สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เขมร,เศรษฐกิจชุมชน,อุบลราชธานี
Author ชูเกียรติ เจริญผลดี
Title การวิเคราะห์เศรษฐกิจของหมู่บ้านไทยลาว - เขมรเขตชายแดน กรณีของหมู่บ้านโซง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 174 Year 2513
Source วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Abstract

หมุ่บ้านโซงเป็นหมู่บ้านที่มีคนเขมรเข้ามาบุกเบิกอาศัยอยู่ก่อน จากนั้นจึงมีคนไทยลาวอพยพเข้ามาเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทางด้านวัฒนธรรมภาษาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของเชื้อสาย และจะเห็นว่าชาวบ้านเชื้อสายเขมรมีความพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาไทยลาวและภาษาไทยภาคกลางมาก ในขณะที่ชาวบ้านเชื้อสายไทยลาวแทบทั้งหมดพูดภาษาเขมรไม่ได้เลย ประเพณีการแต่งงานนั้นถ้าเกิดมีการแต่งงานระหว่างคนไทยลาวและคนเขมรจะนิยมจัดพิธีตามแบบเขมร ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ และอาจจะมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เข้าผสมบ้าง ส่วนใหญ่จะมีในชาวบ้านเชื้อสายเขมร หน้าที่ในการหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเป็นของสามีและเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในครอบครัวด้วย ในหมู่บ้านมีโรงเรียนอยู่ 1 แห่งซึ่งสอนเป็นภาษาไทยภาคกลาง เปิดสอนในระดับ ชั้นประถม 1- 4 ซึ่งถ้าระดับสูงกว่านั้นจะต้องเข้าไปเรียนในเมือง แต่ชาวบ้านยังไม่เห็นความจำเป็น เนื่องจากมีชาวบ้าน ที่เคยไปเรียนและก็หางานทำไม่ได้ จึงต้องกลับมาอยู่บ้านตามเดิม จะเห็นว่าชาวบ้านเชื้อสายไทยลาว จะมีระดับการศึกษาและมีปริมาณที่สูงกว่าชาวบ้านเชื้อสายเขมร ในด้านสุขภาพยังมีความเชื่อเรื่องผีเข้ามาปะปนโดยเชื่อว่าความเจ็บป่วยเกิดมาจากอิทธพลของผี ได้แก่ ผีบ้านและผีเรือน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการรักษาโดยใช้ยา ทางด้านเศรษฐกิจชาวบ้านอาศัยการเกษตรเพื่อยังชีพเป็นหลัก ที่ดินยังคงเป็นปัจจัยอันสำคัญในการผลิต เจ้าของที่ดินนิยมครอบครองที่ดินเพื่อเตรียมไว้เป็นมรดกแก่บุตรหลาน และเตรียมสำหรับขยายการผลิต นอกเหนือจากฤดูทำนา ยังมีงานฝีมือที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น การทอผ้าไหม การจักสานเสื่อ ตระกร้า ทำเกวียน ทำเสื่อ ทอผ้าฝ้าย และสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย สำหรับความแตกต่างระหว่างคนไทยลาวและคนเขมรซึ่งประกอบอาชีพที่คล้ายคลึงกัน แต่ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านเชื้อสายไทยลาวส่วนใหญ่เมื่อเทียบตามอัตราส่วนแล้วอยู่ในระดับดีกว่าคนเชื้อสายเขมร เนื่องมาจาก 1. ระดับการศึกษา ประสบการณ์จากโลกภายนอก และความกระตือรือร้นในการทำมาหากินของชาวบ้านเชื้อสายไทยลาวส่วนใหญ่มีมากกว่าชาวบ้านเชื้อสายเขมร ยังผลให้หลังคาเรือนไทยลาวถือครองที่ดิน ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ด้วยจำนวนเนื้อที่กว้างขวางกว่าหลังคาเรือนเขมร 2. แรงงานจริงที่มีเชื้อสายไทยลาวมีแนวโน้มที่จะได้รับการศึกษาสูงกว่าคนเชื้อสายเขมร 3. ชาวบ้านในหลังคาเรือนไทยลาวมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินเพื่อลงทุนในด้านการผลิต ทั้งด้านเครื่องมือและปัจจัยการผลิตอื่นมากกว่าหลังคาเรือนเขมร ทั้งนี้เนื่องมาจากชาวบ้านในหลังคาเรือนไทยลาวมีนิสัยกล้าเสี่ยงลงทุนมากกว่า 4. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวบ้านหลังคาเรือนไทยลาวมีปริมาณสูงกว่าหลังคาเรือนเขมร เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงาน และประสบการณ์ของหลังคาเรือนไทยลาวที่มีมากกว่าหลังคาเรือนเขมร การที่กลุ่มชนไทยลาวได้อพยพเข้ามาอยู่ปะปนกับกลุ่มชนเชื้อสายเขมร ช่วยก่อให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการปรับแปลี่ยนทางวัฒนธรรม คือ 1. ชาวบ้านเชื้อสายเขมรที่เคยเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ได้ขายที่ดินให้แก่พวกไทยลาว จนเหลือที่ดินในการครอบครองเฉลี่ยต่อหลังคาเรือนแล้ว เป็นจำนวนเนื้อที่น้อยกว่าหลังคาเรือนไทยลาว 2. ชาวบ้านเชื้อสายเขมรได้มีความกระตือรือร้นและขยันขันแข็ง เพื่อพยายามยกระดับสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเอาอย่างในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ จากพวกไทยลาวที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เกิดปัญหาการว่างงานหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว และจำนวนงานรับจ้างภายในหมู่บ้านมีน้อยเกินกว่าแรงงานที่ต้องการทำ ชาวบ้านไม่กล้าไปทำงานชั่วคราวตามในเมืองหรือถิ่นไกลๆ นอกจากนี้แรงงานจริงในหมู่บ้านยังขาดแคลนเงินทุน อาชีพและเทคนิคในการผลิตอันทันสมัยในการเกษตรทางด้านการตลาด ได้แก่ปัญหาเรื่องความยากลำบากในการคมนาคมขนส่งเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงผู้ผลิตเสียเปรียบในการต่อรองราคาพืชผล จนผลตอบแทนไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงไปซึ่งทำให้ชาวบ้านหมดกำลังใจที่จะทำการผลิตต่อไป

Focus

วิเคราะห์เศรษฐกิจในหมู่บ้านโซง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรเชื้อสายไทยลาวและเชื้อสายเขมรอยู่ร่วมกัน และมีอาชีพการทำไร่ทำนาเป็นหลัก การวิเคราะห์เห็นประเด็นเรื่อง ที่ดิน แรงงาน ทุน เทคนิคการผลิตและการตลาด

Theoretical Issues

เป็นการวิจัยด้านเศรษฐกิจในระดับหมู่บ้านไทยลาว-เขมร เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญติดชายแดนไทย-เขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (หน้า 1) เป็นการวิจัยโดยอาศัยการสัมภาษณ์เป็นหลัก การสังเกตเป็นส่วนประกอบรองลงมา (หน้า 3) สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ได้นำข้อมูลที่เกี่ยวกับ ที่ดิน แรงงาน ทุน เทคนิคการผลิต และการตลาด มาทำการวิเคราะห์ โดยวิธีเปรียบเทียบ ตรวจสอบความสัมพันธ์ (Cross Tabulation) กับข้อมูลอันเป็นปัจจัยแปรผัน (Variable Factors ) ซึ่งได้แก่ ระดับการศึกษา อายุ ประสบการณ์ในเมืองหรือสังคมที่เจริญ ระดับฐานะทางเศรษฐกิจ และเชื้อสายดั้งเดิมหรือลักษณะเชื้อสายของประชากรที่เป็นอยู่ในหลังคาเรือน นอกจากนี้ ยังใช้วิธีตรวจสอบทางสถิติ เช่น Correlation หรือ Analysis of Varianceหรือ Regression Analysis ตามความเหมาะสม (หน้า 5) และจากผลการศึกษาหมู่บ้านโซงในครั้งนี้มีสมมติฐานที่สามารถนำไปใช้กับกรณีหมู่บ้านอื่นได้กล่าวคือ ในหมู่บ้านที่กลุ่มวัฒนธรรมสำคัญ ๆ ตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป กลุ่มวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็งกระตือรือร้นในการทำมาหากินต่ำ มีแนวโน้มที่จะเอาอย่างหรือปรับปรุงตัว เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในทางเศรษฐกิจของตนให้ทัดเทียมเพื่อนบ้านที่มีความสามารถสูงกว่า (หน้า 103)

Ethnic Group in the Focus

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยภาคสนาม โดยเลือกหมู่บ้านตัวอย่างมาทำการศึกษาวิจัย ผลของการสุ่มเลือกปรากฎว่าหมู่บ้านโซงได้รับเลือกซึ่งเป็นตัวอย่างหมู่บ้านที่มีชนกลุ่มน้อยอื่นปะปนกับคนไทยลาว คือ พวกเชื้อสายเขมรปะปนกับไทยลาว (หน้า 2) และเลือดผสมไทยลาวเขมรปะปนกันอยู่ โดยต้องอยู่ที่เขตชายแดนไทย-กัมพูชาทางทิศใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี (หน้า 20)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาเป็นลักษณะสำคัญที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเชื้อสายไทยลาวและเขมร ภาษาที่ใช้หมู่บ้าน มี 2 ภาษาคือ ภาษาไทยลาวและภาษาเขมร (หน้า 20) ปกติภาษาพูดไทยลาวและเขมรในหมู่บ้านนี้ แตกต่างกันชนิดฟังกันไม่รู้เรื่องเลย แต่ดั้งเดิมมาชาวบ้านพูดได้เฉพาะภาษาเขมรเท่านั้น ต่อมาติดต่อกับคนในเมืองและฟังวิทยุมากขึ้น และมีพวกไทยลาวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภายหลัง ทำให้เขมรพูดภาษาไทยลาวได้มากขึ้น การพูดโต้ตอบกันระหว่างคนเชื้อสายไทยลาวและเขมรมักใช้ภาษาไทยลาวเป็นสื่อ แต่สำหรับพวกไทยลาวแล้วพูดภาษาเขมรแทบไม่ได้เลย ส่วนพวกลูกผสมระหว่างไทยลาวและ เขมรถูกอบรมให้พูดภาษาลาวมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนพวกเชื้อสายเขมรยังพยายามฝึกพูดภาษาไทยภาคกลางได้สำเนียงชัดเจนยิ่งกว่าพวกไทยลาว เนื่องจากเห็นว่าพวกตนจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทต่อไป จึงพยายามสร้างปมเด่นให้เห็นว่าตนเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่งเช่นกัน (หน้า 16)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างวันที่ 22 กันยายน ถึง วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2510

History of the Group and Community

หมู่บ้านโซงตั้งมาประมาณ 200 ปีแล้ว โดยย้ายมาจากบ้านหนองโซง (ปัจจุบันเป็นบ้านร้าง) เพราะเกิดการเจ็บป่วยเป็นไข้ล้มตายกันมากจึงย้ายมาอยู่แหล่งใหม่ ซึ่งเป็นคนเชื้อสายเขมรทั้งสิ้น ต่อมาภายหลังเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว มีคนไทยลาวเข้ามาตั้งรกรากประมาณ 3-4 ครอบครัวและย้ายตามเข้ามาอีกสิบกว่าครอบครัวในระยะเวลา 7-10 ปีที่ผ่านมา โดยมาจากเขตอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีทั้งหมด เนื่องจากได้ข่าวว่าที่ดินแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ดีกว่าแหล่งเดิมที่ทำนาไม่ค่อยได้ผล จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา มีไทยลาวย้ายเข้ามาอีก 19 ครอบครัว ส่วนใหญ่มาจากอำเภอวารินชำราบนอกนั้นมาจากอำเภอกันทรลักษณ์ และอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีษะเกษ ดังนั้นปัจจัยการอพยพทำให้คนเชื้อสายไทยลาวมีจำนวนมากกว่าคนเชื้อสายเขมร (หน้า 7)

Settlement Pattern

ภายในที่ตั้งหมู่บ้านมีบ้านเรือน ตั้งอยู่เป็นกลุ่มก้อนเรียงอยู่ริมถนน และอยู่อย่างระเกะระกะ ลึกเข้าไปจากถนน เส้นทางการติดต่อระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอมีอยู่ทั้งหมด 3 เส้นทาง ซึ่งไปมายากลำบากมาก (หน้า 6)

Demography

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ 2510 หมู่บ้านโซงมีประชากรรวมทั้งสิ้น 940 คน เป็นชายร้อยละ 49.4 และหญิงร้อยละ 50.6 เมื่อจำแนกตามเชื้อสายเดิมแล้วมีคนเชื้อสายไทยลาวอยู่ร้อยละ 58 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (หน้า 7) เชื้อสายเขมร ร้อยละ 40.5 และเลือดผสมไทยลาวเขมรร้อยละ 1.1 โดยมี ประชากรทั้งหมดคิดเป็น 175 ครอบครัว หลังคาเรือนและครอบครัวที่ชาวบ้านเชื้อสายต่างๆ อาศัยอยู่มี 3 ประเภทคือ 1. เป็นหลังคาเรือนและครอบครัวที่มีเฉพาะคนไทยลาวอาศัยอยู่ด้วยกัน 2. เป็นหลังคาเรือนที่มีเฉพาะคนเขมรอาศัยอยู่ด้วยกัน 3. เป็นหลังคาเรือนและคอรอบครัวที่มีทั้งคนไทยลาว คนเขมร กับเลือดผสมไทยลาวเขมรอยู่ร่วมกันโดยทั่วไปแล้ว จำนวนคนเฉลี่ยต่อหลังคาเรือน ในหลังคาเรือนไทยลาวสูงกว่าหลังคาเรือนเขมร และในหลังคาเรือนเขมรสูงกว่าหลังคาเรือนที่มีทั้งคนไทยลาวและเขมรอยู่ร่วมกัน ในระยะระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ 2510 ถึง 24 เมษายน พ.ศ 2511 รวมเวลาเกือบ 9 เดือนพบว่ามีชาวบ้านโยกย้ายเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมากกว่าที่ย้ายออกไปจากหมู่บ้าน จำนวนคนเกิดมีมากกว่าจำนวนคนตาย จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายที่อยู่ในหมู่บ้าน (หน้า 8) มีจำนวนประชากรทั้งหมด 973 คน (หน้า9)

Economy

ชาวบ้านโซงส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลักร้อยละ 84.l ส่วนอีกร้อยละ 15.1 นั้นยึดอาชีพอื่นเป็นหลักเช่น ค้าขาย รับราชการ (หน้า 9) ระดับฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน 199 หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ 1. ระดับเหลือกินเหลือใช้ มักฐานะความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดในหมู่บ้าน เพราะสามารถทำนาหรือหารายได้จากการผลิตมากเกินกว่าการใช้จ่าย หรือมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคไว้ขาย หรือให้เพื่อนบ้านกู้ยืมได้ 2. ระดับมีพอกิน คือไม่ค่อยเดือดร้อนในด้านความเป็นอยู่ กล่าวคือ ไม่ค่อยขาดแคลนแต่ก็ไม่ค่อยเหลือ 3. ระดับยากจน เป็นชาวบ้านที่ทำนาหรือหารายได้ (หน้า 10) ไม่ค่อยเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นบางครั้งและบางครั้งต้องกู้หนี้ยืมสินจากคนอื่น 4. ระดับจนมาก ชาวบ้านพวกนี้ไม่ค่อยมีกิน อดๆ อยากๆ ตลอดปี ต้องขออาหารเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องมาบริโภคเพื่อประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ โดยเฉลี่ยแล้ว หลังคาเรือนที่มีระดับฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า มีมูลค่าทรัพย์สินและฐานะทางการเงินที่เทียบจากรายได้และรายจ่ายสูงและมั่นคงกว่าหลังคาเรือนที่มีระดับฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า (หน้า 11) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนเชื้อสายไทยลาวและเขมรแล้ว พบว่าฐานะทางเศรษฐกิจของเชื้อสายไทยลาวส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีกว่าคนเชื้อสายเขมร (หน้า 13) ชาวบ้านส่วนใหญ่พยายามสร้างฐานะทางเศรษฐกิจด้วยการแสวงหาที่ดินเอาไว้ถือครองทำมาหากินเป็นสำคัญ (หน้า 24) การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรในหมู่บ้านประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนผู้เช่าทั้งหมด ต้องจ่ายค่าเช่าในลักษณะแบ่งผลผลิตกันคนละครึ่ง โดยผู้ให้เช่าจะออกพืชพันธุ์และให้ยืมเครื่องมือในการผลิตด้วย ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 10 นั้นแล้วแต่ผู้เช่าจะจ่ายค่าเช่าเท่าไรหรือลักษณะใดก็ได้ การเช่าที่ดินนี้ไม่เคยทำสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษร (หน้า 26) หลังคาเรือนที่มีระดับฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ใช้ที่ดินทำประโยชน์ และปล่อยทิ้งว่างเป็นจำนวนเนื้อที่มากกว่าหลังคาเรือนที่มีระดับฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า (หน้า 34) ในรอบปีหนึ่งๆ ชาวบ้านหมู่บ้านโซงใช้ที่ดินทำนาประมาณ 7 เดือน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วชาวบ้านจะใช้ที่ดินบางส่วนทำการปลูกพืชต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาว ผักกาด หอม กระเทียม คะน้า ผักชี เป็นต้น และปลูกยาสูบเพื่อเอาไว้บริโภคในครัวเรือน บางหลังคาเรือนก็เอาไว้ขายด้วย (หน้า 35) ชาวบ้านที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนมากนั้น ทุกหลังคาเรือนไม่ได้เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานเลย และหลังคาเรือนไทยลาวมักจะเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานเป็นจำนวนมากกว่าหลังคาเรือนเขมร (หน้า 55) หลังคาเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีแนวโน้วที่จะเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากกว่าหลังคาเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า และหลังคาเรือนที่มีเฉพาะคนเชื้อสายไทยลาวโดยเฉลี่ยแล้วจ่ายค่าเครื่องมือทำการผลิตมากกว่าหลังคาเรือนเขมร (หน้า 59) ระบบเศรษฐกิจของหมู่บ้านโซง เป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง ชาวบ้านยังนิยมแลกเปลี่ยนสิ่งของกันอยู่ สินค้าออกของหมู่บ้านก็มีปริมาณน้อย ทำให้การหมุนเวียนทางเงินตราเป็นไปในอัตราต่ำ ชาวบ้านที่มีเงินเหลือก็มักจะมีแนวโน้มที่จะลงทุนซื้อที่ดิน โค กระบือ ไว้เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลาน ไว้ใช้ในการผลิตมากกว่าเก็บสะสมหรือใช้ในลักษณะอื่น(หน้า 62) พบว่าหลังคาเรือนไทยลาว ใช้จ่ายเงินเพื่อทำการผลิตในที่ดิน 1 ไร่ สูงกว่าหลังคาเรือนเขมรมาก เพราะกล้าเสี่ยงลงทุนมากกว่า และ หลังคาเรือนที่มีคนไทยลาวกับเขมรอยู่ร่วมกันนั้น กล้าเสี่ยงลงทุนมากที่สุด (หน้า 69) หลังคาเรือนไทยลาวได้รับผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อหลังคาเรือนในปริมาณสูงกว่าหลังคาเรือนเขมร (หน้า 76) การผลิตทางการเกษตรนับว่าเป็นการผลิตอันสำคัญที่สุดของชาวบ้านโซง โดยเฉพาะการทำนาซึ่งมีสำคัญ สำหรับการผลิตที่เป็นสิ่งใหม่ต่อหมู่บ้าน ในปี พ.ศ 2510 ก็คือการขุดบ่อปลา (หน้า 89) ชาวบ้านในหลังคาเรือนไทยลาวได้รับผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อหลังคาเรือนและเฉลี่ยต่อไร่ด้วยปริมาณสูงกว่าหลังคาเรือนเขมร (หน้า 90) วิธีจำแนกแจกจ่ายผลิตผลไปยังผู้บริโภคมีอยู่ 3 ลักษณะสำคัญ คือ ขายให้ผู้บริโภคด้วยกันเองในหมู่บ้าน ขายให้พ่อค้าที่รับซื้อในหมู่บ้าน และนำไปขายให้แก่พ่อค้ารับซื้อตามหมู่บ้านอื่น หรือที่อำเภอเดชอุดม แต่ส่วนใหญ่มักต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเสียก่อน จึงจะไปถึงผู้บริโภค นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกต่อการนำผลิตผลไปสู่ผู้บริโภคอย่างมาก และยังมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านสามารถขายผลิตผลของตนได้ราคาที่ยุติธรรมอีกด้วย (หน้า 98) เกี่ยวกับราคาพืชผล เช่น ข้าว และ ปอนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบราคากันดีโดยรับฟังมาจากทางวิทยุเป็นสำคัญ แต่ราคาสุกรนั้นนับว่าเป็นปัญหาที่ชาวบ้านไม่อาจทราบราคาแน่นอนได้ เพราะสุกรที่ชาวบ้านเลี้ยงมีคุณภาพที่แตกต่างกันไป ดังนั้นพ่อค้าจึงมักเป็นฝ่ายได้เปรียบในการตั้งราคาเองอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ ราคาปอตกต่ำก็เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตขาดกำลังใจในการทำการผลิตต่อไป (หน้า 99)

Social Organization

ความผูกพันในวงศ์ญาติมีสูงมาก โดยนิยมแบ่งที่ดินเป็นมรดกแก่บุตรหลานไว้ทำมาหากินสืบต่อไป การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรในหมู่บ้าน ปรากฎว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษร (หน้า 26) แต่อย่างใดเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจกัน คงใช้แต่การตกลงกันด้วยวาจาเท่านั้น ชนเชื้อสายไทยลาว มักความกระตือรือร้นและขยันขันแข็งในการทำมาหากินมากกว่าพวกเขมร พยายามแสวงหาที่ดินมาไว้ทำการผลิต (หน้า 27) โดยทั่วไปชาวบ้านยอมรับกันว่า ผู้ชายมีบทบาทในการทำงานนอกบ้านมากกว่าผู้หญิงเพราะตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านแล้ว หญิงจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบการบ้านการเรือน นอกจากนี้ชาวบ้านถือกันว่า ผู้ชายเป็นฝ่ายที่มีกำลังกายแข็งแรงบึกบึนกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะการรับจ้างทำงานภายในหมู่บ้านหรือนอกหมู่บ้านผู้ชายจะมีบทบาทอันสำคัญยิ่ง ส่วนหญิงที่มีครรภ์หรือหลังการคลอดบุตรแล้วประมาณ 2 เดือนต้องช่วยครอบครัวทำงานตามปรกติ (หน้า 42) โดยทั่วไปชาวบ้านมักจะแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ชาวบ้านเชื้อสายไทยลาวเริ่มแต่งงานเมื่ออายุประมาณ 17 ปีเป็นต้นไป ส่วนชาวบ้านเชื้อสายเขมรจะแต่งงานตั้งแต่อายุ 14 ปีขึ้นไป ชายที่แต่งงานแล้วจะมีความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจมากขึ้น ตามประเพณีของไทยลาวและเขมรแล้วผู้ชายที่เพิ่งจะแต่งงานต้องย้ายไปอยู่ในหลังคาเรือนของภรรยา ยกเว้นบางกรณีที่พิเศษเท่านั้นที่ฝ่ายหญิงต้องย้ายไปอยู่ในหลังคาเรือนของสามี ผู้ชายที่เพิ่งแต่งงาน ต้องทำงานในไร่นาของพ่อตาแม่ยาย ตามปรกติเมื่อคู่สมรสได้บุตร 2 หรือ 3 คน จะแยกครัวเรือนออกมาอยู่ต่างหากและจะมีอิสระทางด้านรายรับและรายจ่ายมากกว่าเมื่อครั้งอยู่กับพ่อตาแม่ยาย ซึ่งโดยทั่วไปพ่อตาแม่ยายก็จะมอบที่ดินให้แก่บุตรเขยและบุตรสาวไว้ทำมาหากินผืนหนึ่งแต่ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อตาแม่ยายอย่างเดิม ตามกรณีที่เกิดขึ้นส่วนมาก ที่ดินจะเปลี่ยนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของครัวเรือนใหม่ก็ต่อเมื่อพ่อตาแม่ยายเสียชีวิตไปหมดแล้ว ซึ่งหมายความว่าตลอดชีวิตสมรสผู้ชายต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูภรรยา บุตร รวมทั้งมีภาระสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวของภรรยาและของตน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นภายในวงศ์ญาติเดียวกัน หากเกิดความเดือดร้อนขึ้นภายในวงศ์ญาติก็มักจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ (หน้า 45) เกี่ยวกับการทำงานบางอย่างในหมู่บ้นชาวบ้านก็จะใช้วิธีลงแขกช่วยกันทำ เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว ฟาดข้าว หาบข้าวใส่ลาน ดำนา และลงแขกสร้างบ้าน เป็นต้น และตนเองเป็นผู้จัดหาเลี้ยงอาหาร ชาวบ้านจะหยุดทำงานกันจริง ๆ ก็ต่อเมื่อเป็นวันงานพิธีสำคัญของหมู่บ้าน เช่น พิธีสู่ขวัญข้าวประจำหมู่บ้าน งานรื่นเริงประจำปีของหมู่บ้าน วันเนา วันแต่งงาน หรืองานทำบุญบ้านของญาติ หรือมิตรสหายที่สนิทกัน นอกจากนี้ พอค่ำลง ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมพักผ่อนด้วนการจับกลุ่มคุยกันตามบ้านเรือนของมิตรสหาย พวกเด็กหนุ่มก็จะไปเล่น (เกี้ยว) สาวในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง (หน้า 50)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ชาวบ้านทุกคนนับถือศาสนาพุทธที่สืบต่อกันมาตามประเพณี โดยมีวัดบ้านโซงเป็นแหล่งที่ปฏิบัติกิจทางศาสนาร่วมกันระหว่างคนไทยลาวและเขมร (หน้า 20) แต่ก็มีหลายคนที่นับถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจในการทำความดี (หน้า 15) ส่วนพิธีกรรมทางศาสนามีพิธีในวันสงกรานต์ การทำบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา การทำบุญในวันพระ และการทำวัตรสวดมนต์ที่วัดทุกวันโกน ชาวบ้านทั้งไทยลาวและเขมรมีอิสระที่จะนับถือสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นประเพณีเดิมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา (หน้า 16) ส่วนใหญ่จะเป็นประเพณีที่คล้ายคลึงกัน เช่น การสู่ขวัญ การเสี่ยงน้ำฝน การนับถือนางธรณี การนับถือผีปู่ตา การนับถือผีตาแฮก เป็นต้น ส่วนประเพณีชนิดเดียวกันที่ทำพิธีแตกต่างกัน คือ พิธีแต่งงาน ในกรณีที่คนไทยลาวและคนเขมรแต่งงานกัน จะต้องใช้พิธีของฝ่ายเขมร สำหรับการนับถือผีแม่มดนั้น เชื่อถือปฏิบัติกันมาเฉพาะในฝ่ายเขมรเท่านั้น ส่วนการนับถือผีแถน เชื่อถือปฏิบัติกันในกลุ่มคนไทยลาวกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่ง และการนับถือธรรมไว้ไล่ผีเริ่มมีมากในกลุ่มคนไทยลาว พวกที่นับถือธรรมดังกล่าวนี้ เลิกนับถือผีกันหมด ชาวบ้านที่มีความเชื่อผีส่วนใหญ่เชื่อว่าผีมีอิทธิพลชีวิตความเป็นอยู่ คือ ทางด้านอนามัย (หน้า 17) และทางด้านการผลิต ผีชนิดที่สำคัญที่ชาวบ้านต้องทำพิธีเลี้ยงทุกปี คือ ผีปู่ตา ผีแม่มด ผีแถน ในด้านอนามัย ส่วนในด้านการผลิตชาวบ้านบางกลุ่มยังทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกในฤดูดำนา เพื่อช่วยให้ข้าวเจริญงอกงาม (หน้า 18)

Education and Socialization

บ้านโซงมีโรงเรียนอยู่ 1 แห่งเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ 2469 สอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-4 โดยสอนเป็นภาษาไทยกลาง เมื่อเด็กจบ ป.4 แล้วชาวบ้านไม่นิยมส่งลูกเรียนต่อที่อื่นเพราะ 1. เด็กที่จบ ป.4 แล้วโดยมากอ่านและเขียนหนังสือไม่ค่อยได้จึงเป็นอุปสรรคในการเรียนอยู่มาก 2. หากเป็นบุตรหญิงเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในการไปเรียนต่อ 3. เกรงว่าเมื่อไปเรียนแล้วจะผิดหวังเรียนไม่จบและไม่มีงานทำเนื่องจากมีตัวอย่างจากรุ่นก่อน ๆ มาแล้ว 4. ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีพอ ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการให้โรงเรียนในหมู่บ้านขยายระดับการศึกษาให้สูงขึ้นกว่าเดิม (หน้า 14) ในปี พ.ศ 2510 มีชาวบ้านที่จบการศึกษาระดับ ป.4 ขึ้นไปประมาณร้อยละ 47.5 ของชาวบ้านที่มีอายุ 15 ขึ้นไป โดยคนไทยลาวที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าระดับป.4 ขึ้นไปมีอัตราสูงกว่าฝ่ายเขมรมาก (หน้า 15) ปกติชาวบ้านจะได้รับการฝึกอบรมในการประกอบอาชืพมาตั้งแต่เด็กจากครอบครัวของตน (หน้า 52)

Health and Medicine

ชาวบ้านเชื่อถือผีอยู่มากเนื่องจากความเชื่อว่าผีมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ทางด้านอนามัย คือ ผีปู่ตา ผีแม่มด ผีแถน ชาวบ้านจึงต้องทำพิธีเลี้ยงทุกปี ถ้าหากไม่ทำพิธีดังกล่าวหรือประพฤติในสิ่งที่ไม่ควรต่อผีแล้วอาจจะทำให้เกิดความเจ็บป่วยแก่ชาวบ้านได้ ดังนั้น เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจึงมีการรักษากัน 2 ประเภท คือ 1. ใช้ยารักษาโรคจากสถานีอนามัยชั้นสองประจำตำบล หมอเถื่อน หมอกลางบ้าน หรือซื้อยาจากร้านขายยาเอง (หน้า 17) 2.ใช้ไสยศาสตร์เข้าช่วยรักษา โดยให้หมอธรรมหรือตัวแทนของผีปู่ตา ผีแม่มดหรือผีแถน ทำการตรวจดูก่อนว่ามีผีอะไรมากระทำ แล้วจึงขับไล่ออก ปกติชาวบ้านส่วนใหญ่มักใช้ทั้งยารักษาโรคและทางไสยศาสตร์พร้อมกันเพื่อให้ได้ผลเร็ว แต่บางคนก็เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเมื่อไม่หายจึงเปลี่ยนมาใช้อีกวิธีที่เหลือ (หน้า 18) สำหรับที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนมีแต่ความสกปรกรุงรังนิยมทำความสะอาดพื้นบ้านด้วยวิธีเพียงกวาดเศษขยะเท่านั้น ซึ่งก็ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในครัวหุงอาหารนั้น มีทั้งฝุ่นละออง เถ้าถ่านเศษไม้และอื่น ๆ ระเกะระกะซึ่งทำให้เกิดพาหะของเชื้อโรค ทางด้านเครื่องนุ่งห่ม พบว่าชาวบ้านที่มีฐานะยากจนและยากจนมากขาดแคลนกันมาก โดยเฉพาะหลังคาเรือนในเชื้อสายเขมร (หน้า 43) ถ้าในฤดูหนาวจัดจะเห็นบ่อยๆ ว่า ผู้ชายวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยชราหลายคนปราศจากเสื้อ ทนหนาวสั่น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเกิดอาการไข้บ่อยเกือบตลอดปี เกี่ยวกับอาหารการกินพบว่า ชาวบ้านโดยทั่วไปรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจากข้าวเหนียวเป็นสำคัญ ไม่นิยมรับประทานอาหารประเภทไขมันเลย การปรุงอาหารแทบจะไม่พบว่าชาวบ้านใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช หรือไขมันจากสัตว์ สำหรับน้ำดื่ม ชาวบ้านนิยมดื่มน้ำจากในบ่อมาก ส่วนน้ำฝนไม่ปรากฎว่าชาวบ้านรองรับไว้ดื่มเลย (หน้า 44 )

Art and Crafts (including Clothing Costume)

นอกจากอาชีพหลักคือการทำไร่ทำนาแล้วบางครัวเรือนที่มีความชำนาญหรือมีฝีมือในการสร้างเกวียน จักสาน ทอเสื่อ ทอผ้าฝ้าย ทอผ้าไหม ถักแห ก็มักจะเริ่มถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุตรหลานที่มีความรู้ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยเน้นฝึกผู้หญิงให้มีความรู้ในการทอผ้าฝ้ายทอผ้าไหม เพื่อเตรียมไว้ในชีวิตการครองเรือน และเน้นผู้ชายให้มีความรู้ในทางช่างไม้ ทำเกวียน จักสาน การอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมภายในครัวเรือนที่ถ่ายทอดกันต่อ ๆ มาจากบรรพบุรุษไปยังบุตรหลานตามลำดับ (หน้า 43)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ภาษาเป็นลักษณะสำคัญที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเชื้อสายไทยลาว-เขมร พวกเขมรกว่าร้อยละ 70 สามารถพูดภาษาไทยลาวได้ แต่สำหรับพวกเชื้อสายไทยลาวแล้วแทบทั้งสิ้นพูดภาษาเขมรไม่ได้เลย เหตุที่พวกเชื้อสายเขมรมีแนวโน้มพูดภาษาไทยลาวมากขึ้นเป็นเพราะคนเขมรคิดว่า คนไทยลาวมีทั้งภาษาที่คล้ายคลึงและการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนไทยภาคกลางมาก นอกจากนี้พวกเชื้อสายเขมรยังพยายามฝึกพูดภาษาไทยไทยภาคกลางได้สำเนียงชัดเจนยิ่งกว่าพวกไทยลาวพูดภาษาไทยภาคกลางเสียอีก สำหรับกรณีนี้เป็นเพระเห็นว่า พวกตนเองจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยตลอดไป และเห็นแล้วว่าคนไทยเหนือกว่าประเทศกัมพูชาในแง่ที่สามารถป้องกันตนเองให้เป็นเอกราชได้เข้มแข็งกว่า จึงพยายามสร้างปมเด่นให้เห็นว่าตนเองก็เป็นคนไทยคนหนึ่งเหมือนกัน (หน้า 16) ปกติคนเชื้อสายไทยลาวมักมีความขันขันแข็งในการทำมาหากินมากกว่าเขมร และเมื่อคนเขมรแต่งงานกับคนไทยลาวแล้วก็เกิดมานะที่จะใช้แรงงานขยันขันแข็งมากขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ เนื้อที่ถือครองทางการเกษตรและใช้ที่ดินทำประโยชน์จริงๆ ในหลังคาเรือนที่มีคนไทยลาวและคนเขมรอยู่รวมกันมีมากที่สุด (หน้า 48) ภายหลังที่พวกไทยลาวอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านโซง ก็เป็นผลทำให้คนเชื้อสายเขมรเริ่มมีความขยันขันแข็งในการทำงานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะต้องการจะสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้ทัดเทียมกับพวกไทยลาวบางคนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว (หน้า 53)

Social Cultural and Identity Change

ไม่มีข้อมูล

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

- ภาพที่ 1 แผนภูมิแสดงประชากรหมู้บ่านโซง จำแนกตามอายุและเพศ (พ.ศ 2510) (หน้า 110) - ภาพที่ 2 แผนภูมิแสดงจำนวนประชากรหมู่บ้านโซง จำแนกตามอายุและเชื้อสายของประชากร(พ.ศ2510) (หน้า 111)

Text Analyst จันทิวา ก๋าวงศ์อ้าย Date of Report 26 ต.ค. 2555
TAG เขมร, เศรษฐกิจชุมชน, อุบลราชธานี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง