สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ยวน คนเมือง ไทยวน,กระบวนการเรียนรู้,มิติทางวัฒนธรรม,การป้องกัน,การแก้ไข,โรคเอดส์,เชียงใหม่
Author อารยะ ภูสาหัส
Title กระบวนการเรียนรู้และการปรับใช้มิติทางวัฒนธรรมของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยวน ยวน ยวนสีคิ้ว คนเมือง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 88 Year 2544
Source สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
Abstract

ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มีความพยายามจะพัฒนาชนบทด้วยการผนวกเศรษฐกิจชาวบ้านให้เข้าสู่ระบบตลาด และการแย่งชิงทรัพยากรโดยการใช้อำนาจรัฐและพลังของระบบทุนนิยม ได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์พัฒนาและนำไปสู่วิกฤตวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากการครอบงำทางความคิดแบบบริโภคนิยม จนทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าสังคมชนบทไทยกำลังจะล่มสลาย แต่ผลจากการวิจัยครั้งนี้พบว่า ชาวบ้านในสังคมล้านนา หรือ "ชุมชนบ้านทุ่งยาว" ซึ่งเป็นหมู่บ้านชนบทในย่านชานเมืองเชียงใหม่ ที่มีสภาพเสมือนหอพักหรือหมู่บ้านจัดสรรและมีชีวิตชุมชนเหลือน้อยลงไปทุกทีนั้น กลับมีกระบวนการในการเรียนรู้ ปรับตัวและปรับใช้มิติทางวัฒนธรรมชุมชน โดยการผลิตซ้ำ "ความเป็นชุมชน" ขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคนิยม ชุมชนบ้านทุ่งยาวได้จัดตั้ง "กลุ่มและองค์กรชุมชนท้องถิ่น" ขึ้นทั้งในระดับชุมชนและระดับเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชุมชนและป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์และปัญหายาเสพติดในชุมชน จากสภาพเงื่อนไขที่รัฐเองไม่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือและบริการเข้าสู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง มิหนำซ้ำบางขณะยังเป็นฝ่ายดึงดูดทรัพยากรออกไปจากชุมชน ขณะเดียวกันก็เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภคนิยมซึ่งเป็นปัญหาร่วมของชุมชนด้วย โดยพื้นฐานเบื้องหลังการรวมกลุ่ม คือความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเครือญาติและแบบอุปถัมภ์ รวมทั้งอาศัยเงื่อนไขจากภายในและนอกชุมชน ผสมผสานกับมิติทางวัฒนธรรมจากพลังทางความคิดเก่า-ใหม่ อันได้แก่ ความคิดเรื่องทำบุญในพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ความคิดแบบสวัสดิการสังคมและเรื่องมนุษยธรรม จากการผนึกกำลังของชุนชั้นต่าง ๆ ในชุมชนโดยเฉพาะปัญญาชนท้องถิ่น และการสนับสนุนช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ได้เพิ่มศักยภาพของชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาการผลิตทางเศรษฐกิจ และการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ และยาเสพติด เช่น การก่อตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ชมรมผู้เลี้ยงปลาและไก่ การทอดผ้าป่าเอดส์และการจัดตั้งกองทุนทุ่งยาวเกื้อกูล กลุ่มสันทรายรวมใจซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกัลป์เครือข่ายผู้ติดเชื้อระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ อันเป็นเสมือนการสร้าง "ต้นทุนทางชุมชน" ให้แก่ชุมชน โดยมีแนวทางชัดเจนปรากฏขึ้นสองทาง คือ ใช้การมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มโดยใช้แนวทางวัฒนธรรมชุมชน และใช้การมีส่วนร่วมสร้างเวทีการเรียนรู้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ และระบบตลาด ซึ่งช่วยเปิดหรือทำให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งบ่งบอกถึง "สิทธิของชุมชน" และอำนาจการตัดสินใจและจัดการ เพื่อปกป้องพิทักษ์ชีวิต ทรัพย์สินและทรัพยากรของชุมชน เพื่อกลุ่มชนชั้นผู้ด้อยโอกาสซึ่งได้แก่ผู้ติดเชื้อฯและชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบและพัฒนาผิดทาง อย่างไรก็ตาม ขบวนการของชาวบ้านทุ่งยาว ยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้ ปรับตัวต่อแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนอยู่ตลอดเวลา เพื่อส่งเสริมครอบครัว กลุ่มและชุมชนให้ร่วมกันพัฒนาในมิติใหม่ ในรูปการประสานเครือข่ายตามแนวทางของชาวบ้าน ซึ่งมิได้แยกส่วนในการแก้ไขปัญหาของชุมชน แต่มองปัญหาและแก้ไขแบบองค์รวม เชื่อมโยงกัน เพื่อพัฒนาจิตสำนึกเรื่องสิทธิและความรับผิชอบต่อสังคม เพื่อให้ชุมชนและกลุ่มเกิดความเชื่อมั่นในพลังของตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ข้อค้นอีกประการที่สำคัญ ก็คือ "ความเป็นชุมชน" มิได้จำกัดหรือยึดติดอยู่แค่ในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของความเป็นหมู่บ้านเท่านั้น แต่อาจขยายไปได้อย่างกว้างขวาง หากผู้คนในสังคมมีอุดมการณ์หรือมีปัญหาร่วมกัน และตระหนักถึงสิทธิ บทบาทที่จะมีส่วนร่วมในการเข้าไปควบคุมและจัดการกับปัญหานั้น ทั้งในระดับครอบครัว กลุ่ม ชุมชนและเครือข่าย ท่ามกลางความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกทั้งรัฐและระบบตลาด

Focus

กระบวนการเรียนรู้ การปรับตัว และปรับใช้มิติทางวัฒนธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ของชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ป่าเหนือ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

บ้านทุ่งยาวเป็นชุมชน "คนเมือง" หมายถึง ผู้มีรกรากถิ่นฐานเดิมอยู่ในดินแดนล้านนามายาวนาน และมีลักษณะทางวัฒนธรรม ทั้งในแง่ระบบความคิด ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งภาษาเขียนและภาษาพูดที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นอย่างชัดเจน (หน้า 22)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

บ้านทุ่งยาวเป็นชุมชน "คนเมือง" ซึ่งเริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2394 หรือ เมื่อ 150 ปีมาแล้ว ซึ่งคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า บริเวณที่เหล่านี้เคยเป็นป่าไผ่ ป่าไม้สัก ไม้เปามาก่อน จากนั้นมีชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่บริเวณรอบเมืองเชียงใหม่อพยพเข้ามาบุกเบิกทำนาและตั้งขึ้นเป็นหย่อมบ้าน ซึ่งในระยะแรกเป็นการทำนาเพื่อให้พอกินในครอบครัวเท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มขยายที่นาไปตามแรงงานของครัวเรือน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นเปาขึ้นหนาแน่น ชาวบ้านจึงเรียกบ้านนี้ว่าบ้านสันต้นเปา มีแสนหรือท้าวเป็นผู้ปกครอง โดยมีหย่อมบ้านใกล้เคียงอีก 3 บ้าน คือ บ้านต้นม่วง บ้านซาง และบ้านต้นก๊อก ต่อมาเมื่อมีการตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการแล้ว บ้านสันต้นเปา บ้านต้นม่วง บ้านต้นซาง บ้านต้นก๊อก ก็ได้ถูกรวมกันเข้าเป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.สันทรายหลวง มีพ่อหลวงคนแรกชื่อพ่อหลวงแปง บุญชู จนกระทั่งประมาณปี 2523 ในสมัยพ่อหลวงอินทอน ทางราชการได้อนุญาตให้แยกหมู่บ้านสันต้นเปาออกมาต่างหาก เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากและยากลำบากในการปกครองดูแล โดยยังเป็นบ้านหมู่ที่ 1 แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านทุ่งยาว" ตามลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้าน ในขณะที่กลุ่มบ้านต้นม่วง บ้านต้นซางและบ้านก๊อก ยังคงรวมกันในชื่อบ้านต้นซาง หมู่ที่ 7 (หน้า 22-23)

Settlement Pattern

พื้นที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ในแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาทางทิศเหนือ ประมาณ 15 กิโลเมตร มีแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงไหลผ่านหมู่บ้านทางทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านจะเป็นป่าช้า ซึ่งมีไม้เปา ไม้สักและป่าไผ่ขึ้นปกคลุมจนร่มครึ้ม สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของหมู่บ้านล้อมรอบด้วยพื้นที่นา บ่อเลี้ยงปลาและฟาร์มไก่ บริเวณส่วนกลางของชุมชนจะเป็นพื้นที่นาและบ่อเลี้ยงปลาอีก 10 ไร่ สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น ใต้ถุนสูง มีรั้วไม้ หรือรั้วกินได้ มีทางเดินไปมาหาสู่กันได้ตลอดตามแบบบ้านในชนบทภาคเหนือทั่วไป แต่ก็เป็นบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้นก่ออิฐถือปูนแบบสมัยใหม่ ซึ่งมีลักษณะบ้านของผู้มีฐานะดีในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ผลนานาชนิดไว้ในบริเวณบ้านด้วย ถนนภายในหมู่บ้านทุ่งยาวเป็นถนนลาดยางและถนนคอนกรีตกว้าง 3.5 เมตร ซึ่งเชื่อมต่อทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชน โดยทิศเหนือติดต่อกับบ้านแม่แก้ดน้อย หมู่ 5 ต.ป่าไผ่ ทิศใต้ติดต่อกับเขตบ้านต้นซาง หมู่ 7 ต.สันทรายหลวง ทิศตะวันออกติดต่อกับเขตบ้านป่าเหมือด หมู่ 4 ต.ป่าไผ่ และทางทิศตะวันตกติดต่อกับเขตบ้านแม่แก้ดหลวง หมู่ 5 ต.หนองจ๊อม (หน้า 20)

Demography

บ้านทุ่งยาวเป็นชุมชนขนาดเล็ก ประกอบด้วยครัวเรือน 110 ครัวเรือน ประชากร 465 คน แยกเป็นชาย 235 หญิง 230 คน (หน้า 20)

Economy

แต่ดั้งเดิมชุมชนบ้านทุ่งยาวเป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านดำรงชีพด้วยการทำนาทำสวน ปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นหลัก หากมีผลผลิตเหลือจึงจะนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านจำเป็นต้องใช้เงินในการเสียภาษี ในอดีตชาวบ้านทำนาได้ปีละครั้ง โดยอาศัยน้ำจากคลองไส้ไก่ที่กั้นจากแม่น้ำปิงที่อำเภอแม่แตง มาสิ้นสุดที่เมืองวะ ผ่านซอย 15 จากบ้านป่าเหมือด บ้านป่าไผ่เข้าสู่หมู่บ้านทุ่งยาว และซอย 16 จากบ้านสันป่าห้า ที่บ้านเมืองขอน บ้านป่าไผ่ ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อก่อนต้องไปนอนค้างคืนค้างแรมเพื่อ "ตี (สร้าง) ฝายกั้นน้ำ" ขุดคลองส่งน้ำเข้านาในหมู่บ้าน ต้องเสียค่าหลักคนละ 10-20 บาท มีแก่เมืองแก่ฝายเป็นผู้ดูแล ในการทำการเกษตร เดิมชาวบ้านจะมีพื้นที่ทำกินครัวเรือนละประมาณ 15-25 ไร่ และมีการ "เอามื้อเอาวัน" หรือลงแขกระหว่างคนในหมู่บ้าน หรือระหว่างหมู่บ้าน หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปในการทำนา จนกระทั่งเก็บเกี่ยวเสร็จ ปีใดที่เกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านจะยืมข้าวในหมู่ญาติมิตรและระหว่างหมู่บ้าน โดยที่ฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมื่อก่อนไม่ค่อยแตกต่างกันนัก ในกรณีมีปัญหาเรื่องเงินก็จะไปยืมเงินกับ "แก่เกิด" ซึ่งเป็นนายทุนเงินกู้และนายทุนตกเขียวที่บ้านแม่แก้ดน้อย ต.ป่าไผ่ ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10-20 โดยเอาที่นาไปค้ำประกันแต่ไม่เคยปรากฏว่ามีใครถูกยึดที่นาเพราะไม่มีเงินส่งคืน การค้าขายผลผลิตในอดีต โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ชาวบ้านต้องใช้ล้อเกวียนบรรทุกข้าวไปขายให้กับเถ้าแก่ที่โรงสีแสงไทยและโรงสีไทยยิ่งยง และเริ่มมีชาวบ้านตัดไม้ทำฟืนไปขายที่ตลาดและที่โรงบ่มยาสูบ ชาวบ้านบางคนนำผลผลิตจากนา-สวน เช่น ข้าว ผักระ (ผักชะอม) ผักแคบ (ตำลึง) ผักหวาน น้ำผึ้ง เห็ด ปู ปลา กบ หาบไปขายในเมืองที่กาดหลวง หรือ กาดสันป่าตอง ความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อชุมชนขยายตัว จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่นาในแต่ละครอบครัวถูกแบ่งปันในหมู่ลูกหลาน หรือบางครอบครัวไม่มีที่นาเหลือจะแบ่งเป็นมรดกได้อีกเลย บางครอบมีฐานะดีในชุมชนก็มีที่นาเพิ่มขึ้นจากการรับจำนองที่นาของเพื่อนบ้าน ในที่สุดไม่สมารถนำเงินมาใช้คืนได้ แต่ก็มีส่วนน้อยในชุมชนนี้ ทำให้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ที่การเอามื้อเอาแรงค่อย ๆ หายไปจากชุมชน และหายไปในที่สุด เพราะการเอามื้อเอาแรงต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับเพื่อนบ้านมากกว่าทำกันเองในครอบครัว ความเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีการผลิตของชุมชนระลอกที่สอง เริ่มขึ้นในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านเริ่มทำนาปรัง เนื่องจากมีการขุดคลองชลประทานและใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัด โดยชาวบ้านยังคงเสียภาษาค่าน้ำไร่ละ 7-8 บาทต่อปี ให้กับเหมืองฝายด้วย ซึ่งเป็นการผสมผสานของเก่าใหม่เข้าด้วยกัน ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองชุมชนได้เข้าสู่ยุคพืชพาณิชย์ ความเปลี่ยนแปลงระลอกที่สาม เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อประสบปัญหาการผลิต สาเหตุเนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ลุ่มน้ำมักท่วมขัง และมีปัญหาศัตรูพืช ได้แก่ ปู และหอยเชอรี่ กัดกินต้นกล้าและต้นข้าว นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการจำหน่าย ราคาผลผลิตตกต่ำ ถูกพ่อค้ากดราคาพืชผล ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลาในนาข้าว ช่วงปี พ.ศ. 2537 มีบริษัทเอกชน คือ บริษัทซีพี เจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทเบทาโกรมาทำการเกษตรแบบพันธะสัญญากับชาวบ้านเลี้ยงไก่เนื้อ-ไก่ไข่ โดยหักค่าพันธุ์ไก่ -อาหาร-อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ให้ชาวบ้านไปในตอนเริ่มต้น หักลบกลบหนี้ เหลือเท่าไหร่ก็เป็นรายได้ที่ชาวบ้านจะได้รับ ในปัจจุบัน ชาวบ้านประมาณร้อยละ 30 ของครัวเรือนทั้งหมดมีอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่ 3 สายพันธุ์ และเลี้ยงปลา และทำเกษตรในลักษณะผสมผสาน มีการเช่าที่ดินทำกินบ้างแต่ไม่มากนัก ส่วนคนที่ไม่มีที่กิน มักมีที่ดินแค่พอปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย ประมาณร้อยละ 70 ก็จะทำมาหากินด้านอื่น ๆ ได้แก่ อาชีพรับจ้างทั่วไปทั้งในและนอกหมู่บ้าน โดยสรุป กลุ่มคนจน เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินแค่พอปลูกบ้านอยู่อาศัยบางคนเช่าที่ดินบางส่วนของเพื่อนบ้านเพื่อปลูกพืชผักไว้บริโภค แต่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพรับจ้างทั้งในและนอกภาคเกษตร กลุ่มคนฐานะปานกลาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองหรือมีที่ดินแค่พออยู่อาศัย แต่เป็นแรงงานมีผีมือหรือมีการศึกษาที่พอสามารถหางานรับจ้างที่มีรายได้ประจำนอกภาคเกษตรได้ กลุ่มที่สองได้แก่ผู้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองและอยู่อาศัย ประมาณ 3-5 ไร่ ใช้แรงงานในครอบครัวและจ้างเพิ่มเติมบ้างปลูกข้าวหรือข้าวหรือพืชเศรษฐกิจ กลุ่มคนรวย เป็นผู้ที่มีที่ทำกินเป็นของตนเองและมีที่ดินอยู่อาศัยประมาณ 10 ไร่ขึ้นไป เพื่อปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจ ทำบ่อปลาและฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ บางครอบครัวมีสมาชิกทำงานที่มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน เช่น รับราชการ รัฐวิสาหกิจหรือค้าขาย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนฐานะปานกลางและคนรวยในหมู่บ้าน ก็ล้วนมีปัญหาหนี้สินคล้าย ๆ กัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง (หน้า 23-37)

Social Organization

ภายหลังการอพยพเข้ามาอยู่เป็นรุ่นแรกๆของกลุ่มเครือญาติที่ได้มาสร้างบ้านเรือน 4-5 หลังอยู่กลางหมู่บ้าน (ปัจจุบัน) ล้อมรอบด้วยที่นา ต่อมาได้มีการขยายตัวจากการแต่งงานข้ามตระกูลภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้าน โดยตระกูลเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมีอยู่ 5 ตระกูล ได้แก่ ทิมา บุญเรือง อาทิ หมอกแปง และนิรันดร์ ดังนั้นคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จึงมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันด้วยระบบเครือญาติ โดยกลุ่มดั้งเดิมหรือกลุ่มแรกๆที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่กลางบ้านนั้น ชาวบ้านเรียก "กลุ่มบ้านกลาง" ซึ่งจะแวดล้อมด้วยเครือญาติตระกูลทิมา จากนั้นจึงเกิด "กลุ่มบ้านเหนือ" ซึ่งเป็นกลุ่มเครือญาติในตระกูลบุญเรืองและอาทิ "กลุ่มบ้านใต้" เป็นกลุ่มเครือญาติตระกูลหมอกแปงและนิรันดร์ เมื่อมีการแตกลูกออกหลานมากขึ้นพื้นที่ทำกินซึ่งเคยมีอยู่ครัวเรือนละประมาณ 15-25 ไร่ ก็ถูกแบ่งปันให้แก่ลูกหลานตามจำนวนมากน้อยของสมาชิกในครัวเรือน เมื่อชุมชนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ฐานะความเป็นอยู่ซึ่งแต่เดิมไม่ต่างกันมากนัก ก็เริ่มแตกต่างกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมชัดเจนขึ้น ในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคมในครอบครัวและเครือญาติ ชาวบ้านทุ่งยาวมีความเชื่อเรื่อง "ผีปู่ย่า" ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบครอบครัวและเครือญาติในชุมชนชนบทในภาคเหนือ การสืบทอดผีปู่ย่าเป็นการสืบทอดทางผู้หญิงในสายตระกูล หมายถึงเมื่อหญิงชายแต่งงานกัน ฝ่ายชายจะต้องเปลี่ยนมาถือผีฝ่ายหญิง และลูกหลานที่เกิดขึ้นก็จะไหว้ผีปู่ย่าตามสายแม่เท่านั้น ทั้งนี้มีคำอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องถือฝ่ายหญิงเป็นหลักว่า "ส่วนใหญ่แม่ญิงจะแม่คนดูแลจัดการสิ่งต่างๆในครอบครัว มากกว่าป้อชาย ที่มักออกไปทำงานนอกบ้าน" การเลี้ยงผีปู่ย่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนเก้าของทุกปี (ประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี เรียกว่า "เก๊าผี" โดยผู้หญิงที่เป็นผู้นำในแต่ละสายเก๊าผี จะเป็นคนกำหนดวันที่เหมาะสมเอง จากความเชื่อและพิธีกรรมที่ชุมชนปฏิบัติ ชุมชนได้แสดงออกถึงวิถีชีวิตแบบรวมหมู่โดยผ่านบทบาทของผู้นำ ผู้รู้ โดยอาศัยภูมิปัญญาของชุมชน เช่น ปู่อาจารย์ ตั้งข้าว เก๊าผี พ่อบ้าน หมอเมือง ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถระดมชาวบ้านมาร่วมกันทำงานได้ รวมทั้งยังมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ที่เรียกว่า "ขอแรง" เช่น ช่วยสร้างบ้าน ช่วยงานวัด ช่วยงานศพ เป็นต้น (หน้า 26-29)

Political Organization

เมื่อมีการตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ บ้านสันต้นเปา บ้านต้นม่วง บ้านต้นซาง บ้านต้นก๊อก ก็ได้ถูกรวมกันเข้าเป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ต.สันทรายหลวง มีพ่อหลวงคนแรกชื่อพ่อหลวงแปง บุญชู จนกระทั่งประมาณปี 2523 ในสมัยพ่อหลวงอินทอน ทางราชการได้อนุญาตให้แยกหมู่บ้านสันต้นเปาออกมาต่างหาก เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากและยากลำบากในการปกครองดูแล โดยยังเป็นบ้านหมู่ที่ 1 แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านทุ่งยาว" ตามลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้าน ในขณะที่กลุ่มบ้านต้นม่วง บ้านต้นซางและบ้านก๊อก ยังคงรวมกันในชื่อบ้านต้นซาง หมู่ที่ 7 ประมาณ ปี พ.ศ. 2535 ตำบลสันทรายหลวงซึ่งประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสุขาภิบาล และปี พ.ศ. 2541 เปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบลสันทรายหลวง นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน บ้านทุ่งยาวมีผู้นำอย่างเป็นทางการ 5 คน ปัจจุบันบ้านทุ่งยาวมีการบริหารปกครองในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน มีกรรมการทั้งหมด 10 คน โดยมีนางอำพร คำตัน รับตำแหน่งเป็นผู้นำชุมชน (หน้า 22-23)

Belief System

ความเชื่อเรื่องผีปู่ย่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องการ "ผิดผี" หรือกระทำผิดประเพณีโดยมีการล่วงเกินทางเพศต่อหญิงสาวในสายเครือญาติจากฝ่ายชาย ไม่ว่าจะอยู่ในสายเครือญาติเดียวกันหรือต่างเครือญาติ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือถือแขนหรือการมีเพศสัมพันธ์โดยผู้ใหญ่ไม่รู้ ซึ่งถ้าไม่บอกกล่าวหรือทำพิธีขอขมาต่อผีปู่ย่าอย่างถูกต้องแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่า "ผีจะมาทำร้ายคนในบ้านหรือในหมู่ญาติให้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับอันตรายต่างๆ" นอกจากนี้ชาวบ้านทุ่งยาวยังมีการนับถือ "ผีเสื้อบ้าน" โดยเรียกว่า "ผีเจ้าปู่" หรือ "เจ้าบ้าน" ซึ่งถือเป็นผีที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน เป็นหัวหน้าของทุกผีที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เป็นผู้ดูแลปกป้องรักษาทุกคนในหมู่บ้าน ความเชื่อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวบ้านทุ่งยาว คือ ความเชื่อต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งผูกพันคนกับธรรมชาติ โดยเชื่อว่ามีผีเจ้าที่เจ้าทางอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทุ่งนา ป่า น้ำ และสัตว์ ดังนั้นในวัฒนธรรมการผลิตข้าว ชาวบ้านจึงมีการทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบอกกล่าว ขอพรหรือขอขามต่อธรรมชาติหรือสิ่งนั้นๆ ได้แก่พิธีแฮกนา (แรกนา) การเลี้ยงผีฝาย ผีป่าช้า พิธีเรียกขวัญควาย พิธีเรียกขวัญข้าว นอกจากนี้ยังมีประเพณีในรอบปีที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ผสมผสานกันที่เรียกว่า "พุทธแบบชาวบ้าน" (หน้า 26-28)

Education and Socialization

ในท่ามกลางบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนบ้านทุ่งยาว พบว่ามีเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้และปรับตัวของชาวบ้าน ได้แก่การเติบโตและขยายตัวของระบบทุนนิยม ระบบตลาดและลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งประสานสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของภาครัฐมาโดยตลอด เงื่อนไขดังกล่าวเป็นแรงกดดันที่กระทำต่อชุมชนบ้านทุ่งยาว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในวิถีการผลิตและวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน แต่ภายใต้เงื่อนไขข้างต้นก็ได้พบว่าชาวบ้านได้มีการเรียนรู้และปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง โดยมีความพยายามต่อการปรับใช้มิติทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อสู้กับระบบตลาด จุดอ่อนและความไร้ประสิทธิภาพในนโยบายและการทำงานของภาครัฐ ด้วยการรวมกลุ่มกันบนพื้นฐานของความเป็นเครือญาติและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในชุมชน ผนึกกำลังจากฐานความเป็นชนชั้นเดียวกัน มีปัญหาร่วมกัน แก้ไขปัญหาของกลุ่มโดยเฉพาะเรื่องปากท้อง (หน้า 41-44)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อชุมชนขยายตัว จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่นาในแต่ละครอบครัวถูกแบ่งปันในหมู่ลูกหลาน หรือบางครอบครัวไม่มีที่นาเหลือจะแบ่งเป็นมรดกได้อีกเลย บางครอบครัวมีฐานะดีในชุมชนก็มีที่นาเพิ่มขึ้นจากการรับจำนองที่นาของเพื่อนบ้าน ในที่สุดไม่สมารถนำเงินมาใช้คืนได้ แต่ก็มีส่วนน้อยในชุมชนนี้ ทำให้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ที่การเอามื้อเอาแรงค่อย ๆ หายไปจากชุมชน และหายไปในที่สุด เพราะการเอามื้อเอาแรงต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับเพื่อนบ้านมากกว่าทำกันเองในครอบครัว ความเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีการผลิตของชุมชนระลอกที่สอง เริ่มขึ้นในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านเริ่มทำนาปรัง เนื่องจากมีการขุดคลองชลประทานและใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัด โดยชาวบ้านยังคงเสียภาษาค่าน้ำไร่ละ 7-8 บาทต่อปีแก่เหมืองฝายด้วย ซึ่งเป็นการผสมผสานของเก่าใหม่เข้าด้วยกัน ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองชุมชนได้เข้าสู่ยุคพืชพาณิชย์ ความเปลี่ยนแปลงระลอกที่สามเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อประสพปัญหาการผลิต สาเหตุเนื่องจากบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ลุ่มน้ำมักท่วมขัง และมีปัญหาศัตรูพืช ได้แก่ ปูและหอยเชอรี่ กัดกินต้นกล้าและต้นข้าว นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการจำหน่าย ราคาผลผลิตตกต่ำถูกพ่อค้ากดราคาพืชผล ชาวบ้านแก้ปัญหาโดยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลาในนาข้าว ช่วงปี พ.ศ. 2537 มีบริษัทเอกชน คือ บริษัทซีพี เจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทเบทาโกร มาทำการเกษตรแบบพันธะสัญญากับชาวบ้านเลี้ยงไก่เนื้อ-ไก่ไข่ โดยหักค่าพันธุ์ไก่ -อาหาร-อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ให้ชาวบ้านไปในตอนเริ่มต้น หักลบกลบหนี้ เหลือเท่าไหร่ก็เป็นรายได้ที่ชาวบ้านจะได้รับ (หน้า 30-32) จากสภาพปัญหาและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของชุมชน ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงสภาพสังคมวัฒนธรรมของชุมชน แต่การช่วยเหลือคนในชุมชน ชาวบ้านบอกว่ายังอยู่ในสายตาของชาวบ้าน ใครไม่ไปช่วยหากมีงานที่บ้านตัวเองบ้าง ชาวบ้านก็จะไม่ไปช่วย ซึ่งความช่วยเหลือนี้อาจอยู่ในรูปของเงินหรือแรงงาน ซึ่งถ้าไม่สามารถไปด้วยตัวเองได้ ก็อาจจะจ้างคนอื่นไปแทน สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อความเชื่อ พิธีกรรมและภูมิปัญญาด้านต่างๆของชุมชน ชาวบ้านเล่าว่า "สมัยก่อนเวลาจะลงนาจะมีพิธีแฮกนา บัดเดี๋ยวนี้หายไปแล้ว เพราะไร่นามีน้อย ส่วนวัวควายก็จะมีการบูชาควาย เดี๋ยวนี้ก็ใช้รถไถแทนควาย แต่ก่อนนี้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะพิธีรับขวัญข้าว อันนี้ก็หายไปเพราะข้าวมันได้น้อย แต่ก่อนมีพิธีเลี้ยงผีปู่น้ำ ผีเหมืองฝาย ชาวบ้านจะฆ่าวัวเป็นตัว เดี๋ยวนี้มันเป็นลำเหมืองคอนกรีต ที่นาก็กลายมาเป็นบ่อปลา ฟาร์มไก่ ไม่มีใครดูแล การเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก่อนก็มีหมอเมืองคอยดูแล ก็มีการเสกเป่า ใช้สมุนไพรให้ฝนกิน คนสมัยก่อนกลัวโรงพยาบาล ราว 30 ปีก่อนมีหมอเถื่อนมาฉีดยาให้ชาวบ้านตามหมู่บ้าน เริ่มมีโรงพยาบาลที่อำเภอ ต่อ ๆ มา ก็มีอนามัย ชาวบ้านก็หันไปหาหมอสมัยใหม่มากขึ้น (หน้า 38-39) การปรับตัวของชุมชนในบริบทการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญครั้งแรกเกิดขึ้นประมาณปี 2529 เมื่อชาวบ้านต้องประสบปัญหาหนี้สินมากขึ้นจากปัญหาการผลิตและตลาด โดยบางคนได้มีโอกาสได้พบเห็นและเรียนรู้แนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชนอื่น ๆ รวมทั้งมีโอกาสพบปะสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนระดับอำเภอ จึงได้นำมาปรึกษาหารือในแวดวงเครือญาติและกลุ่มผู้ประสบปัญหาเดียวกัน "กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนบ้านทุ่งยาว" การขยายตัวของจำนวนสมาชิกในชุมชนและข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำกิน ขณะที่ชุมชนรอบข้างก็มีสภาพการณ์แบบเดียวกันภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมโดยรวม ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะทำรายได้ให้ครอบครัว ส่งผลให้สมาชิกต้องดิ้นรนต่อสู้หาทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น เช่นการรับจ้างในหรือนอกพื้นที่ นอกจากนั้น การสร้างเขื่อนและคลองชลประทานที่สนับสนุนให้เกิดการปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง การส่งเสริมการปลูกพืช -เลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ทั้งโดนรัฐและระบบตลาด ทำให้ที่ดินถูกใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่ชาวบ้านต้องใช้เงินลงทุนและเวลากับงานการผลิตมากขึ้น โดยที่ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ จึงถูกเอารัดเอาเปรียบและเกิดภาวะหนี้สินจากการเปลี่ยนวิถีการผลิตมากขึ้น การคมนาคมที่สะดวกและความเป็นชุมชนใกล้ตัวเมือง ทำให้ชุมชนได้รับอิทธิพลและผลกระทบจากการเจริญเติบโตของสังคมเมืองง่ายและมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอิทธิพลของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีทางเลือกในการแสวงหาอาชีพมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสได้รับการชักชวนจากเพื่อนบ้านออกไปหางานทำนอกบ้าน นำไปสู่ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในชุมชนในเวลาต่อมา ในท่ามกลางบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนบ้านทุ่งยาว พบว่ามีเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้และปรับตัวของชาวบ้าน ได้แก่การเติบโตและขยายตัวของระบบทุนนิยม ระบบตลาดและลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งประสานสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของภาครัฐมาโดยตลอด เงื่อนไขดังกล่าวเป็นแรงกดดันที่กระทำต่อชุมชนบ้านทุ่งยาว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในวิถีการผลิตและวิถีการดำเนินชีวิต ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน แต่ภายใต้เงื่อนไขข้างต้นก็ได้พบว่าชาวบ้านได้มีการเรียนรู้และปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง โดยมีความพยายามต่อการปรับใช้มิติทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อสู้กับระบบตลาด จุดอ่อนและความไร้ประสิทธิภาพในนโยบายและการทำงานของภาครัฐ ด้วยการรวมกลุ่มกันบนพื้นฐานของความเป็นเครือญาติและความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในชุมชน ผนึกกำลังจากฐานความเป็นชนชั้นเดียวกัน มีปัญหาร่วมกัน แก้ไขปัญหาของกลุ่มโดยเฉพาะเรื่องปากท้อง (หน้า 41-44)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

สถานการณ์เอดส์ในชุมชนบ้านทุ่งยาว ประมาณปี 2533 ปรากฏมีผู้ป่วยเอดส์รายแรกของหมู่บ้านซึ่งไม่เปิดเผยตัว แต่คนในชุมชนรับรู้จากซุบซิบพูดคุยต่อ ๆ กัน และจากการสังเกตอาการของผู้ป่วย การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากในอำเภอสันทราย จากสถิติสรุปสถานการณ์โรคเอดส์ของอำเภอโดยคณะกรรมการอาสาสมัครเอดส์ประจำหมู่บ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 12 ตำบล ตั้งแต่ปี 2531-2543 พบว่ามีผู้ที่ตานด้วยโรคเอดส์ 2,138 คน ผู้ป่วยเอดส์ 278 คน ผู้ติดเชื้อฯ 294 คน และเด็กที่ได้รับผลกระทบ 480 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,188 คน สาเหตุของการติดเชื้อเอดส์ในเพศชายส่วนใหญ่เกิดจากการเที่ยวหญิงบริการ และได้รับเชื้อจากภรรยาที่เป็นหญิงบริการทางเพศมาก่อน สำหรับเพศหญิงพบว่าติดเชื้อจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ การประกอบอาชีพบริการ และการติดจากสามี โดยสรุปแล้วการเสียชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ในชุมชนบ้านทุ่งยาวนับจากปี 2536-2544 รวมทั้งสิ้น 15 คน เฉลี่ยปีละ 1-2 โดยมี 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ การเที่ยวหญิงบริการและการรับเชื้อจากสามี (หน้า 47-48) ปฏิกิริยาของสมาชิกในชุมชนระยะแรกที่มีผู้ติดเชื้อฯในชุมชน จะมีความหวาดกลัว รังเกียจและหวาดระแวง เนื่องจากได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและเห็นภาพจากสื่อต่าง ๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง สมาชิกจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับว่าอึดอัดใจ หวาดระแวง ที่ต้องร่วมรับประทานอาหารจากผู้ติดเชื้อฯ หรือไม่กล้ารับประทานอาหารที่ครอบครัวผู้ติดเชื้อฯนำมาให้ ปฏิกิริยาต่อครอบครัวผู้ติดเชื้อจะได้รับการต่อต้านน้อยกว่าผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยเอดส์โดยตรง ครอบครัวที่ยอมรับว่ามีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อฯและเปิดเผยตัว จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสมาชิกในชุมชน เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้ที่ยอมรับความจริง และจะได้รับการสนับสนุนด้านกำลังมากกว่าด้านอื่น ๆ หากครอบครัวใดไม่ยอมรับ ก็มักจะถูกนินทา และคนในชุมชนจะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเหมือนเป็นการลงโทษทางสังคมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ การที่ชาวบ้านและญาติผู้ป่วยจะให้การยอมรับผู้ป่วยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเดิมของบุคคลนั้นว่าเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ ในระยะแรกชุมชนจะไม่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อฯและผู้ป่วยเอดส์โดยตรง เนื่องจากเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของครอบครัว ญาติพี่น้อง สมาชิกไม่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อฯ แต่ต่อมาสมาชิกในชุมชนมีแนวโน้มที่จะเห็นใจผู้ติดเชื้อฯมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รณรงค์สร้างความเข้าใจและสร้างภาพใหม่ของการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อฯ จนนำไปสู่การมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อฯและผู้ป่วยเอดส์โดยตรง การสนองตอบและเผชิญปัญหาของครอบครัวและชุมชนบ้านทุ่งยาวในอดีตมีความหลากหลายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ ขั้นแรกจะเป็นความพยายามที่จะพึ่งตนเองของผู้ติดเชื้อฯและสมาชิกภายในครอบครัว (ครอบครัว) จากนั้นหากครอบครัวรับภาระไม่ไหว ก็จะหันไปพึ่งพาญาติพี่น้อง (เครือญาติ) ต่อมาจึงพึ่งพาสมาชิกในชุมชนที่มีศักยภาพในสายตาของผู้ติดเชื้อฯ (ผู้อุปถัมภ์) แล้วจึงไปแสวงหาการพึ่งพาจากภายนอก (รัฐหรือองค์กรช่วยเหลืออื่น ๆ) ปัจจุบันชาวบ้านคาดว่าในหมู่บ้านยังมีผู้ติดเชื้อฯที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวอีก 4-5 ราย เนื่องจากคู่สมรสเสียชีวิตกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่จากการสังเกตของชาวบ้านมีอาการคล้ายกับผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์รายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ชาวบ้านคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ยังดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยไม่มีอาการปรากฏ (หน้า 51-52) ความรู้ ความเข้าใจและความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเอดส์และผู้ติดเชื้อฯ ของชาวบ้านจะแตกต่างกันไปบ้าง ยังมีผู้ที่เข้าใจผิดว่าเอดส์ติดต่อได้จากการสัมผัสภายนอก การใช้ภาชนะร่วมกับผู้ติดเชื้อฯ หรือผู้ป่วย เนื่องจากชาวบ้านยังติดหูติดตากับภาพศพของผู้ติดเชื้อที่ห่อด้วยถุงพลาสติก ข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องนำไปเผาทิ้งทั้งหมด บ้านก็ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งหลังเป็นต้น ซึ่งจะปรากฏในคนรุ่นเก่ามากกว่ารุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้รับฟังข้อมูลข่าวสารมากกว่า และมีผลต่อการประพฤติปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อฯ ในแง่ของการยอมรับความช่วยเหลือด้วย การติดเชื้อฯ ของชายชอบเที่ยว ดื่มเหล้าและซื้อบริการทางเพศจากโสเภณี ชาวบ้านเห็นว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมและ "เอาโรคมาใส่ตัวเอง" จึงเป็นปัญหาส่วนตัวของบุคคลนั้น ชาวบ้านจะไม่ให้ความเอ็นดูสงสารเท่าใดนัก แต่จะรู้สึกสงสารมากับลูกและผู้หญิงที่ติดเชื้อฯจากสามี ในฐานะผู้รับเคราะห์กรรมทั้งที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วย และชุมชนควรจะต้องให้ความช่วยเหลือในฐานะปัญหาส่วนรวมของชุมชน ชาวบ้านเห็นว่าการทำบุญกับผู้ติดเชื้อฯ ถือว่าเป็นทำบุญเช่นเดียวกับการทำบุญกับพระสงฆ์หรือทำบุญที่วัด ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับผลบุญข้างหน้า ซึ่งประเด็นนี้เองที่แกนนำชุมชนและ อสม. ได้ร่วมกันคิด หยิบยกศาสนาและการทำบุญมาเป็นตัวระดมทุน จัดตั้งกองผ้าป่าเอดส์และตั้งกองทุนทุ่งยาวเกื้อกูล รวมทั้งปรับเปลี่ยนความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าปัญหาเอดส์เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่เรื่องส่วนรวมที่ชุมชนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วยการหาโอกาสบอกเล่าชี้แจงในงานประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ส่วนงานศพซึ่งชุมชนให้ความสำคัญว่าต้องไปร่วมงานหรือไปช่วยเหลือ รวมทั้งด้วยความเกรงว่าถ้าไม่ไปช่วยงานผู้อื่นแล้ว เมื่อถึงงานของตัวเองหรือครอบครัวก็จะไม่มีใครไปช่วยงานเช่นกัน ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดถ้าไม่ได้ไปร่วมงานก็จะต้องส่งเงินไปช่วยนั้น ก็เป็นเงื่อนไขทางประเพณีวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งที่ชุมชนได้แสดงความช่วยเหลือต่อผู้ติดเชื้อฯและผู้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ (หน้า 76-77) มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคนในชุมชนหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างปราการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์และยาเสพติดในชุมชน ดังนี้ 1. สมาชิกในครอบครัวและเครือญาติที่ผูกพันกันด้วยระบบผีปู่ย่า ต้องช่วยกันดูแล สั่งสอน ตักเตือน สมาชิกในครอบครัว ในเรื่องพฤติกรรมทางเพศ การคบเพื่อน ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่กลุ่มวัยรุ่นทั้งในวัยเรียนและวัยแรงงาน 2. แต่ละครอบครัวในชุมชนต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือขึ้นในชุมชน โดยการ "เป็นหูเป็นตา" สอดส่องดูแลพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยงในชุมชนให้แก่กันและกัน 3. ชุมชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของครอบครัว กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มต่างๆของชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์และปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง 4. ชุมชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม (หน้า 87)

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst พิณทอง เล่ห์กันต์ Date of Report 06 พ.ย. 2555
TAG ยวน คนเมือง ไทยวน, กระบวนการเรียนรู้, มิติทางวัฒนธรรม, การป้องกัน, การแก้ไข, โรคเอดส์, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง