สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาติพันธุ์บรู, การปรับตัวต่อรอง, พลวัตชาติพันธุ์, การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์, บรู, ข่า, บ้านเวินบึก, คืนฮีต, ฮีตคอง, บ้านลาดเสือ, บ้านท่าล้ง, กะตาง
Author เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
Title ชุมชนชาติพันธุ์ “บรู” ร่วมสมัยบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว: วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรม
Document Type Ph.D. Dissertation Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity บรู, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
  • หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Total Pages 348 Year 2558
Source ดุษฎีนิพนธ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชามานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Abstract

     งานศึกษาสนใจการปรับตัวต่อรองอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ภายใต้บริบทรัฐชาติกับโลกาภิวัตน์ของชาว “บรู” ร่วมสมัยในชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเขตพรมแดนไทย-ลาว บริเวณเขตจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงจำปาศักดิ์ โดยพบว่าในการธำรงไว้ซึ่ง “ความเป็นบรู” บรูใช้กลยุทธ์ทางวัฒนธรรมหลายรูปแบบในการปรับตัวต่อรอง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งจากอำนาจรัฐและโครงสร้างการครอบงำต่าง ๆ ที่ปะทะหรือปฏิสัมพันธ์ด้วยในฐานะผู้กระทำการ กลยุทธ์ที่สำคัญคือการ “คืนฮีต” (ล่ะละรีต) หรือการลาออกจากการนับถือผีตระกูล และการลดทอน “ฮีตคอง” หรือจารีต ซึ่งแม้ว่าจะลดทอนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ลงไป แต่เป็นปฏิบัติการของกระบวนการประกอบสร้างวัฒนธรรมบรูในบริบทสมัยใหม่ในเวลาเดียวกัน งานศึกษายังพบว่าเงื่อนไขและการครอบงำที่กระทำการแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ มีผลต่อการปรับตัวต่อรองของบรูแต่ละแห่ง ดังที่บรูในฝั่งไทยสามารถธำรงรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไว้ได้อย่างเข้มข้นมากกว่าบรูในฝั่งลาว ด้วยเหตุที่ว่ารัฐไทยเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์มากกว่ารัฐลาว จึงมีพื้นที่ให้กับการแสดงออกและธำรงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่า งานศึกษายังแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของสังคมชาติพันธุ์ร่วมสมัย ที่มีศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมกระแสหลัก ควบคู่ไปกับการรักษาสำนึกและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างกลมกลืน (หน้า (2))

Focus

     ส่วนที่สำคัญ คือ วิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม และการถ่ายทอดผ่านชาติพันธุ์นิพนธ์ เกี่ยวกับการธำรงชาติพันธุ์ (ethnic mentainance) โดยผู้วิจัยใช้วิธีเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกต พูดคุยและสัมภาษณ์ และร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตจากสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความเจริญของยุคสมัย ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้คน อาทิ การย้ายถิ่นฐานและข้ามแดน ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการธำรงอัตลักษณ์ ผ่านการปรับตัวต่อรองทางอัตลักษณ์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป (หน้า 25) ทำให้บรูต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการจะธำรงหรือจะหลอมรวมอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน ผลก็คือความเป็นบรูที่เคยมี เกิดความคลุมเครือไม่แน่ชัดในบางสถานการณ์ นำไปสู่การพัฒนายุทธวิธี สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนิยามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ด้วยตนเองที่เชื่อมโยงไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่น (หน้า 106)

Theoretical Issues

แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา
1. พลวัตชาติพันธุ์
     เป็นแนวคิดชาติพันธุ์ที่ให้ความหมายของความเป็นชาติพันธุ์โดยพิจารณาจากบริบทความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ที่ปรับตัวให้สอดคล้อง หรือเลื่อนไหลไปตามพื้นที่ อำนาจ และสถานการณ์ (หน้า 12) ในกรณีของงานศึกษา ความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรูไทยที่เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กับอำนาจรัฐและจากกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษ 2400 ที่นำมาซึ่งการต้องปรับตัวต่อรองเพื่อความอยู่รอดของทั้งชาติพันธุ์บรูและปัจเจกชนเองในหลายมิติ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจจากการถูกกีดกันออกจากพื้นที่ป่า (หน้า 285) ที่สำคัญก็คือการปรับตัวต่อรองกับผีตามระบบความเชื่อและจารีตของตน (รี้ต หรือ ฮีตคอง) อย่างการสละฮีต (คืนฮีต) ซึ่งเป็นการลดทอนบทบาทความเชื่อเรื่องผีลง ได้สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้สร้างผลกระทบด้านลบเพียงอย่างเดียว เพราะการสละฮีต ที่ในแง่หนึ่ง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การต้องย้ายออกจากเครือข่ายญาติพี่น้องเดิมอันเนื่องจากการสิ้นสุดลงของการเป็นสมาชิกของวงศ์ตระกูล ในอีกแง่หนึ่ง ก็ได้เปิดโอกาสให้บรูเกิดการติดต่อกับสังคมภายนอก และเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ การกลืนกลายตัวตนทางชาติพันธุ์ซึ่งลดทอนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันจึงเป็นการปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในเชิงอำนาจ

     ตัวอย่างอื่น ๆ ก็คือ การเข้ามาของกระแสสมัยใหม่ ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ และแรงปรารถนาในการดำเนินชีวิตของบรูเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการปรับตัวต่อรองที่ประกอบสร้างอัตลักษณ์ที่หลากหลายและยืดหยุ่น สามารถเชื่อมสัมพันธ์เข้ากับโลกสมัยใหม่ เมื่อผนวกเข้ากับการดัดแปลงตัวเองให้เข้ากับรูปแบบการเมืองการปกครองแบบทางการของรัฐไทยที่เข้ามาแทนที่ ยังแสดงให้เห็นว่าบรูสามารถอาศัยโครงสร้างใหม่สร้างสมเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางซึ่งกลับมาเอื้อประโยชน์ให้กับการดูแลผลประโยชน์ญาติพี่น้องที่อยู่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว กลายเป็นเครือข่ายการพึ่งพาขนาดใหญ่ที่แลกเปลี่ยนความช่วยเหลือและฉวยใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ (หน้า 300-301)

     ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เรียกร้องให้คนสามารถเลือกใช้วิถีชีวิตได้อย่างหลากหลาย ปรับเปลี่ยนไปตามพื้นที่ สถานการณ์ และเวลา อัตลักษณ์ของบรูจึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหรือยึดติดอยู่กับแก่นแกนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องอาศัยกลยุทธ์ในการปะทะ ต่อรอง และสร้างปฏิสัมพันธ์ในการนิยามตัวเอง ในฐานะผู้กระทำการ มากกว่าการถูกครอบงำโดยกำหนดนิยามจากภายนอก

2. แนวคิดชาติพันธุ์หรืออัตลักษณ์ธำรง (identity maintainance)
     โดยทั่วไปแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้หมายเพียงการตระหนักถึงอัตลักษณ์ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ฝังเเน่นภายใน (embedded) ไม่ถูกสกัดหรือชะล้างออกไปได้ เพราะอันที่จริง ผู้คนไม่ได้ตระหนักหรือต้องยืนยันอัตลักษณ์ของตนตลอดเวลา แต่จะให้ความสำคัญแก่อัตลักษณ์ที่จะต้องธำรงไว้ก็ต่อเมื่อเกิดปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การสัมผัสกับขอบเขตที่เป็นตัวกำหนดหรือเป็นขีดจำกัดของอัตลักษณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือ อัตลักษณ์จะถูกเน้นอย่างเข้มข้นเมื่อกำลังถูกปะทะหรือเกิดปัจจัยมากระทบสั่นคลอน และในบางสถานการณ์ผู้คนก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเผยแสดงอัตลักษณ์ของตนออกมาในทุกด้าน ตัวอย่างในงานศึกษาก็คือกรณีที่บรูไทยยังคงรักษาผีสูงสุด (เยียง) ของตนซึ่งเป็นความเชื่อที่บรูให้ความสำคัญมาตั้งแต่อดีตเอาไว้ แม้ว่าจะสละฮีตหรือคืนฮีตกับผีตระกูล ซึ่งแสดงถึงการคงไว้ซึ่งอาณาเขตทางวัฒนธรรมที่ผีสูงสุดยังคงมีอำนาจเหนือ กล่าวคือ อาณาบริเวณชุมชน โดยอัตลักษณ์ความเป็นบรูมักจะเผยแสดงออกมาเมื่ออาณาเขตดังกล่าวถูกรุกล้ำหรือละเมิดโดยคนนอก เช่น เมื่อคนอีสานเอากระดูกคนตายมาลอยในแม่น้ำของหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นการทำผิดฮีตคองชุมชน สิ่งที่บรูจะกระทำเพื่อตอบโต้ก็คือการอ้างปรับไหม (หน้า 136, 294)

     อัตลักษณ์ธำรงทำให้การแสดงออกถึงการเป็น “คนใน”เป็น “พวกเดียวกัน”ดังกล่าว สามารถถ่ายทอดเป็นการนำเสนออัตลักษณ์และความหมายที่จับต้องมองเห็นได้ให้กับปัจเจกชน รวมไปถึงการสร้างความต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งสมาชิกแต่ละกลุ่มอาจจะแสดงอัตลักษณ์ดังกล่าวไปตามสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่แตกต่างกันโดยเฉพาะภายใต้การแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อการผลิต นอกจากนี้ บุคคลคนหนึ่งสามารถแสดงออกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้มากกว่าหนึ่งด้าน ทำให้การอธิบายเกี่ยวกับการดำรงอยู่หรือชาติพันธุ์ธำรง ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข เช่น ความแตกต่างและความขัดแย้งทั้งทางโครงสร้างและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงทรัพยากรอำนาจและความรู้

     ฉะนั้น ชาติพันธุ์ธำรงจึงขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข และเปรียบได้กับยุทธวิธีการปรับตัวสำหรับคนที่ต้องเผชิญหน้ากับประสบการณ์ทางสังคมเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ที่แตกต่างไปจากพื้นเพเดิมของตน ตามเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ส่งผลให้การยึดโยงกับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์บางอย่าง อาจหมายถึงความสามารถปรับตัวได้ลดลงในเฉพาะสถานการณ์ เช่นนี้จึงทำให้ปัจเจกชนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ ยิ่งหากประสบกับสถานการณ์ที่ทำให้อัตลักษณ์ของชนบางกลุ่มไปขัดแย้งกับอำนาจหรือผลประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ก็เป็นไปได้ที่เกิดการแพร่กระจายและการผสมกลมกลืน กระทั่งท้ายที่สุด ความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาจจะค่อย ๆ หาย หรือถูกลดบทบาทลงไปเช่นกัน (หน้า 16, 106)

     ในงานศึกษา การกลับมาขับเน้นบทบาทของอัตลักษณ์หรือชาติพันธุ์ธำรงของบรูที่แต่เดิมขึ้นกับฮีตคอง การนับถือผี ซึ่งภายหลังถูกลดบทบาทลงด้วยการปกครองภายใต้อำนาจรัฐ ได้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ด้วยกระบวนการประดิษฐ์หรือปรับให้เข้ากับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ อย่างเช่นการส่งเสริมให้พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสอดแทรกด้วยเรื่องราวที่น่าค้นหา เช่น การเน้นการแสดงความเป็นชนดั้งเดิม การมีภาษาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือมีบทเพลงเล่าเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ ที่นอกจากจะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ ในตำนาน ภาษา และคำสอนแล้ว ยังเป็นกระบวนการต่อรองเพื่อไม่ให้ถูกกลืนโดยเทคโนโลยีอำนาจของรัฐสมัยใหม่ทุกแง่มุม (หน้า 18)

Ethnic Group in the Focus

     บรู หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์บรู ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในเขตภาคกลางของเวียดนาม ภาคใต้ของลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (หน้า (2))

     บรูลาว บรูไทย หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์บรูในหมู่บ้านศึกษา อาศัยอยู่บริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง คือในแขวงจำปาศักดิ์ของ สปป.ลาว และจังหวัดอุบลราชธานีของประเทศไทย บรูลาวและบรูไทยดังกล่าวเป็นบรูกลุ่มเดียวกัน กล่าวคือ เป็นเครือญาติทางสายเลือดและสังคมวัฒนธรรม ทั้งนี้ บรูไทยคือบรูที่อพยพข้ามจากหมู่บ้านลาดเสือ ฝั่ง สปป.ลาว มาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านเวินบึกและหมู่บ้านท่าล้ง ในจังหวัดอุบลราชธานี (หน้า 9-10, 52)

Language and Linguistic Affiliations

กลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) สาขาภาษามอญ-เขมร สาขาย่อยกะตูอิค (Katuic) (หน้า 1)

Study Period (Data Collection)

ไม่มี

History of the Group and Community

     บรูมีต้นกำเนิดที่จังหวัด กว่าง จิ (Qaung Tri) และ กว่าง บิ่งห์ (Qaung Binh) ในเวียดนามกลาง (หน้า 1) ก่อนที่จะมีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในลาว ปัจจุบันพบการตั้งถิ่นฐานใน 3 ประเทศ คือ ในเขตภาคกลางของเวียดนาม ภาคใต้ของลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (หน้า 30)

     ในลาว มีการตั้งถิ่นฐานในแขวงสะหวันนะเขต สาละวัน คำม่วน เซกอง จำปาสัก และอัตปือ โดยปรากฏในชื่อเรียกว่า บรู และ กะตาง (บ้างก็เรียก กะต่าง) ในระยะแรกรัฐลาวจัดบรูอยู่ในกลุ่มลาวเทิง อาศัยและดำรงชีพในพื้นที่ภูดอย ต่อมาเมื่อมีการจัดกลุ่มเชิงภาษาศาสตร์ บรูจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มกะตาง ตามข้อมูลของกรมชนเผ่าลาว บรูเรียกตนเองว่า “บรูกะตาง” ขณะที่ชนเผ่าอื่นจะเรียกพวกเขาว่า “กะต่าง” ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือ ก่อนจะเคลื่อนย้ายมายังเขตเมืองนอง เมืองเซโปน ผ่านทางแคว้นหงสาวดีแห่งอาณาจักรมอญประเทศเมียนม่า และแคว้นลพบุรีแห่งอาณาจักรสยาม บรูบางส่วนแยกมาตั้งรกรากที่บ้านตั้งหวายและทั่วทุกเมืองในแขวงสะหวันนะเขตในปัจจุบัน ขณะที่บรูอีกจำนวนไม่น้อยแยกมาอยู่เขตตูมลาน แขวงสาละวัน แล้วจึงกระจายลงไปตั้งรกรากในบางเมืองในแขวงจำปาสัก อาศัยอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 31)

     ในไทย บรูเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยที่ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร สกลนคร และอุบลราชธานี ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากลาวหลายระลอกด้วยกัน เช่น ในช่วงที่เกิดสงครามปราบฮ่อซึ่งกินระยะเวลายาวนาน ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จำนวนมากที่อาศัยตามป่าเขาหนีข้ามจากฝั่งลาวมาอยู่ในฝั่งไทย (หน้า 31) หรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ช่วงทศวรรษ 2450) ที่ความเข้มงวดในการเรียกเก็บส่วยรายหัวในชายชาวลาวที่อายุระหว่าง 19-60 ปี รวมทั้งการเรียกเกณฑ์แรงงาน ซึ่งเป็นนโยบายของฝรั่งเศสที่ปกครองลาวขณะนั้น เป็นแรงกดดันให้บรูในบ้านลาดเสือ เมืองชนะสมบูรณ์ แขวงจำปาสัก ที่ได้รับผลกระทบ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในเขตพรมแดนไทย-ลาว กลายเป็นต้นกำเนิดของสองหมู่บ้านบรูไทย ซึ่งก็คือบ้านเวินบึกและบ้านท่าล้ง (หน้า 2-3)

     บรรพบุรุษของบ้านเวินบึกซึ่งก็คือบรูบ้านลาดเสือ เดิมทีเคยอาศัยอยู่บนเขาทางเหนือของลาว นับถือผีเจียวเป็นผีประจำเผ่า ต่อมาเมื่อทำมาหากินฝืดเคืองจึงเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ไล่มาตั้งแต่เขาโพนบก ต่อด้วยบ้านม่วงชุม แขวงสะหวันนะเขต แล้วก็บ้านหนองเม็กบนภูกางเฮือน หรือที่บรูเรียกว่า เขาใหญ่ (ชื่อทางการในภายหลังคือภูเชียงทอง) และเมื่อมาอยู่ที่บ้านห้วยเบนซึ่งได้เกิดโรคระบาดอย่างหนักจึงค่อยย้ายมาตั้งรกรากที่บ้านลาดเสือ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ บ้านหนองเม็ก (ชื่อเดิมเมื่อครั้งที่อยู่บนภูกางเฮือน) แขวงจำปาสัก ก่อนจะอพยพอีกครั้งเพื่อหนีการปกครองของฝรั่งเศส เป็นที่มาของบ้านเวินบึกนับตั้งแต่นั้นมา (หน้า 2-3)

     ส่วนบรูบ้านท่าล้งจากบ้านลาดเสือซึ่งอพยพขึ้นฝั่งไทยในเวลาใกล้เคียงกับบรูบ้านเวินบึก ก่อนจะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำโขงเช่นในปัจจุบัน พวกเขาอาศัยอยู่ในป่าในสถานที่ที่เรียกว่า สนม (หน้า 76)

     บรูบ้านลาดเสือ บ้านเวินบึก และบ้านท่าล้ง ทั้งสามหมู่บ้านซึ่งเป็นขอบเขตพื้นที่ในงานศึกษา ต่างมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่แนบแน่น นับถือผีและฮีตคองที่คล้ายกันแม้ปัจจุบันผีสูงสุดของแต่ละหมู่บ้านจะมีชื่อเรียกต่างกันก็ตาม (หน้า 76-77)

Settlement Pattern

     ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม บรูเป็นกลุ่มอิสระ อาศัยอยู่ตามภูเขาหรือบนที่สูง (หน้า 32) ตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก (หน้า 161) โดยกลุ่มตระกูลเดียวกันจะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กันตามความเชื่อผีประจำตระกูลที่ตนนับถือ (หน้า 4) มีการจับจองที่ดินทำไร่ทำนากันเป็นครอบครัวหรือกลุ่มเครือญาติ ที่เรียกว่า “อยู่กันเป็นเหล่า” โดยจะมีการแสดงอาณาเขตความเป็นเจ้าของกำหนดไว้ชัดเจน (หน้า 58)

     อนึ่ง ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของบรูยึดโยงกับความเชื่อผีโดยตรงเนื่องจากผีซึ่งหมายถึงพื้นที่ความเชื่อนี้ครอบครองอาณาบริเวณตำแหน่งแห่งที่ สถานที่ และพื้นที่เชิงกายภาพด้วย ดังนั้น ลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านของบรูจะสอดคล้องไปกับการครอบครองพื้นที่ของผี สำหรับผีหมู่บ้าน พื้นที่ครอบครองก็คือป่าและชุมชน โดยสัญลักษณ์ของที่อยู่อาศัยของผีหมู่บ้านก็คือต้นไม้ที่บรูเรียกว่า ต้นเหมือดแอ ขณะที่ผีตระกูล จะครอบครองพื้นที่เรือนหลังหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางบ้านเรือนในกลุ่มตระกูลเดียวกัน เรือนหลังดังกล่าวซึ่งรู้กันว่าเป็นที่อยู่ของผีตระกูลนี้จะมีการสร้างตูบน้อยไว้ด้วย ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผีตระกูล ซึ่งการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในกลุ่มจะเกิดขึ้นที่นี่ (หน้า 64)

     การตั้งถิ่นฐานของบรูอาจปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไข อาทิ การตั้งถิ่นฐานของบ้านลาดเสือ บ้านเวินบึก และบ้านท่าล้ง สามหมู่บ้านบรูซึ่งเป็นขอบเขตพื้นที่ในงานศึกษา จะพบว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ แม้ว่าจะมีส่วนที่อยู่ติดกับเนินเขาตามจารีตการอยู่อาศัยในอดีต หรือกรณีที่รัฐไทยแทรกแซงการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่ป่า อย่างการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ก็ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านบรูถูกจัดสรรใหม่ ไม่สามารถเลือกอยู่อาศัยเป็นกลุ่มเครือญาติได้เหมือนในอดีต (หน้า 110) 

Demography

บรูในเขตเวียดนามกลาง มีประชากรโดยประมาณ 40,000 คน (สำรวจเมื่อ ค.ศ. 1989) (หน้า 1)
บรู (กะตาง) ในประเทศลาว มีประชากรโดยประมาณ 95,440 คน (สำรวจเมื่อ ค.ศ. 1995) (หน้า 49)
บ้านลาดเสือ มีประชากรโดยประมาณ 440 คน 78 หลังคาเรือน (หน้า 77)
บ้านเวินบึก มีประชากร 505 คน 95 หลังคาเรือน (หน้า 282)
บ้านท่าล้ง มีประชากร 335 คน 63 หลังคาเรือน (หน้า 282)

Economy

     เศรษฐกิจดั้งเดิมของบรูไทยเป็นเศรษฐกิจและการผลิตแบบพึ่งตนเองและรวมกลุ่ม หรือมีความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ มีแบบแผนการผลิตและแลกเปลี่ยนเพื่อการกินหรือใช้ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในอีสาน บรูยังชีพด้วยการทำไร่ ทำนา ทำหัตถกรรมโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากป่า (หน้า 161, 165) ซึ่งลดลงอย่างสำคัญกลางทศวรรษ 2520 จากแรงกดดันจากรัฐอย่างต่อเนื่องในสิทธิบนพื้นที่ทำกิน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการผลิตแบบเดิม กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันบรูให้ออกไปค้าแรงงานนอกหมู่บ้านเพื่อการยังชีพ เช่น การเป็นแรงงานในพื้นที่การท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต บ้างก็ออกเดินทางไกลข้ามท้องถิ่นเพื่อแสวงโชคและโอกาส วิถีการผลิตจึงเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยพึ่งพาตนเองกลายเป็นต้องพึ่งพาตลาด (หน้า 135-136, 206) และเมื่อพื้นที่อีสานถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทุนนิยมภายใต้บริบทการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่และโลกาภิวัตน์ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรูกับคนท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจและการผลิตของหมู่บ้านบรูเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย บรูยอมรับการพัฒนาและปรับตัวในการดำรงชีพสร้างรายได้ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายของวิถีการบริโภคสมัยใหม่ ที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประวันจำวันตั้งแต่ช่วงหลังปี 2530 วิถีการทำมาหากินปัจจุบันของบรูไทยในงานศึกษา มีทั้งการเป็นแรงงานใกล้หมู่บ้านแบบไปเช้าเย็นกลับ การรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านการเป็นแรงงานไกลบ้าน เช่น เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าข้ามแดนไทย-ลาว (หน้า 136, 162-163, 206-207)

     สำหรับบรูลาวรุ่นใหม่ การมีปฏิสัมพันธ์กับเครือญาติบรูฝั่งไทยที่เลือกรับและปรับตัวเข้ากับความเจริญ ความต้องการทางด้านวัตถุและสถานภาพทางสังคม ภายใต้บริบทของวิถีชีวิตสมัยใหม่ มีส่วนผลักดันให้พวกเขาข้ามฝั่งมาหางานทำและแสวงหาโอกาสให้กับชีวิตเช่นเดียวกัน (หน้า 207)

Social Organization

     บรูมีโครงสร้างทางสังคมซับซ้อน สืบเชื้อสายและวงศ์วานรวมทั้งมรดกจากฝั่งพ่อ มีหมู่บ้านเป็นหน่วยการปกครองใหญ่สุด รองลงมาคือกลุ่มตระกูล และครอบครัว ตามลำดับ (หน้า 41)

     บรูมีความเชื่อผีหรือนับถือผี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการจัดองค์กรทางพื้นที่และทางสังคมวัฒนธรรม การที่ผีมีหน้าที่ควบคุมดูแล เป็นกรอบกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งยังปกป้องและคุ้มครองชุมชนและหมู่บ้าน ก่อให้เกิดรูปแบบองค์กรทางสังคมและการปกครองแบบไม่ทางการตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงหมู่บ้าน ผีของบรูแบ่งเป็นสองระดับคือผีสูงสุดและผีตระกูล ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ที่แตกต่างกัน ในระดับครัวเรือน ผีตระกูลจะทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น ห้ามเล่นชู้ ห้ามออกนอกหมู่บ้าน ต้องให้ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสและพ่อ-แม่ เป็นต้น การทำผิดผีจะทำให้สมาชิกได้รับโทษ เช่น คนในครอบครัวเจ็บป่วย ทำให้ต้องมีการปรับไหมเซ่นไหว้ผีตามความผิด แต่ละตระกูลจะมีเจ้าฮีต ได้แก่ ผู้อาวุโส พ่อ-แม่ ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ตักเตือน ตัดสินปัญหาให้สมาชิก

     ความเชื่อผีจะถูกสืบทอดต่อกันมา โดยมีผู้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎเกณฑ์ (หรือรี้ต) ลดหลั่นกันลงมาตั้งแต่ระดับชุมชน คือ เจ้าละโบ และระดับตระกูล คือ เจ้าฮีต ได้แก่ ผู้เฒ่า พ่อ-แม่ (หน้า (2), 1-2, 41)

Political Organization

     บรูมีการจัดองค์กรทางการเมืองและการปกครองของตนเอง โดยผู้นำทางการเมืองก็คือหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นตำแหน่งที่สืบทอดกันผ่านลูกชายของครอบครัวและภายในวงศ์ตระกูล (clan) มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาในกิจกรรมทั้งหมดภายในชุมชน เป็นคนกลางในการจัดการความขัดแย้งภายในหมู่บ้านและตัดสินปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ (หน้า 40) การที่บรูอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มตระกูลตามผีที่นับถือ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีฮีตคองควบคุมกำหนดพฤติกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคม ยังก่อให้เกิดลำดับความสัมพันธ์ทางอำนาจและการปกครองอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ในระดับครอบครัว กลุ่มตระกูล ไปจนถึงชุมชน

     ประมาณทศวรรษ 2480 เมื่อรัฐไทยมองว่าบรูที่อพยพจากฝั่งลาวเข้ามาอยู่ที่อำเภอโขงเจียมควรถูกจัดตั้งเป็นหน่วยการปกครองอย่างเป็นทางการ ทำให้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำทางการขึ้น หมู่บ้านบรูจึงอยู่ในการปกครองของรัฐไทย โดยมีผู้นำใหม่หรือผู้ใหญ่บ้านก็คือหัวหน้าหมู่บ้านที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมานั่นเอง (หน้า 86-87)

          นอกจากนี้ ด้วยลักษณะของหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนและอยู่ในเขตป่า พื้นที่ของหมู่บ้านบรูในฝั่งไทยจึงอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.1 กอ.รมน.อีกด้วย โดยมีหน่วยราชการของรัฐเข้ามาตั้งฐานประจำการ ได้แก่ ฐานกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน และฐานของหน่วยอุทยานแห่งชาติตะนะ เพื่อสอดส่องดูแลพื้นที่และชาวบ้าน (หน้า 86-87)

     อนึ่ง การปรับตัวให้เข้ากับระบอบการปกครองแบบทางการถือเป็นทางเลือกภายหลังการตัดขาดตนเองออกจากฮีตคอง เพราะแต่เดิมบรูได้รับผลกระทบจากการเมืองการปกครองระหว่างประเทศมาโดยตลอด กรณีบรูฝั่งลาว ตั้งแต่เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าจักรวรรดิฝรั่งเศส จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลสังคมนิยม และภายใต้รัฐไทย เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเวินบึกและบ้านท่าล้ง ซึ่งทำให้บรูต้องปรับตัวต่อรองกับการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม

Belief System

     ระบบความเชื่อของบรูคือระบบความเชื่อผี ซึ่งผีก็คืออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เป็นพื้นฐานทางศีลธรรมในการกำหนดกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามต่าง ๆ ที่นำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (หน้า 78)

     ความเชื่อผีเป็นอิทธิพลสำคัญในชีวิตของบรู บรูมีวิถีปฏิบัติที่หลอมรวมกับความเชื่อเกี่ยวกับโลกของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ในหมู่บ้านจะมีหมอผีซึ่งได้รับการฝึกฝนให้ทำนายว่าชาวบ้านเกิดการผิดผีประเภทไหน โดยแต่ละสายตระกูลจะมีการเลี้ยงดูหมอผีประจำตระกูล ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาอารักษ์ และวิญญาณปู่ย่าตายาย ก็เป็นอีกวิถีหนึ่งที่แนบแน่นกับการดำรงชีพ โดยพบว่าบรูจะสร้างกระท่อมน้อยไว้ใกล้บ้าน เพื่ออัญเชิญวิญญาณปู่ย่าตายายซึ่งเมื่อจากไปนานเข้าจะกลายเป็นเทพารักษ์ มาอยู่เพื่อทำหน้าที่ปกปักรักษา ซึ่งทุกๆ ปีก็จะมีการจัดพิธีกรรมบวงสรวง โดยการบวงสรวงเทวดาอารักข์ภูเขาและที่สูงจะมีขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม (พิธีระเบิ๊ป) ส่วนการบวงสรวงปู่ย่าตายายจะมีขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน การบวงสรวงทั้งสองรอบล้วนแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับวงจรการทำเกษตรกรรมตามฤดูกาล กล่าวคือ รอบแรกเป็นช่วงเวลาของการเพาะปลูก ส่วนรอบหลังเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว (หน้า 35, 37)

     การที่วิถีปฏิบัติทั้งหมดถูกหลอมรวมเข้ากับโลกของผี ผีและหมอผีทำหน้าที่ควบคุมดูแลชะตากรรมตั้งแต่เกิดจนกระทั่งหลังจากตายไปแล้ว โดยผีที่นับถือนั้นมีมากมาย ทำหน้าที่ควบคุมดูแลปรากฏการณ์ธรรมชาติ บันดาลได้ทั้งความดีและความชั่ว ทุกบริบทในชีวิตของบรูสามารถอธิบายได้ว่าเป็นการกระทำของผี บรูจึงระมัดระวังที่จะไม่ทำผิดผี แต่หากทำผิดก็จะต้องหาทางทำให้ผีพอใจด้วยเครื่องเซ่นไหว้ตามเงื่อนไขที่กำหนด (หน้า 35) โดยในระบบความเชื่อผี บรูทุกคนถือเป็นส่วนเดียวกันในฐานะ “ลูกเผิ้งลูกเทียน” ของผีในโลกทางจิตวิญญาณที่พวกเขานับถือ ฉะนั้น ปัจเจกบุคคลไม่ใช่ส่วนเสี้ยวที่แยกขาดจากผู้อื่นแต่เชื่อมโยงกันทั้งในฐานะบุคคล กลุ่มตระกูล เครือญาติ และชุมชน เสมือนร่วมกันทำหน้าที่ธำรงรักษาความเป็นบรูในอดีต

     กระบวนการเปลี่ยนจากการนับถือผีมานับถือศาสนาค่อย ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจัยของสภาพพื้นที่และพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่แต่เดิมห่างไกลอยู่ติดชายแดน ไม่มีเส้นทางสัญจรทางบกหรือถนนที่สะดวกสบาย ทำให้ก่อนพุทธทศวรรษ 2510 ทั้งอำนาจรัฐและศาสนจักรเข้าแทรกแซงได้อย่างยากลำบาก ระบบฮีตคองจึงยังเข้มแข็งและยังไม่ถูกแทนที่ จนกระทั่งการเข้ามาถึงของคณะธรรมทูต โดยค่อย ๆ พัฒนาจากการเป็นสำนักสงฆ์ ซึ่งในท้ายที่สุด มีการสร้างวัดอย่างเป็นทางการ การแทนที่หรือแทรกตัวเข้ามาของพุทธศาสนาในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองด้วยผี เป็นเครื่องพิสูจน์แนวโน้มการต่อรองและปรับตัวของหลักความเชื่อที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากสิ่งเหนือธรรมชาติไปเป็นศาสนา แม้ในช่วงเริ่มแรกสมาชิกรุ่นอาวุโสของหมู่บ้านจะมีการขอขมาผี แต่การหันไปนับถือพุทธคือข้อพิสูจน์ถึงการปรับตัวให้ถูกต้องตามทางการ เพราะบรูได้เข้ามาในเขตขัณฑสีมาของชาติไทย การสร้างวัดเป็นเครื่องรับประกันว่าบรูจะไม่ถูกเนรเทศ ขับไล่ให้เร่ร่อนอีกต่อไป (หน้า 99-100)

          จึงเห็นได้ว่าความเชื่อดั้งเดิมของบรู กล่าวคือ การให้ความยำเกรงต่ออำนาจที่มองไม่เห็นที่สิงอยู่ในธรรมชาติรอบตัว ที่คอยทำหน้าที่กำกับให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำหน้าที่กำกับให้สังคมมีความสงบสุขและดลบันดาลให้การเพาะปลูกได้ผล ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปภายหลังการเข้ามาของศาสนาสมัยใหม่ จากความยำเกรงต่อผีสูงสุดก็กลายไปเป็นความเคารพยำเกรงในพระผู้เป็นเจ้า ทั้งในศาสนาพุทธและคริสต์ (หน้า 36)

Education and Socialization

     การศึกษาสมัยใหม่เป็นเครื่องหลอมรวมคนลาวในภาคอีสานซึ่งรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บรูที่อาศัยห่างไกลและอยู่ชายขอบ ทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม บรูในฐานะชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ย่อมไม่พ้นที่จะตกอยู่ในกระบวนการกลืนกลายความเป็นชาติไทย จากเดิมที่เคยเป็นชุมชนเล็ก ๆ ทำไร่หมุนเวียนพึ่งพาอยู่กับป่าและภูเขาตามระบบฮีตคอง ต่อมาความเป็นชาติที่ก่อตัวเป็นชาตินิยมที่ชัดเจนมากขึ้นราวกลางทศวรรษ 2480 ทำให้บรูได้รับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา ผลที่ตามมาคือการใช้พื้นที่การเรียนการสอนทำเกษตรกรรม ให้หันไปปรับเปลี่ยนพื้นฐานวิชาชีพ อย่างการปลูกผักเพื่อทำกินในครัวเรือน และมีการจัดการศึกษาเพื่อเชิดชูให้ต่างชาติยอมรับในฐานะที่เป็นพื้นที่ชายแดนภายใต้รัฐไทย บรูในฐานะคนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาหรือท้องถิ่นได้รับการศึกษา จึงไม่เพียงแต่ได้เรียนเพื่อให้อ่านออกและเขียนภาษาไทยได้ แต่ยังได้รับการอบรมขัดเกลาให้สำนึกความเป็นไทย มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ (หน้า 84)

     ลำดับต่อมาการศึกษาในโรงเรียนในฐานะเครื่องมือกล่อมเกลาให้บรูอ่านออกเขียนได้ คือช่องทางในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ภายใต้กระแสการท่องเที่ยวการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าที่เฟื่องฟูขึ้น ส่งผลให้หมู่บ้านบรูที่อยู่ในพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ ได้เกิดการปรับตัวต่อรองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ “อัตลักษณ์ธำรง”ด้วยการเลือกนิยามความหมาย และประกอบสร้างอัตลักษณ์บรูขึ้นมา ประกอบกับการศึกษาอย่างเป็นแบบแผนทางการผ่านโรงเรียนได้เข้าไปมีส่วนสำคัญ เช่น นโยบายการนำภาษาบรูเข้ามาจัดการเรียนการสอน จนกลายเป็นสำนึกว่าภาษาคือตัวตนของบรู นอกจากนี้ ภาษาบรูยังถูกนำไปผนวกเข้ากับการร้องรำและบทเพลงสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างสายน้ำกับวิถีชีวิตเพื่อสร้างความรู้สึกของการเป็นบรูที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ น่าค้นหา (หน้า 85)

          ก่อนจะมีการศึกษาในระบบโรงเรียนและการรับพระพุทธศาสนา ในฐานะสิ่งยึดเหนี่ยวและทำหน้าที่กำหนดแบบแผนปฏิบัติและข้อห้ามในสังคม ได้แก่ ความเชื่อเรื่องผี ความเชื่อดังกล่าวเป็นระบบที่สำคัญต่อการจัดองค์กรทางพื้นที่และการขัดเกลาทางสังคมของบรู โดยระบบความเชื่อแรกคือผีที่เป็นวิญญาณของเครือญาติ กับผีอีกกลุ่มที่อยู่ตามธรรมชาติหรือตามป่าเขา นับได้ว่าระบบความเชื่อเรื่องผีก็คือศาสนาดั้งเดิมของบรูนั่นเอง

     ความเชื่อดังกล่าวทำหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ ปกครองควบคุมพื้นที่ภายนอกหมู่บ้าน ในธรรมชาติ เป็นพระเจ้าที่สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ มองเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำหน้าที่ปกป้องชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย (หน้า 53) ผลจากความเชื่อเรื่องผี เป็นที่มาของธรรมเนียมปฏิบัติและข้อห้าม ที่เรียกว่า ฮีตคอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นกฎเกณฑ์กำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของบรูในทุกมิติ อย่างเช่นการแต่งงานซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างสมาชิกใหม่ให้กับครอบครัว การแต่งงานของบรูนี้จะเป็นการแต่งระหว่างกลุ่มตระกูลที่อยู่ในกลุ่มบรูด้วยกัน การแต่งงานภายในกลุ่มตระกูลเดียวกันถือเป็นข้อห้าม โดยการแต่งงานจะเป็นลักษณะแต่งเข้าตระกูลของฝ่ายหญิง ซึ่งเมื่อแต่งงานแล้ว ก็จะมีข้อห้ามที่สำคัญ ได้แก่ ห้ามชู้สาว ห้ามการออกนอกหมู่บ้านตามความเชื่อผี อย่างไรก็ตาม กฎข้อบังคับนี้ถูกใช้กับฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย นอกจากนี้ การเข้ามาอยู่ในตระกูลของฝ่ายหญิง ฝ่ายเขยต้องแสดงออกถึงความเคารพพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ขยันขันแข็งทำมาหากินไม่เกียจคร้าน หากจะกินเหล้าเมายาเล่นสนุกสนานก็ต้องได้รับการอนุญาตจากพ่อเฒ่าก่อน ในกรณีที่ฝ่ายเขยในตระกูลเกิดเจ็บป่วยใกล้ตาย ก็จะมีกฎข้อบังคับให้หมดลมหายใจข้างล่างเรือนหรือภายนอกเรือนของพ่อเฒ่าแม่เฒ่า (พ่อตาแม่ยาย) ขณะที่หากเป็นฝ่ายหญิง (ลูกสาวของพ่อเฒ่าแม่เฒ่า) เสียชีวิตก่อน ฝ่ายเขยอาจต้องกลับไปอยู่กับตระกูลเดิมของตน ยกเว้นว่าฝ่ายเขยยินดีที่จะอยู่ในตระกูลของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าต่อไป ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามฮีตคองของตระกูลอย่างเคร่งครัด เป็นต้น (หน้า 67)

     นอกจากความเชื่อและความเคารพผี ซึ่งทำหน้าที่กำกับบทบาทและพฤติกรรมของผู้คนจะแสดงออกด้วยการทำตามฮีตคองที่กำหนดไว้ บางอย่างกำหนดให้ต้องแสดงการ “คอบ” ด้วยเครื่องเซ่น เช่น การคอบหมูหนึ่งตัวเพื่อเอาเขยเข้าบ้าน การคอบแบบต่างๆ นี้เป็นการทำเพื่อสื่อสาร บอกกล่าว หรือประกาศให้รู้ว่าได้ขออนุญาตและได้รับการยินยอมโดยสังคมหรือผู้มีอำนาจให้ทำบางสิ่งบางอย่างได้ โดยในการคอบนี้จะมีการมอบบางสิ่งเพื่อแลกกับการยินยอม เช่น การคอบผีด้วยควายหนึ่งตัวเพื่อขอให้มีการสร้างวัด หรือให้มีการเล่นดนตรีเสียงดังได้ นัยของการคอบหรือการให้ของแลกเปลี่ยน อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ เป็นสิ่งแสดงน้ำใจ ทั้งยังถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปด้วย เช่น คอบเพื่อบอกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจที่เขตแดนว่าจะไปเยี่ยมพี่น้องอีกฟากชายแดน ซึ่งอาจมีของฝากติดไม้ติดมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปด้วย

     ทั้งแบบแผนปฏิบัติและข้อห้ามที่อยู่ในฮีตคองมาจากความเชื่อผี ทำให้เกิดกฎเกณฑ์แบบแผนอีกอย่างหนึ่งตามมา ก็คือการปรับไหมเพื่อชดใช้ความผิดต่อผี จากพฤติกรรมผิดกฎระเบียบที่มีของสมาชิกบรูเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ การปรับไหมสามารถทำตามได้ตามระดับความผิดทั้งต่อผีจำนักและผีตระกูล หนักเบาตามความผิด หากเป็นความผิดที่ไม่มีโทษกำหนดไว้อย่างชัดเจนจะใช้วิธีดู “สัญญะ”ชี้วัดหนักเบาตามอาการที่แสดงให้เห็นว่าผีกระทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย (หน้า 70-71)

Health and Medicine

     ความเจ็บป่วยและการรักษาของบรูเชื่อมโยงกับความเชื่อผีและยึดถือฮีตคอง เพราะตามระบบความเชื่อ การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเครื่องบ่งชี้ของการทำผิดผี ผิดฮีตคอง เมื่อมีคนเจ็บป่วย นอกจากหมอพื้นบ้านของหมู่บ้านจะใช้ว่านและคาถาอาคมเป่า พ่น และใช้ยาสมุนไพรที่หาได้จากป่าบนเขาใกล้ ๆ มาต้มหรือดองให้กินแล้ว ยังต้องให้หมอดูทำนายโดยวิธีการที่เรียกว่า หักให้ดูหมอ ว่าการเจ็บป่วยนั้นเกิดจากการผิดผี ผิดฮีตคองหรือไม่ หากผิดจะต้องปรับไหมเพื่อแก้ไขเยียวยาอย่างไร การรักษาโดยการใช้คาถาอาคมร่วมกับยาสมุนไพร ถือเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์พื้นบ้านที่ถูกนำมาผนวกรวมเข้ากับความเป็นบรู โดยเฉพาะคาถาอาคมที่เป็นลักษณะเฉพาะที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ รับรู้และเกรงกลัว ภายหลังเมื่อหมู่บ้านเปิดรับการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่มากขึ้น หมอพื้นบ้านรวมถึงองค์ความรู้ทางการแพทย์พื้นบ้านของบรูจึงค่อยๆ ลดบทบาทลงไป อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบดั้งเดิมหรือด้วยวิธีที่พ่อแม่ของตนเชื่อ ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง เนื่องจากบรูรุ่นใหม่เห็นว่าการรักษาแบบดั้งเดิมไม่เพียงรักษาตามอาการ แต่เป็นยาช่วยที่รักษาทางจิตใจด้วย ตัวอย่างเช่น การกลับมาทำพิธีทางผี ผูกแขน ร่วมกับการนิมนต์พระมาสวดซึ่งเป็นการผสานผีเข้ากับพุทธ หรือการตุ้มโฮมกัน ซึ่งทำให้คนป่วยได้รับกำลังใจจากเครือญาติที่ห้อมล้อมผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล ระบบสุขภาพปัจจุบันของบรูจึงเป็นการรักษาที่เลือกใช้วิธีทางการแพทย์ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ควบคู่ผสมผสานไปด้วยกัน (หน้า 115-118)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

เครื่องแต่งกาย
     การศึกษาเมื่อปี 2438 ระบุว่าผู้ชายจะใช้ผ้าผืนเดียวปกปิดร่างกาย ตัดผมสั้นเฉพาะบนศีรษะและเลี้ยงผมรอบศีรษะยาวลงมาเพื่อขมวดเป็นมวย ส่วนหญิงสาว (หญิงที่ยังไม่แต่งงาน) และแม่เรือน (หญิงที่แต่งงานแล้ว) จะนุ่งกระโปรงสั้นเท่าเข่าสีดำและใส่เสื้อเกาะอกไม่มีแขน การที่ถอดท่อนล่างเหลือไว้แต่เสื้อเวลาอาบน้ำ ถูกให้ความหมายว่าความอายของพวกเธออยู่ที่ท่อนบน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะเจาะหูเป็นรูกว้างประดับด้วยจุกขวดขนาดใหญ่ทำด้วยโลหะคอดตรงกลาง สวมกำไลขนาดใหญ่ที่แขน (หน้า 32) กรมชนเผ่าลาวให้ข้อมูลว่า เครื่องนุ่งห่มของกะตางเป็นสีดำย้อมด้วยน้ำนิล ผู้ชายชนเผ่ากะตางนุ่งกระเตี่ยว ไว้ผมยาวเกล้าผม ใส่ตุ้มหูคล้ายผู้หญิงทำด้วยเงินหรือตะกั่ว สักขาลาย ขณะที่ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อ เกล้าผม ใส่ตุ้มหู ใส่ปลอกแขน ใส่สร้อยลูกปัด เด็กบรูที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมามักจะไม่ใส่เสื้อผ้า (หน้า 33) การศึกษาในปี 2546 ให้ข้อมูลว่าบรูลาวไม่รู้จักการทอผ้าฝ้าย ผู้ชายจะใส่ผ้าเตี่ยวไม่ก็กางเกงขาสั้นซึ่งเริ่มหาได้ง่ายและเปลือยท่อนบนในช่วงฤดูร้อน ส่วนผู้หญิงชอบใส่เสื้อผ้าแบบชาวลาวซึ่งหาซื้อได้ตามตลาด คือใส่เสื้อคอกระเช้าและนุ่งผ้าถุง ใส่ตุ้มหูประดับด้วยไม้ และเครื่องประดับอื่น ๆ หญิงสาวจะเกล้ามวยม้วนไว้ทางด้านซ้าย ส่วนแม่เรือนจะม้วนผมเป็นมวยไว้บนศีรษะ (หน้า 33-34)

เครื่องมือเครื่องใช้
     บรูจะสานหวด โดยเฉพาะตะกร้าที่สวยงามทนทาน สามารถใช้สอยได้สารพัดประโยชน์ บรูยังทำกล้องยาสูบเงินได้อย่างประณีต บรูจะเริ่มใช้กล้องยาสูบนี้กันตั้งแต่เมื่ออายุได้ 7-8 ปี นอกจากนี้ บรูยังมีธรรมเนียมการทำหลาวและหน้าไม้ซึ่งลูกธนูอาบด้วยยาพิษทำก้านต้นจลัก สำหรับใช้ในการล่าสัตว์ในป่า หรือใช้ล่าปลาซึ่งปกติจะใช้แร้วและตาข่าย (หน้า 33-34)

สถาปัตยกรรม
     บรูมักสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้าไม่ฝังเสา (หน้า 1) บ้างก็สร้างบ้านด้วยเสาไม้ที่แข็งแรง มุงหลังคาสังกะสี ตัวบ้านมักจะมีขนาดเล็ก ระเบียงเปิดโล่งเป็นที่สำหรับทำงานบ้าน ภายในบ้านมีห้องหนึ่งถึงสองห้อง ห้องแรกเป็นห้องใหญ่สำหรับรับแขก โดยจะมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษติดบนฝาผนังบ้านด้านซ้ายของประตูทางเข้า ส่วนห้องที่สองจะเป็นห้องนอน แต่ละบ้านจะมีเตาบนพื้นดิน และมักสร้างยุ้งข้าวไว้ข้าง ๆ เรือน เพื่อเก็บข้าวและผลผลิตทางการเกษตร (หน้า 45)
กรมชนเผ่าลาวบันทึกเกี่ยวกับลักษณะบ้านเรือนของบรูว่า ประกอบสร้างอย่างกะทัดรัดเบาบางโดยอุปกรณ์ที่หาได้จากธรรมชาติ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาปลูกเรือนลักษณะเหมือนเรือนของชนเผ่าภูไท จัดแบ่งห้องในภายในบ้านตามจำนวนผู้อยู่อาศัย (หน้า 44)

ดนตรี นาฏศิลป์ และวรรณคดี
          กรมชนเผ่าลาวบันทึกไว้ว่า ชนเผ่ากะตางมีเอกลักษณ์ในการขับลำ เช่น ลำสะเนิด ลำตั่งหวาย มีการละเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านพวกปี่ แคน กลอง และพะเหนาะ (หน้า 45)
     หากกล่าวถึงการรำหรือเพลงบรู ปัจจุบันมักมีความหมายถึงวัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่เพื่อแสดงแก่นักท่องเที่ยว เช่น ในวันปีใหม่ที่จะมีการแสดงต้อนรับแสงพระอาทิตย์แรกของสยามบนลานผาแต้ม โดยการรำบรูที่เป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์นี้เป็นท่ารำประยุกต์ที่ผสมผสานระหว่างท่ารำของเผ่าต่างๆ เช่น ญ้อ ภูไท และรำตังหวายแบบลาว (ลำตั่งหวาย)  (หน้า 127-128)

Folklore

     กรมชนเผ่าลาวบันทึกไว้ว่าบรูมีนิทานพื้นบ้าน เทพนิยาย ที่สะท้อนถึงการดำรงชีวิตเป็นของตนเอง (หน้า 45) บรูยังมีตำนานของตนเองเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวข่าบรูตามคำบอกเล่าของผู้อาวุโสบ้านลาดเสือ ท้องเรื่องมีอยู่ว่า บรูเป็นต้นกก เป็นพี่ใหญ่ของลาว เกิดมาจากหิน จากป่า ส่วนลาวซึ่งเป็นน้องเกิดมาจากน้ำเต้าปุ้ง ตอนเกิดแย่งกันเกิดทำให้ออกมาไม่สมบูรณ์พิกลพิการ ตำนานดังกล่าวสะท้อนถึงความแบ่งแยกไม่ลงรอยกันของลาวกับบรู เพราะบรูจะถูกลาวมองว่าล้าหลัง ลาวแบ่งแยกตนเองว่าเป็นคนเมือง ส่วนคนป่าอย่างบรูจะถูกเรียกพวกข่า (หน้า 329)

          ตำนานเกี่ยวกับบรูหรือที่รัฐลาวเรียกว่า กะตาง ที่โด่งดังก็คือ ตำนานข่าพระแก้ว ผู้อาวุโสที่เป็นอดีตเจ้าเมืองโพนทอง เรียกตนเองว่า ข่าพะแก้ว เล่าถึงตำนานดังกล่าวซึ่งเป็นตำนานความเป็นมาของตนหรือบรูไว้ว่า เป็นเรื่องราวที่ “ลาวเทิง” (พวกข่าบ้านลาดเสือ) ได้พบกับเด็กน้อยมีแสงส่องในถ้ำบนภูกางเฮือน ซึ่งต่อมาเสี่ยวของลาวเทิงตามขึ้นไปดูจึงได้รู้ว่าเป็นพระแก้ว จึงพากันอัญเชิญลงมาที่บ้านลาดเสือ แต่ลาวเทิงที่บ้านลาดเสือไม่รู้ว่าเป็นพระแก้วจึงมอบให้กับลาวลุ่ม (ชาวลาว) ไป เมื่อลาวลุ่มนำขึ้นเรือบรรทุกไปตามแม่น้ำโขงพระแก้วเกิดหล่นตกน้ำ ไม่มีนำกลับขึ้นมาได้มีเพียงลาวเทิงเท่านั้น จากนั้นลาวเทิงรวม 7 ครอบครัว จึงได้อัญเชิญพระแก้วมาประดิษฐานที่เมืองเก่าโพนทองและคอยเฝ้ารักษา ตั้งแต่นั้นมาพวกเขาจึงมีชื่อเรียกว่า “ข่าพระแก้ว” ต่อมาเมื่อพระแก้วตกไปอยู่กับสยามในช่วงที่สยามปกครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ลาวเทิงหรือข่าพระแก้ว 3 ครอบครัว ได้เดินทางติดตามพระแก้วไปสยามด้วย ส่วนอีก 4 ครอบครัวที่เหลือที่ยังอยู่ที่เมืองเก่าโพนทอง พากันแยกย้ายไปอยู่ทางตะวันตกของเมืองจำปาสัก กลายเป็นที่มาของหมู่บ้านข่าพระแก้วอีกหลายแห่ง คือ บ้านโนนพระเจ้า บ้านม่วง บ้านหนองหิน บ้านดอนขวาง บ้านโนนสะอาด บ้านแก้งยาว และบ้านท่า ซึ่งลาวลุ่มจะรู้จักในฐานะที่เป็นหมู่บ้านของข่าพระแก้วหรือข่าพะแก้วนับตั้งแต่นั้นมา (หน้า 334)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

     บรูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนภูเขา ทำไร่ ย้ายที่ ตามชื่อเรียกตนเองว่า “บรู” ที่มีความหมายว่า “คนที่อาศัยอยู่ตามภูเขา” ในเวียดนามบรูถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ “Bru- Vân Kiều” ส่วนในลาวถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ “กะตาง” (Katang) ตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มหมู่บ้าน มีภาษา โครงสร้างทางวัฒนธรรม และการจัดองค์กรทางสังคมและหน่วยปกครองของตนเอง ซึ่งทำให้บรูแตกต่างและแยกตัวออกจากคนนอก โดยเฉพาะระบบความเชื่อและจารีต กล่าวคือ ความเชื่อผีหรือการนับถือผี และยึดถือกฎระเบียบ ที่เรียกว่า “รี้ต” (ตรงกับภาษาอีสาน คือ “ฮีต” แปลว่า กฎเกณฑ์ แบบแผน) หรือ “ฮีตคอง” (ฮีตคองบรู) (หน้า 1-2, 4-5) 

Social Cultural and Identity Change

     พลวัตและชาติพันธุ์ธำรงของบรูซึ่งปรับเปลี่ยนและต่อรองอย่างยืดหยุ่น สะท้อนอยู่ในสภาพสังคมและวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของบรูที่ตัดขาดจากวิถีปฏิบัติดั้งเดิม ที่สำคัญได้แก่ การสละฮีตคอง อันเป็นจุดตั้งต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งนำไปสู่ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่มากขึ้นในการเปิดรับความเจริญแบบสมัยใหม่ บริการทางการศึกษา และสาธารณสุข โอกาสทางการค้าการประกอบอาชีพ หรือการเข้าถึงแหล่งทุน จากที่แต่เดิมนั้นยังชีพด้วยการพึ่งพาธรรมชาติ เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างสมาชิกบรูในระดับวงศ์ตระกูลและหมู่บ้าน
   
  การคืนฮีตไม่เพียงแต่ลดทอนบทบาทความเชื่อเรื่องผีให้ถดถอยลง แต่ยังส่งผลไปถึงระบบความเชื่อเรื่องวงศ์ตระกูล ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของชีวิตทั้งหมด ที่สมาชิกต้องเชื่อฟัง เคารพผู้อาวุโส เพื่อให้เกิดความสมดุลและป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดผี ทำให้สมาชิกคนหนึ่ง ๆ ในวงศ์ตระกูลจึงต้องรับผิดชอบและดูแลสมาชิกคนอื่น ๆ ไปพร้อมกันหากว่ามีคนใดคนหนึ่งผิดผี แม้จะไม่ได้รับผลร้ายแต่ก็อาจทำให้กระทบไปยังสมาชิกคนอื่นได้ นอกจากนี้ การคืนฮีตยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ โดยถือว่าสิ้นสุดการเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์ตระกูล ผู้ที่คืนฮีตต้องย้ายออกไปจากเครือข่ายญาติพี่น้องเดิม แต่กลับเปิดโอกาสในการติดต่อกับสังคมภายนอก โดยสรุป ก่อนที่จะมีการแทรกแซงเข้ามาของอำนาจรัฐ ศูนย์กลางที่ทำหน้าที่พยุงโครงสร้างทางวัฒนธรรมของบรู คือ ภาษา ความเชื่อ และฮีตคอง (หน้า 250) อย่างไรก็ตาม ผลจากปัจจัยภายนอก สั่นคลอน หรือลดบทบาทโครงสร้างหรือแบบแผนทางวัฒนธรรมอย่างภาษาและความเชื่อ ไม่ใช่พรมแดนแบ่งแยกทางอัตลักษณ์ที่ตายตัวอีกต่อไป เพราะในบางบริบทสามารถผสมผสาน ใช้อุดมการณ์ทางการเมือง มาใช้สอดแทรกควบคู่กับศาสนาเพื่อปรับเปลี่ยนความเชื่อที่ส่งผลเสียต่อบรู อย่างเช่นผลของการที่รัฐเปลี่ยนให้หันมานับถือพุทธศาสนาเพราะมองว่าความเชื่อผี ฮีตข่า คองขอม ล้วนแต่ไม่มีผลดี เพราะเป็นความเชื่อที่ทำให้คนกินของสดเนื้อหมูหรือควายแบบสดๆ รัฐจึงเข้าไปมีบทบาทให้คนหันไปประพฤติตามแบบอย่างที่ถูกสุขลักษณะ โดยนำโครงการเข้าไปแนะนำให้มีการกินอยู่ที่สะอาด รับประทานอาหารที่สุก (หน้า 307)

     การปรับตัวให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเป็นผลมาจากอำนาจรัฐที่ได้เข้ามาครอบทับ ดัดแปลง หรือหลอมรวมให้พลเมืองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติผ่านเทคโนโลยีอำนาจต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ โรงเรียนศาสนาการปกครองแบบสมัยใหม่เพื่อทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบสำนึกของการเป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ใต้บรมโพธิสมภาร พร้อมกับการจ้องมองควบคุมและการจัดการเรื่องพื้นที่ชายแดนและป่าอย่างเข้มข้น ผลจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้บรูถูกกีดกันออกจากพื้นที่ป่า (หน้า 285) ทำให้คนต้องปรับตัวในการดิ้นรนทางเศรษฐกิจ และต้องประสบกับการแข่งขันจากคนอื่นที่เข้ามาฉวยใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่บรูจะถูกดัดแปลงให้เข้ากับรูปแบบการเมืองการปกครองของรัฐสมัยใหม่ บทบาทหนึ่งที่ตามมาคือ หัวหน้าของชุมชนหรือผู้นำที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับอำนาจของผีหรือเจ้าที่ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของบรู

     การเมืองแบบใหม่ที่เข้ามาแทนที่คือการเมืองแบบทางการนี้ ในด้านหนึ่ง ทำหน้าที่ในการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างปัจเจกกับตัวแทนอำนาจทั้งในระดับหมู่บ้านและระดับองค์กรปกครอง ดังที่จะเห็นว่ามีบรูที่สร้างสมเครือข่ายที่กว้างขวาง หรือเป็นที่ฮักแพง และสามารถใช้ประโยชน์จากสถานะอันเป็นที่ยอมรับดังกล่าวในการดูแลผลประโยชน์ให้กับญาติพี่น้องที่อยู่ทางประเทศลาวและทางฝั่งไทย จากตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อได้รับประโยชน์จากการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้นำท้องถิ่นทั้งที่เป็นคนไทยอีสานหรือคนในฝั่งลาว ขยายพื้นที่และความสัมพันธ์ทางการเมืองที่อยู่นอกเครือข่ายวงศ์ตระกูลเปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่ของการต่อรองช่วงชิงและสวยใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเมืองที่แทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้งหมดทำให้เกิดเครือข่ายการพึ่งพาที่ขยายใหญ่ และเป็นโอกาสให้เกิดการช่วยเหลือและฉวยใช้ประโยชน์ระหว่างกัน บนเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนบนความแนบชิดทางวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเปิดรับวิถีชีวิตแบบใหม่ อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการทางการเมืองในระดับชีวิตประจำวันที่ว่านี้ ยังสามารถถูกเลือกใช้จากคนบรูทั่วไป ระหว่างพวกเดียวกันเองกับผู้นำท้องถิ่นทั้งในฝั่งของไทยอีสานและฝั่งลาว (หน้า 286) ฉะนั้น ผลจากการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ จึงไม่เพียงแต่ส่งผลโดยตรงอย่างเด่นชัดต่อวัฒนธรรม แต่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแบบแผนปฏิบัติ การแบ่งแยกในเชิงพื้นที่ไม่เพียงนํามาซึ่งโอกาสในการติดต่อและเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางการเมือง แต่ยังรวมถึงโอกาสในการออกไปทำมาหากินนอกพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุและเทคโนโลยี เกิดจากการเดินทางไปมาหาสู่กันของผู้คนและสินค้า (หน้า 300-301) การเข้ามาของกระแสสมัยใหม่ ไม่เพียงส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ และแรงปรารถนาในการดำเนินชีวิตของบรูเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการปรับตัวต่อรองให้เกิดอัตลักษณ์ที่หลากหลายและยืดหยุ่น สามารถเชื่อมสัมพันธ์เข้ากับโลกสมัยใหม่ เนื่องจากท่ามกลางกระแสดังกล่าวนี้ เรียกร้องให้คนสามารถเลือกใช้วิถีชีวิตได้อย่างหลากหลาย ปรับเปลี่ยน ไปตามพื้นที่และกาลเวลา ซึ่งเปิดโอกาสให้ประสบกับการข้ามพื้นที่ข้ามพรมแดนที่โลกาภิวัตน์ได้เปิดพื้นที่ทางเลือกไว้ให้ โดยปัจเจกสามารถนำมาแลกเปลี่ยนหรือผสมผสานต่อรองและท้าทายกับอำนาจครอบงำ พร้อมกับทำการช่วงชิงตีความหมายได้อย่างเข้มข้น ท่ามกลางกระแสดังกล่าวนี้ อัตลักษณ์ของบรูจึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งหรือยึดติดอยู่กับแก่นแกนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องอาศัยกลยุทธ์ในการปะทะ ต่อรอง และสร้างปฏิสัมพันธ์ ในการนิยามตัวเอง ในฐานะผู้กระทำการ มากกว่าการถูกครอบงำโดยกำหนดนิยามจากภายนอก

Critic Issues

     ข้อวิพากษ์ที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษาพลวัตและชาติพันธุ์ธำรงของบรู คือท้ายที่สุด ชาติพันธุ์ไม่ใช่ลักษณะที่ตายตัว มีแก่นแกน หากแต่เป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ ปรับตัวและเลือกสรรเพื่อตอบโต้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามพื้นที่สถานการณ์ และเวลา
 
     แม้ว่าในด้านหนึ่งการครอบงำและแทรกแซงของรัฐและเทคโนโลยี อำนาจจะเป็นการสร้างระเบียบเพื่อเสริมสร้างพลเมืองสมัยใหม่ โดยเข้าไปลดทอนบทบาทของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่เดิมและถูกสืบสานมาโดยลำดับผ่านแบบแผนและหลักปฏิบัติที่เรียกว่าฮีตคองหรือความเชื่อเรื่องผี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลจากพลวัตในการปรับตัวเพื่อปะทะหรือเปิดรับความหลากหลายสามารถถูกมองว่ามีส่วนผลิตหรือสร้างอัตลักษณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา โดยอาศัยการฉวยใช้ หลอมรวม รื้อฟื้นวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่เพื่อเชิดชูให้กลายเป็นความโดดเด่น หรือเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย แม้อาจมีวัตถุประสงค์รองคือมุ่งหวังจุดขายทั้งในทางท่องเที่ยว และการสร้างแรงดึงดูดให้น่าค้นหา (หน้า 310) ฉะนั้น อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ จึงยืดหยุ่นหรืออยู่ระหว่างกระบวนการก่อร่างจนไม่สิ้นสุดผ่านทั้งกระบวนการ ทั้งภายในและภายนอก ทั้งจากสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ควบคู่กับการนิยามหรือสะท้อนอัตลักษณ์ออกมาให้ประจักษ์ ทำให้กระบวนการดังกล่าวมีภาวะของการอยู่หว่างกลางทางเลือก (dilemma) (หน้า 289) กล่าวคือ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นเหมือนการอยู่ระหว่างการก่อร่าง ค่อยๆ สร้างขึ้นบนสนามของการปะทะปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงและบริบทต่างๆ ซึ่งผันแปรไปตามบริบทเฉพาะทางของเวลาและพื้นที่การนิยาม ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือถูกนิยามมาจากข้างนอก แม้ในด้านหนึ่งคือผลผลิตของการครอบหรือประกอบสร้างด้วยอำนาจที่กดทับ ครอบงำหรือตอกย้ำ แต่ในทางอื่น ได้สะท้อนว่าปัจเจกชนสามารถมีแนวโน้มที่จะปรับตัวและต่อรองอย่างยืดหยุ่น หมายถึงพลวัตและชาติพันธุ์ธำรง คือภาวะของการก่อตัวขึ้นอย่างกระตือรือร้นในฐานะผู้กระทำการที่สามารถต่อต้าน ต่อรอง

Map/Illustration

ภาพที่ 1.1 แผนที่แสดงกลุ่มบรูในเวียดนาม ลาว และไทย (หน้า 2)
ภาพที่ 2.5 แผนที่แสดงกลุ่มบรูบ้านลาดเสือ บ้านเวินบึก และบ้านท่าล้ง (หน้า 57)
ภาพที่ 2.9 แผนผังตัวอย่างการแต่งงานของเครือญาติและการสืบผี (หน้า 72)
ภาพที่ 3.1 กลุ่มชาติพันธุ์บรูในบริบทรัฐไทย (หน้า 82)
ภาพที่ 3.5 บรูแต่งกายเป็นมนุษย์ถ้ำบนผาแต้ม (หน้า 126)
ภาพที่ 3.6 ชุดแต่งกายบรูหญิงและชาย (หน้า 129)
ภาพที่ 3.7 เปรียบเทียบการรำบรูและการแต่งกายบรูต่างหมู่บ้าน (หน้า 129)
ภาพที่ 6.2 ภาพถ่ายทางอากาศที่ตั้งบ้านหนองเม็ก (ลาดเสือ) เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว (หน้า 225)
ภาพที่ 6.4 แผนที่ที่ตั้งหมู่บ้านบรูฝั่งไทย-ลาว ระหว่างอุบลราชธานีกับจำปาสัก (หน้า 225)
ภาพที่ 6.8 บ้านไม้มุงใบไม้หลังเดิม (ที่เจ้าของยังไม่อยากรื้อทิ้ง) กับบ้านไม้หลังใหม่แบบลาว (หน้า 240)
ภาพที่ 6.9 บ้านเรือนแบบสมัยใหม่ในหมู่บ้านลาดเสือและลาว (หน้า 241)
ภาพที่ 6.12 แผนที่ที่ตั้งหมู่บ้านบรู เมืองชนะสมบูรณ์ จำปาสัก สปป.ลาว (หน้า 243)
ภาพที่ 6.13 แผนที่ที่ตั้งหมู่บ้านบรู เมืองโพนทอง จำปาสัก สปป.ลาว (หน้า 244)
ภาพที่ 6.15 พิธีบายศรีสู่ขวัญฮักแพงแบบวัฒนธรรมลาวระหว่างบรูไทยกับบรูลาว (หน้า 246)
ภาพที่ 7.6 แผนที่เครือญาติข้ามแดนของขนุน (หน้า 266)

Text Analyst ชญานี ขุนกัน Date of Report 09 เม.ย 2562
TAG ชาติพันธุ์บรู, การปรับตัวต่อรอง, พลวัตชาติพันธุ์, การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์, บรู, ข่า, บ้านเวินบึก, คืนฮีต, ฮีตคอง, บ้านลาดเสือ, บ้านท่าล้ง, กะตาง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง