สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กะซอง, ซำเร, งานผีแม่มด, สำนึกทางชาติพันธุ์
Author ดำรงพล อินทร์จันทร์
Title พลวัตทางชาติพันธุ์ ณ พรมแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มภาษากะซองและซำเร
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ซำเร ซัมเร ซำแร สำเหร่, กะซอง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
[เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 109 Year 2559
Source ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากส่งผลทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประชาคมชาติพันธุ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นประเด็นปัญหาท้าทายที่นำมาทบทวนและพิจารณาในบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในรูปแบบนโยบายการกำหนดพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์พลัดถิ่น ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ของโลกที่เกิดขึ้นมายาวนาน โดยงานศึกษาวิจัยนี้มุ่งศึกษาสภาพสังคมวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่ม "กะซอง" และ "ซำเร" ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจการเมืองบริเวณพื้นที่ชายแดนตะวันออกของไทย โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอันจะนำมาซึ่งความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ร่วมสมัยของชุมชนประชาคมชาติพันธุ์ และพัฒนาแนวนโยบายทางวัฒนธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป

Focus

ศึกษาสภาพวิถีชีวิตสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะซองและซำเร บริเวณชายแดนตะวันออกของไทย โดยทำความเข้าใจในบริบททางเศรษฐกิจการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ และการอธิบายถึงปรากฏการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์พลัดถิ่นท่ามกลางกระแสประชาคมอาเซียน ตามแนวนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

Theoretical Issues

แนวคิดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ การธำรงชาติพันธุ์ คนพลัดถิ่น
อ้าง Fredrik Barth (1969) กล่าวถึงการเข้าใจปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ได้ต้องพิจารณาความคิดและจิตสำนึกของคนในแต่ละกลุ่มว่า ลักษณะทางวัฒนธรรมใดมีความหมายกับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา เนื่องจากบางกลุ่มชาติพันธุ์อาจมีแบบแผนทางวัฒนธรมบางอย่างร่วมกัน ก่อให้เกิดการปรับตัวทางสภาพแวดล้อม แต่ต่างฝ่ายมองว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน จากการวิจัยกลุ่มปาทานที่ถือว่า มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เดียวกันด้วยมาตรการทางวัฒนธรรม ในการสืบสายเลือดข้างพ่อ การนับถืออิสลาม การถือประเพณีปาทาน รวมถึงการพูดภาษาเดียวกัน ในความคิดของบาร์ท ลักษณะทางวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของปาทานในการแยกออกจากกลุ่มอื่น และรวมปาทานไว้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ขณะเดียวกัน Stuart Hall กล่าวว่า อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มมักผันแปรไปตามปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ด้วยเงื่อนไขหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม ภาษา เศรษฐกิจ การเมือง ล้วนมีส่วนสำคัญต่ออัตลักษณ์ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
งานของKeyes(2002) ฉายภาพรวมปรากฏการณ์ของผู้คนในเอเชีย ว่าเป็นทั้งศาสตร์และการเมืองในการจัดจำแนกประเภท (classification) ของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย, จีน, และเวียดนาม  สองประเทศหลังนั้นค่อนข้างมีแนวโน้มใกล้เคียงกันในการริเริ่มโครงการจัดจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศ  รัฐบาลของทั้งจีนและเวียดนามต่างให้ความสำคัญกับการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยา อย่างจริงจังหลังทศวรรษ 1950เป็นต้นมา โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้า วิจัย จัดจำแนกประเภท นิยามกลุ่มชาติพันธุ์ ค้นหาเอกลักษณ์จากประเพณีวัฒนธรรมที่ปรากฏ เพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดสำนึกภาคภูมิใจในความเป็นชาติเดียวกัน แต่ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ระหว่างนักชาติพันธุ์วิทยาและคนท้องถิ่นปรากฏให้เห็น ขณะที่จีนไม่สนใจความดั้งเดิมเก่าแก่ของกลุ่มชาวจ้วง แต่ตระหนักต่อจ้วงในฐานะชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดแทน การจัดกลุ่มส่งผลต่อการลดลงของความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการ เพราะหลายกลุ่มถูกผนวกรวมกัน ต่างไปจากกลุ่มเดิมที่พวกเขาเคยเป็น ส่วนในเวียดนามการจัดจำแนกไม่ได้ยืนยันว่าเป็นคำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับชาวเวียดนามอย่างแท้จริง
อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ใหม่ (New Ethnic Identities / Ethnicities) ของคนพลัดถิ่น ภายใต้เงื่อนไขของสังคมโลกาภิวัฒน์ที่จะนำไปสู่กระแสหนึ่งเดียวของ (Global homogenization) ยังสร้างความแตกต่าง ภาวะไหลเวียนหรือการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงก่อผลกระทบต่อผู้คนในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์การอพยพของผู้คนอย่างกว้างขวางมากกว่าในอดีต และก่อตั้งชุมชนของตนเองขึ้นในต่างแดน อัตลักษณ์จึงไม่ได้มีหนึ่งเดียวหรือหยุดนิ่งตายตัว มิใช่ผลผลิตสำเร็จรูป หากปรากฏในกระบวนการผลิตตลอดเวลา ทั้งสร้างขึ้นจากความกำกวม การแบ่งแยก ความขัดแย้ง ความแตกต่าง  และไม่ชัดเจน หรือสมบูรณ์ (Hall, 1996) ความคิดเรื่องสิทธิ ศักดิ์ศรี และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์พลัดถิ่นในฐานะหน่วยทางวัฒนธรรมภายใต้พหุสังคมจึงควรพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ ทั้งในชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนรัฐ และระหว่างรัฐ เพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่และโอกาสในการขับเคลื่อนและต่อรองทางอำนาจของการพัฒนามากขึ้น

Ethnic Group in the Focus

กะซอง บ้านคลองแสง
ซำเร    บ้านมะม่วงและบ้านคลองโอน

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาที่ใช้พูด ภาษากะซอง (Kasong) จัดอยู่ในภาษาศาสตร์สาขาเพียริก (Pearic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic)

Study Period (Data Collection)

1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559

History of the Group and Community

ตราด เป็นเมืองท่าชายทะเลที่มีชัยภูมิเหมาะกับการจอดเรือแลกเปลี่ยนสินค้า นับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายอยุธยา สินค้าที่ส่งออกขายยังแดนไกล โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่าง ๆ ล้วนมาจากเขตป่าเขาชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด โดยลำเลียงสินค้าผ่านมาตามแม่น้ำเขาสมิง ออกสู่ปากอ่าวตราด (น.35)
เมื่อครั้งสงครามพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้าด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารก่อนเคลื่อนกองทัพเรือออกจากจันทบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองตราดยังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์ซึ่งต่อมาหันไปสวามิภักดิ์กับญวน (เวียดนาม) ไทยกับญวนผิดใจกันจนต้องทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2371 ตราดเป็นแหล่งกำลังพล และเสบียงอาหารมีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตราด (น.36)
สมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดจันทบุรี ปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และคืนให้ไทยในปี พ.ศ. 2447 โดยแลกกับเมืองตราดตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ต่อมารัฐบาลไทยเห็นว่าตราดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย ฝรั่งเศสจึงยินยอมทำสัญญายกเมืองตราดกับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (เมื่อหันหน้าไปทางปากแม่น้ำ) คืนให้กับไทยโดยแลกเปลี่ยนกับพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 (น.36) แม้ภายหลังในช่วงสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483-2484) ฝรั่งเศสพยายามเข้ายึดเมืองตราดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ (น.36)
ต่อมาในช่วงระยะเวลาอันใกล้ ในปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามสู้รบในกัมพูชา ชาวเขมรนับแสนคนหนีตายทะลักเข้ามาในเขตแดนไทยทางเทือกเขาบรรทัด เขตพรมแดนด้านตะวันออก? เมื่อสงครามสงบลงในปี พ.ศ. 2529 เส้นทางสายนี้ได้เปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณตลาดบ้านหาดเล็ก สุดเขตชายแดนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางต่อไปยังเกาะกง (น.36)
 

Settlement Pattern

บ้านคลองแสง
จากคำเล่าขานของชาวบ้าน  “บ้านคลองแสง”  แต่เดิมเรียกกันว่า “ บ้านชุมแสง” ตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ชอบขึ้นตามหนองน้ำและลำคลองของหมู่บ้าน คือ ต้นชุมแสง เป็นที่อาศัยของหิ่งห้อย ชอบเกาะในเวลากลางคืน ทำให้เกิดแสงระยิบระยับ สวยงาม ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองแสง” จนถึงปัจจุบัน  ปรากฏข้อความกล่าวถึงที่มาของหมู่บ้านว่า (น.47)
“หมู่บ้านนี้ มีอายุการก่อตั้งหมู่บ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ปี แรกเริ่มผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันประมาณ 3-4 ครัวเรือน คือ นางเย็น นายคุด นางหอ ซึ่งคนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากชาว ฌอง (ชอง) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อพยพมาจากเขมร แล้วมาตั้งรกรากที่นี้ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าคนในชุมชนนี้มีการสืบเชื้อสาย มาจาก 4 ครอบครัวนี้” (รายงานการพัฒนาของหมู่บ้านคลองแสง, 2558)
โดยมีลักษณะบ้านเรือนของชาวกะซองเป็นลักษณะเครื่องผูกยกเสาสูงมีชั้นเดียว เรือนไม่ได้มีขนาดใหญ่นัก พื้นเรือนและฝาเรือนทำจากฟากไม้ไผ่ เสาบ้านทำจากไม้ยืนต้น สูงจากพื้นดินประมาณ 2 - 2.5 เมตร ขณะที่บางหลังยกพื้นเพียง 1 เมตร ส่วนหลังคามุงด้วยใบจาก ใบระกำ โสม (หวาย) พื้นที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นพื้นที่เปิดโล่งเป็นชานที่พักต่อขึ้นจากบันได ส่วนที่สองเป็นชานเรือนใช้เป็นที่พักผ่อนและรับรองแขก ส่วนที่สามเป็นครัว ส่วนที่สี่เป็นห้องนอนแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือห้องนอนของพ่อแม่และห้องนอนของลูก โครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากไม้ที่หาได้ในป่า และสร้างเป็นเรือนแบบเปิด มีชานเรือนออกมา ต่อมามีการสร้างบ้านที่เสาทำจากไม้เนื้อแข็งยกพื้น มีใต้ถุนเบื้องล่าง มุงหลังคาด้วยสังกะสี ภายหลังเปลี่ยนแปลงมากขึ้น นิยมสร้างเรือนปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้อง หรือบางครั้งก็สร้างเป็นเรือนสองชั้นโดยข้างบนเป็นไม้ และข้างล่างเป็นปูน เมื่อคนกะซองออกมาทำงานนอกหมู่บ้านจะนิยมกลับไปสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมที่บ้านของชาวชองทำจากไม้ไผ่เป็นหลัก (น.63-64)
บ้านมะม่วง
ดั้งเดิมหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ผู้คนสืบเชื้อสายชาวชอง จากประเทศกัมพูชา มาตั้งถิ่นฐานซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ต่อมามีคนต่างถิ่นเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินผู้คนจึงเพิ่มมากขึ้น เดิมหมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านซอก” ซึ่งแปลว่า มะม่วง จึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านมะม่วง” จนถึงปัจจุบันและภายหลังได้มีกองกำลังป้องกันชายแดนจังหวัดจันทบุรีและตราด ได้มาจัดเป็นหมู่บ้าน อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ปี พ.ศ. 2522 และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกจนถึงปัจจุบัน จำนวน 8 คน (น.54)
บ้านคลองโอน
หมู่บ้านคลองโอน พบข้อมูลเบื้องต้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านมะม่วง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนนทรีกล่าวว่า หมู่บ้านคลองโอนนั้น เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในโครงการเป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน (ปชด.) ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของป่าไม้ มีกองกำลังของทหารเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาจัดการดูแล จากเดิมที่มีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนกระจายตัวกันในเขตพื้นที่ป่าและบริเวณชายแดน ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. 2522 ทางหน่วยงานภาครัฐเล็งเห็นว่า ควรต้องมีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านใหม่ จึงดำเนินการย้ายชาวบ้านที่กระจายบ้านเรือนกันนั้นมาอยู่ในพื้นที่จัดสรรเป็นแปลง ๆ เพื่อก่อสร้างบ้านเรือน  โดยแบ่งเป็นบ้านละ 1 ไร่ ลักษณะของหมู่บ้านคลองโอนจึงมีลักษณะค่อนข้างเป็นสัดส่วนของชุมชนแบบที่ดินจัดสรร แบ่งพื้นที่เป็นซอยย่อย ๆ  4 ซอยมีถนนคอนกรีตผสมราดยางอย่างดี (น.57)
 

Demography

อำเภอบ่อไร่ มีจำนวนประชากร 35,303 คน จากการสำรวจสำมะโนประชากร ปี พ.ศ. 2557  มีความหนาแน่นของประชากร 51.91 คน/ตารางเมตร (น.37)
ตำบลด่านชุมพล มีประชากรทั้งสิ้น  5,233 คน ชาย  2,796  คน หญิง  2,437  คน   มี  2,039  ครัวเรือน ความหนาแน่นโดยเฉลี่ย 20 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร (น.42)
ตำบลนนทรีย์ มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 1,357 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 3,858 คน  แบ่งเป็น ชาย 1,980 คน หญิง 1,878 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 33.26 คน/ตารางกิโลเมตร (น.45)
บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด มีจำนวนหลังคาเรือน  212 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 742 คน แยกเป็นชาย 414 คน เป็นหญิง 328  คน (น.47)
บ้านมะม่วง ต.นนทรีย์ อ.บ่อไร่ จ.ตราด มีประชากรทั้งสิ้น 1,379 คน  ชาย 772 คน เป็นหญิง 727 คน (น.55)
 

Economy

บ้านคลองแสง
ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอิงอยู่กับธรรมชาติ เดิมระบบเศรษฐกิจของชาวกะซองเป็นแบบเก็บของป่าล่าสัตว์ และเริ่มทำการเกษตรกรรมแบบพอยังชีพ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเพาะปลูกข้าว เพื่อเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้มุ่งเพื่อการค้า ด้วยปัจจัยทางกายภาพที่อยู่ใกล้แนวป่าเขาถ้ำที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพอย่างมาก ผลผลิตที่ได้นำมาใช้ในครัวเรือน ร่วมกับแหล่งอาหารจากป่าตามฤดูกาล 
อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และวิถีการผลิตของบ้านคลองแสงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาจากภาครัฐที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดย สามารถสรุปอย่างกว้าง ๆ ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาได้ดังนี้
1) ยุคพึ่งพาตัวเอง  
ในยุคนี้วิถีการผลิตและระบบเศรษฐกิจของชาวบ้านเป็นแบบพึ่งพาตนเอง มีแหล่งอาหารมาจากพื้นที่ “ป่าเขาถ้ำ” เป็นหลัก พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์จากฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้มีพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเน้นหาของป่าและล่าสัตว์นำมาบริโภคในครัวเรือนเป็นสำคัญ และนำบางส่วนไปแลกเปลี่ยน หรือขายให้กับหมู่บ้านใกล้เคียง โดยมีผลิตผลสำคัญคือ หวาย กระวาน น้ำผึ้ง น้ำมันยาง สัตว์ป่าขนาดเล็ก เป็นต้น ด้วยลักษณะสภาพแวดล้อมของชุมชน ที่เดิมเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้รูปแบบการดำรงชีวิตของชุมชนสะท้อนออกมาทางด้านการเกษตรและเพาะปลูกเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทั้งการทำนา ทำไร่ การเก็บของป่าขาย ล่าสัตว์ขนาดเล็กที่มีในพื้นที่ นำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น กะปิ เกลือ น้ำปลา จากตราดหรือจันทบุรี ขณะที่ในบริเวณละแวกบ้านจะปลูกข้าวไร่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพึ่งพาน้ำฝนและปลูกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกข้าวแบบนาดำ ด้วยแรงงานคนและสัตว์ เช่น ควาย และเริ่มจับจองที่ดินครอบครองเพิ่มมากขึ้น เมื่อสมาชิกในครอบครัวเพิ่มจำนวนขึ้น 
2) ยุคข้าวและมันสำปะหลัง
ในระยะนี้มีสองปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิตของชาวบ้าน ปัจจัยแรกคือ การพัฒนาจากภาครัฐด้วยการทำถนนลูกรัง ส่งผลให้การคมนาคมเข้า - ออกหมู่บ้านเป็นไปอย่างสะดวก ก่อให้เกิดการติดต่อค้าขายกับนอกหมู่บ้านมากขึ้น และมีคนจากภายนอกชุมชนเข้ามายังพื้นที่บริเวณชายป่าหรือในเขตป่า ทำให้เกิดการบุกเบิก บุกรุกป่าเพื่อใช้เป็นที่ดินทำกินมากขึ้นขประกอบกับปัจจัยถัดมาคือ แหล่งชลประทานที่เอื้ออำนวยน้ำทำให้ชาวบ้านสามารถใช้น้ำจากคลองธรรมชาติและชลประทานในการทำนาได้ ชาวบ้านจึงถากถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น และด้วยรูปแบบการทำนาที่เน้นผลผลิตเป็นจำนวนมากทำให้มีการใช้สารเคมีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำนาหนึ่งแปลงจึงเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้เพียงแรงงานคนและสัตว์ ต้องหันมาจ้างรถไถและเสียค่าสารเคมีซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการเพาะปลูก ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนเลิกทำนาหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น ปลูกมันสำปะหลังเพื่อส่งโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ่อไร่เขตติดต่ออำเภอเขาสมิงไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก   เป็นเหตุให้ชาวบ้านเพิ่มพื้นที่การผลิตโดยบุกเบิกพื้นที่ป่าบริเวณรอบชุมชนเพื่อปลูกมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้น 
3) ยุคสวนผลไม้ภาคตะวันออก
เนื่องจากบริเวณภาคตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และเมืองตราด เป็นแหล่งปลูกผลไม้ จำพวกเงาะ ทุเรียน มังคุด เพื่อขาย และเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ชาวสวนและนายทุนส่วนใหญ่มาจากระยอง จันทบุรี เข้ามาบุกเบิกจับจอง ลงทุนเช่าซื้อที่ดินเพื่อปลูกผลไม้ในอำเภอเขาสมิง  และขยายบริเวณเข้ามาในหมู่บ้าน หากความนิยมในการทำสวนผลไม้ดังกล่าว ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากชาวกะซองมากนัก เนื่องจากผลไม้เหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนสูงอยู่พอสมควร ทั้งในการบำรุงดูแล ขณะที่ผลผลิตจากผลไม้ที่ได้จะออกผลเพียงปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้น จึงมีชาวกะซองจำนวนหนึ่งที่ลงทุนทำสวนผลไม้ ยุคเดียวกันนี้นับเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน เนื่องจากมีคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาจับจองซื้อหาที่ดินในชุมชนเพื่อลงทุนสวนผลไม้ ชาวบ้านหลายรายขายที่ดินของตนเองที่ได้รับสืบทอดมา คงเหลือแต่พื้นที่บ้านเรือนและที่ทำกินไม่มากนัก
4) ยุคสวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้ปัจจุบัน 
ในยุคสมัยที่กองทุนสวนยางส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกยางพารากันอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านคลองแสงก็ปรับเปลี่ยนที่ดินของตนเอง จากที่ปลูกผลไม้ ได้โค่นลงแล้วลงทุนปลูกยางพาราแทน โดยเฉพาะห้วงเวลาที่ราคาน้ำยางพาราในประเทศมีราคาดี ทำให้พื้นที่สวนผลไม้ ไร่สับปะรด กลายเป็นสวนยางพาราแทบทั้งสิ้น นอกจากยางพารายังพบปาล์มน้ำมันเข้ามาควบคู่กันด้วย ยุคนี้จึงมีการว่าจ้างแรงงานชาวพม่าหรือเขมรเข้ามาทำงานในหมู่บ้านบ้าง เนื่องจากแรงงานภายในครอบครัวไม่พอเพียง กระทั่งปัจจุบัน แม้ราคาน้ำยางจะตกต่ำลง ชาวกะซองให้ความคิดเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนสวนผลไม้ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง และได้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง จึงถือว่ายางพาราให้รายได้แก่ชาวสวนประจำวันมากกว่า ขณะเดียวกันตามแนวสวนของชาวบ้านจะแซมไปด้วยสวนผลไม้เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ปรากฏมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณท้ายหมู่บ้านที่ติดต่อกับหมู่บ้านปะเดา และเส้นทางไปยังอำเภอเขาสมิง ด้วยเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกผลไม้สำคัญของภาคตะวันออก สังเกตพบว่า ในละแวกนั้นมีชาวบ้านทำอาคารเพื่อเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตทั้งยางพารา และผลไม้ต่าง ๆ อีกด้วย (น.65-69)
บ้านมะม่วง
ชุมชนบ้านมะม่วงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร รับจ้างทำสวนปาล์ม เพาะพันธุ์กล้าไม้กฤษณา(ไม้หอม) สวนยางพารา สวนผลไม้ และอาชีพเก็บของป่าขาย อีกส่วนหนึ่งรับจ้างทั่วไป รายได้ของประชากรในพื้นที่ต่อปีประมาณ 52,000 บาทต่อ/ครอบครัว/ปี (น.55)
บ้านคลองโอน
บ้านคลองโอนได้ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากคลุ้มขึ้น โดย “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน  พ.ศ. 2550  เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน กลุ่มอาชีพสตรี ผลิตภัณฑ์จักสาน ได้จดวิสาหกิจเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พ.ศ. 2551 และได้รับเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับสามดาว ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ประเภทผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ และคลุ้ม เมื่อปี พ.ศ. 2553 และ 2555 (น.58)
 

Social Organization

บ้านคลองแสง
ลักษณะครอบครัวของชาวกะซองเป็นครอบครัวขยาย หากในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเป็น ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ในอดีตจะแต่งงานข้ามสายตระกูลไปมาภายในหมู่บ้าน แม้จะนามสกุลเดียวกันก็สามารถแต่งงานกันได้ หากนับสายเครือญาติห่างกันออกไป ไม่นิยมแต่งงานกับคนภายนอก เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะนิยมย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับฝ่ายหญิง โดยจะตั้งเรือนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อและแม่ของฝ่ายหญิง และได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินในจำนวนที่เท่า ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ทำให้กลุ่มคนในหมู่บ้านเป็นญาติกันทั้งหมด โดยสายตระกูลดั้งเดิมของหมู่บ้านมีทั้งหมด 4 นามสกุล คือ เอกนิกร เกตุถึก พรหมบาล เป็นต้น
ชาวกะซองแต่งงานกับชาวซำเรบ้างเช่นกัน สันนิษฐานว่า การผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติภายในกลุ่มกันเอง นอกจากความใกล้ชิดของเชื้อสายแล้ว อาจเนื่องมาจากสภาพการตั้งบ้านเรือนของกะซองที่กระจายตัวตามที่ดินทำกินของตนเอง ซึ่งค่อนข้างไกลจากชุมชนและคนกลุ่มอื่น ๆ และการทำมาหากินของชาวกะซองนั้นอยู่ตามพื้นที่ชายป่า ในท้องที่ซึ่งไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากนัก ทุกวันนี้คนกะซองแต่งงานกับคนไทยและคนกลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกสบาย จึงเกิดการติดต่อปฏิสัมพันธ์ และการออกไปทำงานกับกลุ่มคนภายนอกมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่หลากหลายตามไปด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่มีเพียงการทำนา ทำไร่ และใช้คนจากครัวเรือน หรือเครือญาติเป็นแรงงานในภาคการเกษตรเปลี่ยนไปเป็นแรงงานจากการว่าจ้างแทน 
 ข้อสังเกตประการหนึ่งที่พบคือ คนกะซองแต่งงานมีครอบครัวกันตั้งแต่อายุยังน้อย (อายุไม่ถึง 20 ปี) และมีลูกจำนวนมาก โดยเฉพาะในอดีตพบว่าแต่ละครอบครัวมีลูกไม่ต่ำกว่า 5-6 คน คุณยายพุ่ม เอกนิกร ซึ่งถือเป็นผู้อาวุโสที่สุดมีพี่น้องถึง 6 คน และมีลูกทั้งหมด 9 คน ปัจจุบันมีหลาน เหลน และโหลน (หรืออาจจะมีชั้นเครือญาติต่อจากนั้นไปอีก) รวมกันไม่ต่ำกว่า 10 คน 
สำหรับการจัดการทางสังคมในอดีตมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะคือ หนึ่ง ผู้นำตามธรรมชาติ หมายถึง ผู้อาวุโส หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งหมู่บ้านว่ามีความสามารถ และเป็นที่เคารพนับถือแก่คนหมู่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะอิงอยู่กับความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติเป็นหลัก สอง  ผู้นำตามหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของภาครัฐ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน จะถูกเลือกตามกระบวนการของภาครัฐ มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำภายใต้การดูแลขององค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ผู้ใหญ่บ้านตามการปกครองของกระทรวงมหาดไทย คนปัจจุบัน (ผู้ใหญ่บัญชา เอกนิกร) ถือเป็นรุ่นที่ 4 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้นำจะไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติดังเช่นอดีตอีกต่อไป แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผู้นำภายใต้การปกครองของรัฐ ยังคงมีความสัมพันธ์กับระบบเครือญาติ และกลุ่มคนในสายตระกูลดั้งเดิมของชุมชน นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านลักษณะความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติไม่เพียงปรากฏในกลุ่มผู้นำการปกครองเท่านั้น ยังพบลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้นำ และกลุ่มผู้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่ออีกด้วย (น.64-65)
การจัดการทรัพยากรในชุมชน ด้วยหมู่บ้านคลองแสงมีทั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและวิถีชีวิต ชุมชนจึงได้ตระหนักในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดกิจกรรมด้านการจัดการทรัพยกรและสิ่งแวดล้อมขึ้น ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเป็นระบบเพียงพอต่อการเกษตรในพื้นที่ การอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ การจัดการเรื่องขยะมูลฝอย ระบบโครงสร้างน้ำประปาหมู่บ้าน ระบบไฟฟ้าหมู่บ้าน (น.52)
บ้านม่วง
ชุมชนบ้านม่วง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขามีทั้งสมบูรณ์และเสื่อมโทรม พื้นที่ทำกินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สวนของคนนอกพื้นที่ ซึ่งส่วนมากที่เข้ามาทำกินบรรพบุรุษของชาวบ้านมะม่วงได้ขายไป 50 กว่าปีที่แล้ว จนเหลือเพียงเนื้อที่แถวข้างบ้านเท่านั้น คนพื้นบ้านส่วนใหญ่หาของป่าและรับจ้างทั่วไป ลูกหลานต่อมามีที่ดินทำกินน้อยจึงออกไปหากินในเมือง ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก เป็นภาระต่อสังคม ไม่มีอาชีพที่มั่นคงรองรับ คณะกรรมการหมู่บ้านจึงดำเนิน “โครงการอยู่ดีมีสุข” เพื่อขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นป่าชุมชนและปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาง ไม้หอม ปาล์ม ไว้ให้ลูกหลานในชุมชนทำกินต่อไป เนื่องจากส่วนหนึ่งพื้นที่ป่าบริเวณรอบหมู่บ้านซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมนั้นอยู่ในเขตป่าสงวนป่าอนุรักษ์และแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ชาวบ้านจึงอยากริเริ่มโครงการป่าชุมชนและไม้เศรษฐกิจเพื่อจะทำให้ลูกหลานไม่ต้องไปรับจ้างนอกหมู่บ้านชุมชนจะได้มีความเข้มแข็ง และจัดการแบ่งแนวเขตให้ชัดเจนเพื่อป้องกันหน่วยงานของรัฐขัดแย้งกับชาวบ้าน (น.55) ขณะเดียวกันยังได้จัดตั้งกลุ่มและองค์กรในชุมชน เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ กลุ่มจักรสาน (คลุ้ม) กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน (น.57)
 

Political Organization

บ้านคลองแสง
เดิมตั้งอยู่ในหมู่ 7 ตำบลด่านชุมพล  ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการแยกอาณาเขตเป็นตำบลด่านชุมพลและตำบลนนทรีย์  ต่อมาทางราชการได้แบ่งแยกตำบลด่านชุมพลเป็น ตำบลนนทรี อีกตำบลหนึ่ง หมู่บ้านคลองแสง ถูกจัดตั้งเป็นหมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลด่านชุมพล (น.46) 
บ้านมะม่วง
ผู้ใหญ่บ้านปกครองจากอดีตถึงปัจจุบัน จำนวน 8 คน ตามลำดับ 1) นายดิษ มูลโชติ  2) นายสา มูลโชติ  3) นายสุวรรณ ทัยดี 4) นายชม พวงกัน 5) นายเชิด นุสติ 6) นายคันธโชค รัตนวิจิตร 7) นายประยงค์ เอี่ยมสะอาด และ 8) คนปัจจุบัน คือ นายสมชาย วงษ์พระราม ดำรงตำแหน่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2559 (น.54)
 

Belief System

ชาวกะซอง บ้านคลองแสง
ชาวกะซองบ้านคลองแสงนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับไปการนับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมของหมู่บ้าน ผสมปนเปปรากฏในพิธีกรรมอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้
เดิมชาวกะซองบ้านคลองแสงจะไปทำพิธีทางพุทธศาสนาที่วัดในตัวตำบลด่านชุมพลและที่ปะเดา ต่อมามีสำนักสงฆ์เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อพุทธศาสนา มีธรรมเนียมปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนิกชน
ความเชื่อเกี่ยวกับผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของหมู่บ้านคลองแสงนั้น กล่าวได้ว่า ผีมีความหมายค่อนข้างกว้างครอบคลุมผู้ที่ตายแล้ว พลังอำนาจลึกลับที่อยู่ในธรรมชาติ ผีมีทั้งประเภทที่ให้คุณและโทษแก่มนุษย์ ส่วนใหญ่ผีที่ชาวกะซองเชื่อถือ จะเป็นผีที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ตามป่าเขาหรือพื้นที่ซึ่งเชื่อมาเป็นที่สถิตของภูตผีวิญญาณต่าง ๆ ด้วยปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตเพื่อหาเลี้ยงปากท้องซึ่งขึ้นอยู่กับธรรมชาติ สภาพอากาศ เนื่องจากมนุษย์ควบคุมธรรมชาติไม่ได้ทำให้เกิดการอ้อนวอนหรือร้องขอต่อธรรมชาติขึ้น เพื่อตอบสนองด้านจิตใจในการต่อรองกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอนของธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรมกับสัญลักษณ์ ที่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ผีดี  หรือวิญญาณที่ให้คุณแก่ชาวบ้าน เป็นผีที่มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสถานที่ที่สิงสถิตอยู่ และดลบันดาลให้เกิดความอุดมบูรณ์ นำความสงบสุขมาสู่ชุมชน หรือผู้ที่ปฏิบัติตนดีงามในสังคม
ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีเรือน หรือที่ชาวกะซองเรียกว่า “ผีสมุก” หรือ “ผีขมุก” 
ในแต่ละบ้านเรือนของชาวกะซองจะมี “ผีขมุก” ประจำอยู่ที่ห้องนอนของผู้เป็นเจ้าบ้าน ผีขมุกเป็นผีที่ประจำอยู่กับผู้หญิงและจะสืบทอดทางฝ่ายผู้หญิงจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก มีภาชนะหรือตะกร้าสานที่ทำจากหวายผสมกับไม้คลุ้ม พืชจากป่า ภายในบรรจุลูกปัด แหวน อัญมณี ข้าวเปลือก เก็บภาชนะนี้ไว้ที่หัวนอนของผู้เป็นแม่หรือยาย (เป็นอาวุโสที่สุดฝ่ายหญิงของบ้าน) โดยจะบอกกล่าวให้ผีคุ้มครองเจ้าเรือนให้อยู่เย็นเป็นสุข และจะเชิญผีเรือนลงมาเมื่อเวลาทำพิธีสำคัญ ได้แก่ พิธีกินผีเรือนหรือพิธีแต่งงานของลูกสาวหรือหลานสาวในบ้าน นอกจากนั้น ผีขมุกยังถือเป็นผีตามประเพณีซึ่งมีข้อห้ามที่ชาวกะซองปฏิบัติ หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการ “ผิดผี” เช่น เด็กหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานจะไม่อนุญาตให้เข้าไปอยู่ในห้องนอนตามลำพัง ถือเป็นการทำผิดประเพณี (ผิดผี) อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย หากไม่ได้บอกกล่าว จำต้องขอขมาลาโทษ โดยทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยการนำของเซ่นไหว้ จุดธูปเทียนนำ ไก่ (ที่ยังมีชีวิต) มาไหว้ขอขมาให้ผีขมุกยกโทษให้ จากนั้นยกไก่ให้เจ้าบ้านเลี้ยงต่อไป การฝ่าฝืนประเพณีของชาวกะซองได้เกิดสำนวนคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของชาวกะซองในทำนองว่า ทำอะไรให้ระวังผิดผี มิฉะนั้นจะต้องไหว้ตูดไก่ 
ส่วนผีฝ่ายร้าย หรือที่ชาวกะซองเรียกว่า “ผีแม่มด” เป็นวิญญาณที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถก่อให้เกิดเภทภัยแก่ผู้คนได้ ซึ่งหากทำอันตรายหรือก่อภัย  เชื่อกันว่าผีจะติดตามต้นไม้ ป่า เขา แม่น้ำ ลำคลอง หรือวัตถุต่าง ๆ หากมีคนไปทำให้ผีตนใดไม่พอใจอาจทำให้ผู้นั้นเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยกะทันหัน มักเชื่อว่า เป็นการกระทำของผีร้ายต่าง ๆ ต้องให้ผู้ที่สื่อสารกับผี หรือแม่มด หรือผู้หมอดูว่า ผีชนิดใดทำให้เจ็บป่วย หรือมีผีตนใดติดตามมากับบุคคลผู้นั้นจนทำให้เจ็บป่วย จากนั้นจึงต้องบนบานขอขมาไถ่โทษให้ผู้เจ็บป่วยด้วยของเซ่นไหว้ เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ไข่ เหล้า ข้าวสาร นอกจากนั้นจะต้องทำพิธีเชิญผีมาร่วมในประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปีอีกด้วย (น.70-73)
ตัวอย่างประเพณี/พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีเกี่ยวกับการบวช เมื่อเด็กผู้ชายเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมที่ใหญ่และโลกที่กว้างขึ้นจึงจำเป็นจะต้องผ่านพิธีกรรมบางอย่างเพื่อเรียกขวัญกำลังใจและประกาศให้โลกรู้ในการกระทำนี้ของเขาเพื่อให้เกิดการยอมรับต่อสังคม พิธีกรรมดังกล่าวนี้เรียกว่า "พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน" นั่นคือ การเปลี่ยนจากช่วงวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในอนาคตและอีกนัยหนึ่งของพิธีกรรมนี้คือ การทดแทนบุญคุณพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูมาจนโต การบวชให้ผู้มีพระคุณจึงเชื่อว่า จะได้บุญสูงสุดนั่นเอง แม้ขั้นตอนการบวชของแต่ละพื้นที่จะมีจุดประสงค์ที่ไม่แตกต่างกันนัก 
ประเพณีการแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวชาวกะซองตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน เมื่อทั้งคู่ตกลงใจกันแล้ว ผู้ชายจะขอให้ผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ของตนเองไปสู่ขอยังพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า “ครูเซ่น” บุคคลนี้ถือว่าเป็นคนสำคัญ ที่จะต้องไปบอกกล่าวต่อผีบรรพบุรุษของผู้หญิงพร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ก่อนที่จะสู่ขอผู้หญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง และขอแต่งงานในนามของฝ่ายชาย หลังจากพ่อแม่ของผู้หญิงตอบตกลงแล้วตัวแทนฝ่ายเจ้าบ่าวและครอบครัวของเจ้าสาวจะจัดพิธีแต่งงานพร้อมตกลงสินสอดที่จะให้กับครอบครัวของเจ้าสาว 
ก่อนการแต่งงานบางคู่มีการหมั้นหมายตามประเพณีด้วยการผูกข้อมือ ก่อนจัดงานแต่งงาน ผู้ชายจะไปช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงทำมาหากินในไร่นา หรือทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ฝ่ายหญิงถือเป็นการเรียนรู้ลักษณะนิสัยของผู้หญิงและครอบครัวของฝ่ายหญิงก่อนการดำเนินชีวิตคู่ แต่ก็ไม่อาจพักอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิงได้ จนเมื่อถึงวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะไปที่บ้านเจ้าสาวพร้อมของเซ่นไหว้ซึ่งครอบครัวของเจ้าบ่าวจะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ครอบครัวเจ้าสาวต้องการ ตามประเพณีนี้ ชาวกะซองเรียกว่า “กินผีเรือน” หรือ “ทำผี” หรือ “กินตามสาย” หรือ “หาบตามสาย”
ประเพณีการเซ่นไหว้ผีเดือน 3  ชาวกะซองเรียกว่า “ไหว้ผีแม่มด” หรือ “เล่นผี” แต่ละครอบครัวจะนัดหมายกันประกอบพิธีในช่วงเดือน 3 (ตามปฏิทินจันทรคติของไทย) โดยจะทำในช่วงเวลากลางคืน หลังพระอาทิตย์ตกดิน มีการเตรียมบายศรีปากชาม ตามจำนวนร่างทรงที่จะเชิญให้ผีมาประทับทรง มีเครื่องดนตรีประกอบ รวมทั้งมีการร้องเล่นเต้นรำ เมื่อเชิญผีแม่มดมารับส่วนบุญกุศล นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวสามารถร่วมทำพิธีขอขมาลาโทษหรือเล่นผีที่เคยทำให้ตนเองเจ็บป่วยเป็นการชดเชยอีกด้วย
ชาวซำเร
คนซำเรนับถือภูตผีวิญญาณ เชื่อในเรื่องผี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษ ชาวซำเรจะประกอบพิธีบูชาผี โดยเซ่นไหว้ด้วยอาหารและเหล้า แต่เดิมทุกปีแต่ละครอบครัวจะทำพิธีเซ่นไหว้บูชาผีในช่วงเดือน 4 ถึงเดือน 6 (ตามปฏิทินจันทรคติ) เพื่อขอให้ผีบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครองลูกหลาน และขอพรจากบรรพบุรุษ ทุกวันนี้ชาวซำเรทั้งหมู่บ้านมะม่วงและบ้านคลองโอนเป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งกลายเป็นศาสนาหลักของคนซำเร มีวัดมะม่วงเป็นศูนย์กลางทางศาสนา มีพระสงฆ์ที่เป็นชาวซำเร ตลอดจนชาวซำเรบางครอบครัวส่งเสริมให้ลูกชายบวชเป็นพระเพื่อเข้าไปเรียน ตลอดจนส่งลูกเข้าไปในเมืองเพื่อได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น 
ชาวซำเรเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประเพณีอันสืบทอดมาช้านานตั้งแต่โบราณ เรียกว่า “ผีแม่มด” ซึ่งเป็นผีที่เกี่ยวข้องการเซ่นไหว้โดยเฉพาะ ตามความเชื่อว่า มีผีอยู่รอบตัว ผีบางชนิดมาเข้าหรือทำให้ร่างกายเจ็บป่วย เช่น ผีร้าย เสือสมิง ถ้าผีเข้าทำอันตรายส่งผลทำให้เจ็บป่วยเป็นไข้หรือโชคไม่ดี จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผี และ/หรือผีตนนั้นต้องการเป็นเพื่อนหรือต้องการมาเล่นกับคน ชาวซำเรเรียกพิธีนี้ว่า “เล่นผีแม่มด”  ซึ่งทำกันในเวลากลางคืน พิธีหรือประเพณีนี้เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อว่าด้วยเรื่องผี และเชื่อว่าจะนำสิ่งดีมาให้กับชุมชนและครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป ชาวซำเรทำพิธีผีแม่มดในช่วงเดือน 2 ถึงเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ และประกอบพิธีเล่นผีแม่มดทุก ๆ ปี บางครอบครัวรวมกันทำ ขณะที่บางครอบครัวอาจจะแยกกันทำ ลักษณะของพิธีเล่นผีแม่มดค่อนข้างเหมือนกับชาวกะซอง
เมื่อทำพิธีจะมีร่างทรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีเครื่องประกอบพิธีเซ่นไหว้วางอยู่เบื้องหน้า ผู้ชายจะตีกลองอย่างต่อเนื่อง จะมีการร้องเพลงเชิญผีให้เข้ากับร่างทรง บรรยากาศของงานเล่นผีแม่มดเป็นไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริง เมื่อผีเข้าร่างทรงก็จะเริ่มแสดงอากัปกิริยา และเมื่อผีออกจากร่างทรงแล้ว ก็จะเชิญผีตนอื่นเข้ามาอีก (น.82-83)
 

Education and Socialization

ชาวซำเรจะไม่มีตัวหนังสือเขียน คนแก่คนเฒ่าส่วนมากไม่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ของกลุ่มตนเองได้ มีเพียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา (น.83)
ขณะเดียวกันในด้านหัตถกรรมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านคลองโอน ได้มีความตั้งใจจะสืบทอดภูมิปัญญาสู่รุ่นลูกหลาน โดยการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านเพียงหลวง 6 หมู่ 3 ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ และผู้ที่สนใจอื่น ๆ (น.58)
 

Health and Medicine

ในด้านของภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพพบว่า บ้านคลองแสงได้มีกลุ่มบุคคลที่มีความรู้และภูมิปัญญาในหลายด้าน ได้แก่ (น.51)
1) นายประจวบ  รัตนมูล   สมุนไพรและโหราศาสตร์
2) นางสมศรี     เกตุถึก    สมุนไพรและภาษาท้องถิ่น
3) นางรำไพ เอกนิกร    สมุนไพรและการต่อกระดูก
4) นายพิชิต     เอกนิกร    รักษาตาต้อด้วยวิธีโบราณ
5) นางเฉวียน สำลี     หมอจับเส้น
6) นายน้อย แก้วเพชร  รักษางูกัด
 

Art and Crafts (including Clothing Costume)

บ้านคลองแสง 
ชาวบ้านคลองแสงมี  ‘เข่ง’  ( หลัว = ภาษาท้องถิ่น ) ผลิตโดย กลุ่มอาชีพจักสานบ้านคลองแสง กลุ่มอาชีพสานเข่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2547  เนื่องจากชาวบ้านมีความต้องการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นอาชีพเสริม จึงเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกัน หาวัตถุดิบจากในหมู่บ้านมาทำการจักสานเข่ง (หลัว = ภาษาท้องถิ่น) เพื่อใช้ในการใส่ผลไม้สำหรับชาวสวน เช่น ใส่เงาะ, มังคุด, สับปะรด วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตที่สำคัญ  ได้แก่ หวาย  ไม้ไผ่  คุ้ม  ซึ่งเป็นพืชที่มีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน และหาได้ง่ายในท้องถิ่น (น.51)
บ้านคลองโอน
การจักสานคลุ้มนั้นเริ่มทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายโดยเริ่มจากการสานตะแกรงร่อนพลอย กระด้งฝัดข้าว กระบุงโรยข้าว และได้ทำสืบต่อกันมาจนรุ่นลูกหลานจนมีการจัดตั้งกลุ่มโดยสมาชิกเป็นแม่บ้านและเยาวชนในหมู่บ้านช่วยกันระดมความคิดเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ วัตถุดิบ ได้แก่ ต้นคลุ้ม ไม้ซี้ และหวาย ที่ใช้ในการจักสานซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งหมด ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านจักสานบ้านคลองโอน หมู่ 4 ตำบลนนทรีย์ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานคลุ้มบ้านคลองโอน การดำเนินกิจการกลุ่มเป็นไปอย่างดี โดยมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้กับกลุ่ม (น.57)
 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

“กะซอง” ตั้งถิ่นอาศัยอยู่มากที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม บางส่วนยังใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับป่า เช่น เก็บหาของป่ามากินหรือขายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ชาวกระซองมีวัฒนธรรมและภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ทว่าสถานการณ์ทางภาษาของชาวกะซองนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติขั้นสุดท้าย มีการใช้ภาษากะซองอยู่น้อยมาก จำนวนคนพูดได้อยู่ในหลักสิบเท่านั้นและผู้ที่พูดได้ล้วนอยู่ในวัยอาวุโส ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป (น.2)
ชาวกะซองแต่งกายเช่นคนไทยทั่วไปในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนมากผู้หญิงสูงวัยจะสวมผ้านุ่งและเสื้อคอกระเช้า ทับด้วยเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาวทรงกระบอก ส่วนผู้ชายก็แต่งตัวตามสมัยนิยม ไม่ต่างจากคนไทยทั่วไป ชาวกะซองไม่มีการปั่นฝ้ายหรือทอผ้าไว้ใช้เอง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหาซื้อได้จากตลาด ปัจจุบันมีเพียงคนแก่ที่ยังแต่งกายในแบบพื้นบ้านชนบทของไทย (น.63)
“ซำเร” อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทางภาคตะวันออกในเขตอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ปัจจุบันมีคนพูดภาษาดั้งเดิมของตนได้ไม่มาก นอกจากนี้ ยังพบชาวซำเรในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ในปัจจุบันพูดภาษาดั้งเดิมไม่ได้แล้ว และเชื่อกันว่า คำว่า สำเหร่ ก็น่าจะมาจากชนกลุ่มนี้ ซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ม.ป.ท.: ออนไลน์) (น.2)
ชาวบ้านใกล้เคียงให้ความเห็นว่า ชาวซำเรส่วนใหญ่มีลักษณะทางกายภาพที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ มีผิวคล้ำกว่าคนไทยทั่วไป มีรูปร่างเล็กกว่าคนพื้นถิ่น ริมฝีปากหนา และมีผมหยักศก แต่ในทุกวันนี้การจำแนกด้วยลักษณะทางกายภาพเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องด้วยการแต่งงานข้ามกลุ่มของคนซำเรกับกับคนไทยมีมากขึ้น แต่ยังพอปรากฏลักษณะเหล่านี้อยู่บ้างในผู้สูงอายุ หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ขณะที่เครื่องแต่งกายเป็นไปเหมือนกับคนไทยในแถบพื้นที่ชนบททั่วไป (น.82)

Critic Issues

ความเป็นพลเมืองไทยท่ามกลางการพัฒนาเมืองพรมแดน/ชายแดน
ระบบการเมืองการปกครองไม่ว่าในยุคสมัยใดล้วนมีทั้งอำนาจทางตรงและอำนาจแฝงหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอำนาจทางการปกครองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเกิดขึ้นในชุมชนซึ่งจักถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ ตามแต่ยุคสมัย แต่มิเคยหลุดออกจากขอบเขตของระบบเครือญาติ ที่เป็นฐานปัจจัยหนึ่งในการควบคุมให้เกิดการปกครองและการจัดการกับทรัพยากรภายในชุมชน
บริเวณพรมแดนตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปด้วยความอ่อนไหวกลายเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงชอบธรรมและยอมรับในฐานะความเป็นพลเมืองของรัฐไทยอย่างสมบูรณ์แบบ
ปรากฏรายงานสถานการณ์ความเป็นของดินแดนแถวนี้มากกว่า 100 ปีแล้ว  ได้แก่ เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 (ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรี)
หลักฐานจากจดหมายเหตุแห่งชาติแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ตามแนวพรมแดนซึ่งมีทรัพยากรอัญมณีมูลค่าสูง และความไม่เคร่งครัดของเส้นพรมแดงอย่างชัดเจน แม้การขีดเส้นพรมแดนแต่ละรัฐจะเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจแบ่งแยกหรือจำกัดผู้คนที่เคลื่อนย้ายไปมา เป็นไปได้ว่า ผู้คนไม่ว่าจะหลากกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแตกต่างทางเชื้อชาติอย่างไร ย่อมแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจสังคม โดยเฉพาะในยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูของพลอยทับทิมสยาม โน้มน้าวชักจูงให้นานากลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งภายในประเทศและจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง เข้ามาแสวงหาความร่ำรวยจากการขุดหาแร่พลอย รัฐสยามจึงใช้โอกาสของความเป็นรัฐพหุวัฒนธรรม ประนีประนอมกลุ่มชาติพันธุ์ระหว่างพรมแดนเข้ามาอยู่ภายในอำนาจแห่งความเป็นพลเมืองไทยโดยปริยาย 
บทบาทและการบูรณาการ “งานผีแม่มด” ของกะซองและซำเร
งานประเพณี (เซ่นไหว้) ผีแม่มด หรือ “งานผีแม่มด” ที่ทำขึ้นในช่วงเดือน 3 (ในกลุ่มซำเรจะทำกันในเดือน 2-3)  ถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนพื้นถิ่นทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างปฏิบัติมาอย่างช้านาน และยังคงประกอบกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อจำกัด หรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม ก็สามารถเจรจาต่อรองประนีประนอมหรือผ่อนปรนกับ “ผี” ได้ งานผีแม่มดเปิดโอกาสให้คนในสังคมทั้งหญิง ชาย เด็ก คนหนุ่มสาว หลากรุ่น หลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม และไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มกะซองหรือซำเรเท่านั้น คนต่างกลุ่มก็สามารถเข้ามาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ ด้วยงานผีแม่มดของชาวกะซองและซำเรของตราดนี้ไม่มีความซับซ้อน ทั้งในส่วนของขั้นตอนและรูปแบบ และไม่ปรากฏการกำหนดช่วงชั้นทางอำนาจเช่นพิธีกรรมอันว่าด้วยผีแม่มด หรือการเลี้ยงผีในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในท้องที่อื่นแต่ประการใด งานผีแม่มดจึงเป็น งาน “เล่นผี” สำหรับคนพื้นถิ่นไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม พบว่า จำนวนและบทบาทของผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีความรู้ตามประเพณีเดิม (ร่างทรง) เริ่มลดน้อยลง ดังที่คนในชุมชนซำเรละเว้นการจัดงานผีแม่มดมาหลายปี ด้วยเหตุผลว่า คนที่เป็น(แม่)มดประทับทรงนั้นล้มหายตายจากไปหลายคน ส่วนชุมชนกะซองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่แตกต่างไปกว่ากัน เมื่อผู้รู้ประเพณีมีจำนวนน้อย และเริ่มอายุมากขึ้น ผู้อาวุโสที่สุด (คุณยายพุ่ม) ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ครู” ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านนี้ ก็ไม่อาจทดแทนด้วยคนรุ่นลูกหลานได้อย่างเต็มที่ กลุ่มทางสังคมในนามของ กลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น (กะซอง) เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้ภาษาและวัฒนธรรมอย่างเชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม ชุมชนกะซองบ้านคลองแสงถือเป็นตัวแบบของท้องถิ่นในแง่ของวัฒนธรรมประเพณีของชาวกะซอง ได้รับเลือกเป็นตัวแทนในการนำเสนอเอกลักษณ์/อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่นในเวทีทางวัฒนธรรมหลายระดับ ด้วยแรงสนับสนุนของสถาบันวิชาการ (มหาวิทยาลัยมหิดล) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยระดับท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ (มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี) ยังผลให้บทบาทของประเพณีดั้งเดิมของชาวกะซองได้เผยแพร่สู่สาธารณะ และบูรณาการเข้ากับกลไกการขับเคลื่อนทางสังคมของผู้นำชุมชนในเชิงการพัฒนาอย่างสอดคล้องด้วยดี อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมถูกทำให้กลายเป็นสิ่งเดียวกับตัวตนทางชาติพันธุ์หรือเป็น “สิ่งมีชีวิตทางวัฒนธรรม”(Cultural being) ในวัฒนธรรมบริโภคสิ่งเหล่านี้จะมีพลังมากขึ้นเนื่องจากวัฒนธรรมถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์ที่จับต้องได้ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยว การอนุรักษ์การฟื้นฟู การสร้างรายได้ การเพิ่มมูลค่าและการเผยแพร่โฆษณา (Chabal and Daloz, 2006 และ Comaroff and Comaroff, 2009 อ้างถึงใน นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2558: 79) (น.88-98)
 

Map/Illustration

แผนที่
- แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด  (น.40)
- แผนที่แสดงตำแหน่งอำเภอบ่อไร่และแหล่งน้ำตกหลายแห่ง  (น.41)
- แผนที่แสดงแผนผังบ้านคลองแสง ทำโดยกลุ่มนักเรียนในชุมชน  (น.49)
- ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งของบ้านม่วงและบ้านคลองโอน  (น.53)
- แผนที่บ้านม่วง ต.นนทรีย์ (น.54)
ภาพ
- ภาพคุณยายพุ่ม เอกนิกร ผู้อาวุโสชาวกะซองบ้านคลองแสง (น.62)
- ภาพนายบัญชา เอกนิกร ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน (น.62)
- ภาพสวนยางพาราในหมู่บ้านคลองแสง (น.70)
- ภาพที่พักสงฆ์บ้านคลองแสง (น.71)
- ภาพการเตรียมพานบายศรีปากชาม (น.78)
- ภาพบายศรีปากชาม ที่จัดเตรียมไว้เรียบร้อย (น.78)
- ภาพเพิงหรือศาลาชั่วคราวในการเตรียมพิธีเซ่นไหว้ผีแม่มดเดือน 3 (น.79)
- ภาพผู้ประกอบพิธีจุดธูปไหว้เจ้าที่ (น.79)
- ภาพเตรียมเริ่มพิธีจุดธูปไหว้เจ้าที่ (น.79)
- ภาพขณะเริ่มพิธีผีแม่มดจะมีการร้องเชิญและปรบมือตามจังหวะกลอง (น.80)
- ภาพชาวซำเรหมู่บ้านมะม่วงและบ้านคลองโอน (น.83)
- ภาพชาวซำเรบ้านคลองโอนทำเครื่องจักสานจากคลุ้มเป็นสินค้า OTOP(น.87)

Text Analyst สุธาสินี บุญเกิด Date of Report 15 มี.ค 2565
TAG กะซอง, ซำเร, งานผีแม่มด, สำนึกทางชาติพันธุ์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง