สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เย้า,เครือญาติ,กลุ่มตระกูล,การนับเวลา,การเกษตร,ดนตรี,ภาคเหนือ
Author จันทบูรณ์ สุทธิ, สมเกียรติ จำลอง และ ทวิช จตุวรพฤกษ
Title วิถีเย้า
Document Type เอกสารวิชาการ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 449 Year 2532
Source สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
Abstract

วิถีชีวิตของเย้าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมจากจีน สืบทอดกันมายาวนานก่อนที่จะอพยพเข้าสู่ไทย รูปแบบที่ยังคงยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการใช้แซ่สกุล การแบ่งกลุ่มเครือญาติมีคติความเชื่อที่แตกต่างของแต่ละกลุ่มเป็นตัวกำหนด แม้แต่การลำดับวันเดือนปีซึ่งมีความสัมพันธ์กับการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ ที่ได้รับมาจากจีน การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ไปจนถึงระบบการเกษตรและการบริหารแรงงานซึ่งได้พัฒนาปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย การสืบทอดวัฒนธรรมการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไว้ใช้กับงานพิธีกรรมตามคติความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ อันเกิดจากการผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมชนเผ่าหล่อหลอมกลมกลืนจนกลายเป็นวิถีชีวิตของเย้าในปัจจุบัน

Focus

เน้นศึกษาแซ่สกุลของเย้า 25 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในเขต จ.เชียงราย ลำปาง น่าน พะเยา กำแพงเพชรและเชียงใหม่ รวมถึงศึกษารูปแบบวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชนเผ่าเย้าในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ระบบเครือญาติ การเกษตร พิธีกรรม-ความเชื่อ การบำบัดรักษาโรค เครื่องดนตรี อาหาร

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ชนชาวเขาเผ่าเย้าที่อพยพจากจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เดิมเย้าเรียกตัวเองว่า "เมี่ยน" หรือ "อิวเมี่ยน" แปลว่า "คน" หรือ "มนุษย์" (HUMAN) เป็นคำเรียกในเชิงตอบโต้ เมื่อชาวจีนโบราณมักเรียกชนเผ่าที่ไม่ใช่คนจีนว่าเป็นคนป่าเถื่อน หลักฐานอย่างหนึ่งในเอกสารจีนซึ่งกล่าวถึงเย้า โดยออกเสียงว่า "หยาว" แปลว่า แรงงานเกณฑ์ ส่วยแรงงาน ชาวเมืองประเทศราช อีกคำหนึ่งที่ได้รับการบันทึกคือ "หมาน" แปลว่า คนป่าเถื่อน แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เย้า ซึ่งเคยถูกจีนรุกรานจนต้องอพยพหนี คนไทยเรียกเย้าว่า "เย้า" ในสำเนียงภาคกลางหรือภาษามาตรฐาน ภาษาถิ่นภาคใต้เรียก "ย้าว" สำเนียงถิ่นภาคเหนือเรียก "ญ้าว" เลียนจากคำไตลื้อหรือลาว เรียกชนเผ่าที่อพยพผ่านสิบสองปันนาและประเทศลาว เย้าที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวเรียกตัวเองว่า "เย้า" หรือ "ล่างเตียนเย้า" ในเวียดนามเรียกตัวเองว่า "ชิ้น อีเย้า" หรือ "ล่างเตียนเย้า" เย้าในพม่าเรียกตัวเองคล้ายเย้าในประเทศไทย คือ "เย้า" (หน้า 7, 9, 271) ในประเทศจีนมีคำเรียกตัวเองของชนเย้ามากถึง 30 กว่าชื่อ ซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกันไปตามมณฑลต่าง ๆ และที่ถูกเรียกรวมโดยคนจีน เช่น เย้ามณฑลหยุนหนาน เรียกตนเองว่า "ย่างเปิ้นเจียว" "เกี้ยมแก้ง" "เลียว" ปู๋โหนว ฯลฯ เย้ามณฑลกว่างซี เรียกตนเองว่า "เป่ยหมาน" "เท้อวเจียว" "พีเมิ่น"ฯลฯ เย้ามณฑลหูหนาน เรียกตนเองว่า "กู่ลี่เจียว" "อู้ไหน" "ปิ้นตอเจียว" ฯลฯ เย้ามณฑลกว่างตง เรียกตนเองว่า "หยัวะติ่น" ฯลฯ เย้ามณฑลเกว้ยเจา เรียกตนเองว่า "เปยตงย่อ" "เหนอวหมาว" "ปาลิ่น" ฯลฯ ส่วนคำเรียกเย้าโดยคนจีนในมณฑลต่างๆ มีหลายชื่อเรียกเช่นกัน จีนมณฑลหยุนหนาน เรียก "ต้มเป้นอิ้ว" "เปี้ยนอิ้ว" "แป้งเต้าอิ้ว" "เจี้ยงตงอิ้ว" ฯลฯ จีนมณฑลกว่างซี เรียก "เท้อวอิ้ว" "ไฝเป้นอิ้ว" "ม่านอิ้ว" "ปะเยโฮม่านอิ้ว" ฯลฯ จีนมณฑลหูหนาน เรียก "โต๊ะจองอิ้ว" "จ้าเซนอิ้ว" "แป้งเต่ยอิ้ว" ฯลฯ จีนมณฑลกว่างตง เรียก "เปี้ยนอิ้ว" "ไบ๊อิ้ว" ฯลฯ จีนมณฑลเกว้ยเจา เรียก "แปะเหอวอิ้ว" "เจียงเปียวอิ้ว" "เฮียดฝิงอิ้ว" ฯลฯ (หน้า 2-6)

Language and Linguistic Affiliations

คณะผู้ศึกษาตั้งข้อสันนิษฐานว่า คำเรียก "เย้า" อาจจะมาจากคำว่า "หยาว" ในภาษาจีนที่แปลว่า แรงงานเกณฑ์ ส่วยแรงงาน หรือชาวเมืองประเทศราช เป็นคำที่จีนใช้เรียกคนเย้าในจีน (หน้า 9) ภาษาพูดที่เย้าในประเทศไทยใช้สื่อความระหว่างเย้าด้วยกันมีเพียงภาษา "เมี่ยน" เท่านั้น แต่เย้าถิ่นต่าง ๆ ในจีนใช้ภาษาพูดหลายภาษา อาทิ ภาษาพูดของเย้าในจีนมณฑลกว่างซี (จ้วง) เรียก ฮั่นจ้างหยุ่ยหวิลี้ (สำเนียงจีนกลาง) ฉี่ฉ้วงหวาซวน (สำเนียงเย้าในไทย) มณฑลหูหนาน เรียก เหมียวเหยาหยุ่ยหวิจู๋ (สำเนียงจีนกลาง) แม้วเย้า หวาฟาง (สำเนียงเย้าในไทย) (หน้า 7) นอกจากการรับตัวอักษรจีนมาใช้แล้ว เย้ายังรับภาษากวางตุ้งมาใช้ในพิธีกรรมที่สำคัญของเผ่า เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับพุทธใช้ภาษาบาลี หรือคริสต์ใช้ภาษาลาติน (หน้า 133) มีข้อสันนิษฐานว่า เย้าที่เคยอาศัยอยู่ในจีน มีการนำบทกวีของคนจีนมาใช้เป็นชื่อลำดับชั้นรุ่นหรือ "ป้านปุ่ย" ต่อมาเมื่อได้อพยพออกจากจีน ก็เริ่มห่างเหินจากภาษาจีนมาตรฐาน กอปรกับมีการตัดลำดับชั้นรุ่นบางลำดับทิ้ง (ยกเว้นชั้นรุ่นของกลุ่มเครือญาติย่อย "จ๋าวหว่าน" ยังคงลักษณะคล้ายบทกวี) แม้เย้าจะยืมภาษาจีนมาใช้เป็นตัวเขียน แต่เย้าในไทยก็ไม่ได้ยืมการเขียนกลอน บทกวี และรูปแบบข้อกำหนดมาใช้ ทำให้ขาดความซาบซึ้งและขาดการพัฒนาเอกลักษณ์ด้านบทกวีที่เป็นรูปแบบเฉพาะของเย้าไป (หน้า 82- 83) การใช้ภาษาจีนเรียกชื่อในลำดับชั้นรุ่นของเย้า ใช้รูปแบบเดียวกับจีนคือชื่อผู้ใหญ่ เรียก 3 พยางค์ คือ ชื่อแซ่-ชื่อลำดับชั้นรุ่น-ชื่อตัว ระบบการตั้งชื่อลำดับชั้นรุ่น (ป้านปุ่ย) จะต่างจากจีนคือ ไม่นิยมนำคำกลอนหรือบทกวีมาตั้ง แต่จะเลือกคำพยางค์เดียวที่มีความหมายดี เช่น "เจียม" แปลว่า ทองคำ "ฝู" แปลว่า มีโชควาสนา (หน้า 79) จากบันทึกส่วนตัวจะเห็นว่าลำดับชั้นรุ่นของแซ่สกุลเย้าในประเทศจีน 46 ลำดับนั้น จะมีคำที่เย้าในไทยใช้เป็นลำดับชั้นรุ่นในปัจจุบันถึง 13 คำ เช่น "เม่ง" "เจียม" "เกีม" "เวิ่น" "แซ่ว" "จิ้ว" "ก๋วย" "เยอ" "ย่ง" "จั๋น" "ชุน" "ยี่" "ต๊ะ" "ย่วน" "ท่ง" นอกจากนี้ยังมีคำที่ออกเสียงพ้องกันอีก 2 คำ เช่น "ฝู" กับ "จ้อย" ซึ่งเย้าในไทยใช้ตัวเขียนต่างกับเย้าในจีน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า เย้าในประเทศไทยที่เคยอาศัยอยู่ในจีน นำบทกวีของคนจีนมาใช้เป็นชื่อลำดับชั้นรุ่นหรือป้านปุ่ย (หน้า 82) ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับลำดับชั้นรุ่นของกลุ่มจ๋าว เครือญาติย่อย "จ๋าวหว่าน" หรือ "จ๋าวใหญ่" มีลำดับชั้นรุ่นสั้น หรือน้อย เพียงสี่รุ่นคือ "กิม" "ฝู" "หว่าน" "ยุ่น" ชื่อรุ่นมีความคล้องจอง จดจำง่าย มีความหมายดี หากจะแปลอย่างคร่าวๆ คือ มีทองคำ มีโชควาสนาและของกินอุดมสมบูรณ์ไม่มีหมดสิ้น ทำให้ไม่มีความทุกข์ คำที่เย้านำมาตั้งเป็นชื่อลำดับชั้นรุ่นเท่าที่ตรวจพบในปัจจุบัน แปลความหมายในภาษาเย้า มิใช่แปลในภาษาจีน เช่น - กิม, เกียม, เจียม, กิน, จิน แปลว่า ทองคำ - แซง, แซ่ง, สิ่น, ซิ่น, เซิ่น หมายถึง การเกิด - จ้อย, ไช่ หมายถึง ความโชคดีด้านการเงิน มีทรัพย์สมบัติมาก กินดีอยู่ดี - เวิ่น ว่อน หมายถึง ความเรียบร้อย ความสุขุม - ฝู, ฟู หมายถึง ความมีลาภ มีโชควาสนา มีความร่ำรวย "จาง" เคยมีใช้ในลำดับชั้นรุ่น แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว รายชื่อคำที่เย้านิยมนำไปตั้งเป็นชื่อลำดับชั้นรุ่น แม้จะมีอักษรกำกับเพียงตัวเดียว แต่ออกเสียงเป็นสำเนียงเย้าได้หลายสำเนียง ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหลักภาษาศาสตร์ (หน้า 84-86)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ในอดีตเย้าตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอาศัยอยู่ในจีนผืนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย (หน้า 117) "เย้า" เป็นคำเรียกที่เลียนจากไตลื้อ ใช้เรียกชนเผ่าที่อพยพผ่านสิบสองปันนาและประเทศลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ระหว่างเย้ากับจีนเกี่ยวข้องกันผ่านการรับวัฒนธรรมประเพณีเข้าสู่สังคมเย้า รวมถึงวัฒนธรรมการสืบใช้แซ่สกุล เอกสารโบราณที่จีนออกให้เย้าซึ่งเรียกว่า "เจี๋ยเซนป๊อง" สันนิษฐานว่า ตรงกับสมัยราชวงศ์ถังในรัชกาลพระเจ้าเจิงกวาง ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มเย้าแสดงให้เห็นว่า เย้ารับระบบนามสกุลจีนใช้มานานกว่า 1,000 ปีแล้ว (หน้า 9) เย้าในมณฑลกว่างซีประเทศจีน กล่าวถึงกลุ่ม "พ่านเหยา" หรือกลุ่มเย้าที่มีการอพยพทางเรือตามตำนานของเย้าว่ามี 12 แซ่สกุล (เอกสารบางแหล่งพบว่ามี 15 ตระกูล หรือมีเพียง 8 แซ่) แต่ละบันทึกแต่ละแหล่งข้อมูลก็มีความสับสนไม่ตรงกัน เช่น บันทึกของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แม็คคาร์ธี) อดีตเจ้ากรมแผนที่คนแรกในประเทศ กล่าวถึงกลุ่มตระกูลเย้าที่เมืองเชียงของว่ามี 12 กลุ่ม (ตระกูล) แต่เมื่อประมวลดูแล้วพบเพียง 8 กลุ่ม เอกสาร Ethnography Survey of the Hill Tribes of Northern Thailand with Special Reference to the Yao กล่าวถึงเย้าในประเทศไทยว่ามี 12 แซ่ จากเอกสารโบราณของจีน "เจี๋ยเซนป๊อง" ฉบับที่สถาบันวิจัยชาวเขามีสำเนากล่าวถึงเย้า 13 แซ่สกุล ฉบับที่อยู่ในครอบครองของนายจ้อยผ่ง แซ่เติ๋น เย้าอำเภอปง จ.พะเยา ที่ได้รับตกทอดมาจากตระกูล "จ๋าว" กล่าวถึงเย้า 12 แซ่สกุล เย้าบ้านกิ่วต่ำ อ.งาว จ.ลำปาง เย้าบ้านนาบัง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา และเย้าบ้านคลองเตย กิ่งอำเภอคลองลาน จ.กำแพงเพชร กล่าวถึงเย้า 12 แซ่สกุล บางแซ่ก็อาจเหมือนเรียกแตกต่างกันไป สำหรับแซ่สกุลของเย้าในประเทศจีน (รวบรวมโดยนักวิจัยชาวจีน) พบถึง 29 แซ่สกุล มีข้อสันนิษฐานว่าเย้าได้รับเอาแซ่สกุลของชาวจีนมาใช้ในสมัยราชวงศ์ชิง ค.ศ.1644 -1912 (หน้า 10-14) คณะผู้ศึกษาเกี่ยวกับแซ่สกุลของเย้าในประเทศไทย ปี พ.ศ.2531 - 2532 ใน 25 หมู่บ้านของจังหวัด พะเยา ลำปาง เชียงราย กำแพงเพชร น่าน พบว่าเย้ามีแซ่สกุลรวมกันทั้งหมด 12 แซ่สกุล คือ เติ๋น, ย่าง, จ๋าว, ว่าง, ลี, ล่อ, พ่าน, เตา, โฟ่ง, ต้อย, (ต๋าย) ลิ่ว, ฉิ้น (หน้า 15)

Settlement Pattern

เย้าอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยกระจายตัวอยู่ตามภาคเหนือตอนบน และตอนล่าง (หน้า 7) เส้นทางอพยพคือตลอดแนวพรมแดนไทย อ.เชียงของ จ.เชียงราย เย้าจะใช้เส้นทางน้ำและเส้นทางบก มีการกระจายตัว 2 เส้นทางคือ - สายตะวันตก เริ่มจากดอยผาตั้ง-ผาหม่น จ.เชียงราย เย้าที่อาศัยในบริเวณนี้ ยืนยันว่าเป็นที่แรกสุดที่ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย เส้นทางการอพยพไปตั้งถิ่นฐานไปสิ้นสุดบริเวณดอยอ่างขาง ม่อนอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ - การอพยพลงใต้ เริ่มจากบริเวณเดียวกัน อพยพไปสู่ภูลังกา อ.ปง จ.พะเยา ต่อไปยัง จ.น่าน สู่สวนยาหลวง บางส่วนได้อพยพลงสู่ใต้ไปจนถึงเขตต่อกันระหว่างเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และจังหวัดเลย เอกสารจากข้อมูลเย้า จ.น่าน กล่าวว่า เย้าอพยพข้ามสันเขามาจากลาว ตั้งบ้านเรือนบริเวณ ปางแก ปางหนอง ห้วยสะนาว เขตอำเภอทุ่งช้าง บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีดินหินปูนเหมาะกับการปลูกฝิ่นทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าฝิ่นมีบทบาทสูงต่อการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ 100 ปีก่อนจนถึงช่วงก่อนพัฒนาบนที่สูงเมื่อ 30 ปีก่อน (หน้า 172) การเลือกพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของเย้าให้ความสำคัญกับพื้นที่ดินที่เหมาะในการปลูกฝิ่นเป็นลำดับแรก ข้าวรองลงมา เพราะฝิ่นเป็นพืชที่เจริญงอกงามในดินที่สลายตัวมาจากวัตถุ ต้นกำเนิดที่เป็นหินปูน (หน้า 171)

Demography

งานศึกษาแซ่สกุล ศึกษาจากประชากรเย้าจำนวน 9,171 คน จาก 25 หมู่บ้าน เทียบเป็นร้อยละ 25.38 ของจำนวนเย้าในประเทศไทย (หน้า 15) ชุมชนเย้ามักมีขนาดไม่เกิน 30 หลังคาเรือน ส่วนหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 60 หลังคาเรือน (หน้า 219)

Economy

เป็นที่น่าสังเกตว่า เย้าทำการเกษตรแบบยังชีพ (Subsistence Agriculture) สืบทอดมานาน เป็นไปตามการตั้งชุมชนแบบกระจัดกระจาย ห่างจากเส้นทางคมนาคม นอกจากนี้ ยังใช้ระบบการปลูกพืชแบบผสม (Mixed Cropping System) ปลูกข้าว ข้าวโพด และฝิ่น สิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพของเย้า เป็นผลผลิตมาจากการเกษตร บางส่วนมาจากการหาของป่ารอบชุมชน ชุมชนเย้าทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ก่อนพัฒนารูปแบบเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบการยังชีพ (Subsistence Economy) คือ ผลผลิตแลกเปลี่ยนหมุนเวียนภายในชุมชน ไม่ต้องพึ่งพาชุมชนภายนอก เนื่องจากเย้าบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ซึ่งเป็นพืชหลักที่ต้องปลูกทุกปี ทั้งยังปลูกข้าวโพดเป็นอาหาร และเลี้ยงหมูและไก่เป็นอาหารโปรตีนหลัก และใช้ในพิธีกรรม นอกจากนี้ยังปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจครัวเรือน (ปลูกกันมานานนับร้อยปีแล้ว) วิธีการปลูกข้าว ข้าวโพด และฝิ่นเป็นวิธีเดียวกับชาวเขาบนพื้นที่สูงปฏิบัติกันอยู่ กลายเป็น " วัฒนธรรมเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา" (swidden) คือปลูกพืชหลักชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆ กันหลายปี จนเมื่อดินเสื่อมคุณภาพก็ย้ายแหล่งเพาะปลูกไปยังพื้นที่ใหม่ (หน้า 169, 173-175) เย้าเพิ่งเริ่มมีการทำนาดำเมื่อ 41 ปีก่อน (พ.ศ.2491) เย้าที่อำเภอปง ได้ว่าจ้างคนไทยพื้นราบขึ้นไปบุกเบิกพื้นที่ทำนาดำและสาธิตกาทำนาดำให้ดูเป็นตัวอย่าง ต่อมาก็เริ่มจ้างคนไทยทำนาดำบนที่สูง แต่ก็ต้องยุติไปเพราะมีปัญหาวัวกินข้าวในนา หลังจากนั้นการทำนาดำก็แพร่กระจายไปสู่เย้าหมู่บ้านอื่น ปัจจุบันเย้าหลายหมู่บ้านทำนาดำชลประทาน บางหมู่บ้านก็อาศัยน้ำฝน (หน้า 172 -173) สรุปได้ว่า พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจเย้า พัฒนาจากระบบเศรษฐกิจเพื่อการยังชีพสู่เศรษฐกิจแบบกึ่งยังชีพ เมื่อเหล็ก เกลือและฝิ่นเข้ามามีบทบาท จนได้พัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราชองระบบทุนนิยมเต็มตัว เมื่อภาครัฐ เอกชนและองค์การระหว่างประเทศได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ด้วยการหันมาปลูกพืชแบบพืชเดี่ยวที่ส่งเสริมกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดความจำเป็นต้องพึ่งพาสังคมภายนอกเกือบทั้งหมด ต่างจากการปลูกพืชเพื่อการยังชีพแบบเดิม ซึ่งพึ่งพาสังคมภายนอกน้อย (หน้า 227-228) การบริหารแรงงานในชุมชนเย้า มีทั้งแรงงงานในครัวเรือนตามจารีตของครอบครัวขยาย ผู้อาวุโสที่เลยวัยแรงงานจะเป็นผู้ช่วยดูแลควบคุม ถ่ายทอดสั่งสอน เด็กที่อยู่ก่อนวัยแรงงานจะได้รับการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จากครัวเรือนและชุมชนในการทำกิน ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนแรงงาน เย้าจะเข้าสู่กิจกรรมการผลิตตั้งแต่อายุ 6-7 ปี และใช้เวลาในการเรียนรู้ด้านการเกษตรยาวนานกว่า 10 ปี นอกจากนี้ยังมีแรงงานรูปแบบอื่นๆ เช่น แรงงานลงแขก แรงงานจ้าง (ซึ่งมักเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างฝิ่น)แรงงานในครอบครัว แรงงานช่วยเหลือ แรงงานตามหน้าที่ สำหรับแรงงานแบบใช้หนี้และแรงงานอุทิศให้บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้ชุมชน ไม่พบหรือพบไม่บ่อยนักในชุมชนเย้า (หน้า 217-221) การแลกเปลี่ยนแรงงานแบ่งกันออกไปตามกลุ่มเครือญาติย่อย หรือกลุ่มที่มีพื้นที่ ทำกินใกล้เคียงกัน มักช่วยเหลือกันเมื่อจะโค่นต้นไม้ ปลูกข้าว ข้าวโพด ปราบวัชพืชใน ไร่ฝิ่น ไร่ข้าวโพด และช่วงเก็บเกี่ยว ผลทางอ้อมจากการแลกเปลี่ยนแรงงานทำให้เกิดความสามัคคีปรองดอง หนุ่มสาวมีโอกาสใกล้ชิดกันขณะช่วยกันทำงาน จะช่วยใน การตัดสินใจเลือกคู่ครองได้ (หน้า 219)

Social Organization

ระบบเครือญาติของเย้ามีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ การประกอบพิธีกรรม และการแลกเปลี่ยนแรงงาน นอกจากกลุ่มเย้าจะมีระบบเครือญาติที่ใช้แซ่เดียวกันแล้ว ยังมีกลุ่มเครือญาติย่อย ที่เรียกว่า "ปุ้นเม่ง" ตามจารีตประเพณี เย้าโดยทั่วไป สามารถแต่งงานกันในกลุ่มเครือญาติได้อย่างอิสระ ไม่มีข้อห้ามตามจารีตประเพณี ยกเว้นกลุ่มเครือญาติ "ฉิ้น" ที่ห้ามแต่งงานระหว่างกลุ่มเครือญาติย่อยสองกลุ่ม การห้ามแต่งงานอย่างเด็ดขาดของกลุ่มเครือญาติ "ฉิ้นเล็ก" หรือ "ลู่จั้นตอน" กับ "ฉิ้นใหญ่" หรือ "ต้มโล่จั้น" คณะผู้ศึกษาตั้งข้อสันนิษฐานว่า มีสาเหตุมาจากการมีบรรพบุรุษเป็นคนจีน ซึ่งยึดถือคติความเชื่อห้ามคนแซ่เดียวกันแต่งงานกันอย่างเคร่งครัด การแต่งงานในกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกันทำได้ในคนรุ่นที่ 5 ปัจจุบันลดลงมาเป็นคนรุ่นที่ 3 สามารถแต่งงานกันได้โดยมีการประกอบพิธีกรรมขอขมาต่อวิญญาณบรรพบุรุษ หากมีบุคคลนอกสายตระกูลเข้ามาอยู่ร่วมกลุ่มเครือญาติย่อย โดยมาแต่งงานกับผู้หญิงในกลุ่ม ต้องหันขอใช้ "แซ่" และคติความเชื่อตามเครือญาติฝ่ายหญิง ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีฐานะไม่ดี ไม่สามารถจ่ายเงินค่า "ซื้อเมีย" ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงตามจารีตได้ (หน้า 33-34,36, 61) การเข้ามาขอใช้แซ่ของฝ่ายหญิง หากฝ่ายหญิงมีบุคคลที่จะสืบสายสกุลน้อยหรือไม่มีเลย บิดามารดาจะขอร้องให้ผู้ที่จะมาเป็นบุตรเขยเข้ามาใช้แซ่ของตน ฝ่ายชายต้องบันทึกรายชื่อบรรพบุรุษตนเอง 2 ชั่วคนเป็นอย่างน้อย (หน้า 38) กลุ่มเครือญาติย่อยของเย้ามีการใช้แซ่สกุลตามแบบจีน การทดสอบว่าเป็นกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกัน ทำได้โดยตรวจสอบชั้นรุ่นที่แต่ละกลุ่มเครือญาติย่อยใช้ การยอมรับ ว่าบุคคลใดอยู่ร่วมในกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกัน ตรวจสอบได้จากเอกสารครัวเรือนที่ได้บันทึกและถือครอง เรียก "เจ้ซอวโต้ว" "จ้าฟินตาน" และ "นิ่นแซ่งเป๊น" (หน้า 37) เย้าในไทยส่วนใหญ่นิยมซื้อบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นผู้สืบสกุลหรือนำมาเป็นแรงงานในครัวเรือน กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นบุตรบุญธรรมในสังคมเย้าแต่ยังเยาว์ จะยึดถือคติความเชื่อของกลุ่มเครือญาติย่อยนั้นๆ บุตรบุญธรรมต้องผ่านพิธีกรรมที่ได้ระบุไว้ เพื่อให้ผ่านการยอมรับจากกลุ่มเครือญาติย่อย (หน้า 35)

Political Organization

ปัญหาด้านการเมืองระหว่างเย้ากับชาวจีนนั้น มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากเย้าถูกชาวจีนเจ้าของประเทศรบกวน รีดนาทาเร้นรุกราน จนพวกเย้ากลุ่ม "จ๋าวเล็ก" หรือ "ลู่เจ้อวตอน" ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย ต้องอพยพออกจากจีนไปอาศัยอยู่ในเวียดนาม ต่อมามีการรบพุ่งระหว่างเย้ากับเวียดนาม ทำให้เย้าอยู่ในสถานะที่เป็นศัตรูกับเจ้าของประเทศทั้งสอง ทำให้เย้าคุ้นเคยกับการอพยพ ระหว่างอพยพจากจีนสู่ไทย มีบรรพบุรุษเพียง 1-2 ชั่วรุ่นที่ถูกฝังไว้ในแผ่นดินเวียดนาม (หน้า 270-271)

Belief System

จากตำนานเย้า (ต้มอง) หรือ "ององ" ผู้ชายเย้าที่อายุแก่กว่าพระอาทิตย์ 30 ปี เป็นคนโสด ตามตำนานไม่ได้ระบุชื่อไว้ เป็นผู้ที่สั่งสอนชักจูงเย้าให้หันกลับมานับถือคติความเชื่อ เป็นผู้ที่กำหนดวันดี และวันไม่ดีของเย้ากลุ่มเครือญาติต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้ที่ชักจูงเย้าให้หันกลับมานับถือคติความเชื่อแบบเดิมอีกครั้ง เย้าให้ความเคารพ นับถือต้มองและจัดให้อยู่ในกลุ่ม ผู้ที่ต้องมีการเซ่นไหว้ในพิธี "โจ่วด้าง" (พิธีแก้บนในคติความเชื่อของเย้า) (หน้า 74 - 75) เย้าอาวุโสบางคนใน จ.เชียงรายให้ข้อมูลว่า "ององ" คือ "เปี้ยนฮุ่ง" ผู้เป็น "พ่อตา" ของ "เปี้ยนหู" ต่อมาได้กลายเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลของเย้าในปัจจุบัน ... ขงจื้อเป็นผู้ที่ได้กำหนดวันดีและวันไม่ดีให้เย้ากลุ่มเครือญาติต่าง ๆ ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ... กระดาษตัดเป็นรูปดอกไม้รูปต่างๆ เพื่อใช้เซ่นไหว้บูชาต้มองในพิธีโจ่วด้างของเย้าเรียกว่า "ต้มองเปี้ยง" แต่ละกลุ่มเครือญาติย่อยจะมีการใช้สีกระดาษแตกต่างกันตามคติความเชื่อ กลายเป็นที่มาของสมญานามของกลุ่มเครือญาติย่อย เช่น "พ่านซิ" หรือ "พ่านแดง" เพราะกลุ่มเครือญาติย่อยกลุ่มนี้ใช้ดอกไม้บูชาที่ทำด้วยกระดาษสีแดง และ "พ่านแปะ" หรือ "พ่านขาว" ใช้ดอกไม้บูชาต้มองที่ทำด้วยกระดาษ สีขาว "ติ้นปุ้ยโต่วไซหยุ่น" เป็นการแก้บนที่ทำไว้ตอนก่อนที่จะทำพิธีบวช ระดับสูงสุด คือ "โต่วไซ" หรือ "ต้าล่อตัง" ของบุคคลในกลุ่มเครือญาติย่อย "หลู่เหล่อฝ่ง" นอกจากนี้ ยังมีพิธีแก้บนต่างๆ เช่น หยั่นล่ง อาน, ติ้นเก๊าะ ( หน้า 75) พิธีกรรม - การบวช หรือ "กว๋าตัง" มักทำเฉพาะในกลุ่มเครือญาติ และกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกันเท่านั้น ตามคติความเชื่อของเย้าเชื่อว่า ผู้ผ่านพิธีบวชมาแล้วหากเสียชีวิตไปจะมีบริวารรับใช้ คอยปกปักรักษามากน้อยตามระดับการบวชซึ่งมี 3 ระดับคือ ระดับต่ำสุด เรียก "กว๋าฟามทอยตัง" ระดับกลาง เรียก "กว๋าเซียดฟินตัง" หรือ "กว๋าเชียดฟินโต่ว" ระดับสูงสุด เรียก "โต่วไซ" หรือ "ต้าล่อตัง" การบวชทั้งสามระดับ ถ้าผู้ชายมีภรรยาแล้วสามารถนำภรรยาเย้าเข้าร่วมบวชได้ในทุกระดับ ทุกขั้นตอน ยกเว้นบางขั้นตอน เช่น การไต่บันไดมีด ภรรยาจะไม่เข้าร่วมพิธี การบวชทุกระดับตามจารีตจะต้องมีการประกอบพิธี "โจ่วด้าง" ตามระดับการบวชขั้นต่าง ๆ บุคคลที่ผ่านการบวชระดับสูงสุด "โต่วไซ" ห้ามบริโภคเนื้อสุนัขและเนื้อเต่าเด็ดขาด พิธีศพของผู้ผ่านการบวชแต่ละระดับจะแตกต่างกับของคนธรรมดาที่ไม่ผ่านการบวชมาก่อน (หน้า 73 - 74) - พิธีกรรมสำหรับครัวเรือน หรือกลุ่มเครือญาติย่อยที่ถือครองรูปภาพผีใหญ่อยู่ เรียกว่า "ห่อเหียง" บางกลุ่มเครือญาติย่อยมีการกำหนดว่า แต่ละชั่วรุ่นจะต้องมีการทำพิธีนี้จำนวน 3 ครั้ง ส่วน "คอยเอียง" เป็นพิธีกรรมของกลุ่มเครือญาติที่ถือครองรูปผีใหญ่ซึ่งได้วาดแล้วเสร็จใหม่ ๆ (หน้า 75) - พิธีกรรมอื่นๆ เช่น โจ๋วโต๋วตั้ง (พิธีการฝังศพ) พิธีโจ๋วแสะไจย (การทำบุญให้ผู้เสียชีวิตไปแล้ว มักประกอบพิธีหลังฝังศพไปแล้ว 1 ปี) พิธี "ออนโจ๋วเซน" (พิธีปรับปรุงทำความสะอาดที่ฝังศพบรรพบุรุษ) ในการประกอบพิธี ต้องมีการนำเอาดินมากองพูน ให้คล้ายกับสถานที่ฝังศพของบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว (หน้า 69) ข้อห้ามด้านการบริโภคและเรื่องแต่งงาน - ข้อห้ามด้านการบริโภคในเผ่าเย้าทุกกลุ่มเครือญาติมีข้อห้ามที่เหมือนกันคือ ห้ามทานเนื้อสุนัข เพราะถือว่าสุนัขเป็นต้นตระกูลของเย้า และยังห้ามทานเนื้อควาย (บางกลุ่มก็ห้ามทานเนื้อวัวและเนื้อหมูด้วย) บางกลุ่มเครือญาติย่อยเช่น เติ๋นตั้งฝ่ง หรือลู่ตั้งฝ่ง ห้ามทานเนื้อเต่า กลุ่มหลู่เหล่อเฮย ห้ามทานเนื้อแมว กลุ่ม "โฟ่งซิ" หรือ "โฟ่งแดง" "พ่าน" และ "ต้มจ๋าว" ห้ามทานเนื้อม้า กลุ่ม "ต๋าย" ห้ามทานเนื้อแลน (ตะกวด) และเนื้องู กลุ่ม "เติ๋นตั้งซุย" และ "หลู่เหล่อแมง" ห้ามทานเนื้องู กลุ่ม "ว่าง" ห้ามทานเนื้อวัว สำหรับผู้ผ่านพิธีบวชใหญ่ "โต่วไซ" หรือ "ต้าล่อตัง" ห้ามบริโภคเนื้อสุนัขและเนื้อเต่า เชื่อกันว่าหากบริโภคจะปวดหัวอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต (หน้า 61) - ข้อห้ามเรื่องการแต่งงานระหว่างกลุ่มเครือญาติ และกลุ่มเครือญาติย่อยมีมานานแล้ว ผู้ละเมิดมักมีอันเป็นไปต่างๆ นานา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรัง มีอุบัติเหตุ มีการตายแบบไม่ปกติ ครอบครัวไม่เจริญรุ่งเรือง ประกอบกิจการไม่ประสบความสำเร็จ มีอายุไม่ยืนยาว ในระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้ละเมิดมากมาย ทั้ง ๆ ที่บรรพบุรุษสาปแช่งไว้ เย้ารุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษามักละเลยข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งงาน ข้อห้ามเหล่านี้คล้ายกับคนจีนเชื้อสายต่าง ๆ ในไทยที่บางกลุ่มห้ามแต่งงานข้ามสายพันธุ์ (หน้า 67 - 68) ความเชื่อเรื่องผีน้ำ เย้าเชื่อว่าผีน้ำจะทำอันตรายผู้ที่ลบหลู่ โดยการปัสสาวะลงไปในแม่น้าลำธาร เพราะสำหรับเย้าน้ำถือเป็นของสูงและห้ามลบหลู่เป็นอันขาด อาจทำให้เกิดอาการบวมพองของอวัยวะเพศ ต้องขอขมาโดยใช้เครื่องเซ่น (หน้า 362, 365)

Education and Socialization

ปัจจุบันเย้านิยมเรียนหนังสือไทยระดับสูงมากขึ้น มักแต่งงานหลังจากจบการศึกษา และทำงานเพื่อสร้างฐานะให้ตนเองอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ได้ทำความสับสนให้กับระบบลำดับศักดิ์ของชั้นรุ่น บุคคลที่ถึงแม้จะอยู่ในกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกัน และมีลำดับชั้นรุ่นเดียวกันแต่ไม่เคยพบกันมาก่อน (หน้า 83) เด็กเย้าเรียนรู้ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ คือ ผ่านการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการศึกษาในระบบเหมือนกับเด็กพื้นราบ มีการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมรอบตนเอง เป้าหมายของการศึกษาคือ สั่งสมประสบการณ์เพื่อให้ดำรงชีวิต ต่อสู้อุปสรรคและ ยืนหยัดด้วยตนเองในวันข้างหน้า (หน้า 218) ในช่วงสงครามเย็นระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก รัฐบาลไทยห้ามการศึกษาภาษาอื่นที่รัฐบาลไม่รับรอง รวมถึงภาษาจีนด้วย ส่งผลให้เย้าที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี แทบไม่มีความรู้ภาษาจีนที่จำเป็นในการประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อ (หน้า 282)

Health and Medicine

ในระบบการบำบัดรักษาโรคของเย้า เย้าใช้ฝิ่นเป็นสมุนไพรอเนกประสงค์ (แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้บำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้เย้าซึ่งเจ็บป่วย ต้องกลายเป็นผู้เสพติดฝิ่น) สรรพคุณของฝิ่นในการรักษาโรค คือ ใช้ ระงับปวด รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคโพรงจมูกอักเสบ โรคฟัน ใช้ห้ามเลือด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ อาการเจ็บป่วยทางจิตใจ นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพร 3 ชนิดที่จำเป็นดังนี้คือ 1. จั่นเปอวไล ใช้รักษาโลหิตจาง ปัสสาวะไม่ออก ร้อนใน ปวดหลัง สตรีเย้าที่คลอดลูกใหม่ใช้จั่นเปอวไลเร่งน้ำนมให้ไหลออกจากเต้าดีขึ้น ช่วยเพิ่มน้ำนม เร่งมดลูกเข้าอู่ ช่วยขับเลือดเสีย และบำรุงร่างกาย 2. แจ้อ้อเมี้ย ใช้บำบัดรักษาสตรีเย้าที่คลอดใหม่ อาการปวดหลัง 3. แปะไจ๊ตบ เป็นตัวยาที่เย้าใช้แพร่หลาย บำบัดรักษาอาการแพ้ กระตุ้นให้เกิดการอาเจียน แก้เวียนหัว (หน้า 343 - 346) เย้ามีการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยโดยใช้สมุนไพรที่เก็บหาได้จากป่า และสมุนไพรที่ปลูกไว้ในแปลงปลูกที่อยู่ข้างตัวบ้าน หรือในแปลงพืชผักสวนครัวหลังบ้าน หรือ ใช้ตัวยาที่ได้จากสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าที่ล่ามาได้ เช่น โรคนิ่วใช้รากไม้ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของต้น "จ๋ากิ๋ง" หรือใช้ส่วนของต้น "กะดัด" หรือรากไม้ป่าที่เป็นเถาเรียก "ต้มเสี้ยนฮ่อน" ปรุงเป็นยาให้ผู้ป่วยดื่ม รักษาอาการนิ่ว หรืออาจใช้ก้อนนิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีของหมูเอามาถูกับก้อนหินผสมกับน้ำให้ผู้ป่วยดื่ม (หน้า 346-347, 350) นอกจากนี้เย้ายังใช้วิธีการรักษาตามคติความเชื่อของเผ่า เช่น สู่ขวัญ เสกเป่ามนต์คาถา ใช้วิธีการบอกเล่าเรื่องราวตื่นเต้น สยองขวัญ เพื่อโน้มน้าวจิตใจให้ลืมภาวะป่วยที่เป็นอยู่ เช่น อาการสะอึกไม่หยุด ใช้การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างขณะเจ็บป่วยหรือควบคุมอาการ เช่น งูสวัด ใช้น้ำอุ่นชะล้างจนกว่าอาการทุเลา โรคริดสีดวงทวารใช้วิธีควบคุมหรือห้ามอาหารที่มีรสฝาดและปลาแทน ใช้การบำบัดรักษากับสรีระผู้ป่วย เช่น นวดบริเวณที่ปวดเมื่อยเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือใช้นิ้วมือหนีบดึงบริเวณผิวหนัง ช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก ใช้เหล็กปลายแหลมบริเวณที่อักเสบ บวมพอง (หน้า 347-350)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องดนตรีเย้า - เย้าได้รับเครื่องดนตรีบางชนิดของคนตระกูลไตที่อาศัยอยู่ในจีน เวียดนามและลาว นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดนตรีบางชนิดที่เย้าได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหยิบยืมเครื่องดนตรีของชนเผ่าอื่นมาประยุกต์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามคติความเชื่อ สันนิษฐานว่ามีการรับเข้ามาหลายร้อยปีแล้ว เย้ามักใช้ประโยชน์จากเครื่องดนตรีในการประกอบพิธีกรรมมากกว่าเพื่อความบันเทิง หรือบรรเลงเพื่อความสนุกสนาน (หน้า 241,269-270) - การจัดแบ่งเครื่องดนตรีมีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ลำดับความสำคัญการใช้เครื่องดนตรีแต่ละชนิด ในแต่ละพิธีกรรม ประเภทของเครื่องดนตรีมีทั้ง ดีด สี ตี เป่า วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากป่าไม้รอบหมู่บ้าน หากเป็นโลหะก็จะซื้อหา 1) เครื่องดนตรีประเภทดีด เช่น ต้านป้า (ซึง 3 สาย) สันนิษฐานว่ารับมาจากตระกูลไต ปัจจุบันแทบไม่พบในชุมชนเย้าไทยแล้ว..."เคอวขิ่น" หรือ "จิ๊งหน่อง" เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้แพร่หลายในกลุ่มชาวเขา ไม้ไผ่ที่ใช้ทำ "เคอวขิ่น" ที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่ในประเทศลาว เวียดนาม และพม่า (หน้า 243-244) 2) เครื่องดนตรีประเภทสี มีน้อยที่สุด เท่าที่พบเห็นร่องรอย เช่น "หงาดงิ่น" หรือ "ซอ" ไม่มีบทบาทในพีธีกรรม ทำจากไม้ซ้อ สายใช้เส้นใยต้นเต่าร้างยักษ์ ซอเย้ามี 2 สาย เวลาสีต้องวางตัวซอไว้บนหน้าท้องของผู้สี (หน้า 245) 3) เครื่องดนตรีประเภทตี มีอยู่มากที่สุดในจำนวนเครื่องดนตรีทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ "โย๋" หรือ กลองสองหน้า รูปร่างกลมแบน ใช้เชือกและแผ่นหนังหน้ากลองทำจากหนังเลียงผาหรือหนังเก้ง (ไส้หมี) เมื่อตีจะเกิดเสียงดังกังวาน วัสดุที่ใช้ทำตัวกลองทำจากไม้ซ้อ เป็นไม้เนื้อแข็งอเนกประสงค์ เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบา สามารถนำมาประดิษฐ์อุปกรณ์อื่นๆ อีก เช่น ไหข้าว (หน้า 246 - 247) นอกจากนี้ยังมี "เช่าเจซย" หรือ ฉาบจีน "ล่อ" หรือ "ล่อโก๊ว" เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ "มัง" หรือ "ฆ้อง" ใช้แทนล่อได้ "ลึ่ง" หรือ "กระดิ่ง" รับมาจากจีน ใช้ในพิธีลงผีและพิธีโจ่วด้าง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องตีที่เรียกว่า "เบาะกงง" "เห่าล่อ" และ "ด้งโย๋" ลักษณะคล้ายกลองสองด้านหัวท้าย (หน้า 249-252) 4) เครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ "จอง" หรือ "เขาควาย" "เฮ่าดุ้งหนู" หรือขลุ่ย "หยัด" "ฟั่นติ" หรือปี่ "ส่าว" หรือ ลิ้นปี่ "เหนาะเกจี้ยด้ง" "เหนาะจั๋น" และ "เหนาะก๋อง" ใช้ เป่าเลียนเสียงนกกระทาป่า "ดัวเหนาะด้ง" ใช้เลียนเสียงนกเขาเขียว นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ใช้ใบ "ตองจิง" เป่าเรียกสัตว์ออกจากที่ซ่อน "รังดักแด้" เย้าเรียก "ส่าว" และการเป่าลมผ่านมือที่ประสานกันจนเกิดเสียงดนตรี โดยใช้นิ้วมือบังคับเสียง ใช้เลียนเสียงล่อนกเขามาติดกับดัก (หน้า 253 - 262) เครื่องดนตรีทุกชนิดจะไม่นิยมเล่นหากมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต นอกจากเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งมักถูกห้ามเป่า ตี เครื่องดนตรีที่เข้าร่วมพิธีกรรมมีเพียง "ปี่" ที่ผู้เป่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นสิ่งของหรือเงิน เพราะถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ฝึกยาก คนภายนอกมักมองว่า ดนตรีของเย้ามีท่วงทำนองเคร่งขรึมมากกว่าท่วงทำนองสนุกสนาน อย่างไรก็ดี เครื่องดนตรีประเภทปี่ ขลุ่ย จิ๊งหน่องก็สามารถใช้บรรเลงเพลงเกี้ยวสาวหรือบรรเลงในงานแต่งได้ (หน้า 278-280)

Folklore

เย้ามีนิทานและจารึกแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเย้าและชาวจีน เล่ากันว่า บรรพบุรุษต้นตระกูลเย้าเคยทำสงครามสังหารข้าศึก ได้รับพระราชธิดาเป็นบำเหน็จจากพระเจ้าแผ่นดินจีนให้แต่งงานด้วย สืบเชื้อสายเป็นชนเย้าปัจจุบัน (หน้า 117) ข้อห้ามด้านการแต่งงานของกลุ่มเครือญาติย่อยนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาจากนิทานของเย้าเล่ากันแพร่หลายว่า สามีมีภรรยาอยู่สองคน สามีชอบทำกรรมฐานเข้าฌานทำให้ร่างกายว่างเปล่า วิญญาณล่องลอยออกไปจากร่างแต่ยังมีลมหายใจอยู่ ชีพจรเต้นช้าเหมือนคนหลับ วันหนึ่งสามีเข้ากรรมฐานเป็นเวลาหลายวัน วิญญาณยังไม่กลับสู่ร่างเดิม ภรรยาทั้งคู่หมดความอดทนในการเฝ้าร่างสามี ซึ่งมักเข้ากรรมฐานบ่อย ๆ จึงนำหนอนที่กัดกินผลฟักทองมาใส่ปากสามี แล้วแจ้งกับผู้อื่นว่าสามีตายแล้วมีหนอนออกจากปาก (บางกลุ่มเครือญาติย่อยกล่าวว่า หญิงนั้นถูกชู้ยุแหย่) เมื่อญาติพี่น้องช่วยกันทำพิธีศพ ให้วิญญาณของผู้ตายที่กำลังคุยกับเทวดาเห็นว่า ญาติพี่น้องกำลังเผาศพตัวเอง จึงรีบกลับเข้าร่างเดิม แต่ขณะที่วิญญาณกลับเข้าร่าง ญาติได้จุดไฟเผาแล้ว ไฟลุกไหม้ขาผู้ตาย เมื่อวิญญาณเข้าร่าง ผู้ถูกเผาจึงลุกขึ้นมาประกาศว่า คนในกลุ่มเครือญาติตนต่อแต่นี้ไปอย่าได้ไปแต่งงานกับผู้หญิงแซ่ย่าง หลังสั่งเสียแล้วก็หัวใจวายตายไปจริง ๆ นิทานเรื่องนี้มีฝ่ายชายหลายแซ่เล่าสืบกันมา เช่น เติ้น โฟ่ง ลี จ๋าว ลิ่ว ฉิ้น ฝ่ายหญิงที่ถูกกล่าวหาเป็นแซ่ "ย่าง" และ "พ่าน" (หน้า 61-62) จากการศึกษาผ่านตำนาน นิทาน เรื่องเล่าในกลุ่มเครือญาติย่อยกลุ่มต่างๆ ของเย้าพบว่า พิธีกรรมต่างๆ ที่ปรากฏผ่านวิถีชีวิต เช่น ข้อห้ามในการบริโภคมีเรื่องเล่าและการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา เช่น ลูกศิษย์ที่เรียนวิชาหมอผีจากอาจารย์ในกลุ่มเครือญาติย่อย "ลู่ลิ่วแปะ" อาจารย์ของตน เคยเล่านิทานที่กล่าวถึง คนในกลุ่มที่มารดาเสียชีวิตขณะยังเป็นเด็กทารก ต้องไปอาศัยกินนมวัว ควาย หมูจนตนเองเติบใหญ่ ถือว่าสัตว์เหล่านี้มีบุญคุณกับตน ได้สั่งห้ามไม่ให้ลูกหลานบริโภคเนื้อเด็ดขาดพร้อมสาปแช่ง ลูกศิษย์ให้ข้อมูลว่าอาจารย์บริโภคเพียงไก่และเขียด (หน้า 57-58) นอกจากนี้ยังมีนิทานปรัมปรา กล่าวถึงคติความเชื่อหรือข้อห้ามการบริโภคเนื้อสุนัข เล่าว่า ต้นตระกูลเย้าที่เป็นสุนัขแสดงความสามารถในการรบ จนเจ้ากรุงจีนพระราชทานพระธิดาให้แต่งงานสืบเชื้อสายเป็นเย้าปัจจุบัน ในขณะที่กลุ่มเครือญาติ "พ่าน" ในจังหวัดกำแพงเพชร และกลุ่มเครือญาติย่อย "โฟ่งซิ" หรือ "โฟ่งแดง" ห้ามบริโภคเนื้อม้าเพราะมีตำนานเรื่องเล่าว่า เด็กในกลุ่มเครือญาตินี้รอดขีวิตมาได้โดยการบริโภคนมม้าแทนนมมารดา หลังมารดาเสียชีวิตลง (หน้า 61) ตำนานแซ่สกุลลี กลุ่มเครือญาติย่อย "ลีเฮย" กล่าวถึงบรรพบุรุษในฐานะเป็น "หมอผี" ในชุมชนเย้าที่ไปทำพิธีลงผีให้พระเจ้าจักรพรรดิจีน ได้ลืมกระดิ่งที่ต้องใช้ในพิธีจึงนำขาหมูดิบมาใช้แทน ในพิธีโจ่วด้างบางขั้นตอนก็ใช้ขาหมูดิบ บางขั้นตอนก็ใช้กระดิ่ง ส่วนกลุ่มเครือญาติย่อยอื่นจะใช้กระดิ่งในพิธี (หน้า 249-250)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

จากการศึกษาพบว่า เย้าไม่ได้แยกกลุ่มเครือญาติหรือกลุ่มเครือญาติย่อย โดยอาศัยความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่จะใช้เอกลักษณ์ที่แตกต่างด้านขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเครื่องบ่งอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์แทนกลุ่มเครือญาติย่อยแต่ละกลุ่ม ซึ่งแตกต่างกันด้านสำเนียงการพูด การบริโภค ข้อปลีกย่อยทางวัฒนธรรมและการประกอบพิธีกรรม นับว่ามีความแตกต่างจากระบบการเรียกกลุ่มเครือญาติของม้ง ที่จะบ่งบอกความแตกต่างทางชาติพันธุ์ด้วย เช่น "ว่างซัว" (หมายถึง คนจีน) "ว่างมะ" หมายถึงกลุ่มเครือญาติย่อย "ว่าง" ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนจีนและขมุ การยอมรับว่าบุคคลใดอยู่ร่วมในกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกัน จะใช้วิธีการตรวจสอบจากเอกสารครัวเรือนที่บันทึกไว้ มีตำนานเล่าว่า ชาติพันธุ์เย้ามีบรรพบุรุษเป็นชนเผ่าอื่น เช่น กลุ่มเครือญาติลิ่วและฉิ้น บรรพบุรุษเป็นคนจีนเมื่อหลายร้อยปีก่อนเข้ามาผสมกลมกลืนชาติพันธุ์ในชุมชนเย้า โดยการแต่งงานขยายเผ่าพันธุ์ สำหรับกลุ่มเครือญาติเย้าในไทยที่มาจากชนเผ่าอื่นคือกลุ่มเครือญาติ "เตา" มาจากชนเผ่า "ไตหย่า" (เย้าเรียกว่า ปะเยหาน) หมายถึง คนไตที่พูดภาษาจีน การบ่งบอกลำดับชั้นรุ่นเพื่อแสดงศักดิ์ของบุคคลในชั่วรุ่นที่สืบสายโลหิตจากตระกูลเดียวกัน เรียกว่า "ป้านปุ่ย" แปลว่า การกลับมาของยุคสมัย ก็สามารถระบุชื่อของกลุ่มเครือญาติย่อยได้ กลุ่มเครือญาติย่อยแต่ละกลุ่มมีลำดับชั้นรุ่นไม่เหมือนกัน (หน้า 34, 35,37,39, 76) กลุ่มเครือญาติย่อยของเย้าแต่ละตระกูล (แซ่) ก็มีอัตลักษณ์ประจำกลุ่มเครือญาติที่แตกต่างกันไป เนื่องจากคติความเชื่อทางศาสนา การทำพิธีเซ่นไหว้ และระดับชั้นการบวชที่แต่ละกลุ่มเครือญาติย่อยถือปฏิบัติต่างกัน อาทิ - กลุ่มเครือญาติย่อย "ลีเฮย" เดิมสามารถบวชได้ในระดับสูงสุด แต่พอมาถึงชั่วรุ่นหนึ่ง หลังจากบวช "โต่วไซ" แล้วได้พยายามทำให้ตัวเองมีคุณสมบัติเหนือกว่าการบวชระดับสูงสุด คือ "การตรัสรู้ให้ได้โสดาบัน" กลุ่มเครือญาติย่อยนี้จึงถูกสาปแช่ง ห้ามการบวชระดับสูงสุดอีก - กลุ่มเครือญาติแซ่เติ๋น (แซ่ตั่ง, ตั้ง) พยายามรักษาความเป็นเติ๋นอย่างเหนียวแน่น กล่าวกันว่าไม่ต้องการให้สายเลือดไปปะปนกับกลุ่มอื่น เย้ากลุ่มอื่นยอมรับกันว่ากลุ่มเติ๋นเป็นกลุ่มที่เฉลียวฉลาด - กลุ่มเครือญาติ "จ๋าว" นอกจากความฉลาดแล้ว ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ขยันขันแข็ง ละเอียดจู้จี้ ชอบสอดรู้สอดเห็นและชอบคุยโม้ มีความมัธยัสถ์มากกว่ากลุ่มอื่นจนเย้าเรียก "ลู่เจ้อวยับ" แปลว่า จ๋าวขี้เหนียว กลุ่มเครือญาติย่อย "ลู่เจ้อวจง" มีลักษณะเฉพาะกลุ่ม คือ มักถูกวิจารณ์ว่าขี้ขลาด ขี้กลัวแต่ปากแข็ง - กลุ่มเครือญาติย่อย "พ่าน" มีอัตลักษณ์เฉพาะคือ ถูกมองว่าเกียจคร้านและขี้ใจน้อย ทำอะไรช้าและขี้เหนียว - กลุ่มเครือญาติ "โฟ่ง" มักมีรูปร่างสูงใหญ่กว่ากลุ่มอื่น และเป็นใบ้ปัญญาอ่อนมากกว่ากลุ่มอื่น ผู้หญิงกลุ่มนี้มักพิถีพิถันมากเกินไปในการเลือกคู่ครอง ทำให้ไม่ได้แต่งงานมาก เป็นกลุ่มที่ชอบคุยโวและใจถึง เป็นต้น (หน้า 39,48-49,51,53,55)

Social Cultural and Identity Change

เป็นที่น่าสังเกตว่า เย้าได้รับอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมสูงมากจากวัฒนธรรมจีน อันเป็นวัฒนธรรมแม่แบบในเอเชียตะวันออก ซึ่งยังคงแผ่อิทธิพลอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกระแสวัฒนธรรมหลักที่ต่างไป สังคมวัฒนธรรมเย้ามีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีนมาก ทั้งการรับเอาตัวอักษรจีนมาพัฒนารูปลักษณ์จนแตกต่างไปจากของเดิม วัฒนธรรมในการประกอบอาหารที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ แม้จะมีร่องรอยว่ารับมาจากเผ่าอื่นรวมถึงคล้ายของจีน แต่ก็ได้พัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน (หน้า 117,432) นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลในการลำดับวัน เดือน ปีของคนจีนที่เรียกว่า "เทียนกานตี้จือ" เย้าในไทยเรียก "หลัวะเจียบจับจ๊าง" เย้ารับมาอย่างสมบูรณ์ทั้งระบบรวมถึงระบบการลำดับฤดูกาลและพิธีกรรมบางอย่างอันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมจีนที่มีต่อเย้า (หน้า 144-145) อย่างไรก็ดี ลักษณะเด่นทางสังคมวัฒนธรรมบางประการในกลุ่มเครือญาติย่อย เป็นผลให้อัตลักษณ์บางประการแผกออกไปจากกลุ่มทำให้เกิดการตั้งกลุ่มเครือญาติย่อยใหม่ ดังกรณีตัวอย่างของ กลุ่มเครือญาติย่อย "เติ๋นตั้งบัว" บ้านใหม่ร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เดิมเป็นกลุ่มเครือญาติย่อยเดียวกับ "เติ๋นตั้งงะ" อยู่ในสายที่มีความจำไม่ดี ทำพิธีขาดๆ เกินๆ อยู่บ่อยๆ เมื่อถูกตำหนิเป็นประจำก็แยกออกมาตั้งกลุ่มเครือญาติย่อยใหม่ บางคนในกลุ่มมีภูมิปัญญาสูงมากแต่มักเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย นอกจากนี้เย้ากลุ่มอื่นมักมองว่าคนแซ่เติ๋นมีผู้เสพฝิ่นหรือเป็น "ขี้ยา" มากที่สุด หรือกรณีของกลุ่มเครือญาติ "ล่งต๊ะเจอว" มีเรื่องเล่าว่า เมื่อมีการอพยพไปอยู่หมู่บ้านอื่น ขาดการติดต่อกับกลุ่มเครือญาติย่อยเดิมและหลงลืมนำหลักฐานที่บันทึกเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ทำให้เกิดความสับสนที่จะดำเนินตามวิถีชีวิตแบบเย้า (หน้า 42,44,48)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

อาหารของเย้า - อาหารของเย้าส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากคนจีน ประยุกต์จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเผ่า เช่น วิธีการหุงต้มข้าว (เจ้ซอวหาง) การนึ่งข้าว (จางหาง) มีการย้อมสีข้าวให้สีสวยมีกลิ่นหอม เช่น ใช้ดอกคำฝอย เป็นต้น เมื่อนับจำนวนชนิดหรือประเภทของอาหารแล้วจะพบว่ามีชนิดของอาหารมากกว่าชาวเขาเผ่าอื่นๆ - อาหารของเย้าประกอบด้วย อาหารประเภทย่าง-ปิ้ง (จิ้ซ) ประเภททอด (จิน) ประเภทลาบ-หลู้ (เซน,เซิน) ประเภทต้ม (เจ้ซอว) ประเภทหลาม (โอ๊บ) ประเภทนึ่ง (จซาง) ประเภทผัด (ชาว หรือ ช้าว) ประเภทตุ๋น (เวิ่น) ประเภทเจ (เจซย) ประเภทลวก (ฮลุ) อาหารสำหรับสตรีคลอดบุตร น้ำพริก (ฟั่นจิวจง,ฟั่นจิวซุย) ประเภทหมก (บั้ว) ขนม (ยั้ว) นอกจากนี้ยังมีพืชปรุงรสที่ได้จากป่ารอบหมู่บ้าน เช่น "บ่าแข่น" (ภาษาเหนือ) "เหลาะตอง" (ภาษาเย้า) คือ พริกหวาน เครื่องปรุงรสกลิ่นหอมหรือ เครื่องหอมเรียก "กะนาดาง" (กะนายดาง, กะน่ายดาง) อาหารบางอย่างก็ห้ามใส่หอม (ชง) กับกุยช่ายใบกลม (ฟามมุ่ยจิซว หรือ จิ๋ซว) ร่วมกันเพราะแสลงต่อกัน อาหารที่เลียนแบบจากตระกูลไต เช่น อาหารประเภทลาบ หรือการหลามอาหารแบบขมุ อาหารบางอย่างปรุงจากเนื้อสัตว์ป่า สัตว์ปีก แมลง สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือพืชบางชนิดซึ่งหาได้จากป่า เช่น ใบของต้นชุน นำมาดองเรียก "ชุนซุย" ตาวแกง (ตัวหนอนของต้นตาว) นกกระทาป่า (เหนาะเกจี้ย) นิยมนำมาประกอบอาหารในเดือน 7 บี (บะ) แหย่แกง (ตัวหนอนไม้ไผ่) เหนาะกงุแมง (นกเขาเขียว) เหนาะกงุ ก๋งาย (นกเขาเล็ก) มะก๊อกแกง (ตัวหนอนต้นมะกอก) เจื้อนเต๊าแกง (ตัวหนอนต้นบ่าฮอ) นอกจากนี้ยังล่าสัตว์มาเป็นอาหาร เช่น หมูป่า อีเห็น เลียงผา กระต่าย กวาง อีเก้ง อ้น ตุ่น ตะพาบน้ำ เป็นต้น(หน้า 372,383-385,388,425-426) การนับวันเวลา อาจกล่าวได้ว่า เย้าเป็นเพียงชนเผ่าเดียวในไทยที่ยังคงใช้ระบบการนับวันเวลาหรือ "เทียนกานตี้จือ" ("ลำต้นฟ้ากิ่งก้านดิน" เรียกย่อๆ ว่า "กานจือ") รับมาจากจีนสมบูรณ์แบบที่สุดมาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเปรียบเทียบกับเผ่าอื่น อาจเนื่องจากเย้าได้รับเอาตัวอักษรจีนมาใช้เขียนในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ชาวเขาเผ่าอื่นไม่มีอักษรเขียนเป็นของตนเองหรือหยิบยืมอักษรเขียนมาใช้ มีเพียงความทรงจำในการถ่ายทอดสืบต่อกันเท่านั้น คนไทยทางเหนือหรือ "คนเมือง" รวมถึงในสังคมชนบทที่ห่างไกลเคยใช้ระบบเทียนกานตี้จือในชีวิตประจำวัน มายกเลิกเอาเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงผู้สูงอายุที่รู้จักการนับตามระบบนี้ ส่วนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบางจังหวัด ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคนเมืองก็ยังคงใช้ระบบการลำดับวันและปีนี้อยู่ (หน้าคำนำ, 125-130) จากเอกสารโบราณพบว่า ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง เย้าก็มีการใช้ระบบเทียนกานตี้จือยู่แล้ว จากตารางเทียบเสียงระบุได้ว่า การออกเสียงคล้ายคลึงกับคนจีนกวางตุ้ง จารึกของเย้า ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เย้ารับระบบนี้ไปใช้หลังอพยพสู่มณฑลกวางตุ้งแล้ว (ตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15) หนึ่งรอบของเทียนกานตี้จือมี 60 ลำดับเช่นเดียวกับจีน เย้าเรียก "หลัวะเจียบจับจ๊าง" ผสมเทียนกาน 10 ลำดับ กับตี้จือ 12 ลำดับ นับทวนเทียนกาน 6 ครั้ง และ ตี้จือ 5 ครั้งครบหนึ่งรอบ 60 ลำดับ (128-133) ระบบการนับปี เย้าเรียกปีว่า เหียง = เหีย + หัง ใช้ระบบการนับรอบปีตามปีนักษัตร เช่นเดียวกับจีน ใช้ตัวอักษรจีนเหมือนกัน แต่ออกเสียงเป็นสำเนียงเย้า การลำดับเรียก ชื่อปีนิยมเรียกตามนักษัตร (ศักราช) มากกว่าเรียกตามชื่อสัตว์สัญลักษณ์ เย้าไม่มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับมังกร แต่จะใช้งูใหญ่แทน ส่วนคนเหนือหรือ "คนเมือง" ใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ของปีกุนแทนสุกร (หน้าคำนำ, 117 - 120, 125) ระบบการนับเดือน เย้าเรียกเดือนว่า "หะล๋า" ออกเสียง "หลา" ในรอบปีมี 12 เดือน การเรียกลำดับเดือนมีสองแบบ คือ แบบที่ใช้ลำดับตัวเลขมาตราหน่วย (1 -12) และแบบที่ใช้ระบบนักษัตรและสัตว์สัญลักษณ์ แต่แบบแรกได้รับความนิยมมากกว่า การเรียกตามระบบนักษัครใช้กันน้อยมากเฉพาะในหมู่หมอดู หรือผู้ประกอบพิธีกรรม ตามปกติ เย้าลอกเลียนระบบจันทรคติแบบจีนมาใช้ในการนับรอบเดือน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการนับ บางปีต้องเติมเดือนพิเศษอีก 1 เดือนเรียก "ปีอธิกมาส" ส่วนเดือนพิเศษเรียก "เดือนหยุ่นหะล๋า" (หน้า 120-122) ระบบการนับวัน เย้าเรียกวันว่า "ฮหอย" ใช้ระบบจันทรคติแบบจีน ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างระบบจันทรคติแบบจีนและแบบไทย (เฉพาะในวันข้างแรม) ทำให้วันเริ่มต้นเดือนของเย้าและของไทยไม่ตรงกันบางเดือน นอกจากนี้ ยังนับตามลำดับเลขคณิตคือวันที่ 1 ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงวันสุดท้ายของเดือน การเรียกชื่อวันใช้ว่า "แซ่ง" ยึดถือระบบการนับแบบจีน (หน้า 122 - 124) ระบบการนับยาม เย้ายังรับการแบ่งยามแบบจีนหรือ "เจี้ยงโห่ว" มาใช้ โดยแบ่งออกเป็น 12 ยาม ยามละ 2 ชั่วโมง ระบบยามมีความสำคัญต่อการประกอบพิธีกรรมเช่น "พิธีโต่วไซ" หรือใช้ในการพยากรณ์ นอกจากนี้ ยังมีวันกรรมเป็นวันหยุดประกอบกิจกรรมทางการเกษตรตามคติความเชื่อเรียกว่า "วันกรรม" (หน้าคำนำ, 124)

Map/Illustration

ภาพแผนที่ 1 แสดงการกระจายตัวของเย้าตามสร้อยของแซ่สกุลเย้าประเทศไทย (หน้า 28) ภาพแผนที่ 2 แสดงการกระจายตัวของเย้าในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนปัจจุบัน (หน้า 29) ภาพแผนผังลำดับชั้นรุ่น/แซ่ต่าง ๆ (หน้า 93-106) ภาพเครื่องดนตรีเย้า ภาพที่ 1: เคอวขิ่น หรือ จิ๊งหน่อง ภาพที่ 2: ต้านป้า + หงาดงิ่น หรือ ซึง + ซอ (เครื่องดนตรีอเนกประสงค์) ภาพที่ 3: โย๋ หรือ กลอง ภาพที่ 4: เบาะกงง (ด้งเบ๊าะกงง) ภาพที่ 5: เห่าล่อ ภาพที่ 6: ด้งโย๋ ภาพที่ 7: จอง หรือ เขาควาย ภาพที่ 8: เฮ่าดุ้งหนู หรือ ขลุ่ย ภาพที่ 9: หยัด หรือ ปี่ ภาพที่ 10: เหนาะเกจี้ยด้ง ภาพที่ 11: เหนาะก๋อง ภาพที่ 12: ดัวเหนาะด้ง ที่ทำจากไม้ไผ่ ภาพที่ 13: ดัวเหนาะด้ง ที่ทำจากน้ำเต้า ภาพที่ 14: ส่าว ที่ทำจากรังดักแด้ ภาพที่ 15: ภาพแสดงเครื่องมือหีบอ้อยของเย้า ตารางที่ 1 การเรียกชื่อตนเองของเย้าในประเทศจีน (หน้า 2-6) ตารางที่ 2 การเรียกชื่อเย้าโดยคนจีนมณฑลต่าง ๆ (หน้า 4-6) ตารางที่ 3 ภาษาพูดเย้าในประเทศจีน (หน้า 7-8) ตารางที่ 4 รายชื่อแซ่สกุลของเย้าในจีน (หน้า 14) ตารางที่ 5 ความแตกต่างของชื่อเอียม และชื่อจุ๋นของเย้าในไทย (หน้า 21-23) ตารางที่ 6 ปีนักษัตรของเย้า (หน้า 118) ตารางที่ 7 ปีนักษัตรของจีน (หน้า 119) ตารางที่ 8 ลำดับเดือนทางโหราศาสตร์จีน ลำดับตามจันทรคติไทยและจีน ลำดับชื่อเรียก/สำเนียง (หน้า 121,122,123,124,125,126,128,129-130,131-133) พันธุ์พืช-พืชสมุนไพร ตารางที่ 1 รายชื่อพันธุ์พืชที่เย้าปลูกในการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา (หน้า 183-195) ตารางที่ 2 การใช้ประโยชน์พืชในการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาของเย้า (หน้า205-216) ตารางที่ 3 ตารางแสดงการใช้เครื่องดนตรีในพิธีกรรมของเย้า (หน้า 275-277) ตารางที่ 1 รายชื่อพืชสมุนไพรในการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา (หน้า 308-312) ตารางที่ 2 รายชื่อพืชสมุนไพรของเย้าและสรรพคุณ (หน้า 338-343) ตารางที่ 1 รายชื่อพืชที่ใช้ผสมหรือทดแทนข้าว (หน้า 373-374) คารางที่ 2 รายชื่อพืชตระกูลถั่วที่เย้าปลูกในไร่ข้าว ไร่ข้าวโพดและไร่ฝิ่น(หน้า 375-377) ตารางที่ 3 รายชื่อพืชผักสวนครัวที่เย้าปลูก (หน้า 378-381) ตารางที่ 4 รายชื่อพืชปรุงรสที่เย้าปลูก (หน้า 385-388)

Text Analyst เสาวนีย์ ศรีทับทิม Date of Report 18 ส.ค. 2557
TAG เย้า, เครือญาติ, กลุ่มตระกูล, การนับเวลา, การเกษตร, ดนตรี, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง