สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทลื้อ,อักษรธรรม,อัตลักษณ์,สิบสองปันนา,ยูนนาน
Author Isra, Yanatan
Title The Revival of the Tai Lue Scripts in Sipsong Panna, Yunnan Province.
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 93 Year 2544
Source Department of International Coorperation Studies Graduate School of International Development Nagoya University.
Abstract

ไทลื้อเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน แต่ก็มีกลุ่มไทลื้อกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย ทางเหนือของลาว และในรัฐฉานของพม่า สิบสองปันนามีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและมีลักษณะร่วมกับกลุ่มไทอื่น ๆ ในช่วงก่อนยุคสมัยใหม่ (Pre-modern period) ภายหลังจากกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนในช่วงปี ค.ศ.1950 ได้มีการอพยพของไทลื้อในสิบสองปันนาไปยังดินแดนของกลุ่มไทอื่น ๆ ทางตอนใต้ โดยเฉพาะ เมืองเชียงตุง และแม่สาย ในระหว่างปี ค.ศ.1950-1970 ปัจจุบันสิบสองปันนากลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้วัฒนธรรมไทลื้อถูกนำมาใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบดั้งเดิม ไทลื้อนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท เช่นเดียวกับกลุ่มไทอื่นๆ และใช้ตัวอักษรเหมือนกันแต่ภายหลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของกลุ่มคนไทลื้อให้ตกอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อย อักษรไทลื้อถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ศาสนา สังคมและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม อักษรใหม่ถูกใช้ในพื้นที่ทางสังคมต่าง ๆ เช่น โรงเรียน หนังสือพิมพ์ ป้ายประกาศ ในขณะที่ การใช้ตัวอักษรเก่าได้ลดน้อยลงพร้อมกับการเสื่อมของพุทธศาสนาในช่วงปลายปี ค.ศ.1950 พุทธศาสนาในสิบสองปันนาได้ถูกทำลายโดยรัฐบาลจีน ทำให้การเรียนอักษรเก่า หรือที่รู้จักในกลุ่มไท ว่าอักษรธรรม เกือบจะสิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี ค.ศ.1980 ได้เริ่มมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาและการกลับมาของการใช้อักษรเก่าอีกครั้งทั้งภายในพื้นที่ทางศาสนาและพื้นที่ทางสังคมอื่น ๆ เช่น การเรียนในโรงเรียนแพทย์แผนดั้งเดิม และป้ายประกาศตามพื้นที่สาธารณะในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มไทอื่น ๆ ทางตอนใต้ (เชียงตุง และทางภาคเหนือของไทย) ปัจจุบัน มีการใช้ตัวอักษรเก่าและใหม่ แต่อักษร 2 แบบถูกนำมาใช้แตกต่างกันในเรื่องของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทลื้อในสิบสองปันนา อักษรเก่า คือสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ของการเป็นกลุ่มคนไท อักษรใหม่คือ อัตลักษณ์ของการเป็นชนกลุ่มน้อยในจีน และเนื่องจากการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มไทอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทลื้อในสิบสองปันนามีความรู้สึกที่แปลกแยกและแตกต่างในการเป็นประชากรในสังคมจีน (หน้า 88-92)

Focus

ศึกษาการใช้อักษรธรรมทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ในพื้นที่ทางสังคมที่แตกต่างกันและการใช้อักษรธรรมในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมภายใต้การเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมจีน (หน้า 5-6)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มคนไทลื้อ ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน

Language and Linguistic Affiliations

คำว่า "ไทลื้อ" (Tai Lue) สามารถแยกออกได้เป็นสองคำคือ ไท ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ไทกะได (Tai- Kadai) โดยอาศัยในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรัฐอัสสัมทางตะวันออกของอินเดีย จนถึงทางเหนือของเวียดนามและจากทางตอนใต้ของประเทศจีนจนถึงทางตอนใต้ของประเทศไทย คำว่า ไท เป็นคำที่อาจจะสับสนกับคำว่า ไทย ซึ่งหมายถึงชาติไทยและภาษาไทย และคำว่า ไท หรือ ในจีนใช้คำว่า ไต (Dai) หมายถึงกลุ่มคนไทที่อาศัยอยู่ในจีน กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลไทกะได แบ่งออกได้หลายสาขาย่อย เช่น ไทดำ ไทขาว ใน ตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ไทใหญ่ ในรัฐฉานของพม่า ไทลื้อ ในยูนนานของจีน ด้วยเหตุนี้ คำว่าไทลื้อ คือ กลุ่มย่อยของสายตระกูลที่พูดภาษาไทกะไดที่พูดภาษาถิ่น ลื้อ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีนปัจจุบัน (หน้า 9-10) ตักอักษรไทลื้อในการจัดระบบภาษาเขียนชนกลุ่มน้อยของประเทศจีน สำหรับไทลื้อเป็นกลุ่มที่มีภาษาพูดและเขียนเป็นของตนเอง การใช้ภาษาไทลื้อมีความสัมพันธ์กับการเมืองของจีน เนื่องจากรัฐสิบสองปันนาซึ่งไทลื้อส่วนใหญ่อาศัยได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา ในการจัดระบบภาษาเขียนของชนกลุ่มน้อยโดยรัฐบาลจีน (ค.ศ.1999) ภาษาเขียน ไท-ลื้อ เดิมถูกจัดในกลุ่มแรกลำดับที่ 7 เรียกว่า "Xi Shuangbanna Old Dai (Indio)" ซึ่งหมายถึง "ตัวอักษรธรรม" ที่ใช้มาเก่าแก่ และภาษาเขียน ไท-ลื้อ ใหม่ (ที่ผลิตขึ้นมาใหม่) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 4 ลำดับ 25 "Xishuang banna Dai (Lalin) ลำดับของภาษาชนกลุ่มน้อย เป็นตัวบ่งชี้ถึงสถานภาพความซับซ้อนของภาษา หากชนกลุ่มน้อยใดที่มีภาษาเขียนแล้วจะได้รับการยอมรับว่ามีอารยธรรมและมีสถานภาพสูง ในปี ค.ศ. 1953 ได้มีการประดิษฐ์อักษรธรรม (ไทลื้อ) ใหม่ ที่ง่ายต่อการเขียน พิมพ์ และสำเนา โดยอักษรเดิม เรียกว่า ตัวเก่า อักษรใหม่เรียกว่า ตัวใหม่ แต่ตัวอักษรใหม่ไม่สามารถใช้เขียนคำในภาษาบาลีได้ ทำให้ตัวใหม่ไม่มีความสัมพันธ์กับศาสนา วรรณคดี และวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นรากฐานของตัวอักษรธรรมเก่า ตัวอักษรใหม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้สอนในปี ค.ศ. 1950-1960 ภายใต้บริบททางการเมืองของจีนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชนกลุ่มน้อยให้อยู่ภายใต้วัฒนธรรมจีน แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสิ้นสุดบทบาททางการเมืองของกลุ่ม The Great Leap Forward Movement การศึกษา "ตัวเก่า" ได้กลับมาอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา และความสัมพันธ์ระหว่างสิบสองปันนาและกลุ่มคนไททางตอนใต้สร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการใช้อักษรตัวเก่าและตัวใหม่ การเปลี่ยนกลับไปมาในการใช้ตัวเก่าและใหม่เกิดขึ้นหลายครั้ง ตัวเก่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบดั้งเดิม แต่ตัวใหม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการเรียนและการสอนในโรงเรียนและสถานที่สาธารณะต่างๆ สถานการณ์ในปัจจุบันที่การติดต่อระหว่างสิบสองปันนาและรัฐไทอื่น ๆ ทางตอนใต้เพิ่มมากขึ้นทำให้ตัวเก่าได้รับการสนับสนุนอีกครั้งและเมื่อตัวเก่าเข็มแข็งความรู้สึกของการเป็นคนจีนจะน้อยลง (หน้า 34-42) การใช้อักษรไทลื้อ (ตัวเก่า -ตัวใหม่) ในพื้นที่ทางสังคมสิบสองปันนา การสอนตัวอักษรเก่านอกวัดมีสอนเฉพาะในโรงเรียนแพทย์แผนดั้งเดิมของไทลื้อ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ้ง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อยู่ในสังคมชนบทและในเมือง หลังจากจบจะไปทำงานในโรงพยาบาลเชียงรุ้ง และโรงพยาบาลในเมืองใหญ่อื่น ๆ นักเรียนต้องเรียนอักษรเก่าเนื่องจากตำรายาเขียนเป็นอักษรตัวเก่า แต่ในปัจจุบัน มีการแปลตำราเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น (หน้า 59) อักษรใหม่ถูกใช้ในงานหนังสือพิมพ์ ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อ่านตัวใหม่ได้ และอักษรตัวใหม่เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของกลุ่มคนเหล่านี้ สำหรับการใช้อักษรตัวเก่าในงานหนังสือพิมพ์พบเห็นได้น้อยเนื่องจากปัญหาในการพิมพ์และสำเนาเป็นไปได้ยากและกลุ่มคนที่อ่านตัวเก่าได้มีจำนวนจำกัด (หน้า 59-64) นอกจากนี้ยังมีการใช้อักษรทั้งตัวเก่าและใหม่ในป้ายประกาศต่าง ๆ แต่ในปี 1980 เป็นต้นมา จากการสำรวจพบการใช้ตัวเก่าในป้ายประกาศเพิ่มมากขึ้น โดยจาก 60 ป้ายประกาศ จะมี 50 ป้ายประกาศใช้อักษรตัวเก่า สำหรับรัฐบาลจีนในปัจจุบันไม่เห็นสำคัญว่าจะใช้อักษรตัวเก่าหรือตัวใหม่ในพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับคนไทลื้อ ตัวเก่า มีความสำคัญและควรใช้อย่างถูกต้องในป้ายประกาศ ในปี ค.ศ. 2000 สภาประชาชนแห่งสิบสองปันนาได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ภาษาไทลื้อ (ตัวเขียน) ในพื้นที่สาธารณะ และอย่างไม่เป็นทางการในการพยายามใช้ตัวเก่าให้มากขึ้น (หน้า 65) ไทลื้อที่มีภูมิหลังและสถานภาพทางสังคมต่างกันมีความแตกต่างกันในแนวคิดเกี่ยวกับภาษาเขียนไทลื้อ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ 1. พวกปัญญาชน และ 2. พวกชาวบ้าน 1. พวกปัญญาชนแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย คือ 1.1 ปัญญาชนอาวุโส มีความเห็นว่า "ตัวใหม่" ใช้เกี่ยวกับศาสนาและพิธีกรรมไม่ได้ไม่เหมือนกับ "ตัวเก่า" 1.2 ปัญญาชนที่มีการศึกษาภาษาจีน มีความเห็นว่า "ตัวใหม่และตัวเก่า" มีประโยชน์ต่างกัน 1.3 ปัญญาชนรุ่นใหม่ ไม่แยกแยะตัวเขียนไท-ลื้อออกจากตัวเขียนของล้านนาหรืออื่น ๆ และมองว่าภาษาไท-ลื้อ เป็นส่วนหนึ่งของภาษาไททั้งมวลเพราะกลุ่มคนพวกนี้มักมีการติดต่อกับคนไท-ลื้อที่อื่น ๆ ปัญญาชนเหล่านี้มีการถกเถียงในเรื่องตัวเขียน ไท-ลื้อ ว่า "ตัวเก่า" หรือ "ตัวใหม่" ที่สมควรจะเป็นภาษาราชการ และจะทำให้ "ตัวเก่า" เป็นมาตรฐานได้อย่างไร (จะเอาตัวเก่าแบบของไท-ลื้อ หรือจะปรับให้สอดคล้องกับไท-ลื้อในท้องถิ่นอื่น ๆ ) 2. พวกชาวบ้าน มองว่า "ตัวเก่า" ไม่ได้ใช้เพื่อการสื่อสารเท่านั้นแต่ยังใช้ในพิธีกรรม โดยเฉพาะหลัง ค.ศ.1980 ได้อนุญาตให้มีการทำพิธีทางศาสนาได้ แต่การมีความรู้ในภาษาเขียนไท-ลื้อ แบบตัวเก่ามิใช่เป็นตัวบ่งชี้สถานภาพสังคมอีกต่อไปแล้ว (หน้า 70-85)

Study Period (Data Collection)

ค.ศ. 1999-2001

History of the Group and Community

ประวัติศาสตร์ของรัฐสิบสองปันนาสามารถย้อนไปได้จนถึงศตวรรษที่ 12 ซึ่ง พระยาเจื่อง (Phaya Choeng) เป็นเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกของรัฐสิบสองปันนา โดยสร้างอาณาจักรขึ้นในปี ค.ศ.1180 ให้ชื่ออาณาจักแห่งนี้ว่า หัวคำเชียงรุ้ง หมายถึง อาณาจักรแห่งทอง ณ เมืองเชียงรุ้ง เขตแดนของรัฐครอบคลุม ตะวันออกเฉียงเหนือ (เมืองเชียงตุง) ของพม่าปัจจุบัน ทางเหนือของไทย (ล้านนา) ลาวทางตอนเหนือ (ลานสัก) และบางส่วนทางตอนเหนือของเวียดนาม (Kaeo) การสืบราชสมบัติจะให้แก่พระราชโอรสองค์โต ส่วนพระเชษฐาของเจ้าแผ่นดินจะถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1253 อาณาจักรหัวคำเชียงรุ้งตกอยู่ภายใต้อำนาจของกุบไลข่าน (Kubilaikhan) ซึ่งเป็นจักพรรดิจีน แต่จีนก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมโดยตรง แต่สิบสองปันนาต้องส่งเครื่องบรรณาการ (ส่วย) 3 - 5 ครั้งใน 9 ปี และในปี ค.ศ.1325 จักพรรดิจีนได้มอบหัวเสือทองคำให้กับเจ้าแผ่นดินสิบสองปันนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นประเทศราชภายใต้การปกครองของจีน ตั้งแต่พระยาเจื่องได้สร้างอาณาจักร มีเจ้าแผ่นดินปกครองทั้งหมด 44 พระองค์ และนอกจากจะเป็นประเทศราชของจีนแล้ว สิบสองปันนายังคงตกอยู่ใต้อาณัติของพม่าเป็นบางช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าช่วงใดอาณาจักรใดมีอำนาจเหนือกว่า หรือบางครั้งจะส่งเครื่องบรรณาการให้กับทั้งจีนและพม่าโดยมีคำเปรียบเทียบว่า หัวเป็นพ่อ ม่านเป็นแม่ ซึ่งหมายถึง จีนเป็นพ่อ พม่าเป็นแม่ หัวคำเชียงรุ้ง หรือ สิบสองปันนาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1953 สิบสองปันนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนและเป็นวาระสุดท้ายของการปกครองแบบดั้งเดิมของรัฐสิบสองปันนา (หน้า 15-16)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของไทลื้อส่วนใหญ่จะตั้งบริเวณที่ราบระหว่างภูเขา สำหรับเมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (หน้า 12)

Demography

รัฐบาลจีนพยายามควบคุมประชากร 3 กลุ่ม คือ ไทลื้อ ชาวจีน และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ บนพื้นที่สูงให้มีความสมดุล จากการสำรวจในปี ค.ศ. 1993 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 798,086 คน เป็นไทลื้อ 36% จีนฮั่น 26% และ กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีก 35% (หน้า 13-14)

Economy

ในปี ค.ศ.1970 เมื่อมีการพัฒนายูนนานไปสู่ประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองเชียงรุ้งได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า จากคุนมิง - ทางภาคเหนือของไทยและทางเหนือของลาว เมื่อมีการสร้างถนนจากเชียงรุ้งไปทางเหนือของไทย ซึ่งสร้างขึ้นตามเส้นทางเดินเท้าเก่าในปี ค.ศ. 1991 และได้เปิดสนามบินระหว่างประเทศในเมืองเชียงรุ้ง ทำให้การเดินทางสู่สิบสองปันนาเป็นไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในสิบสองปันนาเป็นจำนวนมากทุกปีจนถึงปัจจุบัน การสนับสนุนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ในยูนนาน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตและทำให้ยูนนานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำรายได้มากที่สุดในกลางปี ค.ศ.1980 โดยนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางเข้ามาชมวิถีชีวิตอันมีสีสันของชนกลุ่มน้อยในสิบสองปันนา สิบสองปันนากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในช่วงกลางปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา เกิดธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยวมากมาย แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของจีนฮั่น ระบบเศรษฐกิจที่ดีส่งผลให้มีการอพยพเข้ามาของจีนฮั่นที่ยากจน มาทำงานในเมืองเชียงรุ้ง โดยเฉพาะการเข้ามาทำงานเป็นแรงงานในการก่อสร้าง และการเข้ามาค้าประเวณี (หน้า 21-23)

Social Organization

อาณาจักรสิบสองปันนามีความสัมพันธ์กับอาณาจักรไทอื่น ๆ เช่น ล้านนา และเชียงตุง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ โดยมีการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานของเชื้อพระวงศ์ในประวัติศาสตร์ของไทลื้อกล่าวว่า พระยาเม็งราย ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนาเป็นหลานของกษัตริย์แห่งรัฐสิบสองปันนา (หน้า 17)

Political Organization

รูปแบบการเมืองการปกครองของรัฐสิบสองปันนาได้ถูกกล่าวถึงโดยนักชาติพันธุ์วรรณาชาวจีนในปี ค.ศ.1950 ตามแนวคิดมาร์กซิสต์ โดยกล่าวว่า สิบสองปันนาเป็น รัฐสังคมเกษตรกรรม มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองเมือง อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนทำให้อำนาจรัฐจำกัดอยู่เฉพาะในเขตเมืองเชียงรุ้งและเมืองรอบ ๆ โดยทั่วไปเมืองจะประกอบด้วย 10-30 หมู่บ้านขึ้นไป แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง ลักษณะการปกครองของสิบสองปันนามีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับอาณาจักรรัฐไทอื่น ๆ ที่จะมีเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองสูงสุดและราชวงศ์ไปครองเมือง และหมู่บ้านโดยรอบพระราชวัง การปกครองแบบดั้งเดิมของรัฐสิบสองปันนาเสื่อมลงในปลายคริสตศตวรรษที่ 19 อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจทางตอนใต้ของจีน ในปี ค.ศ.1899 รัฐบาลจีน และ รัฐบาลอังกฤษได้ปักปันเขตแดนโดยแบ่งรัฐฉานของพม่าและยูนนานออกจากกัน ส่งผลให้สินสองปันนากลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน และในช่วงระยะเวลาต่อมา ภายใต้การปักปันดินแดนของอังกฤษและฝรั่งเศส Panna Moeng Uu ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของฝั่งแม่น้ำโขงกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส (หน้า 16-17) การปกครองสมัยใหม่ของรัฐสิบสองปันนามีความเกี่ยวข้องกับประเทศจีน โดยเริ่มต้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รัฐบาลจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฉิง (Qing) เข้ามาควบคุมเมืองเชียงรุ้งส่งผลให้อำนาจเจ้าแผ่นดินลดน้อยลง ในปี ค.ศ. 1950 รัฐบาลใหม่ (PRC) มีความพยายามอย่างสูงที่จะควบคุมชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนจีน แต่รัฐบาลก็ยังคงให้อิสระในการดำรงวิถีชีวิตตามแบบประเพณีดั้งเดิม ผู้อาวุโสของรัฐสิบสองปันนากล่าวว่า ชาวจีนที่เข้ามาในช่วงนี้ให้ความเคารพและสนใจวัฒนธรรมไทลื้อ หลายคนเรียนและพูดภาษาไทลื้อได้ กลุ่มไทลื้อชอบพวกเขา (หน้า 18-19) ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1950 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในจีนมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม The Great Leap Forward Movement ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ.1957 ส่งผลกระทบทางด้านลบต่อสังคมไทลื้อ เชื้อพระวงศ์ เจ้าฟ้าที่อาศัยใน 9 หมู่บ้านรอบพระราชวังถูกบังคับให้ย้ายออกและกลายเป็นสถานที่ของรัฐ ในปี ค.ศ.1958 ไทลื้อไม่สามารถส่งเด็กเข้าไปเรียนหนังสือที่วัดได้ และพระถูกจับสึกส่งไปทำงานในไร่ ช่วงระยะเวลานี้มีการอพยพของไทลื้อออกจากเมืองสิบสองปันนาเดินทางไปเมืองยอง ในพม่า หรือ แม่สายในประเทศไทย การเคลื่อนไหวของกลุ่ม The Great Leap Forward Movement มีอยู่ในระยะเวลาไม่กี่ปี ในช่วงต้นปี ค.ศ.1960 ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ รัฐบาลให้การยอมรับวัฒนธรรมไทลื้อ แต่ในช่วงระยะเวลาไม่นานในปี ค.ศ. 1964 การปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) ได้เริ่มขึ้น พระถูกจับสึก และสิ่งก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กับศาสนาถูกทำลาย คัมภีร์ถูกเผา วัดถูกเปลี่ยนเป็นที่ทำการปศุสัตว์ ในช่วงเวลานี้ มีกลุ่มไทลื้อเป็นจำนวนมากอพยพ (หน้า 20-21)

Belief System

ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 พุทธศาสนา นิกายเถรวาท ได้แผ่ขยายจากล้านนาไปยังเชียงตุงและสิบสองปันนา และการใช้ตัวอักษรธรรมในการเขียนคัมภีร์ทางศาสนาได้แพร่กระจายไปในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (หน้า 17) แต่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศจีนในช่วงปลายปี ค.ศ. 1950 ได้ส่งผลให้มีการทำลายวัดและศาสนสถานต่าง ๆ แม้แต่การสึกพระ ทำให้การนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเสื่อมถอยลง (หน้า 20-21) การฟื้นฟูพุทธศาสนาและการใช้อักษรตัวเก่าได้กลับมาอีกครั้งภายหลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมได้สิ้นสุดลง ในปี ค.ศ.1970 ทำให้มีการบูรณะวัด วิหาร จากความทรงจำของผู้อาวุโส และมีการติดต่อกับทางใต้ในการนำช่างโดยเฉพาะช่างจากเมืองเชียงตุงมา สร้างวัดและเขียนภาพภายในอุโบสถ สำหรับอุปกรณ์ในการก่อสร้างนำมาจากเมืองไทย รวมถึงการนำพระพุทธรูปเข้ามาประดิษฐาน และการนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาสอนศาสนา และอักษรธรรม นอกจากนี้จากการเปิดเมืองสิบสองปันนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ได้มีกลุ่มชาวไทยเดินทางเข้ามาเพื่อเยี่ยมชมเมือง ซึ่งมีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาชมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างไปจากตน แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาเพราะสนใจวัฒนธรรมไท ซึ่งอาจจะคล้ายกับสังคมในอดีต คนไทยเหล่านี้เข้ามาช่วยบริจาคในการสร้างวัดและบริจาคพระพุทธรูปรวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้คนไทลื้อไม่รู้สึกผิดแปลกกลับรู้สึกดีใจที่ได้รับ เนื่องจากพวกเขามีความยินดีที่บ้านเมืองไทอื่นๆ พุทธศาสนาไม่ได้ถูกทำลาย ในช่วงระยะเวลานี้ในสิบสองปันนามีการเพิ่มขึ้นของการสร้างวัด และการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในวัดเพิ่มมากขึ้น ในปี ค.ศ.1982 มีวัด 145 แห่ง พระสงฆ์ 30 รูป และเณร 655 รูป แต่ 12 ปีต่อมา ในปี ค.ศ.1994 มีวัด 435 แห่ง พระสงฆ์ 509 รูป และเณร 5,336 รูป ปีที่เพิ่มมากที่สุดคือปี ค.ศ.1982-1984 แต่ในช่วงหลังปี ค.ศ.1997 รัฐบาลจีนเริ่มควบคุมเรื่องศาสนาในรัฐยูนนานมากขึ้น เช่น ส่งพระสงฆ์กลับพม่า ทำให้การบวชเณรและพระของไท-ลื้อลดน้อยลง ในปี ค.ศ. 2000 พระสงฆ์จากพม่าทั้งหมดถูกส่งกลับ ในปัจจุบันพ่อแม่ยังคงส่งลูกไปเรียนหนังสือที่วัดแต่ไม่มีการบวชอีกต่อไป (หน้า 45-55)

Education and Socialization

ตามประเพณีดั้งเดิมเด็กไทลื้อจะบวชเป็นเณร (พระน้อย) ในช่วง 2-3 เดือนในแต่ละปีเพื่อเข้ารับการศึกษาจากวัด และมีบางคนได้บวชต่อเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ 20 ปี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันในกลุ่มชาวพุทธนิกายเถรวาทในรัฐไทอื่น ๆ ที่จะให้บุตรชายบวชศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏกและอ่านภาษาบาลี ซึ่งใช้ในการสวดมนต์และกระทำพิธีกรรมทางศาสนา แต่ก็ไม่ได้เรียนเฉพาะด้านศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเรียนวิชาอื่น ๆ เช่น การพยากรณ์ ตำรารักษาโรค และคาถาอาคม พระที่บวชเรียนเป็นระยะเวลานานเมื่อสึกออกมาจะได้รับการขนานนามว่า "Khanan" ผู้คนนับถือว่าเป็นชายผู้มีความรู้ (หน้า 17-18) ในปี ค.ศ. 1951 รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนในการสอนภาษาของชนกลุ่มน้อยในแต่ละพื้นที่ แต่รัฐบาลก็ส่งเสริมให้มีการเรียนภาษาจีนซึ่งถือว่าเป็นภาษาประจำชาติด้วย โดยเฉพาะในรัฐสิบสองปันนา กลุ่มเจ้า ได้เริ่มเรียนภาษาจีนและรับการศึกษาแบบชาวจีนและทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ของรัฐ ในช่วงระยะเวลานี้มีการสอนภาษาไทลื้อทั้งในวัดและภายนอกตามโรงเรียนต่าง ๆ บางครั้งโรงเรียนจะเชิญพระมาสอน เนื่องจากมีครูไม่กี่คนที่มีความรู้เกี่ยวกับอักษรไทลื้อ การสอนภาษาไทลื้อในโรงเรียนทำให้ไทลื้อถูกปลดปล่อยจากประเพณีดั้งเดิมที่จะต้องส่งบุตรชายไปบวชเป็นเณรและเรียนหนังสือที่วัด ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ส่งนักภาษาศาสตร์ นักชาติพันธุ์วิทยา เข้ามาศึกษาสังคมและวัฒนธรรมในสิบสองปันนา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและประดิษฐ์อักษรไทลื้อขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1954 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากไทลื้อที่รู้ภาษาจีน ตัวหนังสือใหม่ถูกสร้างขึ้นให้ง่ายต่อการเรียน เรียกตัวอักษรใหม่นี้ว่า "ตัวใหม่" (หน้า 18-20)

Health and Medicine

รัฐบาลให้ความสนับสนุนในการเรียนรู้การแพทย์แผนดั้งเดิม และเข้าทำงานในโรงพยาบาลในเมืองเชียงรุ้งและเมืองอื่น ๆ ส่วนใหญ่กลุ่มนักเรียนจะเป็นผู้หญิงทั้งจากในเมืองและชนบทในสิบสองปันนา (หน้า 59)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไทลื้อเรียกกลุ่มคนบนพื้นที่สูงว่า ข่า ซึ่งมีความหมายว่า ทาส สะท้อนความสัมพันธ์ทางการปกครองและสภาพทางสังคมในสมัยนครรัฐ ที่ไทลื้อเป็นกลุ่มที่มีสถานภาพสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยเฉพาะ Hani เป็นประชากรกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มในรัฐสิบสองปันนา พวกเขาเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองเพิ่มมากขึ้น เปรียบเทียบกับกลุ่มบนพื้นที่สูงอื่น ๆ เด็ก ๆ Hani สามารถเรียนรู้ภาษาจีนได้ดีกว่าไทลื้อ เพราะพวกเขาได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจากรัฐบาลจีนมากกว่าไทลื้อ ปัจจุบัน Hani ที่ได้รับการศึกษาดีเข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีในเมือง ซึ่งทำให้ไทลื้อรู้สึกอับอาย เพราะคิดว่า Hani ควรเป็นกลุ่มคนที่มีสถานภาพต่ำกว่าพวกตน เนื่องจากเป็นคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง (หน้า 14-15) การที่สิบสองปันนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มไทลื้อดั้งเดิมและจีนฮั่นที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคม รวมถึงปัญหาของการเป็นชนกลุ่มน้อยและชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เช่น ปี ค.ศ. 1999 ชาวจีนสร้างเจดีย์โดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากพระสงฆ์ ภายหลังการก่อสร้างเสร็จกว่าครึ่งได้เกิดความขัดแย้งในเรื่องรูปร่างของเจดีย์ ที่พระสงฆ์มีความเห็นว่าเจดีย์มีลักษณะแปลกประหลาด (หน้า 23)

Social Cultural and Identity Change

รายละเอียดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ดูใน Abstract การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มไทลื้อ จากวิถีดั้งเดิมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ โทรทัศน์ได้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม ทุกบ้านมีโทรทัศน์ และเครื่องเล่น VCD เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพลงจากประเทศไทยได้รับความนิยมมากเช่นเดียวกัน การเข้ามาของโทรทัศน์ทำให้มีรายการทางสถานีเป็น 3 ภาษาคือ จีน ไทลื้อ และ Hani ในภาษาไทลื้อแม้ว่าจะพูดภาษาไทลื้อแต่มีการออกเสียงที่แตกต่างไปจากสำเนียงดั้งเดิมคือ การออกเสียงที่ใกล้เคียงกับภาษาจีนมากขึ้น (หน้า 24) นอกจากนี้การใช้อักษรเก่าและใหม่มีอิทธิพลต่อคนในสิบสองปันนาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และค่านิยมที่แตกต่างไปจากเดิม คือ จากการนับถือชายผู้มีความรู้จากการบวชและศึกษาเล่าเรียนในวัด เปลี่ยนไป และผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางสังคมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถศึกษาหาความรู้ได้ตามแบบสมัยใหม่ (หน้า 92)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst ชัชฎาวรรณ แก้วทะพยา Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ไทลื้อ, อักษรธรรม, อัตลักษณ์, สิบสองปันนา, ยูนนาน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง