สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาหู่,มูเซอ,ลีซู,โรคเอดส์,ปัญหายาเสพติด,โสเภณี,แม่ฮ่องสอน
Author สารภี ศิลา
Title การศึกษาสภาพปัญหาที่สัมพันธ์กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในหมู่บ้านชาวเขาพื้นที่เขตฯ น้ำลาง กิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลีซู, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 47 Year 2541
Source พิมพ์และเผยแพร่โดย ฝ่ายบริการและเผยแพร่ สถาบันวิจัยชาวเขา บริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถานที่พิมพ์ หจก.นันทกานต์ กราฟฟิคการพิมพ์ ช้างเผือก เชียงใหม่, 47 หน้า
Abstract

รายงานนี้ ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาของหมู่บ้านชาวเขา ในโครงการส่งเสริมให้ชุมชนชาวเขามีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ พื้นที่เขตฯ น้ำล่าง กิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านวนาหลวง ต.ถ้ำลอด, บ้านหนองตอง ต.สบป่อง, บ้านยะป่าแหน ต.ปางมะผ้า, บ้านผาแดง ต.ปางมะผ้า ประชากรประกอบด้วย ชาวเขาเผ่ามูเซอแดง 3 หมู่บ้าน และลีซอ 1 หมู่บ้าน จำนวน 242 หลังคาเรือน 1,230 คน วิธีการที่ใช้ในการสำรวจและศึกษาปัญหา เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกขั้นตอน โดยเริ่มจากการหาอาสาสมัครจากทั้ง 4 หมู่บ้าน อบรมการสำรวจ ประมวลผล และตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกับชุมชน เพื่อเป็นพื้นฐาน ในการดำเนินโครงการต่อไป ผลการสำรวจและศึกษาปัญหา พบว่า ทั้ง 4 หมู่บ้าน มีสภาพปัญหาที่สัมพันธ์กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ดังนี้ คือ 1. สถานการณ์เกี่ยวกับผู้รับเชื้อในชุมชน แม้ว่าจากการสำรวจจะไม่พบว่ามีผู้ป่วยเอดส์ในทั้ง 4 หมู่บ้านก็ตาม แต่ผลจากการ สุ่มตรวจเลือดผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จำนวน 20 ราย จากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ผู้ที่มีเลือดบวก HIV ถึง 19 ราย 2. ปัญหายาเสพติดเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากในพื้นที่มีผู้ติดยาเสพติดถึงร้อยละ 14.07 ของประชากรวัยแรงงาน และเป็นผู้ติดเฮโรอีนถึงร้อยละ 51.54 ส่วนผู้ติดส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุพฤติกรรมการเสพมีทั้งฉีดและสูบ แหล่งค้าขายหาได้ง่ายในพื้นที่ โดยมีผู้มีอิทธิพลจากภายนอกสนับสนุนกิจการนี้ 3. ปัญหาการค้าประเวณี ปรากฏการณ์ที่พบ คือ มีการค้าประเวณีในพื้นที่ทั้งในและนอกชุมชน โดยเฉพาะที่บ้านนาหลวง มีทั้งการประกอบการแบบเปิดเผยถึง 12 ราย และการประกอบการแบบแอบแฝงอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นโดยวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยและปัจจัยเสริมอื่น ๆ ยังเป็นช่องทางให้หญิงสาวในพื้นที่ มีโอกาสถูกชักจูงเข้าสู่อาชีพการค้าประเวณีเพิ่มขึ้น ด้วยกลุ่มผู้ใช้บริการมีทั้งชายในพื้นที่และต่างถิ่น รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ พฤติกรรมการให้บริการพบว่า หญิงเหล่านั้นมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีฉีดและฝังยาคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการมีลูกเท่านั้น และไม่สนใจว่าผู้ใช้บริการจะป้องกันตัวเองจากโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เอื้อต่อการแพร่ระบาดของ โรคเอดส์เป็นอย่างยิ่ง 4.การอพยพแรงงานเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 4 หมู่บ้าน กลุ่มผู้ออกไปทำงานนอกชุมชน มีทั้งหญิง-ชายวัยแรงงาน ส่วนใหญ่จะไม่มีการศึกษาหรือได้รับการศึกษาต่ำ สถานที่ที่ออกไปทำงานส่วนใหญ่คือ จังหวัดเชียงใหม่ ประเภทงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือ สาเหตุของการอพยพแรงงานมีผลเนื่องมาจากปัญหาการใช้พื้นที่ระบบการผลิตเปลี่ยนไป และวัฒนธรรมบริโภคนิยม การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ของกลุ่มผู้ใช้อพยพแรงงานเหล่านี้เอง มีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV เข้าสู่ชุมชน และเผยแพร่ (แพร่ระบาด) ออกไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 5. การรับรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ของชุมชน พบว่า 4 หมู่บ้าน ยังมีการรับรู้เรื่องเอดส์ที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะได้รับการประชาสัมพันธ์ในความรู้เรื่องนี้แล้วระดับหนึ่งก็ตาม แต่ข้อจำกัดเรื่องการรับรู้ภาษาไทย และการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านใกล้ชุมชนเมือง รับรู้เรื่องเอดส์มากกว่ากลุ่มที่อยู่ไกลชุมชนเมือง ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบพฤติกรรมกลับพบว่า กลุ่มที่มีโอกาสรู้เรื่องเอดส์มาก กลับมีพฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV มากกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเอดส์ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากชุมชนยังไม่ตระหนักว่าเอดส์คือปัญหานั่นเอง แนวทางแก้ไขได้มุ่งสู่ประเด็นปัญหาดังกล่าว โดยได้พิจารณาร่วมกับชุมชน และได้ข้อเสนอ ดังนี้ 1. การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่มีความจำเป็น ต้องใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการกับกลุ่มผู้ค้า เนื่องจากองค์กรชุมชน ไม่สามารถต้านทานอิทธิพลและความพยายามในการขยายเครือข่ายของกลุ่มผู้ค้าได้ 2. ในส่วนของผู้ติดยาเสพติด ในประสบการณ์ที่ผ่านมา มีการบำบัดหลายครั้งทั้งในและนอกชุมชน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านกลับไปเสพอีกเกือบทั้งหมด ชุมชนเสนอว่า ต่อไปไม่ต้องช่วยเรื่องการบำบัด แต่ให้ผู้ติดยาเสพติดไปบำบัดเอง จ่ายเงินเอง ชุมชนจะช่วยกันดูแลครอบครัวให้ ถ้ามีความตั้งใจจริงก็ทำได้ 3. กรณีการสร้างกฎเกณฑ์ เพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติดของบ้านวนาหลวง ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในทางปฏิบัติ ผู้นำยังไม่กล้าลงโทษผู้ละเมิดกฎ เนื่องจากเกรงอิทธิพลจากภายนอก สมควรให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมดำเนินการ เพื่อเป็นการปราบปรามระดับหนึ่งร่วมกับชุมชน 4. ปัญหาการค้าประเวณี จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ หากไม่มีกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมา เพราะผู้ประกอบการมีอายุมากขึ้น การป้องกันกลุ่มใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นสามารถกระทำได้โดยจัดกิจกรรมดึงกลุ่มสตรีออกมาจากกลุ่มผู้ค้าประเวณี นอกจากนั้นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าประเวณี ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอดส์ มีความจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยอย่างต่อเนื่อง ประเภทของกิจกรรม ควรเน้นการฝึกอาชีพที่หลากหลาย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์การอพยพแรงงานด้วย 5.ลักษณะการฝึกอาชีพแก่สตรีในชุมชนไม่ควรจำกัดเพียงการฝึกอบรมในพื้นที่ ควรสนับสนุนให้กลุ่มสตรีมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพจากนอกชุมชน เพื่อจะได้เรียนรู้การปรับตัวที่เหมาะสมกับสังคมภายนอกควบคู่กันไปด้วย 6. ในภาวะที่สถานการณ์ในชุมชนวนาหลวงเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด และการค้าประเวณี มีผลให้เด็กได้ซึมซับสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม สมควรให้เด็กในหมู่บ้านมีโอกาสได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดี เข้ารับการศึกษาระบบเรียนประจำ จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ หรือสถานศึกษาภายนอกชุมชน (เพราะเด็กกลุ่มนี้หากอยู่ในชุมชนก็ไม่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดภูมิความรู้ในการดำรงชีวิตที่ดีงามอยู่แล้ว) จนกว่าสถานการณ์ปัญหาในชุมชนจะคลี่คลาย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็มีความจำเป็นต้องทำ 7. การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องเอดส์นั้น กล่าวได้ว่าชาวบ้านวนาหลวงและหนองตอง รับรู้อย่างดีแต่ยังไม่เกิดความตระหนัก จึงทำให้การปฏิบัติเพื่อการป้องกันไม่เกิดขึ้น ส่วนบ้านผาแดงและยะป่าแหนนั้น การรับรู้ยังน้อย เนื่องจากชาวบ้านฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องระดมการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง และติดตามพฤติกรรมควบคู่ไปด้วยโดยใช้วิธีสร้างเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชน ที่มีคุณสมบัติเขียน อ่าน ฟัง และพูดภาษาไทยได้ดี เป็นแนวร่วม (หน้า ก - ค)

Focus

สถานการณ์ปัญหาและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเอดส์ในชุมชนชาวเขาเผ่ามูเซอแดง และเผ่าลีซอ ในพื้นที่เขตฯ น้ำล่าง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ชาวเขาเผ่ามูเซอแดง และเผ่าลีซอ ในพื้นที่เขตฯ น้ำล่าง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านวนาหลวง ต.ถ้ำลอด, บ้านหนองตอง ต.สบป่อง, บ้านยะป่าแหน ต.ปางมะผ้า, บ้านผาแดง ต.ปางมะผ้า

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

พื้นที่ กิ่ง อ. ปางมะผ้า เป็นพื้นที่ของชาวเขาและไทยใหญ่ โดยมีคนพื้นราบหรือคนพื้นเมืองแทรกอยู่ตามหมู่บ้านไทยใหญ่ประปราย ชาวเขาเผ่าที่มีมากที่สุด คือ เผ่ามูเซอ โดยเฉพาะกลุ่มมูเซอแดง ซึ่งอพยพเข้ามาจากพม่า และอยู่ในพื้นที่นี้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่การตั้งหมู่บ้านมีการเคลื่อนย้ายมาเรื่อย ๆ เพื่อหาทำเลที่เหมาะแก่การเพาะปลูก และในระยะหลังชาวบ้านเริ่มมีการตั้งหลักแหล่งอย่างถาวร เนื่องจากไม่มีที่ให้อพยพโยกย้าย ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของกิ่งอำเภอเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวน และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีกฎระเบียบควบคุมทำให้ชาวบ้านไม่กล้าย้ายหมู่บ้านบ่อย ๆ บ้านวนาหลวง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 เป็นหมู่บ้านที่รัฐจัดสรรพื้นที่ให้อยู่ตามนโยบายอพยพชาวเขาลงสู่พื้นราบ กลุ่มแรก มาจากบ้านแสนคำลือ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ อยู่ในเขต ต.สบป่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่ง อ.ปางมะผ้า) และบ้านวังดิน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ต่อมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ได้ชักชวน ชาวบ้านแสนคำลือ แอโก๋ และห้วยแห้ง ยะป่าแหน และผาหมอน ให้มาตั้งบ้านเรือนที่บ้านวนาหลวง พร้อมจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ ซึ่งก็มีชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการชักชวนญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาอยู่ด้วยเรื่อย ๆ จนถึงปี 2530 ประชากรบ้านวนาหลวงขณะนั้น มีจำนวนถึง 105 หลังคาเรือน ต่อมาปี 2532 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในหมู่บ้าน จึงทำให้บางส่วนอพยพกลับหมู่บ้านเดิม จนเหลืออยู่ในหมู่บ้านขณะนั้น 83 หลังคาเรือน บ้านหนองตอง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 โดยมีลีซอจากกึ้ดสามสิบ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน บ้านสะเป และเมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 6 ครัวเรือน ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน พากันมาเลือกพื้นที่นี้ โดยซื้อสิทธิ์จากชาวบ้านสบป่อง 3,500 บาท สาเหตุที่เลือกพื้นที่นี้เพราะอยู่ใกล้ถนนและมีที่ทำกิน ต่อมาก็มีญาติพี่น้องอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน บ้านผาแดง อพยพจากบ้านปางปอนเขต อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2518 ครั้งแรกอพยพมาเพียง 3 ครอบครัว จากนั้นจึงอพยพกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้นำกลุ่มแรกเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน และได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน สาเหตุที่ย้ายมาอยู่พื้นที่นี้ เพราะดินดีเหมาะแก่การปลูกฝิ่น ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์ บ้านยะป่าแหน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุด ตั้งบ้านเรือนอยู่พื้นที่นี้มากว่า 20 ปี และช่วงปี 2529 มีชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกชักชวนไปอยู่ที่บ้านวนาหลวง เพื่ออยู่ในที่รัฐจัดสรรให้โดยคาดหวังว่าจะได้มีที่ทำกินที่แน่นอน และอยู่ใกล้ทางคมนาคม ต่อมาเมื่อเกิด ไฟไหม้ช่วงปี 2532 ก็ทำให้ชาวยะป่าแหนส่วนหนึ่งย้ายกลับบ้านเดิม

Settlement Pattern

บ้านวนาหลวง เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุด มีจำนวน 81 หลังคาเรือน สภาพหมู่บ้าน มีถนนสายสบป่อง - ถ้ำลอด ซึ่งเป็นเส้นทาง ท่องเที่ยวของกิ่งอำเภอตัดผ่านกลางหมู่บ้าน การปลูกสร้างบ้านมีการวางผังอย่างเป็นระเบียบ มีรั้วล้อมรอบ บริเวณบ้านมีพื้นที่ ไว้สำหรับปลูกพืชสวนครัวไว้ส่วนหนึ่งและสำหรับขุดบ่อปลาขนาดเล็กไว้บ่อหนึ่ง ลักษณะบ้านมีความแข็งแรงคงทน ส่วนใหญ่ใช้ไม้จริง มุงสังกะสี 40 หลังคาเรือน มีส้วมราดน้ำ การที่มีสภาพหมู่บ้านที่แข็งแรง คงทน เช่นนี้ ก็เพราะมีการวางผังชุมชนของหน่วยงานที่เข้าไปจัดการให้ชุมชนอพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ตามนโยบายอพยพชาวเขาลงสู่พื้นราบ หมู่บ้านนี้มีไฟฟ้าใช้แล้ว และมีชาวบ้านใช้ไฟฟ้า 31 หลังคาเรือน บ้านหนองตอง เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ จำนวน 56 หลังคาเรือน หมู่บ้านอยู่บนลาดไหล่เขา มีแหล่งน้ำเพื่อบริโภคอยู่เหนือ หมู่บ้านลักษณะบ้านที่หนองตองยังคงลักษณะดั้งเดิมตามแบบของลีซอ คือ มีทั้งแบบปลูกคร่อมดินและยกพื้น โดยมีการวางผังแบ่งส่วนใช้สอย บ้านส่วนใหญ่ใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ มุงหญ้าคา ฝาฟากทาทับด้วยดินผสมฟาง หมู่บ้านนี้มีส้วมใช้ให้เห็นเพียง 3 หลังคาเรือน เป็นส้วมแบบราดน้ำ และมีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านใช้เพียง 12 หลังคาเรือน โดยให้เหตุผลว่าทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก บ้านผาแดง ตั้งอยู่ห่างไกลทางคมนาคม ถนนเข้าสู่หมู่บ้านเป็นถนนที่ชาวบ้านขุดเอง สภาพแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านอยู่อย่างถาวร มีบ้านสร้างด้วยไม้จริง 23 หลัง มุงกระเบื้อง 6 หลัง สังกะสี 17 หลัง นอกจากนั้นสร้างจากวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ โดยมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยตามผังดั้งเดิมของเผ่า และมีผู้สร้างส้วมใช้เพียง 3 หลังเท่านั้น หมู่บ้านผาแดง กำลังเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบทัวร์ป่า เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม และมีถ้ำผาแดง เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว หมู่บ้านนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านแม้จะมีวิทยุสเตอริโอเครื่องใหญ่ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากแต่ก็ยังคงต้องใช้ถ่านไฟฉาย หรือแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน บ้านยะป่าแหน มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างบ้านเรือนมากกว่าหมู่บ้านอื่น โดยมีบ้านมุงหลังคาด้วยกระเบื้องถึง 11 หลังคาเรือนสังกะสี 20 หลังคาเรือน นอกจากนั้นใช้หญ้าคาและพร้อมที่เปลี่ยนแปลงทันทีเมื่อมีเงินเพียงพอ ชาวบ้านบอกว่าสิ่งแรกที่ทุกหลังคาเรือนอยากทำคือ เปลี่ยนหลังคาบ้าน เพราะการมุงหลังคาด้วยหญ้าคาเป็นภาระต้องซ่อมแซมทุกปี ปัจจุบันหญ้าคาหายากขึ้น ประกอบกับมีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อย หลังคาหญ้าคาง่ายต่อการติดไฟ ทำให้ชาวบ้านยะป่าแหนพยายามหาเงินเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสี หรือกระเบื้อง ในหมู่บ้านมีโรงสี 1 โรง ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน ชุมชนที่มีไฟฟ้าใช้และอยู่ใกล้ที่สุดเพียง 2 กม. คือบ้านแม่ละนา ซึ่งเป็น หมู่บ้านไทยใหญ่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีเครื่องอำนวยความสะดวก ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้ชาวบ้านยะป่าแหน เอาอย่าง ซื้อเครื่องปั่นไฟปั่นไฟใช้เอง สำหรับโทรทัศน์วิทยุ และเครื่องซักผ้า (มี 1 หลัง) ชาวบ้านสร้างส้วมราดน้ำไว้ใช้เพียง 2 หลังคาเรือนและส้วมหลุม 2 หลังคาเรือน โดยให้เหตุผลว่า ส้วมราดน้ำ ต้องมีน้ำใช้ราดตลอด สิ้นเปลืองมาก และจะมีปัญหาเวลาหน้าแล้ง (หน้า 3-5)

Demography

บ้านวนาหลวง เผ่ามูเซอแดง มี 81 หลังคาเรือน ประชากร 369 คน บ้านหนองตอง เผ่าลีซอ มี 56 หลังคาเรือน ประชากร 321 คน บ้านผาแดง เผ่ามูเซอแดง มี 46 หลังคาเรือน ประชากร 230 คน บ้านยะป่าแหน เผ่ามูเซอแดง มี 59 หลังคาเรือน ประชากร 310 คน (หน้า 1)

Economy

อาชีพ - แต่เดิมชาวบ้านในพื้นที่นี้ทำการเกษตรเพื่อยังชีพ โดยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ปลูกข้าวโพดไว้เพื่อกินบ้าง เลี้ยงสัตว์บ้างและปลูกฝิ่นไว้ขาย ต่อมาเมื่อมีการปราบปรามการปลูกฝิ่น ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทดแทน เช่น ถั่วแดง งา ถั่วแขก และการปลูกพืชเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้ระบบการผลิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปเป็นการปลูกเพื่อขายมากขึ้น โดยเฉพาะ ในหมู่บ้านหนองตอง ชาวบ้านพากันปลูกถั่วแดง และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ กันมาก จนกระทั่งบางครัวเรือนเลิกปลูกข้าวและทุ่มเท กับการปลูกเพื่อขายเพียงอย่างเดียว ส่วนชาวบ้านวนาหลวงเริ่มละทิ้งการเกษตร และประกอบอาชีพรับจ้างเพียงอย่างเดียวเพื่อหาเงินเป็นรายวัน อาชีพรองของชาวบ้านซึ่งเป็นอาชีพนอกภาคการเกษตร คือ การหาของป่าเพื่อขาย หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของ การรับจ้างเป็นแรงงานในภาคการเกษตรแก่ชุมชนใกล้เคียง รับจ้างเลื่อยไม้ให้กับผู้มีอิทธิพลเขตชายแดนไทย-พม่า นอกจากนั้นการเข้าไปเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ ก็กำลังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังมีอาชีพที่ว่าทำรายได้หมุนเวียนให้กับชาวบ้านมาดั้งเดิม คือ การค้าขายยาเสพติด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคมที่สำคัญ 2 อย่าง คือ ผู้ติดยาเสพติด และการค้าประเวณีของหญิงในชุมชน การเกษตร - วิถีชีวิตของมูเซอและลีซอ จะปลูกข้าวและข้าวโพดเป็นหลัก ควบคู่กันมาตั้งแต่ดั้งเดิม และถือว่าเป็นพืชจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต และจะมีพิธีกรรมรองรับทั้งในการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว แต่ในปัจจุบันปริมาณการปลูกข้าวโพดลดลงมาก เนื่องจากชาวบ้านไม่จำเป็นต้องใช้ข้าวโพดเพื่อบริโภคและเลี้ยงสัตว์ แต่จะเน้นที่พืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด เช่น ถั่วแดง ถั่วแขก งา ขิง แครอท และมีพืชตัวใหม่ที่ชาวบ้านกำลังให้ความสนใจ คือ เผือก ส่วนไม้ผลมีการปลูกไว้หลายชนิด ทั้งที่ปลูกแต่เดิม เช่น ขนุน มะม่วง กล้วย และไม้ผลที่ได้รับการส่งเสริม เช่น ลิ้นจี่ ท้อ ฝ้าย บ๊วย พลับ ยังไม่ได้ให้ผลผลิตที่เป็นรายได้อย่างชัดเจน เพราะส่วนใหญ่ปลูกไว้กินเอง ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า ผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ของชาวบ้านนั้นได้จากไร่นา ปริมาณผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถกำหนดได้ แม้ว่าอยู่ในระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีการใส่ปุ๋ย เพิ่มฮอร์โมน และใช้สารเคมีกำจัดแมลงก็ตาม หากฝนแล้งก็หมายถึงความล้มเหลวของการผลิตในพื้นที่ทันที เพราะพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบชลประทาน เป็นการอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว (หน้า 20-21) ที่มาของรายได้ - บ้านวนาหลวงมีรายได้จากการรับจ้างและเลื่อยไม้ขาย บ้านหนองตองมีรายได้สูงสุดจากการขายผลผลิตทางการเกษตร โดยมาจากพืชที่สำคัญ คือ ถั่วแดง บ้านผาแดงมีรายได้จากหลายแหล่ง ทั้งการเกษตร สัตว์เลี้ยง การรับจ้างและเลื่อยไม้ขาย บ้านยะป่าแหน มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวท่านั้น (หน้า 26)

Social Organization

ไม่มีข้อมูล

Political Organization

บ้านวนาหลวง - เดิมมีผู้นำชุมชน คือ พ่อเฒ่าแสนคำลือ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มตระกูลใหญ่ของชุมชน และเป็นผู้นำชาวบ้านอพยพมาอยู่ที่บ้านวนาหลวง ต่อมาเมื่อพ่อเฒ่าตาย มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการขึ้น ชุมชนในยุคหลังจากพ่อเฒ่าตาย ระส่ำระสาย มีปัญหาแตกความสามัคคีกันโดยตลอด การค้าขายยาเสพติดทำให้มีบุคคลภายนอกเข้าสู่หมู่บ้านมากมาย ปี 2536 ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วย ก็ถูกยิงตาย มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่ พร้อมกับรัฐเข้ามามีบทบาทในการแนะนำชาวบ้านในการคิดเลือกกรรมการหมู่บ้านด้วย หมู่บ้านวนาหลวงจึงมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองชุมชนอย่างเป็นทางการ และมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ร่วมกันพยายามแก้ไขปัญหาชุมชน และกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญของชุมชนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มสตรี ซึ่งมีประธานกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ และมีรองประธานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่จบการศึกษาระดับ ปวช. บ้านหนองตอง - ชาวบ้านหนองตองซึ่งเป็นลีซอ ยังคงมีระบบการอยู่ร่วมกันโดยมีหมอเมืองเป็นผู้นำหมู่บ้านและมีผู้เฒ่าผู้แก่ร่วมกันปกครองหมู่บ้าน ปี 2532 ทางอำเภอได้จัดตั้งหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านหลักและได้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้น แต่ก็ยังคงมีหมอเมืองและกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ร่วมปกครองหมู่บ้านเช่นเดิม และมีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน บ้านผาแดง - กลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่มี 3 ครอบครัว เป็นพี่น้องกันเมื่อมีผู้อพยพเพิ่มมากขึ้น ผู้อพยพเข้ามาคนแรกจึงเป็นผู้นำชุมชน และภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านจนถึงปัจจุบัน ปี 2537 เกิดการขัดแย้งกัน เนื่องจากชาวบ้านไม่พอใจที่ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันยักยอกเงินชุมชน เกิดการแบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม และกลุ่มที่แบ่งแยกออกมาก็เป็นพี่น้องของผู้ใหญ่บ้านปัจจุบันนั่นเอง บ้านยะป่าแหน - เป็นหมู่บ้านที่ยังคงมีรูปแบบการปกครองตามแบบดั้งเดิมปรากฏอยู่ แม้บ้านยะป่าแหนจะมีผู้ใหญ่บ้านเป็นทางการ มีกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้านที่เข้มแข็ง แต่บทบาทของผู้อาวุโสและผู้นำทางศาสนา ยังคงมีอิทธิพลของความศรัทธา และความเชื่อถือของชุมชน (หน้า 30-32)

Belief System

ไม่มีข้อมูล

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชาวบ้านผาแดง ยะป่าแหน และวนาหลวง เป็นเผ่ามูเซอแดงเช่นเดียวกัน และมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ มีการไปมาหาสู่กัน และมีการแต่งงานระหว่างหนุ่มสาว 3 หมู่บ้านนี้เสมอ ส่วนบ้านหนองตอง มีความสัมพันธ์กับหมู่บ้านวนาหลวงในลักษณะหมู่บ้านใกล้เคียง และมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันและชายหนุ่มในบ้านหนองตองมีการเที่ยวเตร่ ไปมาหาสู่สาวๆ ที่บ้านวนาหลวง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเอดส์สูงกว่าหมู่บ้านอื่น (หน้า 2)

Social Cultural and Identity Change

จากการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาของหมู่บ้านชาวเขา ในโครงการส่งเสริมให้ชุมชนชาวเขามีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ พบว่าสาเหตุของการแพร่ระบาดโรคเอดส์ในชุมชนนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการรับวัฒนธรรมบริโภคนิยมจากสังคมภายนอกชุมชน ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนไปนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มามากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ เอชไอวี/เอดส์ในชุมชน จากการสำรวจพบสาเหตุที่นำมาสู่การแพร่ระบาดของ เอชไอวี / เอดส์ ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีดังนี้ 1. ปัญหายาเสพติด เนื่องจากเดิมชาวบ้านเป็นกลุ่มที่ปลูกฝิ่นมาก่อน และใช้ฝิ่นในการบำบัดอาการเจ็บป่วย ต่อมาเมื่อมีเครือข่ายค้าขายฝิ่นกับขุนส่า และมีความสัมพันธ์กันยั่งยืนจนมาถึงการค้าขายเฮโรอีน จึงทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งทั้งค้าและเสพไปด้วย เมื่ออพยพมาอยู่ที่อยู่ปัจจุบันก็ยังคงมีธุรกิจต่อเนื่องกับขุนส่า ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ใหม่ ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จึงเป็นผลให้ชาวบ้านต้องหาทางออกโดยพึ่งพารายได้จากยาเสพติด และลองเสพจนเป็นผู้เสพยาเสพติดไปโดยปริยาย 2. ปัญหาการค้าประเวณี สาเหตุที่เกิดการค้าประเวณีขึ้นในสังคม เนื่องจากมีหญิงจากชุมชนถูกชักจูงให้ค้าประเวณี และหนีกลับเข้าหมู่บ้าน และได้ให้บริการนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป พร้อมทั้งชักชวนหญิงในหมู่บ้านคนอื่นๆ ปฏิบัติตาม โดยมีสมาชิกกลุ่มหญิงในชุมชนที่มีปัญหาครอบครัว เช่น สามีติคุกคดียาเสพติด พ่อแม่ติดยาเสพติด หรือตัวเองติดยาเสพติด เป็นต้น โดยการให้บริการไม่มีเงื่อนไขให้สวมถุงยางอนามัย เพราะกลัวเสียลูกค้า พวกเธอเพียงแต่ป้องกันตัวเองไม่ให้ท้องเท่านั้น นอกจากการค้าประเวณีที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดแล้ว พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์กันโดยอิสระในวัยหนุ่มสาว ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเอดส์ จะเห็นได้ว่า ปัญหาการค้าประเวณีของหญิงในพื้นที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติด วัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยและปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยใช้การค้าประเวณีเป็นทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งก็มีผลสืบเนื่องจากปัญหาเรื่องการทำมาหากินที่เปลี่ยนไปนั่นเอง 3. ปัญหาการอพยพแรงงาน สถานการณ์การออกไปทำงานนอกชุมชน มีทั้งการออกไประยะสั้น ๆ แบบวันต่อวันเพียงเพื่อให้ได้ค่าแรงงานมาดำรงชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกไปรับจ้างในภาคการเกษตรในชุมชนใกล้เคียง และการออกไปในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูก ซึ่งจะมีลักษณะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ ไปเป็นเวลานาน การออกไปรับจ้างลักษณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเหตุผลของการออกไปลักษณะนี้ว่า "ไม่อยากทำไร่อีกต่อไป" "ทำแล้วได้ไม่พอกิน" เป็นต้น (หน้า 33-39)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. หน้า 9 ตารางที่ 3 : แสดงจำนวนประชากรจำแนกตามกลุ่มอายุ เพศใน แต่ละหมู่บ้าน 2. หน้า 10 ตารางที่ 4 : แสดงจำนวนประชากรจำแนกตามเพศและกลุ่มวัย ต่างในแต่ละหมู่บ้าน 3. หน้า 17 ตารางที่ 7 : ครัวเรือนและการถือครองที่ดิน 4. หน้า 22 ตารางที่ 9 : แสดงการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ของแต่ละหมู่บ้าน 5. หน้า 22 ตารางที่ 10 : แสดงผลผลิตตั้งแต่ปี 2535-2537 6. หน้า 24 ตารางที่ 11 : แสดงการลงทุนในการเพาะปลูก 7. หน้า 25 ตารางที่ 12 : แสดงรายได้จากการเกษตร 8. หน้า 26 ตารางที่ 13 : แสดงรายได้และแหล่งที่มาของรายได้ 9. หน้า 33 ตารางที่ 15 : แสดงปัญหาสังคม 10. หน้า 34 ตารางที่ 16 : แสดงข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด 11. หน้า 39 ตารางที่ 17 : การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน 12. หน้า 41 ตารางที่ 18 : แสดงการรับรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์

Text Analyst พิณทอง เล่ห์กันต์ Date of Report 25 เม.ย 2556
TAG ลาหู่, มูเซอ, ลีซู, โรคเอดส์, ปัญหายาเสพติด, โสเภณี, แม่ฮ่องสอน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง