สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ขึน ไทขึน ไทเขิน การปรับตัว สิทธิพลเมือง อัตลักษณ์ชาติพันธุ์
Author เบญจวรรณ สุขวัฒน์
Title การปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน : การต่อรองเพื่อสิทธิทางการเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทขึน ไตขึน ขึน, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
- โครงการเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS – Thai Library Intehgrated System) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา URL : http://tdc.thailis.or.th/tdc/basic.php
 - ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม URL : http://khoon.msu.ac.th/fulltextman/full4/benjawan10249/titlepage.pdf
-ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Total Pages 236 Year 2558
Source ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ไทศึกษา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Abstract

งานวิจัยนี้ใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินที่อพยพจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เข้ามาอาศัยในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนา ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา โดยส่วนมากไม่มีสถานะเป็นพลเมืองไทย ผู้เขียนมุ่งเน้นการอธิบายการแสดงออกถึงจิตสำนึกร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินผ่านการแสดงตัวตนและการเชื่อมโยงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งอพยพและสัมพันธ์กับการเป็นพลเมืองในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน

ผลการศึกษาพบว่า ชาวไทเขินมีการสร้างความทรงจำร่วมกันทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันและใช้ในการต่อรองสิทธิและอำนาจในการเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนา รวมทั้งการใช้ทรัพยากรได้อย่างชอบธรรม ทั้งนี้ ยังมีการปรับตัวทั้งทางด้านการประกอบอาชีพ ศาสนาและความเชื่อ การแต่งกาย และวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกของรัฐไทย และแสดงความแตกต่างด้วยการยึดโยงความสัมพันธ์กับเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า สำหรับสถานะทางสังคม ชาวไทเขินเป็นผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในหมู่บ้านในการดำเนินการด้านกิจกรรมและการจัดการในหมู่บ้าน มีโอกาสได้รับตำแหน่งผู้นำหมู่บ้าน ให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับหมู่บ้านและจังหวัด และมีการรวมกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์เชียงราย ทำให้สามารถใช้ต่อรองสิทธิต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองได้ แต่อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเพื่อการต่อรองของชาวไทเขินยังไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่เนื่องด้วยการขาดการได้รับเสรีภาพที่เท่าเทียมกับพลเมืองไทย ผลจากการศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลของภาครัฐในการวางแผนระบบการจัดการกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้

Focus

งานวิจัยมุ่งเน้นการอธิบายการแสดงออกถึงจิตสำนึกร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินผ่านการแสดงตัวตนและการเชื่อมโยงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งอพยพและสัมพันธ์กับสิทธิการเป็นพลเมืองในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน

Theoretical Issues

แนวคิดความทรงจำทางสังคม

ผู้เขียนใช้แนวคิดความทรงจำทางสังคมในการอธิบายปรากฏการณ์ที่ชาวไทเขินในบ้านเหล่าพัฒนามีการใช้ความทรงจำต่างๆ ทางสังคมและวัฒนธรรมในการบอกเล่าตัวตน โดยปรับให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกเพื่อแย่งชิงพื้นที่ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ในการเชื่อมโยงเรื่องราวการอพยพกับพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนา (หน้า 72, 84 และ 95), ด้านอาหารที่มีการทำและจำหน่ายอาหารไทเขิน (หน้า 111-121), ด้านการสร้างพื้นที่ตลาดสิบสองปันนาขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าของกลุ่มชาวไตที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง (หน้า 121-123), ด้านการแต่งกายที่มีการปรับให้มีลักษณะที่มีความหมายสอดคล้องกับความเป็นไทย (หน้า 123-128), ด้านความเชื่อที่มีการเข้าร่วมการจัดสืบชะตาร่วมกันกับคนในท้องถิ่น (หน้า 128-137) และการทำตาแหลวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของและการใช้เวลาและพื้นที่ของชาวไทเขิน (หน้า 137-141) และด้านศิลปะการแสดงที่มีการสืบทอดและประยุกต์ร่วมกับท้องถิ่น (หน้า 141-148) ทั้งนี้ การใช้ความทรงจำทางสังคมดังกล่าว ยังเป็นการแสดงตัวตนเพื่อตอบโต้วาทกรรมการเป็นเงี้ยวหรือชาวพม่า สร้างความสามัคคีของกลุ่มชาวไทเขิน สร้างตัวตนที่ชัดเจนของชาวไทเขินที่แตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ และเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศ (หน้า 149)

แนวคิดชาติพันธุ์สัมพันธ์และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมภายใต้แนวคิดประเพณีประดิษฐ์
ผู้เขียนใช้แนวคิดชาติพันธุ์สัมพันธ์และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในการอธิบายการสร้างตัวตนและพื้นที่ของชาวไทเขินในบ้านเหล่าพัฒนาในลักษณะ “เชิงสัญลักษณ์” รวมทั้งการปรับตัวและรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เพื่อต่อรองสิทธิต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ ดังนี้

 - ระดับท้องถิ่น เป็นการแสดงตัวตนเพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากร โดยบ่งบอกความแตกต่างของตนที่สามารถผสมกลมกลืนเพื่อการปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไทยวนและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ คือ ไทใหญ่และไทลื้อในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเพื่อตอกย้ำความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์กับเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสามัคคีภายในกลุ่มชาติพันธุ์
 - ระดับจังหวัด เป็นการแสดงตัวตนในการให้ความร่วมมือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัด โดยเฉพาะการรวมกลุ่มเป็นองค์กรทางสังคมเครือข่ายชาติพันธุ์ และการแสดงตัวตนในฐานะสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยว เพื่อต่อรองสิทธิสาธารณะในการแสดงออกเช่นเดียวกับพลเมืองไทย
 - ระดับประเทศ เป็นการแสดงตัวตนที่สะท้อนความสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของรัฐไทย เพื่อความต้องการได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับพลเมืองไทย ทั้งทางด้านกฎหมายและวัฒนธรรม (หน้า 230-236)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาไทเขินเป็นภาษาของชนชั้นปกครอง โดยใช้พูดกันในราชวงศ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุง (หน้า 57)

Study Period (Data Collection)

ระยะเวลาของข้อมูลภาคสนาม
ผู้เขียนเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามระหว่างเดือนตุลาคม 2554 – ตุลาคม 2556 ดังนี้
 - พ.ศ. 2554 เก็บรวบรวมข้อมูลการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นช่วงแรกเริ่มในการเปิดตัวของชาวไทเขิน
 - พ.ศ. 2555 เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิและปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์
 - พ.ศ. 2556 เก็บรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะการเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย (หน้า 8)

ระยะเวลาของข้อมูลเอกสาร
ผู้เขียนใช้เอกสารอ้างอิงซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2556(หน้า 238-250)

History of the Group and Community

ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน
ประวัติความเป็นมาของชาวไทเขิน มีการกล่าวถึงที่มาหลากหลายสำนวน ดังนี้
 - กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินมีถิ่นฐานดั้งเดิมในเมืองเชียงตุง รัฐชานหรือรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งเดิมเป็นเมืองของชาวลัวะ(หน้า 50)
 - ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน กล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองขืนจากเหตุผล 3ข้อ คือ การขืนชนะรบชาวลัวะของมางคุ้มและมางเครี้ยน การตั้งชื่อตามลำน้ำขืน การตั้งชื่อตามลักษณะคนในเมือง (หน้า 50)
 -ตำนานตุงครสี กล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองขืนว่าขืนแปลว่ากลับคืน จากเหตุการณ์ในสมัยพญามังรายซึ่งได้รบชนะชาวลัวะในเมืองเชียงตุง และได้ให้ไพร่พลอพยพจากเชียงแสนและเชียงรายไปยังเชียงตุง แต่ท้ายที่สุดได้หลบหนีคืนกลับมา และยังหมายถึงเมืองที่มีสายน้ำไหลผิดธรรมชาติจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศเหนือ ซึ่งตามปกติสายน้ำมักจะไหลจะทิศเหนือไปทิศใต้ (หน้า 50)
 - ชาวไทเขิน เป็นพลเมืองในการปกครองของพญามังราย อพยพขึ้นไปจากอาณาจักรโยนกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13ช่วงแรกเรียกตัวเองว่า “โยน” และเปลี่ยนเป็น “ขึน” หรือ “เขิน” ในภายหลัง (หน้า 51)
 - ไทเขิน คือ ชาวลื้อจากสิบสองปันนาที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำเขินในเมืองเชียงตุง (หน้า 51)
 - ไทเขิน มีบรรพบุรุษชาวญี่ปุ่นซึ่งอาจเป็นซามูไรชาวญี่ปุ่นภายใต้การนำของยามาดา นากามาซา (Yamada Nakamasa) ที่เคยเป็นขุนนางในราชสำนักอยุธยาสมัยพระเจ้าทรงธรรม อพยพหนีขึ้นมาถึงเมืองเชียงตุงในคริสต์ศตวรรษที่ 17(หน้า 51-52)

การอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินเข้าสู่จังหวัดเชียงราย
 - ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ชาวไทเขินเป็นแรงงานหลักในการสร้าง บูรณะ และป้องกันเมืองจากข้าศึกตั้งแต่การสร้างเมืองเชียงตุงในสมัยเจ้าน้ำถ้วม (หน้า 65) และในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ มีการกวาดต้อนผู้คนจากพม่าเข้ามาในล้านนา และกำหนดพื้นที่ตั้งถิ่นฐานประเภทของไพร่ โดยชาวไทเขินที่เป็นไพร่ชั้นดีหรือเป็นช่างฝีมือ ได้พื้นที่ตั้งถิ่นฐานในเมือง คือ หายยา อยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกด้านทิศใต้ ส่วนชาวไทเขินไร้ฝีมือให้ตั้งถิ่นฐานที่สันทราย (หน้า 65) ทั้งนี้ ชาวไทเขินที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองเชียงตุงจากสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2347 มายังจังหวัดเชียงใหม่ ถูกกวาดต้อนอีกครั้งไปยังจังหวัดเชียงรายใน พ.ศ. 2386โดยอยู่ที่บ้านสันโค้ง อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มเจ้านายล้านนา เพื่อเป็นแรงงานในการรบและการฟื้นฟูบ้านเมือง (หน้า 65-66)
 - ชาวไทเขินในบ้านเหล่าพัฒนามีความทรงจำเกี่ยวกับการอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วง “ศึกโต๊ะโข่” ในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ไตที่ไม่พอใจระบบการปกครองแบบสังคมนิยมของนายพลเนวิน ในระยะหลังกลุ่มโต๊ะโข่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนเป็นกองโจร มีการฆ่าคนไม่เลือก ทำให้ชาวเมืองเชียงตุงส่วนหนึ่งอพยพหนีเข้าสู่ประเทศไทย (หน้า 81-82) โดยเข้ามาในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมือง แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในกรุงเทพฯ และย้ายมาเป็นแรงงานก่อสร้างที่บ้านเหล่าพัฒนา, กลุ่มรับจ้างเป็นแรงงานเกษตรพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงรายและย้ายมาอาศัยในพื้นที่ราบที่บ้านเหล่าพัฒนา และกลุ่มที่อพยพมาอยู่กับญาติที่อพยพมาก่อนหน้าที่บ้านเหล่าพัฒนา (หน้า 83-84)

การสร้างความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ของชาวไทเขินในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนากับเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า
 - ชาวไทเขินในหมู่บ้านเหล่าพัฒนามีการจัดทำนิทรรศการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของตน โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยได้ส่งจอมพลผิน  ชุณหะวัน ไปดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่สหรัฐไทยเดิมในเมืองเชียงตุง 2ปี และรวมเมืองเชียงตุงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย เพื่ออธิบายถึงสิทธิที่ควรได้รับในฐานะพลเมืองภายใต้การปกครองของรัฐไทยในสมัยนั้น และเป็นการสร้างตัวตนและสำนึกทางประวัติศาสตร์ร่วมกับคนไทย เพื่อต่อรองอำนาจกับคนในท้องถิ่น (หน้า 84)

Settlement Pattern

ชาวไทเขินในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนาส่วนมากมีการสร้างบ้านเรือนในพื้นที่ราบ (หน้า 156) โดยตั้งบ้านเรือนปะปนกับชาวไทยวนกระจายในพื้นที่ดังกล่าว (หน้า 151)

Demography

จากการสำรวจประชากรในปี พ.ศ. 2555 พบว่า ในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนา ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีชาวไทใหญ่ ไทลื้อ และไทเขิน รวมประมาณ 200 ครอบครัว และชาวไทยวน ประมาณ 500 ครอบครัว (หน้า 67) ทั้งนี้ จำนวนของชาวไทใหญ่ ไทลื้อ และไทเขิน มีจำนวนกลุ่มละร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดในหมู่บ้าน (หน้า 69)

Economy

ด้านทรัพยากรที่ดิน
 - เดิมพื้นที่เคยเป็นป่าละเมาะ ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อนปี พ.ศ. 2538 ที่ดินส่วนมากเป็นพื้นที่จับจองใช้สำหรับการเกษตร ส่วนหลังปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เจ้าของสวนได้แบ่งขายที่ดิน และได้เริ่มมีการปลูกบ้านเรือน (หน้า 157)

ด้านทรัพยากรน้ำ
 - ภายในหมู่บ้านไม่มีต้นน้ำ แต่มีน้ำซึมไหลเป็นสายน้ำเล็กๆ ลงสู่ห้วยต่างๆ เรียกว่า “น้ำซึมดอย” มีหนองน้ำขนาดใหญ่ที่รับน้ำอยู่หลังชุมชนบ้านออมสินหรือหนองป่าไคร้ โดยสามารถใช้น้ำได้ตลอดทั้งปีสำหรับการอุปโภคและบริโภค ทั้งนี้ ชาวบ้านจะช่วยกันดูแลขุดลอกให้หนองน้ำสะอาด (หน้า 157-158) ส่วนน้ำที่ใช้ในบ้านเรือนนั้นมีทั้งน้ำประปา และน้ำบาดาลที่ได้จากการขุดบ่อน้ำ (หน้า 159)

ด้านการจัดการทรัพยากร
 - หมู่บ้านมีการเลือกคณะกรรมการหมู่บ้าน มีทั้งคนไทยวนและไทเขินเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีอำนาจในการควบคุมการสมาชิกปฏิบัติตามกฏ และดูแลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิทธิสาธารณะของทุกคนในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งทรัพยากรจะเป็นทั้งผู้ดูแลและผู้ใช้ประโยชน์มากที่สุด (หน้า 161-163)

ด้านการบริโภค
ชาวไทเขินในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนามีเอกลักษณ์ด้านอาหาร โดยปรากฏอาหารที่รับประทานและมีการจำหน่าย ดังนี้
 - ข้าวแรมฟืนหรือข้าวซอย เป็นอาหารที่ทำจากแป้งผสมน้ำหรือไข่จากนั้นนำไปนวด แล้วนำไปรับประทานในลักษณะต่างๆ เช่น ปรุงรส ทอด สะท้อนความเชี่ยวชาญในการดัดแปลงอาหารประเภทแป้ง (หน้า 112-114)
 - จิ้นส้มหรือแหนม สะท้อนความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมระหว่างคนไทเขินและไทยวน (หน้า 114-116)
 - แกงกระด้าง เป็นอาหารประเภทแกงที่ใช้ความเย็นในการทำให้น้ำแกงจับตัวเป็นก้อน ในอดีตนิยมทำกันในฤดูหนาวตามสภาพอากาศที่สามารถทำอาหารประเภทนี้ได้ เอกลักษณ์แกงกระด้างของชาวไทเขิน คือ มีสีแดงอมส้ม แตกต่างกับคนไทยวนที่ทำแกงกระด้างสีขาว (หน้า 116)
 - ข้าวซอยน้อย เป็นอาหารที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมต้นหอม ผักชี แล้วนึ่งให้มีลักษณะเป็นแผ่นบางแล้วพับเป็นสามเหลี่ยม รับประทานร่วมกับน้ำแกง, ผัดใส่ไส้ หรือกินกับเครื่องปรุง (หน้า 117)
 - ข้าวกันจิ้น เป็นการนำเลือดหมูคลุกกับข้าว ปรุงรส ห่อใบตอง แล้วนำไปนึ่ง (หน้า 118)

Social Organization

 - สายตระกูลแรกของชาวไทเขินในหมู่บ้านเหล่าพัฒนา คือ ครอบครัวพ่อหนานอ่อน ดวงแก้ว โดย “นามสกุล” เป็นสิ่งที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อเข้ามาอยู่ในรัฐไทยโดยนำชื่อบรรพบุรุษมาตั้ง และยังมีการใช้นามสกุลร่วมแม้ไม่ใช่เครือญาติ แต่เป็นการยึดถือตามความเป็นสมาชิกไทเขินที่อพยพเข้ามาด้วยกัน ประกอบด้วย เหล็กเพชร ดวงแก้ว วงศ์ทอง นามแก้ว บุญมา อินคา แสงคาดี (หน้า 85-86)

 - ชาวไทเขินรุ่นที่ 1 ที่บ้านเหล่าพัฒนา เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง รุ่นที่ 2 นิยมเลือกคู่ครองเป็นชาวไทเขินในหมู่บ้านเดียวกัน แต่รุ่นที่ 3 นิยมเลือกคู่ครองเป็นชาวไทยวน หรือคนไทยในภาคต่างๆ โดยมีการครองคู่ในลักษณะผัวเดียวเมียเดียว และไม่พบปัญหาการหย่าร้างและชู้สาว หากเกิดปัญหาจะมีผู้อาวุโสชาวไทเขินเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ การเลือกคู่ครองนั้น พ่อและแม่จะเป็นผู้จัดการเลือกให้กับลูก โดยสังคมครอบครัวไทเขินเป็นระบบผู้หญิงเป็นใหญ่ (หน้า 76)

Political Organization

ระบบการปกครองภายในหมู่บ้านเหล่าพัฒนาใช้วิธีการเลือกตั้งผู้นำชุมชนในลักษณะของผู้ใหญ่บ้าน สำหรับระบบการปกครองภายนอกนั้น เป็นการปกครองโดยรัฐ ซึ่งหมู่บ้านจะรับนโยบายและงบประมาณมาจากจังหวัดเชียงราย (หน้า 70) ส่วนระบบการปกครองภายในกลุ่มชาติพันธุ์นั้น มีการเลือกหัวหน้ากลุ่มที่เรียกว่า “เก๊า” และรองประธานจำนวน 2 คน เพื่อบริหารงานภายในกลุ่ม รวมทั้งดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อและไทใหญ่ในหมู่บ้านด้วย (หน้า 78-79)

Belief System

 - ชาวไทเขินในหมู่บ้านเหล่าพัฒนานับถือศาสนาพุทธโดยมีวัดพระธาตุจอมสักเป็นศูนย์รวมจิตใจ (หน้า 72-23) ทั้งนี้ ไม่มีความเชื่อเรื่องผีในการนับถือ “เจ้าพ่อคำแดง” ซึ่งเป็นผีขุนน้ำที่ปกปักรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับชาวไทเชินในเมืองเชียงตุง แต่มีการประกอบพิธีกรรมเช่นเดียวกับชาวไทยภาคเหนือ ได้แก่ สงเคราะห์บ้าน และสืบชะตาเพื่อสืบต่ออายุให้ยืนยาวและชีวิตมีความสุข นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผีปู่ย่า โดยมีการทำบุญให้ผีบรรพบุรุษปีละ 3 ครั้ง เรียกว่า เสี่ยวบ้าน เสี่ยวเมือง หรือเสื้อบ้าน หรือใจบ้าน โดยมี “ศาลพ่อปู่” ซึ่งมี 2 แห่ง คือ ข้างโรงเรียนบ้านขัวแคร่และหลังวัดขัวแคร่ เป็นสถานที่ตั้งพิธีโดยทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ที่บ้านขัวแคร่ ซึ่งไม่ใช่การนับถือผีร่วมกันตามสายตระกูล แต่เป็นการนับถือผีที่ปกปักรักษาพื้นที่ (หน้า 74, 96-99และ 130)
 - ในครอบครัวที่เป็นเกษตรกร จะมีความเชื่อเรื่องขวัญข้าว มีการทำพิธีเรียกขวัญข้าวเพื่อป้องกันศัตรูพืชและเพื่อให้ข้าวเจริญงอกงามดี (หน้า 74-75)
 - ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา มีการรื้อฟื้นบางประเพณีที่เคยจัดในเมืองเชียงตุงมาจัดที่บ้านเหล่าพัฒนา เช่น ประเพณีการแห่ไม้เกี๊ยะ เป็นการถวายไม้เกี๊ยะในวันออกพรรษาโดยเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องการจุดบอกไฟเพื่อบูชาพระเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หน้า 75 และ 101-102)
 - คนไทเขินมีความเชื่อเรื่องตาแหลว เป็นการบอกเขตแดนในการทำนาและการประกอบพิธีกรรม อีกทั้ง ยังป้องกันสัตว์ในการเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร และสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันผีหรือสิ่งที่ไม่ดี (หน้า 137-141)

Education and Socialization

เมื่อครอบครัวชาวไทเขินในพื้นที่บ้านเหล่าพัฒนามีลูก แม่จะเป็นผู้เลี้ยงดูลูก ส่วนพ่อจะเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว จนกว่าลูกจะโตจนสามารถช่วยทำนาได้ ทั้งนี้ เด็กผู้หญิงชาวไทเขินจะได้รับการสอนภูมิปัญญาในการทอผ้า ในอดีตเมื่อชาวไทเขินยังคงอยู่ที่เชียงตุง ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะเรียนหนังสือและเรียนภาษาไทเขินที่วัด แต่เมื่อย้ายมาอยู่ประเทศไทย จะเข้าเรียนในระบบโรงเรียนเช่นเดียวกับเด็กไทย (หน้า 77-78)

Health and Medicine

ชาวไทเขินมีการรักษาทางจิตใจด้วยอาคม โดยการรักษาของ “หมออาคม” (หน้า 162)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ด้านการแต่งกาย
 - ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา หมู่บ้านเหล่าพัฒนาได้มีการสำรวจจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ และมีการกำหนดลักษณะการแต่งกายร่วมที่ชัดเจนของแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน มีเอกลักษณ์ คือ ผู้หญิงสวมเสื้อสีฟ้า นุ่งผ้าถุงยาว แต่อย่างไรก็ดีเป็นการกำหนดเครื่องแต่งกายจากบุคคลภายนอก (หน้า 123-124) ซึ่งภายหลังกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินได้นิยามตัวตนผ่านเครื่องแต่งกายของกลุ่มขึ้นมาใหม่โดยปรับเปลี่ยนให้ใกล้เคียงกับชาวเมืองเชียงตุง และได้มีการซื้อเครื่องแต่งกายบางส่วนจากตลาดแม่สาย จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า โดยกำหนดสีม่วงเป็นสีประจำกลุ่มโดยใช้สีวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการเคยได้เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ พระองค์ อีกทั้งยังเป็นสีประจำจังหวัดเชียงรายอีกด้วย ซึ่งสะท้อนการเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในประเทศไทย สำหรับเสื้อผ้าของผู้หญิงมีการประยุกต์จากแบบเสื้อปั๊ดของชาวไทลื้อตัดเย็บด้วยผ้าสีม่วง นุ่งผ้าถุงสำเร็จรูปสีม่วงสลับดำ ส่วนเสื้อผ้าของผู้ชายนั้น มีการแต่งกายหลากสีตามรูปแบบเสื้อผ้าที่มีจำหน่ายหลากสีในพื้นที่ตลาดแม่สาย (หน้า 124-127)
 - ชาวไทเขินมีการรื้อฟื้นการแต่งกายให้มีลักษณะตามแบบของชาวเชียงตุง โดยมีการนำซิ่นบัวคว่ำบัวหงายมาใช้เป็นชุดการแสดงของผู้หญิงในการแสดงฟ้อนแม่ปิง และใช้สวมใส่ให้กับผู้หญิงชาวไทเขินที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประกวดนางงามชาติพันธุ์ในงานเชียงรายดอกไม้บานในทุกๆ ปี โดยในอดีตซิ่นดังกล่าวเป็นซิ่นที่ชาวไทเขินนิยมสวมใส่ในงานสำคัญต่างๆ (หน้า 213)

ด้านศิลปะการแสดง
ศิลปะการแสดงที่ชาวไทเขินยังคงมีการสืบทอด คิดขึ้นใหม่ และมีการทำการแสดง ได้แก่
 - เสิน เป็นการแสดงเพื่อร้องตอบโต้เพื่อความสนุกสนานและการสร้างสำนึกร่วมของความเป็นชาติพันธุ์ แต่ปัจจุบันขาดการสืบทอดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ (หน้า 141-143)
 -รำวงไทเขิน เป็นการแสดงรำวงย้อนยุค โดยมีการไว้ครู และนำขันครูมาวางไว้กลางวง โดยขายตั๋วเป็นรายได้ให้กับสมาชิกในวง (หน้า 144-146)
 - ฟ้อนแม่ปิง เป็นการแสดงที่คิดขึ้นใหม่ มีการแต่งกายโดยใช้ซิ่นบัวคว่ำบัวหงายที่ในอดีตผู้หญิงไทเขินเมืองเชียงตุงสวมใส่ในงานสำคัญต่างๆ (หน้า 213)

Folklore

- วัดพระธาตุจอมสัก มีครูบาคำหล้า อดีตเจ้าอาวาสในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2526 เป็นผู้เชื่อมคนไทยวนและกลุ่มชาติพันธุ์เข้าด้วยกัน ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อในการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง การทำนายอนาคต และเรื่องปาฏิหาริย์ โดยปรากฏตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเข้ามาอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในบ้านเหล่าพัฒนาว่า บริเวณพระธาตุจอมสักจะมีเจ้าของเก่ากลับเข้ามาอยู่ โดยเป็นชาวโยนกเก่าซึ่งไปตั้งเมืองโยนกที่เชียงแสน สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ชาวไทยวนเชียงแสนอพยพไปอยู่ที่เมืองเชียงตุง และสอดคล้องกับการอพยพเข้ามาของผู้คนจากเมืองเชียงตุงเข้ามายังบ้านเหล่าพัฒนา ซึ่งก็คือชาวไทเขินซึ่งตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชื่อว่าเดิมเป็นชาวโยนกเชียงแสนที่อพยพไป (หน้า 72 และ 95)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์
 - ชาวไทเขินในบ้านเหล่าพัฒนาให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมของชาวบ้านในชุมชน แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีกิจกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน จะมีเพียงชาวไทลื้อและชาวไทใหญ่เท่านั้นที่เข้าร่วม (หน้า 78)
 - ชาวไทเขินได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มคนที่มีสัญชาติไทยและทำงานในหน่วยงานราชการ (หน้า 79)

การรื้อฟื้นประเพณีเพื่อสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธุ์
 - ชาวไทเขินเป็นกลุ่มคนที่มีการริเริ่มการรื้อฟื้นประเพณีแห่ไม้เกี๊ยะซึ่งเคยมีการจัดที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่ามาจัดในหมู่บ้านเหล่าพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างชาวไทเขิน ไทใหญ่ และไทลื้อ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ไทเขิน และอัตลักษณ์ร่วมความเป็นกลุ่มไตที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง (หน้า 101-105)

การสร้างอัตลักษณ์เพื่อต่อรองสิทธิการเป็นพลเมือง
 - ด้านประวัติศาสตร์ :
     - การใช้ตำนานเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การอพยพของชาวไทเขินกับพื้นที่บริเวณวัดพระธาตุจอมสักเพื่อสร้างความชอบธรรมในการครอบครองพื้นที่ (หน้า 173และ 181)
     - การใช้ประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อันดีของชาวไทเขินที่มีต่อชาวบ้านเหล่าพัฒนาในการเป็นแรงงานยุคแรกของหมู่บ้านโดยได้รับความอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่บ้านและเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมสัก (หน้า228)
  - ด้านการปรับตัวให้มีความเป็นพลเมืองไทย
     - การแสดงความเป็นพลเมืองไทยโดยเข้าร่วมทุกกิจกรรมสาธารณะ การแสดงออกถึงความศรัทธาในศาสนาพุทธ และความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (หน้า 214-215)
     - การสร้างตัวตนผ่านการจัดตั้งองค์กรเครือข่ายชาติพันธุ์เชียงรายซึ่งได้รับการเห็นชอบจากจังหวัดและได้รับการสรับสนุนการจัดกิจกรรม ภายใต้แนวคิด “เราเผ่าไทยใช่ใครอื่น” และจัดทำเสื้อยืดสกรีนข้อความ (หน้า 218)
     - การเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ด้วยการเข้าร่วมขบวนแห่และการแสดงในงานเชียงรายดอกไม้งาม (หน้า 221-222)

การต่อรองในลักษณะอื่นๆ เพื่อสิทธิการเป็นพลเมือง
 - ชาวไทเขินซื้อที่ดินในหมู่บ้านเหล่าพัฒนาเพื่อสร้างบ้านของตนเอง (หน้า 154-155)
 - ผู้อาวุโสชาวไทเขินเข้าไปเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (หน้า 162)
 - ชาวไทเขินมีส่วนร่วมในการจัดการและดูแลทรัพยากรหมู่บ้าน (หน้า 163)
 - การรวมกลุ่มเป็นองค์กรทางสังคมอย่างชัดเจน เช่น กลุ่มแม่บ้านชาติพันธุ์ไทเขิน โดยมีบทบาทในกิจกรรมทางสังคมในกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกิจกรรม (หน้า 164-165)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
 - การผสมผสานการแต่งกายที่มีความหมายของความเป็นไทยและยังคงอัตลักษณ์เดิมของเมืองเชียงตุง (หน้า 124-127)
 - การนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือเสื้อบ้านร่วมกับชาวบ้านเหล่าพัฒนา (หน้า 74, 96-99และ 130)
 - การปรับตัวโดยประกอบอาชีพทางการเกษตร รับจ้าง ค้าขาย และเลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วงชิงการใช้ทรัพยากรในหมู่บ้านเหล่าพัฒนา (หน้า 185-193)
 - การนำเสนอตัวตนในบริบทการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ของประเทศไทย เช่น งานเชียงรายดอกไม้งาม (หน้า 221-222) 

Other Issues

ปัจจัยทางสังคมในการสร้างสิทธิทางพลเมือง
 - ด้านเศรษฐกิจ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ อาชีพทำกิน และทรัพยากร (หน้า 185-193)
 - ด้านการเมือง เพื่อให้ได้บัตรประจำตัว และได้รับสิทธิทางสังคมเช่นเดียวกับคนไทย คือ การรักษาพยาบาล การศึกษา สิทธิการถือครองที่ดิน อิสระในการเดินทาง และการประกอบอาชีพ (หน้า 193-201)
 - ด้านชาติพันธุ์ เพื่อแสดงตัวตน สืบทอดวัฒนธรรม รื้อฟื้นความทรงจำร่วม และสร้างความสามัคคีภายในกลุ่มชาติพันธุ์ (หน้า 204-210)

Map/Illustration

- แผนที่หมู่ 14 บ้านเหล่าพัฒนา ตําบลบ้านดู่ จังหวัดเชียงราย (หน้า 7)
 - แผนที่บ้านเหล่าพัฒนาและหมู่บ้านอื่นๆ โดยรอบ (หน้า 68)
 - ตัวอย่างความสัมพันธ์ของสายสกุลในกลุ่มไทเขิน (หน้า 88)
 - ศาลพ่อปู่ข้างโรงเรียนบ้านขัวแคร่ (หน้า 98)
 - ศาลพ่อปู่หลังวัดขัวแคร่ (หน้า 99)
 - บอกไฟบอกไม้ในประเพณีแห่ไม้เกี๊ยะ ณ ลานวัดพระธาตุจอมสัก (หน้า 104)
 - ตลาดขนาดเล็กภายในหมู่บ้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตลาดสิบสองปันนา (หน้า 122)
 - เสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน ชาย-หญิง (หน้า 126)
 - เครื่องดนตรีชุดใหม่จากเชียงตุงและซิ่นลายบัวคว่ำบัวหงาย (หน้า 214)
 - การแสดงออกถึงความเป็นไทยใน “งานปอยต้นเกี๊ยะหลวง” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไต (หน้า 215)
 - ด้านหน้า-หลังของเสื้อที่องค์กรเครือข่ายชาติพันธุ์จัดทําขึ้นให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ (หน้า 218)

Text Analyst พิสุทธิลักษณ์ บุญโต Date of Report 07 มิ.ย 2562
TAG ไทเขิน, การปรับตัว, สิทธิพลเมือง, อัตลักษณ์ชาติพันธุ์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง