สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject กลุ่มชาติพันธุ์ในล้านนา, นิทานพื้นบ้าน, ชาวยอง, ชาวไทยวน, ชาวลัวะ, ชาวกะเหรี่ยง, ชาวม้ง, ชาวไทใหญ่, ชาวมอญ, ชาวมูเซอ, ชาวขมุ, ชาวลีซู, ชาวทมิฬ
Author ธิตินัดดา จินาจันทร์
Title กลุ่มชาติพันธุ์ในนิทานพื้นบ้านล้านนา
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ลีซู, ลาหู่ ลาหู่ ละหู่ ลาฮู, ไทยวน ยวน ยวนสีคิ้ว คนเมือง, ม้ง, ปกาเกอะญอ, กำมุ ตะมอย, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
สถาบันวิจัยสังคม และหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Total Pages 139 Year 2558
Source โครงการวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ผ่านนิทานล้านนา โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งนิทานล้านนาออกเป็นสองประเภทดังนี้ คือ 1.นิทานประจำถิ่นและ 2.นิทานมุกตลกเจี้ยก้อม เพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีระบุในนิทาน แต่ในงานชิ้นนี้ได้เสนอว่า นิทานทั้งสองรูปแบบดังกล่าวมีเป้าหมายในการนำเสนอที่แตกต่างกัน คือ

1.นิทานประจำถิ่น พบว่า มีการระบุกลุ่มชาติพันธุ์ 20 กลุ่มด้วยกัน และมีการกล่าวถึงชาวพม่ามากที่สุด และรองลงมา คือ ชาติพันธุ์ลัวะ โดยที่นิทานดังกล่าวจะเน้นเรื่องราวที่มาจากตำนานเจ้าเมือง ศาสนา พ่อค้าและสงคราม ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการรื้อฟื้นสร้างเมืองเชียงใหม่และกล่าวถึงอาณาจักรพม่าที่เป็นศัตรูเข้ามาปกครองและขยายอาณาเขตในพื้นที่ล้านนา ในนิทานยังกล่าวถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ บทบาททางพิธีกรรมของชาวลัวะ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในทางการปกครองและการค้า

2.นิทานมุกตลก จะกล่าวถึง พฤติกรรม วิถีชีวิตประจำวันที่มีการล้อเลียน วิจารณ์ ต่อความฉลาดเกมโกง ความโง่ ลักษณะทางกายภาพ ภาษา การดูถูกทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ โดยทั้งหมดจะเน้นเรื่องราวในมิติสังคม ในนิทานดังกล่าว จะพบกลุ่มชาติพันธุ์ 16 กลุ่ม มีการกล่าวถึงชาวกะเหรี่ยงมากที่สุดใน 33 นิทาน และชาวขมุใน 32 นิทาน นอกจากนั้นจะมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ปรากฏในนิทานประจำถิ่น เช่น ม้ง ฝรั่ง แขก ปักษ์ใต้ เขมร ซึ่งเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาอาศัยในล้านนาในยุคของการพัฒนา         

Focus

ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ผ่านนิทานเรื่องเล่าของล้านนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ บทบาท พื้นที่ การดำรงชีพ รวมทั้งความเชื่อและโลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ระบุในนิทาน

Theoretical Issues

งานชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารข้อมูลคติชนวิทยา คัดสรรนิทานล้านนา  3 ประเภท คือ นิทานประจำถิ่น นิทานพื้นบ้านและนิทานเจี้ยก้อม พร้อมกับการเก็บข้อมูลสนามผ่านการสัมภาษณ์บุคคลที่เคยเล่าเรื่องราวนิทานและเคยฟังนิทานเหล่านี้ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เติมแต่ง ที่อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างในแต่พื้นที่ที่เก็บข้อมูล เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก อุตรดิตถ์

โดยงานชิ้นนี้ได้ใช้แนวคิดจากหนังสือ Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia (ศิราพร ณ ถลาง 2545) ที่มีการจำแนกแยกแยะกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่สูง อีกทั้งใช้ทฤษฎีของสติธ ทอมป์สัน (Stith Thompson) ในการจำแนกนิทานล้านนา (ประคอง นิมมานเหมินท์. นิทานพื้นบ้านศึกษา, 2543) จากแนวคิดสติธ ทอมป์สัน ได้แบ่งนิทานออกเป็น 11 ประเภทด้วยกัน คือ นิทานมหัศจรรย์ นิทานวีรบุรุษ นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ ตำนานปรัมปรา นิทานสัตว์ มุกตลก นิทานศาสนา นิทานเรื่องผีและนิทานเข้าแบบ

แต่ในงานชิ้นนี้ทำการแบ่งนิทานเรื่องเล่าของล้านนา ออกเป็นสองประเภท คือ กลุ่มนิทานประจำถิ่น และนิทานมุกตลก เพื่อนำไปศึกษาหากลุ่มชาติพันธุ์ที่ระบุในนิทานล้านนาว่ามีกี่กลุ่ม รวมทั้งศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีลักษณะ บทบาทอย่างไร (น.4-5)

ศิราพร ณ ถลาง ในหนังสือการศึกษานิทานเชิงโครงสร้าง โดยนำแนวคิดของวลาดิมีร์ พรอพพ์ อธิบายนิทานว่าประกอบด้วยโครงสร้างประโยค คือ ประธาน กริยา กรรม นอกจากนี้ในงานศุภลักษณ์ ปัญโญ ที่ศึกษาบทบาทของผีในนิทานพื้นบ้านล้านนา โดยอธิบายว่า ผีในนิทานมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ ควบคุมและจัดการความขัดแย้งในสังคม นิทานผีของล้านนาจึงเป็นเครื่องมือในการขัดเกลาสังคมให้ชาวล้านนาประพฤติปฏิบัติตามความเชื่อและค่านิยมที่เหมาะสมและดีงาม สำหรับงานของหทัยวรรณ ไชยะกุล ที่ศึกษาการสร้างมุกตลกในเรื่องขำขันของล้านนา (2539) สะท้อนว่ามุกตลกจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในวิถีชีวิตของกลุ่มในชุมชน หรือมีต่อผู้ปกครอง เช่น เรื่องเพศ กลลวง การจีบสาว ความโง่ ความตระหนี่ ความเขินอาย ความหลงลืม ความเกียจคร้าน และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้คือ การวิพากษ์วิจารณ์และการล้อเลียน ตอบโต้ของคนในสังคมชุมชนที่มีอำนาจน้อยกว่า (น.13-15)

Ethnic Group in the Focus

ในงานชิ้นนี้ ได้แบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีระบุในนิทานประจำถิ่นและนิทานเจี้ยก้อม โดยพบว่าที่ปรากฏทั้งหมด 20 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในที่นี้ได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ

1.กลุ่ม Tai Speaking People เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทยองและไทเขิน (น.34)

2. Non-Tai Speaking People กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้พูดในตระกูลไท  ได้แก่ ขมุ ลัวะ กะเหรี่ยง มูเซอ และกลุ่มที่แตกต่างจากวัฒนธรรมล้านนา เช่น ชาวไทยสุโขทัย กำแพงเพชร ลาว พม่า มอญและกลุ่มต่างถิ่น เช่น แขก จีน คนใต้ ฝรั่ง (น.48)

Language and Linguistic Affiliations

ในงานชิ้นนี้ได้แยกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

1.กลุ่ม Tai Speaking People เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไท เช่น ไทใหญ่ คือ กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลภาษาไท-กะได เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทฝั่งตะวันตก โดยมีถิ่นฐานเดิมในแถบรอยต่อรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
ไทลื้อ/ยอง จัดอยู่ในตระกูลไทที่มีความใกล้เคียงกับไทยวนล้านนา เป็นกลุ่มที่มีถิ่นฐานเดิมในเมืองยองหรือสิบสองปันนา

2. กลุ่ม Non-Tai Speaking Peopleกลุ่มที่ไม่พูดภาษาในตระกูลไท เช่น 1.ลัวะ เป็นกลุ่มดั้งเดิมหรือชนพื้นเมืองเดิมในเชียงใหม่ เป็นกลุ่มตระกูลมอญ-เขมร 2. กะเหรี่ยง จัดในกลุ่มตระกูลภาษาทิเบต-จีน 3. ม้ง จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลมองโกเลีย 4. มูเซอหรือลาหู่ ใช้ภาษาในตระกูลทิเบต-จีน 5. ขมุ จัดอยู่กลุ่มตระกูลมอญ-เขมร 6. ลีซอ เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาในตระกูลทิเบต-จีน

3. กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ใกล้เคียงอาณาจักรล้านนา เช่น 1.ชาวมอญ เป็นกลุ่มตระกูลภาษามอญ มีอารยธรรมในดินแดนพม่าและขยายสู่สุวรรณภูมิมาอย่างยาวนาน 2.ชาวลาว เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาในตระกูลไท-ลาว มีอารยธรรมในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขง 3.ชาวพม่า เป็นกลุ่มที่มีอารยธรรมเก่าแก่ เป็นกลุ่มตระกูลภาษาพม่า-มอญทิเบต 4.ชาวสุโขทัย ชาวกำแพงเพชร เป็นกลุ่มตระกูลที่ใช้ภาษาไท

4. กลุ่มชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรมที่มีอาณาเขตภูมิลำเนาไม่ติดต่อกับอาณาจักรล้านนา เช่น ฝรั่ง แขก จีนฮ่อ คนใต้ คนกรุงเทพ เขมร ซึ่งในงานชิ้นนี้ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของกลุ่มตระกูลภาษา

Study Period (Data Collection)

ไม่มี

History of the Group and Community

ในงานชิ้นนี้ได้ระบุถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากเนื้อหาในนิทานที่พบมีดังนี้ คือ

1.กลุ่มชาวไทใหญ่ หรือเงี้ยวมีประวัติศาสตร์ในนิทานประจำถิ่นได้กล่าวถึงกลุ่มไทใหญ่ ว่าเป็นคนที่มีบทบาทในการต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีกบฏพญาผาบ รวมทั้งยังมีกลุ่มโจรเงี้ยวที่ปล้นสะดมชาวล้านนาและชาวสยาม และยังกล่าวว่า คนเหล่านี้เข้ามาในล้านนาเพื่อค้าขายทางไกลหรือพ่อค้าวัวต่าง ม้าต่าง จึงมีชุมชนชาวไทใหญ่กระจายตัวในสังคมเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน

2. ชาวลัวะ มีประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนพื้นเมืองเจ้าของพื้นที่ล้านนาดั้งเดิม ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก โดยมีเจ้าเมืองปกครองในตำแหน่งขุน พระยา และมีพื้นที่เมืองโบราณตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ เวียงสวนดอกและปรากฎพื้นที่ของลัวะในบริเวณลำพูน

3. ชาวมูเซอ หรือเรียกอีกชื่อว่า “ลาหู่” มีถิ่นเดิมอยู่แถบมณฑลทิเบตและฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ต่อมาทยอยอพยพเข้ามาเขตเชียงตุงและเข้ามายังทางเหนือของประเทศไทย ชาวลาหู่กระจายอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตากในปัจจุบัน

4. ชาวลีซู มีประวัติการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน อยู่เหนือหุบเขาในมณฑลยูนนาน ติดทางเหนือของรัฐคะฉิ่นในพม่า ชาวลีซูเคยมีอาณาจักรเป็นของตนเองแต่ต้องสูญเสียและพ่ายแพ้จีน จนต้องอพยพถอยร่นลงใต้มายังพม่าและประเทศไทยในจังหวัดเชียงราย ในปี 2464 จากนั้นเริ่มทยอยไปตั้งชุมชนบนดอยช้าง ดอยวาวี (น.83-84)

5. ชาวทมิฬ มีประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานในฝั่งซ้ายของเชียงของ โดยตั้งหมู่บ้านมาอย่างยาวนาน ในตำนานการมาเยือนของพระพุทธเจ้ามาถึงหมู่บ้านของชาวทมิฬและได้ถวายพระเกศาสองเส้นและได้บรรจุไว้ในผอบทองคำ และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากไป หัวหน้าชาวทมิฬนำทองคำมา 25 บาทมาหลอมเพื่อสร้างวัดตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จนกลายเป็นที่มาของการสร้างเมืองเชียงของ (น.85)

6. ชาวมอญ เคยมีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ครอบคลุมพื้นที่พม่าและประเทศไทยปัจจุบัน คือ ในบริเวณที่เป็นพม่าตอนล่าง ตั้งแต่เมืองละโว้จนถึงอาณาจักรหริภุญชัยลุ่มแม่น้ำปิง โดยเฉพาะในสมัยพระนางจามเทวีที่นำช่างฝีมือ พระ นักปราชญ์ ราษฎร ประเภทละ 500 คน มาสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ในฉบับวัฒนธรรมมอญในชื่ออาณาจักรหริภุญชัย ต่อมาวัฒนธรรมมอญได้ขยายหรือถูกนำมาใช้โดยพระยามังรายในช่วงการสร้างเมืองเชียงใหม่ เช่น อักษรภาษา พุทธศิลปะ สถาปัตยกรรม ทำให้วัฒนธรรมมอญครอบคลุมเมืองเชียงใหม่ ลำพูน เป็นต้น (น.86-87)

7. ชาวลาว จากประวัติศาสตร์อาณาจักรของชาวลาวล้านช้าง มีความใกล้ชิดทางเชื้อสายกับชาวล้านนา นับตั้งแต่การสร้างบ้านแปงเมืองของพระยามังรายที่มาจากราชวงศ์ล้านช้าง และได้อพยพชาวลาวเข้ามาอยู่เชียงใหม่ อีกทั้งชาวลาวยังกระจายไปเขตอีสานเหนือ คนกลุ่มนี้มีการติดต่อสัมพันธ์ผ่านระบบการเครือญาติ การปกครองและการค้าระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ทำให้คนลาวมีการกระจายตัวตั้งชุมชนในเขตทางเหนือ ดังที่พบชื่อชุมชน ตำบาลที่เป็นของชาวลาว นอกจากนี้คนลาวยังมีการอพยพเข้ามาตั้งชุมชนในพื้นที่สยามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมัยปลายอยุธยา-ธนบุรี หลังการทำสงครามกับพม่า สำหรับชาวลาวที่กล่าวถึงในนิทานมักกล่าวถึงการอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งรกรากในเขตทางเหนือของสยาม (น.88-91)

8. ชาวพม่า ได้ถูกกล่าวในนิทานพื้นเมืองล้านนาเป็นส่วนมาก โดยจะกล่าวถึงเกี่ยวกับสงครามระหว่างล้านนากับพม่า กระทั่งล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ากว่าสองร้อยปีและสามารถกอบกู้เอกราชได้ช่วงระยะหนึ่งและถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวอีกว่าเชียงใหม่เป็นพื้นที่เดินทัพของชาวพม่าที่เข้าทำสงครามกับอยุธยา และทางอยุธยาก็เคยขึ้นตีเมืองเชียงใหม่หลายครั้ง ฉะนั้นเชียงใหม่จึงเป็นเมืองกันชนระหว่างอาณาจักรพม่าและอยุธยา อย่างไรก็ตาม เชียงใหม่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากพม่าในหลายด้าน เช่น พระพุทธรูป เจดีย์ อุโบสถ เนื่องจากเข้าปกครองเชียงใหม่มากกว่า 200 ปี

9. ชาวไทยอยุธยา สุโขทัย กำแพงเพชรและอุตรดิตถ์ ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างอาณาจักรล้านนากับชาติพันธุ์ไทยจากเมืองดังกล่าว ว่ามีความสัมพันธ์ทั้งในแง่ของศัตรูและมิตร เช่น ในแง่ของความเป็นมิตรที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ศาสนาพุทธและการค้าขายมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในแง่ศัตรู คู่สงคราม จะเกิดขึ้นในช่วงบริบทของปะทะกันระหว่างอาณาจักรพม่ากับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งทำให้อาณาจักรที่อยู่ตรงกลางจำเป็นต้องเลือกข้าง และโดยมากทางล้านนาจะอยู่ข้างฝั่งพม่า จึงทำให้ล้านนาต้องทำศึกกับคนไทยในเมืองดังกล่าวที่ขึ้นกับอาณาจักรอยุธยา (น.98-100)

10. ชาวแขก ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวถึงแขกซิกข์ ที่ค้าขายผ้าในตลาดหลวงเชียงใหม่ โดยคนเหล่านี้เดินทางเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากมีการสร้างเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพสู่เชียงใหม่ ส่วนมากคนที่เข้ามาช่วงแรกเป็นคนหนุ่มโสดและบางคนมีครอบครัวเข้ามาทำธุรกิจขายผ้า ค้าขาย กระทั่งบางคนที่มีภรรยาได้ทยอยเข้ามาในภายหลัง แต่สำหรับคนโสดได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวล้านนา (น.102)

11. ชาวฝรั่ง เป็นกลุ่มที่เข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในช่วงล้านามีเจ้าเมือง ในสมัยเจ้ากาวิโลรส โดยสมัยดังกล่าวอังกฤษได้เข้ามาทำสัมปทานไม้สัก ชาวฝรั่งจึงมีบทบาทและอิทธิพลในสังคมล้านนา โดยเฉพาะในด้านศาสนาจะมีกลุ่มมิชชันนารี ที่ทำการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จากคณะอเมริกา ตั้งแต่ปี 2409 และทำการเผยแพร่ศาสนาในเวลาต่อมา พร้อมกันนั้นได้นำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาในเชียงใหม่ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ และการศึกษา สิ่งเหล่านี้ทำให้ฝรั่งได้เป็นที่รู้จักและถูกยอมรับจากคนล้านนา จึงมีส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมล้านนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

12. ชาวจีน คนกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองสายคือ กลุ่มจีนฮ่อ ที่เดินทางเข้ามาค้าขายทางบกจากยูนนาน เป็นพ่อค้าวัวต่าง ม้าต่าง กลุ่มนี้มีการตั้งรกร้างในบริเวณวัดเกต และสร้างชุมชนการค้า กลุ่มสอง คือชาวจีน ที่เดินทางเข้ามากับรถไฟ และถูกเรียกว่าจีนปากน้ำโพ จากกรุงเทพเข้าตั้งรกรากในเขตเมืองเพื่อค้าขาย

13. ชาวใต้ ในความเข้าใจของคนล้านนา คือคนที่มาจากกรุงเทพและคนจากภาคใต้ คนเหล่านี้เดินทางเข้ามาพร้อมกับการสร้างทางรถไฟ และส่วนใหญ่ขึ้นมาเข้าระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนเหล่านี้ใช้ภาษากลางในการติดต่อสื่อสารกับคนล้านนา จนเกิดการล้อเลียนในการใช้ภาษาไทยของคนกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาบางคนชื่นชอบสังคมเชียงใหม่และแต่งงานเป็นลูกเขยล้านนา (น.123)

14. ชาวขอม เขมร เป็นกลุ่มที่อยู่ดั้งเดิมในลุ่มน้ำกก และมีรัฐเป็นของตนเองกระทั่งถูกอาณาจักรโยนกเข้าครอบครองและถูกปราบ จนต้องถอยร่นมาอยู่เขมรปัจจุบัน (น.123-124)

Settlement Pattern

ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานชุมชนชาติพันธุ์ที่ระบุในนิทาน คือ 1. ชุมชนไทใหญ่ที่เก่าแก่ในเชียงใหม่ ว่าตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ชื่อบ้านงิ้วเฒ่า 2. ชาวลัวะ มีประวัติการตั้งถิ่นฐานที่ดอยตุงและเข้ามาตั้งบ้านสร้างเมืองเชียงใหม่ และปกครองมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีศูนย์กลางความเชื่อทางการปกครองอยู่ที่ เสาอินทขิล ที่ปกปักษ์รักษาด้วยวิญญาณบรรพบุรุษลัวะ 9 ตระกูล  จนกระทั้งสมัยผู้ขุนหลวงวิลังคะที่ต้องพ่ายแพ้กลศึกให้กับพระนางจามเทวีแห่งเมืองหริภุญชัยจนต้องแตกกระจายไปจากเชียงใหม่ก่อนที่พระยามังรายจะเข้ามาสร้างเมืองใหม่ (น.48-49) 3. ชาวลาหู่หรือมูเซอ มีวิธีชีวิตที่เรียบง่าย มักจะเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรและล่าสัตว์ 4. ชาวขมุ มีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย บ้านปลาแห้งในจังหวัดน่าน (น.77) 5. ชาวทมิฬ ว่าคนกลุ่มนี้มีชุมชนตั้งอยู่ในบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย

Demography

ไม่มี

Economy

ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของ ชาวขมุ มีอาชีพทำงานในไร่ยาสูบ ทำสวน ขุดดิน ตัดต้นไม้ แบกหาม ทำงานในโรงงานบ่มยาสูบและโรงเลื่อย (น.79-80)       

Social Organization

ไม่มี

Political Organization

ในงานชิ้นนี้ได้ยกนิทานของชาวไทลื้อ ที่กล่าวถึงประวัติการปกครองของชาวไทลื้อที่เมืองล้า ที่สิบสองปันนา โดยกล่าวว่า เมืองล้ามีราษฎรเป็นชาวไทลื้อ มีระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ผู้นำมีความสามารถในการรบและต่อต้านข้าศึก รักษาเอกราชบ้านเมือง จนกระทั้งต้องพ่ายแพ้ให้กับศัตรูที่จำนวนมากกว่า ในที่สุดทำให้ชาวลื้อต้องอพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนของล้านนา เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน (น.44)

Belief System

ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวถึงระบบความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่มีกล่าวในนิทาน เช่น

1. ชาวไทใหญ่ มีความเชื่อในพุทธศาสนาและเชื่อบูชาในวิญญาณบรรพบุรุษ เจ้าข้อมือเหล็กและเจ้าเมืองแข่ ฤาษีอุคันตะ ชาวไทใหญ่ยังนิยมสร้างพระธาตุเพื่อสักการบูชาพระพุทธองค์ และสร้างวัด

2. ชาวลัวะ มีความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ โดยเฉพาะผี 9 ตระกูลที่ทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาเสาอินทขีล หรือ เสาหลักเมืองของชาวลัวะ และเชื่อในผีที่ดูแลสถานที่สำคัญของชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ ชาวลัวะจะมีพิธีเซ่นไหว้บูชาในแต่ละช่วงฤดู (น.52-53)

3. ชาวกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มที่นับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ใหญ่และเชื่อว่าต้นเองมาจากต้นไม้ใหญ่ จึงมีการนำสายสะดือทารกใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกติดกับต้นไม้ แต่ต่อมาเมื่อมิชชันนารีเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือ นำศาสนาคริสต์เผยแพร่ไปสู่ชาวกะเหรี่ยง จึงมีการเปลี่ยนแปลงรับศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่หันมานับถือศาสนาพุทธและเคารพครูบา (น.68-70)

4. ชาวลาหู่หรือมูเซอ กลุ่มนี้นับถือผีและบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์  (น.75)

5. ชาวพม่า นับถือศาสนาพุทธ ในตำนานล้านนาได้กล่าวถึงชาวพม่าว่าเป็นกลุ่มคนที่นำศาสนาพุทธเข้ามา โดยเฉพาะการสร้างวัดวาอาราม บำรุงพุทธศาสนา ฉะนั้นจึงพบวัดและสถาปัตยกรรมแบบพม่ากระจายอยู่จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก (น.96)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ระบุจากงานชิ้นนี้ คือ

1.ชาวไทใหญ่ คือ กลุ่มที่มีถิ่นอาศัยอยู่ทางเหนือของรัฐล้านนา มีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากชาวพม่าและกับกลุ่มที่ใช้ภาษาไทในเขตล้านนา ทำให้กลุ่มไทใหญ่มีการใช้ภาษาที่แตกต่างไปจากกลุ่มชาวไทยวน ไทลื้อ ภาษาของชาวไทใหญ่จึงเป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่สามารถแสดงถึงความแตกต่าง ในงานชิ้นนี้ ได้ระบุถึงอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่จากนิทาน โดยกล่าวถึงคนไทใหญ่ในฐานะผู้ร้ายเป็นกลุ่มโจรที่คอยปล้นสะดมชาวล้านนา และมีลักษณะเป็นคนฉ้อโกง ชอบเอาเปรียบ น่ากลัว แต่เป็นคนที่ชอบทำบุญทางศาสนามากจนคนล้านนา มีสุภาษิตว่า “บ่กินเหมือนม่าน บ่ดีทานเหมือนเงี้ยว” ซึ่งคนไทใหญ่หรือเงี้ยวเป็นชาวพุทธที่เคร่งศาสนาและนิยมชื่นชอบในการทำบุญ อีกทั้ง เป็นกลุ่มที่มีบทบาทเป็นผู้นำในการต่อสู้ การทำสงคราม (น.34)

2. กลุ่มชาวยอง มีอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่คล้ายคลึงกับคนเมืองล้านนา ทั้งด้านการแต่งกายที่นิยมโพกศีรษะ อาหารการกิน แต่มีความแตกต่างในสำเนียงภาษาเล็กน้อยและชื่นชอบรวมกลุ่มในชุมชนยอง (น.41)

3. สำหรับคนไทยวน ในนิทานได้กล่าวถึงคนกลุ่มนี้ว่ามีความฉลาดมากกว่าชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ซึ่งให้ภาพถึงความเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นจากความฉลาดแกมโกง

4. ชาวลัวะ เป็นกลุ่มที่สืบทอดมาจากตระกูลปู่เจ้าลาวจก และถูกกล่าวในนิทานเจี้ยก้อมว่าเป็นชาวดอยคนป่า ที่ดอยอำนาจ เป็นคนซื่อไม่ทันคนและมักโดนเอาเปรียบและแกล้งจากคนโยนกมาโดยตลอด แต่คนเหล่านี้มีที่มาทางประวัติศาสตร์ในฐานะคนพื้นเมืองเดิมในพื้นที่ล้านนา

5. ชาวกะเหรี่ยง เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยงสะกอ (ยาง) กะเหรี่ยงปะโอ กะเหรี่ยงตองสู กะเหรี่ยงบะลา ในงานชิ้นนี้ได้กล่าวถึงลักษณะของชาวกะเหรี่ยงจากนิทานว่าเป็นชาวเขาชาวดอย ไม่รู้มารยาทกาลเทศะของคนเมือง 

6. ชาวม้ง จากนิทานในงานชิ้นนี้ ได้กล่างถึงอัตลักษณ์ชาวม้งผ่านพฤติกรรมในการล้อเลียนจากนิทานล้านนา โดยกล่าวว่าชาวม้งอาศัยอยู่บนดอยในป่าที่ไม่เจริญและเป็นคนซื่อมากจนถูกหลอกได้ง่ายและยอมจำนนเป็นเบี้ยล่างของคนฉลาดหรือคนที่มีฐานะสังคมที่ดีกว่า (น.75)

7. ชาวมูเซอหรือลาหู่ มีกลุ่มย่อยอีกมากมายเช่น ลาหู่ดำ ลาหู่แดง ลาหู่เหลือง ลาหู่ขาว คนกลุ่มนี้ได้ถูกกล่าวถึงในนิทานว่า เป็นคนที่มีความสามารถในการล่าสัตว์หรือเป็นนายพราน  

8. ชาวขมุ ถูกเรียกว่าเป็นลาวเทิงหรือลาวบนที่สูง เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่ชายแดนไทยมาอย่างยาวนาน ในงานชิ้นนี้กล่าวถึงชาวขมุจากนิทานว่า เป็นกลุ่มคนที่รักสงบ ไม่ชอบทะเลาะวิวาทหรือมีเรื่องกับใคร แต่เมื่อถูกหลอกก็จะขี้โมโหได้ มีนิสัยขยัน อดทน ซื่อสัตย์และน้อมรับคำสั่ง และมีความเคารพต่อผู้อาวุโสอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในนิทานยังกล่าวถึงชาวขมุว่าเป็นคนที่มีลักษณะคนซื่อ ถูกหลอกง่ายเอาเปรียบง่าย ซึ่งกลายเป็นประเด็นล้อเลียนในนิทานของชาวล้านนา (น.77-78)   

9. ชาวลีซู เป็นกลุ่มที่มีลักษณะการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันที่โดดเด่น เป็นคนรักอิสระ มีจารีตประเพณีและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม วิถีชีวิตของตนเอง ชาวลีซูในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือลีซูลายกับลีซูดำ แต่ในประเทศไทยพบมากคือ ชาวลีซูลายเป็นส่วนใหญ่ (น.84)

10. ชาวมอญ เป็นกลุ่มคนพื้นเมืองเดิมในดินแดนระหว่างพม่าและสุวรรณภูมิ เป็นผู้สร้างสรรค์อารยธรรมเก่าแก่ ทั้งด้านภาษา ศาสนา ศิลปะ สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี และประเพณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้คนและรัฐในแถบนี้ (น.86)

11. ชาวแขก ได้ถูกกล่าวถึงในแง่ลักษณะของรูปร่างใหญ่ มีหนวดเครา อวัยวะเพศชายใหญ่ มีความต้องการทางเพศสูงและเป็นคนตระหนี่ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกล้อเลียนในนิทานล้านนา (น. 104)

Social Cultural and Identity Change

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ในงานได้ระบุกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม คือ 

1. ชาวไทใหญ่ มีบทบาทที่ปรากฏในนิทานพื้นบ้านล้านนานั้น โดยพบว่า คนกลุ่มนี้มีภาพลักษณ์ทั้งด้านที่ดีและด้านลบ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทที่เขาเหล่านี้ได้แสดงงตัวตนในสังคมล้านนา เช่น จะพบว่าในนิทานเล่าถึงชาวไทใหญ่ว่ากลุ่มคนที่เคร่งครัดศาสนา นิยมทำบุญ สร้างวัดสร้างพระธาตุ และกล้าหาญทำศึกสงครามกับพม่าอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่ด้านลบนิทานล้านนาได้กล่าวว่า เป็นกลุ่มที่มีนิสัยปล้นสะดม ต่อต้านก่อกบฏต่อสยาม แต่ไม่ได้มีความหมายเป็นศัตรูกับชาวล้านนา เนื่องจากชาวล้านนากับใทใหญ่มีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน พึงพาอาศัยและเอื้อประโยชน์จากการค้าที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จนสุดท้ายคนเหล่านี้ถูกแปลี่ยนแปลงและกลมกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมล้านนา (น.41)  

2. ชาวไทยวน จากนิทานในงานชิ้นนี้ ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของชาวไทยวนในด้านการปกครองและสำนวนภาษา คือ คนไทยวนได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่จากคนกรุงเทพเพื่อติดต่อเรื่องการบ้านการเมืองและการรับวัฒนธรรมภาษาไทยกรุงเทพ หรือกรณีของชาวไทยยวนที่ไปเรียนหนังสือในกรุงเทพ คนเหล่านี้ได้กลับนิยมและเลียนแบบอากัปกิริยา ค่านิยม ภาษา การแต่งกายจนละทิ้งวัฒนธรรมล้านนาของตนเอง (น.46)

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ไม่ปรากฏเนื้อหาที่กล่าวถึงความเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Critic Issues

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst อัสรี มาหะมะ Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG กลุ่มชาติพันธุ์ในล้านนา, นิทานพื้นบ้าน, ชาวยอง, ชาวไทยวน, ชาวลัวะ, ชาวกะเหรี่ยง, ชาวม้ง, ชาวไทใหญ่, ชาวมอญ, ชาวมูเซอ, ชาวขมุ, ชาวลีซู, ชาวทมิฬ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง