สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,พิธีกรรม,เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์,ราชบุรี
Author อะระโท โอชิมา
Title ชีวิต พิธีกรรมและอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนมอญในเมืองไทย กรณีศึกษาในเขต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 125 Year 2536
Source วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการธำรงชาติพันธุ์มอญที่หมู่ 4, หมู่ 5, และส่วนหนึ่งของหมู่ 3 ที่ ต.บ้านมน (ชื่อสมมุติ) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยพิจารณาการแสดงออกและการเรียนรู้เอกลักษณ์ชาติพันธุ์มอญ และพรมแดนชาติพันธุ์มอญในชีวิตประจำวันและพิธีกรรมต่าง ๆ ของมอญ โดยที่ผู้เขียนนั้นตั้งใจมองความสัมพันธ์ระหว่างการธำรงชาติพันธุ์กับพิธีกรรมโดยใช้ทฤษฎีการธำรงชาติพันธุ์และทฤษฎีวิเคราะห์พิธีกรรม อันประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการคือ กลุ่ม, ประวัติ, และอัตลักษณ์ พบว่าคนมอญในชุมชนบ้านมนมีเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนอยู่ 2 ระดับคือระดับที่เป็นคนไทยและระดับที่เป็นคนมอญควบคู่กันไปคือเป็นคนมอญที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่ยังคงใช้สัญลักษณ์บางประการที่แสดงตนถึงความเป็นคนมอญตามกาลเทศะ คือ การแต่งกายและการใช้ภาษา มีพิธีกรรมนับถือผีหรือขะหลกหั่ยสืบต่อทางสายเลือดหรือการทำบุญร่วมกัน 9 วันในวันเข้าพรรษาและออกพรรษาเพื่อรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์มอญในแต่ละตำบลเข้าด้วยกัน (บทคัดย่อ1-2)

Focus

ศึกษาการธำรงชาติพันธุ์มอญที่หมู่ 4, หมู่ 5, และส่วนหนึ่งของหมู่ 3 ที่ต.บ้านมน (ชื่อสมมุติ) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยพิจารณาการแสดงออกและการเรียนรู้เอกลักษณ์ชาติพันธุ์มอญ และพรมแดนชาติพันธุ์มอญในชีวิตประจำวันและพิธีกรรมต่าง ๆ ของมอญ (หน้า 17)

Theoretical Issues

ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นสภาวการณ์ของการธำรงชาติพันธุ์มอญที่บ้านมนว่า มีเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนใน 2 ระดับคือ ที่เป็นมอญและที่เป็นไทยควบคู่กันไป ผ่านทางสัญลักษณ์ต่าง ๆ คือ การแต่งกาย ภาษา และการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ และได้อธิบายว่ากลไกสำคัญในการธำรงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์มอญคือพิธีกรรมต่าง ๆ และตำรามอญซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นมอญมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นในกลุ่มอายุต่าง ๆ คนรุ่นใหม่จะแสดงความเป็นไทยมากกว่าคนรุ่นก่อน อันเนื่องมาจากอิทธิพลของการศึกษาของไทยและการรับข่าวสารทางทางโทรทัศน์ (หน้า 123)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์มอญ

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาไทยและภาษามอญ ซึ่งมอญในหมู่บ้านมนนี้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษามอญ โดยเมื่อสนทนาเป็นภาษาไทยจะนำคำมอญมาผสม และเมื่อสนทนาเป็นภาษามอญก็จะนำคำไทยไปผสม แม้ว่าประชาชนส่วนมากในหมู่บ้านมนสามารถพูดภาษาไทยได้ชัดเจน แต่กลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปนั้น มีความสามารถในการใช้ภาษามอญมากกว่าภาษาไทย และจะออกเสียงภาษาไทยไม่ชัด ในขณะที่เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีนั้นมีความสามารถในการพูดภาษามอญน้อยลงมาก สามารถฟังได้เข้าใจแต่เมื่อถามเป็นภาษามอญจะตอบเป็นภาษาไทย (หน้า 46) สำหรับการอ่านและเขียนภาษามอญนั้น ผู้หญิงจะไม่สามารถอ่านและเขียนได้เนื่องจากต้องไปเรียนที่วัดและจะได้เรียนเฉพาะเด็กชายที่เป็นเด็กวัดเท่านั้น (หน้า 47) ปัจจุบันภาษามอญนั้นจะใช้ประโยชน์ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและพิธีกรรม แต่ไม่ค่อยมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การสูญหายของภาษามอญเริ่มปรากฏให้เห็นในการใช้ภาษาของเด็กยุคใหม่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมของสังคมมอญ (หน้า 49) เกี่ยวกับความสามารถในการอ่านและเขียนภาษามอญ ลักษณะของการสูญหายได้ปรากฏชัดเจน เป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของการเขียนและอ่านภาษามอญ แต่การสนทนาภาษามอญนั้นอาจจะดำรงอยู่ได้หลายปี (หน้า 50)

Study Period (Data Collection)

กรกฎาคม 2534 - กรกฎาคม 2535 (หน้า 18)

History of the Group and Community

จากหลักฐานทางโบราณคดี คือ คัมภีร์ใบลานกล่าวว่า บ้านมนนี้มีอายุมากกว่า 300 ปี สำหรับชาวบ้านในบ้านนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าอพยพมาจากไหน แต่สันนิษฐานได้ว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านมนนั้นอพยพมาจากเมืองมอญในพม่า เพราะมีการแสดงเกี่ยวกับการอพยพหนีมาจากพม่าในพิธีกรรมหนึ่งของชาวบ้านมน (หน้า 24) และมีการบันทึกเกี่ยวกับมอญที่อาศัยอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำแม่กลองในสมัย รัชกาลที่ 5 ที่กล่าวถึงการเสด็จทางชลมารคผ่านลำน้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรีในปี พ.ศ.2420

Settlement Pattern

ชาวบ้านจะตั้งถิ่นฐานกันหนาแน่นในบริเวณถนนหลักเรื่อยเข้าไปประมาณ 300 เมตร และบ้านเรือนส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ไม่ห่างไปจากแม่น้ำกว่า 500 เมตร บริเวณพื้นที่นาจะอยู่ทางด้านตะวันตก บริเวณระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับคลอง ชลประทานจะประกอบด้วยไร่ของชาวบ้าน เช่น อ้อย ผัก ข้าวโพด ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไร่อ้อย (หน้า 21-23) การตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่จะตั้งไม่ห่างจากแม่น้ำ บ้านเรือนมักจะปลูกขวางแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือตามตำราโลกะสิทธิเชื่อว่าถ้าปลูกตามตำราแล้วผีร้ายจะไม่เข้าไปในบ้าน ผู้เขียนได้กล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างบ้านให้หันหน้าไปทางทิศเหนือไว้ 2 ทฤษฎีคือ เพราะถือว่ามอญอพยพมาจากทางเหนือ เมื่อจากบ้านก็ระลึกถึงถิ่นเดิมจึงทำเช่นนั้นและอีกข้อหนึ่งคือแม่น้ำในไทยและพม่านั้นวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ สมัยก่อนพม่าจะยกทัพมาทางน้ำ ดังนั้น ถ้าหันหน้าเข้าแม่น้ำทหารพม่าจะเข้ามาในบ้านได้ง่าย ดังนั้นจึงหันหน้าไปทางทิศเหนือเพื่อให้ทหารพม่าเข้ามาลำบาก (หน้า 34-36) ในหมู่บ้านมนนิยมสร้างบ้านใหม่ในบริเวณเดียวกับบ้านบิดา-มารดา จึงเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ เรียกว่าหมู่ ชาวบ้านอาศัยในหมู่เดียวกันมักจะเป็นญาติกัน (หน้า 37)

Demography

ต.บ้านมนมีประชากรทั้งสิ้น 3,045 คน เป็นชาย 1,511 คน และเป็นหญิง 1,534 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 579 หลังคาเรือน (พ.ศ. 2530) จากการสำรวจของสำนักผังเมืองในปี พ.ศ.2522-2528 พบว่าประชากรลดลงทุกปีเนื่องจากการอพยพออกไปต่างถิ่นเนื่องจากพื้นที่ไม่พอทำกิน (หน้า 26)

Economy

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร คือทำนาเป็นหลัก แต่ก็มีปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทำนา เนื่องจากประชากรมากขึ้น และไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกไปได้อีก (หน้า 26) การเพาะปลูกข้าวจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ธ.ค. และเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือน ม.ค. ในเดือน ก.พ.- มิ.ย. ชาวบ้านจะว่างงาน ในช่วงนี้ผู้ชายจะไปจับปลา เก็บผักบุ้งเพื่อนำไปขาย ส่วนผู้หญิงจะพากันทอผ้าหรือไปเก็บผักตามบริเวณบ้านเพื่อนำไปปรุงอาหาร (หน้า 32)

Social Organization

ชาวบ้านมนเมื่อแต่งงานแล้วจะไม่มีกฎบังคับตายตัวว่าจะต้องอยู่อาศัยกับญาติฝ่ายไหนหรือจะต้องสร้างบ้านใหม่ แต่ปกติแล้วลูกคนสุดท้ายจะอยู่ที่บ้านเพื่อสืบต่อการเป็นเจ้าของบ้าน แต่บุคคลอื่น ๆ ก็สามารถสืบต่อความเป็นเจ้าของบ้านได้ ลักษณะพิเศษของการอาศัยอยู่ภายในชุมชนบ้านมนที่ว่านี้คือ การที่หลานอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย โดยบิดามารดามิได้อาศัยอยู่ด้วย หากคู่แต่งงานใหม่สร้างบ้านก็มักจะสร้างขึ้นมาในบริเวณเดียวกับบ้านของบิดา มารดา จึงทำให้เกิดชุมชนเล็ก ๆ ขึ้นเรียกว่าหมู่ ประกอบด้วยบ้านประมาณ 5-10 หลังคาเรือน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่เดียวกันจะเป็นเครือญาติกัน และเมื่อมีการแต่งงานกับคนนอกที่ไม่ใช่หมู่ บุคคลนั้นสามารถเข้าเป็นสมาชิกของหมู่ได้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านมนจะไม่รังเกียจเมื่อบุตรหลานต้องการจะแต่งงานกับคนอื่นที่ไม่ใช่มอญ แต่ไม่ยินดีเมื่อแต่งงานกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ระบบสายสกุลของมอญนั้นเป็นการสืบเชื้อสายทางบิดา รวมทั้งการสืบต่อระบบผีบ้านก็เป็นการสืบต่อทางผู้ชาย คนมอญในบ้านมนไม่นิยมการมีภรรยามากกว่า 1 คนแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างโดยที่เมื่อมอญได้ย้ายไปยังถิ่นฐานอื่น ก็รับเอาอิทธิพลของโครงสร้างทางสังคมของคนไทยเข้าไปปนทำให้มีภรรยามากกว่า 1 คน ซึ่งถือว่าบุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นคนไทยแล้ว เพราะถือว่าผู้ชายที่มีเมียน้อยไม่ใช่ผู้ชายมอญ (หน้า 37-38) ระบบเครือญาติจะมีการเซ่นไหว้ผีที่ "ขะหลกหั่ย" ที่เสาเอกของบ้านต้นตระกูลคือผู้สืบผี ผู้สืบผีจะเป็นผู้ชายเท่านั้น ส่วนมากเป็นลูกชายคนโตจะเป็นคนรับต้นผี โดยต้องทำพิธีเกี่ยวกับขะหลกหั่ยทุกอย่าง และดูแลปกครองกลุ่มเครือญาติของตนไม่ให้ปฏิบัติฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ให้ผิดผี พิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับขะหลกหั่ยนั้นสมาชิกทุกคนในตระกูลต้องมาร่วมในพิธี ยกเว้นแต่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ตระกูลใหม่ที่แยกผีออกไปและตระกูลที่ปล่อยผีออกไปคือไม่อัญเชิญขะหลกหั่ยมาที่เสาเอก หรือเรียก ขะหลกหั่ยจากเสาเอกของบ้าน ปล่อยลงในแม่น้ำ (หน้า 53-54) พิธีเลี้ยงผีมีหน้าที่ 2 ประการคือ ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่สมาชิกของตระกูล และเพื่อสร้างกำหนดการในแต่ละรอบปี (หน้า 61)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ชาวบ้านมนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธเถรวาท โดยมีศูนย์กลางการนับถืออยู่ที่วัดมน นอกจากนี้ยังมีคนที่นับถือศาสนาคริสต์ 1 คน (หน้า 42) ชีวิตประจำวันของชาวบ้านจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ก็มีการนับถือผีควบคู่กันไปด้วย สำหรับพระพุทธศาสนานั้นในอดีตจะนับถือกันอย่างเคร่งครัด ทำให้มีข้อห้ามเกี่ยวกับพุทธศาสนามาก (หน้า 43) ผีแบ่งได้เป็น 4 ประเภทได้แก่ - ผีเรือน หรือ ขะหลกหั่ย หรือ ผีมอญ โดยจะบวงสรวงที่เสาเอก เป็นผีบรรพบุรุษ มี 3 ตน คือ ผีผู้ชาย ผีผู้หญิง และ ผีเมียน้อย - เจ้าพ่อ หรือ เปียะเจ๊ะ อยู่ที่ศาล มีอำนาจคุ้มครองพื้นที่รอบ ๆ ศาลเจ้า แต่ในบางสถานการณ์ก็ให้โทษ เจ้าพ่อของมอญจะมีชื่อ และมีตำนานเล่าสืบต่อกันมา - ผีธรรมชาติ อาศัยตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา น้ำ ฯลฯ หากคนเข้าไปรบกวนจะเกิดภัยพิบัติ - ผีร้าย เกิดจากผู้ที่ตายไม่ดี จะทำร้ายคนโดยไม่มีเหตุผล (หน้า 51) ผีที่มีความสำคัญสำหรับมอญคือผีเรือนและผีเจ้าพ่อ และมอญมีตำนานเกี่ยวกับการนับถือผีซึ่งเชื่อว่ามีมาตั้งแต่พุทธกาล (หน้า52) ชาวบ้านมนนั้นจะนับถือผีผ้าทั้งหมด เพราะเป็นกลุ่มมอญเตียะ จากเมืองหงสาวดี ตามบ้านจะมีกระบุงหรือหีบแขวนไว้ที่เสาเอกซึ่งบรรจุสไบ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า เสื้อแขนยาวของผู้ชาย ผ้าขาวและผ้าแดง แหวน 1 วงที่มีหัวเป็นเพชรหรือพลอย ซึ่งต้องดูแลผีผ้า นี้เป็นอย่างดี มักเปลี่ยนเมื่อวันเลี้ยงผีหรือวันพิธีผีรำ (หน้า 53) แต่ละตระกูลของมอญจะมี "ขะหลกหั่ย" และมีสัญลักษณ์ของตระกูลซึ่งเป็นสัตว์ เพื่ออธิบายถึงประเภทของขะหลกหั่ยซึ่งเข้าลักษณะ Toteism (หน้า 54) ชาวบ้านมนหมู่ 4 นี้ราว 85 % จะมีสัญลักษณ์เป็นเต่า นอกจากนี้ ยังมี งู ม้า ปลาช่อน โดยมีข้อห้ามและประเพณีต่างกันไป (หน้า 58) แต่ไม่ปรากฏเทพนิยายและตำนานที่อธิบายว่าสัตว์ต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นบรรพบุรุษของตน ไม่มีหน้าที่ที่จะปกป้อง (หน้า 59) ขะหลกหั่ยจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องดูแลและควบคุมความประพฤติของสมาชิกทุกคนในตระกูล หากสมาชิกในครอบครัวไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามหรือไม่เคารพขะหลกหั่ย จะเกิดการผิดผี ขะหลกหั่ยอาจจะลงโทษคนในตระกูล และต้องแก้ไขด้วยการจัดพิธีรำผี ซึ่งพิธีรำผีนี้ก็อาจเป็นการแสดงความขอบคุณต่อขะหลกหั่ยด้วยก็ได้ (หน้า 61) "เจ้าพ่อ" มีระดับสูงกว่าผี ทำหน้าที่ปกครองดูแลอาณาเขตตนเอง มีชื่อเรียกเหมือนกับคนและมีบุคลิกที่ต่างกันออกไป ศาลเจ้าพ่อมักอยู่ในบริเวณวัดหรือทางแยก โดยเฉพาะในวัดมอญ ประกอบด้วยเสา 6 เสา หรือ 4 เสา หรืออาจมีเพียงเสาเดียว แตกต่างจากศาลพระภูมิ มีความสูงประมาณ 2 เมตร มีลักษณะคล้ายบ้าน (หน้า 69) ชาวบ้านจะนิยมบูชาเจ้าพ่อเมื่อจะออกเดินทางนอกหมู่บ้าน การจัดพิธีกรรมใหญ่ ๆ และการบนบานศาลกล่าว และในพิธีรำผีก็จะถูกเชิญไปร่วมพิธีรำ (หน้า 70) ซึ่งเจ้าพ่อของคนมอญนั้นอาจจะเคยเป็นคนที่เคยมีชีวิตอยู่และอาจจะมีความสัมพันธ์กับ "ผีนัต" ของพม่า (หน้า 71) พิธีกรรม - พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ จะทำทุกปี และทุก 3 ปีแล้วแต่แบบแผนของแต่ละตระกูล โดยจะมีในวันข้างขึ้น เดือน 6 ยกเว้นในวันพระและวันเสาร์ โดยเชื่อว่าวันเสาร์เป็นวันแข็งทำให้ผีเข้ามาในพื้นที่ที่เลี้ยงผีลำบาก และเชื่อว่าวันพระนั้นผีจะไปกินอาหารที่วัด และไม่เข้ามาในพื้นที่เลี้ยงผี ซึ่งสันนิษฐานว่าให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามากกว่าความเชื่อเรื่องผี (หน้า 60) - พิธีรำผี จัดขึ้นเมื่อมีคนเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดเหตุเภทภัยในตระกูล โดยไปปรึกษาหมอดูแล้ว หมอดูกล่าวว่าเกิดจากการผิดผี มักกระทำในเดือนคู่ โดยเชื่อว่าถ้ากระทำการใด ๆ ในเดือนคี่มักไม่ประสบผลสำเร็จ และจะไม่จัดในช่วงเข้าพรรษาและช่วงหน้านา นิยมจัดในเดือน 4 และ 6 ยกเว้นวันพระและวันเสาร์เหมือนพิธีเลี้ยงผี (หน้า 62) - การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เมื่อตั้งครรภ์จะวางมะพร้าวหนึ่งผลไว้ที่หัวนอน เตรียมหม้อใบหนึ่งไว้ใส่ผงขมิ้นเพื่อใช้ผสมน้ำดื่มและอาบจะได้คลอดลูกได้ง่าย ห้ามนั่งกลางระเบียงบ้าน และห้ามนั่งพิงเสาบ้านโดยเฉพาะเสาเอกหรือเสาผี ห้ามนั่งห้อยเท้าที่บันไดบ้าน ห้ามเก็บผักไปส่งศพ ห้ามเดินทางข้ามน้ำข้ามคลอง หากต้องไปให้เอาเข็มปักที่ผมไปด้วยเล่มหนึ่ง ห้ามอาบน้ำกลางคืน เนื่องจากกลัวว่าผีจะกระทำเอา และต้องทำพิธีเสียกะบาลเป็นรายเดือนรวมทั้งต้องกินยารักษาครรภ์ (หน้า 72) และเมื่อคลอดต้องจำเวลาเกิดให้แม่นยำ เพราะมีความสำคัญจนถึงตาย โดยเชื่อว่าถ้ารู้วันเกิดก็จะรู้วันตาย (หน้า 74) - พิธีโกนผมไฟ ชาวบ้านบางคนเชื่อว่าผมไฟเป็นผมที่ไม่ค่อยสะอาด จึงต้องทำพิธีโกนผมไฟ มักทำเมื่ออายุได้ 1 เดือน 1 วัน แต่มีข้อห้ามคือ คนในตระกูลเดียวกันจะทำพิธีเกี่ยวกับผีและทำขวัญได้ปีละครั้ง ดังนั้น จึงมักจัดพิธีต่าง ๆ ในวันเดียวกัน ถ้ามีคนตายในปีใด ปีนั้นห้ามโกนผมไฟให้ลูกหลาน หากสมาชิกคนใดมีบุตรที่ยังไม่ได้โกนผมไฟ แต่ภรรยาเกิดตั้งครรภ์ จะทำพิธีไม่ได้ ต้องรอจนคลอดและโกนผมไฟพร้อมกัน และหากยังโกนไม่ได้ให้เก็บผมนั้นไว้ ห้ามโกนทิ้งไปเฉย ๆ จะเกิดอัปมงคล ชาวบ้านจะนิยมจัดพิธีโกนผมไฟในเดือน 4, 5, 6 หรือเดือน 12 (หน้า 74-75) -พิธีบวช เป็นพิธีมงคลยิ่ง มีความหมายเช่นเดียวกับพิธีบวชไทย แต่ลักษณะการประกอบพิธีนั้นจะต่างกัน ยกเว้นตั้งแต่ตอนนาคเข้าโบสถ์ไปแล้ว โดยผู้ชายจะบวชเมื่อครบ 20 ปี ถ้าในตระกูลเดียวกันมีพิธีกรรมต่าง ๆเกี่ยวกับผีหรือการทำขวัญ ในปีนั้นจะจัดงานบวชไม่ได้ และถ้าในตระกูลเดียวกันมีชายหนุ่มอายุใกล้ ๆ กัน ผู้ที่มีอายุมากกว่าจะรอผู้ที่มีอายุน้อยกว่าครบ 20 ปี แล้วจึงจัดพิธีบวชพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าจัดงานบวชทุก ๆ ปีจะไม่สามารถจัดงานอื่นได้ การบวชนี้มีจุดมุ่งหมายคือบวชให้บุพการีและถ้าผู้ชายที่ยังไม่ได้บวชจะถือว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่ นิยมจัดงานบวชตั้งแต่เดือน 12 ถึงเดือน 6 แต่ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าบวชหรือสึกให้ทำในเดือนคู่จะดีกว่า สำหรับการจัดพิธีนั้นจะจัดหลายแบบทั้งภายในวันเดียว สองวัน หรือ สามวัน (หน้า 75-76) - พิธีแต่งงาน ไม่ค่อยต่างกับพิธีไทยมากนักนอกจาก "วันคืนผี" ของเจ้าสาว แต่หากในตระกูลเจ้าบ่าวมีการโกนจุก บวช หรือรำผีแล้ว ปีนั้นจะจัดงานแต่งงานไม่ได้ ต้องรอไปอีก 1 ปี ถ้าต้องการแต่งงานกันจริง ๆ ทำได้โดยการไม่จัดพิธีตามประเพณี แต่มาอยู่ด้วยกันเฉย ๆ โดยสมมติให้เจ้าบ่าวเป็นลูกจ้าง และให้ญาติเจ้าสาวตะโกนว่าลูกจ้างมาแล้ว (หน้า 81) - พิธีอายุยืน จะจัดให้ผู้สูงอายุ ที่ไม่มั่นใจในสุขภาพตัวเอง หรือหมอดูดูว่ากำลังจะสิ้นอายุขัย เป็นพิธีทางพุทธ โดยพระสงฆ์จะสวดมนต์ให้ เรียกว่า "โพชฌงค์" โดยทำพิธีติดต่อกัน 3 วัน (หน้า 82-83) - พิธีเกี่ยวกับความตาย เป็นพิธีที่มีที่มาจากศาสนาพุทธและความเชื่อเรื่องผี จะมีวิธีปฏิบัติต่อศพต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะของการตาย โดยมีคัมภีร์ "โลกสมมุติ" อธิบายไว้ (หน้า 83) - พิธีทำบุญ ในวันพระ ชาวบ้านจะไปที่วัดพร้อมอาหาร ธูปเทียน ดอกไม้ มีการสวดมนต์และถวายอาหารแด่พระ เมื่อพระฉันเสร็จจะสวดมนต์อีกครั้ง และชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ซึ่งการสวดมนต์นี้จะเป็นการสวดแบบมอญ (หน้า 94) - เข้าพรรษา ในตอนเช้าของวันอาสาฬหบูชามีการทำบุญที่วัด เมื่อทำบุญเสร็จชาวบ้านบางส่วนจะอยู่ถือศีลแปดที่วัดจนถึงวันเข้าพรรษา ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา พระสงฆ์จะข้ามน้ำไปยังวัดฝั่งตรงข้าม ที่วัดนี้จะมีพระสงฆ์ทุกรูปจากวัดมอญอีก 8 แห่งที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ใน อ.บ้านโป่งมารวมกันในศาลา พิธีในตอนเช้าจะเหมือนการทำบุญในวันพระโดยทั่วไป (หน้า 95) - บุญเดือนสิบ ชาวบ้านเชื่อว่าตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 - วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ผีจะออกจากยมโลกได้ถ้าญาติของผู้ตายทำบุญในช่วงนี้จะสามารถส่งบุญให้แก่ผู้ตายได้โดยตรง จึงนิยมทำบุญในช่วงนี้ โดยจะนำเครื่องใช้พระภิกษุ ผัก ผลไม้ น้ำปลา น้ำตาล เกลือ หม้อ กระทะ ฯลฯ มาถวาย และนิยมถวายน้ำผึ้งด้วย บางคนเรียกพิธีนี้ว่า "ทำบุญน้ำผึ้ง" จะทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 และแรม 8 ค่ำ เดือน 10 จะมีการเผากระดาษซึ่งเขียนชื่อผู้ตายไว้ เชื่อว่าสามารถส่งบุญไปให้ผู้ตายได้ (หน้า 96) ตอนเย็นชาวบ้านจะเดินไปที่เจดีย์พร้อมกับนำดอกไม้ ธูปเทียนไปบูชาเจดีย์ โดยจะเดินรอบ ๆ เจดีย์สามรอบ และจะสวดมนต์ไปด้วย จากนั้นก็จะบูชาพระพุทธรูปที่อยู่หน้าเจดีย์ ซึ่งพิธีบูชาเจดีย์นี้เป็นเอกลักษณ์ของมอญ (หน้า 97) - ฑุคตะทาน เป็นพิธีทางพุทธที่มักปรากฏเฉพาะในวัดมอญ ทำทุก 3 ปี จัดในช่วงเดือน 10 -11 เชื่อว่าจัดขึ้นเพื่อให้คนจนมีโอกาสทำบุญ ปัจจุบันนั้นจะเพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสนิมนต์พระไปบ้าน โดยเมื่อวัดประกาศว่าจะมีพิธีนี้ ชาวบ้านที่ต้องการนิมนต์พระไปบ้านจะเขียนชื่อตนเองใส่กระดาษและนำไปให้ที่วัด ซึ่งจะต้องเขียนเพียงบ้านละใบ เมื่อทางวัดทราบจำนวนผู้ที่ต้องการนิมนต์แล้ว จะติดต่อไปยังวัดใกล้เคียง และในวันพิธี พระจากวัดอื่นจะเดินทางมาที่วัด และชาวบ้านที่ต้องการจะนิมนต์ก็จะมารวมกันที่หน้าวัด จากนั้นพระทุกรูปจะจับสลากชื่อชาวบ้านรูปละ 1 ใบ เมื่อเป็นชื่อใครก็จะนิมนต์พระรูปนั้นไปที่บ้านตน (หน้า 97) - ออกพรรษา หลังจากทำบุญตอนเช้า พระจะข้ามแม่น้ำไปยังวัดตรงข้ามเช่นเดียวกับวันเข้าพรรษา เพื่อตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งหรือ "ตักบาตรแถว" และมีการสอบสวดมนต์ของพระที่บวชในพรรษานี้ (หน้า 98) และมีการแข่งเรือยาวและพระสงฆ์รูปหนึ่งจะขึ้นไปเทศน์มหาเวสสันดร 1 บท เป็นภาษามอญ และจะมีอีก 3 รูปจะเทศน์อีกรูปละ 1 บท เป็นภาษาไทย (หน้า 99) - เทศน์มหาชาติ อยู่ในช่วงเดือน 11-12 มี 2 วัน ในวันแรกชาวบ้านจะมาช่วยกันตกแต่งศาลาและอาสนะสงฆ์ และตอนบ่ายเจ้าอาวาสของวัดที่อยู่ตรงข้ามจะเทศน์มหาชาติ 1 บทให้ฟัง (หน้า 99) วันที่สองจะมีพระจากวัดต่าง ๆ มาผลัดกันเทศน์ทั้งหมด 13 บทพระที่อ่านภาษามอญได้จะใช้ภาษามอญ ส่วนที่อ่านไม่ได้จะใช้ภาษาไทย ชาวบ้านจะจุดเทียนบูชาบรรพบุรุษในขณะฟังเทศน์และจะแยกนั่งตามสกุล (หน้า 100) - ทอดกฐิน มักไม่ได้ทำโดยชาวบ้าน จะเป็นคนในท้องถิ่นอื่น แต่ชาวบ้านจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี (หน้า 100) - ลอยกระทง จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในขณะที่เก็บข้อมูลงานนี้ไม่ได้จัดมา 5 ปีแล้ว แต่ก็มีการรื้อฟื้นกันในปีนี้ มีขบวนแห่โดยนักเรียนจะแต่งกายแบบมอญ และชาวบ้านช่วยกันทำกระทงขนาดใหญ่เพื่อร่วมขบวนแห่ ตอนกลางคืนชาวบ้านจะมารวมกันที่ริมน้ำพร้อมกับนำกระทงและดอกไม้ธูปเทียนมาด้วย และสวดมนต์บูชาพระอรหันต์ และจุดเทียนเพื่อลอยกระทง กระทงนี้มี 2 ประเภทคือกระทงแบบไทยโดยทั่วไป และกระทงที่เย็บเป็นรูปถ้วยและใส่น้ำมันลงไปและใส่ไส้เทียนไว้จุดไฟ ชาวบ้านเชื่อว่าการลอยกระทงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูชาพระอรหันต์และแสดงความขอบคุณผีแม่น้ำ (หน้า 101) -พิธีสงกรานต์ วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่จะเริ่มตั้งแต่ 13-15 เมษายน ในวันที่ 12 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวของต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าวแช่และกาละแม และสร้างศาลหรือ "บ้านสงกรานต์" เพื่อใช้บูชานางสงกรานต์ไว้ที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน วันที่ 13 ทุกคนจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชานางสงกรานต์ และถวายข้าวแช่ และสมาชิกในครอบครัวก็จะนำข้าวแช่ที่เหลือไปถวายตามวัดต่าง ๆ และตอนสายจะนำข้าวแช่ไปให้ผู้ใหญ่ตามบ้าน และทุกคนในหมู่บ้านจะมารับประทานข้าวแช่ด้วยกัน มีการละเล่น ผู้ชายที่มีอายุจะทำการหล่อเทียนในวัดเพื่อจะถวายพระไว้ใช้ในช่วงเข้าพรรษา วันที่ 14 เป็นวันที่อยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ เรียกว่าวันเนา หากมีใครตายในวันนี้วิญญาณจะไปไหนไม่ได้เพราะเป็นวันที่อยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ วันที่ 15 เป็นขึ้นปีใหม่ มีการทำบุญตอนเช้าและกรวดน้ำสงกรานต์ และมีการเผากระดาษที่เขียนชื่อบรรพบุรุษ ตอนบ่ายจะมีพิธีสรงน้ำพระและแห่ปลา โดยที่พิธีสรงน้ำพระนั้นจะใช้น้ำอบหรือน้ำขมิ้นสรง ส่วนพิธีแห่ปลานั้นจะมีผู้หญิงแต่งตัวสวยงามถืออ่างใส่ปลาเดินไปรอบ ๆ หมู่บ้านแล้วนำปลาไปปล่อย (หน้า 102-104)

Education and Socialization

อดีต ที่บ้านมนนั้น วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีการสอนภาษามอญทั้งอ่านและเขียนให้แก่เด็กวัด ซึ่งนอกจากที่จะมีการเรียนภาษามอญแล้วที่วัดยังสอนภาษาไทย คณิตศาสตร์อีกด้วย เมื่อมีโรงเรียนมาเปิดผู้หญิงมอญก็ได้มีโอกาสอ่านออกเขียนได้ มากขึ้น แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษามอญเพราะไม่มีการสอนภาษามอญในโรงเรียน และเมื่อสร้างโรงเรียนแล้วเด็กชายก็ จะได้เรียนทั้งที่โรงเรียนและที่วัดด้วย (หน้า 46-50)

Health and Medicine

มีการใช้ยารักษาครรภ์สตรี คือใช้ดอกบัวหลวง และบัวเผื่อน เปลือกหอย แก่นมะซาง ตำละเอียดผสมกับนมวัวรับประทาน สำหรับการอยู่ไฟ เตาไฟสำหรับอยู่ไฟนั้นสามีต้องไปขุดดินที่อยู่นอกบ้านมาทำเตา ถ้าเป็นลูกชายให้ขุด 9 ก้อน หญิง 7 ก้อน สายสะดือฝังที่เตาหรือนอกบ้านก็ได้แต่ต้องให้ถูกทิศ (หน้า 72-73)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ผู้ชายจะนุ่งโสร่ง ถือเป็นจารีตของมอญ โดยผู้หญิงจะเป็นผู้ทอ จะทอเป็นลายตาสี่เหลี่ยมขนาด 2 ซ.ม. ซึ่งเป็นลายพิเศษของมอญ ต่างจากผ้าขาวม้าที่ตาเล็กกว่า อดีตโสร่งจะทอจากฝ้ายหรือป่าน ปัจจุบันนิยมด้ายโทเร โสร่งเมื่อนุ่งแล้วจะมีความยาวตั้งแต่เอวจนถึงข้อเท้า และใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว แต่เมื่อไปวัดหรือไปงานพิธีกรรมต่าง ๆ จะใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่ซ้ายเอาไว้ โดยให้ชายผ้าด้านหนึ่งอยู่ด้านหน้ายาวลงมาจนถึงเอว แล้วใช้ชายด้านหนึ่งพาดไปข้างหลังอ้อมใต้รักแร้ขวาขึ้นมาแล้วพาด ไปบนไหล่ซ้ายอีกครั้งให้ชายผ้าอยู่ข้างหลัง แต่ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปก็จะนุ่งทั้งโสร่งและกางเกง ขึ้นอยู่กับความนิยม และสะดวก แต่โดยส่วนใหญ่คนแก่มักนุ่งโสร่งแต่คนหนุ่มจะทั้งนุ่งโสร่งและนุ่งกางเกง ในขณะที่เด็กจะนุ่งกางเกง สำหรับคนหนุ่มนั้นถ้าอยู่ในหมู่บ้านจะนุ่งโสร่ง แต่ถ้าออกนอกหมู่บ้านจะนุ่งกางเกง ยกเว้นแต่ไปเที่ยวหมู่บ้านมอญอื่น ๆ จะนุ่งโสร่งไป เนื่องจากโสร่งเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นมอญ (หน้า 38-39) ผู้หญิงมอญ ในบ้านมนจะนุ่งผ้าถุงและใส่เสื้อคอกระเช้าหรือเสื้อเชิ้ตธรรมดา สมัยก่อนมักทอผ้าถุงใช้เองแต่ในสมัยนี้มักจะซื้อมาใช้เพราะว่าการทอผ้าเองลำบากและเสียเวลานาน ราคาผ้าจากโรงงานก็ถูกกว่าการซื้อด้ายมาทอเอง เมื่อไปวัดก็จะใช้ผ้าสไบขาวพาดไหล่ซ้ายแบบเดียวกับการใช้ผ้าขาวม้าของผู้ชาย (หน้า 39) สำหรับเวลาไปวัดหรืองานพิธีกรรมที่จัดในวัด ชายจะนุ่งโสร่ง ใส่เสื้อเชิ้ต และใช้ผ้าขาวม้าพาดที่ไหล่ซ้าย หญิงจะนุ่งผ้าถุง ใส่เชิ้ตขาวและสไบขาวพาดไหล่ ยกเว้นในวันทอดกฐินและทอดผ้าป่า สำหรับงานศพและการไปวัดถือศีลแปดนั้นผู้ชายจะนุ่งโสร่งสีอะไรก็ได้ ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวหรือสีอ่อน ๆ และพาดผ้าขาวม้าสีอะไรก็ได้ที่ไหล่ซ้าย ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าถุงดำ ใส่เสื้อสีขาวและพาดสไบสีขาวไว้ที่ไหลซ้าย ( หน้า 40)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

- การใช้ภาษามอญ จะใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวันทั้งการสนนาและการอ่านและการเขียน เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นมอญอย่างชัดเจน( หน้า 107) - การแต่งกาย โดยเฉพาะการนุ่งโสร่งของผู้ชาย และการใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่ (หน้า 108) - อาหารเห็นได้ชัดเจนคืออาหารที่ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ (หน้า 109) - คติความเชื่อ คนมอญจะนับพุทธศาสนาคู่กับผี (หน้า 109) และมีรูปแบบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผีหลายพิธี (หน้า 110) - ชาวบ้านจะเรียกตัวเองว่าคนมอญบ้าง คนบ้านเราบ้าง หรือเรียกตัวเองเป็นคนไทยที่มีพ่อแม่เป็นมอญบ้าง (หน้า 110) สำหรับการธำรงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์นั้น กลุ่มตระกูลที่นับถือ "ขะหลกหั่ย" เดียวกันและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนี้เป็นกลไกที่จะธำรงชาติพันธุ์ โดยการแสดงออกถึงสายเลือดและประวัติของชาติพันธุ์ในมิติของพิธีกรรม และพิธีกรรมทางพุทธที่ทำร่วมกัน 9 วัด ก็เป็นการรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์มอญกลุ่มย่อย ๆ เข้าไว้ด้วยกัน (หน้า 120) และสามารถสรุปได้ดังนี้ - คนมอญมีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนอยู่ 2 ระดับคือ ระดับที่เป็นคนไทยและระดับที่เป็นมอญควบคู่กันไป - คนมอญที่ถือว่าส่วนหนึ่งเป็นไทยนั้นเป็นการแสดงความผูกพันต่อสังคมไทยมากกว่าการสืบเชื้อสาย - พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "ขะหลกหั่ย" เป็นกลไกสำคัญที่จะธำรงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์มอญ และด้านศาสนาพุทธที่มีการทำบุญร่วมกัน 9 วัดด้วยเช่นกัน - มอญให้ความสำคัญต่อรากฐานวัฒนธรรมมอญทั้งที่เกี่ยวกับคนมอญและกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของคนมอญ (หน้า 123)

Social Cultural and Identity Change

คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านมีเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งเป็นไทยมากกว่าคนรุ่นเก่า โดยมีสาเหตุมาจากการศึกษาในโรงเรียน การอบรมจากบิดามารดา การรับข่าวสารทางโทรทัศน์ การติดต่อกับสังคมไทยมากขึ้น ฯลฯ (หน้า 123)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ หน้า 22

Text Analyst พิมพ์ชนก พงษ์เกษตร์กรรม์ Date of Report 01 ม.ค. 2548
TAG มอญ, พิธีกรรม, เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์, ราชบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง