สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลีซู,ระบบเครือญาติ,การปรับตัว,เพชรบูรณ์
Author ปิยนาถ แสนศักดิ์
Title การศึกษาความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติกับการปรับตัวทางการเมืองในหมู่ชาวลีซอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลีซู, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 172 Year 2532
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

การเปลี่ยนแปลงภายในสังคมลีซอเขาค้อ หมู่บ้านเพชรดำ ได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกสังคม การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุ ทำให้เกิดการยอมรับได้ง่าย แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครองกลับเกิดปฏิกิริยายาต่อต้าน เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแนวความคิดซึ่งเป็นนามธรรม (หน้า ฆ)

Focus

ศึกษาทำความเข้าใจระบบเครือญาติภายในชุมชนลีซอบ้านเพชรดำเขาค้อ กับการปรับตัวทางการเมืองอย่างไร เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโดยปัจจัยภายนอกสังคม (หน้า 3)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ศึกษาชุมชนลีซอบ้านเพชรดำ หมู่ 8 ตำบลเขาค้อ กิ่งอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ (หน้า 5)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาลีซอเป็นภาษาตระกูลธิเบต - พม่า (Tibetan - Burman) ซึ่งสัมพันธ์กับภาษามูเซอและอีก้อ มีแต่เฉพาะภาษาพูดเท่านั้น ไม่มีภาษาเขียน เคยมีหมอสอนศาสนาคริสต์ ประดิษฐ์ตัวเขียนภาษาลีซอโดยดัดแปลงจากอักขระโรมัน เมื่อเทียบกับภาษาไทยแล้ว หน่วยเสียงพยัญชนะลีซอมีอยู่ 67 เสียง แยกเป็นเสียงพยัญชนะเดี่ยว 25 เสียง พยัญชนะควบกล้ำ 42 เสียง นอกจากนี้สระเมื่อเทียบเสียงกับภาษาไทยมี 19 เสียง เทียบเสียงวรรณยุกต์ได้ 6 เสียง โครงสร้างประโยคเริ่มจากประธานประโยคมาก่อน ตามด้วยกรรม และกิริยาอยู่ท้ายประโยค (หน้า 49-50)

Study Period (Data Collection)

ใช้เวลาศึกษาแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ 1) ปี พ.ศ. 2522-2525 และ 2) ระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 (หน้า 5,7)

History of the Group and Community

จากคำบอกเล่าของผู้รู้และผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ตั้งหมู่บ้านครั้งแรกอยู่ทางทิศใต้หมู่บ้านปัจจุบันลงไปประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462-2464 กลุ่มบรรพบุรุษของลีซอบ้านเพชรดำในรุ่นทวดของผู้เล่า เล่าให้ฟังว่า ได้อพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เนื่องจากพื้นที่เดิมเริ่มขาดความอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืชไม่ได้ผล จุดแรกที่เข้ามาคือดอยช้าง ที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อมีจำนวนผู้อพยพเข้ามามากขึ้น ทำให้ต้องอพยพย้ายหาที่ทำกินใหม่ กลุ่มหนึ่งไปตั้งหมู่บ้านอยู่ที่อำเภอแม่แตง อีกกลุ่มหนึ่งตั้งหมู่บ้านในเขตอำเภอพร้าว พร้อมกับมีการปลูกฝิ่นด้วย จนกระทั่งทางการจับกุมปราบปรามผู้ปลูกฝิ่น จึงตัดสินใจอพยพมาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่เขาค้อ เมื่อปี พ.ศ. 2509 เริ่มแรกมีบ้านเรือนอยู่ 15 หลังคาเรือน ประกอบด้วย 5 สกุล หลังจากนั้นจึงมีการอพยพตามเข้ามาอีก ในปี พ.ศ. 2511 มีจำนวนบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 30 หลังคา การตั้งชื่อหมู่บ้านมักเอาชื่อที่ตั้งหมู่บ้านมาใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้าน หมู่บ้านจึงชื่อว่า "บ้านลีซอเขาค้อ" ลีซอเขาค้อยังคงประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอยเหมือนเดิม ในช่วงแรกเล่ากันว่า เป็นช่วงเวลาที่หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2512 เกิดปัญหาหมู่บ้านตกอยู่ในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีการจับชาวบ้านไปเป็นตัวประกัน ชาวบ้านจึงอพยพโยกย้ายหมู่บ้านไปถึงหมู่บ้านทุ่งสมอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านคนไทยพื้นราบ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจอพยพแยกย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติต่างจังหวัด เช่นกำแพงเพชร ตาก สุโขทัย เชียงใหม่ ยังคงเหลือเพียง 8 ครอบครัวที่สมัครใจอยู่ต่อ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านลีซอแคมป์สน" จากปี 2512 ที่มีอยู่ 8 ครอบครัว จนถึงปี 2522 ครอบครัวที่เคยอพยพ ไปอยู่ต่างจังหวัดเริ่มทยอยกลับมา จนหมู่บ้านมีขนาด 30 ครัวเรือน และเมื่อเหตุการณ์สงบลงจึงพากันย้ายกลับไปตั้งหมู่บ้านที่เดิม โดยใช้ชื่อว่า "บ้านลีซอเขาค้อ" ซึ่งมีฐานกำลังทหารอยู่ใกล้คอยคุ้มครองหมู่บ้าน เรียกชื่อเฉพาะว่า "ฐานเพชรดำ" ปี พ.ศ. 2530 จึงเปลื่ยนชื่อเป็นทางการว่า "บ้านเพชรดำ" ซึ่งเป็นชื่อของฐานกำลังทหารเก่านั่นเอง (หน้า 15-19)

Settlement Pattern

หมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอมักตั้งหมู่บ้านอยู่ตามไหล่เขาหรือสันเขา เพราะเป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากลมพายุมากกว่า ยังมีแหล่งน้ำและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาที่ตั้งหมู่บ้าน และนอกจากนี้ สกุลของสมาชิกในหมู่บ้านเป็นเงื่อนไขในการตั้งบ้านเรือน ส่วนใหญ่มักเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมีไม่กี่สิบหลังคา เนื่องจากการตั้งหมู่บ้านขนาดเล็กมีความคล่องตัวสูงกว่า ง่ายต่อการปกครอง (หน้า 26-27)

Demography

ชาวเขาเผ่าลีซอจำนวน 60 หลังคาเรือน 60 ครอบครัว ประชากร 346 คน (หน้า 5) ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชรและเชียงใหม่ จากการชักชวนของกลุ่มญาติแซ่สกุลเดียวกัน (หน้า 40)

Economy

แต่เดิมลีซอทำไร่เลื่อนลอย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการทำเกษตรถาวร เพราะพื้นที่มีจำกัด เปลี่ยนจากผลิตเพื่อบริโภคมาเป็นเพื่อขายมากขึ้น ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านเปลี่ยนไปเป็นเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น (หน้า 79) ลีซอเขาค้อปลูกพืชไร่เศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด ขิง ถั่วต่าง ๆ แครอท หัวผักกาด ผักชี เพื่อขายเป็นพืชเงินสด อย่างไรก็ตาม การผลิตแบบดั้งเดิมที่เพาะปลูกเพื่อบริโภคยังคงมีอยู่ เช่น เพาะปลูกข้าว พืชผัก ฟักทอง ฟักเขียว แตงต่าง ๆ เพื่อบริโภคตลอดปี และเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะหมูและไก่ใช้สำหรับในงานพิธีกรรม ส่วนหมูเลี้ยงเพื่อขาย (หน้า 52-53) การปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นไปตามระบบตลาดนอกหมู่บ้าน นายทุนจากภายนอกเริ่มเข้ามามีบทบาทในหมู่บ้าน ชาวบ้านเป็นหนี้สินจากการลงทุนเพาะปลูกพืชมากขึ้น (หน้า 70-71) การซื้อขายผลผลิต จะมีพ่อค้านายทุนจากนอกหมู่บ้าน ซึ่งมีฐานะเคยเป็นคู่ค้ากันมาก่อน มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน และมีการให้กู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนเพาะปลูก ชาวบ้านมักขายผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวทันที เพราะไม่มีที่เก็บผลผลิต (หน้า 78) ผู้นำทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านมักมีฐานะดั้งเดิมดีมาก่อนที่จะอพพยโยกย้ายเข้ามา ผู้มีฐานะดีส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเชียงราย จนสามารถให้เพื่อนบ้านกู้ยืมเงินไปลงทุนเพาะปลูกได้ (หน้า 71) มีอุตสาหกรรมครัวเรือนเช่นสานตะกร้า ตีมีดและเย็บปักถักร้อย เดิมผลิตเพื่อใช้ในหมู่บ้านเท่านั้น แต่กำลังเปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อขายมากขึ้น (หน้า 53) การใช้แรงงานเน้นใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักก่อน แล้วจึงค่อยขอความช่วยเหลือแรงงานจากญาติพี่น้องสกุลเดียวกัน หรือจากเครือญาติที่เกี่ยวดองโดยการแต่งงาน ซึ่งแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ "การเอาแรง" คือการเอาแรงงานจากญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านไปช่วยงานในไร่ และ "การใช้แรง" คือการใช้แรงงานคืนเป็นการตอบแทนจากที่เคยไปช่วยแรงงานครอบครัวอื่น (หน้า 71-73) การแบ่งแรงงาน มีการแบ่งแรงงานตามเพศและวัย การแบ่งแรงงานตามเพศคำนึงถึงความหนักเบาของงาน เพศชายรับงานหนัก เช่น โค่นต้นไม้ ปรับพื้นที่เพาะปลูก การช่วยงานปลุกและบำรุงรักษา การติดต่อซื้อขายกับสังคมภายนอก เพศหญิงจะช่วยงานปรับพื้นที่ การบำรุงรักษาและการเก็บเกี่ยว การแบ่งแรงงานตามวัย เด็กหนุ่มเด็กสาวอายุระหว่าง 15-45 ปี จะเรียนรู้การทำงานในไร่ โดยหัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดว่าจะผลิตอะไรและเมือ่ไร (หน้า 74-75)

Social Organization

ลีซอบ้านเพชรดำเป็นสังคมขนาดเล็กที่มีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติเป็นพื้นฐานโครงสร้างทางสังคม ซึ่งมีอยู่ 8 ตระกูลด้วยกัน คือ สินหมี่ สินย่าง สินว่าง สินจ้าง สินลี่ สินยี่ สินมี่ และสินเช้า ทั้ง 8 สกุลแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ที่มีความสัมพันธ์ร่วมกัน ด้วยการแต่งงาน นำไปสู่การพึ่งพากันในด้านเศรษฐกิจ และการต่อรองทางการเมืองการปกครอง (หน้า 115-116) ระบบครอบครัวมีทั้งครอบครัวเดี่ยวประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก จำนวน 29 ครอบครัว และครอบครัวขยาย ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกที่เป็นญาติโดยสายเลือดของหัวหน้าครอบครัว มีจำนวน 8 ครอบครัว มีการแต่งงานกับคนในเผ่าพันธุ์เดียวกัน 51 คู่ จากที่มีอยู่ 56 คู่ และการแต่งงานกับคนนอกเผ่าพันธุ์กับอีก้อหรือมูเซอ ซึ่งถือว่าเป็นชนเผ่าที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีการแต่งงานกับคนไทยพื้นราบและชาวจีนฮ่อด้วย ลีซอนิยมแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว และอนุโลมให้มีการแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องได้ (หน้า 116-139) การตั้งถิ่นฐานหลังแต่งงาน มีการสืบสายเลือดโดยการนับถือญาติข้างฝ่ายพ่อ ฝ่ายหญิงต้องเลิกนับถือผีบรรพบุรุษสกุลของตน และเปลี่ยนมานับถือผีตามสกุลสามี และย้ายเข้าไปอยู่บ้านครอบครัวฝ่ายชาย แล้วจะแยกออกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มีบางรายที่ฝ่ายชายเข้าไปอาศัยอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง เนื่องจากฝ่ายชายให้เงินค่าสินสอดฝ่ายหญิงไม่หมด หรือฝ่ายหญิงไม่มีแรงงานชายเป็นหลัก (หน้า 139-141) ข้อห้ามทางเพศ ปรากฏอยู่ในขั้นตอนของการหย่าร้างมีลูกติดแล้วมาแต่งงานใหม่ กรณีเช่นนี้ อาจเกิดความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงได้ (หน้า 144-145) การเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวลีซอ จะปล่อยให้เด็กมีอิสระเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ทำให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งพ่อแม่จะดูแลลูกอยู่ห่างๆ คอยให้คำแนะนำปรึกษาเมื่อเด็กต้องการ กลายเป็นการสั่งสมบุคลิกภาพที่ส่งผลสะท้อนโดยรวมของลีซอว่ารักอิสระ มีความเป็นปัจเจกบุคคล และเชื่อมั่นในตนเองสูง (หน้า 116-117) การหย่าร้างในลีซอบ้านเพชรดำ มีปรากฏให้เห็นมากมาย มีหญิงม่ายที่หย่าขาดจากสามี 7 ราย เมื่อลีซอมั่นใจว่าไม่สามารถประคับประครองชีวิตการแต่งงานได้ ก็จะหย่าขาดกัน ทางฝ่ายผู้ขอหย่าต้องเสียเงิน บุตรที่เกิดกับคนทั้งสองยังคงใช้สกุลบิดา แต่จะอยู่กับพ่อหรือแม่ตามแต่จะตกลงกัน ม่ายลีซอยังสามารถแต่งงานใหม่ได้แม้จะมีบุตรติดมาด้วยก็ตาม ลีซอจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก (หน้า141-143)

Political Organization

กลุ่มการเมืองในลีซอบ้านเพชรดำแบ่งได้ตามสกุลต่างๆ กลุ่มใดมีสมาชิกจำนวนมากย่อมมีบทบาทในทางการเมืองมากด้วยเช่นกัน แต่ยังมีการรวมกลุ่มระหว่าง 2 สกุลที่เกี่ยวดองกัน ก็สามารถรวมกันมีอำนาจต่อรองกลุ่มใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน (หน้า 153-154) การจัดระเบียบการปกครองแบ่งได้ 3 ระดับ คือ ครอบครัว สกุล และหมู่บ้าน ในระดับครอบครัว หัวหน้าครอบครัวมีสิทธิ์เด็ดขาดในการตัดสินใจ เช่น การศึกษาของเด็ก การอบรมเลี้ยงดู การทำงานในไร่ การเลือกพื้นที่เพาะปลูก การเลือกเมล็ดพันธุ์ และการขายผลผลิต ในระดับสกุล จะมีพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษร่วมกัน สมาชิกในสกุลเดียวกันจะมีการให้ความเคารพผู้อาวุโสของสกุล และการปกครองระดับหมู่บ้าน มีลักษณะโครงสร้างหลวม ไม่มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน ไม่มีบทลงโทษเข้มงวด ไม่มีผู้นำที่ถาวร มีการรวมตัวกันเฉพาะกิจของผู้นำสกุลต่างๆ ชั่วคราว เมื่อเสร็จภารกิจแล้วจะสลายตัวไป (หน้า 155-156)

Belief System

ลีซอมีความเชื่อเรื่องผี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือความเชื่อเรื่องผีดี คือผีที่คอยพิทักษ์รักษาสมาชิกในครอบครัวและหมู่บ้านให้มีชีวิตอย่างปกติสุข ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน และความเชื่อเรื่องผีร้าย เป็นผีที่หิวโหยและโกรธง่าย คอยทำร้ายมนุษย์ ได้แก่ ผีป่า ผีน้ำ ผีตายโหง เป็นต้น ลีซอยังมีความเชื่อ พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น พิธีเกี่ยวกับการเกิด พิธีเกี่ยวกับการตาย การแต่งงาน ซึ่งมีทั้งพิธีกรรมระดับบุคคลและพิธีกรรมระดับสังคม นอกจากนี้ ยังมีการนับถือศาสนาพุทธ และคริสต์ในหมู่บ้านด้วย (หน้า 61-62, 84-86)

Education and Socialization

การศึกษาในระบบคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหมู่บ้าน และโรงเรียนประถม ซึ่งพ่อแม่ลีซอมักให้โอกาสการศึกษากับบุตรชายก่อนบุตรสาว หากบุตรอยู่ในวัยแรงงานของครอบครัวบุตรสาวจะได้รับการพิจารณาให้ออกจากโรงเรียนเป็นอันดับแรก การอบรมเลี้ยงดูเด็กของครอบครัวลีซอจะปล่อยอิสระแก่เด็กให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยพ่อแม่จะดูแลลูกอยู่ห่างๆ การอบรมดังกล่าวเป็นการสั่งสมบุคลิกภาพที่สะท้อนต่อการเป็นผู้ใหญ่ของลีซอ คือเป็นผู้รักในอิสระ มีความเป็นปัจเจกบุคคลและความเชื่อมั่นในตนเองสูง เมื่อเข้าสู่วัยแรงงาน นอกจากการทำไร่ ผู้ชายจะได้รับการฝึกการจักสาน ตีเหล็กและล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงจะทำงานบ้าน เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักและเย็บปักถักร้อย (หน้า 55-57, 93-95)

Health and Medicine

วิธีการรักษาแบบดั้งเดิม จะมีหมอผีเป็นผู้ทำการรักษา ปัจจุบันยังคงมีอยู่ในกรณีที่ไม่มีเงินไปรักษา หรือไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่หาย (หน้า 54) การรักษาด้วยพิธีกรรม "อูยุกั๊วะ" เป็นการทำพิธีให้กับผู้ที่กำลังเจ็บป่วยหรือหายดีแล้ว รวมถึงผู้มีสุขภาพไม่แข็งแรง ฝันไม่ดี ใจคอไม่ดี การเรียกขวัญจะมีการสร้างสะพานทางเดินขนาดเล็ก เชิญผีประจำทางหรือถนนที่อยู่ใกล้บ้านเข้ามากินเครื่องเซ่น เพื่อให้หายป่วยและเรียกขวัญกลับคืนมา ผู้นำในการทำพิธีจะเป็นผู้กำหนดพิธีทั้งหมด ตั้งแต่สถานที่ การสร้างสะพาน ขั้นตอนพิธี หมอผีจะยกถาดเครื่องเซ่นมาวางไว้ที่ปลายสะพานด้านตัวบ้าน นั่งคุกเข่าไหว้แบบกำมือประสาน คำนับที่พื้น 1 ครั้งเพื่อเชิญผีประจำทางให้เข้ามาทานของเซ่นและให้ช่วยปัดเป่าความเจ็บป่วยให้หายไป เมื่อเสร็จจะเทน้ำและเหล้าลงบนพื้นดินโคนเสาทั้ง 2 เสา เอาด้ายสายสิญจน์มาคล้องคอผู้ที่ถูกเรียกขวัญ และผู้ถูกเรียกขวัญจะรับเอาถ้วยข้าวกลับไปเก็บไว้ในห้องนอนของตน จากนั้นจึงรับประทานอาหารร่วมกัน (หน้า 95-100)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของลีซอบ้านเขาค้อเพชรดำจัดว่าเป็นลักษณะของลีซอลาย (Flowery Lisu) เพราะเป็นการแต่งกายที่เล่นสีตัดกันฉูดฉาด ตกแต่งเครื่องแต่งกายด้วยริ้วหลากหลาย เครื่องประดับของลีซอมีการใช้เหรียญเงิน และเครื่องเงินตีเป็นรูปกลม รูปแท่งยาว และรูปห่วง เครื่องเงินที่ประดับจะแสดงฐานะของผู้ใส่ การแต่งกายของหญิงลีซอ ประกอบด้วยตัวเสื้อ กางเกง ผ้าพันเอว และผ้าปลอกขาหรือสนับแข้ง หากเป็นโอกาสเลี้ยงฉลองตามประเพณี จะสวมหมวก เสื้อกั๊กกำมะหยี่สีดำประดับเครื่องเงิน ลักษณะกระดุมกลมปักประดับตัว เสื้อทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สร้อยคอเงินทำเป็นแผงระย้าห้อยเป็นชายทั้งข้างหน้าและข้างหลัง การตัดเย็บตัดแบบกางเกงขาก๊วย มีเป้ากางเกงค่อนข้างใหญ่ แต่ความยาวของกางเกงพอปิดหัวเข่าของผู้สวมใส่ต่อขอบกางเกงหนาประมาณ 15 ซ.ม. เพื่อให้สะดวกเวลาสวม ขอบกางเกงไม่มีสายผูกรอบเอว เพราะมีผ้าพันเอวพันกับภายนอกแล้ว (หน้า 44-45) กางเกงชายลีซอ ใช้สีเขียว สีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ลักษณะเป็นกางเกงขาก๊วยสั้นคลุมเข่า ต้องใช้เชือกหรือผ้าเป็นเส้นเข็มขัดคาดเอว ชายวัยหนุ่มมักใช้ผ้าสีสดเช่นเขียวอ่อน สีฟ้าน้ำทะเล ส่วนชายมีอายุจะใช้สีน้ำเงินหรือดำ เสื้อผู้ชายเป็นกำมะหยี่สีดำหรือผ้าฝ้ายแขนยาว ตัวเสื้อป้ายอกมีกระดุมเงินเกี่ยว ตัวเสื้อยาวเลยเอวเล็กน้อย ผ้าปลอกขาสีดำ หากในโอกาสงานรื่นเริง เสื้อกำมะหยี่จะตกแต่งด้วยเครื่องเงิน มีผ้าโพกศีรษะ สะพายย่ามทอด้วยมือและลวดลายประดับเครื่องเงิน (หน้า 46-48)

Folklore

ลีซอมีนิยายปรัมปรา บอกเล่าที่มาของชนเผ่าว่ามีชายหญิง เป็นพี่ชายและน้องสาวอาศัยอยู่ในผลน้ำเต้าต่อมาเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตก พี่ชายจึงสวดมนต์อ้อนวอนเทพเจ้าให้ฝนตกลงมา โลกจึงกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งสองจึงตกลงกันว่าจะแต่งงานกันเพื่อสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไป โดยเสี่ยงอธิษฐานว่าหากปล่อยก้อนหินให้ตกลงจากภูเขาคนละด้านแล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่าเทพเจ้าอนุญาตให้แต่งงานกันได้ ปรากฏว่าก้อนหินกลิ้งไปพบกัน ทั้งสองจึงสามารถแต่งงานกันได้ เมื่อน้องสาวคลอดออกมากลายเป็นผลน้ำเต้า ในผลน้ำเต้ามีมนุษย์อยู่ 201 คน เป็นชาย 101 คน หญิง 100 คน ให้ภาษาพูด 101 ภาษา ซึ่งภาษา 1 มี ชายหนึ่งคน และหญิงหนึ่งคนเป็นเจ้าของเท่านั้น ชายหญิงที่ถูกปล่อยออกมาคู่แรก คือ บรรพบุรุษของลีซอนั่นเอง (หน้า 63-64)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

รูปร่างของลีซอทั่วไปมีรูปรางสูงโปร่ง หญิงวัยกลางคนอาจมีรูปร่างค่อนข้างอ้วน หน้าตาจัดว่าดี เนื่องจากรูปหน้าเรียวยาว จมูกโด่งเป็นสันตรง นัยน์ตาดำโต โหนกแก้มสูง มีเพียงบางรายที่มีใบหน้าใหญ่ ผิวพรรณออกขาวเหลือง และจะเริ่มกร้านดำมากขึ้นตามวันเวลาที่ออกทำงานกลางแดด (หน้า 43-44)

Social Cultural and Identity Change

ในทางเศรษฐกิจ ลีซอบ้านเพชรดำเปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอยมาสู่การเกษตรถาวร เพราะพื้นที่เพาะปลูกจำกัด ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต และเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อบริโภคมาสู่เพื่อขาย ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเปลี่ยนเป็นเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น เริ่มคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น สังคมเริ่มมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจมีคนจน คนฐานะปานกลางและคนร่ำรวย (หน้า 79) ความสัมพันธ์ในระบบครอบครัวและเครือญาติยังคงมีความแน่นแฟ้นด้วยน้ำใจไมตรีและการพึ่งพาอาศัยกัน แต่เริ่มมีการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีการแต่งงานในระหว่างผู้มีฐานะดีด้วยกันเอง การช่วยเหลือทำงานในไร่ลดน้อยลง เริ่มเปลี่ยนเป็นการจ้างแรงงานแทน(หน้า 150) ในทางการปกครอง การได้รับการศึกษาใหม่ ๆ การติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก ทำให้เกิดทัศนคติและค่านิยมทางการเมืองใหม่ ๆ เริ่มมีแนวความคิดตระหนักถึงความสำคัญของส่วนรวมมากขึ้น แทนที่จะนึกถึงความเป็นปัจเจกบุคคลที่เคยเป็นมา เริ่มมีความคิดว่าหากได้นำเอาทัศนคติทางการเมืองแบบใหม่มาใช้ จะทำให้สังคมดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีการปฏิบัติ (หน้า 159) ระบบเครือญาติกับการปรับตัวทางการเมืองของสังคมลีซอบ้านเพชรดำ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติมีบทบาทในการจัดระเบียบทางการปกครอง วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การประกอบพิธีกรรม เป็นโครงสร้างที่มีสภาอาวุโสจากผู้นำสกุลต่างๆ เป็นกลุ่มอำนาจทางการปกครอง แต่เมื่อทางราชการใช้รูปแบบการปกครองที่เป็นทางการเข้าไป จึงส่งผลกระทบต่อระบบเครือญาติ การปกครองของทางราชการบังคับให้ทุกคนอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศ ซึ่งลีซอต้องรับเอาระเบียบปฏิบัติแบบทางราชการเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตด้วย การปกครองทั้งเก่าและใหม่จึงเกิดความขัดแย้งกันในวิถีการดำเนินชีวิต เพราะยังเคยชินกับระเบียบเก่า ไม่สามารถละทิ้งได้ ส่วนการรับระเบียบใหม่เป็นไปด้วยความยุ่งยาก เนื่องจากระเบียบทางราชการบังคับให้ทุกคนถือปฏิบัติ จึงเกิดการปรับตัวในระหว่างระเบียบเก่ากับระเบียบใหม่ให้อยู่ในภาวะสมดุลย์ (หน้า 166-167)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- แผนที่ ที่ตั้งเมืองสิงห์ (หน้า 32) - ผังเรือนตัวอย่าง หมู่บ้านเออหล้าใหม่ (หน้า 36) - ภาพทัศนียภาพ หมู่บ้านหลักคำใหม่ (หน้า 42) - ตัวอย่างเรือนบ้านหลักคำใหม่ (หน้า 47) - ผังรวมหมู่บ้านแสนใจใหม่ (หน้า 54) - เรือนตัวอย่างบ้านแสนใจใหม่ (หน้า 59) - ผังรวมบ้านอาโยะอนามัย (หน้า 65) - ผังบริเวณเรือนตัวอย่างหมู่บ้านอาโยะอนามัย (หน้า 70)

Text Analyst ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช Date of Report 29 มิ.ย 2560
TAG ลีซู, ระบบเครือญาติ, การปรับตัว, เพชรบูรณ์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง