สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject บีซู ภาษาศาสตร์ ข้อความ/วาทกรรม(discourse) คำอนุภาค (Particles) ภาคเหนือ ประเทศไทย
Author Person, Kirk Roger
Title Sentence Final Particles in Bisu Narrative
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text -
Ethnic Identity บีซู บี่สู บีสู่, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 266 Year 2543
Source The faculty of the Graduate school of the University of Texas at Arlington
Abstract

          การศึกษาภาษาบีซูในภาคเหนือของไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าใจการทำงานภายในของคำอนุภาคท้ายประโยคโดยวิเคราะห์จากข้อความ/วาทกรรม การเล่าเรื่อง (Narrative Discourse) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของลักษณะตัวบท (Primary of text type) ในการใช้คำอนุภาคภาษาบีซู คำอนุภาคที่ใช้มากในเรื่องเล่า (Folktales) ไม่ค่อยปรากฏในตัวบทแบบบรรยาย (Expository texts) และเรื่องเล่าชีวิต (Life stories) นอกจากนั้นตำแหน่ง/จุดในวาทกรรมที่ประโยคนั้นปรากฏมีผลต่อการกระจายคำอนุภาค และก็มีคำอนุภาคที่แน่นอนไม่เคยถูกใช้ในการเปิดและปิดเรื่อง (น.ix-x)

Focus

ศึกษาหน้าที่ของคำอนุภาคในวาทกรรมบีซู (น.31) 

Theoretical Issues

          ผู้เขียนกล่าวว่า คำอนุภาคเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของภาษาเอเชียหลายภาษา แต่ทว่า การศึกษาไวยากรณ์เกี่ยวกับคำอนุภาคยังมีน้อย ซึ่งอาจจะเนื่องจากการปฏิบัติทางทฤษฎีของระบบหน่วยไวยากรณ์ที่ประกอบด้วยกฎจำกัดและคงที่หนึ่งชุด โดยใช้รายการคำและสัญลักษณ์ในการสร้าง หรือ อธิบาย โครงสร้างที่อาจจะเป็นไปได้ในภาษา  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนใจการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ไปยัง การจัดเรียงประโยค ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำอนุภาคและความหมายที่แท้จริงของคำอนุภาคสามารถเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้  แม้แต่ผู้พูดภาษาแม่ที่มีการศึกษาก็ยังกล่าวบ่อยๆว่า คำอนุภาคไม่ใช่ “คำที่แท้จริง” และไม่มีความหมาย “แท้จริง” (น.ix)  ในการศึกษานี้ผู้เขียนมุ่งที่จะเข้าใจการทำงานภายในของคำอนุภาคท้ายประโยคในภาษาบีซูโดยมีสมมติฐานว่า การใช้คำอนุภาคในวาทกรรมบีซูได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชนิดตัวบท (Text type) ลักษณะประเภท (Genre) ตำแหน่งในวาทกรรม สภาวะกรรม(Transitivity) และความหมายแฝงทางอรรถศาสตร์ (semantic connotation) ทั้งนี้ผู้เขียนได้จำกัดขอบเขตการศึกษาที่การเข้าใจความหมายของคำอนุภาคและการใช้คำอนุภาคในบริบทของเรื่องเล่าพื้นบ้าน (Folktales) เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิต(life stories) และตัวบทบรรยาย (Expository Texts) ซึ่งทั้งหมดเป็นการเล่าเรื่องคนเดียว (Monologues) (น.31) 

Ethnic Group in the Focus

บีซูในจังหวัดเชียงราย 2 หมู่บ้าน คือบีซูดอยชมพู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว และบีซูดอยปุย ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จ.เชียงราย (น.2)

Language and Linguistic Affiliations

         คำ “บีซู” (Bisu) หมายถึงคน เป็นคำที่สมาชิกของชุมชนใช้เรียกตนเอง (น.2) ภาษาบีซูจัดอยู่ในสาขาพม่า–อี้โพ/โลโล (Burmese-Yiphoish/Lolo) ตระกูลทิเบต – พม่า (Tibeto – Burmese family) (น.1) 
         ระบบเสียง (Phonology) โครงสร้างพยางค์ในภาษาบีซูประกอบด้วย  พยัญชนะต้น ( พยัญชนะตัวที่สองในคำควบกล้ำ)  เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ พยัญชนะท้าย (น.32) 
         ภาษาบีซูมีพยัญชนะต้น 30 ตัว (ดูภาพ 1.14 หน้า 33) ซึ่งในจำนวนนี้มี 9 ตัว ที่เป็นพยัญชนะท้าย  ส่วนพยัญชนะควบกล้ำมี 14 ตัว เกิดในตำแหน่งพยางค์ต้นเท่านั้น ส่วนสระในภาษาบีซูมี 9 เสียง และมีสระผสม 2 เสียง และมีเสียงวรรณยุกต์ 3 เสียง คือ เสียงต่ำ เสียงกลาง และเสียงสูง (น.32-36)
          วากยสัมพันธ์ (Syntax) มีลักษณะดังนี้ 
         1. ลักษณะไวยากรณ์ของภาษาบีซูมีดังนี้
              - ใช้คำกริยาที่เป็นชุดแสดงเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน
              - ไม่มีสิ่งบ่งบอก เพศในคำนาม ไม่มีการแสดงวาจกหรือกรรมกริยา (Noice) กาล (Tense) เพศ (Gender) 
              - ไม่มีระบบการสอดคล้องระหว่างประธาน – กริยา  (น.39-40) 
          2. นามวลี ในภาษาบีซูมีการเรียงลำดับดังนี้ คำแสดงความเป็นเจ้าของคำหลัก คำคุณศัพท์ คำนำหน้า จำนวน ลักษณะนาม  (น.39-40)
          3. กริยาวลี  ประกอบด้วย คำกริยาหลัก และคำวิเศษณ์หรือคำอนุภาคท้ายประโยค  ทั้งนี้มีอยู่บ่อยครั้งที่คำวิเศษณ์ไม่อยู่ติดกับคำกริยาหลัก (น.40-41) 
              3.1 คำคุณศัพท์กริยา (Verbal Adjective) ภาษาบีซูก็เช่นเดียวกับภาษาอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้คำคุณศัพท์กริยาจำนวนมากคำคุณศัพท์กริยาเหล่านี้เหมือนกับคำคุณศัพท์ที่พบในนามวลีแต่ทำหน้าที่แสดงการกระทำของประโยค (น.41-42) 
              3.2 คำกริยาที่เป็นชุด (Serial verb) มีการใช้มากในภาษาบีซูซึ่งภาษาอังกฤษจะแยกคำกริยาเป็นประโยคเดียว (น.42)
         4. อนุพากย์ (Clause) มีการเรียงลำดับคำดังนี้ ประธาน กรรม กริยา  และในภาษาบีซู คำ ”naa” ทำหน้าที่เหมือนกรรม (an accusative –like function) ในอนุพากย์ (น.43) 
         5. เวลาและสถานที่ ตำแหน่งของคำบอกเวลาและสถานที่ จะอยู่ที่ต้นประโยค (น.45-46)
         6. Zero anaphora เป็นลักษณะหนึ่งของภาษาบีซูที่ละเว้นการซ้ำคำที่เอ่ยถึงในประโยคแรกของเนื้อเรื่อง (น.46)
         7. อนุพากย์ย่อย (embedded clause) อนุพากย์ที่ขยายคำนามในภาษาบีซูไม่มีคำ/เครื่องหมายที่แตกต่างใดๆ แต่จะวางอยู่ข้างหลังคำนามที่มันขยาย (น.47-48) 
         8. ประโยคประกอบ (Compound sentences) ภาษาบีซูไม่มีคำเชื่อมแสดงความสัมพันธ์ของประโยค แต่จะบ่งบอกโดยตำแหน่งของอนุพากย์ที่อยู่ติดกัน ภายในประโยคเดียวกัน (น.48-49)
 

Study Period (Data Collection)

ไม่ได้ระบุชัดเจน ผู้เขียนกล่าวเพียงว่า เรื่องเล่าบีซู 13 เรื่องที่สำรวจในการศึกษานี้ เขียนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1999 (น.70)

History of the Group and Community

         บีซูในประเทศจีน  ฉู่ ซือซวน (Xu Shixuan) สืบค้นร่องรอยความเป็นมาของบีซูในจีน โดยเชื่อมโยงกระแสการอพยพครั้งแรกของบีซูกับกองกำลังต่อต้านท้องถิ่นที่นำโดย ลี่ เหวินหมิง (Li Wenming) และลี่เซียวเล่า(Li Xiaolao) ซึ่งเป็นคนลาหู่ เขาเห็นว่าหลังจากกองกำลังต่อต้านถูกโจมตีพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1806 บีซูก็อพยพลงมาทางใต้ตามลำน้ำหนานกู่ (The Nanku River) มาอาศัยอยู่ที่หมี่มา หมี่เมิง (Miema Miemeng) ช่วงระยะหนึ่งกับกลุ่มคนที่ร่างกายสูงใหญ่ ผมเหลือง ดั้งจมูกสูง ขายาว แต่เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม บีซูจึงอพยพกลับ เดินทางผ่านจงหนาน หนานชู (Chongnan Nanshu) และมาถึงเมิ่งเจียว เมิ่งตง (Mengjiao Mengdong) ซึ่งปัจจุบันคือ จางหยวน (Cangyuan) ในยูนนาน บีซูอยู่ที่นั่นกับคนว้า (The Wa People) ระยะหนึ่งแต่เนื่องจากพวกเขาเป็นคนกลุ่มเล็ก จึงถูกผู้ปกครอง (Tusi) รังแกและทารุณ ดังนั้น ยา มากาน (Ya Makan) ผู้นำบีซูก็ได้พาบีซูหลบหนีแต่ก็โดนผู้ปกครองจับกลับไป ถึงกระนั้นก็มีครัวเรือนบีซูจำนวนหนึ่งหนีรอดปลอดภัยไปจนถึงมักเมิงนัว (Mug Mengnuo) ซึ่งปัจจุบันคือ มูกา เซียง (Muga Xiang) ในเขตลานจาง (Lan cang County) ต่อมาก็อพยพเคลื่อนย้ายไปตงจู (Dongzhu) ซึ่งอยู่ในจูถัง เชียง เขตลานจาง (Zhutang Xiang, Lan cang County) และที่นั่นจำนวนครัวเรือนบีซูได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ครัวเรือน  ในต้นคริสตวรรษที่ 20 เกิดการต่อต้านครั้งที่ 2 และนำไปสู่การอพยพครั้งที่ 2 ของบีซูในปี ค.ศ. 1918 ลี่หลง (Li Long) และลี่หู (Li Hu) ได้นำชาวนาลุกขึ้นสู้รบในเขตลานจาง โจมตีผู้ปกครองในระบบถู่ซือ (tusi) บีซูก็เข้าร่วมกับการสู้รบครั้งนี้ด้วย แต่สุดท้ายกองกำลังชาวนาก็พ่ายแพ้ บีซูกลัวว่า หมู่บ้านของเขาจะถูกทำร้าย ครอบครัวถูกฆ่าจึงตัดสินใจหนีลงมายังดินแดนเมืองเมิงเลี่ยน (Menglian) ซีเมิ่ง (Ximeng) และเมิ่งไห่ (Menghai) อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บีซูที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นผลสืบเนื่องมาจากบีซูที่เข้าร่วมสู้รบในกองกำลังต่อต้านในจีน เนื่องจากสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ของบีซูในไทยมีอยู่อย่างจำกัด (น. 7 - 9) 
          บีซูในประเทศไทย บีซูในไทยจดจำประวัติความเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ตนได้เล็กน้อย สิ่งที่พวกเขาจดจำร่วมกันคือ ช่วงเวลาที่พวกเขาเลี้ยงฝูงวัวและควายจำนวนและไม่ว่าจะอยู่ที่ใดพวกเขาก็มีปัญหาถูกคนไทยเหนือขโมยสัตว์เลี้ยงและหลอกลวงเอาที่ดินไปจากพวกเขา  เมื่อประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา บีซูทั้งกลุ่มได้ย้ายลงมาอยู่ที่ลาดเขาของดอยชมพู พื้นที่บริเวณนี้ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวนาดำ  พวกเขาปลูกข้าวไร่แต่ก็ได้ผลผลิตน้อย พวกเขาหาอาหารและเก็บของป่าไปแลกเปลี่ยนกับคนไทยเพื่อข้าว เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ประชากรบีซูที่ดอยชมพูเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนบีซูกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งออกจากหมู่บ้านไปตั้งบ้านเรือนใหม่ที่ดอยปุย ซึ่งห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 ไมล์ ที่ดอยปุยพวกเขาสามารถปลูกข้าวนาดำได้ผลผลิตบ้าง แต่การขาดแคลนน้ำทำให้การเก็บเกี่ยวจำกัด บีซูที่ดอยปุยไม่แต่งงานกับคนนอก พวกเขาจะแต่งงานกันภายในกลุ่มบีซู และผลักดันคู่แต่งงานที่แต่งกับคนนอกให้ไปอยู่นอกหมู่บ้าน บีซูดอยปุยถือว่าพวกเขาเป็น ‘บีซูที่แท้จริง’ (‘true Bisu’) ขณะที่บีซูดอยชมพูยอมรับการแต่งงานกับคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 บีซูทั้งสองแห่งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลขยายโอกาสทางการศึกษามาที่หมู่บ้านทั้งสอง  บีซูดอยปุยได้พัฒนาการปลูกข้าวนำดำแบบขั้นบันไดโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น บีซูยังได้รับบัตรประชาชนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการมีโอกาสทางการศึกษาและทำงาน และในคริสต์ทศวรรษ 1990 มีไฟฟ้าและน้ำประปาภูเขาในหมู่บ้านทั้งสอง (น. 9 - 10)
 

Settlement Pattern

         ลักษณะบ้านเรือน  เรือนแบบดั้งเดิมทำด้วยไม้ไผ่ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีระเบียงด้านหน้าเรือน  ที่เชิงบันไดเรือนมีครกขนาดใหญ่สำหรับตำข้าวเปลือก ตัวเรือนมีประตู 2 บาน ที่ด้านหน้าและด้านหลัง ทั้งนี้ประตูด้านหลังใช้เฉพาะเคลื่อนย้ายศพเท่านั้น ฝาเรือนจะลาดเอียง ภายในตัวเรือนเป็นห้องขนาดใหญ่ห้องเดียว แบ่งพื้นที่เป็นที่นอนส่วนหนึ่ง ที่ทำอาหารอีกส่วนหนึ่ง ที่มุมหนึ่งของเรือนเป็นที่ตั้งเตาไฟสี่เหลี่ยมขนาดหนึ่งเมตรทำด้วยไม้ เหนือเตาไฟมีหิ้งแขวน ปัจจุบันเรือนของบีซูมีลักษณะตามแบบเรือนทางภาคเหนือของไทยใช้ไม้สร้างมากกว่าไม้ไผ่ (น.11)

Demography

ประชากรบีซูดอยชมพูประมาณ 200 คน ส่วนบีซูดอยปุยมีประมาณ 500 คน (น. 2)

Economy

         การเพาะปลูก บีซูปลูกข้าว กระเทียม ข้าวโพด ถั่วเป็นพืชเงินสด เลี้ยงไก่และหมูไว้บริโภค ขายและไหว้ผี ในฤดูฝนบีซูจะเข้าป่าเก็บหน่อไม้และล่าสัตว์เพื่อบริโภคและขาย (น. 15) 
         การรับจ้างใช้แรงงาน ระหว่างการเพาะปลูกผู้ชายและผู้หญิงจะรับจ้างชาวนาไทยทำงานวันละ 100 บาท นอกจากนั้นแล้วยังมีหนุ่มสาวบีซูจำนวนมากไปทำงานในกรุงเทพหรือเชียงใหม่เป็นงานในโรงงานที่ใช้ทักษะน้อย ส่วนผู้หญิงจำนวนมากก็ขายบริการ (น. 15)
 

Social Organization

         สายตระกูล บีซูตั้งถิ่นฐานตามสายตระกูลข้างพ่อ ซึ่งมี 4 ตระกูลคือ ตระกูลเสือ ตระกูลนกฮูก ตระกูลนาก และตระกูล “เซินกันทะ” ซึ่งบีซูเองก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ในสี่ตระกูลนี้ ตระกูลเสือเป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุด  และในหมู่บ้านใหญ่สองหมู่บ้านจะแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ตระกูล ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นทางการและไม่มีบทบาทในการปกครองหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังแบ่งที่นาตามสายตระกูลด้วย (น. 19)
         ครอบครัวและการแต่งงาน บีซูแต่งงานออกนอกตระกูล  เมื่อแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะเป็นคนในตระกูลของสามี แต่ถ้าผู้หญิงแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่บีซู และผู้หญิงยังคงเป็นสมาชิกในตระกูลเดิมของตน (น. 19) 
         ปัจจุบันชายหนุ่มได้รับอนุญาตให้เลือกเจ้าสาวได้เอง ส่วนขั้นตอนการแต่งงานตามประเพณี ซึ่งบีซูที่ดอยชมภูยังคนปฏิบัติอยู่  โดยเริ่มต้นที่บ้านเจ้าบ่าวในตอนเย็น สมาชิกที่อาวุโสที่สุดของครอบครัวจะมากินอาหารและปรึกษาการหมั้นหมาย  จากนั้นตอนกลางคืน ครอบครัวเจ้าบ่าวจะจุดคบไฟและพากันไปบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงคบไฟอาจจะดับพอดีที่หน้าประตูหรือถ้าครอบครัวฝ่ายหญิงยังมีกองไฟภายในบ้านก็จะนำคบไฟไปดับในพื้นที่ส่วนที่เป็นครัว จากนั้นผู้อาวุโสของครอบครัวที่เป็นที่นับถือก็เจรจารายละเอียดการแต่งงานและค่าสินสอด (น. 19 - 20)
          ก่อนพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจะต้องไปทำงานใช้แรงงานและอยู่ที่บ้านพ่อแม่เจ้าสาว 1 – 3 ปี ระหว่างนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวมีเพศสัมพันธ์กันได้ ดังนั้นในพิธีแต่งงานจึงเป็นเรื่องปกติที่เจ้าสาวเจ้าบ่าวมีลูก 1 – 2 คน ในช่วงนี้ครอบครัวเจ้าสาวยังมีสิทธิ์ปฏิเสธเจ้าบ่าว  ขณะที่เจ้าบ่าวก็มีสิทธิ์ยกเลิกพันธะสัญญาได้เช่นกัน เมื่อเจ้าบ่าวสิ้นสุดการทำงานให้พ่อแม่เจ้าสาว ก็จะกำหนดวันแต่งงาน ในวันนั้นญาติๆจะมารวมกันที่บ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาว  ที่ห้องนอนเจ้าบ่าวจะตั้งเสาไม้ไผ่มีเส้นฝ้ายผูกโยงเสาไม้ไผ่กับจุดต่างๆในห้องนอนและรอบบ้านเพื่อนๆและสมาชิกครอบครัวจะเรียงแถวเข้าไปในห้องเพื่อรินน้ำลงในอ่างที่หน้าเสาไม้ไผ่  จากนั้นเจ้าบ่าวและคณะจะพากันไปบ้านเจ้าสาว โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านนำขบวน การประกอบพิธีจะทำในห้องเจ้าสาว โดยผู้อาวุโสจะให้คำแนะนำสั่งสอนคู่บ่าวสาว จากนั้นหนึ่งในหมู่ผู้อาวุโสที่เป็นชายจะป้อนข้าวเหนียวแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว และให้ดื่มน้ำจากแก้วน้ำเดียวกัน สุดท้ายผู้อาวุโสคนอื่นๆก็ให้พรบ่าวสาว หลังจากนั้นขบวนบ่าวสาวก็พากันไปบ้านเจ้าบ่าว ทั้งนี้เจ้าสาวได้นำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในครัวเรือนเข้าไปบ้านใหม่ของพวกเขาด้วย (น. 20 - 22)
         ในอดีตบีซูห้ามแต่งงานกับคนนอกที่ไม่ใช่บีซู แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 10 ปีหลัง การแต่งงานกับคนนอกมีมากขึ้นโดยเฉพาะหมู่บ้านผาแดง (น. 22) 
 

Belief System

         การนับถือผี บีซูนับถือศาสนาพุทธ ในขณะเดียวกันก็ยังคงนับถือผีด้วยเช่นกัน มีทั้งผีหมู่บ้าน ผีในป่า ผีในถ้ำ ในทุ่งนาและอื่นๆ บีซูเรียกผีที่ดูแลหมู่บ้านว่า ‘อังเจา’  ซึ่งมีผู้ช่วยชื่อ ‘ม้า’ (maa) หมายถึง ม้า มีหน้าที่ดูแลผีม้าที่เป็นหัวหน้าของม้า บริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านมีศาลาเล็ก 2 หลังสำหรับใช้เซ่นไหว้ผีปีละ 3 ครั้ง โดยหมอผีเป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนชาวบ้านจัดหาไก่สำหรับเซ่นไหว้ เมื่อเซ่นไหว้แล้วหมอผีจะเสี่ยงทายว่าผีต้องการกินอะไร โดยเทข้าวหักๆจำนวนหนึ่งออกจากถ้วย จำนวนเมล็ดข้าวจะบ่งบอกว่าผีต้องการเหล้า เกลือ น้ำแกง หรืออื่นๆ ในวันทำพิธีเซ่นไหว้ ห้ามชาวบ้านทั้งหมดทำงานในทุ่งนา ถ้าฝ่าฝืนจะถูกปรับ 100 บาท (น. 16,18) 
         การนับถือพุทธศาสนา ผู้ชายบีซูส่วนมากมักบวช  ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะบวชให้พ่อแม่ ถ้าเป็นเด็กจะบวชเพื่อเรียนหนังสือ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีการทำบุญในหมู่บ้านเช่นเดียวกันคนไทยทางเหนือ  และปัจจุบันบีซูเผาศพแทนการฝังตามแบบประเพณีดั้งเดิม (น. 18)
 

Education and Socialization

ผู้ชายบีซูที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จะมีความรู้อ่าน-เขียนได้ โดยได้รับการศึกษาในวัด (น.18)

Health and Medicine

         การเจ็บป่วย บีซูเชื่อว่า ผีในป่าในถ้ำในทุ่งนาและอื่นๆ ทำให้เกิดการเจ็บป่วย บางครั้งก็ทำให้ตาย ทั้งนี้บีซูได้แยกการเจ็บป่วยที่ใช้ยาสมัยใหม่และการเจ็บป่วยที่ไม่ใช้ยาสมัยใหม่และมีสาเหตุจากผี ในกรณีหลังนี้ คนเจ็บหรือสมาชิกของครอบครัวคนเจ็บจะใช้ “ไม้ผี” เสี่ยงทาย ความยาวของไม้ โดยตั้งคำถามใช่/ไม่ใช่ ถ้าคำตอบ “ใช่” ไม่ผีจะมีความยาวเพิ่มขึ้น แล้วคนเจ็บหรือสมาชิกในครอบครัวคนเจ็บก็จะทำพิธีเซ่นไหว้ผี (น.18)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

         การแต่งกาย บีซูได้ละทิ้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของตนมานาน 50ปีแล้ว เนื่องจากคนรุ่นก่อนๆไม่กล้าแสดงตนเป็นบีซู พยายามแต่งกายให้เหมือนคนไทย แต่กระนั้นก็มีหญิงบีซูสูงอายุคนหนึ่งยังคงเก็บรักษาเสื้อผ้าชุดแต่งงานของแม่ตนไว้ ลักษณะเสื้อคล้ายกับไทใหญ่ตัวเสื้อมีปกตั้งติดคอสีน้ำเงิน ขอบเสื้อมีเส้นด้ายเล็กๆสีแดง ปัจจุบัน บีซูแต่งกายตามแบบคนภาคเหนือทั้งหญิงและชายใส่เสื้อม่อฮ่อม (น.13)

Folklore

ในการศึกษานี้ผู้เขียนได้สำรวจเรื่องเล่า 13 เรื่องดังนี้
          1. เรื่องไอ่คำไปตกปลา ไอ่คำวางกับดักจับปลาในลำห้วย ตอนเย็นนากตัวหนึ่งได้เข้าไปกินปลาในกับดักหมด แต่นากออกจากกับดักไม่ได้ เช้าตรู่วันต่อมามีกระต่ายตัวหนึ่งมาและบอกนากว่า เจ้าของกับดักจะต้องฆ่านากแน่ๆ นากจึงขอให้กระต่ายช่วย กระต่ายปล่อยก๊าซเข้าปากนาก ตอนสายไอ่คำมาดูกับดักก็คิดว่านากตายแล้ว จึงขว้างนากออกจากกับดัก แล้วเขาก็เห็นกระต่ายทำท่าทางเหมือนถูกไม้เสียบ จึงมุ่งไปจะจับกระต่าย กระต่ายก็ขว้างไม้ทิ้งแล้ววิ่งหนีไป ขณะที่นากก็หนีไปได้ (น.73)
          2. นายเขียวหูหนวกกับนายเปาตาบอด : เรื่องขโมยสองคน นายเปาชายตาบอดกับนายเขียวชายหูหนวกเป็นเพื่อนกัน สองคนพากันไปขโมยไก่ของปู่แก้ว นายเขียวเป็นคนจับไก่ นายเป่าเป็นคนบอกว่าจับไก่ตัวไหน นายเขียวไม่ได้ยินที่นายเปาบอก ก็ตะโกนถาม ปู่แก้วได้ยินเสียงก็ลงมาดู  นายเขียวหนีไปได้ ส่วนนายเปาหนีไม่พ้นถูกจับได้ก็รับสารภาพ(น.73)
          3. หงส์กับเต่า เต่าตัวหนึ่งต้องการข้ามหุบเขาไปหาอาหารบนภูเขาอีกลูกหนึ่ง หงส์สองตัวตกลงจะช่วยเต่า จึงนำไม้มาให้เต่าคาบ แล้วหงส์ทั้งสองตัวก็จับปลายไม้พาเต่าบินข้ามหุบเขา ขณะที่บินอยู่นั้น เด็กชายคนหนึ่งเลี้ยงควายอยู่เห็นสัตว์ทั้งสามตัว จึงร้องตะโกนว่า “หงส์หามเต่า” เต่าก็ร้องตอบว่า “ไม่ใช่ ฉันต่างหากแบกหงส์” ขณะที่เต่าพูดปากมันก็หลุดจากไม้ แล้วมันก็หล่นไปในปากควาย กระดองของมันแตกเป็นชิ้นๆ อวัยวะภายในกระเด็นไปบนแขนของเด็กชาย นั่นเป็นสาเหตุให้ริมฝีปากบนของควายไม่แข็ง และรักแร้ของคนมีกลิ่น (น.73-74)
          4. เต่ากับกระรอก เต่ากับกระรอกเป็นเพื่อนกัน เข้าไปในป่า เขาพากันเก็บกินพืชผลเล็กๆสีแดงของต้นไม้ชนิดหนึ่ง กระรอกเก็บอยู่บนกิ่งไม้ ส่วนเต่าเลือกเก็บลูกไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นดินใส่ถุงบนหลัง ระหว่างทางกลับบ้าน กระรอกปวดท้อง เต่าจึงแบกกระรอกไว้ในถุงบนหลัง ระหว่างทางกลับบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้าน กระรอกก็บอกหายปวดท้องแล้ว เต่าจึงกลับไปหาลูกๆและบอกเรื่องผลไม้ที่นำกลับมา แต่เมื่อเปิดถุงก็พบแต่ความว่างเปล่า เต่าจึงรู้ว่าถูกกระรอกหลอก เช้าวันต่อมา เต่ากลับไปที่ต้นไม้นั้นและวางกับดักที่โคนต้น แล้วก็กลับหมู่บ้าน ชวนกระรอกเดินมาในป่า กระรอกเดินไปติดกับดักและถูกฆ่า เต่าถลกหนังและบดกระรอกเป็นชิ้นๆ นำไปให้ลูกๆกระรอกกิน พวกลูกกระรอกกินอย่างเอร็ดอร่อย จนกระทั่งลูกกระรอกตัวหนึ่งเห็นมือแม่กระรอกและจำได้ (น.74)
          5. เสือกับกวาง เสือตัวหนึ่งหมอบรออยู่ข้างลำห้วย แล้วก็มีกวางตัวหนึ่งเดินกระย่องกระแย่งมา เสือก็ถามกวางว่า ไปอะไรกับเท้าของตน กวางก็ตอบไปว่า เดินไปบนพงหนาม แล้วหนามตำเท้า เสือก็รู้ว่าถ้ากินกวางจะเป็นอันตราย หนามอาจจะตำคอของตน กวางแนะให้เสือนำหนามออกจากเท้าของตน แล้วจะให้เสือกินตัวเองเป็นการแลกเปลี่ยน ขณะที่เสือใช้ฟันดึงหนามออก กวางก็เตะปากเสือ ฟันหักหมดทำให้เสือหมดสติ แล้วกวางก็หนีไป (น.74-75) 
          6. เด็กชายตัวร้าย เด็กชายคนหนึ่งขี้เกียจอย่างไร้ความหวัง เขาวิ่งเข้าไปในป่าหนีการดุด่าว่ากล่าวของพ่อแม่ พอตกค่ำเขาก็เริ่มคิดถึงบ้านแล้วก็เริ่มเดินกลับบ้าน ระหว่างทางในเงาต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เด็กชายเห็นผีตัวใหญ่มีเลือดเต็มตัว ลิ้นยาว ตาโปน ผีวิ่งไล่เขาทั่วป่า จนกระทั่งเขาวิ่งไปชนกับพ่อของเขา ผีก็หายไป  ตั้งแต่นั้นมา เด็กชายก็กลายเป็นตัวอย่างของความขยันและเชื่อฟัง (น.75)
          7. บทเรียนจากแม่กับพ่อ ครอบครัวหนึ่งเมื่อพ่อตาย  แม่ต้องเลี้ยงลูกๆด้วยความจน  แม่ได้ส่งลูกชายคนหนึ่งไปอยู่ในวัดพุทธ ส่วนลูกชายอีกคนแม่เลี้ยงดูจนเติบโต ซึ่งก็เป็นเวลาที่ลูกชายคนนี้ต้องดูแลแม่ มีคำกล่าวโบราณว่าลูกชายคนหนึ่งบวชเรียนแทนคุณแม่ ลูกชายคนหนึ่งบวชพระแทนคุณพ่อ นี่เป็นคำสอนเด็กๆ (น.75)
          8. พ่อหม้ายใจร้าย พ่อแม่ลูกมีชีวิตสงบสุขมาหลายปี เมื่อแม่ตาย หลายปีต่อมา พ่อต้องการแต่งงานใหม่แต่ผู้หญิงคนที่จะแต่งงานด้วยบอก “ถ้าต้องการฉันก็ฆ่าลูกเธอเสียก่อน” ผู้ชายจึงพาลูกเข้าไปในป่า แล้วฝังทั้งเป็น  จากนั้นก็กลับไปจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้น แต่แล้วผู้หญิงก็ยกเลิกการแต่งงานเพราะคิดว่าถ้าผู้ชายคนนี้ฆ่าลูกของตนได้แล้วกับตัวเธอเองล่ะ เขาจะทำอะไร พ่อใจร้ายจึงสำนึกได้ถึงความผิดตนเอง ก็ได้วิ่งเข้าไปในป่าขุดหลุมที่ฝังลูก แต่ก็สายไป ลูกได้ตายเสียแล้ว (น.75-76)
          9. เด็กกำพร้า ครอบครัวหนึ่งเมื่อแม่ตาย พ่อแต่งงานใหม่ แม่เลี้ยงเกลียดลูกเลี้ยงจึงบอกให้สามีฆ่าลูกๆเสีย พ่อได้พาลูกๆไปทิ้งในป่าหลายครั้ง แต่ลูกๆก็กลับบ้านได้โดยสุนัขที่เป็นแม่ช่วยเหลือ แม่เลี้ยงจึงให้พ่อฆ่าสุนัขเอาเนื้อกลับมาทำอาหารให้เด็กๆกิน แล้วแม่เลี้ยงก็ให้พ่อพาเด็กๆ เข้าไปปล่อยในป่าลึก เด็กๆได้พบสามีภรรยาคู่หนึ่ง ฐานะร่ำรวย ไม่มีลูก พวกเขานำเด็กๆไปเลี้ยงเป็นลูก หลายปีต่อมา แม่เลี้ยงเล่าเรื่องครอบครัวร่ำรวยที่คอยช่วยเหลือคนยากจน ให้พ่อเด็กๆฟัง แล้วทั้งสองคนก็เดินทางไปบ้านของครอบครัวร่ำรวยนี้ ทั้งสองคนจำเด็กๆไม่ได้ เด็กๆเชิญพวกเขาขึ้นบ้านไปกินอาหาร เมื่อนำอาหารมาตั้ง แล้วเด็กๆก็พูดว่า พ่อ แม่ กินสิ เนื้อสุนัขนึ่ง เหมือนที่ท่านเคยให้เรากิน ทันใดที่รู้เรื่องพ่อเด็กๆก็หัวใจช็อกตาย ส่วนแม่เลี้ยงก็กระโดดจากบ้านและถูกธรณีสูบ (น.76)
          10. เชงกอยกอยผีผู้หญิง (Chengkoikoi, The Female Spirit) สามีภรรยาคู่หนึ่งกำลังตกปลาอยู่ เชงกอยกอยก็ปรากฏตัวขึ้น และขโมยสามีไป และบังคับให้เขาหลับนอนด้วย แล้วเชงกอยกอยก็ให้กำเนิดบุตรหนึ่งคน ทุกวันเชงกอยกอยจะขังสามีไว้ในบ้าน ขณะออกไปข้างนอก วันหนึ่งหลังจากเชงกอยกอยออกจากบ้าน พ่อก็โน้มน้าวให้ลูกไปเปิดประตูเพื่อจะได้ออกไปข้างนอก เมื่อลูกเปิดประตูให้เขาก็วิ่งออกไป วิ่งไปจนล้มลงด้วยความเหนื่อยหมดแรงอยู่ในทุ่งข้าว  เมื่อเชงกอยกอยกลับมาพบว่าสามีหนีไป ก็ออกตาม แล้วพบสามีนอนอยู่ในทุ่ง เชงกอยกอยคิดว่าเขาตายแล้ว และก็ได้ทดสอบให้แน่ใจด้วย จากนั้นเชงกอยกอยก็นำกลองพิเศษไปยังร่างสามี แล้วสอนเขาว่าเกิดใหม่ชาติหน้า เขาควรจะตีกลองเพื่อให้ร่ำรวย หลังจากเชงกอยกอยจากไป ผู้ชายก็วิ่งกลับบ้านไปหาภรรยาและเมื่อเขาตีกลองเงินทองก็ปรากฏขึ้น เขาก็ร่ำรวยขึ้น ร่ำรวยขึ้น (น.77)
          11. อย่าคิดว่าท่านฉลาด ยายขำ(Kham) กับยายอูบ(Up) ไปตกปลาด้วยกัน  เมื่อกลับไปหมู่บ้านพวกเขาก็เลือกปลาแบ่งกัน ยายขำละโมบกองปลากองใหญ่ไว้ข้างหน้าตนเองและกองปลากองเล็กไว้หน้ายายอูบแล้วก็บอกยายอูบให้เลือกว่าจะเอาปลากองไหน ยายอูบรู้ทันยายขำ จึงได้คว้าปลากองใหญ่วิ่งกลับบ้าน ยายขำวิ่งตามพร้อมตระโกนว่า “คอยก่อน ฉันแบ่งปลาไม่ถูกต้อง มาแบ่งปลากันใหม่” เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนควรจะอยู่ด้วยกันอย่างสอดคล้องและไม่ละโมบ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (น.77)
          12. เด็กชายยากจน เด็กชายคนหนึ่งยากจน ปลูกแตงโมและแตงกวาบนภูเขา แตงโมและแตงกวาให้ผลผลิตดี จึงดึงดูดฝูงลิง เด็กชายกลัวว่า ลิงฝูงนี้จะกินผลแตงโมแตงกว่าของเขาหมด เด็กชายจึงล้มตัวนอนแสร้งทำเป็นตาย ฝูงลิงกลัวว่าร่างเน่าเปื่อยของเด็กชายจะทำความเสียหายให้แตงโมและแตงกวา พวกมันจึงพากันนำร่างเด็กชายไปทิ้งที่ปล่องเหมือง ซึ่งมีสมบัติมาก และเมื่อลิงกลับไปแล้ว เด็กชายก็นำสมบัติกลับบ้าน ต่อมาเพื่อนคนหนึ่งถามเขาว่า ร่ำรวยได้อย่างไร เด็กชายก็เล่าให้ฟัง เพื่อนของเขาได้ทำตามเด็กชายทุกอย่าง ปลูกแตงโมแตงกวา แกล้งตายแล้วถูกลิงนำไปทิ้งที่ปล่องเหมืองแร่ แต่สุดท้ายเขาก็ตาย (น.77-78)
          13. กะโหลกของพ่อ ครอบครัวหนึ่งได้รับความวิปโยค เนื่องจากแม่ตายและพ่อตกต่ำ  สุดท้ายพ่อก็ตาย พ่อได้บอกลูกชายว่าเมื่อเขาตายให้ผูกเชือกที่กะโหลกของเขาแล้วลากไปตามพื้นดิน กะโหลกติดที่ไหนให้เพาะปลูกที่นั่น ลูกชายทำตามคำสั่งพ่อ เขาลากกะโหลกครูดไปตามก้อนหิน การทำเช่นนี้ทำให้เด็กชายทำงานในทุ่งภูเขาได้ และกลายเป็นคนร่ำรวย (น.78)
 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          บีซูยังคงให้ความสำคัญในการสอนให้ลูกหลานพูดภาษบีซู และเรียกร้องให้ภาครัฐและนักวิชาการช่วยเหลือในการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมบีซู ในเดือนธันวาคม 1998 ชาวบ้านบีซู 30 คน ได้รวมตัวประชุมกันที่วัดประจำหมู่บ้านดอยชมภูและเห็นพ้องว่าจะใช้ตัวอักษรไทยในการเขียนภาษาบีซู ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมในเวิร์คช้อปด้านภาษาศาสตร์ของ SIL มหาวิทยาลัยพายัพได้ผลิตหนังสือขนาดสั้นกว่า 40 เล่ม เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน พจนานุกรมภาพภาษาบีซู-ไทย-อังกฤษ (น.27-28) 
          ในปี 1999 คณะแพทย์ของโครงการหลวงได้มาตรวจรักษาที่หมู่บ้าน และผู้เขียน (เคิร์ก เพอสัน) ได้ถวายหนังสือภาษาบีซูให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทอดพระเนตร และภาพดังกล่าวได้ออกอากาศทางทีวี ทำให้บีซูมีความภูมิใจที่ราชวงศ์ไทยเห็นคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมบีซู และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมบีซูสืบต่อไป (น.27)
 

Social Cultural and Identity Change

          ในอดีตคนรุ่นก่อนๆไม่กล้าแสดงตนเป็นบีซู ผู้ชายบวชเรียนจึงเรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น บีซูที่สูงอายุเข้าใจภาษาไทยเหนือแต่สำเนียงที่พูดเพี้ยน บีซูที่อายุ 25-50 ปี พูดได้สองภาษา พูดภาษาไทยเหนือได้เหมือนภาษาแม่ พูดภาษาไทยมาตรฐานได้ไม่ดี จึงใช้คำศัพท์และออกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยเหนือ เมื่อพูดภาษาไทยมาตรฐาน ส่วนบีซูที่อายุน้อยกว่า 25 ปี ส่วนมากเรียนหนังสือในระบบโรงเรียนอย่างน้อย 6 ปี และได้รับอิทธิพลจากวิทยุและโทรทัศน์ บีซูรุ่นนี้จะมั่นใจในการใช้ภาษาไทยมาตรฐาน ไทยเหนือและบีซู (น.24-25)

Map/Illustration

ภาพ 1.1 ตำแหน่งของภาษาบีซูในสาขาภาษาอี้โพ/โลโลใต้   น.1 (The Position of Bisu in Southern Yiphoish/Loloish)
ภาพ 1.2 ที่ตั้งหมู่บ้านบีซูในภาคเหนือของไทย น.4     (Location of Bisu Villages in Northern Thailand) 
ภาพ 1.3 บริเวณที่บีซูอาศัยในยูนนาน สาธารณะรัฐประชาชนจีน น.6  (Bisu area in Yunnan provinee, People’ Republic of China)
ภาพ 1.4 บ้านบีซูแบบโบราณ น.12  (The Baan Boran Bisu ‘ancient Bisu house’)
ภาพ 1.5 บ้านบีซูในปัจจุบ้นรูปทรงแบบภาคเหนือของไทย น.12  (Contemporary Northern Thai-Style Bisu home)
ภาพ 1.6 การใช้ครกและสากแบบเก่า น.14  (Using old motar and pestle)
ภาพ 1.7 เตาไฟและหิ้งในบ้านบีซูแบบโบราณ   น.14    (Fire box and drying rack, Baan Boran Bisu)
ภาพ 1.8 การเตรียมเซ่นไหว้ผีที่ศาลของผีหมู่บ้าน  น.17 (Preparing for Sacrifices at the shrine of ancao)
ภาพ 1.9 หมอผีเซ่นไหว่ผีหมู่บ้าน น.17    (Shaman presenting sacrifices to ancao)
ภาพ 1.10 ผ้าซิ่นแต่งงานบีซู    น.21       (Detail, old Bisu wedding skirt)
ภาพ 1.11 หัวหน้าบ้านดอยปุยกับเสาไม้ไผ่ในห้องนอนเจ้าบ่าวตอนเริ่มต้นพิธีแต่งงาน  น.21 (Doi Pui headman with lingam in groom’s bedroom at outset of marriage ceremony)
ภาพ 1.12 ลำดับขั้นภาษาในประเทศไทย  น.23   (The linguistic hierarchy in Thailand )
ภาพ 1.13 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงรับหนังสือบีซูจากผู้เขียนและภรรยา   น.29 (Her Royal Highness Crown Princess Maha Chakri Sirindhorn recieves the first books from the author and his wife) 
 

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 21 เม.ย 2559
TAG บีซู, ภาษาศาสตร์, ข้อความ/วาทกรรม(discourse), คำอนุภาค (Particles), ภาคเหนือ, ประเทศไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง