สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง,นิทานพื้นบ้าน,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,ศิลปะงานเย็บปักผ้า,สหรัฐอเมริกา
Author Livo, Norma J. and Dia Cha
Title Folk Stories of the Hmong : Peoples of Laos, Thailand and Vietnam
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ม้ง, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 135 Year 2534
Source จัดพิมพ์โดย Libraries Unlimited, lnc. พิมพ์ใน Engle wood, Colorado, The United States of America
Abstract

มีเนื้อหาครอบคลุมความเป็นมา วัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณี ศิลปะพื้นบ้าน โดยเฉพาะศิลปะงานเย็บปักผ้าและนิทานพื้นบ้านของม้ง ตลอดจนพรรณนาถึงวิถีชีวิตของม้งในสังคมอเมริกัน

Focus

ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมในนิทานพื้นบ้านและศิลปะงานเย็บปักผ้า "pa ndau" ของม้งในสหรัฐอเมริกา

Theoretical Issues

ผู้เขียนไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ใช้แนวทฤษฎีอะไรเป็นกรอบหรือหลักในการจัดระเบียบข้อมูล ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านที่รวบรวมมาจากคำบอกเล่าของม้ง และเรื่องราวที่ปรากฏในศิลปะงานเย็บปักผ้า "pa ndau" (ป้าเด๊า - analyst) ในชุมชนแห่งหนึ่งของลาว และจากม้งที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านที่กำลังจะสูญหาย และเพื่อให้ม้งที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานและเกิดในสหรัฐอเมริกาเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมม้งของตนผ่านนิทานพื้นบ้านและงานศิลปะ (หน้า ix, x)

Ethnic Group in the Focus

ผู้เขียนเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เขียนถึงว่า "ม้ง" และกล่าวว่าม้งจะเรียกตัวเองว่า "ม้ง" ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกม้งว่า "Mang" หรือ "Mong" คนไทยและลาวเรียกม้งว่า "Meo" คนจีนเรียกม้งว่า "Miao" ซึ่งม้งมองว่าเป็นคำเรียกที่ดูถูกดูแคลน ที่ชาวจีนใช้เรียกคนต่างเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่คนจีน และผู้เขียนได้พรรณนาถึงความเป็นมาของคำว่า Miao นี้ ตามที่มีนักวิชาการศึกษาไว้ (หน้า 1-2)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าภาษา "ม้ง" เป็นภาษาในตระกูลใด ม้งในสหรัฐอเมริกาที่ผู้เขียนระบุว่า พูดภาษาม้ง แต่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องเรียนและพูดภาษาอังกฤษ เพื่อให้อยู่รอดได้ในสังคมใหม่ โดยเฉพาะม้งที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกาจะพูดภาษาอังกฤษ (หน้า ix, x)

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าศึกษาช่วงเวลาใด ระบุเพียงว่า ผู้เขียนร่วม Dia Cha หลังจากอพยพมาอยู่สหรัฐฯ ได้เริ่มบันทึกนิทานพื้นบ้านโดยการบอกเล่าของญาติ เพื่อน และม้งในชุมชนม้งในสหรัฐฯ ตลอดจนตีความจากเรื่องราวที่ปรากฏในงานศิลปะผ้าปักที่เรียกว่า "pa ndau" (ภาพประกอบหน้า 27-32) เมื่อรวบรวมได้แล้วมีการถกเถียงและทำให้กระจ่างเป็นเนื้อหาดังที่ปรากฏในหนังสือ (หน้า ix, x)

History of the Group and Community

เดิมม้งอยู่ในไซบีเรียและเอเชียกลาง ซึ่งอยู่ในการปกครองของจีน ม้งได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในข้อเขียนของจีนเมื่อ 4,257 ปีมาแล้ว ม้งมักอยู่ในฐานะทาส และบ่อยครั้งเป็นเป้าหมายของการถูกกวาดล้าง ในปี ค.ศ.1775 จีนภายใต้การปกครองของเมนจู บีบคั้นม้งอย่างมาก ม้งจึงอพยพไปตั้งถิ่นฐานบนเขตภูเขาในพม่า ลาว ไทย และเวียดนาม ปี ค.ศ.1959 ฝรั่งเศสแพ้สงครามในเดียนเบียนฟู เป็นครั้งแรกที่การเมืองระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อม้งในแถบอินโดจีนอย่างมาก ทศวรรษที่ 1960 ถึงทศวรรษที่ 1970 ในสงครามเวียดนาม ม้งเข้ากับสหรัฐฯ รบกับเวียดกงและร่วมปฏิบัติการในลาว บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อสงครามยุติ สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากลาวและเวียดนาม ม้งตกเป็นเป้าหมายของการกวาดล้าง จึงอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงเข้าไปอยู่ในประเทศไทย คาดว่าครึ่งหนึ่งของประชากรม้งตายระหว่างสงครามเวียดนามและถูกยิงตายระหว่างหนีข้ามโขงไปไทย และตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 ม้งประมาณหนึ่งแสนคนจากค่ายอพยพในประเทศไทย อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา (หน้า 1-2)

Settlement Pattern

ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าม้งในสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการตั้งบ้านเรือนอย่างไร แต่กล่าวถึงการสร้างบ้านในถิ่นฐานเดิมไว้เล็กน้อยว่า บ้านม้งทุกหลังถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะให้สามารถมองเห็นภูเขาที่อยู่ห่างไกลจากประตูหน้าหรือประตูหลัง ก่อนสร้างบ้านจะขุดหลุมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไปตามจำนวนคนในครอบครัว หากข้ามคืนเมล็ดข้าวถูกวิญญาณเคลื่อนย้ายไป ม้งเชื่อว่าจำเป็นต้องหาทำเลใหม่สร้างบ้าน ในหนังสือระบุว่ายกเว้นในพื้นที่ต่ำ ทุกบ้านจะถูกสร้างบนพื้นดิน บ่อยครั้งจะใช้ไม้รวกรองบนพื้นดินเพื่อระบายน้ำ แต่ละบ้านจะมีเตาก่อไฟ ห้องนอนจะอยู่ตามแนวผนังด้านหนึ่ง และไม่มีหน้าต่าง (หน้า 5) (แต่บ้านในนิทานหลายเรื่องที่ปรากฏในหนังสือ เป็นบ้านม้งซึ่งมีหน้าต่าง - analyst)

Demography

ไม่ได้ระบุชัดเจน ระบุเพียงว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 มีม้งประมาณหนึ่งแสนคนจากค่ายอพยพบริเวณชายแดนไทย - ลาว อพยพไปสหรัฐอเมริกา (หน้า 1)

Economy

ไม่ได้ระบุชัดเจน ระบุเพียงว่า ข้าวเป็นธัญญาพืชหลักของม้งมาหลายชั่วอายุคน และทำการเกษตรแบบเลื่อนลอยด้วยวิธีโค่นถางและเผาต้นไม้มาเป็นอาหารพืชที่ปลูก (slash - and - burn) (หน้า 4-5) เมื่ออพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา ม้งไม่สามารถดำรงชีวิตด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมในสังคมอเมริกัน จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งหญิงและชายต้องออกหางานที่ไม่คุ้นเคยทำ เช่น ผู้หญิงหางานรับใช้ในโรงแรม (maid) ทำ เป็นต้น งานเย็บปักผ้า "pa ndau" ถือเป็นแหล่งรายได้อีกแหล่งหนึ่ง ทั้งโดยรับจ้างเย็บปักผ้าหรือทำขายเอง งานเย็บปักผ้าดังกล่าวปัจจุบัน ม้งในสหรัฐทำสินค้าจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ในวัฒนธรรมของตน แต่ทำเพื่อขาย เช่น ที่ใส่หมอน ผ้าปูโต๊ะ เย็บประดับกระเป๋า ผ้าประดับผนังบ้าน เป็นต้น แม้ผู้ชายม้งซึ่งในโครงสร้างสังคมเดิมจะไม่ทำงานที่ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าเป็นงานของผู้หญิง ยังจำเป็นต้องหันมาทำงานเย็บปักผ้า เพราะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดรายได้ ซึ่งไม่มีโอกาสให้เลือกมากนัก (หน้า 11,13)

Social Organization

พรรณนาถึงเฉพาะม้งที่อยู่ในแถบภูเขาซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิม ม้งมีครอบครัวขนาดใหญ่ หญิงม้งเมื่อเข้าสู่วัยสาวสามารถแยกนอนต่างหากจากครอบครัว เพื่อที่ชายหนุ่มจะไปเยี่ยมในเวลากลางคืนได้ แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่สนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (premarital sex) และจะอับอายมากหากมีการตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน ตามประเพณีม้ง ผู้ชายเป็นฝ่ายขอผู้หญิง และให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิง เมื่อแต่งงานแล้ว ภรรยาจะเข้าไปอยู่ในตระกูลของสามี การหย่าร้างกระทำได้ แต่จะถูกคัดค้านอย่างมาก หญิงม้งที่ออกจากบ้านสามีจะไม่มีสิทธิในตัวลูก ๆ ในอดีต กรณีที่หย่ากัน ครอบครัวของภรรยาจะต้องคืนสินสอดให้แก่สามี และระยะเมื่อไม่นานมานี้ ภรรยายังต้องจ่ายสามีในสิ่งที่เขาเคยให้เธอ ในกรณีของหญิงหม้าย บางครั้งที่ปฏิบัติกันคือ หญิงหม้ายจะกลายเป็นภรรยาของน้องชายสามีโดยอัตโนมัติ เนื่องจาก หากหญิงหม้ายนั้นแต่งงานใหม่กับชายอื่น สามีใหม่จะต้องจ่ายสินสอดส่วนหนึ่งให้กับครอบครัวของสามีคนแรก (หน้า 8-9 ) ม้งมีข้อห้ามไม่ให้พี่น้องในตระกูลแต่งงานกัน (หน้า 5)

Political Organization

ไม่ได้ระบุชัดเจน

Belief System

ศาสนา : ม้งเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ (animistic) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ - ผีธรรมชาติ ม้งเชื่อว่ามีวิญญาณประจำส่วนต่าง ๆ ของธรรมชาติ - ผีบรรพบุรุษ ม้งนับถือผีบรรพบุรุษในฐานะเทพเจ้า - ผีบ้านผีเรือน ม้งเชื่อว่าส่วนต่าง ๆ ของบ้านหรือในบ้านมีวิญญาณประจำเช่นกัน โดยทั่วไป ผีบ้านผีเรือนจะอำนวยสิ่งดี ๆ ให้แก่ครอบครัว แต่หากมีการล่วงเกิน อาจส่งผลในทางร้าย เช่น ทำให้ป่วยทางกายหรือทางจิต (mental) ต้องทำพิธีเซ่นด้วยการฆ่าสัตว์หรือพิธีอื่น ๆ จึงจะหาย เป็นต้น ม้งเชื่อว่าวิญญาณร้ายจะอยู่ตามทางเดินหรือในบริเวณที่ไม่ใช่ที่อยู่ของคน ด้วยเหตุนี้ ม้งจึงไม่ชอบเดินทางคนเดียวในที่ที่ไม่ใช่เขตที่อยู่อาศัย (หน้า 3) พิธีกรรม : ส่วนใหญ่เกี่ยวกับวงจรชีวิตและการผลิต เช่น การเกิด การตาย แต่งงาน การรักษาพยาบาล การเพาะปลูก-เก็บเกี่ยว เป็นต้น บุคคลที่ประกอบพิธีกรรมที่ค่อนข้างครอบคลุมวิถีชีวิตของม้งคือ หมอผี (Shaman) ในหนังสือระบุว่า หมอผีเป็นทั้งหมอยา นักจิตวิทยา ผู้วิเศษ ผู้รักษาวิญญาณ และที่ปรึกษา พิธีส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการรักษาอาการป่วยหรืออาการไม่ปกติที่เกิดกับร่างกายหรือทางจิต หมอผีเป็นชายหรือหญิงก็ได้ หมอผีติดต่อกับวิญญาณได้ และรู้ว่าจะจัดการกับวิญญาณอย่างไร เครื่องมือประจำกายหมอผีมีผ้าคลุมหน้าและธูปเป็นหลัก หมอผีที่มีความรู้อาจใช้สมุนไพรรักษาด้วย (หน้า 7) (มีนิทานที่กล่าวถึงจุดกำเนิดของหมอผี หน้า 38-39) การเกิด : ทารกที่เกิดมาจะเป็นสมาชิกของตระกูลฝ่ายชายโดยอัตโนมัติ หลังเกิดสามวันจะมีพิธีฉลองและตั้งชื่อ ม้งเชื่อว่าการแตะต้องศีรษะทารกหรือทำให้ตกใจ จะเป็นการไล่วิญญาณออกจากเด็กหรือทำให้วิญญาณถูกขโมยไป เด็กจะป่วย (หน้า 5) การตาย : ม้งเชื่อว่าการจัดพิธีศพและการจัดการที่ถูกต้องกับร่างของผู้ตาย จะส่งผลต่อการเกิดใหม่ของผู้ตายและความเจริญรุ่งเรืองของครอบครัว หรืออีกนัยหนึ่งคือโชคชะตาของผู้ยังมีชีวิตอยู่ขึ้นกับความสุขที่วิญญาณบรรพบุรุษจะได้รับ ฉะนั้น ม้งจะทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าพ่อแม่ถูกฝังในที่ที่ดีที่สุด ศพจะได้รับการสวมใส่ชุดที่ทำอย่างประณีต สวมรองเท้าที่ตกแต่งเป็นพิเศษ เพื่อเดินฝ่าดินแดนของบุ้งยักษ์ไปสู่ปรโลก และนิ้วมือถูกพันด้วยด้ายแดง เพื่อเป็นข้ออ้างว่านิ้วเจ็บ หากระหว่างเดินทางไปสู่ปรโลกวิญญาณถูกรั้งไว้ให้ช่วยปอกหัวหอม (ม้งเชื่อว่าคนแต่ละคนมีวิญญาณ 3 ดวงที่เกี่ยวกับพิธีกรรมหลังตาย ดวงที่ 1 เป็นดวงวิญญาณที่อยู่ในตัวคนตามปกติ เมื่อตายแล้วจะอยู่ที่หลุมฝังศพ ดวงที่ 2 เป็นดวงวิญญาณที่เดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนฝันเวลาหลับ เมื่อตายแล้วจะตามไปอยู่กับลูกหลาน ดวงที่ 3 เป็นวิญญาณที่ปกป้องคนนั้นจากภัยอันตราย เมื่อตายแล้ว จะเดินทางกลับสู่ปรโลกและอาจไปเกิดใหม่เป็นคน เป็นสัตว์ หรือสิ่งของ ขึ้นกับกรรมในอดีตและโชค ดังนั้น วิญญาณที่จะเกิดใหม่และวิญญาณบรรพบุรุษจะยังวนเวียนอยู่กับครอบครัวของแต่ละคน) (หน้า 5-6) การเพาะปลูก : พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ในแต่ละปี ม้งยึดถือพิธีสำคัญอยู่ 4 พิธี คือ พิธีที่ 1ทำก่อนที่ที่ดินจะถูกถากถาง พิธีที่ 2 ทำก่อนการหว่านเมล็ดลงปลูก พิธีที่ 3 ทำเมื่อถึงช่วงกลางของการเจริญเติบโตของพืชพรรณธัญญาหาร พิธีที่ 4 ทำหลังการเก็บเกี่ยว พิธีเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อบอกกล่าวบรรพบุรุษ ขอให้บรรพบุรุษปกป้องพืชที่ปลูก และสุดท้ายเพื่อขอบคุณที่ช่วย ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกจะมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติอยู่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกที่เพาะปลูกจนจบการเก็บเกี่ยว (หน้า 4 -5) สัตว์ในเชิงสัญลักษณ์และความเชื่อ : ในวิถีชีวิตของม้งมีสัตว์จำนวนมากที่อยู่ในฐานะเชิงสัญญลักษณ์ทางอำนาจหรือเป็นลางบอกเหตุ เช่น หากมีนกบินเข้าบ้านและเกาะอยู่ ถือว่าเป็นการเตือนบอกถึงลางร้าย หากงูเข้าบ้านเป็นลางบอกเหตุว่าในบ้านจะมีคนตายในไม่ช้า ช้างได้รับความนับถือว่าทรงพลังและในเชิงสัญญลักษณ์เป็นสัตว์ที่นำวิญญาณไปสู่ปรโลก ผีเสื้อ - ม้งเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายจะปรากฏเป็นผีเสื้อ เต่าสามารถนำคำปรึกษาของบรรพบุรุษในปรโลกมาสู่โลกมนุษย์ได้ เสือ - ถือว่ามีอำนาจคุกคามทั้งพละกำลังและในกรณีของเสือสมิง (a magic soul - tiger) เป็นต้น (หน้า 4 ) และในนิทานหลาย ๆ เรื่องจะกล่าวถึงบทบาทของสัตว์อยู่มาก เช่น ของลิง สุนัข งู เสือ เป็นต้น

Education and Socialization

ไม่ระบุชัดเจน

Health and Medicine

ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงม้งในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นอย่างไร ระบุเพียงว่า ม้งในสหรัฐฯ ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับการรักษาพยาบาลแผนใหม่ และม้งได้รับแรงกดดัน (stress) ที่เกิดจากการต้องเรียนรู้และปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ ทำให้คนหนุ่มเกิดอาการไหลตาย (หน้า 13) ในกรณีของม้งที่มีถิ่นฐานอยู่ในไทยและลาว มีความเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยของคนเกิดจากการกระทำของผีร้าย และอาศัยหมอผี (Shaman) ให้ช่วยรักษา ม้งพึ่งหมอผีเป็นหลักในการรักษาทั้งอาการทางกาย ทางจิต และเป็นที่ปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ภาระกิจของหมอผี คือ การทำให้สภาพจิตหรือวิญญาณของผู้ป่วยกลับมาสู่สภาพสมดุล และสุขภาพกลับมาเหมือนเดิม โดยการตามหาวิญญาณที่หลงทางของผู้ป่วย แล้วนำกลับมาเข้าร่าง (ม้งเชื่อว่าในตัวคนหนึ่งมีวิญญาณหลายวิญญาณประกอบขึ้นเป็นตัวตนของบุคคลนั้น) ในระหว่างพิธีรักษา หมอผีจะอยู่ในภาวะจิตอยู่ในภวังค์ มีอาการคล้ายคนทรง และมักต้องฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นวิญญาณ (หน้า 7)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สิ่งที่ผู้เขียนเน้นคือศิลปะพื้นบ้านงานเย็บปักผ้า โดยเฉพาะศิลปะการเย็บปักผ้า "pa ndau" : สมัยโบราณ "pa ndau" เป็นผ้าทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่เย็บปักอย่างประณีตเพื่อให้เป็นของขวัญแสดงความยินดีในการเกิด งานแต่งงาน หรือเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในหมู่บ้านม้ง และเมื่อสะสมไว้มากพอ จะนำมาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่ ศิลปะ "pa ndau" เป็นที่รวมของงานเย็บประดับหลายประเภท เช่น reverse applique', chain stitches, cross stitches, batik, และงานปัก "pa ndau" ที่ออกแบบตามประเพณี มีรูปแบบเชิงสัญลักษณ์อย่างสูง เช่น หอยทากเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโตของครอบครัว กลางลายขดก้นหอยที่เปลือกหอยทากหมายถึงบรรพบุรุษ ลายก้นหอยรอบนอกหมายถึงความสำเร็จของแต่ละรุ่น สัตว์อื่น ๆ ในงานศิลปะส่วนใหญ่จะมีความหมายดี ๆ เช่น ช้าง เท้าช้างหมายถึงความมั่งคั่งและอำนาจของครอบครัว เป็นต้น ลายรูปทรงเลขาคณิต เช่น สามเหลี่ยมฟันปลาที่มักเย็บติดไว้ขอบนอกทั้งสี่ด้านเป็นสัญลักษณ์ของรั้ว หรือเครื่องป้องกันเก็บวิญญาณดี ๆ ไว้ และไล่วิญญาณร้ายออกไป เป็นต้น เรื่องราวบนงานเย็บปักของม้ง เป็นการบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของบุคคล สัตว์ และชีวิตของหมู่บ้าน เป็นงานอ้างอิงของตำนาน เรื่องเล่า แต่เมื่ออพยพเข้าอยู่ในค่ายอพยพในไทยและไปสหรัฐ การใช้งานเย็บปักผ้าและลวดลายได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมใหม่ การประดับตกแต่งเสื้อผ้าและของใช้ที่เป็นผ้าอื่น ๆ : เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าชุดที่ม้งให้ความสำคัญมาก คือ ชุดที่ใส่เมื่อตายจะสวยประณีตเป็นพิเศษ และชุดที่ใส่ไปงานปีใหม่ซึ่งต้องเป็นชุดที่เย็บปักใหม่ ใส่แล้วจึงจะโชคดี งานผ้าที่สำคัญอีกประเภทคือ งานผ้าที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ที่สำคัญมากมี 2 อย่างคือ ผ้าคาดที่ใช้ห่อเด็กไว้กับหลังแม่เพื่อนำพาไปไหนมาไหน และหมวกที่เด็กใส่ (ม้งเชื่อว่าศีรษะเด็กต้องมีหมวกปกป้อง มิฉะนั้น วิญญาณของเด็กจะหลบออกไปทางศีรษะ) จะเย็บปักอย่างประณีตมีสีสันสวยงาม ประดับด้วยลูกปัด เหรียญ และปักสัญลักษณ์ที่เป็นความเชื่อในทางที่ดี ๆ ในกรณีของเครื่องประดับที่เป็นโลหะ เครื่องเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นเครื่องแสดงฐานะและใช้แทนเงินได้ ลวดลายในเครื่องเงินมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เช่นกัน (หน้า 9-13, ดูรูปหน้า 17-32)

Folklore

ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงวัฒนธรรมการเล่านิทานของม้ง ระบุไว้เล็กน้อยว่าผู้เขียนร่วมซึ่งเป็นผู้รวบรวมนิทานเหล่านี้ ได้เรียนรู้และฟังนิทานจำนวนมากจากญาติ ๆ ผู้ใหญ่ในขณะที่นั่งล้อมรอบกองไฟที่หมู่บ้านม้งในลาว และจากม้งในชุมชนม้งที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา นิทานและเรื่องเล่าบางส่วนปรากฎอยู่ในงานศิลปะผ้าปักที่เรียกว่า "pa ndau" ของม้ง นิทานพื้นบ้านที่ปรากฏในหนังสือนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น ๆ เนื้อหาไม่ซับซ้อนและไม่หลากมาก อธิบายความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและวิถีชีวิต ความเป็นมาของวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และนิทานบันเทิงต่าง ๆ โดยนิทานเกือบทุกเรื่องจะมีสัตว์เข้ามามีบทบาทในเนื้อหา ซึ่งอาจแยกนิทานเป็นประเภทได้ ดังนี้ - อธิบายกำเนิดของโลกและสรรพสิ่งต่าง ๆ เช่น ตำนานข้าว และหมอผี ตำนานการเกิดตระกูลม้งและการตั้งชื่อสรรพสิ่ง เป็นต้น - อธิบายพฤติกรรมของคนและสัตว์ เช่น ทำไมชาวนาจึงต้องทำงานหนัก ทำไมลิงและคนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำไมสัตว์จึงไม่สามารถพูดได้ ทำไมนกไม่มีวันหิว เป็นต้น - อธิบายความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่าง ๆ เช่น ความรัก ความซื่อสัตย์ เป็นต้น (หน้า 33-129)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับชนเผ่าอื่น ๆ แต่ได้กล่าวถึงเรื่องเล่า ตำนาน และนิทานที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนที่เคยอยู่ร่วมกันมา ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาไปในทางม้งเป็นผู้ถูกกระทำ (หน้า 1-2, 6,14) และในส่วนที่เป็นประวัติของม้งมีกล่าวไว้เล็กน้อยว่า ก่อนราชวงศ์ Sung ของจีน (ประมาณ 960 - 1280 AD) ม้งที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกใน Honan ถูกอ้างถึงในชื่อว่า "Man" ซึ่งรวมคน "เย้า" (Yao) ไว้ด้วย ส่วนม้งตะวันตกถูกเรียกว่า "Fan" แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ในสมัยโบราณม้งและเย้า มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน (หน้า 1)

Social Cultural and Identity Change

ม้งที่ยังอาศัยอยู่บนที่สูงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะยังมีการปฏิบัติตามขนบและความเชื่อตามประเพณีของตน แต่ม้งที่อยู่ในค่ายอพยพในประเทศไทย ประเพณีบางอย่างไม่สามารถปฏิบัติได้แล้ว และการอพยพของม้งสู่สหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อวิถีตามประเพณีของม้ง นิทานเรื่องเล่าต่าง ๆ ถูกลืม รูปแบบทางศิลปะตามประเพณีไม่มีการสืบต่อ (หน้า ix) ขนบประเพณีจำนวนมากไม่มีการปฏิบัติแล้ว ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็เปลี่ยนรูปแบบไป (หน้า 3) และวิถีชีวิตจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย ม้งจำนวนมากรู้สึกสูญเสียโครงสร้างครอบครัวตามประเพณีม้งไป เช่น การสูญเสียการควบคุมลูก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ม้งเห็นว่าเป็นวินัยหรือหลักการ แต่เมื่ออยู่ในสหรัฐฯ กลับเป็นการละเมิดต่อเด็ก ในทุกแง่มุมของชีวิต วิถีแบบเก่าพ่ายแพ้แก่ความเชื่อและประเพณีใหม่ (หน้า 13)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

รูปภาพ : เครื่องแต่งกายที่ใช้สวมศีรษะ (headdress), เสื้อผ้าแต่งกาย, เครื่องประดับเงิน, การออกแบบ (design pattern), pa ndau (หน้า 17-32)

Text Analyst บุญสม ชีรวณิชย์กุล Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ม้ง, นิทานพื้นบ้าน, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, ศิลปะงานเย็บปักผ้า, สหรัฐอเมริกา, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง