สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เวียดนาม ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จังหวัดพัทลุง
Author วิภู ชัยฤทธิ์
Title ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวเวียดนามอพยพกับชาวไทยท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity เวียด เหวียตเกี่ยว ไทยใหม่, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
[เอกสารฉบับเต็ม]
Total Pages 115 Year 2553
Source วิทยานิพนธ์ศิลปศาตรมหาบัณฑิต (ภูมิภาคศึกษา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

งานศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐเกี่ยวข้องกับชาวเวียดนามอพยพ ทั้งระดับมหาภาคและระดับท้องถิ่น ประเมินโลกทัศน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่าง ชาวเวียดนามอพยพผู้เป็น “คนนอก” กับชาวไทยท้องถิ่นผู้เป็น “คนใน” ซึ่งมีความผันแปรตามยุคสมัย และศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาชาวเวียดนามอพยพในจังหวัดพัทลุงกับชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นอื่นๆ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่อชาวเวียดนามอยู่ภายใต้บริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจในภูมิภาคในขณะนั้น ส่วนความผันแปรของนโยบายภาครัฐอันเกิดจากการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวเวียดนามอพยพ ทั้งนี้รัฐยุคเสรีประชาธิปไตยให้สิทธิ์และเสรีภาพแก่ผู้อพยพมากกว่ารัฐยุคเผด็จการ ขณะที่ ชาวเวียดนามอพยพได้รับช่วยเหลือในการให้งานเพื่อดำรงชีพจากคนในท้องถิ่น เนื่องจากมีจำนวนน้อยจนไม่เห็นว่าสามารถจะเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนท้องถิ่นได้

Focus

          ศึกษาปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐที่สัมพันธ์กับชาวเวียดนามอพยพทั้งในระดับท้องถิ่นและมหภาค, ศึกษาโลกทัศน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชาวเวียดนามอพยพผู้เป็น “คนนอก” กับคนไทยท้องถิ่นผู้เป็น “คนใน” ซึ่งมีความแปรผันตามยุค, และศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาชาวเวียดนามอพยพในจังหวัดพัทลุงกับชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นอื่นๆ 

Theoretical Issues

          ผู้ศึกษานำแนวคิดเกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม (Acculturation)แนวคิดเกี่ยวกับการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม (Assimilation) แนวความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Change) และทฤษฎีเกี่ยวพัน (Linkage Theory) มาประยุกต์ศึกษาเป็นเป็นแนวทางหาคำตอบปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐที่สัมพันธ์กับชาวเวียดนามอพยพในระดับต่าๆ ขณะเดียวกันยังเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวเวียดนามอพยพผู้เป็น “คนนอก” กับคนไทยท้องถิ่นผู้เป็น “คนใน” โดยใช้ตัวอย่างการศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาชาวเวียดนามอพยพในจังหวัดพัทลุงกับชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นอื่นๆ

Study Period (Data Collection)

          ผู้ศึกษากำหนดขอบเขตงานเอกสารที่ใช้ในการค้นคว้าช่วงการอพยพของชาวเวียดนามหลังการเกิดรัฐชาติ ต่อเนื่องยุคการอพยพมายังประเทศไทยของชาวเวียดนามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งศึกษาถึงยุคการอพยพชาวเวียดนามจากจังหวัดหนองคายไปยังจังหวัดพัทลุงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2496)

History of the Group and Community

          ผู้ศึกษาให้ภาพคนเวียดนามในประเทศเวียดประสบปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศมาตลอดประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงถูกยึดครองจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20ต่อเนื่องมาจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ตลอดจนสงครามอินโดจีน ทำให้เกิดการปราบปรามไล่ล่า ช่วงชิงทรัพยากร จนต้องหลบหนีภัยคุกคามออกนอกประเทศ ไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยและหนึ่งในพื้นที่อพยพก็คือจังหวัดพัทลุง (หน้า, 24-36) จังหวัดพัทลุงถูกเลือกให้เป็นจังหวัดที่จะให้คนเวียดนามอพยพ โดยเฉพาะในระดับแกนนำที่มีส่วนสนับสนุนการกู้ชาติเวียดนามมาอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเวียดนามมากที่สุดซึ่งยังอยู่ในอำนาจรัฐไทย และไม่อยู่ประชิดติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดพัทลุงโดยทางรถไฟ ชาวเวียดนามอพยพได้ถูกควบคุมตัวให้เดินเท้าต่อไปยัง สถานกักกันบ้านควนกุฎ ต.ควนกุฎ อ.เมือง จ.พัทลุง25 อยู่ห่างออกไปจากเขตเมืองไม่ไกลนักเป็นพื้นที่ของราชพัสดุ มีชาวบ้านอยู่อาศัยใกล้เคียงในเวลานั้นเพียง 3ครัวเรือน ถือเป็นสาขาหนึ่งของเรือนจำกลาง เขตธารโต(หน้า, 25-26)

Settlement Pattern

          คนเวียดนามในพื้นที่ปักษ์ใต้อย่างจังหวัดพัทลุง ตอนแรกคนกลุ่มนี้ถูกส่งไปอยู่สถานที่กักกัน ซึ่งเรียกว่าบ้านควนกุฎ ต่อมาไม่นานจึงปล่อยให้ทำมาหากินอิสระ หากแต่เกิดมีความอัตคัดทั้งโดยสถานภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ต้องต่อสู้ดินรนกระทั่งได้รับสัญญาชาติไทยในรุ่นต่อมา (หน้า, 4-5) แม้ในคราวแรกที่ถูกควบคุมตัวมา ชาวเวียดนามอพยพจะถูกควบคุมมาเฉพาะแต่ชายฉกรรจ์ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ออกทำมาหากินได้เป็นอิสระ ไม่นานบุตรและภรรยาก็เดินทางติดตามมาจาก จ.หนองคาย ในระยะแรกชาวเวียดนามอพยพซึ่งโดยมากเป็นญวนใหม่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ การหางานรับจ้างไปตามที่ต่างๆ จึงค่อนข้างยากลำบาก แต่ด้วยชาวเวียดนามอพยพถูกอบรมมาว่าการทำงานคือสิ่งที่มีเกียรติ พวกเขาจึงไม่เลือกงานที่ทำ บางครอบครัวรับจ้างทาสีย้อมผ้า บางครอบครัวรับจ้างเป็นกรรมกร เลื่อยไม้ กระจัดกระจายกันไปรอบพื้นที่เทศบาลเมืองพัทลุง แต่เนื่องจากขาดความคุ้นชินกับสภาพพื้นที่ ทำให้พวกเขาต้องเช่าบ้านอยู่รวมกันจนกลายเป็นชุมชนชาวเวียดนามอพยพขนาดย่อมๆ บริเวณหน้าวัดคูหาสวรรค์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงของจังหวัดพัทลุง และต่อมากลายเป็นวัดที่มีชาวจังหวัดพัทลุงจำนวนหนึ่งเรียกกันว่าวัดญวน เนื่องเพราะเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ให้ความอุปการะต่อชาวเวียดนามอพยพอย่างไม่รังเกียจเดียดฉันท์ โดยมีการจ้างงานในวัดให้ทำ เพราะเห็นว่าชุมชนชาวเวียดนามอพยพตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้กับวัด (หน้า, 71)   

Demography

          ให้ข้อมูลภาพรวม คนเวียดนามญวนอพยพหนีภัยสงครามการกวาดล้างของทหารฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2488-2489นั้น ปัจจุบันได้ให้กำเนิดบุตรหลานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จากสถิติประชากรคนญวนอพยพในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 42,211 คน (หน้า. 50) ส่วนจังหวัดพัทลุงยังมีคนไทยเชื้อสายเว๊ยดนามและผู้ถือบัตรต่างด้าวสัญชาติเวียดนามราว 20 ครอบครัว โดยส่วนใหญ่เมื่อได้สัญชาติไทยแล้วจะอพยพไปอยู่ขังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ดังเดิมของกลุ่มคนญงนอพยพฬนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (หน้า, 6)

Economy

          ชาวเวียดนามอพยพก็เริ่มใช้ทุนที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานหนักประกอบกิจการที่ตัวเองมีความถนัดเฉพาะด้าน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายอาชีพ อันล้วนแล้วแต่เป็นสาขาอาชีพขาดแคลนในท้องที่ เช่น ช่างรับซ่อมจักรยานยนต์ ช่างตัดผม แพทย์เถื่อน ตลอดไปถึงร้านซักรีด และร้านค้าขายทั่วไป โดยมีเอกลักษณ์ของความเป็นร้านคนเวียดนามอพยพคือ อุปกรณ์ต่างๆ ภายในร้าน จะถูกประดิษฐ์ขึ้นเองแทบทั้งหมด (หน้า, 71) ปัจจุบัน ชาวเวียดนามจังหวัดพัทลุงประกอบอาชีพขายวัสดุอุปกรณ์การเกษตร, เจ้าของอู่รถยนต์, ช่างทำเบาะ, รับจ้างซักรีด, และร้านขายอาหารเวียดนาม (หน้า, 6)

Social Organization

          ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยท้องถิ่นจังหวัดพัทลุงกับชาวเวียดนามอพยพคือ ชาวบ้านไม่ชอบให้ชาวเวียดนามอพยพพูดภาษาเวียดนามในทุกกรณี ทั้งกับคนในครอบครัว หรือพูดกับเพื่อนชาวเวียดนามอพยพคนอื่นๆ ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ยอมอุดหนุนในกิจการของชาวเวียดนามอพยพคนนั้นๆ ทำให้ชาวเวียดนามอพยพถูกสภาพสังคมกดดันให้ต้องหัดพูดภาษาไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อผลประโยชน์ในการประกอบอาชีพแต่ผลที่ได้หลังจากสามารถพูดภาษาไทยท้องถิ่นได้ คือ ทำให้ชาวเวียดนามอพยพยิ่งได้รับความเมตตาจากชาวไทยท้องถิ่นในด้านต่างๆ อีกหลายประการ ทั้งการรับเอาบุตรของชาวเวียดนามอพยพมาเป็นบุตรบุญธรรม การคุ้มครองช่วยเหลือไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ กระทั่งถึงการแต่งงานกับชาวเวียดนามอพยพ ด้วยประทับใจในความขยันขันแข็งไม่เกี่ยงงานหนัก (หน้า, 75)

Political Organization

          รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่น่าพิจารณาในงานศึกษาเรื่องนี้คือ สถานภาพทางสังคมที่ถูกเรียกว่าความเป็น “ญวน” กล่าวคือ ชาวเวียดนามอพยพที่เป็นลูกครึ่งระหว่างไทยกับเวียดนาม ผลลัพธ์จากความรู้สึกไม่มั่นคงในสวัสดิภาพและสถานภาพทางกฎหมายทำให้ชาวเวียดนามอพยพในรุ่นบุตรจำนวนมากพยายามหาทางออกด้วยวิธีหาคู่สมรสที่เป็นคนไทย โดยเฉพาะหากเป็นคนชาวเวียดนามอพยพที่เป็นสตรีจะมีโอกาสที่ดีกว่า คือ สามารถหาคู่ครองที่เป็นเจ้าหน้าที่ราชการระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครั้นเมื่อแต่งงานและติดตามสามีไปอาศัยในจังหวัดอื่นแล้ว สถานภาพความเป็น “ญวน” ก็จะถูกปกปิด พลังของวาทกรรม“ญวน” ที่มีความหมายด้านลบในสังคมพัทลุงจะไม่สามารถติดตามไปได้ แต่สำหรับผู้ชายชาวเวียดนามอพยพที่แต่งงานกับหญิงไทย หรือชาวเวียดนามอพยพที่แต่งกับชาวไทยซึ่งอยู่อาศัยอย่างถาวรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง คนกลุ่มนี้มักจะคงมีความระหวาดระแวงในความหมายของคำว่า “ญวน” ที่จะส่งไปถึงรุ่นลูกซึ่งเป็นชาวเวียดนามอพยพรุ่นหลาน จึงมักจะมีการสั่งสอนให้บุตรมีความเข้าใจในสถานภาพของตนที่แตกต่างกับบุคคลทั่วไป และให้ยอมรับคำว่า”ญวน” ซึ่งหมายถึงเชื้อชาตินั้น สามารถจะกลายเป็นคำที่มีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยามของบุคคลอื่นได้ตลอดเวลา ทั้งนี้หลายครอบครัวยังมีความพยายามในการที่จะปลูกฝังให้บุตรได้แสดงตัวตนต่อบุคคลอื่นอย่างชัดเจนว่าเป็นคนเชื้อสายเวียดนามหรือ “ญวน” เพื่อที่จะได้รับประกันว่าจะไม่กลายเป็นข้อดูถูกเหยียดหยามเมื่อเกิดทราบเรื่องดังกล่าวขึ้นภายหลัง ซึ่งกล่าวเฉพาะในทัศนคติของชาวเวียดนามอพยพรุ่นหลานเอง พวกเขามักจะไม่มีความรู้สึกหวาดกลัวต่อนโยบายรัฐ หรือการจำกัดควบคุมดังเช่นชาวเวียดนามอพยพรุ่นก่อนๆ เพราะภายหลังการถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามของสหรัฐอเมริกาในปี 2518 ได้ทำให้บรรยากาศของความหวาดระแวงที่มีต่อชาวเวียดนามอพยพคลี่คลายลงอย่างมาก เป็นผลให้นโยบายที่รัฐบาลไทยบังคับใช้กับชาวเวียดนามอพยพมีความผ่อนคลายลงในทางปฏิบัติ จนกระทั่ง รัฐบาลพลเรือนของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนมาใช้นโยบายผสมกลมกลืนตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา จึงทำให้ชาวเวียดนามอพยพรุ่นนี้ที่ภายหลังได้รับสัญชาติไทยทั้งหมด ไม่มีความรู้สึกหวาดเกรงในผลที่จะเกิดมาจากการเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามตามกฎหมาย เพราะพวกเขามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าคนไทยทั่วไปทุกประการ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางครอบครัวที่บิดามารดามีความพยายามที่จะจัดการให้บุตรของตนพ้นจากสถานภาพของการสืบเชื้อสายเวียดนามมาตั้งแต่การเกิด ด้วยการให้ตากับยายซึ่งเป็นคนไทยจดรับรองเป็นบุตรของตน หรือวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะประสบการณ์ที่รัฐมีนโยบายส่งกลับประเทศและการถูกถอนสัญชาติยังคอยหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลานั้นเอง (หน้า, 103-105)

Belief System

          ด้านความเชื่อในงานศึกษาเรื่องนี้นำเสนอเรื่องความเชื่อผีบรรพรุษ ดังเห็นจากภายในบ้านของชาวเวียดนามอพยพทุกครอบครัวจะมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และภายในวัดที่บริเวณสถูปก็จะพบแท่นบูชาบรรพบุรุษด้วย ในวันครบรอบวันตาย วันเทศกาลประเพณีต่างๆ ญาติของผู้ตายจะไปชุมนุมกันโดยลูกชายคนโตของผู้ตายจะเป็นผู้นำในการเซ่นไหว้อาหารและธูป จากนั้นคนในครอบครัวทั้งหมดจะไปที่สุสานของผู้ตาย พิธีจบลงด้วยสมาชิกในครอบครัวคุกเข่าลงหน้าแท่นบูชา ความล้มเหลวในการบูชาบรรพบุรุษของลูกหลานจะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่แสดงถึงความอกตัญญูต่อบิดามารดา เพราะทำให้บรรพบุรุษต้องเร่ร่อนอยู่ในนรก แต่การรับเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไปทำให้ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวเวียดนามอพยพในจังหวัดพัทลุงบางอย่างถูกปรับเปลี่ยน นั่นคือทุกครอบครัวยังคงมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษประจำบ้าน แต่จะจุดธูปบูชาเฉพาะในวันพระ ส่วนการเคารพศพในวันครบรอบการตายเดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากเปลี่ยนมาเคารพศพในวันสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นวันทำบุญให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อของชาวไทยท้องถิ่นที่ว่าเป็นวันซึ่งยมโลกเปิดประตูให้ดวงวิญญาณมารับส่วนบุญส่วนกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้ (หน้า, 76) 

Education and Socialization

          เมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงในระยะแรก ชาวเวียดนามอพยพแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเลย เพราะทั้งภรรยาและบุตรทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการประกอบอาชีพ หรือเป็นลูกมือของบิดา ต่อมาเมื่อสถานะทางเศรษฐกิจของชาวเวียดนามอพยพจำนวนหนึ่งเริ่มดีขึ้น จึงมีการสนับสนุนให้บุตรหลานของชาวเวียดนามอพยพได้เรียนรู้ภาษาเวียดนาม เพื่อสืบทอดความคิด เจตนารมณ์ และความรู้สึกร่วมในการเป็นชาวเวียดนามที่ต้องกลับไปกอบกู้ประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ในบรรดาชาวเวียดนามอพยพที่ถูกควบคุมตัวมานั้นประกอบไปด้วยคนหลากหลายอาชีพ หลายระดับการศึกษา จึงให้ความสำคัญต่อการศึกษาไม่เหมือนกัน พบว่าในชาวเวียดนามอพยพรุ่นบุตรนั้น ผู้หญิงโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้เข้าเรียนในสถานศึกษา ให้อยู่ช่วยงานบิดามารดา และเมื่อแต่งงานก็ต้องออกเรือนไป ส่วนผู้ชายมักจะได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนในระบบจนจบระดับชั้นมัธยมต้น การได้มีเพื่อนเป็นคนไทยทำให้ปมเรื่องชาติพันธุ์ถูกเจือจางลงไป ทั้งยังได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ เนื่องจากบุตรหลานของชาวเวียดนามส่วนใหญ่เรียนดีกว่าเด็กในท้องถิ่น แต่ต่อมาบุตรหลานของชาวเวียดนามอพยพหลายคนต้องประสบปัญหาคล้ายกัน คือต้องหยุดเรียนกลางคัน เนื่องจากรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งชาวเวียดนามอพยพกลับประเทศ ทำให้ชาวเวียดนามอพยพไม่เห็นประโยชน์ที่จะศึกษาต่อในโรงเรียนไทย เพราะคิดว่าอย่างไรเสียก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศเวียดนาม(หน้า, 77)นอกจากนี้ เมื่อชาวเวียดนามอพยพจำนวนหนึ่งเริ่มสามารถที่จะลงหลักปักฐาน จึงมีความพยายามที่จะรักษาอัตลักษณ์และอุดมการณ์ชาตินิยมเวียดนามเอาไว้ ด้วยการพยายามประชุมพบปะกันสม่ำเสมอ และการเปิดโรงเรียนสอนภาษาเวียดนามขึ้นที่บ้านหลังหนึ่งใกล้กับตลาดเพียรยินดีซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเทศบางเมืองพัทลุงในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นที่จะให้บุตรหลานของชาวเวียดนามอพยพสามารถที่จะใช้ภาษาเวียดนามได้เช่นเดียวกับรุ่นบิดามารดา และยังดำรงรักษาวัฒนธรรมการแต่งงานแบบคลุมถุงชนผ่านแม่สื่อ เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีสายเลือดเวียดนาม โดยมักจะเลือกให้บุตรชายหรือบุตรสาวได้แต่งงานกับชาวเวียดนามอพยพที่อยู่ในเขตจังหวัดหนองคายหรืออุดรธานี เพื่อจะได้ถ่ายทอดความเป็นเวียดนามที่เข้มข้นด้านความเชื่อ ประเพณี และอุดมการณ์ต่างๆ ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นพร้อมที่จะสืบสานปณิธานในการกอบกู้ชาติ จากการตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดินิยมอเมริกา (หน้า, 72)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์อาจพิจารณาได้จากการที่ชาวเวียดนามอพยพมีการประยุกต์ใช้วัฒนธรรมทางความเชื่อที่รับเข้ามาใหม่กับความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษในรูปแบบของการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามเวลาแบบเป็นขั้นเป็นตอน และได้มีการหยิบยืมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่มีร่องรอยของวัฒนธรรมเดิมเหลืออยู่เลย ภายใต้กรอบนิยามนี้ผู้ศึกษาไม่พบการหยิบยืมแบบแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปตามความศรัทธาในสถาบันทางศาสนาและตามโลกทัศน์ของชาวเวียดนามอพยพรุ่นหลังๆ ซึ่งมีความคุ้นชินกับสังคมท้องถิ่นโดยเฉพาะภายหลังที่รัฐไทยจงใจจะใช้นโยบายผสมกลมกลืนกับคนกลุ่มนี้นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม แม้จนปัจจุบันร่องรอยของวัฒนธรรมแบบเวียดนามก็ยังคงเหลืออยู่ และบางครั้งก็พบว่ากลับมีการปรับเปลี่ยนแบบย้อนคืนไปสู่ความเป็นเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยของการโยกย้ายถิ่นเข้ามาของชาวเวียดนามอพยพกลุ่มใหม่ที่เกิดในประเทศไทย แต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่มาก จึงสามารถดำรงรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นชาวเวียดนามเอาไว้ได้มากและด้วยความภาคภูมิใจ (หน้า, 105-107)

Social Cultural and Identity Change

          การพยายามปรับตัวของชาวเวียดนามอพยพ ภายใต้แรงกดดันเรื่องภาษา วัฒนธรรม และความต้องการปัจจัยในการดำรงชีวิต จนกระทั้งต้องยอมละทิ้งจากอัตลักษณ์และอุดมการณ์แบบเวียดนามไปเพื่อดำรงชีพอยู่ในสังคมเมืองพัทลุงสะท้อนให้เห็นการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เนื่องจากบุคคลต่างวัฒนธรรมกัน มีการติดต่อโดยตรงต่อเนื่องกัน จึงยังมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในแบบอย่างดั้งเดิมของวัฒนธรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือทั้งสองกลุ่ม ซึ่งในที่นี้ด้วยปัจจัยด้านพื้นที่ จำนวนประชากร และความเข้มแข็งของวัฒนธรรมท้องถิ่น มีผลให้ชาวเวียดนามอพยพต้องเป็นฝ่ายปรับตัวดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะภายหลังจากที่สถาบันศาสนาในท้องถิ่นเข้ามามีอิทธิพลต่อชาวเวียดนามอพยพมากขึ้น การปรับเปลี่ยนพิธีกรรมและรูปแบบความเชื่อในระยะต่อๆ มาก็มิได้เกิดจากความจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตเพียงถ่ายเดียว แต่กลับเกิดมาจากความศรัทธาในสถาบันทางศาสนาด้วย และมีผลทำให้มีความสัมพันธ์กับท้องถิ่นในลักษณะที่ผสมกลมกลืนกันง่ายขึ้นในทางวัฒนธรรม เนื่องจากมีที่มาของโครงสร้างวัฒนธรรมจากแก่นแกนเดียวกัน (หน้า, 106-107)

Map/Illustration

ตาราง
ตารางสรุปการใหสัญชาติไทยแก่ชาวเวียดนามในจังหวัดพัทลุง (หน้า, 87)

ภาพ
ภาพโรงเรียนบ้านควนกุฎในปัจจุบัน ซึ่งอดีตเคยเป็นสถานที่กักกันชาวเวียดนามอพยพ (หน้า, 69)
ภาพตัวอย่างหิ้งบูชาบรรพบุรุษ (หน้า, 76)
ภาพเรือโดยสารที่สภากาชาดเวียดนามนำชาวเวียดนามกลับมาตุภูมิ ณ ท่าเรือคลองเตย (หน้า, 78)
ภาพบรรยากาศในพิธีศพของชาวเวียดนามอพยพที่นั่งอยู่ด้านล่าง คือ คณะเจ้าภาพซึ่งเป็นลูกหลานของผู้ตาย (หน้า, 89) 

Text Analyst เอกรินทร์ พึ่งประชา Date of Report 07 มิ.ย 2562
TAG เวียดนาม, ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม, จังหวัดพัทลุง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง