สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โส้ โซร ซี,การปรับเปลี่ยน,การฟ้อนผีหมอ,มุกดาหาร
Author ชาติชัย ฉายมงคล
Title การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอของชาวโส้ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โส้ โทรฺ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 82 Year 2543
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาไทยคดีศึกษา (กลุ่มมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

เป็นการศึกษาพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอและการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอของโส้อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร โดยศึกษาจากเอกสารและภาคสนาม กลุ่มตัวอย่างคือหมอเหยาและผู้รู้ นำเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์ ปรากฎผลดังนี้ พิธีกรรมการฟ้อนผีหมอของโส้ อ.ดงหลวง ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นพิธีกรรมที่ทำในเดือน 4 ของทุกๆ ปี ใช้เวลา 2 วันกับ 1 คืน เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีและเคารพต่อผีบรรพบุรุษ โส้เชื่อว่าหลังจากประกอบพิธีกรรมนี้แล้วจะทำให้โส้อยู่เย็นเป็นสุขพ้นจากอันตราย และยังเชื่อว่าเป็นการบูชาพญาแถนเพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำเกษตรในปีนั้นๆ จากการศึกษายังพบว่าพิธีกรรมเปลี่ยนไปจากอดีต ดังนี้ การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมด้านองค์ประกอบเพื่อความเหมาะสมและสะดวกในการจัดหา เช่น การเซ่นสรวงบูชามีการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ในการเซ่นสรวง วัสดุอุปกรณ์ที่เคยผลิตเองก็จัดซื้อตามท้องตลาดตามท้องสมัยนิยม เช่น ดอกรักจากที่เคยเก็บจากหัวไร่ปลายนาก็เปลี่ยนมาใช้ดอกพลาสติกแทน เหล้าขาวจากอดีตก็เปลี่ยนเป็นน้ำอัดลมและเหล้าขาวบ้างตามโอกาส การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมด้านขั้นตอน ยังคงเหมือนเดิม จะปรับเปลี่ยนเฉพาะองค์ประกอบด้านเครื่องแต่งกาย วัสดุอุปกรณ์ในการเซ่นสรวง การละเล่นพิธีกรรมในแต่ละขั้นตอน การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมด้านความเชื่อ ยังคงคติความเชื่อเหมือนเดิม แม้จะปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ ขั้นตอน วัสดุ แต่ก็ไม่ทำให้คติความเชื่อของโส้ต่อพิธีกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การปรับเปลี่ยนเพียงเพื่อความอยู่รอดของพิธีกรรมและการสืบทอดพิธีกรรมของโส้ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร (ดูบทคัดย่อ)

Focus

เพื่อศึกษาถึงการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอของโส้ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ศึกษาในงานชิ้นนี้คือกลุ่มชาติพันธุ์ "โส้" ใน อ.ดงหลวง โดยเฉพาะหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์โส้จำนวน 6 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองยาง บ้านหนองยางน้อย บ้านดงหลวง บ้านเปียด บ้านโสถ และบ้านโพนแดง (หน้า 4)

Language and Linguistic Affiliations

ใช้ภาษาตระกูลมอญ - เขมร คล้ายกุยหรือข่า (หน้า 9)

Study Period (Data Collection)

ระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 ถึงเดือนตุลาคม 2542 (หน้า 5)

History of the Group and Community

กลุ่มชาติพันธุ์โส้อพยพสู่ประเทศไทย 2 ครั้ง กระจายกันอยู่ทั่วไปบริเวณภาคอีสานและภาคตะวันออก เชื่อว่าการอพยพครั้งแรกเข้ามาตามคำทำนายและคำสั่งของแถนให้โยกย้ายที่อยู่ใหม่เพื่อความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ครั้งที่ 2 โส้อพยพมาในรัชกาลที่ 3 เป็นการอพยพเข้าไทยครั้งใหญ่โดยเข้ามาทาง จ.นครพนม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กองทัพไทยกวาดต้อนโส้จากเมืองตะโปนมา ซึ่งอพยพเข้ามาสู่เมืองรามราช เมืองกุสุมาลย์มณฑลและภาคตะวันออก ส่วนการอพยพเข้าสู่ จ.มุกดาหารนั้น เข้ามาก่อนพวกที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกับสงคราม ตามตำนานว่าเป็นคำสั่งของแถนโดยผู้ทรงเจ้าทรงผีของโส้เป็นผู้บอกว่าอีกไม่ช้าจะเกิดกลียุคบริเวณนี้ จึงให้พวกลูกหลานที่รักอิสระและความสงบให้อพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงมายังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่บริเวณที่มีหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในบริเวณนั้นด้วยและเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์โส้เจริญรุ่งเรืองสืบไปในอนาคต ผู้ที่เชื่อถือตามคำทำนายก็เดินทางมาตามคำบอกนั้น (หน้า 1) โส้ในภาคอีสานอยู่กระจายกันเป็นกลุ่มๆ เช่น ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อ.ท่าอุเทน อ.ปลาปาก อ.ศรีสงคราม อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อ.กุสุมาลย์ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร อ.กุฉินารายณ์ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และ อ.เมืองมุกดาหาร อ.ดอนตาล อ.คำชะฮี อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากบริเวณแถบภาคกลางของลาวในเขตการปกครองเมืองภูวดลสอางค์หรือภูวานากระเด้ง ในสมัยที่อาณาจักรไทยบริเวณนี้ประกอบด้วยเมืองพิณ เมืองนอง เมืองวัง-อ่างคำ และเมืองตะโปน หรือเมืองเซโปน โส้อาศัยในลาวเป็นกลุ่มเล็กๆจำนวน 5-20 ครอบครัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามหลังเขาและซอกเขา ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อมๆ (หน้า 9-10) โส้อพยพเข้าสู่ จ.มุกดาหารในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี 2359 ก่อนพวกที่ถูกกวาดต้อนมาอันเนื่องจากสงคราม โส้ที่อพยพมาส่วนใหญ่มาจากเมืองวัง-อ่างคำ เมืองตะโปนหรือเซโปน อพยพมาโดยการเดินเท้าแบบกลุ่มคาราวาน เดินข้ามริมน้ำโขงขึ้นฝั่งที่บ้านคำฝักแพว เดินเท้าตามลำห้วยชะโนดไปทางทิศตะวันตก เมื่อพบหนองน้ำและป่าสูงใหญ่ที่มีพืชพันธุ์ไม้สมบูรณ์จึงพากันตั้งรกรากบ้านเรือนบริเวณนั้นประมาณ 10-12 ครอบครัว และมีกลุ่มหนึ่งเดินทางต่อเพื่อต้องการอยู่บนป่าเขาโดยติดตามหลวงวาโนพบหนองน้ำใหญ่ที่ถูกต้องตามตำนานโส้ จึงตั้งชื่อหนองน้ำนี้ว่า "หนองฮก" หรือ "หนองฮะ" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่ของชุมชนในปัจจุบัน (หน้า 11-12)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ตำบลดงหลวงมีประชากร 4,595 คน ชาย 2,301 คน หญิง 2,294 คน (หน้า 12) ตำบลคำชะโนดน้อย มีประชากรรวม 4,906 คน ชาย 2,397 คน หญิง 2,509 คน (หน้า 13)

Economy

โส้มีอาชีพทำไร่ ทำสวน อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก เป็นสังคมการเกษตรแบบไม่สลับซับซ้อน พืชส่วนใหญ่ที่ปลูกเป็นพืชผักต่างๆ เช่น พริก มะเขือ ผักต่างๆ ซึ่งปลูกยังชีพพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เป็นกลุ่มที่ชำนาญในการล่าสัตว์ (หน้า 10)

Social Organization

ไม่มีข้อมูล

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

โส้เชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีสางเทวดา เมื่อโส้คนใดคนหนึ่งทำผิดฮีตคลองแล้วก็เชื่อว่าผีนั้นต้องมาทำให้คนใดคนหนึ่งมีอาการเจ็บป่วยขึ้น ต้องไปหาหมอมารักษาซึ่งโส้เรียกว่า "หมอเหยา" มาประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยหรือทำพิธีกรรมเหยาขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้องพ้นจากอันตราย โส้ยังนับถือผี คือ วิญญาณผีบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่าคือวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วยังวนเวียนอยู่ในบ้านเรือนของโส้เพื่อดูแลลูกหลาน ทักท้วงเรื่องไม่ดีงาม เพื่อเป็นการระลึกถึงผีบรรพบุรุษ โส้ อ.ดงหลวง จึงประกอบพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษ ซึ่งจะช่วยทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ในปีนั้นๆ การฟ้อนผีหมอต้องทำติดต่อกันทุกปี ถ้าปีไหนไม่ประกอบพิธีกรรมจะทำให้สมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลาและพืชพันธุ์ธัญญาหารจะไม่อุดมสมบูรณ์ การประกอบพิธีกรรมฟ้อนผีหมอนี้จะทำในเดือน 4 ของทุกๆ ปี (หน้า 2) ในงานวิจัย ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ข้อมูลของพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอของโส้ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ออกเป็น 4 ประเด็นคือ 1)องค์ประกอบของพิธีกรรม 2)ขั้นตอนของพิธีกรรม 3)คติความเชื่อของพิธีกรรม 4)การปรับเปลี่ยนของพิธีกรรม องค์ประกอบพิธีกรรม มี 3 ส่วน คือ 1) การเซ่นสรวงบูชา 2) การกินเลี้ยง 3) การละเล่น ในการเซ่นสรวงบูชามีบุคคลที่เข้าร่วมพิธีกรรมคือ 1) หมอเหยาเจ้าของหิ้งผีที่เป็นเจ้าภาพ 2) หมอเหยาที่เชิญมาร่วมพิธีกรรม เป็นหมอที่ประกอบพิธีกรรมทุกขั้นตอน 3) หมอเหยาที่เชิญมาร่วมดูพิธีกรรมเท่านั้น 4) หมอแคนหรือหมอดนตรีอื่นๆ 5) ญาติพี่น้องของหมอเหยาและชาวบ้าน เพื่อมาช่วยดูแลเตรียมงานตลอด 2 วัน 1 คืน วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องคายที่ใช้ประกอบพิธีกรรมมีดังนี้ 1)วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องเล่นของผี ต้องทำใหม่ทุกชิ้นในตอนเช้าของวันทำพิธีกรรม มีดังนี้ หิ้งผี, แจกันดอกไม้, มาลัยดอกไม้สด, ช้างแกะสลัก, ม้า, เรือ, ไม้หลักเมือง, บุหรี่, หอตุ้มหอโฮง, กลองหรือฆ้อง, ฝ้ายตีกลองตีฆ้อง, ฝ้ายสำหรับคล้องช้าง, หน้าไม้, ไม้พายเรือ, โอ่งน้ำ, เหล้าขาว, กระด้ง, สวิง, ดาบ, แคน 2) วัสดุเครื่องคายที่ใช้ประกอบการฟ้อนผีหมอ จัดแต่งเหมือนกับเครื่องคายในพิธีเหยารักษาคนเจ็บป่วย มีวัสดุ เงิน 6 หรือ 12 บาท ข้าวสาร ไข่ไก่สุก 2 ฟอง ดอกไม้ เทียน ฝ้ายขาว เจ้าภาพต้องจัดหาวัสดุให้ครบจำนวนหมอเหยาที่ถูกเชิญมา สถานที่ประกอบพิธีกรรมจะจัดขึ้นบริเวณใกล้ๆบ้านเรือนของหมอเหยาเจ้าภาพ โดยจะสร้างตูบหรือปะรำ 1 หลัง ส่วนวันและเวลาประกอบพิธีกรรมจะทำกันในเดือน 4 ของทุกๆ ปี จะทำทุกๆ ปี หรือปีเว้นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว การกินเลี้ยง เหล้าเป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรมเซ่นสรวง โดยเฉพาะเหล้าขาว เพราะเชื่อว่า เหล้าเป็นเครื่องดื่มที่ผีบรรพบุรุษชอบและยังเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล้าทุกขวดที่ใช้ในพิธีกรรมหมอเหยาและผู้เข้าร่วมพิธีกรรมจะนำมาดื่มในการกินเลี้ยงเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวผู้เข้าร่วม รวมไปถึงอาหารคาวหวานด้วย โส้ถือว่าเป็นการรับเศษอาหารจากผีบรรพบุรุษ ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขปลอดภัยจากอันตราย การละเล่น โส้ให้ความสำคัญกับการละเล่นนี้มาก เพราะเชื่อว่าเป็นการรำลึกถึงผีบรรพบุรุษ แสดงความกตัญญูกตเวทีที่ช่วยปกป้องรักษาตนเองและครอบครัวให้ห่างจากอันตราย ขั้นตอนของพิธีกรรม มี 2 ช่วงคือ 1) ขั้นตอนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอในช่วงกลางคืน 2) ขั้นตอนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอในช่วงกลางวัน ขั้นตอนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอในช่วงกลางคืน ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ถึงเที่ยงคืน มี 11 ขั้นตอนคือ 1) การฟ้อนไหว้ครู 2) การฟ้อนเรียกเทวดามาสิงร่าง 3) การฟ้อนเล่นไม้ 2 อัน 4) การฟ้อนเล่นไม้ 1 อัน 5) การฟ้อนเล่นดอกไม้ 6) การฟ้อนเล่นหอโฮง 7) การฟ้อนตีกลอง 8) การฟ้อนเล่นปืนและธนู 9) การฟ้อนเล่นม้า 10) การฟ้อนเล่นเทียน 11) การฟ้อนเล่นมวย ขั้นตอนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอในช่วงกลางวัน ใช้เวลาประมาณ 5 ชม. เสร็จประมาณ 15.00 น. มี 10 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การไหว้ครู 2) การเหยาปัดรังควาน 3) การฟ้อนเล่นไม้ 2 อัน 4) การฟ้อนเล่นไม้ 1 อัน 5) การฟ้อนเล่นหอโฮง 6) การฟ้อนเล่นตีกลองตีฆ้อง 7) การฟ้อนเล่นปืนและธนู 8) การฟ้อนเล่นช้าง 9) การฟ้อนเล่นเรือ 10) การฟ้อนแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ คติความเชื่อของพิธีกรรม ความเชื่อของบุคคล หมอเหยาเป็นผู้หญิงทั้งหมด ส่วนมากอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป บุคคลที่จะเป็นหมอเหยาต้องถูกเลือกจากผีบรรพบุรุษ ผู้สืบทอดหมอเหยาต้องเป็นเครือญาติกลุ่มชาติพันธุ์โส้ ความเชื่อเกี่ยวกับวัสดุสิ่งของ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น เครื่องบูชา เครื่องเซ่น โดยเชื่อว่า ธูปและเทียนสามารถเป็นสื่อติดต่อระหว่างมนุษย์กับวิญญาณของผีบรรพบุรุษได้ ความเชื่อเกี่ยวกับวัน เวลา เหตุที่เลือกเอาเดือน 4 ของทุกปีเพื่อประกอบพิธีกรรม เพราะชาวบ้านและหมอเหยาเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษจะพอใจที่แม้ตนจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ลูกหลานยังคำนึงถึงจัดพิธีกรรมให้ทุกปี ความเชื่อเกี่ยวกับขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม มีความเชื่อเรื่องวิญญาณของบรรพบุรุษแฝงไว้ในองค์ประกอบและขั้นตอนของพิธีกรรมที่แสดงออกถึงการนับถือผีบรรพบุรุษตั้งแต่เกิดจนตาย (หน้า 24-78) การปรับเปลี่ยนพิธีกรรม (หน้า 60-78)

Education and Socialization

โส้ไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย (หน้า 10)

Health and Medicine

อาหารและยารักษาโรคส่วนใหญ่ได้จากป่าและแหล่งน้ำ (หน้า 10)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ตามตำนานของโส้กล่าวไว้ว่า โส้มีบรรพบุรุษที่กล้าหาญในการสู้รบและการเดินป่า ได้แก่ ขุนทั้งสาม คือ ปู่ลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ขุนทั้งสามมีความเก่งกล้าสามารถ โดยเคยขึ้นไปอยู่ที่เมืองแถนแต่ก็ต้องกลับมาอยู่ที่เมืองมนุษย์เนื่องจากไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังคำกล่าวว่า "อยู่เมืองแถน บ่แกน แล่นเมืองฟ้าบ่เป็น" จึงลงมาอยู่เมืองมนุษย์บริเวณนาน้อยอ้อยหนู โดยทำมาหาเลี้ยงชีพตามธรรมดาจนได้เกิดมวลมนุษย์จากผลไม้ที่เรียกว่า "น้ำเต้าปุ้ง" และได้กำเนิดมนุษย์เป็นไทยลอ ไทยเลิง และไทยกวาง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนไทย คนลาว ผู้ไทยและคนญวณในเวลาต่อมา ปัจจุบันโส้เชื่อว่าบรรพบุรุษของเขาเกิดจากน้ำเต้าปุ้งจริงและยังนับถืออยู่โดยเชื่อว่าข่าหรือโส้เป็นพี่คนโต ย้อเป็นพี่คนรอง ผู้ไทยและผู้ลาวเป็นน้องคนสุดท้อง (หน้า 10)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ที่อำเภอดงหลวงมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์โส้ร้อยละ 60 กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทยร้อยละ 25 กลุ่มชาติพันธุ์ข่าร้อยละ 10 และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ร้อยละ 5 (หน้า 12)

Social Cultural and Identity Change

ปัจจุบันความเชื่อในพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอได้ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ การประกอบวัสดุอุปกรณ์เปลี่ยนจากเหล้าขาวเป็นเบียร์หรือน้ำอัดลม ดอกรักของจริงเป็นดอกรักพลาสติกในบางครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมเปลี่ยนไป (หน้า 2, และดูรายละเอียดการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมได้ที่หน้า 60-78)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง เปรียบเทียบขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมช่วงกลางคืนและกลางวัน (หน้า 56) การปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรม (หน้า 64) การเปรียบเทียบการปรับเปลี่ยนพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอ (หน้า 77) ภาพประกอบ วัสดุอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรม (หน้า 28) เครื่องคายเหยาที่ใช้ประกอบพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอ (หน้า 29) ตูบหรือปะรำที่ใช้ประกอบพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอ (หน้า 30) การเสี่ยงดาบของง้าวหรือหมอเหยาบนถ้วยข้าวสาร (หน้า 34) หมอเหยากำลังฟ้อนเพื่อเรียกเทวดามาสิงร่างของตนเอง (หน้า 35) หมอเหยาทำพิธีคารวะหลักบ้านหรือผีปู่ตา (หน้า 36) หมอเหยาฟ้อนเล่นไม้ 2 อัน (หน้า 37) หมอเหยากำลังเล่นฟ้อนไม้ 1 อัน (หน้า 38) หมอเหยาฟ้อนเล่นดอกไม้เพื่อบูชาพญาแถน (หน้า 39) หมอเหยากับหอโฮงของบรรพบุรุษ (หน้า 40) หมอเหยานำกลองที่ทำจากไข่ปักไว้ที่เสาข้างตุ่มน้ำ (หน้า 41) เฒ่าจ้ำกับการฟ้อนเล่นปืนและธนูกำลังโยนดินปืนลงบนเทียนเกิดประกายไฟ (หน้า 42) หมอเหยาฟ้อนเล่นม้า (หน้า 43) หมอเหยากำลังแต่งตัวเพื่อออกเล่นในขั้นตอนการเล่นเทียน (หน้า 44) หมอเหยากำลังฟ้อนเล่นเทียน (หน้า 45) หมอเหยากำลังฟ้อนเล่นชกมวย (หน้า 46) หัวหน้าหมอเหยากำลังไหว้ครูในช่วงกลางวัน (หน้า 48) ผู้ศึกษาค้นคว้าเข้าร่วมพิธีกรรมปัดรังควาน (หน้า 49) หมอเหยาฟ้อนเล่นตีกลอง ตีฆ้อง ก่อนนำไปเก็บในตูบเหยา (หน้า 50) หมอเหยาฟ้อนเล่นปืนและธนูก่อนนำไปเก็บในตูบเหยา (หน้า 50) เครื่องคาวหวานที่นำมาเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ (หน้า 51) เฒ่าจ้ำกำลังคล้องช้างที่มาเล่นน้ำ (หน้า 52) เฒ่าจ้ำและหมอเหยากำลังเล่นคล้องเรือ (หน้า 53) หมอเหยาเล่นน้ำเพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ (หน้า 54) หมอเหยาเล่นช้อนปลาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ (หน้า 55) คนแก่ที่เข้าร่วมชมพิธีกรรม (หน้า 62) เด็กๆ ที่มาชมพิธีกรรม (หน้า 63) แคนดนตรีประกอบพิธีกรรมการฟ้อนผีหมอในอดีต (หน้า 67) เครื่องขยายเสียง ดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในปัจจุบัน (หน้า 68) การแต่งกายของหมอเหยาในปัจจุบัน (หน้า 71)

Text Analyst สิทธิพร จรดล Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG โส้ โซร ซี, การปรับเปลี่ยน, การฟ้อนผีหมอ, มุกดาหาร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง