สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ความมั่นคงทางอาหาร, ชาวเล, อูรักลาโว้ย, มอแกน, ภูเก็ต, ภาคใต้, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author ศุภวรรณ จันทร์เติบ
Title ความมั่นคงทางอาหารและสิทธิชุมชน: กรณีศึกษาการเข้าถึงแหล่งอาหารของชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, มอแกน บะซิง มาซิง, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Total Pages 172 Year 2556
Source วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ชนบทศึกษาและการพัฒนา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Abstract

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ศึกษาความมั่นคงทางอาหาร แหล่งและการเข้าถึงแหล่งอาหารและทรัพยากรตามธรรมชาติตามหลักสิทธิชุมชนดั้งเดิมของชาวเลซึ่งเป็นชาวอูรักลาโว้ยและชาวมอแกนในพื้นที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งการพัฒนาที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงกับชาวเลด้านสิทธิการเข้าถึงแหล่งอาหารและทรัพยากรทางธรรมชาติ และยังเสนอแนะแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามหลักสิทธิชุมชน
สิทธิชุมชนดั้งเดิมเป็นระบบการจัดการการเข้าถึงแหล่งอาหารและทรัพยากรทางธรรมชาติของชาวเลตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ที่มีการตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นที่หาดราไวย์ ตามระบบนิเวศ 5 ระดับ คือ แหล่งบนเกาะ, ในทะเล, ชายฝั่งและแนวปะการัง, พื้นราบ และป่าบก โดยเน้นการเก็บหาจากธรรมชาติเป็นหลักฃผลจากการพัฒนาเมืองภูเก็ตส่งผลสำคัญต่อการจำกัดสิทธิการใช้พื้นที่ของชาวเล ทั้งการกำหนดเขตอนุรักษ์ พื้นที่หวงห้าม การเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน และการกำหนดใช้พื้นที่ร่วมกันของชุมชน ส่งผลต่อวิถีชีวิตเดิมของชาวเลที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นคนไทยภายใต้กฎหมาย ทำให้ไม่สามารถใช้ทักษะและศักยภาพในการหาอาหารซึ่งถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษได้อย่างเต็มที่เนื่องจากเข้าถึงแหล่งอาหารไม่ได้  เกิดความเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการบริโภคอาหารเป็นการพึ่งตลาด ชุมชนต้องปรับตัวจากสภาวะจำยอม เด็กและผู้ใหญ่ประสบปัญหาทางโภชนาการเกิดการแสวงหาลักษณะใหม่ คือ การขอทานนำมาสู่ภาพลบต่อกลุ่มชาวเล
ผู้วิจัยเสนอข้อเสนอแนะสำคัญในการรื้อฟื้นสิทธิชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐควรสนับสนุนนโยบายคุณภาพชีวิตชาวเลโดยเฉพาะการประมงพื้นบ้าน ควรบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนมากที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิถีการเข้าถึงแหล่งอาหาร ชาวเลควรมีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหา และควรมีการสร้างศักยภาพความมั่นคงทางอาหารที่ควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นวิถีชีวิตท้องถิ่นซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิชุมชน

Focus

งานวิจัยมุ่งเน้นการอธิบายความมั่นคงทางอาหาร แหล่งอาหาร และทรัพยากรทางธรรมชาติของชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2488 ซึ่งจัดการด้วยระบบสิทธิชุมชนดั้งเดิม แต่ภายหลังผลจากการพัฒนาของรัฐ การใช้พื้นที่ร่วมกับคนท้องถิ่น และการเข้ามาบทบาทของเอกชน ทำให้สิทธิการเข้าถึงแหล่งอาหารและทรัพยากรธรรมชาติของชาวเลเปลี่ยนแปลงไป เกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างรัฐ ชุมชน เอกชน และการรุกล้ำของอำนาจทุน ทั้งยัง เสนอแนวทางการรื้อฟื้นสิทธิชุมชนเพื่อการเข้าถึงแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชาวเล

Theoretical Issues

แนวคิดในการอธิบายความมั่นคงทางอาหารและผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อชุมชนดั้งเดิม
ความมั่นคงทางอาหารสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานของชีวิตชุมชน โดยชุมชนจะพัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อให้เข้าถึง ใช้ประโยชน์ และจัดการ่วมกัน (น. 2)อ้างถึง อมาตย เชน (ม.ป.ป.) การขาดแคลนอาหารไม่ได้เกิดจากการมีอาหารไม่เพียงพอหรือการขาดหลักประกันทางกฎหมายเท่านั้นแต่เกิดจากการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านอาหาร ความมั่นคงทางอาหารจึงไม่ควรถูกพิจารณาในมิติของอุปทานอาหารระดับมหภาคเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาในมิติการเข้าถึงและเสถียรภาพของอาหารในระดับบุคคลและครัวเรือนด้วย (น. 13)
กลุ่มชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง การใช้แนวคิดความมั่นคงทางอาหารสามารถเชื่อมโยงเหตุปัจจัยของชุมชนที่ประสบปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินและพื้นที่แหล่งธรรมชาติของอาหารได้โดยพิจารณาร่วมกับหลักการสิทธิชุมชน (น. 14) ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการให้ความหมาย การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรในระบบนิเวศ รวมทั้งเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกันของสมาชิกเพื่อคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (น. 16)
การเกิดขึ้นของระบบกรรมสิทธิ์สมัยใหม่เป็นการลดทอนอำนาจการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน ดังเช่น งานของธงชัย วินิจจะกูล ที่เสนอกระบวนการสร้างความเป็นรัฐชาติโดยใช้แผนที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจ และแปลงเป็นนโยบายต่าง ๆ ในยุคทุนนิยมเสรี (น. 17) หรืองานของ Vandergeest and Peluso (1995) และ Vandergeest (1006a, 1996b) ที่อธิบายการขยายอำนาจรัฐเพื่อควบคุมพื้นที่ป่าโดยอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน เข้ายึดครองพื้นที่ และแสวงหาประโยชน์ เช่น การสัมปทานแก่เอกชน (น. 17-18)
งานของอานันท์  กาญจนพันธ์ (2532) สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการออกโฉนดที่ดินของรัฐไม่ได้ก่อให้การความมั่นคงในการถือครองที่ดินของชาวบ้านอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แต่กลับสร้างความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกรณีศึกษาบ้านเจ้าไหม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมประมงชายฝั่งทะเล ที่สะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรของชุมชนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีสิทธิ์ร่วมกันจัดการที่เปลี่ยนไปตามบริบทฤดูกาลทำกิน (สมเจตนา มุนีโมไนย, ม.ป.ป.)
กระบวนการกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐโดยมีเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน สอดคล้องกับแนวคิดของ Sassen (1999) ในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบแผ่ส่วนบุญ ที่ให้คุณค่ากับภาคการผลิตแบบเมืองสูงกว่าภาคชนบท ปรากฏการณ์พัฒนาภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการใช้พื้นที่ทางธรรมชาติทั้งในทะเล ชายฝั่ง และบนบกของคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะชาวเล ซ้ำยังถูกตอกย้ำผ่านวาทกรรมว่าเป็นผู้ไม่พัฒนา ล้าหลัง สกปรก และไม่ได้รับการศึกษา (น. 21-22)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ยและมอแกน คือ กลุ่มชาวเล (น. 9)

Study Period (Data Collection)

ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและการใช้ทรัพยากรของชาวเลหาดราไวย์และตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2488-2556 (น. 35-36)

History of the Group and Community

ยุคที่ 1 ก่อน พ.ศ. 2488 ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยเลือกพื้นที่หาดราไวย์เป็นที่พักชั่วคราว ช่วงระยะเวลานี้การเดินเรือ การใช้ทรัพยากรทางบกและทางทะเลและการโยกย้ายที่พักพิงเป็นไปอย่างอิสระ
ยุคที่ 2 พ.ศ. 2488-2504 เมื่อเกิดโรคอหิวาห์ตกโรค จึงได้เคลื่อนย้ายไปบังเกาะบอนและเกาะเฮ และได้ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานร่วมกับคนไทย และกลับมาตั้งถิ่นฐานถาวร
ยุคที่ 3 พ.ศ. 2505-2530รัฐพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ส่งเสริมการทำประมงเพาะเลี้ยง กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ กำหนดกรรมสิทธิ์พื้นที่รัฐ-เอกชน
ยุคที่ 4 พ.ศ. 2531-2546 ชาวอูรักลาโว้ยได้รับเอกสารรับรองสิทธิ์การเป็นคนไทยและบัตรประชาชน เกิดความขัดแย้งเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินกับคนไทยในพื้นที่
ยุคที่ 5 พ.ศ. 2547-2550 ธุรกิจการท่องเที่ยวขยายตัวเข้าใกล้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประมงของชาวอูรักลาโว้ยจึงเกิดเหตุการณ์ประท้วง หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ. 2547 ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน เกิดความช่วยเหลือจากภายนอก เกิดการนำเสนอปัญหาภายในสู่สาธารณะ
ยุคที่ 6 พ.ศ. 2550-2556 ชาวเลต่อสู้คดีความเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สิทธิพื้นฐาน และรัฐออกนโยบายเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล (น. 35-36, 45-48)

Settlement Pattern

แบ่งการตั้งถิ่นฐานเป็น 3 เขต คือ (1) บ้านบนหรือบ้านออก ชาวอูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานร่วมกับคนไทย (2) บ้านกลาง ชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอย่างแออัด (3) บ้านใต้หรือบ้านตก ชาวเลกลุ่มมอแกนตั้งถิ่นฐานในสภาพบ้านเรือนคับแคบ (น. 45)

Demography

ปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนประชากรชาวอูรักลาโว้ยที่หาดราไวย์ 1,300 คน 257 ครัวเรือน มีความหนาแน่นประชากร 70 คนต่อไร่ มีเรือประมง 60 ลำ ส่วนมากประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รับจ้างขับเรือ รับจ้างในบริษัทนำเที่ยว ค้าขาย และลูกจ้างทั่วไป (น. 42, 128)

Economy

ชาวเลกำหนดประโยชน์จากแหล่งอาหารในรอบปี ในฤดูฝนหาอาหารทางชายฝั่งและทะเลทิศตะวันตก และฤดูร้อนหาอาหารทางชายฝั่งและทะเลทิศตะวันออก โดยให้ความสำคัญกับแหล่งอาหารทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ตเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถหลบหลีกคลื่นได้มากกว่า (น. 128)
แหล่งอาหารและทรัพยากร
แหล่งอาหารธรรมชาติในระบบนิเวศ 5 ระดับตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ได้แก่ แหล่งบนเกาะ, ในทะเล, ชายฝั่งและแนวปะการัง, พื้นราบ และป่าบก (น. 96)
แหล่งอาหารบนเกาะหน้าหาดราไวย์ 1 กิโลเมตรในทะเลอันดามันไปทางทิศตะวันออกหรือทะเลใน มีลักษณะเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวนมากทอดยาวจากตอนใต้จนเหนือสุดของเกาะภูเก็ต ถือเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของชาวเลเนื่องจากเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัยธรรมชาติ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งหาน้ำจืดในการเดินเรือระยะไกล อาหารที่ได้คล้ายกับแหล่งอาหารธรรมชาติระดับป่าบกบนแผ่นดินใหญ่ของเกาะภูเก็ตคือ สัตว์ป่า (ได้แก่ หมูป่า ปูไก่) ข้าวไร่ ผลไม้ป่า ผัก หัวมัน สมุนไพร น้ำจืด เกลือทะเล และสัตว์ทะเลตามแนวขอบปะการัง (เช่น หอยดิบ หอยลิ่น ปูหิน ปูลม ปลานกแก้ว ปลาเก๋า ปลาหมึก กุ้ง) แต่ต่างกันที่สิทธิในการเข้าถึง โดยเข้าถึงได้ง่ายตามสิทธิชุมชนดั้งเกิม ต่างกับป่าบกที่ต้องใช้ทรัพยากรร่วมกันกับคนท้องถิ่น (น. 81-83) เกาะบริวารซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ จำนวน 10 เกาะ ประกอบด้วย
(1)    เกาะบอน เป็นแหล่งสัตว์ (สัตว์บก ได้แก่ ปูไก่ / สัตว์น้ำ ได้แก่ หอย และปลา) พืช (ได้แก่ หัวมัน ข้าวไร่ ผักประเภทกระถิน ย่านาง และยอดต่อไส้) บ่อน้ำขุด และเกลือ (น.85-86)
(2)    เกาะแฮ เป็นแหล่งสัตว์น้ำ (ได้แก่ หอย ปู ปลา ปลาหมึก กุ้ง) พืช (ได้แก่ ข้าวไร่ หัวมัน กล้วยเถื่อน) บ่อน้ำขุด (น.87-88)
(3)    เกาะแอว เป็นแหล่งสัตว์น้ำ (ได้แก่ หอย ปลา ปลาหมึก กุ้ง) (น. 88-89)
(4)    เกาะโหลน เป็นแหล่งสัตว์ (สัตว์บก ได้แก่ หมู่ป่า ไก่ป่า เป็ดเทศ / สัตว์น้ำ ได้แก่ หอย ปู ปลา ปลาหมึก กุ้ง) พืช (ได้แก่ หัวมัน กระถิน มะม่วงหิมพานต์ ย่านาง ยอดต่อไส้ กระทือ) น้ำจืดผุดบนยอดเขา (น. 89-90)
(5)    เกาะแก้วในและเกาะแก้วนอก เป็นแหล่งสัตว์ (สัตว์บก ได้แก่ ปูไก่ / สัตว์น้ำ ได้แก่ หอย ปู ปลา ปลาหมึก กุ้ง) พืช (ได้แก่ หัวมัน กระถิน) (น. 90-91)
(6)    เกาะราชาใหญ่ เป็นแหล่งสัตว์ (สัตว์บก ได้แก่ ปูไก่ / สัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา ปลาหมึก กุ้ง) และน้ำจืดที่ไหลจากยอดเขา (น. 92)
(7)    เกาะราชาน้อย เป็นแหล่งพืช (ได้แก่ ฟักทอง ฟัก น้ำเต้า มะไฟ สะตอ กล้วยเถื่อน) น้ำจืดที่ไหลจากยอดเขา และสัตว์น้ำ (ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอย) (น. 93)
(8)    เกาะมัน เป็นแหล่งพืช (สมุนไพร ได้แก่ บอระเพ็ด) น้ำจืดจากยอดเขา และสัตว์น้ำ (ได้แก่ ปลา ปุ้ง ปลาหมึก หอย) (น. 94)
(9)    เกาะไม้ท่อน เป็นแหล่งพืชสมุนไพรและผักทั่วไป และสัตว์น้ำ (ได้แก่ ปลา ปลาหมึก กุ้ง หอย) (น. 95)
แหล่งอาหารในทะเลอันดามันซึ่งไม่มีขอบเขตจำกัด อ้างถึง Supin Wongbusarakum (2002) และเมธิรา ไกรนที (2552) “บากัด” คือการเดินเรือเพื่อหาอาหารทะเลเป็นครอบครัวของชาวเลโดยการแล่นใบและกรรเชียงเรือไปถึงเกาะยาว ทับละมุ สิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บางคนไปถึงประเทศพม่า ใช้วิธีการดำน้ำหา แทงด้วยฉมวก ตกด้วยเบ็ด และการวางไซ สัตว์ทะเลที่ได้ คือ ปลา (มีทั้งปลาขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก) กุ้ง (ได้แก่ กุ้งขาว กุ้งมังกร) ปลาหมึก (ได้แก่ ปลาหมึกกระดอง ปลาหมึกกล้วย) หอย (ได้แก่ หอยมุกหรือหอยมุกโข่ง หอยมุกแกลบหรือหอยลอกอ หอยนางรม หอยนมสาวฝาเดียว หอยนมสาวเจดีย์ หอยหน้ายักษ์) และแมงกะพรุน ในระยะหลังที่ชาวเลรู้จักการใช้เงินจะนำสัตว์ทะเลกลับมาเลี้ยงข้างเรือเพื่อขาย (น. 60-64)
แหล่งอาหารระดับชายฝั่งและแนวปะการังในทะเลหน้าหมู่บ้านลง 200 เมตรจากชายฝั่งซึ่งเป็นชายหาดทอดยาว 1 กิโลเมตรจากตะวันออกไปทางตะวันตก โดยในช่วงน้ำลดสามารถเก็บปู โวยวายหรือหมึกสายเล็ก และปลิงทะเล ส่วนเมื่อน้ำขึ้นสามารถเก็บปลา กุ้ง หอย กุ้งเคย บริเวณโขดหินสามารถหาปู ต่อยหอยติบ หอยลิ่นได้ และยังมีพืชที่นำมาทำอาหาร เป็นสมุนไพร และนำมาสานเครื่องจักสาน เช่น ยอดหูกวาง เตยหนาม โพธิ์ใบเล็ก จิกทะเล ผักบุ้งทะเล และสาหร่าย (น. 58-60)
แหล่งอาหารธรรมชาติระดับพื้นราบในบริเวณรอบหมู่บ้านซึ่งเป็นการเก็บหาเพื่อใช้ในครัวเรือนแบ่งปันกันในพื้นที่ที่ไม่มีการแสดงความเป็นเจ้าของชัดเจน มีบ่อน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 2 บ่อ ซึ่งลดลงจากอดีตที่มีถึง 7 บ่อ โดยมี (1) อาหารที่มีการสร้างขึ้นในธรรมชาติ ระยะแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีการปลูกข้าวไร่รอบเกาะบอน เกาะเฮ และเนินเขาใกล้หมู่บ้าน มีการเลี้ยงมะนิ้งหรือเป็ดเทศ หมูเถื่อนหรือหมูขี้พร้า ไก่ป่า ซึ่งมาจากคนภายนอกหมู่บ้านหลงเข้ามา ประเภทอาหารในระดับพื้นราบ คือ พืชสวนครัวและสมุนไพร (2) อาหารที่สร้างขึ้นในระดับพื้นราบ คือ พืชผักสวนครัว (ได้แก่ กระถิน ข่า ตระไคร้ มะนาว มะกรูด พริก มะรุม เตย ยอดหูกวาง ยอดใบโพธิ์เล็ก โชน จิกทะเล หอม) และผลไม้ (ได้แก่ มะยม มะม่วง มะขาม กล้วย มะพร้าว มะม่วงพิมพานต์ มะละกอ มะนาว อ้อย) รวมทั้งเมล็ดกาแฟ ซึ่งมีการปลูกไว้ข้างบ้านตั้งแต่อดีต (3) อาหารที่ได้จากการแลกเปลี่ยนภายในหมู่บ้าน คือ ข้าวสารซึ่งเป็นอาหารหลัก และเครื่องเทศสำหรับทำเครื่องแกง ได้แก่ หอม กระเทียม พริก ข่า ตะไคร้ โดยจะนำของทะเล เช่น เปลือกหอย กัลปังหา ปิงทะเล ปลาทะเลไปแลกเปลี่ยนภายนอกหมู่บ้านหรือขายเป็นเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้าและเครื่องมือทำมาหากิน (น. 52-53, 56-58)
แหล่งอาหารธรรมชาติระดับป่าบกบนแผ่นดินใหญ่ของเกาะภูเก็ต มีลักษณะเป็นเทือกเขาในพื้นที่เขาไสยวน ควนดินแดง ห่างจากหมู่บ้าน 3 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันตก ชาวเลใช้ประโยชน์ร่วมกันกับคนท้องถิ่นโดบเก็บทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือ พืช (ได้แก่ ผลไม้ป่า ผัก หัวมัน) สัตว์ (ได้แก่ หมูป่า นก แลน) สมุนไพร (ได้แก่ ย่านาง ต้นข่อย ใบกาฝาก ย่านสะบ้า) และเห็ด ในช่วงฤดูมรสุมทะเลมีคลื่นจัดออกทะเลไม่ได้เท่านั้น ต่างกับคนท้องถิ่นที่มีการจับจองพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม (น. 49-52)
วิธีการเข้าถึงแหล่งอาหารโดยเน้นการเก็บหาจากธรรมชาติควบคู่กับการเดินเรือ เป็นวิธีการที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานถาวร ยังคงเน้นการเก็บหาจากธรรมชาติและมีการสร้างแหล่งอาหาร โดยเน้นการเก็บหาซึ่งเป็นไปตามความถนัดมากกว่าการเพาะเลี้ยงซึ่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ (น.96)
หลักการใช้พื้นที่หรือทรัพยากรทางทะเลเป็นไปตามหลักการสิทธิชุมชนดั้งเดิม คือ เป็นของส่วนรวมที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งทะเล บ้านเรือน ป่าเขา บรรพบุรุษคอยควบคุมโดยมีผู้นำเชิงจิตวิญญาณเป็นผู้ติดต่อสื่อสาร มีกฎร่วมกันในการทำมาหากินในทะเลให้ยั่งยืนโดยคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ หาเพื่อยังชีพไม่ใช่การค้ากำไรตามนายทุน (น. 96-97)
ความเปลี่ยนแปลงพื้นที่สิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารและผลกระทบ
พื้นที่สิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารของชาวเลหาดราไวย์มีความเปลี่ยนแปลงจากการจัดการโดยรัฐและเอกชน โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2523 พื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ครอบคลุมชายฝั่งทางทิศตะวันตกตั้งแต่เขตสิ้นสุดหาดบางเทาจนถึงทางเหนือสุดของเกาะภูเก็ต ถูกกำหนดให้เป็นเขตสงวนตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งเดิมชาวเลใช้เป็นเส้นทางการเดินเรือตลอดปีทางทิศตะวันตกในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และทางทิศตะวันออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน (น. 103-105) พ.ศ. 2512 รัฐกำหนดเขตหวงห้ามจับสัตว์น้ำครอบคลุมชายฝั่งด้านทิศตะวันตกทั้งหมด และ พ.ศ. 2532 ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ออกทะเลของชาวเลทั้งหมด แต่รัฐก็ยืดหยุ่นสำหรับการหาเพื่อยังชีพ (น. 106-108)
ในขณะเดียวกัน รัฐอนุญาตให้สิทธิ์แก่เอกชนในการเช่าเกาะบริวารของเกาะภูเก็ตในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หอยมุก หอยแครง และที่อนุญาตโป๊ะ (โป๊ะ คือ เครื่องมือประมงที่มีส่วนปีกเป็นทางนำสัตว์เข้าสู่ส่วนลูกขัง) (น. 112-118) และยังมีพื้นที่เกาะบริวารที่ชาวเลเคยใช้ประโยชน์ เช่น เกาะบอน เกาะเฮ เกาะราชาใหญ่ เกาะไม้ท่อน ซึ่งปัจจุบันถูกจับจองโดยเอกชนเพื่อทำการท่องเที่ยว รวมทั้งเกาะโหลน ที่เป็นหมู่บ้านอิสลามและพื้นที่ครอบครองของเอกชนบางส่วน และเกาะแก้วในซึ่งเป็นพื้นที่วัด (น. 120)
ส่วนพื้นที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนและหญ้าทะเล ได้แก่ พื้นที่อ่าวป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์และใช้สำหรับการประมงพื้นบ้านเท่านั้น, พื้นที่อ่าวกุ้ง บ้านพารา เป็นเขตหวงห้ามสำหรับชุมชนเจ้าของพื้นที่ และเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ถูกกำหนดสำหรับการประมงพื้นบ้าน (น. 120-121)
ผลกระทบสำคัญจากการพัฒนาและการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่ เกิดข้อพิพาทในการใช้พื้นที่ซ้อนทับระหว่างรัฐ เอกชน ชุมชน และหลักการสิทธิชุมชนดั้งเดิม ซึ่งทำให้ชาวเลที่เคยใช้พื้นที่อย่างอิสระได้ 5 ระดับถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน ต้องปรับตัวเป็น “คนไทย” ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งชาวเลส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่รู้หนังสือทำให้เกิดความไม่เข้าใจ บางส่วนถูกจับกุม ยึดเรือ บางคดีศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด แต่ก็ไม่ได้รับการชดเชยใด ๆ จากรัฐ (น. 121-123) เกิดความเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการบริโภคอาหารจากแหล่งอาหารเป็นการพึ่งตลาด การพัฒนาเมืองก่อให้เกิดการเข้ามาของร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการตลอดเวลาทำให้กลุ่มวัยรุ่นนิยมอาหารสะดวกซื้อ ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่และวัยสูงอายุยังคงมีวิถีแบบเดิม แต่ก็ต้องการให้ลูกหลานทำงานรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่งานเสี่ยงทั้งกฎหมายและอันตรายในทะเล (น. 123-125) เกิดการปรับตัวของชุมชนจากสภาวะจำยอม เด็กและผู้ใหญ่ประสบปัญหาทางโภชนาการคือมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน ทั้งยังเกิดการแสวงหาลักษณะใหม่ คือ การขอทานข้าวสารและอาหารของชาวเลในย่ายชุมชนต่าง ๆ ต่างประเพณีทำบุญเดือนสิบและการแลกเปลี่ยนอาหารที่มีมาแต่เดิม โดยสำหรับครอบครัวที่ยากจน ได้ยึดถือการขออาหารเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ทำให้เกิดภาพลบต่อกลุ่มชาวเล (น. 125-126)

Social Organization

ชาวเลทั่วทะเลอันดามันเชื่อว่าตนเป็นเครือญาติกันทั้งหมด มีการดูแลช่วยเหลือกันในระบบครอบครัวและเครือญาติ (น. 97)
เพศชายเป็นแรงงานสำคัญของครอบครัว เป็นผู้เสี่ยงอันตรายออกทะเล เพศหญิงทำหน้าที่ดูแลบ้านและดูแลลูก หากต้องออกทะเลสามารถไปในพื้นที่เกาะใกล้ ๆ ได้ (น. 99) 

Political Organization

การใช้ประโยชน์พื้นที่ทำกินเป็นไปตามหลักสิทธิชุมชน โดยเป็นกระบวนการให้ความหมายต่อแหล่งอาหารตามธรรมชาติว่าเป็นทรัพยากรที่หาได้เพื่อยังชีพซึ่งการหาอาหารเป็นการใช้ความรู้เชิงปรากฏการณ์ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ (น. 132-133) และยังเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกัน โดยมีหลักความเชื่อต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลให้เกิดเภทภัยได้ ซึ่งเมื่อเมืองเกิดการพัฒนา มีการจัดการพื้นที่โดยรัฐทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถจัดการทรัพยากรด้วยตนเองได้เช่นเดิม (น. 133) นอกจากนี้สิทธิชุมชนยังเป็นการจัดการร่วมกันของสมาชิก โดยยึดถือวิถีปฏิบัติของบรรพบุรุษที่ไม่เน้นการหากินเพื่อสะสม ซึ่งเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ มีการผลัดเปลี่ยนพื้นที่หากินทำให้ธรรมชาติสามารถสร้างสมดุลได้ (น. 134-135)

Belief System

พิธีแสดงความเคารพต่ออำนาจเหนือธรรมชาติของชาวเล เซ่นไหว้ด้วยหมากพลู อาหารคาวหวาน น้ำเมา หรือการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน (น. 97)
ก่อนการออกเรือต้องเตรียมหมากพลูเพื่อบอกกล่าวแม่ย่านางเรือ เมื่อจอดพักบนเกาะก็ต้องบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และงดเว้นการพูดจาหยาบคายและการทำลายธรรมชาติ (น. 99)

Education and Socialization

วิธีการเข้าถึงแหล่งอาหารโดยเน้นการเก็บหาจากธรรมชาติควบคู่กับการเดินเรือ เป็นวิธีการที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานถาวร ยังคงเน้นการเก็บหาจากธรรมชาติและมีการสร้างแหล่งอาหาร (น.96)

Health and Medicine

ในการเก็บหาอาหารหรือสมุนไพรจากต้นไม้เพื่อนำมารักษาอาการเจ็บป่วย ให้ยืนในทิศตรงข้ามกับเงาต้นไม้ กลั้นหายใจ และต้องเก็บในเวลาน้ำลด โดยบอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้สมุนไพรสามารถรักษาให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้ (น. 99-100)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชาวเลทำเครื่องมือที่ใขช้ทำมาหากินทั้งบนบกและในทะเลขึ้นเอง โดยใช้ไม้ไผ่ปลายแหลมสำหรับขุดหัวมัน หัวกลอย แทงสัตว์น้ำ ใช้ก้านร่มทำลูกดอกยิงปลาใช้เหล็กงัดหอยลิ่น ใช้ค้อนต่อยหอยดิบ (น. 101)
เรือปราฮู เป็นเรือที่ชาวเลต่อขึ้นเองจากไม้ระกำ (น. 101)

Other Issues

ข้อเสนอแนะการรื้อฟื้นสิทธิชุมชน
แหล่งอาหารของชาวเลหาดราไวย์เปลี่ยนแปลงไปตามความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหาร ไม่ได้เป็นไปตามลำดับระบบนิเวศ ทำให้ทักษะความสามารถในการเข้าถึงซึ่งเคยมีมาแต่เดิมไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่จากปัญหาพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนกับรัฐ เอกชน และชุมชน เกิดการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหารจากธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมดสิทธิ์การเข้าถึงป่าบก ทำให้หมดทางเลือกในการหาอาหารประเภทพืชผักผลไม้ป่า ต้องซื้อหาจากตลาดโดยพึ่งพาเงิน ทั้งยังส่งผลต่อภาวะทางโภชนาการ (น. 141) สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความพอเพียงของอาหาร สิทธิในการเข้าถึงอาหาร สิทธิในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน รวมทั้งเสถียรภาพของแหล่งอาหารทางธรรมชาติที่ได้รับผลจากการประมงขนาดใหญ่ที่เข้ามาแทนที่ (น. 142-143) นำมาสู่ข้อเสนอแนะการรื้อฟื้นสิทธิชุมชนซึ่งพบว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ชุมชนเผชิญปัญหาอื่น ๆ อีกจำนวนมากทั้งที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค การถูกจับกุมจากการหาอาหารในทะเลอย่างผิดกฎหมาย หนี้สิน ซึ่งล้วนก่อเกิดจากช่องว่างระหว่างชุมชน สังคภายนอก ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติการ (น. 143-144)
ข้อเสนอแนะสำคัญในการรื้อฟื้นสิทธิชุมชน คือ รัฐควรสนับสนุนนโยบายคุณภาพชีวิตชาวเลทั้งในระยะสั้นและยาว โดยมีการสนับสนุนการประมงพื้นบ้านเพื่อรองรับวิถีความเป็นอยู่ของชาวเล (น. 144) ควรบูรณาการความร่วมมือของรัฐ องค์การพัฒนาชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนมากที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิถีการเข้าถึงแหล่งอาหารของชาวเล (น. 145-146) ชาวเลควรมีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาโดยอาจใช้ข้อมูลพื้นฐานซึ่งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้รวบรวมไว้เป็นแนวทาง (น. 146-147) และการสร้างศักยภาพความมั่นคงทางอาหารของชาวเลต้องกระทำควบคู่ไปกับการรื้อฟื้นวิถีชีวิตท้อง ถิ่น โดยชุมชนควรได้รับการเสริมสร้างศักยภาพในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิชุมชน (น. 147-148)

Map/Illustration

แผนที่
- แผนที่การตั้งถิ่นฐานของชาวเลบ้านราไวย์ (น. 45)
- แผนที่แหล่งอาหารระดับพื้นราบ (น. 54)
- แผนที่พัฒนาการหมู่บ้านชาวเลหาดราไวย์ (น. 55)
- พื้นที่แหล่งอาหารที่ทับซ้อนกันระหว่างชุมชน เอกชน และรัฐ (น. 138)

แผนภาพ

- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะบอน (น. 85)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะแฮ (น. 87)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะแอว (น. 88)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะโหลน (น. 89)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะแก้วในและเกาะแก้วนอก (น. 90)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะราชาใหญ่ (น. 92)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะราชาน้อย (น. 93)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะมัน (น. 94)
- แหล่งอาหารธรรมชาติบนเกาะไม้ท่อน (น. 95)

ตาราง

- ชนิดของปลาและแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการใช้ประโยชน์ของชาวเล (น. 65-80)

Text Analyst พิสุทธิลักษณ์ บุญโต Date of Report 19 ก.ค. 2564
TAG ความมั่นคงทางอาหาร, ชาวเล, อูรักลาโว้ย, มอแกน, ภูเก็ต, ภาคใต้, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง