สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ดาระอั้ง,ประชากร,ภาษา,การตั้งถิ่นฐาน,วัฒนธรรม,เชียงใหม่
Author สกุณี ณัฐพูลวัฒน์
Title ดาระอั้ง: คนชายขอบสองแผ่นดิน
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ดาราอาง ดาระอางแดง รูไม ปะเล รูจิง ตะอาง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 27 Year 2545
Source วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ปีที่ 21 ฉบับที่ 1: พ.ศ. 2545, (97-123)
Abstract

จากบทความ ผู้วิจัยเน้นศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้งหรือปะหล่องในสถานภาพการเป็นคนชายขอบสองแผ่นดิน ประวัติความ เป็นมา การอพยพหนีสงครามจากพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทย และแง่มุมต่าง ๆ อาทิ พิธีกรรม ตำนานและความหมายของบท เพลงประจำเผ่า จากการวิจัยเอกสารวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และการวิจัยภาคสนาม

Focus

ศึกษาการดิ้นรนต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตของดาระอั้งในประเทศไทย (หน้า 105)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ผู้วิจัยเน้นศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้งในประเทศไทยเป็นหลัก คนส่วนใหญ่มักรู้จักดาระอั้งในชื่อ "ปะหล่อง" ซึ่งเป็นคำที่ไทยใหญ่และพม่าใช้เรียก หมายถึงกลุ่มคนที่ห่างไกลความเจริญ อาศัยในบ้านป่าเมืองดอย (ในขณะที่ชาวบ้านดาระอั้ง อยากให้ คนอื่นเรียกตนว่า "ดาระอั้ง" มากกว่า) "ดาระอั้ง" หมายถืง "คนที่อยู่บนดอย" เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกตัวเอง (หน้า 99) นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่น ๆ เช่น "รูไม" (Rumai)"เตอะอั๋ง" (Ta-ang) "เบิงลอง" "คุนลอย" (Kuloi) ที่หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ดาระอั้ง (หน้า 100,112) อย่างไรก็ดี มีการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้งเป็นกลุ่มย่อย ด้วยรากศัพท์ ภาษา การแต่งกายและถิ่นที่อยู่ เช่น แบ่งปะหล่อง ออกเป็น 3 กลุ่มคือ ปะหล่องทอง (Golden Palaung) ปะหล่องรูไม (Rumai) และปะหล่องเงิน (Silver Palaung) ซึ่งจากข้อมูลเอกสารระบุว่า เป็นกลุ่มเดียวกับดาระอั้งในประเทศไทย (หน้า 104) นอกจากนี้เอกสารบางฉบับยังแบ่งประหล่องออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปะหล่องเงิน (Silver) และปะหล่องทอง (Golden) ตามลักษณะการแต่งกาย บางกลุ่มระบุว่า ปะหล่องแบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือ ปะหล่องแดง ปะหล่องดำ ปะหล่องดอย ปะหล่องลาย ปะหล่องเสื้อสั้น และปะเหล่าน้ำสั้น (หน้า 105) จากการเก็บช้อมูลภาคสนามในหมู่บ้านปางแดงพบว่า ดาระอั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นดาระอั้งแดง ในขณะที่ข้อมูลเอกสาร ว่า ดาระอั้งในเมืองไทยเป็นกลุ่มดาระอั้งเงิน และชาวบ้านอธิบายตัวเองว่าเป็น กลุ่มดาระอั้งเร่น ผู้วิจัยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาปริญญาเอกกะฉิ่น ซึ่งเก็บข้อมูลเกี่ยวกับดาระอั้งใน 3 ประเทศคือ จีน พม่าและไทย ได้แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ ดาระอั้งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1. ดาระอั้งแดง (Red) ซึ่งก็คือ กลุ่มดาระอั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 2. ดาระอั้งเงิน หรือรูไม (Silver or Rumai) เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในเขตรัฐฉานประเทศพม่า 3. ดาระอั้งทอง (Golden) อาศัยในเขตเมืองน้ำสั้น (Namhsan) ประเทศพม่า (หน้า 104-105)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาพูดของคนดาระอั้งอยู่ในสายตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) หรือตระกูลภาษามอญ-เขมรเหมือนกับลัวะ ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มพูดภาษาปะหล่อง-ละว้า ดาระอั้งไม่มีภาษาเขียนของตัวเอง จึงหยิบยืมใช้ตัวอักษรไทยใหญ่มาใช้ (หน้า 100)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

จากการที่ผู้วิจัยศึกษางานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องหลายชิ้นปรากฏหลักฐานประการหนึ่งตรงกันคือ ชนเผ่าดาระอั้งหรือปะหล่อง เป็นชาวเขาซึ่งอาศัยและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณ ที่สูงของรัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักความสงบ เดินทางอพยพ หนีสงครามจากแผ่นดินเกิดมาสู่ดินแดนฝั่งตะวันออก แต่เมื่อแผ่นดินที่เคยเชื่อมกันถูก แบ่งแยกเป็นสองฝั่งประเทศ โดยมีแม่น้ำสาละวินและสันเขาเป็นตัวกำหนดพรมแดน ไทย - พม่า คนอพยพชนเผ่าดาระอั้งจึงกลายเป็นคนไร้ราก ไร้สัญชาติ ไร้สังกัด กลายเป็น "คนชายขอบ" (Marginal people) (หน้า 97 - 99) จากงานก่อนปี พ.ศ.2500 ได้กล่าวถึงดาระอั้งหรือปะหล่องว่า เป็นชาวเขาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นดอยหลวง ในประเทศพม่า ติดต่อกับพวกไทยใหญ่แห่งแคว้นฉานเหนือ นอกจากนี้ เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับ ยังกล่าวถึงดาระอั้งว่า เป็นพลเมือง กลุ่มหนึ่งภายใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวี หนึ่งในเก้านครรัฐของอาณาจักรไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนชาติไตเมื่อพ.ศ.1200 โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรขณะนั้นอยู่บริเวณเมืองแสนหวีในรัฐฉาน ประเทศพม่า (หน้า 101) จากงานศึกษาเก่าแก่ชิ้นหนึ่งในพม่าในปี ค.ศ.1900 ดาระอั้งอ้างตัวว่า มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับชนกลุ่มว้า ขณะที่ว้าก็อ้างตัวว่ากลุ่มตนอยู่ในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของรัฐฉาน จนถึงแถบเมืองเชียงใหม่ จากข้ออ้างดังกล่าว อาจทำให้เชื่อ ได้ว่า คำบอกเล่าที่มาของดาระอั้งที่ว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ "ท่าตอน" (ประเทศไทยปัจจุบัน) ค่อนข้างมีน้ำหนัก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดของดาระอั้งและว้า (หน้า 101-102) นอกจากนี้ จากตำนานที่บ่งถึงกำเนิดชนเผ่าว่า เป็นลูกหลานของกษัตริย์พระอาทิตย์ เลือกที่จะอยู่บนที่สูง อากาศหนาวเย็นในแถบเมืองน้ำซัน บริเวณตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาลูกหลานได้เติบโตแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นในตอนใต้ของรัฐฉาน แถบเมืองเชียงตุง เป็นกลุ่มคนที่เป็นนักเดินทางชั้นเยี่ยม นิยมตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ บริเวณที่สูงทางตอนใต้ ของรัฐฉาน นิยมอยู่อย่างสงบ เป็นครอบครัวใหญ่ (หน้า 101) งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อมูลว่าปะหล่อง (ดาระอั้ง) เป็นกลุ่มคนรักสงบที่สามารถหลีกหนีปัญหาสงครามได้อยู่เสมอ และมีหลัก ฐานที่สะท้อนให้เห็นความเป็นกลุ่มชนที่สามารถปรับตัว และอดทนต่อภาวะกดดันท่ามกลางสงครามระหว่างสองชนเผ่าได้ดี ส่วนปะหล่องทอง (Golden Palaung) ในเขตเมืองน้ำสั้น (Namhsan) เป็นชนเผ่าที่รักสงบมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การที่ชนเผ่านี้อาศัยอยู่ บนพื้นที่สูงเนื่องจากบรรพบุรุษต่างพากันหนีสงครามหนีการรุกรานของชนเผ่าอื่นเรื่อยมา (หน้า 103) นอกจากนี้งานศึกษาบางชิ้น ซึ่งสนใจศึกษาประเด็นการต่อสู้ในเขตรัฐฉานของกลุ่มกบฏและกลุ่มชนเผ่าที่ลุกขึ้นต่อสู้ ได้กล่าวถึงเรื่ององค์กรปลดปล่อยเสรีภาพรัฐปะหล่อง (Palaung State Liberation Organization) ซึ่งส่วนใหญ่ให้ภาพปะหล่องเป็นเหยื่อในภาวะสงครามมากกว่าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้ (หน้า 104)

Settlement Pattern

ดาระอั้งในปัจจุบัน มักตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านในเขตพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 6,000 ฟุต หมู่บ้านส่วนใหญ่ของดาระอั้งมักตั้งบนสันเขา หรือพื้นที่สูงระหว่างหุบเขา ลักษณะการตั้งบ้านเรือน มีแบบแผนที่ชัดเจน กล่าวคือ มีถนนอยู่กึ่งกลางผ่านหมู่บ้าน มีวัดอยู่กลางหมู่บ้าน ทางเข้าหมู่บ้านมีประตูหมู่บ้าน ซึ่งจะติดคำสวดหรือคาถาไว้ป้องกันผี หรืออันตรายอื่นที่มองไม่เห็น เพื่อป้องกันหมู่บ้าน ส่วนทางทิศเหนือจะเป็น ที่ตั้งของศาลผีเจ้าเมือง หรือ "สะเมิง" ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองหมู่บ้าน และ ถัดจากสะเมิงเป็นที่ตั้งของป่าช้า (หน้า 107) วัฒนธรรมการอยู่อาศัยของดาระอั้ง มักอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวขยายในบ้านแบบ long house หรือ "ก้างต้ง" ลักษณะ บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ไผ่ยกพื้นสูง ภายในบ้านมีหิ้งบูชาพระและเตาไฟกลางบ้าน (หน้า 106-107)

Demography

ปัจจุบันได้มีการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีดาระอั้งอาศัยอยู่ใน 9 หมู่บ้าน ใน 3 เขตอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือ อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง และอำเภอเชียงดาว อันได้แก่ หมู่บ้านห้วยหวายนอก หมู่บ้านห้วยทรายขาว อำเภอแม่อาย หมู่บ้านห้วยจะนุ หมู่บ้านห้วยหมากเลี่ยม หมู่บ้านนอแล อำเภอฝาง และหมู่บ้านแม่จอน หมู่บ้านห้วยปง หมู่บ้านปางแดงนอก และหมู่บ้านไทยพัฒนา ปางแดง (ปางแดงใน) อำเภอเชียงดาว (หน้า 119) มีการระบุตัวเลขประมาณว่า ประชากรดาระอั้งที่อาศัยอยู่ในพม่ามีจำนวน 300,000-400,000 คน อาศัยอยู่บนดอยสูงในเมือง ลูซี เฉินกาง ในเขตปกครองตนเองยูนนาน รวมกับชนเผ่าฮั่น ลีซู ว้า ไตและจิงโป ราว 12,000 คน และอาศัยอยู่ในเมืองไทยราว 5,000 - 7,000 คน (หน้า 106)

Economy

ระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจ ดาระอั้งในพม่า ยังชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่และพืชอื่น ๆ เช่น แตง ฟัก ข้าวฟ่าง มีชื่อเสียงเรื่องการผลิตชา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมของดาระอั้งในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ตอนใต้ของรัฐกะฉิ่นและยูนนาน ซึ่งทำการผลิตชาเพื่อการค้า มีรายได้จากการขายชาทั้งแห้งและสด แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้ามากนัก ดาระอั้งในเมืองไทยปลูกชาเพื่อการบริโภค ไม่ได้ผลิตเพื่อส่งออก ในงานศึกษาต่างประเทศระบุว่า ดาระอั้งส่วนใหญ่จะไม่ผลิตเสื้อผ้า งานฝีมือเพื่อการค้า หากแต่ผลิตเพื่อใช้ประโยชน์เองในครัวเรือน (หน้า 107-108) ดาระอั้งในอดีตซึ่งเคยอพยพหนีสงครามมาจากหมู่บ้านในเขตดอยลาย ยังชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้างทำงานในสวนชา สวนลิ้นจี่ และเกี่ยวข้าว มักเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปในพื้นที่อื่นๆ เพื่อแสวงหาความมั่นคง ในปัจจุบันดาระอั้งเรียนรู้ที่จะทำการผลิต ในรูปแบบไร่ข้าวโพด ไร่ข้าว ซึ่งแตกต่างจากไร่หมุนเวียนซึ่งเคยทำในอดีต ดาระอั้งส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเพิ่มโอกาสการยังชีพให้ตัวเอง ด้วยการเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตร เช่น รับจ้างเตรียมที่ดินทำไร่ รับจ้างเกี่ยวข้าวเก็บพริก นอกจากนี้บางหมู่บ้านยังมีรายได้จากการทำพื้นที่ท่องเที่ยว บ้านพักนักท่องเที่ยว และการขายของประเภท งานฝีมือ ทั้งที่ทำเองและซื้อต่อมาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ (หน้า 119 - 120)

Social Organization

ดาระอั้งถือระบบชายเป็นใหญ่ในครัวเรือน ไม่นิยมแต่งงานระหว่างเข้าพรรษา เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาของการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่จัดงานรื่นเริงยกเว้นงานบุญทางศาสนา โดยทั่วไปถือระบบผัวเดียวเมียเดียว สามารถหย่าร้างกันได้ และสามารถแต่งงานมีครอบครัวใหม่ได้ มักอยู่รวมกันเป็นชุมชน มี "ดาบุแซน" หรือหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้อาวุโส ผู้มีบารมี หรือผู้ใหญ่ที่มีน้ำใจเสียสละ ตนเพื่อส่วนรวม ทำหน้าที่ดูแลประเพณี ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน และคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายในหมู่บ้าน ดาระอั้งเคารพนับถือผู้นำหมู่บ้านเป็นหลัก ทั้งการตัดสินใจด้านสังคมและการเมือง ในส่วนของงานพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ จะมี "หมอเมือง" หรือ "หมอเมิง" ซึ่งรับตำแหน่งโดยการสืบทอดสายตระกูล หมอผีเรียกว่า "เครอหมอเมิง" ทำหน้าที่ติดต่อกับวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (หน้า 108 - 109)

Political Organization

ในทางการเมือง ดาระอั้งไม่มีสถานะความเป็นพลเมือง (Citizenship) ของรัฐใดรัฐหนึ่ง มักถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และมักถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเมือง (เชิงอรรถ หน้า 99) ดาระอั้งกลุ่มที่เคยอยู่ในเขตตอนเหนือของรัฐฉานพม่า เคยมีการตั้งกองทัพปลดปล่อยในชื่อ Palaung State Liberation Army (PSLA) แต่ชุมชนดาระอั้งที่อยู่ ด้านทิศตะวันออกของรัฐฉาน หรือเขตปกครองไทยใหญ่กลับไม่เข้าร่วมสู้รบเพราะต้องการความสงบมากกว่า เมื่อได้รับความเดือดร้อนและกลายเป็นเหยื่อจากสงครามจึงทิ้งหมู่บ้านอพยพหลบหนีมาสู่ประเทศไทย เมื่อครั้งอยู่ในประเทศพม่า ดาระอั้งอยู่ภายใต้การปกครองของไทยใหญ่ แต่ไม่สังกัดรัฐบาลพม่า ไม่มีการทำบัตรประชาชน เพราะหมู่บ้านอยู่ห่างไกลเมืองหลวง จ่ายภาษีให้ไทยใหญ่ด้วยการปลูกฝื่น เพื่อแสดงว่าดาระอั้งขึ้นตรงต่อรัฐฉาน ดาระอั้งที่อพยพหนีสงครามมาเมืองไทย แทนที่จะไปรวมกลุ่มกับทหารดาระอั้งทางตอนกลางและตอนเหนือของรัฐฉาน เพราะดินแดนแถบดอยลายและเขตตะวันออกของรัฐฉานเป็นเขตที่ประเทศไทยเคยปกครอง ทำให้ทหารไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มดาระอั้งมาก่อน หมู่บ้านที่อยู่ริมตะเข็บเป็นที่รวมกลุ่มดาระอั้ง ซึ่งอพยพหนีสงครามจากหลาย ๆ หมู่บ้านในประเทศพม่ามาอยู่รวมกัน แต่ไม่มีผู้นำที่แท้จริง อยู่แบบต่างคนต่างอยู่อย่างยากลำบาก เพราะถูกขุนส่าลอบทำร้าย (หน้า 112-117) ในช่วงปี พ.ศ.2525-2527 สงครามในพม่ายังมีอยู่ ทำให้ดาระอั้งอพยพเข้ามาทางฝั่งดอยลายตามคำบอกเล่าเพื่อมาอยู่ร่วมกับพี่น้องในหมู่บ้านนอแลเพิ่มจำนวนขึ้น ดาระอั้งพูดถึงสาเหตุของการตัดสินใจอพยพว่า เป็นเพราะพม่าไม่มีกฎหมาย มีหลายกลุ่มที่มีอำนาจ แต่ไม่มีผู้ปกครองที่แน่นอน มักแย่งกันเป็นใหญ่และรบราฆ่าฟันกันตลอดเวลา ในขณะที่เมืองไทยมีรัฐบาล มีในหลวงเป็นที่พึ่ง (หน้า 118-119)

Belief System

ศาสนาและความเชื่อ ดาระอั้งนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทอย่างเคร่งครัด โดยรับอิทธิพลมาจาก "ไตโยน" อาณาจักรโยนกในอดีต กลางหมู่บ้านจะมีหอสูงใช้ประกอบพิธีกรรมของชุมชนเรียกว่า "โฮเติ๊ก" ชาวบ้านนิยมทำบุญถือศีลในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา พ่อแม่ดาระอั้งมักนิยมสนับสนุนให้ลูกชายบวชเณรเพื่อเล่าเรียนธรรม และเพื่อแผ่อานิสงส์ให้บิดามารดา นอกจากนี้ ดาระอั้งยังนับถือผี ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตใน 2 ระดับ คือ 1. ผีหรือวิญญาณในสัตว์และคน เรียกว่า "กาบู" 2. ผีในต้นไม้และสิ่งมีชีวิต หรือบางครั้งอาจอยู่ในคนก็ได้ เรียกว่า "กะหน้ำ" นิสัย ดุร้าย เกิดจากการตายผิดปกติ หรือจิตวิญญาณของคนตายบางคนที่ไม่สามารถหาหนทางไปสู่เส้นทางแห่งวิญญาณหลังความตายได้ คนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณทั้งสองประเภทมีหน้าที่ต้องเคารพบูชา เพื่อติดสินบนไม่ให้ทำอันตรายใด ๆ นอกจากนี้ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตที่มีวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่ เช่น ผีบ้าน ผีถนน ผีชา ผีข้าว เป็นต้น (หน้า 109 -110) พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่สอดคล้องกับศาสนา เช่น "สะด้างเคี้ยะ" งานบุญเข้าพรรษา เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อตอกย้ำความสามัคคี และรำลึกถึงความสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงผีเจ้าเมืองก่อนการเพาะปลูก เรียกว่า "งานปิดประตูเมือง" "กะบิไค่บ๊าก" จัดขึ้นเพื่อเลี้ยงขอบคุณผีเจ้าเมือง ผีต้นไม้ ผีป่า และเป็นการขอให้ช่วยดูแลผลผลิตที่จะลงมือปลูกในฤดูกาล (ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) พิธีเลี้ยงผี "นายพันข้าว" จัดขึ้นช่วงก่อนการเพาะปลูกและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในปัจจุบันดาระอั้งยังคงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด แม้บางหมู่บ้านได้เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์บ้างแล้ว ชาวพุทธเคร่งครัดกับความเชื่อแบบดั้งเดิม เชื่อเรื่องบาปบุญยังคงนิยมทำบุญและให้ทานอย่างสม่ำเสมอ หยุดทำงานทุกวันพระ (หน้า 110,112,120)

Education and Socialization

เด็กดาระอั้งได้รับการศึกษาในโรงเรียน ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนก็อ่านออกเขียนหนังสือไทยได้ เพราะได้รับการศึกษานอกโรงเรียนผ่านระบบการศึกษานอกโรงเรียน (หน้า 120)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย วัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงดาระอั้งแดงในประเทศไทย มีเอกลักษณ์ คือ นุ่งซิ่นแดง ใส่เสื้อแขนยาว มีพู่ไหมพรมห้อยรอบต้นแขนเสื้อทั้งสองข้าง มีผ้าเคียนศีรษะ ที่เด่นคือมี "น่องก" หรือ ห่วงคล้องเอวทั้งที่ทำจากเงินและสังกะสี สำหรับการแต่งกายของผู้ชายจะใส่เสื้อคอกลมแขนยาว ผ่าหน้าติดกระดุมจีน นุ่งกางเกงแบบไทยใหญ่ มีผ้าเคียนศีรษะเช่นเดียวกับผู้หญิง ปัจจุบัน ผู้ชายนิยมแต่งตัวเหมือนคนเมืองทั่วไป (หน้า 106-107) เพลง ผู้วิจัยได้ยกบางส่วนของบทเพลงดาระอั้งมาประกอบ นัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านภาษาและความหมายผ่านบทเพลง บ่งถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสะท้อนความเป็นดาระอั้ง ลุงคำ จองตาล ผู้นำหมู่บ้านดาระอั้งปางแดง (ซึ่งผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนาม) ได้ดัดแปลงบทเพลงขึ้นเพื่อให้เด็ก ๆ หัดร้อง ใช้ในการแสดงให้นักท่องเที่ยวฟัง ผุ้ใหญ่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็ร้องได้ " โฮมลอยลอยเย้าไค้ ไว่ลอยลอยเย้านัก ปริกหมึ่งต่งกาแล แปร่หมึ่งตงก๊ายำ ก่อนดุ๊กตูเหมิงมา กรวนพรานตูเหมอเรือน ... เบ่บี่น่องก๋าไว่ เบบี่น่องก๋าไว " (บางส่วนของบทเพลงดาระอั้ง บันทึกเมื่อ 30 พ.ย.2543) (หน้า 98) "... ก่อนดุ๊กตูเหมิงมา กรวนพรานตูเหมอเรือน เฮาเป็นคนทุกข์ไม่มีไร่ไม่มีสวน คนทุกข์ไม่มีเงิน เบบี่น่องก๋าไว่ เบบีน่องก๋าไว่ ขอให้พี่น้องสงสาร ขอให้พี่น้องสงสาร ..." (คำแปลบางส่วนของเพลง หน้า 112) "... เอดืออ่างกร้างเรง จอห่อคัมจาบครื่อ เราดาระอั้งซิ่นแดง พระราชินีทรงแจกเสื้อผ้า จอห่อคัมบึงเมิง คุนเมิงรอกดูอี่พลาน พระเจ้าอยู่หัวครองเมือง ท่านก็รักคนยากจน ลาบาทานรอกอี่ดูอี่ดอนโมย เอาหม้ายคุนเมิง รักทุกชนเผ่า เราของคนเมืองแบ่งปันหมู่บ้านที่จะอาศัย จองโองเรา แต๊ะเยเมอะดือโบ่ย โจ่วก๊อน ให้เราได้อยู่สุขสบายถึงลูกหลาน ..." (เนื้อหาส่วนหนึ่งของเพลงดิ่งที่ชาวบ้านร้องถ่ายทอดสู่กันและกัน) (หน้า 118)

Folklore

ตำนานเก่าแก่ของดาระอั้งเล่าว่า มนุษย์แต่เดิมไม่มีภาษาพูดเป็นของตนเองต้องไปขอจากเทวดา คนดาระอั้งไปถึงช้ากว่าคนอื่น แต่เนื่องจากเทวดาได้เสกภาษาสร้างเสียงให้กับกลุ่มคนอื่น ๆ ไปเกือบหมดแล้ว เมื่อดาระอั้งไปถึง เทวดาจึงปล่อยก้อนหินลง จากภูเขาเป็นเสียงดัง "กลึ้ง กลึ้ง กลั้ง กลั้ง" สำเนียงภาษาของดาระอั้งจึงคล้ายก้อนหินตกจากภูเขา และเสียง "กลึ้ง กลั้ง" นี้ จึงเป็นที่มาของสำเนียงเสียง "ตะอั้ง" หรือ "ระอั้ง" ที่หมายถึง ภูเขา (หน้า 99) อย่างไรก็ดี จากงานศึกษาที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งในพม่าใน ปี ค.ศ.1900 ได้เขียนถึงตำนานการเกิดของชนเผ่าดาระอั้งหรือปะหล่องไว้ว่า เป็นลูกหลานของกษัตริย์แห่งพระอาทิตย์ (King of the Sun) (หน้า 101) นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับ "น่องก" ซึ่งเป็นเครื่องประดับประเภทห่วงเงินคล้องเอวหญิงสาวดาระอั้งเล่าว่า ต้นกำเนิดดาระอั้งคือนางดอยเงิน เป็นวิญญาณผีสาวซึ่งเหาะลงมาอาบน้ำในโลกมนุษย์อย่างเพลิดเพลิน ไม่ทันระวังตัวจึงถูกแร้วของนายพรานรัดเข้าที่เอว ดิ้นไม่หลุด ผีสาวดาระอั้งถูกพรานจับตัวส่งเจ้าเมือง โดยกักตัวไว้ไม่ยอมถอดแร้วออก ซ้ำยังเอาห่วงเงินคล้องเอวถ่วงน้ำหนักไม่ให้ผีสาวเหาะกลับภพภูมิของตน ทำให้แร้วและห่วงเงินกลายเป็นเครื่องประดับสำคัญของสาวดาระอั้ง นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่า น่องกเป็นวัตถุมงคลของชีวิต ควรสวมไว้ตลอดเวลา หากถอดออกจะทำให้สิ่งไม่เป็นมงคลเข้ามาครอบงำ เชื่อกันว่าการสวมน่องกจะทำให้เกิดความสุข เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ (หน้า 110-111)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

สัญลักษณ์อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ในฐานะของ "การเป็นคนชายขอบ" ของดาระอั้งที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในประเทศไทย เมื่อครั้งที่ดาระอั้งอพยพหนีสงครามจากพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานตรงตะเข็บชายแดนไทย คือ การเข้าเฝ้าและถวายเครื่องแต่งกายของหญิงดาระอั้ง ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์การมอบตัวตนของดาระอั้งให้เป็นคนภายใต้การปกครองของในหลวง เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนความจงรักภักดี และ ยืนยันความเป็นพี่น้องที่นับถือศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับคนไทย (หน้า 112, 117) แม้ผู้วิจัยจะให้คำอธิบายว่า สำหรับดาระอั้งในเมืองไทย การอธิบายตัวตนของพวกเขาเพิ่งจะเริ่มได้ไม่นาน (หน้า 106) แต่ก็ปรากฏข้อมูลบางส่วนที่บ่งถึงตัวตนและจิตสำนึกความเป็นดาระอั้งในประเทศไทย ผ่านคำอธิบายของจองตาล ผู้นำในหมู่บ้านปางแดงและชาวบ้าน ซึ่งอธิบายตัวเองว่าตนเป็น "ดาระอั้งเร่น" หรือ "ดาระอั้งซิ่นแดง" "เราไม่รู้หรอกว่า มีดาระอั้งอะไรบ้าง เรารู้แต่ว่าพวกเราคือดาระอั้งเร่น หรือ ดาระอั้งซิ่นแดง" (หน้า 105) สอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในเพลงดิ่งที่ชาวบ้านร้องถ่ายทอดไว้ซึ่งยืนยันถึงความเป็นดาระอั้งซิ่นแดง (หน้า 118)

Social Cultural and Identity Change

ในทางสังคมวัฒนธรรม ดาระอั้งมักจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากสังคมใหญ่ ในฐานะ "คนชายขอบ" ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศาสนา และความเชื่อ มักถูกมองว่าล้าหลังเป็นคนอื่น ไร้การศึกษา มักถูกคนชั้นนำในสังคมใหญ่มองว่าเป็นพวกทำลายสิ่งแวดล้อม (เชิงอรรถ หน้า 99)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพการปรับปรุงซ่อมแซมศาลาช่วงงานบุญ (108) ภาพหญิงดาระอั้งเก็บหน่อไม้ในป่า (111) ภาพหญิงดาระอั้งวางของบนถนนหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยว (121)

Text Analyst เสาวนีย์ ศรีทับทิม Date of Report 27 ก.ย. 2555
TAG ดาระอั้ง, ประชากร, ภาษา, การตั้งถิ่นฐาน, วัฒนธรรม, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง