สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ขมุ กำมุ ตะมอย,ไต คนไต ไตโหลง ไตหลวง ไตใหญ่,จีนยูนนาน จีนมุสลิม,เมี่ยน อิวเมี่ยน,ลาหู่ ลาฮู,ปะโอ,โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู กะเหรี่ยง,คะยาห์ กะเรนนี บเว,คะยัน กะจ๊าง,ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ กะเหรี่ยง,ชาวเขา,ชนกลุ่มน้อย,การสำรวจทางประชากร,การศึกษา,สาธารณสุข,ประเทศไทย
Author ประจวบ คำบุญรัตน์, อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ และ เคน แคมป์
Title แนวโน้มด้านสังคมเกี่ยวกับชุมชนบนพื้นที่สูงในทศวรรษหน้า
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ลีซู, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, ม้ง, ไทใหญ่ ไต คนไต, จีนยูนนาน จีนฮ่อ มุสลิมยูนนาน, กะยัน แลเคอ, กำมุ ตะมอย, ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Total Pages 137 Year 2539
Source สำนักงานกิจการพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

ผู้วิจัยมุ่งศึกษาถึงแนวโน้มด้านสังคมของชุมชนบนพื้นที่สูงในทศวรรษหน้า โดยผู้วิจัยได้อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการสำรวจภาคสนามทั้งภาพรวม และกรณีศึกษาในระดับหมู่บ้าน ประกอบกับผลการศึกษาเอกสารในระดับนโยบาย แผนแม่บท แผนเฉพาะกิจเชิงยุทธวิธีตลอดจนผลการประเมินโครงการพัฒนาบนพื้นที่สูง ผลการศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่ายป่าชุมชน และเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรบนพื้นที่สูงมาเป็นข้อมูลสำคัญในการประยุกต์วิธีการวิจัยเชิงพยากรณ์แบบ Ethnographic Future Research (EFR) โดยการอภิปรายกลุ่มย่อยของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานด้านการพัฒนาชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา การทหาร และความมั่นคงภายในของรัฐ นักวิชาการและนักวิจัยชาติพันธุ์วิทยา และผู้นำชาวเขาในภาคเหนือ ซึ่งการอภิปรายกลุ่มดำเนินการ 2 ระดับ คือ ระดับนโยบาย และปฏิบัติการโดยเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานในอดีตกับปัจจุบันเกี่ยวกับชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม และสังคมที่ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์และการพัฒนาชุมชน แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาคาดคะเนตามหลักวิชาการ และประสบการณ์ เพื่อหาแนวโน้มในอนาคต (หน้า116) ซึ่งได้ผลการศึกษาดังนี้ คือ รัฐบาลเล็งเห็นว่าชาวเขาและชนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูงยังมีปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการปลูกพืชเสพติดบนพื้นที่สูง เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบต่าง ๆ จะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมียาเสพติดชนิดใหม่แพร่หลาย เช่น เฮโรอีน มอร์ฟิน ยาม้า กาว ทินเนอร์ และอื่น ๆ โดยมีผู้เสพในกลุ่มวัยแรงงาน และวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น (หน้า 117-118 ) อีกทั้งรัฐต้องการให้ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับระบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะรัฐกำลังดำเนินการมุ่งเน้นการต่อสู้กับภาวการณ์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูง โดยรัฐยังคงเชื่อ ว่าชาวเขาและชนกลุ่มน้อยเป็นกลุ่มหลักที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีข้อมูลจำนวนมากแสดงว่าผู้มีบทบาทในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชาวเขา และนอกจากนั้นรัฐยังต้องการแก้ปัญหาการตั้งถิ่นฐานของชาวเขาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ ส่วนในด้านเศรษฐกิจและสังคม ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยก็ยังคงประสบปัญหาความยากจน ปัญหาด้านสาธารณสุข การขาดแคลนที่ทำกิน การอพยพแรงงาน ฯลฯ (หน้า 117-126) งานวิจัยได้เสนอว่าในอนาคตรัฐยังคงมีการกำหนดระบบงานแก้ไขปัญหาของชาวเขาในด้านต่าง ๆ ดังกล่าว แต่อาจจะเป็นไปในแนวทางลักษณะเดิมที่เคยปฏิบัติมาแล้ว และอาจดำเนินไปในอัตราช้า อีกทั้งยังอาจไม่สอดคล้องกับสภาพความต้องการและปัญหาหลักของชาวเขา และชนกลุ่มน้อย ในแต่ละพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์ (หน้า 126) ทั้งนี้เนื่องจากในแทบทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือชาวเขามักมีบทบาทเป็น "ผู้ให้" และ "ผู้กำกับการดำเนินงาน" เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการโดยที่ชาวเขามีบทบาทน้อยมากในการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน และการตัดสินใจ (หน้า 118)

Focus

งานวิจัยเน้นการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานด้านประชากร และการศึกษาของชาวเขาและชนกลุ่มน้อย (หน้า 28-88) ร่วมกับการศึกษาเอกสารในระดับนโยบาย แผนแม่บท แผนเฉพาะกิจเชิงยุทธวิธีต่าง ๆ ตลอดจนผลการอภิปรายกลุ่มย่อยของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย (หน้า 89-115) เพื่อมาพิจารณาวิเคราะห์คาดคะเนเกี่ยวกับแนวโน้มด้านสังคมของชุมชนบนพื้นที่สูงในอนาคต ทั้งนี้เพื่อการวางแผนพัฒนาการศึกษาและสังคมบนพื้นที่สูงของกระทรวง ศึกษาธิการ หน่วยงานรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง (หน้า i)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ผู้วิจัยได้ดำเนินการเลือกกลุ่มชาติพันธุ์ใน 2 ลักษณะ คือ 1. ลักษณะแนวกว้าง โดยการเลือกจังหวัดที่มีประชากรชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ซึ่งประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ 14 จังหวัดในภาคเหนือ 5 จังหวัดในภาคกลาง และ 1 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หน้า 43) ครอบคลุมชาวเขา 10 เผ่า คือ กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ เมี่ยน อาข่า ลีซู ถิ่น ลัวะ ขมุ และ ปะหล่อง และ ชนกลุ่มน้อย อีก 3 กลุ่ม คือ จีนฮ่อ ไทยใหญ่ และผู้พลัดถิ่นจากประเทศพม่า (หน้า 16-17, 27) 2. ลักษณะแนวลึก โดยการสุ่มตัวอย่างมา 16 หมู่บ้าน จาก 6 จังหวัด ที่มีประชากรชาวเขาและชนกลุ่มน้อย โดยครอบคลุมชาวเขาและชนกลุ่มน้อย 8 เผ่า คือ จีนฮ่อ อาข่า ลีซู ลาหู่ เมี่ยน ลัวะ กะเหรี่ยง และม้ง (หน้า 17-19)

Language and Linguistic Affiliations

ตระกูลภาษาของชาวเขาที่ได้ทำการศึกษานั้น แบ่งออกได้เป็น กลุ่มตระกูลภาษาจีน-ธิเบต ได้แก่ ฮ่อ ลีซู และ อาข่า กับกลุ่มตระกูลภาษา ม้ง-เย้า ได้แก่ ม้ง และเมี่ยน (หน้า 85) แต่ในปัจจุบันชาวเขาและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เริ่มมีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้มากขึ้นแล้ว จากการสำรวจของคณะวิจัยครั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2538 พบว่าประชากรชาวเขาและชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ สามารถสื่อสารภาษาไทยได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีหลายหน่วยงานได้จัดบริการการศึกษาสำหรับชาวเขาขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีชาวเขาบางส่วนที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาไทยสื่อความหมายได้ โดยประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สามารถใช้ภาษาท้องถิ่นคือ "คำเมือง" หรือ "ภาษาไทยภาคเหนือ" สื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ (หน้า 58-74) จากการวิจัยพบว่าประชากรนอกวัยเรียนอายุระหว่าง 15-60 ปี ร้อยละ 80.40 สามารถพูดภาษาไทยได้และประชากรกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 52.57 สามารถอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาไทยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ถึงร้อยละ 27.83 (หน้า Vi)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยได้กำหนดการสืบค้นหาข้อมูลเป็นสองช่วงคือ ช่วงที่หนึ่ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2537 - กันยายน 2538 ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ในแนวกว้าง 20 จังหวัด ช่วงที่สอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2538 - กันยายน 2539 ดำเนินการศึกษาในแนวลึก ในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ที่เป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด (หน้า 6-7)

History of the Group and Community

ตามหลักชาติพันธุ์วิทยาสามารถ แบ่งชาวเขาและชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม Austro-Asiatic ที่อพยพมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศไทย แล้วย้ายถิ่นฐานขึ้นมาหาแหล่งอุดมสมบูรณ์ ในภาคเหนือได้แก่ ลัวะ ขมุ ข่า ถิ่น มลาบรี 2.กลุ่ม Sino-Tibetan หรือกลุ่มจีนเดิม (Mainland-Chinese) ที่อพยพมาจากบริเวณจีนธิเบต และจีนตอนใต้ มี 2 กลุ่ม ได้แก่ ม้ง เมี่ยน และจีนฮ่อ และกลุ่มธิเบตพม่า (Tibeto-Burman) ได้แก่ อาข่า ลีซอ ลาหู่ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ และปะหล่อง (หน้า 5 ) จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ.2536) พบว่าชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่มิได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ได้อพยพมาจากดินแดนประเทศเพื่อนบ้านของไทยในช่วงเวลา 50-100 กว่าปีมาแล้ว ได้แก่ กะเหรี่ยง อพยพจากประเทศพม่ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ในขณะที่ลีซอ และอาข่า อพยพจากพม่าเข้าสู่เขตจังหวัดเชียงรายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนขมุ ม้ง เมี่ยน และถิ่น อพยพจากประเทศลาว เข้าสู่เขตจังหวัดน่าน แพร่ และเลยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวเขา ได้แก่ จีนฮ่อ พม่า และมอญ ได้มีการอพยพลี้ภัยทางการเมืองมาตั้งถิ่นฐานในแถบชายแดนไทย-พม่า ทั้งบนภูเขาและพื้นราบ (หน้า 50-52, 82) นอกจากนั้นชาวเขาและชนกลุ่มน้อยยังมีการเคลื่อนย้ายอพยพภายในประเทศไทยด้วย ทั้งการอพยพตามธรรมชาติของชาวเขา เพราะปัญหาที่ทำกินในลักษณะการทำไร่เลื่อนลอย หรือการหลบลี้หนีภัยต่างๆ และการอพยพที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ตามโครงการพัฒนาต่างๆ (หน้า 51-52) จึงเป็นเหตุให้ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยกระจายกันอยู่ตามจังหวัดต่างๆ 20 จังหวัดในประเทศไทย (หน้า 43-49)

Settlement Pattern

ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ มลาบรี และปะหล่อง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย และพื้นที่ดั้งเดิม ใกล้เคียงกับชายแดนไทย มีลักษณะการอพยพโยกย้าย ที่ทำกินจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวเขา ได้แก่ จีนฮ่อ พม่า และ มอญ ที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองมาตั้งถิ่นฐานในแถบชายแดนไทย-พม่า ทั้งบนภูเขาและบนพื้นราบ จะมีความสัมพันธ์กับชาวพื้นราบของไทยและชาวเขา ในลักษณะของการค้าขาย และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทหรือไต ได้แก่ ชนเผ่าไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน ไทใหญ่ และลาวนั้น ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บนพื้นราบปะปนกับคนไทยในภาคเหนือ และกลมกลืนกลายเป็นคนไทยพื้นราบไป บางจังหวัดกลายเป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญในจังหวัดนั้น ๆ เช่น ไทใหญ่ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงราย ไทยองในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ไทลื้อในจังหวัดเชียงราย และพะเยา เป็นต้น (หน้า 82)

Demography

จากผลการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาของการวิจัยในปี พ.ศ. 2538 พบว่ามีชาวเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงส่วนใหญ่ของประเทศไทยใน 20 จังหวัด 103 อำเภอ มีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 790,369 คน จาก 150,111 หลังคาเรือน 3,512 หมู่บ้าน (หน้า 36) โดยพบว่ากะเหรี่ยงมีประชากรมากที่สุดประมาณ 402,095 คน รองลงมาคือ ม้งมีประชากร 126,147 คน ลาหู่มี 78,842 คน อาข่ามี 48,468 คน เมี่ยนมี 47,305 คน ถิ่นมี 32,755 คน ลีซูมี 31,536 คน ลัวะมี 15,711 คน ขมุมี 10,153 คน และมลาบรีมี 173 คน (หน้า 53-54) จากการสำรวจของศูนย์พัฒนาชาวเขาด้านสาธารณสุข พ.ศ. 2529 พบว่าอัตราการเกิดและการตายของชาวเขาที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงมีสูงกว่าชาวพื้นราบมาก แต่อัตราการเพิ่มจำนวนชาวเขาก็ยังคงอยู่ถึงร้อยละ 3.5 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มประชากรชาวเขาจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2538 จากศูนย์พัฒนาชาวเขาภาคเหนือ ส่วนประชากรที่เพิ่มขึ้นโดยการอพยพเข้ามาจากนอกประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประเทศลาวและพม่า ทั้งจากการชักชวนเข้ามาโดยเครือญาติที่อยู่ในประเทศไทยมาก่อน และโดยการลี้ภัยสงครามและการเมือง อีกทั้งในช่วงปี พ.ศ.2535-2538 มีการอพยพเข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ เพื่อเข้ามาหางานทำในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ (หน้า 57)

Economy

การดำรงชีพของชาวเขาแต่เดิมเป็นไปตามเงื่อนไขของธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ แรงงาน และทักษะด้านการเกษตรเป็นสำคัญ เช่น การปลูกข้าว ข้าวโพด และพืชอื่น ๆ อีกทั้งการหาของป่าเพื่อการยังชีพ ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยมักมีการทำไร่เลื่อนลอยโดยจะอพยพเคลื่อนย้ายไปตามความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ (หน้า 67) สำหรับเรื่องทรัพยากรแหล่งน้ำนั้น ส่วนใหญ่มักอาศัยลำธารและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำบริโภค ทั้งโดยการเดินไปตักน้ำมาใช้เอง และโดยการต่อท่อในระบบประปาภูเขาโดยใช้ลำรางไม้ไผ่ หรือท่อเอสเตอรอน (ท่อพลาสติก) เข้ามาใช้บริเวณหมู่บ้าน ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 94.57 ของหย่อมบ้านทั้งหมดมีแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อใช้งาน (หน้า 77) ต่อมาเมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นประกอบกับมีการควบคุมจากรัฐบาลมากขึ้นทั้งด้านที่ดินทำกิน การอพยพเคลื่อนย้าย การทำไร่เลื่อนลอย และด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ชาวเขาจึงถูกกำหนดให้ได้รับการพัฒนาจากรัฐในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพและพัฒนาวิธีการผลิตจากเพื่อยังชีพของสมาชิกในครัวเรือนมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้นตามระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ นอกจากนี้ในปัจจุบันชาวเขายังนิยมประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมมากขึ้นโดยการอพยพเข้าสู่เมืองและต่างประเทศ เพื่อประกอบอาชีพแรงงานและบริการต่าง ๆ (หน้า vi, 67-74,123)

Social Organization

ผู้วิจัยไม่ได้เน้นรายละเอียดในด้านนี้ แต่มีการกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยว่า ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยมีกระบวนการเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้และทักษะของชุมชนที่เป็นไปตามวัฒนธรรมและสังคมของแต่ละเผ่า และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุคน ได้แก่ การกล่อมเกลาทางสังคม การถ่ายทอดความรู้ด้านวัฒนธรรม จารีตประเพณี อาชีพและวิถีทางดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด ตลอดจนการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์และครอบครัว (หน้า 67)

Political Organization

ผู้วิจัยไม่ได้ให้ข้อมูลด้านองค์กรการปกครองดั้งเดิมของชาวเขา แต่จากการวิจัยพบว่ารัฐบาลไทยพยายามใช้อำนาจและกฎหมายเข้าไปควบคุมชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐที่พยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวเขาและชนกลุ่มน้อย โดยนำเกณฑ์ของชาวพื้นราบเป็นมาตรฐาน ทำให้ชาวเขามีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปจากอดีต (หน้า 28 -128) การที่รัฐมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารและทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินได้แต่ครอบครองโดยพฤตินัยเท่านั้น จึงไม่สามารถนำไปลงทุนหรือขยายผลทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติและการรู้หนังสือในอัตราที่ต่ำ ทำให้ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยไม่สามารถมีสิทธิเท่าเทียมคนพื้นราบได้ซึ่งสิ่งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ดังจะเห็นได้จากการสนทนากลุ่มกับกลุ่มตัวอย่างชาวเขาและชนกลุ่มน้อยใน 16 หมู่บ้าน ของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก แพร่ พะเยา และ น่าน ในปลายปี พ.ศ.2538 พบว่าตัวแทนชาวเขาและชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ก็มีความรู้สึกวิตกกังวลถึงสิทธิในการเป็นพลเมืองไทยของตนเองและบุตรหลาน (หน้า 85)

Belief System

ผลการสำรวจใน พ.ศ.2538 พบว่า ชาวเขาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ 40.10 % (ลดลง 7.6 % จากเดิมที่เคยสำรวจไว้ในปี 2528-2530) แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มอัตราการนับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น และยังคงเชื่อมั่นในความเชื่อดั้งเดิมของการนับถือผีบรรพบุรุษ ผีป่า ผีบ้าน ผีต่าง ๆ และปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มจีนฮ่อ ยังมีการนับถือศาสนาอิสลามด้วย แต่ถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการนับถือศาสนาอื่นๆ ในเรื่องการเผยแพร่พุทธสาสนาไปสู่ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยนั้น มีโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญและมีมานานแล้ว คือ โครงการพระธรรมจาริก และจากการสำรวจ ในปี พ.ศ.2538 พบว่าใน 10 จังหวัด ภาคเหนือและภาคกลาง มีพระธรรมจาริกเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับหมู่บ้านของชาวเขาและมีการจัดตั้งอาศรม ในลักษณะของศาสนสถานจำนวน 205 อาศรม มีพระภิกษุจำนวน 359 รูป คิดเป็นร้อยละ 10.22 ของจำนวนหมู่บ้านชาวเขาทั้งหมดในประเทศไทย หรือร้อยละ 10.93 ของจำนวนหมู่บ้านชาวเขาทั้งหมดในภาคเหนือ (หน้า 74-75)

Education and Socialization

ในอดีตกระบวนการถ่ายทอดความรู้ และทักษะของชุมชนชาวเขาที่เป็นไปตามวัฒนธรรมและสังคมของแต่และเผ่า ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุคน ได้แก่ การกล่อมเกลาทางสังคม การถ่ายทอดความรู้ด้านวัฒนธรรมจารีต ประเพณี อาชีพ และวิถีทางดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอด เป็นต้น แต่กระบวนการต่างๆ เหล่านี้กลับถูกมองข้ามจากผู้จัดการให้มีการบริการการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียนที่จัดให้แก่ชาวเขาและชนกลุ่มน้อย (หน้า 67) โดยการจัดบริการการศึกษาให้แก่ชาวเขานั้น มีทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาวิชาชีพนอกภาคเกษตร ซึ่งจัดขึ้นโดยหลายหน่วยงาน (หน้า 58-74) จากการสำรวจของคณะวิจัย พ.ศ. 2538 พบว่า มีประชากรชาวเขาที่ได้รับบริการการศึกษาจากรัฐตั้งแต่ระดับอนุบาล/เด็กเล็ก ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ทั้งสิ้น 187,572 คน คิดเป็น 23.73 % ของประชากรชาวเขาทั้งประเทศ (หน้า 61 - 67) และพบว่าได้มีกลุ่มประชากรทั้งวัยเด็กและวัยแรงงานที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนวิชาชีพนอกภาคการเกษตรประมาณ 198,627คน ใน พ.ศ.2538 คิดเป็นร้อยละ 25.13 ของจำนวนประชากรชาวเขาทั้งประเทศ และหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ผ่านกระบวนการฝึกอบรมวิชาชีพนอกภาคการเกษตรที่สำรวจพบในปี พ.ศ. 2538 มีประมาณ 119,066 คน คิดเป็นร้อยละ 15.06 ของประชากรชาวเขาทั้งหมดของประเทศ (หน้า 67-74)

Health and Medicine

ผลการวิจัย พ.ศ. 2538 ยืนยันตรงกับผลการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2528 และ 2529 โดยกระทรวงศึกษาธิการว่า สภาพโรคภัยไข้เจ็บ ที่ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยยังประสบอยู่คือ โรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ โรคทางเดินอาหาร โรคไข้มาลาเรีย วัณโรค เป็นต้น และ โรคปัจจุบันที่สำรวจพบ คือ โรคเอดส์ (หน้า 76) แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานเกี่ยวกับโรคมาลาเรียเข้าไปช่วยเหลือได้ถึงร้อยละ 83.50 ของหย่อมบ้านทั้งหมด แต่อัตราการป่วยและแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวก็ยังไม่ลดลง นอกจากนั้น โรคผิวหนัง วัณโรค โรคพยาธิต่าง ๆ โรคทางเดินลมหายใจและอาหาร ยังเป็นโรคระบาดอยู่ทั่วไปในกลุ่มชาวเขาทุกเผ่า ทั้งนี้ คงเกิดจากสภาพบ้านเรือน และการใช้ส้วมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อีกทั้งเมื่อมีการเจ็บป่วยชาวบ้านยังนิยมรับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน (หมอผี) ถึงร้อยละ 50 (ดังจะเห็นได้จากหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลจากหมอกลางบ้านตามประเพณีเผ่ามากกว่าการฝากครรภ์ตามโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย และในภาวะหลังคลอดหมอตำแยในหมู่บ้านของเผ่าจะเป็นผู้ดูแลเอง) รองลงมาได้แก่การรักษาที่สถานีอนามัย ศูนย์พัฒนาชาวเขา ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ถึงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือจะใช้บริการจากโรงพยาบาลของอำเภอและจังหวัด ซึ่งผู้วิจัยพบว่าอัตราการเดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะสภาพการคมนาคม และยานพาหนะขนส่งเข้าถึงหมู่บ้านชาวเขาสะดวกขึ้น และฐานะทางการเงินของชาวเขาบางครอบครัวดีขึ้น (หน้า 76-78) หากนำเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ) ของชาวพื้นราบมาตรวจสอบกับคุณภาพชีวิตของชาวเขาจะพบว่า คุณภาพชีวิตแทบทุกด้านของกลุ่มประชากรชาวเขา อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่รัฐกำหนดไว้สำหรับชาวพื้นราบ อีกทั้งยังเริ่มมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสารเสพติดจากฝิ่นมาเป็นเฮโรอีน และสารเสพติดชนิดอื่น ๆ เช่น สารระเหย (กาว ทินเนอร์) ซึ่งจะพบมากในวัยรุ่นชาย (หน้า vi,76)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ผู้วิจัยไม่ได้กล่าวถึงอัตลักษณ์ของชาวเขา หรือชนกลุ่มน้อยแต่ละเผ่าอย่างละเอียด แต่พอสรุปได้ว่า ชาวเขามีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งแต่ละเผ่าล้วนมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งชาวเขาและชนกลุ่มน้อยอื่นต่างมีความรู้ ความสามารถในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพบนพื้นที่สูงในแบบฉบับของตนเอง รวมทั้งมีการรักษาแผนโบราณตามวิถีการปฏิบัติดั้งเดิม มีทักษะการใช้ภาษา มีระบบความเชื่อจารีตและประเพณีดั้งเดิมของตนเอง ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป (หน้า vi, 58, 67, 77,129-131)

Social Cultural and Identity Change

จากการที่รัฐและองค์การพัฒนาต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อชาวเขาและชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่มีมาตรการวิธีปฏิบัติและจุดเน้นที่ต่างกัน ซึ่งในช่วงเวลากว่า 30 ปี หน่วยงานของรัฐกว่า 12 กระทรวง 30 กรม (หน้า 114,116) ได้เข้าไปดำเนินงานพัฒนาด้านต่างๆ บนพื้นที่ สูง ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านขึ้นกับชาวเขาและชนกลุ่มน้อย กล่าวคือ วัฒนธรรมของชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ซึ่งแต่เดิมมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูงกำลังถูกกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมพื้นราบและวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และการพึ่งพาตนเองตลอดจนความหลากหลายของวิถีชีวิต และประเพณีต่าง ๆ ของชาวเขาก็ถูกผสมกลมกลืนเช่นกัน โดยมีความพยายามนำวัฒนธรรม และระบบต่างๆ ของไทยพื้นราบและตะวันตกเข้าไปแทนที่วัฒนธรรมและระบบดั้งเดิมของชาว โดยอาศัยวิธีการให้การศึกษา ศาสนา และการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร (หน้า 129)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผู้วิจัยเห็นว่าการพัฒนาชาวเขาและชนกลุ่มน้อย โดยหน่วยงานรัฐและเอกชนส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาที่ยังมิได้มีการศึกษาในแนวลึก และเป็นปัญหาที่เกิดจากมุมมองของชาวพื้นราบ และบุคคลภายนอก แต่ขาดการให้โอกาสชาวเขาและชนกลุ่มน้อยมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ กำหนดนโยบายและตัดสินใจดำเนินการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ของตน และที่สำคัญคือ รัฐยังมีจุดอ่อนในการดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จัดขึ้นด้วย (หน้า 135) ซึ่งจากผลจากวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยมีข้อสังเกตเชิงเสนอแนะ ในเบื้องต้นด้านสังคม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาในชุมชนบนพื้นที่สูง (หน้า135-137) เพื่อเสนอแนะทางปฏิบัติต่อกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาการศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรมดังนี้ คือ 1. กระทรวงศึกษาธิการควรทบทวนนโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและชาวเขา หรือโดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูงทุกระดับ ในงานด้านสังคมจิตวิทยา เพื่อให้เกิดความแน่ชัดในเชิงปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการในนโยบายระดับต่าง ๆ 2. กระทรวงศึกษาธิการควรทบทวนสัดส่วนของพื้นฐานทางงานสังคมจิตวิทยาให้ตรงตามนโยบายของรัฐ เพื่อเป็นทิศทางให้กรมในสังกัดที่เกี่ยวกับการศึกษาแก่ชุมชนบนพื้นที่สูงได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน 3. การพัฒนาการศึกษาของชุมชนบนพื้นที่สูง น่าจะมอบหมายให้องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เป็นผู้กำหนดแผนงานโครงการ 4. เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบแล้วก็มอบหมายให้องค์กรนั้นเป็นผู้ประสานงาน กำกับติดตาม และประเมินผลให้ทราบทุกระยะซึ่งคาดว่าจะทำให้การพัฒนาการศึกษาของชุมชนบนพื้นที่สูงมีประสิทธิภาพดีกว่าที่ผ่านมา (หน้า 137-138)

Map/Illustration

แผนภูมิ - แผนภูมิแสดงขั้นตอนการวิจัย (หน้า 15) - แผนที่ประเทศไทยแสดงพื้นที่จังหวัดของการวิจัย (หน้า 16) - แผนผังการพัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูล (หน้า 20) - แผนภูมิแสดงจำนวนชาวเขาและชนกลุ่มน้อยในเอเชียอาคเนย์ (หน้า 30) - แผนภูมิแสดงแผนที่จังหวัดที่มีชาวเขา (หน้า 38 ) - แผนภูมิแสดงการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยของชาวเขาเผ่าต่างๆ (หน้า 51) - แผนภูมิแสดงการอพยพโยกย้ายชาวเขาโดยรัฐ (หน้า 52) - แผนภูมิแสดงประชากรชาวเขาแยกตามเผ่าใน พ.ศ.2538 (หน้า 54) - แผนภูมิแสดงการเปลี่ยนแปลงประชากรชาวเขาระหว่างปี 2528/31 - 2538 แยกตามจังหวัด (หน้า 55) - แผนภูมิแสดงการเปลี่ยนแปลงประชากรชาวเขาระหว่างปี 2528/31 - 2538 แยกตามเผ่า (หน้า 56) - แผนภูมิแสดงร้อยละของอาชีพที่ประกอบนอกชุมชน ( หน้า 70) - แผนภูมิแสดงอัตราการติดยาเสพติดของกลุ่มต่างๆ (หน้า 79) - แผนภูมิแสดงจำนวนผู้ติดฝิ่นบริเวณบ้านป่าเกี๊ยะ (หน้า 80) - แผนภูมิแสดงการติดเชื้อ HIV ของกลุ่มตัวอย่างของชาวเขา (หน้า 81) - แผนภูมิแสดงชาวเขาและชนกลุ่มน้อย(บางส่วน) ในประเทศเพื่อนบ้าน (หน้า 84) - แผนภูมิแสดงตัวอย่างการใช้งบประมาณรายปีของโครงการพัฒนาชาวเขาโครงการหนึ่ง (หน้า 103) - แผนภูมิแสดงสถานที่ตั้งและพื้นที่ปฏิบัติขององค์การเอกชนพัฒนาชาวเขา (หน้า 107) - แผนภูมิแสดงระบบงานแก้ไขปัญหาชาวเขา (หน้า 127) ตาราง - ตารางแสดงรายชื่อจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน และเผ่าที่ถูกเลือกจากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายเพื่อทำการศึกษาในแนวลึก (หน้า 19) - ตารางแสดงจำนวนชาวเขา สำรวจโดยบุคคล/หน่วยงานต่างๆ ระหว่าง พ.ศ.2503-2538 (หน้า 34) - ตารางแสดงประชากรชาวเขารายจังหวัด จำแนกอำเภอ หย่อมบ้าน และครัวเรือน พ.ศ.2538 (หน้า 39) - ตารางเปรียบเทียบจำนวนประชากรชาวเขา 14 จังหวัด ภาคเหนือ จากการสำรวจโดนคณะวิจัย พ.ศ.2538 และกรมประชาสงเคราะห์ (หน้า 50) - ตารางแสดงสภาพการใช้ภาษาไทย/สื่อความหมาย ของชาวเขาในประเทศไทย พ.ศ.2538 (หน้า 59) - ตารางแสดงร้อยละของประชากรชาวเขาอายุ 5 ปีขึ้นไป จำแนกตามการศึกษาที่สำเร็จเป็นรายภาค และรายเผ่า พ.ศ. 2528-2531 (หน้า 60) - ตารางแสดงร้อยละของประชากรชาวเขาอายุ 5 ปีขึ้นไป จำแนกตามความสามารถในการใช้ภาษาไทย เป็นรายภาคและรายเผ่า พ.ศ.2528 - 31 (หน้า 61) - ตารางแสดงจำนวนชาวเขาที่กำลังศึกษาในระดับต่างๆ ในและนอกระบบ แยกจังหวัด (หน้า 63) - ตารางแสดงจำนวนชุมชน แยกตามจำนวนคนทำงานนอกชุมชน (หน้า 69 ) - ตารางแสดงการจัดการศึกษาส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตรให้แก่ชาวเขา (หน้า 92) - ตารางแสดงผลผลิตฝิ่นและพื้นที่ปลูกฝิ่น พ.ศ.2508 - 2533 (หน้า 101) - ตารางแสดงงบประมาณของโครงการพัฒนาชาวเขาเฉพาะพื้นที่ในระหว่างปี พ.ศ.2512 - 2538 (หน้า 104) - ตารางแสดงจำนวนกิจกรรม/โครงการการพัฒนา แยกตามเผ่า ในพ.ศ.2539 (หน้า 105) - ตารางแสดงกิจกรรมหลักขององค์การเอกชนพัฒนาชาวเขา(ไม่มีข้อมูล 8 หน่วยงาน) (หน้า 107) - ตารางแสดงแหล่งงบประมาณที่สำคัญของหน่วยงานเอกชนที่พัฒนาชาวเขา (หน้า 108) - ตารางแสดงกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานเอกชนที่พัฒนาชาวเขา (หน้า 109) - ตารางแสดงชาติพันธุ์ของผู้ก่อตั้งและผู้บริหารหน่วยงานเอกชนที่พัฒนาชาวเขา (หน้า110) - ตารางแสดงจำนวนหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับชาวเขา (หน้า 114) - ตารางแสดงกระทรวงที่เข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับชาวเขาใน 9 จังหวัด ภาคเหนือ จำแนกรายจังหวัด (หน้า 115)

Text Analyst ทรรศนันท์ ชินศิริพันธุ์ Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ขมุ กำมุ ตะมอย, ไต คนไต ไตโหลง ไตหลวง ไตใหญ่, จีนยูนนาน จีนมุสลิม, เมี่ยน อิวเมี่ยน, ลาหู่ ลาฮู, ปะโอ, โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู กะเหรี่ยง, คะยาห์ กะเรนนี บเว, คะยัน กะจ๊าง, ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ กะเหรี่ยง, ชาวเขา, ชนกลุ่มน้อย, การสำรวจทางประชากร, การศึกษา, สาธารณสุข, ประเทศไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง