สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,ม้ง,เมี่ยน อิวเมี่ยน,เศรษฐกิจ,พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน,น่าน
Author จันทรารักษ์ โตวรานนท์
Title พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวไทลื้อ ชาวม้งและชาวเย้าในบางพื้นที่ของจังหวัดน่าน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, ม้ง, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 293 Year 2541
Source หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

จากการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านไทลื้อ หมู่บ้านเฮี้ย อำเภอปัว ม้งหมู่บ้านดอยติ้ว และเย้า หมู่บ้านสันเจริญ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน พบตัวอย่างพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ 273 ชนิด 221 สกุล 98 วงศ์ จำแนกเป็นพืชอาหาร 98 ชนิด สมุนไพร 162 ชนิด พืชเศรษฐกิจ 11 ชนิดและพืชประโยชน์อื่นๆ 31 ชนิด พบพืชเฉพาะถิ่น 1 ชนิดคือ บ่าบุกต้นเดี่ยว (Maesaglomerata K. Larsen & C.M.Hu) ซึ่งม้งใช้รากต้มน้ำดื่มแก้อาการป่วยเรื้อรัง พืชที่น่าสนใจได้แก่ สมุทรโคดม (Sorghum vulgare var. saccharatum Boerl.) เย้ารับประทานลำต้น มีรสชาติเหมือนอ้อยแต่กากหยาบกว่าอ้อยและเมล็ดนำไปเลี้ยงสัตว์ น่าจะมีการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อจะได้นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลอีกชนิดหนึ่ง ต้นไข่ปูใหญ่ หนามไข่กุ้งและส้มกุ้ง ผลสุกมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย น่าจะลองนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นแยมผลไม้ ในอนาคตควรส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น ต้นข่าคม ม้งและเย้าใช้ผลและเหง้าประกอบอาหาร ช่อดอกอ่อนเผาไฟนำมาจิ้มน้ำพริก ช่อดอกยังมีความสวยงาม ควรจะมีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อส่งเสริมเป็นไม้ตัดดอก ส่วนพืชสมุนไพรที่น่าสนใจได้แก่ ว่านพระฉิม ม้งนำลำต้นมาต้มหรือดองเหล้าเพื่อเสริมสมรรถภาพของผู้ชาย กกและหญ้าคมบางเขา ม้งใช้ทั้งต้น ต้มให้สตรีดื่มเมื่อต้องการทำแท้ง พวงแก้วกุดั่น ม้งใช้รากต้มน้ำดื่มหรืออาบแก้โรคหนองใน จากการศึกษาพบว่าพืชที่ได้ส่วนมากเก็บหาจากป่าโดยตรง มิได้มีการปลูกเพิ่มเติมหรือใช้อย่างระมัดระวังและขาดการจัดการทรัพยากรที่ดีอาจทำให้พืชบางชนิดสูญพันธุ์ได้ อีกทั้งยังพบพืชจำพวกเฟิร์นและคล้ายเฟิร์น 8 ชนิด พืชดอก 256 ชนิดซึ่งยังคงต้องศึกษาชนิดของพืชและวิธีการนำพืชเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เพื่อจะได้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Focus

ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชในการดำรงชีวิตของไทลื้อ หมู่บ้านเฮี้ย อำเภอปัว ม้งหมู่บ้านดอยติ้วและเย้า หมู่บ้านสันเจริญ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทลื้อ ม้ง เย้า

Language and Linguistic Affiliations

ชนชาติไทมีภาษาและอักษรของตน จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ธิเบต สาขาภาษา จ้วง-ตุ้ง กลุ่มภาษา จ้วง-ไท ภาษาไทจำแนกได้เป็น 2 ภาษาท้องถิ่นได้แก่ภาษาไทลื้อและภาษาไทนา โครงสร้างประโยคของภาษาไท คือ ประธาน-กริยา-กริยา-กรรม มีเสียงวรรณยุกต์ 6เสียง คำศัพท์บางคำเป็นศัพท์ภาษาจีนในปัจจุบัน (หน้า 18-19) ม้ง จัดอยู่ในตระกูล จีน-ธิเบต มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน ภาษาม้งเป็นภาษาหนึ่งในตระกูล ม้ง-เมี่ยนหรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อตระกูลภาษาม้ง-เย้า ภาษาม้งที่พูดในประเทศไทยแบ่งภาษาย่อยออกเป็น 2 ภาษาคือ ภาษาม้งจั๊ว (ภาษาม้งเขียว) และภาษาม้งเด๊อวที่เรียกกันในภาษาไทยว่า ภาษาม้งขาว (หน้า 23) เย้า เป็นชนชาติเก่าแก่เช่นเดียวกับพวกม้งและพวกโล-โล มีตระกูลภาษาอยู่ในตระกูล จีน-ธิเบต ภาษาเย้ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาม้งมากกว่าชาวเขาเผ่าอื่น แต่ก็ยังมีความต่างอย่างเห็นได้ชัด เย้าเป็นภาษาที่มีเสียงสูงต่ำ ได้รับอิทธิพลจากจีน เป็นคำโดดๆ ไม่มีภาษาเขียนแต่บางคนใช้อักษรจีนเขียนเป็นภาษาเย้า ปัจจุบันมิชันนารีได้คิดค้นอักษรโรมันและไทยมาใช้เขียนภาษาเมี้ยน(หน้า 27)

Study Period (Data Collection)

เมษายน พ.ศ. 2538 - เมษายน พ.ศ.2540

History of the Group and Community

น่าน เป็นเมืองโบราณหนึ่งในอาณาจักรล้านนาไทย แต่เดิมอยู่ตำบลศิลาเพชร ในเขตอำเภอปัว ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือ 70 กิโลเมตร "พญาภูคา" เป็นผู้สร้างเมือง เมื่อสร้างเสร็จ ขนานนามว่า "วรนคร" หมายถึงเมืองที่ดี น่าจะสร้างเสร็จราวปี พ.ศ.1825 สร้างให้แก่ราชบุตรบุญธรรมชื่อ "ขุนฟอง" จึงนับว่า ขุนฟอง เป็นผู้ปกครองเมืองพระองค์แรก ต่อมาพญาการเมือง กษัตริย์องค์ที่ 5 ของวรนคร อพยพผู้คนเมืองมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณภูเพียงแช่แห้ง จึงขนานนามใหม่ตามชื่อที่ตั้ง พ.ศ. 1911 สมัยพญาผากอง ราชโอรสของพญาการเมือง ได้อพยพผู้คนมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านห้วยไคร้ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นเขตเทศบาลในปัจจุบันและมีการสับเปลี่ยนผู้ครองนครสืบต่อกันมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2004 อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองมาก พญามังรายได้ผนวกเมืองน่านเป็นเมืองขึ้นและรวมเป็นอาณาจักรล้านนา พ.ศ. 2099 อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเมืองน่านจึงเป็นเมืองขึ้นของพม่าด้วย พ.ศ. 2317 เมืองเชียงใหม่สามารถรบพม่าได้ พ.ศ. 2352 อาณาจักรล้านนาเสื่อมลงเมืองน่านจึงถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองน่านมีเจ้าครองนครเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2461 พลตรีเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย "น่าน" สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากภาษาจีน ซึ่งแปลว่าทิศใต้ ในตำนานพระธาตุแช่แห้งได้กล่าวว่า "เมืองน่าน" เป็นนามที่ตั้งขึ้นโดยพุทธทำนาย ส่วนคำว่า "นันทบุรี" เป็นนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยล้านนาไทย บางครั้งก็เรียกรวมกันเป็น "นันทบุรีศรีนครน่าน" แต่ชาวเมืองนิยมเรียกนามเมืองตามเดิมว่า "เมืองน่าน" (หน้า 11-12) ไทลื้อ เป็น 1 ใน 23 ชนชาติในมณฑลยูนนาน ในเขตสิบสองปันนา จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์พบว่า ไทลื้อดำรงความเป็นชนชาติมา นานกว่า 2,000 ปี โดยมี พญาเจื่อง เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นตรงต่ออาณาจักรตาลีฟูของจีน ราวปี พ.ศ. 1723 ไทลื้ออพยพเข้าประเทศไทยหลายครั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองและเหตุผลในการดำรงชีพ หลักฐานจากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวไว้ว่าเจ้าผู้ครองนครน่านได้ยกทัพขึ้นไปกวาดต้อนเอาคนไทลื้อจากสิบสองปันนามาไว้ที่เมืองน่าน เช่น เมื่อ จ.ศ.1174 (พ.ศ.2355) เจ้าหลวงสุมนเทวราช "...ก็ได้กวาดต้อนเอาคนครัวเมืองล้า เมืองพง เชียงแข็ง เมืองหลวงภูคา ลงมาไว้เมืองน่าน มีคน 6,000 คนหั้นแล..." เป็นต้น โดยพื้นที่ที่ไทลื้อในเขตจังหวัดน่านตั้งถิ่นฐานอยู่มากที่สุดได้แก่ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัวและอำเภอท่าวังผา โดยบ้านเฮี้ย ต.ศิลาแลง อ.ปัว มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เชียงรุ่ง เมืองเงิน เมืองยอง เมืองเลนและเมืองพาน (หน้า 16-18) ม้งหรือแม้ว อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทย เรียกตัวเองว่า "ม้ง" แปลว่า อิสรชน ส่วนคำว่า "แม้ว" เป็นคำที่เรียกกันทั่วไปในประเทศไทย ลาว เวียดนามและฝรั่งเศส เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก "เมี้ยว" ที่คนจีนเรียกซึ่งแปลว่าคนป่าหรือคนเถื่อน แม้วชอบให้คนทั่วไปเรียกตนเองว่า "ม้ง" เดิมม้งอยู่ในประเทศจีน มีอาณาจักรและกษัตริย์ปกครอง ต่อมาในสมัยราชวงศ์แมนจูมีนโยบายที่จะปราบปรามม้ง ม้งจึงเริ่มอพยพลงสู่ทางใต้จนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำแดง มฑลตังเกี๋ยและเกิดการสู้รบกับชาวญวนอีกจึงกระจายไปอยู่ตามบริเวณภูเขาสูงบริเวณแคว้นสิบสองจุไทและสิบสองปันนา ม้งบางกลุ่มได้อพยพไปอยู่บริเวณทุ่งไหหิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาว เดียนเบียนฟูในเวียดนามและอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ประมาณ พ.ศ.2400 ศูนย์วิจัยชาวเขาเชียงใหม่มีความเห็นว่าม้งเข้ามาในประเทศไทยราวปี พ.ศ.2393 โดยเข้ามา 3 จุดใหญ่คือ ในแนวเมืองคาย ห้วยทรายและเชียงของทางทิศเหนือสุดซึ่งเป็นจุดที่เข้ามาก่อนและเข้ามามาก ในแนวสายบุรี-ปัว ทางทิศใต้ และในแนวภูเขาคาย-เลย ใกล้เวียงจันทร์ซึ่งเป็นจุดที่เข้ามาน้อยที่สุด (หน้า 22) เย้า เรียกตนเองว่า "เมียน" แปลว่ามนุษย์ ส่วน "เย้า" แปลว่า สุนัขหรือป่าเถื่อน มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันออกของมณฑลไกวเจา ยูนนาน ฮุนหนำและกวางสีในประเทศจีน เนื่องจากปัญหาทางการประกอบอาชีพกอปรกับการถูกรบกวนจากชนเจ้าของประเทศ จึงพากันอพยพมาทางใต้เข้าสู่ตังเกี๋ย เวียดนามเหนือ ตอนเหนือของลาว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าและตอนเหนือของประเทศไทย เย้าที่อพยพเข้าประเทศไทย อพยพมาจากจังหวัดน้ำทา ในประเทศลาวและเข้ามาที่จังหวัดน่านก่อน ปัจจุบันเย้าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตะวันออกและทางเหนือของจังหวัดเชียงรายและกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ (หน้า 27)

Settlement Pattern

การตั้งที่อยู่อาศัย - ไทลื้อ อาศัยอยู่บริเวณหุบเขาตามแม่น้ำของภูมิภาคกึ่งโซนร้อน มีภูมิประเทศเป็นที่ต่ำชื้นแฉะ อากาศร้อน(หน้า 19) - ม้ง ตั้งหมู่บ้านอยู่บนดอยสูง หมู่บ้านม้งไม่มีแผนผังแน่นอน แต่นิยมตั้งเป็นรูปเกือกม้า ทุกเรือนหันหน้าออกจากภูเขาและไม่สร้างบ้านซ้อนกันเพราะเกรงว่าจะไปขวางทางผีเหย้า หมู่บ้านม้งประกอบด้วยกลุ่มเรือนหลายๆ หย่อม แต่ละหย่อมจะมี 7- 8 หลังคาเรือน โดยมีเรือนใหญ่ของคนสำคัญอยู่ตรงกลาง(หน้า 24) - เย้า นิยมตั้งหมู่บ้านบนไหล่เขา บริเวณต้นน้ำลำธาร สูงประมาณ 1,000-1,150 เมตรซึ่งอยู่ต่ำกว่าหมู่บ้านม้งและลีซอ หมู่บ้านเย้าส่วนมากมีขนาดเล็ก มีประมาณ 15 หลังคาเรือนมีการโยกย้ายหมู่บ้านบ่อยบางหมู่บ้านก็มิได้มีการโยกย้าย (หน้า 28) บ้านเรือนอยู่อาศัย - เรือนของไทลื้อ ออกแบบได้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ เอกสารโบราณได้กล่าวถึงชนชาติไทว่า "อยู่อาศัยในบ้านแบบเรือนยกพื้นสูง โดยปราศจากกำแพงเมือง" เป็นเรือนไม้ไผ่ เรียกว่า "กันหลัน" เรือนมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ใต้ถุนเรือน สำหรับทอผ้าและผูกสัตว์เลี้ยง บันได ตามความเชื่อสมัยก่อน นิยมมีบันได 9 ขั้นและหันทางทิศตะวันออก ปัจจุบันก็ยังนิยมทำบันไดเลขคี่ ระเบียงหน้า มีหลังคาคลุมเปิดโล่งโดยรอบเป็นที่สำหรับรับแขก ห้องโถง ใช้ประกอบอาหาร รับประทานอาหารและเป็นที่นอนสำหรับแขก ห้องนอน อยู่ด้านซ้ายของห้องโถง ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตู 1 บาน ส่วนนอกชาน ใช้เป็นที่ล้างหน้าชำระร่างกายในเวลาเช้าและเย็น มุมหนึ่งจะตั้งโอ่งดินเผาขนาดใหญ่สำหรับใส่น้ำไว้ทำความสะอาดร่างกาย ภายในหมู่บ้านจะมีหอผีเจ้าหลวงประจำหมู่บ้านและยังมี "ใจบ้าน" ซึ่งเป็นเสาหลักประจำกลางหมู่บ้าน เป็นเสาที่ปักลงครั้งแรกเมื่อสร้างหมู่บ้านโดยจะมีการประกอบพิธีกรรมทุกปี - เรือนของม้งเป็นโรงคลุมพื้นดินที่ทุบจนแน่น ยกพื้นสูงเฉพาะที่นอน ฝาเรือนใช้ไม้ฟากเรียงกัน ขนาบด้วยไม้ไผ่ทั้งด้านบนและด้านล่าง หลังคามุงด้วยใบคาหรือใบก๊อ ภายในบ้านมีเตาไฟตั้งอยู่กลางบ้านสำหรับผิงไฟและประกอบอาหาร ม้งไม่นิยมทำรั้วบ้านหรือรั้วหมู่บ้าน ในบ้านม้งทุกหลังจะมีหิ้งบูชาบรรพชน จะมีการเซ่นไหว้ด้วยไก่ตัวผู้หนึ่งตัว และเอาขนไก่จุ่มเลือดไปติดไว้กับกระดาษขาวด้วย - เรือนเย้า ปลูกคร่อมดิน ใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ผังเรือนมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุงหลังคาด้วยหญ้าคาหรือใบหวาย ฝาบ้านเป็นไม้เนื้ออ่อนที่ผ่าแล้วถากเรียบ ฝาเรือนจะกั้นในแนวตั้ง สองฟากบ้านจะมีประตูเข้าออกเรือนข้างละบาน "ประตูชาย" เปิดเข้าสู่บริเวณรับแขก "ประตูหญิง" เปิดเข้าสู่ครัว ประตูที่สาม เรียกว่า "ประตูใหญ่" เป็นประตูที่ใช้ในเวลาประกอบพิธีกรรม จะอยู่ตรงข้างศาลพระภูมิ ในบ้านมีเตาไฟ 2 เตา คือ เตาประกอบอาหารและเตาสำหรับต้มข้าวหมู

Demography

ประชากรเมืองน่านเป็นชนพื้นเมืองซึ่งประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยหรือคนไทยภูเขาเผ่าต่างๆ มีประชากรทั้งหมด 480,771 คน จำแนกเป็นชาย 243,724 คน ผู้หญิง 237,047 คน ข้อมูลชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2538 พบว่ามีทั้งหมด 3,750 กลุ่มบ้าน 154,821 หลังคาเรือน มีประชากร 853,274 คนจำแนกเป็นชาย 432,971 คน ผู้หญิง 420,303 คน โดยกะเหรี่ยงจะเป็นประชากรชาวเขากลุ่มใหญ่ที่สุด มี ประชากร 353,110 คน รองลงมาคือ ม้ง 111,677 คน มูเซอ 82,158 คน อีก้อ 49,903 คน ตามลำดับ (หน้า 13-15) จากการสำรวจประชากรม้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 พบว่าในประเทศไทยมีหมู่บ้านม้ง 245 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 58,000 คน(หน้า 23) หมู่บ้านเฮี้ย มี 95 หลังคาเรือน 161 ครอบครัว มีประชากร 592 คน จำแนกเป็นชาย 314 คน หญิง 278 คน หมู่บ้านดอยติ้ว มี 93 หลังคาเรือน 146 ครอบครัว มีประชากร 705 คน จำแนกเป็นชาย 365 คน หญิง 340 คน ส่วนหมู่บ้านสันเจริญ มี 57 หลังคาเรือน 79 ครอบครัว มีประชากร 441 คน จำแนกเป็นชาย 232 คน หญิง 209 คน(หน้า 31)

Economy

ลักษณะทางเศรษฐกิจของไทลื้อเป็นเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตนเอง พืชหลักที่เพาะปลูกได้แก่ ข้าวโดยเฉพาะข้าวเหนียว ข้าวโพด และพืชนอกฤดูกาล เช่น ยาสูบ พริก เป็นต้น ยามว่างหลังจากการเก็บเกี่ยวไทลื้อนิยมทอผ้าหรืองานจักสานเพื่อใช้สอยภายในครัวเรือน ปัจจุบันผ้าฝ้ายทอลายไทลื้อเป็นที่นิยม จึงสามารถสร้างรายได้ได้ดีทางหนึ่ง (หน้า 21) ม้งทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย พืชหลักที่นิยมทำการเพาะปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด หัวผักกาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด เช่น หมูและไก่จะเลี้ยงไว้บริโภคและในพิธีกรรม ม้าและโค เลี้ยงไว้สำหรับบรรทุกสิ่งของและขาย รายได้อีกทางหนึ่งของม้งคือการเก็บของป่าขาย การทำเครื่องเงิน การตีเหล็ก รวมทั้งการเย็บปักถักร้อย (หน้า 25-26) เศรษฐกิจของเย้าขึ้นกับการทำเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย พืชที่ปลูกได้แก่ ข้าวเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกสำหรับบริโภค ข้าวโพด มันฝรั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดเช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์ของม้ง (หน้า 30)

Social Organization

ครอบครัวของไทลื้อเป็นระบบครอบครัวขนาดเล็ก ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ชายหญิงไทลื้อค่อนข้างจะมีความเสมอภาคและมีความเกรงอกเกรงใจซึ่งกันและกัน แต่ภรรยาจะเกรงใจและให้เกียรติสามีมากกว่า โดยปกติ บุตรธิดาเมื่อสมรสแล้วจะแยกออกไปอยู่ต่างหาก แต่บุตรีคนสุดท้ายที่สมรสจะให้สามีอยู่ที่บ้านตนหรือบุตรคนสุดท้องที่สมรสแล้วจะเป็นทายาทที่จะรับมรดกของบิดามารดาจึงจะอยู่ด้วยกัน (หน้า 20-21) ส่วนม้งสืบเชื้อสายทางบิดา ครอบครัวม้งมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีผู้ชายอาวุโสสูงสุดเป็นหัวหน้าและเป็นผู้นำครอบครัว เมื่อบุตรชายคนใดมีภรรยาต้องนำภรรยาเข้ามาอยู่ด้วย สำหรับบุตรหญิงเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องไปอยู่กับครอบครัวสามี (หน้า 25) ลักษณะสังคมของเย้าเป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย เหตุที่เป็นครอบครัวขยายเพราะว่าบุตรชายเมื่อแต่งงานแล้วจะพาภรรยาเข้ามาอยู่ในครอบครัว เย้านับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายชาย หากในบ้านผู้หญิงมีลูกสาวคนเดียวสามารถพาสามีเข้ามาอยู่ได้เช่นกัน โดยที่ลูกที่เกิดมาต้องนับถือบรรพบุรุษของฝ่ายมารดา (หน้า 29)

Political Organization

จังหวัดน่าน แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 12 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 99 ตำบล 802 หมู่บ้าน การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล 1 แห่ง สุขาภิบาล 7 แห่ง (หน้า 12)

Belief System

ศาสนาดั้งเดิมของไทลื้อคือการนับถือผี แม้ว่าต่อมาจะรับการนับถือศาสนาพุทธแต่ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีก็ผสานไปกับความเชื่อพุทธศาสนา พิธีกรรมเก่าแก่และสำคัญของไทลื้อ คือ พิธีเข้ากรรม ซึ่งเป็นพิธีการไหว้และเลี้ยงผี (หน้า 21) ม้งมีความเชื่อที่เกี่ยวพันกับเทวดาและภูตพราย ในบ้านเรือนเชื่อว่ามีผีบ้านผีเรือนหลายตนปกปักรักษาคนในบ้าน นอกจากนี้ยังคุมครองขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร วัวควายและเงินทองเพื่อให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ผีประตู เป็นผีสำคัญมากเพราะม้งเชื่อว่า เมื่อตายลงวิญญาณจะต้องขออนุญาตผีประตูเพื่อลาจากไปปรโลก จึงต้องมีการเซ่นไหว้ทุกปีด้วยหมูหนึ่งตัว (หน้า 26) เย้ามีความเชื่อว่า ไม้ที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่นำมาปลูกบ้านและเชื่อว่ามีผีอยู่ในเตาไฟจึงไม่มีใครกล้าวางเท้าหรือนั่งหันหลังให้เตา (หน้า 28) เย้า มีการผสานความเชื่อของสองลัทธิเข้าด้วยกันคือลัทธิบูชาภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษกับลัทธิเต๋า เย้าเชื่อว่าทุกอย่างรอบตัวมีผีสิงสถิตอารักขาอยู่ทุกที่ พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษมีลักษณะคล้ายของจีนคือลูกหลานจัดเครื่องเซ่นไหว้ ด้วยหมูหรือไก่และเผากระดาษเงิน มีจุดธูปเพื่อเชิญวิญญาณมารับเครื่องเซ่นไหว้และคุ้มครองลูกหลานให้พ้นจากภัยอันตราย (หน้า 30)

Education and Socialization

การรักษาโรคภัยของหมอยาไทลื้อ มิได้มีการสืบทอดการสอน ส่วนมากเป็นความรู้ที่ผู้สนใจได้จากการอ่านและจากประสบการณ์ (หน้า 21) ม้งทุกหมู่บ้านจะมีผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงที่ได้รับการสืบทอดวิชาปฏิบัติบูชาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ (หน้า 26)

Health and Medicine

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ - ภายในหมู่บ้านไทลื้อจะมีคนที่มีความรู้เรื่องการแพทย์ เรียกว่า "หมอยา" การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร ซึ่งยาที่ใช้มีทั้งพืช สัตว์และแร่ธาตุ (หน้า 21) - การรักษาโรคภัยไข้เจ็บของม้ง ได้แก่ การใช้ยาสมุนไพรและไสยศาสตร์ เช่นการทำพิธีผูกข้อมือคนไข้ด้วยสายสิญจน์ เป็นต้น (หน้า 26) -การรักษาโรคภัยไข้เจ็บของเย้า เป็นการรักษาโดยหมอผีประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ควบคู่กับการใช้ยาสมุนไพร แต่ปัจจุบันจะเป็นการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 30) พืชสมุนไพรและพืชที่ใช้ประโยชน์ จากการสำรวจพบพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ 98 วงศ์ 221 สกุล 273 ชนิด สามารถจำแนกพืชตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ พืชอาหาร (ร้อยละ 32) พืชสมุนไพร (ร้อยละ 54) พืชเศรษฐกิจ (ร้อยละ 4) และพืชประโยชน์อื่นๆ (ร้อยละ 10) - หมู่บ้านไทลื้อมี พืชอาหาร 35 ชนิด พืชสมุนไพร 37 ชนิด พืชเศรษฐกิจ 7 ชนิดและพืชประโยชน์อื่นๆ 7 ชนิด หมู่บ้านม้งมี พืชอาหาร 33 ชนิด พืชสมุนไพร 89 ชนิด สามารถจำแนกตามสรรพคุณได้แก่ พืชที่รักษาอาการปวดเมื่อยต่างๆ โรคเกี่ยวกับกระดูก โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบการขับถ่าย โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัวปวดท้องและปวดอื่นๆ โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ พืชที่ใช้เฉพาะสตรี พืชที่ใช้เฉพาะบุรุษและพืชที่ใช้รักษาโรคต่างๆ พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดและพืชประโยชน์อื่นๆ 12 ชนิด - หมู่บ้านเย้ามี พืชอาหาร 48 ชนิด พืชสมุนไพร 65 ชนิด พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดและพืชประโยชน์อื่นๆ 12 ชนิด ได้แก่พืชที่ใช้ตามความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมและศาสนา เช่น ท้อ - ม้งใช้กิ่งติดไว้หัวบ้านกันผีเข้าบ้าน เป็นต้น พืชที่มีพิษ เช่น ต้นมะเยา ม้งห้ามรับประทานผล ทำให้ท้องเสียมากถึงสียชีวิตได้ พืชที่ใช้เป็นสีย้อม เช่น ยอดิน ฝางและสร้อยไก่ ส่วนพืชที่ใช้เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หญ้าคา ไทลื้อ ม้งและเย้าใช้ใบตากแห้งมุงหลังคาและโรงเลี้ยงสัตว์ น้ำเต้า ม้งใช้ผลตากแดด คว้านเนื้อในออก นำไปตากแดดใช้เป็นภาชนะตักน้ำ ตองกง เย้าตากแดด ก้านช่อดอกทำเป็นไม้กวาด เป็นต้น(หน้า 39 -43,220 -224) พืช ชนิดของพืชและประโยชน์ที่ใช้ พืชแต่ละชนิดมีประโยชน์ที่แตกต่างกันและมีชื่อท้องถิ่นที่ต่างกันและพืชชนิดเดียวกัน แต่ละหมู่บ้านใช้ประโยชน์ต่างกันก็มี ตัวอย่างเช่น - ต้นห้อม ไทลื้อนำใบตำรวมกับปูเลย ห่อด้วยใบพลับพลึงแล้วนำมาลนไฟประคบแก้อาการปวดเมื่อย ส่วนเย้า นำใบห้อมมาตำละเอียดพอกบริเวณบาดแผลฝีหนอง - ต้นหญ้าพันงู ม้งใช้ทั้งต้นต้มไก่รับประทานแก้ประจำเดือนไม่ปกติหรือรับประทานหลังป่วยเป็นโรคทุกครั้ง ส่วนเย้าใช้ทั้งต้นทุบให้ละเอียดพอกบริเวณกระดูกหักใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ - ผักขมหัด ไทลื้อรับประทานยอดอ่อน ส่วนเย้าใช้ใบจิ้มน้ำพริก - ว่านน้ำ ไทลื้อ ใช้ใบและหัวต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง ส่วนม้งจะนำทั้งต้นต้มไก่รับประทาน หรือต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้องหรือทุบแช่น้ำอาบ - ผักหนาม ไทลื้อใช้ใบประกอบอาหาร ส่วนเย้าใช้ยอดอ่อนประกอบอาหาร หนาดหลวง ม้งใช้ใบทุบให้ละเอียดประคบบริเวณศีรษะแก้ปวดหัว รากต้มน้ำดื่มป้องกันการตั้งครรภ์ ใบอังไฟนำมาประคบแก้ฟกช้ำ ส่วนเย้าใช้ใบตากแดดทำเป็นผงแก้หวัด ทำเป็นยานัตถุ์ - ว่านมหากาฬ ไทลื้อใช้ ใบ ตำละเอียด พอกบริเวณบาดแผล ส่วนเย้าใช้ใบตำพอกบาดแผลหรือแผลน้ำร้อนลวก - ผักปั๋ง ไทลื้อนำยอดอ่อนมาประกอบอาหาร นำทั้งต้นต้มไก่ให้สตรีรับประทานบำรุงกำลังหลังคลอดทำให้เจริญอาหาร ส้มกุ้ง ม้งใช้รากตำละเอียดคั้นน้ำหยอดตารักษาอาการตาแดงหรือรับประทานลำต้นอ่อนซึ่งมีรสเปรี้ยว ส่วนเย้าจะนำลำต้นมาประกอบอาหาร - เพกา ไทลื้อ ใช้ฝักประกอบอาหาร ส่วนเย้าใช้เปลือกต้นผสมอาหารสัตว์ให้ม้ากินแล้วทำให้อ้วน - เอื้องหมายนา ม้ง นำหัวต้มน้ำดื่มแก้อาการปัสสาวะติดขัด เย้าใช้เนื้อภายในลำต้นพอกบริเวณที่เป็นฝี - ไคร้น้ำ ไทลื้อใช้ใบต้มอาบแก้คันหรือนำใบมาขยี้ ใบจะเกิดฟองคล้ายสบู่ไว้ทำความสะอาด เย้าใช้ใบอ่อนรับประทานกับลาบ - กาฝาก ม้งต้มทั้งต้นน้ำดื่มแก้ไอ เย้านำทั้งต้นดองเหล้าบำรุงกำลัง เป็นต้น (หน้า 45 -67)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องแต่งกาย - การแต่งกายของหญิงไทลื้อ เสื้อเรียกว่า "เสื้อปั๊ด" มีสายหน้าเฉียงมาผูกติดกันตรงมุมด้านซ้ายหรือขวาหรือใช้กระดุมเงินขนาดใหญ่เกี่ยวกันไว้ เสื้อสีดำหรือสีครามตัวเสื้อรัดรูปเอวลอย ชายเสื้อกลอยขึ้นสองข้าง สาบเสื้อขลิบด้วยแถบผ้าต่างๆ นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง ต่อเชิงด้วยผ้า นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพูและนิยมเกล้าผมมวยเป็นแบบเฉพาะ ยอดมวยมีการม้วนผมเป็นวงกลม เรียกว่า "มวยว้อง" และสวมเครื่องประดับเงิน ส่วนชายไทลื้อนิยมนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำหรือคราม สวมเสื้อเอวลอยสีดำหรือคราม ขลิบด้วยแถบผ้าสีต่างๆ แต่รูปทรงเสื้อต่างจากผู้หญิง นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขาว (หน้า 19 - 21) - การแต่งกายของหญิงม้ง นุ่งกระโปรงอัดกลีบรอบตัวยาวถึงเข่า ทำจากใยกัญชาหรือผ้าฝ้ายทอมือ เขียนลวดลายบาติกอันเป็นเอกลักษณ์ของม้ง ใส่เสื้อสีดำแขนยาวผ่าอกกลาง มีผ้าผูกเอวสีดำ สวมที่รัดน่องสีดำ รวบผมตึงขึ้นผูกไว้บนกลางกระหม่อมแล้วเกล้าเป็นมวยใหญ่ สวมผ้าโพกศีรษะหรือหมวก ผู้ชายสวมกางเกงสีดำมีเป้าหย่อนลงมาเกือบถึงปลายขา สวมเสื้อกำมะหยี่หรือผ้าฝ้ายแขนยาวสีดำผ่าอก สาบป้ายติดกระดุมเงินที่คอและสาบอกที่ทับอยู่ด้านนอกอกซ้าย ตกแต่งด้วยลายปัก ผ้าคาดเอวสีดำปักลวดลายที่ปลายทั้ง 2 ด้าน (หน้า 24 - 26) - การแต่งกายของเย้า ผู้หญิงนิยมเสื้อคลุมสีดำหรือสีน้ำเงินคอแหลมรูปตัววี ยาวถึงข้อเท้า ผ่าด้านหน้าตลอด ติดไหมพรมสีแดงที่อกเสื้อรอบคอลงมาถึงหน้าท้อง ผ่าด้านข้างทั้งสองตั้งแต่เอวลงไป เวลาสวมชายผ้าด้านหน้าสองแฉกจะไขว้กันและพันรอบเอวไปผูกเงื่อนด้านหลัง กางเกงสีดำหรือสีน้ำเงิน ด้านหน้าปักด้วยลวดลายดอกลวง มีสีสันงดงาม ผ้าโพกศีรษะมีความกว้างประมาณ 90 เซนติเมตร ยาว 4 - 5 เมตร ปักลายทั้งสองข้างด้วยลายดอกดวง เครื่องประดับส่วนมากจะทำด้วยเงิน ผู้ชายจะนุ่งกางเกงสีดำหรือสีน้ำเงินคล้ายกางเกงจีน ขลิบขากางเกงด้วยไหมสีแดง สวมเสื้อดำหรือน้ำเงินผ่าอกไขว้ไปข้างๆเล็กน้อยแบบเสื้อคนจีน มีลวดลายติดอยู่เป็นแถบแคบๆตามแนวที่ผ่าลงมา ติดกระดุมเงินรูปกลมที่คอและรักแร้เป็นแนวลงไปกับเอว เสื้อยาวคลุมเอว ไม่สั้นแบบเสื้อม้ง (หน้า 28)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ในด้านการผลิต มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมซึ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนหรือชุมชน มาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันมี การเปลี่ยนแปลงทางด้านการแพทย์เป็นการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้ชนกลุ่มน้อยละเลยภูมิปัญญาของตนในด้านการรักษาแบบดั้งเดิม คือ การใช้ยาสมุนไพร (หน้า 2) ปัจจุบันการ แต่งกายแบบประเพณีของเย้า ผู้หญิงยังคงรักษาแบบดั้งเดิม ส่วนผู้ชายส่วนมากนิยมแต่งกายแบบคนไทยหรือคนพื้นเมือง จะแต่งชุดประจำเผ่าในเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ วันแต่งงาน เป็นต้น(หน้า 29)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง - ข้อมูลชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทยจำแนกรายการตามจังหวัด ปี 2538(14) - ข้อมูลชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทยจำแนกรายการตามเผ่า(15) - จำนวนประชากรในแต่ละหมู่บ้าน(31) - จำนวนพืชทั้งหมดที่สำรวจพบ โดยแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์(39) - จำนวนพืชที่ใช้ประโยชน์ทั้งหมดในแต่ละหมู่บ้าน โดยแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์(40) - เปรียบเทียบพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ในแต่ละหมู่บ้าน(45) แผนภูมิ - เปรียบเทียบจำนวนชนิดของพืชในแต่ละวงศ์ของพืชใบเลี้ยงคู่(41) - เปรียบเทียบจำนวนชนิดของพืชในแต่ละวงศ์ของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและพวกเฟิร์นและคล้ายเฟิร์น(42) - จำนวนพืชทั้งหมดที่สำรวจพบแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์(43) - เปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนชนิดพืชแยกตามประเภทการใช้(43) - เปรียบเทียบจำนวนชนิดพืชที่สำรวจพบในแต่ละหมู่บ้านแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์(44) ภาพ - แผนผังการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านของไทลื้อ(20) - แผนผังการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านของม้ง(24) - แผนผังการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านของเย้า(28) - ลักษณะบ้านเรือนยกพื้นของไทลื้อ(246) - เครื่องใช้ภายในบ้าน(246) - กิ่งผีเสื้อติดไว้ประตูหน้าบ้านป้องกันสิ่งชั่วร้าย(246) - ประเพณีขนทรายเข้าวัดเนื่องในวันปีใหม่เมือง(247) - กิ่งต้นหญ้าขัดนำมาตากแดดทำเป็นไม้กวาด(248) - บ้านติดพื้นของชาวม้ง(249) - ครกกระเดื่องสร้างไว้ในบ้าน(249) - เตาไฟทำอาหารนิยมวางไว้กลางบ้าน(249) - เครื่องโม่แป้ง(250) - เครื่องลางติดไว้หน้าบ้านป้องกันสิ่งชั่วร้าย(250) - สถานที่ประกอบพิธีกรรมทำให้เด็กหายป่วย(250) - การแต่งกายของชาวม้ง(251) - การเล่นลกข่างในวันปีใหม่(252) - การโยนลูกช่วงหาคู่ในวันปีใหม่(252) - บ้านเรือนของชาวเย้า(253) - ยามว่างของหญิงชรานิยมเย็บผ้า(254) - สภาพไร่ข้าวกับพื้นที่ป่า(258) - Baphicacanthus cusia Brem. ห้อม(259) - Sanseviavieria trifasciata Prain. ลิ้นนาคราช (260) - Celosia argentea Linn. สร้อยไก่(261) - Kopsia arborea BI.. ตึงน้ำใส(262) - Arisaema sp. บุก(263) - ex K. Schum. Var. stipulata แคหางค่าง(266) - Cassia tora Linn. ชุมเห็ดไทย(267)

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ลื้อ, ม้ง, เมี่ยน อิวเมี่ยน, เศรษฐกิจ, พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน, น่าน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง