สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้งขาว,อำนาจอธิปไตย,การต่อสู้,เชียงใหม่
Author Tapp, Nicholas
Title Sovereignty and Rebellion : The White Hmong of Northern Thailand
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ม้ง, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 197 Year 2532
Source Oxford University Press พิมพ์ที่ Malaysia โดย Peter Chong Pointers Sdn. Bhd.
Abstract

หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความคิดอำนาจอธิปไตยและการต่อสู้ของม้งขาวในประเทศไทยจากตำนานเรื่องเล่าของม้ง โดยเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโลกแห่งความเป็นไปได้กับโลกแห่งการกระทำ สถานการณ์การกระทำในหมู่บ้านถูกกำหนดในรูปของขั้วความขัดแย้งที่เป็นทางเลือกระหว่างระบบเศรษฐกิจผสมกับระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ปลูกฝิ่น ระหว่างความจงรักภักดีต่อรัฐไทยกับการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และระหว่างการยอมรับนับถือพุทธศาสนากับคริสตศาสนา และแม้ว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะไม่ได้มีความสำคัญระดับเดียวกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็มีลักษณะหนึ่งร่วมกัน การเลือกและความขัดแย้งของม้งก็มีรากเหง้าอยู่ในเงื่อนไข/สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ และการแก้ความขัดแย้งของม้งก็อ้างธรรมเนียมประเพณีในอดีต ซึ่งแสดงจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ (น.195) Tapp สรุปว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ของม้ง ม้งสร้างการใช้ขั้วตรงกันข้าม (oppositions) เพื่อกำหนดลักษณะความแตกต่างของตนออกจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นและกำหนดอัตลักษณ์ของตน แต่ในช่วงที่สร้างความแตกต่างตรงกันข้ามนั้น ขั้วตรงกันข้ามเดียวกันนี้(เช่น รูปแบบการทำไร่เลื่อนลอยกับการทำไร่ถาวร หรือการมีจักรพรรดิกับไม่มีจักรพรรดิ) ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งภายในกลุ่มของสังคมม้ง (the categories of Hmong society) ด้วย ทำให้สังคมม้งเองก็มีความขัดแย้ง (น.196-197)

Focus

ศึกษาความคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและการต่อสู้ของม้งขาว โดยศึกษาจากระบบภูมิพยากรณ์หรือฮวงจุ้ย (geomancy) ความเชื่อเรื่องผู้มีบุญ (messianism) และความรู้หนังสือ (literacy) โดย Tapp วิเคราะห์ประเด็นทั้งสามนี้จากตำนานเรื่องเล่า (legend)ของม้ง ซึ่งถูกมองว่าสะท้อนสังคมม้งซึ่งอยู่ในระบบความคิดของม้ง และเชื่อมโยงตำนานเรื่องเล่าเข้ากับการจัดระเบียบเศรษฐกิจ-สังคมและวัฒนธรรมม้ง (น.3) ในการศึกษา Tapp ได้เลือกบ้าน Nomya เป็นพื้นที่ศึกษาภาคสนามด้วยเหตุผล 3 ประการคือ ประการที่หนึ่ง หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ประการที่สอง มีการปลูกฝิ่นในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาสนใจ และประการสุดท้าย ในหมู่บ้านมีการติดต่อกับคริสเตียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบของการยอมรับนับถือคริสตศาสนาที่ Tapp สนใจ (น.5)

Theoretical Issues

ในการศึกษาวิเคราะห์นี้ Tapp ใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อเรื่อง (a 'textual' kind of analysis) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิด "literary criticism" โดยได้นำเอาแนวคิดเรื่อง "สภาวะการเป็น" (temporarity) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์สองสังคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความคิด Leach ในแง่ที่ให้เอาใจใส่พิจารณาระดับที่ 3 ของการวิเคราะห์ทางสังคม คือ "ความคิดและคำกล่าวของผู้กระทำการ(actors) ที่เกี่ยวกับตัวเองและสังคม แต่เขาได้พยายามหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของโครงสร้างนิยมโดยการที่เชื่อมโยงชนิดของความขัดแย้งที่เป็นแก่นเรื่องและระบบ (the kind of thematic and systemic oppositions) ที่เห็นได้ในตำนานเรื่องเล่าต่าง ๆ เข้ากับความขัดแย้งและขั้วตรงข้าม (opposition and contradiction) ที่ปรากฏในหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง (น.3) Tapp วิเคราะห์อดีตผ่านสายตาของม้ง ซึ่งเท่ากับว่าพิจารณาโลกแห่งศักยภาพ (the realm of the potential) มากกว่าโลกที่ได้เป็นมา (the 'has been') หรือมองโลกที่อาจจะเป็น (the 'might have been') มากกว่าโลกที่เคยเป็น (the 'was') Tapp นำประวัติศาสตร์เข้ามาสู่สนามแห่งการค้นคว้าศึกษา (the field of inquiry) โดยยึดหลักสำนึกทางประวัติศาสตร์ของผู้กระทำในกรอบทางเลือกที่พวกเขาได้เผชิญมา (น.195) Tapp ไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ในอดีตม้งมีจักรพรรดิ มีตัวหนังสือ และมีรัฐของตนเองหรือไม่ สิ่งที่เขาสนใจคือ ลักษณะเงื่อนไขของคำพูดที่ส่งผลต่อการกระทำของเขา ตัวอย่างเช่น ลักษณะคำพูดที่ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะสิ่งนั้น เราก็คงจะมีสิ่งนี้ ซึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์ที่ถูกจดจำไว้ (น.196)

Ethnic Group in the Focus

ม้งขาวในภาคเหนือของไทย (น.1,5)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาม้งจัดอยู่ในตระกูลภาษา Miao สาขาตะวันตก ซึ่งเป็นตระกูลย่อยตระกูลหนึ่งในตระกูลภาษา Miao-Yao ซึ่งนักภาษาศาสตร์บางท่านเรียกว่า ตระกูลภาษา Sino-Tibetan (น.20) ภาษาม้งมีเสียงวรรณยุกต์ 8 เสียง (น.20) ไม่มีตัวหนังสือใช้

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน แต่จากการอ้างข้อมูลภาคสนาม ระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในช่วง ค.ศ. 1981-1982 (พ.ศ. 2524-2525) (น.44,57,65,75,80,130,154,182)

History of the Group and Community

บ้าน Nomya ตั้งมา 25 ปีแล้วหลังจากที่ม้งอพยพมาจากบริเวณใกล้ชายแดนพม่า พี่น้องตระกูล Yaj เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือน ต่อมาหนุ่มม้งจากตระกูล Vaj ซึ่งได้แต่งงานกับลูกสาวคนหนึ่งของตระกูล Yaj ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านฝ่ายหญิง จึงมีคนตระกูล Vaj เข้ามาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น จากนั้นก็มีคนขมุแต่งงานกับลูกสาวในตระกูล Yaj อีกคนหนึ่งโดยย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านฝ่ายหญิง แต่ก็ไม่ได้มีขมุคนอื่นเข้ามาอยู่ที่บ้านนี้เพิ่มขึ้น ม้งตระกูลสุดท้ายที่ย้ายเข้ามาคือ ตระกูล Xyooj สาเหตุที่ย้ายมาก็เนื่องจากความเจ็บป่วยและโชคร้ายในหมู่บ้านเดิม (น.21)

Settlement Pattern

ลักษณะการสร้างบ้านของม้งจะสร้างติดพื้นดิน ไม่ยกพื้นสูง ฝาบ้านทำด้วยไม้ หลังคามุงด้วยใบสักหรือใบหญ้า (cogon grass) ครอบครัวที่มีฐานะดีอาจจะมุงหลังคาสังกะสี ขณะที่ครอบครัวยากจนอาจจะสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง จำนวนครัวเรือนในหมู่บ้านอยู่ระหว่าง 7-50 ครัวเรือน โดยจะปลูกบ้านเรียงกันเป็นรูปเกือกม้าและอยู่ต่ำกว่าสันเขา ซึ่งมีป่าบังและใกล้แหล่งน้ำโดยอาจจะใช้ไม้ไผ่ต่อน้ำจากภูเขาลงมายังหมู่บ้าน ใกล้ ๆ หมู่บ้านจะปลูกไม้ผลและสวนสมุนไพร ขณะที่บริเวณบ้าน จะสร้างคอกสัตว์และยุ้งฉางยกพื้นสูงสำหรับเก็บพืชผล (น.17) นอกจากนี้ ลักษณะบ้านที่อยู่อาศัยใน Nomya ยังแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ บ้านที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านกับที่พักอาศัยซึ่งสร้างหยาบ ๆ ในนา สำหรับพักค้างคืนช่วงสั้น ๆ หรืออยู่อาศัยระยะยาวในช่วงฤดูการเพาะปลูก (น.25)

Demography

Tapp กล่าวถึงสภาพทั่วไปของประชากรม้งว่า ม้งอพยพมาจากดินแดนบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีนทางแถบกุ้ยโจว เสฉวน ยูนนาน มาอยู่ที่ลาว และจากลาวเข้ามาในประเทศไทยหลัง ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2359) จำนวนประชากรม้งทั้งหมดที่กระจายอยู่ในประเทศไทยมีประมาณ 80,000 คน ม้งในประเทศไทยมี 2 กลุ่มใหญ่ (sub-ethnic group) คือ ม้งเขียว (Green Hmong)กับม้งขาว (White Hmong) ทั้งสองกลุ่มนี้มีธรรมเนียมประเพณี การแต่งกายและภาษาถิ่นต่างกันชัดเจน (น.17-18) ม้งจากลาวได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นหลังจากสงครามอินโดจีนสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) และรัฐบาลไทยก็ได้แยกม้งอพยพกลุ่มนี้ออกจากม้งกลุ่มเดิมที่เข้ามาในไทยก่อนหน้านั้น โดยมีสถานภาพเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงครามอยู่ในค่ายผู้อพยพ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ย้ายไปยังประเทศที่สาม เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย (น.19) สำหรับม้งบ้าน Nomya นั้น มีจำนวนครัวเรือน 27 ครัวเรือน ประกอบด้วย ครู Mien (เย้า) หนึ่งครัวเรือน ครอบครัวคนขมุที่แต่งงานกับลูกสาวตระกูล Yaj หนึ่งครัวเรือน ที่เหลืออีก 25 ครัวเรือน เป็นม้งตระกูล Yaj ตระกูล Vaj และตระกูล Xyooj ในสามตระกูลนี้ ตระกูล Vaj มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด 92 คน รองลงมาคือ ตระกูล Xyooj 68 คนและ ตระกูล Yaj น้อยที่สุด 47 คน (น. 21,24)

Economy

ลักษณะเศรษฐกิจทั่วไปเป็นเศรษฐกิจผสมผสานที่อิงอยู่กับการปลูกข้าวไร่เป็นอาหารหลัก ปลูกข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ หมู ไก่ ปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากนั้นก็ปลูกข้าวฟ่าง ถั่ว งา พืชหัวใต้ดิน พืชให้เส้นใยสำหรับทอผ้า และไม้ผลบางชนิด รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกของม้งเป็นแบบการทำไร่เลื่อนลอย เมื่อพื้นดินเริ่มหมดความอุดมสมบูรณ์ก็จะถางเผาที่ดินแห่งใหม่เพื่อเพาะปลูก (น.16,17,59) ในบทที่ 2 Tapp เน้นสภาวะความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ม้งเผชิญในบริบทสังคมไทยระหว่างการทำไร่เลื่อนลอยแบบถางเผา และปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นระบบดั้งเดิม กับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ไม่ใช่ฝิ่นบนแปลงเพาะปลูกถาวร Tapp เห็นว่า สภาวะความขัดแย้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลออกกฎหมายฝิ่นในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) และเริ่มโครงการพัฒนาชาวเขาในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ.1959) โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ (น.31) คือ 1.เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและแหล่งทรัพยากรต้นน้ำลำธาร 2.เพื่อให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น 3.เพื่อพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ดี 4.เพื่อให้ชาวเขารู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศชาติ Tapp ชี้ให้เห็นว่า โครงการพัฒนาที่ดำเนินโดยกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ โครงการนิคมชาวเขา โครงการหน่วยพัฒนาชาวเขาเคลื่อนที่ โครงการศูนย์วิจัยชาวเขาและโครงการธรรมจาริก รวมทั้งโครงการพัฒนาของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวเขาได้ ซึ่งส่งผลให้ป้องกันการทำลายป่าและการปลูกฝิ่น และทำให้ติดตามการเคลื่อนย้ายใดๆ ที่อาจจะมีผลต่อการเมืองและความมั่นคงปลอดภัยของชาติได้ และ Tapp ได้กล่าวถึงผลกระทบของการพัฒนาต่อม้ง 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก โครงการพัฒนาของรัฐพุ่งเป้าไปที่ม้งเนื่องจากม้งเป็นผู้ปลูกฝิ่นรายสำคัญ (น.64) ซึ่งในสังคมม้ง ฝิ่นเป็นพืชที่มีความสำคัญไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ฝิ่นยังมีความหมายด้านอื่นด้วย ฝิ่นเป็นเครื่องหมายแห่งความร่ำรวย ม้งใช้ฝิ่นแลกเปลี่ยนเงิน (silver) สำหรับใช้ประดับร่างกายและหมั้นเจ้าสาว และยังใช้ฝิ่นรักษาโรคด้วย (น.66) ดังนั้น การเผาไร่ฝิ่นจึงถูกต่อต้านจากม้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์การเผาไร่ฝิ่นที่ดอยชมภู จังหวัดเชียงรายก่อให้เกิดการต่อต้านจากม้งกระจายไปทั่วในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือช่วง พ.ศ.2510-2511 (ค.ศ.1967-1968) ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน (น.35 -36) ประเด็นที่สอง โครงการสอนหนังสือภาษาไทยให้แก่เด็ก ๆ ชาวเขาด้วยการตั้งโรงเรียนการศึกษานอกระบบ (non-formal education) แม้ในระบบนี้จะไม่บังคับนักเรียนให้เข้าชั้นเรียน แต่ก็ถูกชักชวนแกมบังคับ และชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กมาโรงเรียน เพราะโรงเรียนได้แยกเด็ก ๆ ออกไปจากไร่นาในขณะที่พ่อแม่ต้องการให้เด็ก ๆ ช่วยเหลืองานในไร่นาช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และก็ดึงเด็ก ๆ ออกไปจากการเล่นที่เป็นประเพณีของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังเห็นว่า โรงเรียนเป็นวิธีที่ทำให้คนภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านของพวกเขา ส่วนทัศนะของ Tapp นั้นเห็นว่าโรงเรียนตั้งขึ้นมาก็เพื่อสร้างความรู้เป็นไทยในหมู่เด็ก ๆ มากกว่ามุ่งหวังทางด้านการศึกษา (น.37) ประเด็นที่สาม โครงการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งทดลองและส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น เช่น แครอท บร็อคคอรี่ พีช เป็นต้น ชาวบ้านที่ปลูกพืชเหล่านี้ประสบกับปัญหาด้านการตลาดรองรับผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ไม่มีผู้ซื้อพืชผลเหล่านี้ หรือไม่ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งนำผลผลิตไปขาย รวมทั้งขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ (น.40-43)

Social Organization

ม้งแบ่งกลุ่มตามสายตระกูลบรรพบุรุษข้างพ่อ ซึ่งเรียกว่า "xeem" ในภาษาม้ง (น.19) และระบบสายตระกูลเป็นกรอบความคิดที่สำคัญในการกำหนดหลักการกระทำระหว่างกันทางสังคม

Political Organization

ตระกูลที่มีอำนาจทางการเมืองในบ้าน Nomya คือ ตระกูล Vaj กับตระกูล Yaj แม้ตระกูล Yaj จะมีจำนวนประชากรน้อยแต่ก็เป็นตระกูลที่ก่อตั้งหมู่บ้าน ขณะที่ตระกูล Vaj เข้ามาเป็นเขยของตระกูล Yaj และมีจำนวนประชากรมาก ทั้งสองตระกูลแม้จะร่วมมือกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันกัน ตระกูล Xyooj ไม่มีอำนาจเนื่องจากอพยพเข้ามาภายหลังสุด (น.21) ในบทที่ 3 Tapp แสดงให้เห็นลักษณะการเมืองม้งในบริบทสังคมใหญ่ โดยกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองในบริบทสังคมไทยช่วงสงครามเย็นที่ม้งเผชิญและต้องเลือกระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย Tapp เห็นว่าสภาวะขัดแย้งทางการเมืองที่ม้งเผชิญเป็นผลมาจากสภาวะขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลปฏิบัติการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจโดยการให้เลิกปลูกฝิ่นนั้น ทำให้ม้งจำนวนมากอพยพหนีเข้าไปในพื้นที่ควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (น.77) และ Tapp ก็เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพเข้าไปในเขตพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้แก่ 1.ความขัดแย้งเรื่องการปลูกฝิ่นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นกับม้งในช่วงต้นทศวรรษ 2500 (ต้นทศวรรษ 1960) ทำให้มีการติดต่อระหว่างม้งในประเทศไทยกับสมาชิกของขบวนการประเทศลาวในลาว (น.76) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายที่จังหวัดน่านในปี 2510 (1967) 2.ข่าวลือเรื่องการเกิดกษัตริย์ม้ง (Vaj or a Hmong 'king') หรือ จักรพรรดิ (Huab Tais) ว่า เกิดมาเพื่อช่วยม้งจากความทุกข์ยากและโชคร้าย ทุกคนจะเท่าเทียมกัน ไม่มีใครต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพอีกต่อไป จะมีข้าว มีเงิน (silver) และมีทองสำหรับทุกคน (น.78) และข่าวลือนี้ทำให้ม้งไปรวมกันที่ถ้ำแห่งหนึ่งในอำเภอ Theung จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ก่อการร้าย (น.76) Tapp แบ่งม้งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ห่างไกลและดำเนินชีวิตแบบยังชีพพึ่งตนเองซึ่งเป็นม้งส่วนมาก กลุ่มนี้จะมีความรู้สึกเป็นกลางกับรัฐไทย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นม้งที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจะมีความขัดแย้งกับรัฐบาล ดังนั้นพื้นที่ในเขตควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ จึงเป็นทางเลือกและเป็นที่กำบังภัยให้แก่พวกเขา นอกจากนั้น Tapp ยังเห็นว่า ในหมู่ม้งสภาวะทางการเมืองไม่ได้มีผลต่อการไปมาหาสู่ระหว่างพี่น้องม้งด้วยกัน เพราะในวัฒนธรรมม้ง ความจงรักภักดีต่อตระกูลมีความสำคัญอยู่เหนือและมาก่อนความผูกพันทางการเมือง ดังนั้น จึงยังมีการติดต่อเยี่ยมเยียนกันระหว่างม้งกับพี่น้องของเขาที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฯ อยู่

Belief System

ในการศึกษานี้ Tapp เน้นระบบความเชื่อเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งหรือฮวงจุ้ย (geomancy หรือ geomantic system) ม้งเชื่อว่าทำเลที่ฝังศพมีผลต่อคนในหมู่บ้านและลูกหลาน หลักการของฮวงจุ้ยคือ ภูเขาสองลูกที่ทอดต่อจากเทือกเขาหลักแสดงถึงลักษณะหญิงชาย ภูเขาฝั่ง "ซ้าย" ด้านทิศตะวันออกหมายถึง ผู้ชาย และฝั่ง "ขวา" ด้านทิศตะวันตกหมายถึงผู้หญิง ภูเขาที่เป็นตัวแทนผู้ชายต้องสูงกว่าภูเขาที่เป็นตัวแทนผู้หญิง เพราะจะทำให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ม้งเชื่อว่า เทือกเขาหลักเป็นเส้นเลือดมังกรหรือ "loojmem" ในภาษาม้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความอุดมสมบูรณ์ (น.151-153) ม้งมีตำนานเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันแย่งชิงกันเป็นจักรพรรดิ (Huab Tais) ของพี่สาวกับน้องชาย ในการแข่งขันกันนี้น้องชายเป็นผู้ชนะได้เป็นจักรพรรดิปกครองมังกรซึ่งTapp ชี้ให้เห็นว่าตำนานเรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นขั้วความตรงกันข้ามในระบบเครือญาติข้างพ่อ (น.154) ในบทที่ 4 Tapp อธิบายสภาวะปัญหาในการหันมายอมรับนับถือศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์ของม้ง แม้ม้งจะหันมายอมรับนับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ แต่ก็ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและโอกาสที่ดีกว่าทางสังคม เด็กหนุ่มม้งบวชเป็นเณรในศาสนาพุทธก็เพื่อเรียนภาษาไทย ขณะที่คณะมิชชันนารีก็ได้ให้โอกาสทางเลือกที่ดีกว่า โดยสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลและให้ทุนสนับสนุนการศึกษาแก่ม้ง Tapp เห็นว่าศาสนาคริสต์ได้รับการยอมรับมากกว่าพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการเผยแพร่ศาสนาพุทธในหมู่ชาวเขาเป็นโครงการพัฒนาโครงการหนึ่งเพื่อให้ชาวเขาผูกพันและจงรักภักดีต่อประเทศ ในทัศนะของม้ง ศาสนาพุทธจึงเป็นความคิดเชิงอุดมคติ (ideology) ของผู้มีอำนาจเหนือกว่า การหันมายอมรับพุทธศาสนาหมายถึงการถูกกลืนเข้าไปในสังคมไทย ขณะที่การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ม้งมีความเป็นมายาวนานและได้การยอมรับในระดับหนึ่ง การยอมรับนับถือศาสนาคริสต์สำหรับม้งแล้วจึงเป็นทางเลือกที่ม้งจะยังรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนไว้ได้โดยไม่ต้องถูกกลืนกลาย(assimilated) เข้าไปในอัตลักษณ์ไทย ยิ่งไปกว่านั้น การยอมรับนับถือศาสนาคริสต์ยังเพิ่มความห่างเหินทางความคิดระหว่างม้งกับรัฐไทยมากยิ่งขึ้น

Education and Socialization

ดูหัวข้อ Economy

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

Tapp กล่าวถึงตำนานเรื่องเล่าของม้งหลายสำนวน ทุกสำนวนมีใจความหลักร่วมกันว่า ในอดีตนานมาแล้วม้งมีตัวหนังสือ มีจักรพรรดิปกครอง และมีแผ่นดินเป็นของตนเอง แต่ต่อมาม้งได้ทำตัวหนังสือหายไป จึงทำให้ม้งไม่รู้หนังสือ แล้วก็ทำให้ ไม่มีจักรพรรดิและไม่มีแผ่นดินของตนเอง

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

Tapp อธิบายว่า ในประวัติศาสตร์ของม้ง ม้งใช้ขั้วความขัดแย้งบางอย่างกำหนดลักษณะความแตกต่างของม้งจากสังคมอื่น และผลที่ตามมาก็คือ การนิยามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเองจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น แต่ในการทำเช่นนั้น ทำให้ม้งยอมรับความตรงข้ามและขัดแย้งดังกล่าว (เช่น ระหว่างการทำไร่เลื่อนลอยและถาวร) เข้ามาอยู่ภายในความคิดของสังคมม้งจนถึงระดับที่ว่า สังคมม้งได้บรรจุความขัดแย้งเหล่านี้ซึ่งเคยถูกใช้แสดงความแตกต่างจากสังคมโดยรอบจนกลายเป็นว่า อัตลักษณ์กลายเป็นความแตกต่าง และอัตลักษณ์ที่แตกต่าง หมายความว่า คำต่าง ๆ ที่ม้งจะใช้แยกตัวเองได้จากสังคมอื่น คือ คำและสัญลักษณ์ที่ใช้โดยสังคมต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ในแง่ที่ว่าสัญลักษณ์ที่เดิมใช้เพื่อความแตกต่างกลายเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ กระบวนการนี้เป็นกระบวนการวิภาษ บนพื้นฐานที่ว่า ยิ่งเราพูดว่าเราไม่เหมือนพวกเขาเท่าใด เราต้องนิยามตัวเราเองในกรอบของพวกเขามากเท่านั้น ซึ่งจะสะท้อนในเรื่องเล่าหรือตำนาน อย่างเช่น คำที่ม้งถูกบังคับให้แยกตัวเองจากคนอื่นก็เป็นภาษาจีน ซึ่งปรากฏในตำนาน Tsowb Tchoj (น.196-197)

Social Cultural and Identity Change

Tapp ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงโดยตรง แต่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งหรือการปะทะกันทางวัฒนธรรมสังคมของม้งกับสังคมอื่น โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย โดยมีรายละเอียดอยู่ในภาคที่สอง ซึ่งกล่าวถึงสภาพความขัดแย้ง (dilemma)ทางเศรษฐกิจ การเมืองและศาสนา

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ 1 : ภาคเหนือของไทย (หน้า 8) แผนที่ 2 : อินโดจีนตอนเหนือ:ภูมิภาคในฐานะส่วนรวมทั้งหมด (หน้า 12-13) แผนที่ 3 : โครงการพัฒนาที่สูงในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของไทย (หน้า 33) ตารางที่ 1 ประชากรม้งในประเทศไทย (หน้า 18) ตารางที่ 2 ราคาเฉลี่ยของฝิ่น (หน้า 31) ตารางที่ 3 พืชที่เพาะปลูกใน Nomya (หน้า 42) ตารางที่ 4 สัตว์เลี้ยงในครัวเรือน (หน้า 58) ตารางที่ 5 แหล่งภาษีของรัฐบาล (หน้า 60) ตารางที่ 6 การกระจายตัวของม้งในสหรัฐ (หน้า 60) แผนภูมิ 1 พื้นที่สำรวจ (หน้า 9) แผนภูมิ 2 พื้นที่สำรวจ (หน้า 10) แผนภูมิ 3 ที่ตั้งครัวเรือนของหมู่บ้าน (หน้า 22) แผนภูมิ 4 สาแหรกความสัมพันธ์เครือญาติกลุ่มหลักของหมู่บ้าน (หน้า 23) แผนภูมิ 5 สาแหรกกลุ่มกลุ่มเครือญาติครอบครัวของ Suav Yeeb (หน้า 108) แผนภูมิ 6 ที่ตั้งของที่ฝังศพในอุดมคติ (หน้า 152) รูปภาพ 1 หมู่บ้าน NomYa, รูปภาพ 2 เครื่องโม่ข้าวโพด, รูปภาพ 3 การขนไม้, รูปภาพ 4 พื้นที่ไร่ตัดต้นไม้แล้วเผาที่ถางใหม่ใกล้หมู่บ้าน, รูปภาพ 5 เก็บสมุนไพรนอกหมู่บ้าน, รูปภาพ 6 ภายในบ้านม้ง, รูปภาพ 7 หญิงม้งอุ้มลูก, รูปภาพ 8 ที่ต้องห้ามภายนอกบ้านป้องกันคนแปลกหน้าเข้าไปในบ้านหลังมีเด็กเกิดใหม่, รูปภาพ 9 ชายม้งนั่งพัก, รูปภาพ 10 หิ้วน้ำ, รูปภาพ 11 การแต่งตัวสำหรับงานปีใหม่, รูปภาพ 12 ชายหญิงเล่น Catch, รูปภาพ 13 โรงเรียนในหมู่บ้าน, รูปภาพ 14 ผู้เขียนกับผู้อาวุโสของหมู่บ้าน, รูปภาพ 15 ค้าขายในเชียงใหม่, รูปภาพ 16 ศาล The father of Hmong King, บ้านวินัย (Ban Vinai) (ไม่มีเลขหน้า)

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ม้งขาว, อำนาจอธิปไตย, การต่อสู้, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง