สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอญ,อัตลักษณ์,การปรับเปลี่ยน,การรักษา,สมุทรปราการ
Author เกศสิรินทร์ แพทอง
Title การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์และวิธีการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญของชาวมอญอำเภอพระประแดง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอญ รมัน รามัญ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 315 Year 2546
Source หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(พัฒนาสังคม) คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Abstract

สิ่งบ่งชี้ความเป็นมอญคือประเพณีต่าง ๆ รวมทั้งภาษาและการแต่งกาย ลักษณะนิสัยเด่นคือยึดหลักของพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต มอญโดยมากจะอยู่กันแบบพึ่งพากัน ความสัมพันธ์ของครอบครัวจะเป็นแบบครอบครัวขยายโดยยึดผู้ใหญ่เป็นแกนหลัก มีการปกครองแบบประชาธิปไตย อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ปัจจุบัน มอญพระประแดงพูดภาษามอญได้น้อยลง การแต่งกายเป็นแบบปัจจุบัน จะแต่งกายแบบมอญเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ลักษณะของอาหารที่ต่างจากคนไทย คือ ลักษณะอาหารจะเป็นเมือก ๆ และมีรสเปรี้ยว สภาพบ้านเรือนปัจจุบันโดยมากจะเป็นแบบทรงไทยแต่เริ่มมีน้อยลง ด้านการละเล่น ดนตรี นาฏศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของมอญเริ่มหาชมได้ยาก ด้านภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการรักษาโรคปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว ส่วนการนับถือผีเริ่มน้อยลงโดยมากนับถือพระพุทธศาสนา อัตลักษณ์ด้านประเพณีถือได้ว่าเข้มแข็งมากที่สุดโดยเฉพาะประเพณีทางศาสนาซึ่งเป็นอัตลักษณ์เดียวที่ไม่มีการปรับเปลี่ยน

Focus

ให้ความสำคัญกับการนำเสนอประวัติความเป็นมา บริบทชุมชน การปรับเปลี่ยนและการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญของมอญพระประแดง

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มอญ ตำบลตลาดและตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

Language and Linguistic Affiliations

ภาษามอญเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษามอญ-เขมร (Mon - Khmer) เป็นส่วนหนึ่งของตระกูลออสโตรเอเซียติค (Austro - Asiatic) ลักษณะของภาษาจะมีลักษณะเป็นคำโดดคล้ายภาษาไทย มีไวยากรณ์ของตนเอง (หน้า 138)

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2546 (ค.ศ.2003)

History of the Group and Community

พระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญมากในแคว้นสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่บริเวณตำบลราษฎร์บูรณะในปัจจุบัน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ก่อสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์สำเร็จ โดยแบ่งเอาพื้นที่เมืองธนบุรีและเมืองสมุทรปราการมารวมกัน โปรดฯ ให้ย้ายครอบครัวมอญจากเมืองสามโคก ปทุมธานีซึ่งหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมชายฉกรรจ์จำนวน 300 คนมาอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นกลุ่มแรก สมัยรัชกาลที่ 6 เมืองนครเขื่อนขันธ์เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองพระประแดงและตั้งเป็นจังหวัดในปีเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เพื่อลดรายจ่ายของประเทศจึงโปรดฯ ให้ยุบจังหวัดพระประแดงเป็นอำเภอพระประแดงขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2475 (หน้า 93- 94)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของมอญพระประแดง แยกย้ายกันอยู่เป็นหมู่ๆ เรียกชื่อหมู่บ้านเช่นเดียวกับครั้งเมื่ออยู่ทางพม่าตอนใต้และมีอยู่บ้างที่เรียกชื่อตามสิ่งแวดล้อม (หน้า 98) เรือนที่อยู่อาศัย เรือนของมอญสมัยก่อนจะมีลักษณะคล้ายกระต๊อบหลังคามุงจาก ฝาขัดแตะตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำนิยมสร้างเรือนไปทางทิศเหนือต่อมาเรือนจะมีลักษณะคล้ายแบบบ้านทรงไทย ใช้ไม้ ใต้ถุนสูง มีชานเรือน ระเบียง (หน้า 141)

Demography

ครอบครัวมอญจากเมืองสามโคก ปทุมธานีซึ่งหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมชายฉกรรจ์จำนวน 300 คนมาอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นกลุ่มแรก (หน้า94) อำเภอพระประแดงมีประชากรทั้งสิ้น 203,370 คนจำแนกเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล 6 ตำบล 67 หมู่บ้านมีประชากร 39,340 คน เทศบาลเมืองพระประแดง 1 ตำบล มี 10,936 คน เทศบาลเมืองลัดหลวง 3 ตำบล มี 74,483 คนและเทศบาลตำบลสำโรงใต้ 5 ตำบล มีประชากร 78,611 คน (กรกฎาคมพ.ศ.2546) (หน้า 98)

Economy

ในอดีตประชาชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกผักและผลไม้มีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจประชาชนส่วนหนึ่งที่อาศัยทางด้านตะวันออกได้ทำการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอื่นๆ ต่อมามีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมมีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้แม่น้ำเกิดมลภาวะไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม อาชีพปัจจุบันเป็นอาชีพที่หลากหลายเหมือนสังคมเมืองทั่วไป เช่น ค้าขาย รับราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น (หน้า 102)

Social Organization

อำเภอพระประแดง เป็นชุมชนเมือง บางพื้นที่เป็นชุมชนอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม แต่เดิมชาวพระประแดงโดยมากสืบเชื้อสายมาจากมอญแต่ปัจจุบันเป็นคนไทย เชื้อชาติไทยและสัญชาติไทย คนภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานมาก เกิดการผสมผสาน จนทำให้มอญดั้งเดิมมีสภาพไม่ต่างจากคนไทย (หน้า 100) ส่วนสังคมมอญตำบลทรงคนองเป็นสังคมค่อนข้างปิด มีความเข้มแข็งสูงเนื่องจากไกลออกมาจากชุมชนอื่นๆ (หน้า 104)

Political Organization

เขตการปกครองของอำเภอพระประแดงแบ่งออกเป็น 4 เขตคือ - องค์การบริหารส่วนตำบล 6 ตำบล 67 หมู่บ้าน - เทศบาลเมืองพระประแดง 1 ตำบล - เทศบาลเมืองลัดหลวง 3 ตำบล - เทศบาลตำบลสำโรงใต้ 5 ตำบล (หน้า 98)

Belief System

มอญเป็นชนชาติที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเคร่งครัดในการประกอบพิธีกรรมมาก (หน้า 102) นอกจากการนับถือศาสนาพุทธ มอญยังนับถือผี หากได้รับการกระทำที่ไม่พึงพอใจ ลบหลู่หรือดูหมิ่นหรือผิดผีจะต้องมีการเซ่นไหว้ การนับถือผีบรรพบุรุษมีความสัมพันธ์กับสายตระกูลหรือระบบเครือญาติ สัญลักษณ์ของผีแต่ละอย่างเป็นตัวบ่งบอกได้ว่ามอญแต่ละกลุ่มนั้นอพยพมาจากที่ใด นอกจากความเชื่อในเรื่องการนับถือผีแล้วมอญยังมีการนับถือเจ้าพ่อ (เป๊ะจุ๊) ที่เชิญมาจากหมู่บ้านเดิมในพม่าอีกด้วย (หน้า143-144)

Education and Socialization

โรงเรียนในชุมชนมีทั้งสถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชน สามารถจำแนกได้ดังนี้ - โรงเรียนสังกัดประถมศึกษา จำนวน 30 โรงเรียน - โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา จำนวน 4 โรงเรียน - โรงเรียนสังกัดเทศบาล จำนวน 4 โรงเรียน - โรงเรียนสังกัดการศึกษาเอกชน จำนวน 21 โรงเรียน - ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดกรมการศาสนาและกรมพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ - ศูนย์บริการการศึกษา จำนวน 4 ศูนย์ - ศูนย์การเรียน จำนวน 4 แห่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มและองค์กรและสถานบริการการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นอีกมากมาย (หน้า 100-101)

Health and Medicine

ในอดีต การรักษาโรคจะเน้นความเชื่อไสยศาสตร์ การใช่มนต์คาถาเป่าพ่น เช่น การเป่าพ่นชันหมากแก้โรคตาแดง โรคงูสวัด เป็นต้น นอกจากนี้จะมีพิธีทิ้งข้าว ในกรณีที่เป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากมนต์คาถาแล้วจะมีสมุนไพรต่างๆ ในการรักษาโรค เช่นเดียวกับคนไทย ปัจจุบันวิธีอย่างอดีตไม่เป็นที่นิยมมีคนใช้เพียงแค่ยาหม้อ ส่วนอื่นก็มีน้อยเนื่องจากไปรักษาที่โรงพยาบาลหาหมอแผนปัจจุบัน (หน้า141-142)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง มีลักษณะเป็นผ้าป่าน ใส่เสื้อแขนกระบอกเข้ารูป นิยมไว้ผมยาวเกล้าผมมวยมีผ้าคล้องคอ ผู้ชายจะใส่เสื้อคอกลม นุ่งผ้าลอยชายมีผ้าพาดไหล่ มีผ้าคาด การแต่งกายลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ในช่วงวันสงกรานต์ของมอญ ส่วนในชีวิตประจำวันจะแต่งตามสมัยนิยม สมัยก่อนผู้ชายเข้าวัดจะนุ่งโจงกระเบน เมื่อออกจากวัดไปพบปะสังสรรค์ก็จะปล่อยชายโจงกระเบนลงกลายเป็นผ้าลอยชายในปัจจุบัน ส่วนผ้าคล้องคอของผู้หญิง สมัยก่อน ก่อนออกจากบ้านจะนำมาคล้องคอเมื่อเข้าวัดจะทำเป็นสไบและเป็นผ้าที่ใช้กราบพระ (หน้า 139) การรำมอญ เครื่องแต่งกายของนางรำ จะนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนสามส่วนหรือแขนกระบอกยาวถึงข้อมือ ชายเสื้อเข้ารูปรัดเอว มีผ้าสไบพาดไหล่ซ้ายหรือผูกแบบสายสะพายหรืออาจจะคล้องคอ ปล่อยชายทั้งสองห้อยมาข้างหน้าก็ได้ ผมเกล้ามวยประทับด้วยดอกไม้ (หน้า148) ประเพณีการแห่หงส์-ธงตะขาบ หนุ่ม ๆ จะนุ่งลอยชาย มีผ้าสไบ หรือผ้าขาวม้าไหมพาดไหล่ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุงหรือโจงกระเบน เสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบพาดไหล่ (หน้า 152) การทำโลงมอญ (อะลาบ๊อก) เป็นการทำโลงมอญด้วยกระดาษและไม้ มีการแกะสลักลวดลายที่สวยงามตามแบบฉบับของมอญ(หน้า 142)

Folklore

การเล่นสะบ้า ของมอญมี 2 ชนิดได้แก่สะบ้าบ่อนและสะบ้าทอย สะบ้าบ่อน เป็นกีฬาที่เล่นระหว่างหนุ่มสาว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางการเชื่อมสัมพันธไมตรีมากกว่าเอาแพ้ชนะ นิยมเล่นบริเวณใต้ถุนบ้านหรือลานหน้าบ้าน ในการเล่นจะมีการเล่นเครื่องดนตรีประกอบหรือบรรเลงเพลงคลอเสียงร้องทะแย สะบ้าทอย เล่นกันเฉพาะในหมู่ผู้ชาย ใช้กำลังและฝีมือในการเล่น สถานที่เล่นจะเป็นลานดินอัดแน่นและเรียบกว้างประมาณ 3 X 30 เมตร (หน้า 145) ทะแยมอญ เป็นการละเล่นที่ใช้เป็นมหรสพได้ทั้งงานมงคลแงะงานอวมงคล คล้ายลำตัดของคนไทย เนื้อหาของคำร้องจะแตกต่างกันตามลักษณะของงาน เช่น งานแต่งก็จะร้องพรรณนาประวัติของเจ้าบ่าวเจ้าสาว เป็นต้น ปี่พาทย์มอญ รำมอญ มอญร้องไห้ เดิมผู้หญิงสูงอายุที่เป็นญาติผู้ตายเป็นคนร้องไห้ เป็นการร้องที่ไม่มีน้ำตาแต่พรรณนาคุณงามความดีของผู้ตายพรางสะอึกสะอื้นเป็นระยะ ส่วนประเพณีทางศาสนาและประเพณีทางพิธีกรรมที่สำคัญ เช่น ประเพณีทางศาสนา ประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นปีใหม่ของมอญ ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์ ประเพณีแห่นก-แห่ปลา ประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบ ประเพณีค้ำต้นโพธิ์ ประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป ประเพณีสลากภัตต์ ประเพณีสรงน้ำพระ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีหยดน้ำมันเรือสำเภาและประเพณีแข่งเรือ เป็นต้น ประเพณีโดยมากจะจัดในเดือนเมษายนช่วงวันสงกรานต์ ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณีการเกิด เด็กคลอดใหม่จะให้นอนในกระด้งใช้ผ้าผูกเป็นกระโจมต่างมุ้ง ถ้าเป็นเด็กชายจะวางสมุดดินสอลงไปด้วยเพื่อเป็นเคล็ดให้เรียนเก่ง ถ้าเป็นหญิงจะวางเข็มและด้ายเป็นเคล็ดให้เก่งการบ้านการเรือน ประเพณีโกนจุก ประเพณีการบวช การแต่งงาน และประเพณีการเสียชีวิต (หน้า 145-157)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

อัตลักษณ์ทั่วไป สามารถแบ่งได้เป็นอัตลักษณ์ทางสังคมและทางวัฒนธรรมโดยสิ่งบ่งชี้ความเป็นมอญคือ ประเพณี ภาษา การแต่งกาย ลักษณะนิสัยเด่นของมอญคือชอบการทำบุญ ยึดหลักศาสนา รักสงบและมีน้ำใจ อัตลักษณ์สำคัญของมอญพระประแดงคือ อัตลักษณ์ทางประเพณี อัตลักษณ์ด้านนิสัยการทำบุญ นิยมการเข้าวัดและอัตลักษณ์ทางภาษา - การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ พบว่า อัตลักษณ์ที่ปรับเปลี่ยนคือ การแต่งกาย อาหาร ที่อยู่อาศัย พิธีกรรมต่างๆ ความเชื่อ ค่านิยม การละเล่น ดนตรี ศิลปะ อัตลักษณ์ที่ปรับเปลี่ยนเกือบหมดคือภาษา ภูมิปัญญาการรักษาโรคและภูมิปัญญาด้าน อาชีพและการนับถือผี - วิธีการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญ มีทั้งวิธีการในลักษณะรูปธรรมและนามธรรม ดังนี้ การจัดทำหนังสือ การจัดนิทรรศการ การสร้างแหล่งรวบรวมข้อมูล การบรรจุในหลักสูตร การรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ ใช้ความเชื่อทางพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติสืบทอด ส่งเสริมผลักดันให้มีส่วนร่วมในการจัดงาน เป็นต้น บุคคลที่มีส่วนสำคัญคือ กลุ่มชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่และพระในชุมชน โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน แนวโน้มการดำรงรักษา ภาษาคงหมดไป ประเพณีคงสืบทอดต่อไป อัตลักษณ์ทางสังคมยังเหนียวแน่นอยู่ ความเชื่อต่าง ๆ คงจะต้องเปลี่ยนแปลง การแต่งกายคงเห็นตามช่วงประเพณี ด้านอาหารคงมีต่อไป - ส่วนแนวโน้มในสถาบันที่ดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญพบว่า สถาบันครอบครัวมีบทบาทลดลง โรงเรียนจะมีบทบาทมากขึ้น หน่วยงานรัฐ องค์กรการปกครองท้องถิ่นมีบทบาทน้อยลงถ้าชาวบ้านต่อต้าน เอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนมากขึ้น

Social Cultural and Identity Change

อดีตประชาชนจะประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ปลูกผักและผลไม้มีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต่อมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม อาชีพปัจจุบันจึงเป็นอาชีพที่หลากหลายเหมือนสังคมเมืองทั่วไป เช่น ค้าขาย รับราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น (หน้า 102) ปัจจุบันมอญในพระประแดงมีผู้ใช้ภาษามอญน้อยลงกว่าในอดีต เหตุผลหนึ่งเพราะความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เป็นสังคมเปิดมีการติดต่อกับภายนอกมากขึ้น ทำให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (หน้า139) อดีตจะคลอดบุตรที่เรือนของตนโดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอดแต่ปัจจุบันการคลอดบุตรนิยมคลอดที่สถานพยาบาล ในอดีตการรักษาโรคจะเน้นความเชื่อไสยศาสตร์ การใช่มนต์คาถาเป่าพ่นควบคู่กับการใช้สมุนไพรต่าง ๆ ในการรักษาโรค ปัจจุบัน วิธีอย่างอดีตไม่เป็นที่นิยมมีคนใช้เพียงแค่ยาหม้อ ส่วนอื่นก็มีน้อยเนื่องจากไปรักษาที่โรงพยาบาลหาหมอแผนปัจจุบัน(หน้า141-142) ภูมิปัญญาด้านศิลปะเริ่มปรับเปลี่ยน เช่น เริ่มจะมีการประดิษฐ์ธงตะขาบ และการทำหงส์ออกมาในรูปแบบของเข็มกลัด สิ่งบูชา ในรถ และมีการทำขนาดย่อส่วนเป็นของที่ระลึกแก่ผู้สนใจ เป็นต้น

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง - ข้อมูลสรุปความหมายของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์(30) - ข้อมูลวิธีการดำรงรักษาเอกลักษณ์จากงานวิจัยต่างๆ(34) - ข้อมูลสาเหตุและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม(50) - แสดงข้อมูลเขตการปกครององค์การบริหารส่วนตำบล(อ.บ.ต.)(97) - ข้อมูลเขตการปกครองเทศบาลเมืองพระประแดง(97) - ข้อมูลเขตการปกครองเทศบาลเมืองลัดหลวง(97) - ข้อมูลเขตการปกครองเทศบาลตำบลสำโรงใต้(98) - ข้อมูลพื้นฐานของผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ(106) - ข้อมูลสิ่งบ่งชี้ความเป็นมอญและลักษณะนิสัยเด่นมอญ(132) - ข้อมูลการรวมกลุ่มต่างๆจำแนกตามหน่วยงานที่จัดตั้ง(135) - ข้อมูลวิธีการอบรมสั่งสอนทางสังคมและหลักในการสอน(138) - ข้อมูลอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ(162) - ข้อมูลการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของมอญพระประแดง(168) - ข้อมูลอัตลักษณ์สำคัญของกลุ่มผู้ให้ข้อมูล 3 อันดับแรก(170) - ข้อมูลอัตลักษณ์ที่ต้องรื้อฟื้น อนุรักษ์ สืบทอด(171) - ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่มีส่วนในการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญ(179) - ข้อมูลแสดงการสนับสนุนการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญ (182) - ข้อมูลปัญหาอุปสรรคในการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญ (185) แผนภูมิ - โครงสร้างสังคมก่อให้เกิดตำแหน่งของสถานภาพ บทบาทและเอกลักษณ์(26) - งานประเพณีของชาวไทยเชื้อสายรามัญ(155) - วิธีการในการดำรงรักษาอัตลักษณ์สำคัญของมอญพระประแดง(175) - เครือข่ายในการจัดงานสงกรานต์ของเทศบาลเมืองพระประแดง(177) - แสดงเครือข่ายในการจัดงานแห่หงส์-ธงตะขาบของชาวรามัญ พระประแดง(178)

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 18 พ.ค. 2559
TAG มอญ, อัตลักษณ์, การปรับเปลี่ยน, การรักษา, สมุทรปราการ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง