สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject การประกอบสร้างอัตลักษณ์, การศึกษา, การบูรณาการแห่งชาติ, ชุมชนชาติพันธุ์, ชุมชนก๊กมินตั๋ง, บ้านถ้ำสันติสุข, จีนยูนนาน, จีนฮ่อ, เชียงราย, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author Sachiko Nakayama
Title การศึกษา, การประกอบสร้างอัตลักษณ์และการบูรณาการแห่งชาติในชุมชนชาติพันธุ์: กรณีศึกษาจีนยูนนานบ้านถ้ำสันติสุข อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity จีนยูนนาน จีนฮ่อ มุสลิมยูนนาน, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Theses) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 124 Year 2546
Source Education, Identity Construction and National Integration in an Ethnic Community: A Case Study of Yunnanese Chinese in Ban Tham Santisuk Village, Mae Sai District, Chiang Rai Province. / Sachiko Nakayama.
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลผสมผสาน ได้แก่ การสัมภาษณ์แบบทางการ การสัมภาษณ์แบบไม่ทางการ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม รวมทั้งการศึกษาข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการใช้แบบสอบถาม โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชื่อมโยงกันและใช้วิธีการอธิบายเชิงพรรณนา (น. vi)
ผลการศึกษาพบว่า นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อกลุ่มจีนยูนนานก๊กมินตั๋ง พัฒนาควบคู่มากับกิจกรรมทางทหารก๊กมินตั๋งในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นสมาชิกของหน่วยป้องกันพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยความมั่นคงของชาติ และร่วมต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้กองทัพก๊กมินตั๋งและชาวจีนยูนนานมีสิทธิพิเศษในการปกครองตนเอง และธำรงวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชนได้เป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งถึงตอนต้นของ ค.ศ. 1980เมื่อกองทัพก๊กมินตั๋งได้หมดบทบาทและความสำคัญในการร่วมรักษาอธิปไตยของชาติไทยลง รัฐบาลไทยจึงได้เริ่มใช้นโยบายรวมชาติต่อกลุ่มจีนยูนนานก๊กมินตั๋ง (น. vi-vii)
ซึ่งผลจากการส่งเสริมนโยบายรวมชาติตั้งแต่กลางปีคริสตทศวรรษ 1980โดยเฉพาะจากการศึกษาภาคบังคับของโรงเรียนไทย ได้ส่งผลให้ชุมชนก๊กมินตั๋งได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกของตนเอง โดยมีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมไทยและสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงถือว่าตนเองคือ ชาวจีนยูนนาน ซึ่งระดับความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองของกลุ่มจีนยูนนาน จะมีความแตกต่างกันไปตามความรู้สึกของคนแต่ละรุ่น (น. vii)
ภายใต้สถานการณ์ที่อยู่ท่ามกลางการกลืนกลาย ซึ่งทำให้ชุมชนจีนก๊กมินตั๋ง สามารถธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้ก็คือ การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่เข้มแข็งภายในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนจีนที่ให้ความสำคัญและให้คุณค่าต่อการรักษาและส่งผลต่อวัฒนธรรม รวมทั้งการส่งเสริมให้เข้าศึกษาในโรงเรียนจีนดังกล่าว นอกจากความสำคัญของการได้เปรียบในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว โรงเรียนจีนยังมีบทบาทอย่างยิ่งในฐานะเป็นสถาบันที่ส่งต่อและเสริมสร้างความมีศักดิ์ศรีในวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางและยุทธวิธีสำคัญในการดำรงอยู่ในสังคมไทยในฐานะชนกลุ่มน้อยของประเทศ (น.vii)
จากการให้คุณค่ายึดมั่นและศรัทธาในโรงเรียนจีน ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางด้านวัฒนธรรมหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ กลุ่มชาวจีนยูนนานก๊กมินตั๋ง ยังจะคงสภาพความเป็นกลุ่มทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนเรียนรู้กระแสความเป็นไทยในไปในเวลาเดียวกัน

Focus

การศึกษาวิจัยต้องการทำความเข้าใจกระบวนการประกอบสร้างอัตลักษณ์กับการบูรณาการแห่งชาติในชุมชนชาติพันธุ์จีนฮ่อ (จีนยูนนาน) บ้านถ้ำสันติสุข อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยต้องการระบุความสัมพันธ์เชิงการเมืองและนโยบายระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มการเมืองก๊กมินตั๋งในอดีต และอธิบายกระบวนการและความซับซ้อนในการแสดงตัวตนของชาวจีนก๊กมินตั๋งท่ามกลางภาวการณ์กลืนกลายทางวัฒนธรรมภายในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมไทย รวมทั้งเพื่อสำรวจคุณค่าและความคาดหวังของคนในหมู่บ้านถ้ำสันติสุขที่มีต่อระบบโรงเรียนจีนซึ่งเป็นสถาบันหลักของชุมชนอันมีบทบาทอย่างมากในเรื่องเศรษฐกิจและและการธำรงวัฒนธรรมจีนยูนนาน

Theoretical Issues

กรอบมโนทัศน์หลักที่ใช้ในการศึกษางานชิ้นนี้เพื่อวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการรวมชาติของรัฐที่มีผลต่อการปรับตัวของกลุ่มทางวัฒนธรรมภายใต้พรมแดนของรัฐ คือ แนวความคิดว่าด้วย ชุมชนจินตกรรม กับการระบุอัตลักษณ์แห่งตน

กลุ่มที่เล็กกว่าได้รับการกำหนดชื่อโดยกระบวนการจัดประเภทของรัฐ ทำให้วัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านี้ก็มีลักษณะที่ด้อยกว่าวัฒนธรรมหลัก วิธีการเช่นนี้ทำให้สมาชิกของกลุ่มที่เล็กกว่าสูญเสียศักดิ์ศรีในวัฒนธรรมแห่งตนหรือแม้กระทั่งรู้สึกเชิงลบกับสภาวการณ์เป็น “กลุ่มชาติพันธุ์” ทั้งนี้ รัฐชาติได้ผนวกรวมผู้คนเข้าสู่กลุ่มทางสังคมระดับชาติด้วยการพยายามลบล้างวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่แตกต่าง (น. 25)

รัฐไทยได้รับเอากระบวนการภาวะเอกรูปด้วยการปลูกฝังสำนึกความเป็นเจ้าของแก่ “ชุมชนจิตกรรม” ผ่านการส่งเสริมโครงการพัฒนา การจัดประเภท และการควบคุมสถาบันสื่อและการศึกษา เอกลักษณ์แห่งชาติได้รับการปลูกฝังให้แก่ประชาชนในรัฐด้วยภาษาผ่านโรงเรียนหรือการศึกษาระดับชาติ และในท้ายที่สุดประชาชนในรัฐก็ได้อนุมานความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน (น. 25) อย่างไรก็ดี ยิ่งรัฐพยายามกำหนดอุดมการณ์แห่งชาติแก่กลุ่มชาติพันธุ์มากเท่าไร ก็ยิ่งให้เกิดการส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมภายในกลุ่มบนพื้นฐานของลักษณะทาง “วัฒนธรรม” อาทิ ศาสนา ภาษา และชาติ เพื่อที่จะไม่ซึบซับเอาระบบความเป็นไทยผ่านโรงเรียน กลุ่มชาติพันธุ์ได้จัดตั้งโรงเรียนตามค่านิยมทางวัฒนธรรมของตนเอง (น. 25-26) เพื่อแยกตนเองออกจากกลุ่มทางสังคมระดับชาติ

ความท้าทายนี้เกิดขึ้นก็เพราะอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเพียงเท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญของการระบุตัวตนซึ่งมีระดับเพิ่มขึ้นผ่านการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างรัฐและระหว่างกลุ่มอื่น ๆ เช่นเดียวกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนเดียวกัน ลักษณะทั้ง 3นี้ที่ประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์นี้ยังเป็นปัจจัยหลักในการก่อรูปของชุมชนจินตกรรม “กลุ่มทางวัฒนธรรม” “รัฐ” “และกลุ่มทางวัฒนธรรมอื่น” มีพื้นที่ร่วมกันสามารถข้ามพรมแดนระหว่างกัน แต่อาจไม่สามารถข้ามไปสู่พรมแดนของกลุ่มอื่นที่มิได้มีลักษณะอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ร่วมกัน (น. 26)

แม้ว่าจะเป็นสมาชิกของกลุ่มเดียวกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ผู้คนในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน บางกลุ่มทางวัฒนธรรมอาจรู้สึกใกล้ชิดกับรัฐชาติมากกว่าชุมชนทางวัฒนธรรม บางกลุ่มอาจมีอัตลักษณ์ร่วมกับ “กลุ่มทางวัฒนธรรมอื่น”   (น. 26) ดังนั้น สิ่งที่ผู้คนใน “กลุ่มทางวัฒนธรรม” ซึ่งสามารถข้ามพรมแดนระหว่างกันได้มีร่วมกันนั้น กับสิ่งที่ผู้คนใน “ชุมชนจินตกรรม” (นั่นคือ กลุ่มทางวัฒนธรรม รัฐ และกลุ่มทางวัฒนธรรมอื่น) มีร่วมกันจริง ๆ ก็คือ การที่สมาชิกของ “ชุมชนจินตกรรม” นี้อาศัยอยู่ด้วยกันในอาณาเขตเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่แต่ละกลุ่มมมีร่วมกันและแบ่งปันกัน

Ethnic Group in the Focus

จีนยูนนาน จีนก๊กมินตั๋ง หรือจีนฮ่อ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ถูกระบุถึงในการศึกษาครั้งนี้

“ฮ่อ” เป็นคำที่ใช้ในหมู่กลุ่มผู้พูดภาษาไท/ไตในภาคเหนือของไทย ลาว รัฐฉานในพม่า สิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน เพื่อระบุถึงกลุ่มคนจีนยูนนาน ที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่และเชียงราย (น. 3) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนศาสนามุสลิมเชื้อสายตุรกีในดินแดนยูนนาน ในเชียงใหม่ ชุมชนจีนยูนนานเป็นที่รู้จักในเชียงใหม่ในฐานะชุมชนมุสลิม เรียกว่า บ้านฮ่อ 

ต่อมาช่วงคริสตศตวรรษที่ 20ภาพของชุมชนชาวฮ่อได้เปลี่ยนไปจากการเข้ามาของกองกำลังจีนชาตินิยมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากยูนนานในภาคเหนือของไทยที่ล่นมาจากบริเวณชายแดนพื้นที่สูงไทย-พม่า-ลาว แม้ว่าพวกเขาจะมิใช่ชาวมุสลิม “ฮ่อ” ในความหมายเดียวกันกลุ่มที่เข้ามาก่อนหน้านี้ แต่ก็ถูกเรียกว่า “ฮ่อ” โดยคนท้องถิ่น เนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันและจากภาษายูนนานนีส (น. 3) อย่างไรก็ดี เมื่อแรกเข้าตั้งถิ่นฐาน ชาวจีนยูนนานก๊กมินตั๋งกับชาวจีนท้องถิ่นหรือ “ฮ่อ” ในจังหวัดเชียงรายรับรู้ระหว่างกันว่าเป็นคนละกลุ่มคนด้วยเหตุผลทางการเมือง (น. 32)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาจีนแมนดารีน (น. 91-92) โรงเรียนสอนด้วยภาษาจีนแมนดารีนถูกตั้งขึ้นในหมู่บ้านถ้ำสันติสุข ชาวบ้านคนอื่น ๆ ต้องการส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนจีนเพื่อมิให้ลืมภาษาของตนเอง นอกจากนี้ ชาวบ้านอาวุโสที่ได้รับการศึกษายังมีบทบาทสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนในโรงเรียน

ภาษาในหมู่บ้านคือ ภาษาจีนถิ่นยูนนาน (น. 110)

อ้างอิงจากข้อมูลของหมู่บ้านในปี 2001 เกี่ยวกับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนภาษาจีนบ้านถ้ำสันติสุข (น. 95) นักเรียนส่วนใหญ่พูดภาษาจีนเป็นภาษาครอบครัว (ภาษาระดับครัวเรือนหรือภาษาแรก) รองลงมาคือ ภาษาไทย และภาษาอื่น ๆ

Study Period (Data Collection)

1 ปี 9 เดือน จากเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 (น. 11-12)

History of the Group and Community

ชาว “ฮ่อ” ที่ผู้วิจัยได้ศึกษา คือ กลุ่มจีนยูนนานที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังจีนชาตินิยม หรือ กลุ่ม “ก๊กมินตั๋ง” จากนั้นเชื้อสายของพวกเขาได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อมากว่า 40ปี จำนวนประชากรในปี 1994มีจำนวนกว่า 889,018คน มีทั้งทหารแห่งชาติและผู้ติดตามในครอบครัวและผู้อพยพทางการเมืองชาวยูนนาน กระจัดกระจายอยู่ใน 77หมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน (Chang, 1999) (น. 4) ซึ่งในการศึกษานี้ กลุ่มชาวจีนยูนนานหรือฮ่อ จะได้รับการเรียกว่า จีนยูนนานก๊กมินตั๋ง

กระแสอพยพของผู้ลี้ภัยชาวยูนนานดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงคริสตศตวรรษ 1960และจำนวนของชาวยูนนานก๊กมินตั๋งบริเวณชายแดนที่สูงก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (น. 4)

ประวัติศาสตร์ของบ้านถ้ำสันติสุขสามารถแบ่งออกได้ 4ระยะ ตามช่วงเวลาทางการเมืองของหมู่บ้าน
ระยะที่ 1(1954-1964) อยู่ภายใต้การนำของนายพล Leeซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ระยะนี้ครอบคลุมช่วงเวลานับแต่ชาวบ้านอพยพมาถึงบ้านถ้ำสันติสุขถึงการเข้ามากองกำลังชาตินิยมอีกสองกลุ่ม (น. 28) หลังจากปี 1949เมื่อรัฐบาลชาตินิยมในไต้หวันได้รับการสถาปนา สองกองกำลังทหารก๊กมินตั๋งได้หนีเข้าสู่รัฐฉาน พม่า ได้ก่อตั้งกองกำลังใต้ดินและกองกำลังปกป้องตนเอง กิจกรรมเคลื่อนไหวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติได้เข้าแทรกแซงหน่วยของกำลังทั้งสอง ส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายสู่พื้นที่สูงชายแดนไทย-พม่าและตั้งฐานทัพทหารเพื่อรอโอกาสในการรวบรวมกำลังในประเทศจีนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (น. 29) กลุ่มผู้อาศัยดั้งเดิมของหมู่บ้านถ้ำสันติสุขส่วนหนึ่งมาจากฐานทัพทหารดังกล่าว เมื่อกองทัพได้ให้ครอบครัวและผู้ติดตามของทหารสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งบ้านเรือนยังที่ราบของประเทศไทยได้ ซึ่งได้รับการอนุญาตจากทางการไทย บ้านถ้ำสันติสุขกลายมาเป็นแรก ๆ ในบรรดาหมู่บ้านก๊กมินตั๋ง อย่างเป็นทางการในห้วงปีทศวรรษ 1950(น. 31) การตอบสนองของรัฐบาลไทยขณะนั้นให้ความสนใจเพียง แทรกแซง และสนับสนุนเพียงเล็กน้อย หลังจากตั้งถิ่นฐานได้เพียงหนึ่งปี บ้านถ้ำสันติสุขอยู่ภายใต้การดูแลของทหารไทย ตำรวจตระเวนชายแดนได้เข้ามาตั้งสถานีตำรวจในหมู่บ้านเพื่อคอยสอดส่องชาวจีนก๊กมินตั๋ง ภายหลังนายพล Leeในฐานะผู้นำหมู่บ้านได้ขอให้ตำรวจตระเวนชายแดนออกเอกสารทางราชการชนิดชั่วคราวแก่ชาวจีนยูนนานก๊กมินตั๋งในหมู่บ้าน ทำให้สามารถออกจากหมู่บ้านและทำงานในช่วงเวลากลางวันได้ (SPACS, 1996) นายพล Lee ยังได้จัดการและพัฒนาสถาบันการศึกษาขึ้นในหมู่บ้านด้วย มีการสอนบทเรียนภาษาจีนถึงขั้นประถมศึกษา (น. 31) แม้ว่าจะมีความอยากลำบากในการติดต่อสื่อสารกับทางการไทย
การตั้งหมู่บ้านถ้ำสันติสุขยังเต็มไปด้วยความยากลำบากแม้ว่าจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ดีขึ้นกว่าตอนที่อยู่บนพื้นที่ภูเขา แม้ว่าจะได้รับบัตรทางราชการชั่วคราว แต่ความเสถียรหรือความปลอดภัยก็ยังไม่เกิดขึ้นในระยะนี้ ชาวบ้านทหารก๊กมินตั๋งยังคงต้องออกจากหมู่บ้านไปต่อสู้กับคอมมิวนิสต์บริเวณชายแดนไทยแล้วกลับเข้าหมู่บ้านมาเป็นครั้งคราวอย่างไม่แน่นอน ชาวบ้านยังกลัวการถูกปองร้ายและปล้นทรัพย์จากคนไทยท้องถิ่น บางครั้งคนไทยก็เข้ามาขโมยปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้โดยชาวบ้าน เงื่อนไขภายในหมู่บ้านมิได้เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย ถนนเส้นทางเดียวของหมู่บ้านไม่สามารถสัญจรได้ในหน้าฝน ชาวบ้านต้องใช้ควายแทนการเดินเท้า (น. 33-34)

ระยะที่ 2(1964-1975) ช่วงเวลาแห่งการลงหลักปักฐาน หมู่บ้านอยู่ภายใต้การนำของนาย Wanเทียบได้กับช่วงเวลาตั้งแต่การเข้ามาของสองกลุ่มกองกำลังก๊กมินตั๋ง ถึงช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับรัฐบาลชาตินิยมในไต้หวันเริ่มเย็นชาขึ้นในปี 1975(น. 28) ช่วงเวลานี้ ผู้อพยพจากก๊กมินตั๋งจากกองทัพที่ 3 และ 5จำนวนมากที่ปฏิเสธการปลดอาวุธเคลื่อนย้ายจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนกว่า 2,600 คน เข้าสู่ภาคเหนือของไทยในปี 1962(น.34) สมาชิกก๊กมินตั๋งจำนวนหนึ่งได้รับอนุญาตชั่วคราวให้พักอาศัยเพื่อช่วยในการกำจัดคอมมิวนิสต์บริเวณชายแดนไทย อย่างไรก็ดี การดำเนินอยู่ของทหารก๊กมินตั๋งบริเวณชายแดนไทย-พม่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของไทย ก็เพราะกองกำลังชาตินิยมดังกล่าวเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น รัฐบาลไทยจึงขอให้รัฐบาลไต้หวันรับผิดชอบต่อกองกำลังก๊กมินตั๋ง ภายหลังจากการเจรจาผู้นำทหารของสองกองกำลังในไทยได้รับการส่งตัวกลับไต้หวันและปลดกองกำลังในไทย อย่างไรก็ดี 2ผู้นำได้ปฏิเสธและได้ร้องขอสถานะผู้รี้ภัยในไทย รวมถึงสัญญาว่าจะร่วมกับรัฐไทยในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และจะปฏิบัติตนอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย (Chang, 1999) (น.35) รัฐบาลไทยตอบสนองโดยการให้สถานะชั่วคราวแก่ผู้นำทั้ง 2เนื่องจากในช่วงเวลานั้นประเทศไทยประสบปัญหาการกำจัดกลุ่มคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ การดำรงอยู่ของกลุ่มชาตินิยมก๊กมินตั๋งบริเวณชายแดนจึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงภายในประเทศ

มีการสร้างอาคารสาธารณะ อาทิ ศูนย์สุขภาพ, ศูนย์สวัสดิการ, โรงเรียนภายในหมู่บ้านก๊กมินตั๋ง เด็กในหมู่บ้านได้รับการส่งเสริมให้เข้าเรียนในโรงเรียนไทย โดยรัฐบาลไทยคาดหวังว่าการสนับสนุนการศึกษาจะช่วยขจัดองค์ประกอบทางทหารให้หมดไปจากหมู่บ้าน โรงเรียนจีนทั้งหมดในหมู่บ้านก๊กมินตั๋งถูกสั่งให้ปิดตัวลงทั้งหมด มิฉะนั้นจะต้องจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายและดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ (น.36) ในระยะนี้จึงจะเห็นนโยบายของรัฐไทยที่ปฏิบัติต่อกลุ่มกองกำลังก๊กมินตั๋งอย่างชัดเจน เมื่อรัฐไทยมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศเชิงทุนนิยม บริเวณดังกล่าวจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ ยิ่งทำให้กองกำลังก๊กมินตั๋งทวีความสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังสรรหาทหารก๊กมินตั๋งเพื่อต่อสู้กับรัฐคอมมิวนิสต์เหมาเจ๋อตุง ขณะที่รัฐไทยเองก็พยายามติดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีน ในลักษณะเช่นนี้ นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อกลุ่มชาวจีนยูนนานก๊กมินตั๋งจึงไม่สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศแต่อย่างไร (น.37)

เมื่อชายแดนไทยกับพม่าได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดจึงส่งผลต่อความฝันของชาวบ้านก๊กมินตั๋งที่จะกลับสู่ดินแดนจีนทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มพัฒนาจากที่พักชั่วคราวเป็นหมู่บ้านถาวร หมู่บ้านก๊กมินตั๋งในไทยยังได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลไต้หวัน หมู่บ้านจึงสามารถพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคขึ้นมาได้ รวมถึงวัดจีนและโรงเรียนจีนด้วย รัฐบาลไต้หวันยังสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กเชื้อสายยูนนานในหมู่บ้านก๊กมินตั๋งเพื่อให้ศึกษาในประเทศไต้หวันจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (น.37)

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านมีความเสถียรมากขึ้น คนในหมู่บ้านจึงเริ่มวางแผนการอยู่อาศัยระยะยาวและขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ผู้ชายในหมู่บ้านได้รับเงินเดือน ๆ ละ 20 บาทสำหรับกิจกรรมทางทหาร แม้จะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภายในครอบครัว พวกเขายังผันตัวมาเป็นแรงงาน เช่น ตัดต้นไม้, ส่งน้ำแข็งและสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย ส่วนผู้หญิงรับจ้างทำงานที่เบากว่าหรือทำงานบ้าน เด็กในหมู่บ้านเมื่อเติบโตขึ้นแล้วจำเป็นต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อหางานทำ ส่วนงานที่ให้กำไรที่สุดคือการระหว่างชาวยูนนานในประเทศพม่าและลาว และระหว่างหมู่บ้านก๊กมินตั๋งอื่นๆ ในประเทศไทย สินค้าเหล่านั้น ได้แก่ อุปกรณ์การเรียน, ของเล่น, เสื้อผ้าและอื่น ๆ รวมไปถึงหยกและเพชร (น.38) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็ก ๆ ชาวยูนนานจะเข้าศึกษาในหลักสูตรไทยแต่ก็ไม่มีผู้ใดบังคับให้เด็กในหมู่บ้านก๊กมินตั๋งพูดเฉพาะไทยหรือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทหารไทย สิ่งที่ได้รับเน้นย้ำในโรงเรียนคือการเรียนรู้เกี่ยวกับคนไทยและวัฒนธรรมไทย (น.38) ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลไทยเชื่อใจชาวยูนนานก๊กมินตั๋งในการปกป้องความมั่นคงของรัฐจากลัทธิคอมมิวนิสต์บริเวณชายแดน (น.39)

ระยะที่ 3(1975-1988) ช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพ หมู่บ้านอยู่ภายใต้การนำของนาย Jenครอบคลุมช่วงเวลาจากการสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันจนถึงช่วงปลดอาวุธของกองกำลังที่ 5ซึ่งเกิดจากการต่อรองระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลไต้หวัน (น. 28) ภายหลังรัฐบาลไต้หวันประกาศยุติความรับผิดชอบต่อชาวก๊กมินตั๋งในประเทศไทย รัฐบาลไทยให้การรับรองสถานะสาธารณรัฐประชาชนจีน ความสัมพันธ์รัฐไทยและรัฐบาลไต้หวันก็ได้เปลี่ยนไปด้วย ส่วนชาวก๊กมินตั๋งในไทยได้ถอนตัวจากภารกิจทหารและกลับมาใช้ชีวิตในหมู่บ้าน ควบคุมการค้าข้ามแดนระดับภูมิภาค ให้การคุ้มครองพ่อค้าชายแดนและสินค้าทำกำไรสูง นั่นคือ ฝิ่นดิบและหยก ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบบริเวณชายแดนและการเคลื่อนไหวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศ ทหารก๊กมินตั๋งในหมู่บ้านก็ยังคงได้รับการเรียกใช้จากรัฐบาลไทยตลอดช่วงปีทศวรรษ 1970(น. 39-40) ความสำเร็จในการช่วยเหลือทางทหารของชาวจีนยูนนานก๊กมินตั๋ง ส่งผลให้คุณค่าและความภักดีที่มีต่อประเทศไทยของพวกเขาเป็นที่ยอมรับ และได้รับสัญชาติไทยในเวลาต่อมา  ส่วนผู้ที่เข้าเมืองหลังปี 1978ได้รับสถานะชั่วคราวในฐาน ชาวยูนนานอิสระ หรือ “ฮ่ออิสระ” (น. 40)

เมื่อสิ้นสุดการควบคุมทางการทหารที่มีต่อหมู่บ้านก๊กมินตั๋งในปี 1984เกิดการดำเนินงาน “โครงการสถานภาพทางกฎหมาย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการแห่งชาติ (น. 41) รัฐบาลไทยพยายามแนะนำแนวทางการอาศัยในประเทศไทยในฐานะพลเมืองด้วยการเรียนรู้ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย มารยาทไทย ประเพณีและธรรมเนียมไทย ได้ชี้นำ “ความเป็นไทย” แก่ชาวก๊กมินตั๋งรุ่นหลัง ซึ่งมีศักยภาพสูงในการที่จะกลายมาเป็นคนไทยผ่านระบบการศึกษาไทย ส่วนโรงเรียนจีนได้รับการยกเลิก (น. 41) หากไม่รับเอาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเข้าไว้ในการเรียนการสอนก็จะไม่สามารถสอนภาษาจีนในโรงเรียนได้ ซึ่งเป็นเวลา 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในเวลาต่อมามีผู้อพยพย้ายถิ่นกลุ่มอื่น เช่น ชาวยูนนานจากพม่า ชาวพม่า ชาวเขา (อาข่า) เข้า-ออกหมู่บ้านถ้ำสันติสุข

ในปี 1984กองตำรวจตระเวนชายแดนไทยถอนตัวออกหมู่บ้าน เมื่อหมู่บ้านถ้ำสันติสุขได้กลายมาเป็นหมู่บ้านไทยอย่างเป็นทางการ (น. 43) ทั้งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย 

อ้าง Chiang (1999) เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไต้หวันกับรัฐบาลไทยพัฒนาขึ้นอีกครั้ง คนในหมู่บ้านถ้ำสันติสุขจึงได้รับการช่วยเหลือทางการเงินและโครงการพัฒนาช่วยเหลืออีกครั้งจากไต้หวัน (น. 44) มีการสนับสนุนโครงการด้านเกษตรกรรม การศึกษา การดูแลทางการแพทย์ สาธารณูปโภค การก่อสร้าง และการอาชีพ จนถึงปี 1994ซึ่งทำให้คนในหมู่บ้านมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ระยะที่ 4(1988-ปัจจุบัน) ระยะการบูรณาการแห่งชาติของรัฐไทย  โดยนับจากการขจัดองค์ประกอบทั้งหมดของกองกำลังก๊กมินตั๋งในหมู่บ้าน ภายใต้การนำของนาย Huang (น. 28) ซึ่งพยายามผลักดันประเด็นเรื่องบัตรประชาชนสัญชาติไทย แม้ว่าจะมีการปรับปรุงระเบียบเมื่อปี 1991ให้ชาว “ฮ่ออิสระ” สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ แต่ก็ยังอยู่สถานะผู้ลี้ภัยผิดกฎหมาย ซึ่งในจำนวนนี้รวไปถึงทหารยูนนานก๊กมินตั๋งที่ร่วมต่อสู่คอมมิวนิสต์ที่พลาดโอกาสในการขึ้นทะเบียนก่อนการประกาศลักษณะประเภท “ฮ่ออิสระ” ของรัฐในภายหลัง บ้างได้รับบัตรชาวเขาด้วยกระบวนการที่ผิดพลาด หรือไม่มีบัตรใด ๆ เลย ด้วยความพยายามของ นาย Huangในฐานะผู้นำ ในปี 1996ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็น “ชาวฮ่ออิสระ” ได้รับบัตรต่างด้าว ออกโดยราชการไทย

Settlement Pattern

จากถนนเส้นหลัก เมื่อเดินทางเข้าสู่บ้านถ้ำสันติสุขจะผ่านหมู่บ้านคนไทยก่อน  เมื่อถึงบ้านถ้ำสันติสุขจะพบว่า ด้านหน้าและท้ายหมู่บ้านมีประตูหมู่บ้านแบบจีนเขียนว่า “ยินดีต้อนรับสู่บ้านถ้ำสันติสุข” ทั้งภาษาไทยและจีน บ้านเรือนมีลักษณะสองชั้น มีเสาสองต้นหน้าบ้าน ประดับแถบยาวสีแดงมีบทกลอนจีนเขียนโดยหัวหน้าครอบครัวติดไว้ ตัวบ้านมีระเบียงเปิด เกือบทุกหลังจะติดภาพของทหารก๊กมินตั๋งที่เป็นบรรพบุรุษของครอบครัวเอาไว้ ภายในบ้านมีชุดโต๊ะกินข้าวทำจากไม้ ผู้สูงอายุมักนั่งบนเก้าอี้ไม้เพื่อพักผ่อนช่วงกลางวันหน้าบ้านสูบยามวนยาว

เมื่อแรกเริ่มตั้งหมู่บ้านในปี 1954 ชาวบ้านได้ตั้งวัดจีน (น. 50) ขึ้นมาพร้อม ๆ กับหมู่บ้าน

Demography

อ้างอิง จากเอกสารราชการของอำเภอแม่สายเมื่อปี 2001(น. 55) จำนวนประชากรบ้านถ้ำสันติสุขที่ได้รับการสำรวจมีจำนวน 537คน เพศชาย 222คน เพศหญิง 315คน จำนวนหลังคาเรือน 195หลังคาเรือน มีครอบครัวคนไทย 10หลังคาเรือน ส่วนชาวจีนยูนนานที่ถือบัตรต่างด้าว มีจำนวน 83หลังคาเรือน

ผู้ที่อายุมากกว่า 50ปี คิดเป็นร้อยละ 32ประชากรตั้งแต่อายุ 18-49ปี คิดเป็นร้อยละ 22เด็กวัยมัธยมศึกษา อายุ 12-17ปี คิดเป็นร้อยละ 22

ประชากรจากจีนยูนนานจากทั้งเมียนมาและยูนนานมักอพยพเข้าออกหมู่บ้านในฐานะ “ฮ่ออิสระ” และพยายามระบุตัวตนว่าเป็นชาวเขาหรือลูกหลานของทหารก๊กมินตั๋งเพื่อร้องขอสถานะที่ถูกกฎหมายสำหรับพักอาศัยในประเทศไทย สำหรับชาวบ้านดั้งเดิมที่เคยออกจากหมู่บ้านก็ได้กลับเข้าสู่หมู่บ้านด้วยจุดประสงค์ให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนจีนหรือภาษาจีน และเติบโตในสภาพแวดล้อมอย่างจีน การเคลื่อนย้ายข้าวของชาวบ้านดั้งเดิมนั้นมีจำนวนที่มากขึ้นทุกปี (น. 56)

Economy

นับตั้งแต่การตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านถ้ำสันติสุขเลี้ยงหมูและไก่ ส่วนเด็กที่โตพอทำงานได้จะออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน จำนวนหนึ่งทำงานเกี่ยวกับการค้าชายแดนระดับภูมิภาคและได้กลายมาเป็นพ่อค้าคนกลางที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดเชียงใหม่ (น. 56)

ตลาดเช้าและร้านค้าเล็ก ๆ เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระดับชุมชน มีคนไทยหรือคนนอกชุมชนจำนวนหนึ่งเข้ามาค้าขาย และขับรถรับจ้างบริการในละแวก  

ข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านระบุว่า เพียงร้อยละ 10ของคนในหมู่บ้านเท่านั้นที่มีรายได้สูง ประกอบอาชีพพ่อค้า ธุรกิจส่วนตัว และเจ้าของที่ดิน ร้อยละ 90 ของคนในหมู่บ้านมีรายได้น้อย ประกอบอาชีพทางปศุสัตว์ แรงงานรายวัน ประกอบธุรกิจร้านเล็ก ๆ ขับรถรับจ้าง ครูสอนภาษาจีน มีรายได้ประมาณเดือนละ 3,000บาท (น. 56) ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว แต่ละครัวเรือนจึงจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกองทุนช่วยเหลือจากภายนอก ผู้ที่ทำงานนอกหมู่บ้านจำนวนหนึ่งประกอบอาชีพล่ามหรือไกด์ ประเทศไต้หวันและกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่คนในหมู่บ้านมองหางาน (น. 57)

Social Organization

กล่าวถึงชาวจีนอพยพที่แต่งงานกับหญิงชาวไทยเพื่อการอาชีพและการเงิน (น. 22) สำหรับหัวหน้าหมู่บ้านคนปัจจุบันได้รับเลือกจากคนในหมู่บ้าน แม่ของเขาเป็นคนไทย และพ่อของเขาเป็นอดีตทหารก๊กมินตั๋ง (น.58)
อ้างถึง Skinner (1957:128) ทายาทรุ่นที่สามของชาวจีนอพยพ (หรือชาวจีนโพ้นทะเล) มีลักษณะทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์อย่างไทย (น. 22)

สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าภายในหมู่บ้านจัดตั้งและสนับสนุนโดยหญิงชาวไต้หวันและรับสงเคราะห์เด็กจากพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับวัดจีนแห่งใหม่ที่มีแม่ชีรับเลี้ยงเด็กกำพร้า สงเคราะห์ที่พักอาศัยและส่งเสียเข้าโรงเรียน เด็กกลุ่มนี้เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งของหมู่บ้านถ้ำสันติสุข

Political Organization

แม้ว่าบ้านถ้ำสันติสุขจะอยู่ภายใต้การบริหารการปกครองของไทย แต่การสื่อสารภายในหมู่บ้านนั้นใช้การประกาศและเขียนภาษาจีนเท่านั้น งานสำคัญในหมู่บ้านจะต้องมีคณะกรรมชาวจีนเป็นผู้ดำเนินงาน ประกอบด้วยผู้นำชาวจีน ผู้อาวุโส หัวหน้าหมู่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) และผู้ช่วย คณะกรรมการนี้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1954 นับแต่การตั้งหมู่บ้าน มีการประชุมคณะกรรมการชาวจีนในหมู่บ้านทุกเดือนเพื่ออภิปรายเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกชุมชนชาวยูนนาน ประเด็นสำคัญ อาทิ การร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน การบริจาคเงินทุนเพื่อปรับปรุงโรงเรียน กำหนดการกิจกรรมในหมู่บ้าน การจัดสรรการเงิน และความปลอดภัยมั่นคงของหมู่บ้าน (น.57)

การบริหารหมู่บ้านเป็นหน้าที่ของหัวหน้า (ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้ที่จะต้องมีสัญชาติไทย สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี เนื่องจากต้องติดต่อสัมพันธ์กับทางการไทย ผู้นำชาวจีนและหัวหน้าหมู่บ้านทำงานร่วมมือบริหารกิจการของหมู่บ้านเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม อำนาจเต็มของคณะกรรมการชาวจีนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินของผู้หญิงและคนรุ่นเยาว์ ฐานะทางสังคมบางประการถูกควบคุมโดยคณะกรรมการ ชาวบ้านบางคนตั้งข้อสงสัยต่อคณะกรรมการเรื่องการบริหารเงินหมู่บ้าน

คณะกรรมการชาวจีนประกอบไปด้วยผู้อาวุโสและอดีตทหารก๊กมินตั๋ง ซึ่งได้รับการเคารพเป็นอย่างสูง มีความพยายามรวบรวมหมู่บ้านภายใต้วิธีคิดแบบประเพณีนิยม พวกเขาจัดพิธีและเทศกาลแบบยูนนาน ประดับรูปผู้นำนายซุน ยัตเซ็นและธงชาติไต้หวันบนเวที ควบคู่กับรูปพระมหากษัตริย์และธงชาติไทย (น. 58)

Belief System

กล่าวถึงสถานบันทางศาสนา ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ศาสนาอิสลาม

วัดจีนแห่งแรกสร้างเมื่อแรกตั้งหมู่บ้านในปี 1954 ส่วนวัดจีนแห่งที่สองสร้างในปี 1995 ข้อมูลภาคสนามอธิบายว่า เป็นไปตามความเชื่อท้องถิ่นและ “ความปรารถนาของหมู่บ้านที่จะมีวัดคู่กัน” (น. 50) วัดแห่งแรกตั้งอยู่หน้าโรงเรียนจีน การฉลองการกินเจและมนต์พิธีมักเกิดขึ้น ณ วัดแห่งใหม่ ในเทศกาลไหว้พระจันทร์  ถือโอกาสที่สมาชิกครอบครัวผู้ที่ออกไปทำงานนอกบ้านจะได้กลับมาพบกัน แม่และย่าชาวยูนนานจะทำขนมไข่และของหวานพิเศษสำหรับบูชาพระจันทร์ บรรดาแม่จะให้ลูกของตนเองไปเดินเล่นในหมู่บ้านเพื่อจะได้รับเชิญจากคนในหมู่บ้านให้รับประทานขนมไข่ตามแต่ละบ้าน เป็นที่สนุกสนานของเด็ก ๆ แต่ละครั้งในหนึ่งปี ส่วนพวกวัยรุ่นจะมีโอกาสเรียนรู้จากผู้สูงอายุเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในสังคม (น.89)

Education and Socialization

ปัจจัยที่สำคัญต่อความสืบเนื่องของอัตลักษณ์ชุมชนชาวยูนนานก็คือ การจัดการศึกษาโรงเรียนจีนในหมู่บ้าน (น.91) .ในหมู่บ้านถ้ำสันติสุข โรงเรียนจีนได้รับการใส่ใจจากหัวหน้าหมู่บ้านและผู้อาวุโสเป็นอย่างมาก ระบบการศึกษาที่ดีของโรงเรียนจีนบ้านถ้ำสันติสุขดึงดูดเด็ก ๆ ชาวจีนยูนนานจากหมู่บ้านก๊กมินตั๋งที่อื่น รวมทั้งเด็กไทยและเด็กชาวเขาเข้ามาเรียนในหมู่บ้าน

โรงเรียนจีนบ้านถ้ำสันติสุขถือกำเนิดพร้อม ๆ กับการตั้งหมู่บ้านในปี 1954 เริ่มสอนบทเรียนภาษาจีนจนถึงชั้นประถม ด้วยภาษาจีนแมนดารีน ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของผู้อาศัยส่วนใหญ่ นายพล Lee ผู้นำและผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นครูใหญ่คนแรกและรับผิดชอบจัดการด้านการเงิน จ้างครู ระดมทุนมาใช้ในกิจการของโรงเรียน การจัดตั้งโรงเรียนจีนมีวัตถุประสงค์หลัก คือให้การศึกษาแก่เด็กในหมู่บ้านเพื่ออนุรักษ์มรดกจีน และเตรียมตัวให้พร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในประเทศจีนเมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ

ชาวบ้านคนอื่น ๆ ต่างต้องการส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนจีน ในปี 1959 นายพล Leeพัฒนาหลักสูตรจีนจนถึงขั้นประถมศึกษา 6 ยิ่งไปกว่านั้น บทเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษก็มีการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย โดยจ้างครูหญิงชาวไทยทำหน้าที่สอนภาษาไทยพื้นฐาน ส่วนตัวของนายพล Lee เองทำหน้าที่ครูภาษาอังกฤษ โดยร่ำเรียนจากหมอสอนศาสนาที่เข้ามาในหมู่บ้านเป็นครั้งคราว และตนเองก็ได้เดินทางไปศึกษาภาษาอังกฤษที่ฮ่องกงเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อกลับมาสอนในโรงเรียน รัฐบาลแห่งชาติไต้หวันได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือ ตำราเรียนและหลักสูตรการศึกษาจากไต้หวัน รวมทั้งให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการไปศึกษาต่อที่ไต้หวันในทุก ๆ ปีนับจากปี 1968  ไม่เพียงแต่การเรียนการสอนภาษาจีนแมนดารีนเท่านั้นที่ถูกสอนในโรงเรียน วรรณคดีจีน ปรัชญา คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม ดนตรี และอื่น ๆ   ในช่วงปีคริสตทศวรรษ 1960 โรงเรียนดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “โรงเรียนแห่งเด็กผู้ลี้ภัย” (น. 92-93) เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล (2ปี) จนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ในปี 1964 มีจำนวนนักเรียน 200 คน ครู 10 คน

ในปี 1985 เมื่อกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนถอนกำลังออกจากหมู่บ้าน โรงเรียนได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงเรียนจีนบ้านถ้ำสันติสุข” เพียงหนึ่งปีให้หลัง โรงเรียนจำต้องปิดทำการเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากนโนบายบูรณาการของทางการไทย มีการห้ามสอนบทเรียนภาษาจีน แต่ครูจีนหลายคนยังแอบสอนภาษาจีนในหมู่บ้าน โดยใช้สถานที่ศาลเจ้า มัสยิด ฟาร์มหมู-ไก่ บ้านผู้สูงอายุและที่อื่น ๆ แทน (น. 93)

ในปี 1988 เมื่อนโยบายของรัฐบาลไทยเริ่มผ่อนปรน นาย Huang ผู้นำหมู่บ้านในตอนนั้นได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง มีการเพิ่มเงินเดือนและโบนัสเพื่อจูงใจครู และเพื่อพัฒนาคุณภาพของครู นาย Huang ได้จัดการสัมมนาและอบรมประจำปีสำหรับครูรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้กำลังใจนักเรียน นาย Huang ยังได้คอยตรวจสอบชั้นเรียนและให้คำปรึกษาแก่เด็กที่มีปัญหา

ในปี 2001 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 612คน ในจำนวนนี้ นักเรียนกว่า 100 คน มาจากครอบครัวชาวเขา และประมาณ 30 คนมาจากครอบครัวคนไทย  ร้อยละ 12 ของนักเรียนทั้งหมดไม่มีสัญชาติไทย ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาจากประเทศพม่า (น. 94)  อย่างไรก็ดี นักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่นั้น เป็นนักเรียนชาวยูนนานจากหมู่บ้านก๊กมินต๋งที่อื่น นั่นคือ มิได้เกิดในหมู่บ้านถ้ำสันติสุข แต่ย้ายเข้ามาเพื่อการศึกษา ส่วนนักเรียนดั้งเดิมที่เกิดและโตในหมู่บ้านมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด นักเรียนจากที่อื่นมากจาก ดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก
         
แม้ว่าจะมีนักเรียนจำนวนมาก แต่รัฐบาลไทยมิได้รับรองโรงเรียนจีนแห่งนี้ในฐานะสถานศึกษาของรัฐอย่างเป็นทางการ แต่ถูกจัดเป็นสถานบันการศึกษาเอกชนที่ดำเนินการโดยชุมชน และไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางการไทย  ส่วนหลักสูตร ระบบภาคการศึกษา ตำราและอุปกรณ์การเรียนได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลไต้หวัน รวมไปถึงระบบภาษาจีนแมนดารีนที่ใช้ในไต้หวันก็ถูกรับมาใช้ในโรงเรียนด้วยเช่นกัน (น.97) รวมถึงประเทศที่ใช้ภาษาจีนหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง (ยกเว้น จีน) ก็สนับสนุนเงินทุนด้านการศึกษาแก่ชุมชนยูนนานก๊กมินตั๋นด้วยเช่นกัน (น. 98)
         
โดยพื้นฐานของกฎระเบียบโรงเรียน นักเรียนที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนจะต้องมีอายุอย่างน้อย 5 ปี และจะต้องเข้าสอบเพื่อวัดระดับความสามารถทางภาษาจีน จากนั้นโรงเรียนจะตัดสินใจว่าเด็กคนนั้นควรเริ่มต้นศึกษาในระดับใด นั่นคือนักเรียนที่มีอายุมากอาจเรียนร่วมชั้นกับนักเรียนที่อายุน้อยกว่าได้
         
ในโรงเรียนไม่มีกิจกรรมใด ๆ ยกเว้นเทศกาลการแข่งขันกีฬาประจำปีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยโรงเรียนจีนยูนนานในเชียงใหม่และเชียงรายจะรวมตัวกันเพื่อการแข่งขันกีฬา ส่วนกิจวัตรประจำวันที่เด็กจะต้องปฏิบัติคือรวมตัวกันหลังเลิกเรียนเพื่อร้องเพลงชาติไต้หวันก่อนกลับบ้าน (น. 98)
         

สำหรับการลงโทษนักเรียนที่ขาดเรียนหรือทำผิด ในขั้นแรกครูจะตักเตือนนักเรียนและปรับพฤติกรรม จากนั้นครูจะเยี่ยมบ้าน อภิปรายประเด็นและขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง แต่หากยังไม่มีการปรับปรุง โรงเรียนก็จะให้หยุดเรียนเป็นการชั่วคราว หรือให้ออกอย่างถาวร กฎเดียวกันนี้ยังใช้กับนักเรียนที่มีเรื่องชกต่อยมากกว่าสองครั้ง หรือกระทำการโกงข้อสอบ แต่การไล่ออกก็เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เพราะปัญหาได้รับการแก้ไขตั้งแต่ขั้นตอนที่ครูเยี่ยมบ้านของนักเรียน (น. 98-99)
         
เพื่อที่จะพัฒนาความสามารถทางภาษาจีน โรงเรียนเคยใช้ข้อตกลง “ไม่มีการพูดภาษาไทย” แต่ก็ตระหนักว่า หากครูไม่ใช้ภาษาไทยในการอธิบาย นักเรียนจะไม่เข้าใจการบรรยายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (น. 99)
         
ความคาดหวังของคนในหมู่บ้านที่มีต่อโรงเรียนจีนจากคนรุ่นแรกนั้นมีหลากหลาย ในกลุ่มคนรุ่นแรกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดและเติบโตมาในประเทศจีน ถือว่าโรงเรียนเป็นสถาบันอย่างหนึ่ง ที่เด็กสามารถเรียนภาษาจีนและธำรงอัตลักษณ์จีนได้ ความห่วงใยเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนในระบบโรงเรียนจึงเป็นประเด็นหลักสำหรับคนรุ่นแรกของหมู่บ้าน และส่วนทางด้านเศรษฐกิจ การเข้าเรียนในโรงเรียนจีนสำหรับเด็กในหมู่บ้านส่งผลให้อาจได้รับโอกาสที่ดีเพื่อไปทำงานที่ไต้หวันต่อไปด้วย นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังต่อระบบโรงเรียนจีนให้มีสมดุลที่ดีกับระบบการศึกษาไทย เนื่องจากภาษาไทยเป็นคุณสมบัติพื้นฐานในการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่และใช้ชีวิตในประเทศไทย คนรุ่นแรกคาดหวังให้โรงเรียนไทยสั่งสอนเกี่ยวกับกฎบางอย่างของพฤติกรรมที่เหมาะสมในการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตัวของพวกเขาเองไม่สามารถสอนเรื่องเหล่านี้ได้ (น. 101-102)
         
คนรุ่นที่สองและรุ่นที่สามของหมู่บ้านคาดหวังต่อโรงเรียนจีนในฐานะสถาบันทางเศรษฐกิจมากกว่าสถาบันทางวัฒนธรรมและประเพณี ที่จะเชื่อมโยงกับการอยู่อาศัยในประเทศไทย คนที่ไม่สามารถไปทำงานที่ไต้หวันได้ ใช้ภาษาและวัฒนธรรมจีนในการเลื่อนสถานภาพ ผู้ที่กลับมาจากไต้หวันก็ติดตั้งสถานภาพทางเศรษฐกิจและกลายมาเป็นพ่อค้าคนกลางที่ประสบความสำเร็จ (น. 102)  สำหรับคนกลุ่มนี้ โรงเรียนจีนมิได้เป็นก้าวแรกของการย้ายไปอาศัยหรือทำงานในไต้หวันอีกต่อไป เนื่องจากรัฐบาลได้หวันมิไต้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดอีกต่อไป ชาวยูนนานที่มีสัญชาติไทยที่เดินทางไปไต้หวันเองก็พบกับความยากลำบากในการหางานและการสื่อสาร ภาษาจีนจากการเติบโตในหมู่บ้านนั้นต่างจากที่ไต้หวัน การศึกษาในระบบก็เป็นเรื่องยากจึงออกมาใช้แรงงาน (น. 103) ชาวจีนก๊กมินตั๋งที่ไม่มีประกาศนียบัตรจากโรงเรียนไทยหรือไม่มีสัญชาติไทยอยู่ในฐานะ “ผู้อพยพชาวจีนที่ไม่รู้หนังสือ” คนรุ่นสองและรุ่นสามจึงตระหนักดีว่า การรู้ภาษาไทย เป็นหนทางแห่งอนาคต ทุกวันนี้ พ่อแม่รุ่นใหม่ไม่อนุญาตให้บุตรของตนไปโรงเรียนจีนและหากลูกตื่นสายและหลีกเลี่ยงสิ่งใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อบุตรของที่โรงเรียนไทย แลเกรงว่าบุตรจะไม่สามารถอุทิศเวลาให้แก่การศึกษาได้อย่างเต็มที่ เป็นที่ชัดเจนว่าลูกหลานของคนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน และคนจีนในประเทศอื่น ๆ  พ่อแม่นั้นส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนจีนเพียงแค่ระดับอนุบาล ก่อนจะหันมาเน้นการศึกษาในโรงเรียนไทย ในแง่เด็ก ๆ ของพวกคนรุ่นนี้ได้กลายมาเป็น กลุ่มชาติพันธุ์จีน/ชนกลุ่มน้อยชาวจีน ของประเทศไทย ที่สามารถพูดประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ไม่สามารถพูดภาษาจีนพื้นฐานได้ดี คนรุ่นนี้ออกเติบโตมาในฐานะผู้ลี้ภัย จำต้องออกไปทำงานเกื้อกูลครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก จึงหวังให้บุตรหลานของตนเข้าระบบโรงเรียนไทยเพื่อโอกาสที่ดี (น. 104-105) อย่างไรก็ดี ความคาดหวังต่อโรงเรียนจีนในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรมของคนรุ่นดังกล่าว โรงเรียนทำหน้าที่สอนและเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณียูนนาน เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนรุ่นที่สองและรุ่นที่สามไม่สามารถถ่ายทอดในครัวเรือนได้
         
สำหรับคนรุ่นที่สี่และรุ่นที่ห้า มีความคาดหวังต่อโรงเรียนจีนในฐานะแหล่งพบปะสังสรรค์ทางสังคมวัฒนธรรม พวกเขามักเริ่มต้นและสิ้นสุดกิจกรรมการศึกษาในแต่ละวันที่โรงเรียนจีน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กในหมู่บ้านรุ่นหลังที่จะต้องเข้าเรียนทั้งสองโรงเรียนในแต่ละวัน แต่ก็มีบางคนที่หยุดไปโรงเรียนเนื่องจากไม่สามารถจัดการกับชั่วโมงเรียนที่ยาวนานได้ และอยากมุ่งเน้นการเรียนหลักที่โรงเรียนไทยมากกว่า การเรียนการสอนในโรงเรียนจีนค่อนข้างยากเนื่องจากยังใช้หลักสูตรของทางไต้หวัน อย่างไรก็ดี โรงเรียนก็ยังทำหน้าที่สำคัญในการแลกเปลี่ยน พบปะสังสรรค์ระหว่างกันของคนในหมู่บ้าน บทบาททางวัฒนธรรมของโรงเรียนจีนจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะโรงเรียนไทยได้สอดแทรกมโนทัศน์ความเป็นชาติไทยซึ่งขัดแย้งต่อมโนทัศน์และค่านิยมของวัฒนธรรมชาวจีนยูนนานที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เด็ก ๆ เรียนรู้จากที่บ้านหรือโรงเรียนจีน (น.107-108)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอธิบายความเป็น “ฮ่อ” ในลักษณะที่ “เป็นอนารยชน” และผู้อพยพชาวจีน อย่างไรก็ดี คนรุ่นหลังมิได้มีความคาดหวังหรือสนใจในการเคลื่อนย้ายสู่ไต้หวันอีกต่อไป เนื่องจากนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นจากทางไต้หวัน และตัวอย่างของฝันที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักของคนรุ่นก่อนหน้า ฉะนั้นความคาดหวังที่มีต่อโรงเรียนก็คือการรับรองความสามารถด้านภาษาจีนพื้นฐาน เพื่อการประกอบอาชีพ และการสื่อสารภายในกลุ่มของตนด้วยภาษาจีนถิ่นยูนนาน
         
ทัศนคติของเด็กนักเรียนจากหมู่บ้านก๊กมินตั๋งที่อื่น ๆ นั้นแตกต่างออกไป บ้างเข้ามาในบ้านถ้ำสันติสุขเพื่อเรียนภาษาจีน บ้างเข้ามเพื่อรับประกาศนียบัตรรับรองจากโรงเรียนจีนเพื่อนำไปสมัครงาน หรือลงทะเบียนบัตร “จีนฮ่อ” ที่ราชการรับรอง (น. 111) เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่สูงและยังห่างไกลจากสาธารณูปโภคและโครงการพัฒนา ยังมีลักษณะเป็นชุมชนผู้อพยพชาวยูนนาน เด็ก “ฮ่อ” เหล่านี้ไม่ได้ใส่ใจการเรียนทั้งระบบไทยหรือระบบจีนเท่าไรนัก บ้างยังคาดหวังกับโรงเรียนจีนในฐานะช่องทางในการไปเรียนและทำงานในไต้หวัน ทั้งนี้ก็เพราะโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในประเทศไทยนั้นมีน้อย อันเนื่องมาจากหมู่บ้านของเด็กเหล่านี้มิได้อยู่ใต้อิทธิพลเชิงการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของรัฐไทยโดยตรง

Health and Medicine

ไม่มี

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มี

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ภาษาจีนถิ่นยูนนาน อันเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ทำให้กลุ่มของต้นแตกต่างคนไทย ไทยเชื้อสายจีน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศไทย คนรุ่นหลังมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของบทบาททางวัฒนธรรมของโรงเรียนจีนในการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ส่งเสริมศักดิ์ศรีในตนเอง และความภาคภูมิใจในการเป็น “ชาวจีนเชื้อสายยูนนาน” หรือ “ชาวฮ่อ” ในประเทศไทย

Social Cultural and Identity Change

ไม่มี

Critic Issues

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่
- ภาคเหนือของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (น. 2)
- ภาคเหนือของไทย (น. 5)
- จากทางหลวง 1149สู่ ถ้ำปลา (น. 46)
- ทัศนียภาพบ้านถ้ำสันติสุข (น. 49)
ภาพ
- ศาลเจ้าจีนด้านหน้าโรงเรียนจีน (น. 46)
- มัสยิดในหมู่บ้าน (น. 51)
- โบสถ์คริสต์ในหมู่บ้าน (น. 51)
- โรงเรียนอาชีวศึกษาแม่สาย (น. 53)
- ถังน้ำประปาในหมู่บ้าน (น. 54)
- การเฉลิมฉลองวันแห่งชาติไต้หวัน (น. 59)
- งานเลี้ยงวันเกิดนาย Yang (นาย Yang กับลูก ๆ) (น. 79)
- งานเลี้ยงวันเกิดนาย Yang(คนในหมู่บ้านมาเยี่ยมเยียน) (น. 79)
- ภาพปัจจุบันของผู้ใหญ่บ้านชาวจีนและพระไทย (ถ่ายเมื่อปี 1993) (น. 81)
- นักเรียนในเครื่องแบบเมื่อปี 1993(น. 94)
- ห้องเรียนประถมศึกษาปีที่ 4(น. 96)
- ห้องเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3(น. 96)
- หลังเลิกเรียน (น. 99)
- พิธีงานศพ (น. 121)
- พิธีแต่งงาน (น. 122)
- พิธีไหว้พระจันทร์ (น. 123)
- ถนนสายหลัก (ระหว่างการก่อสร้าง) และ ฟาร์มหมูในบ้านถ้ำสันติสุข (น. 124)
- กิจกรรมทัศนศึกษาที่เชียงรายกับเยาวชนจีนยูนนาน และงานวันเกิด (น.125)
- การเฉลิมฉลองวันแห่งชาติไต้หวันในอดีต (นักเรียนทำการแสดงอย่างจีน) (น.126-7)
- ภาพพระมหากษัตริย์ไทย (น.128)
- ภาพผู้นำการปฏิวัติไต้หวันซินไห่ นายซุน ยัตเซน (น.128)
- ภาพบ้านเรือน สนามบาสเก็ตบอล ศาลาประชาคม อาคารเรียน ห้องพักครู แผนที่ในห้องพักครู การเขีนนจีนและภาพจีน (น. 138-141)

Text Analyst อุรินธา เฉลิมช่วง Date of Report 15 ม.ค. 2564
TAG การประกอบสร้างอัตลักษณ์, การศึกษา, การบูรณาการแห่งชาติ, ชุมชนชาติพันธุ์, ชุมชนก๊กมินตั๋ง, บ้านถ้ำสันติสุข, จีนยูนนาน, จีนฮ่อ, เชียงราย, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง