สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทเขิน,การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม,เชียงใหม่,ภาคเหนือ,ประเทศไทย,เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Author อิสราภรณ์ พัฒนวรรณ
Title กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขินในชุมชนนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทขึน ไตขึน ขึน, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขเรียกหนังสือ ว/ภน 303.49536 อ387ก 
ระบบฐานข้อมูลCMU Intellectual Repositoryมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
[เอกสารฉบับเต็ม]
ศูนย์ข้อมูลการวิจัย Digital “วช” URL: http://dric.nrct.go.th/Search/SearchDetail/218248
Total Pages 149 Year 2552
Source วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภูมิภาคศึกษา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Abstract

การศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขิน กรณีศึกษาบ้านนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งเน้นการอธิบายถึงผลของการปรับตัวจากการเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การอพยพเข้ามายังเชียงใหม่จากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2350 ในช่วงเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ โดยเข้ามาในฐานะของ “เจ้านอกเมือง” ที่ไม่ใช่เชลยศึก อันสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ปกครองแบบผสมกลมกลืน เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยที่เชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยาม และนโยบายหลังจากการผนวกเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2551

การศึกษาพบความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ ชาวไทเขินต้องปรับตัวภายใต้กรอบของการเป็นพลเมืองของรัฐชาติและระบบเศรษฐกิจหลังทุนนิยม ในลักษณะการผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมโดยมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการปฏิรูปการปกครอง ระบบทุนนิยม ระบบการศึกษาของรัฐ และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ

ทั้งนี้ พบว่ามีการปรับตัวในระดับแรก คือ การยอมรับวัฒนธรรมการแต่งกายล้านนา การใช้ภาษาคำเมือง (ภาษาไทยถิ่นเหนือ) แทนภาษาไทเขิน และในระดับที่สอง คือ การปรับตัวไปพร้อมกับชาวพื้นเมืองเชียงใหม่ในช่วงสยามผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ ท้ายที่สุดมีการผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขินกับคนในเชียงใหม่ คนในภาคกลาง ความเป็นไทยที่รัฐเป็นผู้กำหนดขึ้น และวัฒนธรรมตะวันตก

อย่างไรก็ดี ชาวไทเขินยังคงมีความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์งานหัตถกรรม “เครื่องเขิน” และ “น้ำหนัง” ซึ่งเป็นอาหารที่ยึดถือการสืบทอดร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี “วัดนันทาราม” เป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม

Focus

งานวิจัยมุ่งเน้นการอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวไทเขินบ้านนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการศึกษาผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่และรัฐไทย ทั้งนโยบายของเจ้าเมืองเชียงใหม่ที่ปกครองแบบผสมกลมกลืนในยุคสมัยที่เชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยาม และนโยบายหลังจากการผนวกเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสยาม โดยชาวไทเขินต้องปรับตัวภายใต้กรอบของการเป็นพลเมืองของรัฐชาติและระบบเศรษฐกิจหลังทุนนิยม รวมทั้งการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน

Theoretical Issues

ผู้วิจัยกำหนดกรอบแนวคิดในการศึกษาโดยการมอง “วัฒนธรรมไทเขิน” ในมิติของ “การเปลี่ยนแปลง” ทางวัฒนธรรมด้วย “การผสมกลมกลืน” โดยยังคงรักษา “อัตลักษณ์” ทางวัฒนธรรมบางประการ ผ่านการใช้แนวทางการศึกษากระบวนการผสมกลมกลืนของ Park, R. E. (อ้างถึงใน สุมน  อยู่ลิน, 2527) ซึ่งแบ่งกระบวนเป็น 4 ขั้นตอนที่ความสัมพันธ์กัน คือ การติดต่อ การแข่งขัน การปรับตัว และการผสมกลมกลืน (น. 9-10) โดยใช้มุมมอง อ้างถึง สุเทพ  สุนทรเภสัช (2515), ผ่องพันธุ์  มณีรัตน์ (2521) และเสาวนีย์  จิตหมวด (2531) ว่าการผสมผสานทางวัฒนธรรมมีลักษณะที่เป็นกระบวนการสองทาง (two way process) ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดลักษณะเด่นทางวัฒนธรรม แต่เป็นกระบวนการสังสรรค์ของกลุ่มคนต่างวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการรับหรือยืมวัฒนธรรมต่างกลุ่มโดยอาจเป็นที่ยอมรับและรวมเข้ากับอีกวัฒนธรรมได้โดยสมบูรณ์โดยมักจะใช้ระยะเวลานาน ซึ่งโดยปกติชนกลุ่มน้อยมักมีแนวโน้มในการรับวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นวัฒนธรรมโดยรวมของชนในชาติ (น. 7-9)

งานวิจัยพยายามอธิบายความเปลี่ยนแปลงของชุมชนไทเขิน อ้างถึง ชยันต์  วรรธนะภูติ (2536) โดยพิจารณาในมิติประวัติศาสตร์ชุมชน ทรัพยากรและระบบการผลิต อำนาจและความสัมพันธ์ทางสังคม ความขัดแย้งและการคลี่คลายความขัดแย้งทางชุมชน รวมทั้งปัจจัยภายในและภายนอกชุมชน (น. 12-13) แต่ยังคงให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของความเป็นชาวไทเขินที่แยกออกจากกลุ่มคนอื่น ซึ่งสัมพันธ์กับงานศึกษาของสุเทพ  สุนทรเภสัช (2548) ที่อธิบายอัตลักษณ์ความเป็นคนเมืองของชาวไทยภาคเหนือที่มีการแบ่งแยกออกจากความไม่ใช่คนเมืองด้วยการให้ความสำคัญกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม อีกทั้ง งานวิจัยยังมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ ซึ่งสัมพันธ์กับงานศึกษาความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เช่น งานของเข้ม  มฤคพิทักษ์ (2530) ซึ่งอธิบายการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรสู่การค้าจากการปฏิรูปการปกครอง งานของไข่มุก  อุทยาวลี (2537) ซึ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาจากระบบจารีตภายในวัดสู่ระบบโรงเรียนของรัฐ (น. 23-26)

งานศึกษาวิจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชาวไทเขินมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนมากมุ่งเน้นการศึกษาเครื่องเขินในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ มีการรวบรวมข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับชาวไทเขินบ้านนันทารามในงานของ บุญศรี  สุทธิมา (2547) และมีการกล่าวถึงความสำคัญของเครื่องเขินในฐานะของเครื่องบรรณาการสำหรับเจ้านายเชียงใหม่และเชียงตุง ในงานของลักขณา  ปันวิชัย และศิริศักดิ์  คุ้มรักษา (2540) รวมทั้งกล่าวถึงเครื่องเขินในฐานะของเครื่องใช้ในวัด คุ้ม และบ้านในงานของ สมโชติ  อ๋องสกุล (2546) (น. 16-17) ส่วนงานที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินนั้นมีการกล่าวถึงในทิศทางเดียวกันว่ามีถิ่นฐานเดิมในพื้นที่เชียงตุงหรือเขตสหรัฐไทใหญ่ มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกั​บชาวไทใหญ่ โดยมีความสัมพันธ์กับการเป็นกลุ่มคนตระกูลเดียวกับไทลื้อ (น. 17-18)

Ethnic Group in the Focus

ชาวไทเขิน หมายถึง กลุ่มคนไทที่อยู่ในเมืองเชียงตุงของพม่าที่ถูกเกลี้ยกล่อมให้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านนันทาราม เชียงใหม่ ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ พ.ศ. 2350 และรวมถึงผู้ที่เกิดในประเทศไทย แต่มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทเขินบ้านนันทาราม (น. 5)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของชาวไทเขินมีสำเนียงที่แตกต่างจากชาวไทยวน มักลงท้ายด้วยคำว่า “แด้” ใช้ตัวอักษรธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาพม่า (น. 44)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยกำหนดขอบเขตการศึกษาตั้งแต่ระยะเวลาที่ชาวไทเขินบ้านนันทารามอพยพเข้ามายังเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2350 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551รวมทั้งสิ้น 201ปี โดยไม่ได้ระบุช่วงระยะเวลาที่เก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัย

History of the Group and Community

ประวัติศาสตร์เมืองเชียงตุง
เมืองเชียงตุง ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่สหภาพพม่า เป็นรัฐฉานที่ใหญ่ที่สุดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวิน (น. 33) มีลักษณะเป็นแอ่งก้นกระทะ มีหลายชื่อเรียก อาทิ “เมืองขืน” อ้างถึงในตุงครสีพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับไกรศรี  นิมมานเหมินทร์ กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในสมัยพญามังรายซึ่งรบชนะลัวะในเมืองเชียงตุง ได้กวาดต้อนไร่พลจากเมืองเชียงแสนและเชียงรายไปยังเมืองเชียงตุง แต่ได้มีการอพยพกลับมา พญามังรายทรงให้กลับไปอีก แต่ท้ายที่สุดไพร่พลก็หนีลงมาอีกครั้ง จึงได้เรียกชื่อเมืองว่าเมืองขืนซึ่งหมายถึงกลับคืน อีกทั้งยังสัมพันธ์กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ซึ่งมีแม่น้ำที่ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือซึ่งผิดธรรมชาติ มีการเรียกแม่น้ำสายน้ำว่าแม่น้ำขืน และเรียกคนที่อาศัยบนฝั่งแม่น้ำว่า “ไทขืน” (น. 35-36)

นอกจากนี้ยังพบชื่อ “เมืองเขิน” อ้างถึงในตำนานเมืองเขิน ซึ่งกล่าวถึงสมัยพระยาลวจังคราช (พญาเจือง) มีการนำบ่าวไปสร้างเมืองเชียงตุงจำนวน 70 คน และได้เสียชีวิตไป 1 คน ยัง “เขิน” หรือเหลืออยู่ 69 คน จึงเรียกชื่อเมืองว่าเมืองเขิน ส่วนชื่อ “เมืองเขมรัฐ” อ้างถึงในอรุณรัตน์  วิเชียรเขียว (2537) สันนิษฐานว่ามาจากชื่อเจ้าบุญนำ “รัตนภูมินทร์นรินทรา เขมาธิบดีราชา” แปลว่าเจ้าผู้ครองนครเขมรัฐพระองค์แรก หรืออาจจะมาจากชื่อที่พระสงฆ์ตั้งชื่อเมืองเชียงตุงให้ใหม่หลังจากชาวเมืองประสบภาวะโรคภัยชุกชุม (น. 36)

อ้างถึงในรัตนาพร  เศรษฐกุล (2552) พ.ศ. 2345 หลังจากที่พระยาอุปราชธรรมลังกาเมืองเชียงใหม่ยกทัพไปปราบเมืองสาด จึงได้ยกกำลังไปยึดเมืองเชียงตุง แต่เจ้าศิริชัยโชติสารัมภยะได้อพยพไพร่พลหนีไปยังเมืองหลวง เมืองยาง และเมืองแลม จนกองทัพเชียงใหม่ยกทัพกลับจึงได้นำไพร่พลกลับไปยังเมืองเชียงตุงดังเดิม เมื่อผู้นำเชียงใหม่ขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้ในพ.ศ. 2350 จึงสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าเมืองตามแนวชายแดนได้ เชียงใหม่จึงสามารถเกลี้ยกล่อมให้เจ้าฟ้าเชียงตุงนำไพร่พลซึ่งเป็นชาวไทเขินเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ (น. 38) โดยสรัสวดี  อ๋องสกุล (2544) กล่าวว่ามีลักษณะเป็นการเทครัวจนเมืองเชียงตุงกลายเป็นเมืองร้าง ในขณะที่รัตนาพร  เศรษฐกุล (2552) ให้ข้อสังเกตว่าน่าจะมีเพียงกำลังไพร่พลของเจ้าศิริชัยโชติสารัมภยะเท่านั้น โดยปรากฏในตำนานป่าแดงว่าเมืองเชียงตุงยังคงมีเจ้ามหาขนานเชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงตุงอยู่ที่เมืองยางเพื่อต้องการฟื้นฟูเมืองเชียงตุง (น. 39)

การอพยพของชาวไทเขินจากเชียงตุงสู่เชียงใหม่
ชาวไทเขินบ้านนันทารามอพยพมาจากเมืองเชียงตุงด้วยความจำเป็นทางการเมืองมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2350 ในสมัยพระเจ้ากาวิละ โดยได้กลายมาเป็นพลเมืองของรัฐชาติสยามตามนโยบายการปกครองที่มีการผนวกเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา (น. 33) การอพยพเข้ามานั้นไม่ใช่ในฐานะของเชลยศึกแต่ถือเป็น “เจ้านอกเมือง” คือ เจ้าเชื้อสายพญามังรายเช่นเดียวกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็น “เจ้าในเมือง” โดยบทบาทของเจ้าค่อย ๆ ลดลงในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ด้วยการผสมกลมกลืนกับคนในท้องถิ่น (น. 41) กลุ่มคนที่อพยพเข้ามามีทั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ข้าราชบริพาร และไพร่ (น. 142)

ชาวไทเขินเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านเขินหรือบ้านนันทาราม ก่อนการแยกย้ายถิ่นฐานไปตามที่ต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ โดยบ้านนันทารามมีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี เป็นชาวไทเขินที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2350 พระยาอุปราชธรรมลังกาได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะเจ้าเมืองเชียงตุงยอมสวามิภักดิ์และนำกำลังพลมายังเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการเห็นชอบนำเจ้านายและกำลังไพร่พลจำนวนหลายร้อยครอบครัวเข้ามายังเชียงใหม่ โดยให้ชาวไทเขินที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุงอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างกำแพงชั้นในกับกำแพงชั้นนอกทางด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่หรือบริเวณวัดนันทาราม ส่วนเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ให้ตั้งคุ้มอยู่บริเวณเหนือวัดนันทาราม (น. 2)

อ้างถึง Michael Vitikiotis (อ้างใน สมพงศ์  วิทยาศักดิ์พันธุ์, 2541) ไทเขินตั้งถิ่นฐานบริเวณหายยา ประตูเชียงใหม่ บ้านนันทาราม โดยอพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประกอบอาชีพทำเครื่องเขิน อ้างถึง Volker Grabowsky(2537) ชาวไทเขินที่ถูกกวาดต้อนมามีหลายชนชั้น หลายอาชีพ กลุ่มไพร่ชั้นดีตั้งถิ่นฐานใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ไทเขินบ้านนันทารามตั้งถิ่นฐานบริเวณกำแพงเมืองชั้นนอก กลุ่มไพร่ที่ไม่เป็นช่างฝีมือตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมือง เช่น อำเภอสันทราย อำเภอสันป่าตอง  (น. 2)

เมืองเชียงใหม่มีนโยบายในการจัดการกลุ่มชาวไทเขินโดยกำหนดให้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในกับกำแพงเมืองชั้นนอกทางด้านทิศใต้บริเวณวัดนันทาราม มีการกำหนดให้เจ้านายเชียงตุงตั้งคุ้มบริเวณหน้าวัดนันทารามจำนวน 2 คุ้ม คือ คุ้มเหนือเป็นที่อยู่ของเจ้าแม่คำแดง ได้แก่ คนในสกุลเทพสุวรรณ เทพสิรินทร์ และเทพรัตน์ในปัจจุบัน ส่วนคุ้มใต้เป็นที่อยู่ของเจ้าแสนเมืองและเจ้าศิริชัยโชติสารัมภยะ บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดนันทาราม ส่วนไพร่พลนั้นกระจายที่อยู่โดยรอบเพื่อรับใช้เจ้านาย (น. 40)

Settlement Pattern

ชุมชนนันทารามตั้งบ้านเรือนเรียงตามเส้นทางการคมนาคม มีทั้งบ้านตึกชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น บ้านไม้ชั้นเดียว บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ตึกแถว และอาคารชุด (น. 53)

ในอดีตลักษณะบ้านเรือนมีลักษณะเป็นตูบ เรือนไม้ไผ่ เรือนไม้ตามฐานะของเจ้าของ สร้างด้วยไม้ไผ่ ไม้สัก ใบจาก ใบตองตึง ใบจาก ดินขอ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน แบ่งออกเป็นส่วนชานไว้สำหรับรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ใต้ถุนใช้สำหรับเลี้ยงวัวและควาย ลักษณะพิเศษคือมีห้องปิดทึบด้านล่างสำหรับเก็บเครื่องเขินเพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่อาจสร้างความเสียหายให้กับเครื่องเขิน สำหรับคุ้มเจ้ามีลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงสูงขนาดใหญ่เป็นห้องยาวหลังเดียว ไม่มีเรือนข้าราชบริพาร (น. 95-97)

การตั้งบ้านเรือนตั้งห่างกัน ไม่มีการกั้นรั้วบ้าน เนื่องด้วยเป็นเครือญาติกันทั้งหมด (น. 97)

Demography

ประชากรในชุมชนบ้านนันทารามจากข้อมูสำนักงานแขวงเม็งราย เทศบาลนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 เป็นเพศชาย 700 คน เพศหญิง 818 คน รวม 1,518 คน 142 หลังคาเรือน และ 184 ครอบครัว โดยเป็นชาวไทเขินประมาณ 40-50 ครัวเรือน (น. 52)

Economy

สังคมของชาวไทเขินเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการทำนาบริเวณประตูก้อม ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่เรื่อยไปจนถึงถนนเส้นเชียงใหม่หางดงและบ้านป่ากล้วย และยังมีการทำเครื่องเขินในช่วงที่ว่างจากการทำนาเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย (น. 3)

จากนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มอาชีพทำเครื่องเขินและน้ำหนังในปี พ.ศ. 2546 โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มหนุ่มสาว กองทุนชุมชน กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม อสม. ชุมชน (น. 73-74)
ระบบการผลิตสัมพันธ์กับฤดูกาลทางธรรมชาติ หลังจากการทำไร่นาเข้าสู่ฤดูฝนจะมีการทำเครื่องเขินซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยางรักแห้งสนิทได้ดีที่สุด ส่วนฤดูหนาวจะเปลี่ยนเป็นการทำน้ำหนังซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำหนังแข็งตัวได้ดีที่สุด (น. 43)

Social Organization

ลักษณะครอบครัวของชาวไทเขินเป็นครอบครัวขยาย เมื่อแต่งงานฝ่ายชายนิยมย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ภาระการเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นของลูกสาวคนสุดท้อง มีการยึดมั่นในระบบอาวุโสและการนับถือผีบรรพบุรุษหรือฝีปู่ย่า (น. 99)

ชาวไทเขินยึดถือการมีผัวเดียวเมียเดียว การเลือกคู่ครองมีทั้งการเลือกตามความชอบพอและการเลือกแบบคลุมถุงชนโดยพ่อและแม่ โดยมีประเพณีแอ่วสาว เป็นการเลือกคู่ครองในรูปแบบหนึ่งโดยฝ่ายชายไปหาฝ่ายหญิงในช่วงกลางคืนหลังจากเสร็จการทำงานในช่วงกลางวัน ซึ่งชายที่มีมือสากจะแสดงให้เห็นว่ามีความอดทนสู้งานหนัก เมื่อตกลงเป็นสามีภรรยากันแล้ว ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายสู่ขอฝ่ายหญิงโดยมีสินสอดตามฐานะเรียกว่าการมัดมือ จากนั้นฝ่ายหญิงจะนำข้าวตอกดอกไม้ไปขอฝ่ายชายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะย้ายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงพร้อมแอ๋บใส่ผ้าใหม่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องมือทำไร่ทำสวน เมื่ออยู่บ้านฝ่ายหญิงจนสามารถสร้างตัวได้แล้วก็จะแยกออกไปตั้งบ้านเรือนตามลำพัง (แอ๋บ / แอ่บ คือ หีบหรือกำปั่นที่ทำจากเครื่องเขิน) สำหรับฝ่ายหญิงที่นับถือผีปู่ย่าจะมีการนำข้าวปลาอาหารไปเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวแก่ผีปู่ย่าเรียกว่าการเสียผี (น. 101-103)

การใช้นามสกุลของชาวไทเขินเริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่6 เป็นต้นมาเช่นเดียวกับคนไทย โดยมีการใช้สกุล เทพรัตน์ เทพสุวรรณ เทพสิรินทร์ วิชัยกุล ไชยวงศ์ ศรีบุญเรือง สุวรรณชมภู เป็นต้น ซึ่งพบว่าสายสกุลเดียวกันมีการแยกใช้คนละนามสกุลตามความพอใจ (น. 100)

Political Organization

อ้างถึงในสรัสวดี  อ๋องสกุล (2544) ชาวเขินมีฐานะเป็นไพร่ซึ่งหมายถึงสามัญชนที่ไม่ใช่มูลนายหรือทาส มีหน้าที่เข้าเวรรับราชการตามกฎหมายเรียกว่าไพร่เอาเมือง หรือหากไม่เข้าเวรจะต้องส่งเงินหรือสิ่งของตอบแทน สำหรับไพร่หญิงนั้นส่วนมากได้รับการยกเว้น แต่มีหลักฐานการติดตามรับใช้มูลนายหรือทำงานในคุ้มเจ้านาย โดยสันนิษฐานว่ามีการขึ้นสังกัดเช่นเดียวกับไพร่ล้านนา คือ ขึ้นสังกัดเป็นครอบครัวกับมูลนายคนเดียวกัน (น. 45)

ผู้นำชุมชนที่มีสถานะสูงและได้รับการยอมรับสืบทอดกันมา คือ เจ้าอาวาสวัดนันทาราม โดยสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพระสังฆราชาสารภังค์ซึ่งเป็นเจ้านายไทเขินที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง (น. 46)

Belief System

ศาสนสถานหลัก คือ วัดนันทาราม เป็นศูนย์กลางของชาวไทเขิน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ชื่อเดิมคือวัดเมืองลาบ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2040หลังการสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1838 แต่ก่อนการสร้างกำแพงเวียงชั้นนอก (กำแพงดิน) โดยเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะ หลังจากที่ชาวไทเขินเข้ามาบูรณะวัดจึงได้นิยามว่าวัดนี้เป็น “นิกายเขิน” ซึ่งเรียกตามความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นศรัทธาวัด (น. 42, 55และ 60)

อดีตเจ้าอาวาสองค์สำคัญ คือ พระครูสารภังค์ (พ.ศ. 2403-2472) นามเดิม คือ เจ้าเทพวงศ์ ณ เชียงตุง เป็นพระครูเจ้าหมวดอุโบสถ หมวดอุโบสถ หมายถึง การที่พระสงฆ์ในเชียงใหม่ที่มีวัดอยู่ใกล้เคียงกันมาร่วมทำอุโบสถในวัดเดียวกัน โดยหมวดอุโบสถวัดนันทารามนิกายเขิน ได้แก่ วัดนันทาราม วัดกุฎีคำหรือวัดธาตุคำในปัจจุบัน วัดยางกวง และวัดดาวดึงส์ (น. 61)

ชาวไทเขินนับถือศาสนาพุทธ สืบทอดประเพณีปีใหม่เมือง การขนทรายเข้าวัด การแห่ไม้ค้ำสะหลี (ไม้ค้ำต้นโพธิ์) การบูชาสะเดาะเคราะห์ การสรงน้ำพระธาตุในเดือน 6 ค่ำ มีความเชื่อเรื่องผีเจ้านาย ผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) ผีเสื้อวัด (ผีที่ปกปักรักษาวัด) โดยบ้านนันทารามไม่มีความเชื่อเรื่องผีเสื้อบ้าน (ผีที่ปกปักรักษาบ้าน) เนื่องด้วยบ้านอยู่ในขอบเขตของวัดจึงถือว่าผีเสื้อวัดปกปักคุ้มครองบ้านด้วย อีกทั้งยังมีความเชื่อเรื่องพระเจ้าดำซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อเรื่องผีปู่จันต๊ะ ซึ่งบ้างเชื่อว่าเป็นกบ บ้างเชื่อว่าเป็นคนที่อยู่บริเวณหนองบึงในวัดนันทาราม (น. 103-104)
การเลี้ยงผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษทำกันในช่วงเดือน 9 ของทางเหนือ หรือมิถุนายน (น. 105)

Education and Socialization

พระครูสารภังค์อดีตเจ้าอาวาสวัดนันทารามเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนภายในวัดเป็นวัดแรก ๆ จัดการสอนในระดับมูลศึกษาเน้นการเรียนตามแบบแผนภาษาไทยกลาง แต่ยังคงมีการถ่ายทอดอักขรวิธีแบบล้านนา (น. 65-66)

Health and Medicine

ตำรายาวัดนันทารามมีลักษณะเป็นพับสาโบราณได้รับการสืบทอดต่อกันมาจากเจ้าอาวาสวัดนันทาราม มีมาตั้งแต่สมัยพระสังฆราชาสารภังค์ พ.ศ. 2403-2472 ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้านายเชียงตุง (น. 44-45) มีวิธีการรักษาโดยการใช้ยาแผนโบราณ (น. 106)

“ยาตุ๊เจ้าวัดนันตา” เป็นยาที่มีชื่อเสียงของพระครูสิริรัตนสุนทร (อิ่นแก้ว) เจ้าอาวาสวัดนันทรามในช่วง พ.ศ. 2502-2539 ซึ่งได้ศึกษาวิชาการแพทย์แผนโบราณจากวัดช่างฆ้อง ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และวัดพระเชตุพนวิลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยก่อนมรณภาพได้มอบตำรายาให้ญาติและเปิดเป็นร้านขายยาวิรัชโอสถโดยมีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2539 จึงไม่มีการสืบทอดยาแผนโบราณภายในวัดนันทารามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (น. 67)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

หัตถกรรมเครื่องเขิน
ชาวไทเขินเรียกเครื่องเขินว่า “คัวฮักคัวหาง” คัวฮักคือเครื่องใช้ที่เคลือบด้วยยางรักที่มีสีดำ ส่วนคัวหางคือเครื่องใช้ที่ทาด้วยผงชาดที่มีสีแดง เครื่องเขินเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน ของถวายพระสงฆ์เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เครื่องถวายเจ้านายเชียงใหม่และเจ้านายเชียงตุง และสินค้าแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ประกอบด้วย ขันน้ำ โอ พาน ขันหมาก ขันโตก ถาด กล่อง ตลับ หีบ แอ๋บ (น. 42-43)

อ้างถึงใน ลักขณา  ปันวิชัย และศิริศักดิ์  คุ้มรักษา (2540) เครื่องเขินเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ในครัวเรือนของชาวไทเขิน และสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้า เช่น เกลือ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเขินยังใช้เป็นเครื่องบรรณาการแก่เจ้านายทั้งเชียงใหม่และเชียงตุง โดยเครื่องเขินสำหรับเจ้านายมักลงรักปิดทองและมีลวดลายงดงามพิเศษแตกต่างกับเครื่องเขินของชาวบ้านซึ่งเป็นสีหางไร้ลวดลาย (น. 16)

เครื่องแต่งกาย
ชาวไทเขินผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงขากว้าง สวมเสื้อแขนสั้นตัวยาวแบบพม่า โพกศีรษะด้วยผ้าทิ้งชายตั้งขึ้นด้านบน ผู้หญิงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด สวมเสื้อแขนกระบอกเข้ารูปคอป้ายเรียกว่าเสื้อปั๊ดหรือเสื้อป้าย นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า (น. 44, 107)

อ้างถึงใน บ.บุญค้ำ (2499) เสื้อผ้าของชาวไทเขินชั้นเจ้านายทำจากแพรจีนหรือไหมที่ชาวฮ่อนำมาจากเมืองจีน ส่วนชาวบ้านแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย มีผ้าโพกศีรษะและผ้าคาดเอวสีต่าง ๆ เช่น สีเขียวเลื่อม สีแดงเลื่อม มีเชิงเป็นสีล้วนประดับด้วยลูกไม้หรือดิ้นทอง มักสวมใส่ในงานรื่นเริงต่าง ๆ ส่วนเวลาปกตินุ่งซิ่นผ้าดิบสีขาว ชาวไทเขินนิยมไว้ผมยาวมวยผมด้านหลัง เกล้าผมสูงกลางศีรษะ และขอดผมไว้ด้านหลัง ชาวบ้านผู้หญิงนิยมเคียนหัว ส่วนชนชั้นเจ้านายไม่เคียนหัว นิยมประดับมวยผมด้วยดอกไม้เงินดอกไม้ทอง (น. 107)

ชาวไทเขินมีการปรับเปลี่ยนการแต่งกายตามวัฒนธรรมล้านนา ผู้ชายนิยมนุ่งเตี่ยวสะดอหรือกางเกงสะดอ นุ่งผ้าขาวม้า สวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมแขนยาวและแขนสั้นหรือเสื้อม่อฮ่อม หรือไม่สวมใส่เสื้อโดยเฉพาะผู้ที่สักยันต์ ผู้หญิงนิยมนุ่งซิ่น เช่น ซิ่นก่าน (ซิ่นที่ทอด้วยลวดลายมัดหมี่ มัดก่าน หรือคาดก่าน) มีลักษณะพื้นที่สีดำ ตีนซิ่นสีแดงหรือสีเขียว โดยไม่มีการโพกหัวแบบเชียงตุง (น. 108)

อาหาร
น้ำหนังเป็นอาหารกับแกล้มหรือเครื่องเคียงทำจากหนังควาย มีลักษณะเป็นแผ่นกลมบางขนาดประมาณ 6-8 นิ้ว คล้ายหนังพองของชาวไทใหญ่หรือแคบหมู นิยมรับประทานคู่กับอาหารทุกชนิด (น. 109)

Folklore

ไม่มี

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ในระยะแรกของการอพยพมายังเชียงใหม่ ชาวไทเขินยึดถือความสัมพันธ์แบบเดิมตามที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งอยู่เชียงตุงแต่มีมูลนายสูงสุดคือพระเจ้ากาวิละ ไม่ใช่เจ้ามหาสิริชัยสารัมพยะ ยึดถือการใช้ภาษาไทเขิน การแต่งกาย การผลิตน้ำหนังตามวิธีจำเพาะ การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ที่เรียกว่าเครื่องเขิน และการสืบทอดตำรายาพื้นบ้าน (น. 142)

ไทเขินมีการยอมรับวัฒนธรรมคนเมืองทั้งด้านภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรมจากส่วนกลาง มีสำนึกของความเป็นคนไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ท้องถิ่นเชียงใหม่หรือคนเมือง โดยกล่าวได้ว่าเป็น “คนเมืองเชื้อสายเขิน” มีค่านิยมแบบตะวันตกในด้านการศึกษา การแต่งกาย การใช้ชีวิต รูปแบบบ้านเรือน และการบริโภค (น. 143)

การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมไทเขินเป็นไปตามทฤษฎีของ Park R. E. (อ้างถึงใน สุมน  อยู่ลิน, 2527) 3 ขั้นตอน ไม่พบขั้นตอนการแข่งขัน โดยเริ่มต้นจากขั้นตอนการติดต่อ ชาวไทเขินมีการติดต่อกับคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในลักษณะผู้อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่ขั้นตอนการปรับตัวในระดับแรก คือ การยอมรับวัฒนธรรมการแต่งกายล้านนา การใช้ภาษาคำเมือง (ภาษาไทยถิ่นเหนือ) แทนภาษาไทเขิน และในระดับที่สอง คือ การปรับตัวไปพร้อมกับชาวพื้นเมืองเชียงใหม่ในช่วงสยามผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติโดยมีลักษณะการปกครองแบบรวมศูนย์ พัฒนาประเทศตามแบบตะวันตก ยอมรับทุนนิยมเสรี และปฏิรูปการศึกษา ท้ายที่สุดเป็นขั้นตอนการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวไทเขินร่วมกับคนเมือง คนภาคกลาง และค่านิยมตะวันตก (น. 145)

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในลักษณะของการผสมกลมกลืนนำมาสู่การธำรงอัตลักษณ์ไทเขิน โดยการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ร่วมของชุมชนผ่านการส่งเสริมกิจกรรมประเพณีในศาสนาพุทธโดยมีวัดนันทารามเป็นศูนย์กลาง การส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมเครื่องเขินด้วยการตั้งกลุ่มและการรับการสนับสนุนจากภาครัฐ และการหยิบยกน้ำหนังซึ่งเป็นอาหารที่มีวิธีการเฉพาะในการผลิตเป็นเอกลักษณ์ เพื่อกำหนดอัตลักษณ์ของตนในรูปแบบที่ไม่ได้แยกออกจากคนเมือง แต่มีนัยการต่อรองเชิงอำนาจ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการระบุความมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามปรับตัวเพื่อสืบทอดมรดกจากบรรพบุรุษในด้านอาชีพหัตถกรรมเครื่องเขิน โดยพบว่ามีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธี ลวดลาย และวัตถุดิบการผลิตตามยุคสมัยและความต้องการของตลาด (น. 147-148)
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไทเขินชุมชนนันทารามก่อให้เกิดการผสมกลมกลืนทางด้านภาษา ซึ่งทำให้ภาษาไทเขินได้สูญหายไปจากชุมชน โดยคงเหลือลักษณะพิเศษของคำลงท้ายคำว่า “แด้” (น. 130) และก่อให้เกิดการธำรงอัตลักษณ์ โดยชาวบ้านมีความรู้สึกร่วมจากสำนึกร่วมกันทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเป็นผู้สืบเชื้อสายจากเมืองเชียงตุง ซึ่งพวกเขาได้รับการยกย่องจากคนภายนอกเกี่ยวกับความสามารถในการทำเครื่องเขิน ยาแผนโบราณ การทำน้ำหนัง และบุคคลที่มีชื่อเสียงของชุมชน (น. 130)

การธำรงอัตลักษณ์ผ่าน “เครื่องเขิน” มีผู้สืบทอดหลักคือนางจันทร์เป็ง  วิชัยกุล ซึ่งมีความสามารถเฉพาะตนและได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทำให้กิจการเครื่องเขินสามารถดำเนินได้เรื่อยมา (น. 135) ส่วน “วัดนันทาราม” ได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เครื่องเขินชุมชนวัดนันทารามขึ้น โดยนางประเทือง  สมศักดิ์ มีการส่งผู้มีความรู้ไปช่วยสอนและช่วยทำการตลาดให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในชุมชน (น. 139) สำหรับ “น้ำหนัง” นั้น ชาวบ้านพยายามอนุรักษ์ แต่ยังคงพบข้อจำกัดในการหาวัตถุดิบ คือ หนังควาย ซึ่งหายากและมีราคาสูง และข้อจำกัดทางด้านสภาพอากาศรวมทั้งสถานที่ในการตากน้ำหนัง (น. 140)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่รัฐบาลสยามผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสยามโดยเมื่อ พ.ศ. 2500 มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินโดยมีการขายที่นาให้กับคนต่างพื้นที่รวมทั้งรัฐเพื่อสร้างสนามบิน มีการเปลี่ยนแปลงการประกอบอาชีพโดยยกเลิกการทำนา (น. 3-4)

ธุรกิจในย่านตัวเมืองเดิมเชียงใหม่คือย่านถนนวัวลาย-นันทาราม ซบเซาลงตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการขยายเมืองหลักและเมืองรองแห่งภาคเหนือ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4-5 (พ.ศ. 2520-2529) ซึ่งได้มีการส่งเสริมเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ขยายศูนย์กลางรถโดยสารจากสถานีขนส่งช้างเผือกไปยังสถานีขนส่งอาเขต และขยายย่านธุรกิจแห่งใหม่เช่นย่านถนนเชียงใหม่-สันกำแพง (น. 92) อย่างไรก็ดีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2549) ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนนันทาราม เกิดการสร้างอัตลักษณ์ผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมอย่าง “เครื่องเขิน” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ยังคงมีการสืบทอดเรื่อยมา (น. 94)

ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไทเขิน คือ การปฏิรูปการปกครองในล้านนา การเข้ามาของทุนนิยมและวัฒนธรรมตะวันตก นโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาแบบแผนใหม่ (น. 95)

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2450-2463
การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2450-2463 มีลักษณะเป็นการผสมกลมกลืนกับคนเมืองหรือไทยวนเนื่องด้วยสภาพที่ตั้งชุมชนอยู่ใกล้ตัวเมือง สิ่งที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงหลัก คือ ภาษาและเครื่องแต่งกาย (น. 111) ชาวไทเขินเปลี่ยนมาพูดภาษาคำเมือง (ภาษาไทยถิ่นเหนือ) เป็นหลักตั้งแต่ พ.ศ. 2462 เป็นต้นมา ส่วนการแต่งกายทั้งกลุ่มเจ้านายและสามัญชนก็มีการผสมกลมกลืนกับคนเมืองเช่นกัน (น. 112)

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2464-2489
ตั้งแต่ พ.ศ. 2449 เป็นต้นมา มีการสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งด้านโหราศาสตร์ การทำนาย แพทยศาสตร์ ไสยศาสตร์ และพิธีกรรม รวมทั้งการถ่ายทอดอักขรวิธีล้านนาและปริยัติธรรมโดยพระสงฆ์ให้กับเฉพาะผู้ชายภายในวัดนันทาราม แต่เมื่อเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลทางด้านการศึกษาจากรัฐสยาม จึงได้มีการตั้งโรงเรียนที่มีการสอนภาษาไทยในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยจัดให้มีการสอนในวัดตำบลละ 2-3 โรง และในตำบลหายยามีการตั้งโรงเรียนภายในวัดศรีสุพรรณและวัดนันทาราม จึงก่อให้เกิดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ อย่างไรก็ดีในระยะนี้ ด้วยความจำเป็นในการใช้แรงงานของครอบครัวชาวไทเขินยังคงผูกติดกับจารีตที่เด็กหญิงต้องทำงานบ้านและรับภาระเลี้ยงดูน้องที่ยังเล็ก จึงพบการผ่อนผันการเข้าเรียนโดยให้บุตรคนใดคนหนึ่งเข้าเรียน ภายใต้เหตุผลว่าเด็กหญิงต้องเป็นผู้ถ่ายทอดงานช่างด้านการจักสานและการวาดลวดลายบนเครื่องเขินซึ่งเป็นงานหัตถกรรมของหมู่บ้าน ส่วนเด็กชายส่วนมากมักจะจบการศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้น (น. 112-114) ระบบการสอนของโรงเรียนใช้ภาษาไทยกลางซึ่งส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาไทเขิน (น. 115)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างเส้นทางรถไฟมายังเชียงใหม่ เกิดการเข้ามาของคนจีนเพื่อทำการค้า เกิดการขยายตัวของย่านการค้าทั้งตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย รวมทั้งเกิดการขยายตัวของตลาดเครื่องเขินซึ่งเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2476 บางครอบครัวมีการผลิตเครื่องเขินขายเพียงอย่างเดียวไม่มีการทำนา หรือบางครอบครัวก็ยังมีการทำนาและน้ำหนังควบคู่กับการผลิตเครื่องเขินจำหน่าย โดยในปี พ.ศ. 2478 จากการทำเครื่องเขินภายในครอบครัว เริ่มมีการแบ่งงานกันทำในละแวกหมู่บ้านโดยมีการว่าจ้างทำลวดลาย แหล่งขายเครื่องเขินและน้ำหนังที่สำคัญ คือ ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย (น. 116-117)

การทำเครื่องเขินหยุดชะงักลงไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2พ.ศ. 2484 แต่ชาวไทเขินก็ได้กลับมาทำอีกครั้ง โดยใช้หลุมหลบภัยเป็นขุม (หลุม) อบเครื่องเขินซึ่งภายในมีสภาพอากาศที่เย็นช่วยทำให้รักแห้งเร็ว สามารถผลิตได้จำนวนมากขึ้นและมีการส่งไปขายยังกรุงเทพฯ เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน (น. 117-118)

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2490-2519
ในช่วงก่อนการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2กองทัพญี่ปุ่นต้องการใช้พื้นที่บริเวณป่ากล้วยสร้างสนามบิน จึงมีการเวนคืนที่ดินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของชาวไทเขินบ้านนันทาราม ชาวบ้านจึงต้องขายที่ดินในราคาถูกแก่ทางการรวมทั้งนายทุนธุรกิจ ส่วนการทำเครื่องเขินมีลักษณะเป็นการทำอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองระบบตลาดโดยมีตระกูลวิชัยกุลเป็นตระกูลสำคัญที่สืบทอดการทำเครื่องเขิน (น. 120-121) รวมทั้งระหว่างปี พ.ศ. 2500-2520 ชาวไทเขินบ้านนันทารามเริ่มมีการขายที่นาอีกจำนวนมาก เกิดหมู่บ้านจัดสรร พร้อม ๆ กับการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของชุมชนนันทาราม (น. 122)

พ.ศ. 2500 ภาครัฐมีการส่งเสริมการผลิตศิลปหัตถกรรมสู่ระบบการค้า จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตแบบยังชีพสู่การผลิตเพื่อการค้า เกิดร้านขายเครื่องเขินภายในชุมชนและมีการรับเครื่องเขินจากครัวเรือนต่าง ๆ หรือว่าจ้างการผลิตมาจำหน่ายภายในร้านของคนในชุมชน (น. 121) แต่ระบบการศึกษาที่ขยายตัวก็ส่งผลให้ลูกหลานของชาวไทเขินหันไปประกอบอาชีพที่มีรายได้สูงกว่า เช่น ครู อาจารย์ พ่อค้า หมอ พยาบาล มากกว่าการทำเครื่องเขิน ก่อให้เกิดปัญหาด้านการสืบทอด (น. 122) เช่นเดียวกับน้ำหนัง ที่ประสบปัญหาระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไปทำให้หาวัตถุดิบเช่นกาบไผ่ได้ยากขึ้น การทำน้ำหนังเป็นอาชีพเริ่มลดลงสวนทางกับความต้องการบริโภคที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง (น. 122)
ระบบสาธารณูปโภคของบ้านนันทารามมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไฟฟ้าเข้ามาในปี พ.ศ. 2496 มีการขยายถนน มีการสร้างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่การรักษาพยาบาลของชาวไทเขินยังคงพึ่งพายาของวัดนันทาราม ส่วนโรงเรียนวัดนันทารามได้ปิดการสอนลงตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ การแต่งกายมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา แต่ผู้หญิงชาวไทเขินยังคงนิยมนุ่งซิ่นเมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ (น. 123)

การเปลี่ยนแปลงช่วง พ.ศ. 2520-2551
ช่วงเวลา พ.ศ. 2520-2551 เป็นช่วงเวลาแห่งความเป็น “สมัยใหม่” ในทุกด้านของชุมชนนันทาราม โดยด้านภาษา ชาวไทเขินมีการพูดทั้งภาษาคำเมือง (ภาษาไทยถิ่นเหนือ) และภาษาไทยกลาง โดยนิยมเขียนตัวอักษรไทยกลางเป็นหลัก (น. 123) ด้านประชากร มีการอพยพของคนต่างถิ่นทั้งปัจจัยด้านอาชีพและครอบครัว ตั้งแต่พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา (น. 123) รูปแบบความสัมพันธ์มีความเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายสู่ลักษณะของครอบครัวเดี่ยว (น. 124-125)

ชุมชนนันทารามมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและระบบนิเวศน์ โดยสภาพคุ้มเจ้าที่เคยบ่งบอกความเป็นมาของชุมชนมีการเปลี่ยนเจ้าของและถูกรื้อถอนเป็นสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ (น. 143) สภาพบ้านเรือนปัจจุบัน (พ.ศ. 2551) มีเพียงบ้านเลขที่ 56/2 ถนนนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ที่ยังคงมีลักษณะเป็นบ้านไทเขินในรูปแบบคงเดิม (น. 97)

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 เป็นต้นมาเมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เขตพื้นที่สันกำแพงเป็นเขตพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตเครื่องเขิน คือ เกิดการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงานไปยังร้านเครื่องเขินในพื้นที่อำเภอสันกำแพงซึ่งมีค่าตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้งยังเกิดระบบผูกขาดกับบริษัททัวร์ที่ทำให้บทบาทของแหล่งผลิตเครื่องเขินในชุมชนนันทารามซบเซาลงเหลือเพียงร้านประเทืองเครื่องเขินและวิชัยกุลเครื่องเขินเท่านั้น (น. 125-126)

การเข้ามาของไฟฟ้าก่อให้เกิดความสะดวกสบายและทำให้ชาวไทเขินสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากยิ่งขึ้นเกิดการติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสังคมภายนอก เกิดการนิยมบริโภคอาหารแบบภาคกลางและต่างชาติ ส่งผลให้น้ำหนังเกือบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ (น. 126) ส่วนการแต่งกายเปลี่ยนไปตามความนิยมการแต่งกายพื้นเมืองและการแต่งกายแบบตะวันตก ชาวไทเขินได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับอุดมศึกษา มีช่องทางการประกอบอาชีพที่หลากหลาย อาชีพการทำเครื่องเขินและน้ำหนังประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบและผู้สืบทอด (น. 127) โรงพยาบาลเป็นสถานพยาบาลหลัก โดยวัดนันทารามซึ่งเคยเป็นศูนย์ยาสมุนไพรพื้นบ้านได้ลดบทบาทลง (น. 128) “ยาตุ๊เจ้าวัดนันตา” เป็นยาที่มีชื่อเสียงของพระครูสิริรัตนสุนทร (อิ่นแก้ว) เจ้าอาวาสวัดนันทรามในช่วง พ.ศ. 2502-2539 ได้รับการสืบทอดโดยญาติและเปิดเป็นร้านขายยาวิรัชโอสถซึ่งมีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา (น. 67)

Critic Issues

ไม่มี

Other Issues

ไม่มี

Google Map

https://www.google.co.th/maps/place/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1/@18.7744491,98.9840534,17z/data=!3m1!4b1!4m5!3m4!1s0x30da3073f1e5fea7:0x264fd03b3b25e951!8m2!3d18.7744491!4d98.9862421?hl=th

Map/Illustration

แผนภาพ
-          แผนที่แสดงการตั้งถิ่นฐานของชาวไทเขินบ้านนันทาราม (น. 40)
-          แผนที่แสดงที่ตั้งคุ้มเหนือและคุ้มใต้ของเจ้านายเชียงตุงในพื้นที่ชุมชนนันทาราม
-          แผนผังชุมชนนันทาราม (น. 57)
รูปภาพ
-          เปรียบเทียบอักษรไทเขินและไทยวน (น. 44)
-          บ้านแบบโบราณของชาวไทเขินที่ยังคงหลงเหลือในชุมชนนันทาราม (น. 97)
-          ผีเสื้อวัด (น. 103)
-          พระเจ้าดำ (น. 104)
-          ศาลผีปู่จันต๊ะ (น. 105)
-          ขุมอบเครื่องเขิน (น. 118)

Text Analyst พิสุทธิลักษณ์ บุญโต Date of Report 18 ก.ย. 2563
TAG ไทเขิน, การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม, เชียงใหม่, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง