สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลเวือะ,วัฒนธรรม,การตั้งถิ่นฐาน,พิธีกรรม,สุขภาพอนามัย,ภาคเหนือ
Author ณัฏฐวี ทศรฐ และ สุริยา รัตนกุล
Title สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ : ละว้า
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 32 Year 2539
Source สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2539
Abstract

จากรายงานการศึกษาซึ่งผู้วิจัยได้ถ่ายทอดข้อมูลภาคสนาม สะท้อนให้เห็นถึงรายละเอียดของวิถีชีวิตละว้าถ่ายทอดผ่านแง่มุมต่างๆ ที่ดำรงสืบเนื่องสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ละว้า ทั้งยังคงผูกโยงอยู่กับความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม แบบสังคมชนเผ่า ซึ่งพบว่ามีการรับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตภายนอกเข้าไปผสานกลืน

Focus

เน้นศึกษาวัฒนธรรมของละว้า

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

เน้นศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ละว้า ซึ่งมักเรียกตนเองว่า "ละเวือะ"

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาละว้า (ละเวือะ) จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาใหญ่ออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) อยู่ในกลุ่มตระกูลของภาษามอญ-เขมร สาขาย่อยปะหล่อง-ว้า (Palaung-Wa) อีกทีหนึ่ง ไม่มีระบบเสียงวรรณยุกต์ มีหน่วยเสียงสระ 25 หน่วยเสียง สระเดี่ยว 10 หน่วยเสียง สระประสม 15 หน่วยเสียง มีผู้ใช้ใน 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ละว้าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่ตั้งถิ่นฐานเป็นรัฐก่อนอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรไทยก่อนอารายธรรมอินเดียแผ่อิทธิพลเข้ามา เคยอาศัยอยู่บริเวณอาณาจักรล้านนาโบราณก่อนพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ จากหลักฐานหนึ่งตามตำนานโบราณพบว่า ละว้าเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยบริเวณเวียงเจ็ดริน (ดอยสุเทพ) ต่อมากลุ่มคนไทยยวนได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานร่วมกับละว้า ในสมัยพระยาวีวอมีละว้า 9 ตระกูลแบ่งหน้าที่กันปกครองอาณาจักรละว้าโบราณ ก่อนที่จะเป็นเมืองศรีนครพิงค์เชียงใหม่ในสมัยพระยามังราย สมัยขุนหลวง วิลังคะผู้นำละว้าได้แพ้สงครามแก่พระนางจามเทวี ละว้าบางส่วนจึงหนีขึ้นไป อยู่บนภูเขา รักษาเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์สืบมาจนทุกวันนี้ ในขณะที่ละว้าบางส่วนอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำปิงถูกผสานกลืนไปกับวัฒนธรรมชนเผ่าไทย แม้อาณาจักรละว้าจะล่มสลายไปในราวปี พ.ศ.1200 แต่ยังคงความสัมพันธ์ระหว่างละว้ากับไทยล้านนาไว้ ส่วนหลักฐานเมืองเชียงตุงพบว่า เดิมละว้าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเชียงตุง เมื่อครั้งพระยามังรายเสด็จประพาสมาพบเมืองนี้เข้า ก็ปรารถนาจะสร้างเมืองจึงได้สลักรูปไว้บนดอย ต่อมาได้ส่งกองทัพมาปราบละว้าในปี พ.ศ. 1786 แม้ละว้าจะไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่เมืองเชียงตุงแล้ว แต่มีหลักฐานว่า ผู้ครองเมืองยังมีความสัมพันธ์กับละว้าอยู่ (หน้า 6-7)

Settlement Pattern

ละว้ามักตั้งหมู่บ้านตามหุบเขาใกล้แหล่งต้นน้ำลำธาร มีพื้นที่นาและไร่ล้อมรอบอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 ฟุต หมู่บ้านละว้าโดยหลักมีสถานที่สำคัญ คือ โบสถ์คริสเตียน โบสถ์คริสตัง วัด โรงเรียนประถม สถานีอนามัยตำบล ศาลาผี เป็นต้น (หน้า 13) ลักษณะบ้านเรือนของละว้าพบ 2 ลักษณะ คือ แบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ บ้านแบบดั้งเดิม ใช้ใบคาคลุมเป็นหลังคา หน้าจั่วประดับกาแลสองด้าน ปูด้วยฟากไม้ไผ่ นิยมเจาะรูไว้ที่ฝาห้องครัว เพื่อใช้ส่องดูจากด้านนอก ตัวบ้านอยู่สูงจากพื้นดิน 2-2.5 เมตร การปลูกบ้านจะไม่ให้แนวหลังคาขนานกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ มีการ ตั้งเครื่องเลี้ยงผีไว้ที่มุมห้องทั้งที่หัวนอนและปลายเท้า บางบ้านจะตั้งเครื่องเลี้ยงผีเรือนด้านนอกบริเวณชานบ้านที่มีหลังคา ส่วน บ้านแบบสมัยใหม่ ส่วนใหญ่จะปลูกยกสูงจากพื้น 2.5-3 เมตร มีทั้งแบบ ชั้นเดียวและสองชั้น พื้นบ้านและฝาบ้านนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก หลังคามุงด้วยสังกะสี แซมด้วยใบตองตึงและหญ้าคา หลังคาไม่นิยมติดกาแล (หน้า 13-15)

Demography

จากทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูงในประเทศไทย ปี 2538 ของกองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานฯ มีจำนวนประชากรละว้าโดยรวม 14,152 คน แยกตามจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ได้ ดังนี้ (หน้า 8) จังหวัดเชียงใหม่ อ.เชียงดาว 93 คน อ.แม่แจ่ม 1,851 คน อ.อมก๋อย 2,000 คน อ.ฮอด 5,428 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.แม่สะเรียง 1,368 คน อ.แม่ลาน้อย 2,749 คน กิ่ง อ.ปางมะผ้า 65 คน นอกจากนี้ละว้าบางส่วนยังตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ด้วยในพื้นที่ดังต่อไปนี้ จังหวัดเชียงใหม่ อ.สะเมิง 42 คน อ. ฮอด 307 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.ขุนยวม 23 คน อ.แม่ลาน้อย 79 คน อ.แม่สะเรียง 147 คน

Economy

ละว้ามีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพด้วยเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงตนเองเป็นหลัก เมื่อผลิตผลทางการเกษตรมีมากเกินความต้องการจึงแบ่งขาย นอกจากนี้ บางหมู่บ้านยังทำไร่ ทำสวนผักในนาที่เกี่ยวข้าวแล้ว หรือปลูกพริก มันสำปะหลังไว้ในไร่ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตหลักแล้ว งานสวนเป็นภาระของผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะออกป่าล่าสัตว์ ละว้าเลี้ยงสัตว์ และทำงานจักสานทุกประเภท เช่น แปม (กระบุงสานตาถี่ ใช้ใส่สิ่งของและพืชผัก) ก๊อก (กระบุงสานตาถี่ ส่วนใหญ่ใช้ใส่ฟืน มีสายสะพายสำหรับคาดหัว) กองพา (ภาชนะสานสำหรับเหน็บไว้ที่เอว ใช้ใส่มีดเวลาออกไปป่า หรือออกหาปลา) ละว้าบางกลุ่มออกจากหมู่บ้านไปรับจ้างทำงานตามเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ แม่สะเรียง ฝ่ายหญิงทำงาน จักสาน ทอผ้า ปั่นฝ้าย หนีบฝ้าย หาฟืนมาสะสมไว้ และหุงหาอาหาร (หน้า 15-17) ละว้านิยมปลูกดอกไม้ไว้ในไร่ และนิยมปลูกพริก มะเขือ แตง ข้าวโพด ยาสูบ ฯลฯ พื้นที่ไร่จะอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ใช้ระบบเพาะปลูกแบบพื้นที่หมุนเวียน ใช้เนื้อที่บนไหล่เขาปลูกข้าวไร่พร้อมพืชผักสวนครัว เมื่อหยอดเมล็ดข้าวแล้วก็จะปลูกพันธุ์ผัก และดอกไม้ผสมลงไปในคราวเดียวกัน เช่น งา ถั่วฝักยาว ดอกดาวเรือง หงอนไก่ เป็นต้น ละว้าบางหมู่บ้านแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ ที่นาและที่ไร่ และได้เปลี่ยนพื้นที่ไร่ มาเป็นพื้นที่สวนผักเพื่อการค้า ส่วนละว้าที่ไม่ใช้พื้นที่ไร่ก็แบ่งให้กะเหรี่ยงเช่าปีละประมาณ 200 บาท ละว้าจะลงมือปลูกข้าวในไร่พร้อมปลูกผักสวนครัวและดอกไม้ ปลายเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม หลังจากนั้น 2 เดือนจึงเริ่มปลูกข้าวในนา มีการขุดทางระบายน้ำจากลำธารเข้านา ฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สิทธิการเลือกที่ทำกินจะแบ่งตามลำดับความสำคัญของชนชั้นผู้นำทางพิธีกรรม (หน้า 17-19) ปัจจุบันครอบครัวละว้าบางครอบครัวไม่ทำเกษตรในพื้นที่ไร่ แต่ทำสวนในพื้นที่นาแทน โดยนิยมปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกันหมุนเวียนกันไป เช่น ผักกาด ต้นหอม ผักชี ยาสูบ ผักที่ปลูกนี้ละว้าจะเก็บไปขายในหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านกะเหรี่ยง เป็นต้น (หน้า 19)

Social Organization

ครอบครัวละว้ามีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย เมื่อลูกชายแต่งงานอาจอยู่ร่วมกับพ่อแม่ไประยะหนึ่งก่อน เมื่อพร้อมจึงแยกบ้านไปสร้างครอบครัวของตน ส่วนลูกชายคนสุดท้องยังคงต้องทำหน้าที่อยู่ดูแลพ่อแม่ (หน้า 19) การแต่งงาน มักจัดพิธีหลังฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ละว้าสืบสายตระกูลฝ่ายชาย นิยมมีผัวเดียวเมียเดียว ไม่แต่งงานระหว่างพี่น้อง ไม่คำนึงถึงเรื่องอายุในการแต่งงานผู้หญิงจะมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่าคู่ของตนก็ได้ สามารถแต่งงานกับคนต่างเผ่าพันธุ์ได้ เช่น แต่งกับกะเหรี่ยงและคนเมือง ถือว่าน้องจะไม่แต่งงานก่อนพี่ โดยเฉพาะผู้หญิง หากต้องการแต่งงานจริง ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเสียค่าปรับให้พี่สาว (หน้า 19 - 20) (พิธีแต่งงานดูที่หัวข้อ Belief System) ละว้าชายหญิงจะแบ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคมกันค่อนข้างชัดเจน คนเฒ่าคนแก่จะได้รับการเคารพยอมรับจากผู้ที่อาวุโสน้อยกว่า เห็นได้ชัดในเรื่องลำดับที่นั่งหน้าเตาไฟ ผู้ที่อาวุโสสูงสุดจะนั่งอยู่หัวเตาไฟ และผู้อาวุโสน้อยจะนั่งถัดออกมา ตัวอย่างการเรียงลำดับดังนี้ ชะมังสูงสุด-ปูลาม-ผู้เฒ่าผู้แก่-คนหนุ่มสาว ฯลฯ ส่วนผู้หญิงมักเป็นผู้อยู่เบื้องหลังพิธีกรรม ช่วยในเรื่องการครัวและอาหารเมื่อเสร็จพิธีกรรม ผู้หญิงก็จะกินอาหารต่อจากกลุ่มผู้ชาย (หน้า 22 - 23)

Political Organization

การปกครองของละว้ามี 2 ลักษณะ คือ แบบมีผู้นำตามลัทธิธรรมเนียมเดิม (ซะมัง สูงสุด?ชนชั้นขุนของละว้า ถือว่าเป็นตระกูลของชนชั้นสูงที่สืบทอดเชื้อสายต่อกันมา) และแบบที่ผู้นำได้รับการแต่งตั้งจากส่วนราชการอย่างเป็นทางการ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารและการปกครองส่วนท้องถิ่น หากชุมชนละว้าประกอบประเพณีพิธีกรรมใดขึ้น ผู้นำอย่างเป็นทางการต้องเคารพเชื่อฟังซะมังหรือผู้นำดั้งเดิมของละว้า แต่หากเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการปกครอง การบริหารส่วนท้องถิ่น ซะมังเองก็ต้องเชื่อฟังผู้นำอย่างเป็นทางการ หากหมู่บ้านใดแยกตัวออกไปตั้งครัวเรือนใหม่ และไม่มีซะมัง ละว้าที่หมู่บ้านนั้นมักไปเชิญตระกูลซะมังจากหมู่บ้านอื่นมาเป็นผู้นำในหมู่บ้านตน แต่หากหมู่บ้านใดมีตระกูลซะมังอยู่มาก ก็จะต้องมีผู้นำสูงสุดของซะมัง เรียกว่า "ไกยพี" หมายถึง ผู้นำสูงสุด (หน้า19) ปัจจุบัน เมื่อมีการประชุมใหญ่ประจำปีของหมู่บ้าน เพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่จะต้องใช้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งซะมังสูงสุด และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน สิทธิการเลือกที่ทำไร่ที่ทำกินแบ่งตามลำดับความสำคัญดังนี้ (หน้า 17-19) 1. ซะมังสูงสุด 2. ตระกูลซะมัง 3. ปูลามหลักของหมู่บ้าน 4. ผู้ช่วยปูลาม 5. กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน 6. ละว้าอื่น ๆ

Belief System

ความเชื่อและพิธีกรรม ละว้ามีความเชื่อและนับถือผีมาแต่โบราณกาล ในปัจจุบัน ละว้าส่วนใหญ่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์หรือถือทั้งพุทธทั้งผี มีบางกลุ่มที่ยังคง นับถือผีและมีการเลี้ยงผีตามอย่างประเพณีดั้งเดิม ละว้าเชื่อว่าผีมีทั้งให้คุณและให้โทษ อาจนำความรุ่งเรืองมาสู่ครอบครัว อำนายผลผลิตทางการเกษตร ส่วนละว้าที่นับถือศาสนาคริสต์นั้น ไม่นิยมประกอบพิธีกรรมใด ๆ เกี่ยวกับผีและไม่เข้าร่วมเลี้ยงผีอย่างเด็ดขาด แต่หากเป็นงานประเพณี เช่น การแต่งงาน ละว้าส่วนใหญ่ ต่างก็มาร่วมและช่วยเหลืองานนั้นเป็นอย่างดี ทุกวันอาทิตย์ละว้าที่นับถือคริสตศาสนาจะไปประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์ (หน้า 22) พิธีกรรมเสี่ยงทาย ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซะมังสูงสุด และปูลาม (ผู้นำทางพิธีกรรม) จะทำพิธีเปิดพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นที่ไร่ ซะมังสูงสุด ปูลามและผู้ช่วยปูลามหรือผู้เฒ่าไปเอาดินจากที่ไร่ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่ทำกินปีนี้ และบอกแก่ผีเจ้าที่ว่า พวกเขาจะทำมาหากินบนพื้นที่นี้ ถ้ามีผีตัวใดอยู่บริเวณนี้ให้ช่วยย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อน ทั้งยังขอพรจากเจ้าที่ให้ ปกป้องคุ้มครองให้ปลูกข้าวได้งาม แล้วทำพิธีเสี่ยงทายพื้นที่ทำกินโดยดูน้ำจากดีไก่ เรียกว่า "ดีคัย" จากนั้นจะทำพิธีเลี้ยงผีทางเดิน (โนกต๊ะกยะ) รุ่งขึ้นมีการป่าวประกาศเรียกชาวบ้านมาประชุมใหญ่เพื่อจัดแบ่งพื้นที่ และเฉลี่ยเงินค่าไก่และเหล้าที่ใช้เลี้ยงผีต๊ะกยะ (ยกเว้นผู้นับถือคริสต์)(หน้า 17-18) พิธีแต่งงาน ขั้นตอนการแต่งงานเริ่มตั้งแต่การที่หนุ่มไปจีบสาว เมื่อหนุ่มถูกใจสาวคนใดก็จะไปบ้านสาวคนนั้น หากเป็นบ้านละว้าแบบดั้งเดิม หนุ่มจะแอบมาร้องคำซอความรักในทำนองจีบสาว นอกจากนี้ ละว้าบางหมู่บ้านก็นิยมใช้วิธีล้วงสาว เริ่มจากให้ของกำนัลแก่สาว ในอดีตมักจะให้ถุงแขน(ปอเต๊ะ) ฝ้าย ยาสูบ เมี่ยง การให้สิ่งของนี้มีพัฒนาการมาตามยุคสมัยและความจำเป็น ในปัจจุบันนิยมให้ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก ด้ายทอผ้า นาฬิกา แหวน สร้อย ฯลฯ การให้ของนี้จะให้ประมาณปีละ 3 ครั้ง เมื่อตกลงเป็นแฟนกันแล้วก็จะมีพิธีจับสาว คือ ฉุดสาวตามประเพณี หลังจากนั้นฝ่ายชายจะทำพิธีขอขมาต่อพ่อแม่และผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง หากเป็นละว้าที่นับถือศาสนาคริสต์ จะไม่มีการจับสาว แต่จะให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอและปฏิบัติตามประเพณีละว้าที่ไม่มีผีเข้ามาเกี่ยวข้อง ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงหาวันแต่งงาน พิธีส่งเคราะห์เมือง จัดขึ้นก่อนวันแต่งงาน 1 วัน เพื่อให้ผีเมืองได้รับรู้ว่าภายในหมู่บ้านจะมีครอบครัวใหม่อีกครอบครัวหนึ่ง การส่งเคราะห์เมืองนี้จะต้องทำทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธกับผี ผู้ที่ถือผีอย่างเดียว รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายเจ้าบ่าวและเพื่อนจะพากันไปนอนเฝ้าเจ้าสาวและภายในวันงานจะมีการจัดขบวนต่าง ๆ ไปบ้านเจ้าบ่าว ดังนี้ (หน้า 20 - 23) 1. ขบวนเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พากันไปที่บ้านเจ้าบ่าว แต่หากนับถือคริสต์จะพากันไปทำพิธีที่โบสถ์ก่อนไปบ้านเจ้าบ่าว 2. ขบวนเญื้อะเนิอม เป็นขบวนขยายของเจ้าสาว ภายในขบวนจะมีญาติเจ้าสาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ แต่งกายด้วยชุดดำ ทาแป้งขาวไปทั้งหน้า ถือเครื่องใช้และเสื้อผ้าของเจ้าสาวไปส่งบ้านเจ้าบ่าว 3. ขบวนเปยย เป็นขบวนชายหนุ่มตั้งแต่เด็กจนถึงคนเฒ่า มีเด็กผู้ชายทั้งหมู่บ้านโพกผ้าสีแดง และทัดหูด้วยดอกไม้ไหมพรมทุกคน ส่วนคนหนุ่มแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า ขบวนนี้มีหน้าที่นำเงินค่าตัวสาวไปส่งให้แก่ฝ่ายเจ้าบ่าว หลังพิธีสิ้นสุด บ่าวสาวยังคงทำหน้าที่รับแขกต่อไป เลี้ยงดูปูเสื่อให้แขกจนกว่าจะเดินทางออกจากหมู่บ้านบ่าวสาวจึงหมดหน้าที่ในพิธีแต่งงานนี้ (หน้า 20-23) พิธีกรรมเกี่ยวกับผี - พิธีเลี้ยงผีหมู่บ้าน เรียกว่า "โนกควายเนิอม" หรือ "โนกสปัยซ" จัดขึ้นเพื่อเป็นการปกป้องดูแลคนในหมู่บ้าน และช่วยให้ไร่นาได้ผลอุดมสมบูรณ์ มักใช้เวลา ปีหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของหมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 วันคือ วันดา (วันเตรียมของสำหรับทำพิธี) วันเลี้ยงผี (เซ่นด้วยควาย) วันส่งเคราะห์ เรียกว่า "เตาสะอาง" (สาดน้ำและจุดประทัดไล่เคราะห์ออกไปจากหมู่บ้าน) พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ หรือ "โนกละมาง" แบ่งเป็น การฝากของให้ผีบรรพบุรุษ เช่น ฝากควายให้ไปรับใช้ผีละมาง การเลี้ยงผีละมางโดยใช้หมู "โยงเล้ยโนกละมาง" หรือใช้ไก่ "กาละมาง" การเลี้ยงผีละมางด้วยอาหารเล็กๆ น้อยๆ "จาละมาง" (หน้า 23) พิธีเลี้ยงผีเรือน เรียกว่า "โนกชะมา" เชื่อว่าช่วยให้ผีบ้านผีเรือนดูแลปกป้องคนในครอบครัวตลอดจนสัตว์เลี้ยง และช่วยให้ทำการเกษตรได้ดี มีการทำพิธี 2 วัน คือ วันดา คือวันเตรียมงาน และวันเลี้ยงผี (หน้า 23) พิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่า ละว้าเชื่อกันว่า เศษไม้ที่เกิดจากฟ้าผ่าหากโดนเท้าจะทำให้เท้าแตก เมื่อเกิดฟ้าผ่าบริเวณใดก็จะไม่ไปบริเวณนั้นจนกว่าจะขึ้นวันใหม่ จึงค่อยพากันไปเลี้ยงผีฟ้าผ่า โดยจะไปกันทั้งหมู่บ้านยกเว้นผู้ชายที่มีภรรยาตั้งครรภ์ มีการให้หญิงที่ร่วมพิธีทาหน้าด้วยเขม่าไฟจนดำและแต่งดำ ขณะสวดมนต์ผู้ร่วมพิธีจะต้องหัวเราะส่งเสียงดัง (หน้า 24) พิธีศพ งานศพของละว้าถือเป็นพิธีที่สนุกที่สุด จัดตามความสะดวก ศพของคน มีฐานะจะใช้ควายหรือวัว แต่หากเป็นศพทั่วไปสามารถใช้หมูแทน มีการละเล่น เรียกว่า "ชวงละมาง" คล้ายลาวกระทบไม้ และมฮลอก (เขียนใบไม้และร้องคำซอ) ในกรณี ที่ใช้หมูห้ามเล่นชวงละมางและมฮลอกอย่างเด็ดขาด ผ้าคลุมศพจะให้หญิงสูงอายุเป็นผู้ทอเท่านั้น เมื่อแขกเปิดผ้าคลุมศพออก พวกผู้หญิงก็จะร้องไห้พร้อมกัน กลางคืนมีการร้องคำซองานศพ เมื่อแขกกลับบ้านเจ้าบ้านจะมีห่อเนื้อส่งให้แขกเป็นที่ระลึกถือเป็นเกียรติแก่กัน เป็นการแสดงฐานะของเจ้าภาพ ปูลามจะทำหน้าที่ส่งเสาและโลงที่ป่าช้า พร้อมนำอาวุธรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำด้วยไม้ฝังรวมกับคนตายด้วย ละว้าที่นับถือผี ปูลาม และลูกหาบจะใช้น้ำส้มป่อยปะพรมเมื่อกลับจากป่าช้า และเจ้าของงานศพจะทำพิธีส่งเคราะห์ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและสร้างขวัญให้ครอบครัว (ใช้หมาดำในพิธี) ในกรณีที่ผู้ตายเป็นคนจากบ้านอื่น ต้องซื้อพื้นที่ฝังศพเสียก่อน ศพผู้ตายที่เป็นคริสต์จะไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับผี แต่จะนำไปฝังในพื้นที่ชาวคริสต์ปักไม้กางเขนเหนือหลุมศพ มีการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าให้คนตาย (หน้า 24 - 25) นอกจากนี้ยังมี ศาลาผี (เญียะยู) เป็นสถานประกอบพิธีกรรมและเลี้ยงผีในพิธีใหญ่ บางหมู่บ้านมีศาลผีมากกว่า 2 หลัง ขึ้นอยู่กับ เชื้อสายของสมาชิกในหมู่บ้าน หากนับถือผีต่างตระกูลกัน ก็จำเป็นต้องมี "เญียะยู" ต่างหากออกไป เพื่อประกอบพิธีกรรมตามตระกูลของตน เช่น ที่บ้านแปะ(ย่วงเบระ) ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีละว้า 3 ตระกูล คือ ซะมัง มูเบระ และมูฮลาง แต่ละตระกูลก็มีประเพณีย่อยแยกออกเป็น 6 ลักษณะ ดังนั้นที่บ้านแปะจึงมีเญียะยู 6 หลัง เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมที่ แตกต่างกันทั้ง 6 กลุ่ม

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ละว้ามีวิธีการรักษาโรค 2 แบบคือ การรักษาแบบดั้งเดิม และการรักษาแบบสมัยใหม่ หากเกิดเจ็บป่วยขึ้นจะรักษาแบบสมัยใหม่ก่อน โดยขอยาจากสถานีอนามัย ไปพบแพทย์หรือซื้อยาจากกองทุนหลวงพระราชทาน หากไม่ได้ผลจึงรักษาตามแบบพื้นบ้าน โดยประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อที่นับถือผี นอกจากนี้ยังใช้ความรู้ด้านสมุนไพรที่ถ่ายทอดกันมารักษาโรค (หน้า 26-27) การคลอดบุตร มีทั้งการคลอดแบบดั้งเดิม โดยอาศัยหมอตำแยในหมู่บ้านกับการคลอดแบบสมัยใหม่ นิยมไปทำคลอดที่โรงพยาบาล ละว้าจะอยู่ไฟที่บ้านของตนมี 2 ลักษณะ คือ การอยู่ไฟในท่ายืนและการอยู่ไฟในท่านั่ง หลังจากอยู่ไฟจนครบกำหนดแล้ว จะต้องอยู่เดือนภายในห้องเตาไฟอีก 1 เดือน ส่วนเด็กทารกเมื่อแข็งแรงพอจะถูก นำไปเลี้ยงไว้ในเปล รกเด็กจะถูกฝังไว้ใต้ถุนบ้านตรงตำแหน่งที่เด็กเกิด (หน้า 28-29)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เพลง-วรรณกรรม-บทกวี : ละว้ามีสิ่งบันเทิงใจด้วยการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง การร้องคำซอในพิธีต่างๆ ของคนหนุ่มสาวในการเกี้ยวสาว ไปจนถึงงานศพสำหรับคนสูงอายุ การร้องเพลงกล่อมเด็กและการร้องเพลงเล่นสำหรับเด็กเล็ก นอกจากนี้ ละว้ายังมีวรรณกรรมมุขปาฐะในรูปของบทกวีที่ท่องสืบทอดกันมาปากต่อปากจากบรรพบุรุษละว้าจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน วรรณกรรมมุขปาฐะนี้เรียก "ละซอมแล" แบ่งเป็น 7 ประเภท ประกอบขึ้นจากบทกวี มีข้อความเปรียบเทียบลึกซึ้ง มีการเล่นสัมผัสสระสัมผัสอักษรและความเปรียบที่ไพเราะ ปัจจุบันหนุ่มสาวละว้าไม่ได้ให้ความสนใจบทกวีนี้นัก นอกจากในพิธีงานศพที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องโต้ตอบกันด้วยบทกวีละซอมแล (หน้า 10,16) เครื่องจักสาน : ละว้าจะทำเครื่องจักสานรูปแบบต่าง ๆ ไว้ใช้ มีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันไป ผู้ชายทั้งแก่และหนุ่มจะจักตอกเพื่อทำเครื่องจักสานทุกประเภท เช่น กระบุงสาน (อาจมีทั้งแบบตาถี่และตาห่าง) เรียกว่า "ก๊อก" ส่วนใหญ่ใช้ใส่ฟืน มีสายสะพายสำหรับคาดหัว แปม (กระบุงสานตาถี่ ใช้ใส่สิ่งของทุกอย่างและพืชผัก) กองพา (ภาชนะสานสำหรับเหน็บไว้ที่เอว ผู้ชายใช้ใส่มีดเวลาออกไปป่า หรือใช้ใส่ปลาเวลาออกหาปลาก็ได้ (หน้า 15-16) การแต่งกาย : แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การแต่งกายในชีวิตประจำวันและการแต่งกายในประเพณี-พิธีกรรม ในชีวิตประจำวันหญิงละว้าจะสวมเสื้อขาวแขนสั้นกุ๊นด้ายสี กับผ้านุ่งพื้นดำ มี แถบสีแถบใหญ่แนวนอนคั่น เป็นสีแดงหรือสีชมพูเหลือบด้วยสีเหลือง ลายมัดเป็นสีน้ำเงินแซมขาว มีผ้าพันแขนและผ้าพันแข้ง หญิงละว้าส่วนใหญ่นิยมใส่กางเกงวอร์มไว้ ด้านในผ้านุ่ง ส่วนชายละว้าจะสวมเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวเหมือนคนพื้นราบ นิยมสะพายย่ามซึ่งเย็บรอยคะเข็บด้วยด้ายสีต่างๆ อย่างประณีต เช่น ย่ามลายแดงแนวตั้ง ย่ามส้มแดงลายไทยประยุกต์ ย่ามดำขาวขลิบด้วยสีชมพู (หน้า 12) การแต่งกายในพิธีกรรมประเพณีต่าง ๆ : หญิงละว้าส่วนหนึ่งจะแต่งตามปกติ แต่ในพิธีเลี้ยงผีฟ้าผ่า พิธีแต่งงานและงานศพจะต้องใส่เสื้อสีดำทับลงไปบนเสื้อสีขาว หญิงนิยมประดับมวยผมด้วยปิ่นและขนเม่น - หญิงที่แต่งงานและเข้าพิธี ถ้านับถือผี หรือนับถือพุทธและผีจะใช้ผ้าสีแดง เหลือง หรือขาวคลุมหน้า แต่หากนับถือคริสต์จะใช้ผ้าบางสีขาวคลุมหน้า ส่วนเจ้าบ่าวในพิธีแต่งงานแบบพุทธหรือแบบผี จะนุ่งผ้าโจงกระเบนทับกางเกง พันเอวด้วยผ้าคาดเอวที่เรียกว่า "กะชี" มีประเพณีที่กล่าวถึงการแต่งกายของหญิงละว้าว่า หากพี่สาวแต่งตัวไม่เก่งหรือ ใช้เสื้อผ้าเก่า น้องสาวจะต้องแต่งตัวให้เก่ากว่าพี่สาวหรือสวยน้อยกว่า เครื่องประดับก็ต้องใส่น้อยกว่าด้วย ปัจจุบันหญิงสาวสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนที่เข้าไปทำงานในเมืองจะแต่งกายแบบคนพื้นราบ แต่เมื่อเข้าร่วมพิธีกรรม ทั้งเด็กหญิงและหญิงสาวก็นิยมแต่งชุดประจำเผ่าของตน แม้ว่าปัจจุบันนี้ละว้าส่วนใหญ่จะแต่งกายตามสมัยนิยม แต่ลูกหญิงทุกคนยังต้องรู้จักการทอผ้า (หน้า 12) ทรงผม : หญิงละว้านิยมไว้ผมยาว ม้วนมวยหรือปล่อยยาวประดับปิ่นเงิน ผมด้านหน้านิยมแสกกลางติดกิ๊บดำหรือกิ๊บเงินสองข้าง นอกจากนี้บางหมู่บ้านนิยมการต่อปลายผมให้ยาวโดยใช้ผมจริงที่ตัดเก็บไว้ หญิงสูงอายุนิยมมวยผมต่ำแต่ไม่ทิ้งปลายผม เครื่องประดับ : สาวละว้านิยมสวมสร้อยติดคอ เป็นเชือกฝ้ายสีต่างๆ ยาวห้อยอยู่ด้านหลัง นิยมใส่ต่างหูเงินรูประฆังหงาย (โบระ) บางหมู่บ้านนิยมใส่ต่างหูงาช้าง สาวๆ นิยมต่างหูไหมพรมยาวถึงไหล่สีเหลือง แดง ส้ม นอกจากนี้ยังมีสร้อยลูกปัดร้อยโยงระหว่างต่างหู หญิงละว้าส่วนใหญ่จะสวมสกุนลอง (กำไลเส้นเล็กทำด้วยฝ้ายเคลือบยาลงรักหรือสีน้ำมันเป็นสีดำ) ครั้งละหลายวงบนผ้าพันแข้ง นอกจากนี้ยังมี "สกุนเลีย" เป็นกำไลทองเหลือง มี เสลียงเป็นกำไลต้นแขน และเบรย-กำไลข้อมือเป็นเงินรูปเกลียว กล่องสูบยา "โม๊ค" ตกแต่งด้วย แผ่นเงินและแกะไม้แบบธรรมดาเป็นเครื่องใช้ติดตัวของหญิงละว้าอายุ 30 ปี ขึ้นไป (หน้า 11-13)

Folklore

ตามตำนานพื้นเมืองเดิมเล่าว่า สมัยพระยาวีวอ ภูติผีปีศาจมารบกวนละว้าจนร้อนถึงพระอินทร์ต้องทรงประทานความช่วยเหลือ ทรงขอให้ละว้าถือศีล ละว้า 9 ตระกูลรับอาสาถือศีลจนบ้านเมืองเงียบสงบ พระอินทร์จึงประทานบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วให้ละว้า 9 ตระกูลก็แบ่งหน้าที่กันปกครองอาณาจักรละว้าโบราณ ก่อนได้รับการสถาปนาเป็นนครพิงค์เชียงใหม่สมัยพระยามังราย หลังจากพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่บริเวณดอยสุเทพแล้ว ทรงรับอิทธิพลบูชาเสาอินทขิลซึ่งถือเป็นเสาหลักเมืองจากพวกละว้า มีการแต่งเครื่องบรรณาการให้เสนาที่พูดภาษาละว้าได้ไปหาพญาละว้าบนดอย อุชุบรรพต พญาละว้าแนะนำให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิลเพื่อให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข (อ้างอิง ธนจรรย์ สุระมณี 2539 : 10) (หน้า 6 - 7) นอกจากนี้ยังปรากฏเรื่องเล่าจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า สมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ได้จัดให้คนละว้าเดินจูงหมาเข้าเมืองก่อนหน้าพระองค์ ดังความว่า "...แล้วเถิงเวลายามแตรจักใกล้เที่ยง ท้าวก็ยกเอาหมู่ยศบริวารเข้าเวียงหลวง ด้านประตูช้างเผือกหนเหนือหื้อละว้า จูงหมาพาแขกเข้าก่อนไปสถิตย์สำราญนอนเชียงขวางหน้าวัดเชียงหมั้นได้คืนหนึ่ง..." (อ้างอิง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ 2514:106 อ้างใน อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว 2538:17) (หน้า 7) ส่วนหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งของเมืองเชียงตุง เกี่ยวกับตำนานพญามังรายพบว่า เดิมเมืองเชียงตุงเป็นถิ่นที่อยู่ของละว้า พระยามังรายเสด็จประพาสล่าสัตว์ พบเมืองอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ จึงปรารถนาจะสร้างเมือง และได้สลักรูปพรานจูงหมาพาไถ้ไว้บนดอย จากนั้นเสด็จกลับเชียงรายและส่งกองทัพไปปราบละว้าจนได้รับชัยชนะ หลังสร้างหอคำที่เวียงแก้วแล้วเสร็จ ก็ทำพิธีนั่งเมืองโดยให้พวกละว้ามาทานข้าวบนหอคำแล้วจัดคนถือแส้ไปขับไล่ ให้พระยาน้ำท่วมนั่งหอคำแทน กลายเป็นพิธีที่ปฏิบัติกันสืบมาในเชียงตุง (อ้างถึงใน สุริยา รัตนกุล 2527) (หน้า 6-7)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

จิตสำนึกและอัตลักษณ์ด้านชาติพันธุ์ อันเป็นลักษณะเด่นที่สะท้อนความเป็นละว้าผ่านตำนานตามประวัติศาสตร์ บ่งถึงความเป็นเผ่าพันธุ์ดั้งเดิม และความเชื่อเรื่องการนับถือผีและการเลี้ยงผีที่สะท้อนผ่านพิธีกรรมต่างๆ ที่ดูจะผสานกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตประจำวันของละว้า

Social Cultural and Identity Change

เป็นที่น่าสังเกตว่า อิทธิพลจากคนพื้นราบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าละว้า จะปรากฏให้เห็นผ่านการปกครอง การแต่งกาย งานวรรณกรรมมุขปาฐะไปจนถึงประเพณีการสักหมึก และการสูบ ในส่วนของการปกครอง เมื่อสังคมเปลี่ยนไป อิทธิพลของผู้นำตามลัทธิธรรมเนียมเดิม ซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งในสายตระกูลชนชั้นขุนของละว้า "ซะมังสูงสุด" ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันจะปรากฏนัยยะของความสัมพันธ์ตามบทบาทหน้าที่แบบ "ผลัดกันนำผลัดกันตาม" กับผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนราชการอย่างเป็นทางการ อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (หน้า 19) สำหรับการแต่งกาย ปัจจุบันหญิงสาวสมัยใหม่โดยเฉพาะคนที่เข้าไปทำงานในเมือง จะแต่งกายแบบคนพื้นราบทั่วไป ละว้าส่วนใหญ่เองจะแต่งกายตามสมัยนิยม (หน้า 12) งานวรรณกรรมในรูปมุขปาฐะ เช่น บทกวี "ละซอมแล" อันเป็นมรดกทาง วัฒนธรรมทางภาษาที่น่าสนใจ กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจสืบทอดเมื่อสังคมเปลี่ยนไปทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่บ่งถึงเอกลักษณ์และความเจริญของกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าว่ามีความเจริญมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงขั้นสร้างวรรณคดีไว้เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ (หน้า 10, 12) ในส่วนของประเพณีการสักหมึก จะปรากฎแก่สายตาสาวได้เต็มที่เมื่อเล่นชวงละมางในพิธีศพ ซึ่งต้องถกขากางเกงขึ้นมาจนเห็นรอยสัก ในปัจจุบันนั้น คนหนุ่มไม่นิยมสักหมึกแล้ว (หน้า 13) หญิงละว้าอายุ 30 ปีขึ้นไปนิยมสูบกล้องมาก ส่วนผู้ชายสูบกล้องน้อย ส่วนใหญ่นิยมพกถุงยาเส้นไว้ติดตัวและพับแผ่นกระดาษไว้สำหรับมวนบุหรี่-มวนยาเส้นด้วยกระดาษทุกชนิดที่หาได้ มีการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ห่อของจากเมือง หรือกระดาษสมุดนักเรียน เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปวัฒนธรรมการสูบยาเส้น สูบกล้อง ก็เปลี่ยนมาเป็นความนิยมสูบบุหรี่ซองที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปด้วย (หน้า 15)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง : ตารางแสดงเสียงสระประสมและระบบการออกเสียงในภาษาละว้า (หน้า9 - 10) รูปภาพ : บริเวณระเบียงบ้านละว้า (หน้า5) การตั้งเสาสะกังใหม่ (ละว้าบ้านช่างหม้อ) (หน้า7) หญิงละว้านั่งล้อมวง(หน้า9) การแต่งกายของหญิงละว้า (หน้า11) สาวละว้ากับเครื่องประดับ-ต่างหูงาช้าง/ การแต่งกายของผู้ชายละว้า/ มีดด้ามงาช้าง (หน้า12) เญียะยู-ศาลาผี(หน้า13) บ้านเรือนของละว้า (หน้า14) การกรอด้าย (หน้า15) การทอผ้า (หน้า16) การหาของป่า-เพาะปลูก (หน้า17) พิธีเสี่ยงทายในพื้นที่ไร่(ดีคัย) (หน้า18) แปลงปลูกผัก (หน้า19) ประเพณีพิธีกรรม (หน้า22-23) การเล่นชวงละมางและมฮลอก (หน้า24) พิธีศพ (หน้า25) การประกอบอาหารในพิธี (หน้า26) เครื่องส่งเคราะห์จากพิธีแต่งงาน/อุปกรณ์อยู่ไฟ(หน้า27) การอยู่ไฟ (หน้า28-29)

Text Analyst เสาวนีย์ ศรีทับทิม Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG ลเวือะ, วัฒนธรรม, การตั้งถิ่นฐาน, พิธีกรรม, สุขภาพอนามัย, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง