สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง, กลุ่มชาติพันธุ์, หัตถกรรม, นิทรรศการ
Author อภิสรา แซ่ลี, กิตติทัช คุณยศยิ่ง, ภัทร์นิธิ กาใจ, ยุพารัตน์ บัวหอม, ยุทธการ เทพจันตา, ธีรินทร์ แสนคำ, พิมพ์ธิดาภัทร์ เศรษฐกิจ, ประภาพร คำแสน
Title การรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ชุมชนช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
Document Type อื่นๆ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ม้ง, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
- ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
- ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส. : [เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 67 Year 2562
Source อภิสรา แซ่ลี และคณะ. (2562). การรวบรวมภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ชุมชนขุนช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
Abstract

โครงการรวบรวมภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่นโดยการสังเกต การสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลประกอบไปด้วย กลุ่มของผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ รวมไปถึงเด็กและเยาวชน ในชุมชนขุนช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประวัติหมู่บ้านที่เล่าขานกันมายาวนาน ประกอบกับได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวและอัตลักษณ์หัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งแก่สาธารณะ

แม้กระแสโลกาภิวัตน์เคลื่อนผ่าน แต่สำหรับชุมชนม้งขุนช่างเคี่ยนยังคงรักษาอัตลักษณ์ของหัตถกรรมพื้นบ้านไว้ ที่เห็นอย่างได้ชัดหัตถกรรมจากสองมือหญิงสาวชาวม้ง คือ เสื้อผ้า ที่ถูกถักทอจากเส้นใยกัญชงด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มม้งขาว อีกทั้งยังปรากฏเครื่องใช้ที่ยังคงผลิตขึ้นในครัวเรือนจากแรงกายของชายหนุ่ม รวมถึงการประดิษฐ์ของเล่น ซึ่งหัตถกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษและสะท้อนบทบาทหน้าที่ระหว่างชาย หญิงได้เป็นอย่างดี

Focus

การเก็บรวบรวมข้อมูลอัตลักษณ์หัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ชุมชนบ้านช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ อันสะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่ระหว่างชายหญิงที่ชัดเจน 

History of the Group and Community

ในอดีตผู้ก่อตั้งหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนเป็นบุคคลที่เคยอาศัยอยู่หมู่บ้านดอยปุย ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนประมาณ 14 กิโลเมตร และได้มาอาศัยตั้งอยู่บริเวณโดยรอบหมู่บ้านช่างเคี่ยนเพื่อทำการเกษตรแบบยังชีพและขายเป็นรายได้หลักอยู่หลายจุด แต่ละจุดมีผู้อาศัยประมาณ 3-4 หลังคาเรือน มักเป็นญาติพี่น้องที่สนิทกันเท่านั้น ต่อมาชาวบ้านบางส่วนที่ทำสวนอยู่ใกล้กันได้รวมตัวเป็นหมู่บ้าน

ใน ปี พ.ศ.2509 นายจู๋ยี แซลี และนายสายหลื่อ แซ่ลี ได้สำรวจพื้นที่หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน ลงความเห็นตรงกันว่าจะรวมญาติพี่น้องที่ทำการเกษตรบริเวณหมู่บ้านมาอยู่รวมกัน ในเวลาต่อมาได้มีการประชุมของหัวหน้าครอบครัวกลุ่มคนทำการเกษตรรอบหมู่บ้าน ตัดสินใจพากันอพยพมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านแต่ยังคงทำการเกษตรอยู่ที่เดิม เพราะระยะทางหมู่บ้านกับสวนไม่ไกลมากนัก ขณะเปิดหมู่บ้านครั้งแรกรวมตัวกันได้ประมาณ 25 หลังคาเรือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการรวมจัดตั้งเป็นหมู่บ้านของตัวเองได้ หน่วยงานราชการ (อำเภอ) จึงได้ให้อยู่รวมกับหมู่บ้านช่างเคี่ยน หมู่ 1 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาญาติพี่น้องที่เคยอาศัยบริเวณดอยปุยก็ทยอยย้ายมาอยู่บริเวณขุนช่างเคี่ยน ซึ่งประจวบกับนายจู๋ยี ผู้ที่อพยพมาตั้งแต่แรกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งขาว ทำให้ชาวม้งขาวภายในหมู่บ้านดอยปุยแยกตัวออกมาด้วย ภายหลังการอพยพ 2-3 ปีให้หลัง ชาวบ้านต่างหมู่รับรู้ข่าวว่าที่ทำการเกษตรในหมู่บ้านให้ผลผลิตดี จึงพากันอพยพเข้ามาในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนย้ายจากหมู่ 1 มาเป็นหมู่ 6 บ้านขุนช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังเปลี่ยนเป็นหมู่ 4 ในปัจจุบัน (น.1)

Settlement Pattern

อดีตการสร้างบ้านเรือนใช้วัสดุที่หาได้จากป่า ไม้และหญ้ามุงหลังคา ครัวตั้งอยู่กลางบ้านมีสองขนาด เตาเล็กกับเตาใหญ่ที่ใช้ปรุงอาหาร ในบ้านม้งจะมีเสารูปสี่เหลี่ยมหรือกลมตั้งตรงกลาง ซึ่งถือเป็นเสาเอกของทุกบ้านมีความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีเทศกาลสำคัญคนในบ้านจะต้องจุดธูปที่เสาเอก เมื่อถึงวันปีใหม่จะนำกระดาษเงินกระดาษทองมาติดไว้ที่เสา บางครัวเรือนปลูกบ้านสองหลัง คือ บ้านที่ใช้ประกอบพิธีกรรมกับบ้านใช้อาศัย ปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่ทำจากไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นหรือสร้างจากคอนกรีต หลังคาเป็นกระเบื้องหรือสังกะสี

Demography

ประมาณ 130 กว่าหลังคาเรือน (น.2)

Economy

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นในอดีตมาปลูกพืชยืนต้น เช่น ลิ้นจี่ นางพญาเสือโคร่ง กาแฟ สตรอว์เบอร์รี (น.5) ด้วยในปี พ.ศ. 2516 สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ได้ทำการวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวในหมู่บ้าน จึงได้นำต้นกาแฟมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านนำไปปลูกรวมกับลิ้นจี่ ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาการทำเกษตรมากขึ้นปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่นามาปลูกหัวไชเท้าและปลูกผักเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะไม่มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ช่วงเวลาที่ว่างจากการทำเกษตรจึงหาอาชีพเสริมลงมาค้าขายตามตลาดนัดในตัวเมืองเชียงใหม่และต่างจังหวัด ส่วนคนที่อยู่ในหมู่บ้านทำอาชีพเสริมด้วยการตัดเย็บเสื้อผ้า กระเป๋า

กระทั่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า ประกอบกับเด็กๆ ในชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตร บางส่วนจึงเปลี่ยนจากการปลูกลิ้นจี่เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น สตรอว์เบอร์รี ส้ม เคพกูสเบอร์รี (น.5)

เมื่อกระแสการท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว จัดสรรที่พัก เปิดร้านเช่าชุดถ่ายภาพ การจำหน่ายสินค้าเกษตรในช่วงเทศกาลดอกนางพญาเสือโคร่งออกดอกและเทศกาลปีใหม่ม้ง เพื่อความสะดวกในการขายสินค้าทางสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนจึงมีนโยบายให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้ามาขายของภายในสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

Social Organization

ม้งสืบเชื้อสายตระกูลทางฝ่ายชาย ผู้ชายในตระกูลถือเป็นพี่น้อง ส่วนผู้หญิงนับถือเป็นญาติ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วนับถือผีตามตระกูลสามี ระบบผู้นำในกลุ่มเครือญาติจะได้รับเป็นมรดกตกทอด มีหน้าที่ในพิธีกรรมต่าง ๆ มักเป็นผู้ชายที่ต้องประกอบพิธีกรรม การไหว้ผีบรรพบุรุษ ผู้นำทางจารีตแบ่งออกได้เป็น 4 ตระกูล คือ ตระกูลแซ่ลี ตระกูลแซ่ย่าง ตระกูลแซ่เฒ่า และตระกูลแซ่ว่าง โดยมีผู้นำแต่ละตระกูลเป็นผู้นำหลักในพิธีกรรม เพร้ากลุ่มชาติพันธุ์ม้งในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนมีความเชื่อและนับถือผู้นำในตระกูลตัวเองอย่างเหนียวแน่น พิธีกรรมของแต่ละตระกูลจึงมีขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างกัน (น.22-23)

Political Organization

ระบบการปกครองแบ่งได้ 2 ระดับ คือ แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ระบบทางการ ปกครองด้วยกลุ่มผู้นำชุมชนตามระบบราชการ คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก (ตระกูลแซ่ย่าง) ผู้ช่วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก (ตระกูลแซ่ลี) ผู้ใหญ่บ้าน (ตระกูลแซ่เฒ่า)
ระบบไม่เป็นทางการ ได้แก่ ระบบเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มเครือญาติที่นับถือกันอย่างฉันพี่น้อง 

Belief System

นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผีที่มีมาแต่เดิม เชื่อว่ามีทั้งผีดีและผีร้ายที่สิงสถิตตามที่ต่าง ๆ เช่น ผีฟ้า ผีป่า ผีภูเขา ดังนั้นพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับผี เพราะม้งเชื่อว่าบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วย

“อัวเน้ง” หนึ่งในพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ประกอบพิธีโดยผู้ที่ผีบรรพบุรุษเลือก หากไม่ยอมหรือปฏิเสธการประกอบพิธีกรรม อาจล้มป่วยแบบไม่ทราบสาเหตุ ตามความเชื่อต้องให้คนที่มีอาคมมาแก้เคราะห์โดยการเซ่นไหว้ผี ถวายอาหาร ฆ่าสัตว์ เพื่อนำมาเลี้ยงผี สัตว์ที่ใช้ในการเซ่นไหว้ ได้แก่ วัว ควาย หมู ไก่ ส่วนในบางกรณีจะใช้สัตว์อื่นเพื่อแก้เคล็ด เช่น สุนัข แพะ

เครื่องประดับที่ทำจาก เงินหรือทองเหลือง ผ่านการปลุกเสก ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องรางของขลังติดตัวเด็กเล็กภายในหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าผีจะกลัวสิ่งนี้ นอกจากทำเป็นสร้อยใส่ติดตัวแล้ว แต่ละบ้านจะมีแผ่นทองเหลืองติดบ้านเพื่อกันสิ่งไม่ดีด้วย

เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในหมู่บ้าน จึงผสานกับความเชื่อดั้งเดิม เห็นได้จากการใส่บาตรพระในตอนเช้าก่อนประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี ภายหลังจึงมีบุคคลภายนอกเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน บางส่วนจึงหันไปนับถือและเลิกทำพิธีกรรมทุกอย่างเกี่ยวกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ (น.14-15)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในอดีต ชุดม้งถูกใส่ในชีวิตประจำวัน พิธีข้าวใหม่ ผู้หญิงใส่เสื้อพื้นหลังสีดำแขนยาวมีลวดลายผ้าปักที่ปลายแขนสาบเสื้อ และปกเสื้อด้านหลัง นุ่งกางเกงแบบกางเกงสะดอของคนเมืองเหนือหรือกางเกงแบบคนจีน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือพิธีแต่งงานจะนุ่งกระโปรงขาวที่ทอจากใยกัญชง ใช้ผ้ามาพันเพื่อคลุมหัวเพื่อกันอากาศหนาวปัจจุบันดัดแปลงเป็นหมวกเพื่อความสวยงามและสะดวกต่อการใช้งาน (น.16)

“ผ้าใยกัญชง” เปรียบเสมือนสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น การใช้ใยกัญชงในการประกอบพิธีกรรมผูกข้อไม้ข้อมือ เสื้อผ้าที่สวมใส่ส่วนใหญ่ทำมาจากใยกัญชง นอกจากนี้ในพิธีศพชุดที่ต้องใส่ให้ผู้เสียชีวิต รวมถึงรองเท้า ก็ทำจากใยกัญชงทั้งหมด ไม่นิยมย้อมสี ด้วยเชื่อว่าการสวมใส่ชุดที่ทำมาจากผ้าใยกัญชงจะส่งให้ผู้เสียชีวิตได้ไปอยู่กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (น.26)

“ผ้าปักม้ง” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ผนวกกับความเข้าใจลักษณะลวดลายของผ้าที่สืบทอดกันมา โดยนำใยกัญชงที่ผ่านกระบวนการซักด้วยขี้เถ้าเรียบร้อยแล้วไปย้อมสีแล้วนำมาปักบนผ้าทอใยกัญชง กลุ่มม้งขาว นิยมใช้สีสันไม่จัดจ้านส่วนใหญ่เป็นสีพื้น เช่น สีเทา สีน้ำตาล ส่วนกลุ่มม้งเขียว ใช้เส้นด้ายที่มีสีสันสดใส เช่น สีแดง สีชมพูเข้ม สีเลือดหมู กลุ่มม้งขาวนิยมปักกระโปรงข้างบนเป็นลวดลาย แต่กลุ่มม้งเขียวจะปักผ้าเริ่มจากด้านล่าง (น.38)

การแต่งกายของผู้ชาย ม้งขาวสวมเสื้อพื้นหลังสีดำและน้ำเงิน แขนยาวปลายแขนและสาบเสื้อมีลายปักด้วยลวดลายสวยงาม กางเกงสะดอสีดำหรือน้ำเงิน ผ้ามัดเอวสีแดงหรือสีส้มปักด้วยลวดลายที่ปลายทั้งสองข้าง

กลุ่มชาติพันธุ์ม้งขุนช่างเคี่ยน นิยมนำ โลหะเงิน มาทำเป็นเครื่องประดับ นิยมทำใช้เอง โดยเฉพาะใส่คอและกำไรข้อมือ การประดับเครื่องเงิน ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงฐานะทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสมัยอดีตมีการใช้โลหะเงินเป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนสินค้า จึงเปรียบเสมือนสิ่งมีค่าทำให้มีการนำโลหะเงินมาทำเป็นเครื่องประดับ (น.45)

ปัจจุบันชุมชนได้รับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน การแต่งกายชายหญิงจึงแต่งกายเหมือนกับคนพื้นราบทั่วไป เพราะสะดวกสบายและมีความคล่องตัวมากกว่า จะใส่ชุดม้งเมื่อมีประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญเท่านั้น (น.16-17) อย่างเทศกาลเฉลิมฉลอง เทศกาลปีใหม่ม้ง จัดขึ้นประมาณเดือนธันวาคมและมกราคมของทุกปี มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกคนเฒ่าคนแก่คอยจับคู่ลูกหลานของตัวเองให้มาโยนลูกช่วง ชายหญิงโยนกันเป็นคู่ ๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านอื่น ๆ การแสดง การเต้นรำ เป่าแคน (น.20)

งานหัตถกรรมการตีมีด ปัจจุบันในชุมชนขุนช่างเคี่ยนคงเหลือเพียงสองครอบครัวเท่านั้นที่ยังคงรักษาการตีมีดแบบโบราณไว้ ส่วนใหญ่ทำขึ้นเพื่อใช้งานเองในครัวเรือน หรือทำเมื่อมีออเดอร์เข้ามา คิดราคาตามขนาดของมีด ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ในหนึ่งวันได้มีดประมาณสองถึงสามด้าม (น.49-50) นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีการประดิษฐ์ งานจักสานอื่น ๆ เช่น ก๋วย เกอะ (กระบุง) ว้าง (กระด้ง) เต้อะคาร์ (ซุ่มไก่)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

อาชีพและวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชาวม้ง ผูกพันกับธรรมชาติรอบๆ ตัว ตั้งแต่การอยู่อาศัย การประกอบอาชีพ การใช้สมุนไพรรักษา แม้บางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามสภาพสังคมพื้นราบ เช่น การแต่งกาย (น.13)

เครื่องแต่งกายมักทำจากใยกัญชง ผู้หญิงใส่เสื้อพื้นหลังสีดำแขนยาวมีลวดลายผ้าปักที่ปลายแขนสาบเสื้อ และปกเสื้อด้านหลัง นุ่งกางเกงแบบกางเกงสะดอของคนเมืองเหนือหรือกางเกงแบบคนจีน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือพิธีแต่งงานจะนุ่งกระโปรงขาวที่ทอจากใยกัญชง การแต่งกายของผู้ชาย ม้งขาวสวมเสื้อพื้นหลังสีดำและน้ำเงิน แขนยาวปลายแขนและสาบเสื้อมีลายปักด้วยลวดลายสวยงาม กางเกงสะดอสีดำหรือน้ำเงิน ผ้ามัดเอวสีแดงหรือสีส้มปักด้วยลวดลายที่ปลายทั้งสองข้าง

วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งขุนช่างเคี่ยนมีความเป็นอยู่เรียบง่าย เช่น เครื่องปรุงมีแค่เกลือกับผงชูรส ก็สามารถทำเมนูอาหารได้ และส่วนประกอบหลักของอาหารก็ใช้สมุนไพรเป็นส่วนใหญ่ ในแต่ละมื้อมักทานกับผักต้มคู่กับน้ำพริกผักชี และถ้าหากเป็นมื้อพิเศษจะต้มไก่ดำสมุนไพร (น.5)

Social Cultural and Identity Change

สมัยก่อนรุ่นบุกเบิกหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เสื้อผ้ามีเพียงคนละสองชุดเท่านั้น ในหนึ่งปีจะมีโอกาสได้ชุดใหม่เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ม้งเท่านั้นต้องใส่สลับกันไปมา เมื่อได้ชุดใหม่แล้วจึงทิ้งชุดเก่าเพื่อความเป็นสิริมงคล ปัจจุบันได้รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายภายนอกเข้ามา การแต่งกายชุดดั้งเดิมจึงใช้ในโอกาสสำคัญ

วิถีชีวิตหลายครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ทำการเกษตรเพื่อดำรงชีพเท่านั้น เมื่อมีสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตร ถูกจัดตั้งขึ้น ได้มีการนำต้นนางพญาเสือโคร่งมาทดลองปลูกบนหมู่บ้านช่างเคี่ยน และปลูกตลอดเส้นทางเข้าหมู่บ้าน แจกสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าให้ทดลองปลูกร่วมกับลิ้นจี่ที่เป็นพืชหลักของหมู่บ้าน ภายหลักจึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ รายได้จึงเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในหมู่บ้าน จากหมู่บ้านผลิตการเกษตรจึงพัฒนาสู่การทำธุรกิจเชิงท่องเที่ยว (น.21-22)

Map/Illustration

- ภาพวิวหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน (น.2)
- ภาพแผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเรือน (แผนที่เดินดิน) (น.4)
- ภาพบรรยากาศในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน น.(6-8)
- ภาพบรรยากาศวันเปิดงานเทศกาลปีใหม่ม้งบ้านขุนช่างเคี่ยน (น.9)
- ภาพบรรยากาศภายในหมู่บ้าน (น.10-13)
- ภาพลักษณะบ้านของม้งในปัจจุบัน (น.14)
- ภาพแท่นบูชาผีบรรพบุรุษ (น.15)
- ภาพชุดผู้หญิง-ชายม้ง (น.16-17)
- ภาพดอกนางพญาเสือโคร่ง ต้นพญาเสือโคร่งภายในหมู่บ้านและสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน (น.18)
- ภาพแสดงสวนสตรอเบอร์รี่ในหมู่บ้าน (น.19)
- ภาพสวนกาแฟในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน (น.20)
- ภาพบรรยากาศการโยนลูกช่วงในเทศกาลปีใหม่ม้ง (น.21)
- ภาพบรรยากาศของสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน (น.22-24)
- ภาพสำนักงานลานกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย (น.24)
- ภาพการปลูกต้นกัญชง กรรมวิธีการทำเส้นด้าย ผ้าทอจากเส้นใยกัญชง (น.27-32)
- ภาพการปักผ้า ลายผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง (น.34-37)
- ภาพชุดม้งชายหญิง ชุดม้งลาย ชุดม้งเขียว ชุดม้งขาว ชุดม้งประยุกต์ (น.39-44)
- ภาพเครื่องประดับเงิน (ห่วงคอ) (น.45)
- ภาพการแต่งกายของหญิงสาวชาติพันธุ์ม้งในเทศกาลปีใหม่ม้ง (น.46)
 - ภาพการแต่งกายของครอบครัวชาติพันธุ์ม้งที่มีฐานะ (น.47)
- ภาพการใส่ห่วงคอเงินของเด็กชาติพันธุ์ม้งที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง (น.47)
- ภาพรูปแบบมีด ที่มีลักษณะตามความเหมาะในแต่ละการใช้งาน (น.49)
- ภาพเครื่องมือที่ใช้สำหรับการตีมีดแบบโบราณของชาติพันธุ์ม้งชุมชนช่างเคี่ยน (น.50)
- ภาพเครื่องจักสาน ก๋วย (น.54)
- ภาพเครื่องจักสาน ว้าง (กระด้ง) (น.56)
- ภาพลูงข่างม้ง (น.58)
- ภาพหน้าไม้ (น.59)
- ภาพเฆ่ง (แคน) (น.61)
- ภาพด้ามจับพร้า (น.62)
- ภาพการทำด้ามจอบ (น.63)

Text Analyst สุธาสินี บุญเกิด Date of Report 05 ม.ค. 2566
TAG ม้ง, กลุ่มชาติพันธุ์, หัตถกรรม, นิทรรศการ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง