สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ความเชื่อ, ศาสนาและวัฒนธรรม, ชาวมุสลิม
Author สุนิติ จุฑามาศ
Title รายงานศึกษาการทำบุญ-กินบุญ: พิธีกรรม ประเพณีวิถีชีวิต พลวัตของความเชื่อ ทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมกรณีศึกษาชุมชนมัสยิดยะวา กรุงเทพมหานคร
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มลายู ออแฆนายู มลายูมุสลิม ไทยมุสลิม, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
- ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
- ฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร : [เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 92 Year 2564
Source สุนิติ จุฑามาศ. (2564). พลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมมุสลิมศึกษา. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
Abstract

การทำบุญ-กินบุญ ของชาวมุสลิม เป็นพิธีกรรมที่มีการปฏิบัติกันในโอกาสพิเศษต่าง ๆ มีลักษณะเป็นงานของชุมนุมซึ่งเจ้าภาพจะเชิญจะมีการเชิญแขกไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องและคนในชุมชนมาร่วมงานในสถถานที่ใดที่หนึ่งในชุมชน โดยในส่วนของพิธีกรรมเป็นการร่วมกันอ่านบทสวดภาษาอาหรับที่บรรจงร้อยเรียงจากโองการต่าง ๆ ของพระคัมภีร์อัลกุรอาน การกล่าวรำลึกถึงพระเจ้า การสรรเสริญศาสดามุฮัมมัดและการขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้า หลังจากส่วนของพิธีกรรมก็จะมีการเลี้ยงสำรับอาหารคาวหวานก่อนที่จะแยกย้ายกลับ แนวคิดเรื่องการทำบุญ-กินบุญเชื่อมโยงกับมิติความเชื่อของศาสนาอิสลามในเรื่องการประกอบกรรมดีและการบริจาคเพื่อแสวงหาความความจำเริญและสิริมงคลแก่ผู้มาร่วมชุมนุมเป็นการสะสมเสบียงความดีเพื่อให้รอดพ้นจากการลงโทษในโลกหลังความตายและวันพิพากษา อีกทั้งยังเชื่อว่าผลบุญที่กระทำนั้นสามารถส่งต่อโดยการตั้งเจตนาอุทิศให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้อีกด้วย จากการสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาผ่านพิธีกรรมการทำบุญ-กินบุญของชาวมุสลิมเชื้อสายชวาและเชื้อสายมลายูในชุมชนแห่งนี้ชี้ให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงในด้านของความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรม ทั้งการผสมผสานความเชื่อของศาสนาอิสลามแบบรหัสนัยนิยมกับความเชื่อท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการต่อรองและปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในบริบทของชุมชนเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังความวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังพบว่าการทำบุญ-กินบุญเป็นเครื่องมือสำคัญในการธำรงอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ของตนเองผ่านภาษาและอาหารที่ใช้ประกอบในงาน

Focus

การศึกษาวิจัยในประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในกรุงเทพฯผ่านการทำบุญ-กินบุญ เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการศึกษาพลวัตของสังคมวัฒนธรรมในชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่มีชีวิต ปีที่สอง มีวัตถุประสงค์การศึกษาสองประการคือ หนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจพลวัตทางสังคมวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานครผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ทางความความเชื่อ รวมถึงวัฒนธรรม อาหารชาติพันธุ์ผ่านการทำบุญ-กินบุญของชาวมุสลิมในชุมชม มัสยิดยะวา และสองเพื่อนำข้อมูลจากการศึกษาในประเด็นวิจัยไปประกอบแผนที่ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีชีวิต กรณีควาหลากหลายทางชาติพันธุ์ของชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานคร (น.4)

Theoretical Issues

ในรายงานการศึกษาเล่มนี้มีข้อจำกัดของข้อมูลภาคสนาม เนื่องด้วยผู้ศึกษาไม่สามารถเก็บข้อมูลภาคสนามในส่วนที่จะเป็นข้อมูลกิจกรรมหรือประเพณีวิถีชีวิตเกี่ยวกับการทำบุญ-กินบุญ ได้อย่างละเอียดและครบถ้วน อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะในรายงานการศึกษาคือ ควรมีการเก็บข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับชุมชนอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในส่วนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือสำนักคิดทางศาสนาที่ต่างออกไป รวมถึงคำนึงเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทั้งในกลุ่มของชาวมุสลิมและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถอธิบายพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองผ่านมุมมองที่กว้างและละเอียดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีประเด็นที่ควรศึกษาเพิ่มเติมคือเรื่องของรูปแบบและการดำรงอยู่ของพิธีกรรมเหล่านี้ในอนาคตมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง (น.85)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ในรายงานการศึกษามีสองกลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนคือ กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมชวาและกลุ่มชาติพันธุ์มลายู (น. 83)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาชาติพันธุ์ของชุมชนมัสยิดยะวาตั้งแต่อดีต มีการพูดภาษากลุ่มออสโตรนีเชียน (Austronesian subfamily) ทั้งภาษาชวา (Basa Jawa) และภาษามลายู (Bahasa Melayu) โดยเฉพาะภาษาชวาที่เมื่อราว 60-70 ปีก่อน ยังมีคนในชุมชนหลายคนที่พูดกัน แต่ปัจจุบันพบว่าไม่มีคนที่สามารถสนทนาภาษาชวา หรือภาษามลายูได้แล้ว สำหรับภาษาชวามีเพียงผู้อาวุโสของชุมชนเพียง 1-2 ท่าน ที่ยังพอจะสื่อสารได้เล็กน้อย  ส่วนบุคคลที่เป็นหัวแถวของผู้นำในการทำพิธีไม่ว่าจะเป็นอิหม่าม หรือผู้รู้ทางศาสนาก็มีความสามารถในการอ่านภาษาอาหรับได้อย่างคล่องแคล่ว (น.60, 69) 

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยมีการศึกษาผ่านการรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนวรณณกรรมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการธำรงอัตลักษณ์ผ่านมาในอดีตไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความวิชาการ และหนังสือที่เกี่ยวข้องเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและงานศึกษาวิจัยต่างๆ มีการเก็บข้อมูลภาคสนามรูปแบบงานเขียนแบบชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ผ่านการสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในการทำบุญ-กินบุญในช่วงโอกาสต่างๆของคนในชุมชนมัสยิดยะวา (น.5)

History of the Group and Community

ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีชาวยะวา (ชวา) จากเกาะชวา (ประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน) เดินทางเข้ามาแสวงหาอาชีพในประเทศสยามและในการสำรวจสำมะโนครัวประชากรในช่วงปีพ.ศ.2448-2452 พบว่ามีชาวยะวาเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองหลวงมีจำนวน 371 คน ช่วงแรกชาวยะวามักตั้งหลักตั้งบ้านเรือนค่อนข้างกระจัดกระจายไปตามแหล่งที่ทำมาหากินในกรุงเทพมหานคร กระทั้งมีชาวยะวาท่านหนึ่งชื่อ ฮัจยีมุฮัมมัดซอและห์ (Haji Muhammad Saleh) คนในบังคับฮอลันดาจากเมืองเมืองกันดัล (Kendal) จังหวัดสะมารัง (Semarang) บนเกาะชวา ซึ่งเดินเรือค้าขายระหว่างเกาะชวา แหลมมลายู และจีน ได้เข้ามาตั้งรกรากในกรุงเทพมหานครที่บริเวณตรอกพระยานคร (ถนนจันทน์) ในปีพ.ศ.2437 และได้ซื้อที่ดินเก็บไว้ตามสิทธิของคนในบังคับต่างชาติได้เล็งเห็นว่าชาวยะวาในกรุงเทพ ซึ่งขณะนั้นชาวยะวายังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ต้องอาศัยบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อรวมตัวกันเป็นครั้งคราว เมื่อมีวันสำคัญทางศาสนาเช่น วันเมาลิดดินนบี (รำลึกวันประสูติของศาสดามุฮัมมัด) เป็นต้น ฮัจยีมุฮัมมัดซอและห์จึงเห็นควรว่าต้องมีศาสนาสถานเป็นที่รวมตัวกันอย่างเป็นกิจลักษณะ 
 
ส่วนช่วงก่อนปีพ.ศ.2448 พื้นบริเวณที่ตั้งของมัสยิดยะวา เดิมเรียกว่าตำบลคอกกระบือ อำเภอบ้านทวาย มีสวนและนาจำนวนมาก ฮัจยีมุฮัมหมัดซอและฮ์ได้พบที่ดินบริเวณดังกล่าวว่าเหมาะแก่การตั้งมัสยิดก่อตั้งให้เป็นมัสยิดให้แก่ชาวมุสลิมในบริเวณนั้นได้ใช้ปฏิบัติศาสนกิจโดยฮัจยีมุฮัมหมัดซอและฮ์ได้ลงชื่อเป็นผู้จัดการมัสยิดด้วยเป็นเวลากว่าหลายปีที่มีการระดมทุนจากชาวยะวาอื่นๆ รวมถึงชาวมุสลิมมลายูและชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆในกรุงเทพฯ จนสามารถสร้างมัสยิดขึ้นได้สำเร็จสมบูรณ์ตามความประสงค์ด้วยเหตุนี้เอง มัสยิดยะวา (ภาพที่ 1) จึงได้กลายเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญในย่านดังกล่าว (ภาพที่ 2) เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมทั้งยะวา และมลายูซึ่งมักตั้งบ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงกับมัสยิด คนเก่าแก่มักจะเรียกหมู่บ้านบริเวณนี้ว่า “สุไงบาร” (Sungai Baru) แปลว่าคลองใหม่ อันหมายถึงคือ “คลองเจ้าสัวยม” หรือ คลองสาทร (ตรงกับเอกสารเก่าที่เรียก มัสยิดยะวาคลองสัวยม) ในขณะที่อีกหลายคนก็มักจะเรียกว่า“กำป๊งยะวา” (Kampong Jawa) ซึ่งมีความหมาย ว่า หมู่บ้านชวา (น.9-11)

Demography

ข้อมูลสัปปุรุษ(ผู้ศรัทธาในศาสนา)ประจำมัสยิดยะวา (สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร, 2563) มีสัปปุรุษทั้งหมด 588 ครอบครัว จำนวน 2,097 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้ (น.19)
สัปปุรุษทั้งหมดทุกช่วงอายุ เพศชาย 947 คน เพศหญิง 1,150 คน รวม 2,097 คน 
สัปปุรุษอายุต่ำกว่า 15 ปี เพศชาย 85 คน เพศหญิง 97 คน รวม 182 คน 
สัปปุรุษอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เพศชาย 862 คน เพศหญิง 1,053 คน รวม 1,915 คน 
สัปปุรุษอายุตั้งแต่ 15 - 59 ปี เพศชาย 640 คน เพศหญิง 711 คน รวม 1,351 คน 
สัปปุรุษอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 222 คน เพศหญิง 342 คน รวม 564 คน

Economy

ในอดีตชาวยะวามีความสามารถในการประกอบอาชีพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรับจ้าง ค้าขาย และทำสวน (น.10)

Social Organization

อิหม่ามประจำมัสยิด เป็นผู้มีบทบาทในด้านการศาสนาและการปกครองท้องถิ่น กล่าวคือ อิหม่ามเป็นผู้นำในการประกอบศาสนกิจและเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางศาสนาอิสลามซึ่งสามารถสั่งสอน ให้คำแนะนำ และการตัดสินชี้ขาดในกิจการศาสนาในบางเรื่องได้ (น.13)

Political Organization

พัฒนาการของแนวคิดในสังคมมุสลิมสายปฏิรูป (reformists) เริ่มต้นในตะวันออกกลางช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อันมีต้นกำเนิดจากนักการศาสนาอิสลามสมัยใหม่ (Islamic modernism) ซึ่งมองว่าศาสนาอิสลามที่เป็นอยู่ถูกคุกคามทั้ง จากปัจจัยภายใน (ความงมงายล้าหลังและขาดความรู้ทางศาสนาอิสลามที่บริสุทธิ์) และปัจจัยภายนอก (ลัทธิล่า อาณานิคมและอำนาจทุนนิยมตะวันตก) ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกตกต่ำ ส่วนกระแสมุสลิมสายปฏิรูปในสังคมไทยเริ่มขึ้นราวทศวรรษที่ 2510 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมกรุงเทพมหานครเกิดวาทกรรม “คณะเก่า-คณะใหม่” ชาวมุสลิมที่ยังคงรักษาแนวทางศาสนาและการปฏิบัติที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ (ตักลีด) กลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า “คณะเก่า” ในขณะที่ชาวมุสลิมที่ยึดเอาคำสอนจากพระคัมภีร์อัลกุรอ่านและแบบฉบับของศาสดามุฮัมมัด (ซุนนะฮ์) เป็นสำคัญ จะตัดเรื่องประเพณีหรือธรรมเนียมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษออกไปเรียกว่า “คณะใหม่” หรือบางครั้งถูกเรียกโดยคณะเก่าว่า “กลุ่มวะฮาบีย์” และด้วยปัจจัยของความเป็นศูนย์กลางและความทันสมัยในกรุงเทพมหานคร ก็เป็นตัวส่งเสริมให้แนวคิดปฏิรูปศาสนาอิสลามก่อตัวขึ้นในชุมชนมุสลิมในเมือง (น.79-80)
 
ตัวอย่างความขัดกันในเรื่องความเชื่อและแนวทางปฏิบัตินี้เห็นได้จากกรณีของการทำบุญครบรอบคนตาย ในบางบ้านเมื่อมีการเชิญญาติๆมารวมตัวกัน พร้อมเชิญละแบมาอ่านดุอาอารวะฮ์ที่บ้าน ญาติบางคนที่ไม่ต้องการร่วมอ่านดุอา (ปฏิเสธสายเก่า) เลือกที่จะไม่มาร่วมพิธี หรือ บางคนมาแต่ไม่ร่วมในวงดุอาโดยเลือกที่จะนั่งอยู่ด้านนอกแทน โดยให้เหตุผลว่าที่มางานก็เพราะต้องการพบปะญาติพี่น้องเพียงแต่มองว่าตัวพิธีไม่ถูกต้องแต่สายสัมพันธ์ เครือญาติเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษาไว้ไม่ให้ขาด แต่สำหรับในภาพรวมของชุมชนมัสยิดยะวา ความขัดแย้งดูเหมือนเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย เนื่องจากคนในชุมชนจะเลือกใช้วิธีการประนีประนอมในการแก้ไขปัญหากัน (น.81)

Belief System

การทำบุญ-กินบุญในโอกาสต่างๆซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมถึงโอกาสพิเศษในวัน สำคัญทางศาสนาอิสลาม มี”หน้าที่” (function) ที่เป็นใจความสำคัญ ในการที่จะเพิ่มพูนความศรัทธาและสร้าง ความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตทั้งในโลกนี้ (ดุนยา) และเป็น “หลักประกัน” เสบียงบุญที่จะติดตัวไปในปรโลก (อาคิ เราะฮ์) ซึ่งเป้าหมายสูงสุดในฐานะชาวมุสลิมที่ดีผู้มีศรัทธาต่ออัลลอฮ์และศาสดามุฮัมมัดคือ การได้เข้าสรวงสวรรค์ อันบรมสุขและรอดพ้นการลงโทษในนรก อีกทั้งมีความเชื่อว่าทำบุญสามารถกระทำการ “อุทิศ” ให้กับบรรพบุรุษ หรือ คนที่มีความผูกพันรักใคร่ที่เสียชีวิตไปแล้วได้ (donatable) โดยหวังว่าผลบุญจากการตั้งเจตนาของคนที่ยังมี ชีวิตอยู่ จะได้ช่วยร้องขอต่ออัลลอฮ์ให้ปลดเปลื้องบาปหรือผ่อนหนักเป็นเบา และให้รอดการลงโทษในโลกสุสานที่ยังต้องรอคอยจนกกว่าจะถึงวันสิ้นโลกและวันพิพากษา ส่วนการกินบุญ หรือการเลี้ยงอาหารเนื่องในการทำบุญนั้นเปรียบเสมือนการทำ “เศาะดะเกาะฮ์” หรือ การทำทานเลี้ยงอาหารให้แกผู้คนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดีงามในศาสนาอิสลาม เมื่อได้รับผลบุญทั้งจากการประกอบพิธี อ่านพระคัมภีร์ การทำซิเกรและขอพรดุอา ร่วมกับการเลี้ยงอาหารจึงตั้งเจตนาอุทิศให้กับทั้งคนเป็นและคนตายได้ Joll (2012) 
 
ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการทำบุญของชาวมุสลิมว่า “การทำบุญนั้นมีลักษณะเหมือนเงินตรา ซึ่งการที่จะได้ก็เปรียบเสมือนการต้องทำงาน “ทำบุญ” แลก ต้องเกิดจากการสะสม (accumulate) และสามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปยังคนอื่นๆได้ (เช่น ผู้เสียชีวิต) เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับสภาพในอนาคตทางเศรษฐกิจของตนเอง (น.27)
 
โต๊ะละแบ: ผู้ประกอบพิธีและสืบทอดการทำบุญ เป็นที่ยอมรับว่าในทางปฏิบัติ “ละแบ” หรือ “โต๊ะละแบ” เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญชุมชนมัสยิดยะวา หน้าที่ของพวกเขาคือการรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีกรรม การอ่านพระคัมภีร์ และอ่านบทขอพรต่างๆ เมื่อได้รับ การร้องของจากคนในชุมชนเนื่องพิธีศพ งานกินบุญโอกาสต่างๆ หรือ พิธีกรรมอื่นๆที่นอกเหนือไปจากการปฏิบัติ ทางศาสนาภาคบังคับ คำว่า “โต๊ะ” (Tok) เป็นคำภาษามลายู ในการให้เกียรติผู้ที่มีศักดิ์เหนือกว่าในทางอายุ หรือ ความรู้ ส่วนคำว่า “ละแบ” 
มาจากคำว่า “เลอบัย” หรือ ละบัย (Lebai) หมายถึง ผู้รู้ศาสนา, คนที่ปากของเขาท่องประคำ (ตัส บีฮ์) หรือผู้ประกอบกิจบางประการในศาสนาอิสลาม (น.28-30)
 
อิซิกุโบร์และอารวะฮ์: การทำบุญอุทิศแก่วิญญาณผู้วายชนม์ หากจะกล่าวถึงโอกาสในการจัดการทำบุญ-กินบุญ ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในชุมชนมัสยิดยะวาก็คือ พิธีการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย (บางครั้งในภาษาปากว่า ทำบุญคนตาย) หรือที่ “ทำอิซิกุโบร์” หรือ “ทำอา รวะฮ์” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติหนึ่งที่มักกระทำอยู่เป็นประจำตลอดทั้งปีและเห็นได้บ่อยครั้ง “ลุงหมอ” ผู้อาวุโสท่าน หนึ่งในชุมชนและผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการประกอบพิธีอิซิกุโบร์และอารวะฮ์ ได้อธิบายให้ฟังว่าขั้นตอนของการทำบุญอิซิกุโบร์และอารวะฮ์นั้นเริ่มขึ้นหลังจากการฝังศพ โดยรูปแบบการทำนั้นสามารถทำได้หลากหลายไม่ตายตัว สามารถทำให้สั้นหรือยาวก็ได้ ทำคนเดียวหรือทำหลายคนก็ได้ แล้วแต่ผู้นำในพิธีจะสะดวก หรือ เจ้าภาพ จะร้องขอการจัดพิธีทำบุญอารวะฮ์ นิยมทำที่บ้าน มัสยิด หรือสถานที่เหมาะสมใดๆ เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มทำในวันเดียวกันกับวันฝังศพ และเว้นระยะออกไป 3 วัน 7 วัน 40 วัน หรือ 100 วัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของญาติผู้ตาย (น.31-32)
 
การทำบุญอารวะฮ์เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นแบบแผนปฏิบัติที่มีความต่อเนื่องมากจากการทำบุญ-กินบุญเมื่อมีคนตาย ซึ่งในส่วนของพิธีกรรมนั้นแทบไม่แตกต่างจากการทำบุญอุทิศผลบุญผู้เสียชีวิต (ทำอารวะฮ์) และในบางครั้งมีการอ่านเมาลิดร่วมด้วย แต่การทำบุญรำลึกถึงบรรพบุรุษนั้นโดยทั่วไปแล้วมักจะเลือกโอกาสจัดใน วันครบรอบการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัวหรือบรรพบุรุษ หรือเป็นวันที่ใกล้เคียงกัน ทำอารวะฮ์รำลึกถึง บรรพบุรุษนั้นเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในชุมชนตลอดทั้งปี ซึ่งเจ้าภาพจะติดต่อเชิญละแบมาเป็นผู้ประกอบพิธีให้ที่บ้าน มีการจัดเลี้ยงอาหารและถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการรวมญาติ แต่ละครอบครัว ไม่ว่าลูกหลานจะย้ายออกไปมีบ้านอยู่ข้างนอกแล้วก็ตาม เมื่อถึงวันกินบุญทุกคนจะกลับมาช่วยเหลือเตรียมงานและสังสรรค์กัน (น.32-37)
 
การทำบุญคนท้อง ขั้นตอนของการทำบุญคนท้องในชุมชนมัสยิดยะวาในอดีตนั้นจะเริ่มโดยการเชิญโต๊ะละแบมา “ทำอา ราวะฮ์” และ อ่านดุอาสลามัตเราะห์มัต (ให้เกิดความสงบสุขและความเมตตาจากพระเจ้า) ให้แก่ลูกหลานและเป็น สิริมงคลกับเด็กที่จะเกิดใหม่ ต่อมามีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่มาร่วมงานญาติและพี่น้อง โดยในพิธีจะต้องมีอาหาร ประจำ คือ ข้าวเหนียวเหลือง และ ผัดสะมากอแร๊ง ส่วนขนมหวานจะมีเผือกต้ม มันต้ม อาหารทั้งหมดที่กล่าวมาจะ จัดใส่ในกระจาดทั้งหมด เรียกว่า “อัมเบิ๊ง” (ภาพ 16) จากนั้นจึงมีการเสี่ยงทายเพศของลูก ซึ่งทำได้หลายแบบ แต่ที่นิยมกันคือ การให้คนตั้งครรภ์ทำ “รอยะ” (Rojak) ซึ่งเป็นสลัดผักผลไม้ชนิดหนึ่งมีน้ำราดเป็นมันกุ้ง น้ำตาล พริก ลักษณะคล้ายๆส้มตำ (ภาพ 17) ซึ่งถ้าทำออก มาแล้วมีรสหวานก็ทายว่าจะมีลูกสาว หากรสออกเปรี้ยวเผ็ดก็จะได้ลูกชาย นอกจากนี้ยังมีการเสี่ยงทายโดยการ “โยนกระจาด” หลังจากทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะนำอาหารที่จัดมาให้ญาติพี่น้องได้กินในกระจาด หลังจากของในกระจาดหมดย่าหรือยายจะทำการโยนกระจาด “ถ้าทำให้กระจาดคว่ำก็จะทำนายว่าเป็นผู้ชาย” แต่ “ถ้า กระจาดหงายก็จะเป็นผู้หญิง” เป็นต้น (น.38-40)
 
อะกีเกาะฮ์และการทำบุญโกนผมไฟ เมื่อมีทารกแรกเกิดในครอบครัวพ่อและแม่ที่มีความสามารถทางด้านการเงินจะต้องการทำบุญ “อากี เกาะฮ์” คือการเชือดสัตว์พลีสำหรับทารกแรกเกิด ปกติจะทำกันหลังจากคลอด 7 วัน โดยการปฏิบัตินี้มีแบบแผน มาจากแบบฉบับของศาสดามุฮัมมัด โดยมีวัตถุประสงค์คือการขอบคุณพระเจ้าที่ได้ให้ทารกมาเกิดและของให้ทรง คุ้มครองรักษาทารกนี้สืบไปโดยสำหรับทารกผู้ชาย ก็ให้เชือดแพะสองตัว ส่วนทารกผู้หญิงให้เชือดแพะตัวเดียว โดยเนื้อที่ได้จากสัตว์ที่เชือดแล้วให้แบ่งออกเป็น สามส่วน คือ หนึ่ง ส่วนเก็บไว้รับประทานเองในครอบครัว หนึ่งส่วนให้แจกจ่ายแก่ญาติพี่น้อง และอีก หนึ่งส่วนให้นำไปบริจาคแก่คนยากจน หลังจากทำอะกีเกาะฮ์แล้ว มักจะ “ทำบุญโกนผมไฟ” โดยขั้นตอนในส่วนของพิธีกรรมนั้นไม่ต่างจากการ ทำบุญอื่นๆนักคือมีการเชิญโต๊ะละแบ เครือญาติ และเพื่อนบ้านมาร่วมกัน “ทำอาราวะฮ์” และโดยปกติจะมีการ อ่าน “เมาลิดบัรซันญี” ซึ่งเป็นโคลงกลอนภาษาอาหรับที่เล่าเกี่ยวกับการประสูติของศาสดามุฮัมมัดเป็นทำนอง ไพเราะ และในส่วนของการขอดุอา (ขอพร) ต่อพระเจ้าได้ประทาน “บะรอกัต” สิริมงคลและความมั่นคงในศาสนาอิสลามให้แก่เด็กทารก (น.41-42)
 
ทำบุญงานเข้าสุหนัต การเข้าสุหนัต การทำคิตาน(คอตั่น) หรือที่ชาวมุสลิมมลายูทางภาคใต้จะเรียกว่า “มาโซะยาวี” คือ การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ซึ่งเป็นขั้นตอนสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับมุสลิมชายทุกคนซึ่งมักจะทำเมื่อย่างเข้าสู่วัยบรรลุศาสนภาวะ (อาเกลบาลิฆ) เป็นพิธี “เปลี่ยนผ่านของวัย” (Rite of Passage) และความเป็นชายของชาวมุสลิม (น.43) ทำบุญในพิธีตัมมัตอัลกุรอาน “ตัมมัต” มาจากภาษาอาหรับแปลว่า “จบ” หรือเสร็จสิ้นสมบูรณ เป็นพิธีที่เกิดหลังจากการเรียนจบของเด็กมุสลิมเป็นการแห่เด็กเข้าพิธีตัมมัตอัลกุรอาน เพื่อเป็ฯความภูมิใจของพ่อแม่ ครู อาจารย์ และคนในชุมชนว่ามีเมล็ดพันธุ์ของคนในหมู่บ้านได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาได้สมบูรณ์แล้ว (น.44-46)
 
ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นอีกหนึ่งพิธีสำคัญที่สำคัญและมีโดยเหตุผลเพื่อเป็นการขอบคุณพระเจ้าต่อ ความโปรดปรานในการที่บ้านสร้างใหม่นั้นสำเร็จลุล่วงเป็นเรื่องของความปีติยินดี อีกทั้งเจ้าบ้านต้องการของความ เป็น “บะรอกัต” หรือ ความเป็นสิริมงคลที่พระเจ้าจะประทานให้แก่บ้านหลังใหม่และขอให้สมาชิกในบ้าน ได้ใช้ ชีวิตอย่างมีความสุข อยู่ในแนวทางของศาสนาอิสลาม ประสบกับความจำเริญ ขั้นตอนของการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ มีความคล้ายคลึงกันกับการ โดยจะมีการเชิญโต๊ะละแบ เครือญาติ และเพื่อนบ้านมาร่วมด้วยงานด้วย โดยโต๊ะละแบจะเป็นผู้ประกอบพิธีอ่าน “อารวะฮ์” และขอดุอา (ขอพร) จาก พระเจ้าให้เกิดบะรอกัตต่างๆแก่บ้าน โดยมากแล้วการทำบุญนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นทางการมากเป็นลักษณะบ้านๆ อย่างเรียบง่าย (ภาพ 22) หลังจากเสร็จส่วนของการนั้นก็จะมีการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งในระหว่างที่ฝ่ายชายกำลังนั่งทำ พิธีอยู่นั้น ฝ่ายหญิงก็เป็นคนตระเตรียมสำรับอาหารคาวหวานให้พร้อมเสิร์ฟเมื่อพิธีจบโดยทันท่วงที (ภาพ 23) เมื่อ รับประทานอาหารเสร็จแล้ว โต๊ะละแบและแขกเหรื่อก็จะกลับ เป็นอันเสร็จสิ้นการทำบุญ ในปัจจุบันการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ในชุมชนมัสยิดยะวายังพอมีให้เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันอยู่ในชุมชนอยู่บ้าง แต่ก็ความถี่น้อยลง มากจากอดีตเนื่องจากพื้นที่ชุมชนค่อนข้างแออัดและไม่เอื้อต่อการสร้างบ้านใหม่แล้ว เมื่อมีสมาชิกแต่งงานใหม่เป็นครอบครัวขยายก็มักจะอยู่บ้านเดิมของพ่อแม่หรือไม่ก็ย้ายออกไปซื้อบ้านเรือนอาศัยอยู่ในย่านอื่น (น.47-48)
 
ทำบุญไล่สิ่งอัปมงคล: พิธีตะละบาลา เป็นพิธีที่ปรากฏในวัฒนธรรมมลายูและชวามาเก่าแก่ยาวนานหลายชั่วอายุคน และยังมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาในหลายพื้นที่ทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย (ดูภาพ 24-25) ตั้งแต่ก่อนการ เผยแพร่ศาสนาอิสลาม กล่าวคือ ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรชาติ (animism) ของภูติผีและวิญญาณร้าย (bad evils) เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคภัยภัยพิบัติและความไม่สงบสุขต่างๆของชุมชน จนถึงขั้นมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ดังนั้นจำเป็นต้องมีการผูกสัมพันธ์ที่ดีกับวิญญาณเหล่านี้ด้วยการ “อุทิศเครื่องเซ่น” (offering) และสิ่งของที่เป็นเชิงสัญลักษณ์อย่าง จึงจะช่วยปัดเป่าความอัปมงคลเหล่านั้นออกไปได้ (น.50)

Education and Socialization

สำหรับศาสนาอิสลามมีการบัญญัติให้มุสลิมทุกคนที่มีอายุครบ 7 ปี ต้องได้รับการศึกษาในเรื่องศาสนาบัญญัติดังนั้นในสังคมมุสลิมจึงเปิดโรงเรียนสอนศาสนาขั้นพื้นฐานอยู่คู่กับมัสยิด (โรงเรียนสุเหร่ายะวา) และจะสอนในตอนเย็นจนพลบค่ำ เนื่องจากเด็กๆ ต้องไปเรียนในโรงเรียนสามัญ การเรียนคัมภีอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับทำให้การที่จะเรียนจบได้ต้องใช้เวลานาน ครูผู้สอนจะให้เด็กอ่านสะกดตัวก่อนตั้งแต่พยัญชนะ สระ และการอ่านให้ถูกต้องในหนังสือหัวเล็ก (หนังสือสอนภาอาหรับใน พระคัมภีร์เบื้องต้น) เมื่อจบแล้วจะได้ขึ้นหัวใหญ่ (พระคัมภีร์อัลกุรอาน) ซึ่งมีทั้งหมด 30 ญุช (บท) โดยเด็กๆที่สามารถเรียนจนจบหัวใหญ่ได้ถือเป็นความสำเร็จเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว จึงต้องมีการเฉลิมฉลองความสำเร็จให้กับบุตรหลานและเป็นการฝึกสมาธิได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งตนเองและสังคมที่สำคัญเด็กเกิดจิตสำนึกในคำสอนของศาสนามีจิตสาธารณะต่อสังคม ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ (น.44)
 
โดยส่วนของพิธีกรรมและการปฏิบัติของกลุ่มทางศาสนานี้ยังมีการถ่ายทอดและยังคงฝังรากอยู่ในการถ่ายทอดการเรียนศาสนาผ่านโรงเรียนสอนศาสนาหรือผ่านทางครูที่ยึดถือในแนวทางดังกล่าว (น.78)

Health and Medicine

ในอดีตชาวมุสลิมในพื้นที่ได้มีการทำพิธีตะละบาลาเพื่อเป็นการการขจัดปัดเป่าเหตุร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ สิ่งอัปมงคล เพศภัยต่างๆ ให้พ้นจากตัวเอง ครอบครัว หรือชุมชน แต่ปัจจุบันก็ลืมเลือนไปตามยุคสมัย ซึ่งเหตุผลของการเสื่อมหายไปของพิธีนี้จะสัมพันธ์กับกระแสการเปลี่ยนแปลงในแนวคิดของศาสนาอิสลามสายใหม่ที่ปฏิเสธพิธีกรรมดั้งเดิมที่สุ่มเสี่ยงกับหลักการศาสนารวมไปถึงการกลายกลืนกลายของวัฒนธรรมไทยต่อชาติพันธุ์กลุ่มน้อยและการกลายเป็นเมืองรวมถึงพัฒนาการของการแพทย์แผนปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของประชากรในชุมชน (น.49-54)

Social Cultural and Identity Change

ด้วยปัจจัยของทำเลที่ตั้งของชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้อัตลักษณ์ทางภาษาและทางชาติพันธุ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ถูก “กลืนกลายเป็นไทย” เสียส่วนมาก ทั้งด้วยสภาพสังคมวัฒนธรรมของเมืองหลวง การโอนสัญชาติเป็นไทยหลังจากที่มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ.2481 รวมถึง นโยบายรัฐนิยมสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2483 ที่จะต้องรู้และใช้ภาไทยในการเป็นพลเมืองของประเทศ กฎหมายและนโบยายรัฐนิยมที่มุ่งเน้นให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับการศึกษาตอนต้นชาวมุสลิมเชื้อสายชวาและมลายูจำเป็นต้องหันมาใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และภาษาแม่ของตนเองก็ค่อยๆหายไปเหลือเพียงคำศัพท์ใช้อยู่บ้างก็ตาม มีบางโอกาสที่จะมีการพูดถึงในระดับการสนทนา โดยแม้ว่าเรื่องของอัตลักษณ์ภาษาชาติพันธุ์อย่างภาชวาและภาษามลายู“ที่ใช้ในการสนทนา” ในชุมชนแทบสูญหายจากการถูกกลืนกลายเป็นไทยไปแล้วในปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอัตลักษณ์หนึ่งซึ่งยังคงเห็นได้ชัดคือ “วัฒนธรรมอาหาร” ซึ่งอยู่คู่กับ “การทำบุญ-กินบุญ” มาโดยตลอด และยังเป็นสิ่งที่ช่วยรักษา “ภาษาชาติพันธุ์” ไว้ใน “ชื่อของอาหาร” แต่ละชนิดด้วย (น.70)
 
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพัฒนาการของการศึกษาศาสนาอิสลาม และการเผยแพร่ของอิสลามสายปฏิรูปในช่วงประมาณทศวรรรษที่ 2510 เป็นต้นมางมีความต้องการทำให้ศาสนาอิสลามบริสุทธิ์ จากการผสมผสานความเชื่อและแนวทางปฏิบัติที่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ศาสดามุฮัมมัด ส่งผลต่อการประกอบพิธีทำบุญบางอย่างที่เลือนหายหรือแทบไม่มีการปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น การทำบุญคนท้อง ซึ่งเป็นธรรมเนียม ของชาวชวาถือปฏิบัติกันในหมู่ชาวยะวารุ่นเก่าที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก็ไม่ได้รับการสืบต่อ เนื่องจากถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและได้รับการต่อต้านนักการศาสนาบางส่วน ส่งผลให้การจัดงานทำบุญหรือกิจกรรมอื่นๆเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงประมาณทศวรรษที่ 2530 การกลายเป็นเมืองของย่านชุมชนโดยรอบ สภาพ สังคม เศรษฐกิจ และการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าออกของคนในและคนนอกชุมชนด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น การเวนคืนที่ดินในการพัฒนาพื้นที่เป็นเหตุทำให้คนในชุมชนจำนวนไม่น้อยต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยออกไป อีกทั้งสภาพชุมชนที่ไม่สามารถขยายตัวได้เมื่อครอบครัวขยายก็จำเป็นที่จะต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ทำให้การรวมช่วยเหลือกันในการจัดการเป็นไปได้ยากขึ้นในสภาพสังคมปัจจุบันจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการทำบุญ (น.84)

Map/Illustration

- ภาพที่ 1 ภาพถ่ายเก่าของมัสยิดยะวา (น.11)
- ภาพที่ 2 ภาพถ่ายทางอากาศของนายวิลเลียม ฮันต์ ในปีพ.ศ.2489 บริเวณปากคลองวัดยานนาวาและอู่เรือ กรุงเทพฯ (บางกอกด็อก) และตำแหน่งของมัสยิดยะวา (วงกลมสีแดง) (น.12)
- ภาพที่ 3 รายนามโต๊ะอิหม่ามที่ได้รับพระราชทานเสื้อยศ ในปีพ.ศ.2458 (น.13)
- ภาพที่ 4 ถนนในชุมชนบริเวณซอยเจริญราษฎร์ 1 แยก 9 (น.14)
- ภาพที่ 5 ซอยวัดปรก (จันทน์ 32) (น.14)
- ภาพที่ 6 แผนที่ชุมชนมัสยิดยะวา ณ ปัจจุบัน (น.15)
- ภาพที่ 7 มัสยิดยะวา (น.17)
- ภาพที่ 8 ภายในสุสานไทยอิสลาม (น.18)
- ภาพที่ 9 หลุมศพภายในสุสานไทยอิสลาม (น.18)
- ภาพที่ 10 โต๊ะละแบอ่านตัลกีน และ อ่านอิซิกุโบร์ณ สุสานไทยอิสลาม (น.30)
- ภาพที่ 11 ผู้นำพิธีอ่านชื่อของบรรพบุรุษที่จะอุทิศผลบุญ (น.34)
- ภาพที่ 12 การยืนเศาะลาวาต (สรรเสริญพระศาสดา) (น.35)
- ภาพที่ 13 กลุ่มแม่บ้านกำลังจัดเตรียมสำรับอาหาร (น.35)
- ภาพที่ 14 ละแบร่วมรับประทานอาหารหลังเสร็จพิธี (น.36)
- ภาพที่ 15 พิธีอาบน้ำคนท้อง ประเพณีของชาวชวาในประเทศอินโดนีเซีย (น.39)
- ภาพที่ 16 การเลี้ยงอาหารในงานทำบุญคนท้องของชาวชวาในประเทศอินโดนีเซีย (น.39)
- ภาพที่ 17 สลัดรอยะ (Rojak) (น.40)
- ภาพที่ 18 พิธีโกนผมไฟ (ซ้าย) และ ถาดเครื่องมือโกนผมไฟ (ขวา) (น.42)
- ภาพที่ 19 ภาพถ่ายเก่าแสดงการแห่ทำบุญตัมมัตอัลกุรอานของชุมชนมัสยิดยะวาในอดีต (น.46)
- ภาพที่ 20 แห่ทำบุญตัมมัตอัลกุรอานของชุมชนมัสยิดยะวาปัจจุบัน (น.46)
- ภาพที่ 21 สำรับอาหารทำบุญตัมมัตอัลกุรอาน พร้อมกับไข่ชุบสีและข้าวเหนียวห่อใบตอง (น.47)
- ภาพที่ 22 โต๊ะละแบอ่านดุอาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของคนในชุมชนมัสยิดยะวา (น.48)
- ภาพที่ 23 ฝ่ายสตรีจัดสำรับอาหารทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของคนในชุมชนมัสยิดยะวา (น.48)
- ภาพที่ 23 ฝ่ายสตรีจัดสำรับอาหารทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของคนในชุมชนมัสยิดยะวา (น.51)
- ภาพที่ 25 การเลี้ยงอาหารกลางแจ้งในพิธี Tolak bala เมือง Purworejo เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย(น.52)
- ภาพที่ 26 ทำบุญตะละบาลาในชุมชนมัสยิดยะวา (น.53)
- ภาพที่ 27 ทำบุญตะละบาลาในชุมชนมัสยิดยะวา (น.53)
- ภาพที่ 28 สำรับถาดอาหารทำบุญเลี้ยงคนมาละหมาดวันศุกร์ (น.58)
- ภาพที่ 29 นั่งรับประทานอาหารหลังละหมาดวันศุกร์ (น.58)
- ภาพที่ 30 การอ่านเมาลิดบัรซันญ (น.61)
- ภาพที่ 31 การยืนสรรเสริญศาสดามุฮัมมัด (เศาะลาวาตนบี) (น.62)
- ภาพที่ 32 เตรียมสำรับอาหารเลี้ยงทำบุญคนที่มาร่วมอ่านเมาลิด (น.62)
- ภาพที่ 33 ผู้นำชุมชนและการรวมตัวเพื่อประกอบพิธีในค่ำคืนนิสฟูชะอ์บาน (น.64)
- ภาพที่ 34 คนในชุมชนล้อมวงภายในมัสยิดในค่ำคืนนิสฟูชะอ์บาน (น.64)
- ภาพที่ 35 การกินเลี้ยงอาหารในค่ำคืนนิสฟูชะอ์บาน (น.65)
- ภาพที่ 36 สำรับอาหารในค่ำคืนนิสฟูชะอ์บาน (น.65)
- ภาพที่ 37 การกวนบุโบร์อาซูรอ (น.67)
- ภาพที่ 38 ขนมบูโบร์อาซูรอ (น.67)
- ภาพที่ 39 ภาพถ่ายเก่าการกินบุญร่วมกันของคนในชุมชนมัสยิดยะวา (น.72)
- ภาพที่ 40 ครอบครัวชาวยะวาช่วยกับจัดสำหรับอำเบิ๊ง (น.74)
- ภาพที่ 41 การแบ่งกับข้าวในอำเบิ๊งใส่กระทง “บารกัต” (น.74)
- ภาพที่ 42 สำรับตับซี (น.75)
- ภาพที่ 43 ขนมอะเปิม (น.76)
- ภาพที่ 44 ข้าวปันจะอั้ง หรือ ข้าวกระทง (น.76)

Text Analyst คณินเดช สายทอง Date of Report 05 ม.ค. 2566
TAG ความเชื่อ, ศาสนาและวัฒนธรรม, ชาวมุสลิม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง