สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,ประวัติศาสตร์,ความสัมพันธ์,คริสตจักร,เชียงรุ่ง,สิบสองปันนา,ภาคเหนือ
Author พรรณี อวนสกุล, รัตนาพร เศรษกุล, และ พงษ์ธาดา วุฒิการณ์
Title ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรไทลื้อเชียงรุ่ง สิบสองปันนา กับ คริสตจักรภาคเหนือในประเทศไทย อดีต - ปัจจุบัน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยพายัพ Total Pages 132 Year 2541
Source คณะมนุษยศาสตร์ คณะศาสนศาสตร์แมคกิลวารี มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาในหลายประเด็น ได้แก่ การเผยแพร่คริสต์ศาสนาในดินแดนล้านนาภาคเหนือของประเทศไทย การเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสิบสองปันนา ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรเชียงรุ่งกับคริสตจักรภาคเหนือของประเทศไทยในฐานะที่เป็น คริสตจักรคนไทด้วยกัน และวิเคราะห์คริสต์ศาสนาในสิบสองปันนา โดยเน้นที่คริสต์ศาสนาในเมืองเชียงรุ่ง อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาพบว่า การก่อตั้งคริสตจักรเชียงรุ่งเป็นการขยายงานพันธกิจของคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทย โดยการดำเนินงานของคณะมิชชันนารีกลุ่มเดียวกับที่ก่อตั้งคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทย และภายใต้นโยบายการขยายงานเผยแพร่คริสต์ศาสนาในกลุ่มคนไทประเทศต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทยกับคริสตจักรเชียงรุ่ง มีลักษณะแบบคริสจักรพี่กับคริสตจักรน้อง โดยคริสตจักรเชียงรุ่งจะได้รับแบบแผนและความช่วยเหลือจากคริสตจักรในภาคเหนือของไทยทั้งในด้านการบริหาร บุคลากร รูปแบบการบริหารงาน ตลอดจนกิจกรรมบริการสังคม นอกจากนี้ ผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนาในเชียงรุ่งส่วนใหญ่ ยังเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมใกล้เคียงกับผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนาในล้านนาด้วย ส่วนการบริหารงานปกครองคริสตจักรเชียงรุ่งนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของมิชชันนารีในประเทศไทยมากกว่า เนื่องจากสะดวกในการติดต่อและเป็นไทด้วยกัน การเผยแพร่ศาสนาประสบความสำเร็จในกลุ่มคนชั้นล่างของสังคมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชนชั้นปกครองและไทลื้อสามัญไม่ให้ความสนใจต่อคริสต์ศาสนานัก และยังมองว่า ชุมชนคริสเตียนเป็นชุมชนของชนกลุ่มน้อย ที่มีจารีตประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่ในสังคมด้วย (หน้า 10)

Focus

ศึกษาประวัติการก่อตั้ง พัฒนาการ ความสัมพันธ์กับคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทย การสืบสานความเชื่อทางศาสนาในช่วงที่ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบคอมมูนิสต์และปิดกั้นเสรีภาพทางศาสนา และสถานภาพของคริสตจักรไทลื้อ เมืองเชียงรุ่ง แคว้นสิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ คือ "ไทลื้อ" เมืองเชียงรุ่ง แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน, "ไท" หมายถึง กลุ่มชนที่มีภาษาอยู่ในตระกูล "ไท" หรือ "ไต" ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทยและลาว นอกจากนี้ยังมีคนไทที่อาศัยอยู่ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย รัฐฉานทางตอนเหนือของประเทศพม่า แคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของประเทศจีน และทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามด้วย ในปัจจุบันมี "คนไท" อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ประมาณ 70 ล้านคน มีกลุ่มภาษาไทที่เป็นภาษาถิ่นย่อยประมาณ 50 ภาษาถิ่น มีความเป็นอยู่ รูปร่างหน้าตาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน (หน้า 4-5)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาที่ไทลื้อคริสตจักรเชียงรุ่ง สิบสองปันนาใช้กันทั่วไป คือ ภาษา "ไทลื้อ" อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันจีนได้กำหนดนโยบายให้ใช้ระบบการศึกษาแบบจีนเท่านั้น ส่งเสริมการใช้ภาษาจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในชีวิตประจำวันและการติดต่อราชการ แม้ในปัจจุบัน คนไทลื้อรุ่นใหม่จะยังคงพูดภาษาไทลื้อได้ แต่ก็ไม่สามารถอ่านภาษาไทลื้อได้ ปรากฏการณ์นี้จะพบได้ที่คริสตจักรไทลื้อ บ้านโยน ส่วนคริสตจักรไทลื้อบ้านนาแล เมืองขอนนั้น แม้คนรุ่นใหม่จะได้รับการศึกษาแบบจีนเช่นกัน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ยังสามารถอ่านภาษาไทลื้อได้ (หน้า 94-95)

Study Period (Data Collection)

คณะวิจัยระบุว่าได้เดินทางไปทำวิจัยภาคสนามที่แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 15 - 26 พฤษภาคม 2536 และระหว่างวันที่ 16 - 25 เมษายน 2537 (หน้า 4) งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เป็นเล่มในปี 2541 ดังนั้น จึงแสดงว่า ต้องศึกษาอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2541

History of the Group and Community

ประวัติศาสตร์ของคริสตจักรเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ประเทศจีน แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้ - ช่วงแรก คือ ยุคแห่งการบุกเบิกและเผยแพร่พันธกิจ เริ่มตั้งแต่การเดินทางสำรวจดินแดนสิบสองปันนาของศาสนาจารย์ ดร.แมคกิลวารีและคณะเมื่อ ค.ศ. 1893 การก่อตั้งคริสตจักรเชียงรุ่งใน ค.ศ. 1917 จนกระทั่งเมื่อพรรคคอมมูนิสต์จีนได้ชัยชนะ และได้ทำการจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศใน ค.ศ.1949 - ช่วงที่สอง คือ ยุคสังคมคอมมิวนิสต์ ภายใต้ความเชื่อและอุดมการณ์มาร์กซิสม์ ทุกศาสนาถูกขจัดกวาดล้างออกจากสังคม ผู้ที่ยังคงยึดมั่นในความเชื่อและศรัทธาในศาสนา จำเป็นต้องหลบซ่อนการเรียนรู้และการปฏิบัติศาสนพิธี ภายใต้บริบทเช่นนี้ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรเชียงรุ่งกับคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทยในยุคนี้ ต้องหยุดชะงักลง เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย - ยุคที่สาม คือ ยุคแห่งการฟื้นฟูและสืบสานความสัมพันธ์ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้เปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ คือ การเปิดประเทศให้มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจและศาสนา นโยบายการเปิดเสรีภาพทางศาสนาในปี ค.ศ. 1978 ส่งผลให้มีการฟื้นฟูการนับถือศาสนาขึ้นมาใหม่ในสังคมจีน ภายใต้บริบทเช่นนี้ คริสตจักรเชียงรุ่งก็ได้รับการฟื้นฟูก่อตั้งขึ้นอีกครั้งโดยชาวคริสเตียนไทลื้อเชียงรุ่ง กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูคริสตจักรเชียงรุ่งก็คือ กลุ่มสตรีคริสเตียนทั้งเก่าและใหม่ (หน้า 131) พร้อม ๆ ไปกับการสืบสานความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรเชียงรุ่ง กับคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทยในรูปของการติดต่อและช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูคริสตจักร (หน้า 126) ในปัจจุบันนี้ เมืองเชียงรุ่งได้ถูกเปิดให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยใช้วัฒนธรรมไทลื้อเป็นสิ่งจูงใจนักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ได้ทำวิถีชีวิตของไทลื้อเปลี่ยนแปลงไปด้วย คริสตจักรเชียงรุ่งที่ยังเหลืออยู่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คริสตจักรบ้านโยน ซึ่งเป็นคริสตจักรในเมืองเชียงรุ่งและคริสตจักรบ้านนาแล เมืองขอน และคริสตจักรเมืองยาง ซึ่งเป็นคริสจักรนอกเมืองเชียงรุ่ง (หน้า 91) อย่างไรก็ตาม ใน 2 กลุ่มนี้ ชุมชนคริสเตียนบ้านโยน คือ ศูนย์กลางของเมืองเชียงรุ่ง ที่ทำให้ชาวคริสเตียนยังคงได้รับประโยชน์จากการใช้ที่ดินของหมู่บ้านในการลงทุนทำธุรกิจประเภทต่างๆ นำผลกำไรบางส่วนมาสนับสนุนศาสนาและทำให้ชุมชนคริสเตียนบ้านโยนในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงชุมชนทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีกลิ่นอายของความเป็นชุมชนทางธุรกิจสมัยใหม่อีกด้วย (หน้า 132)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

งานวิจัยระบุเพียงว่า จากการสำรวจใน พ.ศ. 2533 พบว่า ไทลื้อในสิบสองปันนา ในประเทศจีน มีจำนวนประชากรประมาณ 270,405 คน (หน้า 104)

Economy

ในอดีต ไทลื้อ สิบสองปันนา มีระบบเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากไทลื้ออาศัยในบริเวณเป็นที่ราบลุ่มขนาดเล็ก เต็มไปด้วยป่าเขา ทำให้ไทลื้อมีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดและพึ่งพิงกับธรรมชาติ ที่ตั้งของเมืองอยู่ห่างกัน ทำให้ระบบการผลิตของไทลื้อ สิบสองปันนา ยังคงเป็นระบบเศรษฐกิจแบบธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น การค้าในระดับสำคัญยังคงจำกัดอยู่ในหมู่คนต่างถิ่นและชนชั้นสูง การค้าในระดับล่างยังเป็นการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นในการดำรงชีวิต และการผลิตในครัวเรือน สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ มีมาจนถึง ปี ค.ศ. 1940 (หน้า 43) ในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจของชุมชนคริสเตียนบ้านโยน มีการปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับระบบเศรษฐกิจกระแสทุนนิยมที่เข้ามาสู่เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ได้อย่างเหมาะสม สภาพชุมชนบ้านโยนมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนชุมชนอื่นในเชียงรุ่ง มีถนนสายหลักราดยางแอสฟัลต์กว้างประมาณ 8 เมตร ตัดผ่านชุมชนบ้านโยนมีโรงแรมใหญ่ตั้งอยู่ 3 หลัง 1 ใน 3 พัฒนามาจากบ้านพักของมิชชันนารีเดิม อีกแห่งเป็นการสร้างโรงแรมในพื้นที่ของโบสถ์บ้านโยนโดยให้เช่าพื้นที่แก่นักธุรกิจ และอีก 1 หลังสร้างขึ้นในที่ดินของนายบ้านโยน ในปัจจุบัน ชาวบ้านโยนทำธุรกิจหลายประเภท เช่น นายหน้าขายรถ เปิดร้านขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว เปิดร้านอาหาร แบ่งพื้นที่พักอาศัยให้ชาวจีนฮ่ออพยพเช่าอาศัย มีช่องทางของการหารายได้, สะสมเงิน, และการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกระแสทุนอย่างดี ในขณะที่ชุมคริสเตียนบ้านนาแล เมืองขอน ยังคงดำรงความเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการทำงานหนักในไร่นา ขายผลผลิตได้และนำเงินมาปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มั่นคง (หน้า 118-119)

Social Organization

กลุ่มครอบครัวและเครือญาติของคริสเตียนบ้านโยน เชียงรุ่ง และคริสเตียนบ้านนาแล เมืองขอนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ผู้ชายซึ่งเป็นผู้นำคริสเตียนในรุ่นแรก มักจะเสียชีวิตก่อนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ชายสามคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันได้หันไปนับถือศาสนาพุทธแล้วสองคน นอกจากนี้ภายในกลุ่มผู้นำคริสเตียน ยังมีความสัมพันธ์ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ และสายสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการเป็นพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้อง ด้วย จากสภาพดังกล่าวทำให้ผู้นำการฟื้นตัวของคริสตจักรไทลื้อ ที่เชียงรุ่ง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงและการปิดประเทศของจีน ถูกนำโดยกลุ่มผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยาของกลุ่มผู้นำคริสเตียนรุ่นแรก ได้แก่ แม่แสงนาง, แม่แก้ว, แม่อาม, แม่โย่ง, แม่แปงโหลง, แม่ปัน, แม่ศรี, แม่แสงดา, และ แม่เลา (ดูแผนภาพเครือญาติคริสเตียนที่เชียงรุ่ง และที่บ้านนาแล สิบสองปันนา ประเทศจีน - หน้า 114) อย่างไรก็ตาม บทบาทของพวกเธอก็คือการถ่ายทอดความเชื่อ และความเป็นคริสเตียนให้ลูกทั้งหญิงและชาย สะใภ้ที่เข้ามาครอบครัว คริสเตียนก็มักจะเป็นคริสเตียนไปด้วย นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงคริสเตียนยังบทบาทความเป็นแม่ที่มีต่อลูกด้วย เช่น ในยามที่เจ็บป่วยจะมีการเชิญเพื่อนบ้านคริสเตียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอาวุโสมาอธิษฐานวางมือแก่ลูก เพื่อให้หายจากอาการป่วยไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้ (หน้า 115) ในสังคมของไทลื้อคริสเตียน เชียงรุ่ง สิบสองปันนา ผู้หญิงมีบทบาทค่อนข้างสูงทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น กลุ่มเรียนพระคัมภีร์, ผู้เข้าโบสถ์ร่วมนมัสการในวันอาทิตย์, และผู้นำกิจกรรมต่างๆ ของโบสถ์ เช่น นักเทศน์, ผู้นำการร้องเพลง, คนทำบัญชี, และคนรับเงิน ก็ล้วนแต่เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น นอกจากนี้อีติ๊บ ยังเป็นผู้นำสตรีคริสเตียนจากโบสถ์บ้านโยน ออกไปเผยแพร่พระวจนะของพระเจ้าตามหมู่บ้านชานเมืองเชียงรุ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮ่อ หรือ โดยการแต่งงาน รวมทั้งการสืบสายโลหิตอีกด้วย สภาพดังกล่าวก่อให้เกิด "เครือข่ายทางสังคม" ที่มีผลต่อการฟื้นตัวและการดำเนินงานของกลุ่มคริสเตียนที่เชียงรุ่งในปัจจุบันด้วย (หน้า 116)

Political Organization

ไทลื้อคริสตจักรเชียงรุ่ง สิบสองปันนา อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำสูงสุด (หน้า 112) ในช่วงนี้รัฐบาลจีนได้วางนโยบายให้ทุกศาสนาดำเนินงานโดยยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ บริหารงานเอง, ประกาศเผยแพร่เอง, และพึ่งตนเอง ห้ามเผยแพร่ศาสนาโดยชาวต่างชาติรวมทั้งห้ามการช่วยเหลือทางการเงินจากภายนอก เนื่องจากผู้นำจีนเกรงว่าจะจะมีการนำศาสนามาเป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองภายใน จากนโยบายดังกล่าว ทำให้มีการจัดการกิจกรรมทางศาสนา โดยมีคณะกรรมการกิจการชนชาติทางด้านศาสนาเป็นผู้ดูแลควบคุมกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ในทางปฏิบัตินั้นรัฐบาลจีนจะะเข้มงวดกับหลักการของนโยบายทางศาสนาในมณฑลที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก แต่สำหรับในเขตอิสระปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อย เช่น ไทลื้อสิบสองปันนา รัฐบาลจีนจะค่อนข้างยืดหยุ่น อนุญาตให้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติในการฟื้นฟูศาสนาในมลฑลของตนได้ (หน้า 118) สำหรับการเมืองภายในชุมชน ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของคริสตจักรเชียงรุ่ง เป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด ส่วนผู้ชายจะคอยให้ความร่วมมืออยู่ห่างๆ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางส่วนได้ปกป้องผู้ชายว่า ผู้ชายต้องทำงานหาเงิน ไม่มีเวลามาช่วยงานโบสถ์ เมื่อผู้ชายมีบทบาทน้อย "อีติ๊บ" (หมายถึง ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้นำกิจกรรมต่างๆของโบสถ์) จึงขึ้นมาเป็นผู้นำโบสถ์ โดยมิได้มีการสถาปนาความเป็นผู้ปกครองโบสถ์ จากผู้มีสิทธิอำนาจในการปกครองคริสตจักรของจีน จึงทำให้ ติ๊บมีความลำบากใจในการจัดการกิจการงานของโบสถ์ และจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาต่อกลุ่มคนภายนอกชุมชน โดยเฉพาะคนจีนที่เคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาอยู่ในสิบสองปันนามากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตาม สถานภาพของติ๊บในปัจจุบันก็มิได้ก่อให้เกิดปัญหาแต่ประการใด ( หน้า 116)

Belief System

ไทลื้อคริสตจักรเชียงรุ่ง สิบสองปันนา นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งมีคำสอนว่า ปัญหาพื้นฐานของมนุษยชาติ คือความผิดบาป ความรอด หมายถึงความเป็นอิสระจากผลแห่งความผิดบาป และความมีชีวิตนิรันดร์ในแผ่นดินสวรรค์ องค์พระเยซูคริสต์เท่านั้นคือผู้ช่วยให้รอดจากความผิดบาป ความรอดเกี่ยวข้องไปถึงสิ่งที่ดีกว่าอีกด้วย เช่น ชีวิตที่มีคุณธรรมมากกว่าบนแผ่นดินโลก และสิ่งที่ดีอีกสิ่งหนึ่งก็คือ สังคมที่เจริญกว่า (หน้า 100) นับตั้งแต่เริ่มต้นนับถือศาสนาคริสต์มาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่มีบทบาทในการสะสมและสืบทอดความเชื่อและความเป็นคริสเตียน คือ กลุ่มสตรี การถ่ายทอดพระคัมภีร์ยุคแรกได้ฝังรากลึกในจิตใจของผู้ที่เป็นศิษย์เยซูทั้งหญิงและชาย ความศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาของไทลื้อในปัจจุบันนี้ แสดงออกเห็นในหลายทาง ได้แก่ โดยการถ่ายทอดความเชื่อและพิธีการบางอย่างที่ส่งต่อมาจากแม่เฒ่าจิต (ซึ่งเป็นภรรยาของอ้ายคำบุ ผู้นำคริสเตียนชาวพื้นเมืองที่เสียชีวิตไปแล้ว) สู่กลุ่มคริสเตียนหนุ่มสาวในยุคฟื้นฟู โดยการแสดงบทบาทของสตรีต่อครอบครัวและชุมชนตามพระคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ซึ่งคริสตชนไทลื้อยอมรับและศรัทธา, คัมภีร์มัทธิวที่สอนว่า สตรีมีความสำคัญทัดเทียมชาย โดยเฉพาะการบังเกิดของพระเยซู ให้ความหมายและความสำคัญของหญิงและชาย ซึ่งเป็นต้นวงศ์ของพระคริสต์ทัดเทียมกัน นั่นคือ ความสำคัญและความหมายของความเป็นบุคคล บทบาทสำคัญที่พระคริสต์มอบให้แก่หญิง ได้แก่ การนำข่าวการคืนพระชนม์ของพระองค์ไปบอกสาวก เพราะพระคริสต์ได้ปรากฏพระองค์แก่สตรี และคัมภีร์มาระโก ที่กล่าวว่า บทบาทสตรีไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงเฉพาะครอบครัวของตน แต่ขยายความผูกพันไปถึงสตรีและคนในครอบครัวอื่น ในชุมชนอื่นด้วย หากผู้หญิงคนใดที่มีคุณธรรมตามที่พระคัมภีร์ว่าไว้ ก็จะถือว่า เป็นผู้หญิงที่สมควรแก่การยกย่อง (หน้า 113-114) ส่วนพิธีกรรมและวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ ที่ไทลื้อคริสตจักรเชียงรุ่งต้องปฏิบัติมีหลายอย่าง ได้แก่ พิธีมหาสนิท ที่จะมีการใช้ขนมปังกับน้ำอ้อยกับน้ำมะขาม มีการประกอบพิธีนี้ทุก ๆ 3 เดือน พิธีบัพติสมา พิธีแต่งงาน จะมีการแต่งงานในโบสถ์ เพลงที่ใช้ร้องในภาษาไทลื้อเป็นเพลงบทที่ 222 วันอิสเตอร์ ที่จะมีการนมัสการตอนเช้าตรู่บนภูเขา พิธีถวายผลหัวปี จะจัดขึ้นหลังจากที่การเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จแล้ว โดยสมาชิกคริสตจักรจะนำเอาผลผลิตของตนมาถวายให้พระเจ้าด้วย วันคริสตมาส ซึ่งจัดในวันที่ 25-24 ธันวาคม โดยจะจัดให้มีการนมัสการพิเศษ ตอนกลางคืนวันที่ 24 ธันวาคม จะมีการออกไปร้องเพลงตามบ้านของสมาชิก และแต่ละบ้านจะออกมาต้อนรับด้วยขนมต่าง ๆ ส่วนวันที่ 25 ธันวาคม แต่ละบ้านจะจดวันคริสตมาสของตน มีลักษณะคล้ายต้นกฐินของชาวพุทธ มีของขวัญที่จะมอบแก่สมาชิกคริสตจักร เขียนชื่อแขวนไว้และจะมีการแห่ต้นคริสตมาสของตนไปที่โบสถ์ หลังการนมัสการก็จะมีการแจกของขวัญ การนมัสการทุกวันอาทิตย์ คือให้ยึดถือวันอาทิตย์เป็นวันสะบาโต ให้งดทำงานทั้งหมด, การถวายทรัพย์, และกลุ่มสตรีจะมีการนมัสการตอนบ่ายที่โบสถ์ มีการเรียนพระคัมภีร์ หัดร้องเพลงตามความเหมาะสม (หน้า 73-74)

Education and Socialization

ในปัจจุบันรัฐบาลจีนได้กำหนดนโยบายให้ใช้ระบบการศึกษาแบบจีนเท่านั้น คือ ส่งเสริมให้ไทลื้อใช้ภาษาจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในชีวิตประจำวัน และการติดต่อราชการ ในกรณีคริสเตียนบ้านโยนนั้น คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาแบบจีน เรียนภาษาจีน แต่ก็ยังคงพูดและอ่านภาษาไทลื้อได้ (หน้า 95)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ พูดภาษาไทลื้อ กลุ่มผู้หญิงเป็นผู้นำในกิจกรรมทางศาสนาและมีบทบาททางสังคมมากกว่าผู้ชาย มีทำนาทำไร่ และค้าขาย

Social Cultural and Identity Change

ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2535) ท่ามกลางการปรับตัวเข้าสู่กระแสทุนนิยมของประเทศจีน ชุมชนไทลื้อคริสจักรเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ก็ได้มีการปรับตัวไปตามระบบเศรษฐกิจกระแสทุนนิยมมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ชุมชนไทลื้อคริสเตียนบ้านโยนที่มีการปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับระบบเศรษฐกิจกระแสทุนนิยมที่เข้ามาสู่เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนาอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ชุมชนบ้านโยนมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนชุมชนอื่นในเชียงรุ่ง มีถนนสายหลักราดยางแอสฟัลต์กว้างประมาณ 8 เมตร ตัดผ่านชุมชนบ้านโยนมีโรงแรมใหญ่ตั้งอยู่ 3 หลัง 1 ใน 3 พัฒนามาจากบ้านพักของมิชชันนารีเดิม อีกแห่งเป็นการสร้างโรงแรมในพื้นที่ของโบสถ์บ้านโยนโดยให้เช่าพื้นที่แก่นักธุรกิจ และอีก 1 หลังสร้างขึ้นในที่ดินของนายบ้านโยน ในปัจจุบัน ชาวบ้านโยนทำธุรกิจหลายประเภท เช่น นายหน้าขายรถ เปิดร้านขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว เปิดร้านอาหาร แบ่งพื้นที่พักอาศัยให้ชาวจีนฮ่ออพยพเช่าอาศัย มีช่องทางของการหารายได้ สะสมเงิน และการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกระแสทุนอย่างดี ในขณะที่ชุมคริสเตียนบ้านนาแล เมืองขอน ยังคงดำรงความเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการทำงานหนักในไร่นา ขายผลผลิตได้และนำเงินมาปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มั่นคง เป็นระเบียบ และสะอาด นอกจากนี้ คณะวิจัยยังระบุด้วยว่า ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2535 - 2536 วิถีชีวิตของชาวชุมชนคริสเตียนบ้านนาแลเมืองขอนมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เช่น ถนน แหล่งน้ำ และความเป็นระเบียบและสะอาดของบ้านเรือน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ดำเนินไปพร้อมกับการฟื้นฟูศรัทธาในคริสต์ศาสนา ความเชื่อ และการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อที่ยังคงถูกจัดการอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ (หน้า 118 - 119)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

นอกจากงานวิจัยชิ้นนี้จะเน้นที่การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคริสจักรเชียงรุ่งเป็นสำคัญแล้ว ยังได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรเชียงรุ่งกับคริสตจักรในภาคเหนือของประเทศไทยด้วย โดยศึกษาใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) อุดมการณ์และเป้าหมายของการจัดตั้งคริสตจักร 2) ลักษณะความสัมพันธ์ทางด้านงานพันธกิจและการบริหารงานคริสตจักร 3) ความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรไทลื้อกับสังคมเชียงรุ่ง 4) ศึกษาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คริสตจักรเชียงรุ่งก่อนปี ค.ศ.1949 การหลบซ่อนและฝังตัวในความเชื่อศรัทธาต่อศาสนาเพื่อรอวันฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง 5) การฟื้นกลับมาก่อตั้งคริสตจักรเชียงรุ่งของไทลื้อในปัจจุบัน (หน้า 126 - 127)

Map/Illustration

แผนที่ : แผนที่ภาคเหนือของประเทศไทย ค.ศ.1912 แสดงที่ตั้งสถานีทำการของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (หน้า 14) แผนที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แสดงที่ตั้งมณฑลยูนนาน (หน้า 15) แผนที่มณฑลยูนนาน แสดงที่ตั้งเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา (หน้า 16) แผนที่สิบสองปันนา (หน้า 17) แผนภูมิ : โครงสร้างการบริหารงานของมิชชั่นลาว ค.ศ. 1917 (หน้า 67) โครงสร้างการบริหารงานของมิชชั่นสยาม ค.ศ. 1920 (หน้า 68) โครงสร้างการบริหารงานของยูนนานมิชชั่น ค.ศ. 1923 (หน้า 69) โครงสร้างการบริหารงานของสยามมิชชั่น ค.ศ. 1933 (หน้า 70) แผนภาพเครือญาติคริสเตียนที่เชียงรุ่งและบ้านนาแลเชียงขอน แคว้นสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน (หน้า 114 ก) ภาพ : ศาสนาจารย์แมคกิลวารี ค.ศ. 1881 (หน้า 18) นายแพทย์เมสันและภรรยา เดินทางจากเชียงใหม่ไปเชียงรุ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อบุกเบิกงานคริสตจักรในดินแดนสิบ สองปันนา(หน้า 19)

Text Analyst ธิกานต์ ศรีนารา Date of Report 31 ต.ค. 2555
TAG ลื้อ, ประวัติศาสตร์, ความสัมพันธ์, คริสตจักร, เชียงรุ่ง, สิบสองปันนา, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง