สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาติพันธุ์, พวน, ประเพณีวัฒนธรรม, อัตลักษณ์
Author รชพรรณ ฆารพันธ์
Title หนังสือภาพถ่ายวิถีชาวพวนแพร่ อุดรธานี สุพรรณบุรี เพชรบุรี
Document Type หนังสือ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยพวน ไทพวน คนพวน, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 83 Year 2562
Source สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์พวนในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่, บ้านถ่อน จังหวัดอุดรธานี, บ้านท่าตลาด จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านมาบปลาเค้า จังหวัดสุพรรณบุรี นั้น พบว่า ชาวพวนมีการรับรู้และสำนึกในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พวนที่อพยพมาจากประเทศลาวเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีการสร้างตัวตนและการยอมรับโดยการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายทั้งในระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ อีกทั้งยังได้พยายามอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมของตนเองจากรุ่นสู่รุ่นและพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพปัจจุบันเพื่อสร้างความโดดเด่นและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อย่างการออกแบบเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

Focus

หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอเรื่องราว อัตลักษณ์ ประเพณี รวมทั้งสำนึกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พวน โดยการเลือกเล่าด้วยภาพถ่ายในพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ยังคงพยายามอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์พวนในจังหวัดแพร่ อุดรธานี สุพรรณบุรี และเพชรบุรี 

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์พวน ไทพวน ไทยพวน ซึ่งสามารถอธิบายที่มาของคำโดยสังเขปได้ ดังนี้
คำว่า “พวน พูน โพน” หมายถึง บริเวณที่สูง หรือที่ราบสูง เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ภายในอาณาเขตประเทศไทยถูกเรียกว่า “ลาวพวน ไทพวน คนพวน ชนเผ่าพวน” เพื่อบ่งบอกว่ามาจากลาว
คำว่า “ไท ไต ไทย” หมายถึง “คน” หรือ “ชาว”
ภายหลังมีการเขียนว่า “ไทยพวน” เพื่อแสดงถึงความเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีสิทธิของความเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ (น.8-9)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาพวนจัดอยู่ในตระกูลไท ซึ่งในการดำรงวิถีชีวิตปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีภาษาอื่นเข้ามา โดยส่วนใหญ่ชาวพวนในชุมชนต่างๆ ก็ยังใช้ภาษาพวนในการสื่อสารกันในชุมชนเช่นเดิม
ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ภาษาอยู่ในตระกูลไท แม้ว่าปัจจุบันจะมีภาษาล้านนา (คำเมือง) และภาษาไทยเข้ามามีส่วนต่อการพูดสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่ชาวพวนทุ่งโฮ้งยังใช้ภาษาพวนในการสื่อสารกันในชุมชน สามารถพูดสื่อสารกันเข้าใจทุกช่วงวัย (น.21)
ชาวพวนบ้านถ่อน ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ใช้ภาษาพวนในการสื่อสาร มีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ถึงแม้ที่ตั้งบ้านเรือนของชาวไทยพวนบ้านผือ จะอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีภาษาพูดใกล้เคียงกับภาษาพวน แต่ชาวไทยพวนบ้านผือยังคงใช้ภาษาพวนในการติดต่อสื่อสารในชุมชน (น.38)
ชาวพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ภาษาพูด ใช้ภาษาพวนในการสื่อสาร มีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ส่วน ภาษาเขียน มีการบันทึกและรวบรวมการใช้ภาษาเขียน โดยจัดทำเป็นคู่มือหนังสือไทยพวน ซึ่งที่คนพวนใช้มี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เรียกว่า โตธรรม หรือโตพวน อักษณชนิดนี้เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวในทางพุทธศาสนา และแบบที่ 2 เรียกว่า หนังสือใซ้ (ใช้) ไทยน้อย อักษรชนิดนี้ใช้เขียนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เรื่องราวเกี่ยวกับคดีโลกเป็นร้อยกรอง นิทาน นิยายต่างๆ กาพย์ และกลอน (น.57)
ชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ใช้ภาษาพวนในการสื่อสาร มีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ยังคงใช้ภาษาพวนในการติดต่อสื่อสารกันในชุมชนซึ่งสามารถเข้าใจได้ในทุกวัย (น.73)

Study Period (Data Collection)

2561-2562

History of the Group and Community

ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เป็นกลุ่มคนที่มาจากบ้านนาโฮ้ง เมืองเชียงขวาง (เมืองพวน) โดยชาวพวนทุ่งโฮ้งยังคงเรียกชื่อหมู่บ้านที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองนครแพร่ว่า “บ้านนาโห้ง” หรือ “บ้านต่งโห้ง” (บ้านทุ่งโฮ้ง) หรือ “บ้านเหล่า ต่งโห้ง” มีการกวาดต้อนเข้ามาครั้งแรกจำนวน 17 ครอบครัว โดยเจ้าหัวจันทร์ด้าง (เจ้าอาวาสวัดทุ่งโห้งใต้รูปแรก) และเจ้าหัวนันตา (เจ้าอาวาสวัดทุ่งโห้งเหนือรูปแรก)
ในปี พ.ศ. 2377 เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้โปรดให้ตั้งหมู่บ้านอยู่นอกกำแพงเมืองแพร่ด้านทิศเหนือบ้านหัวข่วง ทางประตูยั้งม้า (ประตูเลี้ยงม้า-ที่เลี้ยงม้าของเจ้าผู้ครองนครแพร่) แต่พื้นที่บริเวณนี้ไม่เหมาะกับการทำไร่ทำนาจึงได้อพยพเคลื่อนย้ายขึ้นไปตั้งถิ่นฐานทางทิศเหนือตามลำห้วยร่องฟองริมทุ่งเศรษฐี และสร้างวัดทุ่งเศรษฐีขึ้น แต่พื้นที่ตั้งชุมชนใหม่บริเวณทุ่งเศรษฐีนี้ ไม่เหมาะกับการตั้งบ้านเรือนจึงย้ายชุมชนมาตั้งบริเวณที่ดอนพร้อมกับย้ายมาสร้างวัดทุ่งโห้ง (วัดทุ่งโห้งใต้) วัดทุ่งเศรษฐีจึงกลายเป็นวัดร้างเหลือเพียงอุโบสถใช้ทำสังฆกรรม (ปัจจุบันอยู่ภายในโรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง โรงเรียนสร้างขึ้นมื่อ พ.ศ. 2466) และใช้วิหารวัดทุ่งโห้งใต้ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้าน
ชาวพวนบ้านถ่อน ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลบ้านผือ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ (ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2370) คือ
กลุ่มที่ 1 อพยพมาจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว โดยขุนจางวาง ขุนหมื่นศรีครุฑราช พ่อตู้เพียร นางเสม่นบัว แม่ตู้พวง นางตุ้น ชาวบ้านทหาร เด็ก ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ มุ่งหน้ามาทางลุ่มแม่น้ำโขง
กลุ่มที่ 2 อพยพมาจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยหมื่นศรีรัตนไตรเวช พ่อเฒ่าแท่ง พร้อมด้วยทหาร และชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งต้องคอยหลบหนีพวกฮ่อที่ไล่ปล้น ห่าฟัน จนมาพบกับกลุ่มของขุนจางวางซึ่งอาศัยอยู่ที่ป่าผือ มีหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นผือ ดินดี อุดมสมบูรณ์จึงพากันตั้งบ้านเรือนถิ่นฐาน และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านพือ”
ชาวไทยพวนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านผือ จะถูกเรียกว่า ชาวพวนบ้านผือถึงแม้จะกระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ (น.37)
ชาวพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ชาวพวนสุพรรณบุรี เข้ามาอยู่ในประเทศไทยจากการถูกกวาดต้านและเข้ามาอยู่เองด้วยความสมัครใจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รุ่น คือ
รุ่นที่ 1 ถูกกองทัพไทยกวาดต้อนมา เมื่อปี พ.ศ. 2322
รุ่นที่ 2 เข้ามาเพราะรับอาสาตัดต้นตาล จำนวน 5000 ต้น นำมาสร้างฐานรากขององค์พระสมุทรเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่ รัชกาลที่ 2 ซึ่งเดินทางเข้ามาถึงไทยปี พ.ศ. 2368
รุ่นที่ 3 มาจากเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2372 โดยได้แยกย้ายไปอยู่กับคนพวนกลุ่มเดิมหรือไปตั้งหลักแหล่งอยู่ใกล้เคียงกับคนพวนกลุ่มเดิม (น.53)
ไทยพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ สันนิษฐานว่า อพยพมาจากบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหมี่ ตามอำเภอที่อพยพมา เมื่อมีคนอาศัยอยู่จำนวนมากขึ้นหลายครอบครัวจึงได้ขยายพื้นที่มาทางทิศตะวันตกเพื่อตั้งบ้านเรือนและหาที่ทำกิน โดยแบ่งออกเป็นคุ้ม (เป็นกลุ่ม) มีหัวหน้าคุ้มเป็นผู้ดูแล ได้แก่ คุ้มทางเหนือ เรียกว่า คุ้มโพนบ้านเฮื้อ คุ้มทางทิศใต้ฝั่งตะวันออก เรียกว่า คุ้มกุ่มงาน คุ้มทางทิศใต้ฝั่งตะวันตก เรียกว่า คุ้มเบ่งควาย คุ้มทางทิศใต้สุด เรียกว่า คุ้มรางเต้อ (ภาษาไทยเรียกว่ารางใต้) เพราะมีลำรางยาวใหญ่อยู่ โดยบ้านท่าตลาดตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มนี้ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า บ้านหางตลาด เนื่องจากเมื่อตั้งบ้านแล้วแต่ละครอบครัวได้ไปจับจองพื้นที่ทำมาหากิน โดยการฟันเผาพงป่าแซงเพื่อทำนา ไปพบเศษเครื่องปั้นดินเผา สันนิษฐานว่าเป็นของคนมอญมาตั้งตลาดเผาหม้อ เผาไห เพราะสถานที่เป็นลำรางยาวเชื่อมหลายหมู่บ้าน สถานที่พบอยู่ท้ายหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้มต่างๆ จึงพร้อมกันเรียกว่า “บ้านหางตลาด” ต่อมาทางราชการจึงเปลี่ยนเป็น “บ้านท่าตลาด” เพราะอยู่ริมลำรางท่าน้ำจนถึงปัจจุบัน (น.54)
ชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
อพยพเข้ามาในช่วงรัชกาลที่ 3 ประมาณปี พ.ศ.2370 เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ขึ้น โดยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าให้ทัพหลวงกรุงเทพฯ ขึ้นมาปราบปราม ณ เมืองเวียงจันทน์ โดยเจ้าเมืองเพชรบุรีได้เข้าร่วมรบในครั้งนี้ด้วย เมื่อมีการกวาดต้อนผู้คนเข้ามา เจ้าเมืองเพชรบุรีจึงได้นำคนพวนจำนวนหนึ่งกวาดต้อนเข้ามาอยู่ที่เพชรบุรีเพื่อมาเป็นแรงงาน และไม่ให้เกิดการรวมตัวของผู้คนที่อพยพมาจากประเทศลาว ในการสร้างความไม่สงบต่อความมั่นคงในประเทศไทย ในระยะแรกคนพวนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ที่บ้านท่ามะเกลือ เขตพื้นที่อำเภอบ้านลาดใกล้กับแม่น้ำเพชร ซึ่งน้ำเชี่ยวกราดจึงได้ขออพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณบ้านมาบปลาเค้าในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก คำว่า มาบ เป็นภาษาพวน หมายถึง ที่ราบกว้างมีลักษณะยาวลาดไปมีน้ำขังตลอดเวลา หรือภาษากลางเรียกว่า หนอง บึง หรือแอ่งน้ำ ซึ่งในมาบมีปลาเค้าชุกชุม จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านมาบปลาเค้า (น.71      

Settlement Pattern

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานในอดีตมักอิงอยู่กับการทำมาหากิน ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ว่าเหมาะแก่การเพาะปลูกหรือไม่ เช่น ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้งมีการอพยพตั้งถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง เนื่องด้วยสาเหตุพื้นที่ไม่เหมาะกับการทำไร่ทำนาหรือไม่เหมาะกับการตั้งบ้านเรือน กระทั่งในที่สุดได้มาตั่งถิ่นฐานในพื้นที่ปัจจุบัน ส่วนชาวพวนบ้านถ่อน ด้วยลักษณะที่ตั้งของชุมชนในอดีตมีหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นผือ ดินดี อุดมสมบูรณ์จึงพากันตั้งบ้านเรือนถิ่นฐาน ณ แห่งนั้น และชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า ในระยะแรกคนพวนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ที่บ้านท่ามะเกลือ เขตพื้นที่อำเภอบ้านลาดใกล้กับแม่น้ำเพชร ซึ่งน้ำเชี่ยวกราดไม่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานมากนัก จึงได้ขออพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณบ้านมาบปลาเค้าในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ ประวัติศาสตร์)

Demography

ชาวพวนสุพรรณบุรีได้รวมตัวกันเป็น “ชมรมไทยพวนสุพรรณบุรี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยไทยพวนสุพรรณบุรีตั้งอยู่ในอำเภอบางปลาม้า กระจายอยู่ในพื้นที่ 7 ตำบล 23 หมู่บ้าน 29 ชุมชน รวมจำนวนไทยพวนชายหญิง ประมาณ 20,000 คน

Economy

ชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า นอกจากประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักแล้ว ยังมีอาชีพเสริมที่สำคัญ คือ การปลูกกล้วยน้ำหว้า และกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ ส่งออกประเทศญี่ปุ่น พื้นที่การปลูกประมาณ 650 ไร่ โดยต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรและมีการตรวจรับรองแปลง GAP พืช เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน (น.74) เป็นอย่างดี

Political Organization

ในอดีต ไทยพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ สันนิษฐานว่า อพยพมาจากบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหมี่ ตามอำเภอที่อพยพมา เมื่อมีคนอาศัยอยู่จำนวนมากขึ้นหลายครอบครัวจึงได้ขยายพื้นที่มาทางทิศตะวันตกเพื่อตั้งบ้านเรือนและหาที่ทำกิน โดยแบ่งออกเป็นคุ้ม (เป็นกลุ่ม) มีหัวหน้าคุ้มเป็นผู้ดูแล ได้แก่ คุ้มทางเหนือ เรียกว่า คุ้มโพนบ้านเฮื้อ คุ้มทางทิศใต้ฝั่งตะวันออก เรียกว่า คุ้มกุ่มงาน คุ้มทางทิศใต้ฝั่งตะวันตก เรียกว่า คุ้มเบ่งควาย คุ้มทางทิศใต้สุด เรียกว่า คุ้มรางเต้อ (ภาษาไทยเรียกว่ารางใต้) เพราะมีลำรางยาวใหญ่อยู่ โดยบ้านท่าตลาดตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มนี้ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า บ้านหางตลาด (น.54)

Belief System

ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีกำฟ้า โดยมีการยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเจ้าชมพู กษัตริย์เมืองพวน องค์ที่ 43 แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว การแสดงตีกองสลาก เป็นศิลปะการแสดงดั้งเดิม ใช้แสดงในงานกินข้าวสลากภัต และงานรื่นเริงต่างๆ ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ด้านการแต่งกาย การฟ้อนแง้น (แอ่นหรือโค้ง) และท่ารำอื่นๆ เข้ามาเป็นท่ารำประกอบ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีหม้อนึ่ง ผีด้ำ (ผีปู่ย่า หรือผีบรรพบุรุษ) ผีเสื้อวัด ผีเสื้อบ้าน ผีเสื้อนา ผเสื้อไร่ ผีเตาเหล็ก ผีครู ผีนางด้ง เป็นต้น (น.21)
ชาวพวนบ้านถ่อน ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ยึดถือตามฮีต 12 คลอง 14 บางครอบครัวถือปฏิบัติตามวันกำฟ้า โดยหยุดการทำงานทุกอย่าง เช่น ทำไร่ ทำนา ซักผ้า ถางหญ้า สำหรับเครื่องมือในการทำมาหากินต้องเก็บเข้าที่ เหลืออุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น (น.43)
ชาวพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเพณีวัฒนธรรม ยังคงมีการอนุรักษ์และถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ประเพณีสารทพวน ประเพณีกำฟ้า ประเพณีทำบุญหลังบ้าน ประเพณีพาสู่เสื้อ ประเพณีเสียเสื่อมเฮือน ประเพณีงานศพ ประเพณีงานบวช ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีทานข้าวคั่วหรือทำบุญข้าวเม่า ประเพณีปลูกเรือน ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ พิธีสู่ขวัญข้าว พิธีบายศรีพระ พิธีเสียเคราะห์หมู่บ้าน การทำกระดาษธงชัย (ทุงหรือตุงชัย) เป็นต้น (น.57)
ชาวพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเพณีวัฒนธรรมมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่น ประเพณีงานบวช ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ พิธีรำถวายมือ บวงสรวงบรรพชน งานบุญเดือน 3 หรืองานบุญข้าวหลาม เป็นต้น (น.74)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

หัตถกรรมการแต่งกาย
ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
ผู้ชาย สวมเสื้อแขนสั้นผ่าอก ใช้สายมัดหรือสายผูก ทำจากแถบผ้าเย็บเป็นเส้น ตรงสาบเสื้อทั้งสองข้างๆ ละประมาณ 4-5 คู่ เวลาสวมใส่จะผูกสายสองสายเข้าด้วยกัน มีการพัฒนามาใช้กระดุมแทนสายมัด เรียกว่า “เสื้อกุยเฮง”เนื่องจากมีลักษณะคล้ายเสื้อกุยเฮงของประเทศจีน กางเกงเป็นกางเกงหม้อห้อมขาก๊วย ชาวไทยพวนเรียกว่า “ซ่งกี” ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอวเพื่อกันหลุดและเพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ใช้โพกหัวเวลาอยู่กลางแดดหรือเช็ดหน้าเวลาเหงื่อออก
ผู้หญิง นุ่งผ้าถุงหรือที่ชาวไทยพวนเรียกว่า “ผ้าซิ่นแหล้” สีดำช่วงปลายมีลายขวางสีแดง สวมใส่กับเสื้อดำคอกลม แขนยาวทรงกระบอกผ่าอก ติดกระดุมหรือติดแก๊ป สวมสไบสีขาว โดยผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีสามีแล้วจะใส่ซิ่นแหล้ที่มีแถบแดงบริเวณผ้าซิ่น 1 แถบ และเอวอีก 1 แถบ เรียกผ้าซิ่นแบบนี้ว่า “ซิ่นแหล้ 2 คิ้ว” ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน หรือยังไม่มีสามีจะใส่ซิ่นแหล้ที่มีแถบแดงเฉพาะบริเวณชายผ้าซิ่น 1 แถบ เรียกว่า “ซิ่นแหล้ 1 คิ้ว”
ชาวพวนบ้านถ่อน ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เสื้อผ้าและการแต่งกาย นิยมใช้ผ้าพื้นเมืองมาตัดสวมใส่ เสื้อผ้าและการแต่งกายไทยพวนบ้านผือ แต่เดิมมีการทอผ้าใช้เอง ได้แก่ ผ้าฝ้ายสีต่างๆ นิยมใช้สีขาว และสีน้ำเงินเข้ม ปัจจุบันมีการนำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาสวมใส่ แต่ก็ยังมีการอนุรักษ์สืบทอดด้านการทอผ้าและมีการแต่งกายเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวไทยพวนบ้านผือ ซึ่งได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ ผ้าขาวม้ามงคลเก้าสี ผ้ามัดหมี่ ผ้าขะม้าอีโป้ (ผ้าอีโป้ตาสี่เหลี่ยมใหญ่) ตีนซิ่น (ตำแนะ)
ผู้ชาย สวมเสื้อคอกลมสีขาว เสื้อหม้อห้อม ใช้ผ้าพื้นเมือง ผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมในการตัดเย็บ ตกแต่งลวดลายให้สวยงาม กางเกง หัวตะโล่ง หรือกางเกงขายาว กางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้ามัดเอว พาดบ่า คล้องคอ โพกหัว ตามโอกาส
ผู้หญิง เสื้อแขนกระบอกสีขาว สีน้ำเงินเข้มหรือสีต่างๆ และสวมผ้าซิ่นไหมลายมัดหมี่ ซิ่นหมี่ตีนซิ่น (ตำแนะ)
ปัจจุบันมีการนำผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยพวนบ้านผือมาประยุกต์ตัดเย็บให้เข้ากับยุคสมัย
          เสื้อ ใช้ผ้าสีน้ำเงินเข้ม ตัดคอกลม ผ่าหน้าใส่กระดุมแขนยาวหรือแขนสามส่วน
          ผ้าซิ่น ใช้ผ้าซิ่นต่อตีนซิ่นตำแนะเย็บเป็นผ้าถุงสำเร็จ
          สไบ ใช้ผ้าขาวม้านำมาตัดเย็บเป็นสไบ
          เครื่องประดับ ใช้เครื่องเงิน เช่น สร้อย เข็มขัด กำไลข้อมือ ต่างหู
          ดอกไม้ประดับผม ใช้ดอกจำปาสีขาว (ดอกไม้ประจำชาติลาว) เป็นสิ่งเตือนใจว่า บระพบุรุษมาจากเมืองเชียงขวางประเทศลาว  (น.41)
ชมรมไทยพวนบ้านผือได้ปรับปรุงลายผ้ามัดหมี่ให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ โดยการนำสัญลักษณ์ของอำเภอบ้านผือมาออกแบบเป็นลวดลายบนผืนผ้า ได้แก่ ผ้าลายตำนานภูพระบาท ผ้าลายต้นผือ ผ้าลายต้นข้าว พร้อมกับการพัฒนาการย้อมด้วยสีธรมชาติจากเปลือกไม้ ก่อนนำมาทอผ้า (น.43)
ชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
เสื้อผ้าและการแต่งกาย เป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่โดยการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2540 เนื่องจากเวลามีการจัดงานหรือกิจกรรมของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ แต่ละชุมชนจะมีชุดประจำชาติพันธุ์ของตนเอง ยกเว้นคนพวน ซึ่งแต่เดิมในชุมชนเคยมีการทอผ้ามาก่อนแต่ไม่เหลืออยู่ในชุมชนแล้ว จึงได้มีแนวคิดพัฒนาชุดไทยพวนให้เป็นเอกลักษณ์ของไทยพวนเพชรบุรีขึ้น โดยนางนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร เริ่มศึกษาจากภาพถ่ายโบราณในอดีต ปรึกษาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต แล้วได้พัฒนาออกแบเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิง จำนวน 5 ชุด โดยใช้ชื่อว่า กินรีทั้ง 5 ได้แก่ นิลลีลา จำปาขาว ป้าวเชียงขวาง เจ้านางพวน ซิ่นนวลลีลาวดี สัญลักษณ์ที่สำคัญของผ้าซิ่นคนพวนมาบปลาเค้า คือ ลวดลายบริเวณเชิงซิ่นหรือตีนซิ่น ลวดลายบนผ้าซิ่น และเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย เพื่อแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนพวน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพราะคนพวนมาบปลาเค้ามักถูกเข้าใจว่าเป็นชาวไทยทรงดำ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านการสวมใส่ชุดไทยพวน นอกจากเป็นการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนแล้ว ยังเป็นการรื้อฟื้นเรื่องราว และสร้างสำนึกในความเป็นคนพวนให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังด้วย (น.73)
ผู้หญิง นิยมทำทรงผมมวยขัดแบบจุกกระเทียม ติดิ๊บสีดำ เก็บผมเรียบร้อย ทัดดอกลีลาวดีหรือดอกลั่นทมสีขาว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติลาวหรือเรียกว่าดอกจำปาลาว สวมเสื้อที่ผอมาจากผ้าฝ้ายสีขาวนวล นำมาตัดเย็บเป็นทรงคอกลมแขนกระบอก กระดุมผ่าหน้า เสื้อเข้ารูปพอดีตัวระดับสะโพก และมีเสื้อแบบเกาะอก มีผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยงสำหรับพาดบ่า โดยพาดไปทางไหล่ซ้ายทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ลายผ้าจะเหมือนกับชายซิ่นหรือตีนซิ่น เพื่อให้ลวดลายของสไบสอดคล้องกับผ้าซิ่น ชายสไบจะร้อยด้วยมุก ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง จะสั่งทอจากประเทศลาวบริเวณซำเหนือ เครืองประดับ ส่วนใหญ่เป็นของเทียม ใส่เพื่อประดับให้ชุดมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น เช่น สร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยข้อมือ เข็มขัดจะใส่ทับเสื้อและสไบ
ผู้ชาย เสื้อตัดเย็บจากผ้าฝ้ายสีขาวนวลขนาดพอดีตัว แขนสั้น คอตั้งเล็กน้อย เป็นเสื้อผ่าด้านหน้า ติดกระดุมผ้า กางเกงขายาวสีดำพอดีตัว สไบหรือผ้าเบี่ยงจะมีลวดลายเหมือนกับของสตรีแตกต่างตรงที่สไบของผู้ชายจะไม่มีทุกร้อยตรงชายผ้า แต่จะเป็นผ้าฝ้ายสีดำแทนใช้พาดบริเวณไหล่ด้านซ้าย ผ้าผูกเอวจะเป็นผ้าฝ้ายสีดำธรรมดา มีการผูกผ้าขาวม้าบริเวณช่วงเอว (น.74)
 
เครื่องดนตรี
ชาวพวนบ้านถ่อน ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ บักกะโต่ดโต้ง (พิณ) แคน กลอง กั้ปแก้ป ฉิ่ง ฉาบ เพลงที่ใช้ในการแสดง คือการร้องลำพวน หรือการขับลำพวน มีทำนองช้าตามต้นฉบับเดิมที่มาจากเชียงขวาง เมื่อมีการสืบทอดต่อรุ่นกันมาจึงดัดแปลงทำนองเป็นลำพวนเร็ว จังหวะการร้องเร็วขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ผู้ที่ร้องหรือขับลำพวน เรียกว่า หมอลำพวน ใช้ภาษาพวนในการร้องรำ เล่าขานเรื่องราวในอดีตมีความสนุกสนานรื่นเริงตามเนื้อกลอนลำพวน (น.43)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
อาหาร นิยมรับประทานปลาร้า และนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องปรุง อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวพวนทุ่งโฮ้ง ได้แก่ แจ่วมะเด่น หรือน้ำพริกมะเขือเทศ ป่ามไข่ หรือ ไข่ตุ๋นของชาวพวน เต้นปลาหรือเต้นลม ฝอเขียด เป็นต้น
ชาวพวนบ้านถ่อน ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ชาวพวนบ้านถ่อน มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน ทำไร่ ทำนา อาชีพรอง คือ ค้าขาย
อาหารที่รับประทานคล้ายกับอาหารอีสานทั่วไป เช่น แจ่วบักเผ็ด แกงอ่อมผักอีเลิศ ป่น แกงบักหมี้ ซุบบักเขือ ซุบเห็ด หมก ต้มไก่ใบบักขาม แต่จะมีความพิถีพิถันในการปรุงอาหารเป็นอย่างมาก เช่น การทำแจ่ว จะนำวัตถุดิบไปปิ้งหรือย่างจนสุกก่อนนำมาประกอบอาหาร ของหวานที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ข้าวหัวหงอก ข้าวโล่ง ข้าวปาด และข้าวงาโค ซึ่งเป็นอาหารสำคัญในประเพณี พิธีกรรมต่างๆ (น.38)
ชาวพวนบ้านท่าตลาด ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
อาหาร มีหลายสูตร นิยมรับประทานปลาร้า หรือปาแดะ และนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องปรุง มีความพิถีพิถันและมีขั้นตอนในการทำค่อนข้างมาก เน้นความสะอาด ซึ่งอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ขิงชาวพวนท่าตลาด ได้แก่ แจ่วปลาแดะทานผักลวกหรือผักสด แกงอ่อม ปลาดุกต้มน้ำปลาแดะ เป็นต้น (น.57)
ชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
ชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า มักประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ การทำนา ทำไร่ ทำสวน ด้วยสภาพดินที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และมีระบบชลประทานที่ดี ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ดีตลอดทั้งปี มีอาชีพเสริมที่สำคัญ คือ การปลูกกล้วยน้ำหว้า และกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ ส่งออกประเทศ (น.74)
คนพวนมาบปลาเค้าจะออกหาปลาทานเอง เนื่องจากมีปลาเค้าชุกชุม นำมาหมักปลาร้าเพื่อถนอมอาหาร รับประทานอาหารประเภทผัก สำหรับอาหารที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักคือ ขนมจีนโบราณบ้านมาบปลาเค้า เนื่องจากมีสูตรเฉพาะและกระบวนการขั้นตอนทำด้วยมือทั้งหมด ส่วนใหญ่จะช่วยกันทำเฉพาะงานบุญ งานประเพณีหรือกิจกรรมที่สำคัญเท่านั้น เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานบุญเดือนสาม หรือเวลามีผู้เข้ามาเยี่ยมหมู่บ้านในโอกาสสำคัญ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องช่วยกันทำหลายคนเป็นวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม การช่วยเหลือกันของคนในชุมชน

Social Cultural and Identity Change

สังคมของชาวพวนเมื่อมีโอกาสได้รับการศึกษาและอยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมไทยเป็นระยะเวลานาน เกิดการรับและนำไปปรับใช้ในวิถีชีวิต ซึ่งทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมขึ้น เช่น ด้านประเพณี พิธีกรรมต่างๆ อาหาร และการแต่งกาย เป็นต้น 

Map/Illustration

- งานประจำปีผ้าป่าไทยพวน  น.15
- ภาพชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่  น.17-18
- อัตลักษณ์การทอผ้าชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่    น.19-20, 22-23
- บ้านเรือนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่  น.24
- อาหาร หัตถกรรม บ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่  น.26-27
- ประเพณีกำฟ้า ชาวพวนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่    น.28-33
- ภาพชาวพวนบ้านถ่อน ต.บ้านพือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  น.34-35
- วิถีชีวิตชาวพวนบ้านถ่อน ต.บ้านพือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  น.36-37, 39
- การทอผ้าชาวพวนบ้านถ่อน ต.บ้านพือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  น.40, 42
- ประเพณี ความเชื่อชาวพวนบ้านถ่อน ต.บ้านพือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  น.44-45 
- อาหารชาวพวนบ้านถ่อน ต.บ้านพือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  น.46-47
- เครื่องดนตรี การแสดงของชาวพวนบ้านถ่อน ต.บ้านพือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  น.48-49
- ภาพชาวพวนบ้านท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี  น.50-56, 63-65
- ศิลปหัตกรรมบ้านท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี    น.58-59
- อาหารของชาวพวนบ้านท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี  น.60-61
- ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนสถาน ชาวพวนบ้านท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี    น.66-67
- ภาพชาวพวนบ้านมาบปลาเค้า ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  น.68-72
- เครื่องแต่งกายสร้างอัตลักษณ์ใหม่  น.75-79
- ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ศิปลการแสดง  น.80-81

Text Analyst สุธาสินี บุญเกิด Date of Report 23 ก.ค. 2564
TAG ชาติพันธุ์, พวน, ประเพณีวัฒนธรรม, อัตลักษณ์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง