สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปลัง, ไตดอย-ลัวะ, ชาติพันธุ์, ชาติพันธุ์สัมพันธ์, พุทธศาสนา, พื้นที่ทางวัฒนธรรม, เชียงราย, เชียงตุง
Author พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, เชิดชาติ หิรัญโร, และพวงผกา ธรรมธิ
Title ชาติพันธุ์สัมพันธ์ในพื้นที่ของพุทธศาสนาของกลุ่มปลัง (ไตดอย-ลัวะ)
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปลัง คาปลัง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ฐานข้อมูล ThaiLis: [เอกสารฉบับเต็ม] Total Pages 111 Year 2563
Source พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, เชิดชาติ หิรัญโร และพวงผกา ธรรมธิ. (2563).โครงการ ชาติพันธุ์สัมพันธ์ในพื้นที่ของพุทธศาสนาของกลุ่มปลัง (ไตดอย-ลัวะ). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
Abstract

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเพณี คติความเชื่อ และภูมิทัศน์ทางพุทธศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ปลังใน 2 พื้นที่ คือเชียงรายและเชียงตุง และเพื่อศึกษาการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ ในการสร้างความเป็นพลเมืองดีอย่างยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการทำงานภาคสนาม ในพื้นที่เชียงราย เชียงตุง และเมืองสิบสองปันนา ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของกลุ่มปลัง โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มปลังอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีรัฐเป็นของตัวเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐจารีต และใช้เรื่องราวทางพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือปฏิสัมพันธ์กับชาติพันธุ์อื่น โดยมีประเด็นสำคัญหกอย่าง คือหนึ่ง กลุ่มปลังและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมีชาติกำเนิดเดียวกัน สอง กลุ่มปลังพบพระพุทธเจ้าก่อนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น สาม กลุ่มปลังมีภารกิจสืบทอดพระพุทธศาสนา ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์มาถึงปัจจุบัน สี่ กลุ่มปลังในฐานะชาติพันธุ์ในอำนาจของเจ้าฟ้า ห้า พื้นที่เชิงกายภาพของกลุ่มปลังกำหนดโดยพระธาตุ และสัญญะทางพุทธศาสนา และหก พื้นที่ทางทัศนศิลป์สามารถอภิปรายได้ว่า กลุ่มปลังในพื้นที่สูงมีพื้นที่ทางศาสนาทับซ้อน กับกลุ่มปลังในพื้นที่ราบ และมีอำนาจรัฐจารีต โดยเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างสังคมที่มีความเชื่อดั้งเดิมและสังคมศาสนา

Focus

การวิจัยต้องการแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าปลัง (ไตดอย-ลัวะ) มีชาติพันธุ์สัมพันธ์ และสามารถใช้กระบวนการทางสังคมนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองระหว่างชาติพันธุ์ รัฐ และศาสนาได้อย่างกลมกลืนเฉพาะตัว โดยเน้นศึกษาในพื้นที่ทางพุทธศาสนาเป็นหลัก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเพณี คติความเชื่อ และภูมิทัศน์ทางพุทธศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ปลังใน 2 พื้นที่ คือเชียงรายและเชียงตุง และเพื่อศึกษาการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นพลเมืองดีอย่างยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งการวิจัยนี้ต้องการแสดงถึงความไม่เป็นหนึ่งเดียวทางพุทธศาสนาที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีเป้าหมายที่จะตอบคำถามว่า ศาสนาไม่เพียงแค่สถาปนาอำนาจรัฐแบบจารีต แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกฎระเบียบทางศีลธรรมของผู้คน ทั้งเรื่องลำดับชั้นและการผลิตซ้ำอุดมการณ์

Theoretical Issues

ชาติพันธุ์สัมพันธ์ จากทฤษฎีของ Charles F. Keyes มองว่าเงื่อนไขทางสังคมมีส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ของกลุ่ม ก็อาจถูกกลืนกลายให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้ และอัตลักษณ์ก็เป็นเครื่องมือช่วยในการธำรงชาติพันธุ์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าสำนึกทางชาติพันธุ์สัมพันธุ์ คือปัจจัยของความสัมพันธ์ทางสังคม (อ้างจาก สุเทพ สุนทรเภสัช, 2548) (น.19) ซึ่งชาติพันธุ์สัมพันธ์เป็นปรากฏการณ์จริงทางสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่า ชาติพันธุ์สัมพันธ์เป็นกระบวนการทางสังคมซึ่งอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ (น.20) 
 
การถอดรหัสในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ แนวคิดของโคลด เลวี่-สเตราส์ (อ้างจาก ศิราพร ณ ถลาง, 2548) ที่ได้มาจากการศึกษาตำนานของชนพื้นเมือง และสร้างวิธีการถอดความหมายของตำนานเหล่านั้น ซึ่งสร้างความจริงจากระบบของชนพื้นถิ่นให้เป็นความคิดที่อธิบายสิ่งต่างๆ ได้ มีระบบที่เรียกว่าไวยากรณ์ และการซ้ำของความหมาย โดยนำมาจัดระบบแบบคู่ตรงข้าม ระบบตัวเชื่อม และระบบกลับหัวกลับหาง (น.24)
 
พื้นที่ทางวัฒนธรรม (อ้างจาก อานันท์ กาญจนพันธ์, 2535) กลุ่มชนต่างๆ สามารถเรียนรู้ สร้างสรรค์ และปรับตัวผลิตวัฒนธรรมใหม่ได้ตลอดเวลา ในกระบวนการสร้างอุดมการณ์ คุณค่า และความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน (น.29) กลุ่มปลังที่อาศัยในพื้นที่สูง มีพื้นที่พุทธศาสนาทับซ้อนกับกลุ่มในพื้นที่ราบ และมีอำนาจรัฐจารีตด้วยวิธีการอธิบายแตกต่างกัน กลุ่มปลังถูกทำให้มีอำนาจที่ติดต่อกับความเชื่อดั้งเดิม ก่อนที่กลุ่มในพื้นที่ราบเปลี่ยนมานับถือศาสนา และละทิ้งเรื่องดังกล่าวไปแล้ว การรับพุทธศาสนาเข้ามาปฏิบัติในพื้นที่ได้นั้น เนื่องจากสามารถต่อรองกับหลักการทางพุทธศาสนา และคนพื้นถิ่นสามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิม ให้เข้ากับหลักการทางพุทธศาสนา หรือผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว โดยที่ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดลำดับชั้นทางสังคมระหว่างพื้นที่สูงกับพื้นที่ราบ อาทิ ในกรณีของเชียงตุงที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนพื้นที่สูง (ปลัง) และกลุ่มตระกูลไท ซึ่งเป็นการเมืองในพื้นที่ทางศาสนาของทั้งสองกลุ่ม (น.96)
 
มโนทัศน์เรื่องโซเมีย (Zomie) เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่อย่างอิสระปราศจากการปกครองของรัฐ โดยที่ใช้อธิบายพื้นที่ของกลุ่มคนไร้รัฐ (อ้างจาก Scott, 2009) (น.30) กลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในพื้นที่รัฐฉาน และสิบสองปันนาในอดีต สามารถนำเอาศาสนาไปใช้ในรัฐจารีตของตนเอง ประกอบกับการสร้างหลักเกณฑ์ลำดับชั้นทางสังคม ระหว่างคนที่นับถือศาสนา และไม่นับถือศาสนาขึ้นมา โดยที่การทำผิดหลักศาสนาจะถูกทำให้เป็นของกลุ่มคนในพื้นที่สูง คือ คนที่ยังไม่ได้นับถือศาสนา ดังนั้นกลุ่มที่อาศัยบนพื้นที่สูงในความหมายของ Zomie ยังเป็นความต้องการของรัฐจารีต เช่น การเปลี่ยนร่างพรางกายเป็นสัตว์ที่แสดงในพิธีกรรม ในกรณีของห้วยน้ำขุ่นแม้ว่าบริบทโครงสร้างจะไม่ใช่รัฐจารีตแบบเดิมแล้ว แต่ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์อยู่ จึงต้องมีการคงระบบรัฐจารีตในพื้นที่ศาสนาแบบเดิมไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ เช่น กรณีประเพณีอายก ที่แยกเรื่องการเปลี่ยนร่างนี้ออกมาไว้เป็นประเพณีประจำปี และเพิ่มการอัญเชิญพระอุปคุตที่เป็นพิธีกรรมของกลุ่ม เข้าไปผสมผสานเช่นกัน กลุ่มปลังมีตำนานเรื่องคนไทกับคนปลังว่าคือพี่น้องกัน แต่ถูกแยกด้วยเทคโนโลยี แม้ว่าคนปลังจะนับถือศาสนาและศาสนสถานที่สวยงาม แต่ก็ยังคงมีเรื่องเล่าที่เป็นการจัดลำดับทางสังคม ซึ่งศาสนสถานของคนปลัง ได้แยกจากคนไทอย่างชัดเจน แต่เมื่อกลุ่มคนปลังได้อพยพเข้ามาในพื้นที่ห้วยน้ำขุ่น ก็ต้องมีการจัดลำดับความสัมพันธ์ในแบบทรัพยากรที่มีจำกัด การปฏิบัติศาสนกิจต้องมีการตกลงและแบ่งปัน ทั้งเวลาและพื้นที่ ส่งผลให้พิธีการแบบเดิมต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย (น.96)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ปลังในไทยถูกเรียกว่า “ลัวะหรือไตดอย” ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ใกล้ชายแดนไทยกับพม่า และในหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่นมีสัดส่วนประชากร เป็นที่สองรองจากกลุ่มไทใหญ่ โดยเดินทางมาจากเมืองกอนตอยประเทศจีน (น.40) อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง และเป็นกลุ่มที่ไม่มีรัฐเป็นของตัวเอง (น.95)
 
ลัวะเป็นกลุ่มชนที่มีความเก่าแก่ในพื้นที่ภาคเหนือ มีอารยธรรม ประเพณีที่แข็งแกร่ง และได้ล่มสลายในปี พ.ศ.1200 ระหว่างปลังกับลัวะนั้นแตกต่างกันโดยไม่มีความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์เลย โดยกลุ่มลัวะในไทยจะนับถือขุนหลวงวิลังคะเป็นวีรบุรุษในตำนานร่วมกัน แต่กลุ่มปลังจะไม่มีความสัมพันธ์กับตำนานนี้เลย (น.7) กลุ่มชาติพันธุ์ปลังในห้วยน้ำขุ่น ได้รับการนิยามว่าเป็นลัวะ ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการพัฒนาดอยตุงของรัฐในปี พ.ศ.2529 ที่เข้ามาจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่เพื่อจัดการออกบัตรสีตามสถานะของผู้อพยพในเขตชายแดน หมู่บ้านห้วยน้ำขุ่นมีกลุ่มชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม คือ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ จีน อาข่า ละหู่ ลีซอ และลัวะ (น.8)

Language and Linguistic Affiliations

“กลุ่มปลัง” ทางราชการเรียกว่า “ลัวะ” กลุ่มชาติพันธุ์ปลังกับลัวะ จัดอยู่ในกลุ่มที่มีรากฐานของภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในสายภาษามอญ-เขมรเหนือเหมือนกัน แต่ถูกจัดกลุ่มย่อยต่างกัน คือ ลัวะถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่อยสายขมุอิก และปลังถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่อยปะหล่องอิก (อ้างจาก สุวิไล และคณะ, 2547) (น.7)

History of the Group and Community

การเดินทางเข้ามาของชาวปลัง ในบ้านห้วยน้ำขุ่นพบว่า เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองกอนตอยในสิบสองปันนา และเมื่อ พ.ศ.2504 มีบางกลุ่มของคนปลังได้อพยพเข้าไปในเมืองเชียงตุงประเทศพม่า อาศัยอยู่ราว 3 ปี (อ้างจาก Suwannawat, 2003) ก็ได้เดินทางเข้าสู่บ้านผาแตกประเทศไทย และในปี พ.ศ.2508 กลุ่มคนปลังกลุ่มแรกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านห้วยน้ำขุ่น (น.8) 
 
สถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง มีความสัมพันธ์กับเมืองเชียงตุงในยุคเริ่มสร้างเมือง หรืออาจกล่าวได้ว่าชาวปลังเป็นผู้บุกเบิกสร้างเมืองเชียงตุง แต่ด้วยสงครามกับพญามังรายทำให้ต้องอพยพขึ้นไปอาศัยอยู่บนดอย และตัดขาดความเป็นเมือง (น.11)

Settlement Pattern

บ้านของปลัง มีลักษณะที่พิเศษกว่าบ้านในเขตเอเชียอาคเนย์ตอนบน กล่าวคือมีลักษณะเรือนยาวอยู่อาศัยกัน 5-7 ครอบครัว ซึ่งแต่ละครอบครัวจะมีเตาไฟในบ้านของตัวเอง การอาศัยในเรือนยาวนั้น เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงภาษีการนับหลังคาเรือน (น.12)
 
บ้านห้วยน้ำขุ่น มีการจัดแบ่งหย่อมบ้านตามชาติพันธุ์ ไทใหญ่ ไทลื้อ คนจีน ปลัง และอื่นๆ หย่อมบ้านของไทใหญ่และไทลื้อจะอยู่ในบริเวณที่ต่ำกว่ากลุ่มปลัง วัดจะเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน  โดยการทำพิธีกรรมในวิหารจะมีพื้นที่ย่อส่วนของหมู่บ้าน ในลักษณะให้ไทใหญ่นั่งตรงกลางวิหาร ด้านซ้ายเป็นไทลื้อ ด้านขวาเป็นปลัง ซึ่งเป็นการจำลองพื้นที่เดิมก่อนอพยพเข้ามาในไทย (น.40)

Economy

สังคมลัวะจัดอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบกสิกรรมเพื่อการยังชีพ อาทิ การทำนาและการไร่หมุนเวียน แต่ในการทำไร่จะยึดการปฏิบัติตามความเชื่อและจารีตสูง เนื่องจากเป็นที่ดินของส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว เพื่อให้คนในชุมชนมีโอกาสใช้ที่ดินอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการลงไปลำงานรับจ้างในพื้นที่ราบเพราะมีความต้องการเงินสดเพิ่มมากขึ้น (อ้างจาก Kundstadter&Chapman, 1970; ณัฏฐวี ทศรฐ และสุริยา รัตนกุล, 2539) (น.9) 

Social Organization

สังคมในพื้นที่สูง มีลักษณะเป็นสังคมเคลื่อนย้ายและอยู่กันเป็นกลุ่ม มีความเป็นพวกพ้องและเครือญาติสูง อันแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการนับสายเลือดในฐานะบุคคลหนึ่งในสังคม เช่น การแต่งงานภายในกลุ่ม (น.31) การรวมกลุ่มทางสังคมเชื่อมโยงไว้กับพื้นที่พุทธศาสนา โดยกลุ่มพื้นที่สูงรับพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมกลุ่มคนกับพื้นที่ราบ และได้ผสมกลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิม แม้ว่าปลังจะโยกย้ายพื้นที่จากรัฐจารีตเดิมมาแล้ว แต่เมื่อต้องมารวมกับกลุ่มไท จึงถูกกระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมรวมถึงจัดอันดับให้เป็นรัฐจารีตตามเดิม โดยที่เลือกวัฒนธรรมไทใหญ่ขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมหลัก ทำให้กลุ่มปลังต้องปรับตัวเป็นสมาชิกของวัฒนธรรมใหม่ และปรับตัวให้มีวัฒนธรรมไทใหญ่เช่นกัน (น.93)

Political Organization

ชุมชนของชาวลัวะ มีการปกครองในลักษณะของพ่อปกครองลูก ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ คือสายตระกูลที่เรียกว่า “สะมัง” โดยชาวลัวะมีความเชื่อว่า สะมังคือผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากขุนหลวงวิลังคะ ทำให้สะมังกลายเป็นผู้นำตามธรรมชาติ และมีบทบาทเป็นผู้นำในการดูแลปกครอง ทำหน้าที่ตัดสินแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน อีกทั้งยังมีหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนลัวะอีกด้วย (อ้างจาก ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555) (น.9)  โดยจะมีผู้ช่วยซึ่งมาจากแต่ละตระกูลเรียกว่า “ปูลำ” โดยจะคัดเลือกผู้ที่มีอาวุโส ซึ่งจะทำหน้าที่ตามที่สะมังมอบหมาย เช่น ด้านพิธีกรรม การเลี้ยงผี เป็นต้น แต่เมื่อคนลัวะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ จึงมีการแต่งตั้งผู้นำตำบลขึ้นมาตามนโยบายปกครองระดับหมู่บ้านในปี พ.ศ.2435 ทำให้ผู้นำบางครั้งก็ไม่ใช่ชาวลัวะ แต่มีอำนาจในการปกครองตามที่ทางการกำหนด  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทำให้เกิดผู้นำ 2 แบบคือผู้นำตามประเพณีและผู้นำของทางการ (น.10)
 
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าฟ้ากับกลุ่มปลัง กล่าวคือ เชียงตุงเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย (อ้างจาก พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, 2550) ซึ่งในอดีตเมืองเชียงตุงนั้นมีความสัมพันธ์กับเชียงใหม่ ในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง จากที่ทั้งสองเมืองได้รับสถาปนาโดยพญามังรายหลังจากที่สามารถเข้ามาแทนกลุ่มลัวะ ทั้งยังสร้างระบบการปกครองใหม่คือ เจ้าฟ้า (ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง) (น.11)

Belief System

การนับถือศาสนาพุทธของกลุ่มปลัง มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนากับการบับถือผีหรือเทวดา (อ้างจาก พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, 2555) กลุ่มปลังมีความศรัทธาแบบเดียวกับกลุ่มไตและเขิน กล่าวคือ การนำพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เพื่อสร้างความแตกต่างจากกลุ่มชาวเขาอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่สูงห่างไกลจากอำนาจรัฐ ศาสนาจึงเป็นเครื่องมือเพื่อสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ และผู้ปกครอง ซึ่งการที่กลุ่มหลอยในเชียงตุงเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแบบเจ้าฟ้า และการใกล้ชิดกับศูนย์กลางของอำนาจ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และศาสนา ทำให้ศาสนสถานมีลักษณะของการผสมผสานทางอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิม และความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน ได้สะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของพุทธศาสนาที่มีต่อความเชื่อดั้งเดิม โดยปรากฏผ่านประเพณีอายก การตั้งโกม (สัญลักษณ์ก่อนเริ่มทำพิธี) เป็นต้น การนําเอาความเชื่อท้องถิ่นมาผสมผสานจนเกิดเป็นพิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบูชาพระธาตุ อาทิ พิธีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ  พิธีบูชาพระ ธาตุประจำปีเกิด  พิธีสรงน้ำพระธาตุ เป็นต้น(น.76)ความสำคัญของพระธาตุบนดอย นอกจากจะเป็นที่เคารพบูชาแล้วยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนใกล้เคียง การตั้งพระธาตุจะสัมพันธ์กับลักษณะของชุมชน โดยเปรียบเสมือนหมุดหมายในแต่ละแห่งอันเป็นสัญญะประจำถิ่น โดยมีความเชื่อมโยงเชิงตำนานเพื่อหลอมรวมผู้คนผ่านเศรษฐกิจและความเชื่อ (น.78)

Education and Socialization

วัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากพุทธศาสนาคือ การใช้ระบบอักษรธรรมของล้านนา และพัฒนาให้มีลักษณะเฉพาะเรียกว่าตัวเขิน โดยอักษรธรรมนี้จะใช้ในการเขียนเรื่องราวในพุทธศาสนา จึงถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ อักษรธรรมได้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคตอนบนของเอเชียอาคเนย์ อาทิ ในเมืองตุง เมืองยอง เมืองเชียงรุ่ง และเมืองจิงกู่ ซึ่งความรู้ทางอักษรศาสตร์ของเชียงตุงสามารถแปลพระไตรปิฎกและคัมภีร์ จากภาษาบาลีเป็นภาษาเขินได้ (อ้างจาก เสมอชัย พูลสุวรรณ, 2552) (น.85) 

Health and Medicine

สังคมของคนลัวะ เดิมเชื่อเรื่องผีและเทวดา การรักษาโรคจึงเป็นในแนวทางของการทำพิธีกรรม ซึ่งเมื่อไม่สบายต้องเซ่นไหว้ผี เพื่อขอขมาให้หายจากการเจ็บป่วย แต่การเข้ามาของศาสนาคริสต์ในปี พ.ศ.2490 เป็นช่วงที่เกิดข้าวยากหมากแพงและโรคระบาด ทำให้มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา ได้ช่วยรักษาพยาบาลให้กับคนในหมู่บ้านจนหายจากโรค ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาและเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ จนบางส่วนได้เปลี่ยนศาสนามานับถือศริสต์และละทิ้งความเชื่อแบบเดิมไป (น.10)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ลักษณะการสร้างวัดของกลุ่มปลัง มักนิยมสร้างพระธาตุที่มีหลังคาคลุม ทำเจดีย์องค์ไม่ใหญ่ และรอบฐานเจดีย์จะมีก้อนหินนอนอยู่ กลุ่มปลังนิยมสร้างเจดีย์บนเขา และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สาเหตุที่สร้างอาคารคลุมเจดีย์ก็เพื่อให้เกิดที่ว่างภายในสำหรับประกอบพิธีกรรม เช่นเดียวกับการสร้างวิหารหน้าเจดีย์ในวัฒนธรรมล้านนา (อ้างจาก เกรียงไกร เกิดศิริ, 2550) (น.54)

Folklore

การสถาปนาอุดมการณ์ในพื้นที่พุทธศาสนาเรื่องการประดิษฐาน พระพุทธศาสนามีวรรณกรรมที่สำคัญ คือ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทำนายว่าเมืองจะเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ประดิษฐานศาสนา และมอบสัญลักษณ์สำคัญทางศาสนาให้ เช่น พระเกศา และรอบพระบาท ให้กับกลุ่มคนดั้งเดิม (ลัวะ) รวมถึงมีตำนานพุทธศาสนาอื่นๆ ที่เรียกคนพื้นเมืองว่าคือนาคที่เป็นผู้รักษาศาสนา (น.39)
 
ตำนานก้างไออุ่นและเจ้าวุ่นติ๊บ โดยเล่าว่ามีเศรษฐีปลังสองผัวเมีย ชื่อก้างไออุ่นและนางเอ่ยแก้ว ทั้งสองมีความศรัทธาและสร้างพระธาตุจอมดอย แต่ต่อมาโดนเจ้าฟ้าประหารชีวิต เพราะไปสร้างพระธาตุแทนการไปสร้างกำแพงตามคำสั่ง ก่อนตายจึงได้อธิษฐานไม่ให้เจ้าฟ้าขึ้นมาไหว้พระธาตุจอมดอยอีก จึงถูกชาวบ้านยกย่องว่าเป็นผู้ที่รักษาพระธาตุ (อ้างจาก อนุกูล ริพันธุ์, 2552) (น.54) และเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าวุ่นติ๊บ ว่าคือผู้ที่สืบทอดภารกิจในการบำรุงศาสนาและพัฒนาวัดต่อจากก้างไออุ่น (น.57) โดยตำนานนี้ สามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองเรื่องศาสนาระหว่างคนพื้นที่สูงกับพื้นที่ราบ ในการสร้างหมุดหมายทางศาสนสถาน ซึ่งการสืบทอดวีรบุรุษในตำนานสร้างความเป็นชาติพันธุ์ขึ้นมา

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

อัตลักษณ์ความเป็นปลังแสดงออกผ่านการพูด ภาษา และการนับถือพุทธศาสนา อันจะเห็นได้จากการที่ชุมชนมีวัดเป็นศูนย์กลาง มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การถวายสังฆทานนับว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ และแสดงออกถึงอัตลักษณ์สำคัญของการเป็นปลัง (อ้างจาก ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555) โดยนอกจากการนับถือพุทธศาสนาแล้วยังแสดงออกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจของระบบเจ้าฟ้า ทั้งทางเศรษฐกิจในการเก็บภาษี และการทำงานที่หอคำ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความซื่อสัตย์มาก และยังมีหน้าที่รับผิดชอบทางพิธีกรรมการขึ้นครองเมืองของเจ้าฟ้าอีกด้วย (น.9) การสร้างพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพระพุทธศาสนา นั้นเป็นการสร้างการมีอยู่ของตัวตนในโครงสร้างทางสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม และตัวตนที่ถูกสร้างนี้ยังคงเชื่อมโยงกับลำดับชั้นทางอุดมการณ์พุทธศาสนา (น.38) โดยอัตลักษณ์ของการนับถือศาสนายังถูกส่งต่อผ่านประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีอายก (ประเพณีผีตาโขน) ในบ้านห้วยน้ำขุ่น หมายถึงความน่ากลัว ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดสิ่งชั่วร้าย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกที่น่ากลัวของคนปลัง ประเพณีนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับความหมายของพุทธศาสนา คือ การเฝ้าอารักขาศพพระพุทธเจ้าในวันปรินิพพานจนถึงวันถวายพระเพลิง โดยต่างพื้นที่แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน แต่ก็มีการแสดงออกในบริบทที่ต่างกันออกไป แสดงถึงระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จำลองความสัมพันธ์แบบรัฐจารีตเดิมมาปรับใช้ในพื้นที่และบริบทใหม่ ทั้งที่ควรจะเข้าสู่สภาวะความทันสมัยเมื่อนับถือศาสนาเดียวกัน แต่ก็ยังคงสร้างกลไกเพื่อธำรงโครงสร้างเดิมไว้ให้ชาติพันธุ์ยังดำรงอยู่ ซึ่งแสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ที่มีการผสมผสาน และกลมกลืนพื้นที่ทางวัฒนธรรม (น.97)

Social Cultural and Identity Change

ในช่วงแรกชาวลัวะมีความเชื่อแบบดั้งเดิม เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับผี ภายหลังการเปลี่ยนศาสนามานับถือศริสต์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการละทิ้งความเชื่อแบบดั้งเดิม ไม่เชื่อผี แต่เชื่อในพระเจ้าแทน และชาวบ้านยังมีความเข้าใจว่าวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิมนั้นเป็นเรื่องที่งมงาย ส่งผลให้ประเพณีบางอย่างถูกยกเลิก อาทิ การแต่งงานแบบวัฒนธรรมของคนลัวะที่มีสะมังเป็นผู้ทำพิธีก็ถูกยกเลิก กลายเป็นแบบตะวันตกโดยให้บาทหลวงเป็นผู้ทำพิธีแทน ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ที่นับถือศริสต์ประมาณครึ่งหนึ่งของหมู่บ้าน โดยที่คนเหล่านี้จะไม่ร่วมกิจกรรมที่มีผู้นำแบบประเพณีเดิมเป็นผู้ประกอบพิธี ไม่เชื่อการทำนายและไม่มีวัฒนธรรมการเลี้ยงผีอีกต่อไป แต่ยังเหลือชาวบ้านที่ยังคงนับถือความเชื่อดั้งเดิมผสมกับพุทธศาสนาที่ยังคงปฏิบัติตามจารีต ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ (น.10) ในท้ายที่สุดกลุ่มปลังสามารถรับพุทธศาสนาเข้ามาปฏิบัติกับคนพื้นถิ่น และสามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมให้เข้ากับหลักการทางพุทธศาสนาได้ ทั้งการผสมกลมกลืน และใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการจัดลำดับระหว่างคนพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ

Map/Illustration

- ภาพที่ 1 ชาวบ้านช่วยกันยกเสาตั้งโกมที่ประดับตกแต่งเรียบร้อยแล้ว (น.43)
- ภาพที่ 2 หน้ากากอายกและคนแสดง (น.45)
- ภาพที่ 3 “ไม้เกี๊ยะหลวง” หรือ “หลัวไฟหลวง” (น.46)
- ภาพที่ 4 จุดหลัวไฟหลวงเริ่มประเพณีอายก ที่บ้านห้วยน้ำขุ่น จังหวัดเชียงราย (น.50)
- ภาพที่ 5 แผนผังแสดงถึงการแยกแยะระหว่างคนปลังด้วยกันและคนปลังกับกลุ่มไท (น.52)
- ภาพที่ 6 วัดบ้านก้าม เดิม ที่เป็นลักษณะภูมิทัศน์พื้นที่สามพื้นที่ได้แก่ วัดธาตุ วัดป่า และวัดผาต๊ะ (น.53)
- ภาพที่ 7 รูปปั้นก้างไออุ่นละนางเอ่ยแก้ว วีรบุรุษของกลุ่มคนปลัง (น.54)
- ภาพที่ 8 ลักษณะสถาปัตยกรรมของกลุ่มปลัง ที่เป็นวิหารครอบเจดีย์ตามตำนาน ก้างไออุ่น (น.55)
- ภาพที่ 9 พระธาตุรูปซ้ายถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2553 และพระธาตุเดิมเมื่อ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีการบูรณะด้วยเจ้าวุ่นติ๊บ (น.56)
- ภาพที่ 10 ภาพเจ้าวุ่นติ๊บและวัดวังสุวรรณะ (น.58)
- ภาพที่ 11 พระธาตุจอมไซ (น.59)
- ภาพที่ 12 ภาพซองเป็นเครื่องใช้เก็บผลผลิตที่ในตำนาน นำมาครอบก้อนหินที่ทับเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า (น.60)
- ภาพที่ 13 ศาลาเดิมที่เคยเก็บข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2560 ว่าเป็นรูปปั้นก้างไออุ่น แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วกลายเป็นชื่อเจ้าชายอุ่นแสง เจ้านางเปียงคำ (น.61)
- ภาพที่ 14 รูปแก๋น (อวัยวะเพศชาย) ในการแห่ขุนสังขานต์ปี พ.ศ. 2547 (น.63)
- ภาพที่ 15 ภาพการปั้นขุนสังขานต์ในแต่ละปีของสล่านล (น.65)
- ภาพที่ 16 กลุ่มคนปลังจากบ้างปางล้อกำลังตีกลองนันทเภรี (น.65)
- ภาพที่ 17 การแห่ขุนสังขานต์จากบริเวณกาดเจ้าฟ้า (กาดเก่า) ไปยังล้องกบ (น.66)
- ภาพที่ 18 ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าเมืองเปรียบเทียบสองปี (น.67)
- ภาพที่ 19 ภาพเขียนที่วัดพระธาตุหล้าเมืองแสดงถึงตุงคฤาษีทำช่องน้ำออกจากบริเวณเมืองเชียงตุง (น.69)
- ภาพที่ 20 รูปกบที่บริเวณล้องกบริมน้ำขึน (น.71)
- ภาพที่ 21 รูปพระธาตุจอมไซก่อนบูรณะ ที่ใจบ้านพระธาตุจองศรีนั้นมีแผ่นหินจารึกอักษรไตเขียนไว้ว่า “สหวะยะ นามวัด 1276 (จศ) เดือนแปดออกสามค่ำยามได้เข้าบ้านแล” (น.78)
- ภาพที่ 22 ภาพแสดงแผนผังระบบภูมิทัศน์ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐาน (น.79)
- ภาพที่ 23 รูปแสดงภูมิทัศน์ลำดับชั้นของพระธาตุ วัด ใจบ้าน และหมู่บ้าน (น.80)
- ภาพที่ 24 ภูมิทัศน์ ผาต๊ะ และชุมชน (น.81)
- ภาพที่ 25 ลำดับการเรียงพระธาตุเป็นเส้นทางการค้า และการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง (น.81)
- ภาพที่ 26 รูปนาคเกี้ยว แสดงออกคล้ายจักรวาลวิทยาที่ถูกตัดขวางแนวราบ (น.88)
- ภาพที่ 27 ตัวอักษร ถอดเสียงได้ว่า “เยทำเจติยะถอดจิตขวันเจ้าแล” ภาพจิตรกรรมที่เขียนไว้ที่วิหารเจ้าอาวาสวัดบ้านแยก ซึ่งปัจจุบันนี้ได้พังลงแล้ว (น.89)
- ภาพที่ 28 ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านแยก ชายแดนระหว่างเชียงตุงกับเมืองลา (น.90)
- ภาพที่ 29 ภาพไตรภูมิที่วัดบ้านเก๋ณ ซึ่งพบรูปแบบนี้ในบริเวณเมืองเชียงตุงและพื้นที่ใกล้เคียง (น.91)
- ภาพที่ 30 วัดบ้านแสน (น.91)
- ภาพที่ 31 ภาพที่วิหารวัดจอมคำ (น.92)
- ภาพที่ 32 วัดจันทาราม อำเภอแม่จัน (น.94)
- ภาพที่ 33 เทศเวสสันตระ (เวสันดร) ชุมชนสามารถทำในแบบเฉพาะชาติพันธุ์ของตัวเองได้ ให้เหมือนกับที่เคยอยู่รัฐฉาน (น.94)

Text Analyst ภัทรวดี อบอาย Date of Report 05 ม.ค. 2566
TAG ปลัง, ไตดอย-ลัวะ, ชาติพันธุ์, ชาติพันธุ์สัมพันธ์, พุทธศาสนา, พื้นที่ทางวัฒนธรรม, เชียงราย, เชียงตุง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง