สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,การตั้งถิ่นฐาน,บางกระดี่,กรุงเทพมหานคร
Author จริยาพร รัศมีแพทย์
Title รูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 214 Year 2544
Source หลักสูตรปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางผังเมือง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

จากผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่เป็นแบบกลุ่ม ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น บริเวณแม่น้ำ ทำให้คนในชุมชนต้องเดินทางไปยังที่ทำกินและดูแลผลผลิตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่มีผลต่อจิตใจคือ ทำให้คนในชุมชนมีความใกล้ชิดและอบอุ่น สำหรับการขยายตัวของชุมชนไปตามเส้นทางคมนาคมทางน้ำในอดีตนั้น เป็นเพราะน้ำมีความสำคัญต่อชีวิตตามแนวคิดของ Fairchild อย่างไรก็ตาม วัดถือเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะในทางศาสนา การตั้งบ้านเรือนใกล้กับวัดย่อมสะดวกในการเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่วัด เมื่อมีถนน การเปลี่ยนวิธีเดินทางทำให้เกิดการขยายตัวของบ้านเรือนไปตามแนวถนน นอกจากสะดวกแล้วยังสามารถทำการค้าได้ด้วย ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่ทิศตะวันตกติดกับคลองมหาชัย ส่วนด้านตะวันออกมีคลองบางกระดี่ ทำให้บ้านเรือนยังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ ไม่สามารถขยายตัวไปตามแนวยาวได้ ทำให้บ้านเรือนค่อนข้างหนาแน่น พื้นที่ว่างน้อย อีกทั้งการปลูกเรือนใหม่ยังสอดคล้องกับเรือนเก่าที่เป็นเรือนไม้ เกิดเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนบริเวณนี้ที่ส่วนมากเป็นบ้านไม้ขนาดย่อม ไม่มีบริเวณบ้าน และปลูกใกล้ๆ กัน นอกจากนี้ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนแห่งนี้ยังเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคม สอดคล้องกับการศึกษาของ ดักกลาส ฟราเซอร์ ซึ่งมอญที่นี่ยังได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีรอบหมู่บ้านอีกด้วย ในส่วนของลักษณะบ้านเรือน ส่วนมากตั้งอยู่ติดริมน้ำ แต่ไม่พบความสัมพันธ์เรื่องการวางตัวของบ้านและน้ำ ทิศทางการวางตัวของบ้านขึ้นอยู่กับทิศทางการวางเสาเอกของเรือน สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องเรือนพื้นถิ่นไทย-มอญ และตรงกับการศึกษาเรื่องชุมชนมอญพระประแดงที่พบว่าการวางตัวบ้านของที่นี่ส่วนมากจะวางตัวตามตะวัน นอกจากสาเหตุทางความเชื่อแล้ว ยังมีเหตุจากสังคมของคนในชุมชนที่จะไม่ปลูกบ้านแทงพ่อแม่ ทำให้พบว่าบ้านบางหลังไม่ปลูกตามตะวัน อีกทั้งการขยายเรือนต่อจากเรือนเดิมมาจากข้อจำกัดทางที่ดินของครอบครัวและจากความเชื่อข้างต้น หากครอบครัวใดมีที่ดินเหลือ ก็จะปลูกบ้านใหม่บนที่ดินเดิมในชุมชนเมื่อลูกหลานออกเรือน แต่หากที่ดินที่เหลือต้องปลูกขัดกับความเชื่อ ก็จะต้องขยายเรือนออกไปจากเรือนเดิมแทน (หน้า 232-233)

Focus

เป็นการศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนบ้านบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อรูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน อันได้แก่ วิถีชีวิต ความเชื่อ และการทำกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงและลักษณะทางกายภาพของชุมชนอีกด้วย (หน้า ง)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

พื้นที่ในการศึกษาคือ หมู่บ้านมอญบางกระดี่ ตั้งอยู่ขนาบคลองสนามชัย ประกอบด้วยหมู่ 2 หมู่ 8 และหมู่ 9 ตั้งอยู่สุดซอยบางกระดี่ ถนนพระราม 2 หรือ ธนบุรีปากท่อ แขวงแสมดำ กรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่ในการศึกษาประมาณ 0.34 ตารางกิโลเมตร (หน้า 62)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ใช้เวลาเพื่อสังเกตกิจกรรมที่เกิดขึ้น 1 ปี และเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในช่วงปี พ.ศ.2543-2544 (หน้า 3)

History of the Group and Community

สำหรับที่มาของชื่อ "บางกระดี่" นั้นมีการบอกเล่าอยู่ 2 แบบ แบบแรกกล่าวกันว่าเดิมพวกเขาอพยพกันมาจาก "บ้านบางกระดี่" เมืองหงสาวดี เมื่อมาตั้งเป็นชุมชนบ้านจึงใช้ชื่อเมืองเดิม และอีกทางหนึ่งว่า เนื่องจากในอดีตในคลองข้างวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีปลากระดี่ชุกชุมมาก เพิ่งจะหมดไปประมาณ 5-6 ปีนี้เอง ส่วนพิศาล บุญผูกให้ข้อสันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของมอญแห่งนี้อพยพมาจากมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร และคลองสุนัขหอนเพื่อมาจับจองแหล่งทำมาหากิน เนื่องจากบริเวณหมู่บ้านบางกระดี่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีสภาพเป็นป่าชายเลนและอุดมไปด้วยป่าจาก อีกทั้งมีคลองสนามชัยซึ่งสามารถใช้ในการคมนาคมระหว่างมหาชัย กรุงเทพฯ และปากเกร็ดได้ ต่อมาการขายฟืนและการเย็บจากสร้างรายได้ดี จึงทำให้มีมอญจากบริเวณใกล้เคียง เช่น บางไส้ไก่ คลองบางหลวง และปากลัด อพยพมาอยู่รวมกันเกิดเป็นชุมชนใหญ่ (หน้า 62)

Settlement Pattern

จากการสำรวจสภาพทางกายภาพปัจจุบัน จะเห็นว่าชุมชนมอญแห่งนี้อยู่รวมกลุ่มกัน โดยจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน และใช้วิธีเดินทางไปยังที่ทำกินที่อยู่นอกหมู่บ้านออกไป โดยการเลือกที่ตั้งบ้านอยู่ริมน้ำน่าจะมีความสำคัญมากต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแห่งนี้ ถึงแม้ประชากรมากขึ้น ก็ยังคงนิยมอยู่เป็นกลุ่มและติดริมน้ำเพราะบ้านเครือญาติมักอยู่ใกล้ๆ กัน จนกระทั่งใน พ.ศ.2517 จึงพบว่ามีการขยายตัวของหมู่บ้านออกไปตามแนวถนนมากขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบริเวณแนวถนน มีโรงงาน หมู่บ้านจัดสรรและการขยายตัวของบ้านทางฝั่งเหนือคลองมากขึ้น (หน้า75)

Demography

ในปี พ.ศ.2543 ชุมชนบางกระดี่ - หมู่ 2 มีประชากรรวม 1,373 คน มีบ้านเรือนทั้งสิ้น 230 หลังคาเรือน - หมู่ 8 มีประชากรรวม 1,311 คน 253 หลังคาเรือน - หมู่ 9 มีประชากรรวม 856 คน 159 หลังคาเรือน ไม่มีสถิติการย้ายออกของทั้ง 3 หมู่บ้าน แต่มีสถิติการย้ายเข้าโดยย้ายเข้าหมู่ 2 หมู่ 8 และหมู่ 9 เป็นจำนวน 21, 4 และ 5 คน รวมเป็น 30 คนตามลำดับ เฉพาะพื้นที่ปลูกสร้างนั้นประชากรของหมู่ 2 มีความหนาแน่นของครัวเรือนต่อพื้นที่สูงสุดคือ 2,409 ครัวเรือนต่อ ตร.กม. ขณะที่หมู่ 9 มีความหนาแน่นรองลงมาคือ 2,271 และหมู่ 8 มีความหนาแน่นของครัวเรือนต่ำที่สุดเท่ากับ 1,581 ตร.กม. (หน้า 63)

Economy

ในระยะแรก คนในชุมชนประกอบอาชีพหลักคือ การทำนาหลังจากช่วงปี พ.ศ.2510 - 2512 ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเย็บจากและตัดฟืนขาย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รายได้จากการเย็บจากตัดฟืนไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จึงมีการหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ประกอบกิจการวังกุ้ง วังปลา รวมไปถึง ค้าขาย รับราชการ และเป็นลูกจ้างในโรงงาน (หน้า 64)

Social Organization

ในปัจจุบัน มอญในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว หากบุตรหลานแต่งงานและสร้างฐานะได้แล้ว ก็จะแยกไปมีบ้านเรือนอยู่ต่างหาก แต่ก็ยังคงความสัมพันธ์ต่อครอบครัวของตนเองอย่างเหนียวแน่น จากการไปมาหาสู่กันในช่วงเทศกาลต่างๆ สำหรับการเลือกคู่ จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของบุตรหลาน แต่ไม่นิยมให้แต่งงานกับญาติที่ใกล้ชิดมาก ในอดีต มักแต่งงาน ภายในหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะสภาพหมู่บ้านที่เป็นแบบปิดและการทำนาทำให้หนุ่มสาวไม่ค่อยได้ออกจากหมู่บ้าน แต่เมื่อมอญออกไปทำงานนอกหมู่บ้านมากขึ้น จึงมีการแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านมากขึ้นด้วย ส่วนการประกอบพิธีนั้นมีความแตกต่างจากประเพณีไทยตรงที่จะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วย ในการเลี้ยงลูก หากครอบครัวที่ภรรยาทำงานบ้านหรือเย็บจาก หน้าที่การเลี้ยงลูกจะตกเป็นของภรรยา แต่หากบ้านใดภรรยาทำงานนอกบ้าน ก็จะให้แม่ของสามีหรือแม่ของภรรยาเป็นผู้ดูแลแทน (หน้า 66)

Political Organization

ในสมัยก่อน หมู่บ้านบางกระดี่จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับทางราชการ โดยชาวบ้านจะเป็นผู้เลือกคนมอญมาทำหน้าที่ดังกล่าว อีกทั้งยังจัดตั้งสมาคมไทยรามัญขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีและอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมของคนมอญ ที่มีศาสตราจารย์สุเอ็ด คชเสนี เป็นนายกสมาคมคนปัจจุบัน หากเกิดปัญหาภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะปรึกษาผู้ใหญ่บ้านเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาที่รุนแรง มีเพียงปัญหายาเสพติดที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับเยาวชนในหมู่บ้าน (หน้า 66-67)

Belief System

มอญนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทนับตั้งแต่อาณาจักรแห่งแรกของมอญคือ สุธรรมวดีหรือสะเทิม โดยมีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดเช่น ห้ามผู้หญิงเข้าพระอุโบสถ มีการฟังเทศน์ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรมทุกวันพระ ทำบุญที่วัดในวันสำคัญทางศาสนา และบริจาคเงินให้วัดเพราะเชื่อว่าจะส่งผลให้ได้ขึ้นสวรรค์เมื่อตายแล้ว (หน้า 93) นอกจากนี้มอญยังมีความเชื่อในเรื่อง "การถือผี" ได้แก่ - ผีประจำหมู่บ้าน หรือ "pea cu" ที่อยู่ในศาลซึ่งตั้งไว้ที่ชายทุ่งและมีการเซ่นสรวงปีละครั้ง โดยมี "คนทรง" เป็นผู้ทำพิธีในการทำนายอนาคตและความอุดมสมบูรณ์ และยังมีการบูชาตามความศรัทธาของแต่ละคนอีกด้วย เช่น เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อน หรือเมื่อมีการแต่งงานเกิดขึ้น เป็นต้น - ผีบ้าน หมายถึง ผีบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีอยู่ประจำบ้านให้กราบเซ่นไหว้สืบมา ในการสืบทอดผีบ้าน ลูกหลานทุกคนในตระกูลจะต้องยอมรับผีบ้านประจำตระกูลของตน และต้องสืบทอดต่อไปจนกว่าจะไม่มีผู้ชายในตระกูลแล้ว โดยผู้สืบทอดต้องเชิญผีบ้านมาไว้ที่บ้านของตน เพราะจะสะดวกกว่าการไว้ที่บ้านเดิมเมื่อมีการเซ่นไหว้ประจำปี ซึ่งบุตรชายคนโตในตระกูลจะเป็นผู้สืบทอดและเป็นผู้ทำพิธีรำผีเรียกว่า "ต้นผี" ส่วนบุตรหญิงสามารถเข้าร่วมพิธีได้ ยกเว้นหากมีครอบครัวแล้ว จะต้องถือผีตามฝ่ายสามี และเป็นเพียงแขกของพิธีเท่านั้น สำหรับที่ตั้งผีบ้านคือ เสาหลักหรือเสาเอกของบ้าน โดยใช้กระบุงหรือหีบเป็นตัวแทนของผีบ้านแขวนหรือตั้งบนชั้นไม้ ในการเซ่นไหว้ผีบ้านประจำปี คนในตระกูลต้องเข้าร่วมทุกคน อาจส่งสิ่งของหรือเงินทองมาแทนหากไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะอาจเกิดโทษภายหลัง ทั้งนี้ สามารถแยกผีบ้านไปไว้ที่บ้านของตน หากบ้านเรือนตั้งอยู่ไกลได้ (หน้า 94-95) นอกจากนี้ มอญยังมีความเชื่อในการปลูกเรือนที่ต้องถูกโฉลกโดยการไปปรึกษากับผู้ใหญ่ หรือพระที่วัด และนิยมให้หน้าบ้านอยู่ทางทิศเหนือ เพราะเชื่อว่าเป็นการระลึกถึงถิ่นเดิมที่ตนอพยพมา จนมีคำกล่าวว่า "มอญขวาง" จากการตั้งบ้านที่แย้งกับการไหลของกระแสน้ำจากเหนือไปใต้ของไทยนั่นเอง ความเชื่อในการตั้งถิ่นฐานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ใบลานภาษามอญโบราณ "โลกสิทธิ" และ "โลกสมมติ" ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์ คำสั่งสอนของคนมอญโบราณที่สืบต่อกันมาจนปัจจุบัน (หน้า 95)

Education and Socialization

ผู้วิจัยกล่าวว่าครอบครัวในชุมชนแห่งนี้ยังคงมีความเข้มแข็ง สมาชิกในวัยทำงานจะมีชุมชนแห่งนี้เป็นที่พักถาวร ส่วนสมาชิกผู้สูงอายุในครอบครัวจะเป็นผู้ถ่ายทอดบรรทัดฐานการใช้ชีวิตให้กับคนรุ่นต่อไป ขณะที่เด็กๆ ก็ได้รับบริการการศึกษาจากวัดและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ (หน้า 63-64) สำหรับโรงเรียนวัดบางกระดี่เริ่มสอนหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2474 โดยเริ่มสอนให้กับเด็กวัดก่อนประมาณ 10 คน ใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่เรียน ในปี พ.ศ.2479 จึงมีอาคารเรียนหลังแรก และเมื่อ พ.ศ.2503 ทางโรงเรียนได้ขยายหลักสูตรจากชั้นประถม 1 - ประถม 6 เป็นชั้นประถม 1 - ชั้นมัธยม 3 ในส่วนของโรงเรียนอนุบาลนั้น ตั้งอยู่ในหมู่ 8 คือ โรงเรียนอนุบาลบ้านรักเด็ก สร้างได้ประมาณ 3 - 4 ปีแล้ว (หน้า 177-178)

Health and Medicine

ปัจจุบัน มีศูนย์บริการสาธารณสุขภายในชุมชนอยู่ในหมู่ 8 ทั้ง 2 แห่ง แต่ตั้งอยู่คนละฝั่งของคลองบางกระดี่ จัดว่ามีการใช้บริการอย่างสม่ำเสมอจากคนในชุมชน โดยศูนย์บริการทั้ง 2 แห่งได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 สาขาแสมดำ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และศูนย์สุขภาพชุมชนกับที่ทำการแพทย์ประจำตำบล แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน (หน้า 178-179)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

งานฝีมือของมอญที่มีบทบาทในประเพณีและความเชื่อต่างๆ เช่น - ในงานศพสมัยโบราณ การเอาศพลงจากเรือนของมอญจะไม่ให้เอาลงทางบันได แต่ให้รื้อฝาเรือนแล้วเอาศพออกทางนั้น แต่ก็ มีมอญบางแห่งเอาศพลงทางบันได ซึ่งต้องทำบันไดสำหรับผีลง ทำด้วยไม้ไผ่ซีก บันไดยาวประมาณ 2 ศอก กว้างประมาณ 1 ศอก 1 คืบ (หน้า 91) - การประกอบพิธีรำผีจะประกอบด้วยงานฝีมือของมอญตั้งแต่โรงพิธีปลูกด้วยเสา 6 ต้น พาไลสำหรับแขกนั่ง หิ้งยาวด้านหลังโรงพิธีสำหรับวางของเพื่อใช้ในการรำผีจัดเป็นชุดอยู่ในอ่างโลหะขอบสูง และยังมีอุปกรณ์ในการรำอื่นๆ เช่น ดาบ ต้นกล้วย เป็นต้น ที่สำคัญคือ วงพิณพาทย์มอญ 1 วง เพื่อใช้บรรเลงประกอบการรำ โดยจะเป็นหน้าที่ของคนรำผีทั้งสิ้นตั้งแต่จัดเครื่องเซ่นไหว้ การแต่งกายและร่ายรำ และสุดท้ายคือ การรวบรวมเศษอาหารหรือต้นกล้วยที่ตัดในระหว่างพิธีเทรวมกันแล้วใส่ลงในเรือซึ่งทำจากต้นกล้วย แล้วนำเรือไปลอยในน้ำเพื่อเป็นการลอยเสนียดทิ้ง (หน้า 94) นอกจากนั้น ผู้เขียนยังนำเสนอถึงประเพณีสงกรานต์ของมอญที่มีการละเล่นหลายรูปแบบ ได้แก่ การแสดงของวงทะแยมอญ การเล่นสะบ้าที่นิยมเล่นบริเวณใต้ถุนบ้านกว้างๆ อีกทั้งในอดีตยังมีการละเล่นที่นิยมคือ การเล่นทรงผีโดยเชิญแต่ละผีมา เช่น ผีสุ่ม ผีลิง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์การละเล่นเหล่านี้ไว้ สมาคมชาวรามัญในซอยบางกระดี่จึงได้จัดให้มีการละเล่นสะบ้าอยู่ บางปีก็มี การรำหงส์ด้วย ซึ่งผู้แสดงคือคนมอญที่มาจากพม่าและเล่าถึงความเป็นมาของคนมอญในอดีตนั่นเอง (หน้า 87-88)

Folklore

ตำนานหรือเรื่องเล่าต่างๆ ของมอญส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดประเพณีและความเชื่อของมอญที่สำคัญ ได้แก่ - ประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวันออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านบางกระดี่ถือเป็นวันพระใหญ่และให้ความสำคัญอย่างมาก โดยพิธีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนเทวโลกนั้น พระองค์ได้เสด็จประทับอยู่เพื่อโปรดพระมารดาตลอดพรรษา บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างคำนึงถึงพระองค์และรอคอยการเสด็จกลับของพระพุทธองค์ตลอดเวลา เมื่อถึงวันที่เสด็จกลับชาวเมืองก็ดีใจมาก เตรียมการต้อนรับอย่างมโหฬาร พร้อมทั้งจัดเตรียมบุปผามาลัยและเครื่องสักการะต่างๆ เพื่อนำมาถวาย คนมอญจึงนำพุทธประวัตินี้มาจัดเป็นพิธีตักบาตรดอกไม้ และถือเป็นพิธีสำคัญปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 89) - การถือผีบ้าน ความเชื่อในเรื่องผีบ้านของมอญมาจากนิทานปรัมปราที่เล่าว่า ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีผู้หนึ่งมีภรรยา 2 คน ภรรยาหลวงเกิดอิจฉาภรรยาน้อยจึงฆ่าลูกของภรรยาน้อยตายจึงเกิดการอาฆาตจองเวร ในที่สุดเมื่อฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นผี อีกฝ่ายเป็นมนุษย์และมีลูกด้วย ฝ่ายมนุษย์จึงไปขอพึ่งพระองค์ในขณะที่พระองค์กำลังประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระพุทธองค์ทราบความเป็นไปจึงได้เทศนาให้นางผีเห็นโทษของการจองเวร นางมนุษย์และนางผีจึงระงับการจองเวรต่อกัน ต่อมานางผีได้ไปอยู่กับนางมนุษย์ก็ได้ช่วยเหลือให้นางมนุษย์ทำนาได้ผลดีจนมั่งคั่ง และเกิดผลดีต่อชาวเมืองด้วย เรื่องเล่านี้จึงเป็นมูลเหตุของการนับถือผีมาจนทุกวันนี้ (หน้า 94)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การธำรงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของมอญบางกระดี่ปรากฏอยู่ในประเพณีและความเชื่อ ด้วยความที่ชุมชนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดบางกระดี่ จึงมีคนไทยเชื้อสายมอญจากชุมชนอื่นๆ มาร่วมงานประเพณี ซึ่งวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะตลอด 125 ปีที่ผ่านมาและยังคงเทศน์และสวดศพเป็นภาษามอญอยู่ โดยชาวบ้านจะร่วมใจกันแต่งกายแบบดั้งเดิม ฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบน ฝ่ายหญิงจะนุ่งผ้านุ่งและผ้าพาดบ่าไปร่วมงาน อีกทั้งยังมี "สมาคมชาวรามัญ" ซึ่งในวันสงกรานต์ไทย-รามัญของทุกปี คนรามัญจากที่อื่นๆ จะมาชุมนุมกันเพื่อรำลึกถึงถิ่นฐานเดิมของตนในประเทศพม่าผ่านทางการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน (หน้า 203) นอกจากนี้ ชุมชนมอญบางกระดี่ยังคงมีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษอยู่แทบทุกครัวเรือน จากการกราบไหว้ผีบรรพบุรุษ การปฏิบัติตามข้อห้ามต่างๆ ของการถือผี และข้อห้ามบางอย่างยังส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกัน อีกทั้งการนับถือผียังเป็นเครื่องมือในการรวมตัวกันของตระกูลในวันเซ่นไหว้ผีอีกด้วย นับว่าเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนแห่งนี้ (หน้า 204)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีชีวิตของมอญเกิดจากปัจจัยภายนอกหลายประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจากการสร้างบ้านไม้ กลายเป็นการใช้คอนกรีตแทน เพราะมีราคาถูกกว่า แข็งแรงและสร้างกันทั่วไปตามสมัย อีกทั้งการมีถนนและรถยนต์เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ทำให้การติดต่อกับภายนอกมีความสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้กิจการต่างๆ ในชุมชนซับซ้อนยิ่งขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกด้วย ด้านการเกษตร การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่ในการเกษตรลดลง นอกจากนั้น มอญบางกระดี่ยังมีแนวโน้มจะหันไปประกอบอาชีพอื่นแทนการทำการเกษตรมากขึ้น เนื่องจากให้รายได้ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การขยายตัวของโรงงานนอกจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตของคนในชุมชนแล้ว ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศน์บริเวณชุมชนอีกด้วย จากที่เคยใช้น้ำในคลองเพื่ออุปโภคบริโภคก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เนื่องจากโรงงานปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำ อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นมายังหมู่บ้านด้วย ด้านแผนและนโยบายจากภาครัฐ การที่โรงงานบางแห่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในพื้นที่ของชุมชนได้ ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างที่ขัดแย้งกับชุมชน และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลดความเป็นเอกภาพของชุมชนแห่งนี้ (หน้า 153-158)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

เนื่องมาจากผู้เขียนเห็นว่ารูปแบบการตั้งถิ่นฐานที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้มี 6 ประการ (หน้า 231) ได้แก่ 1) การวางทิศทางของบ้านเรือน มาจากความเชื่อผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นความเชื่อของคนมอญโดยเฉพาะ 2) การมีวัดเป็นศูนย์กลาง 3) การเกาะกลุ่มกันของบ้านเรือน 4) การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่หัวและท้ายของหมู่บ้าน 5) การปลูกเรือนใกล้แหล่งน้ำ 6) การมีพื้นที่ทำกินอยู่บริเวณโดยรอบ ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะแนวทางในการพัฒนาชุมชน โดยเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ศึกษาในชุมชนเป็น 11 กลุ่มย่อยเพื่อนำมาพิจารณาศักยภาพและปัญหาในการตั้งถิ่นฐานของพื้นที่นั้นๆ จากนั้นจะทำการประเมินคุณค่าพื้นที่ชุมชนทั้งปัจจัยบวกและลบต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำมาซึ่งการกำหนดแนวทางการพัฒนารูปแบบการตั้งถิ่นฐานที่มี 7 ข้อ (หน้า 232) ได้แก่ 1) การควบคุมความสูงและรูปแบบอาคาร 2) การเตรียมพื้นที่เพื่อการขยายตัวของชุมชน 3) การอนุรักษ์พื้นที่เกษตร 4) การจัดระเบียบพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม 5) การอนุรักษ์และส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม 6) การปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม 7) การพัฒนาโครงข่ายทางสัญจร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะสำเร็จได้ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน

Map/Illustration

ผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลด้วยการใช้ตาราง แผนภูมิ และรูปภาพไว้จำนวนมาก ดังนี้ 1) ตารางมีจำนวนทั้งสิ้น 61 ตาราง 2) แผนภูมิจำนวน 31 แผนภูมิ 3) รูปภาพจำนวน 27 รูปภาพ 4) ภาพถ่ายจำนวน 56 ภาพ

Text Analyst สุพรรณิการ์ เอี่ยมแสนสุข Date of Report 01 ม.ค. 2548
TAG มอญ, การตั้งถิ่นฐาน, บางกระดี่, กรุงเทพมหานคร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง