สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทใหญ่, คะยาห์, กะเหรี่ยง, แรงงานข้ามชาติ, แม่ฮ่องสอน, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, ประเทศพม่า, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author พิทยา ฟูสาย และคณะ
Title กระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษา กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ คะยาห์ และกะเหรี่ยง
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text -
Ethnic Identity ปกาเกอะญอ, ไทใหญ่ ไต คนไต, กะแย กะยา บเว, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ศูนย์ข้อมูลการวิจัย Digital “วช.”
[เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 198 Year 2553
Source สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
Abstract

การศึกษากระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ กะเหรี่ยง และคะยาห์ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัจจัยการย้ายถิ่นเพื่อเป็นแรงงานจากประเทศพม่าเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แรงงานข้ามชาติกรณีศึกษาจำนวน 177 คน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ กะเหรี่ยง และคะยาห์ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ชาวไทใหญ่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่ม ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงและคะยาห์เดินทางเข้ามาเป็นครอบครัว ส่วนมากใช้วิธีการเดินเท้าเข้ามาเนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการถูกจับ ใช้เส้นทางธรรมชาติและเส้นทางจุดผ่อนปรน เข้ามาจากการชักชวนของเพื่อนและญาติ รองลงมาคือนายหน้าชาวไทใหญ่ มูเซอ และกะเหรี่ยง และเข้ามาด้วยตนเอง
ปัจจัยผลักดันการพลัดถิ่นเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติเกิดจาก (1) นโยบายการบังคับและการทำลายที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลจากการสู้รบของกองกำลังทหารกับชนกลุ่มน้อย (2) การพัฒนา ทั้งการถูกเวนคืนที่เพื่อก่อสร้างเขื่อน ทำเหมือง และทำโครงการ Contract Farming(3) การบังคับใช้แรงงานเป็นทหาร แรงงานทางการเกษตร ลูกหาบขนเสบียง และผู้นำทางให้หน่วยลาดตระเวน และ (4) การสังหาร ทำร้าย และข่มขืนผู้หญิงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย
ปัจจัยดึงดูดจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย ทางด้านภูมิศาสตร์พบว่ามีอาณาเขตติดต่อกับรัฐคะยาห์ รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยงที่สะดวกต่อการเดินทาง ทางด้านสังคมพบว่ามีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ พ.ศ. 2374 มีการติดต่อกันโดยตลอดและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้ผู้อพยพไม่ต้องปรับตัวมากนัก ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจพบว่ามีความมั่นคงและความปลอดภัยต่อชีวิตสูง มีค่าจ้างแรงงานสูง และรัฐไทยมีนโยบายที่ผ่อนปรนต่อแรงงานข้ามชาติ 

Focus

งานวิจัยมุ่งเน้นการศึกษากระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย โดยทำความเข้าใจปัจจัยผลักดันจากประเทศต้นทาง ปัจจัยดึงดูดจากประเทศปลายทาง จากการวิเคราะห์ข้อมูลแรงงานข้ามชาติร่วมกับนโยบายรัฐของทั้ง 2 ประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2531-2552รวมทั้งศึกษาเส้นทาง กระบวนการเข้ามา และกระบวนการเข้าสู่การทำงานของแรงงานข้ามชาติ กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ กะเหรี่ยง และคะยาห์

Theoretical Issues

แนวคิดในการอธิบายการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติและการอพยพระหว่างประเทศ
อ้างถึง United Nation (1982) การย้ายถิ่นข้ามชาติมีทั้งลักษณะเป็นการย้ายเข้า-ออกถาวร การย้ายไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว การย้ายไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา การเข้าเมืองผิดกฎหมาย และผู้ลี้ภัย (น. 19-20)
ผู้วิจัยอธิบายงานด้วยแนวคิดเชิงระบบการย้ายถิ่นเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจการอพยพแรงงานผ่านมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมประกอบกัน (อ้างถึง J.Fawcett and F. Arnold, 1987) พิจารณาการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่เกิดจากปัจจัยผลักดันของประเทศต้นทางจากความยากจน ที่ดินทำกิน จำนวนประชากร รวมทั้งความไม่เท่าเทียมกันของนโยบายรัฐในการกระจายตัวทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยพบว่าปัจจัยสำคัญจากประเทศพม่า คือ ปัญหาทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการสู้รบภายในประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาความยากจน และพิจารณาถึงปัจจัยดึงดูดของประเทศปลายทาง คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย จากโอกาส รายได้ ความต้องการกำลังคน ความทันสมัยในประเทศผู้รับ โดยพบว่าแรงงานภายในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ แรงงานข้ามชาติเป็นทางเลือกสำคัญของนายจ้างเนื่องจากเป็นแรงงานที่มีราคาถูก ไม่มีข้อต่อรอง และมีความอดทนสูง (น.14-16, 24-26)
งานเขียนที่พิจารณากระบวนการข้ามชาติของแรงงานในมิติประชากรและสังคม เช่น กฤตยา อาชวนิจกุล, วรรณา จารุสมบูรณ์ และอัญชลี วรางค์รัตน์ (2540) ที่ให้เสนอความหมายของ “คนข้ามชาติ” โดยให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายที่ผิดสังเกตของคนจากบางประเทศที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย ส่วนงานของ Carl-Grundy-War (2004) สะท้อนความสัมพันธ์ทางการเมืองที่นำมาสู่การเคลื่อนย้ายชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า (น. 27-28)
งานเขียนในมิติสิทธิสถานะแรงงาน ปรากฏงานที่ให้ความสำคัญกับแรงงานที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยในงานของรพินทร์ พิทักษ์มหามาตุ (2540) และงานศึกษาแรงงานที่เป็นชนเขา ชนกลุ่มน้อย รวมทั้งผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นแรงงานเถื่อนที่ประสบสภาวะความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในงานของกฤตยา อาชวนิจกุล และพรสุข เกิดสว่าง (2540) (น. 28)
การประกอบอาชีพหรือการเข้าสู่ภาคแรงงานของชาวพม่าและประเทศเพื่อนบ้านนั้น งานของกฤตยา อาชวนิจกุล และพรสุข เกิดสว่าง (2540) พบว่าหญิงต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมีการถูกชักนำเข้ามาค้าบริการทางเพศในประเทศไทย ในขณะที่งานของสุรีย์พร พันพึ่ง, ทรีส โคเอทท์, อวัศยา ปานำ, ไค มะ จอ ซอ และเสาวภา สุขสินชัย (2548) มุ่งเน้นการศึกษาเฉพาะคนรับใช้ในบ้านของชาวพม่าในพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนงานของกุศล สุนทรธาดา และอุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์ (2540) อธิบายถึงอาชีพที่จำแนกตามกลุ่มคน ส่วนมากชาวกะเหรี่ยงทำงานในสถานบริการทั่วไป ชาวมอญทำงานในสวนยางและโรงงานอุตสาหกรรม ชาวไทใหญ่ทำงานภาคการเกษตรและบริการทางเพศ ชาวพม่าและกัมพูชาเข้ามาทำงานประมง ซึ่งส่งผลให้แรงงานไทยถูกแย่งงานและลดราคาค่าจ้าง โดยงานของสุภางค์ จันทวานิช (2546) ให้ข้อมูลแรงงานที่แตกต่างกลุ่มอาชีพออกไปตามพื้นที่ ชาวพม่าในจังหวัดระนองทำงานประมง ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายทำงานรับจ้างทั่วไป เกษตรกร และโรงงาน ส่วนในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม (น. 28-30)
ส่วนมิติกระบวนการเข้ามาในประเทศไทย อำนวย รักธรรม (2541) อธิบายถึงการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานผ่านการสร้างเครือข่ายติดต่อสร้างความสัมพันธ์ ความคุ้นเคย และแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกลุ่มเดียวกัน โดยเชิดชาย ม่วงมงคล (2537) วิเคราะห์ถึงปัจจัยผลักดันว่ามีผลมากกว่าปัจจัยดึงดูด ได้แก่ การเกณฑ์ทหารและแรงงานด้วยอำนาจทางเผด็จการทหารเพื่อทำสงครามปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องการจัดตั้งประเทศเอกราชเป็นปัจจัยมากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาเศรษฐกิจ (น. 30-31)
มิติสุขภาพและสาธารณสุข กฤตยา อาชวนิจกุล, วณี ปิ่นประทีป, ฉัตรสุมน พฤติภิญโญ และพิมพา ขจรธรรม (2540) กล่าวถึงการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติทำให้รัฐไทยต้องแบกรับงบประมาณทางด้านสาธารณสุข โดยส่วนมากเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ โรคติดต่อ ไข้มาลาเรีย และอุบัติเหตุ ในขณะที่งานของกฤตยา อาชวนิจกุล, ทรีส โคเอทท์ และนิน นิน ไพน์ (2543) สะท้อนให้เห็นว่า การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายทeให้อาจถูกจับกุม ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และผู้หญิงยังเสี่ยงต่อการกระทำทารุณทางเพศ รัฐควรมีนโยบายจัดการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้กับแรงงานได้อย่างเท่าเทียม (น. 32-33)
มิติกฎหมาย งานของพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร (2540) และพิศวาส สุคนธพันธุ์ และปฐมาภรณ์ บุษปธำรง (2540) สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวของไทยให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในไทยอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีการผ่อนผันอยู่เสมอ ทำให้การจัดการอย่างเด็ดขาดเป็นไปได้ยาก
สำหรับนโยบายของรัฐที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก พ.ศ. 2528 มีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจและการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างมาก (วรวิทย์ เจริญเลิศ และบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, 2540) ทั้งนี้ งานส่วนมากให้ข้อเสนอแนะต่อนโยบายในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล การจัดการแรงงาน และการปรับแก้ไขกฎหมายและการนำกฎหมายไปใช้ในทางปฏิบัติ (น. 34-36) โดยมีเพียงงานของฟิลิปส์ เกสต์ และสุรีย์พร พันพึ่ง (2540) ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของกำลังแรงงานไทย (น. 36)

Ethnic Group in the Focus

ไทยใหญ่ ไทใหญ่ หรือคนไต เรียกตนเองว่า “ไตโหลง” หรือ “ไต” คนพม่าเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ฉาน” หรือ “ชาน” (น. 6, 89)
คะยาห์ กะยาห์ คะเรนนี กะเรนนี หรือกะเหรี่ยงแดง (น.6, 43)
กะเหรี่ยง (น. 6)

Language and Linguistic Affiliations

ชาวไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนใช้ภาษา “กำไต” เมื่อพูดภาษาไตเรียกว่า “อุบไต” ตัวอักษรภาษาเขียนเรียกว่า “ลีกไต” มีลักษณะกลมป้อมคล้ายตัวอักษรมอญและพม่า (น. 90)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์และสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐกะเรนนี รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่ พ.ศ. 2531-2552 และศึกษานโยบายของรัฐไทยต่อแรงงานข้ามชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2531-2552 มีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามเป็นระยะเวลา 4-6 เดือนในระหว่างปี พ.ศ. 2552

History of the Group and Community

ชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาแล้วกว่า 150 ปี ส่วนมากอพยพมาจากรัฐฉาน บริเวณเมืองหมอกใหม่ เมืองนาย เมืองลานเคอ และเมืองอื่น ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2374 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) เข้ามาหาที่ทำกิน (2) หนีศึกสงครามเข้ามา (3) เป็นคนในปกครองอังกฤษที่เข้ามาทำไม้และค้าขาย พ.ศ. 2393 เมืองเชียงใหม่ ส่งเจ้าแก้วเมืองให้มาจับช้างป่าเพื่อฝึกสอนไปใช้งาน และได้รวบรวมชาวไทใหญ่ซึ่งกระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกันที่เมืองแม่ฮ่องสอน โดยในปี พ.ศ. 2417 ยกฐานะแม่ฮ่องสอนขึ้นเป็นเมืองโดยมี “ชานกะเล” ชาวไทใหญ่เป็นเจ้าเมืองคนแรก มีบรรดาศักดิ์เป็นพญาสิงหนาถราชา ชาวไทใหญ่มีการติดต่อไปมาหาสู่และค้าขายกับชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศพม่าเรื่อยมา ก่อนหน้า พ.ศ. 2493ชาวไทใหญ่ที่เข้ามาทำการเกษตรเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วก็จะกลับไปยังถิ่นฐานเดิม และหลังจาก พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา ได้ย้ายมาอยู่ถาวรในพื้นที่บ้านปางหมู ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (น. 88-90)

Demography

ประเทศพม่า
รัฐคะยาห์ มีประชากร 300,000 คน มีชาวคะยาห์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ทั้งยังมี ชาวเก็กโก กะเหรี่ยง กะยัน (ปะด่อง) คะยอ เบร มะนูมะนอ ฉาน ยินบ่อ และยินตาเล (น. 43)
รัฐกะเหรี่ยงมีประชากรทั้งสิ้น 1,431,377 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พม่า ปะโอ ไทใหญ่ มอญ และยะไข่ (น. 66)
ในพื้นที่รัฐฉาน เกิดการต่อต้านรัฐบาลจากกลุ่มขุนส่า กองทัพ SSA-S กองทัพปลดปล่อยรัฐปะหล่อง กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (SSNA) รัฐบาลปราบปรามโดยการเจรจาหยุดยิง และมีปฏิบัติการโยกย้ายประชาชนไปอยู่เขตจัดสรรใหม่ บังคับให้ประชาชนเป็นลูกหาบเก็บกู้ระเบิด แรงงานก่อสร้าง แรงงานเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในโครงการ Contract Farming ยึดที่ดินเป็นของทหารเพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เวนคืนที่ดินให้เอกชนสัมปทานเหมืองแร่ สร้างเขื่อน ซึ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งการข่มขืนและการทำให้เป็นพม่า และก่อให้เกิดการโยกย้ายของประชากรในสถานะผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการอพยพสู่ประเทศไทย (น. 63-64)
การพลัดถิ่นของแรงงานจากรัฐคะยาห์ รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง เกิดจากสาเหตุสำคัญ คือ (1) การพลัดถิ่นจากการถูกบังคับและการถูกทำลายที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลจากการสู้รบของกองกำลังทหาร SPDC กับชนกลุ่มน้อย (2) การพลัดถิ่นจากการพัฒนา ทั้งการถูกเวนคืนที่เพื่อก่อสร้างเขื่อน การถูกรีดไถเงินและผลผลิตการเกษตรจากกองกำลังทหาร เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารจากการใช้แรงงานชาวบ้านเพื่อปลูกต้นสบู่ดำเพื่อผลิตพลังงานไบโอดีเซลทำให้ไม่มีเวลาในการหาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งการยึดที่ดินและบังคับโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อทำโครงการ Contract Farming (3) การบังคับใช้แรงงานเป็นทหาร ลูกหาบขนเสบียง และผู้นำทางให้หน่วยลาดตระเวน การยึดที่ดิน และการเรียกเก็บภาษี (4) การสังหาร ทำร้าย และข่มขืนผู้หญิงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย (น. 78)
ประเทศไทย
ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชาวไทยภูเขา ได้แก่ กะเหรี่ยง แม้ว ลัวะ มูเซอ ลีซอ และกลุ่มคนพื้นที่ราบ ได้แก่ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ และชาวไทยจากพื้นที่อื่นที่เข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพ (น. 4)
แรงงานข้ามชาติจากพม่าเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 20,000-30,000 คน โดยอาศัยแฝงตัวในบ้านของญาติที่อพยพข้ามาก่อนแล้วเพื่อหาช่องทางประกอบอาชีพ (น. 96) จากการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2552 มีจำนวนรวม 5,955 คน แบ่งเป็น พ.ศ. 2549 จำนวน 1,599 คน พ.ศ. 2550 จำนวน 1,289 คน พ.ศ. 2551 จำนวน 1,215คน และพ.ศ. 2552จำนวน 1,852 คน (น. 93-94, 136) มีการส่งตัวบุคคลสัญชาติพม่ากลับ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2552 รวม 6,578 คน (น. 95)
พ.ศ. 2552 จัดหางานจังหวัดแม่ฮ่องสอนสำรวจลักษณะอาชีพ พบว่า ส่วนมากเป็นแรงงานภาคการเกษตร ก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป ครัวเรือน และอุตสาหกรรมตามลำดับ (น. 137-138) โดยชาวไทใหญ่ส่วนมากทำงานในภาคบริการ ชาวคะยาห์และชาวกะเหรี่ยงทำงานในภาคการเกษตร (น. 139)
กลุ่มตัวอย่างแรงงานข้ามชาติจำนวน 177 คน (เพศชาย 124 คน เพศหญิง 53 คน) เป็นคนไทใหญ่ 80 คน (เพศชาย 51 คน เพศหญิง 29 คน) กะเหรี่ยง 52 คน (เพศชาย 38 คน เพศหญิง 14 คน) และคะยาห์ 45 คน (เพศชาย 35 คน เพศหญิง 10 คน) (น. 97-98) ส่วนมากอายุเฉลี่ย 20-40 ปี (น. 99-100) เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และรับจ้าง เดินทางเข้ามาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2521-2550 (น. 100-103)
ลักษณะการเข้ามาของแรงงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนมากชาวไทใหญ่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่ม ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงและคะยาห์เดินทางเข้ามาเป็นครอบครัว (น. 114-116)
เส้นทางการเดินทางของชาวไทใหญ่ เดินทางจากบ้านโหเมิง แสนหวี ตองยี เมิงกิ๋ง หมอกใหม่ เมืองนาย โหโปง และลางเคอ ในรัฐฉาน เข้ามาทางบ้านห้วยผึ้ง และบ้านแม่ละออ/รักไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านนายหน้าชาวพม่า โดยมีโรงเรียนสอนหลักสูตรภาษาไทยเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานก่อนข้ามจังหวัด จากนั้นผ่านนายหน้าคนไทยและเจ้าหน้าที่คนไทยโดยมีทั้งที่เป็นไปตามกฎหมายและหลบหนีเข้ามาโดยเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือในการออกใบอนุญาต หรือเดินทางเข้ามาด้วยตนเองมาอาศัยกับญาติพี่น้องที่เข้ามาก่อนหน้า (น. 118, 120-126)
ชาวคะยาห์ เดินทางจากบ้านลอยก่อ หัวฮั่น และแม่แจ๊ะในรัฐคะยาห์ เข้ามาทางบ้านห้วยต้นนุ่น บ้านน้ำเพียงดิน บ้านนาหัวแหลม และบ้านพะแข่พะโท จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพบทั้งเข้ามาด้วยตนเองในเวลากลางคืนเพื่อหลบเลี่งการตรวจจับจากเจ้าหน้าที่ไทยทางช่องทางธรรมชาติ หรืออาศัยมากับรถพ่อค้าในเขตชายแดน เข้ามาโดยคนที่เข้ามาก่อนหน้า และเข้ามาโดยมีญาติที่ตั้งถิ่นฐานในฝั่งไทย (น.119-120,127-131)
ส่วนชาวกะเหรี่ยง เดินทางจากเมืองผาปูน เข้ามาทางท่าข้ามสบเมย แม่สามแลบ ตาฝั่ง และแม่สะเกิบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนมากเข้ามาอยู่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวแม่สุรินทร์ และแฝงตัวไปอาศัยปะปรกับชาวบ้านในพื้นที่ (น.120,132-133) ทั้ง 3 กลุ่มส่วนมากใช้วิธีการเดินเท้าเข้ามาเนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการถูกจับ เข้ามาจากการชักชวนของเพื่อนและญาติ รองลงมาคือนายหน้าชาวไทใหญ่ มูเซอ และกะเหรี่ยง และเข้ามาด้วยตนเอง ส่วนมากเข้ามาทางจุดธรรมชาติซึ่งเป็นการนำพาโดยชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่พรมแดนติดต่อ และยังพบการเข้ามาทางจุดผ่อนปรนก่อให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางหน่วยและเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง (น. 134, 140-142)
สาเหตุหลักของการเข้ามาของทั้ง 3 กลุ่มเนื่องมาจากผลของนโยบายโครงการยังคับย้ายถิ่นฐานหรือการบังคับให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.​2493ของรัฐบาลพม่า กอปรกับเหตุผลอื่น ๆ โดยส่วนมากชาวไทใหญ่เข้ามาในช่วง พ.ศ. 2531-2540จากการการประสบปัญหาภาวะอดอยากทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงส่วนมากเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2541-2550 เนื่องจากการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงและรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับการย้ายเข้ามาของชาวคะยาห์ เนื่องจากการสู้รบระหว่าง SPDC และ KNPP รวมทั้งผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของ SPDC ที่กำหนดให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ น้ำมันละหุ่ง มีการสร้างโรงไฟฟ้า พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม และการทำเหมืองแร่ดีบุกและตะกั่วที่ส่งผลให้เกิดสภาวะอดอยาก (น. 102-104)
เหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์ที่ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ปลายทางของการโยกย้ายถิ่นฐาน คือ มีอาณาเขตที่ติดต่อกับรัฐคะยาห์ รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง มีชาวไทใหญ่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้อพยพไม่ต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิต และความผูกพันฉันพี่น้องกับชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาก่อนหน้า (น. 92) ส่วนเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคมพบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความมั่นคงและความปลอดภัยต่อชีวิตสูง มีค่าจ้างแรงงานสูง และรัฐไทยมีนโยบายที่ผ่อนปรนต่อแรงงานข้ามชาติ (น. 109)

Economy

ประชาชนในรัฐคะยาห์ ส่วนมากทำการเกษตรพอเพียงตามที่ราบและภูเขา ล่าสัตว์ จับปลา หาของป่า ตัดไม้ และค้าขายตามเส้นทางแม่น้ำสาละวิน (น. 43) ทรัพยากรสำคัญในพื้นที่ คือ ไม้สัก ดีบุก ทังสเตน หินอ่อน พลวง ทองคำ และนิล (น. 44)

Political Organization

ประเทศพม่า
พ.ศ. 2531 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนพม่าในยุคสมัยของนายพลเนวิน จากความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลที่ส่งผลให้เศรษฐกิจล้มเหลว คุณภาพชีวิตประชาชนตกต่ำ ศาสนาและการศึกษาสูญเสียบทบาท รัฐบาลใช้กำลังทหารในการปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่งผลให้ประชาชนหลบหนีไปอยู่กับฝ่ายกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดนและต่างประเทศ (น. 39) นายพลซอหม่องประกาศตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ หรือ SLORC เพื่อยึดอำนาจทางการเมืองของนายพลเนวิน ปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลและปกครองแบบเผด็จการ รวมอำนาจที่ส่วนกลางและแบ่งเขตการปกครองใหม่ ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงท่าทีของรัฐบาลสาธารณัฐประชาชนจีนต่อการสนันสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและกอกำลังชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดนจีน รักษาภาพพจน์ของรัฐบาลพม่า และพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนของต่างชาติ (น. 39-41)
พ.ศ. 2533 มีการเลือกตั้งรัฐบาล โดยพรรคสันนิบาตชาติ (NLD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะ แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมคืนอำนาจให้ เกิดการกักบริเวณนางอองซาน ซูจี เลขาธิการพรรค จึงเกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนและนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า จนกระทั่งมีท่าทีที่อ่อนลงเมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อเข้าเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (น. 40-41)
พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายพลตันฉวย ยึดหลักนโยบายต่อชนกลุ่มน้อย คือ ฆาตรกรรมคู่ขัดแย้ง ทรมานนักโทษทางการเมือง เกณฑ์แรงงาน บังคับโยกย้ายถิ่นฐาน บังคับใช้แรงงานโดยเฉพาะเด็ก จับกุมคุมขังนักโทษทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังชนกลุ่มร้อยและรัฐบาลทหารพม่ามาโดยตลอด นำมาสู่ปัญหาการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติในประเทศเพื่อนบ้าน (น. 42)
ผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในรัฐคะยาห์จากการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ใกล้เขตทหารของประชาชนโดยรัฐบาลทหารพม่า การใช้แรงงานชาวบ้านในเขตพื้นที่ทหารในการก่อสร้าง สร้างถนน เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงดูกองกำลังทหาร ทำให้ประชาชนไม่สามารถทำการเกษตรได้เป็นอิสระและเกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร บางส่วนจึงหลบหนีไปซ่อนในป่า และหลบหนีไปยังรัฐกะเหรี่ยงและเข้ามายังประเทศไทย โดยอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยและออกมาเป็นแรงงานเพื่อหาเลี้ยงตนเอง (น. 50-51)
สถานการณ์ภายในรัฐกะเหรี่ยงมีกลุ่มกองทัพ KNU ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลมีปฏิบัติการบังคับโยกย้ายประชาชนไปยังเขตจัดสรรใหม่ บังคับเป็นลูกหาบเก็บกู้ระเบิด แรงงานก่อสร้าง เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ยึดที่ดินของชาวบ้านในการปลูกพืชเศรษฐกิจของทหาร เวนคืนที่ดินให้เอกชนทำสัมปทานเหมืองแร่และสร้างเขื่อน (น. 74)
ประเทศไทย
รัฐบาลดำเนินนโยบายโดยยึดการใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นหลัก โดยเน้นการผ่อนผันมากกว่าการสกัดกั้นปราบปราม มีระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และจัดการให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย (น. 86-87)
พ.ศ. 2521 รัฐไทยมีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว โดยมีการสงวนอาชีพและวิชาชีพสำหรับคนไทยจำนวน 36 อาชีพ รวมถึงกรรมกรใช้แรงงาน โดยปรากฏในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาเป็นกรรมกรในประเทศ ถัดมา พ.ศ. 2531 ประเทศไทยเกิดสภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ทำให้ต้องการแรงงานระดับล่างจำนวนมาก จึงมีการผ่อนผันสถานะของบุคคลหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายให้สามารถทำงานชั่วคราวโดยสามารถจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายได้ (น. 80)
พ.ศ. 2535 รัฐบาลมีมติอนุญาตการจ้างงานแรงงานต่างชาติ 9 จังหวัดชายแดน คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ชุมพร กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และระนอง โดยให้นายจ้างรายงานตัวลูก้าง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากมีการกำหนดให้วางเงินประกันลูกจ้างคนละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูง (น. 80)
พ.ศ.2539 รัฐบาลมีมติผ่อนผันการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชาไม่เกิน 2 ปี ขยายพื้นที่รวม 43 จังหวัด และกำหนดให้ทำงานได้ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีแรงงานต่างชาติได้รับอนุญาตในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2540จำนวน 303,088 คน โดยเป็นคนพม่า 263,782 คน เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ประมงทะเล งานรับใช้ในบ้าน การผลิต ขนส่งทางน้ำ และทำเหมือง (น. 80-81) ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดมีนโยบายกำหนดแนวทางปราบปรามผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 เพื่อควบคุมการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลักลอบเข้ามาในพื้นที่ (น. 82)
พ.ศ. 2541 รัฐบาลมีมาตรการผลักดันแรงงานต่างชาติออกประเทศจำนวน 300,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน ส่งผลให้ภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถหาแรงงานไทยทดแทนได้ จึงได้มีการผ่อนผันการจ้างแรงงานต่างชาติออกไปอีก 1 ปี ขยายพื้นที่อนุญาตรวม 54 จังหวัด (น. 82-83)
พ.ศ. 2544 รัฐบาลมีมาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองสามารถขึ้นทะเบียนได้ทุกจังหวัดและทุกประเภทกิจการ ส่งผลให้มีแรงงานจดทะเบียน 568,249 คน และเป็นแรงงานพม่าร้อยละ 79 (น. 84)
พ.ศ. 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติใหม่ทั้งหมด โดยลูกจ้างที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้างสามารถขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเอง ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติจากเจ้าหน้าที่ประเทศต้นทาง มีการออกหนังสือเดินทาง (Passport) Visa และใบอนุญาต (Work Permit) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (น. 84-85)
พ.ศ. 2548 เกิดการลงนามความร่วมมือด้านการจ้างงานกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง (น. 85-86)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การอพยพเข้ามาของชาวไทใหญ่จากประเทศพม่าเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนส่งผลให้ศิลปะสถาปัตยกรรมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับอิทธิพลทั้งโบสถ์ วิหาร จอง ที่มีลักษณะหลังคาซ้อนขึ้นไปหลายชั้น ยกจั่วขึ้น มีหลังคาขนาดเล็ก และทิ้งชายครอบลงมาอีกชั้น (น. 90)
การแต่งกายของชาวไทใหญ่ ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าซิ่นสีพื้นไม่มีการต่อชายซิ่นหรือการปัก นิยมสวมเสื้อแบบชาวพม่าทั้งแขนสั้นและแขนยาว มีลักษณะสาบเสื้อด้านหน้าป้ายจากด้านซ้ายมาติดกระดุมด้านขวา ปักลายฉลุบริเวณคอและแขนเสื้อ ผู้ชายนิยมสวมกางเกงแบบเตี่ยวโย้งหรือเตี่ยวสะดอ สวมเสื้อคอกลมต่อแขนยาวติดกระดุมด้านหน้าแบบเสื้อคนจีน พกย่ามและดาบเงิน ทั้งชายและหญิงเมื่อออกนอกบ้านนิยมโพกผ้าหรือสวมหมวกที่เรียกว่า “กุ๊บไต” ซึ่งเป็นหมวกปีกกว้างยอดแหลม (น. 90)

Map/Illustration

แผนที่/แผนภาพ
- ช่องทางและท่าข้ามในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน (น. 5)
- เส้นทางการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติผ่านช่องทางบ้านห้วยผึ้ง/บ้านนามน จากนายหน้า (น. 122)
- เส้นทางการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ผ่านช่องทางบ้านห้วยผึ้ง/บ้านนามน ด้วยตัวแรงงานเอง ญาติ เพื่อน และพ่อค้า (น. 124)
- เส้นทางการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ผ่านช่องทางแม่ลออ/รักไทย ช่องทางไม้กาย ช่องทางไม้ลัน (น. 126)
- เส้นทางการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติไทใหญ่ผ่านช่องทางบ้านห้วยผึ้ง/บ้านนามน จากนายหน้า (น. 122)
- เส้นทางการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติคะยาห์ (น. 131)
- เส้นทางการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติกะเหรี่ยง (น. 133)

Text Analyst พิสุทธิลักษณ์ บุญโต Date of Report 19 ก.ค. 2564
TAG ไทใหญ่, คะยาห์, กะเหรี่ยง, แรงงานข้ามชาติ, แม่ฮ่องสอน, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, ประเทศพม่า, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง