สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject อาข่า,ประวัติ,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,เศรษฐกิจ,สังคม,การเมือง,ภาคเหนือ
Author Jaafar, Syed Jamal and Walker, Anthony R.
Title The Akha People : An Introduction
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity อ่าข่า, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Total Pages 13 Year 2518
Source Farmer in the Hills : Upland Peoples of North Thailand, Anthony R. Walker (Editor) p.169-181, จัดพิมพ์โดย The School of Comparative Social Sciences, พิมพ์ที่ Universiti Sains Malaysia Press.
Abstract

มีเนื้อหาครอบคลุม วัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของชาติพันธุ์อาข่าในภาคเหนือของไทย โดยเน้นเรื่องโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรม - ความเชื่อของอาข่า บรรพบุรุษของอาข่าในพม่า ลาว และไทย มาจากยูนนานของจีน อาข่านิยมตั้งบ้านเรือนบนสันเขาอยู่สูง 1,200 เมตรหรือมากกว่า ทำการเกษตรแบบโค่นถางต้นไม้แล้วเผา ปลูกข้าวไร่เป็นพืชยังชีพหลัก และพืชเสริม เช่น ข้าวโพด อ้อย งา ถั่วลิสง ยาสูบ และผักชนิดต่าง ๆ ปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สังคมอาข่า แบ่งเป็นตระกูล ๆ ที่สืบตระกูลทางพ่อ ชายที่สูงอายุที่สุดเป็นหัวหน้าครัวเรือน ในระดับหมู่บ้านมีหัวหน้าหมู่บ้าน และบางครั้งอาจมีผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง ปกครองดูแล หัวหน้าหมู่บ้านอาจจะสืบทอดตำแหน่งสู่ทายาทหรือได้รับเลือกมาโดยคณะผู้อาวุโสของหมู่บ้าน อาข่านับถือผี หมู่บ้าน จะมีสถานที่และสิ่งปลูกสร้างศักดิ์สิทธิ์ เช่น ประตูหมู่บ้าน สุสานฝังศพ ชิงช้าพิธี แหล่งน้ำ และแท่นบูชาเจ้าที่ (spirit of the locality) เป็นต้น พิธีกรรมของหมู่บ้าน จะนำโดยนักบวชของหมู่บ้าน (village priest หรือ dzon ma) นักบวชของหมู่บ้านเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในหมู่บ้าน

Focus

ศึกษา วัฒนธรรม ความเชื่อ โครงสร้างเศรษฐกิจ - สังคม - การเมือง ของชาติพันธุ์อาข่าในภาคเหนือของประเทศไทย

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

อาข่าเรียกตัวเองว่าอาข่า (Akha) แต่ไม่ทราบรากศัพท์ของชื่อและไม่ทราบความหมาย ชาวฉานและคนไทยภาคเหนือรู้จัก อาข่าในชื่อ "อีก้อ" (E Kaw) โดยพื้นฐานทางภาษาแบ่งอาข่าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ Jeu G'oe เป็นอาข่ากลุ่มใหญ่ที่สุด ชาวฉานเรียกว่า "Puli" กลุ่ม Jaw พูดภาษาถิ่นที่ใกล้เคียงกับกลุ่ม Jeu G'oe และ Kui ภาษาพูดยากต่อความเข้าใจของอาข่ากลุ่มอื่น (หน้า 169-170)

Language and Linguistic Affiliations

อาข่าพูดภาษาในกลุ่มภาษา Tibeto-Burman เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับภาษาลาหู่และลีซอ แม้ว่าทั้ง 3 ภาษาจะไม่เข้าใจกันและกันดีก็ตาม ภาษาอาข่าพูดภาษาถิ่น 3 ภาษาหลัก ประชากรอาข่าส่วนใหญ่ในไทยพูดภาษาอาข่า Jeu G'oe อาข่าไม่มีภาษาเขียน แต่มีอาข่าคริสเตียนบางคนใช้อักษรโรมันทำเป็นภาษาเขียน ในประเทศไทยอาข่าจำนวนมากพูดภาษาลาหู่เป็นภาษาที่สอง และรู้ภาษาฉานและภาษาชาวเหนือของไทยอย่างกว้างขวางเช่นกัน (หน้า 170)

Study Period (Data Collection)

เมษายน - พฤษภาคม ค.ศ. 1973

History of the Group and Community

อาข่า : บรรพบุรุษของอาข่าในพม่า ลาว และไทย มาจากยูนนานของจีน มีอาข่าอาศัยอยู่รัฐฉานในพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1880 และปี ค.ศ. 1921 มีถิ่นที่อยู่ของอาข่าอย่างน้อย 2 แห่งในไทย และมีการอพยพจากจีนอย่างต่อเนื่องเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองอำนวย (หน้า 170)

Settlement Pattern

บ้านอาข่า จะสร้างในแนวขนานตามเส้นสันเขา บ้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Fig.7 หน้า 172) มีเสาและโครงเป็นไม้ ฝาบ้าน มักเป็นไม้ไผ่ บางครั้งเป็นปีกไม้ พื้นใช้ไม้ไผ่ หลังมุงด้วยหญ้า (cogon) บ้านมักสร้างบนเสาแม้ว่าจะอยู่บนพื้นลาดด้านหนึ่งอาจอยู่ติดพื้นก็ตาม เพื่อกันน้ำท่วมและเป็นที่หลบแดด - ฝนของสัตว์เลี้ยง บ้านจะแบ่งส่วนของผู้ชายและผู้หญิง แยกจาก กันโดยมีผนังไม้ไผ่กั้น มีทางขึ้นบ้านคนละด้าน ส่วนของผู้ชายจะติดกับเฉลียง แท่นบูชาบรรพชนตั้งอยู่ติดผนังกั้นด้านของผู้หญิง บางบ้านจะมีเตาไฟ (fireplace) ตั้งอยู่ทั้งด้านของผู้ชายและผู้หญิง บางบ้านอาจมีเตาไฟเตาเดียวตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่างส่วนของผู้ชายและผู้หญิง จะต้มชาและปรุงอาหารด้านผู้ชาย หุงข้าวด้านผู้หญิง และมักจะมีเตาไฟอีกเตาอยู่ในส่วน ด้านของผู้หญิงสำหรับต้มอาหารหมู ม้านั่งและโต๊ะกินข้าวจะทำด้วยหวายและไม้ไผ่ คนนอนบนพื้นบ้านแต่นั่งบนม้านั่งรอบโต๊ะกลมขนาดเล็กเพื่อรับประทานอาหาร ครัวเรือนส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ทอผ้า เครื่องปั่นด้าย เครื่องทอ และเครื่องหว่านเมล็ดฝ้าย (cotton seeders) บริเวณบ้านล้อมรั้ว ภายในรั้วบ้านจะพบยุ้งเก็บข้าวและข้าวโพด และมีครกตำข้าวแบบใช้เท้า (foot - operated mortar) (หน้า 171-173)

Demography

อาข่า มีในจีน 48,700 คน (Halpern 1961) พม่า 40,407 คน (Bernatzik 1970) ลาว 4,500 คน (Roux & Tran 1954) ในประเทศไทยมี 9,611 คน (Pitchyagal 1972) อาข่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อย ในภาคเหนือของไทย ส่วนใหญ่พบที่จังหวัดเชียงราย ทางเหนือของแม่น้ำกก (Mae Kok River) และมีหมู่บ้านจำนวนมากทางใต้ของแม่กก และหนึ่งหมู่บ้านในตำบลแม่อาย (Mae Aye) ทางเหนือของเมืองฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (หน้า 169)

Economy

เศรษฐกิจของอาข่า ในประเทศไทยอยู่บนพื้นฐานการเกษตรแบบโค่นถางต้นไม้แล้วเผา (swidden agriculture) ปลูกข้าวไร่เป็นพืชยังชีพหลัก ปลูกฝ้ายไว้ใช้ผลิตสิ่งทอ ยาสูบ และพืชเสริมเช่น พริก มะเขือเทศ ข้าวโพด อ้อย งา ถั่วลิสงและผักชนิดต่าง ๆ ปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก (ในกรณีของฝิ่นนักวิชาการยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น บางท่านบอกว่าอาข่าในประเทศไทยปลูกฝิ่นน้อยมากและขายเกือบทั้งหมดสูบเองน้อยมาก บางท่านเห็นว่าฝิ่นเป็นหายนะภัยของอาข่าในประเทศไทยเหมือนกับในพม่าและในลาว มีการเสพกันมากส่งผลให้หมู่บ้านเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วและหมู่บ้านมักจะค่อยๆ แตกสลายไป เป็นต้น) อาข่านิยมเพาะปลูกในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านไม่ห่างจากที่อยู่อาศัยเป็นระยะทางเดินเกินสามชั่วโมง และสร้างเพิงพักเล็กๆ ไว้ในไร่เพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน หากไร่อยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก ชาวไร่นิยมนอนที่เพิงพักที่อยู่ในไร่มากกว่าการเดินทางไกลกลับหมู่บ้าน ไร่ที่จะใช้เป็นที่ปลูกข้าวจะสร้างศาลผี (spirit shrine) ไว้ใกล้กับเพิงพัก อาข่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่สามารถเป็นเจ้าของแต่ใช้ได้ ไม่สามารถซื้อหรือขายที่ดินได้ และไม่อาจสืบทอดให้ลูกหลานได้ แต่ที่ดินไม่มีมากพอสำหรับทำไร่ตามจารีตอีกแล้ว เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลแนะนำการปลูกข้าวแบบใช้น้ำชลประทานให้แก่ อาข่าที่แม่จัน จังหวัดเชียงราย นอกจากข้าวแล้ว พืชประเภทถั่วและยาสูบสามารถปลูกบนไร่ขั้นบันได อาข่าเลี้ยงสัตว์หลากชนิด เช่น ไก่ หมู และวัว เพื่อเป็นอาหารและใช้ในพิธีกรรม วัวนมและแพะเพื่อเป็นอาหาร เลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้านและเป็นอาหาร บางโอกาสสุนัขก็ถูกฆ่าเพื่อประกอบพิธีกรรม อาข่าได้ชื่อว่าเป็นนายพรานผู้ชำนาญ และชำนาญในการดักปลา ช่างตีเหล็กของหมู่บ้านเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญของชุมชนหมู่บ้านอาข่า ผลิตและซ่อมอุปกรณ์ทำไร่ ชำนาญในการผลิตปืนที่ใส่กระสุนทางปากกระบอก ช่างตีเหล็กของหมู่บ้านจะได้รับส่วนแบ่งสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยอาข่า (หน้า 179)

Social Organization

สังคมอาข่า แบ่งเป็นตระกูล ๆ ที่สืบตระกูลทางพ่อ (patrilineal clans) เด็กอาข่าจะสืบผีทางพ่อ หญิงที่แต่งงานแล้วเป็นของครอบครัวฝ่ายชาย ชายที่สูงอายุที่สุดเป็นหัวหน้าครัวเรือน หญิงที่แก่ที่สุดในบ้านถือว่าเป็น "แม่ของบ้าน" (mother of the house) ลูกและหลานที่เกิดในครัวเรือนจะมอบลูกคนแรกให้ผู้อาวุโสชายและหญิงของบ้าน แม้หลังจากลูกหลานดังกล่าวจะย้ายไปตั้งครัวเรือนของตนแล้วก็ตาม ในแต่ละหมู่บ้านอาข่าที่ตั้งขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสมสิ่งสำคัญคือ มีประชากรที่เป็นตัวแทนของอาข่าอย่างน้อย 3 ตระกูลที่แตกต่างกัน (หน้า 174) แนวคิดเรื่องครัวเรือนขนาดใหญ่ (large household) ของอาข่าจะประกอบด้วยหัวหน้า ภรรยา ลูกชายคนโตและลูกสะไภ้ หลาน และลูกชายคนเล็ก ส่วนลูกชายคนอื่นๆ จะได้รับการสนับสนุนให้แยก ไปมีครัวเรือนของตนเองเมื่อแต่งงานแล้ว ส่วนแนวคิดเรื่องครัวเรือนขนาดเล็ก (small household) ประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) (หน้า 171) การแต่งงาน : วัยแต่งงานของชายอาข่าอยู่ระหว่าง 15-19 ปี หญิงระหว่าง 13-18 ปี ในหมู่บ้านอาข่าทุกแห่งที่ผู้วิจัยไปเยือน จะมีลานพบปะในเวลากลางคืนของหนุ่มสาวอาข่าที่ยังไม่ได้แต่งงาน - ก่อนแต่งงานจะต้องมีการตรวจสอบว่าทั้งคู่ไม่ได้อยู่ในสายตระกูล (clan) หรือตระกูลย่อย (subclan) เดียวกัน ชายหนุ่มจะส่งเพื่อนที่อาวุโสหรือที่ใกล้ชิดไปสู่ขอต่อครอบครัวฝ่ายหญิง - พิธีแต่งงานจะเรียบง่าย เจ้าสาวจะสวมกระโปรงขาว ซึ่งใช้สวมเฉพาะในพิธีแต่งงานเท่านั้น เจ้าสาวจะถูกพาไปบ้านฝ่ายชาย โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านร่วมทางไปกับเจ้าสาวด้วย (เข้าใจว่าในกรณีนี้หัวหน้าหมู่บ้านกับนักบวชของหมู่บ้าน "village priest" จะเป็นคนเดียวกัน) ณ ลานบ้านของฝ่ายชาย หัวหน้าหมู่บ้านจะกระทืบพื้นเพื่อขับไล่ผีร้ายที่เตร็ดเตร่อยู่บริเวณนั้น ก่อนคู่บ่าวสาวจะเดินขึ้นบันไดบ้านต้องรินน้ำล้างเท้า เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ ภายในบ้านคู่บ่าวสาวนั่งบนตั่งที่นั่งอันเล็กใกล้กับเตาไฟ ต้มไข่ 1 ใบและส่งไข่ให้แก่กัน 3 ครั้ง ไข่เป็นสัญลักษณ์ของความรักและความอุดมสมบูรณ์ หลังพิธีแต่งงานจะฆ่าหมูเพื่อเป็นอาหารในงานเลี้ยงพิธีแต่งงาน บ่าวสาวจะนำเหล้าให้หัวหน้าหมู่บ้านเป็นลำดับแรก ลำดับต่อไปคือ หญิงอาวุโสของหมู่บ้าน และมีคำอวยพรอย่างเป็นพิธีการ มีการเลี้ยงฉลองสองวัน ชายอาข่ามีภรรยาได้มากกว่า 1 คน (หน้า 174-175) การหย่าร้าง เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมอาข่า ก่อนการหย่า บรรดาผู้อาวุโสจะพยายามพูดคุยไกล่เกลี่ยให้ การหย่าร้างอาจต้อง มีการจ่ายค่าชดเชยโดยมีอัตราที่กำหนดตามสถานการณ์ของครอบครัว จ่ายโดยฝ่ายที่ขอหย่า อาข่าในพม่า หลังการหย่าฝ่ายหญิงจะสูญเสียสิทธิทั้งหมดในฐานะสมาชิกของครอบครัวแม้แต่ในเรื่องลูก ลูกเป็นของพ่อ หญิงที่หย่าร้างจะไม่สามารถกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของตนได้อีก เพราะเมื่อแต่งงานแล้วก็ไม่ได้เป็นของพ่อแม่อีกต่อไป ดังนั้น ภายใน 12 วันหลังการหย่า หญิงนั้นจะแต่งงานใหม่หรือออกไปอยู่นอกรั้วหมู่บ้าน เป็นความเชื่อแต่เดิมว่า หากหญิงที่หย่าร้างตายในหมู่บ้าน ความโชคร้ายจะตกอยู่กับชุมชน หลังการหย่าร้างทั้งคู่จะถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกันอีก อีกทั้งห้ามไม่ให้หญิงหรือชายที่หย่าร้างกันพูดคุยกับคู่ใหม่ของคนที่เคยเป็นสามีหรือภรรยา ลูกชายยังคงอยู่กับพ่อ แต่ไม่ได้กล่าวถึงชะตากรรมของลูกสาว และการชดใช้ตามธรรมเนียมมักถูกละเลย (หน้า 175-176) การมีลูก อาข่าสนใจเกี่ยวกับการมีลูกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะลูกชาย เพราะจะเป็นผู้สืบสกุล หากไม่สามารถมีลูกได้ แก้ไขได้โดยการซื้อเด็กมาเลี้ยง หญิงอาข่ามักทำงานจนกระทั่งถึงเวลาคลอด เด็กจึงมักเกิดอยู่ในกระท่อมในไร่ หญิงชราอาข่าที่มีลูกชายมากๆ จะทำหน้าที่เป็นหมอตำแย สามีจะช่วยทำคลอดด้วยหากจำเป็น เมื่อเด็กเกิดจะไม่ถูกอุ้มขึ้นมาจนกว่าจะร้อง 3 ครั้ง เป็นการขอพร ขอวิญญาณ (soul) และช่วงเวลาของชีวิต (life span) จากพระเจ้า หลังทารกร้องสามครั้งหมอตำแยต้องตั้งชื่อให้ทันที เพื่อป้องกันผีตั้งชื่อให้และอ้างเอาเด็กเป็นของตน หมอตำแยตัดสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่แผ่นบางและอาบน้ำเด็ก การฝังรกเป็นภารกิจของพ่อ โดยนำไปฝังไว้ใต้ถุนบ้านที่ตรงกับใต้แท่นบูชาบรรพบุรุษ (หน้า 176 - ความเชื่อเรื่องการเกิดจะอยู่ในหัวข้อ Belief Systems - Text Analyst) ไม่มีพิธีกรรมอย่างเป็นทางการที่แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว หมวกที่ใส่จะเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อาข่าเชื่อในการมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุยังน้อย พออายุผ่าน 40 ปีอาข่าถือว่าเป็นวัยใกล้ชรา ผ่าน 50 ปีถือว่าเป็นวัยชรา ในชุมชนอาข่าครอบครัวจะดูแลผู้สูงอายุ มีความเชื่อว่าเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ในการทำให้ผู้ชรามีความสุขในยามแก่เฒ่า (หน้า 176-177)

Political Organization

หมู่บ้านอาข่าทุกแห่งมีหัวหน้าหมู่บ้าน (headman) และบางครั้งอาจมีผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง หัวหน้าหมู่บ้านอาวุโสเรียกว่า "djew-ma" หรือ "primary headman" ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า "djew-ya" หรือ "secondary headman" หัวหน้าหมู่บ้านอาจจะสืบทอดตำแหน่งสู่ทายาทหรือได้รับเลือกมาโดยคณะผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ภารกิจของหัวหน้าหมู่บ้านอาข่า จะรวมถึงการตัดสินข้อพิพาท พิจารณาคดีและบังคับปรับตามความเหมาะสม หัวหน้าหมู่บ้านจะจัดเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านสองครั้งต่อปีโดยในการเลี้ยงแต่ละครั้งจะมีการฆ่าหมู ส่วนผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้านจะจัดเลี้ยงปีละครั้งจะมีการฆ่าหมูเป็นอาหารเช่นกัน หัวหน้าหมู่บ้านไม่ใช่คนที่มีอำนาจมากที่สุดในหมู่บ้าน อำนาจที่แท้จริงเป็นของนักบวชของหมู่บ้าน (village priest) ปัจจุบันหมู่บ้านอาข่าในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองส่วนภูมิภาคของไทย หัวหน้าหมู่บ้านได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการโดยเจ้าหน้าที่ของจังหวัด และอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของกำนันไทย หรือหัวหน้ากิ่งอำเภอ (Subdistrict head) (หน้า 177)

Belief System

สิ่งเหนือธรรมชาติของอาข่า มีเทพเจ้าสูงสุด 1 องค์ที่เรียกว่า "Apoe mi yeh" ผีและผีบรรพบุรุษ ผีทุกตนอยู่ภายใต้ Apoe mi yeh ทั้งสิ้น เทพเจ้าสูงสุดร่วมรับเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมดที่อาข่าเซ่นไหว้บูชา เครื่องบูชาพิเศษสำหรับเทพเจ้าสูงสุดถือว่าไม่จำเป็น ประเภทของผีหลักๆ มี 4 ประเภท คือ 1. ผีผู้ยิ่งใหญ่ (great spirits) ซึ่งรวมถึงผีพระอาทิตย์ และผีพระจันทร์ ซึ่งจะไม่ทำร้ายคน แต่จะสามารถช่วยคนได้หากเซ่นไหว้บูชาอย่างเหมาะสม 2. ผีอุปถัมภ์ (Ower - spirits) เป็นผีที่ดูแลปศุสัตว์หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ข้าวเปลือก ผู้คนและอื่น ๆ อาข่าสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากผีเหล่านี้ 3. ผีร้าย (afflicting spirits) เป็นผีที่อาศัยอยู่นอกอาณาบริเวณของหมู่บ้าน เช่น ผีหนองน้ำ (Swamp Spirit) ผีจอมปลวก (Termite - hill Spirit) ผีลม (Wind Spirit) ผีสายฟ้า (Lighting - bolt Spirit) ผีน้ำพุร้อน (Hot - springs Spirit) และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งสามารถทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยได้ หากผีเหล่านี้ถูกล่วงเกิน 4. ผีสิง (spirits who enter people) ผีที่เข้าสิงคน ผีร้ายเหล่านี้ต้องถูกไล่ออกจากร่างทันที มิฉะนั้น ผู้ถูกผีเข้าสิงจะตาย อาข่าเชื่อว่าทุกคนมีวิญญาณ (soul) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในร่าง แต่อาจออกจากร่างเมื่อเกิดตกใจกลัว หากไม่สามารถนำวิญญาณกลับเข้าร่างได้ เจ้าของร่างนั้นก็จะตาย หมอผี (shamans) อาข่าสามารถค้นหาวิญญาณของคนเป็นที่ท่องเที่ยวไปในแดนของผี (spirit) ให้กลับคืนมาได้ เมื่อคนตาย หมอผีจะเป็นผู้นำทางให้วิญญาณของผู้ตายได้รับและยอมรับการชี้นำของนักบวชที่จัดการเรื่องวิญญาณ (spirit priest) เพื่อให้วิญญาณผู้ตายเดินทางไปสู่แดนของบรรพบุรุษ (หน้า 177-178) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรม (ritual specialists) หมู่บ้านอาข่าปกติจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมอยู่ 3 คน ที่สำคัญที่สุดคือ นักบวชของหมู่บ้าน (village priest หรือ dzon ma) - นักบวชของหมู่บ้านเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในหมู่บ้าน มีภารกิจหลักคือ เรื่องศาสนาและดูแลสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 6 แห่งของหมู่บ้าน ได้แก่ ประตูหมู่บ้าน ประตูที่สองของหมู่บ้าน ชิงช้าพิธี แหล่งน้ำ สุสานของหมู่บ้าน และสถานที่บูชาเซ่นไหว้ วิญญาณของแผ่นดินและน้ำ (offering place) นักบวชของหมู่บ้านจะเป็นคนแรกที่จะกัดกินอาหารในพิธีต่าง ๆ หนึ่งคำ บ้านของนักบวชจะเป็นบ้านแรกที่สร้างขึ้นในหมู่บ้านใหม่ เป็นคนแรกที่ลงมือปลูกข้าว เป็นคนแรกที่เริ่มสร้างประตูและชิงช้าพิธีของหมู่บ้าน เป็นคนแรกที่โยน "โดมิโน" ระหว่างการประชุมเสี่ยงทายในวันปีใหม่ ในส่วนของครัวเรือนหัวหน้าครัวเรือนจะแสดงบทบาทในฐานะนักบวชของครัวเรือน - นักบวชด้านวิญญาณ (spirit priest, boe maw) เป็นผู้สามารถติดต่อกับวิญญาณได้ สามารถแก้ต่างหรือข่มขู่วิญญาณตามแต่โอกาสที่ได้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนของลูกค้าที่มาใช้บริการ - หมอผีของหมู่บ้าน (shaman, nyi pa) ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิง ภารกิจเฉพาะของหมอผีคือ เดินทางไปสู่ดินแดนของผี เพื่อค้นหาว่าผี (spirits) อะไรที่พาวิญญาณ (soul) ของชาวบ้านไป และพยายามนำวิญญาณ (soul) นั้นกลับมาสู่ร่าง อาข่าเชื่อว่า แต่ละคนจะมี "ต้นไม้แห่งชีวิต" อยู่ในโลกของวิญญาณ (Spirit World) และเมื่อต้นไม้แห่งชีวิตโค่นล้มลง บุคคลนั้นจะตาย เมื่อหมอผีเข้าไปเยือนโลกแห่งวิญญาณ หมอผีสามารถเห็นต้นไม้แห่งชีวิตนี้ได้ หมอผีจะได้รับค่าตอบแทนจากผู้ที่มาใช้บริการ หมู่บ้านหนึ่งอาจมีหมอผีหลายคน หรือหมอผีคนหนึ่งอาจให้บริการหลาย ๆ หมู่บ้าน พิธีกรรมของหมู่บ้าน จะนำโดยนักบวชของหมู่บ้าน จะมีประมาณ 9 หรือบางหมู่บ้าน 12 เทศกาลประจำปี แต่จะสนใจพิธีกรรมทางศาสนาก่อน การซ่อมประตูของหมู่บ้าน เทศกาลเพาะปลูก เทศกาลเก็บเกี่ยว และอื่นๆ (หน้า 178) - ประตูหมู่บ้าน เป็นที่สถิตของผีที่ปกป้องผู้ชาย - ผู้หญิงและอาณาเขตของหมู่บ้านและต่อต้านการบุกรุกของผีร้าย ตั้งอยู่ปลายสุดด้านบนและด้านล่างของหมู่บ้านประกอบด้วยเสาไม้ 1 คู่หรืออาจมากกว่า 1 คู่ก็ได้ เสาแต่ละคู่พาดด้วยคาน (Pl.25b หน้า 182) แต่ละปีชาวบ้านจะสร้างเสาประตูหมู่บ้านใหม่ไว้ที่ท้ายหมู่บ้านทั้งสองด้าน โดยเสาคู่เก่ายังปล่อยไว้ตามเดิม มีไม้แกะสลักเป็นรูปทรงมนุษย์ชาย - หญิงพร้อมกับอวัยวะเพศที่เกินจริงวางไว้ด้านนอกหมู่บ้านถัดจากเสาประตูหมู่บ้าน เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง มีรูปแกะสลักอื่นๆ ติดอยู่ที่เสาและคานเหนือเสา เช่น นกแกะสลักอย่างหยาบๆ สัตว์ต่างๆ แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น ทะลุผ่านเข้าไปภายในประตูหมู่บ้านจะพบประตูหมู่บ้านอีกชั้นหนึ่งแต่ทำประณีตน้อยกว่า (มีทั้งสองฝั่งของหมู่บ้าน) ทำขึ้นเพื่อเป็นการปกป้องคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง และเป็นที่สิงสถิตของผีคุ้มครองชายและหญิงเช่นกัน (หน้า 173) - ชิงช้าพิธี มีไม้ที่แกว่งได้ มักอยู่ใกล้กับประตูหมู่บ้านชั้นในสุดที่อยู่ปลายด้านบนของหมู่บ้าน จะมีพิธีประจำปี 3 - 4 วัน ชิงช้าพิธีจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และทุกคนในหมู่บ้านนำโดยนักบวชของหมู่บ้านจะทำพิธีโล้ชิงช้าพิธี พิธีนี้ฉลองรวงข้าวสุกและแสดงความขอบคุณต่อบรรพบุรุษ ผ่านประตูรั้วด้านบนสุดของหมู่บ้านออกไปในป่าจะตั้งแท่นบูชาเจ้าที่ (หน้า 173) สุสานฝังศพของหมู่บ้าน มักเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านซึ่งถูกละทิ้งแล้ว ไม่เคยถูกเผา ต้นไม้ใกล้สุสานจะต้องไม่ถูกตัดออก คนเข้าไปไม่ได้ นอกจากเข้าไปฝังศพเท่านั้น ทุกหมู่บ้านอาข่ามีสุสานฝังศพ (หน้า 173-174) แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ภายนอกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นคนละที่กับแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ประจำวัน แต่เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในโอกาสประกอบพิธีกรรม แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สถิตของผีน้ำ (water spirit) (หน้า 173) ความเชื่อเรื่องการเกิด ระหว่างตั้งครรภ์ทั้งสามีภรรยาจะต้องคอยควบคุมดูแลเพื่อป้องกันการเกิดลูกที่ถือว่าเป็น Human rejects ของอาข่า เช่น ลูกแฝด หรือลูกที่มีอวัยวะและหน้าตาที่ไม่สมประกอบ หญิงตั้งครรภ์จะหลีกเลี่ยงคนที่มีอำนาจจิตและงดการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา พิธีฝังศพ และการล่าสัตว์ ถ้าเด็กเกิดมามีลักษณะเป็น Human rejects เด็กจะถูกฆ่าในทันทีและบ้านที่ใช้ทำคลอดจะถูกทำลาย พ่อแม่จะถูกเข้าใจว่าเป็นพวกมีความผิดบาปน่ากลัวบางอย่างที่ก่อให้เกิดโชคร้าย ต้องออกจากหมู่บ้านไป และต้องผ่านพิธีทำให้ตนเองบริสุทธิ์ในป่าก่อน จึงจะได้รับการยอมรับให้เข้าสู่สังคมหมู่บ้านได้อีกครั้ง สุดท้ายตัวหมู่บ้านเอง ก็ต้องถูกทำให้บริสุทธิ์ด้วย (หน้า 176) พิธีศพ จะมีการชำระล้างศพและแต่งตัวให้ศพอย่างเหมาะสม ขั้นต่อไปเป็นหน้าที่ของบุตรชายผู้ตาย ลูกชายควรจะอ่านลำดับศักดิ์ของวงศ์ตระกูล (genealogy) ผู้ตายต่อสาธารณะ หากผู้ตายเป็นหญิงลำดับศักดิ์ของวงศ์ตระกูลเป็นของสามี หรือหากเธอไม่ได้แต่งงานก็เป็นลำดับศักดิ์วงศ์ตระกูลของพ่อของเธอ นักบวชด้านวิญญาณ (spirit priest, boe maw) ประกอบพิธีเซ่นไหว้ในพิธีศพ เซ่นไหว้บรรพบุรุษ (Great Ancestor) และสวดคาถาสำหรับผู้ตาย สวดสองวันสามคืน ผู้อาวุโสในหมู่บ้านรับผิดชอบการฝัง ใส่ศพในโลงและวางลงในหลุมศพ ต่อจากนั้น เป็นพิธีกรรมหลังการฝัง (post-mortuary rite) โดยจะมีคนเข้าแทนที่ผู้ตาย เข้าไปในบ้านของผู้ตาย ไม่มีใครพูดคุยด้วย รับประทานอาหารมื้อสุดท้าย หลังจากนั้น เขาจะพลิกโต๊ะกินข้าวกลับเอาขาโต๊ะขึ้น พิธีกรรมนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีชีวิตอยู่กับคนตาย (หน้า 177)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

อาข่าสวมเสื้อผ้า ที่ทำด้วยผ้าฝ้ายหรือป่านทอเอง ทอมือและย้อมสีน้ำเงินเข้มหรือดำด้วยสีย้อมที่มาจากพืช - ชายอาข่า สวมเสื้อแจ๊กเก้ตสั้นหลวมๆ และกางเกงหลวมเป้าหย่อน บางครั้งสวมหมวกแบบผ้าโพก ในโอกาสมีงานเทศกาล ผู้ชายจะสวมเสื้อแจ๊คเก้ตสั้นที่มีลายเย็บปักริมขอบที่ประณีตมีสีสันมากขึ้น อาจสวมเครื่องประดับเงินหรือทองเหลืองที่คอและกำไลมือ เด็กชายสวมชุดแบบผู้ใหญ่แต่ตัวเล็กกว่า สวมหมวกผ้าที่มีหลากสีสัน เด็กเล็กไม่สวมกางเกง ในโอกาสที่เป็นทาง การมากชายอาข่าจะใส่ traditionally wear a short queue - ชุดหญิงอาข่า จะประณีตมากกว่า สวมแจ๊คเก้ตสั้น breast - band กระโปรงสั้น สวมสนับแข้ง ผ้าโพกศีรษะ กระโปรงสีพื้นน้ำเงินเข้มหรือดำ ด้านหน้าเรียบ ด้านหลังเป็นจีบ ใส่ต่ำกว่าสะดือ ชายกระโปรงมักอยู่เหนือเข่าคล้าย ๆ กระโปรงสั้นในชุดสมัยใหม่ (mini skirt) breast-band เป็นผ้าแถบกว้างสีน้ำเงินเข้ม ผูกไว้ด้านข้างลำตัว เสื้อแจ๊คเก้ตสวมแบบเปิดด้านหน้าปล่อยชายอย่างหลวม ๆ สนับแข้งผ้า-ยาวจากใต้เข่าถึงข้อเท้า ลักษณะโดดเด่นที่สุดของเครื่องแต่งกายของหญิงอาข่าคือ หมวกที่ประดับอย่างประณีตและไม่เคยถอดออก เด็กหญิงสวมหมวกผ้าซึ่งปิดหูทั้งสองข้าง (head-hugging cloth cap) เริ่มแรกหมวกยังไม่มีการประดับ แต่เมื่อเด็กหญิงใกล้ถึงวัยสาว จะแสดงการสร้างสรรค์ของตนด้วยการตกแต่งกระดุมเงินและballs ลูกปัดสีและพู่ การเข้าสู่วัยสาว หญิงสาวอาข่าสมมติให้หมวกเป็นเครื่องหมายของหญิงสาวเต็มวัย - อาข่าส่วนใหญ่ในไทยหมวกจะมีทรงกรวยกลม หุ้มด้วยแถวของกระดุมกลม ลูกปัด ไผ่ และตกแต่งด้วยขนลิงย้อมสี ด้านล่างของหมวกเป็นแถบผ้ากว้างที่พันหน้าผากห้อยเหรียญเงินรูปีของอินเดียเป็นแถว นอกเหนือจากผ้าโพกศีรษะแล้ว เครื่องประดับของหญิงสาวยังเปลี่ยนแปลงตามอายุ หญิงสาวที่แต่งงานแล้วใส่เครื่องประดับน้อยกว่าหญิงที่ยังไม่แต่งงาน และหญิงสูงอายุใส่เครื่องประดับน้อยลง (หน้า 170-171)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

อาข่าอาจเป็นชาวเขาทางเหนือของไทยที่มีความต้องการน้อยมากที่จะสมาคมกับคนพื้นล่าง อาข่าเชื่อว่า คนนอกโดยเฉพาะที่มาจากพื้นราบจะนำผีชั่วร้ายที่เป็นภัยคุกคามมาด้วย ผีร้ายนี้อาจสิงคนอาข่า อาข่ายังคงนิยมค้าขายกันอยู่ในหมู่บ้านของตนมากกว่าที่จะค้าขายกับคนภายนอก ในทางตรงข้าม อาข่าที่อาศัยอยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัยของคนพื้นราบ จะต้อนรับพ่อค้าชาวพื้นล่างเข้าไปในหมู่บ้าน และมักจะไปเยือนตลาดของคนพื้นล่างบ่อยครั้ง (หน้า 180)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. แผนผังและภาพลายเส้น : แผนผังบ้านอาข่า (หน้า 174) 2. รูปภาพ : หลังหน้า 181 : 2.1 หมู่บ้านอาข่ายามเช้า (25a) 2.2 ประตูรั้ววิญญาณที่ปกป้องทางเข้าหมู่บ้านอาข่า(25b) 2.3 รูปสลักไม้สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของอาข่า (26a) 2.4 ลานพบปะหนุ่มสาวและ ritual swing ของอาข่า (26b) 2.5 อาข่าเจาะดินและลงเม็ดข้าว (27a) 2.6 หญิงอาข่าเลี้ยงหมู (27b) 2.7 หมอผีอาข่าสวดหลังฆ่าสุนัขเพื่อเซ่นไหว้ (28a) 2.8 คู่แต่งงานอาข่า (28b)

Text Analyst บุญสม ชีรวณิชย์กุล Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG อาข่า, ประวัติ, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, เศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง