สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ชาติพันธุ์ศึกษา, การจัดการและพัฒนาทรัพยากรตามแนวแม่น้ำสาละวิน, รอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า, ชาวสาละวิน, กะเหรี่ยง, เขื่อนสาละวิน, แม่ฮ่องสอน, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, อินโดจีน
Author ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ
Title ชีวิตบนรอยตะเข็บ: การต่อรองสนามชายแดนของการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรตามแนวแม่น้ำสาละวิน
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, กะแย กะยา บเว, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
  • ห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Call no. Th 305.8 P148I
  • ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Total Pages 342 Year 2555
Source Paiboon Hengsuwn. In-between lives: Negotiating Bordered Terrains of Development and Resource Management along Salween River. Research Report. The Graduate School in Social Science Department, Chiangmai University. 2012.
Abstract

     การวิจัยนี้ เป็นการศึกษาและสำรวจพื้นที่ตามแนวแม่น้ำสาละวินผ่านการตั้งคำถาม และเจาะจงอธิบายถึงระบอบทุนนิยมชายแดน การเปลี่ยนรูปแบบอัตลักษณ์ชายแดน และการจัดการความขัดแย้งในการเปลี่ยนทรัพยากรตามแนวแม่น้ำสาละวินให้กลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมนานาชาติหรือทุนนิยมโลก

     ในยุคเสรีนิยมสมัยใหม่นั้น กลุ่มทุนและรัฐนั้นไม่สามารถควบคุมพื้นที่บริเวณสาละวินได้โดยตรง รูปแบบทุนนิยมชายแดนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เข้าถึงและช่วงชิงทรัพยากรเหล่านั้นจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น การสร้างเขื่อนโดยรัฐและนักลงทุนข้ามชาติเพื่อเปลี่ยนรูปแม่น้ำสาละวินให้กลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำเพื่อการค้าในตลาดพลังงานระดับภูมิภาค ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสรีนิยมใหม่ที่แฝงอยู่ในนโยบายของรัฐและการเมืองชาติพันธุ์ของพื้นที่ชายแดน ซึ่งอาจมาในรูปแบบของการใช้อำนาจ หรือสร้างความรุนแรงต่อประชาชน และยังมีการอ้างถึงการพัฒนาและนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่ชายแดนโดยกลุ่มทุนและรัฐ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการควบคุมและใช้ทรัพยากรสาละวินได้อย่างเสรี แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับปฏิเสธการเข้าถึงและกีดกันประชาชนออกจากทรัพยากรท้องถิ่นของพวกเขา ทั้งยังถูกทำให้ไร้ตัวตนโดยถือว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองรัฐ-ชาติ

     “ชาวสาละวิน” และ “ชนชายแดน” จึงถูกนิยามขึ้นโดยประชาชน โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างพื้นที่ต่อรองในกระบวนการเจรจาต่อรอง เพื่อปกป้องวิถีการดำรงชีวิตผ่านการเข้าถึงทรัพยากรและเปลี่ยนรูปทรัพยากรให้เป็นวิถีชีวิตชายแดน และเพื่อสร้างตัวตนและการมองเห็นได้ในฐานะพลเมืองรวมไปถึงการเป็นเจ้าของอัตลักษณ์ชายแดน กล่าวคือ แม่น้ำสาละวิน จึงได้ถูกนิยามความหมายในแง่ของการเป็นแหล่งของวิถีชีวิตผ่านความทรงจำทางด้านสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และตำนานทางวัฒนธรรม

     การนิยามใหม่ของอัตลักษณ์ชายแดนตามแนวพื้นที่สาละวินจึงทำให้เกิดปฏิบัติการในเชิงโครงการความร่วมมือ โดยตัวแทนภาครัฐ ชนชายแดน และองค์การพัฒนาเอกชน เพื่อให้บรรลุวาระและผลประโยชน์ของตนเอง เจ้าหน้าที่รัฐไทยต้องการที่จะสถาปนาความมั่นคงชายแดน ขณะที่ชนชายแดนปรารถนาที่จะรักษาและสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตน ผ่านการได้รับสัญชาติและการสร้างเครือข่ายขบวนการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนสาละวิน และองค์การพัฒนาเอกชนก็ได้แสดงบทบาทในหน้าที่สื่อกลางระหว่างรัฐไทยกับชนชายแดน ทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ชนชายแดนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องสิทธิมนุษยชน 

Focus

     การวิจัยนี้เน้นประเด็นในเรื่องของการต่อรองระหว่างชนชายแดนและหน่วยงานอื่น ๆ ในการจัดการและพัฒนาทรัพยากรตามแนวแม่น้ำสาละวิน บริเวณรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า จากความขัดแย้งเรื่องการสร้างเขื่อนและการจัดการทรัพยากรตามแนวแม่น้ำสาละวิน ตามกรอบการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสร้างนิยามใหม่ของอัตลักษณ์ชายแดน ผ่านความทรงจำในด้านสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และตำนานทางวัฒนธรรม การเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการต่อรองผู้มีอำนาจรัฐในฐานะของพลเมือง และเพื่อปกป้องวิถีชีวิตของพวกเขา 

Theoretical Issues

  •  แนวคิดระหว่างรัฐและพรมแดน

     Donnan และ Wilson มองพรมแดนทั้งในแง่ของสถาบัน หรือโครงสร้าง และกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งผ่านการเคลื่อนไหวและการมีปฏิสัมพันธ์ ของประชาชนและวัฒนธรรมทั้งภายใน และภายนอกประเทศ (น.35)
     Gregoryอ้างว่า "thirdspaces" และพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่แห่งการปลดปล่อยความเป็นอิสระ (Gregory2005: 134)  ผู้วิจัยจึงกำหนดให้ชายแดนเป็นพื้นที่ขัดแย้งกัน เมื่อ Soguk ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งของพรมแดนคือความลำบากและโอกาสสำหรับมนุษย์ที่อยู่พื้นที่บริเวณชายขอบของรัฐ (Soguk 2007) มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการยกเว้น แยกแยะความแตกต่างระหว่างการเมืองและความวุ่นวายภายนอก (Rajaram และ Grundy-Warr 2007: x-xvii) (น.36)

     ในกรณีของเขตชายแดนไทย - พม่า Decha อ้างถึงแนวปฏิบัติของรัฐที่น่าหวาดหวั่นซึ่งคุกคามชาวกะเหรี่ยงที่ถูกกวาดต้อนโดยไม่สามารถคาดเดาได้ โดยการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยและอำนาจอธิปไตยระหว่างประเทศของ UNHCR (Decha 2007a ) ในกรณีของเขา การทำงานของ NGOs ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศเกี่ยวข้องด้านมนุษยธรรม ประเด็นนี้ในความรู้สึกของ Ong เป็นอำนาจอธิปไตยที่ช่วยเสริมการแก้ปัญหาด้านเชื้อชาติ เละประชากร นอกจากนี้ Dechaภายหลังได้เพิ่มประเด็นปัญหาที่เป็นปัญหามากขึ้นนั่นก็คือ 'การข้ามพรมแดนรัฐชาติ' ในงานวิจัยของเขา (Decha 2007b) ในบริเวณ เขตชายแดนไทย – พม่าควรมีการศึกษาด้านเทคโนโลยีและการลงทุนในด้านหนึ่ง และการเคลื่อนไหวข้ามชาติทางสังคมในอีกด้านหนึ่ง (น.46)

   Lionnet และ Shih ยืนยันว่ารัฐชาติต่าง ๆ ควรมีชีวิตอยู่ในฐานะของกลไกของการควบคุมและการครอบงำแม้ว่าบริษัทข้ามชาติจะลบล้างขอบเขตอำนาจของพวกเขา (Adejunmobi 2007 Koshy 2005, Lionnet และ Shih 2005: 9) ในทางกลับกัน Ong ยืนยันว่าเครือข่ายประชาสังคมระหว่างประเทศที่นำโดย NGOs ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการปราบปรามของรัฐ และมีแนวทางที่ยืดหยุ่นต่ออำนาจอธิปไตย (Ong 1999b; 2006) ดังนั้นจึงทำให้พวกเขาได้เข้าสู่กระบวนการท้าทายอำนาจอธิปไตยของรัฐ (น.47)

     ปัจจุบันนี้ 'การข้ามชาติ' กลายเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลในการศึกษาชายแดน ซึ่งหมายความว่ารัฐได้รับการตกแต่งด้วยรูปแบบของอำนาจอธิปไตยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทุนนิยมข้ามชาติ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นในแง่ที่ว่ารัฐบาลต้องพัฒนาแนวคิดเรื่องสัญชาติ และอำนาจอธิปไตยที่ยืดหยุ่นเพื่อที่จะสะสมเงินทุนและควบคุมการไหลเวียนได้ ดังนั้นความคิดของอธิปไตยที่มีความยืดหยุ่น และความเป็นพลเมืองที่มีความยืดหยุ่นภายในรัฐจึงได้ถูกพัฒนาขึ้น

      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวคิดนี้ถูกสร้างขึ้นภายในขอบเขตของรัฐที่ชัดเจน ไม่ใช่เขตคลุมเครือหรือเขตสงคราม ก็ยังมีความห่วงใยเกี่ยวกับการดิ้นรนและความทุกข์ทรมานของผู้พลัดถิ่น (Decha 2003: 138) และวิธีที่จะสรุปความคิดรวบยอดอำนาจอธิปไตยให้ชัดเจนมากขึ้น (Ong 2006) (น.48)

  •  การเคลื่อนไหวในสาละวิน

     โครงการระดับภูมิภาคเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความร่วมมือตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 มีโครงการก่อสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคเกิดขึ้นมากมายขึ้นตามแนวชายแดนไทย - พม่า ยกตัวอย่างเช่นโครงการ GMS ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุน การสื่อสารโทรคมนาคม การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและแผนพลังงาน (Asian Development Bank 2006 ; 2007; 2009)
 
    ตามโครงการ GMS นี้พลังงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและ (GMS Power Grid) วางแผนที่จะตอบสนองความต้องการ เป็นเครือข่ายแหล่งพลังงานและจุดเชื่อมต่อซึ่งครอบคลุมโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นโครงข่ายเพื่อสร้างหรือรักษาแหล่งจ่ายไฟในอนาคตของภูมิภาค 

     นอกจากนี้ GMS Power Grid จะเชื่อมต่อกับ ASEAN Power Grid ในรูปแบบกว้างขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โครงการสร้างเขื่อนสาละวินจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนสำคัญในอนาคต และการที่จะสร้างอนาคตที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีเขื่อนเพื่อทำให้ความฝันเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ GMS Power Grid จึงมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคมากกว่าความมั่นคงชายแดน (น.49 - 50)

     แม่น้ำสาละวินจึงไม่ได้เป็นเขตแดนทางการเมืองของจีน พม่าและไทย แต่กลับกลายเป็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวแทนข้ามชาติและรัฐ ซึ่งปัจจุบันใช้เทคนิคต่างๆเพื่อควบคุมชายแดน ในฐานะทรัพยากรธรรมชาติเพื่อ "การพัฒนา"

     ดังนั้น ลุ่มน้ำสาละวิน จึงถูกล้อมรอบด้วยตัวแทนข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ที่มีความพยายามจะครอบครองพื้นที่ดังกล่าว และจัดการทรัพยากรลุ่มแม่น้ำเหล่านี้เพื่อผลประโยชน์ (Yos 2011) (น.50)

     การรณรงค์ต่อต้านเขื่อนสาละวินเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ เช่นเครือข่ายสาละวินวอชต์, NGOs ระหว่างประเทศและ NGOs ในประเทศไทยและท้องถิ่น เครือข่ายสาละวินวอชต์ ดำเนินการโดยนักกิจกรรมผู้หลบหนีมาหลายปีแล้วและปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทยที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯหรือเมืองอื่น ๆ ใกล้ชายแดนไทย - พม่า พวกเขาพยายามระดมผู้คนจากทั้งสองฝ่ายให้ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ และเคลื่อนไหวเพื่อปัญหาสาละวิน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านโครงการเขื่อนในหลายเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในกรุงเทพฯ มะนิลา ซิดนีย์ และวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลไทยและประเทศพม่าให้ทบทวนและยกเลิกโครงการ หน่วยงานระดับรากหญ้าหลายแห่งจากประเทศพม่ารวมถึงชาวบ้านจากเขื่อนได้ลงนามและส่งคำร้องต่อรัฐบาลไทยและจีนเพื่อขอให้หยุดการสร้างเขื่อนในพม่า (Apinya 2007b, International Rivers 2008, Salween Watch Coalition 2009 Tunya 2007 ) (น.51)

Ethnic Group in the Focus

     ชนชายแดน หรือ ชาวสาละวิน เป็นชื่อที่ใช้ในการนิยามกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย - พม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (น.2)

Language and Linguistic Affiliations

     ตระกูลภาษากะเหรี่ยงมีหลายภาษา เช่น สะกอ (Sgaws), โป (Pwos), กะยา (Kayahs) และปะโอ (Pa-Os) ซึ่งผู้พูดมักใช้ภาษากะเหรี่ยงสำเนียงถิ่น(ภูมิภาค) มากกว่าภาษากะเหรี่ยง (Renard 1980: 5) (น.2)

Study Period (Data Collection)

     ใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนต้นพฤษภาคม ค.ศ. 2007 ถึงปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 (น.63 - 64)
โดยมีรายละเอียดการเก็บข้อมูลภาคสนามและข้อมูลสัมภาษณ์ ดังนี้

  • 9 – 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 (น.63)
  • 11 – 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (น.63)
  • 15 – 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (น.63)
  • 7– 10กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (น.64)
  • 12 – 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 (น.64)
  • ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2010 (น.64)

History of the Group and Community

     บริเวณพื้นที่ชายแดนสาละวินนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของ โซเมีย (Zomia) เขตพื้นที่สูงกว้างใหญ่ในเอเชียที่มีระบบการปกครองแบบไร้รัฐ (Van Schendel 2002) ซึ่งเป็นพื้นที่ผสมผสานที่ชนเผ่า ตระกูล หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่บริเวณใกล้ ๆ กัน โดยอาจไม่มีสภาพเป็นรัฐ หรืออยู่นอกอำนาจรัฐมากว่าสองพันปี (Scott 2009)

       ด้านมานุษยวิทยานั้น ตั้งแต่ปี 2007 มีรายงานวิจัยทางโบราณคดีในพื้นที่ตะเข็บชายแดนดำเนินการโดยทีมนักโบราณคดีเจ้าหน้าที่ได้ทำการขุดค้นทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน และพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่นเครื่องปั้นดินเผาจากล้านนาทางภาคเหนือในพื้นที่หุบเขา พวกเขาขุดพบโครงกระดูกในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน อายุของโครงกระดูกมีอายุระหว่าง 12,000 ถึง 13,000 ปี และมีการตั้งชุมชนอย่างกระจัดกระจายทั่วบริเวณ จึงเชื่อว่าพื้นที่สาละวินเป็นเส้นทางที่สำคัญในการติดต่อแลกเปลี่ยนในภูมิภาคอินโดจีน และที่หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำสาละวิน ทีมขุดค้นได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมายรวม ทั้งเศษภาชนะดินเผาลายคราม และเครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งมีประวัติย้อนหลังไปถึงช่วงก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในศตวรรษพุทธศตวรรษที่ 20-22 จึงยืนยันได้ว่ามีชุมชนหลายแห่งที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสาขามาหลายพันปี บริเวณนี้จึงมีความหมายในแง่ของประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก (น.207)

      กะเหรี่ยง ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งรกราก และอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โซเมียนี้ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชาวไทหรือฉาน, กะหร่างหรือกะเรนนีหรือกะยา และม้ง มาอย่างยาวนานนับศตวรรษ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหลายกลุ่ม เช่น สะกอ (Sgaw), โป (Pwo), ปะโอ (Pa-O)และบะเว (Bwe)จนเมื่อสภาวะความเป็นรัฐชาติมีการพัฒนาและเริ่มเข้ามาครอบครอง - ควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดน   

     เดิมทีนั้น กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณสันปันน้ำระหว่างแม่น้ำสะโตงและสาละวิน และถูกขับไล่กระจัดกระจายไปทางทิศตะวันตกสู่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีในสมัยอาณาจักรพุกามช่วงศตวรรษที่ 11 บางส่วนได้หนีการรุกรานของชาวพุกามมาสร้างชุมชนใหม่บริเวณที่ราบสูงฉาน และอพยพลงใต้สู่บริเวณเทือกเขาซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในฐานะชายแดนไทย – พม่า ในศตวรรษที่ 13 ฉานได้ผลักดันกะเหรี่ยงสะกอที่ยังเหลืออยู่ในที่ราบสูงฉานเข้าไปในภูเขาและลงใต้สู่หุบเขาสาละวิน (Candy 1956: 826-30, cited in Decha 2003: 72) (น.71)

     เมื่ออาณาจักรน้อยใหญ่เริ่มสะสมอำนาจและมีการแผ่ขยายเพื่อเข้าครอบครองดินแดน อาณาจักรขนาดเล็ก ได้แก่ ฉาน, กะยา, ม้ง ค่อย ๆ พัฒนาและพยายามที่จะควบคุมพื้นที่ดังกล่าว แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรใหญ่อย่างพม่าและสยามก็แข่งขันกันแผ่ขยายอำนาจในการครอบครองพรมแดนสาละวิน เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ในการควบคุมของตนด้วย ดังนั้น อาณาจักรขนาดเล็ก เช่น กะยา และฉาน จึงต้องจัดการกับอาณาจักรอันทรงอำนาจเหล่านี้เพื่อปกป้องอาณาเขตของพวกเขา ซึ่งชนชาติกะเหรี่ยงเองได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสงครามแย่งชิงพื้นที่นี้ (Decha 2003: 78) (น.73)

     อย่างไรก็ตาม พวกกะเหรี่ยงเองก็มีวิธีที่จัดการความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนชาติกะเหรี่ยงอย่างสยาม หรือพม่าในวิธีที่แตกต่างกัน(Jorgensen 1997: v)  กลุ่มกะเหรี่ยงหลายกลุ่มอยู่ทางฝั่งสยาม ขณะที่บางส่วนเข้ากับทางฝั่งพม่า กลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทยเคยเป็นสายลับ และทำหน้าที่ปกป้องชายแดนให้กับกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้นในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 ในขณะที่กลุ่มกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาชายแดนระหว่างอาณาจักรสยาม – ไทยวน (หรืออาณาจักรล้านนาโบราณ) (Keyes 1994; 2007) ก็มีบทบาทสำคัญในการปกป้องชายแดนระหว่างเหตุการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 18

     กลุ่มของกะเหรี่ยงสะกอ กะเหรี่ยงโป ร่วมกับชนชาติกะยากลุ่มเล็ก ๆ ได้ถูกกวาดต้อนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่การปกครองของกษัตริย์ไทยวน และได้ช่วยอาณาจักรไทยวนในการต่อสู้กับพม่า รวมไปถึงอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างกะยาหรือกะเหรี่ยงแดง (Keyes 1994; 1979b: 36-43; 2007) จึงอาจกล่าวได้ว่า ดินแดนบริเวณชายแดนสาละวินนั้นได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กันชนระหว่างพม่า – สยาม (Renard 1980) และเป็นหนึ่งในวิธีที่กลุ่มกะเหรี่ยงสามารถใช้ในการต่อรองกับอำนาจของอาณาจักรใหญ่ได้ โดยใช้พื้นที่กันชนเป็นจุดเชื่อมต่อทางการเมืองเพื่อเจรจากับสยาม ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจระหว่างราชอาณาจักรสยามและพม่า (น.72)

     เมื่อความเป็นรัฐชาติเริ่มมีอำนาจมากขึ้นจนส่งอิทธิพลให้กลุ่มชนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสภาพเสมือนรัฐเล็กต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปกป้อง รักษาความเป็นอิสระในการดำรงความเป็นชาติพันธุ์ไว้ ชนชาติกะเหรี่ยงเองก็ต้องรับมือกับการแผ่อำนาจและการครอบครองทั้งจาก ม้ง ฉาน อาระกัน พม่า และสยาม รวมไปถึงจักรวรรดิอังกฤษและกองทัพญี่ปุ่นในยุคอาณานิคม และกองทัพจีนในยุคหลังอาณานิคม ซึ่งมาในบริบทที่มีลักษณะซับซ้อนด้านการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสินค้าในลักษณะข้ามชาติ (น.94)

     ในช่วงปี 1960 ประเทศไทยต้องเผชิญกับคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน เจ้าหน้าที่ของรัฐกังวลอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยชายแดน ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นหนทางที่จะรักษาความมั่นคงของชาติ

     เพื่อป้องกันความมั่นคงชายแดน รัฐบาลได้มีการดำเนินการหลายขั้นตอน เช่นการเฝ้าระวังแนวชายแดนที่เพิ่มขึ้น การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน การจัดตั้งค่ายตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และอำนวยความสะดวกในการเยี่ยมเยียนชุมชนชายแดนให้กับสมาชิกราชวงศ์
 
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนสถานที่บริเวณชายแดนหลายแห่ง รวมถึงหมู่บ้านสบเมย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1973 จากการเยี่ยมเยือนของกษัตริย์ในอดีต ทำให้หมู่บ้านชายแดนสามารถอ้างถึงประวัติความเป็นมาของตนเอง และแสดงให้เห็นว่าชนชายแดนต้องการให้รัฐไทยรับรู้ถึงการมีอยู่และดูแลพวกเขา (น.210)

Settlement Pattern

 1.หมู่บ้านแม่สามแลบ
     ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ซึ่งเป็นพื้นที่เล็ก ๆตามแนวแม่น้ำสาละวิน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานภายในเขตแผ่นดิน อาคารบ้านเรือนเรียงรายอยู่ใกล้กันตามถนนแคบ ๆ เพราะพื้นที่ในการสร้างบ้านมีจำกัด ด้านหน้าของตัวบ้านยื่นออกไปที่ขอบถนนและด้านหลังของบ้านยื่นออกไปยังขอบผาและลำห้วยลึก โดยใช้เสาไม้สูงไม่มีฐานค้ำยัน ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่พบเห็น (น.104) และอันตรายจากน้ำท่วม ดินถล่มในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่หมู่บ้าน แม้ว่าชาวบ้านในชุมชนจะพยายามบริหารจัดการ และพัฒนาหมู่บ้านด้วยตัวเอง แต่ชนชายแดนเหล่านี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือจากทางรัฐ หรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ เสียทีเดียว (น.105)

     ในหมู่บ้านซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลากว่าห้าสิบปี ครั้งหนึ่งเมื่อการค้าและการพาณิชย์กำลังเฟื่องฟู หมู่บ้านมีประชากรมากขึ้น และที่นี่ยังเป็นจุดนัดพบสำหรับนักเดินทางรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ การทำเหมืองแร่และการตัดไม้ ธุรกิจเหล่านี้ช่วยให้ชุมชนสามารถขยายตัวและผู้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคงและความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังพม่ากับชนกลุ่มน้อยก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหมู่บ้านนี้

     ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานรับจ้างใช้แรงงานทั่วไปและขนส่งสินค้า (เป็นแรงงานชายร้อยละ 70และแรงงานหญิงร้อยละ 30) ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาสามารถหารายได้จากการว่างงานในช่วงฤดูแล้งที่ยาวนานกว่า 9 เดือน (ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกรกฎาคม) คนงานส่วนหนึ่งยังไปรับจ้างทำงานให้คนเมือง (คนพื้นถิ่นในไทย) ในทุ่งนา ซึ่งสามารถหารายได้วันละ 70บาท หรือ 120บาทต่อวันหากมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในหมู่บ้านออกไปทำงานในเมืองใกล้เคียง ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงไปทำงานเป็นแม่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ชายทำงานในโรงฆ่าสัตว์ในเขตอำเภอช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ (น.59)

     ชาวบ้านเหล่านี้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนสาละวิน แต่ความสำคัญอันดับแรกของพวกเขาคือประเด็นเรื่องสัญชาติ เพราะพวกเขาพยายามที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการในฐานะพลเมืองไทย การเป็นพลเมืองไทยเป็นสถานะที่ดีกว่าสำหรับชาวบ้าน เนื่องจากจะทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและบริการของรัฐมากขึ้น ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะสามารถประท้วงเขื่อนสาละวินในฐานะพลเมืองไทยเต็มรูปแบบ ซึ่งได้รับการยอมรับโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ(น.60)

2.หมู่บ้านท่าตาฝั่ง
          ชาวบ้านที่นี่เคยข้ามแม่น้ำสาละวินไปทำการเพาะปลูกและทำงานได้อย่างอิสระ บางคนก็ทำงานเป็นควาญช้างในเขตป่าไม้สัมปทานประเทศพม่า หลังจากนั้น ผู้ที่ทำงานในประเทศพม่าก็ต้องย้ายกลับมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหลังจากสัมปทานการตัดไม้สิ้นสุดลง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

     แหล่งรายได้หลักของชาวบ้านมาจากแม่น้ำและพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน โดยมีการจับปลาแม่น้ำในช่วงฤดูฝน และในฤดูแล้งเมื่อน้ำลดลงก็จะใช้พื้นที่ริมแม่น้ำทำการเพาะปลูกข้าว และการเกษตรแบบยังชีพ ดังนั้นแม่น้ำสาละวินจึงถือเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้าน

     การวิจัยทางโบราณคดีได้เข้ามาดำเนินการสำรวจในพื้นที่หมู่บ้านเมื่อปี 2007 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สาละวินในอดีตนั้น เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างชุมชนที่หลากหลายในคาบสมุทรอินโดจีน ชาวบ้านได้ใช้ผลการวิจัยที่ได้จากการวิจัยเพื่อยืนยันสถานะของพวกเขาให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองกับอีกฝ่ายในฐานะ "คนพื้นถิ่นที่มีประวัติอันยาวนาน" (น.60)

3.หมู่บ้านสบเมย
     ชาวบ้านอ้างว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านในช่วงปี 1970 พวกเขายังนำเสนอบ้านเกิดของพวกเขาในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐไทย แต่ชาวบ้านที่นี่ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้คนที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในฝั่งพม่าและตามแนวแม่น้ำสาละวิน

     ชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าว ข้าวโพด พริก ฟักทอง ยาสูบและพืชผักอื่น ๆ รวมทั้งปลูกข้าวในทุ่งนา ทำไร่เลื่อนลอย ดูแลสวนผลไม้ริมฝั่งแม่น้ำ แหล่งรายได้ของพวกเขาคือพืชผักและยาสูบ แรงงานรับจ้าง ขายของป่าและปลา (น.61)

Demography

1.หมู่บ้านแม่สามแลบ
     หมู่บ้านแม่สามแลบ มีหัวหน้าหมู่บ้าน 6 คนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ประชากรของชุมชนลดลงจาก 1,500คนในปี 2007 เป็น 1,328คนในปี 2010 ชาวบ้านในชุมชนเป็นชาวกะเหรี่ยงคริสเตียน (506คน, 108ครัวเรือน) ชาวพุทธฉาน (มากกว่า 300คน, 77ครัวเรือน) และมุสลิมพม่า (522คน, 88ครัวเรือน)

     มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวบ้านเป็นคนไร้สัญชาติ บางคนได้รับสัญชาติไทยและมีบัตรประชาชน ในขณะที่คนอื่นมีบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง บัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า และบัตรสำหรับผู้ที่มีที่อยู่อาศัยถาวรหรือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูงที่รอการพิสูจน์สัญชาติ และคนอื่น ๆ ที่ไม่มีบัตรใด ๆ เลย ซึ่งประเภทของบัตรนั้นหมายถึงการจำแนกประเภทของสถานภาพซึ่งรัฐไทยใช้ในการจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการดำรงชีวิตของพวกเขา(น.59)
 
2.หมู่บ้านท่าตาฝั่ง
     ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงคริสเตียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานหลายชั่วอายุคน มีจำนวนครัวเรือนมากกว่า 100 ครัวเรือน และมีประชากรมากกว่า 1,000 คน ชาวบ้านมากกว่าครึ่งเป็นชาวไทย (น.60)
 
3.หมู่บ้านสบเมย
     ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานับร้อย ๆ ปี บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ในฝั่งไทย แต่ไกลออกไปในหุบเขา แล้วค่อยอพยพลงมาที่บริเวณแม่น้ำสาละวินเมื่อประมาณ 60 ถึง 70 ปีที่ผ่านมา ประชากรของหมู่บ้านมีประมาณ 600 คนซึ่งประมาณ 200 คน (86 ครัวเรือน) อาศัยอยู่ในตัวหมู่บ้าน ชาวบ้านร้อยละ 80 มีสัญชาติไทย ส่วนที่เหลือมีบัตรบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง บัตรชุมชนบนพื้นที่สูงที่รอการพิสูจน์สัญชาติโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบัตรผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า (น.61)

Economy

     แนวชายแดนสาละวินนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรแม่น้ำ มีการระบุว่ามีชุมชนเล็ก ๆ จำนวนมากที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่าตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่ารู้จักวิธีการปกป้องดูแลผืนป่าเป็นอย่างดี เป็นเพราะการดูแลป่านั้นฝังแน่นอยู่ในความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ช่วยในการควบคุมการใช้ทรัพยากรและผลิตผลจากป่าและจากแม่น้ำลำธาร แต่ความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานของรัฐกลายเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากชาวบ้านถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า(น.190)

     พื้นที่ป่าไม้รอบ ๆ หมู่บ้านแม่สามแลบ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติสาละวิน การสัมปทานป่าไม้ได้นำไปสู่การลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าสาละวิน (Veerawat 2005: 45) หมู่บ้านแม่สามแลบ เป็นศูนย์กลางธุรกิจและสถานที่ที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น แร่ธาตุ ไม้แปรรูป และสินค้าเกษตรตามแนวชายแดนไทย – พม่า ในอดีตไม้สักที่ถูกตัดลงในป่าสาละวินจะถูกปล่อยให้ลอยไปตามแม่น้ำสาละวิน และรวบรวมขึ้นไว้ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ธุรกิจนี้เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 - 1990 การลักลอบตัดไม้ในพื้นที่สาละวินคือปัญหาใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงการฝ่าฝืนกฎหมายของประเทศ (Veerawat 2005: 30) (น.190)

     เนื่องจากนโยบายการอนุรักษ์และการจัดการป่าไม้ของรัฐ กรมป่าไม้ได้เริ่มจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทั่วประเทศ เขตป่าสงวนสาละวินก่อตั้งเมื่อปี 1972เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินก่อตั้งเมื่อปี 1978และอุทยานแห่งชาติสาละวินก่อตั้งเมื่อปี 1994อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกลับมีอยู่เฉพาะบนกระดาษเท่านั้น ป่าสาละวินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติสาละวินควรปลอดภัยจากอุตสาหกรรมค้าไม้ แต่ความเป็นจริงนั้นกลับแตกต่างออกไป พื้นที่ป่าทั้งสามแห่งนี้กลับทับซ้อนกันกับพื้นที่สัมปทานในการขนถ่ายไม้ (Veerawat 2005: 8-10) ในอดีตนั้นมีต้นไม้หนาแน่นตามแนวแม่น้ำสาละวิน แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าสาละวินกลับลดลง (น.191)

     การลักลอบตัดไม้ในเขตพื้นที่สาละวินเป็นปัญหาข้ามพรมแดนซึ่งมีกลุ่มคนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมและมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในสาละวินนั้นกลับไม่มีความชัดเจน ในกรณีนี้ ชายแดนสาละวินถูกใช้ประโยชน์โดยบริษัทค้าไม้ในกระบวนการที่เรียกว่า “จับไม้ไทยใส่โสร่ง” (Burmese dressing of Thai logs) (Veerawat 2005: 38-39)

     พบว่า บริษัทค้าไม้มักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ กองกำลังชาติพันธุ์ รัฐบาลพม่าและชาวบ้าน แม้ว่ากฎหมายบังคับใช้อย่างรุนแรง แต่ยังคงใช้การลักลอบตัดไม้ก็ยังเกิดขึ้น นอกจากนี้นักการเมืองยังมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการลักลอบตัดไม้ โดยการอนุมัติการนำเข้าไม้แปรรูปจากประเทศพม่า

     คนชายแดนยืนยันว่าการลักลอบตัดไม้ มักดำเนินการโดยบริษัทค้าไม้ที่มีอิทธิพล ซึ่งสามารถทำให้ชีวิตของชาวบ้านไม่ปลอดภัย หรือแม้กระทั่งการลอบสังหารพวกเขา หากชาวบ้านมีส่วนในการขัดขวางกระบวนการลักลอบตัดไม้ (น.192)

     สำหรับทรัพยากรน้ำ จากชนิดของปลาในแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย ถือว่าแหล่งน้ำบริเวณนี้เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ผลการวิจัยของชาวบ้านพบว่ามีปลา 70ชนิดในแม่น้ำสาละวินและแหล่งน้ำสาขา (ทีมวิจัย Salween Pgä K'nyau 2005)นอกจากนี้ข้อมูลที่รวบรวมโดยผู้คนจาก 3 หมู่บ้านที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (FER) ระบุถึงปลาและสัตว์น้ำ 83ชนิด บางสายพันธุ์ที่พบเฉพาะถิ่น และหาได้ยากเช่นปลากดหมูสาละวิน (Rita sacerdotum)การศึกษาก่อนหน้านี้ซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงได้ระบุชนิดของปลาอย่างน้อย 170 ชนิดในลุ่มน้ำสาละวินซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาประจำถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงกล่าวว่าอาจมีปลาถึง 200-500 ชนิดในลุ่มน้ำสาละวิน (Montree and Landharima 2007: 26) (น.198) 

     ในปี 1988 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทย ได้ริเริ่มแรงบันดาลใจทางเศรษฐกิจในการเปลี่ยนพื้นที่อินโดจีนในโครงการ "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" จุดเปลี่ยนนี้ได้นำแนวคิดการพัฒนาในรูปแบบทุนนิยมเข้าสู่ชายแดนไทย - พม่า (Battersby 1999: 479) (น.98)      
   
     ในปี 1996 รัฐบาลพม่าได้ลงนามในบันทึกความตกลง (MoU)  กับรัฐบาลไทยใน การส่งออกกระแสไฟฟ้าให้ประเทศไทยภายในปี 2010 จำนวน 1,500เมกะวัตต์ โดยได้ตกลงที่จะจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 5 แห่งในปี 2004

     หลังจากวันที่ 30พฤษภาคม 2005 เป็นต้นมา รัฐบาลของทั้งสองประเทศ จึงได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 5แห่งในลุ่มน้ำสาละวินและลุ่มน้ำตะนาวศรี – ได้แก่ เขื่อนท่าซาง (7,110 เมกะวัตต์)  เขื่อนยวาติ๊ด (4,000 เมกะวัตต์) เขื่อนเว่ยจี (4,540 เมกกะวัตต์ เขื่อนยากวิน (792 เมกกะวัตต์) และเขื่อนฮัตจี (1,200 เมกะวัตต์) (Agence France Presse 2007; Apinya 2007; TERRA 2006; Tunya 2007) (น.102)

     เพื่อลดการบริหารจัดการ และควบคุมทรัพยากรในท้องถิ่นของชายแดน รัฐไทยและรัฐพม่าได้ดำเนินการควบคุมอาณาเขตของรัฐ โดยการสั่งห้าม หรือกำหนดกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงให้แหล่งน้ำสาละวินเป็นแหล่งผลิตพลังงานเพื่อรองรับความมั่งคั่งของประเทศและภูมิภาค เป็นผลให้พวกเขาได้กีดกันชนชายแดนจากการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้

     ปัญหาของการก่อสร้างเขื่อนทำให้คนชายแดนมีความกังวล ชาวบ้านในเขตชายแดนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการสร้างเขื่อน(น.194)  เทคโนโลยีเขื่อนและองค์ความรู้สมัยใหม่จะเปลี่ยนแม่น้ำสาละวินให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระบบ GMS จึงเป็นแรงผลักดันที่มองข้ามวิถีชีวิตของชนชายแดน

      การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. (EGAT) ได้ให้ข้อมูลโครงการเขื่อนสาละวินแก่สาธารณชนทั่วไปว่าพื้นที่ที่จะเกิดน้ำท่วมคือบริเวณที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กฟผ. กล่าวว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีเพียง 3%(20,000ไร่) ที่อยู่ในเขตแดนของประเทศไทย และไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเนื่องจากเป็นบริเวณภูเขาสูงขนาบแม่น้ำสาละวิน แม้แต่สัตว์ป่าก็ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ (Montree และ Landharima 2007: 239) (น.195)

     เนื่องจากชนชายแดนคัดค้านโครงการเขื่อนสาละวิน บทบาทของ กฟผ. ที่ชายแดนไทย – พม่า คือการชักจูงให้ประชาชนในเขตชายแดนสาละวินหันเข้ามาสนับสนุนโครงการเขื่อนสาละวิน(น.195)ดังนั้นรัฐบาลไทย – พม่า และบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะ กฟฝ. จึงพยายามลดและ / หรือขจัดการต่อต้านที่บริเวณชายแดน เพื่อให้ชนชายแดนยอมแพ้และเลิกคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในสาละวิน รัฐไทยและ กฟผ. จึงมีการดำเนินงานแบบ“anti-politics machine”และใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ในการเข้าถึงชุมชนชายแดน และชักจูงให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาขององค์กร มีการทำ CSR(Corporate Social Responsibility)  เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและ กฟผ. ยังใช้กลยุทธ์ด้านการกุศลเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น (น.146)

Social Organization

     อ้างอิงจาก Tsing ความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม นี่คือสิ่งที่ เธอเรียกว่า "การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม" (Tsing 1999: 6-7)

     การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม สำหรับ Tsing หมายถึงกระบวนการบูรณาการวิถีชีวิตหรือแนวทางปฏิบัติ ความรู้มรดก ค่านิยมและรูปแบบองค์กร ท่ามกลางความท้าทายหรือความเปลี่ยนแปลง

    ด้วยเหตุนี้ผู้คนในพรมแดนไทย – พม่า จึงมีวิถีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กัน เพื่อต่อต้านการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสินค้าโดยตลาดทุนร่วมกับรัฐ (น.219)

     ชาวกะเหรี่ยงในชายแดนสาละวินมีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมต่อกันทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำสาละวิน อย่างไรก็ตาม พวกเขาถูกแบ่งแยกจากกันโดยรัฐไทย – พม่า กลายเป็นกะเหรี่ยงพม่าและกะเหรี่ยงไทย แม้ว่าจะมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน แต่ชาวกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มได้สร้างตัวตนและความตระหนักในชาติพันธุ์อย่างแตกต่างกัน (Keyes 1994)

     กลุ่มกระเหรี่ยง KNU ได้ดำเนินการเพื่อความเป็นอิสระทางการเมืองของรัฐกะเหรี่ยงมาเป็นเวลากว่า 60 ปี แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ KNU กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวกะเหรี่ยงไทย

     แม้ว่าชาวกะเหรี่ยงไทยจะไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวกะเหรี่ยงพม่าโดยตรง แต่พวกเขาก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของกะเหรี่ยงพม่าโดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการต่อต้านเขื่อนสาละวิน กะเหรี่ยงไทยและกะเหรี่ยงพม่าได้ร่วมกันประท้วงโครงการเขื่อนสาละวิน โดยอ้างว่าพวกเขากำลังปกป้องวัฒนธรรมและระบบนิเวศของชาวกะเหรี่ยง การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองชาติพันธุ์ในแง่ของการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อม (น.220)

     สืบเนื่องจากการต่อต้านเขื่อนสาละวินและปัญหาชายแดน จากความต้องการของรัฐไทยคือการรักษาความมั่นคงชายแดน ในขณะที่ชนชายแดนมีความต้องการที่จะได้รับความมั่นคงในการดำรงชีวิต ดังนั้น NGOs ในท้องถิ่นจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับความต้องการของรัฐและชายแดนไทยผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับสถานะพลเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อเรียกร้องร่วมกัน ซึ่งชนชายแดนและ NGOsท้องถิ่นสามารถแสดงความต้องการได้อย่างชัดเจน

     แต่จากกระบวนการซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับชนชายแดน ในการเรียกร้องสถานะพลเมืองที่ชายแดนไทย - พม่านั้นไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย พวกเขาจึงได้สร้างเครือข่ายผ่านขบวนการป้องกันเขื่อนสาละวิน การเคลื่อนไหวนี้เป็นวิธีการเจรจากับอำนาจรัฐเพื่อรักษาความเป็นอยู่ และได้รับการสนับสนุนจากNGOsในท้องถิ่น ในแนวปฏิบัติด้านการสร้างอัตลักษณ์ของชายแดน รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับ NGOsระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจรจาต่อรอง (น.273)

Political Organization

     ชายแดนสาละวินไม่ได้หมายถึงเฉพาะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่นอกจากนี้ยังหมายถึงพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมชายแดนมีประวัติอันยาวนาน ชนชายแดนได้ระลึกถึงประวัติความเป็นมานี้เพื่อแสดงความเป็นตัวตนและมุมมองในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและทรัพยากรของพวกเขา ดังนั้นพรมแดนสาละวินจึงกลายเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ในท้องถิ่นและการเจรจาเพื่อหาเลี้ยงชีพ ดังที่ Moore ชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นการต่อสู้เพื่อความหมายทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์และท้องถิ่น (Moore1993: 283) (น.189)

     ในยุคหลังสงครามเย็น บทบาททางการเมืองของกะเหรี่ยงสิ้นสุดลง เมื่อทั้งไทยและพม่าเห็นความเป็นไปได้ที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจร่วมกัน คือความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในตะเข็บชายแดนเหล่านี้ ชายแดนสาละวินถูกใช้เป็นฐานทางการเมืองในการต่อสู้ ชาวกะเหรี่ยงได้ใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าและพยายามหลีกเลี่ยงการรวมชาติ (Duncan2004: 16) (น.202)

     ช่วงปี 1910ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงพรมแดนสาละวินได้หมดลง กลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวไทยและชนเผ่าถูกมองว่าแปลกแยก นอกจากนี้ เงื่อนไขในชายแดนตะวันตกของสยามทำให้ชาวไทยไม่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์กับชาวกะเหรี่ยงชายแดนตะวันตก การติดต่อระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับคนไทยจึงลดน้อยลง ชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยจึงไม่สามารถยกระดับสถานะได้ เมื่อทางการไม่ต้องการความช่วยเหลือจากกะเหรี่ยงอีกต่อไป และไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงอีกแล้ว ชนชาวกะเหรี่ยงจึงสูญเสียสถานะทางการเมือง ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และฐานเศรษฐกิจของพวกเขา

     ในปี 1923 ชาวกะเหรี่ยงได้ถูกยกสถานะเป็นพลเมือง แต่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอีกครั้ง (Renard 1980: 157-222)ปัจจุบันสถานะของพวกเขาดูคลุมเครือ และหลายคนคิดว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติเหมือนไม่ใช่พลเมืองประเทศไทย แต่ก็ไม่ใช่บุคคลต่างด้าว (Keyes 1979b: 53) (น.201)

     ชีวิตของชนชายแดนได้รับความเสียหายจากนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการบริเวณชายแดนไทย – พม่า จากทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ

     กรมป่าไม้มองว่าการทำไร่เลื่อนลอยเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้ชาวกะเหรี่ยงถูกตำหนิว่าเป็นผู้กระทำผิดในการลักลอบตัดไม้ (น.194)

     ชาวบ้านคิดว่าควรจะมีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรานป่าและเจ้าหน้าที่อุทยาน ต้องหาทางออกให้กับพวกเขา ชาวสาละวินยังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ NGO ท้องถิ่นเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งพวกเขาเห็นว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็ไม่มีใครคิดได้ว่าจะมีทางออกใด ๆ หรือวิธีที่สามารถจัดการกับปัญหาได้ (น.193)

     หากการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือสำคัญในการยับยั้งการตัดต้นไม้แล้ว นับตั้งแต่มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และอุทยานแห่งชาติสาละวิน ชนชายแดนมักถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้และถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านมักถูกเรียกว่า "มอดไม้" (weevils eat up all the wood) (Pinkaew 2005: 51) หรือ "โจรทำลายป่า" (forest thieves) (Hoang 2007) ซึ่งสาเหตุหลักของการเสื่อมโทรมของป่าในเขตชายแดนสาละวินคือธุรกิจค้าไม้ มากกว่าวิถีการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง

     บริษัทค้าไม้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ในขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กล่าวหาว่า ชนชายแดนตัดไม้อย่างผิดกฎหมายและตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้สั่งปรับพวกเขาหรือถูกจับกุมตัว  ชนชายแดนได้โต้แย้งว่าชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับป่าสาละวิน พวกเขาได้ระบุว่าป่าเป็นพื้นฐานของชีวิตและเป็นวิถีชีวิตของคนกับป่า (น.197)

     จากกรณีเมื่อปี 2006 ชาวบ้าน 3 คนจาก Su Mo Keถูกจับกุมและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจในข้อหาลักลอบตัดต้นไม้เพื่อสร้างบ้านอย่างผิดกฎหมาย แม้ว่าบทบาทของ กฟผ. (EGAT)ที่ชายแดนไทย – พม่า คือการชักจูงให้ประชาชนในเขตชายแดนสาละวินหันมาสนับสนุนโครงการเขื่อนสาละวิน ก็ได้เข้ามีส่วนร่วมในการช่วยคนชายแดนแม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ของ กฟผ. ก็ตาม โดยการว่าจ้างบุคคลภายนอกเพื่อเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องคดีความ (น.196)

      การแปรสภาพแม่น้ำสาละวินให้กลายเป็นสินค้าและความรุนแรงทางทหารนั้นถือว่ามีความเกี่ยวข้องกัน รัฐบาลพม่าได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนพร้อมกับการทำสงครามทางทหาร ในการควบคุมพื้นที่ความขัดแย้งพร้อม ๆ กับการปราบปรามผู้คนในท้องถิ่นและการส่งเสริมแผนการก่อสร้างเขื่อน เป็นผลให้จำนวนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้น และสถานพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย - พม่ายังคงมีอยู่ ทำให้คนเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานจากสงคราม – ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากร และมีความอดอยาก ส่วนฝังรัฐไทยนั้น คนนอก (เช่นนักวิจัย) กำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะทหารได้ควบคุมพื้นที่ชายแดน และดำเนินการเฝ้าระวังต่อประชาชนในพื้นที่ชายแดนด้วยเช่นกัน การคุกคามและความรุนแรงเหล่านี้ ได้กำหนดนิยามใหม่ให้คนที่อาศัยอยู่รอบเขตชายแดนสาละวินโดยว่าไร้อำนาจและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้(น.162)

     การควบคุมอาณาเขตของรัฐ การควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ คือกระบวนการของการกีดกันทางการค้าของรัฐและตลาดทุน ที่ห้ามไม่ให้คนชายแดนเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของพวกเขา เปลี่ยนแม่น้ำสาละวินเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากแหล่งทรัพยากรสาละวินเป็นแหล่งพื้นฐานการดำรงชีวิต ขั้นตอนการกีดกันเหล่านี้จึงคุกคามการดำรงอยู่ของชนชายแดน อย่างไรก็ตาม ชนชายแดนมีความพยายามที่จะปกป้องชีวิตของพวกเขา นับตั้งแต่กระบวนการเปลี่ยนทรัพยากรสาละวินให้กลายเป็นสินค้า และความขัดแย้งในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร เป็นประเด็นหลัก 2 เรื่อง ในการต่อสู้กับรัฐและกลุ่มทุนในแนวชายแดนไทย - พม่า (น.190)

     เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนสาละวินมีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์และความเป็นพันธมิตร เขตแดนของรัฐชายแดนจึงไม่เคยมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ แต่กลับมีความรู้สึกร่วมกันในการสร้างอัตลักษณ์ชายแดน เพื่อปกป้องดินแดนของตนและรักษาความเป็นอยู่ของพวกเขา

     ความทรงจำทางสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและตำนานทางวัฒนธรรมได้ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างถึงความมีส่วนร่วมในทรัพยากร และสร้างอัตลักษณ์ชายแดน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของ 'ความเป็นเจ้าของ' (sense of belonging)พวกเขารับรู้ว่าตัวเองเป็น "ชาวสาละวิน" ที่อาศัยอยู่ในชายแดนสาละวิน ได้สัมผัสกับแม่น้ำสาละวินอย่างใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน และมีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมร่วมกับองค์กรเอกชน NGOs เพื่อต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวินในวิธีที่แตกต่างกันไป (น.228)

     กระบวนการของชนชายแดนที่นิยามวิถีชีวิตของพวกเขาผ่านขบวนการต่อต้านเขื่อนสาละวินนั้นมีรากฐานจากความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายชายแดน องค์กรพัฒนาเอกชน NGOs และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทุกคนมีวาระของตนเองและเข้าร่วมในขบวนการสาละวิน ผลิตโครงการแก้ปัญหาร่วมกัน

    เนื่องจากความมั่นคงของรัฐชาติ และอำนาจอธิปไตยเป็นความกังวลหลักของรัฐไทย สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ชายแดนไทย – พม่า สำหรับพวกเขาอาจทำให้ความมั่นคงของรัฐลดลง ดังนั้นรัฐไทยจึงพยายามหาทางที่จะรวบรวมชนชายแดนเข้ามาในรัฐเพื่อปกป้องความมั่นคงชายแดน ในขณะที่คนที่อาศัยอยู่ที่ชายแดนต้องการที่จะรักษาความเป็นอยู่ของพวกเขา ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนมีเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ทุกฝ่ายที่ได้มีส่วนร่วมในขบวนการสาละวิน จึงร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาและพยายามที่จะบรรลุผลประโยชน์ตัวเอง (น.273)     

Belief System

     รายงานวิจัยได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านได้มีการจัดพิธีบวชป่าขึ้น และเชิญแขกมาร่วมพิธีมากมายจากเครือข่ายของพวกเขา ทั้งจากประเทศลาว จีน และหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งการที่พวกเขาทำเช่นนี้เพราะต้องการใช้ความเชื่อดั้งเดิมเพื่อสะท้อนถึงวิถีที่พวกเขาสามารถจัดการดูแลรักษาผืนป่าได้ด้วยตัวเอง และแสดงให้คนนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เห็นว่าผู้คนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่จำเป็นต้องทำลายมัน (น.191)

Education and Socialization

     จากข้อมูลของการศึกษาวิจัย ในหมู่บ้านแม่สามแลบ  มีการกล่าวว่ารัฐและ NGOs ได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชองชาวบ้านในชุมชน มีการสร้างโรงเรียน ถนน ระบบประปา ห้องน้ำ ระบบไฟฟ้า และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนโดยรัฐ การสร้างโบสถ์และโรงเรียนวันอาทิตย์โดย NGOs และมีครูผู้สอน 3 คน ซึ่งเป็นประชาชนในหมู่บ้าน (น.105)

     การศึกษานั้นถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชนชายแดน ซึ่งนอกจากโรงเรียนสอนหนังสือให้แก่เด็ก ๆ ในชุมชนแล้ว ก็มักมีเด็กนักเรียนจากฝั่งพม่าข้ามมาเรียนหนังสือด้วย เพราะสำหรับพวกเขานั้น เด็ก ๆ  ควรจะได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องของเชื้อชาติ (น.106)

Health and Medicine

     อ้างถึงคำกล่าวของชาวบ้านในชุมชน โดยปกติแล้วชาวชนแดนส่วนใหญ่มีสุขภาพที่ดี แต่ปัญหาหลักคือโรคมาลาเรียซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในชุมชน รองลงมาคือโรคท้องร่วง (น.106)

     การทำคลอดนั้นจะถูกเตรียมการโดยได้รับความช่วยเหลือจากหมอตำแย หญิงมีครรภ์จะเตรียมคลอดที่บ้านในรูปแบบการทำคลอดแบบดั้งเดิม แต่ถ้าหากหมอตำแยไม่สามารถช่วยได้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากพอควร เพราะพวกเขาต้องพาไปทำคลอดที่โรงพยาบาลในอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งอาจมีปัญหาในการเดินทางที่ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง (น.106)

Folklore

     อ้างอิงตาม Keyes เอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากความเชื่อทางวัฒนธรรมของพวกเขาในการสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน แต่ยังมาจากตำนานและประวัติศาสตร์พื้นบ้าน ที่กำหนดให้ชาวกะเหรี่ยงนั้นแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนบ้านของพวกเขา (น.201)

     ชาวกะเหรี่ยงมีความทรงจำที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับวิถีและสถานภาพของพวกเขาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ทั้งกะเหรี่ยงปะโอในแม่สะเรียง และกะเหรี่ยงสะกอในเชียงใหม่ ยังคงรักษาและสืบต่อความทรงจำในยุคก่อน ทั้งประวัติความเป็นมาของพวกเขาในฐานะชนกลุ่มน้อยในสังคมพม่า (Keyes 1979a: 11) และสถานะของพวกเขาในฐานะคนป่าในภูมิภาค มรดกของชาวกะเหรี่ยงมีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

     จากตำนานนั้น ชาวกะเหรี่ยงนั้นถือว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งชาวกะเหรี่ยงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันชายแดนไทย (สยาม) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18ในช่วงที่สยามและพม่าไม่ไว้วางใจกันและกัน ในฐานะชนชายแดนนั้น พวกเขาจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและรัฐไทยในปัจจุบัน

     ผลมาจากสถานการณ์สงครามและปัญหาด้านความมั่นคงของชาติ ชนชายแดนที่อาศัยอยู่ในชายแดนสาละวินได้ถูกระบุว่าเป็น "คนแปลกหน้า " พวกเขาถูกกีดกันไม่ให้เป็นทั้งชาวไทยและชาวพม่า เพื่อที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้ พวกเขาได้ระบุว่าตัวเองเป็น "ผู้ปกป้องชายแดน" เพื่อให้สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของพวกเขา และเพื่อแก้ต่างเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่รัฐมีต่อชาวกะเหรี่ยง (น.202)

     มีเรื่องเล่าที่อธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำที่อาจเล่าขานสืบต่อกันมาในกลุ่มชนกะเหรี่ยงก่อนการมาถึงของรัฐสมัยใหม่ ชาวกะเหรี่ยงได้กล่าวว่าทั้งแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดเดียวกันและไหลลงสู่ทะเลในเส้นทางที่ต่างกัน โดยมีความสัมพันธ์กับลักษณะของภูมิประเทศหรือลักษณะทางกายภาพของแม่น้ำ

     ตำนานของชาวกะเหรี่ยงได้กล่าวถึง 3 พี่น้อง แม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซี และแม่นำสาละวิน ซึ่งแม่น้ำแยงซีนั้นไม่ได้ถูกกล่าวถึงในเรื่องเล่านี้ ...เรื่องราวเกิดขึ้นจาก สองพี่น้องที่อาศัยอยู่ในหุบเขา และไม่เคยเห็นทะเลมาก่อน  จึงชวนกันเดินทางเพื่อที่จะไปเที่ยวทะเลด้วยกัน วันต่อมาเมื่อน้องสาวออกจากบ้านไป พี่ชายก็ได้ขอให้ลิงลม (นางอาย) ช่วยนำทางเขาลงไปยังทะเล พวกเขาเดินทางอย่างช้า ๆ เมื่อไม่มีลม และไปได้เร็วขึ้นเมื่อมีลมพัดผ่าน พี่ชายในตำนานเรื่องเล่านี้เปรียบได้กับแม่น้ำโขง ที่บางแห่งก็ไหลช้า บางแห่งก็เชี่ยวกราด และน้องสาวก็คือแม่น้ำสาละวิน

     ...เมื่อน้องสาวกลับมาถึงบ้านในตอนเย็น และได้เห็นพี่ชายล่วงหน้าไปก่อนจึงโกรธมากที่พี่ชายไม่รักษาสัญญา น้องสาวสาบานไว้ว่าจะไม่พบหน้าพี่ชายตลอดไป และวานงูเห่าให้พาไปที่ทะเล งูเห่านั้นเลื้อยคดเคี้ยวพาน้องสาวไปสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว บางส่วนของแม่น้ำสาละวินจึงมีลักษณะโค้งชัดเจน
     ...น้องสาวและงูเห่าพากันมาถึงบริเวณชายแดนไทย – พม่าอย่างรวดเร็ว งูเห่านั้นถูกมดลิ้นกัดจนสะดุ้งและหดตัว จึงเป็นที่มาของจุดที่แม่น้ำมีการคดโค้ง หรือ โค่เกะ (โค้งสาละวิน) ทางตอนเหนือของเว่ยจี หลังจากที่หายเจ็บแล้ว งูเห่าจึงพาน้องสาวเลื้อยลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว ส่วนพี่ชายกับลิงลมมาถึงทีหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงมีความยาวมากกว่าแม่น้ำสาละวิน (น.222)

     ตำนานนิทานพื้นบ้านของ Pha Su Kae เขียนไว้ในหนังสืองานศึกษาเกี่ยวกับสาละวินที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายและการรณรงค์ของ NGOs (Montree and Landharima 2007) ซึ่งผู้วิจัยได้ยินเรื่องราวนี้จากชาวบ้านที่ได้พูดคุยด้วย พวกเขาใช้เรื่องนี้เพื่ออธิบายถึงเขื่อนและผลกระทบของมันตามจินตนาการของพวกเขา

     ...มีเพื่อนสนิท 7 คนที่มีความสามารถพิเศษต่างกัน Mae Lo Lorมีร่างกายที่สูงใหญ่ Pha Lae Na มีหูที่ใหญ่, Pha Su Kae มีร่างกายที่แข็งแกร่งทรงพลัง, Doh Na De มีจมูกใหญ่, Tor Jue มีมือที่ยาว. Ko Noh Mea มีร่างกายที่ร้อนกว่าไฟ, Khue Nor Tee ทีร่างกายที่เย็นกว่าน้ำ
     ... พวกเขาต้องการที่จะจับปลาสีเงินและปลาสีทอง ณ จุดบรรจบแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย Pha Su Kaeเห็นว่าแม่น้ำสาละวินไหลไม่ถูกทิศทาง ซึ่งปกติแล้วแม่น้ำมักไหลจากทิศเหนือไปใต้ แต่แม่น้ำสาละวินกลับไหลไปยังตะวันตก แม่น้ำสาละวินนั้นไม่ได้ลึกมากและมีโขดหินมากมาย ดังนั้น พวกเขาจึงจะหันแม่น้ำไปยังแม่น้ำเมยเพื่อให้พากันไหลไปยังทิศใต้แทน แล้วค่อยจับปลาเงินปลาทองภายหลัง
... ทั้งเจ็ดคนวางแผนว่า Mae Lo Lor จะใช้ร่างกายที่สูงใหญ่ของเขาเป็นรากฐานโดยการยืนอยู่ในแม่น้ำ, Pha Lae Na จะใช้ใบหูที่ใหญ่โตในการขวางกั้นแม่น้ำ Pha Su Kae จะใช้ร่างกายของเขาผลักโขดหินเพื่อเปลี่ยนทิศทางของน้ำ. ในขณะเดียวกัน, Doh Na De จะเดินทางไปยังทิศใต้เพื่อใช้จมูกดักจับปลา. Tor Jue ก็จะใช้มือที่ยาวในการจับปลาด้วย ถ้าหากว่าอากาศร้อนเกินไปในขณะที่พวกเขาทำงาน, Khue Nor Teeจะใช้ร่างกายที่เย็นของเขาในการลดความร้อน หากที่ไหนหนาวเย็นเกินไป, Ko Noh Mea ก็จะมอบความอบอุ่นผ่านร่างกายของเขา
... หลังจากนั้นทั้งเจ็ดคนจึงได้เริ่มต้นทำตามแผนที่วางไว้ , Pha Lae Naได้รับบาดเจ็บจากก้อนหินใหญ่ที่ Pha Su Kaeผลักมา บรรดาชาวบ้านที่เฝ้าดูทั้งเจ็ดทำการย้ายแม่น้ำคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง Pha Su Kaeและเพื่อนควรปล่อยให้แม่น้ำไหลตามธรรมชาติ ชาวบ้านจึงพยายามหลอกล่อให้ทั้งเจ็ดล้มเลิกความตั้งใจ ‘Pha Su Kae เจ้าควรหยุดเสียก่อน ลูกของเจ้าตายแล้ว’แต่ Pha Su Kae กลับตอบว่าเขาสามารถมีลูกได้ใหม่ แม้ชาวบ้านจะบอกว่าเมียของเขาได้ตายลงเสียแล้ว Pha Su Kaeก็ไม่ได้สนใจ และทำงานต่อไป จนกระทั่งชาวบ้านได้กล่าวว่าแม่ของเขาได้จากไปแล้ว Pha Su Kaeจึงหยุดเคลื่อนย้ายแม่น้ำและรีบกลับบ้าน และได้พบว่าแม่ของเขาจากไปแล้วจริง ๆ  Pha Su Kaeเสียใจมากจึงไม่กลับไปยังที่นั่นอีก เพื่อนคนอื่น ๆ ก็พากันกลับมาและทิ้งร่องรอยไว้ที่แม่น้ำนั้น…(น.223 - 224)

      ปลาสีเงินและปลาสีทองอยู่ที่เกาะ Ke Doh Koh (บริเวณพื้นที่ฮัตจี) ภูเขารูปจมูกอยู่ที่หมู่บ้าน Kamamai บริเวณที่ราบลุ่มฮัตจีในพม่า มีกองหินตั้งอยู่ทางทิศใต้ของปากแม่น้ำเมย ร่องรอยที่ Pha Su Kae ทิ้งไว้ เรียกว่า "Kachor Wka Le" (ถ้ำช้างเผือก) ตั้งอยู่ใกล้กับจุดบรรจบของแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน

      จากรายงานวิจัย ผู้วิจัยได้บอกเล่าถึงเรื่องราวอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับฟังจากชาวบ้านมาว่า
     ....Pha Su Kaeจับปลาได้มากมาย แต่ไม่ใช่ปลาสีเงินและทอง เขากินมันและทิ้งเศษก้างปลาจนเต็มแม่น้ำ อารักษ์ของแม่น้ำจึงปรากฏกายและบอกให้เขาหยุดเสีย เมื่อเขาสำนึกได้ว่าต้องกลับบ้านเพื่อไปดูใจแม่ของเขา Pha Su Kaeจึงได้ขี่ช้างเผือกกลับบ้าน แต่ช้างเดินได้ช้ามากจนทำให้เขาโกรธจึงสาปแช่งให้มันกลายเป็นหินที่วางทับมรกต...

     ซึ่งเรื่องราวของPha Su Kaeนั้นได้ถูกเล่าขานอย่างกว้างขวางและแพร่หลายในชุมชนกะเหรี่ยงตามแนวแม่น้ำสาละวิน สะท้อนถึงจินตนาการของพวกเขาต่อแม่น้ำสาละวิน โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

     คติชนวิทยาของชาวกะเหรี่ยงยังเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตามแนวแม่น้ำสาละวิน รวมถึงการสร้างเขื่อนสาละวิน ยกตัวอย่างเช่น การตีความเรื่องราวของ Pha Su Kae เกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนสมัยใหม่ และบทบาทของสหายทั้งเจ็ด ...เพื่อขวางกั้นแม่น้ำ เครื่องจักรและวัสดุถูกนำมาใช้ในการสร้างเขื่อน รถแทรกเตอร์หมายถึงPha Su KaeรถขุดดินหมายถึงTor Jueเสาเข็มหมายถึงMae Lo Lorเขื่อนคือ Pha Lae Naเครื่องเชื่อมเหล็กกล้าคือ Ko Noh Meaซีเมนต์หรือคอนกรีดนั้นหมายถึงKhue Nor Teeนอกจากนี้ ปลาเงินและปลาทองเป็นเงินทองและอัญมณีที่อุดมสมบูรณ์อยู่ใต้พื้นดิน บนภูเขาและในแม่น้ำ ซึ่งพวกเขา (นายทุน) ต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น...

      นอกจากนี้บรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงได้มีคำทำนายไว้ว่า...จะมีสงครามขนาดใหญ่ที่จะสิ้นสุดที่นี่ และจะมีแหขนาดใหญ่กางคร่อมแม่น้ำสาละวิน ที่แหจะเต็มไปด้วยเศษซากกระดูก เมื่อสิ้นสุดสงคราม นกเงือกจะถ่ายอุจจาระขณะบินข้ามแม่น้ำ ในขณะที่การตีความคำทำนายของชาวบ้านอาจแปลได้ว่า แหใหญ่ที่กางคร่อมแม่น้ำเป็นเขื่อนสาละวินซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ นกเงือกคือเครื่องบินรบที่บินเหนือแม่น้ำเพื่อเข้าสู่สงคราม ซากกระดูกมาจากการที่ชาวกะเหรี่ยงต่อต้านเขื่อน กองทัพพม่าจะฆ่ากะเหรี่ยงทุกคนและเขื่อนจะเต็มไปด้วยกระดูก มันจะกลายเป็นสถานการณ์รุนแรงในชายแดนไทย – พม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่หลาย ๆ ประเทศเข้ามามีส่วนร่วม พวกเขาคิดว่ามันจะเป็นจุดสิ้นสุดของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (น.225)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

     คำว่า "กะเหรี่ยง" ไม่เคยถูกนำมาใช้เพื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ใด ๆ จนถึงศตวรรษที่ 19นักเผยแผ่ศาสนาคริสต์และเจ้าหน้าที่อาณานิคมของอังกฤษให้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ (Jorgensen 1997: vi) ว่ามีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่รู้จักกันในชื่อประเทศพม่า (Decha 2003: 71) มากกว่ายี่สิบกลุ่ม

     จำแนกตามความแตกต่างของภาษา กลุ่มชนกะเหรี่ยงสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มสะกอ โป และบะเว กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอมีขนาดใหญ่และกระจายอยู่ทั่วไป พบได้ จากบริเวณใกล้ ๆ เมืองแปร (Prome) ไปทางทิศใต้ และจากชายฝั่งอาระกัน (Arakan) ไปทางทิศตะวันออก จนไปถึงพื้นที่ใกล้ Lakong ในสยาม และไปทางใต้จนถึงดินแดนในปกครองของอังกฤษ (Marshall 1997: 1)

     อย่างไรก็ตามมีคนอื่น ๆ ในพม่าที่ไม่เรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยง แต่ถูกเรียกเหมารวมว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันบางครั้ง (Renard 2003: 1)

     กะเหรี่ยงโป ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่สองแห่ง กลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ใจกลางของเขตแดนม้ง(Talaing) ในพื้นที่รอบ ๆ เมืองท่าตอน  และใกล้ ๆ กับอ่าวเมาะตะมะ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่พะสิม – มยองมยะ (Bassein-Myaungmya) ( Candy 1956: 826, อ้างถึง Decha 2003: 71-72)

     บางครั้งพวกเขาถูกเรียกว่า "กะเหรี่ยงมอญ" (Mon Karen)โดยชาวพม่า เนื่องจากถิ่นฐานทางประวัติศาสตร์ของพวกเขากระจัดกระจายรวมกันกับชาวม้งในพม่า (Grandstaff 1976: 113; Scott 2009: 109) อย่างไรก็ตาม Rev. Harry I. Marshallระบุว่า กระเหรี่ยงโปถูกพบตามแนวชายฝั่งทะเลจากอาระกันถึงมะริด และมักจะไม่ถูกพบเห็นในระยะมากกว่า 50 ไมล์บนแผ่นดิน ยกเว้นในเฮนซาดา

     ปะโอ (ตองสู) พบในส่วนทางเหนือของประเทศ จากท่าตอนไปจนถึงนอกเขตเมืองของรัฐฉาน บริเวณเมืองตองยี
     กะเหรี่ยงบะเว พบบริเวณใกล้ ๆ กับเมืองตองอู ในดินแดนที่ยื่นออกมาจากเชิงเขาทางด้านตะวันออกของเมืองตลอดจนเขตการปกครองกะเหรี่ยง ซึ่งพื้นที่ที่เป็นภูเขามาก (Marshall 1997: 1-3) (น.71)

     นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงยังประกอบไปด้วย กลุ่มผู้ดำรงชีวิตที่อาศัยอยู่ในเนินเขาและป่าลึก กลุ่มผู้เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ราบ ผู้เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ คนงานรับจ้าง พนักงานและนักธุรกิจที่อาศัยอยู่ในเขตและเมืองต่าง ๆ (Jorgensen 1997: v. -VI) (น.73)

     บริเวณชายแดนไทย – พม่า สยามและพม่าไม่ได้ควบคุมชายแดนอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งก่อให้กลุ่มกบฏมีอำนาจมาก (เช่นรัฐอิสระ) ในพรมแดนสาละวิน ชาวกะเหรี่ยงมีส่วนร่วมในการก่อกบฏมานานกว่า 60 ปี รวมไปถึงชาวม้ง ฉาน คะเรนนี และกลุ่มย่อย ๆ อีกกว่า 35 กลุ่ม ซึ่งมีการเคลื่อนไหวแบบติดอาวุธมานานหลายทศวรรษ แม้แต่ปะโอและ ปะหล่อง ก็จัดตั้งกองกำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพภายในรัฐฉาน (Fink 2001: 47)

     ดังนั้นจึงมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงเกิดขึ้นที่เขตชายแดน ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรที่ฝังตัวอยู่ในบริบทของกองกำลังติดอาวุธอย่างกว้างขวาง (Fink 2001: 197) รัฐบาลทหารพม่ามองว่าการก่อการร้ายเหล่านี้ได้ทำลายความเป็นรัฐของพม่า เป็นเหตุให้ชาวพม่าเข้ารุกรานดินแดนของชาวกะเหรี่ยงและยึดแหล่งทรัพยากรของพวกเขา จึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี และความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา และร่องรอยการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงชาวกะเหรี่ยงที่ชายแดนไทย - พม่า

      ในช่วงต้นปี 1949 กองกำลังพม่าภายใต้การปกครองของนายพลเนวิน ได้เข้าโจมตีพื้นที่ที่อาศัยอยู่ของชาวกะเหรี่ยง รัฐบาลทหารโจมตีชาวกะเหรี่ยงที่มีอำนาจตามเขตต่างๆ ในย่างกุ้ง และผู้นำทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยงถูกจับกุม รัฐบาลแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้ประกาศการสู้รบกับรัฐบาลพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้ง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง “กอซูเล” (Karen Free State) ซึ่งได้รับการประกาศโดยประธานาธิบดี KNU Saw Bal U Gyi ในเดือนมิถุนายน 1949 (Bryant 1996: 32) (น.84 - 85)

     ความขัดแย้งเกี่ยวกับการเข้าถึงทรัพยากรมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการต่อสู้ทางการเมืองและทางทหารระหว่างรัฐพม่ากับกลุ่มกบฏตั้งแต่ปี 1948 (Bryant 1997: 192) KNU ได้ต่อสู้เพื่อควบคุมที่ดินและรักษารายได้จากป่า หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 กองทัพพม่ามีอำนาจมากขึ้น และผลักดันกองกำลังชาวกะเหรี่ยงให้ออกจากลุ่มแม่น้ำอิรวดี ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 กองทัพ KNU ถูกจำกัดพื้นที่อยู่บริเวณ ชายแดนไทย - พม่า หลังจากที่กองทัพพม่าผลักดันพวกเขาออกจากที่ราบลุ่มในพื้นที่ชายแดน พวกเขาจึงต้องพึ่งพารายได้จากป่ามากขึ้น (Bryant 1997: 166-67, 197) (น.88)

     กะเหรี่ยงบางกลุ่มถูกกลืนด้วยกระบวนการกลายเป็นพม่า ตามที่ Marshall ได้บันทึกไว้ บางคน (ยกเว้นกะเหรี่ยง คริสเตียน) ไม่เพียงแต่แต่งกายและพูดภาษาพม่าเท่านั้น แต่ยังไปวัดและเข้าร่วมงานเลี้ยงแบบพม่าอีกด้วย ชาวกะเหรี่ยงผู้มั่งคั่งหลายคนได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ของพม่าตามแนวรถไฟและอาศัยอยู่ในพม่า (Marshall1997: 307) 

Map/Illustration

แผนภาพ

  • กรอบแนวความคิด (น.54)
แผนที่
  • แม่น้ำสาละวิน (น.58)
  • ตำแหน่งหมู่บ้านในการเก็บข้อมูลวิจัย (น.62)
  • ตำแหน่งโครงการสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำสาละวิน (น.102)
  • โครงข่ายระบบไฟฟ้า ADB’s GMS (น.114)
  • ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย - พม่า (น.151)
ภาพ
  • ที่อยู่อาศัยที่พังลงเพราะมีพื้นที่อาศัยจำกัด (น.104)
  • "พิธีเฉลิมฉลองของรัฐ" พิธีเปิดสายส่งกระแสไฟฟ้าข้ามรัฐ ระหว่างไทย - ลาวเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1968
       (น.133)
  • หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงและปลาที่ได้มาจากแม่น้ำสาละวิน (น.199)
  • ภาพวาดแผนที่บริเวณชุมชนของชาวกะเหรี่ยง (น.206)
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านเมื่อปี 1970 (น.209)
  • แผนที่วาดด้วยมือของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จัดแสดงที่เวทีแสดงความคิดเห็นสาธารณะ public forum  (น.258)

Text Analyst นภกานต์ คำภีระ Date of Report 03 ม.ค. 2562
TAG ชาติพันธุ์ศึกษา, การจัดการและพัฒนาทรัพยากรตามแนวแม่น้ำสาละวิน, รอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า, ชาวสาละวิน, กะเหรี่ยง, เขื่อนสาละวิน, แม่ฮ่องสอน, ภาคเหนือ, ประเทศไทย, อินโดจีน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง