สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เย้า,ประวัติ,วัฒนธรรม,โครงสร้างสังคม,การเมือง,วิถีการผลิต,นโยบายของรัฐ,ลำปาง
Author Tan Chee Beng
Title The Yao People : An Introduction, The Yao Village of Khun Haeng, A Yao Bridge Ceremony, The Yao Naming System, A Legendary History of the Origin of the Yao People
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity อิ้วเมี่ยน เมี่ยน, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 35 Year 2518
Source Farmer in the Hills : Upland Peoples of North Thailand, Anthony R. Walker (Editor) p.21-36,41-59, จัดพิมพ์โดย The School of Comparative Social Sciences, พิมพ์ที่ Universiti Sains Malaysia Press.
Abstract

มีเนื้อหาครอบคลุม วัฒนธรรม ความเชื่อ สังคม - เศรษฐกิจ - การเมือง โดยเน้นที่ความเชื่อทางศาสนา พิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีสร้างสะพาน ตำนานความเป็นมาของชาติพันธุ์ และระบบการตั้งชื่อของเย้า - เย้าเชื่อว่าโลกของวิญญาณและโลกที่มนุษย์อยู่มีปฏิสัมพันธ์กัน ในโลกของวิญญาณมีเทพผู้ปกครอง อยู่ 18 องค์ ผู้ปกครองโลกแห่งวิญญาณเป็นผู้ควบคุมดูแลการมีชีวิตอยู่และการตายของมนุษย์ จึงต้องเซ่นไหว้เพื่อชีวิตที่ดีหลังตาย เย้ายังเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และเจ้าที่ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของครอบครัวและปัดเป่าผีร้ายที่จะทำให้โชคร้ายและเจ็บป่วย - พิธีสร้างสะพาน เป็นพิธีกรรมสำคัญใช้บำบัดรักษาอาการป่วย ด้วยการเรียกขวัญของผู้ป่วย หรือเป็นพิธีกรรมสืบชะตายืดอายุให้ยืนยาว หรือทำให้โชคดีโดยขอให้หมอผี ทำพิธีขับไล่ผีร้ายและเชิญชวนผีดี ๆ เข้ามา - ระบบการตั้งชื่อของเย้า ชื่อผู้ชาย จะมีทั้งชื่อตอนเด็ก ชื่อเล่น ชื่อผู้ใหญ่ และชื่อแห่งวิญญาณ อายุ 6 ขวบจะตั้งชื่อผู้ใหญ่ อายุมากกว่า 12 ปีจะมีชื่อแห่งวิญญาณ ชื่อแห่งวิญญาณเป็นชื่อพิเศษศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุด ... หญิงเย้าจะไม่มีชื่อทางวิญญาณ หญิงเย้าไม่มีชื่อเฉพาะของตัวเอง อักษรตัวแรกเป็นชื่อสกุล ตัวที่สองบอกเพศ ตัวที่สามบอกลำดับการเกิด ตัวที่สี่เป็นตัวสุดท้ายของชื่อผู้ใหญ่ของพ่อ การตั้งชื่อผู้ชายและผู้หญิงแสดงถึงฐานะที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิง ชื่อผู้ชายสำคัญกว่าชื่อผู้หญิง เพราะการสืบทายาทผ่านทางฝ่ายชายและชื่อของลูก ๆ ต้องเอามาจากชื่อของพ่อ - ตำนานความเป็นมาของชาติพันธุ์เย้า จากบันทึกเกี่ยวกับตำนานกำเนิดของเย้าบอกว่า เย้าเกิดจากหมามังกร (dragon dog) ที่ชื่อ Pieun Hu โดย Pieun Hu รับอาสาพระจักรพรรดิ์ไปปราบศัตรูสำเร็จ จึงได้แต่งงานกับนางกำนัลของจักรพรรดิ์ และมีลูกด้วยกัน 12 คน ซึ่งเป็นที่มาของ 12 วงศ์ตระกูลเย้า ตำนานกำเนิดของเย้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษสุนัข

Focus

นำเสนอภาพรวมของวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อ สังคม และเศรษฐกิจ - การเมือง ของเย้าโดยเฉพาะเย้าบ้าน Khun Haeng อำเภองาว จังหวัดลำปาง

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

เย้าเรียกตัวเองว่า "เมี่ยน" (Mien) หรือ "Men" มีความหมายว่า "ผู้ชาย" ในภาษาเย้า ทางตอนเหนือของลาวเย้ามักถูกเรียกว่า "Man" ซึ่งแปลว่า "คนป่าเถื่อน" ในภาษาจีน แต่คำว่า "Man" ในภาษาจีนไม่ได้หมายถึงเฉพาะเย้าเท่านั้น (หน้า 21) เย้า ในประเทศไทยมักเรียกตัวเองว่า "เย้า" (Yao) Men หรือ "เมียน" (Mien or Iu Mien) คำว่าเย้าในภาษาจีนหมายถึง "ประเภทของสัตว์" (type of animal) หรือ "ชนเผ่าป่าเถื่อนทางใต้ที่อาศัยอยู่ในยูนนาน กวางตุ้ง และกวางสี" (หน้า 22)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาเย้ามีความสัมพันธ์กับภาษาม้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาจีน คำในภาษาเย้าจำนวนมากมีต้นกำเนิดมาจากภาษาจีน ภาษาเย้ามีเสียงวรรณยุกต์หลักอยู่ 5 หรือ 6 เสียง (tone) ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง เขียนโดยใช้อักษรจีน แต่ไม่ใช่เย้า ทุกคนที่อ่านหนังสือจีนออก คนที่อ่านภาษาจีนได้มักเป็นหมอผี (spirit doctors) และคนที่เรียนโดยเฉพาะ? หมอสอนศาสนา (Missionary) ประดิษฐ์ตัวหนังสือที่ใช้พื้นฐานอักษรโรมันและอักษรไทยให้เย้า แต่ไม่ได้ใช้กันกว้างขวาง อักษรจีนยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะในบริบททางศาสนา เช่น บทสวดในคัมภีร์ เป็นต้น (หน้า 22) เย้าบ้าน Khun Haeng ผู้ชายส่วนใหญ่เรียนพูดภาษาจีน บางคนก็เรียนอ่านและเขียนด้วย ผู้ชายส่วนใหญ่และผู้หญิงบางคนสามารถพูดไทยและภาษายูนนานได้ (หน้า35)

Study Period (Data Collection)

เมษายน - พฤษภาคม ค.ศ. 1973 (คณะวิจัยใช้เวลาในหมู่บ้านเย้า Khun Haeng 1 สัปดาห์)

History of the Group and Community

สามารถพบเย้าได้ในพม่า ลาว เวียดนามเหนือ และในจีน เย้าจะอยู่ร่วมกับม้งในมณฑล Weichow ของจีน เดิมเย้าเคยอาศัยอยู่จำนวนมากทางเหนือของจีน แต่ช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 13 จักรพรรดิ์ราชวงศ์สุง (Sung) ขับไล่เย้าไปทางใต้ นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถชี้ชัดถึงแหล่งกำเนิดของเย้า ดูเหมือนว่าเย้าเคลื่อนย้ายจากเสฉวน - Szechuan เหอหนาน - Hunan เกียงสี - Kiangsi และ Kweichow เข้าสู่กวางตุ้ง - Kwangtung กวางสี - Kwangsi และยูนนาน ต่อจากนั้นอพยพเข้าเวียดนาม ลาว ทางใต้ของรัฐฉานประเทศพม่า และทางเหนือของไทย เย้าส่วนใหญ่ในไทยมาจากลาวเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเชียงรายและน่าน มีเย้าจำนวนมากอยู่บริเวณชายแดนที่ติดกับลาวและพม่า โดยเฉพาะทางตะวันออกและเหนือของจังหวัดเชียงราย มีประมาณ 74 หมู่บ้านเย้าในประเทศไทย เฉลี่ยหมู่บ้านละ 15 ครัวเรือน ๆ ละ 8.5 คน (หน้า 21) บ้าน Khun Haeng แบ่งเป็น 3 พื้นที่ เป็นเย้าที่อพยพมาจากที่อื่นทั้งหมด - เย้าพื้นที่ A มาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ปี ค.ศ. 1968 ผลมาจากกิจกรรมของผู้ก่อการร้ายและการขาดที่ทำกิน แต่ก่อนที่จะมา ประชาชนกลุ่มนี้มีญาติอยู่ในอำเภองาว - เย้าพื้นที่ B มาจากอำเภอพง จังหวัดเชียงราย มาอยู่เมื่อสามปีก่อน ด้วยเหตุจากกิจกรรมของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่เดิมและมีญาติอยู่ที่ Khun Haeng แม้ว่าเย้าที่มาจากอำเภอพงจะมาทีหลังเย้าที่มาจากเพชรบูรณ์ 2 ปี แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงในบ้าน Khun Haeng ในปี ค.ศ. 1973 เย้ากลุ่มนี้ซื้อที่ดินจากคนพื้นราบภาคเหนือจำนวน 120 ไร่ในราคาไร่ละ 250 บาท - พื้นที่ C แยกออกจากพื้นที่ A และB ห่างกันประมาณ 200 เมตร เย้าพื้นที่นี้ย้ายมาจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงรายในปี ค.ศ.1969 เนื่องจากอำเภอเชียงคำเป็นที่ที่มีม้งก่อการร้ายจำนวนมาก (หน้า 33)

Settlement Pattern

เย้าไม่เหมือนลาหู่ อาข่า ลีซอ เย้าจะปลูกบ้านติดพื้นดิน ฝาเป็นฟากไม้ไผ่ หลังคามุงจาก (ภาพ หน้า 23) มีประตู 2 ประตู ประตูหน้าหันไปทางลงเขา มักใช้เป็นประตูสำหรับผีและใช้ทำพิธีกรรม เช่น งานแต่งงานคู่บ่าวสาวจะถูกส่งผ่านเข้าประตูหน้า และงานศพศพจะถูกนำออกผ่านประตูหน้า เป็นต้น เย้าจึงไม่ปลูกบ้านหันหน้าบ้านเข้าหากัน เพราะเกรงว่าผีของบ้านตรงข้าม จะมาเข้าหน้าบ้านตน (แผนผังหน้า 23) ภายในบ้านแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนในสุดเป็นห้องนอน ตรงกลางเป็นพื้นดิน มีโต๊ะผู้ชาย โต๊ะผู้หญิง ครัว เตาใหญ่สำหรับทำอาหารเลี้ยงหมู และแท่นบูชาอยู่ตรงข้ามประตูหน้า ห้องนอนของแขกอยู่ข้างประตูหน้า ฝั่งตรงข้ามเป็นที่เก็บน้ำ ยุ้งเก็บข้าวโพดอยู่ข้างห้องนอนด้านหลัง หน้าบ้านด้านนอกมีคอกเลี้ยงสัตว์ (หน้า 22-24) บ้าน Khun Haeng การไปทำไร่แต่ละครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายวัน จึงสร้างที่พักไว้ในไร่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่มบ้านที่ค่อนข้างจะถาวร (hamlet) ซึ่งประกอบด้วย บ้านที่ทำขึ้นอย่างแข็งแรงหลายหลัง และมียุ้งข้าว คอกหมู ฯลฯ (หน้า 36)

Demography

มีเย้าในจีน 740,000 คน (Moseley 1966) เวียดนามเหนือ 177,000 คน (NNCDT 1959) ลาว 5,000 คน (LeBar et. al. 1964) พม่า 120 คน (Beauclair 1958) และในไทยมี 16,119 คน (United Nations 1967) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายและน่าน มี 74 หมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 15 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 8.5 คน (หน้า 21) บ้าน Khun Haeng มี 62 ครอบครัว 442 คนกระจายอยู่ในบ้าน 31 หลัง (หน้า 33)

Economy

ในประเทศไทยเย้าถูกจัดว่ามีความสามารถในการหารายได้มากกว่าชาติพันธุ์อื่น ๆ เดิมรายได้หลักของเย้าคือการปลูกฝิ่น แต่เลิกปลูกฝิ่น เนื่องจากถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก ประกอบกับการคมนาคมสะดวกขึ้น สามารถนำพืชผลที่ปลูกไปขายได้ เย้าเพาะปลูกด้วยวิธีโค่นถางต้นไม้แล้วเผาและเคลื่อนย้ายไปเรื่อยตามจารีต ปลูกข้าวไร่เป็นหลัก และมีพืชเสริมอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด พริกไทย ฟักทอง แตงโม มันฝรั่ง ถั่วลิสง ยาสูบ ฝ้าย ฯลฯ เย้าที่อาศัยอยู่ต่ำลงมาจะปลูกข้าวนาดำ (wet rice) ถั่วเหลืองและถั่วลิสงกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเย้าที่อาศัยอยู่ที่ต่ำ เพราะอยู่ต่ำเกินกว่าจะปลูกฝิ่นให้ได้ผล มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ไก่ ควาย โดยเฉพาะหมู มีความสำคัญสำหรับใช้ในพิธีกรรมเซ่นไหว้วิญญาณ เย้าใช้ม้าแกลบสำหรับบรรทุกสินค้า ส่วนเย้าจำนวนหนึ่งมีร้านขายศิลปะ-หัตกรรมที่พื้นราบ (หน้า 27-28) บ้าน Khun Haeng มีเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น แต่ไม่ได้ปลูกฝิ่นในหมู่บ้าน เนื่องจากอยู่ต่ำเกินกว่าจะปลูกฝิ่นให้ได้ผล มีพริกเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ข้าวโพดใช้เลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่สามแห่งที่เย้าบ้าน Khun Haeng ไปหักล้างถางพงทำไร่คือที่ Huai Sanat, Huai Hok และ Huai Moh ไร่ที่ Huai Sanat เป็นของกลุ่มเย้าที่มาจากอำเภอพงและจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนที่ Huai Hok เป็นของกลุ่มเย้าที่มาจากอำเภอเชียงคำ สำหรับไร่ที่ Huai Moh ซึ่งอยู่ไกลที่สุดเป็นของกลุ่มเย้าบ้าน Khun Haeng ซึ่งใช้ร่วมกับเย้าบ้าน Mae King หากไร่อยู่ไกลมาก ๆ เย้าบ้าน Khun Haeng จำเป็นต้องอาศัยอยู่ที่ไร่หลายวันหรือบางครั้งเป็นสัปดาห์ จึงได้สร้างกลุ่มบ้าน (hamlet) ไว้ที่ไร่ จะมีบ้าน ยุ้งข้าว คอกหมู เป็นต้น มีร้านค้าของเย้าแห่งหนึ่งที่เมืองงาว สำหรับขายผลิตภัณฑ์ของเย้า (หน้า 36)

Social Organization

ครอบครัวเย้าเป็นครอบครัวขยาย ประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวหลาย ๆ ครอบครัวที่เกี่ยวข้องกัน พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ชายและหญิงไม่รับประทานอาหารร่วมโต๊ะกัน สังคมเย้าถูกแบ่งออกเป็นสายตระกูลและตระกูลย่อยทางพ่อ เมื่อหัวหน้าครอบครัวตายทรัพย์จะถูกแบ่งให้ลูกชายตามความช่วยเหลือที่ลูกชายแต่ละคนให้กับพ่อ การจัดการเป็นไปตามคำสั่งเสียสุดท้ายของผู้ตาย ส่วนที่เกินมามอบให้กับภรรยาผู้ซึ่งเป็นทายาทหลักที่แท้จริง และมักจะได้เป็นเจ้าของบ้าน การซื้อเด็กชาติพันธุ์อื่นมาเลี้ยงเป็นเรื่องปกติ มีรายงานว่าอย่างน้อยร้อยละ 10 ของประชากรเย้าในประเทศไทย ลาว และพม่าถูกซื้อมาจากชาติพันธุ์อื่นเช่น ม้ง อาข่า ลาหู่ จีน ลู (Lu) และทางเหนือของไทย ทั้งนี้ เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานและต้องการผู้สืบตระกูลของครอบครัวที่ไม่มีลูก แม้เย้าจะซื้อเด็กจากชาติพันธุ์อื่นมาเลี้ยงดูแต่จะไม่ขายเด็กเย้าให้แก่ชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่เย้า (หน้า 24) การแต่งงาน เย้าสามารถแต่งงานกันได้ในตระกูลหรือตระกูลย่อยเดียวกัน (no clan exogamy) จะมีข้อห้ามแต่งงานเฉพาะว่า เป็นลูกหลานในตระกูลที่สืบมาทางพ่อภายในสามรุ่นที่ใกล้กัน ลูกพี่ลูกน้องทางพ่อห้ามแต่งงานกันจนถึงรุ่นที่สอง (Second patrilateral cousin) แต่ลูกพี่ลูกน้องรุ่นที่สาม (third cousin) จะแต่งงานกันได้ กฏเกณฑ์นี้ไม่ได้ประยุกต์ใช้กับญาติที่สืบทายาททางแม่ (related matrilateral) ภายในสามรุ่น ดังนั้นลูกชายที่สืบตระกูลทางแม่สามารถแต่งงานกับลูกสาวของพี่สาวหรือน้องสาวของพ่อได้ (หน้า 48-49) เย้าไม่สนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน หากเด็กเกิดโดยพ่อแม่ไม่ได้แต่งงาน และผู้ชายไม่ยินดีแต่งงานกับฝ่ายหญิง สามารถจ่ายเป็นเงินค่าปรับให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงซึ่งต้องการเด็กไว้ การเลือกคู่แต่งงานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของปัจเจก แต่การยินยอมของพ่อแม่เป็นสิ่งจำเป็น ก่อนแต่งงานและก่อนการหมั้น จะมีการตรวจความสมพงษ์ของดวงชะตา หากดวงชะตาไม่สมพงษ์กัน จะแต่งงานกันไม่ได้ พิธีหมั้นหมายจะมีการเซ่นผีบรรพบุรุษ ฝ่ายชายจะมอบกำไลเงินให้บิดาฝ่ายหญิง เพื่อส่งต่อให้ผู้เป็นแม่ และแม่ส่งต่อให้ลูกสาว หากฝ่ายหญิงรับหมั้นก็จะรับกำไลไว้ หากปฏิเสธก็จะส่งกำไลคืน หลังการหมั้นจะมีการตกลงเรื่องสินสอดแต่งงาน การแต่งงานของเย้าโดยข้อเท็จจริงเป็นการต่อรองทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงถือเป็นแรงงานและมีลูกที่เป็นแรงงานได้ ฉะนั้นเงินสินสอดจึงต้องสูง ในงานแต่งงาน จะมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ประกาศการยอมรับคู่สามีภรรยาเป็นสมาชิกในครอบครัว และขอพรแก่คู่บ่าวสาว หากชายเย้าไม่สามารถจ่ายสินสอดไม่ว่าจะในรูปของเงินหรือสิ่งของ ฝ่ายชายจะต้องพำนักอยู่บ้านภรรยา และจ่ายหนี้โดยทำงานให้พ่อของภรรยา หรือสินสอดอาจถูกทดแทนโดยที่สามียอมยกลูกชายของตัวเองให้พ่อภรรยา ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งคนหรือมากกว่านั้น ลูกที่ยกให้พ่อภรรยาจะเป็นคนของตระกูลภรรยา หากชายเย้าเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้นแทนสินสอด เขาจะมีอิสระในการพาภรรยากลับไปอยู่ครัวเรือนพ่อแม่ของตน ?โดยทั่วไป เย้ามีระบบผัวเดียวเมียเดียว หลังแต่งงานจะอาศัยอยู่ในบ้านฝ่ายชาย แต่ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีเงินจัดงานแต่งงาน และพ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้จัดงานแต่งงานให้ ฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงอย่างถาวร และลูก ๆ จะเป็นผู้สืบสกุลของครอบครัวฝ่ายหญิง (หน้า 25) ระบบการตั้งชื่อของเย้า (The Yao Naming System) : นามสกุล (Surnames) สังคมเย้าสืบตระกูลทางพ่อ (patrilineal clans) และแต่ละวงศ์ตระกูลประกอบด้วยตระกูลย่อย (subclans) และแยกออกไปเป็นสายตระกูล (lineages) จำนวนมาก clans subclans และ lineages ไม่ได้เป็นลักษณะท้องถิ่นเฉพาะหมู่บ้านเดียว อาจพบสมาชิกตระกูลหนึ่งในหลายหมู่บ้าน แต่หมู่บ้านเย้าแห่งหนึ่งอาจประกอบด้วยสมาชิกของตระกูลเดียวหรือหลายตระกูล เย้าทุกคนที่มีนามสกุลเหมือนกันอาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นเครือญาติกัน เพราะว่าเย้าเชื่อว่าเป็นผู้สืบสายเลือดของบรรพบุรุษเดียวกัน คนที่อยู่ใน clan และ subclan เดียวกันจะถือว่าเป็นญาติใกล้ชิดกันมากกว่า ญาติพี่น้องทางตระกูลพ่อถือว่าใกล้ชิดที่สุด แต่ subclan หนึ่งๆ ไม่ใช่ lineage เพราะว่า ไม่สามารถตามร่องรอยการเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกทั้งหมดของ subclan เดียวกันได้ สมาชิกของ lineage เป็นกลุ่มหมู่คณะที่สามารถตามรอยลำดับสายตระกูลเชื่อมโยงกันได้ในหมู่ lineage กันเอง จากการวิจัยหมู่บ้านเย้า 2 แห่งของไทยคือ บ้าน Khun Haeng อำเภองาว จังหวัดลำปาง และบ้านผาแลในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พบว่า ชื่อวงศ์ตระกูลเย้าทั้งหมด (ยกเว้นเพียงกรณีเดียว) เหมือนกันกับชื่อนามสกุลจีน และเรียกชื่อนามสกุลด้วยอักษรจีน แต่ออกเสียงเป็นภาษาเย้า เย้าเชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจาก 12 วงศ์ตระกูล แต่จากการวิจัยพบว่า ในประเทศไทยมีเย้า 15 วงศ์ตระกูล ตัวอย่างเช่น 1.Pieun : นามสกุลนี้ถือว่าเป็นตระกูลแรกของเย้า เย้าเชื่อว่าสุนัขบรรพบุรุษเย้ามีนามสกุล Pieun ชื่อ Hu และ Pieun Hu ให้กำเนิดลูก 12 คนซึ่งเป็นต้นกำเนิดตระกูลเย้า 12 ตระกูล ตระกูล Pieun มี 2 ตระกูลย่อย (subclan) คือ Ben Min Pieun และ Ben Dieu Pieun 2. Pum : มี 3 ตระกูลย่อย คือ Lo Pum Si, Lo Pum Tuen และ Lo Pum Peh 3. Yieun : มี 2 ตระกูลย่อย คือ Tum Leu Yieun และ Yieun Tueun 4. Le : มีตระกูลย่อยจำนวนมากแต่เท่าที่พบมีดังนี้ (a) Le Fong (b) Le Hei (c) Le Nyud (Nyud ตามอักษรจีนแปลว่าพระอาทิตย์) ผู้ให้ข้อมูลเย้าระบุว่า Le Hei และ Le Nyud เป็นตระกูลย่อยเดียวกัน (d) Le Meng (Meng ตามอักษรจีนแปลว่าสีเขียว) (e) Le Yi (ตามอักษรจีนแปลว่าปลา) จากผู้ให้ข้อมูล ตระกูลย่อยนี้เรียกอีกอย่างว่า Le Biau (f) Le Teum Bawn 5. Chiu : มี 5 ตระกูลย่อยคือ Tum Leu Chiu, Leu Chiu Tong, Paw Long Chiu, Chib Ngeh Ta Chiu, Chub Lai Chiu 6. Tang : มี 4 ตระกูลย่อยคือ Tang Sui, Tang Kang, Tang Tong, Chi Nyeh Kiang Tang 7. Liu : ตระกูลย่อยนี้รับมาจากคนจีน 8.Law : มีตระกูล Law จำนวนมากในอำเภอ Chiang Kam จังหวัดเชียงราย 9. Tau : ตระกูลย่อยนี้พบในจีนและลาว 10. Chan : ตระกูล Chan รับเอาของคนจีนมาใช้ 11. Zu Lai : ตามอักษรจีนแปลว่ามีด ไม่ได้รับมาจากคนจีน นอกจากนามสกุลที่กล่าวข้างต้นยังมีนามสกุลอื่นอีก เช่น Chin , Ho, Tong เป็นต้น (หน้า 47-48) ระบบการตั้งชื่อ เด็กเย้าที่เพิ่งเกิดหากเป็นชายจะเรียกว่า "ดอกไม้ขาว" (pei kua - white flower) หากเป็นหญิงเรียก "ดอกไม้แดง" (hong kua - red flower) ในขั้นตอนนี้ยังไม่ตั้งชื่อทารก เมื่อเกิดหมอผี (spirit doctor) จะเซ่นไหว้บอกกล่าวผีถึงการเกิดของทารกเพศชายหรือเพศหญิง ระบบการตั้งชื่อผู้ชาย เด็กผู้ชายจะมีทั้งชื่อตอนเด็ก ชื่อเล่นและชื่อแห่งวิญญาณ พออายุ 6 ขวบจึงตั้ง ชื่อผู้ใหญ่ เรียกว่า "Big Name" ชื่อตอนเด็ก (childhood Name) มักเรียกเรียงลำดับการเกิด โดยมีคำว่า "Lao" หรือ "แก่" เติมเข้าไปในลำดับการเกิด เด็กเกิดคนแรกเรียก "Lao Kau" (Old Big) คนที่สอง "Lao Eu" (Old Second) และลำดับต่อ ๆ ไป และหากต้องการแยกแยะว่าเป็นใครจะใส่นามสกุลไว้ข้างหน้าชื่อ เช่น นามสกุล Le จะใช้ Le Lao Kau เป็นต้น แต่หากพ่อแม่คิดว่าทารกกำลังอยู่ในอันตรายจากผีร้าย อาจตั้งชื่อที่มีหมายเลขสูงกว่าลำดับการเกิดที่แท้จริง ระบบการตั้งชื่อนี้เหมือนกับของคนจีน สำหรับคนจีนผู้ที่อายุมากกว่าจะถือว่าอาวุโส จะได้รับการเคารพ ดังนั้น คำว่า "Lao" จึงเป็นคำที่แสดงความเคารพ และนิยมนำมาเติมไว้กับชื่อบุคคล และกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสนิทสนม ดังนั้นคำว่า "Lao" จะนำมารวมกับนามสกุลของเพื่อนสนิท เช่น Lao Li (Old Li) เป็นต้น (หน้า 49-50) Small Name : Small Name ประกอบด้วยอักษรสามตัว ตัวแรกเป็นชื่อสกุล ตัวที่สองเป็นลำดับการเกิด และตัวสุดท้ายเป็นอักษรตัวสุดท้ายของชื่อผู้ใหญ่ของพ่อ ตัวอย่างเช่น Pieun San Meng ตัวแรกหมายถึงเป็นเด็กชายของตระกูล Pieun ตัวที่สอง San หมายถึงเป็นลูกชายคนที่สามของครอบครัว และ Meng เป็นชื่อตัวสุดท้ายของชื่อผู้ใหญ่ของพ่อ เป็นต้น (หน้า 50) ชื่อผู้ใหญ่ (Adult or Big Name) : เด็กชายเย้าเมื่ออายุ 6 ขวบพ่อจะตั้งชื่อผู้ใหญ่ให้ ชื่อผู้ใหญ่จะประกอบด้วยอักษรสามตัว ตัวแรกเป็นนามสกุล ตัวที่สองและสามเป็นชื่อ และตัวที่สามหรือคำสุดท้ายของชื่อผู้ใหญ่ จะเป็นอักษรตัวสุดท้ายของ Small name ของลูกชาย เช่น Pieun Wun Fing Pieun เป็นนามสกุล Wun Fing เป็นชื่อ คำว่า Fing จะใช้เป็นชื่อตัวสุดท้ายของ Small Name ของลูก (หน้า 50) ส่วนชื่อเล่น (nickname) มักตั้งจาก ก) สถานการณ์การเกิด ข) ความต้องการของพ่อแม่ ค) พ่อแม่แกล้งตั้งเพื่อลูก ง) เด็กมีลักษณะสำคัญที่เฉพาะเจาะจง จ) หลอกวิญญาณ (หน้า 50) ชื่อแห่งวิญญาณ (Spirit Name) ชายเย้าทุกคนอายุมากกว่า 12 ปีจะมีชื่อแห่งวิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยอักษรสามตัวเช่นกัน ตัวแรกเป็นนามสกุล ตัวที่สองเป็นคำว่า "fa" หรือ "long" ซึ่งเป็นลำดับแถวของวิญญาณ และตัวสุดท้ายเป็นชื่อของวิญญาณ ตัวอย่างเช่น Le Fa Chin หมายถึงชายตระกูล Le ลำดับแถวทางพิธีกรรมคือ Fa และชื่อวิญญาณที่ได้รับคือ Chin เป็นต้น ส่วนคำว่า Long แสดงถึงตำแหน่งทางพิธีกรรมที่สูงกว่า ชื่อแห่งวิญญาณเป็นชื่อที่ใช้เวลาบูชาวิญญาณ (worshipping the spirits) และใช้เรียกเมื่อเซ่นไหว้หรือสวดให้ผู้ตาย ชื่อแห่งวิญญาณมีพ่อหรือหมอผี (spirit doctors) เป็นผู้เลือกให้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากวิญญาณบรรพบุรุษ ชื่อแห่งวิญญาณเป็นชื่อพิเศษศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุด สำคัญกว่าทุก ๆ ชื่อ และไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ในลูกหลานรุ่นที่ใกล้ ๆ (หน้า 51) ระบบการตั้งชื่อผู้หญิง เมื่อยังเด็กจะเรียกชื่อตามลำดับของลูกผู้หญิง เช่น Te Ye Hong Kua (ดอกไม้แดงดอกแรก) แล้วเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นจะได้รับชื่อผู้ใหญ่ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ตลอดชีวิต ชื่อผู้ใหญ่เด็กหญิงประกอบด้วยอักษรสี่ตัว อักษรตัวแรกเป็นนามสกุล ตัวที่สอง "Mui" เป็นคำที่ใช้กับผู้หญิงเหมือนคำว่า "Lao" ที่ใช้กับผู้ชาย อักษรตัวที่สามบอกถึงลำดับการเกิดเป็นลูกสาวคนที่เท่าไร ตัวที่สี่เป็นชื่อตัวสุดท้ายของชื่อผู้ใหญ่ของพ่อ แต่นามสกุลมักถูกตัดออกให้เหลืออักษรเพียงสามตัว และหลังแต่งงานหญิงเย้าจะได้รับคำที่เรียกยกย่องว่า "shi" หรือ "Shi Chi" ตามหลังนามสกุล เช่นนามสกุล Le จะเรียกว่า Le Shi Chi เป็นต้น หญิงเย้าไม่มีชื่อทางวิญญาณ จากการตั้งชื่อจะเห็นว่าการตั้งชื่อผู้ชายและผู้หญิงแสดงถึงฐานะที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิง หญิงเย้าไม่มีชื่อเฉพาะของตัวเอง อักษรตัวแรกเป็นชื่อสกุล ตัวที่สองบอกเพศ ตัวที่สามบอกว่าลำดับการเกิด ตัวที่สี่เป็นตัวสุดท้ายชื่อผู้ใหญ่ของพ่อ ชื่อผู้ชายสำคัญกว่าชื่อผู้หญิง เพราะการสืบทายาทผ่านทางฝ่ายชายและชื่อของลูก ๆ ต้องเอามาจากชื่อของพ่อ (หน้า 51-53) บ้าน Khun Haeng ชายหญิงจะพบปะกันในเวลากลางคืน หนุ่มเย้าจะมีไฟฉายเพื่อส่งสัญญาณในเวลากลางคืนเมื่อไปถึงบ้านฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะเปิดประตูรับเข้าไปในห้อง รุ่งเช้าจะกลับออกมาก่อนที่คนในครอบครัวฝ่ายหญิงจะตื่นนอน ในขณะเดียวกันพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่จะไม่สนใจ ?เย้าบ้าน Khun Haeng มีความร่วมมือร่วมใจกัน ตัวอย่างเช่น รวบรวมเงินแต่ละครอบครัวเพื่อสร้างถนน ทำให้สามารถใช้รถโดยสารขนาดเล็กเดินทางระหว่างหมู่บ้านกับเมืองได้ จ้างรถแท็คเตอร์มาใช้ร่วมกัน สร้างฝายเพื่อการชลประทานในหมู่บ้าน เป็นต้น (หน้า 35)

Political Organization

หมู่บ้านเย้ามีหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งได้รับเลือกจากชาวบ้าน โดยเจ้าหน้าเองรัฐสามารถมีอิทธิพลชี้นำประชาชนว่าควรจะเลือกใคร - ในประเทศไทยหรืออาจในที่อื่น ๆ ด้วย หัวหน้าหมู่บ้านไม่เพียงดูแลเฉพาะหมู่บ้านของตนเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้เชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างหมู่บ้านและรัฐบาล นอกจากหัวหน้าหมู่บ้านแล้ว บุคคลสำคัญอื่น อื่นในหมู่บ้านเย้า คือ หมอผี (spirit doctor) ในสังคมหมู่บ้านเย้ามีความแตกต่างทางชนชั้นน้อยมาก เป็นสังคมที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน (หน้า 26) - บ้าน Khun Haeng ไม่มีข้อมูลชัดเจน

Belief System

เย้าเชื่อว่าโลกของวิญญาณและโลกที่มนุษย์อยู่มีปฏิสัมพันธ์กัน ในโลกของวิญญาณมีเทพผู้ปกครอง (Great Spirit Gods) อยู่ 18 องค์ ซึ่งมีระดับความสำคัญแตกต่างกัน เย้าจะมีแท่นบูชาสำหรับรูปภาพของเทพทั้ง 18 องค์ โดยจัดวางตามระดับความสำคัญสูงต่ำต่างกันระหว่างประกอบพิธีกรรมสำคัญเช่น พิธีศพ เป็นต้น หรืออาจเรียกว่า "วิหารของเทพทั้ง 18 ของเย้า" ในเทพทั้ง 18 องค์นี้ที่สำคัญที่สุด 3 องค์เรียกว่า "Fam Chin" (Three Pure Ones) ได้แก่ 1. Len Si T'ien Chon 2.Len Pu T'ien Chon 3.To Ta T'en Chon เทพทั้งสามนี้เป็นเทพทั้งสามในลัทธิเต๋า (Taoist triad - T'ien Tsuh) องค์ที่สำคัญที่สุดคือ Len Si T'ien Chon เป็นเทพช่วยชีวิตหรือกอบกู้วิญญาณมนุษย์ ต่ำลงมาเป็นกลุ่มเทพที่มีระดับแตกต่างกัน คือระดับเทพ (gods) วีรบุรุษและคนดีที่ตายไปแล้ว และวิญญาณของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดวงดาว ฟ้าผ่า เป็นต้น ผู้ปกครองโลกแห่งวิญญาณเป็นผู้ควบคุมดูแลการมีชีวิตอยู่และการตายของมนุษย์ ดังนั้น จึงต้องเซ่นไหว้ คือการจัดทำพิธี merit - making ceremonies เพื่อให้ได้รับชีวิตที่ดีหลังตายในโลกแห่งวิญญาณ นอกจากนั้น เย้ายังเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (ancestral) และเจ้าที่ (local spirits) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของสมาชิกในครอบครัวเย้า เพื่อความสุขสมบูรณ์ของครอบครัวและปัดเป่าผีร้ายที่จะทำให้โชคร้ายและเจ็บป่วย (หน้า 26) โดยภาพรวมแม้ว่าศาสนาของเย้าจะมีความเป็นเอกลักษณ์ แต่ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดของจีน เทพเจ้าจำนวนมากของเย้าพบในระบบศาสนาของจีนเช่นกัน ?ในประเทศไทยและลาวมีเย้าบางกลุ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาคริสต์และพุทธศาสนายังไม่มีอิทธิพลต่อเย้ามากนัก แม้จะมีพระสงฆ์และหมอสอนศาสนาไปเผยแพร่ศาสนาพุทธและคริสต์กับเย้าและชาวเขากลุ่มต่าง ๆ ทางเหนือของไทยมาหลายปีแล้วก็ตาม (หน้า 27) หมอผี (spirit doctors) มีฐานะสำคัญมากในสังคมเย้า มีบทบาทสำคัญในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น แต่งงาน งานศพ รักษาอาการเจ็บป่วย แก้ความโชคร้าย เป็นต้น หมอผีต้องสามารถอ่านคัมภีร์ภาษาจีนได้ เพราะผีฟังภาษาเย้าไม่เข้าใจ เข้าใจแต่ภาษาจีน คัมภีร์จะแตกต่างกันสำหรับพิธีที่แตกต่างกัน คัมภีร์เหล่านี้ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากลัทธิเต๋าโบราณ ครอบครัวเย้าจะมีคัมภีร์พิธีกรรม ซึ่งภายในกล่าวถึงชื่อบรรพบุรุษของเขาที่ตายไปแล้ว เมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือโชคไม่ดีเกิดขึ้น จะมีการทำพิธีขอให้ผีและเทพเจ้าช่วยให้หายป่วยหรือมีชีวิตที่ดี พิธีกรรมที่สำคัญที่จะรักษาผู้ป่วย คือ "bridge ceremony" หมอผีจะมี 2 ระดับคือ ระดับใหญ่ (Great spirit doctors) และระดับรอง (minor spirit doctors) การรับหมอผีใหม่เป็นลักษณะครูกับศิษย์ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ตลอดไป แม้กับครูที่ตายแล้ว การจะเป็นหมอผีระดับรองเริ่มต้นจะต้องจ่ายให้หมอผีผู้ใหญ่ (major spirit doctor) ต้องจ่ายด้วยหมู 1 ตัว white rice - paper อย่างดีและเงิน 100 บาท หมอผีใหญ่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรม เช่น ป๋องแป๋งเหล็ก (iron rattle) กล่องไม้คู่หนึ่ง ธงสีต่าง ๆ 4 อัน เสื้อคลุมยาวแพรต่วนปักลาย กลอง ฉิ่ง กระดิ่ง และขลุ่ย ? ความแตกต่างระหว่างนักบวช (priest) และหมอผี (spirit doctor) ก็คือ นักบวชสามารถติดต่อกับผีได้โดยไม่ต้องเข้าทรง ในขณะที่หมอผีสามารถติดต่อกับผีด้วยการเข้าทรง (หน้า 26-27) - A Yao Bridge Ceremony พิธีสร้างสะพานของเย้า เป็นพิธีสร้างสิ่งก่อสร้างเสมือนสะพาน เป็นพิธีกรรมสำคัญใช้บำบัดรักษาอาการป่วย ด้วยการเรียกขวัญของผู้ป่วย หรือเป็นพิธีกรรมสืบชะตายืดอายุให้ยืนยาว หรือทำให้โชคดีโดยขอให้หมอผี (spirit doctors) ทำพิธีขับไล่ผีร้ายและเชิญชวนผีดี ๆ เข้ามา สะพานที่สร้างอาจยาวตั้งแต่ 30 เซนติเมตรจนถึง 2-2.5 เมตร สร้างอยู่บนดินหน้าทางเข้าหมู่บ้านหรือภายในหมู่บ้าน หรือมักสร้างตามทางเดินหรือบนคูน้ำเล็ก ๆ สะพานมีหลายแบบ (types) แยกเป็นประเภทต่าง ๆ และมีแยกย่อยในแต่ละประเภท ซึ่งจัดตามลำดับสูงต่ำของประสิทธิผลของการรักษาหรือวัยของผู้ป่วย เช่น หากประกอบพิธีสร้างตามแบบ A ไม่หาย จะทำพิธีสร้างแบบ B, C ต่อ ๆ ไป ที่บ้าน Khun Haeng ทำพิธีสะพาน 5 แบบหลัก ๆ (ภาพที่ 2 หน้า 42) 1.แบบ A ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยหรือต่ออายุให้ยืนยาว (รูป 2 A) 2.แบบ B สำหรับเมื่อเด็กเกิดหรือเด็กป่วย (รูป 2B) 3.แบบ C จะมีแยกย่อยอีกสามแบบ ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของบุคคลเมื่อใช้แบบย่อยที่ i ไม่หาย จะใช้แบบย่อยที่ ii หากยังไม่หายอีกจะใช้แบบย่อยที่ iii (รูป 2C) 4.แบบ D ใช้เฉพาะกับคนแก่ และใช้เมื่อการทำพิธีสะพานแบบ C แบบย่อยที่ iii แล้วผู้ป่วยยังไม่หาย (รูป 2D) 5.แบบ E ใช้เพื่อต่ออายุให้ยืนยาวเป็นหลัก (รูป 2E) ? ในแบบ D และ E ยังมีแยกย่อยแบบสะพานออกไปอีก (หน้า 41-43) พิธีสร้างสะพานที่บ้าน Khun Haeng (bridge-building ceremony) จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปีของหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นพิธีต่ออายุคนแก่ให้ยืนยาวโชคดี สะพานที่จะสร้างเป็นแบบ A (Kon ta chiau) จะสร้างไว้เหนือคูน้ำชลประทานที่แห้งแล้วหน้าทางเข้าหมู่บ้าน สะพานจะถูกสร้างขึ้นประมาณ 8 โมงเช้า เหนือสะพานมีกิ่งใบไผ่ทำเป็นรูปโค้ง 3 วง มีข้าวห่อเล็ก ๆ ด้วยใบไม้แขวนจากเพดานกระโจม ขณะเดียวกันฆ่าหมูที่บ้านหัวหน้าหมู่บ้าน ทำความสะอาด หัน แล้ววางไว้บนใบตองที่ท้ายสะพานพร้อมกับเหล้าขาว และเงินกระดาษสองชนิด เป็นสีเหลืองเปรียบเสมือนธนบัตรและกระดาษที่มีแผ่นสีเงินเปลวติดอยู่เป็นเงินที่ประทับตราผู้ปกครองโลกแห่งวิญญาณ สุดท้ายจะเผา ปลายอีกด้านของสะพานจะตั้งโต๊ะวางถ้วยเหล้า ตะเกียบ ภาชนะเครื่องใช้ในบ้าน และไก่ที่ฆ่าแล้ว บนพื้นดินใต้โต๊ะวางถาดฝัดข้าว ข้าวสารและกระดาษเงินจำนวนหนึ่ง หมูและกระดาษเงินใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษของเจ้าของพิธี นกและอาหารอื่น ๆ บนโต๊ะอุทิศให้ผีบรรพบุรุษของนักบวช อาหารที่อยู่บนพื้นเซ่นไหว้ผีร้าย (malevolent) จากเวลาประมาณ 9 นาฬิกาถึง 16 นาฬิกา หมอผี 2 คนร้องสวดคัมภีร์ภาษาจีนที่อยู่ปลายสะพาน หมอผีจะโยนไม้ศักดิ์สิทธิ์ลงบนพื้น เพื่อตรวจสอบความเห็นของผีเป็นระยะ ๆ และผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งสวมเสื้อคลุมยาวและหมวกเป่าเขาควายเป็นระยะ ท้ายพิธี อาหารที่ใช้เซ่นไหว้จะถูกนำกลับไปที่บ้านของหัวหน้าหมู่บ้านเจ้าของพิธี และมีงานเลี้ยง (หน้า 43) ในงานเลี้ยงอาหาร ที่บ้านของชายชราเจ้าของพิธี ตั้งโต๊ะสองตัวชนกันตัวหนึ่งสูงกว่าอีกตัว ตั้งถ้วยเหล้าบนโต๊ะโดยรอบแต่ยังไม่วางอาหาร หมอผีสองคนเป็นประธานในพิธี พิธีแรกหัวหน้าหมอผีนำดื่มเหล้าโดยดูดจากขวดเหล้า และใส่เหล้าลงในถ้วยรอบโต๊ะ จากนั้นหมอผีทั้งสองสวดคัมภีร์ ระหว่างที่สวดบรรดาแขกและหัวหน้าครัวเรือนสำคัญได้รับเชิญลงนั่งโดยหัวหน้าหมู่บ้านเจ้าของพิธีนั่งหัวโต๊ะ หมอผีและหัวหน้าครัวเรือนที่สำคัญนั่งข้าง ๆ ไม่มีผู้หญิงนั่งร่วมโต๊ะนอกจากภรรยาของผู้วิจัย (รูป 3a หลังหน้า 39) จากนั้นหัวหน้าหมอผีถือถ้วยเหล้าไปรอบโต๊ะส่งถ้วยเหล้าให้แขกแต่ละคนด้วยสองมือ แขกรับมาแล้วใช้สองมือยกถ้วยเหล้าขึ้นตรงหน้าผากแล้วส่งกลับคืน โดยไม่มีใครดื่มเหล้านั้น หัวหน้าหมอผีกลับที่นั่งซึ่งอยู่ด้านขวาของหัวหน้าหมู่บ้านแล้วส่งด้ายเวียนไปจนจรดคนที่นั่งทางซ้ายของหัวหน้าหมู่บ้าน ทุกคนถือไว้ สักครู่แขกที่อยู่ทางด้านซ้ายและขวาของหัวหน้าหมู่บ้านดึงด้ายเป็นสัญลักษณ์ดึงผีร้ายให้พ้นจากหัวหน้าหมู่บ้าน แขกทุกคนทำเช่นนี้สามถึงสี่ครั้ง และหลังจากนั้นเป็นสัญลักษณ์ว่าคนทั้งหมดอำนวยพรส่งกลับแก่หัวหน้าผู้ชรา สุดท้ายชายที่นั่งด้านซ้ายของหัวหน้าชราปล่อยปลายด้าย ในขณะเดียวกันหมอผีที่นั่งด้านขวาจะผูกข้อมือหัวหน้าหมู่บ้านด้วยเส้นด้าย ปลายของด้ายที่ถูกส่งกลับมาผ่านนิ้วมือของทุกคน สุดท้ายเส้นด้ายทั้งเส้นจะพันอยู่ที่ข้อมือของหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นสัญลักษณ์อำนวยพรให้หัวหน้าและด้ายนั้นจะอยู่บนข้อมือหัวหน้าหมู่บ้านจนเปื่อย ต่อจากนั้นรับประทานอาหาร ก่อนรับประทานแขกแต่ละคนเดินมาตรงหน้าหัวหน้าหมู่บ้านส่งถ้วยเหล้าให้หัวหน้า หัวหน้ายกถ้วยเหล้าขึ้นตรงหน้าผากแล้วส่งกลับคืน บางคนใส่เงินไว้ในถาดตรงด้านหน้าหัวหน้า (หน้า 44)

Education and Socialization

หมู่บ้านเย้าบ้าน Khun Haeng มีโรงเรียน 1 โรง มีครูไทยสอน 1 คน สอนด้วยภาษาไทย มีนักเรียนมากกว่า 20 คน แต่โปรแกรมที่ใช้สอนไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร พ่อแม่ต้องการให้ลูกช่วยงานในไร่มากกว่า ซึ่งบางครั้งเด็ก ๆ ต้องอาศัยนอนในไร่ ผู้ปกครองบางคนให้ลูกไปเรียนในเมือง คิดว่าการเรียนการสอนดีกว่า แต่โรงเรียนในเมืองอยู่ไกลเกินไป นอกจากโรงเรียนไทยแล้ว ชายเย้าส่วนใหญ่จะเรียนภาษาจีนด้วย ครูที่สอนส่วนใหญ่เป็นพ่อ ในลักษณะพ่อสอนลูก ลูกสอนหลานต่อ ๆ กัน ไม่มีโรงเรียนสอนภาษาจีนอยู่ใกล้หมู่บ้าน Khun Haeng ชายเย้าสนใจเรียนภาษาจีน เพราะมีประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์ทางศาสนาด้วยตัวเองได้ และอ่านหนังสือจีน ผู้วิจัยพบว่าเย้าหมู่บ้าน Khun Haeng มีต้นฉบับตัวหนังสือจีนจำนวนมากอยู่ในครอบครอง บางเล่มเป็นบทสวด บ้างเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเย้า บ้างเป็นบันทึกรายชื่อบรรพบุรุษของครอบครัว บ้างเป็นหนังสือโหราศาสตร์จีน หนังสือจีนเกี่ยวกับธรรมชาติทางโลก และบ้างก็เป็นหนังสือเรียนภาษาจีนสำหรับเด็กประถม ซึ่งเย้านำติดตัวมาจากลาว ผู้เขียนมองว่าเย้าค่อนข้างมีความรู้มาก (sophisticated) เวลาเข้าเมืองบางคนอ่านหนังสือพิมพ์จีนและซื้อหนังสือจีนอ่าน (หน้า 34-36)

Health and Medicine

เย้ามีวิธีการสำคัญ 2 วิธีที่ใช้รับมือกับความเจ็บป่วย คือ 1. "tsiang" หรือ "พิธีกรรม" (ceremony) โดยมีพิธี สร้างสะพาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เมื่อเจ็บป่วย 2. "dia" หรือ "การแพทย์" (medicine) เย้าใช้เทคนิคการแพทย์ เช่น "การกรีดผิวหนัง" (skin scarification) "ใช้ไฟนาบ" (flesh cauterization) และ "การฝังเข็ม" เป็นต้น ส่วนยาใช้สมุนไพรเป็นยาชุด ยาน้ำ ยาผง ยาที่สูดเข้าไป น้ำมันนวด ยาที่เป็นขี้ผึ้ง ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ยาแผนปัจจุบันด้วย ส่วนมูลเหตุของอาการเจ็บป่วย ได้รับการอธิบายด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือ เจตนาร้ายของบรรพบุรุษ เป็นต้น เย้าเชื่อว่าเมื่อบรรพบุรุษไม่พอใจใคร จะมีผลให้คนนั้นเกิดการเจ็บป่วย จำเป็นต้องทำพิธีกรรม เช่น พิธีสร้างสะพาน หรือใช้วิธีหลีกเลี่ยงเจตนาร้ายของบรรพบุรุษของตน ด้วยการแต่งงานกับผู้ที่มีความสุขกับความเมตตากรุณาของบรรพบุรุษ และเข้าร่วมอาศัยอยู่ในบ้านของคู่แต่งงานนั้น (ในสังคมเย้าผู้ชายสามารถเข้าไปอยู่ในบ้านและร่วมกลุ่มบรรพบุรุษของภรรยา) ในสังคมเย้าพิธีกรรมและการรักษาทางแพทย์ไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง (หน้า 45)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชุดแต่งกายของเย้าทำให้ผู้พบเห็นง่ายต่อการจดจำแยกเย้าออกจากชาวเขากลุ่มอื่น ๆ หญิงเย้าสวมเสื้อคลุมยาว (heavy gown) สีน้ำเงินเข้มยาวถึงน่อง ผ่าข้างจนถึงเอว มีขนปุยสีแดงรอบแนวคอเสื้อคลุมไปจรดเอว และสวมกางเกงที่มีการเย็บปักด้วยลายครอสส์ติทช์สีเหลือง สีแดงและสีขาว มีผ้าสีน้ำเงินเข้มคาดรอบเอว สวมหมวกแบบผ้าโพกศีรษะมีลายปักที่ชายทั้งสองข้างเหมือนผ้าคาดเอว ?ชายเย้าปัจจุบันจะสวมชุดเหมือนคนพื้นราบ แต่ยังคงสวมกางเกงขายาวสีน้ำเงินเข้มหรือดำแบบหลวมตามประเพณี ชุดตามประเพณีของชายเย้าจะสวมกางเกงดังกล่าวและเสื้อแจ๊คเก้ต

Folklore

ครัวเรือนเย้าบ้าน Khun Haeng จำนวนมากมีม้วนกระดาษหนังสือจีนบันทึกเกี่ยวกับตำนานกำเนิดของเย้า จากบันทึกนั้นบอกว่า เย้าเกิดจากหมามังกร (dragon dog) ที่ชื่อ Pieun Hu ซึ่งรับอาสาจักรพรรดิ์ผิงไปพิชิตอาณาจักรที่เป็นศัตรู Pieun Hu เดินทาง 7 วัน 7 คืน ข้ามทะเลใหญ่ ไปถึงอาณาจักรของจักรพรรดิเกา ซึ่งเป็นศัตรู จักรพรรดิ์เกาถือตามสุภาษิตที่ว่า "เมื่อไรที่มีหมูมาเยือน ประเทศนั้นจะยากจน เมื่อไรที่หมามาเยือนประเทศนั้นร่ำรวย" จึงถือการมาเยือนของ Pieun Hu เป็นนิมิตดี และให้ Pieun Hu อยู่ข้างกายตลอดเวลา วันหนึ่ง Pieun Hu สบโอกาสขณะที่จักรพรรดิ์เกากำลังเมากัดจักรพรรดิ์เกาแล้วคาบศีรษะไปถวายจักรพรรดิ์ผิง จึงได้รับรางวัลให้แต่งงานกับนางกำนัล พร้อมทรัพย์สิน คนรับใช้ และบ้านในป่า ต่อมา Pieun Hu และภรรยามีลูกด้วยกัน 12 คนเป็นชาย 6 คนหญิง 6 คน จักรพรรดิ์ผิงเมื่อทราบข่าว ทรงให้ Pieun Hu เป็นต้นตระกูล Pieun แต่งตั้งให้เป็นอ๋อง Pieun (King Pieun) และประกาศให้เรียกลูก 12 คนว่า "เย้า" (Yao) และมอบนามสกุลให้ลูกของ Pieun Hu ทุกคน เป็นที่มาของ 12 วงศ์ตระกูลเย้า โดยลูกชายคนโตสืบตระกูล Pieun จากพ่อ นามสกุลอื่น ๆ คือ Ch'in, Yieun, Le, Tang, Chiuh, Chiu, Ho, Tong, Pum, Lwi และ Chiang จักรพรรดิ์ผิงประกาศให้ลูกชายและลูกสาวทั้ง 12 คนของ Pieun Hu ต้องแต่งงานกับคนนอก เพื่อให้มีทายาทต่อไป แต่ก็ไม่ลืมว่ามี Pieun Hu เป็นบรรพบุรุษ เมื่อ Pieun Hu ตายจักรพรรดิ์ผิงมีพระราชโองการให้ Pieun Hu เป็นบรรพบุรุษเย้า วิญญาณไปเป็นเทพเจ้า ทายาทต้องสวดมนตร์ให้ และประกาศให้ 13 จังหวัดเป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของเย้า เย้าอาศัยอยู่ในป่าบนเขาทำการเกษตรแบบโค่นถางต้นไม้แล้วเผา (slash - and - burn) ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องเสียค่าผ่านทาง และพบเจ้าหน้าที่ไม่ต้องคุกเข่า ตำนานกำเนิดของเย้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษสุนัข สำหรับชาวบ้าน Khun Haeng มีบรรพบุรุษเป็นสุนัขเช่นกัน คือ Pieun Kou ถือว่าเป็นลูกชายคนแรกของบรรพบุรุษสุนัข เพราะสืบทอดตระกูล Pieun จากพ่อ (หน้า 55-58)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

มีหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น ลาหู่ ลีซอ อาข่า เป็นต้น กระจายอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านเย้า ฉะนั้น เย้าจึงเรียนรู้ที่จะติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ในอำเภอแม่สอด จังหวัดเชียงราย มีเย้าจำนวนมากพูดภาษาลาหู่ในลักษณะเป็นภาษาผสม (lingua funca) เหตุผลสำคัญที่มีการเกี่ยวข้องกัน คือ เหตุผลทางเศรษฐกิจและเส้นทางการค้ายังมักผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ เย้ายังค้าขายกับคนพื้นราบและมีความสัมพันธ์กับพ่อค้าคนจีน จากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจแล้วจึงขยายเข้าไปสู่บรรยากาศทางสังคมและพิธีกรรม เช่น เย้าอาจเชิญเพื่อนจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาร่วมงานพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ซึ่งอีกฝ่ายก็ทำเช่นกัน (หน้า 28)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูลชัดเจน ผู้เขียนกล่าวว่าปัจจุบันหญิงเย้าบ้าน Khun Haeng บางคนที่กำลังเติบโตละทิ้งการแต่งกายตามประเพณี นิยมแต่งกายแบบหญิงไทย (หน้า 36)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. แผนที่ : 1.1 หมู่บ้านเย้า Khun Haeng (หน้า 34) 2. แผนผังและภาพลายเส้น : 2.1 แผนผังบ้านเย้า (หน้า 23) 2.2 สะพานในพิธีกรรมของเย้า (หน้า 42) 3. รูปภาพ : หลังหน้า 39 : 3.1 กลุ่มบ้าน (hamlet) เย้า (1a) 3.2 หญิงเย้าถางไร่ข้าว (1b) 3.3 พิธีกรรมสร้างสะพานของเย้า (2a,b) 3.4 งานเลี้ยงหัวหน้าเย้า (3a) 3.5 หญิงเย้าตักน้ำ (3b) 3.6 ต้นฉบับหนังสือม้วนกระดาษ (4a,b)

Text Analyst บุญสม ชีรวณิชย์กุล Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG เย้า, ประวัติ, วัฒนธรรม, โครงสร้างสังคม, การเมือง, วิถีการผลิต, นโยบายของรัฐ, ลำปาง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง