สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง, ความเป็นมา,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,ประเพณี,ความเป็นอยู่,ภาคเหนือ
Author สมคิด ศรีสิงห์
Title วัฒนธรรมของไทยโซ่งดำ (ลาวโซ่ง) ในจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 167 Year 2521
Source สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
Abstract

งานวิจัยวัฒนธรรมของไทยโซ่งดำหรือลาวโซ่งในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร มุ่งศึกษาประวัติความเป็นมาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมและปัจจุบัน และวิเคราะห์การปฏิบัติทางวัฒนธรรม ด้านความเชื่อ ประเพณีต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า ไทยโซ่งดำ (ลาวโซ่ง) มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบลุ่มน้ำดำ แคว้นตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของไทย สมัยต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-3) ฝรั่งเศสได้เข้ามารุกรานปกครอง จึงมีการอพยพครอบครัวไทยโซ่งดำมาอยู่อาศัยแถบภาคกลางหลายครั้ง ในบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ระยะต่อมา คนไทยโซ่งดำ ได้ขยายถิ่นฐานออกไปในท้องที่ต่างๆ บางส่วนเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ประเพณีไทยโซ่งดำมีรากฐานมาจากความเชื่อธรรมชาติและวิญญาณ โดยนับถือ "แถน" เป็นเทพสูงสุดสามารถบันดาลให้เกิดความเป็นไปต่างๆ และเคารพวิญญาณของบรรพบุรุษคุ้มครองคนในตระกูล การเซ่นไหว้แถนและบรรพบุรุษยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ในธรรมชาติมีการเคารพบูชาน้อยลง และบางอย่างได้เลิกไปแล้ว สภาพความเป็นอยู่ของไทยโซ่งในพิษณุโลกและพิจิตรปัจจุบัน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลสังคม เดิมอยู่ริมน้ำยมซึ่งมีสภาพขาดแคลนน้ำและสาธารณูปโภค มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีฐานะยากจน และเกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ส่วนการปฏิบัติในประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ยังมีความเชื่อเรื่องผี-ขวัญ มีการไหว้ผีฟ้า "แถน" และผีบรรพบุรุษเป็นประจำทุกครอบครัว ส่วนความเชื่ออื่นๆ มีการปฏิบัติน้อยมาก ประเพณีที่ปฏิบัติเป็นประจำคือ ทำเสนเรือน และ เสนปาดดง ที่มีการปฏิบัติบางครั้งคือ การกินดอง หรือการแต่งงานแบบโซ่ง และ "ปาแห่" หรือการทำโลงศพแบบโซ่ง หมู่บ้านที่ยังมีการปฏิบัติประเพณีแบบไทยโซ่งดำมากที่สุดคือบ้านหนองขานาง (บางระกำ) บ้านหนองหัวปลวก (โพธิ์ประทับช้าง) และบ้านสระบระเพ็ด (สามง่าม) (หน้า บทคัดย่อ)

Focus

ศึกษาประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมและปัจจุบัน ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบันของลาวโซ่ง เพื่อวิเคราะห์การปฏิบัติทางวัฒนธรรมด้านความเชื่อ ประเพณีต่างๆ ในปัจจุบันของลาวโซ่งในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร (หน้า 3)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาหมู่บ้านลาวโซ่งหรือไทยโซ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก 1 อำเภอ คือ อำเภอบางระกำ และจังหวัดพิจิตร 2 อำเภอ คือ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอสามง่าม รวม 39 หมู่บ้าน (หน้า 4)

Language and Linguistic Affiliations

ไทยโซ่งมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง คือ ภาษาเขียน มีลักษณะคล้ายอักษรไขว้ ผู้ไทย และคล้ายอักษรไทย ถิ่นต่างๆ แถบอ่าวตังเกี๋ย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอักษรล้านช้าง ซึ่งอักษรล้านช้างก็ได้รับอิทธิพลมาจากอักษรไทยสมัยสุโขทัย โดยผ่านทางล้านนาอีกทอดหนึ่ง ปัจจุบันไทยโซ่งไม่มีการเขียนเพื่อการสื่อสารแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยหมดแล้ว ตัวอักษรโซ่งมีพยัญชนะ 27 รูป พยัญชนะพิเศษมี "ห" นำ 6 ตัว สระเดี่ยว 10 รูป สระประสม 6 รูป และวรรณยุกต์ 1 รูป ภาษาพูด มีสำเนียงเพี้ยนจากลาวเวียงจันทร์และทางอีสาน โซ่งจะพูดภาษาเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มโซ่งด้วยกัน จะมีบ้างที่ผู้สูงอายุใช้ภาษาโซ่งปนไทย (หน้า 106-107)

Study Period (Data Collection)

เดือนตุลาคม 2527 - เดือนพฤษภาคม 2531

History of the Group and Community

ไทยโซ่งดำมีการอพยพเข้ามาในไทยหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2322 ไทยโซ่งดำอพยพมาจากเมืองทันเข้ามาอยู่ชิดเขตแดนเวียดนาม พระเจ้ากรุงธนบุรีเดินทางมาตีเมืองเวียงจันทร์และตีไปถึงเมืองทันแล้วกวาดต้อนผู้คนลงมา ให้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเพชรบุรี สระบุรี ราชบุรี และที่จันทบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.2325 มีการอพยพไทยดำจากเมืองแถง จากการยกทัพไปตีเมืองแถง และเมืองพวนที่แข็งข้อต่อกรุงเวียงจันทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดให้ลาวทรงดำไปตั้งอยู่ที่เมืองเพชรบุรี และลาวพวนอยู่ที่กรุงเทพ ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ได้มีการอพยพครัวจากเวียงจันทร์เข้ามาอยู่ที่เพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2378 มีการยกทัพไปตีเมืองแถงและเมืองพวนอีกครั้ง จับลาวพวน ลาวทรงดำลงมาอยู่กรุงเทพ ปี พ.ศ. 2379 มีกบฏเกิดขึ้นอีกใน เมืองหึม เมืองคอยเมืองควรซึ่งแข็งข้อเมืองหลวงพระบาง เมื่อตีได้แล้วจึงอพยพลาวทรงดำกลับมาที่กรุงเทพ ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีการปราบกบฏฮ่อซึ่งได้นำไทยโซ่งไปร่วมรบด้วย ส่วนการขยายถิ่นฐานของไทยโซ่งในไทย เริ่มจากการตั้งถิ่นฐานที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นบ้านติดชายทะเล แต่ไทยโซ่งไม่ชอบลักษณะภูมิประเทศแบบนี้ จึงโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขาเหมือนบ้านเมืองเดิม ต่อมาจึงกระจายออกไปทั่วในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังได้กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ คือสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์และชุมพร การตั้งถิ่นฐานในพิษณุโลกและพิจิตร ส่วนใหญ่อพยพมาจากสุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรีและราชบุรี เลือกทำเลใกล้แหล่งน้ำขนาดเล็กที่ไกลจากแม่น้ำสายใหญ่ และอยู่รวมเป็นกลุ่มไม่ปะปนกับคนท้องถิ่น แต่เดิมมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมทำให้เกิดความแห้งแล้ง มีการอพยพออกไปยังบริเวณใกล้เคียง การโยกย้ายทำให้เกิดการ ผสมกลมกลืนกับชาติพันธุ์อื่น เช่นไทยอีสาน ทำให้จำนวนครัวเรือนไทยโซ่งดำลดลงกลายเป็นประชากรส่วนน้อยในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ไทยโซ่งยังคงพยายามปฏิบัติประเพณีดั้งเดิมอยู่จนถึงปัจจุบัน (หน้า 31-37)

Settlement Pattern

กล่าวเพียงว่าไทยโซ่งดำเคยอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขามาก่อน (หน้า 35)

Demography

- จำนวนครัวเรือนในตำบลบางระกำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ตำบล 94 หมู่บ้าน ในปี 2526 มี 14,957 ครัวเรือน มีประชากร 88,605 คนแบ่งเป็นชาย 44,331 คน หญิง 44,274 คน กลุ่มประชากรประกอบด้วย 1) กลุ่มลาวโซ่ง กระจายอยู่ตามตำบลต่างๆ เช่นชุมแสง พันเสา 2) กลุ่มอีสาน มาจากร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ อยู่ในเขตตำบลบึงกอก หนองกุลา บางระกำและตำบลชุมแสงสงคราม และ 3) กลุ่มภาคกลางส่วนใหญ่อพยพมาจาก นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัยเป็นต้น (หน้า 41) - ประชากรในอำเภอโพธิ์ประทับช้างในปี พ.ศ. 2528 มี ทั้งหมด 42,605 คน เป็นชาย 20,979 คน หญิง 21,626 คน มีครัวเรือน 7,879 ครัวเรือน (หน้า 53) - ประชากรในอำเภอสามง่าม มี 75,053 คน เป็นชาย 36,273 คน หญิง 38,780 คน จำนวนครอบครัว 16,117 คน (หน้า 60)

Economy

อาชีพในอำเภอบางระกำ ส่วนใหญ่ปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน งา และฝ้ายพันธุ์ส่งเสริมปัญหาการเกษตรสำคัญ คือ น้ำหลากในฤดูฝน นอกจากนี้ ยังมีอาชีพประมงที่ยึดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งมีการซื้อขายกันสดๆ และทำเป็นปลาร้า ปลาเค็มและน้ำปลาไว้บริโภคและขาย (หน้า40) อาชีพในอำเภอโพธิ์ประทับช้างคือการเกษตร ทำนา ทำไร่ สวนผลไม้ มีประมง และปศุสัตว์เลี้ยงหมูส่งขายตลาดจำนวนมาก ปัญหาการเกษตรคือขาดน้ำทำนา และหากปีใดมีน้ำมากก็เกิดน้ำท่วมพืชผลเสียหาย (หน้า 51-53) อาชีพในอำเภอสามง่ามคือทำนา ปลูกพืชไร่และจับสัตว์น้ำ (หน้า 61)

Social Organization

ไม่มีข้อมูล

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ความเชื่อของลาวโซ่ง มีอยู่ 6 ประการ ได้แก่ 1) ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ มีแถนหรือผีฟ้าเป็นผีที่อยู่สูงสุด รองลงมาคือผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ตายไป วิญญาณจะมาปกป้องลูกหลาน ผีประจำสถานที่ เช่น ผีบันได ผีประตูหรือแม่ธรณี ผีเจ้าที่ ผียุ้งฉาง ผีนา ผีลานนวดข้าว ผีอีกประเภทคือ ผีประจำหมู่บ้าน คือผีที่ปกป้องหมู่บ้าน ผีวัด คือผีตายโหง และผีร้าย เช่น ผีปอบ ผีกระสือ คอยทำร้ายชาวบ้านให้เจ็บป่วย 2) ความเชื่อเรื่องขวัญ เชื่อว่า "แถน" มีบทบาทในการกำหนดชะตาชีวิตมนุษย์ คนปกติจะมีขวัญประกอบอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ จำนวน 32 ขวัญ หากขวัญออกจากร่างจะเกิดความเจ็บป่วย ต้องทำพิธีเรียกขวัญ และเมื่อเสียชีวิต ขวัญก็จะออกจากร่างกายไปอยู่เมืองฟ้า 3) ความเชื่อในเรืองโชคลาง คือเครื่องหมายที่ปรากฏบอกเหตุร้ายหรือดี แบ่งได้ดังนี้ ลางที่เกิดจากสัตว์ เช่น จิ้งจกทัก สัตว์เดินตัดหน้า แร้งลงบ้าน ลางที่เกิดจากบุคคลหรือการกระทำต่างๆ เช่น เขม่นตา ห้ามเผาผีวันศุกร์ ห้ามนอนใต้ขื่อลางที่เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น เห็นดาวหางแล้วบ้านเมืองจะเดือดร้อน จะเกิดสงคราม ลางทำนายลักษณะบุคคล เช่น คนแก้มบ๋อง (มีลักยิ้ม) ถือว่าดี หากมีไฝที่ปาก เป็นคนเสน่ห์ดี ลางฝันและทำนายฝัน เช่นฝันว่าฟันหัก ลูกจะป่วย ฝันว่าได้แหวน จะได้ลูกได้เมีย 4) ความเชื่อในเรื่องเวทมนต์คาถา เครื่องรางของขลังและการบนบานศาลกล่าว เช่น เวทมนต์รักษา หรือเครื่องลางหางช้างทำเป็นกำไรมือ หมูเขี้ยวตันป้องกันภัย เป็นต้น 5) ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เกี่ยวกับวันเวลาที่ดี ใช้ในการปลูกเรือน การเลือกคู่ครอง ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน และ 6) ความเชื่อศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา เรื่องกฎแห่งกรรม ปัจจุบัน พิธีกรรม ความเชื่อบางอย่างถูกละเลิกไปแล้ว เหลือเพียงบางพิธีกรรมหรือความเชื่อเท่านั้น (หน้า 67-76) ไทยโซ่งมีประเพณีปฎิบัติตามความเชื่อซึ่งแบ่งได้ ดังนี้ - ประเพณีเกี่ยวกับครอบครัว เช่น ประเพณีเกี่ยวกับบ้านเรือน การทำพิธีเสนต่างๆ พิธีเสนเรือนคือไหว้ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ พิธีเสนปาดดง เป็นพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนทุก 10 วัน พิธีเสนเตง เป็นพิธีเรียกขวัญเมื่อในครอบครัวเกิดเจ็บป่วย และพิธีเสนกวัด ไกว เพื่อปัดรังควานสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านเรือน (หน้า 76-80) มีประเพณีการปลูกบ้านและขึ้นบ้านใหม่ เสี่ยงทายหาสถาน ที่ปลูกบ้าน การขึ้นเสาเอก การขึ้นบ้านใหม่ และการย้ายบ้าน (หน้า 80-82) ประเพณีการตั้งศาลพระภูมิและการเซ่นไหว้ศาลพระภูมิ (หน้า 82) - ประเพณีเกี่ยวกับบุคคล เช่นแต่งงาน หรือ "กินดอง" หรือ "กินหลอง" พิธีหมั้น หรือ "การส่อง" ซึ่งภายหลังการหมั้น ฝ่ายชาย จะไปเยี่ยมฝ่ายหญิงเป็นครั้งคราวเรียกว่า "การสู่" (หน้า 82-86) ประเพณีการทำศพ มีการอาบน้ำศพ การตั้งศพ เก็บศพและ การเผา (หน้า86-89) - ประเพณีเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีเซ่นไหว้ผีนา ไหว้แม่โพสพ พิธีแรกนา เลี้ยงผีนา การทำขวัญข้าว หรือแปลท้องข้าว พิธีปาดตงนา ทำเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ทำขวัญข้าวขึ้นยุ้ง ทำบุญลานนวดข้าว ทำบุญข้าวจี่ (หน้า 89-94) - ประเพณีสังคม หรือ ประเพณีเทศกาล มีการเล่นคอน (อิ้นกอน) ทำกันช่วงสงกรานต์ การไหว้ศาลเจ้าปู่ ทำสังฆทาน (หน้า 95-99) ประเพณีหลายอย่างยังคงปฏิบัติอยู่ เช่น ประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อผีฟ้า ผีบรรพบุรุษแต่หลายประเพณีไม่ได้มีการปฏิบัติแล้ว เช่นประเพณีเกี่ยวกับนา (หน้า 90-94)

Education and Socialization

กล่าวเพียงอำเภอบางระกำมีสถานศึกษาทั้งหมด 82 แห่ง เป็นโรงเรียนประถมศึกษา 79 แห่ง โรงเรียนมัธยม 3 แห่ง (หน้า 41) ในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง มีโรงเรียนประถมศึกษา 44 แห่ง โรงเรียนมัธยม 2 แห่ง (หน้า 53) และอำเภอโรงเรียนประถมศึกษา 58 แห่ง โรงเรียนมัธยม 3 แห่ง และวิทยาลัยเกษตรกรรมพิจิตร 1 แห่ง (หน้า 61)

Health and Medicine

เมื่อเกิดการเจ็บป่วย โซ่งจะรักษาด้วยยาสมุนไพร ซึ่งร่ำเรียนมาจากบรรพบุรุษ ตัวอย่างเช่น โรคบวม ใช้ปลิงหรือปูแช่น้ำดื่ม ใช้หัวพงแดงกับมันสำปะหลังฝนแล้วทาที่บวม ปวดหัว ใช้ใบข่อย ใบเผือกขยี้ใส่น้ำประคบที่หัว แมลงป่องต่อย ใช้เสลดพังพอนฝนหรือบดแล้วทาแก้พิษ ตาแดงใช้ดอกชบา ดอกจำปาแช่น้ำหยอดตา หรือกลากเกลื้อน ใช้ในขี้เหล็กถู มีการใช้เวทมนต์คาถาในการรักษาด้วย เช่น ปวดฟัน ปวดหัว ห้ามเลือด เส้นพลิก แก้น้ำร้อนลวก โดยท่องคาถาแล้วพ่นน้ำใส่บริเวณที่ปวด (หน้า 104 -105)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของโซ่ง นิยมแต่งชุดดำ หรือสีคราม จึงถูกเรียกว่า "ลาวทรงดำ" หรือ "ไทยทรงดำ" สมัยก่อนลาวโซ่งจะมีลักษณะการแต่งกายเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบัน มีเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นที่แต่งกายแบบดั้งเดิม และจะมีการแต่งกายแบบโซ่งในโอกาสงานประเพณี พิธีกรรม เช่น พิธีแต่งงาน หรืองานศพ กางเกงจีบของผู้ชาย เรียกว่า "ส้องมาเต้น หรือส้วงซ้อม" เป็นกางเกงขาสั้น ตัวเสื้อเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ปลายแขนกว้างขนาดข้อมือคนใส่ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลม ลวดลายเรียงกันถี่ประมาณ 9-10 เม็ด ตัวสั้นเลยเอวเล็กน้อย ตัวเสื้อเย็บเข้ารูปทรงกระสอบหน้า ผ่าเกน้อย คอตั้ง ตัวเสื้อผ่าด้านข้างตอนปลาย และใช้เศษผ้า 2-3 ชิ้น ตัดขนาดรอบผ้าเย็บติดกันไปกับรอบผ่า เรียกว่า "เสื้อซ่อน" ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงพื้นดำ ประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้น ชิ้นที่ 1 เป็นสีดำ ไม่มีลายกว้างประมาณ 12 นิ้ว เย็บติดกับผืนผ้าชิ้นที่ 2 มีพื้นสีดำสลับลายเส้น สีขาวเป็นลายทางลงมา ส่วนชิ้นที่ 3 กว้างประมาณ 1 นิ้วฟุตเศษ มีลวดลายริ้วสีขาว 2-3 นิ้ว เย็บติดกันเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะเอาตีนซิ่นออก เพื่อเป็นการไว้ทุกข์ให้สามี เสื้อใช้แขนยาวทรงกระบอก ตัวเสื้อเย็บเข้าตัว คอตั้งผ่าอกตลอด ติดกระดุมเงินถี่ราว 10 เม็ด หรือมากกว่า เรียกว่า "เสื้อก้อม" บางทีหญิงโซ่ง ใช้แต่ "ผ้าคอก" เรียกว่า "ผ้าเปียว" ปักลวดลาย ไว้ที่ชายทั้งสอง ชายหญิงที่แต่งงานแล้วจะใช้ผ้าสีดำ หรือสีครามแก่ ส่วนหญิงสาวจะใช้ ผ้าเปียวสีดำ หรือสีครามแก่ ส่วนหญิงสาวจะใช้ผ้าเปียวย้อมสีต่างๆ นำมาห่มคล้ายสไบ นอกจากนี้มีผ้าผืนเล็กๆ ยาวๆ ใช้ห่มเป็นสไบคาดหน้าอกหรือผ้าเปียวอีกทีหนึ่ง ในช่วงโอกาสพิเศษ จะแต่งชุดเรียกว่า "เสื้อฮี" ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม สามารถใช้งานได้ทั้งสองด้านมีลวดลายต่างกัน แต่ไม่มาก ด้านหนึ่งใช้ในงานศพ อีกด้านหนึ่งใช้ในงานแต่งงาน เสื้อฮีผู้ชายจะยาวคลุมสะโพก คอกลมติดคอ กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดง คอเสื้อด้านข้างติดกระดุมคอด้านข้าง แล้วผ่าลงมาตลอด ด้านหน้าจะเป็นกระบอกยาวปลายแคบ จากรักแร้ถึงชายเสื้อจะปักตกแต่งด้วยไหม ติดกระจกชนิดเล็กๆ ตามลวดลาย ด้านข้างผ่าตั้งแต่ปลายเสื้อจนเกือบถึงเอว เป็นด้านที่มีหลากสี ตกแต่งสีต่างๆไว้ที่ชายเสื้อและขอบแขน ใช้ในโอกาสงานมงคล เสื้อฮีนี้ใส่กับกางเกงสีดำเรียกว่า "ส้วงฮี" เสื้อฮีของผู้หญิงมีสองด้าน แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่าของผู้ชาย คอแหลมลึก ใช้สวมหัวไหล่ผ่าหน้า แขนเสื้อเย็บแขนในตัว แขนแคบเป็นแขนกระบอก ด้านที่ใช้งานมงคลเศษผ้าสีตกแต่งปลายผ้าและด้านหน้า ส่วนอีกด้านใช้งานที่ไม่เป็นมงคล ปักตกแต่งรอบคอตามรอยตะเข็บ เสื้อทุกแห่งตามชายเสื้อด้วยเศษผ้าไหมสีต่างๆ ลวดลายแตกต่างออกไป ปัจจุบันการแต่งกายของคนไทยโซ่งจะแต่งเหมือนคนไทยทุกอย่าง จะมีบ้างในงานพิธีสำคัญ เครื่องประดับของผู้หญิงไทยโซ่ง ชอบคาดเข็มขัดเงิน ข้อมือข้อเท้า สวมกำไลเงิน สายสร้อยทองคำหรือเงิน ส่วนเครื่องประดับผมเป็นปิ่นหรืออย่างอื่นทำด้วยเงิน (หน้า 102-103) เครื่องใช้สอยของไทยโซ่ง ยังคงมีเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน เท่าที่พบเห็นอยู่บ้านคือ เปลเด็ก ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นตอกแล้วสานเป็นสี่เหลี่ยม กระแอบ เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวคล้ายกระติบ ขมุก เป็นภาชนะเก็บของคล้ายหีบมีฝาปิด "ข้าไกไค่" หรือตะกร้าหวายขนาดใหญ่คล้ายเข่ง ตะข้องอีเป็ด ใช้ใส่ปลาหรือกุ้ง ปั๊ป คือสมุดใบลาน กะแหลบ ใช้ใส่ของเล็กๆ น้อยๆ มีเชือกสะพายบ่า (หน้า 100-101)

Folklore

ความเชื่อเกี่ยวกับสรรพสิ่ง ล้วนมีผีหรือวิญญาณประจำอยู่ ต้องให้ความเคารพนับถือ ผีที่มีอำนาจสูงสุดคือ "แถน" หรือผีฟ้า รองลงมาคือผีบรรพบุรุษ (หน้า 67)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

สภาพทั่วไปของลาวโซ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ปัจจุบันทางราชการพยายามส่งเสริมความเจริญด้านต่างๆ เช่นการสร้างถนนลูกรัง บริการสาธารณะต่างๆ ไฟฟ้า อนามัย โรงเรียน ประชากรส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ (หน้า 163) ความเชื่อเรื่อผี-ขวัญยังมีการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษและแถน ส่วนความเชื่อเรื่องต่างๆ ทั่วไป ยังมีการปฏิบัติปานกลาง เป็นครั้งคราว ความเชื่อที่ยังมีการปฏิบัติมากคือเรื่องโชคลาง คำห้ามต่างๆ และการบนบาน ส่วนประเพณีระดับครอบครัว ยังมีการปฏิบัติระดับปานกลาง เช่น เสนเรือน เสนปาดดง มีการปฏิบัติทุกครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีกินดองและป่าแห่ว ด้านประเพณีเกี่ยวกับอาชีพ ส่วนใหญ่เลิกปฏิบัติแล้ว เช่น การแปลท้องข้าว (ขวัญข้าว) และแฮะนา (แรกนา) และประเพณีระดับท้องถิ่นหรือเทศกาล มีการปฏิบัติในระดับปานกลาง เป็นครั้งคราว เช่นการไหว้ศาลเจ้าปู่ (ภูมิเจ้า) และการทำสังฆทาน (หน้า 164) ไทยโซ่งส่วนใหญ่แต่งตัวและพูดภาษาไทยกันหมดแล้ว เหลือเพียงผู้สูงอายุที่ยังมีการใช้ภาษาไทยผสมกับภาษาโซ่งอยู่ (หน้า 107)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่แสดงถิ่นฐานดั้งเดิมของไทยโซ่งดำ (หน้า 32) แผนที่แสดงหมู่บ้านต่างๆ และหมู่บ้านตัวอย่างของลาวโซ่งในอำเภอบางระกำ (หน้า 38) แผนที่แสดงหมู่บ้านต่างๆ และหมู่บ้านตัวอย่างของไทยโซ่งดำในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร (หน้า 52) แผนที่แสดงหมู่บ้านต่างๆ และหมู่บ้านตัวอย่างของไทยโซ่งดำในอำเภอสามง่าม พิจิตร(หน้า 58)

Text Analyst ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช Date of Report 29 มิ.ย 2560
TAG ลาวโซ่ง, ความเป็นมา, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, ประเพณี, ความเป็นอยู่, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง