สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวครั่ง,ความเป็นอยู่,ประเพณี,การสังสรรค์ทางวัฒนธรรม,สุพรรณบุรี
Author ชนัญ วงษ์วิภาค
Title ลาวครั่ง : การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับการผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรม
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาวครั่ง ลาวขี้คั่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 99 Year 2532
Source กรุงเทพฯ : ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

แม้การผสมกลมกลืนวัฒนธรรมลาวครั่งได้เกิดขึ้นภายใต้กฏเกณฑ์ต่าง ๆ อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ขบวนการดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และเงื่อนไขดังกล่าวเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ประวัติลาวครั่งท้องถิ่น เหตุการณ์ร่วมสมัยได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเปลี่ยนให้มาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้าตั้งแต่สมัยรัชการที่ 3 การปฏิรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2504 เรื่อยมาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วัฒนธรรมลาวครั่งแง่มุมต่าง ๆ ถูกผนวกเข้ากับวัฒนธรรมของคนหมู่มาก การโฆษณาชวนเชื่อ การวางระเบียบ การกำหนด กฏเกณฑ์ และการออกกฏหมายต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัตินามสกุล การเกณฑ์ทหาร การให้มีสำมะโนครัว การให้เลิกถือธรรมเนียมเก่า และเอาวิถีทางการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ไปถือปฏิบัติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดจนกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการที่ลาวครั่งจะหลีกหนีออกจากวงจรของการกลมกลืนทางวัฒนธรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เนื่องจากกลไกเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่รัฐใช้กับคนทั้งประเทศจึงเป็นที่แน่นอนว่าวัฒนธรรมที่กลมกลืนจะปรากฏออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทุกคนถูกกำหนดให้ต้องผสมกลมกลืนในทิศทางเดียวกันทั้ง ๆ ที่ในทางปฏิบัตินั้น คนกลุ่มน้อยอย่างลาวครั่งมีโอกาสและศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมไม่ทัดเทียมผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ

Focus

การกลมกลืนทางวัฒนธรรมของลาวครั่ง

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ลาวครั่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะกลายมาจากคำว่า "ลาวภูคัง" ซึ่งเป็นกลุ่มที่บรรพบุรุษได้อาศัยในเขตเทือกเขาภูคังใกล้หลวงพระบางและถูกกวาดต้อนมา สยาม (ไทย) ในสมัยรัชการที่ 3

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาพูดของกลุ่มลาวครั่งจัดอยู่ไนกลุ่มตระกูลไทหรือไต เป็นกลุ่มภาษาใหญ่ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือที่เวียดนาม ลาว พม่า และไทย ตัวอย่างภาษาพูดของลาวครั่งกับภาษาไทยภาคกลาง เช่น คำเกี่ยวกับผลไม้ ภาษาไทยภาคกลางคือ น้อยหน่า ภาษาของลาวครั่งคือ "บักเขียบ" สำหรับภาษาเขียนของลาวครั่งนั้น มีปรากฏในหนังสือใบลานและสมุดไทยขาวที่ทำมาจากกระดาษสา เรื่องราวที่เขียนในหนังสือผูกหรือสมุดเหล่านี้ มีทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน คาถา ยันต์ ตำรายา วิธีการรักษาโรค และการดูฤกษ์ยามและโชคชะตาและนิทานพื้นบ้าน อักษรที่ใช้ในการบันทึกของลาวครั่งนั้นมีทั้งตัวไทยน้อยที่มักใช้กันในภูมิภาคอีสาน นอกจากนี้แล้วยังมีอักษรธรรมบาลี อักษรขอมแทรกปะปนอยู่ ลักษณะการเขียนแบบเก่าโดยเขียนใต้เส้นบรรทัดโดยรวมแล้วลักษณะการเขียนและตัวอักษรที่พบกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (หน้า 12)

Study Period (Data Collection)

ไม่ปรากฎชัดเจนในงานวิจัยแต่อ้างจากการให้สัมภาษณ์น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2528-2529

History of the Group and Community

พ.ศ.2370 หลังจากการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กวาดต้อนชาวลาวทั้งอาณาจักรเวียงจันทน์และหลวงพระบางมาไว้ในรอบ ๆ พระนครในราชอาณาจักรสยาม เพื่อมาเสริมกำลังให้แก่พระนคร และให้อาศัยอยู่ในเมืองสระบุรี ลพบุรี เมืองพนัสนิคม เมืองนครไชยศรี และเมืองสุพรรรณบุรี บรรดาเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมานั้นมีคนลาวที่อาศัยอยู่แถบ "ภูคัง" ปะปนมาด้วยลาวครั่งในระยะแรกส่วนใหญ่ต่างไม่มีความแน่ใจในกับอนาคตของตนด้วยเหตุที่อยู่ในฐานะเชลยศึกจึกมักจะต้องย้ายที่อยู่ใหม่ๆ ส่วนหนึ่งจะเห็นได้จากการไม่สร้างบ้านเรือนเป็นการถาวร จะสร้างกระต๊อบหรือกระท่อมด้วยไม้ไผ่และมุงด้วยแฝกหญ้าหรือหญ้าคาที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น (หน้า 15) ทำมาหากินด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ ทำไร่เลื่อนลอยเหมือนที่อยู่ในภูคังประเทศลาว (หน้า 16) (หน้า11) เมื่อมาอยู่ในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี ชนกลุ่มน้อยจากลาวก็อาศัยอยู่ตามกลุ่มวัฒนธรรมของตนเอง เช่น ลาวเวียง ลาวโซ่ง ลาวพวน และลาวครั่ง ต่อมา พ.ศ. 2374 เกิดฝนแล้ง ชาวบ้านต้องหากลอยจากป่ามาหุงผสมข้าวสารที่มีพอเหลืออยู่ มิหนำซ้ำในช่วง พ.ศ.2392 ยังต้องเผชิญกับไข้ทรพิษ บาดทะยัก วัณโรค กาฬโรคและอหิวาตกโรคซึ่งทำให้มีการตายหลายคน ทำให้ลาวครั่งต้องอพยพหาแหล่งทำกินและที่อยู่ใหม่เสมอ ในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้น พ.ศ. 2440 ได้มีผู้นำกลุ่มลาวครั่ง ชื่อ นายแดง หรือนายกองแดง ได้ชักชวนลาวครั่งจากอำเภอ หันคา, สิงห์ จากจังหวัดชัยนาท ชาวบ้านโคก อำเภอสระกระโจม จังหวัดสุพรรณบุรีให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตอำเภอจระเข้สามพัน โดยมีบ้านหนองตาสามเป็นชุมชนลาวครั่งเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ที่นี่แล้ว เมื่อมีการมาอาศัยอยู่ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ที่ทำกินไม่พอจึงต้องมีการขยับขยายทำให้เกิดชุมชนบ้านท่าม้า และบ้านโคกซึ่งได้แยกตัวออกมาจากบ้านของนายกองแดง หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "บ้านใหญ่" และอพยพข้ามหนองตาสามมาอยู่ และจับจองป่าละเมาะทางทิศตะวันตกเป็นที่เนิน และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าโดยเฉพาะกระต่าย ชาวบ้านจึงเรียกว่า "โคกขี้กระต่าย" และกลายมาเป็นบ้านโคกในเวลาต่อมา

Settlement Pattern

ลาวครั่งในระยะแรกในฐานะเชลยศึกจึงมักต้องย้ายที่อยู่ใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งจะเห็นได้จากการไม่สร้างบ้านเรือนเป็นการถาวร จะสร้างกระต๊อบหรือกระท่อมด้วยไม้ไผ่และมุงด้วยแฝก หญ้า หรือหญ้าคา ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น (หน้า 15)

Demography

ไม่มีข้อมูล

Economy

ลาวครั่งส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ และหาของป่า ส่วนใหญ่ผลผลิตพออุปโภคบริโภค (หน้า 25) อาศัยแรงงานคนและสัตว์เป็นสำคัญ มีการปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเขียว งา ฝ้าย พริก ส่วนผลไม้จะมี มะม่วง ขนุน มะขาม มะขวิด สัตว์เลี้ยงมีเป็ดและไก่ สำหรับไก่จะเลี้ยงไว้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะต้องใช้เซ่นผีในการประกอบพิธีกรรม (หน้า 27) ในช่วงฤดูน้ำจะมีพ่อค้าคนจีนและมอญนำเครื่องใช้ เช่น ไห โอ่ง หม้อดิน กะทะดิน หวด เตาขนมครก และถ้วยโถโอชาม อีกทั้งเกลือ และไตปลา เป็นสินค้าหลักที่นำมากับเรือ ส่วนพ่อค้าจีนมาซื้อข้าวเปลือกกับชาวบ้าน (หน้า 29) บางรายนำเครื่องใช้และเครื่องประดับ เช่น สร้อยทอง ข้อมือ ต่างหู เข็มขัดนาค จับปิ้ง พริกเทศ ขันลงหิน โตก พาน และถาดสำริดมาจำหน่ายถึงเรือนชาน บ้างก็ทำการค้าในเพิงชั่วคราวริมน้ำบริเวณท่าพระจักร เพื่อขายหอม กระเทียม กะปิ น้ำตาล น้ำปลา สบู่ ยาสูบ ปูน ขี้ผึ้งสีปาก น้ำอบ เป็นต้น (หน้า 30) ในช่วง พ.ศ. 2510 เริ่มมีการซื้อรถไถคันแรกของหมู่บ้าน ทำให้มีการนำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการเกษตรมาใช้มากมาย เช่น พันธุ์พืชจากต่างถิ่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดแมลงและวัชพืช เครื่องสูบน้ำ เครื่องโม่ รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น (หน้า 52) ปัจจุบัน (พ.ศ.2532) ด้านการดำเนินการทางเศรษฐกิจเป็นไปเพื่อการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ชาวบ้านไม่ละทิ้งรูปแบบการยังชีพแบบเก่าด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ ฤดูฝนออกหาหน่อไม้ บางคนหาเก็บผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมา เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ผักแว่น มาขายที่ตลาด หรือพวกผู้ชายยังคงไปหาจับกบ เขียด ปลา ตามห้วยหนองคลองบึง จับนกตามทุ่งนาด้วยตาข่าย หรือต่อนก เป็นต้น (หน้า 54)

Social Organization

การเกิด ลาวครั่งมีความเชื่อเหมือนกับคนไทยในท้องถิ่นในเรื่องการเกิด การอบรมเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของครอบครัว การสั่งสอนส่วนใหญ่จะอยู่ในขอบเขตของการทำมาหากิน เด็กชายเรียนรู้การทำไร่ไถนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ เรียนรู้การเลี้ยงชีพเคียงข้างกับผู้ใหญ่เสมอ ขณะเดียวกันถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะปลูกฝังงานบ้านงานเรือนจากแม่หรือญาติผู้ใหญ่คนอื่น ๆ (น.36-37) ลาวครั่งมีค่านิยมในการบวชเรียนเมื่อลูกหลานอายุ 20 ปีบริบูรณ์ก็จะอุปสมบทให้เพื่อเป็นอานิสงส์แก่บิดามารดา ขณะเดียวกันก็เป็นการขัดเกลาอบรมให้กุลบุตรเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์ ในทัศนะคติของลาวครั่งแล้ว การบวชจะเป็นโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตซึ่งลูกผู้ชายจะแสดงความกตัญญูรู้คุณผู้บังเกิดเกล้า แล้วยังเป็นทางที่พ่อแม่จะได้รับผลบุญ หรือเชื่อว่าพ่อแม่จะได้อาศัยเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ บางรายไม่มีบุตรชายจึงต้องหาโอกาสเป็นเจ้าภาพงานบวชใครคนใดคนหนึ่ง ยิ่งถ้าผู้ใดสามารถบวชครบพรรษาเมื่อสึกออกมาแล้วจะถือว่าเป็นคนสุก หรือเรียกว่า "ทิด" ซึ่งถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะพร้อมที่จะมีเหย้าเรือนได้ (น. 40) การแต่งงานลาวครั่งมีความเชื่อเรื่องผีมาก ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษ ทั้งฝ่ายเจ้านายและฝ่ายเทวดา การผิดผี ดูจะเป็นเรื่องสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของหนุ่มสาวไว้อย่างเคร่งคัด ถือว่าเป็นข้อห้ามไม่ให้ชายหญิงที่ไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดาถูกเนื้อต้องตัวกันหรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานที่ถือว่าเป็นการผิดผีอย่างร้ายแรง โอกาสที่หนุ่มสาวลาวครั่งจะพบปะกันมีน้อยมาก ฉะนั้น ส่วนใหญ่ในการหาคู่จะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่หาให้โดยหนุ่มสาวอาจไม่ได้พอใจกันมาก่อน กรณีหนุ่มสาวลักลอบพบปะกันฉันท์ชู้สาวและรู้ถึงพ่อแม่ ฝ่ายชายจะถูกเร่งเร้าให้แต่งงานตามพิธีโดยเร็วที่สุด (น. 41) ประเพณีการแต่งงานดั้งเดิมจะให้ความสำคัญต่อการสู่ขวัญมาก หมอขวัญจะเป็นคนทำพิธีและจะอบรมสั่งสอนบ่าวสาวให้รู้หลักในการคลองเรือน ตลอดจนการประพฤติตนในฐานะเขยและสะใภ้ (น.42) หลังจากวันแต่งงานผ่านไปแล้วสะใภ้ใหม่จะนำเสื้อผ้าที่นอนหมอนมุ้งเครื่องนุ่งห่มที่อาจทำเองแล้วนำไปให้พ่อแม่สามี (น.44)

Political Organization

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดรูปแบบการปกครองแบบเทศาภิบาล เริ่มจริงจังในปี พ.ศ. 2435 ตามลักษณะการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามลำดับของสายการบังคับบัญชาจากขั้นต่ำสุดไปถึงขั้นสูงสุดดังนี้ ขั้นที่ 1 การปกครองหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง ขั้นที่ 2 การปกครองตำบล มีกำนันปกครอง ขั้นที่ 3 การปกครองอำเภอ มีนายอำเภอปกครอง ขั้นที่ 4 การปกครองเมือง มีเจ้าเมืองปกครอง ขั้นที 5 การปกครองมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง ในการดำเนินงานในทีเดียวกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปตรวจหัวเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองสุพรรณบุรีซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่จัดว่าอยู่ในเขตของ "วังธานี" (หน้า 19) พ.ศ. 2448 มีการปฏิรูปการเกณฑ์ทหาร เริ่มที่โคราชเป็นแห่งแรกและะถูกต่อต้านอยู่ประปราย ต่อมานำระบบนี้มาใช้ในภาคกลางซึ่งไม่เคยมีการเกณฑ์ทหารมาก่อน พร้อมกับมีข่าวลือว่าการเกณฑ์ทหารครั้งนี้จะต้องเป็นทหารตลอดชีวิต ฉะนั้นชายฉกรรจ์จึงพยายามทุกวิธีที่จะหนีทหาร เช่น บวช ย้ายหนีไปท้องที่อื่น ทางการหารือกันว่าจะจับกุมภิกษุที่ต้องสงสัยว่าหนีการเกณฑ์ทหาร แต่ด้วยความกลัวการต่อต้านจากประชาชน จึงหาทางออกโดยการเสนอว่า ผู้ถูกเกณฑ์ควรมีอายุอยู่ในช่วง 18-25 ปีเท่านั้น ในปีเดียวกันนี้เองทางการเพิ่มภาษีนาทั้งสองประเภท คือ นาโคคู่ และนาฟางลอย นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีโคกระบือ ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เกิดโรคระบาด ทำให้ลาวครั่งได้ความยุ่งยากจากปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก (น.22) พ.ศ. 2454 มีการสำรวจสำมะโนครัวทั่วราชอาณาจักรทั้งมีการตราพระราชบัญญัตินามสกุลเพื่อให้ง่ายต่อการปกครองดำเนินไปอย่างรัดกลุมยิ่งขึ้น ชาวบ้านหนองตาสาม ท่าขี้ม้า บ้านโคกใช้กันมากที่สุด คือ แก้วสระแสน ลีสุขสาม ในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ใช้พุทธศักราชเป็นศักราชทางการแทนรัตนโกสินทร์ศก ให้ใช้วันทางสุริยะคติ วันที่ใช้ตามยุโรป ถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ถึงกระนั้นลาวครั่งรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายยังคุ้นเคยกับการนับวันทางจันทรคติอยู่ (น.24)

Belief System

ลาวครั่งมีความเชื่อในอำนาจภูตผีและสิ่งลี้ลับในธรรมชาติเป็นสรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในผีบรรพบุรุษซึ่งมีทั้งฝ่ายเจ้านายและฝ่ายเทวดา เป็นศูนย์กลางของระบบความเชื่อในวัฒนธรรมลาวครั่ง เชื่อว่าการนับถือผีเช่นนี้มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของสังคมลาวครั่งเป็นอย่างยิ่ง การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน และพิธีกรรมเนื่องด้วยชีวิตทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะต้องมีผีเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งถ้าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ กฏข้อห้าม หรือที่เรียกว่า "ผิดผี" จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยวยังมีการเลี้ยงผีครั้งใหญ่ในช่วงเดือน 7 เพื่อหวังความคุ้มครองอยู่เย็นเป็นสุขตลอดถึงความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต (หน้า 15) นอกจากนี้ยังนับถือพระพุทธศาสนา มีการทำพิธีบวชนาค การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่อชะตาอายุ งานทำบุญแก้บน (หน้า 64) นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการนำนาคไปขอขมาพระภูมิเจ้าที่ และหอเจ้านาย โดยมี "กวน" เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมคอยชี้แนะนาค และเป็นการบอกกล่าวต่อผีเจ้านายเพื่อขอความคุ้มครองจากผีเจ้านาย (หน้า 65) สำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ ของลาวครั่ง ได้แก่ การเกิด บวช แต่งงาน การตาย การเลี้ยงผีในช่วงเดือน 7 การทำขวัญนาค สู่ขวัญบ่าวสาว เป็นต้น การตาย ในสมัยก่อนยังไม่มีเมรุเมื่อพร้อมที่จะเผาก็จะขุดกระดูกขึ้นมาทำพิธีในบริเวณป่าช้า ไม่นิยมนำกระดูกผู้ตายกลับมาไว้ที่บ้านด้วยเพราะความกลัวเป็นสำคัญ มักเก็บกระดูกไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ตามโคนต้นโพธิ์ ข้างโบสถ์ กุฏิพระ ต่อมาเมื่อเคร่งครัดในเรื่องความเป็นระเบียบจึงต้องเก็บกระดูกไว้เป็นที่เป็นทาง อาจเป็นช่วงเวลานี้ก็ได้ที่พบว่าลาวครั่งนิยมบรรจุอัฐิไว้ในโกฐไว้บูชาตามคำแนะนำของพระ ในงานบุญสงกรานต์จะนำอัฐิมาบังสุกุลร่วมกันที่วัด (น.46)

Education and Socialization

ไม่ระบุชัดเจน

Health and Medicine

มีการนำเอาใบพลูโขลกผสมกับเหล้าขาวทาแก้ลมพิษ อาการผื่นคัน หรืออาศัยหมอน้ำมนต์ น้ำหมาก หากเด็กถูกสุนัขกัดก็จะรักษาโดยการเหยียบคาถา บางตำราเอาก้านกล้วยลนไฟตีลงไปในบาดแผล ถ้าประสบอุบัติเหตุกระดูกหักจะนำไปรักษากับหมอพระรักษาด้วยเวทย์มนต์และน้ำมัน เด็กที่เริ่มเป็นซางหรือเริ่มมีไข้พ่อแม่อาจใช้วิธีการกวาดยาไว้ก่อนเพื่อกัน "คอขึ้น" หลายคนกินน้ำยาบางขนานเพื่อให้เจริญอาหาร ด้วยค่านิยมที่เชื่อว่าทำให้เด็กอ้วนท้วนสมบูรณ์ (หน้า 61) ก่อนออกไฟของผู้เป็นแม่จะมียาปรุงให้กิน โดยนำเอาลูกยอ พริกไทย ขิง อย่างละเท่า ๆ กันตำผสมให้ผู้ป่วยกิน (น. 35)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ในงานแต่งงาน เจ้าบ่าวแต่งกายแบบสากลคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมลาวครั่ง คือ การนำผ้าขาวม้าพาดบนบ่าขวา เจ้าสาว ยังคงนุ่งซิ่น ใส่เสื้อตามสมัยนิยม แลัะมีผ้าสะไบเฉียง (หน้า 71) - มีการทำเครื่องมือการเกษตรไว้ใช้เอง เช่น คราดไม้ มีด เสียม จอบ เป็นต้น - ภาชนะจักสานได้แก่ กระด้ง ตะแกรง ชะลอม กระจาด กระชอน ไซ สุ่ม ข้อง นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการทำเชือกจากปอ และเปลือกไม้ เป็นต้น - เครื่องประดับมี ประหล่ำ กำไล พริกเทศ ขุนเพชร จับปิ้งกันเกร่อ ผ้าทอ ซิ่น ผ้าขาวม้า กางเกง ถุงย่าม ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง เป็นต้น

Folklore

มีตำนานเล่ากัน 3-4 เรื่อง คือ จำปาสี่ต้น การะเกด นางแตงอ่อน ไก่แก้ว เซี่ยงเมี่ยง (หน้า 15)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ลาวครั่งมีความสัมพันธ์กับคนจีนและคนมอญที่เป็นพ่อค้าแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก หรือภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนคำที่ใช้เรียกลาวครั่งก็จะมี ลาวเต่าเหลือง เนื่องจากชอบอยู่ตามป่าเขามีนิสัยอิสระ (หน้า 29) อีกชื่อหนึ่งจะเรียกตามที่อยู่อาศัย เช่น ลาวด่านในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ลาวปอแดง หรือเรียกตามลักษณะการออกเสียงคำลงท้ายในการพูดของลาวครั่ง เช่น ลาวก๊ะล๊ะ ลาวล้อก้อ

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมเห็นได้ชัดจากการปฏิรูปวัฒนธรรมในชว่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเรื่องระเบียบประเพณีนิยมทำให้ลาวครั่งปรับเปลี่ยนการแต่งกาย พ.ศ.2501 เริ่มมีถนนมาลัยแมนทำให้อู่ทองขยายตัวออกไปทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านการคมนาคมขนส่ง ไฟฟ้า และการสาธารณสุข ทำให้ผู้คนจากภานนอกอพยพเข้ามาทำมาหากินในอู่ทองมากยิ่งขึ้น พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อการเพาะปลูกเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกปี (หน้า 48) อู่ทองกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการค้า นอกจากนั้นยังมีความเจริญจากเมืองหลวงและเมืองใกล้เคียง เช่น นครปฐม มีหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค การไฟฟ้า ปศุสัตว์อำเภอ สถานีอนามัย ปี พ.ศ. 2507-2508 เริ่มคลองชลประทานขุดจากอำเภอดอนเจดีย์มาสู่อำเภออู่ทอง ทำให้สามารถผลิตข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง มีการส่งเสริมจากภาครัฐในการผลิตน้ำตาล จนต้องมีการปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลังเพื่อส่งโรงงาน (หน้า 49-50) พ.ศ. 2510 เริ่มรับเทคโนโลยีในการผลิตพืชและการใช้เครื่องจักรกลในการผลิตแทนแรงงานคนและสัตว์ สำหรับทางด้านวัฒนธรรมนั้น ลาวครั่งได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปและรับเอาธรรมเนียมจากคนไทยท้องถิ่น เช่น ประเพณีการสู่ขวัญบ่าวสาวแบบลาวครั่งเดิมนั้น จะมีการสู่ขวัญบ่าวถือว่าเป็นแกนหลักในพิธีสมรส ต่อมาได้เลิกทำกันมาได้ 15 ปีแล้วเพราะหมอสูตรรุ่นเก่า ๆ ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ขณะเดียวกันก็รับเอาธรรมเนียมแบบคนในท้องถิ่นมาใช้เนื่องจากการหาข้าวของเครื่องใช้ในพิธีได้สะดวกกว่า มีการบอกกล่าวด้วยการ์ดแบบเมืองกรุง ตลอดจนหาว่าจ้างช่างภาพจากตลาดให้มาบันทึกเหตุการณ์ในวันงาน ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่นิยมการถ่ายภาพเพราะเกรงว่าจะเกิดลางร้ายทำให้อายุสั้น มีการทำสมุดบัญชีบันทึกรายชื่อผู้มาช่วยงานพร้อมทั้งจำนวนเงินข้าวของที่มาช่วยงานในครั้งนั้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีการรับธรรมเนียมจากคนท้องถิ่นสุพรรณบุรี คือ การนิมนต์มาเทศน์ให้บ่าวสาวได้ทำบุญใส่บาตรและปะพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่งานแต่งงานด้วย การแต่งกายของเจ้าบ่าวจะแต่งแบบสากลนิยมคงไว้เพียงการพาดผ้าขาวม้าบนบ่าขวา เจ้าสาวก็ยังนุ่งซิ่นคงไว้แต่ใส่เสื้อตามสมัยนิยม มีการแต่งหน้าจากร้านเสริมสวยในตลาด (น.71) มีการรดน้ำสังข์ตามแบบคนไทย แต่ยังคงมีการผูกข้อมือเรียกขวัญตามแบบฉบับลาวครั่ง งานศพนั้นจะมีการเผาเข้ามาแทนการฝังเพราะพื้นที่ในการฝังได้ปรับเปลี่ยนเป็นทุ่งนาไปแล้ว หมอผีและพระเข้ามาประกอบพิธีร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการใช้โลงไม้สำเร็จจากร้านของคนจีนแทนการใช้ไม้กระดานแบบเก่า แต่ไม่นำเอาพิธีกงเต็กแบบจีนมาใช้กลับไปนิยมทำศพแบบไทยมากกว่าตลอดจนการนำพวกหรีด ช่อดอกไม้ประดับโลงศพ มีมหรสพ ลิเก วงปี่พาทย์มอญบรรเลงสลับกับการร่ายรำต่าง ๆ การช่วยงานศพน้อยลงเนื่องจากมีการตั้งกลุ่มฌาปนกิจขึ้นในปี พ.ศ. 2523 ทั้งนี้ ใช่ว่าลาวครั่งจะรับแบบอย่างมาหมด หากแต่ยังรักษาธรรมเนียมเก่า ๆ ไว้ เช่น ไม่เผาผีวันพระ ไม่ต่อไฟจากบุคคลอื่นในขณะที่ใส่เชื้อไฟ ดอกไม้จันทน์ ธูป ลงในโลงศพ (น. 75)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst เรศวร เปรินทร์ Date of Report 05 เม.ย 2556
TAG ลาวครั่ง, ความเป็นอยู่, ประเพณี, การสังสรรค์ทางวัฒนธรรม, สุพรรณบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง