สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject วัฒนธรรมท้องถิ่น, ภาคเหนือ, นวนิยาย, คนพื้นเมืองล้านนา, ยวน, ลัวะ, ปะหล่องต่องสู่, ไทเขิน, มะละแหม่ง, มาลา คำจันทร์
Author สันติวัฒน์ จันทร์ใด
Title การใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือในการสร้างสรรค์นวนิยายของมาลา คำจันทร์
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ละว้า ลัวะ ว้า, ลัวะ (ละเวือะ) ลเวือะ อเวือะ เลอเวือะ ลวะ ละว้า, ลัวะ (มัล ปรัย) ลัวะมัล ไปร ลัวะปรัย, ไทยวน ยวน ยวนสีคิ้ว คนเมือง, ไทขึน ไตขึน ขึน, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   หอสมุดกลาง อาคารจามจุรี 10: วิทยานิพนธ์ Call no. 501554 Total Pages 199 Year 2550
Source สันติวัฒน์ จันทร์ใด. (2550). การใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือในการสร้างสรรค์นวนิยายของมาลา คำจันทร์. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Abstract

วิทยานิพนธ์เรื่องการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือในการสร้างสรรค์นวนิยายของมาลา คำจันทร์ ศึกษาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือที่ปรากฏในนวนิยายของมาลา คำจันทร์ และเพื่อศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์นวนิยายโดยใช้ข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ผลการศึกษาพบว่ามาลา คำจันทร์ นำวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือมาเป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์นวนิยาย 3ประการ ดังนี้ ประการแรก การสร้างเนื้อเรื่องและตัวละครจากความเชื่อ แนวคิด วิถีชีวิตท้องถิ่น ตำนาน และประวัติศาสตร์ของคนล้านนา เช่น นวนิยายเรื่อง “ดงคนดิบ” ปรากฎความเชื่อเรื่องผีกละ นวนิยายเรื่อง “ดาบราชบุตร” ปรากฎความเชื่อเรื่องม้าขี่ ดาบศักดิ์สิทธิ์และผีอารักษ์ นวนิยายเรื่อง “ไพรอำพราง” ปรากฎความเชื่อเรื่องเสือเย็น นวนิยายเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ปรากฏความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงที่สยามเข้าปกครองล้านนา


     และนวนิยายเรื่อง “ดาบอุปราช” นำเสนอวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวนาที่ถูกรุกรานจากสังคมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป และการดำรงชีวิตตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนา ประการที่สอง เสริมความสมจริงของฉากและบรรยากาศโดยมักระบุชื่ออำเภอ จังหวัด หรือสถานที่สำคัญในภาคเหนือ  เช่น เชียงใหม่ เชียงราย วัดสวนดอก พระธาตุจอมทอง พระธาตุหริภุญชัย และเชื่อมโยงด้วยทิศทางหรือระยะทางให้เหมาะสมบรรยากาศในนวนิยาย ทั้งยังสอดแทรกประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประเพณีตั้งธรรมหลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญที่บ่งบอกวิถีชีวิตในท้องถิ่นภาคเหนือได้เป็นอย่างดี ประการที่สาม การใช้ภาษาถิ่นในการบรรยาย การพรรณนา และบทสนทนาของตัวละคร นอกจากนี้ยังแทรกบทขับร้องท้องถิ่นประเภทจ๊อย ซอ และวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ในนวนิยาย ภาษาเป็นวิธีการสื่อสารของมาลา คำจันทร์ที่มีลักษณะโดดเด่น ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพและเข้าใจถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือได้อย่างชัดเจน ดังนั้นนวนิยายของมาลา คำจันทร์ จึงแสดงวัฒนธรรมล้านนาในรูปแบบบันเทิงคดีที่มีคุณค่าในแง่ของงานวรรณกรรมครบถ้วน (หน้า 183 - 187)

Focus

     เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือที่ปรากฏในนวนิยายของมาลา คำจันทร์ และเพื่อศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์นวนิยายโดยใช้ข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ (หน้า 5)

Theoretical Issues

            ผู้ศึกษาตั้งสมมุติฐานว่ามาลา คำจันทร์ ใช้กลวิธีสร้างสรรค์นวนิยายเกือบทุกเรื่อง โดยใช้ข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ ตั้งแต่การสร้างเนื้อเรื่อง การใช้ภาษา การสร้างตัวละคร การสร้างฉากและบรรยากาศ ปรากฎในนวนิยายอย่างสอดคล้อง โดยมีปัจจัยดังนี้ ประการแรก ผู้ประพันธ์มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย อาศัยในท้องถิ่นภาคเหนือไม่น้อยกว่า 50 ปี ทั้งยังมีความสนใจและมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมภาคเหนืออย่างมาก ประการที่สอง ผู้ประพันธ์ได้นำความรู้ของตนเองมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมหลายประเภท ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนคือการนำเสนอตัวตนชาวล้านนาและสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ เช่น ความเชื่อและศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นบ้าน วิถีชีวิต ศิลปะการแสดง มาลา คำจันทร์ได้ประพันธ์นวนิยายเรื่องแรก คือ เรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2534 ส่งผลให้วรรณกรรมของมาลา คำจันทร์ มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ นักวิจารณ์วรรณกรรม ทั้งยังที่รู้จักแก่ผู้อ่านทั่วไปอย่างแพร่หลาย (หน้า 1, 5 – 6)

Ethnic Group in the Focus

คนพื้นเมืองล้านนา (หน้า 63)

Language and Linguistic Affiliations

     ภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ  นวนิยายของมาลา คำจันทร์จะปรากฏ ภาษาถิ่นอย่างเด่นชัดตั้งแต่การบรรยายเนื้อเรื่อง ชื่อตัวละคร บทสนทนา หรือบทเพลงพื้นบ้าน (หน้า  50)

Study Period (Data Collection)

     การศึกษาจากนวนิยายของมาลา คำจันทร์ จำนวน 9 เรื่อง ได้แก่ 1) เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน ปี 25352) ดงคนดิบ ปี 25353) เมืองลับแล ปี 2539 4) ใต้หล้าฟ้าหลั่ง ปี 25405)ดาบอุปราช ปี 2541 6) สร้อยสุคันธา ปี 25437) ไพรอำพราง ปี 25448) นางถ้ำ ปี 2545 9) ดาบราชบุตร ปี 2547(หน้า 6)

History of the Group and Community

     อาณาจักรล้านนาก่อตั้งโดยพญามังราย ถือกำเนิดเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 จากการรวมแคว้นโยนกและแคว้นหริภุญชัย จากนั้นขยายดินแดนไปยังพะเยา แพร่ น่าน เป็นต้น พญามังรายได้รวบรวมหัวเมืองให้อยู่ใต้การปกครอง ต่อมา พ.ศ. 1839 สร้างเวียงเชียงใหม่ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาที่มีความเจริญรุ่งเรืองด้านการค้า และด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ราชวงศ์มังรายปกครองเชียงใหม่ต่อมาเป็นระยะเวลากว่า 200 ปี จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเมื่อ พ.ศ. 2101

     พ.ศ.2101 - 2317 อาณาจักรล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า เนื่องจากการขยายอิทธิพลของราชวงศ์ตองอูที่มีความเข้มแข็งมาก ระหว่างนี้มีบางช่วงเวลาที่อยุธยายกกองทัพเข้ามายึดเชียงใหม่ไว้ได้ หรือช่วงที่เชียงใหม่แยกตัวออกเป็นอิสระแต่ก็เป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ ล้านนาในการปกครองของพม่าสามารถแบ่งได้ 2 ช่วง ได้แก่ สมัยแรกล้านนามีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของพม่า สามารถมีเจ้าเมืองปกครองตามเดิมภายใต้การดูแลของกษัตริย์พม่าคือบุเรงนอง พม่าจะเข้มงวดเรื่องแรงงานในการทำสงครามและการส่งส่วย สมัยที่สอง พม่าถือว่าล้านนาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของกษัตริย์พม่า จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาปกครองร่วมกับชาวล้านนา โดยขุนนางจะมีฐานะสูงกว่า ทำให้ชาวล้านนาต่อต้านเป็นระยะ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละเข้าร่วมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินและสามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ

     พ.ศ. 2317 – 2427ล้านนามีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของสยาม พระเจ้าตากสินแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการปกครองเมืองเชียงใหม่ และพระเจ้ากาวิละปกครองเมืองลำปาง เมื่อสิ้นพระยาวิเชียรปราการในสมัยธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระเจ้ากาวิละปกครองเมืองเชียงใหม่แทน ซึ่งเป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” มีการรวบรวมกลุ่มชนต่างๆ เช่น ลื้อ ยอง ที่ลี้ภัยเข้ามาให้ตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับยุคพระยามังราย มีเมืองสำคัญ 3 เมือง คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง รัฐบาลสยามให้เจ้าเมืองมีอิสระในการปกครองเช่นเดิม แต่มีการควบคุมโดยให้ล้านนาส่งส่วยทุกปีและส่งเครื่องราชบรรณาการทุก 3 ปี ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้เกิดปัญหาเรื่องสัมปาทานป่าไม้ซ้ำซ้อนและความวุ่นวายหัวเมืองชายแดน รัชกาลที่ 5 จึงยกเลิกระบบประเทศราชและจัดตั้งการปกครองแบบมณฑณเทศาภิบาลมีข้าหลวงจากกรุงเทพไปปกครอง

     กล่าวได้ว่าล้านนาถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2427 มีการดำเนินงาน 2 ประการ คือ ประการแรก การยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชและตำแหน่งเจ้าเมืองฝ่ายเหนือทุกพระองค์  ประการที่สอง การทำให้ชาวล้านนารู้สึกว่าเป็นพลเมืองไทยโดยปฏิรูปการศึกษาให้มีการเรียนในโรงเรียน ทดแทนการเรียนในวัด ต่อมา พ.ศ. 2475  รัฐบาลได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ  หน่วยการปกครองใหญ่สุดคือจังหวัด  อาณาจักรล้านนาเดิมจึงกลายเป็นจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ โดยกำหนดให้เชียงใหม่เป็นเมืองหลักในภาคเหนือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาเมืองเชียงใหม่จึงเจริญขึ้นอย่างมาก (หน้า 17 - 20)    

Settlement Pattern

     บ้านเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกระท่อม ก่อสร้างอย่างเรียบง่ายเหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวันเรือนทั่วไปมีขนาดอย่างน้อยหนึ่งห้องนอน ยกพื้นเหนือดินประมาณ 60 เซนติเมตร เสาเรือนเป็นไม้ที่ตัดจากป่า โครงหลังคาเป็นไม้รวกหรือไม้ไผ่ มุงด้วยใบตองตึงหรือหญ้าแฝกผนังเป็นไม้ไผ่ พื้นเป็นฟากไม้ไผ่ทุบ สำหรับคนมีฐานะจะปลูก “เรือนกาแล” มีลักษณะคือ ยอดจั่วประดับกาแลไม้สลักอย่างประณีต ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด ขนาดมากกว่าหนึ่งห้องนอน ผนังมีสองแบบ คือ แบบวางบันไดติดกับชานนอกและแบบวางบันไดชิดฝาใต้ชายคา ไม่นิยมติดฝ้าที่หลังคา (หน้า 56 - 57)     

Demography

ไม่มี

Economy

     ภาคเหนือมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชาวล้านนาจึงใช้พื้นที่ราบระหว่างภูเขาเพื่อทำเกษตรกรรม โดยอาชีพที่ปรากฏในนวนิยายของมาลา คำจันทร์ คือ ชาวนา พรานป่า และค้าขาย

     ชาวนา เป็นอาชีพสำคัญของชาวเหนือ มีการทำนาหลายแบบในที่ราบระหว่างหุบเขาเพราะมีแหล่งน้ำและอุดมสมบูรณ์ เช่น นวนิยายเรื่อง“ดาบอุปราช” สะท้อนวิถีชีวิตการทำนาดำ คือ การทำนาเป็นขั้นตอนตามฤดูกาลตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว นวนิยายเรื่อง “ไพรอำพราง” สะท้อนชีวิตการทำนาแบบข้าวไร่ คือ กาทำนาที่แทรกอยู่ตามป่าบริเวณภูเขาสูงเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ

     พรานป่า เนื่องจากภาคเหนือมีทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ จึงเกิดการล่าสัตว์เพื่อยังชีพ แบ่งปัน และค้าขาย นวนิยายเรื่อง “ใต้หล้าฟ้าหลั่ง” ปรากฏข้อปฏิบัติของอาชีพพรานป่าคือ หากฆ่าสัตว์แล้วไม่นำมาทำประโยชน์ถือว่าเป็นการทำผิดต่อป่า

     การค้าขาย หรือ การค้างัวต่าง คือการค้าขายที่ใช้วัวบรรทุกสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แล้วพ่อค้าก็จะซื้อของจากแหล่งนั้นนำไปขายในที่ถัดไป จนกว่าฤดูฝนจึงกลับบ้านเรือนของตนเอง  โดยพ่อค้าวัวต่างที่เข้ามาค้าขายในเชียงใหม่มักเป็นชาวจีนฮ่อและชาวไทใหญ่ ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “สร้อยสุคันธา” คือ พ่อค้าวัวต่างชาวแข่ฮ่อยูนนานเดินทางมายังเมืองฝาง เชียงดาว เชียงแสน เชียงราย เพื่อหาซื้อนอแรดและเขากวาง เพราะสามารถนำไปเป็นยารักษาโรคในบ้านเมืองของตนเอง (หน้า 38- 41)

Social Organization

     เจ้านายภาคเหนือมีวิถีปฏิบัติตนตามจารีตประเพณี โดยการที่ เจ้าจะต้องแต่งงานกับเจ้าเพื่อความมั่นคงทางฐานะของตระกูลและเชื้อชาติ การรักษาหน้าที่ต่อบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าความรัก (หน้า 101)
           
     สำหรับประชาชนทั่วไปมีการรวมกลุ่มทางสังคมจากกิจกรรมหรือประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว หรือภาษาคำเมืองเรียกว่า “เอามื้อ” เมื่อถึงฤดูทำนา แต่ละคนจะผลัดกันไปช่วยเกี่ยวข้าวในที่นาของแต่ละเจ้า เวียนไปจนครบถ้วน เป็นการแสดงถึงความสามัคคีและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน (หน้า 39)
           
     การจัดงานศพถือว่าเป็นงานของคนทั้งหมู่บ้านทุกคน แม้ใครบาดหมางกันก็ต้องระงับไว้ก่อนแล้วมาช่วยกันทำหน้าที่ตามความเหมาะสม เช่น ชายหนุ่มจะช่วยผ่าฟืนและตักน้ำ ผู้หญิงทำอาหาร เณรหนุ่มจะหามโลงศพมาจากวัดมายังเรือนตั้งศพ พ่อหมอจะเรียกญาติของผู้เสียชีวิตมาพร้อมกัน จากนั้นจะทำพิธีว่าคาถาข่มผีก่อนนำศพบรรจุในโลง (หน้า 128)
           
     ประเพณีเทศน์มหาชาติ หรือภาษาคำเมืองเรียกว่า “ตั้งธรรมหลวง” ถือเป็นงานใหญ่ของหมู่บ้าน ทุกคนในหมู่บ้านจะมีบทบาทหน้าที่ตามความเหมาะสม นอกจากนี้การจัดงานเทศน์มหาชาติยังแสดงให้เห็นสังคมชาวพุทธในภาคเหนืออีกด้วย (หน้า 128)

Political Organization

     การปกครองในสังคมภาคเหนือมีการนำความเชื่อเรื่อง “ขึด” มาเป็นแนวทางปฏิบัติและควบคุมพฤติกรรมของประชาชน ขึด หมายถึง การกระทำที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ห้ามปฏิบัติ หากกระทำสิ่งต้องห้ามไปแล้ว จะทำให้ “ตกขึด” คือเกิดอัปมงคลแก่ครอบครัวหรือชุมชน ดังนั้นทุกคนต้องเรียนที่จะปฏิบัติตนตามจารีตที่ดีงาม ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “ดาบราชบุตร” คือ ขึดป่า เป็นข้อห้ามปัสสาวะลงแม่น้ำ ห้ามปัสสาวะโดยไม่บอกกล่าวพื้นที่ ห้ามนำหม้อแกงตักน้ำ ห้ามชายหญิงพลอดรักกันในป่า เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีระบบการปกครองโดยการเลือกผู้นำหมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำกิจกรรม ปกป้องหมู่บ้าน และดูแลความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน สมัยก่อนผู้นำต้องมาจากความพึงพอใจและได้รับการยอมรับจากชาวบ้านเท่านั้น  ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “สร้อยสุคันธา” คือ ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้หมู่บ้าน ชาวบ้านจะยอมรับแล้วเลือกขึ้นไปให้มหาดไทยแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ชาวบ้านอาจเรียกผู้นำตามจารีตเดิมว่าท้าว  (หน้า 41- 42) 

Belief System

     นวนิยายของมาลา คำจันทร์มีข้อมูลความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี และพิธีกรรม ดังนี้

     ความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด คนล้านนาจะเชื่อว่าทุกคนมีพระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง เรียกว่า “ชุธาตุ” หมายถึง อาการที่วิญญาณที่กำลังมาเกิดแปรสภาพลงมาพักผ่อนอยู่ในธาตุหรือเจดีย์ ที่ถูกกำหนดไว้สำหรับผู้ที่มาเกิดในแต่ละปี ผู้ที่มาเกิดจึงต้องบูชาพระธาตุประจำปีเกิดของคนเป็นสำคัญ โดยแบ่งปีเกิดตามปีนักษัตร 12 ปี พบว่ามีพระธาตุประจำปีเกิดในล้านนา 8 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ประเทศพม่า 2 แห่ง และประเทศอินเดีย 1 แห่ง ชาวล้านนาเชื่อว่าหากได้ไปไหว้พระธาตุตามปีเกิดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ความเชื่อนี้ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” (หน้า 22 -  24)

     ความเชื่อเรื่องผี เป็นความเชื่อที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อชาวล้านนามาก มักปรากฏอยู่ในชีวิตตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บตาย และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ความเชื่อเรื่องผีกละหรือผีกะ ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “คนดงดิบ” เป็นผีที่เข้าสิงคนเพื่อจะขอกินอาหาร ผีกละมักจะขอกินอาหารจำพวกลาบและแกงอ่อม เมื่อได้กินแล้วก็จะออกจากร่างไป นอกจากนี้เมื่อผู้ใดถูกผีกละเข้าสิง จะให้หมอผีประจำหมู่บ้านมาไล่ผีกละ โดยการใช้คาถาอาคมและทำพิธีกรรมต่างๆ ผีกละสามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น สืบทอดจากมารดาไปที่ลูกสาวคนเล็ก สืบทอดผ่านแมว หรือสืบทอดผ่านเครื่องประดับ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ สำคัญต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว โดยแต่ละครอบครัวอาจนับถือผีบรรพบุรุษต่างกัน เช่น นับถือผีปู่ย่าที่สืบทอดทางมารดา ลูกผู้หญิงเป็นผู้รับสืบทอด แต่บางครอบครัวหากมีลูกเป็นชายทั้งหมดจะสูญเสียผีปู่ย่าไปหรือเรียกว่าผีสุด หรือเปลี่ยนมานับถือผีมดที่สืบทอดผ่านบิดา ซึ่งล้วนเชื่อว่าให้ความคุ้มครองกับคนในครอบครัวเช่นเดียวกัน ความเชื่อผีเสื้อนา คือ วิญญาณที่คุ้มครองสถานที่หลายแห่ง จะเรียกว่า “เสื้อ” เช่น เสื้อบ้าน เสื้อนา เสื้อวัด และผีเสื้อนา ที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ก่อนจะทำนาแต่ละปีต้องทำพิธีกรรมแรกนาหรือพิธีกรรมเซ่นผีนา เพื่อบูชาให้ผีนาช่วยคุ้มครองดูแลผลผลิต ความเชื่อเรื่องเสือเย็น หรือ เสือสมิง เชื่อว่าเกิดจากเสือที่กินคนจนทำให้มีวิญญาณเข้าสิงและสามารถแปลงร่างเป็นคนได้ หรืออาจเกิดจากคนที่มีคาถาอาคม โดยเสือเย็นมักเข้ามาคาบควายจากคอกไปเป็นอาหารจนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจนอาจต้องย้ายหมู่บ้านหนี เสือเย็นจึงเป็นที่หวาดกลัวสำหรับคนล้านนาสมัยก่อนมาก  (หน้า 24 - 31)

     ความเชื่อเรื่องดาบศักดิ์สิทธิ์ ดาบล้านนามี 3 ประเภท คือ ดาบทหาร เป็นดาบของทหารที่ใช้เมื่อทำสงคราม ทำจากเหล็กที่ทนทานและทำพิธีกรรมร่วมด้วยเพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจแก่ทหาร ดาบตำรวจ เป็นอาวุธสำหรับดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และดาบสำหรับประชาชน เป็นดาบที่แต่ละบ้านมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์หรือป้องกันตัว ดาบล้านนาหรือดาบเมืองแต่ละเล่มมีความเป็นมาต่างกัน เมื่อดาบของบรรพบุรุษตกทอดมาสู่ลูกหลาน จะถือว่าดาบนั้นเป็นดาบศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองคนในครอบครัวหรือบ้านเมือง ดาบมักสืบทอดตามสายตระกูลเท่านั้น หากตกไปอยู่กับคนนอกตระกูลเชื่อว่าจะทำให้ผู้ครอบครองเกิดความวิบัติ (หน้า 32 - 33)

     ความเชื่อเรื่องม้าขี่ ม้าขี่คือคนที่เป็นร่างทรงของผีเจ้านาย มีความสำคัญในการช่วยสื่อสารกับผีเจ้านายเมื่อมีผู้มาขอความช่วยเหลือหรือขอคำทำนายต่างๆ ผู้ที่เป็นม้าขี่จะรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่ง เมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็จะได้ไปอยู่บนสวรรค์กับผีจ้านายที่ตนเองรับใช้ การประทับทรงจะเริ่มจากตั้งเข้าหรือแม่ตั้ง เป็นผู้ช่วยเพศชายหรือหญิงจุดธูปบูชาพระพุทธรูป และขันตั้งหรือพานครูของเจ้านาย ม้าขี่หรือคนทรงที่แต่งกายลำลองจะนั่งขัดสมาธิอยู่หน้าโต๊ะที่วางเครื่องบูชา สักครู่จะมีอาการตัวสั่นบ่งบอกว่าผีเจ้านายได้เข้าทรงแล้ว จากนั้นม้าขี่จะไหว้พระแล้วเริ่มแต่งตัว เช่น การสวมเสื้อ นุ่งโสร่ง โพกศีรษะด้วยผ้าแพร ใส่เครื่องประดับต่าง ๆ เมื่อแต่งกายเสร็จจะไหว้พระอีกครั้ง แล้วเริ่มทักทายสื่อสารกับผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ (หน้า 35 - 36)

Education and Socialization

     การสืบทอดความรู้ที่ปรากฏในนวนิยายของมาลา คำจันทร์ ส่วนมากจะเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมจากการสังเกต สิ่งแวดล้อม หรือความรู้เรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต มีวิธีถ่ายทอดความรู้เฉพาะคนภายในตระกูลแบบรุ่นสู่รุ่น เช่น ความรู้เรื่องยาสมุนไพรของหมอเมืองจากนวนิยายเรื่อง “เมืองลับแล”  การทอผ้าและย้อมผ้าของผู้หญิงจากนวนิยายเรื่อง “สร้อยสุคันธา” การนำสุภาษิต คำคมท้องถิ่นมาอบรมสั่งสอนลูกหลานในเรื่องคุณธรรมและการใช้ชีวิตจากนวนิยายเรื่อง “ดาบราชบุตร” (หน้า 46, 48, 139)

Health and Medicine

     สังคมที่ปรากกฎในนวนิยายเป็นยุคที่การแพทย์และสาธารณสุขยังไม่เข้าถึงชุมชนชนบท ดังนั้นอาหารจึงมีผลต่อสุขภาพมากที่สุด เช่น นวนิยายเรื่อง “ดาบอุปราช” ปรากฏอาการลมผิดเดือนของสตรีหลังคลอดซึ่งจะเกิดอาการหลังกินอาหารแสลง ทำให้ร่างกายทรุดโทรมและจิตใจอ่อนแอ ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัวจนเสียชีวิต

     ชาวล้านนายังมีความเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้อาจเกิดจากอำนาจของผี เช่น อาการ “พรายทับ” “พรายกุม” “พรายแฝง” หรือ “พรายดิบ” เชื่อว่าวิญญาณของผู้ป่วยได้ออกจากร่างไปแล้ว แต่ยังมีชีวิตต่อได้เพราะมีพรายแฝงอยู่ในร่างกาย โดยพรายแฝงมักชอบรับประทานอาหารดิบ เช่น ปลาร้า ไข่ดิบ นวนิยายเรื่อง “เมืองลับแล” ปรากฏหมอเมืองหรือหมอพื้นบ้าน ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรค จากการใช้ภูมิปัญญาที่เกิดจากการสังเกตธรรมชาติที่ถ่ายทอดความรู้แบบรุ่นสู่รุ่น และใช้สมุนไพรท้องถิ่นในการรักษา เช่น การรักษาอาการอาเจียน โดยการใช้ขี้ฝิ่นเท่าเมล็ดมะละกอให้ผู้ป่วยกิน จากนั้นนำรากไม้เปลือกไม้มัดผสมกับฝิ่นดิบนำไปต้มเป็นยา นับเวลาสามชั่วฟืนให้ผู้ป่วยกินหนึ่งครั้ง

     นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยพิธีกรรม เรียกว่า “พิธีต่ออายุ” เพื่อสร้างขวัญกำลังใจส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีตามมา ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “ดาบอุปราช” ดังนี้  พ่อหมอจุดเทียนรอบขอบกระทงเท่าอายุ แล้วจุดเทียนอีกเล่มกลางกระทง อ่านโองการในพับหลั่นหรือใบลาน แล้วใช้ก้านมะยมจุ่มน้ำมนต์พรมร่างผู้ป่วย (หน้า 45 - 47)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

     ศิลปะการแสดงของภาคเหนือมีหลายรูปแบบ เช่น การฟ้อนเชิง ละครซอ เครื่องดนตรี เช่น สะล้อ ซอ ซึง ทำนอง เช่น พร้าวไกวใบ เพลงปราสาทไหว สำหรับการฟ้อนดาบ หรือ การฟ้อนเชิง ภาษาคำเมืองเรียกว่าการ เชิง หรือ เจิง แต่เดิมเป็นวิชาป้องกันตัวของชายล้านนา ในการฝึกฝนการใช้ดาบให้ชำนาญเพื่อต่อสู้ศัตรูในยามสงครามที่มีความศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ที่มีความชำนาญแล้วอาจะมีการแสดงเคลื่อนไหวเพลงอาวุธเพื่อเป็นการระลึกถึงครูบาอาจารย์และปลุกใจตนเองก่อนออกรบ ทั้งนี้เมื่อรบชนะก็จะร่ายรำเพื่อรื่นเริงเป็นพุทธบูชาในงานบุญ หรือให้เป็นที่สนใจแก่หญิงสาวที่ตนเองหมายปอง  นอกจากนี้ยังใช้การฟ้อนดาบเพื่อขับไล่ผีร้าย แต่ปัจจุบันมักใช้เพื่อการแสดงมากกว่าการประกอบพิธีกรรม (หน้า 35, 53)  

     สำหรับการแต่งกาย ชาวล้านนาผู้หญิงมักสวมเสื้อและผ้าถุง ผู้ชายสวมกางเกง “เต่วโย่ง” หรือกางเกงขากว้าง บางครั้งจะไม่สวมเสื้อเพราะต้องการอวดรอยสักบนร่างกาย ชาวล้านนามักผลิตเสื้อผ้าขึ้นเองเพราะเสื้อผ้าที่พ่อค้าวัวต่างนำมาขายนั้นมีราคาแพงและจารีตที่ผู้หญิงต้องมีความสามารถในการทอผ้า เมื่อทอผ้าเสร็จแล้วมักนำไปย้อมสีเพื่อให้สวยงามและคงทนมากขึ้น เช่น นวนิยายเรื่อง “สร้อยสุคันธา” มีการนำผ้าไปวางไว้ที่แหล่งน้ำที่มีน้ำฮากหรือสนิมเหล็ก เพื่อให้น้ำฮากซึมเข้าเนื้อผ้าฝ้ายจนได้เป็นผ้าสีอิฐ จากนั้นนำมาตากแล้วจึงตัดเย็บ สำหรับการแต่งกายของเจ้านาย โดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิงจะเน้นความประณีตและอลังการ เนื่องจากราชสำนักให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่เหมาะสมตามฐานะ ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ดังนี้ การแต่งกายด้วยผ้าแก้ว ผ้านุ่งเป็นไหมม่วงแกมทอง ลายซิ่นสวยงาม นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับคือ “ดอกไม้ไหว” หรือ “ปิ่น” ที่ใช้ประดับมวยผมที่ราคาสูง (หน้า 47 – 49)

Folklore

     นวนิยายของมาลา คำจันทร์ มีข้อมูลตำนานพื้นบ้านเรื่อง “ตำนานเจ้าหลวงคำแดง” เจ้าหลวงคำแดงเป็นบุตรชายของผู้ครองเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย วันหนึ่งเจ้าหลวงคำแดงต้องเดินทางกับทหารไปบริเวณชายแดน เพื่อป้องกันศัตรูเมืองอื่นที่เข้ามาตีเมืองพะเยา ระหว่างเดินทางได้หยุดพักที่ชายป่าท้ายหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีหญิงสาวสวยอย่างหาใครเทียบไม่ได้เดินผ่านเข้ามายังค่ายที่พัก เจ้าหลวงคำแดงจึงตามหญิงสาวไป แต่พบเพียงกวางทอง แล้วกวางทองก็วิ่งกลับไปทางค่ายที่พัก เจ้าหลวงคำแดงเห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาดจึงให้ทหารออกติดตามแต่ก็จับกวางทองไม่ได้ พบแต่คราบกวางทอง คือนางกวางทองที่กลายร่างจากกวางกลับไปเป็นคน ได้ลอกคราบไว้ข้างห้วยใกล้กับหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เจ้าหลวงคำแดงจึงติดตามต่อไป จนพบนางกวางทองในร่างหญิงสาว หญิงสาวเห็นอย่างนั้นจึงกลายร่างกลับมาเป็นกวางทองแล้วฝ่าวงล้อมของทหารออกไป เจ้าหลวงคำแดงได้ติดตามนางกวางทองออกไปเพียงลำพัง มุ่งไปทางทิศตะวันตกสู่เขาใหญ่ลูกหนึ่งคือเขาที่ถ้ำหลวงเชียงดาวตั้งอยู่ในปัจจุบัน  กวางทองได้กลายร่างกลับเป็นหญิงสาวแล้ววิ่งเข้าถ้ำไป เจ้าหลวงคำแดงก็ตามเข้าไปในถ้ำเช่นเดียวกัน แล้วไม่กลับออกมาอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ราษฎรในหมู่บ้านนี้จึงนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาถ้ำเชียงดาวอยู่ และสร้างศาลชื่อ “ศาลเจ้าพ่อหลวงคำแดง” (หน้า62 - 63)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

            อาณาจักรล้านนามีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน ปรากฎอัตลักษณ์เฉพาะตัว ดังนี้ ด้านภาษาและวรรณกรรม ชาวล้านนามีภาษาพูดเรียกว่า “คำเมือง” มีอักษรท้องถิ่นที่นิยมใช้ในงานวรรณกรรมเรียกว่า “ตัวเมือง” ด้านอาหารพื้นเมืองมักทำจากวัตถุดิบธรรมชาติใกล้ตัว ไม่นิยมใส่กะทิ น้ำมันและเครื่องเทศ อาหารล้านนาที่มีความโดดเด่น คือ ไส้อั่ว แคปหมู น้ำพริกหนุ่ม เป็นต้น ด้านการแต่งกาย ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากไทใหญ่ พม่า และไทยภาคกลาง โดยชาวล้านนามักทอผ้าไว้ใช้ภายในครัวเรือน ผู้หญิงมักสวมผ้าถุง ผู้ชายนิยมสวมกางเกงขากว้างหรือเต่วโย้ง    ด้านดนตรีและการแสดง เครื่องดนตรีที่มีบทบาทในสังคมล้านนา คือ ซึง เพราะแต่เดิมชายหนุ่มจะดีดซึงประกอบการจ๊อยระหว่างไปบ้านหญิงสาว และการแสดงในงานพิธีกรรม เช่น การฟ้อนเชิง  ด้านศิลปกรรมที่มีความโดดเด่น  เช่น เรือนกาแลมีลักษณะเป็นกาแลติดบนหน้าจั่ว วัด เจดีย์ ด้านการละเล่น โดยเฉพาะการละเล่นของเด็กมีความคล้ายคลึงการละเล่นของเด็กภาคอื่น เช่น ปริศนาคำทายหรือ “คำตวาย” การเล่นชิงช้าหรือ “สุกจิ้งจา”  ด้านหัตถกรรม แต่เดิมจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันส่วนมากจัดทำขึ้นเพื่อการค้าขาย เช่น ผ้าทอ เครื่องเขิน กระดาษสา งานแกะสลัก (หน้า 20 - 21)

Social Cultural and Identity Change

     อาณาจักรล้านนาเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2317แต่เจ้าเมืองยังคงมีอิสระในการปกครองตนเอง กระทั่งเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2427 สยามจึงยกเลิกระบบการปกครองแบบประเทศราชและจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลมีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ไปปกครอง  ล้านนาถูกผนวกรวมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบรวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์ ต่อมา พ.ศ. 2475 รัฐบาลยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล อาณาจักรล้านนาจึงแยกเป็นจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง มีเพียงผู้สืบสายสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และ ณ น่าน (หน้า 19)

Critic Issues

ไม่มี

Other Issues

     มาลา คำจันทร์ เป็นนามปากกาของ นายเจริญ มาลาโรจน์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านดอย ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาจารึกภาษาไทย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือจนได้รับการยอมรับเป็นปราชญ์ท้องถิ่น ด้านการทำงานเคยเป็นที่ปรึกษาโฮงฮอมผญาล้านนา และครูใหญ่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เป็นต้น และเป็นนักประพันธ์ที่สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหลายประเภท  เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี นิทาน โดยวรรณกรรมส่วนใหญ่มักปรากฎข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ ผลงานวรรณกรรม เช่น วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “หมู่บ้านอาบจันทร์”  ได้รับรางวัลดีเด่นบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น  ปี พ.ศ. 2523 และนวนิยายเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพ.ศ. 2534 ส่งผลให้มาลา คำจันทร์ มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงกว้าง (หน้า 1 )

Map/Illustration

ไม่มี

Text Analyst ธัมมิกา รอดวัตร์ Date of Report 06 ม.ค. 2566
TAG วัฒนธรรมท้องถิ่น, ภาคเหนือ, นวนิยาย, คนพื้นเมืองล้านนา, ยวน, ลัวะ, ปะหล่องต่องสู่, ไทเขิน, มะละแหม่ง, มาลา คำจันทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง