สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาวเล, มอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย
Author นฤมล อรุโณทัย, พลาเดช ณ ป้อมเพชร, อุษา โคตรศรีเพชร, กิ่งแก้ว บัวเพชร, จีระวรรณ์ บรรเทาทุกข์
Title ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเลมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ผู้กล้าแห่งอันดามัน
Document Type หนังสือ Original Language of Text -
Ethnic Identity อูรักลาโว้ย อูรักลาโวยจ, มอแกลน, มอแกน บะซิง มาซิง, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 251 Year 2557
Source โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยปฏิบัติการวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักในวัฒนะรรมของกลุ่มชาวเลในประเทศไทย 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มมอแกน กลุ่มมอแกลน และกลุ่มอูรักลาโว้ย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ การเกริ่นนำภาพรวมของชาวเล และข้อมูลเกี่ยวกับชาวเลทั้ง 3 กลุ่ม โดยครอบคลุมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่เข้าใจง่าย ตลอดจนสถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาวเล

Focus

หนังสือเล่มนี้เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เห็นคุณค่า ความหมายของวัฒนธรรมเพื่อปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมที่กำลังหาย หรือถูกกลืนไปของชาวเล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมอแกน กลุ่มมอแกลน และกลุ่มอูรักลาโว้ย

Theoretical Issues

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับชาวเลที่ได้เรียบเรียงจากข้อมูลภาคสนาม และการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจากวงเสวนาที่ไม่เป็นทางการในชุมชน ที่ให้ทำให้เกิดความเข้าใจในอัตลักษณ์ของกลุ่มชาวเล ผ่านข้อคำถามและการสรุปคำตอบสั้นๆ แต่ครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลายประเด็น

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาวเลในประเทศไทยประกอบด้วยกลุ่มมอแกน กลุ่มมอแกลน และกลุ่มอูรักลาโว้ย แต่ละกลุ่มมีคำเรียกกลุ่มตนเอง และกลุ่มชาวเลอื่นๆ แตกต่างกันไป รายละเอียดหน้า 43

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน แต่ภาษาของชาวเลมีความคล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่มมอแกน และมอแกลน แต่ภาษาของกลุ่มอูรักลาโว้ยจะมีความแตกต่างกับสองกลุ่มแรก

History of the Group and Community

ชาวเล หรือชาวทะเลถูกขนานนามว่า ยิปซีทะเล (Sea gypsy) ที่หมายถึงกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ โดยในประเทศไทยชาวเลประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมอแกน กลุ่มมอแกลน และกลุ่มอูรักลาโว้ย ที่ตั้งถิ่นฐานริมชายฝั่งทะเลของจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
1) กลุ่มมอแกนชาวมอแกนสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มโปรโตมาเลย์ ที่อาศัยบริเวณแหลมมลายู และได้ใช้ชีวิตทางทะเลตั้งแต่บริเวณเกาะมะริดในเมียนมาร์ จนถึงหมู่เกาะซูลูในฟิลิปปินส์ สำหรับตำนานเล่าขานได้กล่าวว่ามีกะลาสีเรือได้มาแต่งงานกับราชินีซีเปียน ต่อมาน้องสาวของราชินี ได้แย่งคนรักไป จึงได้สาปให้คนทั้งสองและกลุ่มมอแกนใช้ชีวิตเร่ร่อนในทะเลตลอดไป
2) กลุ่มมอแกลนมีเรื่องเล่าขานว่า พ่อตาสามพัน และพี่น้องผู้ชายถูกกลอุบายของผู้มีอำนาจออกเดินทางโดยเรือเพื่อหาสมบัติหรือของมีค่าอื่นๆ หลายต่อหลายครั้ง จนรอดชีวิตกลับมาโดยมีปลากระเบนยักษ์ศักดิ์สิทธิ์พานั่งบนหลังมาที่ชายหาดบางสัก จังหวัดพังงา และได้รับการนับถือเป็นบรรพบุรุษของชาวมอแกลน
3) กลุ่มอูรักลาโว้ยมีเรื่องเล่าขานว่าชาวอูรักลาโว้ยมีเชื้อสายร่วมกับกลุ่มโอรัง ลาอุต ที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรมะละกาในสมัยกษัตริย์ปรเมศวร (พ.ศ. 1887-1957) และมีความผูกพันกับเทือกเขาฆูนุงฌีไร ในรัฐเคดะห์ (ไทรบุรี)ในอดีต ชาวอูรักลาโว้ยดำรงชีพบริเวณชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของแหลมมลายู โดยมีเรือเป็นพาหนะ และมีเพิงที่มุงหลังคาด้วยแฝกเป็นที่พักชั่วคราว ซึ่งเรียกการเดินทางทะเลเพื่อไปทำมาหากินและพักแรมที่ต่างๆว่า บากัด

Settlement Pattern

ชาวมอแกน ใช้ชีวิตอยู่บนเรือ เดินทางไปตามเกาะต่างๆ เพื่อจับปลา และงมหอย ตลอดจนแลกเปลี่ยนสิ่งค้าอื่นๆกับพ่อค้า ในช่วงมรสุมชาวมอแกนได้รวมกลุ่มสร้างกระท่อมบริเวณชายหาดที่สามารถกำบังคลื่นลม และมีแหล่งนำ้จืด ตลอดจนทำมาหากินโดยการแจวเรือเล็ก (ฉ่าพัน) เพื่อตกปลา งมหอย จับปู และสัตว์ทะเลต่างๆ สำหรับฤดูฝนจะหาอาหารบริเวณป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และในหน้าแล้งชาวมอแกนจะอาศัยบนเรือที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยอย่างกระทัดรัดอย่างพื้นที่ทำครัว นอกจากนี้มีอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ภายในเรือ เช่น เสื่อที่สานด้วยใบเตยหนาม กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำจืด กระปุกหรือกล่องที่สานด้วยใบเตยหนามเพื่อเก็บเสื้อผ้าข้าวของ
ในปัจจุบันชาวมอแกนเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานถาวร จึงนิยมปลูกบ้านริมหาดเพื่อให้สังเกตเรือของตนเองได้ การสร้างบ้านไม้มีการยกพื้นสูงเพื่อให้สามารถผูกเรือไว้กับเสาบ้านในช่วงน้ำขึ้น มีการต่อระเบียง และปูพื้นด้วยฟากไม้ไผ่ ซึ่งใช้วัสดุที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติ
ชาวมอแกลนในอดีตวิถีชีวิตชาวมอแกลนมีการหากินทางทะเลโดยใช้เรือก่าบางมาด เรือเล็กที่ใช้สำหรับเดินทางบริเวณใกล้ชายฝั่ง สำหรับการปลูกบ้านมีลักษณะยกใต้ถุนสูง มีบันไดพาดขึ้นบ้านเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ นอกจากนี้มีการปลูกข้าวบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลโดยการพึ่งพาน้ำฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน (หน้า 135) ในปัจจุบัน การตั้งถิ่นฐานของชาวมอแกลนหลายกลุ่มเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบชาวบกซึ่งแตกต่างจากชาวเลกลุ่มอื่น โดยบ้านของชาวมอแกลนมีลักษณะของใต้ถุนเตี้ย หรือเรือนติดพื้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกและฐานะ สำหรับวัสดุที่ใช้เป็นไปตามสมัยนิยมและมักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่
สำหรับวิถีชีวิตของชาวมอแกลนมีความแตกต่างจากกลุ่มชาวเลอื่นๆ เช่น การไม่ออกไปทะเลลึก หรือการพึ่งพาป่าชายเลนบริเวณริมชายหาด ป่าบก ทุ่งหญ้ามากกว่าทะเล
ชาวอูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานตามปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เช่น แหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และมีการตั้งถิ่นฐานที่สะดวกต่อการเดินทางและติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น สำหรับลักษณะบ้านของชาวอูรักลาโว้ยในอดีต มีลักษณะเป็นบ้านใต้ถุนสูง เพื่อใช้ประโยชน์ในการนั่งพักผ่อนที่ใต้ถุน ตัวบ้านโปร่ง มีจำนวนขั้นบันไดขึ้นบ้านเป็นจำนวนเลขคี่ และใช้วัสดุที่หาได้ง่าย มีการต่อแคร่เป็นเตียงนอน ในปัจจุบันชาวอูรักลาโว้ยสร้างบ้านปูนติดพื้นดิน และใช้วัสดุตามสมัยนิยม

Demography

ชาวเลในประเทศไทยมีจำนวนราว 12,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มอูรักลาโว้ยจำนวน 7,000 คน กลุ่มมอแกลนจำนวน 4,000 คน และกลุ่มมอแกนจำนวน 1,000 คน

Social Organization

ปัจจุบันชาวเลกำลังประสบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวเล ดังนี้
- การไร้สัญชาติและการถูกปฏิเสธขั้นพื้นฐาน ชาวเลไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตนอย่างบัตรประจำตัวประชาชน และทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ
- ปัญหาเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ชาวเลถูกฟ้องร้องเรื่องการบุกรุกพื้นที่จากการขาดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- การทำมาหากินและการเข้าถึงทรัพยากร ทรัพยากรทางทะเลมีจำนวนลดลง และยังขาดการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติจากการประกาศพื้นที่คุ้มครอง
- การขาดการศึกษา
- การขาดความภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม

Belief System

ชาวมอแกนพิธีและความเชื่อที่สำคัญสำหรับชาวมอแกน ได้แก่
-พิธีเหน่เอ็นหล่อโบง หรือพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษทุกเดือน 5 โดยมีโต๊ะหมอ หรือออลาง ปูตีเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในการเข้าทรงติดต่อสื่อสารกับวิญญาณ (หน้า 99, 101)
-ความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างบ้านหลายอย่าง เช่น ห้ามตั้งบ้านบริเวณที่มีนำ้ไหลผ่าน หรือน้ำขังเป็นแอ่ง การห้ามมีขั้นบันได้เป็นเลขคู่ (หน้า 89)
- พิธีแต่งงาน ที่ชายหญิงอยู่กินกันตั้งแต่อายุน้อย และไม่มีการเปลี่ยนคู่ครองจนกว่าคนใดคนหนึ่งจะเสียชีวิต การแต่งงานของชาวมอแกนเป็นไปอย่างเรียบง่าย (หน้า 119)
- พิธีศพ ที่มีเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องมาเฝ้าศพ และนำไปฝั่งบริเวณสุสาน ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และมักจะนำยาเส้น หมาก พลูไปวางที่หลุมศพ
ชาวมอแกลนพิธีและความเชื่อที่สำคัญสำหรับชาวมอแกลน ได้แก่
- พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกข้าว อย่างที่เกาะพระทอง จังหวัดพังงาที่มีเทศกาลข้าว เพื่อใช้ในพิธีกรรมสักการะวิญญาณบรรพบุรุษ และเพื่อพยากรณ์ดวงชะตาของผู้คนในชุมชน เมื่อการปลูกข้าวหมดไปพิธีดังกล่าวจึงสูญหายตามไปด้วย
- พิธีลอยเรือ เช่นที่บ้านแหลมหลา จังหวัดภูเก็ต ที่จัดขึ้นในเดือน6 และเดือน11 เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ลูกหลานหายจากโรคภัย และเพื่อให้สิ่งสักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง (หน้า 165)
- พิธีไหว้ตายาย(ที่อยู่ใน)ถ้วย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนสี่ พิธีดังกล่าวจัดขึ้นในเวลากลางวันที่บริเวณป่าใกล้หมู่บ้าน และพิธีในเวลากลางคืนที่จัดขึ้นในแต่ละครอบครัว โดยมีผู้เฒ่าชาวมอแกลนเป็นผู้ประกอบพิธี (หน้า 161)
- พิธีชิงเปรต จัดขึ้นในเดือนสิบที่เป็นการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (หน้า 163)
- ความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษในแต่ละพื้นที่ เช่น ชุมชนบ้านปากจกและบ้านท่าแป๊ะโย้ยมีการนับถือพ่อตาหินกอง หรือบ้านบางสักมีความเคารพพ่อตาสามพัน ชุมชนบ้านเหนือให้ความเคารพพ่อตากินลูกเดียว และชุมชนบ้านลำปีให้ความเคารพพ่อตาหลวงจักร (หน้า 167)
- พิธีแต่งงาน ฝ่ายชายจะมีการส่งเถ้าแก่ไปเจรจาสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง (หน้า 175)
ชาวอูรักลาโว้ยพิธีและความเชื่อที่สำคัญสำหรับชาวอูรักลาโว้ย ได้แก่
- พิธีลอยเรือ จัดขึ้นในเดือน 6 และเดือน 11 ที่แฝงด้วยวิถีของความสามัคคี การอยู่ร่วมกัน และเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในชุมชน
- พิธีอาบนำ้มนต์ที่หาดราไวย์ที่เชื่อว่านำ้มนต์จะชำระสิ่งไม่ดีให้หลุดดออกไปจากร่างกายและครอบครัวได้
- บริเวณภายในชุมชนมีหลาดาโต๊ะ หรือศาลที่ประดิษฐานรูปเคารพ หรือผู้ปกปักรักษาพื้นที่และประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณี
- การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับศาสนาพุทธในพื้นที่เกาะสิเหร่ และการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดตรัง และสตูล และบางพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตเริ่มมีการนับถือศาสนาคริสต์ จากการเข้ามาของมิชชันนารีราว 40 ปีก่อน และการเข้าช่วยเหลือหลังเหตุการณ์สึนามิ จึงกล่าวได้ว่า ชาวอูรักลาโว้ยมีความหลากหลายทางศาสนา
- พิธีศพ เมื่อมีผู้เสียชีวิต ชาวอูรักลาโว้ยจะก่อกองไฟไว้หน้าบ้าน และดำเนินพิธีกรรมตามขั้นตอน ได้แก่ การอาบนำ้ศพ โดยรดตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า เพื่อไว้อาลัยและชำระล้างร่างผู้ตาย และช่วงกลางคืนจะมีการเฝ้าศพ โดยมีการร้องรำทำเพลงเพื่อไม่ให้เกิดความเศร้าโศก ในวันต่อมาเป็นการเคลื่อนศพเพื่อนำไปฝังบริเวณสุสาน นอกจากนี้ยังมีการทำความสะอาดสุสานเป็นประจำทุกปี จัดขึ้นในเดือน 5 เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงผู้ตาย

Education and Socialization

ชาวมอแกลนบริเวณเกาะพระทอง มีหมู่บ้านเกาะชาด มีการตั้งโรงเรียนบ้านเกาะชาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 แต่เมื่อครั้งมีโรคระบาดและชาวบ้านได้อพยพไปอยู่ที่ใหม่ โรงเรียนจึงถูกยุบ หลังจากนั้นจึงมีการตั้งโรงเรียนบ้านปากจก เมื่อราว 70 กว่าปีก่อน และได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิ ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกียรติประชา และโรงเรียนทุ่งดาบที่เป็นแหล่งบ่มเพาะของเด็กๆหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบริเวณเกาะพระทอง

Health and Medicine

ชาวมอแกนยังมีการมีการทำคลอดโดยหมอตำแย หรือ เอบูมบายาย ที่เป็นแม่เฒ่าหรือหญิงวัยกลาวคนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำคลอด โดยมีการ “คัดท้อง” หรือการเปลี่ยนท่าเด็กทารกให้แม่รู้สึกสบายขึ้น และมีการ “ผูกมดลูก” เพื่อเป็นการทำหมันหญิงที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์ด้วย สำหรับการรักษาอื่นๆของชาวมอแกนมีการรักษาด้วยสมุนไพร และหมอพื้นบ้าน
ชาวมอแกลนมีวิธีรักษาสุขภาพ 2 แบบได้แก่ การรักษาพยาบาลพื้นบ้านโดยการนำสมุนไพรมาใช้รักษาอาการต่างๆ (หน้า 153) และการรักษาพยาบาลจากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล ที่เป็นระบบสาธารณสุขแบบใหม่

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชาวมอแกน
- มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น มีดพร้า เหล็กตอก และแกะเปลือกหอย ขวาน อุปกรณ์ตกปลา (หน้า 91)
- สำหรับดนตรี และเพลงของชาวมอแกน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีรำมะนา ฉิ่ง กาติ๊ง และมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทะเล เช่น เพลงลูยู่ (ล่องทะเล) ประกอบกับการมีท่าร่ายรำประกอบเพลงที่แสดงการล่องเรือ สำหรับงานหัตถกรรม ได้แก่ เสื่อชาวนำ้ ที่มีลวดลายงดงาม และเป็นเอกลักษณ์
ชาวมอแกลนด้วยความผสมผสานของวัฒนธรรมของชาวมอแกลน ทำให้ศิลปะการแสดงมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น โนรา
ชาวอูรักลาโว้ยมี “รำมะนา” ซึ่งเป็นทั้งชื่อเรียกของเครื่องดนตรีที่เป็นกลองหน้าเดียว เป็นชื่อประเภทของเพลง ที่ไม่ทราบถึงที่มาและผู้แต่ง แต่มีลูกเล่นในเนื้อร้องและทำนอง ตลอดจนยังเป็นวงที่บรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีรำมะนา โทน ฉิ่ง ซอ และฆ้อง เพลงรำมะนาเป็นเพลงที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆของชาวอูรักลาโว้ย (หน้า 214-215)
- ศิลปะป้องกันตัวที่เรียกว่า กาหยง ที่มีลักษณะคล้ายกับสีลัต ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมมลายู และถ่ายทอดเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้เป็นจางหายไปจากความทรงจำของชาวอูรักลาโว้ย
- การรำรองเง็ง เป็นการร่ายรำประกอบดนตรีในกลุ่มหญิงมลายูมุสลิม และมีชื่อเสียงมากที่บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต สและในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะลันตา เกาะหลีเป้ะ ยังคงมีการรำรองเง็งอยู่เช่นกัน และในบางโรงเรียนมีการจัดหลักสูตรท้องถิ่นที่ให้นักเรียนรุ่นหลังได้ฝึกฝนอีกด้วย

Folklore

ชาวมอแกนมีนิทานหรือตำนานเกี่ยวกับการผจญภัยของชาวมอแกน และนิทานเกี่ยวกับสัตว์ที่มีคติสอนใจแทรกอยู่ เช่น เรื่องนกกระสากับหอยดู่กูน ที่สอนให้รู้ว่าอย่าดูถูกคนเล็กคนน้อยที่ดูด้อยกว่าตนเอง (หน้า 109) นอกจากนี้ยังมีนิทานเกี่ยวกับคลื่นยักษ์เจ็ดชั้น หรือที่เรียกว่า ละบูน ซึ่งช่วยให้ชาวมอแกนรอดชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 (หน้า 111-113)
ชาวมอแกลนมีนิทานที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นที่สอดแทรกคำสอนหรือคติต่างๆ เพื่อเป็นการเตือนใจในการดำรงชีพ เช่น นิทานเรื่องเกาะเหา ที่นำเสนอเรื่องราวน้ำท่วมใหญ่ หรือนิทานเรื่องผีหลังโวง หรือผีหลังโหว่ เพื่อเป็นอุบายให้เด็กๆไม่เล่น และเข้านอนแต่หัวค่ำ 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

กลุ่มชาวเลมีความชำนาญในการเดินเรือ และทะเล สืบเนื่องจากวิถีการดำรงชีพที่อพยพไปยังที่ต่างๆในบริเวณชายฝั่งทะเล ชาวเลจึงสั่งสมภูมิปัญญาต่างๆ สำหรับนิสัยใจคอของชาวเล จะมีความสุภาพ มีน้ำใจ ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ ซื่อสัตย์ รักสงบ และมีนำ้ใจ (หน้า 67) อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มชาวเลทั้งสามกลุ่มจะมีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับท้องทะเล แต่มีอัตลักษณ์บางอย่างของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน อาทิ ภาษาที่ใช้สื่อสารของกลุ่มมอแกน และมอแกลน มีความใกล้เคียงกัน และทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกับภาษาที่ใช้ในกลุ่มอูรักลาโว้ย หรือการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มมอแกลนที่ไม่อาศัยติดริมชายหาย แต่จะมีลักษณะการตั้งถิ่นฐานค่อนไปทางชาวบก เป็นต้น

Critic Issues

มาตรการรัฐที่ช่วยฟื้นฟูปัญหาของกลุ่มชาวเลได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือการฟื้นฟูในระยะสั้น ภายใน 6-12เดือน ที่ครอบคลุมด้านวัฒนธรรม การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย การเข้าถึงทรัพยากร และการฟื้นฟูในระยะยาวภายใน 1-3 ปี คือการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษที่ช่วยปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมและกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม ด้วยการกำหนดขอบเขตทางกายภาพ และอาณาบริเวณของวัฒนธรรม

Other Issues

ภูมิปัญญาทางทะเล
ชาวอูรักลาโว้ยเรือกรรเชียงหรือ ปราฮู อาไว่เดิมเป็นเรือมาดเสริมกราบไม้กระดาน และไม่ใช้เครื่องยนต์ และมีการผูกเชือกสมอเรือ ที่เรียกว่า ตาลี ป่านะ อีไก้ ปาไต้ ซาโวฮ หรือเป็นเชือกสั้นๆผูกโคนสมอที่ช่วยแก้ไขปัญหากสมอเรือติดซอกหิน และสามารถดึงสมอขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับลมชนิดต่างๆ เพื่อการล่าสัตว์ทะเลและการเก็บอาหารจากป่า ตลอดจนเป็นสิ่งสำคัญในการออกเดินเรือของชาวอูรักลาโว้ย
สำหรับเครืองมือทำมาหากินในอดีต ชาวอูรักลาโว้ยใช้เครื่องมือเรียบง่าย เช่น ฉมวก เหล็กยิงปลา เบ็ดตกปลา เหล็กตอกหอย แต่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เรือติดเครื่องยนต์ อุปกรณ์ประมงที่ต้องมีความทนทานและมีขนาดใหญ่มากขึ้น
อาหารของชาวอูรักลาโว้ย (หน้า 208-209)

Map/Illustration

- มีชุมชนชาวเลอยู่ที่ไหนบ้าง? หน้า 35
- แผนที่แสดงชื่อสถานที่ที่เป็นภาษาอูรักลาโว้ย หน้า 182
- ตารางแสดงปัจจัยในการเลือกสถานที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโว้ย หน้า 187
- แผนผังแสดงทิศทางของลม หน้า 202

Text Analyst นุชจรี ศรีวิเชียร Date of Report 15 ม.ค. 2564
TAG ชาวเล, มอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง