สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาหู่,มูเซอแดง,คริสตศาสนา,การเปลี่ยนแปลง,วัฒนธรรม,ความเชื่อ,แม่ฮ่องสอน
Author พิมุข ชาญธนวัฒน์
Title คริสตศาสนากับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวมูเซอแดง : การศึกษาเปรียบเทียบเฉพาะกรณีระหว่าง หมู่บ้านยาป่าแหน กับหมู่บ้านแสนคำลือ ในกิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 81 Year 2538
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

งานชิ้นนี้มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นการศึกษา ประวัติศาสตร์ของชนชาติมูเซอแดง สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งระบบความเชื่อทางศาสนา และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของมูเซอแดง โดยเปรียบเทียบเฉพาะกรณี หมู่บ้านมูเซอแดงสองแห่งอยู่ในเขตพื้นที่กิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือหมู่บ้านยาป่าแหน และหมู่บ้านแสนคำลือ

Focus

ศึกษาอิทธิพลของคริสตศาสนาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของมูเซอแดง โดยการเปรียบเทียบองค์ประกอบของความเชื่อและการปฏิบัติทางคริสตศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในหมู่บ้านเฉพาะกรณี ระหว่างหมู่บ้านยาป่าแหน กับหมู่บ้านแสนคำลือ

Theoretical Issues

ทฤษฎีที่ใช้ประกอบการศึกษามี 2 ทฤษฎีคือ 1. ทฤษฎีแห่งการแพร่กระจาย (Diffusion Theory) ในการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมมีผลต่อการศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ผู้วิจัยได้ใช้ทฤษฎีแห่งการแพร่กระจายเพื่อทำการศึกษาถึงการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่บ้าน ส่วนสาระสำคัญของทฤษฎีนี้ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการยอมรับสิ่งใหม่ที่แพร่กระจายเข้ามา ดังนั้นในการศึกษาผู้วิจัยจึงได้อาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีการแพร่กระจายเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อันเป็นผลมาจากมีการเผยแพร่ระบบความเชื่อทางคริสตศาสนาเข้ามาในสังคมมูเซอแดง ดังนั้นแล้วในการตัดสินใจยอมรับคริสตศาสนา ซึ่งเป็นความคิดที่ใหม่จากวัฒนธรรมใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อที่มีอยู่เดิม จนเป็นปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของมูเซอแดง 2. ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (Theories of Culture Change) ของ มาลินาฟสกี้ (Malinowski) ซึ่งเน้นไปที่บทบาทของผู้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในฐานะที่ริเริ่มนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่มูเซอแดง (หน้า 9-14)

Ethnic Group in the Focus

มูเซอแดง เป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์มูเซอ พบในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มูเซอแดงจะเรียกตัวเองว่า "ลาหู่" (LAHU) ซึ่งคำว่า "ลาหู่" หรือ "ลาฮู" ก็หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์มูเซอ และในงานที่ปรากฏผู้วิจัยจะใช้ทั้งสองคำ (หน้า4)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษามูเซอ จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาจีน - ธิเบต (Sino - Tibetan) สาขาภาษาธิเบต-พม่า (Tibet-Burman) ไม่มีตัวอักษรใช้แทนเสียง จนมีนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ชาวฝรั่งเศส ได้สร้างตัวอักษรให้ชนชาติมูเซอในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม และรัฐบาลของจีนก็เคยช่วยในการสร้างตัวอักษรให้แต่มูเซอก็ไม่นิยมใช้ ในปัจจุบันพบว่ามีการเรียนภาษามูเซอโดยใช้ตัวอักษรโรมันในการแทนเสียงพูดที่แพร่หลายในเฉพาะกลุ่มมูเซอที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนเนื้อหาในการเรียนนั้นก็เป็นการแปลจากคัมภีร์ไบเบิ้ล มาเป็นภาษามูเซอ และนอกจากนี้แบรดเลย์ (Bradley) ยังใช้ภาษามูเซอเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มและความสัมพันธ์ของมูเซอกลุ่มต่าง ๆ ตามความแตกต่างในการใช้คำศัพท์ ซึ่งสามารถแบ่งมูเซอออกเป็น 2กลุ่มคือ มูเซอดำ (Black Lahu) และมูเซอเหลือง (Yello Lahu) โดยลักษณะของการใช้คำศัพท์แตกต่างกันมากถึง 96 คำ ซึ่งต่อจากนั้นมูเซอก็แตกแขนงออกไป คือ มูเซอดำ แตกแขนงออกไปเป็น มูเซอแซแล และมูเซอแดง ส่วนมูเซอเหลืองก็แตกออกเป็น มูเซอบาเกียว และมูเซอบาหลง (หน้า17) การใช้เกณฑ์ทางภาษาศาสตร์ในการแบ่งกลุ่มย่อยมูเซอของแบรดเลย์นั้น เป็นการศึกษาภายในเพียงกลุ่มย่อยของมูเซอ 6 กลุ่มเท่านั้น จึงยังไม่สามารถที่จะอธิบายครอบคลุมไปถึงมูเซอกลุ่มย่อยอื่น ๆ ด้วย (หน้า18)

Study Period (Data Collection)

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2537 ผู้วิจัยแบ่งช่วงเวลาในการศึกษาออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2535 เป็นช่วงเก็บข้อมูลทั่วไปในพื้นที่วิจัย ช่วงที่สองระหว่าง พ.ศ. 2535-2536 เป็นช่วงเก็บข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และช่วงที่สาม ปี พ.ศ. 2537 เป็นช่วงที่เก็บข้อมูลภาคสนาม (หน้า3)

History of the Group and Community

ประวัติชนชาติมูเซอที่กล่าวถึงไว้ว่าบรรพบุรุษของมูเซอ คือ ชนชาติโลโล มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในประเทศธิเบต เมื่อถูกชาวจีนรุกรานจึงอพยพลงมาทางใต้ และตั้งเป็นอาณาจักรอิสระในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 บริเวณชายแดนพม่า-จีน ระหว่างทิศตะวันตกของเมืองว้า และทางทิศตะวันออกของยูนนาน โดยมีหัวหน้าปกครองกันเอง และเมื่อถูกจีนรุกรานอีกใน พ.ศ. 2423-2433 จึงอพยพลงมาทางใต้ และบางพวกก็ได้อพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศลาว และพม่าบางส่วนในรัฐฉาน และขณะเดียวกันก็มีบางพวกที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย (หน้า 15)

Settlement Pattern

มูเซอแดงนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขาสูง และชายเนินเขา เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-980 เมตรโดยประมาณ อยู่ใกล้แหล่งอาหารและต้นน้ำลำธาร ซึ่งมูเซอแดงจะสร้างบ้านเรือนบนภูเขาสูงโดยส่วนใหญ่ ทำให้ในฤดูแล้งจะประสบกับปัญหาเรื่องน้ำไม่พอใช้ การเดินทางไปมาไม่สะดวก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนถนนจะเป็นหลุมเป็นบ่อและลื่นเฉอะแฉะเป็นปัญหาในการเดินทาง ส่วนบ้านของมูเซอแดง สร้างจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติในการใช้เป็นที่พักอาศัย แต่เดิมแล้วส่วนใหญ่มูเซอแดงจะสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง หลังคามุงด้วยใบไม้หรือใบหญ้าคา ตัวเรือนยกพื้นสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1.50 - 2.00 เมตร ซึ่งตัวบ้านจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนแรกจะเป็นส่วนชานบ้าน ใช้เป็นบริเวณที่พักและวางสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนที่สองคือกลางบ้าน ใช้เป็นที่พักผ่อน รับแขก นั่งเล่น ทำกิจกรรมหรือประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เหมือนกับห้องครัว คือใช้สำหรับตั้งเตาไฟเพื่อก่อไฟให้แสงสว่าง ให้ความอบอุ่นภายในบ้าน และสำหรับปรุงอาหาร และมูเซอแดงนิยมนั่งรับประทานอาหารข้างๆ กับเตาไฟ ส่วนที่สามนั้นเป็นส่วนของห้องนอนจะใช้ไม้ไผ่สับแตกๆ ทำเป็นฝาในการกั้นห้อง โดยจะกั้นเป็นห้องเดียว มูเซอแดงยังนิยมสร้างยุ้งฉางไว้ข้าง ๆ บ้าน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าบ้าน เพื่อใช้เก็บ ข้าว-ข้าวโพด ในพิธีการจัดงานแต่งงานยุ้งฉางยังใช้เป็นที่สำหรับให้คู่บ่าวสาวเข้าไปนอนข้างในที่จัดไว้พอนอนได้เท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการสร้างเล้าไก่ มีขนาดเล็กกว่ายุ้งฉางไว้ข้างๆ บ้านเช่นกัน(หน้า 25-26, ดูการแสดงแผนผังแบบแปลนบ้านที่อยู่อาศัยของมูเซอแดง หน้า 26 ประกอบ)

Demography

จากการวิจัยของสถาบันวิจัยชาวเขาเชียงใหม่ (พ.ศ. 2535) ได้รวบรวมสถิติเกี่ยวกับจำนวนประชากรมูเซอที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 57,144 คน จำนวน 410 หมู่บ้าน และ 11,334 หลังคาเรือน ซึ่งจะแยกแยะการกระจายตัวในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ คือในจังหวัดกำแพงเพชร มี 3 หมู่บ้าน 145 หลังคาเรือน รวม 694 คน จังหวัดเชียงราย มี 194 หมู่บ้าน 5,513 หลังคาเรือน รวม 23,131 คน จังหวัดเชียงใหม่ มี 172 หมู่บ้าน 4,051 หลังคาเรือน รวม 22,684 คน จังหวัดตาก มี 8 หมู่บ้าน 668 หลังคาเรือน รวม 5,050 คน จังหวัดเพชรบูรณ์ มี 3 หลังคาเรือน รวม 12 คน จังหวัดลำปาง มี 5 หมู่บ้าน 121 หลังคาเรือน รวม 689 คน และในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 28 หมู่บ้าน 833 หลังคาเรือน รวม 4,884 คน (หน้า 19) ในปัจจุบันพบว่ามีประชากรชาวเขาเผ่ามูเซอตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทยเกือบทั้งหมด แต่มีเพียง 3 ครอบครัวที่มีการตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ทางภาคกลางตอนบน ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งชาวเขาเผ่ามูเซอที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยนั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือลาหู่ญิ คนไทยเรียกว่า "มูเซอแดง" ลาหู่นะ หรือคนไทยเรียก "มูเซอคริสต์" ลาหู่ชี คนไทยเรียกว่า "มูเซอเหลือง" และลาหู่แซแล คนไทยนิยมเรียกว่า "มูเซอดำ" จากหลักฐานและการสัมภาษณ์พบว่า มูเซอแดง มีการตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า กับ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายนานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ปี หรือตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2318 เป็นต้นมา ส่วนปัจจุบันนี้มีมูเซอแดงอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่อาย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และในกิ่งอำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (18) และเมื่อมีการเปรียบเทียบจำนวนประชากรกับมูเซอกลุ่มย่อยอื่นๆ จะพบว่า มูเซอแดงมีประชากรมากกว่าจำนวนประชากรของมูเซอกลุ่มย่อยอื่น ๆ (หน้า 18-20) สำหรับจำนวนประชากรในพื้นที่ศึกษา มูเซอแดงในหมู่บ้านยาป่าแหนมี 65 ครัวเรือน จำนวน 302 คน เป็นผู้ชาย 147 คน และเป็นผู้หญิง 155 คน และจำนวนผู้ที่อพยพไปอยู่หมู่บ้านผาเจริญ มี 16 หลังคาเรือน จำนวน 67 คน เป็นผู้ชาย 35 คน และเป็นผู้หญิง 32 คน ส่วนประชากรในหมู่บ้านแสนคำลือมี 21 หลังคาเรือน จำนวนประชากรรวม 120 คน เป็นผู้ชาย 64 คน และเป็นผู้หญิง 56 คน และหมู่บ้านแอโก๋มี 46 หลังคาเรือน จำนวนประชากรรวม 304 คนเป็นผู้ชาย 157 คน และเป็นผู้หญิง 147 คน (หน้า 37,44, 48,51)

Economy

มูเซอแดงบ้านยาป่าแหน และหมู่บ้านแสนคำลือส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก มีทั้งการเกษตรแบบไร่นาประจำ ที่จะทำในพื้นที่บริเวณใกล้ ๆ กับหมู่บ้าน และการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยในพื้นที่ที่ห่างไกลจากหมู่บ้านออกไป มีการเพาะปลูกได้แก่ ข้าว มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ข้าวโพด ถั่ว งา และผักต่างๆ รวมทั้งฝิ่นด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะปลูกพืชในช่วงต้นฤดูฝน ยกเว้นฝิ่นและผักต่างๆ ที่ชอบอากาศหนาวจึงปลูกในช่วงต้นฤดูหนาว การทำการเกษตรในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่จนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต มูเซอจะมีการพึ่งพาอาศัยแรงงานกัน คือถ้าเพื่อนบ้านมาช่วยแรงงาน 1 วัน เราก็ต้องไปช่วยแรงงานเพื่อนบ้านคืน 1 วันเช่นกัน สำหรับบางคนที่มีไร่นาขนาดใหญ่ อาจจำเป็นต้องขอแรงงานเพื่อนบ้านจำนวนมากถึง 50 คนหรือไม่ก็มากกว่านั้น ซึ่งหากไม่ต้องการใช้แรงงานคืน ผู้เป็นเจ้าของไร่อาจจะทำอาหารเลี้ยงเพื่อนบ้านที่มาช่วยงานในไร่แทนก็ได้ หรืออาจจะจ่ายเป็นยางฝิ่นตอบแทน มีการเลี้ยงสัตว์ ไว้เพื่อบริโภค และใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ หมู และไก่ ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงไว้ใช้งานก็คือ ม้า ล่อ นอกจากนี้ยัง พบว่ามีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ไว้เพื่อเสริมสร้างฐานะทางครอบครัว การเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เป็นแบบปล่อยเป็นอิสระ หากินเองตามธรรมชาติ อาหารที่ได้นอกเหนือจากการเพาะปลูกนั้นมาจากการล่าสัตว์ และเก็บของป่า ซึ่งมูเซอแดงมีความสามารถในด้านการเป็นนักล่าสัตว์ เนื้อสัตว์ที่ได้มาก็จะนำมาแบ่งปันในเครือญาติและคนที่ไปล่าด้วยกัน แต่จะไม่กินเนื้อเสือเพราะเห็นว่าน่ารังเกียจ ส่วนของป่าที่เก็บมาเป็นอาหารนั้น ได้แก่ หวาย เห็ด หน่อไม้ หัวมัน หัวเผือก ยอดไม้ และผลไม้ป่า การเก็บของป่านั้นก็ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ เพราะพืชบางชนิดมีพิษถึงตายได้ จึงมีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เกี่ยวกับสรรพคุณและพิษของพืช เนื้อสัตว์และผักที่หามาได้ถูกนำมาประกอบอาหารที่มีเครื่องปรุงเป็น พริก และ เกลือ (หน้า 20-21)

Social Organization

ครัวเรือนของมูเซอแดง มีลักษณะทำให้เป็นครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ในปีแรกหลังการแต่งงานฝ่ายชายต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายภรรยา และหลังจากนั้นก็ไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชายอีก 1 ปี ในสังคมของมูเซอแดงไม่มีระบบแซ่ - สกุล และไม่เข้มงวดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน แต่จะถือว่าผิดหากไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่แต่งงานแล้ว ชายหญิงมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ผู้หญิงยอมรับว่าผู้ชายอยู่ในฐานะที่มีกำลังแข็งแรงกว่า ดังนั้นฝ่ายชายจะรับผิดชอบเกี่ยวกับงานที่ใช้แรงงาน ส่วนฝ่ายหญิงจะรับผิดชอบงานที่เบากว่าและมีความประณีต ในหมู่บ้านมีผู้นำที่สำคัญอยู่ 3 ฝ่าย คือผู้นำทางศาสนา ผู้นำฝ่ายปกครอง และช่างตีเหล็กหรือผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือทางการเกษตร ซึ่งจากโครงสร้างผู้นำนั้นได้แสดงให้เห็นว่าระบบต่าง ๆ ทางสังคมภายในหมู่บ้านมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน คือ เมื่อสมาชิกในหมู่บ้านต้องการติดต่อสัมพันธ์กันก็ย่อมต้องผ่านผู้นำทั้ง 3 ซึ่ง "ปู่จอง" หรือ "โตโบ" จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนด้านศาสนาและความเชื่อ รวมถึงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ในหมู่บ้าน "อาดอ" เป็นเหมือนตัวแทนในระบบการเมืองการปกครองในหมู่บ้าน และ "จ่าลี้ " ในฐานะตัวแทนของระบบเศรษฐกิจ ทั้งสามฝ่ายจะทำงานเป็นระบบที่เกี่ยวโยงกัน ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบส่วนใดส่วนหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระบบอื่นในหมู่บ้านด้วย (หน้า 27-29)

Political Organization

ระบบการปกครอง ของมูเซอแดงในหมู่บ้านยาป่าแหน และหมู่บ้านแสนคำลือเป็นไปตามระบอบการปกครองของรัฐบาลไทย ทั้งสองหมู่บ้านมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านที่แต่งตั้งให้อย่างเป็นทางการ หมู่บ้านละ 1 คน มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และนอกจากผู้นำที่เป็นทางการแล้ว มูเซอแดงยังมีการนับถือผู้อาวุโสกว่า และผู้นำที่สำคัญมีอยู่ 3 ฝ่าย คือผู้นำทางศาสนา เรียกว่า "ปู่จอง" หรือ "โตโบ" ผู้นำทางการเมืองการปกครองในหมู่บ้าน เรียกว่า"อาดอ" และผู้นำทางเศรษฐกิจ หรือช่างตีเหล็ก เรียกว่า "จ่าลี้" ซึ่งผู้นำทั้ง 3 ฝ่ายจะมีระบบการทำงานที่เกี่ยวโยงกัน (หน้า 28-29)

Belief System

มูเซอแดงนับถือเทพเจ้าอื่อซา เป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นใหญ่เหนือภูตผี และทุกสิ่งในจักรวาล ซึ่งมีผู้นำทางศาสนาที่ชื่อว่า "ปู่จอง" หรือ "โตโบ" สามารถติดต่อสื่อสารกับอื่อซาได้ มูเซอแดงมีความเชื่อเรื่องการกำเนิดขึ้นของร่างกายมนุษย์ ว่ามนุษย์เป็นส่วน หนึ่งของธรรมชาติ โดยเชื่อว่าองค์อื่อซา ซึ่งเป็นเทพสูงสุดของมูเซอแดงนำส่วนต่าง ๆ ในธรรมชาติมาประกอบขึ้นเป็นร่างกาย ของมนุษย์ คือ กระดูกมาจากหิน เนื้อหนัง ขนและผมมาจากดิน เลือด น้ำลาย น้ำตา น้ำเหลือง มาจากน้ำ ลมหายใจมาจากอากาศ และความอบอุ่นนั้นมาจากแสงแดด ซึ่งคติความเชื่อนี้ได้สะท้อนออกมาในรูปของพิธีกรรมในการรักษาผู้ป่วย ผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ประกอบพิธีให้หายป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องนำดินมาปั้นเป็นรูปทรงกรวยคล้ายยอดเขา หินขนาดเท่ากำปั้น น้ำ เทียน ขี้ผึ้งเพื่อจุดไฟ มาเป็นเครื่องสักการะต่อองค์เทพเจ้าสูงสุดเพื่อขอให้ช่วยให้หายป่วย มีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับเครื่องที่นำไปสักการะ พิธีสำคัญทางศาสนาของมูเซอแดงจะแยกเป็น พิธีที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เป็นการประกอบพิธีร่วมกันโดยพร้อมเพียง ได้แก่ พิธีฉลองปีใหม่ ภาษามูเซอแดงเรียกว่า "เขาะเจ๊าเว" ไม่มีการกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจงแน่นอน จะเลือกช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวผล ผลิตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพิธีฉลองปีใหม่ของมูเซอแดงมีระยะเวลานานถึง 7 วัน โดยจะแบ่งการฉลองออกเป็นสองช่วง คือ ช่วง แรกเป็นการฉลองปีใหม่ของผู้หญิง เรียกว่า "เขาะหลวง" หรือ "ปีใหญ่" มีระยะเวลา 3 วัน ส่วนช่วงที่สองเป็นการฉลองปีใหม่ ของผู้ชาย เรียกว่า "เขาะน้อย" หรือ "ปีเล็ก" มีระยะเวลา 3 วันซึ่งจะมีวันหยุดพัก 1 หรือ 2 วันในระหว่างช่วงแรกกับช่วงที่สอง ตอนกลางคืนจะมีการเต้นรำ เรียกว่า "ก่าเคอะ" ส่วนในเวลากลางวันนั้นจะมีการละเล่นที่แตกต่างกัน และในเทศกาลนี้มีการ จุดเทียนขี้ผึ้งเพื่อเป็นการสวดอ้อนวอนเทพเจ้า พิธีวันศีล จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ มูเซอแดงจะงดการทำงาน ถือว่าเป็นวันพักผ่อน และงดการฆ่าสัตว์ งดกินเนื้อสัตว์ และการดื่มเหล้า ในตอนกลางคืนจะมีการประกอบพิธีในโบสถ์กลาง หมู่บ้าน และมีการตีกลองเต้นรำด้วยกัน พิธีวันให้ข้าวโพด มูเซอแดงจะถือว่าวันนี้เป็นวันศีลใหญ่ กลางคืนมีการเต้นรำ พิธีวัน ให้แตง ในตอนกลางวันจะมีการรดน้ำอวยพรกัน พิธีกินข้าวใหม่ เป็นการฉลองความสำเร็จในการผลิตข้าว ในแต่ละปีไม่มีการกำหนดวันแน่นอน มีการฆ่าหมู ไก่ เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงฉลองกัน นอกเหนือจากพิธีที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมี พิธีที่เกี่ยวกับปัจเจกชน ซึ่งก็เป็นพิธีที่เกิดจากแต่ละคน ที่ได้ผ่านภาวะในแต่ละช่วงของชีวิต ซึ่งก็ได้แก่พิธีที่ประกอบขึ้น เพื่อให้คลอดบุตรง่าย พิธีเกิด พิธีแต่งงาน และพิธีศพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมูเซอแดง (หน้า 29-34)

Education and Socialization

หมู่บ้านยาป่าแหนมีโรงเรียน 1 แห่ง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาเปิดสอนถึง ป.6 เริ่มทำการสอนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันมีตำแหน่งครูผู้สอน 3 คน ตำแหน่งครูใหญ่ 1 คน นักเรียนที่ไปเรียนก็เป็นเด็กในหมู่บ้านยาป่าแหนทั้งหมด รวม 80 คน และยังมีโรงเรียน ตชด.ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านแอโก๋ ซึ่งเป็นเขตปกครองครอบคลุมหมู่บ้านแสนคำลือ 1 แห่ง เปิดสอน ระดับประถมปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6 สร้างเมื่อ พ.ศ.2510 ปัจจุบันก่อสร้างเป็นอาคารเรียนที่มีความถาวรมาตรฐาน ส่วนครูที่สอน นั้นเป็นครูมาจากตชด. (หน้า 37,51)

Health and Medicine

ความเจ็บป่วยของมูเซอแดงตามความเชื่อดั้งเดิมนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากการถูกทำร้ายจากวิญญาณภูตผี ซึ่งมนุษย์เป็นส่วนประกอบจากธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ดิน หิน น้ำ ลม ไฟ ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยจึงนำ ดิน หิน น้ำ เทียนขี้ผึ้งเพื่อจุดไฟมาถวายเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ซึ่งสิ่งของต่างๆ ที่นำมาจัดต้องทำเป็นคู่ ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกอย่างบนโลกย่อมมีของคู่กัน โดยมีผู้ติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อช่วยให้หายป่วยมีร่างกายแข็งแรง สถานที่ที่ใช้ในการรักษาคนป่วยตามพิธีกรรมของปู่จองนั้นคือศาลาประเพณีซึ่งมีประจำอยู่ในหมู่บ้านยาป่าแหน จากการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้พบที่หมู่บ้านยาป่าแหนในกลู่มมูเซอที่ยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิม ส่วนในบ้านแสนคำลือ ปัจจุบันนี้มีสถานีอนามัยอยู่ 1 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตชุมชนบ้านแอโก๋ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2536 เปิดให้บริการในต้นปี พ.ศ.2537 มีเจ้าหน้าที่ประจำการเป็นผู้ชาย 1 คน (หน้า 52)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของมูเซอแดง นิยมแต่งกายด้วยผ้าพื้นสีดำที่นำมาตัดเย็บเป็นชุดประจำ โดยมีแถบผ้าสีแดงเย็บขลิบชายขอบเสื้อ และผ้าถุง เมื่อผ้าพื้นสีดำถูกตัดด้วยแถบผ้าสีแดงจะทำให้มองเห็นสีแดงเด่นชัดมากขึ้น จึงเรียกมูเซอกลุ่มนี้ว่า "มูเซอแดง" ( หน้า 20) เครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา โดยใช้ประกอบการเต้นรำในช่วงวันพิธีต่างๆ เช่นในวันศีล เทศกาลปีใหม่ วันให้แตง วันให้ข้าวโพด วันกินข้าวใหม่ ซึ่งในวันสำคัญนั้นจะมีการเต้นรำที่ประกอบไปด้วยกลองยาว ฉาบ โหม่ง ซึ่งจะใช้บรรเลงร่วมกับแคนน้ำเต้า ส่วนมูเซอแดงที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องดนตรีแบบตะวันตก คือ กีตาร์ และแตร (หน้า 61)

Folklore

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติมูเซอ โดยผู้เฒ่ามูเซอกล่าวว่า "มีเรื่องเล่าปากต่อปากกันมาหลายชั่วอายุคน ว่าเทพเทวดาสูงสุดของพวกมูเซอ ที่เรียกว่า องค์อื่อซาได้สร้างมนุษย์มูเซอชายและหญิงสองคนไว้ในลูกน้ำเต้า ก่อนที่สัตว์จำพวกนกและหนู จะช่วยกันเจาะแทะผลน้ำเต้าให้มนุษย์ออกมาสู่พื้นโลก ช่วยกันทำการเพาะปลูกพืชผล เผ่าพันธุ์เพิ่มจำนวนคนเรื่อยมา จนถึงพวกเขาปัจจุบันนี้" นอกจากนี้ยังมีนิทานเล่าโดยผู้เฒ่ามูเซอถึงบรรพบุรุษของมูเซอ ว่าสมัยก่อนนานมาแล้วมูเซอได้อาศัยอยู่ในตอนเหนือขึ้นไปจากประเทศไทย มูเซอมีอาณาจักรที่ปกครองตนเองโดยมีผู้นำที่เข้มแข็งสามารถเอาชนะศัตรูชาวจีนที่มารุกรานได้เสมอ ต่อมาชาวจีนใช้อุบายหลอกล่อ จับผู้นำที่ชื่อ "โปโอ๋โล" ไป เมื่อขาดผู้นำที่เข้มแข็งชาวจีนจึงเอาชนะมูเซอได้ และมูเซอที่ต้องการอิสระจึงได้อพยพหนีลงมาทางใต้เพื่อให้รอดพ้นจากการปกครองของจีน (หน้า 15)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ด้านความสัมพันธ์กับชนชาติอื่น ได้กล่าวถึงชาติจีนในฐานะที่เป็นศัตรูผู้มารุกรานมูเซอ (หน้า 15)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางด้านศาสนาและความเชื่อ มูเซอแดงกลุ่มที่นับถือศาสนาดั้งเดิมจะมีความเชื่อเรื่องของผี วิญญาณต่างๆ ที่นำความเจ็บป่วยมาให้ ส่วนกลุ่มที่หันมานับถือคริตศาสนา เห็นว่าเรื่องผีเป็นเรื่องไร้สาระ ความเจ็บป่วยที่ได้รับควรจะรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันเท่านั้น มีการเปลี่ยนรูปแบบการแต่งงานจากการแต่งงานในตอนกลางคืนที่บ้านของฝ่ายหญิง มาเป็นการแต่งงานในตอนกลางวันและประกอบพิธีภายในโบสถ์ เรื่องการเปลี่ยนแปลงในแง่ของหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้น ศาสนาดั้งเดิมจะถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนด้วยวิธีการพูดต่อปากกัน ไม่มีตัวอักษรที่จะใช้ในการเผยแพร่ศาสนา แต่คำสอนของศาสนาคริสต์มีการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนตามคัมภีร์ มีผู้ประกาศศาสนาอย่างชัดเจน คือ พระเยซู ความเปลี่ยนแปลงด้านผู้สืบทอด และความเปลี่ยนแปลงทางด้านศาสนสถาน คือ ศาสนาดั้งเดิมจะมีศาลาประเพณีประจำหมู่บ้าน ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนชาวคริสต์ ก็มีโบสถ์ไว้สำหรับเป็นศูนย์รวมเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาจากเดิมเครื่องดนตรีประกอบจะใช้กลองยาว ฉาบ โหม่ง และแคนน้ำเต้า ซึ่งต่อมาพบว่ามีการใช้ กีตาร์ แตร ในการประกอบพิธีของมูเซอคริสต์ (หน้า 58-62)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

มีการศึกษาเปรียบเทียบผลการวิจัยที่ค้นพบ มาเปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่นที่มีผู้ศึกษาไว้แล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับการเข้ามีส่วนร่วมของชาวเขาในการพัฒนา และเรื่องการแพร่ระบาดของยาเสพติด ในกิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า 66-67) ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ บทบาทของผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ในฐานะผู้ที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนทั้งสองหมู่บ้าน ซึ่งมีความแตกต่างกัน

Map/Illustration

แผนภูมิ- การแตกแขนงออกเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มมูเซอตามวิธีของแบรดเลย์ (Bradley)(หน้า 17), แสดงคำศัพท์ทางเครือญาติในครอบครัวเดี่ยวของมูเซอแดง(หน้า 23), แสดงคำศัพท์ทางเครือญาติในครอบครัวขยายของมูเซอแดง(หน้า 24),แสดงโครงสร้างผู้นำของมูเซอแดง(หน้า 28) แผนผัง-แสดงแบบแปลนบ้านที่อยู่อาศัยของมูเซอแดง(หน้า 26) แผนที่- แสดงเขตอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน(หน้า 40), แสดงพื้นที่กิ่งอำเภอปางมะผ้า(หน้า 41), แสดงหมู่บ้านยาป่าแหน(หน้า 42), แสดงชุมชนบ้านผาเจริญ(หน้า 46), แสดงชุมชนบ้านแสนคำลือ(หน้า 50), แสดงชุมชนบ้านแอโก๋(หน้า 54) ตาราง- เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มดั้งเดิมกับกลุ่มคริสตศาสนา(67) รูปภาพ- ภายในศาลาประเพณีดั้งเดิม(หน้า 74), เครื่องบูชาองค์อื่อซา ตามความเชื่อดั้งเดิม(หน้า 74), ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ของผู้นำศาสนาดั้งเดิม(หน้า 75), สามผู้นำดั้งเดิมแห่งหมู่บ้านยาป่าแหนกับผู้วิจัย(หน้า 75), ชุมชนบ้านผาเจริญ(หน้า 76), สภาพโบสถ์ของชุมชนบ้านผาเจริญ(76), จ่าลา กำลังนำชาวบ้านผาเจริญประกอบพิธีทางคริสตศาสนา(หน้า 77), มิชชั่นนารี มาเผยแพร่ศาสนาที่บ้านผาเจริญ(หน้า 77), ชาวบ้านผาเจริญแต่งงานตามแบบคริสตศาสนา(หน้า 78), ชาวบ้านผาเจริญกับผู้วิจัย(หน้า 78), สามผู้นำคริสตศาสนาแห่งบ้านผาเจริญกับผู้วิจัย(หน้า 79), หิ้งบูชาภายในบ้านที่สร้างขึ้นช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่(หน้า 79), จ่าจ่อย ขณะเผยแพร่คริสตศาสนา(หน้า 80), จ่าจ่อย พร้อมครอบครัว(หน้า 80)

Text Analyst อรทัย มัครมย์ Date of Report 08 ต.ค. 2555
TAG ลาหู่, มูเซอแดง, คริสตศาสนา, การเปลี่ยนแปลง, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, แม่ฮ่องสอน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง