สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาหู่,ศาสนาคริสต์,แบ๊บติสท์,ภาคเหนือ
Author ปฏิพัทธ์ พัฒนะกายา
Title ศึกษาประวัติคริสต์จักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทย
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ Total Pages 63 Year 2534
Source หลักสูตรปริญญามหาบันฑิต คณะศาสนาศาสตร์แมคกิลวารี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพายัพ
Abstract

เป็นการศึกษาประวัติคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 1970-1990 แบ่งการศึกษาเป็น 3 บทคือ 1. เบื้องหลังความเป็นมาของชนเผ่าลาหู่ ซึ่งมีบรรพบุรุษดั้งเดิมมาจากประเทศจีน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ลาหู่นะ (มูเซอดำ) และ ลาหู่ซี (มูเซอเหลือง) และศาสนาดั้งเดิมที่เชื่อในภูตผี วิญญาณและพระผู้เป็นเจ้า 2. การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย และการเข้าเป็นสมาชิกของคณะกระเหรี่ยงแบ๊บติสท์ในประเทศไทยจนถึงการก่อตั้งและการดำเนินงานของคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ในประเทศไทย 3. ข้อสังเกตจากการศึกษาประวัติศาสตร์คริสตจักรลาหู่ โดยศึกษาและวิเคราะห์ถึงมูลเหตุพื้นฐานการกลับใจเชื่อ ในพระเยซูคริสต์ ได้แก่ คำพยากรณ์ ศาสนาดั้งเดิมและการกลับใจตามผู้นำ อิทธิพลต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคริสตจักรลาหู่ ได้แก่ อิทธิพลจากศาสนาดั้งเดิม ข้อห้ามของคนโบราณ หลักศาสนศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง ความเป็นชนเผ่าที่มีหลายกลุ่ม ปัญหาความ ยากจน และงานด้านต่างๆ ของคริสตจักรลาหู่

Focus

การศึกษาประวัติศาสตร์ ศาสนา และประเพณีของชนเผ่าลาหู่ในประเทศจีน พม่า และไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970-1990 (หน้า 1-2)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) เรียกตนเองว่า "ลาหู่" หรือ "ลาฮู" (Lahu) มาจากคำว่า "ลา" หมายถึงเสือ และ "หู่" เป็นชื่อสถานที่ที่แบ่งปันเนื้อที่ได้จากการล่าร่วมกัน รวมหมายถึง ชนผู้แบ่งปันเนื้อเสือที่ได้จากการล่าร่วมกัน ชาวจีนเรียกว่า "โลไฮ" ไทยใหญ่และคนไทยเรียกว่า "มูเซอ" มาจากภาษาฉานที่ยืมมาจากภาษาพม่าแปลว่า "พรานหรือนักล่า" นักมานุษยวิทยาแบ่งลาหู่ออกเป็น 23 กลุ่ม โดยชนเผ่าลาหู่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต-พม่า ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชนชาติ โล-โล (หน้า3)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของลาหู่อยู่ในสาขา "ยิ" ของตระกูลธิเบต-พม่า โดยคล้ายกับชนเผ่าอีก้อและลีซอ บางคำมาจากภาษาดั้งเดิมของภาษาจีนและไทยใหญ่ ลาหู่แต่ละกลุ่มจะพูดแตกต่างกัน 5 สำเนียง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ลาหู่นะ (มูเซอดำ) 2. ลาหู่ซี (มูเซอเหลืองหรือมูเซอกุ้ย) โดยลาหู่นะเป็นสำเนียงมาตรฐานหรือภาษากลางของชนเผ่าลาหู่ มีอักษรเป็นของตัวเอง (หน้า3,7)

Study Period (Data Collection)

ค.ศ.1970-1990 (หน้า 54)

History of the Group and Community

ลาหู่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัย 2,000- 3,000 ปีมาแล้ว แต่สามารถประดิษฐ์อักษรได้เมื่อประมาณ 100 ปีมานี้เมื่อมิชชันนารีจากต่างประเทศมาประกาศศาสนาแก่พวกเขา จึงทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นเป็นไปได้ยาก เชื่อว่าเดิมลาหู่ตั้งถิ่นฐานในธิเบต ต่อมาอพยพลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และลงมาที่มณฑลยูนนานบริเวณแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน หลังจากอยู่ที่ยูนนานหลายร้อยปีมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อตั้งเป็นเมืองเปอเจ-นาเจ ที่มีชื่อด้านทหารและเศรษฐกิจทำให้จีนยกกำลังมาตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากมีชัยภูมิที่ดีและมีอาวุธที่ทันสมัยในเวลานั้นคือหน้าไม้ที่ไม่ต้องประชิดตัวข้าศึก ทหารจีนจึงใช้เครื่องดนตรี "จ๊องหน่อง" เป่าให้ลูกเมียนักรบลาหู่ฟังเมื่อนักรบออกไปล่าสัตว์และทำไร่ โดยขอแลกกับไกและคันรั้งของหน้าไม้ เมื่อจีนยกทัพมาอีก ลาหู่จึงพ่ายแพ้ นักรบต้องทิ้งครอบครัวและเมืองออกไป ต่อมาจึงให้คนสอดแนมมานัดแนะให้ครอบครัวหนี แต่ทหารจีนได้เลี้ยงดูครอบครัวลาหู่อย่างดีจึงพากันปฎิเสธที่จะหนี นักรบลาหู่จึงเป่า "แคนน้ำเต้า" นอกกำแพงเมืองหลายวัน เพื่อให้คำมั่นสัญญาต่อฝ่ายหญิงว่าจะให้อยู่อย่างสุขสบาย อีกทั้งยอมรับใช้เป็นเวลา 7 ปี ครอบครัวลาหู่จึงหนีออกมาจากเมืองและไปตั้งเมืองใหม่และออกปล้นสดมภ์ตามหัวเมืองเล็กๆ ของจีน กองทัพจีนจึงยกทัพมาขับไล่ ทำให้ต้องหนีอพยพไปถึงที่แห้งแล้ง เป็นภูเขาหิน พบลิงอดอาหารตายจึงให้ชื่อแผ่นดินว่า "เหมาะโก" สันนิษฐานว่าเป็นประเทศมองโกลในปัจจุบัน ต่อมาจึงย้ายลงมาหาที่อุดมสมบูรณ์กว่า เมื่อมาตั้งค่ายพักแรมและล่าสัตว์พบกวางที่มีรากไทรยาว 11 วา 1 ศอกพันอยู่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ จึงตั้งถิ่นฐานกันที่ทะเลสาบนั้นเรียกว่า "เหนอเลาะ - หนอแล" ขณะนั้นมีประชากร 99 ครอบครัวจาก 2 ตระกูลคือ ตระกูล "อออูพา" แปลว่า "น้องของภรรยา" 66 ครอบครัว และตระกูล "ออนูมา" แปลว่า "น้องสาว" 33 ครอบครัว เมื่อล่าสัตว์ได้จะชำแหละสัตว์ออกเป็น 99 ส่วนเพื่อแบ่งกัน ผู้ชายตระกูลอออูพาล่าเม่นได้และเก็บขนเม่นออกแบ่งเนื้อเป็น 99 ส่วน ได้ครอบครัวละเล็กน้อย ภายหลังเด็กๆ ของตระกูลเอาขนเม่นมาเล่นทำให้ตระกูลออนูมาเห็นและคิดว่าเม่นเป็นสัตว์ใหญ่จากขนที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ระแวงตระกูลอออูพาและอพยพหลบหนีไป ฝ่ายตระกูลอออูพาเมื่อทราบเรื่องจึงออกติดตามพบต้นกล้วยที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เห็นว่าถูกฟันมีใบใหม่ยาว 1 ศอก จึงคิดว่าตระกูลออนูมาไปไกลแล้วจึงเลิกติดตามและหาที่อยู่ใหม่ สู่ฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง เรียกว่า "มื่อแมหมี่แม" อยู่ระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงซึ่งต้องรบกับไทยใหญ่และคนจีนเพื่อแย่งที่ทำกิน และสร้างเมืองปกครองตัวเอง เนื่องจากไม่มีอักษรของตัวเอง เจ้าเมืองลาหู่ได้ติดต่อชาวจีนมาเป็นราชเลขา ต่อมามีสงครามกับจีน ราชเลขาได้บิดเบือนข้อความสัญญาสงบศึกของจีน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจผิดกัน และจีนได้รวบกำลังคนจากไทยใหญ่และชนเผ่าอื่นๆ เข้าตีเมือง ลาหู่จึงพ่ายแพ้ หลบหนีไปทั่วมณฑลยูนาน มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มๆ เช่น ลาหู่แซแล (ลาหู่นาเมื้อย) ลาหู่กุเลา ลาหู่ล้าบา ลาหู่วีหยะ เป็นต้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อถือได้ว่าในปี พ.ศ. 2430 จีนได้รุกรานลาหู่อีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2433 ก็พ่ายแพ้แก่จีนจึงถอยมาอยู่ทางใต้บริเวณประเทศพม่า (ขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว) มีบันทึกว่าดินแดนที่ลาหู่ปกครองมีความกว้างใหญ่ถึงพันลี้หรือ 300 ตารางกิโลเมตร ตะวันตกจรดรัฐว้า ด้านใต้จรดเชียงตุง ด้านเหนือและตะวันออกจรดเมืองเบียนปิง ไวยวนและซือเหมา มีหัวเมือง 36 หัวเมือง ส่วนตระกูลออนูมาตั้งถิ่นฐานในประเทศลาว การแยกกันอยู่ทำให้สำเนียงการพูดแตกต่างกัน ต่อมาตระกูลอนูมาได้แยกออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า "ลาหู่ซี" หรือ มูเซอกุ้ย (เหลือง) และแยกเป็นลาหู่ไกซี และลาหู่บาเกียว (หน้า7-12) ลาหู่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอพยพมาจากเมืองเชียงตุง รัฐฉานของพม่า มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.ลาหู่นะ (มูเซอดำ) ประกอบด้วย ลาหู่หยี (มูเซอแดง) ลาหู่แล ลาหู่เวหยะ ลาหู่กุเลา ลาหู่ลาบา 2. ลาหู่ซี (มูเซอกุ้ย, มูเซอเหลือง, มูเซอบาลาน) ประกอบด้วย ลาหู่บาเกียว ลาหู่ไกซี โดยในปี พ.ศ.2526 สามารถแยกเป็นสัดส่วนได้ดังนี้ 1. ลาหู่นะ (มูเซอแดง) 18% ลาหู่หยี (มูเซอแดง) 46% ลาหู่แซแล 13% และอื่นๆ 3% 2. ลาหู่ซี 17% ลาหู่บาเกียว 3% ลาหู่หยีและลาหู่แซแลอพยพจากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทยเป็นพวกแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2418 ก่อนที่มิชชันนารีจะเข้ามาประกาศพระกิตติคุณในพม่า ดังนั้น จึงยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิมผสานกับพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนไทย ลาหู่นะอพยพมาจากพม่าในปี พ.ศ.2494 โดยลาหู่ซีเข้ามาในปี พ.ศ.2507 สาเหตุหลักมาจากปัญหาการเมืองในพม่าและอพยพเข้ามาอีกหลายระลอก แต่หลังปี พ.ศ. 2526 รัฐบาลไทยได้เข้มงวดการอพยพเข้าประเทศไทยเนื่องจากผิดกฎหมายและมีปัญหาที่ทำกิน การตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันลาหู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัดเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตากและกำแพงเพชร (หน้า21-22)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ลาหู่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอพยพมาจากเมืองเชียงตุง รัฐฉานของพม่า มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. ลาหู่นะ (มูเซอดำ) ประกอบด้วย ลาหู่หยี (มูเซอแดง) ลาหู่แล ลาหู่เวหยะ ลาหู่กุเลา ลาหู่ลาบา 2. ลาหู่ซี (มูเซอกุ้ย, มูเซอเหลือง,มูเซอบาลาน) ประกอบด้วย ลาหู่บาเกียว ลาหู่ไกซี โดยในปี พ.ศ.2526 สามารถแยกเป็นสัดส่วนได้ดังนี้ 1. ลาหู่นะ(มูเซอแดง) 18% ลาหู่หยี (มูเซอแดง) 46% ลาหู่แซแล 13% และอื่นๆ 3% 2. ลาหู่ซี 17% ลาหู่บาเกียว 3% ปัจจุบันลาหู่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร (หน้า 21-22)

Economy

เดิมลาหู่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่มีที่ทำกินจำกัดและมีความรู้เกี่ยวกับการเกษตรน้อย ทำให้มีฐานะยากจน คริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ได้มีโครงการเกษตรกรรมในช่วงแรกคือ 1. ฟาร์มเลี้ยงโค ที่หมู่บ้านแม่เมืองน้อย กิ่งอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ประสบปัญหามีหญ้าเลี้ยงสัตว์น้อยจึงย้ายไปที่บ้านห้วยจะค่าน ต่อมามีปัญหาอีกจึงเปลี่ยนเป็นการกระจายโคไปตามหมู่บ้านโดยมีเงื่อนไขว่าลูกโคตัวที่ 2 และแม่พันธุ์ต้องส่งคืนให้โครงการ 2. โครงการพันธุ์พืชเนื่องจากมีงบประมาณน้อยจึงจัดส่งพันธุ์พืชไร่ให้สมาชิกได้น้อย ต่อมามีโครงการอีก 8 โครงการคือ 1. อบรมความรู้ต่างๆ 2. โครงการน้ำดื่ม 3. โครงการขุดลอกคลองน้ำและฝายกั้นน้ำ 4. โครงการไร่กาแฟและชา 5. โครงการพันธุ์พืชสวน 6. โครงการพันธุ์พืชไร่ 7. โครงการพันธุ์สัตว์ โครงการทุนหมุนเวียน และยังมีโครงการของคณะสตรีคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ ที่ได้งบประมาณจากคริสตจักรฯ และรัฐบาลสวีเดนและโครงการของคณะอนุชนคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์เพื่ออบรมอาชีพด้านต่าง ๆ (หน้า34-39)

Social Organization

ลาหู่จะอยู่แยกกันเป็นกลุ่มไม่ปะปนกัน เช่น ลาหู่นะ ลาหู่ซี และ ลาหู่หยี และไม่นิยมแต่งงานข้ามกลุ่ม (หน้า 44) มีผู้นำทางศาสนาดั้งเดิมคือ ผู้ที่สื่อระหว่างผีและคน เรียกว่า "ปีหม้อ" และมีผู้ที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าเรียกว่า "ปอคู่" (ลาหู่นะ) หรือ "โตโบ" และ "ปู่จอง" (ลาหู่หยี) หรือ "แซ่ลูปา" (ลาหู่แซแล) โดยมีระบบอาวุโสในกลุ่ม (หน้า 12-14) และมีผู้นำคริสตศาสนา คือ คริสตจักรแบ๊บติสท์ลาหู่ ประเพณีแต่งงาน - มีธรรมเนียมแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว ถ้าต้องการแต่งงานใหม่ต้องหย่าขาดจากคู่เดิมเสียก่อน ถ้าฝ่าฝืนจะมีประเพณีลงโทษตามกฎ อาจถูกปรับหรือถูกไล่ออกจากหมู่บ้านการแต่งงานระหว่างเครือญาติทำได้เฉพาะที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันเท่านั้น ไม่นิยมแต่งงานข้ามเผ่าและห้ามมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน มิเช่นนั้นต้องถูกลงโทษ กรณีที่ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานจะถูกปรับและต้องฆ่าหมูเลี้ยงผีหมู่บ้าน ในกรณีที่นับถือศาสนาคริสต์จะจัดพิธีในโบสถ์แบบสากล แต่คู่ที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานจะไม่รับอนุญาตให้แต่งงานในโบสถ์ ศาสนาจารย์หรือศิษยาภิบาลจะไม่ประกอบพิธีให้ ต้องไปจัดที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านหรือญาติจะเป็นผู้ประกอบพิธีให้ มีกฎเกณฑ์โดยทั่วๆ ไปคือ 1. เมื่อฝ่ายชายแต่งงานไปกับฝ่ายหญิง จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง 7 ปี แต่ในปัจจุบันอาจลดเหลือ 3 ปี และกลับมาอยู่บ้านฝ่ายชายอีก 2 ปี จึงจะสามารถออกเรือนปลูกบ้านอยู่เองได้ 2. ค่าใช้จ่ายฝ่ายชายจะเป็นผู้ออกค่าหมู และฝ่ายหญิงจะออกค่าข้าวและอาหารอื่นๆ บางคู่ฝ่ายชายจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วแต่ตกลงกัน ประเพณีการตั้งชื่อเด็ก - ลาหู่เชื่อว่าหากเด็กเจ็บป่วยบ่อยๆ เป็นเพราะตั้งชื่อไม่ถูกกับชะตาของเด็ก พ่อแม่มักจะเชิญผู้อาวุโสมากินเลี้ยงและตั้งชื่อให้เด็ก โดยจะตั้งชื่อเมื่อครบ 12 วันหลังคลอด ซึ่งลาหู่นะและลาหู่หยีนิยมตั้งชื่อพยางค์แรกของเด็กชายว่า "จ่า" และชื่อพยางค์แรกของเด็กหญิงว่า "นา" พยางค์ที่ 2 มักระบุลำดับการเกิดหรือเวลาการเกิด ส่วนลาหู่ซีมักตั้งชื่อเด็กตามอย่างไทยใหญ่ ชื่อพยางค์แรกของเด็กชายใช้คำว่า "อ้าย" ของเด็กหญิงใช้คำว่า "อี่" พ่อแม่ที่มีลูกแล้วชาวบ้านจะนิยมเรียกว่า "พ่อของ?(ลูกคนโต)" โดยไม่มีนามสกุล แต่ได้เริ่มใช้เมื่อทางราชการได้ออกทำการสำรวจประชากรลาหู่เพื่อให้สัญชาติไทย (หน้า 8,12-20)

Political Organization

ในงานวิจัยจะมีโครงสร้างของคริสตจักรแบ๊บติสท์ลาหู่ ภายใต้การช่วยเหลือของคณะมิชชันนารีจากประเทศตะวันตก โดยแบ่งการทำงานเป็น 1. ฝ่ายจิตวิญญาณ 2. การศึกษา 3. การเกษตร 4. การอนามัย และมีการริเริ่มก่อตั้งคณะสตรีลาหู่ และคณะอนุชนลาหู่ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจาก BIM (Board of International Ministries) และ KNH (Kindernothlife E.V.) และองค์กรต่างประเทศอื่น ๆ แต่ยังมีงบประมาณในการดำเนินงานน้อยไม่เพียงพอทุกฝ่าย (หน้า 25,30)

Belief System

ศาสนา - เนื่องจากไม่มีอักษรบันทึกหลักความเชื่อและแนวทางปฎิบัติตามศาสนาเดิมจึงเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ศาสนาดั้งเดิมและลัทธิความเชื่อผู้นำจากสวรรค์ - เน้นที่การเชื่อภูติผี (เน่) ซึ่งมีทั้งร้ายและดี เช่น ผีดีคือผีบรรพบุรุษ ผีเรือน ผีหมู่บ้าน ซึ่งถ้าเซ่นไหว้เป็นประจำก็จะปกป้องคุ้มครองให้อยู่เป็นสุข ส่วนผีร้ายคือผีน้ำ ผีป่า ผีไร่ ผีภูเขา ผีที่สิงในร่างคนและสัตว์เป็นต้น มีผู้ที่สื่อระหว่างผีและคนเรียกว่า "ปีหม้อ" ช่วยวินิจฉัยโรคภัยไข้เจ็บและบวงสรวง วิญญาณ (โจฮา) เชื่อว่าอยู่ในร่างกาย ผีอาจจะทำร้ายวิญญาณทำให้เจ้าของเจ็บป่วยได้ เมื่อนอนหลับวิญญาณจะล่องลอยไปเที่ยวเจ้าของร่างจะรับรู้ได้ด้วยความฝันและสามารถนำมาตีความหมายเพื่อทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ได้ และพระผู้เป็นเจ้า (แตวาล้า, งื่อซา) เชื่อว่าเป็นผู้สร้างฟ้า สวรรค์และโลก ทุกสิ่งเป็นของพระองค์ และพระองค์สามารถทำนายเหตุการณ์ต่างๆได้ ในช่วงที่คริสต์ศาสนามาถึงลาหู่มีลาหู่หลายคนอ้างตัวว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้ามาจุติในโลก เช่น แอแยงื่อซา จ่าพูงื่อซา ฯลฯ ในสมัยโบราณลาหู่ได้เลียนแบบความคิดของชาวธิเบตคือเชื่อว่ามีผู้ที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าเรียกว่า "ปอคู่" (ลาหู่นะ) หรือ "โตโบ" และ "ปู่จอง" (ลาหู่หยี) หรือ "แซ่ลูปา" (ลาหู่แซแล) จะได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าหมู่บ้านหรือผู้สูงอายุหรือจากการเลือกตั้งของสมาชิกในหมู่บ้าน โดยเป็นผู้นำในพิธีการต่าง ๆ เช่นไถ่บาป แต่งงาน งานศพ เป็นต้น และอาศัยอยู่ในโบสถ์หรือวิหาร โดยต้องประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีไม่เสพสิ่งเสพติดมึนเมา ไม่เช่นนั้นแล้วแตวาล้าหรือ งื่อซาจะไม่โปรดทำให้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาพุทธ - ลาหู่หยีบางหมู่บ้านส่งลูกหลานเข้าเรียนในวัด (วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่) บางคนบวชเป็นพระ (หน้า 12-14) ศาสนาคริสต์ - ลาหู่นะและลาหู่ซีในไทยทั้งหมดนับถือคริสต์ศาสนา โดยยังนับถือภูติผีและข้อห้ามของคนโบราณอยู่ จากหนังสือประวัติคริสตชนลาหู่โดยคริสตจักรปางหวายบันทึกว่าปี ค.ศ.1844 ปอคู่ชื่อ วาฟูเย่เป็นผู้นำทางศาสนาของลาหู่ เมื่อเสียชีวิตลง ปอคู่อาซาฟูจูได้เป็นผู้นำและมีอิทธิพลต่อลาหู่ทุกกลุ่มได้ให้คำพยากรณ์ไว้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะมาหาเราเองโดยไม่ต้องเสาะหา โดยมีคนผิวขาวนำพันธะสัญญามาให้ถึงประตูบ้าน โดยท่าน (อาซาฟูจู) จะเดินทางไปยังทิศใต้เพื่อเชิญคนผิวขาวนำพันธะสัญญามาให้ลาหู่ ต่อมาลาหู่ได้รับพระเกียรติคุณครั้งแรกใน ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) โดยศาสนาจารย์วิลเลี่ยม เอ็ม ยัง ที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ลาหู่คนแรกที่นับถือศาสนาคริสต์คือนายจ่าแสปูเตา มีอาชีพสอนวิชามวยและฟันดาบแก่ทหารของเจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง ต่อมาได้เรียนพระคัมภีร์ได้เป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ และได้ขยายไปจนถึงหมู่บ้านเวโบ๋ ที่เป็นที่อยู่ของแอแย ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้า (งื่อซา) เมื่อแอแยและชาวบ้านได้ฟังพระกิตติคุณแล้วลงความเห็นว่าเป็นไปตามคำพยากรณ์ของอาซาฟูจูจึงรับเป็นคริสตชน และได้เผยแพร่ไปยังกลุ่มต่างๆ เช่น ชาวบ้านปูหลวงภายใต้การผู้นำคือ ลีกอย มิ ในปี ค.ศ. 1906 ลาหู่ซีคนแรกที่นับถือคริสต์ชื่อ อ่าย คาลอ ประเทศไทย - ก่อนปี พ.ศ. 2507-2511 เนื่องจากคริสตชนลาหู่ที่อพยพมาจากพม่ายังไม่ได้รวมตัวกันเป็นคณะคริสตจักร คริสตชนลาหู่ 2 หมู่บ้านจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกกระเหรี่ยงแบ๊บติสท์ คือ 1. คริสตจักรบ้านห้วยตาด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกเป็นลาหู่นะ มีศิษยาภิบาลชื่อ สล่า จ่าแฮ ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนาจารย์ในปี พ.ศ. 2503 2. คริสตจักรบ้านสันต้นคู่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกเป็นลาหู่หยี มีศิษยาภิบาลชื่อ สล่าเดวิด ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนาจารย์ในปี พ.ศ. 2507 ทำให้นักเรียนนักศึกษาลาหู่และชาวบ้านได้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือต่างๆ ต่างกับหมู่บ้านที่ไม่มีมิชันนารีและคริสตจักรช่วยเหลือ ในปี พ.ศ. 2510 ผู้นำคริสตจักรลาหู่จึงประชุมหารือกันที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายให้รวมตัวกันก่อตั้งคริสตจักรเป็นของตัวเอง โดยเชิญมิชชันนารีจากนอร์เทิร์นอเมริกา แบ๊บติสท์ คืออาจารย์พอล และอีเลน หลุยส์ ซึ่งเคยทำงานกับลาหู่ในพม่าในปี พ.ศ. 2490 - 2507 ทั้ง 2 จึงเดินทางมาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2512-2513 และคริสตจักรลาหู่ก็ได้เป็นภาคหนึ่งของคริสตจักรกระเหรี่ยงแบ๊บติสท์ โดยมีชื่อย่อว่า แอล เอ แอล (LAL) มาจาก ลาหู่ อาข่า ลีซอ เนื่องจากอาจารย์พอล และอีเลน หลุยส์มีความคุ้นเคยกับอาข่าและลีซอด้วย ปี พ.ศ. 2514 คริสตจักรลาหู่จึงลาออกจาก คริสตจักรกระเหรี่ยง ในปี พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนชื่อย่อคณะใหม่เป็น LBCT (Lahu Baptist Convention in Thailand) เนื่องจากได้รับการท้วงว่ามีสถาบันอื่นทำงานกับอาข่าและลีซอมาก่อนคณะคริสตจักร หน้า22-25) ในปี พ.ศ.2527 จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคริสตจักรแบ๊บติสท์โลก (หน้า32) -ประเพณี - ประเพณีฉลองปีใหม่ - จัดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ โดยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ลาหู่คริสเตียนในประเทศไทยจะจัดตรงกับปีใหม่สากล ส่วนลาหู่ที่ยังนับถือศาสนาดั้งเดิมจะจัดงานประมาณปลายเดือนมกราคมถึงปลายเดือนมีนาคมขึ้นกับความพร้อมของคนในหมู่บ้านโดยต้องเตรียมงานล่วงหน้าเป็นเดือน เช่นผู้หญิงต้องเตรียมเสื้อผ้าใหม่ให้คนในครอบครัว ผู้ชายเตรียมฟืนไว้สุมไฟช่วงปีใหม่ โดยพิธีจะแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1. ส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านจะแช่ข้าวเหนียวเพื่อตำทำข้าวปุ๊กและฆ่าหมู จากนั้นจะทำหิ้งเพื่อวางข้าวปุ๊กและแขวนเนื้อหมู ทำลูกข่าง ขัดเครื่องเงิน ในช่วงรุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านจะปลูกต้นสนบริเวณลานเต้นรำของหมู่บ้าน ตกดึกเมื่อไก่ตัวแรกเริ่มขันผู้ใหญ่บ้านจะยิงปืนเป็นคนแรกตามด้วยลูกบ้านเพื่อส่งท้ายปีเก่า บรรดาหนุ่มสาวจะแข่งกันไปตักน้ำในห้วยถือว่าใครตักได้ก่อนจะมีโชคลาภในปีนั้น 2. ปีใหม่หญิง ในช่วง 4 วันแรก คนที่เป็นคริสเตียนจะจัดการนมัสการเป็นพิเศษด้วย ลาหู่จะหยุดการทำงานทุกชนิด ไม่เดินทางออกนอกหมู่บ้าน และงดการใช้เงิน ผู้หญิงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่และเครื่องประดับทุกชนิด และแขวนเสื้อผ้าใหม่อื่นๆ ไว้ที่ผนังบ้าน วันขึ้นปีใหม่ผู้หญิงจะเล่นสะบ้า ผู้ชายจะเล่นลูกข่าง วันที่ 2 ตอนเช้าหนุ่มสาวจะต้มน้ำอุ่นที่ตักในคืนส่งท้ายปีเก่าและออกไปตามบ้านเพื่อรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสและรับพร ช่วงเที่ยงถึงเย็นชาวบ้านที่มีฐานะดีจะเชิญชาวบ้านทั้งหมดมาเต้นรำ (ก่าเค่ะ) และเลี้ยงอาหารในเวลาใกล้ค่ำจะมารวมตัวกันตรงลานหมู่บ้านโดยถือว่าถ้าใครไม่ได้เต้นรำจะทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล วันที่ 3 หนุ่มสาวจะเดินทางไปหมู่บ้านอื่นเพื่อรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ วันที่ 4 จะอยู่บ้านเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านอื่นมารดน้ำดำหัวบ้าง วันที่ 5-10 ผู้ใหญ่ที่มีครอบครัวจะเข้าป่าล่าสัตว์ ส่วนหนุ่มๆ จะออกหาคู่ครองตามหมู่บ้านอื่นๆ วันที่ 11 จะตำข้าวปุ๊ก ฆ่าหมูอีกครั้งเพื่อเตรียมปีใหม่ชาย 3. ปีใหม่ชาย ตั้งแต่วันที่ 12-14 ของวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะอยู่ฉลองจนช่วงสุดท้ายและมีการเต้นรำทุกคืนตั้งแต่เย็นจนสว่าง เวลาเที่ยงคืนของแต่ละคืนจะมีชาวบ้านผลัดกันเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงแก่ผู้เต้นรำ (หน้า 8, 12-20)

Education and Socialization

คริสจักรลาหู่แบ๊บติสท์ได้จัดโครงการด้านการศึกษา โดยมีโครงสร้างประกอบด้วย 1. ประธาน 2.ผู้แทนจากแต่ละภาค 3. ที่ปรึกษา คือเลขาธิการและมิชชันนารี มีโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ 1. ตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เพื่อการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยขอความสนับสนุนจากกรมสามัญศึกษาฝ่ายการศึกษาพิเศษ และส่งเด็กที่จบการศึกษาเข้าเรียนที่โรงเรียนที่สูงขึ้นต่อไป โดยเมื่อมีโครงการศึกษาจากรัฐ เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน โรงเรียนกรมประชาสงเคราะห์เข้ามาในหมู่บ้าน จึงได้โอนโรงเรียนของคณะคริสตจักรทั้งหมด 21 แห่ง 2. จัดตั้งบ้านพักนักเรียนเพื่อรองรับนักเรียนที่เรียนสูงขึ้นในเมือง 3. ช่วยเหลือนักเรียนระดับอุดมศึกษาที่ออกไปเรียนต่างจังหวัด เช่น ลำพูน กรุงเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเปิดศูนย์อบรมวิชาชีพและการเกษตรที่อบรมวิชาต่างๆ เช่น ภาษาไทย, ช่างไม้, การฝีมือ และอบรมพระคัมภีร์แก่สมาชิก (หน้า23-34)

Health and Medicine

โครงการด้านอนามัยของคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ ดำเนินการโดยบุคลากรที่เป็นพยาบาล โดย 1. ช่วยรักษาพยาบาลเบื้องต้นในระหว่างประชุมประจำปี 2.จัดตู้ยาประจำหมู่บ้าน 3.อบรมการป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น 4.วางแผนครอบครัว 5. จัดหาผู้ช่วยนำคนไข้ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ส่งโรงพยาบาล 6. ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลที่เกินกว่า 500 บาท (หน้า31)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ตำนานประวัติของชนเผ่าลาหู่ - เดิมมีผู้ใหญ่บ้านชื่อ "จ่านู" ปกครองหมู่บ้านลาหู่ซึ่งขณะนั้นมีเพียงหมู่บ้านเดียว โดยตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของผู้ใหญ่บ้าน โดยมีพระผู้สร้างฟ้า สวรรค์และโลกคือ "แตวาล้า" ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนและมีพระดำรัสแก่จ่านูเป็นประจำ แต่จ่านูมักฝ่าฝืนคำสั่งเสมอทำให้ แตวาล้าโกรธ เพื่อเป็นการลงโทษจึงได้สร้างดวงอาทิตย์เพิ่มอีก 1 ดวงทำให้โลกร้อน แต่จ่านูไม่กลับใจและเอากะทะ 2 ใบทำเป็นหมวกแล้วออกไปไถนา ต่อมาแตวาลาสร้างดวงอาทิตย์เพิ่มเป็น 3 ดวง จ่านูก็นำกะทะ 3 ใบมาเป็นหมวกแล้วไปไถนาต่อ จนในที่สุดแตวาล้าสร้างดวงอาทิตย์ถึง 7 ดวง ความร้อนทำให้หมวกกะทะ 7 ใบของจ่านูละลายเป็นน้ำ จ่านูจึงนำชาวบ้านไปอยู่ในอุโมงค์เพื่อหนีความร้อนและออกมาไถนาตอนกลางคืน โดยใช้ไม้สนมัดกับเขาควาย ทำให้เขาควายมีรอยหยักคล้ายเชือกมัดจนถึงปัจจุบัน แต่ความร้อนทำให้น้ำบนโลกแห้ง จ่านูจึงให้น้องชายภรรยาและน้องสาวไปขออภัยโทษและขอฝนจากแตวาล้า โดยสัญญาว่าจะเชื่อฟังและปฎิบัติตามคำสั่งของพระองค์ตลอดไป แตวาล้าจึงเทน้ำใส่กระจาดและฝัดน้ำในกระจาด โดยการฝัด 1 ครั้ง จะทำให้ฝนตก 4 วัน น้องชายภรรยาและน้องสาวของจ่านูจึงขอให้แตวาล้าฝัดกระจาด 4 ครั้งทำให้ฝนตก 16 วัน เมื่อกลับไปถึงหมู่บ้านพบว่าชาวบ้านถูกน้ำท่วมตายหมด น้องชายภรรยาของจ่านูจึงบอกว่าถึงแม้ทั้ง 2 คนเป็นญาติกันแต่ตอนนี้ต้องแต่งงานกันเพื่อสืบสายพันธุ์มนุษย์ แต่น้องสาวของจ่านูคัดค้านเนื่องจากผิดประเพณี น้องชายภรรยาของจ่านูจึงหาวิธีแสดงว่าการที่จะแต่งงานกันไม่ผิด โดยพบหินโม่แป้งแตกเป็น 2 ส่วน จึงสัญญากันว่า ฝ่ายชายจะกลิ้งหินโม่แป้งส่วนบนลงจากภูเขาทางทิศตะวันออก ฝ่ายหญิงจะกลิ้งหินโม่แป้งส่วนล่าง ลงจากภูเขาทางทิศตะวันตก ถ้าหินโม่แป้งไปประกบกัน ณ ที่ซึ่งแม่น้ำสายตะวันออกและแม่น้ำสายตะวันตกมาบรรจบกัน ทั้ง 2 ก็จะแต่งงานกันได้ เมื่อทั้ง 2 กลิ้งหินแล้วตามไปดูพบว่าหินทั้ง 2 ส่วนประกบกันได้เหมือนเดิมจึงแต่งงานกัน ต่อมานางตั้งครรภ์เป็นเวลาเกือบ 7 ปี แตวาล้าได้ลงมาเยี่ยม แล้วตรัสว่า นางจะให้กำเนิดแน่นอน และเมื่อคลอดออกมาก็ให้เลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุด เมื่อครบ 7 ปี นางคลอดลูกออกมาเป็นน้ำเต้าทำให้ทั้ง 2 เสียใจมากจึงเอาไปซ่อนไว้ในพงหญ้า ในวันเดียวกันแตวาล้าได้มาเยี่ยมอีกแล้วสอบถาม เมื่อทราบว่าทั้ง 2 เอาน้ำเต้าไปซ่อนจึงตรัสว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี ให้นำน้ำเต้ามาและบอกว่าภายในมีทารกอยู่มากมาย ให้สามีภรรยาฟังเสียงทารกในน้ำเต้า จากนั้นจึงใช้ถ่านขีดเป็นเส้นด้านหัวของน้ำเต้า และเรียกให้สัตว์ป่าทั้งหลายมาเจาะรูน้ำเต้าตรงที่ทำเครื่องหมายไว้ จากนั้นตรัสว่าถ้าใครเจาะรูน้ำเต้านี้ได้จะให้พรพิเศษจะได้อยู่สุขสบายไม่อดหยาก หรือดิ้นรนหากิน นกเขาและนกกระจาบลองอาสาแต่ทำไม่สำเร็จ แตวาล้าจึงให้นกเขาที่มีความพยายามแต่ไม่สำเร็จไปเก็บข้าวหล่นตามปลายไร่นา และนกกระจาบที่เจาะจนปากเปื่อยไปกินรวงข้างอ่อนตามไร่นา สุดท้ายหนูจึงเจาะได้ จึงได้อยู่กินในบ้านและยุ้งฉาง ปรากฏว่าในน้ำเต้ามีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ถึง 120 เผ่าพันธุ์ แตวาล้าจึงให้ไปจับจองที่ดิน โดยใช้ก้อนหินฝังเป็นอาณาเขต ส่วนลาหู่ใช้หญ้าคามัดเป็นกระจุกส่วนบนแล้ววางเป็นจุดๆ จากนั้นแตวาล้าจึงตรวจดูอาณาเขตของแต่ละเผ่า โดยเผาป่าก่อนเพื่อความสะดวก ทำให้สัญลักษณ์การแบ่งอาณาเขตของลาหู่ถูกไฟเผาหมด ลาหู่จึงเชื่อว่าทำให้ลาหู่ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง ต้องไปอาศัยอยู่กับเผ่าอื่น เมื่อแต่ละเผ่าได้อาณาเขตที่ดินแล้วแตวาล้าให้ตัวแทนของแต่ละเผ่าเลือกเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อประกอบอาชีพโดยให้โอกาสลาหู่เลือกก่อน โดยตัวแทนลาหู่ได้เลือกขวานด้ามทอง ด้วยเหตุนี้ลาหู่จึงเชื่อว่า การใช้ขวานล้มต้นไม้ ถางป่า ปลูกพืชเป็นอาชีพหลักของบรรพบุรุษ ลูกหลานส่วนใหญ่ก็ดำรงชีพตามอาชีพของบรรพบุรุษ (หน้า 4-7) ตำนานเรื่องภาษา - พระผู้สร้างฟ้า สวรรค์และโลกโปรดปรานลาหู่มากเพราะลาหู่ยึดมั่นในพันธะสัญญาจึงประทานอักษรเขียนให้บนแผ่นข้าวปุก (อาหารพื้นบ้านของลาหู่) โดยลาหู่จะนำติดตัวไปตลอด วันหนึ่งเมื่ออดหยากไม่มีอาหารจึงปรึกษากันว่าจะนำข้าวปุกที่บันทึกอักษรมากิน เพราะหนังสือไม่สำคัญสามารถจดจำได้ ด้วยเหตุนี้ลาหู่จึงไม่มีตัวอักษรใช้

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม - ได้แก่ประเพณีถือผี ประเพณีแต่งงาน การตั้งชื่อเด็ก และประเพณีปีใหม่ ความสัมพันธ์กับชนชาติอื่น - ในอดีต ลาหู่มีความสัมพันธ์กับชาวจีนและไทยใหญ่ในฐานะคู่สงคราม เป็นเหตุสำคัญให้มีการย้ายถิ่นของลาหู่ (หน้า 7-12) ในช่วงแรกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย คริสตชนลาหู่มีความสัมพันธ์กับกระเหรี่ยงโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะคริสตจักรกระเหรี่ยงแบ๊บติสท์ประเทศไทยในช่วงก่อนปี พ.ศ.2507- 2510 เนื่องจากยังไม่มีการรวมตัวกันของคริสตจักรลาหู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 เนื่องจากมีปัญหาด้าน ภาษาพูด เขียน และวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างกันของกระเหรี่ยงและลาหู่ จึงได้แยกออกมาเป็นคริสต์จักรลาหู่ร่วมกับอาข่าและลีซอ เนื่องจากผู้นำทางศาสนาอเมริกันได้ทำงานร่วมกับอาข่าและลีซอมาก่อน และแยกตัวเป็นคริสตจักรลาหู่ ในปี พ.ศ.2518 เนื่องจากได้รับการทักท้วงว่ามีสถาบันอื่นได้ทำงานกับอาข่าและลีซอมาก่อนหน้าคณะคริสตจักรลาหู่ และมีความสัมพันธ์กับชนชาติตะวันตกในลักษณะผู้นำศาสนา เช่นการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของคณะมิชชันนารีชาวอเมริกามาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และการช่วยเหลือจากคริสตจักรในประเทศอื่น ๆ (หน้า 20-26) ภายในลาหู่ด้วยกันมีหลายกลุ่มทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เช่น ในคณะคริสจักรมักเป็นลาหู่ซี ทำให้ลาหู่นะซึ่งมีจิตใต้สำนึกว่าสืบสายมาจากตระกูลพี่ไม่พอใจ โดยมักดูแคลนลาหู่กลุ่มอื่น ๆ เสมอ (หน้า 44)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงที่พบในงานวิจัยคือ ในอดีตลาหู่นับถือศาสนาดั้งเดิมคือภูติผี วิญญาณ และพระผู้เป็นเจ้า ต่อมาเมื่อติดต่อกับชนชาติอื่นจึงรับอิทธิพลจากศาสนาอื่นๆ เช่น จากการย้ายถิ่นมาอยู่ในประเทศไทยจึงการรับศาสนาพุทธจากคนไทย และจากการเผยแพร่ทางศาสนาคริสต์ของคณะมิชชันนารีตะวันตก จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ โดยมูลเหตุพื้นฐานการกลับใจของลาหู่มี 3 ประการคือ 1. คำพยากรณ์จากประวัติศาสตร์ จากผู้นำทางศาสนาที่มีอิทธิพลคือ อาซาฟูจู ที่ว่า "อย่าเสาะแสวงหาพระผู้เป็นเจ้า เมื่อถึงเวลาพระผู้เป็นเจ้าจะมาหาโดยคนผิวขาวขี่ม้าขาวเดินทางนำพันธสัญญามาให้ถึงบ้าน" โดยเชื่อว่า การเดินทางมาของศาสนาจารย์วิลเลี่ยม เอ็ม ยัง ที่เมืองเชียงตุงประเทศพม่าในปี ค.ศ.1901 เป็นไปตามคำพยากรณ์ 2. จากศาสนาดั้งเดิมนับถือพระผู้สร้างฟ้า สวรรค์และโลก เชื่อว่าลาหู่นมัสการพระเจ้าตั้งแต่ดั้งเดิมมา แต่เรียกขานพระนามขงพระองค์ไม่ถูกต้องเท่านั้น 3. การกลับใจตามผู้นำที่มีอิทธิพลต่อสมาชิกหมู่บ้าน โดยมีอิทธิพลต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคริสตจักรลาหู่แบ๊บติสท์ คือ 1.ศาสนาดั้งเดิม โดยผู้ที่กลับใจรับเชื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะลาหู่หยี เมื่อประสบปัญหาชีวิตมักใช้วิธีรักษาดั้งเดิม ทำให้ไม่แน่ใจว่าพระเจ้าหรือผี ที่ช่วยเหลือตน 2.ข้อห้ามของคนโบราณ ที่สมาชิกคริสตจักรยังยึดถือปฎิบัติ 3.การยึดถือหลักศาสนาศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง จากการอบรมระยะสั้นๆ ทำให้ผู้ที่ออกไปเผยแพร่ยังมีความรู้ไม่เพียงพอ 4.การมีหลายกลุ่มของลาหู่เกิดปัญหาเช่น การดูแคลนกลุ่มอื่น, ภาษา 5.ความยากจน โดยสมาชิกมักแยกตัวไปเข้ากับคริสตจักรอื่นที่มีงบประมาณในการช่วยเหลือ อิทธิพลของคริสตศาสนาต่อลาหู่ 1. ประเพณีเปลี่ยนจากแบบดั้งเดิมทั้งความหมายและรูปแบบ เช่น ประเพณีการตั้งชื่อเด็กจะเปลี่ยนเป็นตั้งตามบุคคลในพระคัมภีร์ 2. วัฒนธรรม ทำให้กลายเป็นสากลมากขึ้นเช่นการแต่งกาย, ดนตรี, การศึกษา, ความเป็นอยู่ (หน้า 42-47)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst ปิยวรรณ สามเพชรเจริญ Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ลาหู่, ศาสนาคริสต์, แบ๊บติสท์, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง