สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject พวน ไทยพวน ไทพวน,วิถีชีวิต,ดนตรี,เชียงขวาง,ลาว
Author โพไช สุนนะลาด
Title ดนตรี : วิถีชีวิตชาวไทยพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยพวน ไทพวน คนพวน, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 251 Year 2538
Source สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
Abstract

ในอดีตดนตรีมีความสัมพันธ์กับประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของไทพวน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการทำมาหากินของไทพวนกับดนตรี คือ ดนตรีมีไว้เพียงเพื่อรับใช้ในงานบุญประเพณี พิธีกรรมที่เป็นสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับการประกอบการทางธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น จากการรับดนตรีจากภายนอกเข้ามา

Focus

ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ ของไทยพวน องค์ประกอบทั่วไปของดนตรี และความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับวิถีชีวิต

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Language and Linguistic Affiliations

ภาษากลุ่มไท - ลาว (หน้า 50)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

พงศาวดารเมืองพวน กล่าวไว้ว่า ผู้ปกครองเมืองพวนคนแรกคือขุนเจ็ดเจือง มีลูกหลานครองเมืองสืบต่อกันมาจนถึงสมัยเจ้าสาน (ค.ศ. 1781) เจ้าสานเป็นกษัตริย์ครองเมืองพวนแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของพวกแกว ต่อมาถูกไทยจับตัวไปทำให้เมืองพวนว่างกษัตริย์ ปี ค.ศ. 1893 ฝรั่งเศสได้ปกครองประเทศลาวและได้ตั้งให้เจ้าคำเฮืองเป็นเจ้าแขวงพวน และเรียกเมืองพวนว่าแขวงตะลันนิน ปลายคริสตศักราช 1944-1945 กองทัพญี่ปุ่นได้ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน ลาวจึงตั้งรัฐบาลลาวอิสระขึ้นที่เวียงจันทน์ แล้วยึดเชียงขวางไว้ในการปกครองจนถึง ค.ศ. 1946 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้ตั้งเจ้าสายขึ้นปกครองแขวงเชียงขวาง ปี ค.ศ. 1954 ฝรั่งเศสแพ้สงครามอินโดจีน ลาวได้ปกครองตนเองโดยมีคณะรัฐบาลต่อต้านร่วมกับรัฐบาลของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ปี ค.ศ. 1955 สหรัฐอเมริกาได้เข้ามีบทบาททางการเมืองในลาว และจับผู้รักชาติจำนวนมากประหารชีวิต โดยร่วมมือกับรัฐบาลของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1960 ทหารราบอากาศที่ 2 ได้ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลเผด็จการของสหรัฐอเมริกา วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1961 กองทหารลาวอิสระได้สมทบกองทหารที่ทำการรัฐประหาร ต่อมาก็คือ กำลังเป็นกลางรักชาติ ได้ปลดปล่อยสามแยกศาลาลูคูณ เมืองกาสี เชียงเงิน ทุ่งไหหิน เชียงขวาง และให้ท่านจาวปาว เป็นเจ้าแขวงเชียงขวาง จนถึง ค.ศ. 1963 จึงแต่งตั้งเจ้าแขวนสมหวังขึ้นแทน ปัจจุบัน (2537) ท่านพูมี ทิพพะวอนเป็นผู้ว่าการเจ้าแขวงและเป็นเลขาพรรคแขวง

Settlement Pattern

บ้านของไทพวน ส่วนมากเป็นบ้านใต้ถุนสูง เรียกว่า "เฮือนทูน" หรือ "เฮือนทูป" หรือ "เฮือนซ้าม" แบ่งออกเป็นประเภทตามจำนวนห้อง - ประเภท 5 ห้อง เรียกว่า เฮือน 5 ห้อง มี 12 เสา มีไม้ค้ำแพ้ 12 ค้ำ ไม้ค้ำแพ้ทำหน้าที่เสมือนเสาเรือน แต่ไม่ได้ฝังดินเหมือนเสาเรือนและมีค้ำเทียบ 20 ค้ำ - ประเภท 7 ห้อง เรียกว่า เฮือน 7 ห้อง มี 16 เสา ไม้ค้ำแพ้ 16 ค้ำ ค้ำเทียบ 26 ค้ำ - ประเภท 9 ห้อง เรียกว่า เฮือน 9 ห้อง มี 20 เสา ไม้ค้ำแพ้ 20 ค้ำ คำเทียบ 43 ค้ำ ห้องที่ 1 เป็นห้องพระหรือห้องรับแขก ห้องที่ 2 เป็นห้องนอนของพ่อแม่ และลูกเล็กๆ ห้องที่ 3 เป็นห้องนอนของพ่อใหญ่แม่ใหญ่ ห้องที่ 4 เป็นห้องนอนของลูกสาว ห้องที่ 5 เป็นห้องนอนของลูกผู้ที่แต่งงานแล้ว ห้องที่6 เป็นห้องนอนของลูกชาย ห้องที่ 7 เป็นห้องนอนไว้สำหรับลูกสาวหรือลูกชาย ที่ออกเรือนไปอยู่ที่อื่น เมื่อเวลากลับมาเยี่ยมพ่อแม่และเอาไว้สำหรับญาติที่สนิทนำครอบครัวมาเยี่ยม บ้านแต่ละหลังต้องมีเตาฟืน 2 เตา เตาที่หนึ่ง อยู่ข้างเห่อ ใช้สำหรับปรุงอาหารกิน เตาที่สองอยู่ห้องฮ่อง ใช้สำหรับเป็นเตาไฟรับแขกมาเยือนและมีสะแนน (เตียงแบบพื้นบ้าน) หนึ่งที่ ใช้สำหรับให้ผู้อาวุโสนั่งและนอน บ้านอยู่ของคนพวนเป็นบ้านหลังสูง ปูด้วยแป้น (แผ่นกระดาน) และฟาก ฝาทำด้วยแป้นและฟากไม้ไผ่สาน มุงด้วยหญ้าคาและไม้เกล็ด มีบันไดขึ้นทางหน้าห้องและนอกชาน ใต้ถุนเป็นที่ตั้งของครกกระเดื่องใช้ตำข้าว ถัดไปเป็นคอกเป็ด ไก่ ต่อไปเป็นพื้นที่ขี้ฉ่าน (น้ำครำ) ที่เทน้ำต่างๆ จากชานบ้านข้างบน ทางใต้บันไดทางขึ้นจะเก็บฟืนและหลัว ถัดไปเป็นที่ผูกวัวควาย ส่วนม้าจะผูกไว้ในคอก ที่ติดกับยุ้งข้าวเปลือก ทางหลังบ้านจะเป็นสวนกล้วย อ้อย สวนครัว บ่อน้ำ ทุ่งนา ป่าตีนเขามีตูบเล็กๆ ตั้งอยู่ในเทือกสวนริมฝั่งห้วย ตูบนี้ปูฟาก ฝาทำด้วยฟากมุงหญ้าคา ปลูกไว้สำหรับหลบแดดหลบฝน เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช แต่ละหมู่บ้านมีตั้งแต่ 3 หลังคาเรือนขึ้นไปจนถึง 25 - 30 หมู่บ้านต่าง ๆ อยู่ห่างไกลกันประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร บางช่วงไกลถึง 8 - 10 กิโลเมตร ไม่มีเส้นทางถาวร อาศัยเดินตามทุ่งหญ้า ภูเขา (หน้า 171 - 174)

Demography

เชียงขวางมีประชากรประมาณ 182,000 คน มีหลายเผ่าพันธุ์ คือ เผ่าลาวลุ่ม ได้แก่ ไทพวน ลาวไทยเหนือ ไทดำไทแดง ไทขาว ไทเม้ย ลาวพ้อง ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เผ่าลาวสูง ได้แก่ เผ่าม้ง คือ ม้งขาว ม้งดำ ม้งลาย ฮ่อ ประมาณ 30% เผ่าลาวเทิง ได้แก่ เผ่าขมุ ภูเทิง ละแว อาลัก ประมาณ 10% (หน้า 43)

Economy

เศรษฐกิจ และ การบริโภค - ทรัพยากรธรรมชาติของเชียงขวางมีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าไม้ 68 เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ เป็นทุ่งหญ้า มีพันธุ์ไม้มีค่าทางอุตสาหกรรม เช่น ไม้โลงเลง ไม้เลนเล่ ไม้แปก ไม้หิ่ง ไม้ก่อ ไม้ประดู่ มีแร่ธาตุ เช่น แร่เหล็ก น้ำมัน ทองคำ - พืชเศรษฐกิจคือป่าไม้ เช่น ไม้โลงเลง เป็นไม้ที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เป็นส่วนประกอบในการต่อเรือ นอกจากนี้มีบ่อเหล็ก บ่อถ่านหิน - อาชีพ สำคัญ เช่น การปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ข้าวโพด ไร่มัน ไร่ยาสูบ ไร่งา ถั่ว ปลูกพืชผักต่างๆ มีทุ่งหญ้าเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู (หน้า 40 - 43) - อาหาร ที่กินเป็นประจำทุกวัน เช่น ข้าวเหนียว แกง ฝอ แจ๋ว ปิ้ง หมก ดอง เผา ผัก ผักกาดดอง หน่อจาน (หน่อไม้ดอง) แต่งค่าง มะเขือ สัตว์ป่าต่างๆ ปลา อาหารที่กินในโอกาสพิเศษ เช่น แอ่น ตุ้ง ลาบ ส้า ซุป ปลาเต้น ลาบเนื้อควาย ไข่ต้ม ต้มไก่ ฝอนก มีเครื่องดื่ม ได้แก่ เหล้าไห เหล้าข้าวเหนียว เหล้าข้าวหมาก

Social Organization

ไทพวนแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้น คือ ชนชั้นชาวไร่นาและชนชั้นกรรมกร - ชนชั้นชาวไร่นายึดอาชีพทำการเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ชนชั้นชาวไร่นามีจำนวนมาก จึงเรียกว่าประชาชนพลเมืองของชาติ - ชนชั้นกรรมกร ได้แก่ กลุ่มที่ยึดอาชีพการทำงานต่างๆ ให้กับรัฐบาล เช่น ครู แพทย์ ข้าราชการโดยทั่วไปที่ทำงานในสำนักงานองค์การต่างๆ ประจำเมืองและแขวง เพศหญิงจะเกษียณอายุราชการเมื่ออายุได้ 55 ปี เพศชายเกษียณอายุราชเมื่ออายุได้ 60 ปี (หน้า 163-165) การกินดอง หรือ แต่งงาน ผู้บ่าวจะไปหาผู้สาวเพื่อคุยกัน ผู้บ่าวจะไปวันไหนต้องบอกผู้สาวไว้ล่วงหน้าก่อน 1 วัน ผู้สาวจะออกมาอยู่เชีย (ระเบียงบ้าน) เพื่อรอผู้บ่าว ผู้บ่าวไปปลุกผู้สาวโดยใช้ไม้ยาวประมาณ 40 เซนติเมตรปลุกผู้สาว ผู้สาวจะเปิดปองฝาบ้านด้านบนเพื่อคุยกัน จะจับมือผู้บ่าวถ้าเป็นมือผู้บ่าวของตนจะคุยกันต่อไป แต่ถ้าไม่ใช่จะปิดปองแล้วย้ายไปนอนที่อื่น การแต่งงาน ญาติผู้ใหญ่จะปรึกษากัน พอถึงเวลาฝ่ายชายจะไปขอสาว มีพ่อเซ้อแม่เซ้อ ที่เป็นตัวแทนเจรจาสู่ขอ หลังจากตกลงกันแล้ว จะนัดวัน ให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายคุยกันเพื่อหาวันดี ซึ่งเป็นวันออกใหม่ (ข้างขึ้น) ในเดือนที่เป็นเดือนคู่ คือ เดือน 2, 4 6, 8 และเดือน 12 (หน้า 60-61)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ไทพวนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ บางส่วนนับถือผีพ่อผีแม่ปู่ยาบุญคุณ เทวาดาฟ้าแถน ในเชียงขวางมีวัดทางพุทธศาสนาหลายแห่ง และมีหอมเหศักดิ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการนับถือผี มีประเพณีในรอบ 12 เดือน เรียกว่า ฮีตสิบสอง เดือนเจียง ทำบุญ เลี้ยงผี ผีมอ ผีฟ้า ผีแถน นิมนต์พระสังฆเจ้าเข้าปริวาสกรรม เรียกว่า เอาบุญเดือนเจียง เดือนยี่ ทำบุญ คูณข้าว นิมนต์พระสังฆเจ้ามาสูตรชัยมงคล เรียกว่าเอาบุญเดือนยี่ เดือนสามเพ็ง ทำบุญข้าวจี่ และบุญมาฆบูชา เรียกว่าเอาบุญเดือนสาม เดือนสี่ ทำบุญ มหาชาติและทำพิธีไหว้สิ่งที่สักการบูชา เรียกว่า ทำบุญมหาชาติ เดือนห้า สังขารปีใหม่นิมนต์พระสังฆเจ้าตั้งสูตรชัยมงคล 7 วัน 7 คืน ตอนเช้าทำบุญตักบาตร รดน้ำพุทธมนต์แก่ปีศาจ สรงน้ำขอคารวะสมมาพ่อแม่เฒ่าแก่และญาติมิตรสหาย ภายใน 3-7 วัน คนในไม่ให้ออกคนนอกไม่ให้เข้า เมื่อมีคนนอกเข้ามาในหมู่บ้าน ถ้ามีการซื้อหรือขายของก็ให้ซื้อ-ขายกันที่ข้างนอกหมู่บ้าน เรียกว่าเอาบุญปีใหม่หรือเอาบุญเดือนห้า เดือนหก ทำบุญพุทธาภิเษก พระสงฆ์สามเณรและผู้ทรงศีล สรงน้ำพระพุทธรูปและอัญเชิญประทับแท่น จุดบั้งไฟไปถวายแถน เพื่อขอฝน เรียกว่า เอาบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ด ทำบุญบูชาเทวดาอารักษ์ เลี้ยงผีมเหศักดิ์หลักเมือง และผีตาแฮกตามหัวไร่ปลายนา เรียกว่าบุญหลักเมือง เดือนแปด ทำบุญข้าววัสสาฟังเทศนาถวายข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน โภชนาและผ้าอาบน้ำฝน เรียกว่าบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าดับ ทำบุญข้าวประดับดิน ตอนเช้ามาฟังเทศนา แล้วเอาโภชนาอาหารไปวางไว้ที่ 4 มุมวัดและ 4 มุมของหมู่บ้าน อุทิศ แก่พ่อแม่ ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่าเอาบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบเพ็ง ทำบุญข้าวสาก เพื่อฝากไปให้พ่อแม่ญาติมิตรที่ตายไปแล้ว และถวายเทวดาฟ้าแถนเจ้าอารักษ์หลักเมืองตลอดภูตผีปีศาจที่ตายอดตายยากทั้งปวงโดยการหยาดน้ำให้ด้วย เรียกว่าเอาบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดเพ็ง ทำบุญออกวัสสาบายศรีพระภิกษุสามเณรถวายโภชนา ข้าวปลาอาหารวัตถุปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้มาจำวัสสาอีกในปีต่อไป เรียกว่า เอาบุญออกพรรษา เดือนสิบเอ็ดแรม 1 ค่ำ ถึงเดือนสิบสองเพ็ง ทำบุญกฐิน ลอยกระทงและงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น บุญแข่งเรือ งานแข่งม้างานตีคลี เรียกว่า เอาบุญกฐินและเอาบุญส่วงเฮือ (หน้า 45 - 58) ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต - การเกิด เมื่อเด็กทารกคลอดออกมาแล้ว ทำพิธีผาบผี เสร็จแล้ว แม่จะขึ้นนอนย่างไฟบนสะแนน (แคร่สำหรับนอนอยู่ไฟ) แม่ตำแยและหมอผีจะทำพิธี ทั้งไห โดยอุ้มเด็กนอนในกระดุ้งแล้วนำมาวางข้างไหเปล่าๆ 1 ใบ แล้วนำมีดพร้า เงินสด หนังสือ ใบลาน เสื้อผ้า ถ้วย จาน วางลงในกระด้ง แม่ที่เพิ่งคลอดจะมีการอยู่กรรม (อยู่ไฟ) เมื่ออยู่กรรมครบกำหนดจะออกกรรมแต่เช้าตรู่ มีการทำพิธีสู่ขวัญให้แม่ลูกอ่อนเด็กทารก และสามี พร้อมทั้งแม่ตำแย และหมอผี - บวชจั่ว เป็นการบวชของชายพวนที่อายุไม่ถึง 20 ปี มีพ่อยกแม่ยก และบวชพระ คนที่จะบวชต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป จะต้องมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี 20 รูป จึงจะบวชได้ และต้องไปทำพิธีบวชที่เกาะกลางแม่น้ำ - การตาย เมื่อตายแล้วจะทำพิธีฝัง โดยจะฝังในป่าที่สงวนไว้ เรียกว่า "ปาแฮ้ว" แต่ถ้าตายโหงหรือเป็นขี้ทูต (โรคเรื้อน) จะนำไปฝังที่อื่น เมื่อคนเสียชีวิตได้ 7 วัน จะมีพิธีแจกทานหาผู้ตาย มีพระสงฆ์มาสูตรเพื่อให้ได้ทราบว่าตนเองได้ตายแล้ว และเชื่อว่าเป็นการทำพิธีตัดร้าง ตัดหม้ายกัน ถ้าหากตายโหงเมื่อครบ 3 ปี จะทำทานครั้งใหญ่ให้ครั้งหนึ่ง ปัจจุบันนิยมเผาศพอีกด้วย (หน้า 60- 61) นอกจากนี้ไทพวนส่วนใหญ่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมประเพณี มีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ ไทพวนนิยมทำบุญกุศล ตามจารีตประเพณี เช่น จารีตทางพุทธ ผี พราหมณ์ โดยการใช้เครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า มาประโคม เพื่อเป็นการถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเวลาทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการบอกเล่าแก่ เจ้าถิ่น เจ้าฐาน เจ้าบ้าน เจ้าเมือง ตลอดดวงวิญญาณของผีบรรพบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงให้ทราบ โดยการตีฆ้อง ตีกลอง เป่าปี่ เป่าแคน ขับ - ลำ ฟ้อน เซิ้ง และแห่ (หน้า 177 - 178)

Education and Socialization

ในสมัยที่ประเทศลาวเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ประชาชนไม่มีโอกาสเล่าเรียน ส่วนมากจะถูกเกณฑ์เป็นคนงาน ผู้ที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจะเป็นพวกลูกเจ้านาย จนถึง พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา พรรคและรัฐบาลมีนโยบายขยายการศึกษาไปทุกอำเภอ ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2537) การศึกษามีชั้นเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล มีชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา โรงเรียนสงฆ์ (หน้า 44-45)

Health and Medicine

มีวิธีรักษา 2 วิธี คือ 1. รักษาโรคทางจิตใจ ได้แก่ การเยา ลงมนต์ ลงธรรม บะบน เสี่ยงทาย ดูหมอ เรียกขวัญ บายศรีสู่ขวัญ 2. การรักษาโรคทางกาย ด้วยว่าน ยาพื้นเมือง รักษาได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การรักษาบาดแผลข้างนอก เจ็บบอบช้ำด้านในร่างกาย เรียกว่า เจ็บป่วย นิยมเอาต้นไม้ใบหญ้า สัตว์บางประเภทมาทำยาสมุนไพร การรักษาด้วยสมุนไพรมี 12 วิธี คือ ต้มกิน ฝนกิน ตำพอก ต้มอาบ อบรม เคี้ยวกินสด ๆ ดงเหล้ากิน อมไว้ในปาก เป่า แช่น้ำ สูดดม พกติดต่อ (หน้า 176)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย - หญิงไทพวนจะนุ่งซิ่นหมี่ เสื้อคอกลมแขนยาว มีผ้าโพกหัว ในงานพิธีสำคัญจะสวมเสื้อป้าว เป็นเสื้อผ่าเฉียงด้านหน้า ไว้ข้างนอก 1 ตัว ข้างในสวมเสื้อเอี้ยม นุ่งซิ่นหมี่ลายล่อง เกล้าผม - ผู้ชายสวมเกงเกงปองขาใหญ่เป็นกางเกงขายาว เหน็บเอาตรงหน้าท้อง สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นและยาว ตัดผมเปิด ถ้าเป็นคนแก่เปิดธรรมดา ตัดเปิดดอกโทม คือ พวกหนุ่ม ๆ และพ่อหม้าย (หน้า 44- 48) ศิลปะ และ หัตถกรรม - สถาปัตยกรรม เช่นวัดศรีพรหม วัดเพีย พระธาตุภูคำ พระธาตุจอมเพชร พระธาตุฝุนเชียงขวาง เป็นต้น - วัตถุโบราณ เช่นไหหินที่ทุ่งไหหิน ไหหินที่บ้านลาดแสน พระพุทธรูป เป็นต้น - ศิลปะภาพวาด เช่น ภาพวาดที่วิหารวัดบ้านนาแพง เมืองแปก เป็นภาพเกี่ยวกับความเชื่อศาสนาพุทธ วัดบ้านเทิน โพนสวรรค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระเวสสันดร ภาพเขียนที่ฝาผนังวิหารวัดบ้านพ้องเมืองสุย เป็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธองค์ - ศิลปหัตถกรรม การต่ำหูกทอผ้า เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องมือทำการเกษตร เครื่องมือเกี่ยวกับการทอผ้า - ศิลปะเกี่ยวกับเครื่องประดับตกแต่ง มี ทองคำ เครื่องเงิน ตุ้มหู สร้อย แหวน เข็มขัด กำไล กำไลขา ดนตรีของไทพวน แบ่งออกเป็น 2 ความหมาย คือ - ดนตรีประเภทบรรเลงให้จังหวะและทำนอง ได้แก่ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า - ดนตรีประเภทมีจังหวะทำนองโดยใช้ภาษาท่า และภาษาพูดได้แก่ ฟ้อน ลำตอบพญา เซิ้งและร้องเพลง ดนตรีของไทพวน แบ่งได้ 4 ประเภท คือ ประเภทเครื่องดีด ประเภทเครื่องสี ประเภทเครื่องตี และประเภทเครื่องเป่า 1. เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี่ ใช้บรรเลงกล่อมอารมณ์อยู่ตามบ้านเรือน ชายหนุ่มชอบถือกระจับปี่เป็นเพื่อนคู่ใจเดินทางไปคุยกับสาวตามหมู่บ้านอื่นๆ กระจับปี่นิยมผสมวงกับแคน กลอง รำวง ซอ กะลอ หมากซิกแซก และแช่ง ใช้บรรเลงในงานบุญ เช่น งานวัด การแต่งดอง (แต่งงาน) เรือนกรรม (การอยู่ไฟ) ขึ้นบ้านใหม่ เพื่อฟ้อนรำ รำวงสามัคคี 2. เครื่องดนตรีประเภทสี ได้แก่ ซอ นิยมบรรเลงผสมกับแคน เพื่อประกอบการลำพวน 3.เครื่องประสมวงเครื่องตี มี 6 ชนิด ได้แก่ กลอง ฆ้องจูม หมากซิกแซก หมากหิ่ง กะลอ และแส่ง 3.1) การผสมวงกลอง กลองของไทพวนมี 5 แบบ คือกลองเพล กลองรำวง กลองหาง กลองปืด และกลองเส็งหรือกลองคู่ - กลองเพล เป็นกลองชนิดพิเศษเพราะมีความเกี่ยวพันทางความเชื่อและศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ วัดทุกแห่งจะมีหอเพื่อเก็บรักษากลองเพล เพราะถือว่ากลองเพลเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์ การผสมวงกลองเพลจะใช้บรรเลงคู่ได้แต่กับฆ้องและแช่งเท่านั้น โอกาสที่ใช้บรรเลง เช่น ตีกลองดึก ตีกลองเพล ตีกลองแลง ตีกลองวันศีล (วันพระ) ถือว่าเป็นการตีตามปกติ นอกจากนั้นยังมีตีในโอกาส พระสงฆ์ป่วยหนักหรือมีเสียชีวิต เหตุไฟไหม้ น้ำท่วม ผู้ร้าย โจรปล้นบ้าน เป็นต้น - กลองรำวง เสียงมีลักษณะกระตุ้น ชักชวนและตื่นเต้น เสียงดังก้องไกล ใช้บรรเลงเดี่ยวก็ได้ ใช้บรรเลงผสมวงกับบรรดาเครื่องดีด สี ตี เป่า ได้ทุกอย่าง การบรรเลงเพื่อความสนุกสนานของชุมชน ใช้ตีประกอบการร้องเพลง การฟ้อนรำวง และการแสดงต่างๆ กลองรำวงใช้บรรเลงทุกสถานที่ ทุกโอกาสและทุกเวลา - กลองหาง นิยมใช้ในพิธีเป็นขบวนแห่ ผสมวงระหว่างกลองหางและกลองรำวง กลองปืด แซง กะลอ ฆ้อง กระจับปี่ แคน และซอ ผู้ร่วมขบวนแห่จะฟ้อนรำเซิ้งเป็นกาพย์เป็นกลอน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่หญิงชรา มีกลองหางเป็นตัวหลัก กลองหางตัวผู้และตัวเมียจะมีเสียงเด่นจากกลองชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยการบรรเลงตีขัดจังหวะสร้างบรรยากาศให้ขบวนแห่นั้นมีความสนุกรื่นเริง โอกาสบรรเลงกลองหางไม่จำกัดเวลา ตีเมื่อไรที่ไหนก็ได้ - กลองปืด บทบาทและเสียงของกลองปืดเป็นที่เชื่อมต่อระหว่างกลองต่างๆ เข้าสู่ความกลมกลืนกระชับ จังหวะให้อยู่ในความหนักแน่น การบรรเลงกลองปืดไม่เลือกเวลาและสถานที่ผสมเข้ากับเครื่องดนตรีประเภทอื่นๆ ได้ทุกระดับ ไม่นิยมใช้กลองปืดตีเดี่ยว - กลองเส็ง มีรูปแบบผิดแปลกไปจากกลองชนิดอื่นๆ เสียงของกลองเส็งดังก้องไกลมากและเป็นเสียงพิสดาร จะเก็บรักษาไว้ที่อื่นไม่ได้นอกจากวัด เพราะกลองเส็งมีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธและผี ปีหนึ่งๆ จึงมีการเส็งกลองได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โอกาสในการแข่งกลองหรือเส็งกลองมีกำหนดภายใต้การตกลงของหลวงพ่อที่วัดร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้อาวุโสในหมู่บ้านนั้นๆ เพราะกลองเส็งเมื่อตีไปแล้วจะให้ทั้งคุณและโทษ กลองเส็งไม่ได้ใช้ผสมเครื่องดนตรีอย่างอื่น นอกจากเป็นกลองเส็งคู่เดี่ยวกับที่สร้างขึ้นภายในวัดเดียวกันเท่านั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อมีการเส็งกลอง ไข่เป็ด ไข่ไก่ บริเวณใกล้เคียงจะเน่าหมด การเส็งกลองยังเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ใช้แข่งระหว่างบ้านต่อบ้าน หมู่บ้าน ระดับอำเภอ ฝ่ายแพ้จะต้องฆ่าวัว ควาย เลี้ยง ฝ่ายชนะได้หัววัว หัวควาย กลับบ้าน 3.2) ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีที่เกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ผี โอกาสการบรรเลงใช้ในงานแห่บุญพระเวส บุญกองฮด พิธีบวช พิธีงานศพ เป็นการส่งวิญญาณของผู้ตายให้ไปสู่สุคติ เป็นสิ่งที่ขาดมิได้ในพิธีกรรมต่างๆ การผสมฆ้องจูมจะผสมกับเครื่องดีดสีตีเป่าทั้งหลาย ฆ้องยังใช้บรรเลงกับกลองเพล และแช่งที่พระสงฆ์ตีบอกเวลา ฆ้องใช้ตีในพิธีลงผีมนต์ลงธรรมหมู่เพื่อรักษาคนป่วย การติดต่อกับดวงวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว 3.3) การผสมวงหมากซิกแซก หมากซิกแซกมีบทบาทเด่นชัดในวงดนตรีประเภทขับร้อง และประเภทบรรเลงเซิ้งแห่ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การฟ้อนลำวง 3.4) การผสมหมากหิ่ง เป็นเครื่องดนตรีที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาและผี เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม การละเล่น เป็นดนตรีที่ไทยพวนนิยมมาก เช่น เวลาทำพิธีทางผีเหยา ลงมนต์ก็จะใช้ไปเขย่าประกอบคู่กับเสียงฆ้อง แคน และกลอง ที่วัดหมากหิ่งใช้ผูกไว้บนฝ้าเพดานประตูหน้าต่างโบสถ์ ประตูเข้าวัด หอธรรมมาสน์ ตามต้นไม้และหอกลอง เมื่อเวลาลมพัดมาทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ในงานแข่งม้านิยมเอาไปห้อยไว้ที่ตัวม้า นอกจากนี้ ม้าต่างที่เดินทางไปค้าขายต่างถิ่นก็นิยมห้อยหมากหิ่งนี้เช่นกัน 3.5) กะลอ โอกาสการตีกะลอไม่จำกัดสถานที่ ก่อนนี้เคยใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย ตีบอกเวลา พวกขุนนางประจำท้องถิ่นใช้ตีบอกชาวบ้านไปประชุม กะลอเป็นเครื่องกำกับจังหวะเวลาผสมกับเครื่องดนตรีอย่างอื่น เป็นตัวกำหนดบทบาทหนักเบาในวงดนตรี 3.6) แช่ง ทำหน้าที่เป็นตัวจับจังหวะ 4. เครื่องดนตรีประเภทเป่า - ปี่ตอเฟือง (ตอฟาง) เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่สนุกสนานมากในฤดูเก็บเกี่ยว นิยมเป่ากันตามทุ่งนาหรือเวลาไปหากบ เขียด การทำปี่ตอฟางตั้งแต่เดินพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ การผสมกับเครื่องดนตรีประเภทอื่นมีน้อยมาก - ปี่ไม้ควง ทำเป่าเล่นในโอกาสที่ไปเก็บผัก หาฟืน เกี่ยวหญ้าคา ไปสวนห้วย โดยเฉพาะหนุ่มสาว เมื่อหนุ่มได้ยินเสียงปี่ไม้ควงจากสาว หนุ่มก็จะเป่าปี่ขึ้นมาทาบทามเพื่อจะรู้ว่าเป็นสาวๆ จริงหรือไม่ ถ้าเป็นคนแก่ เมื่อได้ยินเสียงเป่าปี่ของหนุ่ม - สาว จะหยุดเป่าทันที ถ้าเป็นเด็กๆ เสียงปี่จะดังขึ้นไม่หยุดและมีหลายเสียงสับสนกว่าเดิม ถือว่าเป็นการเป่าผสมวง ถ้าเป็นสาวๆ เมื่อหนุ่มเป่าปี่ส่งเสียงไปเป็นทำนองลำพวน สาวจะหยุดฟังทันทีและจะเป่าปี่ส่งเสียงมาเป็นทำนองตอบผญา ถ้าสนใจก็เป่าปี่ไปตามหา - แคน 7 เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดของไทพวนเพราะการลำพวนและตอบผญาที่เป็นเอกลักษณ์ของไทพวนถือเสียงแคนเป็นหลักและขาดมิได้ ครั้งโบราณคนเฒ่า คนแก่ จะมีแคน 8 - 9 ศอกไว้ประจำอยู่ในบ้าน วันไหนทานอาหารที่แซบซ้อย (อร่อยมาก) แล้วพ่อใหญ่จะเอาแคนออกมาเป่า พวกหนุ่มๆ ชอบ เป่าแคน ดีดพิณ สีซอ ไปตามบ้านในยามเดือนแจ้ง เพื่อหาเที่ยวสาวลงข่วง บางกลุ่มก็เป่าแคนตามทุ่งนาไปหาคุยกับสาวบ้านอื่น การเป่าแคนไปดูหน้าสาวๆ ชอบคนไหนก็จะพากันหยุดอยู่ตรงนั้นเป่าแคนเกี้ยวและลำพวนถามข่าวหยอกเย้าเกี้ยวพาราสี มีหลายคู่ที่แต่งงานกันด้วยกรณีนี้ แคนจะใช้ผสมกับพิณ ซอ กลอง กะลอ หมากซิกแซก แส่ง และคนขับร้องเพลง ลำเซิ้งและแห่ แคนจะไม่ใช้ผสมวงกับกลองเส็ง ปี่ไม้ควง ปี่ตอเฟืองและในเวลาที่ตอบผยา เพราะเชื่อว่าเป็นกรรม (คะลำ) ไม่เคยทำเพราะแหวกประเพณี ในยุคปัจจุบันใช้แคนผสมวงกับเครื่องดนตรีสากลและเป็นที่นิยม ดนตรีของไทพวนมีองค์ประกอบอยู่ 5 ประการ คือ การผสมวง นักแต่งเพลง นักดนตรี วิธีการบรรเลง และผู้ชมผู้ฟัง - นักแต่งเพลง มี 2 ประเภท คือ นักแต่งเพลงพื้นบ้าน และนักแต่งเพลงสมัยใหม่ - นักดนตรี แบ่งออกเป็นประเภทที่เรียนรู้ด้วยตนเอง และประเภทที่เรียนรู้จากสถาบันการศึกษา ไทพวนมีวิธีการบรรเลง แบ่งออกเป็น - บรรเลงเดี่ยว มี 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 การขับลำพวนและตอบผญาคนเดียว ไม่นิยมใช้คำว่าเดี่ยวลำและเดี่ยวตอบผญา จะเรียกว่า ลำพวน หรือตอบผญา และเป่าแคน ลักษณะที่ 2 การเล่นดนตรี ชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงผู้เดียว - บรรเลงผสมวง หมายถึงเครื่อง 4 อย่าง ได้แก่ เครื่อง ดีด สี ตี เป่า มี 2 แบบ แบบที่ 1 บรรเลงเฉพาะเครื่องดนตรี ไม่มีการขับร้อง ลำฟ้อนและเซิ้ง แบบที่ 2 บรรเลงผสมผสานมีเครื่องดนตรีและการขับร้องลำฟ้อน และเซิ้งแห่ มีทั้งการยืนบรรเลง เช่น การแข่งกลองเส็ง การแสดงบนเวที นั่งบรรเลง เช่น การลำพวน และตอบผญา เดินบรรเลง เช่น การฟ้อนรำวง เซิ้ง และแห่ นอนบรรเลงเช่นการเป่าแคนกล่อมเด็ก (หน้า 123 - 151) เครื่องดนตรีที่รับมาจากภายนอก เครื่องดีด มีกีต้าร์โปร่ง (ไม้) กีต้าร์ไฟฟ้าครบชุด บังโคลิน เครื่องสี ซออู้ ซอบีบ ซอบั้งไม้ไผ่ เครื่องตี ระนาด ฉิ่งน้อย งอบแงบ กลองทัด กลอง ซุม (กลองชุด) เครื่องเป่า แคนแปด แคนฝรั่ง ขลุ่ย ไวโอลิน แซนโล กงเตรอเบด เครื่องตี กลองลุมบาร์ ตามบูลิง เครื่องเปา ฟริค ปิกโคโล คาลาลีเนท ตรอมเป็ด ตรอมโบล เครื่องผสม แคนลม เปียนโน ฮาฟบูนียม วงดนตรีคลาสิกแบบฝรั่ง คณะศิลปากร (หน้า 136 - 140) ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับประเพณีพิธีกรรมต่างๆ -การเกิด เมื่อทารกคลอดออกมา ฝ่ายญาติมิตรที่ไปเยี่ยมต้องถือเครื่องเสพ (เครื่องดนตรี) ที่จะนำมาบรรเลง มี แคน ซอ กระจับปี่ และกลอง การละเล่นดนตรีจะไม่พิถีพิถัน นักดนตรีจะบรรเลงเป็นทำนองเพลงต่างๆ โดยทำให้เสียงแผ่วเบาไปเรื่อยๆ -งานบวช เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีบวช มี 2 ลักษณะ คือ เครื่องดนตรีที่ใช้ประจำวัด เช่น กลองเพลหรือ กลองชัย ฆ้อง และแช่ง เครื่องดนตรีต่างๆ ใช้ตีบอกเหตุการณ์และบอกเวลาต่างๆ เครื่องดนตรีที่ใช้ขับบรรเลงในการฉลองงานบวช เรียกว่า "คบงันกองบวช" มี กระจับปี่ ซอ กลองต่างๆ แคนและปี่ -งานแต่งงาน เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ แคน ซอ และกระจับปี่ มีการขับร้อง ได้แก่ลำพวน การตอบผญาย่อย -พิธีกรรมตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ และพิธีกรรมทางระบบรัฐการ แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ ระบบที่ 1 ใช้ดนตรีในพิธีกรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ในประเพณีพิธีกรรมตามฮีตสิบสองเดือน ขนบประเพณีทางผี พราหมณ์ พุทธศาสนา เช่น งานบุญกองฮด บุญกฐิน สู่ขวัญพระ บุญพระเวส แห่นางแมว บุญคูณลานข้าว เซิ้งแห่บั้งไฟ แห่เขย ขึ้นบ้านใหม่ ระบบที่ 2 ใช้ดนตรีในพิธีกรรมทางรัฐการ งานเฉลิมฉลองที่ทางรัฐบาลกำหนด แบ่งประเภทดนตรีและเครื่องดนตรีได้ 2 ประเภท คือ 1. ประเภทดนตรีและเครื่องดนตรี แบบพื้นเมือง คือ การลำพวนและการตอบผญา การแข่งกลองคู่ การแข่งกลองหาง การแสดงมวยลายพื้นเมืองและ 2. อีกประเภทหนึ่งเป็นดนตรีและเครื่องดนตรีสากล คือ ร้องเพลงลาวสมัยและเพลงสากล การแสดงศิลปะเวที ละครร้อง และฟ้อนต่างๆ การจัดโชว์เพลงด้วยวงดนตรีสากล การแสดงกำลัง การสวนสนามของนักเรียน นักศึกษา ปัญญาชนและพลเมืองทุกสาขาอาชีพ และกองกำลังป้องกันชาติใช้วงดนตรีดุริยางคศาสตร์ บรรเลง ผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่น กลองครุ (กลองแทร็ก) กลองหาง แช่ง เป็นต้น (หน้า 185 - 192) ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับการละเล่น มี 2 ระดับ คือ ระดับผู้ใหญ่และระดับเด็กเล่น - ระดับผู้ใหญ่เล่น (อายุ 18 ปีขึ้นไป) มีแบบดนตรีประกอบ และแบบไม่มีดนตรีประกอบ แบบมีดนตรีประกอบ ได้แก่ เล่นหัวล้านชนกัน แข่งม้า แข่งกลองเส็ง (กลองคู่) แข่งกลองหาง ฟ้อนมวยลายพื้นเมือง ไปคุยสาวลงข่วง หลอนฟาดข้าว เป่าปี่ตอฟาง ปี่ไม้ควง เป่าใบไม้ ตีฆ้องและเป่าแคน เป็นต้น แบบไม่มีดนตรีประกอบ มีตำข้าวเม่า ข้าวฮาง ระหว่างบ่าวสาว เตาะขี้ก้า ดำนาอ้อม ซัดมันฟาง ซัดหญ้าคา ข้าวติดมือ - ระดับเด็กเล่นมี 2 แบบ คือ แบบมีดนตรีประกอบและแบบไม่มีดนตรีประกอบ แบบมีดนตรีประกอบ ได้แก่ เล่นเป่าปี่ตอฟาง เป่าปี่ไม้ควง เล่นเป่าปี่ลูกแคน เล่นโอ่นโล่นซา เล่นซ่อนแพมน เล่นหมากตี เล่นแมงมุม เล่นตีกลองน้ำ แบบไม่มีดนตรีประกอบ คือ เล่นไร่นา เล่นเสือไล่หมู เล่นนากกินปลา เต้นเชือก เล่นหมากฟาด เล่นลูกขาง เล่นเตะหมากพุก เล่นผู้สาว เล่นยิงบั้งทบ ขี่ม้าก้านกล้วย เล่นปืนก้านกล้วย เล่นเจ่ยแตะม้า เล่นน้องน้า เล่นควายชนควาย เล่นลูกสะบ้า เล่นหมากตะลูด เล่นไม้หัวไก่ เล่นกงเกียว เล่นจุจี่ชนเดว เล่นชนแมงแจ เล่นหมากลี้ เล่นหมากเป้ง เล่นจับตั้กแตน เป็นต้น (หน้า 194) การขับลำ การฟ้อน เช่น ลำพวนตอบผะหยา ลำพระเหวด ซับสารภัญญ์ การเซิ้ง การแสดงแบบใหม่ ได้แก่ ละครฟ้อน ละครลำ ละครเพลง ขับลำที่ได้อิทธิพลจากท้องถิ่นอื่น (หน้า 55-63) เสื้อผ้า ทำเอง เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าถุง ผ้าห่ม ผ้าปู หมอน ผ้าอังสะ ผ้ายันต์ เป็นต้น การซื้อขายแลกเปลี่ยน ได้แก่ รองเท้า ถุงเท้า ผ้าห่ม ผ้าขนสัตว์ หมวก ผ้าขนหนู เสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบต่างๆ (169-179)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ในอดีต ไทพวนที่แขวงเชียงขวางได้เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีจากบรรพบุรุษ เพราะไม่มีสถาบันการศึกษาทางด้านดนตรี ผู้สอนสอนโดยประสบการณ์ ไม่มีตำรา สถานที่สอนไม่ได้กำหนดไว้อย่างแน่นอน คนที่เรียนส่วนมากเป็นสายตระกูลเดียวกัน หากคนนอกตระกูลต้องการมาเรียนก็ต้องมาอยู่ทำไร่ ทำนา เลี้ยงครูผู้สอนไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี จึงสามารถเรียนเป็นนักดนตรีได้ ในปัจจุบันไทพวนได้นำเอารูปแบบการละเล่นและเครื่องดนตรีสากล และดนตรีของต่างประเทศเข้ามาใช้ เครื่องดนตรีที่รับมาจากภายนอก เช่น กีต้าร์โปร่ง (ไม้) บังโคลิน ซออู้ ซอบีบ ซอบั้งไม้ไผ่ ระนาด ฉิ่งน้อย งอบแงบ กลองทัด เครื่องเป่า แคนแปด แคนฝรั่ง ขลุ่ย ดนตรีเหล่านี้เข้ามาในช่วง ปี ค.ศ. 1961 โดยท่านสีชะนะสีสาน พร้อมด้วยคณะ - ในปี ค.ศ. 1964 วงดนตรี คลาสิกแบบฝรั่งก่อตั้งเป็นครั้งแรกที่เชียงขวาง โดยคณะนักดนตรีลาวได้ไปเรียนมาจากสถาบันดนตรีฮานอย ประเทศเวียดนาม - ในปี ค.ศ. 1968 เกิดมีคณะศิลปากรคณะแรกโดยท่านพันเอกเดือน สุนนะลาด เป็นผู้สนับสนุนทางด้านงบประมาณ คณะนี้มีรายการแสดงแบบฟ้อน ละคร ร้องเพลง และขับ - ลำ ต่างๆ ได้ออกเคลื่อนไหวแสดงรับใช้พ่อแม่ประชาชน กรมกองทหารภายในแขวงเชียงขวางอย่างกว้างขวางจากนั้นก็ออกเคลื่อนไหวไปยังเมืองเวียงไช ซำเหนือ แขวงหัวพัน ประเทศเวียดนาม จีน มองโกเลีย รัสเซีย เยอรมัน และคิวบา - ปี 1974 เครื่องดนตรีแบบฝรั่งเศสยังแพร่เข้ามาในแขวงเชียงขวางอีกเช่น กีต้าร์ไฟฟ้าครบชุด กลอง ซุม (กลองชุด) กระแซกบ้วง (กระแซกวงกลม) และ tampanie แซกโซโฟล allto, tenor, ocnee , cor ออร์แกน เป็นต้น - ในยุคปัจจุบันการผสมผสานทางวัฒนธรรมจากภายในและต่างประเทศ ได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาหาความรู้ด้วยการสื่อสารจากประสบการณ์ สิ่งตีพิมพ์ วิทยุเทป ทำให้มีการเดินทางไปศึกษาดนตรีทั้งจากภายในและต่างประเทศ กลายเป็นนักดนตรีอาชีพหรือกึ่งอาชีพ แต่มีจำนวนน้อยมาก

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง : แสดงตัวเลขเกี่ยวกับชาวเขาในประเทศ (หน้า 34) แสดงจำนวนประชากรแยกตามเพศและอายุ (หน้า 44) แสดงจำนวนนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน (หน้า 44) แสดงจำนวนยานพาหนะของชุมชนบ้านตห้วยหินลาดใน (หน้า 46) แผนที่ : แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 แสดงจุดที่ตั้งหมู่บ้านห้วยหินลาดใน (หน้า 40) แผนที่สังเขปแสดงเขตการปกครองอำเภอเวียงป่าเป้า (หน้า 41) แผนที่สังเขปแสดงหมู่บ้านห้วยหินลาดใน (หน้า 42) แผนภูมิ : แสดงลักษณะไร่หมุนเวียนแต่ละช่วงปี (หน้า 56) แสดงมาตรการและแนวทางแก้ไขที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ (หน้า 66)

Text Analyst พัชรลดา จุลเพชร Date of Report 27 ก.ย. 2555
TAG พวน ไทยพวน ไทพวน, วิถีชีวิต, ดนตรี, เชียงขวาง, ลาว, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง