สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทเขิน, ภูมิปัญญาการแพทย์, เชียงใหม่, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author ศิรานุช อ่อนอ้น
Title กระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาการรักษาสุขภาพของชาวไทเขิน: กรณีศึกษาบ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 4 ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทขึน ไตขึน ขึน, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
  • สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชั้น 6 เลขเรียกหนังสือ วพ 613.04 ศ372ก
  • ระบบฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ URL:http://www.graduate.cmru.ac.th/index2.php?ge=is_view&gen_lang=170715052357&kmt_id=24&km_topic=กระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาการรักษาสุขภาพ%20ของชาวไทเขิน%20:%20กรณีศึกษาบ้านป่าไผ่%20%20หมู่ที่%20%204%20%20ตำบลช่อแล%20อำเภอแม่แตง%20%20จังหวัดเชียงใหม่
  • โครงการเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS – Thai Library Intehgrated System) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา URL:http://tdc.thailis.or.th/tdc/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=21646&query=%C8%D4%C3%D2%B9%D8%AA%20%CD%E8%CD%B9%CD%E9%B9&s_mode=any&d_field=&d_start=0000-00-00&d_end=2561-12-30&limit_lang=&limited_lang_code=&order=&order_by=&order_type=&result_id=1&maxid=1
Total Pages 121 Year 2547
Source วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (วิจัยและพัฒนาท้องถิ่น). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
Abstract

การศึกษาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านของชาวไทเขินมุ่งเน้นประเด็นเรื่อง “การถ่ายทอด” และ “กระบวนการเรียนรู้” โดยมีพื้นที่บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 4 ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่เป็นกรณีศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ
ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านของชาวไทเขินมีลักษณะเป็นการรักษาโดยหมอพื้นบ้านด้วยวิธีการประกอบพิธีกรรม การนวด และการใช้ยาสมุนไพร มีการถ่ายทอดความรู้ตามแบบเดิมจากบรรพบุรุษตามสายตระกูล รวมทั้งนอกสายตระกูลจากผู้อาวุโสในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง และพระสงฆ์ นอกจากนี้ ยังพบการถ่ายทอดในรูปแบบใหม่ คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหมอพื้นบ้านในชุมชน และการเรียนรู้ผ่านการจัดกระบวนการจากหน่วยงานภายนอกชุมชน เช่น การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างหมอพื้นบ้านและนักวิชาการ

          กระบวนการเรียนรู้เป็นแบบปัจเจกบุคคล การเรียนรู้ผ่านการเข้าร่วมพิธีกรรม และการเรียนรู้เป็นกลุ่มในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปด้วยวิธีผู้ใหญ่สั่งสอนผู้น้อยที่ยังคงมีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยมีพิธีและขั้นตอนในรับใช้หมอพื้นบ้านเพื่อทดสอบความอดทน ความตั้งใจ ก่อนการได้รับความรู้ควบคู่การฝึกคุณธรรม ผ่านมุขปาฐะและอมุขปาฐะจากการเรียนรู้ผ่านตำรายาจากปั๊บสาใบลาน

Focus

          งานวิจัยมุ่งเน้นการศึกษากระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านของหมอพื้นบ้านชาวไทเขิน ซึ่งมีการเรียนรู้และการถ่ายทอดที่กว้างขวางมากขึ้นจากอดีตที่มีเพียงการถ่ายทอดภายในเครือญาติเท่านั้นสู่การเรียนรู้และถ่ายทอดนอกเครือญาติ รวมทั้งการมีแลกเปลี่ยนความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านจากคนต่างกลุ่ม และแลกเปลี่ยนความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนปัจจุบันจากเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ โดยยังคงมีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อในพระพุทธศาสนา

Theoretical Issues

          ผู้วิจัยกำหนดนิยามความหมายว่า “หมอพื้นบ้าน” ในงานวิจัยหมายถึง ผู้ที่มีความสามารถทางด้านภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งใช้ในการรักษาโรคด้วยความจำเป็นและการยอมรับของชุมชนแต่ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ (น. 7) โดยสามารถจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ หมอพื้นบ้านที่รักษาโดยการประกอบพิธีกรรม หมอพื้นบ้านที่รักษาโดยการนวด และหมอพื้นบ้านที่รักษาโดยการใช้สมุนไพร (น. 9)

แนวคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน
          ภูมิปัญญามีทั้งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม สังคม และสิ่งเหนือธรรมชาติ (สามารถ  จันทรสูรย์, 2536) ภูมิปัญญาพื้นบ้านมีลักษณะที่มีวัฒนธรรมเป็นฐาน มีการบูรณาการสูง มีการเชื่อมโยงไปสู่นามธรรม และให้ความสำคัญกับจริยธรรม (ประเวศ  วะสี, 2536) (น. 9) โดยเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิต (สุรเชษฐ์  เวชชพิทักษ์, 2533; โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์, 2531) (น. 10) อีกทั้ง ภูมิปัญญาด้านการรักษาสุขภาพของหมอพื้นบ้าน ยังมีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องกรรมและการทำบุญในพระพุทธศาสนา (สมบูรณ์  ทิพย์นุ้ย และคณะ, 2546) (น. 12-13) สำหรับกระบวนการเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการรักษาสุขภาพของหมอพื้นบ้าน เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านบุคคล เช่น บรรพบุรุษและเครือญาติ หมอพื้นบ้าน พระสงฆ์ รวมทั้งเรียนรู้ผ่านเอกสาร เช่นปั๊บสาใบลาน การเรียนในระบบและนอกระบบโรงเรียน (น. 23-25)
         
          กรอบแนวคิดในการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้าน ประกอบด้วย ความรู้และระบบความรู้ การสั่งสมและกระจายความรู้ การถ่ายทอด และการสร้างสรรค์และปรับปรุงระบบความรู้ (อ้างถึง นิธิ  เอียวศรีวงศ์, 2536; อเนก  นาคะบุตร, 2536;สหัทยา  วิเศษ, 2540;สามารถ  จันทรสูรย์, 2536; สุรเชษฐ์  เวชชพิทักษ์, 2536) (น. 11)
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ปรากฏงานศึกษาในกลุ่มม้งและมูเซอ พบว่ามีวิธีการใช้เหล็กกลมดูดบริเวณที่มีอาการให้เกิดสูญญากาศ การใช้สมุนไพร และการประกอบพิธีกรรม (วิชัย  โปษยจินดา, 2530), กลุ่มม้ง ในพื้นที่บ้านหนองหอยเก่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำพิธีเรียกขวัญและเลี้ยงผี (เชิดชัย  อริยานุชิตกุล, 2534), กลุ่มอีก้อ ในอดีตมีการทำพิธีเลี้ยงผีเพื่อเรียกขวัญ และได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับพิธีกรรมและการใช้สมุนไพร (อุไรวรรณ  แสงศร, 2541) และกลุ่มม้ง เย้า ลีซอ มูเซอดำ และอาข่า มีการทำพิธีเลี้ยงผีและใช้สมุนไพรในการรักษาโรค (ธงชัย  สาระกูล, 2540) (น. 29-31)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน

Language and Linguistic Affiliations

          ภาษาของชาวไทเขินมีสำเนียงคล้ายคลึงกับชาวยองในพื้นที่จังหวัดลำพูน ปัจจุบันส่วนมากผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปในพื้นที่บ้านป่าไผ่ยังคงพูดภาษาไทเขิน ส่วนกลุ่มอื่น ๆ นิยมพูดภาษาไทยถิ่นเหนือ (น. 37)

Study Period (Data Collection)

ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2544 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 (น. 4, 33)

History of the Group and Community

          อ้างถึง อรุณรัตน์  วิเชียรเขียว และนฤมล  เรืองรังสี (2537) บรรพบุรุษของชาวไทเขินมีถิ่นฐานเดิมในแถบมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และรัฐฉาน ประเทศพม่า (น. 2)

Settlement Pattern

          ชื่อเดิมของบ้านป่าไผ่ คือ โหล่งเมืองแกน เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีต้นไผ่และต้นไม้ห้าซึ่งมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ใบคล้ายต้นลิ้นจี่ขึ้นเป็นจำนวนมาก การตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของชุมชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2311 ลุงแสนคำและลุงขุนหมื่นได้นำวัวและควายเดินทางผ่านมาและพักแรมในพื้นที่บ้านป่าไผ่ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์จึงได้บุกเบิกพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ต่อมาได้มีชาวไทเขินในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ บ้านปง บ้านช่อแล บ้านม่วงคำ บ้านหนองบัว อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย (น. 37)

          สภาพบ้านเรือนสะท้อนถึงฐานะที่ดีของชาวบ้าน โดยนิยมสร้างบ้านด้วยปูนมุงหลังคากระเบื้องลอนคู่ สร้างรั้วบ้านมิดชิด ในพ.ศ. 2546 พบว่ามีจำนวน 104 หลังคาเรือน (น. 38-39)

Demography

          จำนวนประชากรมีทั้งสิ้นประมาณ 415 คน แบ่งเป็นกลุ่มเยาวชน ประมาณ 35 คน กลุ่มอายุระหว่าง 25-40ปี ประมาณ 200 คน และกลุ่มอายุระหว่าง 40-90 ปี ประมาณ 180 คน (น. 39-40)

Economy

          อาชีพหลักของชาวไทเขินในพื้นที่บ้านป่าไผ่ คือ เกษตรกรรม ในอดีตเน้นการทำการเกษตรแบบยังชีพ แต่ปัจจุบันเน้นเพื่อเศรษฐกิจ โดยปลูกข้าวเหนียวเป็นหลัก (น. 38, 42)
          กลุ่มชาวบ้านที่มีอายุระหว่าง 40-90 ปี ส่วนมากทำการเกษตรเพาะปลูกถั่วลิสง พืชผักสวนครัว รับจ้างเกี่ยวกับการเกษตร และรับจ้างทั่วไปในอำเภอ

          กลุ่มชาวบ้านที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรเช่นเดียวกับกลุ่มแรก และยังนิยมเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ โค สุกร ปลา กบ บางส่วนประกอบอาชีพรับจ้างทั้งการเกษตร รับจ้างในโรงงาน ขับรถ และค้าขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางส่วนรับราชการและเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ
          กลุ่มเยาวชน ส่วนมากกำลังศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา (น. 39-40)

          ความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีการเกษตรเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2528 เนื่องด้วยได้รับน้ำชลประทานจากโครงการชลประทานเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จึงทำให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งส่งผลให้ความเป็นอยู่และฐานะของชาวบ้านดีขึ้น (น. 42-43)

Social Organization

ไม่มี

Political Organization

          ในปี พ.ศ. 2517 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสุขาภิบาล ถัดมาเปลี่ยนแปลงเป็นเทศบาลในปี พ.ศ. 2545 โดยอยู่ภายใต้ความดูแลของเทศบาลเมืองแกนพัฒนา แบ่งการปกครองออกเป็นฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรม ฝ่ายการคลัง ฝ่ายสวัสดิการและสังคม และฝ่ายสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการกลางหมู่บ้าน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน และการรับคำสั่งการดำเนินการจากราชการ (น. 48)

          องค์กรที่จัดตั้งอย่างเป็นทางการในชุมชน ประกอบด้วย คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ซึ่งขึ้นตรงกับคณะกรรมการเทศบาลเมืองแกนพัมนา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่, ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) มีหน้าที่ในการรับผิดชอบด้านสาธารณสุขของชุมชน, กลุ่มยุวเกษตรกร เป็นกลุ่มที่ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ประเภท โค ไก่ สุกร ปลา กบ และการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เล็ก คือ เครื่องสูบน้ำและรถจักรยานยนต์, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร มีหน้าที่ในการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร, กลุ่มออมทรัพย์ มีหน้าที่ในการจัดการเงินออมเพื่อการเกษตร และกลุ่มเลี้ยงสัตว์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ไก่ สุกร ปลา โค กบ นกกระทา มีหน้าที่ในการจัดหาพันธุ์สัตว์สำหรับเกษตรกรในราคาถูก (น. 48-51)

Belief System

          ชาวไทเขินนับถือผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ร่วมกับการนับถือศาสนาพุทธ โดยมีศาลเสื้อบ้านเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน และมีวัดป่าไผ่ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2409 เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

          สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านนั้น ในการทำพิธีจะมีตั้งขาวหรือผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านเป็นผู้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพิธี อาทิ พิธีเลี้ยงผี ตั้งขาวจะต้องเป็นผู้ชายซึ่งเป็นมัคนายก พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ตั้งขาวจะต้องเป็นผู้หญิงอาวุโสในหมู่บ้าน (น. 38) อีกทั้งยังมีความเชื่อเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
- ความเชื่อเรื่องเสื้อบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาและขจัดภัยพิบัติแก่หมู่บ้าน มีการเลี้ยงเสื้อบ้านในเดือน 9 เหนือของทุกปี
- ความเชื่อเรื่องผีปู่ย่า ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งคอยดูแลให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีการเลี้ยงผีปู่ย่าในช่วงเดือน 9 เหนือ
- ความเชื่อเรื่องผีขุนน้ำ เชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาแม่น้ำที่ชาวบ้านในการเกษตร ชาวบ้านจะมีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำที่ห้วยออกรูทางด้านทิศตะวันออกของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในเดือนมิถุนายนของทุกปี
- ความเชื่อเรื่องผีไร่ผีนา เชื่อว่าจะต้องทำพิธีขออนุญาตเจ้าที่ก่อนการเพาะปลูกเพื่อให้ช่วยดูแลผลผลิตให้เจริญงอกงาม โดยมีการทำพิธี 2 ครั้ง คือ ก่อนทำการเกษตรและก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
- ความเชื่อเรื่องผีต้นข้าว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลต้นข้าวที่ออกรวงให้มีผลผลิตที่งอกงามสมบูรณ์ (น. 44-45)

ส่วนประเพณีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนานั้น ชาวไทเขินเข้าร่วมงานโดยมีวัดป่าไผ่เป็นศูนย์กลาง อาทิ
- ประเพณีกินข้าวใหม่ จัดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยชาวบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่มาทำบุญร่วมกันที่วัด
- ประเพณีกินข้าวใหม่ จัดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นการนำข้าวเปลือกมาทำบุญร่วมกันที่วัด โดยมีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปยังเทวบุตร เทวดา เจ้ากรรมนายเวร และผู้ล่วงลับ อีกทั้งยังเป็นการตอบแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ช่วยให้ผลผลิตเจริญงอกงามดี
- ประเพณีส่งผี จะทำเมื่อมีผู้เจ็บป่วย โดยชาวบ้านเชื่อว่าอาจเกิดจากผีต่าง ๆ มารบกวน การทำพิธีจะขอให้หมอพื้นบ้านทำพิธีส่งผีเพื่อให้อาการทุเลาลง
- ประเพณีสู่ขวัญ เป็นประเพณีที่ทำขึ้นหลังหายจากอาการเจ็บป่วย โดยเชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญกลับคืนมา และจะทำขึ้นในกรณีที่คนในครอบครัวจะต้องเดินทางห่างบ้านไปไกล เพื่อให้ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว (น. 43-46)

Education and Socialization

          ในอดีตพื้นที่บ้านป่าไผ่ มีการจัดตั้งโรงเรียนวัดป่าไผ่สำเริงราชกิจวิทยาขึ้นโดยนายหมื่น ตรากิจ เพื่อเปิดสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งในปี พ.ศ. 2527ได้มีประกาศ สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอแม่แตง สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติให้ยุบโรงเรียน (น. 41)

          ปัจจุบันได้มีการศึกษานอกระบบจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ความรู้และอบรมชาวบ้านเกี่ยวกับการเกษตร การปศุสัตว์ และการดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย สํานักงานปศุสัตว์อําเภอ สํานักงานประมงอําเภอ สํานักงานพัฒนาที่ดิน สำนักงานเกษตรอําเภอ และสํานักงานสาธารณสุข (น. 41-42)

Health and Medicine

          “พ่อหมอ” คือ หมอพื้นบ้านชาวไทเขิน (น. 2) โดยเป็นผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนด้านการแพทย์พื้นบ้าน (น. 5)
         
          หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการรักษาสุขภาพในพื้นที่บ้านป่าไผ่ ประกอบด้วย สถานีอนามัยตำบลช่อแล เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 คลินิกจำนวน 2 แห่ง และร้านขายยาจำนวน 2 แห่ง (น. 46-47) ในอดีตการรักษาด้วยหมอพื้นบ้านเป็นที่นิยมเนื่องด้วยโรงพยาบาลและสถานีอนามัยตั้งอยู่ภายในอำเภอซึ่งไกลจากหมู่บ้าน ปัจจุบันมีการรักษาในสถานพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบันมากยิ่งขึ้น (น. 52) แม้ว่าการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันจะเข้ามามีบทบาทต่อชาวไทเขิน แต่การรักษาโดยหมอพื้นบ้านยังคงมีบทบาททางด้านจิตใจ (น. 79)

          ชาวไทเขินในพื้นที่บ้านป่าไผ่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มหมอพื้นบ้านขึ้นภายในชุมชนเพื่อถ่ายทอดการเป็นหมอพื้นบ้าน โดยมีวิธีการรักษาด้วยการประกอบพิธีกรรม การนวด และการใช้ยาสมุนไพร โดยทางกลุ่มมีความกังวลการผิดต่อกฎหมาย จึงได้มีการไปสอบใบประกอบโรคศิลป์แผนโบราณเพื่อให้สามารถรักษาโรคถูกต้องตามกฎหมาย (น. 51) โดยปัจจุบันมีหมอพื้นบ้านเพียง 8 คนเท่านั้น (น. 56) อ้างถึง ยงยุทธ ตรีนุชกร (2531) สาเหตุที่ก่อให้เกิดการลดลงของการสืบทอดภูมิปัญญาการแพทย์ไทเขิน คือ ความนิยมของการแพทย์แผนตะวันตก และการออกกฎหมายควบคุมหมอพื้นบ้านของรัฐบาล ส่งผลให้ชาวบ้านไม่นิยมรักษาด้วยการแพทย์พื้นบ้าน และก่อให้เกิดการเผาทำลายตำราการแพทย์พื้นบ้านของหมอพื้นบ้าน (น. 2-3)

วิธีการรักษาด้วยหมอพื้นบ้าน
          การรักษาด้วยหมอพื้นบ้านไทเขินเป็นการรักษาด้วยการเสกหรือเป่ามนต์คาถา การนวด ร่วมกับการใช้และการรับประทานสมุนไพร สำหรับสมุนไพรที่ใช้ในการรักษา ได้แก่
- หมากพลู รากหญ้าตีนกา มะพร้าวห้าว มีสรรพคุณแก้บวม ฟกช้ำ
- น้ำมันมะพร้าว ยาดำ เกลือ หัวไพล มีสรรพคุณในการรักษาโรคอัมพฤกษ์
- เหง้าสับปะรด ดินประสิว รากหญ้าคา มีสรรพคุณในการรักษาโรคนิ่ว
- ขมิ้นแกง ขิง กระเทียม กระชายดำ-ขาว ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด พริกไทย ใบชะดัด เพ็ดสังฆาต มีสรรพคุณในการรักษาโรคริดสีดวงลำไส้
- ฟ้าทะลายโจร สังกะระณี มีสรรพคุณในการรักษาโรคภูมิแพ้ (น. 52-53)
นอกจากนี้ยังมีการเข้าทรงเพื่อสอบถามผีปู่ย่า จากนั้นรักษาตามที่หมอพื้นบ้านบอก หรือมีการทำกระทงใส่อาหาร ขนม รูปปั้น ดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อเป็นการส่งเคราะห์ โดยปัจจุบันยังคงทำนิยมควบคู่กับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน (น. 54)

ผู้ถ่ายทอดและผู้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
          ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน ประกอบด้วย กลุ่มบรรพบุรุษและเครือญาติ เนื่องด้วยในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งของ 3 ตระกูลหลักซึ่งเป็นชาวไทเขิน ทำให้ยังคงมีการสืบทอดการถ่ายทอดตามสายตระกูล รวมทั้งในปัจจุบันมีการสืบทอดนอกสายตระกูลจากผู้อาวุโสทั้งในและนอกชุมชน (น. 56), พระสงฆ์ เป็นผู้นำทางศาสนาที่มีความรู้ในการอ่านปั๊บสาใบลานซึ่งมีการบันทึกตำรายา (น. 56) และชาวพม่าซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านการแพทย์ที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง (น. 57) โดยกลุ่มผู้รับการถ่ายทอดนั้น ส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ (น. 75)

วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
          ในอดีตส่วนมากเป็นการถ่ายทอดความรู้การแพทย์พื้นบ้านภายในสายตระกูลหรือเครือญาติเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการถ่ายทอดสู่บุคคลภายนอกตระกูลมากขึ้นโดยมีพิธีและขั้นตอนในรับใช้หมอพื้นบ้านเพื่อทดสอบความอดทน ความตั้งใจ ก่อนการได้รับความรู้ควบคู่การฝึกคุณธรรม (น. 57, 62) ผ่านการบอกเล่าแล้วจดจำ (น. 56) และการฝึกปฏิบัติ โดยการติดตามหมอพื้นบ้านเข้าป่าเพื่อหาสมุนไพร เพื่อจดจำลักษณะรวม ทั้งแหล่งที่มา (น. 56) อีกทั้ง ยังพบการถ่ายทอดจากพระสงฆ์ด้วยการบอกเล่าตำรายาจากปั๊บสาใบลาน โดยมีการให้จดจำด้วยภาษาไทยถิ่นเหนือ (น. 57)
          นอกจากนี้ ยังพบการถ่ายทอดในรูปแบบใหม่ คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหมอพื้นบ้านด้วยกัน (น. 57) และการเรียนรู้ผ่านการจัดกระบวนการจากหน่วยงานภายนอกชุมชน อาทิ การศึกษาดูงาน การฝึกอบรม การจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างหมอพื้นบ้านและนักวิชาการ (น. 61, 65)

วิธีการเรียนรู้ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
          วิธีการเรียนรู้ มีทั้งการเรียนรู้รายบุคคล ทั้งเพื่อเป็นหมอพื้นบ้านและเพียงเพื่อให้มีความรู้ติดตัวในเบื้องต้น (น. 58) การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ผ่านการเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ (น. 58) และการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ทั้งภายในครอบครัว และภายนอกครอบครัว (น. 59) โดยการเรียนรู้เป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ (น. 67) ด้วยวิธีผู้ใหญ่สั่งสอนผู้น้อย (น. 73)

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
          ผู้ถ่ายทอดมีความเชื่อเรื่องศิษย์ล้างครู และความเชื่อเรื่องอายุของผู้ถ่ายทอดจะสั้นลง จึงนิยมถ่ายทอดความรู้เมื่อมีอายุมากแล้ว (น. 56) ทั้งนี้ พบความเชื่อในการถ่ายทอดที่สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยก่อนการถ่ายทอดจะต้องมีการตั้งขันครู บูชาดอกไม้ ธูป เทียน และกล่าวคำประกาศิตในพระเวทย์ คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หากทำชั่วจะส่งผลให้วิชาความรู้เสื่อมลง (น. 65) อีกทั้ง หากผู้ถ่ายทอดเป็นพระสงฆ์ จะมีพิธีกรรมในการถ่ายทอดที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ โดยมีการไหว้พระพุทธรูปและการกล่าวคำสาบานเพื่อรักษาสัจจะ และกระทำความดี ละเว้นความชั่ว ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจบริสุทธิ์และมีคุณธรรม (น. 59) และมีความเชื่อเรื่องการได้รับบาปหากลูกศิษย์นำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดศีลธรรม (น. 60)

          ในกระบวนการเรียนรู้ ปรากฏความเชื่อเรื่องการเรียนตามตำรา โดยวันจันทร์เรียนความรู้ทางเมตตา วันอังคารเรียนคาถาอาคม วันพฤหัสบดีเรียนเกี่ยวกับยา (น. 65) อีกทั้งยังมีความเชื่อเรื่องการเก็บสมุนไพรตามวันและเวลา (ตารางที่ 1 น. 55) การเก็บตามฤดูกาล คือ เก็บรากและแก่นในฤดูร้อน เก็บลูกและดอกในฤดูฝน เก็บเปลือก กระพี้ และเนื้อไม้ในฤดูหนาว อีกทั้ง ยังมีการเก็บตามทิศ โดยทิศเหนือเก็บในวันพฤหัสบดี ทิศตะวันออกเก็บในวันอังคารและวันอาทิตย์ ทิศตะวันตกเก็บในวันจันทร์และวันเสาร์ ทิศใต้เก็บในวันพุธและวันศุกร์ (น. 55)
สำหรับข้อกำหนดและข้อห้ามของผู้รับการถ่ายทอดนั้น มีข้อห้ามรับประทานอาหารในงานศพ ต้องมีสมาธิและตัดความกำหนัดระหว่างรักษาผู้ป่วย (น. 65) อีกทั้ง ยังมีข้อจำกัดในการถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมให้ผู้รับการถ่ายทอดที่สัมพันธ์กับวันเกิด ดวงเกิด สภาพจิตใจ และการปฏิบัติตน (น. 66)

ความเปลี่ยนแปลงของภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน
          ความเปลี่ยนแปลงด้านการหาวัตถุดิบ ในอดีตป่ามีความอุดมสมบูรณ์สามารถหาสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาทั้งหมดได้จากป่า แต่ปัจจุบันสมุนไพรบางอย่างไม่สามารถหาได้แล้ว อีกทั้งสืบเนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวพม่า ทำให้ต้องสั่งซื้อสมุนไพรบางอย่างที่ไม่สามารถหาได้จากในชุมชนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจากชาวไทใหญ่ (น. 57)
          ในอดีตมีการหวงวิชาความรู้ซึ่งเป็นของบรรพบุรุษ ปัจจุบันมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนนอกครอบครัวมากยิ่งขึ้น (น. 59) และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในลักษณะเครือข่ายการเรียนรู้ (น. 76)

          ปัจจุบันมีกฎหมายในการควบคุมการรักษาโรค โดยมีข้อกำหนดเรื่องใบประกอบโรคศิลป์แผนโบราณ กระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้หมอพื้นบ้านชาวไทเขินต้องเข้ารับการอบรมจากสมาคมผู้ประกอบโรคศิลป์แผนโบราณภาคเหนือใน 2 สาขาวิชา คือ เภสัชกรรมแผนโบราณและเวชกรรมแผนโบราณ และเข้ารับการทดสอบเพื่อให้สามารถเปิดรักษาโรคได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเพียงหมอพื้นบ้านชาวไทเขินในพื้นที่บ้านป่าไผ่จำนวน 1 คนเท่านั้น ที่ผ่านการทดสอบและได้รับใบประกอบโรคศิลป์แผนโบราณ (น. 66-67)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มี

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มี

Social Cultural and Identity Change

ชาวไทเขินในบ้านป่าไผ่มีเครือญาติหลัก 3 ตระกูล คือ ตระกูลมูลแฝง ตระกูลพรมปัญญา และตระกูลยานะ (น. 39)

Critic Issues

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตาราง
-    ภูมิปัญญาการเก็บยาตามวันและเวลา (น. 55)
แผนผัง
-    เครือข่ายการเรียนรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชนบ้านป่าไผ่ (น. 71)
-    การถ่ายทอดการเรียนรู้ของหมอพื้นบ้านในชุมชนและนอกชุมชนบ้านป่าไผ่ (น. 63)
-    เครือข่ายการเรียนรู้ของหมอพื้นบ้านบ้านป่าไผ่และนอกชุมชนบ้านป่าไผ่ (น. 64)
แผนที่
-    ที่ตั้งและแผนที่ชุมชนหมู่บ้านป่าไผ่ (น. 99-102)
ภาพถ่าย
-    หอเจ้าบ้านป่าไผ่ (น. 104)
-    แท่นบูชาครูของหมอพื้นบ้านชาวไทเขิน (น. 105-107)
-    สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคของชาวไทเขิน (น. 111-112, 114, 116)
-    พิธีกรรมการเลี้ยงผี (น. 118)

Text Analyst พิสุทธิลักษณ์ บุญโต Date of Report 24 ก.ย. 2563
TAG ไทเขิน, ภูมิปัญญาการแพทย์, เชียงใหม่, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง