สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ความเป็นชายขอบ, กลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน, เลย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author นรินทร คูณเมือง
Title ความเป็นชายขอบของกลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวนในจังหวัดเลย
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทยวน ยวน ยวนสีคิ้ว คนเมือง, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Total Pages 170 Year 2550
Source วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Abstract

การสร้างความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของอาณาจักรสยาม ทำให้ประชาชนถูกเปลี่ยนจากความรู้สึกผูกพันกับเจ้า กลายเป็นความผูกพันกับพื้นที่ การสร้างแผนที่ทางภูมิศาสตร์ขึ้นใหม่ และการพัฒนาปรับเปลี่ยนสู่ความทันสมัย ทำให้เกิดพื้นที่พัฒนา และพื้นที่ด้อยพัฒนา เกิดกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการพัฒนาส่วนกลาง ทำให้กลายเป็นบุคคลชายขอบ จากบริบทดังกล่าว ทำให้ชาวถิ่น – ยวนมีความรู้สึกว่าตนมีความแตกต่างและด้อยกว่า รู้สึกว่าตนไม่ใช่คนไทย และไร้ถิ่น
อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกลดทอนการเป็นพลเมือง และกลายเป็นบุคคลชายขอบ การตอบโต้ โดยการใช้พลังทางสังคมในระดับชุมชนและระดับเครือข่ายต่อรองในเรื่องการถูกกีดกันการได้รับสัญชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การบริการของรัฐ การผลิตซ้ำและสร้างใหม่ของอัตลักษณ์ความเป็นชาวถิ่น – ยวน ตลอดจนการใช้กลไกจากนโยบายรัฐในการผลิตซ้ำวาทกรรม เพื่อใช้เป็นเวทีในการต่อสู้

Focus

การศึกษาวิจัยต้องการทราบ และเข้าใจถึงกระบวนการกลายเป็นชายขอบของชาวถิ่น – ยวน ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาของรัฐชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการตอบโต้จากการถูกทำให้กลายเป็นชายขอบ การเป็นกลุ่มคนชายขอบนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการบริการของภาครัฐถูกละเลย ไม่ให้ความสำคัญ ถูกกีดกัน และได้รับการมองด้วยอคติ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย จากบริบทดังกล่าว ทำให้มีการตอบโต้รัฐ และสังคม โดยใช้กลไกต่าง ๆ เข้าสู้ เรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐและสังคมเข้าใจความทุกข์ยาก สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสคนทุกกลุ่มร่วมเป็นหนึ่งในกำลังการพัฒนาประเทศให้ดำเนินต่อไป

Theoretical Issues

แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการกลายเป็นชายขอบ
          นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงกระบวนการกลายเป็นชายขอบ อ้างจาก สุริชัย หวันแก้ว (2546) ได้อธิบายความหมายของกระบวนการกลายเป็นชายขอบ ว่าเป็นกระบวนการ หรือภาวะที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลถูกกีดกัน และไม่ได้รับความสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แม้จะเป็นพลเมือง เช่นเดียวกับสุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา (2542) กล่าวว่า กระบวนการกลายเป็นชายขอบ คือ การไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกนิยามจากรัฐ และชนชั้นนำของสังคมให้ตกอยู่ในสภาวะชายขอบ เนื่องจากเงื่อนไขหลายประการ เช่น กลุ่มคนยากจน การมีที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจและความเจริญ ขณะที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2545) กล่าวถึงกระบวนการกลายเป็นชายขอบว่า เป็นกระบวนการเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อน ผลักให้คนส่วนหนึ่งไร้อำนาจและกลายเป็นชายขอบของสังคม กลุ่มคนที่กลายเป็นชายขอบมีความรู้สึกขาดความมั่นคง และความไม่ชัดเจนในสถานภาพเป็นอยู่ (น.14)
          จากการศึกษาของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา (2541) อธิบายว่ารัฐสร้างความเป็นชายขอบให้กลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกระบวนการสองด้าน คือ หนึ่ง การทำให้กลายเป็นพลเมืองไทยที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน และการปิดกั้นสิทธิเชิงอำนาจด้านการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ (น. 29)
          จากการถูกทำให้กลายเป็นชายขอบ ทำให้เกิดการตอบโต้ และต่อรองของกลุ่มคนที่กลายเป็นชายขอบ ปรากฏในงานเขียนของ ฟิลิป เฮิร์ซ (2533) ได้กล่าวถึงปฏิกิริยาของชาวบ้านต่อกระบวนการพัฒนาของรัฐ ในการศึกษา “หมู่บ้านสู่รัฐ – รัฐสู่หมู่บ้าน” พบว่า ชาวบ้านมีความไม่พอใจต่อบทบาทของ สปก. กล่าวหาว่าเป็นการกระทำแทรกแซงการจัดการที่ดินของรัฐ นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความรู้สึกเดียวกันเพื่อสร้างพลังในการต่อรองกับอำนาจรัฐ (น. 34) เช่นเดียวกับการตอบโต้ของชาวถิ่น – ยวนที่ตกอยู่ในภาวะชายขอบ
          การกลายเป็นชายขอบของชาวถิ่น – ยวน เกิดจากการพัฒนาประเทศ และการสร้างความเป็นรัฐชาติ โดยใช้ความรู้สมัยใหม่สร้างเขตแดนทางภูมิศาสตร์ชัดเจน และการหลอมรวมดินแดนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว มีรัฐเป็นศูนย์กลางอำนาจ เริ่มขึ้นในช่วงการขยายอำนาจของประเทศดินแดนตะวันตก ได้เกิดการสถาปนาดินแดนขึ้นเป็นประเทศสยาม ต่อมาได้ใช้ชื่อชนเผ่า “ไท” ตั้งเป็นชื่อประเทศไทย ดังกล่าว ทำให้เกิดการนิยามความหมายและการแบ่งเชื้อชาติ การผนวกคนกลุ่มน้อยเข้ากับคนกลุ่มใหญ่ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้วัฒนธรรมหลัก ทำให้เกิดการกลืนวัฒนธรรม และมีความขัดแย้งในตัวเอง กลุ่มชนพื้นเมืองถูกกีดกันออกจากศูนย์กลางของการพัฒนา ทำให้ไม่ได้รับการดูแล ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เนื่องจากระบบการเมืองและเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การมีอคติทางชาติพันธุ์ และถูกนิยามให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เหล่านี้ ทำให้กลุ่มคนดังกล่าว กลายเป็นคนชายขอบในเวลาต่อมา
          ชาวถิ่น – ยวนถูกกีดกันเกี่ยวกับการรับสัญชาติไทย ดำเนินมาตั้งแต่อพยพเข้าศูนย์ฯ รัฐมีนโยบายควบคุม กีดกันเรื่องสัญชาติ การศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง เช่น เมื่อย้ายออกจากศูนย์อพยพเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านหมันขาว ตั้งอยู่ในที่ห่างไกลจากความเจริญ การเดินทางมีความยากลำบาก ทำให้เกิดอุปสรรคในการติดต่อโลกภายนอก อีกทั้ง ยังถูกกีดกัน จากการควบคุมของรัฐไม่ให้เคลื่อนย้าย หรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดภัยต่อความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้รัฐบาลสำรวจและทำทะเบียนประวัติให้กับชาวเขา โดยจัดทำบัตรเขียวขอบแดงให้กับชาวเขาทุกคน เป็นการแสดงว่าเป็นคนบนพื้นที่สูง มีสิทธิอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้เท่านั้น หากออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็นจะถือว่าผิดกฎหมายและต้องถูกจับกุมทันที เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการไม่ได้รับสัญชาติไทยทั้งสิ้น (น. 115)

Ethnic Group in the Focus

หน่วยงานราชการ ใช้คำว่า “ถิ่น” เป็นคำที่มีนัยยะทางประวัติศาสตร์ สื่อถึงคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น โดยกลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน นั้นคือกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ยวนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น จังหวัดเลยมานาน

Study Period (Data Collection)

ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2547 ถึงเดือนสิงหาคม พ..ศ. 2548 (น.43)

History of the Group and Community

          คำว่า “ถิ่น” ไม่ได้เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นชื่อเรียกที่บุคคลภายนอกหรือหน่วยงานราชการใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน คำว่าถิ่นถูกใช้เรียกสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่าหนึ่งกลุ่ม ชาวถิ่น – ยวนเป็นชื่อเรียกที่มาจากการนิยามตัวเองและบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานราชการ มีความขัดแย้งกับการเรียกของชาวบ้านที่ถูกเรียกจากชาวพื้นราบว่าเป็นชาวถิ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหมันขาวในปัจจุบัน ชาวถิ่น – ยวน แท้จริงแล้วคือ “ผู้ยวน” เป็นชนชาติหนึ่งที่ใช้ภาษาล้านนา พูดคำเมือง อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย (น. 70)
          ตามการศึกษาประวัติศาสตร์ของคนยวนเริ่มจากปี พ.ศ. 2512 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้ให้ข้อมูลสามารถจดจำได้ชัดเจน กล่าวคือ ผู้ยวน เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนามาช้านาน เรียกตนเองว่าคนเมือง กระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง นาน และแพร่ ส่วนผู้ยวนเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมืองน่าน ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ และประกอบอาชีพเกษตรกรรม บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นบรรพบุรุษของคนน่านที่อพยพมาจากล้านช้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีงานศึกษากล่าวว่า ผู้ยวน อพยพหนีภัยสงครามระหว่างพม่ากับล้านนา ตามนโยบายการป้องกันการรุกรานจากพม่าของสยาม สอดคล้องกับงานของสุริยา สมุทรคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา (2544) เกี่ยวกับ ผู้ยวน ในจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี และราชบุรี กล่าวไว้ว่า ผู้ยวนนั้นสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษโยนกเชียงแสน อาณาจักรล้านช้าง และอพยพเข้ามาในเขตสยาม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2347) ได้โปรด ฯ ให้กรมหมื่นเทพหริรักษ์และพระยายมราชนำทัพไปตีพม่าออกจากเมืองเชียงแสน และเมื่อพม่าแพ้ ท่านได้สั่งให้เผาเมืองเชียงแสน ทำการรวบรวมผู้คน และแบ่งออกเป็น 5 ส่วน กระจายไปอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ สระบุรี ราชบุรี โดยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น (น. 73)
          แนวคิดการสร้างรัฐชาติในยุคสงครามโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปการปกครองขึ้น เกิดความขัดแย้งของขั้วอำนาจและสงครามของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต สงครามแผ่ขยายไปทั่วโลก แม้กระทั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ทำให้เกิดความขัดแย้งกันของฝ่ายสนับสนุนอเมริกาและสภาพโซเวียต ดังกล่าว ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติและประชาชน ไทยเป็นรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาต่อต้านกับคอมมิวนิสต์ จึงได้มีนโยบายต่อต้านและปราบปรามอย่างเด็ดขาด สั่งให้ปิดกั้นแนวชายแดนทุกจุดเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคอมมิวนิสต์ เขตชายแดนจังหวัดน่านถือเป็นพื้นที่สีแดง ประชาชนบางหมู่บ้านหวาดกลัวต่อสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้น ชาวบ้านบางหมู่บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนจึงตัดสินใจอพยพเข้ามาเพื่อหาสถานที่ตั้งถิ่นฐานในไทย แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกจับจองอยู่แล้ว ชาวบ้านบางกลุ่มจึงอพยพข้ามไปฝั่งลาวซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ชาวถิ่น – ยวนได้ตกอยู่ในสภาวะชายขอบของไทยเป็นเวลาต่อมา (น. 80 – 82)
          ชาวบ้านที่อพยพไปประเทศลาวได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลลาวในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน สหรัฐได้ให้การสนับสนุน แต่ภาวะสงครามทำให้ชาวถิ่น – ยวนที่อพยพไปอาศัยอยู่ที่ประเทศลาวนั้นเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกันขณะอยู่ในฝั่งไทย ตลอดระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวประมาณ 6 ปี ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดของตน จากความไม่มั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต บริเวณชายแดนไทย – ลาวในขณะนั้นมีการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างทหารไทยกับทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านตัดสินใจอพยพกลับไทยอีกครั้งเมื่อสงครามสงบลง เมื่อเดินทางถึงเขตไทยชาวบ้านได้ถูกนำเข้าไปพักที่ค่ายทหารเพื่อปลดอาวุธ ก่อนจะเดินทางไปที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน เจ้าหน้าที่ได้จัดการเคลื่อนย้ายผู้อพยพมาอาศัยในบ้านพักชั่วคราวด้วยกัน มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์รวมชาวบ้านหมันขาวด้วย ระหว่างอาศัยอยู่ทางราชการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น ที่พัก อุปกรณ์สร้างบ้านเรือน ข้าวสาร อาหารแห้ง (น. 84 – 85)
          หลังจากนั้นถูกย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพที่ทางรัฐบาลได้จัดไว้ให้สำหรับรองรับผู้ลี้ภัยอินโดจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยแบ่งผู้อพยพออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มแรกต้องไปอยู่ศูนย์อพยพฯ บ้านน้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน และกลุ่มที่สองอยู่อำเภอแม่ริม จังหวัดพะเยา และจากการกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนทางภูมิศาสตร์ภายใต้ความรู้สมัยใหม่ของรัฐ ทำให้ชาวถิ่น – ยวนตกอยู่ในภาวะชายขอบทางภูมิศาสตร์ และทางสังคม เนื่องจากเป็นคนกลุ่มน้อย และอยู่ห่างไกลจากศูนย์รวมอำนาจ (น. 86)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านหมันขาวมีการแบ่งพื้นที่ตั้งกันอย่างชัดเจน จัดแบ่งเป็นซอย มีทั้งหมด 3 ซอย ซอยที่ 1 – 2 จะเป็นประชากรชาวถิ่น – ยวนอาศัยอยู่ ส่วนซอยที่ 3 จะเป็นชาวถิ่น – ลั๊วะอาศัยอยู่ทั้งหมด ลักษณะของพื้นที่ในการตั้งบ้านเรือนเป็นพื้นที่ลาดชันลงจากภูเขาสู่แม่น้ำหมันขาวและหมันแดง ชาวบ้านได้รับพื้นที่ในการสร้างบ้านเรือนครอบครัวละ 4 ตารางวา ได้รับการช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์ในการปรับพื้นที่และอุปกรณ์ในการสร้างบ้านเรือน ลักษณะของตัวบ้าน เป็นบ้านยกพื้นสูง เสาปูนสั้นกว่าเสาไม้ มุงด้วยสังกะสี ฝาบ้านใช้กระเบื้องแบนเรียบ มีทางเข้าออกบ้านทางเดียว มีหน้าต่าง 2 บาน ตัวบ้านทั้งหมดมีขนาดประมาณ 3 x 5 เมตร สำหรับห้องครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่สร้างห้องครัวเพิ่มเติมในลักษณะดั้งเดิมของวัฒนธรรมชาวถิ่น มีเตาแบบ 3 ขา มีหิ้งสำหรับการรมควันสำหรับใช้ทำอาหาร (น. 52)

Demography

จากข้อมูลการสำรวจในปี พ.ศ. 2548 มีจำนวนประชากรวมทั้งหมด 511 คน มีครัวเรือนทั้งหมด 145 ครัวเรือน ชาวบ้านในหมู่บ้านหมันขาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน คือ กลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลั๊วะ ประมาณร้อยละ 70 ของประชากรในหมู่บ้านเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน

Economy

          วิถีชีวิตของชาวถิ่น – ยวนได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นผู้พักพิง จากการดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ หาของป่า เพื่อเลี้ยงชีพ มีเสรีในการเคลื่อนย้าย แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในศูนย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการจำกัดพื้นขอบเขตภายในศูนย์อพยพ ทำให้ไม่สามารถทำไร่ได้เช่นเดิม (น. 102)
          ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฝีมือในการจักสานของใช้ การจักสานเป็นวัฒนธรรมสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของชาวถิ่น – ยวน สามารถผลิตเพื่อขายให้กับผู้อพยพและเจ้าหน้าที่ในศูนย์ สร้างรายได้เสริมให้แก่ตนเอง ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ภายในศูนย์ไม่มีงานทำ อาจมีบ้างที่หางานภายในศูนย์ทำ เช่น งานสาธารณะ งานเพาะปลูกสวนครัว งานรับจ้างทำความสะอาดในองค์กร งานบ้าน รับจ้างต่างๆ หรือค้าขายเล็กๆน้อยๆที่ตลาดภายในศูนย์ บางครอบครัวต่อเติมบ้านพักเพื่อทำห้องสำหรับเปิดการค้าขาย ภายในศูนย์อพยพ ชาวถิ่น – ยวนสามารถขออนุญาตออกจากศูนย์เพื่อไปรับจ้างให้แก่คนภายนอกได้ แต่นายจ้างจะต้องเป็นผู้ที่ศูนย์รับรองแล้วเพียงเท่านั้น (น. 101)
          ทรัพยากรสำคัญของชุมชน ประกอบด้วยแหล่งน้ำชุมชน มีทั้งหมดด้วยกัน 2 แห่ง คือ ลำน้ำหมันขาว และลำน้ำหมันแดง ชาวบ้านใช้แหล่งน้ำทั้งสองในการบริโภค รวมทั้งสำหรับการทำการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ป่าสาธารณะของหมู่บ้าน ตั้งอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านโดยมีลำน้ำหมันขาวเป็นแนวกั้น ป่าสาธารณะตั้งอยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ถูกใช้เป็นพื้นที่ฝังศพของชาวบ้าน ชาวบ้านจะอาศัยเก็บของป่าเพื่อนำมาบริโภคในครัวเรือนจากป่าในเขตอุทยาน รวมถึงไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้สำหรับการจักสานสำหรับใช้ในครัวเรือน (น. 51)

Social Organization

          ภายใต้กระแสการพัฒนารัฐชาติสมัยใหม่ มีการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนชัดเจน ส่งผลให้พื้นที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของชาวถิ่น – ยวนเปลี่ยนแปลงไป การดำเนินชีวิตถูกกำหนดโดยหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นมา คือ รัฐ การโยกย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพทำให้ชาวถิ่น – ยวนกลายเป็นผู้อพยพไร้ถิ่น ทำให้เกิดการนิยามตัวตนให้กับชาวถิ่นของรัฐ (น. 85) และก่อให้เกิดการกลายเป็นคนชายขอบ โดยการกีดกัน และเกิดอคติตามมา ทั้งจากรัฐและสังคมอื่น สะท้อนผ่านนโยบาย และการปฏิบัติตนต่อชาวบ้านของเจ้าหน้าที่
          ความสัมพันธ์ภายในของหมู่บ้านหมันขาว สามารถแบ่งออกได้ 2 ระดับ ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นความสัมพันธ์ที่ผ่านกระบวนการความร่วมมือการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ประกอบไปด้วยกลุ่มอาชีพ ดังนี้
          1. กลุ่มจักสาน เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างรายได้ของชาวบ้าน ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากศูนย์สงเคราะห์ชาวบ้าน และหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากบริเวณรอบหมู่บ้านและในเขตอุทยาน ฯ มาใช้ในการจักสาน สมาชิกในกลุ่มมีทั้งหมดประมาณ 30 คน
          2. กลุ่มโซล่าเซลล์ ได้รับการสนับสนุนการสร้างแผงโซล่าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริหารจัดการโดยการเก็บค่าชาร์จไฟแบตเตอรี่จากสมาชิกภายในหมู่บ้าน เงินที่ได้จะเป็นค่าบำรุงรักษา และเป็นค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ดูแลและบริการชาวบ้าน
          3. กลุ่มกองทุนพัฒนาอาชีพ จัดตั้งขึ้นและสนับสนุนโดยศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ทุนในการพัฒนางานอาชีพต่าง ๆ เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า ตั้งคณะกรรมการบริหารเงินทุนให้กับสมาชิก
          4. กลุ่มส่งเสริมอาชีพ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเพียงครั้งเดียว จากนั้นชาวบ้านนำมาบริหารจัดการกันเองต่อไป กำไรที่ได้จะแบ่งให้แก่สมาชิกกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มเลี้ยงปลาดุก กลุ่มเพาะเห็ด
          5. กลุ่มผักสวนครัว ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา สมาชิกกลุ่มจะซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกและจัดซื้อปุ๋ยเพื่อใส่ผัก ปัจจุบันไม่มีการปลูกผักสวนครัวแล้ว แต่ยังคงเหลือเงินสำหรับหมุนเวียนให้สมาชิกได้ยืมเงินกองทุน และต้องนำกลับมาใช้คืนทุกปี จึงยังคงหมุนเวียนเงินกองทุนอยู่
          6. กลุ่มเลี้ยงวัว ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ ชาวบ้านใช้พื้นที่ฝั่งอุทยานแห่งชาติเพื่อเลี้ยงวัว ปล่อยตามธรรมชาติและตามดูเป็นระยะ
          7. การรวมกลุ่มเพื่อเอาแรง เป็นการรวมกลุ่มที่เกิดจากการสืบทอดวัฒนธรรมของชาวบ้านตั้งแต่อดีต ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการรวมเพื่อเอาแรงไปทำไร่ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องการคนงานเป็นจำนวนมาก
          ความสัมพันธ์ของชุมชนกับภายนอกนั้นสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
          1. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านหมันขาวกับชาวม้งบ้านทับเบิก มีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านหมันขาวที่ต้องพึ่งพิงชาวม้งบ้านทับเบิก โดยชาวม้งบ้านทับเบิกจะเป็นนายจ้าง และเป็นผู้ให้เช่าที่ดิน ขณะเดียวกันชาวม้งบ้านทับเบิกต้องอาศัยแรงงานจากชาวบ้านหมันขาวในการทำการเกษตรด้วย
          2. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านหมันขาวกับชาวพื้นราบ เป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ จากการแต่งงาน ฝ่ายชายจากพื้นราบจะมาเที่ยวและขอแต่งงานกับชาวบ้านหมันขาว หมู่บ้านในพื้นราบจะเป็นแหล่งในการจัดซื้อหาเครื่องมือในการทำการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่ชาวบ้านหมันขาวลงไปซื้อ และเที่ยวงานประเพณีด้วย
          3. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านหมันขาวกับนายทุน นายทุนจะมารับคนงานจากบ้านหมันขาวไปทำงานที่โรงงาน ช่วงแรกชาวบ้านจะถูกส่งไปผ่านศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา แต่ปัจจุบันชาวบ้านจะเดินทางไปสมัครเป็นลูกจ้างด้วยตัวเอง
          4. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านหมันขาวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นความสัมพันธ์แบบทางการ โดยมีหน่วยงานที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ เช่น อบต. ทำหน้าที่ในการประสานงานติดต่อเรื่องทะเบียนราษฎร เรื่องสัญชาติ และสิทธิต่างๆ สถานีอนามัย และโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านสาธารณสุข และศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์
          5. ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านหมันขาวกับกลุ่มศาสนา เป็นลักษณะของการพึ่งพาอาศัย องค์กรเหล่านี้จะมีบทบาทในการช่วยเหลือชาวบ้านเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงเคราะห์ การศึกษา และที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน ในหมู่บ้านจะประกอบไปด้วยองค์กรคาทอลิค องค์กรคริสเตียน วัดทางพระพุทธศาสนา สมาคมไทยสร้างสรรค์ เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับชาวบ้านหมันขาวมาตั้งแต่ช่วงที่อยู่ศูนย์อพยพ จึงค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากกว่าองค์กรอื่น ๆ

Political Organization

          การปกครองภายในหมู่บ้านประกอบไปด้วยผู้นำทางการและไม่เป็นทางการ โดยกลุ่มผู้นำทางการมีการจัดโครงสร้างในการปกครองอย่างชัดเจน มีผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มผู้นำทางศาสนา กลุ่มครู และอาสาสมัครจากองค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนผู้นำที่ไม่เป็นทางการ คือ ผู้อาวุโสที่ชาวบ้านให้การนับถือ และผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงผี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้นำด้านศิลปะและวรรณกรรม
กฎเกณฑ์การกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนด้วยความรู้ทางภูมิศาสตร์สมัยใหม่ ทำให้วิถีดำเนินชีวิต และพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป กระบวนการสร้างรัฐชาติของรัฐได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดวิถีชีวิต การอพยพเข้ามาในเขตไทยและถูกจัดให้อยู่ในศูนย์อพยพ ทำให้รู้สึกว่าตนนั้นกลายเป็นผู้อพยพไร้ถิ่น มาจากการปฏิบัติตนต่อชาวบ้าน การนิยามของรัฐ และสังคม
          การกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนบนพื้นฐานวิธีคิดการสร้างรัฐชาติด้วยการปิดกั้นกลุ่มคน และการกีดกันบุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับตนออกจากพื้นที่ จากการแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน ชาวถิ่น – ยวนที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดน่านจึงตกอยู่ในภาวะชายขอบในทางภูมิศาสตร์ และทางสังคมทันที เนื่องจากอยู่ห่างไกลศูนย์รวมอำนาจ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับสังคมหลัก (น. 86)
          กระบวนการกลายเป็นชายขอบของชาวถิ่น – ยวน เกิดจากการกีดกัน การผลักไส ความอคติทางชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้อพยพ นำมาซึ่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความขัดแย้งกันในด้านความคิด อุดมคติ ค่านิยม เกิดการแบ่งแยกพรรคพวก รัฐมองว่าชุมชนที่อยู่บริเวณพรมแดนมีความเปราะบางและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ การอาศัยอยู่บนดอย มีวิถีการผลิตคล้ายกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนดอยเช่นเดียวกัน ทำให้ถูกเหมารวมว่าเป็นชาวเขา รวมถึงชาวถิ่น – ยวนที่อพยพข้ามไปฝั่งลาว และตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นเวลา 6 ปี เอกสารที่แสดงความเป็นไทยสูญหาย ทำให้ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ดังกล่าวเป็นเหตุให้รัฐสร้างวาทกรรม และกีดกัน ทำให้เกิดความแตกต่าง ไม่ให้ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองของไทยตามกฎหมาย
          กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งในการจัดสรรที่อยู่อาศัยถาวรให้แก่ผู้อพยพ หมายถึงกลุ่มที่มีการยื่นร้องเรื่องขอให้ตรวจสอบความเป็นคนสัญชาติไทย ทำให้เห็นว่าแม้รัฐจะมีนโยบายเชิงอคติหรือกีดกัน แต่รัฐก็ยังช่วยเหลือให้บางประการ และจัดสรรให้ตามสิทธิที่สมควรได้รับ (น. 88)        

Belief System

          ชาวบ้านหมันขาวได้รับอิทธิพลจากศริสตศาสนาตั้งแต่การเข้าไปอยู่ในศูนย์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519 ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก คิดเป็นร้อยละ 70 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 20และคริสเตียน คิดเป็นร้อยละ 10 ทั้งนี้ แม้ว่าชาวถิ่น – ยวนจะเปลี่ยนการนับถือศาสนา แต่ยังปฏิบัติตามความเชื่อในเรื่องผีอยู่ (น. 57)
          ในอดีตก่อนอพยพเข้ามาในศูนย์ผู้อพยพ นับถือศาสนาพุทธและผี แต่หลังจากอพยพเข้ามาในศูนย์ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการได้รับความช่วยเหลือและสิทธิต่างๆภายในศูนย์ เช่น การเข้าไปทำงานกับองค์กรที่ทำงานอยู่ในศูนย์อพยพ การได้รับการฝึกอบรมการประกอบอาชีพ การได้รับการศึกษา และความช่วยเหลือในด้านอื่น บางครอบครัวตั้งใจที่จะเปลี่ยนศาสนา จากได้รับความบอบช้ำทางด้านจิตใจจากสงคราม และการอพยพทำให้ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไป
          ชาวบ้านหมันขาวมีประเพณี และวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา และประเพณีที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาคริสต์ และการเปลี่ยนแปลงในด้านบริบทที่อยู่อาศัย
          งานประเพณีขึ้นปีใหม่ เป็นประเพณีที่ทำกันเป็นประจำทุกปี มีการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่เหมือนชุมชนอื่น ๆ ประเพณีนี้เริ่มมีตั้งแต่ตอนที่อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพ
          พิธีการสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมา แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่บางคนยังธำรงรักษาประเพณีนี้ไว้ ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส หรือผู้ที่เป็นผู้นำในการทำพิธี พิธีการสู่ขวัญจัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านและชาวบ้าน
          ประเพณีเบิกไร่ เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวถิ่น – ยวน เมื่อใช้พื้นที่เดิมเป็นระยะ 4 – 5 ปี ดินเริ่มเสื่อมโทรมลง จึงต้องบุกเบิกใหม่ เพื่อใช้ในการทำการเกษตร โดยการถางป่าดงดิบ หรือตัดต้นไม้บางต้นออก และจะต้องทำพิธีขอขมา ปีเจ้าที่ บอกกล่าวให้พื้นที่ทำการเกษตรนั้นสามารถทำการเกษตรได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ และไร้ศัตรูพืชมารบกวน
          ประเพณีแต่งงานมีทั้งแบบดั้งเดิมและการแต่งงานแบบชาวคริสต์ ส่วนใหญ่มักจัดในช่วงเดือนมีนาคม สำหรับการแต่งงานตามแบบดั้งเดิมจะปรับเปลี่ยนเล็กน้อย นั่นคือ ค่าสินสอดที่เป็นเงิน จากอดีตที่ใช้สัตว์เป็นสินสอด เช่น ควาย หมู ไก่ ในการแต่งงานบ้านเจ้าสาวจะตกแต่งบ้านให้สวยงาม ตอนเช้าจะจัดงานเลี้ยงทั้งบ้านของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จากนั้นเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากมาสู่ขอเจ้าสาวที่บ้าน ขึงเชือกกั้นขบวนไม่ให้ผ่านจนกว่าจะมีญาติฝั่งเจ้าสาวมาจูงมือเจ้าบ่าวเข้าไป และผูกข้อไม้ข้อมือจากญาติผู้ใหญ่
          การแต่งงานแบบชาวคริสต์ เป็นพิธีที่รับเข้ามาใหม่ โดยการจัดงานขึ้นในโบสถ์ มีผู้นำทางศาสนาเป็นผู้ประกอบพิธีให้กับคู่บ่าวสาว มีญาติพี่น้องเข้ามาร่วมเป็นพยานในการสาบานตนต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าว่าจะรัก ผูกพันกัน ไม่ว่าจะทุกข์ หรือสุข จะไม่ทอดทิ้งกัน หลังจากเสร็จพิธีในโบสถ์จะเลี้ยงที่บ้านของเจ้าสาว เมื่อแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวจะต้องไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาว เป็นธรรมเนียมดั้งเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะเปลี่ยนศาสนา และความเชื่อ
          ประเพณีวันสงกรานต์ที่เปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นในช่วง 13 – 15 เดือนเมษายนของทุกปี ประเพณีนี้มีความสำคัญมากกว่าประเพณีขึ้นปีใหม่ในเดือนธันวาคม ชาวบ้านหมู่บ้านหมันขาวจะไม่นิยมเล่นน้ำภายนอกหมู่บ้าน กับชาวหมู่บ้านอื่น แต่จะเป็นการเล่นน้ำกับชาวชุมชนเดียวกัน ฉลองกันในหมู่บ้าน และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน บางปีจัดกีฬาสีที่โรงเรียนเพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวบ้าน
          ประเพณีเลี้ยงผี เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน มีลำดับการเลี้ยงผี ดังนี้ ผีสบห้วย ผีย่าบ้าน ผีเจ้าบัว เหล่านี้เป็นผีที่ชาวถิ่น – ยวนให้ความเคารพนับถือ
          ประเพณีวันวาเลนไทน์ เป็นประเพณีที่ได้รับอิทธพลจากศาสนาคริสต์ จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อยังอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพ และสืบทอดต่อกันมาเรื่อย ๆ จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ บางปีอาจไม่ตรงกับวันที่ 14 แต่ชาวบ้านจะยึดวันอาทิตย์ในการจัดงาน ในประเพณีวาเลนไทน์จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้แสดงความรัก ความห่วงใยต่อกัน โดยการเอาสิ่งของไปมอบให้แก่กัน จัดงานขึ้นในโบสถ์และทุกคนสามารถเข้ามาร่วมงานได้โดยไม่มีการแบ่งแยก หนุ่มสาวบางคนอาจใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกัน
          ประเพณีวันคริสมาสต์ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันเป็นประจำทุกปี มีการเฉลิมฉลองวันคริสมาสต์วันคล้ายวันประสูตรของพระเยซู กินเลี้ยงกันในโบสถ์ และตามบ้าน จัดทั้งกลางวันและกลางคืน ชาวบ้านจะซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่เพื่อแสดงถึงความกระตือรือร้นในการร่วมงาน และจับสลากของขวัญสำหรับทุกคนที่เข้าร่วมงาน ประเพณีนี้จัดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม แต่อาจจะจัดก่อนหรือหลัง 1 – 2 วันตามความเหมาะสม (น. 58 – 62)

Education and Socialization

          ด้านการศึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 31 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา เพราะการอพยพ และเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปตามศูนย์ต่างๆ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 19 – 30 ปี เป็นกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษา เนื่องจากในปี พ.ศ. 2538 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยามีการจัดการเรียนการสอนขึ้นในศูนย์ ชาวบ้านส่งลูกหลานเข้าเรียน และเมื่อย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านหมันขาว ชาวบ้านส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านทับเบิก ส่วนใหญ่เรียนต่อจนถึงประถมหก บางส่วนตัดสินใจเรียนต่อจนจบชั้น ม. 3
          ในปี พ.ศ. 2539 บราเดอร์ กาเบี่ยน เป็นผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเมื่ออยู่ศูนย์อพยพ ได้ช่วยเหลือจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นในหมู่บ้าน โดยจ้างชาวบ้านและครูภายนอกสำหรับการสอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 บราเดอร์ กาเบี่ยนได้เสียชีวิตและติดต่อให้สมาคมไทยสร้างสรรค์ มีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นเข้ามาจัดการด้านการศึกษาในหมู่บ้านแทน (น. 55)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวถิ่น – ยวนหมู่บ้านหมันขาว ผู้หญิงใส่ผ้าซิ่น เสื้อดำขี้นินคอกลม ข้างสาบเสื้อด้านหน้าห้อยประดับเสื้อด้วยเงิน โดยเจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยด้วยเส้นใยของผ้าในส่วนด้านหน้า ส่วนผู้ชายจะใส่ผ้าโสร่งกับเสื้อผ้าดำ ผ้าซิ่นผู้หญิงไปเอามาจากเมืองเงินประเทศลาว เรียกว่า ซิ่นเมืองเงิน
          เครื่องดนตรีของชาวถิ่น – ยวนมีหลายชนิด เช่น แคน พิณ (ซึง) ซอ เกิ้ง เป็นต้น (น. 62)
          ชาวบ้านมีความสามารถในการจักสาน เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของชาวถิ่น – ยวน ส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ เพื่อเสริมรายได้ และสำหรับใช้ในครัวเรือน

Folklore

ศิลปะ วรรณกรรมของหมู่บ้านหมันขาว ได้แก่ ผญา นิทานพื้นบ้าน เช่น ลูกกำพร้ากับสัตว์ 7 อย่าง นางไข่ฟ้า เซียงเมี่ยง เป็นต้น (น.62) 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ชาวถิ่น – ยวนในอดีตนับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อเรื่องผี ส่งผลต่อวิถีชีวิต ประเพณีสำคัญตามความเชื่อ ได้แก่ พิธีกรรมสู่ขวัญ ประเพณีขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชาวบ้าน สำหรับคนเจ็บป่วย พิธีสู่ขวัญเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และยังยึดถือปฏิบัติอย่างเหนียวแน่น ประเพณีเบิกไร่ใหม่ เป็นประเพณีดั้งเดิม ทำขึ้นเพื่อบุกเบิกสำหรับการทำการเกษตร เนื่องจากการใช้พื้นที่ทางการเกษตรเดิมซ้ำ ๆ จึงต้องบุกเบิกใหม่ โดยถางป่า ตัดต้นไม้บางต้น ในพิธีมีการขอขมาเจ้าที่ บอกกล่าวให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ เมื่อเริ่มปลูกข้าวจะยกหอผีไปไว้ที่กลางไร่ มีเครื่องเซ่นสำหรับเลี้ยงผี หอผีจะถูกตั้งไว้จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จ และนำมาเก็บไว้ที่บ้าน ประเพณีวันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวหมันขาว ชาวถิ่น – ยวนให้ความสำคัญในวันนี้มากกว่าวันขึ้นปีใหม่ เพราะให้ความรู้สึกถึงถิ่นเดิม ในวันสงกรานต์ชาวบ้านจะนิยมเล่นกันเองกับคนในหมู่บ้านเท่านั้น ไม่ออกไปเที่ยวเล่นกับชาวบ้านอื่น จัดขึ้นในวันที่ 13 – 15 เมษายนของทุกปี ชาวบ้านจะเรียกวันสงกรานต์อีกอย่างว่าวันเน่า หมายถึง เป็นวันที่นิสัยเก่าจะเน่าไปพร้อมกับปีที่ผ่านมาตามกำหนด ดังนี้
          วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันล่องปีเถอะ ชาวบ้านจะนำสลวนและดอกไม้จากหิ้งมารวมไว้ด้วยกันที่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน พร้อมรูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ หามไปทิ้งที่แม่น้ำนอกหมู่บ้านเวลา 15:00 น. เป็นการแสดงถึงการข้ามปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่
          วันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันเน่า เชื่อกันว่าของที่ส่งไปกับฝาแตะจะเน่าตายที่อื่น
          วันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันปีใหม่ ทุกคนจะทำนิสัยใหม่ เปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น หากไม่เปลี่ยนแปลงก็จะมีนิสัยเช่นเดิม วันนี้มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ อาจทำพิธีเพียงบางครอบครัวเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว
นอกจากพิธีดังกล่าว ยังมีพิธีกรรมที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ประเพณีเลี้ยงผี เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติตั้งแต่อดีต การเลี้ยงผีเป็นไปตามลำดับ คือ ผีสบห้วย ผีเจ้าบ้าน ผีย่าบัว เป็นผีที่ให้ความเคารพนับถือ ศิลปะ และวรรณกรรม ได้แก่ ผญา นิทานพื้นบ้าน เช่น ลูกกำพร้ากับสัตว์ 7 อย่าง นางไข่ฟ้า เชียงเมี่ยง สำหรับการแต่งกาย ผู้หญิงจะใส่ผ้าซิ่นต่ำ เสื้อสีดำคอกลม ข้างสาบเสื้อด้านหน้าจะเงินห้อยประดับอยู่ ผู้ชายจะใส่ผ้าโสร่งกับเสื้อผ้าดำ และมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านหลายชนิด เช่น แคน พิณ ซอ เกิ้ง เป็นต้น (น. 73)
          นอกจากนี้ผู้วิจัยได้นำคำพูดของชาวถิ่น – ยวนมาเปรียบเทียบกับคำเมือง ดังนี้
          

คำพูดที่ชาวบ้านใช้พูด คำที่ผู้ยวนใช้พูด คำแปลภาษาไทย
อู่ อู่ พูด
เอี่ยว เอี่ยว เที่ยว
จ่วย จ่วย ช่วย
หัน หัน เห็น
ลำ ลำ อร่อย
บ่อล่ำ บ่อล่ำ ไม่เคย
แต้ แต้ จริง ใช่
ก๊ะ ก๊ะ หรือ เช่น แต้ก๊ะ แปลว่า จริงหรือ
 
          จากการอพยพหนีสงครามเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และองค์กรต่างประเทศ ชาวถิ่น – ยวนได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์เข้ามาหลายอย่าง วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากนับถือพุทธ กลายเป็นนับถือคริสต์ และจัดประเพณีขึ้นมาตามหลักของศาสนาคริสต์ เช่น วันวาเลนไทน์ การแต่งงานแบบคริสต์ วันคริสมาส เป็นต้น ประเพณีเดิมจะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับศาสนาที่เปลี่ยน เช่น ประเพณีเบิกไร่ ถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบความเชื่อทางศาสนาคริสต์ โดยนำน้ำมนต์จากวัดคาทอลิค ไม้กางเขน ไปทำพิธีในไร่แทนการเซ่นไหว้ด้วยไก่ และเหล้า

Social Cultural and Identity Change

          ชาวถิ่น – ยวนได้ตอบโต้ ต่อรองการถูกทำให้เป็นชายขอบ โดยการผลิตซ้ำความเชื่อ และพิธีกรรมเดิม
          วัฒนธรรมการกินเหมี้ยง เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวล้านนา หรือชาวไทย – ยวน ที่เรียกตนเองว่าคนเมือง ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สืบทอดกันต่อมาเรื่อย ๆ ผ่านวิถีชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น ได้หยิบยกวัฒนธรรมการกินเหมี้ยงมาใช้เพื่อต่อรองว่าตนไม่ใช่ผู้ต้อยต่ำ เพราะการกินเหมี้ยงถือเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง
          กระบวนการในการสร้างอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิความเป็นไทย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะที่ถูกกีดกันออกจากการเป็นพลเมืองไทย ไร้ความมั่นคงในชีวิต ชาวถิ่น – ยวนได้นำเสนอความเป็นชุมชนล้านนา เป็นชุมชนทางภาคเหนือของไทยผ่านวัฒนธรรมการกินเหมี้ยง (น. 139)
          นอกจากนี้ ได้เปลี่ยนแปลงในเรื่องของการนับถือศาสนา จากในอดีตชาวถิ่น – ยวนจะนับถือศาสนาพุทธ และผี แต่หลังจากการเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกเป็นจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างถูกจัดขึ้นตามหลักความเชื่อของศาสนาคริสต์ เช่น ประเพณีวันศริสมาสต์ วันวาเลนไทน์ หรือการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์ วัฒนธรรมดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับหลักศาสนาคริสต์ เช่น พิธีกรรมเลี้ยงผี พิธีเบิกไร่ นำน้ำมนต์ และไม้กางเขนมาใช้ในพิธี และประเพณีการแต่งงานตามแบบของชาวคริสต์ จะถูกจัดขึ้นในโบถส์

Critic Issues

          ความเป็นคนชายขอบไม่ได้เกิดมาโดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างของสังคมเกี่ยวกับอำนาจ อุดมการณ์ ความเชื่อ ระยะเวลา และความสัมพันธ์ทางสังคม ดังงานวิจัยที่พบว่า ชาวถิ่น – ยวนถูกกระทำให้อยู่ในภาวะชายขอบนั้นเป็นกระบวนการต่อเนื่องมาจากประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ผ่านวาทกรรมชุดหนึ่งไปอีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีผลถึงปัจจุบันนี้ เช่น การเป็นคนไทยต้องมีสัญชาติไทย การอยู่ในดินแดนไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การแบ่งเชื้อชาติ พวกเขา พวกเรา ส่งผลให้กลายเป็นคนอื่นในแผ่นดิน การนิยามตนเองว่าเป็นคนอื่นเป็นความรู้สึกที่ถูกตอกย้ำจากนโยบายของรัฐที่นำเข้าไปในศูนย์อพยพฯ มีนัยกดทับแสดงความเป็นคนอื่นไม่ใช่คนไทย ทำให้ขาดสิทธิ และโอกาสในการมีส่วนร่วมในสังคม อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ ต่อรองกับอำนาจของรัฐ และสังคมผ่านการสร้างใหม่ ผลิตซ้ำโดยใช้พลังทางสังคมที่มีความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติเป็นในชุมชน และระหว่างชุมชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ
          ผู้วิจัยพบว่า ในการตอบโต้ ต่อรองของชาวถิ่น – ยวนมีลักษณะที่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขบางประการ ได้แก่
          1) ข้อจำกัดของกฎระเบียบที่มีอำนาจในการควบคุม เช่น การเรียกร้องสัญชาติขณะยังอยู่ในศูนย์อพยพเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะขาดกลไกทางสังคมเข้าช่วย ถูกกีดกันจากสถานกฎหมาย เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย
          2) ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ ชาวถิ่น – ยวนต้องดิ้นรนรับจ้าง หรือขายแรงงาน เพราะอาชีพทางการเกษตรถูกจำกัด เพราะไม่มีที่ดิน การประกอบอาชีพถูกกีดกัน (น. 156)
จะเห็นได้ว่าความเป็นชายขอบไม่ได้เกิดจากรัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ชุมชนใกล้เคียง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเป็นชายขอบให้ชาวถิ่น – ยวน ดังนั้น การทบทวนแนวคิดและทฤษฎีจึงไม่สามารถมองอำนาจโครงสร้างด้านบนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองความสัมพันธ์ในระดับล่างจากการมีปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกและการมองตนเองว่าเป็นชายขอบ (น. 156)
          สิ่งที่เห็นได้จากกระบวนการกลายเป็นชายขอบ คือ การลดทอนความเป็นมนุษย์จากอำนาจเหนือกว่าของรัฐและสังคม อย่างไรก็ตาม อำนาจ ถูกคนชายขอบใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง ปรับตัว และสร้างศักยภาพ เพื่อเข้าถึง และช่วงชิงความหมายและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองด้วย ในการตอบโต้ ต่อรองของชาวถิ่น – ยวนได้แสดงถึงการมีศักยภาพ และความเข้มแข็งในชุมชน การมีเครือข่ายทางสังคม โดยติดต่อกับเครือญาติในอเมริกาประจำ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากขณะที่อยู่ในศูนย์อพยพฯเคยทำงานกับองค์เหล่านี้
          การจัดการกับปัญหาเรื่องสิทธิควรจะเป็นวิธีการหาทางออกเบื้องต้น เนื่องจากบางเรื่องส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น การศึกษาของบุตรหลาน รัฐควรให้สวัสดิการด้านการศึกษาและสนับสนุนให้รับรองการประกอบอาชีพ หรือมีใบรับรองวุฒิการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสามารถใช้สำหรับการสมัครเรียนต่อ หรือทำงานในอนาคต นอกจากนี้รัฐควรสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน และสังคม รวมถึงหน่วยงานของรัฐให้มีความเข้าใจ และเห็นคุณค่า ยอมรับให้เกิดการมีส่วนร่วม นำศักยภาพของชุมชนมาพัฒนาชุมชน

Other Issues

          กระบวนการกลายเป็นชายขอบของชาวถิ่น – ยวน
          แต่เดิมชาวถิ่น – ยวนรับรู้ว่าตนเองเป็นคนยวนบนดอย อยู่ในการปกครองของรัฐไทย และมีความเป็นคนไทยตามสิทธิทุกประการ ภายหลังการเกิดสงครามที่ทำให้ต้องอพยพไปฝั่งลาว ก่อนจะอพยพกลับมาฝั่งไทย ได้รับการควบคุมภายในศูนย์อพยพ ฯ การเข้ามาในศูนย์อพยพฯมีความหมายโดยนัยว่าเป็นบุคคลอื่น ไม่ใช่คนไทย รัฐได้สร้างวาทกรรมให้ โดยการเรียกชื่อแบบเหมารวมว่าเป็นชาวถิ่น หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในป่าและเป็นกลุ่มชาวเขาที่ต้องถูกควบคุม เพราะไม่ใช่คนไทยและอาจสร้างความไม่มั่นคงแก่ชาติได้
          ชาวถิ่น – ยวนได้รับการกีดกันในด้านต่าง ๆ นโยบายและกระบวนการพัฒนากับการควบคุม กีดกัน การเข้าถึงอำนาจ ทรัพยากรและการบริการของรัฐในหมู่บ้านหมันขาว ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีความซับซ้อนและเกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ชาวบ้านหมันขาวถูกกีดกันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการคมนาคม ด้านการประปาของหมู่บ้าน ไฟฟ้า อาคารสาธารณะ ไม่ได้รับการบำรุง ซ่อมแซม เหล่านี้ได้รับการละเลยจากหน่วยงานต่าง ๆ ขาดการสนับสนุนทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้ อีกทั้ง ยังถูกกีดกันการพัฒนาทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ถูกกีดกันการได้รับสัญชาติไทย ทำให้กลายเป็นผู้อพยพไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่มีหลักฐานความเป็นไทย ไม่ได้รับงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาจากรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาเนื่องมาจากไม่มีสัญชาติ การได้รับการควบคุมและกีดกันในสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง เมื่อย้ายเข้าศูนย์อพยพ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สืบเนื่องจากการไม่ได้รับการดำเนินการเรื่องสัญชาติ ทำให้ถูกควบคุมไม่ให้ออกเดินทางไปนอกจังหวัดเลย นอกจากนี้ยังถูกกีดกันในเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง สาธารณะสุข และเศรษฐกิจอีกด้วย การถูกผลักไสให้กลายเป็นคนนอกทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้รับสวัสดิการด้านสาธารณสุข เช่น บัตรผู้สูงอายุ บัตรลดหย่อนต่าง ๆ ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินสำหรับการทำกิน และการประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้างเป็นหลัก เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้ ล้วนเป็นผลมาจากการไม่ได้รับสัญชาติไทย
การตอบโต้ ต่อรองของชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน
จากนโยบายของรัฐ การถูกกีดกันเรื่องสัญชาติ และปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและทรัพยากร ถูกทำให้กลายเป็นคนอื่น และถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทำให้กลายเป็นชายขอบของการเป็นพลเมืองไทย นำมาซึ่งการตอบโต้และต่อรองโดยใช้กลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มภายในชุมชน และใช้กลไกเครือข่ายทางสังคม ตอบโต้ผ่านการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยล้านนา ชุมชนชาวถิ่น – ยวนจึงเปรียบเสมือนเวทีในการต่อสู้ของกลุ่มคนต่าง ๆ
          ในการตอบโต้ผ่านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ ได้ปรับความเชื่อและพิธีกรรม การผลิตซ้ำความเชื่อและพิธีกรรมเพื่อตอบโต้ เช่น การนำเสนอวัฒนธรรมการกินเหมี้ยง เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวล้านนา หรือชาวไทย – ยวน เรียกตัวเองว่าคนเมือง เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมา และถือว่าเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง ที่ชาวบ้านหมันขาวนำมาใช้เพื่อสื่อสารและตอกย้ำภาพ และวิธีคิดของความเป็นผู้รักษาวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงตัวตนของกลุ่มให้คนภายนอกได้รับรู้ว่าตนนั้นไม่ใช่ผู้ต่ำต้อย

Map/Illustration

- ภาพแสดงโครงสร้างสังคมตามทรรศนะของมารกซ์ (น.17)
- ภาพแสดงปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างส่วนบนกับโครงสร้างส่วนล่าง (น.18)
- กรอบแนวคิดการวิจัย (น.41)
- ภาพแสดงที่ตั้งหมู่บ้านหมันขาว (น.49)
- ภาพแสดงการเดินทางเข้าหมู่บ้านหมันขาว (น.50)
- ภาพแสดงที่ตั้งพื้นที่สาธารณะและสถานที่ให้บริการของรัฐในหมู่บ้านหมันขาว (น.53)
- ภาพแสดงที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านหมู่บ้านหมันขาวแยกตามกลุ่มชาติพันธุ์ (น.54)
- ภาพแสดงการเคลื่อนย้ายเพื่อทำไร่ข้าวหมุนเวียนของชาวถิ่น – ยวน (น.80)
- ภาพแสดงแผนที่ประกอบการอพยพจากประเทศไทยสู่ประเทศลาว (น.82)
- แผนผังลักษณะโดยทั่วไปของศูนย์อพยพ ฯ ในประเทศไทย (น.94)
- แสดงโครงสร้างการปกครองศูนย์อพยพฯ (น.95)
- แผนที่แสดงโครงสร้างพื้นฐานด้านเส้นทางการคมนาคมเข้าสู่บ้านหมันขาว (น.106)

Text Analyst ดาริน จันดี Date of Report 15 ม.ค. 2564
TAG ความเป็นชายขอบ, กลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น – ยวน, เลย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง