันสิ่งไม่ดีให้คาเอาไว้ และขัดขวางสิ่งอัปมงคล คนที่ทำปะลำกับไก่กาเลว จะเป็นลูกเขย และสะใภ้ (หน้า 220-224, รูปหน้า 221, 222) คานไม้หามศพ ใช้ไม้ไผ่ขนาดใหญ่ 2 ลำ ยาว 6 เมตร วางห่างกัน 1.20 เมตร แล้วตัดไม้ไผ่มา 5 ลำ ยาว 1.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 ซม. มาวางด้านขวาง กับไม้คาน แล้วมัดด้วยตอก ทำเป็นที่วางหีบศพ ตรงด้านที่ศพนอน ด้านหัวศพจะนำฟากไม้ไผ่มาวาง เรียกว่า "ตะเหลี่ยง" ให้พระนั่ง 1-2 รูป สวดยอดมุข ขณะแห่ศพไปป่าช้า ( หน้า 224 - รูปหน้า 225 )

Folklore

ตำนาน ทำไมกะเลิงผิวคล้ำ : เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พญาแถนส่งควายมายังเมืองมนุษย์ ในเวลาต่อมาควายตัวนั้นก็ตายลง บริเวณที่ควายตายนั้น ก็พลันเกิดน้ำเต้าปง ซึ่งในนั้นมีคนหลายเชื้อชาติที่ร้องอยากจะออกมาจากผลน้ำเต้านั้น ขุนทั้งสาม ได้แก่ ขุนเค็ก ขุนคาน และ ปู่ลางเซ็น จึงใช้เหล็กเผาไฟเจาะรู คนเชื้อชาติ ข่า กะโซ่ กะเลิง ก็ออกมาก่อนคนเชื้อชาติอื่น จึงมีผิวคล้ำเพราะออกจากรูที่มีเขม่าไฟ กระทั่งต่อมา ขุนทั้งสามได้เจาะรู 3 รู อีกครั้ง ไทยเลิง ไทยลอ ไทยกวาง จึงออกมา และเป็นบรรพบุรุษของ ลาว ไทย ญวน เมื่อออกมาได้ไปอาบน้ำที่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงมีผิวขาว ทั้งนี้ ข่า กะโซ่ กะเลิง ถือว่าเป็นรุ่นพี่ของเผ่าอื่น เพราะออกมาจากน้ำเต้าก่อนคนกลุ่มอื่น (หน้า 6) พระอุปคุตอยู่ใต้น้ำ : ตำนานมีอยู่ว่า พระอุปคุต ซึ่งเป็น สาวกของพระพุทธเจ้า ได้หลบหนีความวุ่นวายต่าง ๆ ไป ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้น้ำ พระอุปคุตมีฤทธิ์มากและ สามารถปราบมารได้ ดังนั้น ตามความเชื่อแล้วเวลา มีงานสำคัญ เช่น บุญผเวส ชาวบ้านจะไปเชิญพระอุปคุต โดยแต่งขัน 5 ตีฆ้อง ตีกลอง แล้วนำใส่บาตรมายังวัด สาเหตุที่เชิญก็เพราะเชื่อว่า พระอุปคุตจะช่วยคุ้มครองดูแล ในการจัดงาน เมื่อเสร็จงานแล้วก็จะแห่ไปส่งกลับ ( หน้า 252 , 253 ) ผีบุญ หรือ ผู้มีบุญ : เรื่องผีบุญ หรือผู้มีบุญเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในอีสาน เช่นในเขต จ.อุบลราชธานี จ.สกลนคร จ.ยโสธร คือข่าวที่ว่า ควายจะกลายเป็นยักษ์ หินจะกลายเป็นทอง ใครอยากจะมีควายเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง ก็ให้ตอกหลักเอาไว้ ควายก็จะมาที่ที่หลักที่ตอกเอาไว้นั้น ส่วนผู้ที่กลัวว่า ควายจะกลายเป็นยักษ์ ก็นำไปขายในราคาที่ถูก ๆ โดยในสมัยนั้นจะขายราคาระหว่าง 2.50-3 บาท โดยเกิดเรื่องนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2444-2445 ซึ่งจากข่าวลือนี้ ก็เป็นที่มาของกบฎผีบุญ (หน้า 23) นิทานเชียงเมี่ยง "น้ำอ้อยยู้ย" : เชียงเมี่ยง หรือ ศรีธนนชัยของอีสาน มีเรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับน้ำอ้อยยู้ย หรือน้ำอ้อย เรื่องมีดังนี้ตอนที่เชียงเมี่ยงบวชเป็นเณรนั้น ในวันหนึ่งท่านสมภารจะไปทำกิจนิมนต์ในหมู่บ้าน จึงบอกกับเชียงเมี่ยงว่าให้ทำความสะอาดกุฏิให้สะอาด และอย่าให้ไก่ขึ้นมาขี้ใส่กุฏิ โดยคาดโทษว่าถ้าไก่ขี้ใส่กุฏิจะให้เลียขี้ไก่เมื่อท่านสมภารไปแล้ว เชียงเมี่ยงก็ทำความสะอาดตามที่ท่านสมภารได้มอบหมาย แต่ได้นึกอุบายโดยหยอดน้ำอ้อยยู้ยจนทั่วกุฏิ หากมองดูอย่างผิวเผินจะดูเหมือนขี้ไก่ เมื่อท่านสมภารกลับมาที่วัดเห็นสภาพกุฏิสกปรก ขี้ไก่เต็มไปหมด ก็โกรธ แล้วสั่งลงโทษเชียงเมี่ยง โดยให้เลียขี้ไก่ ( น้ำอ้อยยู้ย ) เชียงเมี่ยงก็เลียขี้ไก่อย่างเอร็ดอร่อยและทำทีว่า ขี้ไก่ช่างหวานจริงๆ จนกระทั่งขี้ไก่ ใกล้จะหมด เหลือขี้ไก่ก้อนสุดท้าย ท่านสมภารจึงสั่งเชียงเมี่ยงหยุดเลีย และถามว่า หวานจริงๆ หรือ ถ้าไม่หวานจะตีให้หลังลาย เชียงเมี่ยงก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าหวาน เมื่อสมภารเลียก็พบว่าขี้ไก่บนกุฏินั้นหวานจริงๆ แล้วจึงถามว่า ไก่ตัวไหนเล่าที่มันขี้หวาน เชียงเมี่ยงจึงไปจับไก่ตัวนั้นมา เมื่อจับไก่มาได้แล้ว สมภารจึงบีบท้องไก่จนขี้ไก่เต็มมือแล้วเลียกิน เมื่อกินจึงรู้ว่า โดนเชียงเมี่ยงหลอก เพราะขี้ไก่นั้นทั้งเหม็นหืน ขม สกปรก ชวนคลื่นไส้ยิ่งนัก (หน้า 91,92) คันแร้วส่งวิญญาญขึ้นสวรรค์ : มีนิทานเล่าว่า แต่ก่อนนี้มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีลูกเยอะ เมื่อตายลูกก็แย่งมรดกกัน ผ่านไปหลายปีแร้วก็ไม่ขาด กระทั่งลูกตกลงเรื่องการแบ่งมรดกลงตัว แร้วจึงขาด วิญญาณพ่อก็ไปสวรรค์ เหมือนกับคำพูดของกะเลิงที่ว่า "เวียกบ่อแล้ว แฮ้วบ่อลั่น" หมายถึงงานไม่แล้ว แร้วไม่ลั่น (คันแร้วส่งวิญญาญขึ้นสวรรค์ เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังงานศพ คือเมื่อเก็บกระดูกแล้ว ญาติ ๆ จะนำกระดูกใส่หม้อ แล้วปิด หม้อด้วยผ้าขาว ตรงปากหม้อจะผูกสายสิญจน์ นำมาผูกกับคันแร้ว โดยจะอยู่ในลักษณะโค้งงอ ถ้าสายสิญจน์ขาด วิญญาณผู้ตายก็จะขึ้นสวรรค์) การละเล่น - หมากถอดเสี้ยน หรือ จับไม้สั้นไม้ยาว จะเล่นช่วงกลางวัน และ กลางคืนก่อนถึงวันเผาศพ ในช่วงที่มีการจัดงานศพ หนุ่ม สาวที่มาช่วยงาน จะเล่นเพื่อไม่ให้ง่วงนอน โดยจะพนันเขกเข่า หรือตบเข่า ทุกวันนี้หนุ่ม ๆ จะได้รับการผ่อนปรนให้เขกเข่าสาวๆ ได้ แต่ต้องพอดีพองามเพราะตามปกติการแตะตัวหญิงสาว เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะหากหนุ่มคนใดเขกเข่าสาวๆ ในหมู่บ้าน ต้องถูกปรับไหม (หน้า 215) - หมากเสือกินหมู เล่นเหมือนกับ หมากฮอส ตารางที่เล่น มี 16 ช่อง แนวตั้งและแนวนอนอย่างละ 4 ช่อง ตัวเล่นที่เป็นเสือ กับ หมู จะใช้ตอกหรือไม้ไผ่ มาหักเล่น ตัวเสือจะมี 4 ตัว ตัวหมู มี 11 ตัว การเล่น ผู้เล่นมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสือกับฝ่ายหมู เวลาเล่นจะเล่นในแนวนอน และแนวตั้งแต่ถ้าฝ่ายเสือ เหลือเพียงตัวเดียว จึงจะสามารถเดินทางทะแยง เวลาเดินจะเดินเสือกินหมู ส่วนฝ่ายหมูจะต้อนเสือให้จนมุม ถ้าฝ่ายไหนเอาชนะฝ่ายตรงข้ามจนไม่เหลือฝ่ายของคู่ต่อสู้ ก็ถือว่าชนะ (หน้า 215, 216) - หมากตีนเย็น หรือเกมโค่นต้นไม้ จะมีคนเล่น 2 คน เป็นอย่างต่ำ วิธีเล่น จะให้เด็กคนหนึ่งขึ้นที่ไม้ที่มีลำต้นขนาดประมาณเท่าแขนขึ้นไปจนสุดปลายยอด คนที่อยู่ด้านล่างก็จะใช้มีดโค่นต้นไม้ คนที่อยู่ข้างบนก็จะค่อน ๆ ร่วงลงมาตามกิ่งไม้ที่เกาะ เมื่อลงมาถึงพื้นก็จะรู้สึกหวาดเสียวจนตีนเย็น เกมนี้ถ้าคนใจกล้าก็จะปีนต้นไม้ใหญ่และสูงกว่าเดิม คนขึ้นก่อนจะลงมาโค่นต้นไม้ต่อไป และคนที่อยู่ข้างล่างก็จะสลับขึ้นไปอยู่บนยอดไม้ (หน้า 237,238) - หมากโอ้นซา หรือ ชิงช้า ผู้เล่นจะใช้เถาวัลย์ขนาดใหญ่ที่ขึ้นเองตามต้นไม้ เถาจะย้อยลงมาสองเส้น คนเล่นจะนำไม้มาผูกที่ปลาย แบบชิงช้าสองด้าน สูงจากพื้นราว 1 เมตร แล้วนำเถาวัลย์อีกอันมาผู้ตรงกลาง ถ้านั่งจะอยู่ประมาณหว่างขา แล้วผลัดกันโล้ไปมา ขึ้นลงในอากาศอย่างสนุกสนาน ( หน้า 238 ) - หมากกลองซุม คือการแข่งกันกลองขุม โดยขุดหลุมเป็นโพลง เส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 10 ซม. ลึก 1 ฟุต เหมือนหม้อ แล้วนำกาบไม้ไผ่มาปิด เกลี่ยดินปิดรอบ ๆ ยกเว้น ตรงกาบไผ่ จากนั้นจะปักหลักคนละด้านกับหลุม หลักแต่ละด้านจะห่างจากหลุมไม่เท่ากัน ด้านที่ใกล้กว่าจะห่าง 1 ศอก อีกด้านจะห่าง ราว 1 ช่วงแขน แล้วนำไม้ยาวประมาณ 1 ฟุต ขนาดเท่าดินสอ มาวางไว้ตรงกลาง จากนั้นจะนำเอาเถาย่านางมาพาดบนปลายไม้ โยงไปกับหลักแต่ละด้าน เมื่อนำไม้มาตีด้านสั้น จะมีเสียงเล็ก ด้านยาวจะเสียงใหญ่ เวลาแข่งจะแข่งว่ากลองขุมของคนไหนจะตีเสียงดังกว่ากัน ( หน้า 238 รูปหน้า 239 ) - หมากข่าง (ลูกข่าง) ทำจากไม้อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ งิ้ว มะขาม ค้อ ลูกข่างตรงปลายจะเป็นทรงกลม ตัวป่องเหมือนรูปหัวใจ ปลายแหลม เวลาทำจะทำขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าใครจะชอบ เช่นเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 ซม. การเล่น จะมีสองแบบ คือ เล่น แบบใช้เชือกพันรอบลูกข่าง แล้วกระตุกดึง ให้ส่วนปลายแหลมของลูกข่างหมุนลงพื้นดินที่แข็ง ๆ ลูกข่างจะหมุนเร็วแล้วค่อยๆหยุดเอง อีกแบบคือเล่นตีข่าง เป็นการเล่นตั้งแต่สองคนขึ้นไป คือ อีกอันหมุน คนเล่นอีกคนจะหมุนลูกข่าง ชนให้ลูกข่างลูกแรกหยุด จะเรียกว่าตาย ถ้าคนที่ถูกตีลูกข่างหยุด ก็จะต้องหมุนลูกข่างให้คู่ตีอีก ถ้าผู้ที่ตีข่างตีไม่ถูก ก็จะสลับกันเล่น ลูกข่างที่ใช้แข่งตีข่างจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ( หน้า 239 - 245, รูปหน้า 240 , 241, 243 ) - หมากหิ้งล้อ เข็นเล่น หรือแล่นชนกัน ล้อทำจากไม้เนื้อแข็ง มีคันไม้ไผ่ประกอบเข้ากับล้อที่หนาประมาณ 1 นิ้ว เป็นทรงกลม จากนั้นก็เจาะศูนย์กลาง เพื่อสอดไม้ต่อกับคาน ที่ยาวประมาณ 2 - 2.5 เมตร ห่างจากปลาย ประมาณ 1 ช่วงแขน แล้วจะเจาะรูสอดไม้ประมาณ 1 ศอก ห่างจากไม้ประมาณ 1 คืบ จะตอกตะปูเอาไว้เวลาห้อยของใช้หรือ กระติ๊บข้าว (หน้า 245 รูปหน้า 246 ) - โหวด เล่นโดยการเป่า แต่ผู้เล่นจะเหนื่อย เพราะว่าต้องเป่าลมทิ้ง กว่า 70 % ดังนั้น คนเป่าโหวดจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรง การเล่นอีกอย่างคือห้าวหวด จะเล่นโดยต่อหางโหวด แล้วนำเชือกยาว 150-170 ซม. มาร้อยกับตัวโหวด หมุนรอบตัวแล้วโยนฟังเสียงเมื่อต้องลม การทำโหวดจะดังเพราะจะติดขี้สูดที่หัวโหวด แต่งที่ปากรูโหวด เพื่อให้ลมเข้าในรูตามทิศที่เป่า (หน้า 246-250 รูปหน้า 249 )

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

กะเลิงมีความเป็นเผ่านิยมค่อนข้างมาก และรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้เป็นอย่างดี ให้ความเคารพผู้อาวุโสและมีความสามัคคีต่อกัน การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของกะเลิง เกิดจากที่ได้รับอิทธิพลจากไทย และลาว เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปี จึงทำให้กะเลิงลืมภาษาพูด และภาษาเขียนของตนเอง นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลด้านการบริโภค มาจากกลุ่มไทย-ลาว เช่น การทำปลาร้าที่เพิ่งรับมา เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังได้รับวิธีการย้อมผ้ามาจากผู้ไทย (หน้า 278, 279, 287)

Social Cultural and Identity Change

กะเลิงจะลืมภาษาพูดและภาษาเขียนของตัวเองเพราะได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากไทยและลาวกว่า 100 ปี ทุกวันนี้จึงไม่มีใครพูดภาษากะเลิงได้ (หน้า 287)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง เปรียบเทียบภาษาไทย-ลาว ข่า และ กะเลิง (หน้า 14) อาหารต้องห้ามของผู้หญิงมีท้อง และอยู่ไฟ (หน้า 96) การเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงผี (หน้า 173) สงกรานต์อดีต กับปัจจุบัน (หน้า 180) ฮีต (บุญ) ที่หัวหน้าครัวเรือน ยังปฏิบัติอยู่แยกตามกลุ่มอายุ (หน้า 182) การตักบาตร และทำบุญ ของหัวหน้าครอบครัว แบ่งตามกลุ่มอายุ (หน้า 185) สถิติการเกษตรที่สำคัญ ของบ้านโนนสังข์ศรีปี 2539 (หน้า 263) การเพิ่มของประชากร บ้านโนนสังข์ศรี จาก พ.ศ 2301 - 2539 (หน้า 272) ขนาดที่นา และ จำนวนครัวเรือน บ้านโนนสังข์ศรี ปี 2539 (หน้า 273) อาชีพของหัวหน้าครัวเรือน แบ่งตามกลุ่มอายุ (หน้า 275) สถานที่ทำงานของคนในครัวเรือน และจำนวนแรงงาน/ครัวเรือน (หน้า 276) อาชีพของชาวโนนสังข์ศรี (หน้า 277) สิ่งอำนวยความสะดวกในครัวเรือน (หน้า 278) แผนที่ จ.มุกดาหาร (หน้า 9) อ.คำชะอี (หน้า 10) บ้านโนนสังข์ศรี (หน้า 11) บ้านกะเลิง 4 หมู่บ้าน (หน้า 12) บ้านกะเลิง พ.ศ. 2490 (หน้า 18) การอพยพของกะเลิงไป จ.สกลนครและ จ.หนองคาย (หน้า 19) ชาติพันธุ์กะเลิงในภาคอีสาน (ภาคผนวก 1 หน้า 294) ภาพวาดประกอบ จั่น (หน้า 54,55) ต้อน, การใส่ต้อน (หน้า 56,57,58) โต่ง (หน้า 59) จิบ (หน้า 61,62) " ก้องเกาะ " เครื่องมือจับกุ้ง (หน้า 64) แงบ (หน้า 66) กะต่ำดีด, กะต่ำขอน (หน้า 72) ล่อง,กับหยัน (หน้า 74) แฮ้วกับ (หน้า 75) ก่วงเขือง (หน้า 76, 77, 78) ทอย (79) บั้งตัง (หน้า 80) เครื่องหีบอ้อยหรืออิ้วอ้อย (หน้า 87) เตาฮาง (หน้า 88) เบี่ยงน้ำอ้อย, กระโสบน้ำอ้อย (หน้า 90) การผ่าไม้ (หน้า 98) ฝาบ้าน ลายสองยืน, ลายขัด (หน้า 99) ร่องขวานบาก, ขวานที่ใช้ (หน้า 100) การใช้มีดฉีกไม้พอก (หน้า 107) อิ้ว (หน้า 113) คันโต้ง (หน้า 114) กระเพียด (หน้า 115) กระดานล้อฝ้าย (หน้า 116) หลา (หน้า 117) เปียฝ้าย (หน้า 119) กวักฝ้ายใส่กระบอก,เฝือ (หน้า 120 ) หมอมอทำพิธีอธิษฐานด้วย ฝาปิดกระบอกปูน (หน้า 129) ขันกระหย่อง (หน้า 148) กระทงเบิกผี (หน้า 161) บั้งจังหัน (หน้า 184) ฝ้ายคล้องไข่ (หน้า 202) ไม้หนีบผ้าคลุม (หน้า 214) การเล่นหมากเสือกินหมู (หน้า 216) หลักสะกอน (หน้า 219) ปะลำ (หน้า 221) ปะลำ ปิ้งไก่ และหญ้าขัดพันรอบคอไห (หน้า 222) ตะเหลี่ยง (หน้า 225) คันแร้ว (หน้า 235) กลองขุม (หน้า 239) หมากข่าง และการเล่น (หน้า 240, 241, 243) หมากหิ้งล้อ (หน้า 246) โหวด (หน้า 249) รูปภาพ การเหยาตอนเสี่ยงไข่ (หน้า 139) กระทงส่งผี และหมอเหยาตัดฝ้าย (หน้า 142) พิธีจ้ำผีปู่ตา (หน้า 153 ) ตุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์สมมุติเป็นหนองหาน (หน้า 160) บริเวณผาม พิธีเลี้ยงผีหมอ (หน้า 162) การฟ้อนในพิธีเลี้ยงผีหมอ(หน้า 166) สัญลักษณ์บอกให้รู้ว่าพิธีศพ (หน้า 229) พิธีแต่งงาน (หน้า 204 ภาคผนวก 2 หน้า 295) เจ้าภาพกำลังสู่ขวัญเขย, ญาติกำลัง "ต่าวหุ่น" ผู้ตาย หลังจากเก็บกระดูก (ภาคผนวก 2 หน้า 296) การ "ลงคาย" ในพิธีเลี้ยงหมอผี (หน้า 297, 298) แผนผัง ประโยชน์การใช้สอยบ้าน (หน้า 104)

Text Analyst ภูมิชาย คชมิตร Date of Report 02 ม.ค. 2556
TAG กะเลิง, วิถีชีวิตความเป็นอยู่, ประเพณี, ความเชื่อ, มุกดาหาร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง