สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,ประวัติศาสตร์,ประเพณี,วิถีชีวิต,นครปฐม
Author นุกูล ชมภูนิช
Title ประเพณี ชาวไทยโซ่ง : หมู่บ้านเกาะแรต
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 178 Year 2538
Source จัดพิมพ์โดย กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ
Abstract

มีเนื้อหาครอบคลุมชีวิตความเป็นอยู่ของไทยโซ่ง หมู่บ้านเกาะแรต ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายไทยโซ่งในด้านต่าง ๆ

Focus

เป็นการศึกษาความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเชื้อสายลาวโซ่ง เพื่อเน้นให้เห็นถึงการเคลื่อนย้าย อพยพผู้คนจากเพชรบุรีมาตั้งถิ่นฐานในนครปฐม สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจนกลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยโซ่ง หรือ ลาวโซ่ง รู้จักกันในชื่อ "ผู้ไทดำ" ซึ่งอพยพมาจากสิบสองจุไท คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนลาวแต่เป็นคนไตหรือไทดำ มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองแถงแคว้นสิบสองจุไททางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม (หน้า 6)

Language and Linguistic Affiliations

โซ่งมีอักษรและภาษาพูดเป็นของตนเอง เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทยก็ได้นำเอาอักษรและภาษาของตนเองมาใช้ด้วย ภาษาพูดยังคงใช้กันอยู่ในหมู่ผู้สูงอายุจนถึงปัจจุบัน ส่วนภาษาเขียนจะบันทึกไว้ในสมุดไทยต่อ ๆ กันมา ภาษาไทยโซ่งมีสำเนียงคล้ายคลึงกับสำเนียงทางภาคอีสาน และบางส่วนก็คล้ายกับภาษาทางภาคเหนือ ภาษาไทยโซ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยสาขาตะวันออกเฉียงใต้ (หน้า 80, 83)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ไทยโซ่ง หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ผู้ไทดำ" อพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ต่อมาอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในครั้งที่ยกทับไปตีเวียงจันทร์ ใน พ.ศ. 2321 และได้กวาดต้อนครอบครัวไทดำในเมืองแถงมาด้วย และในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปตีเมืองแถงอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2378 เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็ได้อพยพคนผู้ไตดำในเมืองแถงกลับมาด้วย โดยโปรดเกล้าให้ไตไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองเพชรบุรี (หน้า 6-7) ไทยโซ่งหมู่บ้านเกาะแรต ในราว พ.ศ. 2441 ไทยโซ่งกลุ่มหนึ่งที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ในบริเวณคลองในตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้เดินทางโดยทางเท้ามุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เดินทางข้ามแม่นำแม่กลอง ไปตามคลองดำเนินสะดวก สมัยนั้นยังเป็นลำธารธรรมดาอยู่และผ่านบ้านบัวลอย แล้วเดินทางต่อไปถึงทุ่งหนองผำ ซึ่งเป็นบ้านเกาะแรตปัจจุบัน และก็เดินทางข้ามแม่น้ำท่าจีนไปทางทิศตะวันออกถึงเขตคลองนกกระทง ตำบลบางผาชี อำเภอบางเลน ปรากฎว่าเป็นที่ลุ่มไม่เหมาะที่จะตั้งบ้านเรือนจึงเดินทางย้อนกลับไปจนถึงบ้านเกาะแรต เพราะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะแก่การทำมาหากินจึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่กันจนถึงทุกวันนี้ (หน้า 10,แผนผังหน้า 16)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของไทยโซ่ง เดิมพื้นที่บ้านเกาะแรตนี้เป็นป่ามีคลองบางปลาไหลผ่านลงไป ไหลออกไปสู่แม่น้ำท่าจีน ไทยโซ่งรุ่นแรก ๆ จะสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางปลาฝั่งตะวันออก สร้างบ้านด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก รูปแบบบ้านลาวโซ่งโดยเฉพาะ คือ มีใต้ถุนสูง หลังคาทรงสูงมาก มุงด้วยแฝก ยอดจั่วมีไม้สลักไขว้เหมือนเขากวาง ทิ้งชายคายาวคลุมถึงพื้นบ้าน และมีช่องว่างสำหรับให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก และมักสร้างยุ้งข้าวไว้ใกล้บ้านเสมอ บ้านแต่ละหลังจะอยู่ไม่ไกลกัน จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 10-20 หลังคาเรือน มีที่ทำนาอยู่ถัดคลองออกไปประมาณ 1-2 ก.ม. จะถางป่าให้เป็นพื้นที่ทำนาและพื้นที่นี้จะมีน้ำตลอดปี มีปลาชุกชุมเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และเหนือคลองนี้ขึ้นไปก็จะเป็นสถานที่ซื้อขายสินค้ากัน บริเวณนี้จึงเกิดเป็นตลาดการค้าขึ้น และมีความเจริญรุ่งเรืองผ่านมาประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว (หน้า 7, 17)

Demography

ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่เพียงกล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่าอำเภอบางเลนมีพลเมืองประมาณ 76,389 คน ตำบลบางปลามีประชากรประมาณ 869 หลังคาเรือน รวม 921 ครอบครัว และบ้านเกาะแรตมีจำนวนประชากรประมาณ 200 กว่าหลังคาเรือน (หน้า 4,73)

Economy

สังคมไทยโซ่ง มีพื้นฐานมาจากการเกษตรกรรม การปลูกข้าวเป็นเศรษฐกิจหลัก โดยปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ไทยโซ่งหมู่บ้านเกาะแรตมีอาชีพทำนาและพื้นดินแถบนี้เป็นที่ลุ่มมีน้ำตลอดปี โดยมีคลองบางปลาเป็นแหล่งน้ำในการทำนาของหมู่บ้าน พื้นที่การทำนาจะกระจายไปตามความยาวของลำคลอง ระบบชลประทานมีการใช้ระหัดชกมวย หรือระหัดตีนถีบเพื่อชักน้ำให้ไหลเข้าผืนนา การไถนาสมัยก่อนใช้แรงงานควายและวัว แต่ปัจจุบันใช้เครื่องยนต์แทน จึงทำให้สามารถทำนาได้จำนวนมากและทำได้ตลอดปีๆ ละ 2-3 ครั้ง เรียกว่า นาปี และนาปรัง แม้จะทำนาได้ปีละหลายครั้งแต่ฐานะของไทยโซ่ง หมู่บ้านเกาะแรตก็มีฐานะไม่ดีนัก เพราะการลงทุนสูงและไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง จนทำให้หลายครอบครัวเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยโซ่งก็ยังยึดอาชีพการทำนามากกว่าอาชีพอื่น (หน้า 73 รูปหน้า 74-79)

Social Organization

ในงานการศึกษากล่าวว่า ไทยโซ่งจัดระเบียบสังคมของครอบครัวใช้ระบบเครือญาติเป็นเกณฑ์ การนับถือผีเดียวกันเป็นหลักในการรวมกลุ่ม รวมพวกเด็กเคารพผู้ใหญ่ พ่อแม่เป็นผู้ที่ลูกนับถือสูงสุดทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว สถานภาพของผู้ชายจะมีสิทธิมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายเท่านั้นจะเป็นผู้สืบผี และสืบตระกูลผู้หญิงเวลาแต่งงานออกจากบ้านไปแล้วต้องไปถือผีข้างสามี จะต้องทำงานในบ้านปรนนิบัติแม่และพ่อสามี การแบ่งชนชั้นทางสังคมแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ตระกูลชั้นผู้ท้าวก็คือตระกูลทีเคยเป็นเจ้าผู้ครองนครในอดีต และตระกูลชั้นผู้น้อยก็ได้แก่ ตระกูลของสามัญชนทั่วไป การทำพิธีในตระกูลผู้ท้าวจะมีความแตกต่างเป็นพิเศษกว่าตระกูลผู้น้อย หนุ่มสาวต่างชนชั้นสามารถแต่งงานกันได้ (หน้า 88, 101,103, 134-135, 175-176) การแต่งงานฝ่ายชายจะเป็นผู้ไปสู่ขอฝ่ายหญิง เรียกว่า "โอ้โลม" หรือ "ส่อง" เมื่อเจรจาตกลงกันแล้วก็กำหนดวันหมั้น ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะเตรียมห่อหมากพลู บุหรี่สองชุดให้หญิงสาวสองคนถือไปพร้อมกับการแต่งกาบชุดประเพณี ระหว่างการหมั้นฝ่ายชายสามารถไปมาหาสู่กับฝ่ายหญิงได้เป็นครั้งคราว บางครั้งพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะยอมให้ฝ่ายชายหลับนอนกับฝ่ายหญิงได้จึงทำให้บางรายท้องก่อนแต่ง แต่ประเพณีไทยโซ่งไม่ถือกันในเรื่องนี้ ในบางครั้งฝ่ายชายต้องอยู่รับใช้หรือรับอาสาทำงานให้บ้านฝ่ายหญิง (หน้า 131-132, รูปหน้า 137-140)

Political Organization

การปกครองของไทยโซ่งมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน มีการปกครองกันเป็นแบบเครือญาติ ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ (หน้า 175, 179) การแบ่งเขตการปกครองของหมู่บ้านเกาะแรตแบ่งเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 12 อยู่ใน ต.บางปลา (หน้า 9) ซึ่งเป็นพื้นที่การปกครองของ อ.บางเลน (หน้า 3) ผู้นำหมู่บ้านไทยโซ่งบ้านเกาะแรตคนแรกชื่อ นายทรัพย์ ส่วนผู้ที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของไทยโซ่ง คือ หมอพิธี ซึ่งจะมีวิชาเฉพาะ เช่น หมอเสนเรือนผู้ท้าวซึ่งต้องมีเชื้อสายเป็นผู้ท้าวมาก่อน (หน้า 101) หมอพิธีเรียกมนต์ (หน้า 104) เมื่อชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องขอให้หมอพิธีเรียกขวัญช่วยเหลือ (หน้า 111)

Belief System

ไทยโซ่งมีความเชื่ออำนาจที่เหนือธรรมชาติ อำนาจลึกลับ มีการนับถือแถนหรือผีฟ้าเป็นเทพสูงสุด เชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างและกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก นอกจากนี้ ไทยโซ่งยังนับถือผีบรรพบุรุษและผีประจำเรือนของตน (หน้า 172) ผีเรือนคือผีที่ตายในบ้านนั้นและต้องเป็นผีที่ตายดีมิใช่ตายโหง หลังจากเผาศพแล้วจะมีพิธีอัญเชิญวิญญาณให้มาอยู่ในบ้าน ทุกบ้านจะมีรายชื่อของผู้ตายหรือบัญชีของผีเรือนไว้เรียกว่า "ปับผีเรือน" (หน้า 87) นอกจากนี้ ยังมีผีเรือนอีกประเภทหนึ่งซึ่งเมื่อมีชีวิตอยู่มีวิชาและเวทย์มนต์ สามารถรักษาไข้ ถอนพิษ ถอนคุณได้ ตายไปแล้วลูกหลานจะอัญเชิญมาเป็นผีเรือน (หน้า 103) นอกจากนี้ ยังมีผีที่เกิดจากความคิดที่ว่าสิ่งของต่าง ๆ ย่อมมีเจ้าของดูแลรักษา เช่น ผีเตาไฟ ผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีขวัญของแต่ละคน เป็นต้น (หน้า 172) ต่อมาเมื่อไทยโซ่งหันมานับถือศาสนาพุทธ แม้ไทยโซ่งส่วนใหญ่ในบ้านเกาะแรตนับถือศาสนาพุทธ (หน้า 5) แต่ก็ได้นำประเพณีแบบดั้งเดิมเข้าไปผสมผสานกับประเพณีและพิธีกรรมของพุทธศาสนา ประเพณีและพิธีกรรมของไทยโซ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันและการนับถือผี พิธีกรรมสำคัญ ๆ ได้แก่ ประเพณีการเสนเรือน คือ พิธีเซ่นผีเรือน นิยมทำเป็นประจำในแต่ละบ้าน เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูและเชื่อว่าผีเรือนจะปกป้องคุ้มครอง แต่ละบ้านผู้รับหน้าที่ประกอบพิธีนี้คือลูกชายคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้สืบผีต่อจากบิดา ผู้ทำพิธีเซ่นไหว้เรียกว่าหมอเสน ในวันพิธี หมอเสนจะเป็นผู้บอกกล่าวผีเรือนให้รับทราบ และป้อนอาหารให้ผีกินทีละชื่อตามปับผีเรือน (หน้า 87-88,90-91, รูปหน้า 96-99) ประเพณีการเสนตั้งบั้ง เป็นพิธีการเซ่นผีเรือนอีกประเภทหนึ่ง คือ เป็นผีที่เมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้มีเวทย์มนต์ หรือมีวิชาสามารถรักษาไข้ ถอนพิษถอนคุณได้ เมื่อตายไปลูกหลานจะอันเชิญมาเป็นผีเรือน (หน้า 103) การประกอบพิธีนั้นเริ่มจากหมอพิธีจะเตรียมเครื่องบูชาและอาหารที่จะนำมาเซ่น หมอพิธีจะเป็นผู้บอกกล่าวให้แถน (เทวดา) รับทราบและขอให้แถนช่วยตามหาขวัญของมนต์ ซึ่งมนต์ที่เชิญมารับของเซ่นไหว้นี้คือวิญญาณของหมอพิธีที่ตายไปแล้ว ในการรับขวัญของมนต์ที่ลงมารับเครื่องเซ่นไหว้นี้จะมีการสร้างสิ่งสมมติที่ขวัญมนต์จะลงมาประทับ เช่น สวนแก้ว หอแก้ว จากนั้นจึงเริ่มพิธีเฉลิมขวัญมนต์ในการเสนตั้งบั้งนั้นมีลักษณะพิเศษกว่าการเสนอื่นๆ เนื่องจากผีเรือนนั้นเป็นเทวดาจึงต้องมีปี่ประโคมและร่ายรำประกอบ (หน้า 104-106 รูปหน้า 107-110) ประเพณีเสนเรียกขวัญ ไทยโซ่งมีความเชื่อว่าขวัญเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งประจำอยู่ในตัวทุกคน บางครั้งก็หนีออกจากตัวได้ เมื่อใดที่ขวัญไม่อยู่กับตัวจะทำให้เจ็บป่วยจึงต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับคืนมา โดยทำพิธีอ้อนวอนแถนหรือเทวดาให้ปล่อยขวัญให้คืนมา มีการไถ่ขวัญด้วยสิ่งของแลกเปลี่ยน มีการขับกล่อมด้วยดนตรี ชาวบ้านเรียกพิธีนี้ว่า "เสนตัว" ในการทำพิธีจะมีปี่และกลองประโคมสลับกับการอัญเชิญขวัญ มีการต่อเงาหัวหรือต่ออายุให้ผู้ป่วย (หน้า 111 รูปหน้า 116-121) ประเพณีการทำศพ เมื่อมีการตายในหมู่บ้านชาวบ้านทุกคนจะหยุดทำงานทุกอย่างเป็นการไว้ทุกข์ และช่วยกันจัดงานศพ เรียกว่า "กำบ้าน กำเมือง" เมื่อคนตายใหม่ ๆ ญาติพี่น้องจะช่วยกันอาบน้ำศพ แต่งตัวให้ศพโดยนำเสื้อฮีประจำตัวของผู้ตายกลับเอาข้างในออกแล้วใส่ให้ศพ ยกศพวางบนแคร่ทำด้วยไม้ไผ่เรียกว่า "จอง" แล้วนำศพวางไว้ใต้ขื่อบ้านตามความยาวของขื่อ นำผ้ามาห่อศพแล้วสร้างเรือนแสครอบ เรือนแสมีลักษณะคล้ายมุ้งใหญ่ทำด้วยผ้าขาวหรือเป็นม่านล้อมให้รอบ เหนือศพจะมีราวไม้ไผ่แขวนไว้กับขื่อบ้าน เรียกว่า "ขรัวล่วน" เจ้าบ้านจะนำเสื้อผ้าของผู้ตายแขวนพาดไว้ ที่ปลายเท้าของศพจะมีอาหารเซ่นไหว้ สมัยก่อนจะตั้งศพไว้หนึ่งคืนแล้วนำไปเผา ปัจจุบันตั้งศพไว้ 2-3 คืน มีการนิมนต์พระมาสวด วันรุ่งขึ้นจะมีหมอพิธีมาทำพิธีบอกทางให้กับผู้ตาย เพื่อให้วิญญาณเดินทางกลับบ้านเกิด คือเมืองแถง (ประเทศเวียดนาม) เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วจะยกหีบศพวางขวางกับขื่อให้ลูกหลานเดินเวียนศพจากซ้ายไปขวา 3 รอบ ตอนบ่ายเป็นการเคลื่อนศพออกจากบ้านเพื่อนำไปเผา โดยมีลูกชายเดินถือธงนำหน้า อีกวันเป็นวันเก็บกระดูกและส่งสิ่งของเครื่องใช้ให้ศพ (หน้า 141-143, รูปหน้า 148-154) ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ สำหรับไทยโซ่ง เมื่อมีการสร้างบ้านใหม่ก่อนที่เจ้าบ้านจะย้ายเข้าไปอาศัยต้องประกอบพิธีกรรมก่อน ในการประกอบพิธี หมอพิธีจะทำน้ำมนต์ไว้สำหรับพรมไล่ผีปัดรังควานสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ซึ่งอาจแอบแฝงอยู่ในบ้านให้ออกไป นอกจากนี้ยังมีข้าวสาร เกลือ ทราย และถั่วงาโปรยซัดไปทั่วบริเวณบ้าน จากนั้นเจ้าบ้านและญาติพี่น้องจะมารวมกันนอกบ้านเพื่อจัดขบวนนำด้วยหมอพิธีแล้วเดินเวียนขวารอบบ้านใหม่ 3 รอบ ก่อนขึ้นบันไดบ้านหมอพิธีจะใช้มีดดาบมาฟันหัวบันได 1 ครั้ง พร้อมทั้งเสกคาถาเป็นการข่มขวง หรือไล่ผีสางนางไม้ออกไป (หน้า 155)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านเกาะแรตมีโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐ 2 แห่ง คือ โรงเรียนวัดเกาะแรต และโรงเรียนตลาดเกาะแรต (หน้า 5)

Health and Medicine

ไทยโซ่งมีความเชื่อว่าความเจ็บไข้ไม่สบายของร่างกายนั้นเกิดจากขวัญไม่อยู่กับตัว เนื่องจากขวัญถือเป็นสิ่งสำคัญประจำตัว เปรียบเหมือนเทวดาประจำตัว ถ้าขวัญหนีไปหรือไปอยู่กับตัวก็จะบันดาลให้เกิดการเจ็บไข้ไม่สบาย การรักษานั้นทำโดยการทำพิธีเสนเรียกขวัญเพื่ออ้อนวอนแถนหรือเทวดาให้ปล่อยขวัญกลับคืนมา (หน้า 111)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ด้านสถาปัตยกรรม ลักษณะของบ้านเรือนจะสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ต้นไม้ หญ้า เป็นต้น เสาบ้านทำด้วยต้นไม้ทั้งต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง พื้นบ้านเป็นฟากสับทำด้วยไม้ไผ่ทุบให้แบนเป็นชิ้น ๆ แผ่ออกเป็นแผ่นติดกัน หรือทำด้วยกระดานไม้ หลังคาและปีกนกยาวลงมาเสมอกับชายคาบ้าน และมีลักษณะโค้งเป็นกระโจมมุงด้วยแฝก สามารถป้องกันลมหนาวได้ ที่ยอดจั่วมีการประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาขวางไขว้กัน เรียกว่า ขอกุด ใต้ถุนบ้านเปิดโล่งและมีความสูงสามารถเดินลอดได้ใช้สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ มีบันไดขึ้นทางชานหน้าบ้านและหลังบ้าน บ้านกั้นฝาสะกัดหัวท้ายบ้าน ฝาด้านข้างเอนออกจากแนวเสาและมีความสูงไม่ถึงหลังคา ปลายบนของฝาด้านข้างทำเป็นหิ้งวางของใช้ในครัวและใต้หิ้งใช้วางเตาไฟ ภายในบ้านเป็นพื้นที่โล่งไม่กั้นห้อง มุมหนึ่งของเสาบ้านใช้เป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือนทุก ๆ 5 และ 10 วัน (หน้า 18, รูปหน้า 21-25) บ้านของไทยโซ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมาเริ่มเปลี่ยนไปโดยมีลักษณะกลมกลืนกับสังคมไทยอย่างเรือนไทยภาคกลาง คือ มีจั่วยอดแหลม ฝาบ้านเป็นฝาปะกนใต้ถุนสูง มีนอกชานหน้าบ้าน กั้นห้องทึบที่ตัวเรือนมีครัวขวางไว้ที่หัวสะกัดของชานบ้าน มีการต่อชายคาให้ยาวลงมาเกือบเสมอพื้นบ้าน ทำให้มีฝาผนังเตี้ย ๆ จึงเจาะช่องหน้าต่างได้ช่องเล็ก ส่วนไทยโซ่งในรุ่นปัจจุบันนิยมสร้างบ้านเป็นเรือนไทยประยุกต์ ใช้ปูนแทนไม้และหลังคามุงด้วยกระเบื้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไว้ คือ ห้องผีเรือน (หน้า 19 รูปหน้า 27-38) ในการศึกษากล่าวว่า สถาปัตยกรรมการสร้างบ้านเรือนของไทยโซ่ง ซึ่งมีบ้านเรือนแบบดั้งเดิมที่แปลกไปจากบ้านทั่ว ๆ ไป คือ บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ การแต่งกายของไทยโซ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเอง การแต่งกายของผู้ชาย นุ่งกางเกงขาสั้นปลายขาแคบเรียวยาวปิดเข่า ขอบกางเกงส่วนเอวกว้างแบบกางเกงจีน ใช้นุ่งทำงาน ส่วนกางเกงขายาวมีความยาวถึงตาตุ่มเรียกว่า ส้วงฮี ใช้ใส่ในงานพิธีและเที่ยวเตร่ กางเกงทั้ง 2 แบบเป็นผ้าฝ้ายทอด้วยมือและย้อมด้วยครามหรือฮ่อม เสื้อของผู้ชายเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอกแคบ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินยอดแหลมมีลวดลาย คอตั้งไม่มีปก สาบเสื้อด้านล่างแหวกออกให้ห่างกัน เรียกว่า "เสื้อซอน" มีกระเป๋าคาดเอวสำหรับใส่ของประจำตัวต่างๆ กระเป๋าคาดเอวทำด้วยผ้าสีดำสลับด้วยผ้าสีแดงและเหลือง นอกจากนี้เสื้อสำหรับใส่ในงานพิธีสำคัญ เรียกว่า เสื้อฮี ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำ ตกแต่งด้วยเศษผ้าไหมชิ้นเล็ก ๆ ไว้ตรงสาบ ชายเสื้อ ปลายแขน ใต้รักแร้ และเหนือรอยผ่าด้านข้างทั้งสองข้าง เสื้อฮีเป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า (หน้า 39-40 รูปหน้า 43,44,46) การแต่งกายของผู้หญิง ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นซึ่งเป็นผ้าถุงสีดำ พื้นมีลายเป็นเส้นสีขาวขนาดเล็กยาวตามแนวตั้ง ทอด้วยเส้นด้ายสีดำสลับสีขาวหรือฟ้าอ่อน ผู้หญิงจะสวมเสื้อก้อมซึ่งเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก คอตั้งผ่าหน้าติดกระดุมเงินถี่ๆ เรียงกัน 10 เม็ด เป็นผ้าฝ้ายทอด้วยมือแล้วย้อมสีดำ เสื้อฮีของฝ่ายหญิงเป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า แขนยาวกว้าง คอแหลม ไม่ผ่าไหล่ สวมศรีษะเวลาใช้มีสาบเป็นผ้าแพรหรือไหมสีดำกว้าง 1 คืบ ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำทั้งตัว มีลวดลายรอบแขนทำด้วยเศษผ้าไหมสีต่าง ๆ ด้านหน้าของตัวเสื้อประดับด้วยเศษผ้าไหมสีแดง เหลือง เขียว ขาวเป็นแถบลงมารูปสามเหลี่ยม (หน้า 40-41 รูปหน้า 43,45,47) การแต่งกายของเด็ก จะใช้ผ้าผืนหนึ่งปิดหน้าอกหน้าท้อง มีสายโยงไปข้างหลังผูกมัดไว้ หมวกของเด็ก หรือ "มู" ทำด้วยผ้าสีดำ ลักษณะคล้ายถุงผ้า ไม่มีปีกหมวกด้านหน้า ปักเป็นลวดลายด้วยไหมหรือด้ายสีสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีสายสะพายสีดำเรียกว่า "เพลา" เป็นผ้าพันรอบตัวเด็กแล้วไปคล้องไหล่แม่ (หน้า 42) เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของไทยโซ่ง คือ การไว้ทรงผม ทรงผมของผู้หญิงไทยโซ่งมีแบบต่างกันไปตามวัย ดังนี้ "สับปิ่น" เป็นแบบทรงผมของเด็กหญิงอายุราว 14-15 ปี ไว้ผมยาวแล้วพับปลายผมสับหวีไว้ท้ายทอย ..."จุกผม" เป็นแบบทรงผมของเด็กหญิงอายุราว 14-15 ปี ทำเป็นกระบังไว้ข้างหน้า ข้างหลังไว้เปีย ... "ขอดกะตอก" เป็นแบบทรงผมของเด็กหญิงอายุราว 16-17 ปี ไว้ผมยาว ผูกผมแบบผูกเชือกเงื่อนตาย ... "ยอดซอย" เป็นแบบทรงผมของเด็กหญิงอายุราว 17-18 ปี ไว้ผมยาวผูกเงื่อนตาย.."ปั้นเกล้าซอย" เป็นแบบทรงผมของเด็กหญิงอายุราว 19-20 ปี ไว้ผมยาวผูกผมเหมือนผูกเนคไทหูกระต่าย แต่มีหางยาวออกมาทางขวา ... "ปั้นเกล้า" เป็นแบบผมของหญิงสาวอายุ 20 ปีขึ้นไป ไว้ผมยาวมากม้วนเป็นกลุ่มไว้ข้างหน้าแบบปั้นเกล้าซอยแต่ไม่มีหางออก ... "ปั้นเกล้าตก" เป็นผมสำหรับไว้ทุกข์ของหญิงม่ายหรือหญิงที่สามีตาย คือทำให้กลุ่มผมห้อยอยู่ท้ายทอย นอกจากนี้ประเพณีของไทยโซ่งห้ามมิให้เด็กหญิงที่ยังไม่ได้ทำผม "ปั้นเกล้า" ห้ามแต่งงาน (หน้า 49-50 รูปหน้า 48,50) สำหรับงานหัตถกรรมนั้นส่วนใหญ่ไทยโซ่งทำเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ใช้เอง เช่น เครื่องใช้ในการทำนาและผลิตข้าวเปลือกข้าวสาร ได้แก่ ไถ คราด พรั่วหรือลั่ว เกวียน ครกกระเดื่อง กระด้งฝัดข้าว ตะอกรง กระบุง (หน้า 51-52 รูหน้า 53-55) ส่วนเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ "ปานหรือพาน" เป็นภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นไหว้ผีเรือนและเทวดา (หน้า 53 รูปหน้า 56) "โฮ้" เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะทรงกระบอก ใช้สำหรับใส่เศษผ้า ด้าย และเครื่องเย็บปักร้อยของผู้หญิง (หน้า 57 รูปหน้า 61) "ขมุก"เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีฝาปิด ไว้สำหรับใส่ผ้าที่ทอเสร็จแล้ว (หน้า 57 รูปหน้า 61) "ซ้าหลอด หรือตะกร้าหลอด" หมายถึง ตะกร้าสำหรับใส่หลอดด้ายเพื่อเตรียมไว้สำหรับทอผ้าเป็นของใช้ของผู้หญิง สานด้วยตอกไม้ไผ่เส้นละเอียดมาก มีลักษณะเป็นรูปไข่ปากผายก้นสอดมีหูสำหรับถือ (หน้า 57 รูปหน้า 62) "กะเหล็บ" เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็ก เป็นของผู้ชายซึ่งจะต้องสานก่อนแต่งงาน เพราะเจ้าบ่าวต้องสะพายบ่าตอนเข้าพิธีแต่งงาน (หน้า 57 รูปหน้า 62) "งอบ" เป็นหมวกที่ใช้กันแดดและฝน สานด้วยตอกไม้ไผ่ทั้งลูกยาด้วยชัน (หน้า 57 รูปหน้า 65) "กระจาดหาบ" หรือหาบเข่ง เป็นกระจาด 2 ใบ หรือคู่หนึ่งมีสาแหรกสำหรับให้ไม้คานสอดหาบหามได้ มีลักษณะปากกลมก้นสอบเป็นรูปแปดเหลี่ยมหรือหกเหลี่ยม (หน้า 57 รูปหน้า 64) แอบข้าว" เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่รูปทรงเหมือนตุ่มคอสูง ใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งแล้ว (หน้า 58 รูปหน้า 63) "ไหนึ่ง" เป็นภาชนะสำหรับนึ่งข้าวเหนียว (หน้า 58) "เชี่ยนหมาก" หรือ "ขันหมาก" เป็นภาชนะสำหรับใส่หมากพลู บุหรี่ เป็นเครื่องต้อนรับแขกประจำบ้าน ทำด้วยไม้กระดานต่อเป็นรูปกะบะสี่เหลี่ยม (หน้า 58 รูปหน้า 66) "มุ้ง" ทำด้วยผ้าทอมือย้อมสีดำและตัดเย็บด้วยมือทั้งหลัง (หน้า 58 รูปหน้า 68) ไทยโซ่งมีความสามารถในการทอผ้ามาก ทุกบ้านจะมีเครื่องทอผ้าพื้นเมืองตั้งอยู่ เรียกว่า กี่ทอผ้า เครื่องทอผ้าของโซ่งเป็นเครื่องทอผ้าแบบพุ่งเส้นด้ายทีละเส้นด้วยมือ(หน้า 59 รูปหน้า 70) การย้อมสีผ้าส่วนมากย้อมด้วยสีดำ สีแดง และสีเหลือง เทคนิคในการย้อมผ้าให้เป็นสีครามนี้เรียกว่า ย้อมฮ่อม น้ำฮ่อมทำจากต้นครามเป็นส่วนใหญ่ (หน้า 59-60 รูปหน้า 71) ประเพณีการละเล่นของไทยโซ่งมีการเล่นคอน ซึ่งในภาษาโซ่งเรียกว่า "อิ้นก๊อน" เป็นประเพณีที่เล่นกันเฉพาะหนุ่มสาว มีการเล่นโยนลูกช่วงและร่ายรำตามจังหวะเพลงแคนและต่อกลอน การเล่นคอนช่วยให้ไทยโซ่งรักษาเชื้อสายเผ่าพันธุ์ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและช่วยให้หนุ่มสาวไทยโซ่งต่างถิ่นมีโอกาสรู้จักกันและแต่งงานกันได้ การเล่นคอนมักนิยมเล่นช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวคือ ราวเดือน 4 เดือน 5 การเล่นคอนแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ เล่นแบบธรรมดาวันเดียว และเล่นแบบติดต่อกันหลายวัน วิธีการเล่นเริ่มจากฝ่ายชายจะปรบมือและเป่าแคนเป็นจังหวะเดินเข้าไปยังลานขวง ฝ่ายหญิงก็จะออกมารำกับฝ่ายชายเป็นคู่ๆ หมอลำจะเป็นผู้ร้องเพลงแอ่วสาวประกอบ ส่วนฝ่ายหญิงก็จะร้องเพลงโต้ตอบ หลังจากร้องเพลงและรำกันจนเหนื่อยแล้วหนุ่มสาวก็จะเปลี่ยนมาทอดลูกช่วง หรือ "ตอดมะก็อน" ในภาษาของไทยโซ่ง ลูกช่วงคือห่อผ้ารูปสี่เหลี่ยมจตุรัสภายในมีเม็ดมะขาม ภายนอกตกแต่งด้วยผ้าหรือด้ายสีต่างๆ ผูกให้เป็นตุ้งติ้ง การเล่นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ผลัดกันโยนและรับ ฝ่ายไหนรับได้อีกฝ่ายจะต้องไปขอคืน (หน้า156-157 รูปหน้า 159-163) การอยู่ข่วงหรือลงข่วง คือ การที่หญิงสาวกลุ่มหนึ่งลงมาทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปั่นด้าย ปั่นฝ้าย ในบริเวณข่วงหรือลานบ้านในเวลาหัวค่ำ การอยู่ข่วงเป็นการเปิดโอกาสให้ชายหนุ่มได้มารู้จักสนทนากับหญิงสาว หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสื่อให้ชายหนุ่มและหญิงสาวมีโอกาสเลือกคู่ครอง (หน้า 158)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยโซ่ง หมู่บ้านเกาะแรตที่ยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบันที่ปรากฏในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย การไว้ทรงผม งานหัตถกรรม ตัวอักษร ภาษาพูด และประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ ไทยโซ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางเมืองแถงในแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม จึงมีความสัมพันธ์กับชาวลาวในเวียงจันทร์ เดิมมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนลาว เนื่องจากเห็นว่าเดินทางมาจากเวียงจันทร์ ประเทศลาว แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นไตหรือไทดำ (หน้า 6-7)

Social Cultural and Identity Change

ปัจจุบันสถานภาพของไทยโซ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากรัฐบาลได้เข้ามาให้ความสนใจและสนับสนุนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทยโซ่ง แม้ว่าไทยโซ่งจะพยายามรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตนไว้แต่วิถีชีวิตของหนุ่มสาวไทยโซ่งได้ปรับเปลี่ยนไปแล้วตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การแต่งกายของหนุ่มสาวนิยมนุ่งกางเกงยีนส์และเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ทั้งนี้เพราะการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของรัฐบาล มีการเปลี่ยนอาชีพ การแต่งกาย ทรงผม และเปลี่ยนความประพฤติไปจากเดิม แต่ก็ยังมีไทยโซ่งอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด (หน้า 177-178)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ประเทศไทยแสดงที่ตั้งจังหวัดนครปฐม (หน้า 11) แผนที่จังหวัดนครปฐม แสดงอาณาเขต และที่ตั้งอำเภอต่าง ๆ (หน้า 12) แผนที่แสดงการกระจายของลาวกลุ่มต่าง ๆ ในอำเภอบางเลน (หน้า 13) แผนที่แสดงที่ตั้งตำบลบางปลา และอำเภอบางเลน (หน้า 14) แผนผังหมู่บ้านเกาะแรต ตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม (หน้า 15)

Text Analyst อมรรัตน์ พิยะกูล Date of Report 05 พ.ย. 2555
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, ประวัติศาสตร์, ประเพณี, วิถีชีวิต, นครปฐม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง