สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง),การเจ็บป่วย,การตาย,เชียงใหม่
Author สมพงษ์ ชีวสันต์
Title การเจ็บป่วยและการตายในกลุ่มชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในอำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 110 Year 2530
Source สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทบวงมหาวิทยาลัย
Abstract

งานชิ้นนี้ศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของชนกะเหรี่ยงที่มีผลต่อการเจ็บป่วยและการตาย ในกลุ่มกะเหรี่ยงในอำเภอสะเมิงและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

Focus

วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของกะเหรี่ยงที่มีผลต่อการเจ็บป่วยและการตาย ในกลุ่มกะเหรี่ยงในอำเภอสะเมิงและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยง ในอำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2528-2529

History of the Group and Community

ไม่มีข้อมูล

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของกะเหรี่ยง มีทั้งอยู่พื้นราบใกล้กับหมู่บ้านคนเมือง (ชาวไทยท้องถิ่นพื้นราบ) และอยู่ตามภูเขาที่อยู่ห่างไกล ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จะปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เห็นแต่ไกลก็รู้ว่าเป็นกลุ่มบ้านกะเหรี่ยง ลักษณะการตั้งหมู่บ้านและแบบบ้านที่ปลูกไม่เหมือนกับชาวเขาเผ่าอื่นๆ บ้านแต่ละหลังจะปลูกเว้นระยะห่างกันพอสมควร ไม่อัดทึบซ้อนกันจนดูหนาแน่น สามารถเดินผ่านระหว่างตัวบ้านได้โดยง่าย แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ก็จะสามารถเดินผ่านระหว่างตัวบ้านได้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน หลายหมู่บ้านมีถนนเข้าถึงได้โดยสะดวกในฤดูแล้ง การเดินทางจะลำบากในฤดูฝน บางแห่งต้องเดินเท้าจากอำเภอกว่าจะถึงใช้เวลา 4-5 วัน หมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ห่างไกล ต้องใช้เวลามากในการเดินทาง กะเหรี่ยงปลูกสร้างบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20-30 หลังคาเรือน (cluster บางแห่งเรียกว่าเป็น "ป๊อก") ที่ตั้งของกลุ่มบ้านตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำท่วม ใกล้ที่ทำกินเป็นที่ราบหุบเขา มักจะทำนาขั้นบันไดหากมีความลาดชันต่ำ ลักษณะการเลือกทำเลที่อยู่อาศัยก็คือ อยู่ใกล้ที่ดินทำกิน ระยะแรกของการมาอยู่ก็ต้องการเพียงมีที่ดินเพื่อปลูกข้าวพอกินเท่านั้น ใครเป็นผู้มาอยู่ก่อนก็มีโอกาสเลือกก่อน ผู้ที่ตามมาอยู่ด้วยในระยะต่อมาก็ย่อมได้ทำเลที่ความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า และห่างที่พักอาศัยออกไป ที่ดินใกล้หมู่บ้านจึงมักเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มาก่อน กลุ่มบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำมีที่นาที่เป็นที่หุบเขา และนาขั้นบันไดหลายแห่งมักจะเป็นกลุ่มบ้านใหญ่จำนวนมากกว่า 30 หลังคา และเป็นหมู่บ้านเก่าที่มีประวัติก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี บางหมู่บ้านมีอายุกว่า 100 ปี หมู่บ้านแบบนี้จะพบไม้ผลยืนต้นที่กินได้ เช่น มะพร้าว มะขาม พื้นที่นาขั้นบันไดที่พบเห็นจึงมักจะเป็นของผู้อยู่ในกลุ่มบ้านเก่าเหล่านี้ กลุ่มบ้านใหม่ที่เกิดขึ้นระยะหลังอายุระหว่าง 10-30 ปี มักเป็นผู้ที่แยกออกไปจากกลุ่มบ้านเก่า โดยที่เมื่อแต่งงานแยกครอบครัวแล้วก็ออกไปปลูกสร้างบ้านอยู่ใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากบ้านที่มีอยู่เดิมมีคนหนาแน่นและแออัด ที่ดินทำกินใกล้บ้านมีจำกัด เมื่อแยกออกไปต้องหาที่ทำกินใหม่ ห่างจากที่พักอาศัยและห่างแหล่งน้ำไปทุกที ระยะแรกของการตัดฟันถากถางก็อาจได้พื้นที่ที่มีความลาดชันต่ำ ต่อมาพื้นที่ที่หาได้ก็มีความลาดชันสูงขึ้น ห่างไกลจากแหล่งน้ำมากขึ้น จนในที่สุดไม่สามารถทำนาขั้นบันไดได้ คงทำได้เพียงหยอดหลุมปลูกข้าวไร่เท่านั้น บางครั้งอยู่ห่างไปพ้นเขตหมู่บ้านของตน ถึงกับต้องขออนุญาตจากผู้นำของกลุ่มบ้านอื่นเพื่อขอเข้าไปทำกินก็มี กะเหรี่ยงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้อนุรักษ์ดินและน้ำได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากการเห็นพฤติกรรมการเพาะปลูก ที่ทำไร่หมุนเวียน บางครัวเรือนมีที่ทำกิน 4-5 แปลง หรืออาจมีมากถึง 8-10 แปลง โดยที่สามารถหมุนเวียนปลูกพืชได้ถึง 10 ปี วิธีการหมุนเวียนนั้นกะเหรี่ยงจะทราบว่าที่ดินแปลงใดเคยได้ใช้ปลูกพืชมานานกี่ปีแล้ว สังเกตเห็นได้โดยง่ายจากขนาดของไม้ป่าที่โตในที่เก่าที่เคยเพาะปลูกมาแล้วเหล่านี้ ดังนั้นเมื่อเว้นระยะไปนานหลายปีก็ย้อนกลับมาฟันถากถางและเผา เพื่อรอฝนหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป การที่เว้นระยะการเพาะปลูกตามแปลงเก่าเป็นเวลานานถือว่าเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำได้เป็นอย่างดีวิธีหนึ่ง กลุ่มบ้านใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังนี้ แม้จะแยกกลุ่มบ้านออกไปก็มักอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มบ้านเดิมนักสามารถเดินไปมาหากันได้โดยใช้เวลาไม่มากนัก ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และต้องการความอบอุ่นจากเครือญาติและเพื่อนบ้าน ดังนั้นเมื่อพบกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงบ้านใดบ้านหนึ่งก็มักจะพบกลุ่มบ้านอยู่ใกล้ ๆ กันอีก การพัฒนาในพื้นที่จึงมักกำหนดว่าเป็นหมู่บ้านหลัก และหมู่บ้านรองหรือบ้านบริวาร ซึ่งเมื่อพิจารณาทางสังคมและวัฒนธรรม หมู่บ้านหลักมักจะเป็นกลุ่มบ้านเก่า เพราะมีคนแก่คนเฒ่าอาศัยอยู่ อาจมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีวัดหรือศูนย์กลางทางศาสนาเป็นแหล่งรวมใจ อาจมีแหล่งทำพิธีของหมู่บ้าน เช่น มีต้นไม้ใหญ่หรือลานกว้าง สำหรับทำพิธีกรรม รวมความได้ว่าศูนย์กลางของวัฒนธรรมและความเชื่อต่างๆ มักรวมอยู่ที่กลุ่มบ้านเก่า ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมในหลายประการทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งบ้านหลักที่กำหนดขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นกลุ่มบ้านเก่าเสมอไป ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลทางการพัฒนา เช่น ความสะดวกของเส้นทางคมนาคม ความเข้มแข็งของผู้นำในกลุ่มบ้าน อยู่ใกล้ศูนย์กลางการพัฒนา หรือเป็นจุดที่แพร่กระจายการพัฒนาออกไปได้โดยง่าย บ้านหลักจึงอาจเป็นกกลุ่มบ้านใหม่ก็ได้ ทุกกลุ่มบ้านจะมีหัวหน้ากลุ่ม บางแห่งก็เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น การพัฒนาจึงนิยมเข้าไปหาผู้นำของกลุ่มบ้าน กะเหรี่ยงนิยมปลูกบ้านกึ่งถาวร ทำด้วยไม้ไผ่ยกพื้นใต้ถุนสูง ที่สูงเกินกว่า 90 เซนติเมตรมีถึงร้อยละ 73.0 จุดประสงค์เพื่อใช้ใต้ถุนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ บางครัวเรือนเลี้ยงวัว-ควายด้วย ถ้าสูงมากๆ มักจะเลี้ยงช้าง ครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ใต้ถุนบ้านพบถึงร้อยละ 69.50 (หน้า 6-8) ก่อนที่จะปลูกบ้านเพื่อพักอาศัยกะเหรี่ยงจะดูทิศทางลมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นที่ราบโล่ง เชิงเขา ลับเหลี่ยมเขา ดังนั้น การวางตำแหน่งของบ้านและฝากั้น จึงมีเหตุผลเพื่อกันลม ซึ่งอาจพัดมาแรงทำให้หนาวได้เป็นอย่างมากในฤดูหนาว โดยเฉพาะกับครัวเรือนที่ขาดเครื่องนุ่งห่มหรือผ้าห่มไม่เพียงพอ ก็อาจจะทำให้เป็นโรคปอดและโรคทางเดินหายใจได้ บ้านที่ยกพื้นนี้จะกั้นฝาสองหรือสามด้าน ภายในซึ่งมีเพียงห้องเดียวเป็นห้องโปร่งโล่ง เป็นห้องนอนและห้องครัวที่เดียวกัน เตาไฟจะสร้างไว้กลางบ้าน ใช้สำหรับหุงต้มอาหาร ให้ความอบอุ่นในเวลานอนกลางคืนและยังใช้ประโยชน์ในการไล่ยุงและแมลงอื่นๆ มิให้รบกวนอีกด้วย เตาไฟนี้นิยมทำด้วยกะบะไม้ใส่ดินเหนียว ใช้หิน 3 ก้อนวางเป็นฐานรับหม้อหรือภาชนะเพื่อปรุงอาหาร ชาวบ้านเรียกกันว่า เตาก้อนเส้าหรือเตาสามเส้าด้านบนของเตาเหนือภาชนะหุงต้มอาหารจะมีชั้นวางของทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นแตะใช้เชือกแขวนห้อยจากหลังคาลงมา ประโยชน์ใช้วางอาหารที่เหลือ เมื่อถึงเวลานอนก็นอนรอบเตาไฟในห้องนี้ มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ปลูกบ้านแล้วแยกห้องนอนและห้องครัวออกจากกัน มีฝากั้นเห็นเด่นชัด หรือยกพื้นต่ำกว่าห้องนอนแล้วดัดแปลงเป็นห้องครัวต่างหาก (หน้า 23-24)

Demography

อำเภอสะเมิงประกอบด้วย 5 ตำบล มีจำนวนหมู่บ้าน 35 หมู่บ้าน จากรายงานของศูนย์มาเลเรียเขต 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 3,932 ครัวเรือน มีประชากร 18,496 คน ร้อยละ 67 เป็นชาวพื้นราบ ที่เหลือร้อยละ 25 เป็นกะเหรี่ยง ร้อยละ 6 เป็น ม้ง และร้อยละ 2 เป็นลีซอ อำเภอแม่แจ่ม ประกอบด้วย 6 ตำบล และ 66 หมู่บ้าน จากรายงานของศูนย์มาเลเรียเขต 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 7,521 ครัวเรือน ประชากรรวม 41,405 คน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นราบร้อยละ 49 กะเหรี่ยงร้อยละ 48 ที่เหลือได้แก่ ม้ง ร้อยละ 2 ลั่วะ ลีซอ และจีนฮ่อ รวมกันร้อยละ 1 การศึกษาครั้งนี้ได้เลือกครัวเรือนกะเหรี่ยงที่เป็นตัวอย่าง จำนวน 600 ครัวเรือน อยู่ในพื้นที่อำเภอสะเมิง 300 ครัวเรือน หรือร้อยละ 38.31 ของครัวเรือนกะเหรี่ยง (783) หรือร้อยละ 7.62 ครัวเรือน ทั้งหมด (3,932) ของอำเภอสะเมิง อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มจำนวน 300 ครัวเรือน เป็นร้อยละ 9.07 ของครัวเรือนกะเหรี่ยง (3307) หรือร้อยละ 3.98 ของครัวเรือนทั้งหมด (7521) ของอำเภอแม่แจ่ม เมื่อรวมทั้งสองอำเภอแล้ว ครัวเรือนตัวอย่างจำนวน 600 ครัวเรือนนี้ถือเป็นร้อยละ 14.66 ของครัวเรือนกะเหรี่ยงที่มีอยู่ และถือเป็นร้อยละ 5.24 จากครัวเรือนทั้งหมด (หน้า 28-29) ในเรื่องภาวะการเจริญพันธุ์ของสตรี พบว่ามีจำนวนการตั้งครรภ์เฉลี่ย 4 ครั้ง จำนวนบุตรเกิดมีชีพ 3.86 คน จำนวนบุตรเกิดมีชีพและขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ เฉลี่ย 3.54 คน ภาวะการตาย เมื่อศึกษาย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคนตายจำนวน 88 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 63.6 เป็นเพศชาย เมื่อจำแนกตามอายุผู้ตายพบว่า ผู้ตายมีอายุต่ำกว่า 1 ปี มีจำนวนมากที่สุด ถึงร้อยละ 34.1 ของผู้ตายทั้งหมดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าอัตราการตายของทารกในหมู่กะเหรี่ยงมีสูง สำหรับผู้ตายในรอบปีที่แล้วมีจำนวน 21 คน ดังนั้นเมื่อคำนวณหาอัตราการตายอย่างหยาบของประชากรในรอบ 1 ปีมีจำนวน 180 คนและตายไปจำนวน 6 คน คงเหลือ 174 คน ดังนั้นเมื่อคำนวณหาอัตราการตายของทารก จึงเท่ากับ 33.33 ต่อจำนวนการเกิดมีชีพ 1,000 คน การวิเคราะห์หาสาเหตุการตายของประชากรเมื่อแบ่งตามองค์การอนามัยโลก (who) พบว่า ตายด้วยสาเหตุโรคติดเชื้อร้อยละ 56.8 สาเหตุอื่นๆ ร้อยละ 21.6 ไม่ทราบสาเหตุร้อยละ 20.5 และตายด้วยโรคระบบหมุนเวียนโลหิตร้อยละ 1.1 การที่มีสาเหตุการตายจากโรคติดเชื้อสูงนั้น น่าจะเป็นโรคติดเชื้อเกี่ยวระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าสภาพสาธารณสุขมูลฐานและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ศึกษาอยู่ในสภาพที่ต่ำมาก สภาพดังกล่าวได้แก่ บ้านอับชื้น สัตว์เลี้ยงใต้ถุนบ้าน การระบายอากาศไม่ดี บริเวณสกปรกและอนามัยส่วนบุคคลไม่ดี ขาดเครื่อง นุ่งห่มในฤดูหนาว ดังนั้นโอกาสการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อจึงมีสูง (หน้า 39)

Economy

อาชีพของกะเหรี่ยง : ในสังคมเกษตรกรรมประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไปถือว่ามีโอกาสทางอาชีพเกษตรกรรมได้ทั้งสิ้น เพราะงานเกษตรกรรมมีงานที่เด็กและผู้ใหญ่ทำได้หลายกรณีด้วยกัน อาทิ การจัดเตรียมและการดูแลผลผลิตสามารถใช้แรงงานเด็กและผู้สูงอายุได้ ในกลุ่มประชากรกะเหรี่ยง 3,976 คน อายุต่ำกว่า 11 ปีมี 1,635 คน ผู้มีอายุ 11 ปีขึ้นไป มีอาชีพหลักทำเกษตรประเภทต่างๆ ถึง 1,977 คน จาก 2,341 คน หรือร้อยละ 84.44 นอกนั้นเป็นอาชีพรับจ้าง ค้าขาย เลี้ยงสัตว์และอื่นๆ ร้อยละ 1.79 ผู้ที่มีอายุ 11 ปีขึ้น กำลังเรียนหนังสือมี 156 ราย หรือร้อยละ 6.67 สำหรับผู้ไม่ได้ทำงานมี 166 รายหรือร้อยละ 7.10 อาชีพรับจ้างและเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพรองของสังคมกะเหรี่ยง ที่นิยมกันมากมีอาชีพรับจ้าง 496 ราย หรือร้อยละ 21.19 เลี้ยงสัตว์ 281 ราย หรือร้อยละ 12.00 การรับจ้างเป็นการทำเมื่อว่างจากฤดูการเกษตร รับจ้างกับหน่วยงานป่าไม้ของทางราชการหรือรับจ้างกับชาวพื้นราบท้องถิ่นและรับจ้างที่อำเภอ เลี้ยงสัตว์ก็มีทั้งเลี้ยงประจำในหมู่บ้านและเลี้ยงปล่อย (หน้า 39) รายได้ : แหล่งที่มาของรายได้ มาจากการเกษตรด้วยการปลูกข้าวและพืชไร่ มีที่ดินทำกินเฉลี่ย 6.65 ไร่ต่อครัวเรือน เป็นที่นาที่ปลูกข้าวนาปีและพืชไร่ ที่สวน และที่สูงเพื่อปลูกข้าวไร่และพืชไร่ ผลผลิตข้าวนาปีเฉลี่ย 33.52 ถังต่อไร่ ในขณะที่ข้าวไร่เฉลี่ย 18.15 ถังต่อไร่ ข้าวจะปลูกไว้เพื่อกินเท่านั้น ส่วนพืชไร่ถ้าเหลือกินก็จะขาย มูลค่าข้าวและพืชไร่เฉลี่ยเท่ากับ 5,758.66 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รายได้เป็นตัวเงินที่ได้มาจากการขายสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย หมู ไก่ มี 174 ครัวเรือน จากอุตสาหกรรมครัวเรือน 17 ครัวเรือน และจากการรับจ้าง 396 ครัวเรือน ซึ่งหมายถึงบางครัวเรือนอาจมีโอกาสมีรายได้จากทุกอย่างที่กล่าวมา ซึ่งเมื่อคำนวณในรูปของ 600 ครัวเรือน แล้วจะเป็นรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ 836.90 อุตสาหกรรมครัวเรือน 8.60 และจากการรับจ้าง 1,673.30 รวมแล้วมีรายได้เฉลี่ย 8,277.46 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ย 1,248.49 บาทต่อคนต่อปี (หน้า 103)

Social Organization

กะเหรี่ยงมีความเป็นอยู่แบบง่าย ๆ อุปนิสัยซื้อสัตย์ ไม่มีการใช้อำนาจกดขี่ซึ่งกันและกัน เชื่อผู้ใหญ่ เคารพต่อกฎของสังคมและเผ่าพันธุ์ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี มีผัวเดียวเมียเดียว ชายจะพูดคุยกับแขกแปลกหน้าผู้มาเยี่ยมเยียน แต่หญิงจะอยู่ห่างและไม่พูด ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ได้จัดวางให้บุคคลในชุมชนมีกิจกรรมตลอดปี ซึ่งทุกคนในหมู่บ้านจะร่วมทำกันโดยตลอด ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นและรักถิ่นฐาน กิจกรรมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพ และแม้แต่กิจกรรมทางการเกษตร จะชื่นบานและแทรกนันทนาการไปในตัว (หน้า 104) กะเหรี่ยงเป็นผู้ที่ยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรมของตนเป็นอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการควบคุมภายในสังคมได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นชาวเขาเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของไทย แต่ไม่ค่อยจะมีปัญหาภายในเผ่าหรือปัญหาที่กระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากอิทธิพลของประเพณีวัฒนธรรมที่มีผลสืบเนื่องมาถึงระบบครอบครัวและการรู้ระเบียบสังคม เช่น ประเพณีการแต่งงาน งานศพ และค่านิยมทางสังคมในบางเรื่อง ประเพณีการแต่งงานที่นิยมผัวเดียวเมียเดียว ทำให้ลดปัญหาทางสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเกี่ยวพันกับสถานภาพในครัวเรือนด้วย ประเพณีของกะเหรี่ยงสามีจะต้องมาอยู่กับทางฝ่ายภรรยา และให้ความเคารพนับถือญาติฝ่ายภรรยาอย่างจริงใจ อย่างไรก็ดี การมาอยู่รวมกันกับภรรยานั้น หลังจากปีหนึ่งผ่านไปแล้วก็อาจแยกบ้านอยู่ได้ โดยสร้างบ้านหลังเล็กๆอยู่ใกล้ๆบ้านพ่อตาแม่ยายนั้น หรือหากไม่แยกบ้านก็ยังอยู่ต่อไปได้ จนกว่าน้องสาวของภรรยาจะแต่งงานและนำสามีมาอยู่ด้วย ฝ่ายเขยคนโตจะต้องแยกบ้านก่อน เพราะในสังคมถือผีของกะเหรี่ยงนั้นในหลังคาเรือนใดก็ตามจะมีหญิงแม่เรือนอยู่ได้เพียง 2 คนเท่านั้น หากการสำรวจใด ๆ พบว่ามีมากกว่า 2 ครอบครัว ในหลังคาเรือนใดที่นับถือผี ก็แสดงว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว เพราะกรณีเช่นนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อหลังคาเรือนนั้นนับถือคริสต์หรือพุทธเท่านั้น และส่วนใหญ่กะเหรี่ยงในประเทศไทยยังนับถือผีอยู่ สถานภาพทางการสมรสของกะเหรี่ยง จะสามารถแยกออกได้ทันทีว่าใครที่โสดหรือแต่งงานแล้ว เพียงแค่ดูการแต่งตัว เพราะสาวโสดจะแต่งกายด้วยชุดทรงกระสอบสีขาว ในขณะที่หญิงแม่เรือนจะต้องแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกาย 2 ชิ้น คือ ผ้าซิ่นสีแดงและเสื้อครึ่งท่อนยาวแค่เอวสีแดง ดำ หรือน้ำเงิน ซึ่งจะประดับประดาด้วยสีแดงของฝ้าย และลวดลายปักลูกเดือย การแบ่งแยกสาวโสดกับหญิงแม่เรือนนี้เป็นไปตามประเพณีอย่างเคร่งครัด ความผิดฐานชู้สาวในสังคมกะเหรี่ยงนั้น เป็นความผิดที่รุนแรงมาก (หน้า 56-57)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ในการนับถือศาสนา กะเหรี่ยงมีทั้งนับถือพุทธ คริสต์และผี ถ้าจำแนกตามครัวเรือนแล้ว พบว่า นับถือพุทธ ร้อยละ 29.2 นับถือคริสต์ ร้อยละ 47.3 และนับถือผี ร้อยละ 23.5 การถือผีจะแทรกอยู่ในกลุ่มผู้นับถือพุทธด้วย ส่วนในกลุ่มนับถือคริสต์ก็จะมีอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อย กะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าทุกที่ทุกแห่งทุกหน จะมีผีปกป้องรักษาอยู่ เช่น มีผีฟ้า ผีป่า ผีน้ำ ผีบ้าน ดังนั้นก่อนทำอะไรจึงต้องเซ่นไหว้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเพาะปลูก จะมีการเซ่นไหว้เป็นขั้นตอนนับตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บเกี่ยวเสร็จ ประมาณหนึ่งในสามยังมีความเชื่อว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นการกระทำของภูตผีปีศาจ มีการเซ่นไหว้ให้อาการป่วยไข้ทุเลาลง รักษาด้วยหมอผีตามด้วยสมุนไพร ถ้าเป็นมากจะเสี่ยงทายด้วยผีกระดูกไก่ การนับถือศาสนาจะมีความสัมพันธ์ไปถึงลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายอย่าง ส่วนประเพณีงานศพนั้น เมื่อมีคนตายก่อนเอาไปฝังจะเก็บศพไว้ที่บ้าน หนุ่มสาวจะพากันไปร้องเพลงสวดศพเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้อยู่ใกล้ชิดกัน ดังนั้นจะเห็นว่าเมื่อมีศพ มีคนไปงานศพ จะเห็นหนุ่มสาวไปสวดศพกันมาก และอยู่ในงานศพเป็นเวลานาน การมัดมือ ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่จะทำปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนมกราคมและครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน โดยผู้สูงอายุหรือผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้มัดมือให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ละหลังคาเรือนจะทำขนม ต้มเหล้า ฆ่าไก่ เพื่อเลี้ยงกัน ทำตามอัตภาพไม่ฟุ่มเฟือย เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนอยู่สุขสบายดี ประเพณีเหล่านี้ถือเป็นเอกลักษณ์ เป็นรูปธรรมและเป็นนามธรรมที่มีอยู่สังคม เป็นการรวมตัวทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง ทำให้บุคคลยึดถือในเผ่าพันธุ์และความถูกต้องที่มีอยู่ อีกนัยหนึ่งคือการสันทนาการอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนข้อห้ามต่างๆ ในสังคมวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาและเหตุผลทางเศรษฐกิจ เคยเลี้ยงผี ก็ลดจำนวนลง รวมทั้งของเซ่นไหว้ก็ลดลงตามไปด้วย เช่น 1.ห้ามคนแปลกหน้าขึ้นบ้านในขณะที่มีการเลี้ยงผี มีผู้เจ็บป่วยอยู่ในบ้าน เมื่อป่วยไข้จะให้กินแต่ข้าวกับเกลือ เนื้อสัตว์ห้ามกินถือว่าเป็นของแสลง โดยเฉพาะพวกเนื้อควาย ไก่ขาว หมูป่า สัตว์ป่า บางครั้งห้ามไปถึงของหมักดองและของเปรี้ยวทุกชนิดรวมถึงอาหารมีกลิ่นอันได้แก่ กะปิ ปลาร้า ปลาทูเค็มอีกด้วย เชื่อว่าถ้ากินเข้าไปจะทำให้ไม่สบายเพิ่มมากขึ้น 2.ห้ามคนแปลกหน้าขึ้นบ้านเมื่อมีการเลี้ยงขวัญ 3.ห้ามคนแปลกหน้าขึ้นบ้าน เมื่อคลอดบุตรหรืออยู่ไฟ สตรีหลังคลอดก็ห้ามกินเนื้อสัตว์ และอาหารมีกลิ่นหรือรสจัด เชื่อว่าจะทำให้เป็นโรคผิดเดือน คงให้กินแต่ข้าวจี่เท่านั้น (61-63,104)

Education and Socialization

จากประชากรตัวอย่าง 3,976 คน เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาจำนวน 3,224 คน หรือร้อยละ 81.09 หากพิจารณาเฉพาะผู้ที่มีอายุตามเกณฑ์ตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป จำนวน 2,761 คน จะมี 2,009 คน หรือ ร้อยละ 72.76 เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษา ในขณะที่เชียงใหม่เมื่อปี 2523 ผู้ไม่มีการศึกษามีเพียงร้อยละ 23.60 แสดงว่าประชากรกะเหรี่ยงมีการศึกษาน้อยมาก หัวหน้าครัวเรือนจำนวน 600 ครัวเรือนพบว่ามีการศึกษาเพียง 49 ครัวเรือนหรือ 8.2 เท่านั้น ที่เหลือไม่ได้เรียน ยิ่งในกลุ่มสตรี ผู้ดูแลเด็ก เป็นสตรีที่มีการศึกษาเพียง 32 ครัวเรือนหรือร้อยละ 5.3 อีกร้อยละ 94.70 ไม่ได้เรียน จากภาวะดังกล่าวจึงพบว่าการติดต่อโดยใช้ภาษาไทยกลางหรือภาษาไทยท้องถิ่นกับสตรีกะเหรี่ยงจึงไม่ค่อยได้ผล มักจะอายและไม่กล้าพูดด้วย แต่ชายจะคลุกคลีกับคนท้องถิ่นมาก จึงทำให้พูดกันง่ายขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมและการพัฒนาด้านต่าง ๆ การศึกษาของกะเหรี่ยงและภาษาที่ใช้จึงควรถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง (หน้า 38-39)

Health and Medicine

การบริการสาธารณสุข : แม้จะมีโรงพยาบาลอำเภอและมีสถานีอนามัยตำบลก็ตาม การบริการสาธารณสุขยังไม่อาจแพร่กระจายถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงได้ทั้งหมด เนื่องจากอยู่ห่างไกลและทุรกันดาร มีปัญหาเรื่องการเดินทางและระยะเวลา ซึ่งก็ได้แก้ไขด้วยการมีพนักงานสุขภาพชุมชน (พสช.) และจัดตั้งสำนักงานสุขภาพชุมชน (สสช.) แต่ก็ยังไม่อาจแพร่กระจายได้อย่างทั่วถึง เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นเป็นที่น่าดีใจว่า กว่าร้อยละ 70 ในกลุ่มผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการแผนใหม่ โดยการรักษาด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและซื้อยากิน สถานที่ไปรักษาก็ได้แก่ สสช. สอ. และ โรงพยาบาล ดังนั้นหากหน่วยงานบริการมีแพร่กระจายอย่างทั่วถึง ย่อมจะมีผลทำให้อนามัยของกะเหรี่ยงดีขึ้นกว่านี้มาก ข้อยืนยันอีกประการหนึ่งก็คือ เกือบร้อยละ 90 ของครัวเรือนกะเหรี่ยงได้รับข่าวสารสาธารณสุขประเภทต่างๆ ซึ่งในกลุ่มของผู้ได้รับข่าวสารนี้กว่าร้อยละ 70 ได้รับโดยตรงจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แสดงว่าแม้ข้อจำกัดด้วยสถานบริการ แต่บุคลากรสาธารณสุขก็ได้พยายามหาวิธีเข้าถึงกะเหรี่ยงเหล่านี้ สุขอนามัยของผู้เป็นมารดาและครัวเรือน : สุขอนามัยของผู้เป็นมารดาทรุดโทรม ทำงานหนัก มีลูกมาก อาหารการกินมีจำกัด บ้านเรือนสกปรก อับชื้น การระบายถ่ายเทอากาศไม่ดี ใต้ถุนบ้านและบริเวณบ้านเต็มไปด้วยมูลสัตว์และขยะใบไม้ ผู้เป็นมารดาต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร ทำงานบ้าน เตรียมอาหารซึ่งก็มีข้อจำกัด มีข้าวเป็นอาหารหลัก กับข้าว คือ ผักป่าชนิดต่าง ๆ แล้วแต่จะหามาได้ บางครั้งอาจได้แก่ นก หนู ตุ่น และสัตว์เล็กอื่น ๆ จากการจับและดักมาเป็นอาหาร หากไม่ได้ ซึ่งบ่อยครั้งพบว่ากินข้าวกับเกลือเท่านั้น และบางบ้านบางมื้ออาจต้องไปขุดหัวไม้ป่าใต้ดินมากินแทนข้าว บ้านซึ่งยกพื้นมีห้องโถงโปร่งโล่งเพียงห้องเดียว มีเตาไฟอยู่บนกะบะดินกลางห้อง ทำอาหารแล้วล้อมวงกินข้าวด้วยกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อถึงเวลานอนก็นอนรอบกะบะไฟนี้ ถ้าหนาวก็สุมไฟให้ความอบอุ่น ด้วยข้อจำกัดของสังคมวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง สุขาภิบาลบ้านเรือนและสุขาภิบาลแวดล้อมต่ำกว่ามาตรฐาน การศึกษาต่ำ และความไม่รู้ในเรื่องการรักษาและพัฒนาอนามัยบุคคล จึงมีผลทำให้สุขอนามัยของผู้เป็นมารดาและครัวเรือนอยู่ในสภาพที่แสนโทรมเมื่อพบเห็น สถานะทางโภชนาการ : ผลการตรวจโดยการวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวม 974 คน แล้วนำมาเทียบเกณฑ์มาตรฐานเด็กไทย สรุปได้ว่าในด้านน้ำหนักถือว่าปกติ ร้อยละ 39.1 ผิดปกติระยะที่ 1 ร้อยละ 39.8 ผิดปกติระยะที่ 2 ร้อยละ 17.2 และระยะที่ 3 ร้อยละ 3.8 ในด้านส่วนสูงให้ผลเป็นร้อยละ 35.4 , 35.0 , 19.0 และ 10.6 ตามลำดับ การเลี้ยงดูทารก : สตรีกะเหรี่ยงเกือบจะไม่มีการฝากครรภ์ เพราะอยู่ห่างไกลจากสถานบริการสาธารณสุข ทำคลอดด้วยหมอตำแย ญาติหรือสามี วิธีตัดสายสะดือยังคงใช้ผิวไม้ไผ่ ผู้เป็นมารดาร้อยละ 95 เชื่อว่านมมารดามีคุณค่าทางอาหารต่อทารกกว่านมสำเร็จรูป เด็กที่เกิดมาจะกินนมมารดาเฉลี่ยนาน 24 เดือน วิธีการหย่านมกว่าครึ่งปล่อยให้เด็กเบื่อไปเอง นอกนั้นให้อาหารอย่างอื่นแทนหรือใช้ของขมทาหัวนม อาหารเสริมทารกและเด็กจะเคี้ยวข้าวผสมเกลือจนเละแล้วป้อน หรือใช้ข้าวบดผสมกล้วย มีบางบ้านให้กินน้ำต้มผัก เนื้อสัตว์จะห้ามกินจนถึงอายุ 2 ปี ภูมิคุ้มกัน : การได้รับภูมิคุ้มกันด้วย DPT, BCG และ POLIO ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า ได้รับ DPT ร้อยละ 75.2 , BCG ร้อยละ 70.2 และ POLIO ร้อยละ 64.5 ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้นัดหมายประชาชนแล้วนำภูมิคุ้มกันประเภทต่างๆ ไปให้บริการถึงหมู่บ้าน การเจ็บป่วยและการตายของทารกและเด็ก : ประชากรตัวอย่าง 3,976 คน มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 974 คน เป็นทารก 174 คน และเด็กอายุ 1-4 ปี 800 คน รอบปีที่แล้วมีป่วย 406 คน ในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ ร้อยละ 54.68 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 29.06 เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร นอกนั้นเป็นโรคผิวหนัง มาเลเรีย กล้ามเนื้อและกระดูก ปวดศีรษะและโรคอื่นๆ การเจ็บป่วย เป็นมากในฤดูฝนและฤดูหนาว โรคระบบทางเดินทางหายใจเป็นมากในกลุ่มผู้ถือคริสต์และถือผี ในขณะที่โรคระบบทางเดินอาหารเป็นมากในกลุ่มผู้ถือพุทธ เมื่อมีทารกและเด็กป่วยจะรักษาด้วยวิธีการแผนใหม่ ร้อยละ 67.00 ด้วยการไปหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และร้อยละ 15.76 ซื้อยาแผนปัจจุบันมากิน สถานที่ไปรักษาคือ สสช. สอ. และ รพ. แล้วแต่ว่าอยู่ใกล้สถานบริการที่ไหน สาเหตุการตายของทารกและเด็กมาจากโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด ตามด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้ด้วยบ้านเรือนสกปรกและอับชื้น การระบายถ่ายเทอากาศไม่ดี ทั้งพฤติกรรมการกินอาหารก็ไม่ถูกสุขลักษณะ (หน้า 105-107)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย ผู้ชายกะเหรี่ยงแต่งกายด้วยกางเกงขากว้าง เป้าหย่อนต่ำสีเข้มหรือสีดำ บางคนจะนุ่งโสร่ง เสื้อที่ใส่เป็นเสื้อที่ทอเอง ไม่มีคอ ไม่มีแขน สีแดงย้อมฝาด อาจรัดเอวด้วยเชือกมีพู่ สาวโสดจะแต่งกายด้วยทรงกระสอบสีขาว ในขณะที่หญิงแม่เรือนจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกาย 2 ชิ้น คือ ผ้าซิ่นสีแดงและเสื้อครึ่งท่อนยาวแค่เอว สีแดง-ดำ หรือสีน้ำเงิน มีลวดลาย อาจประดับด้วยลูกปัด กระโปรงหรือผ้าถุงที่นุ่งจะใช้สีแดงลายตัดขวางและโพกผ้า เมื่อออกจากบ้านไม่ว่าชายหรือหญิงจะสะพายย่ามซื่อทอเอง ส่วนมากจะใช้ผ้าสีแดง เครื่องแต่งตัวเหล่านี้ทำให้เองในครัวเรือน มีความชำนาญในการทอและย้อมผ้า และเห็นว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยงมีเครื่องทอผ้าเกือบทุกหลังคาเรือน การแต่งกายมีแปลกไปบ้าง เช่น เสื้อผ้าปักลวดลายสวยงาม ใส่กำไลมือ กำไลแขน หรือมีเครื่องเงินประกอบการแต่งกายอย่างพิถีพิถันและครบเครื่องนั้น มักจะทำในโอกาสที่มีงานสำคัญในหมู่บ้าน (หน้า 49)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ในเรื่องความสัมพันธ์กับคนภายนอกชุมชน ในสังคมกะเหรี่ยง เมื่อมีผู้มาเยี่ยม โดยเฉพาะชาวพื้นราบและข้าราชการ การรับแขกและการร่วมสนทนา เป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย เพราะนอกเหนือจากการยกย่องในชายผู้เป็นหัวหน้าครัวเรือนแล้วนั้น ยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ชายกะเหรี่ยงได้มีโอกาสออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้านหรือชุมชนหลังเก็บเกี่ยวฤดูกาล ทำให้มีประสบการณ์ในการพูดคุย แลกเปลี่ยนได้มาก ส่วนฝ่ายหญิงก็จะอยู่แต่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหนไกล เวลามีคนแปลกหน้าแวะไปเยี่ยมเยียน พูดคุยที่บ้านจะอยู่ห่างไม่ยอมพูดคุยด้วยแม้ว่าจะรู้ภาษาท้องถิ่นภาคเหนือก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วหญิงกะเหรี่ยงจะไม่รู้ภาษาอื่นเลย และที่สำคัญหญิงกะเหรี่ยงจะไม่ยอมพูดกับชายแปลกหน้าเลย ถ้ายอมพูดก็จะพูดภาษากะเหรี่ยงเท่านั้น (หน้า 49)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ชีวิตประจำวัน ก่อนฟ้าสาง หญิงกะเหรี่ยงจะตื่นขึ้นมาหุงหาอาหาร หรือตำข้าว ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ก็จะตื่นมาล้างหน้าล้าง และทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย เท่าที่มีการสังเกต กะเหรี่ยงจะไม่นิยมแปรงฟัน ทำให้สุขภาพฟันขาดการดูแล จะมีบ้างในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มใช้แปรงสีฟัน และ เนื่องจากร้อยละ 75 ของครัวเรือนกะเหรี่ยงไม่มีส้วม จึงนิยมเดินเข้าไปถ่ายในป่าด้วยความเคยชินและเมื่อถ่ายออกมา หมูและสุนัขก็จะตามไปกิน สำหรับพฤติกรรมการถ่ายเช่นนี้ อาจจะเป็นที่มาของโรคพยาธิและโรคอื่น ๆ ตามมา หากมีการแนะนำและชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่เกิดขึ้น ก็น่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ หลังจากเสร็จภารกิจในช่วงเช้าแล้ว ก็เตรียมตัวออกไปทำงานในไร่นา หรือเข้าป่าเพื่อหาของป่าและอาหาร หากมีเด็กเล็กก็เอาไปด้วย และบางบ้านผู้หญิงจะอยู่ทำงานที่บ้าน เช่น ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ทอผ้า เกือบทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงจะมีเครื่องทอผ้าด้วยมือ การทอผ้าเป็นหน้าที่ของหญิง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะทอกันได้ทั้งนั้น ผ้าทอเหล่านี้จะทอไว้ใช้เอง การทอผ้าของกะเหรี่ยงถือว่าเป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบทอดกันมาจนถึง ในการรับประทานอาหาร จะล้อมวงกินข้าวรวมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมากกินข้าด้วยมือ สังเกตมือจะดำและสกปรก มีบางบ้านที่ใช้ช้อน มีจานไม้ใบใหญ่ขุดตรงกลางเพียงใบเดียว เวลากินจะใช้จานไม้ใบใหญ่นี้ ใส่ข้าวโดยรอบ ตรงกลางวางถ้วยน้ำพริกหรือถ้วยแกง อาหารหลักจะเป็นน้ำพริกกับผัก เด็กกับผู้ใหญ่จะกินอาหารเหมือนกัน บางวันไม่มีอาหาร เด็กก็จะกินข้าวเปล่ากับเกลือ ซึ่งพบได้บ่อยมาก บางครัวเรือนที่ปลูกเผือก มัน มันสำปะหลัง เด็กก็จะได้กินสิ่งเหล่านี้ด้วย อาหารประเภทเนื้อสัตว์นั้น นานๆ ครั้งจะได้บริโภค กะเหรี่ยงไม่นิยมบริโภคเนื้อเป็ด ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้เลี้ยง หรือเนื้อสัตว์ใหญ่เช่น เนื้อวัว ควาย ก็ไม่นิยมบริโภค บอกว่ามีกลิ่นเหม็นสาบ การให้ข้าวเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ จะให้ข้าว "หม้ำ" คือเคี้ยวข้าวในปาก แล้วคายป้อนให้เด็ก ข้าวหม้ำจะเป็นข้าวล้วนผสมเกลือ ไม่มีกับข้าว เพราะกะเหรี่ยงจะไม่ให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์แก่เด็กจนถึงอายุ 2 ขวบ บางหมู่บ้านไม่ให้กินเนื้อสัตว์จนกว่าจะถึง 5 ขวบ บ้านที่ค่อนข้างมีฐานะ เมื่อมีแขกเข้ามาเยี่ยมก็จะทำอาหารที่ค่อนข้างพิเศษกว่าที่กินเช่นปกติในครัวเรือน มีการทำอาหารใส่ถ้วยชามมีจานช้อน และถาดเพื่อใช้สำหรับแขก จะจัดให้กินเฉพาะแขกเท่านั้น ทุกคนในบ้านหรือแม้แต่หัวหน้าครัวเรือนจะนั่งรออยู่ เมื่อแขกกินอิ่มก็จะนำอาหารทั้งหมดไปรวมกัน แล้วนั่งล้อมวงกินด้วยกัน ดังนั้น เมื่อกินข้าวที่บ้านกะเหรี่ยง จะต้องรีบกินโดยเร็ว เพราะอีกหลายคนกำลังรอกินข้าวต่อจากเราอยู่ การนอน กะเหรี่ยงจะนอนตั้งแต่หัวค่ำ ถ้าอากาศเย็นก็จุดไฟ ซึ่งก็เตาหุงข้าวนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่จะมีเตาไฟหรือเตาหุงข้าวอยู่บนกะบะดินกลางห้อง และนอนกันโดยรอบกะบะไฟในห้องโถงใหญ่นั่นเอง ไม่นอนกางมุ้ง ให้เหตุผลว่าอึดอัด ฉะนั้นจึงมีโอกาสเป็นไข้มาเลเรียได้ (หน้า 51-56)

Map/Illustration

สารบัญตาราง ตารางที่ 1.1 หน้า 4 กลุ่มบ้านที่เลือกประกอบการศึกษาในเขต อ.สะเมิง 1.2 หน้า 5 กลุ่มบ้านที่เลือกประกอบการในเขตศึกษาในเขต อ.แม่แจ่ม " 3 หน้า 11 สัตว์เลี้ยงต่างๆ ในชุมชนกะเหรี่ยง " 4.1 หน้า 14 องค์ประกอบทางชาติพันธุ์เป็นรายอำเภอ " 4.3 หน้า 17 การกระจายตัวทางเพศและอายุ " 4.5.1 หน้า 20 ประเภทของการเจ็บป่วย " 4.5.2 หน้า 20 การเจ็บป่วยตามฤดูกาล " 5.1.1.1 หน้า 24 การยกพื้นบ้านเพื่อปลูกบ้าน " 5.1.1.2 หน้า 25 การระบายอากาศภายในบ้าน " 5.1.1.3 หน้า 25 ความสะอาดภายในบ้าน " 5.1.1.4 หน้า 26 ความสะอาดบริเวณบ้านและใต้ถุนบ้าน " 5.1.2.1 หน้า 27 แหล่งน้ำกินน้ำใช้ " 5.1.2.2 หน้า 28 วิธีนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ตามครัวเรือน " 5.1.2.3 หน้า 30 วิธีเก็บน้ำไว้ที่ครัวเรือน " 5.1.2.4 หน้า 30 การปรับปรุงน้ำก่อนใช้ " 5.1.2.5 หน้า 31 ภาชนะที่ใช้ตักน้ำดื่ม " 5.1.3.1 หน้า 32 การมีส้วมประเภทต่างๆ " 5.1.3.2 หน้า 32 การใช้ส้วม " 5.1.4.1 หน้า 33 ประเภทของขยะมูลฝอยจากครัวเรือน " 5.1.4.2 หน้า 34 วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยของครัวเรือน " 5.1.5 หน้า 36 ผลการตรวจทางพยาธิวิทยาของ 169 ครัวเรือน " 5.2.11 หน้า 37 ระดับการศึกษาของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป " 5.2.2.1 หน้า 40 การกระจายตัวทางอาชีพหลักและอาชีพรองของประชากร อายุ11 ปีขึ้นไป " 5.2.22 หน้า 41 การกระจายทางอาชีพของหัวหน้าครัวเรือนและสตรีผู้ดูแลเด็ก ในครัวเรือน " 5.2.3.1 หน้า 43 การกระจายรายได้ตามประเภทที่มาของรายได้ " 5.2.3.2 หน้า 44 สถานภาพการทำงานของประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป " 5.2.3.3 หน้า 44 สถานภาพของการมีรายได้ " 5.2.4.1 หน้า 45 ขนาดที่ทำกิน " 5.2.4.2 หน้า 46 การปลูกข้านาปีและข้าวไร่ " 6.10 หน้า 64 ทัศนคติของครัวเรือนที่มีต่อสุขอนามัยและการเจ็บไข้ " 7.1.1 หน้า 68 สถานที่ไปรักษาเมื่อสมาชิกครัวเรือนเจ็บป่วย " 7.1.2 หน้า 68 ระยะทางจากบ้านไปยังสถานบริการสาธารณสุข " 7.2 หน้า 69 จำนวนครั้งของการไปรับบริการสาธารณสุข " 7.3.1 หน้า 70 จำนวนผู้ป่วยของแต่ละครัวเรือน " 7.3.2 หน้า 72 วิธีการรักษาจำแนกตามชนิดของโรคที่เป็น " 7.3.3. หน้า 72 สถานที่ไปรักษาจำแนกตามชนิดของโรคที่เป็น " 8.3 หน้า 80 ความบ่อยครั้งของอาหารที่กินแต่ละประเภท จำแนกตามอายุ รายปี " 11.1 หน้า 86 การได้รับภูมิกันของ 600 ครัวเรือน " 11.2 หน้า 87 อัตราส่วนร้อยของการได้รับภูมิคุ้มกันแต่ละประเภท จำแนก ตามอายุรายปี " 11.3 หน้า 88 อัตราส่วนร้อยละของการได้รับภูมิคุ้มกันประเภทต่างๆ จำแนก ตามสถานะ " 12.1 หน้า 89 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ตามอายุรายปี " 12.2.1.1 หน้า 90 การเจ็บป่วยประเภทต่างๆ ของทารกและเด็ก " 12.2.1.2 หน้า 91 อัตราส่วนของการป่วยประเภทต่างๆ ในกลุ่มของทารกและ เด็กที่ป่วย " 12.2.2.1 หน้า 91 การเจ็บป่วยตามฤดูกาล " 12.2.2.2 หน้า 92 การเจ็บป่วยประเภทต่างๆ จำแนกตามฤดูกาล " 12.2.3.1 หน้า 93 การเจ็บป่วยตามจำแนกตามการนับถือศาสนา " 12.2.3.2 หน้า 94 ประเภทของการเจ็บป่วยจำแนกตามการนับถือศาสนา " 12.2.4.1 หน้า 96 วิธีการรักษาจำแนกตามประเภทของการเจ็บป่วย " 12.4.2.2 หน้า 96 สถานที่รักษาจำแนกตามประเภทของการเจ็บป่วย " 12.3.2 หน้า 97 อัตราส่วนร้อยของการตายภายในรอบ 5 ปีของทุกกลุ่มอายุ " 12.3.3 หน้า 98 สาเหตุการตายจำแนกตามกลุ่มอายุ สารบัญแผนที่และแผนภูมิ 1.1 หน้า 2 แผนที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยแสดงพื้นที่การศึกษา 1.2 หน้า 3 แผนที่แสดงหมู่บ้านและเส้นทางคมนาคม 1.3 หน้า 18 แผนที่ปิรามิดประชากร สารบัญรูป หน้า 12 การตั้งถิ่นฐาน หน้า 12 นาขั้นบันได หน้า 13 การเลี้ยงหมูแบบปล่อย หน้า 13 บ้านใต้ถุนสูง หน้า 29 น้ำห้วย น้ำบ่อ โอ่งน้ำ กระบวย หม้อน้ำ หน้า 38 โรงเรียน หน้า 48 การแต่งกายของกะเหรี่ยง หน้า 48 สาวโสดแต่งกายด้วยผ้าสีขาว หน้า 54 ตำข้าว ฝัดข้า ทอผ้า หน้า 66 เด็กน้อยที่ลานดิน หน้า 99 ครัวในห้อง หน้า 100 บ้าน

Text Analyst พิณทอง เล่ห์กันต์ Date of Report 10 ก.ย. 2555
TAG โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), การเจ็บป่วย, การตาย, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง