สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มลาบรี (Mlabri) ผีตองเหลือง (Phi Tong Luang) รูปแบบการตั้งชุมชน การรวมกลุ่มทางสังคม ข้อมูลทางประชากร ลักษณะทางกายภาพ ความเชื่อและพิธีกรรม การรักษาโรค การแลกเปลี่ยน การบริโภค ระบบการเรียนรู้ ภาษา ดนตรี น่าน ประเทศไทย
Author Bernatzik, Adolf, Hugo with the collaboration of Emmy Bernatzik
Title The Spirits of the Yellow Leaves: The Enigmatic Hunter-Gatherers of Northern Thailand
Document Type หนังสือ Original Language of Text -
Ethnic Identity มละบริ ยุมบรี มลาบรี มละบริ มลา มละ, Language and Linguistic Affiliations ไม่ระบุ
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  Total Pages 178 Year 2548
Source Bernatzik, Hugo (2005) The Spirits of the Yellow Leaves, Bangkok: White Lotus Press (originally published in 1938 as “Die Geister der gelben Blätter”)
Abstract

          งานเขียนชิ้นนี้เป็นบันทึกเชิงชาติพันธุ์วรรณาบรรยายลักษณะทางกายภาพ การรวมกลุ่มทางสังคมและวิถีชีวิตด้านต่างๆ ของมลาบรีจากการสังเกตและสอบถามมลาบรีและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผู้วิจัยได้บรรยายข้อมูลในแต่ละด้านอย่างละเอียด มีการเชื่อมโยงและเปรียบเทียบวิถีชีวิตของมลาบรีกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแสดงให้เห็นว่ามลาบรีมีการติดต่อ เรียนรู้และรับวัฒนธรรมจากสังคมข้างเคียงมาผสมผสานกับวิถีชีวิตและความเชื่อของตน

Focus

          งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานเขียนเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) พรรณนาโดยละเอียดถึงวิถีชีวิต รูปแบบการตั้งชุมชน การรวมกลุ่มทางสังคม ความเชื่อของตองเหลือง และความสัมพันธ์กับชาวเขาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น แม้ว (ม้ง)  ลาว 

Theoretical Issues

          ไม่ปรากฏทฤษฎี แต่ผู้เขียนใช้วิธีสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม เดินทางติดตามมลาบรีเข้าป่า โดยให้คนม้งเป็นผู้สื่อความ เนื่องจากเขาและภรรยาไม่สามารถสื่อสารภาษาลาบรี ข้อมูลส่วนหนึ่งจึงได้จากการบอกเล่าของคนม้งชื่อ Tsin Tsai (หน้า 24) และล่ามแปลอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เขียนเดินทางสำรวจพื้นที่หลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีการเปรียบเทียบความเป็นอยู่ของมลาบรีกับกลุ่มชนอื่นๆ ด้วย เช่น มอแกนในคาบสมุทรมลายู และจารายในเวียดนาม

Ethnic Group in the Focus

          ผู้เขียนงานชิ้นนี้ใช้คำเรียกมลาบรีว่า “ผีตองเหลือง” (Phi Tong Luang) และ “ข่าตองเหลือง” (Kha Tong Luang) มลาบรีเรียกตนเองว่า “ยุมบรี” (Yumbri) ซึ่งเป็นภาษามลาบรีมีความหมายว่า “คนป่า”มลาบรีไม่ยอมรับชื่อที่ผู้อื่นเรียกว่า “ผี” และให้เรียกว่า “Chon pa” ซึ่งเป็นคำลาวแทน (หน้า 42) ส่วนชาวม้งเรียกมลาบรีว่า “Ma Ku” ซึ่งแปลว่า “ผีป่าแห่งพงไพร”(หน้า 42)

Language and Linguistic Affiliations

          มลาบรีมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน ภาษามลาบรีมีคำจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคำอุทานและมีการนำคำจากภาษาลาวและภาษาม้งมาผสม เสียงที่เปล่งออกจากลำคอค่อนข้างสูงฟังคล้ายเสียงร้องเพลง มลาบรีมีคำเรียกสมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ลูกชายคนโต ลูกสาว ปู่ (หน้า 23)  เนื่องจากมลาบรีมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและไม่มีความคิดเรื่องความเป็นปัจเจก มลาบรีจึงไม่เรียกตัวเองว่า “ฉัน” หรือ “เรา” แต่ใช้คำแทนตนเองด้วยคำแสดงสถานะต่อผู้อื่นเช่น “ลูกชาย” “พ่อ” หรือ “ยุมบรี” (หน้า 37) ต่อมามลาบรีเริ่มเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า “ฉัน” มลาบรีจะพูดว่า “ฉันต้องการ...” เสมอซึ่งสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการดิ้นรนสู้ชีวิต
          ผู้วิจัยระบุว่าการรวบรวมคำศัพท์มลาบรีทำได้ยากมากเนื่องจากมลาบรีมักบอกความหมายของคำสลับกันเสมอ (หน้า 77-78) อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้รวบรวมความหมายของคำศัพท์บางคำ ดังนี้
          - ภาษามลาบรีจึงไม่มีคำเรียกครอบครัวเล็กและขนาดใหญ่ มีแต่คำว่า meyumมีความหมายว่า “กลุ่ม”เนื่องจากมลาบรีอยู่กันเป็นกลุ่มสายตระกูลประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวหลายครอบครัว (หน้า 66)
          - การเรียกชื่อสีมีเพียงคำว่า lakauแปลว่า “ขาว” หรือ “สว่าง” และ cheng แปลว่า “ดำ” ซึ่งทั้งสองคำเป็นคำที่ยืมจากภาษาลาว (หน้า 77)
          - aba แปลว่า “กลางวัน” akadnyit แปลว่า “กลางคืน” หรือ “มืด” และมีความหมายว่า “ได้เวลาที่คุณต้องไปแล้ว” (หน้า 37)
          - chunoyn ในภาษามลาบรีแปลว่า “ดวงดาว” ในภาษามลาบรีไม่มีชื่อเรียกดวงดาวแต่ละดวง (หน้า 39)
          - baa, dkat เป็นคำเรียก “ผีร้าย” ส่วน gruray คือ “ผีอารักษ์” คอยคุ้มครองและช่วยเหลือให้พันภัยต่างๆ (หน้า 70)
          - latek แปลว่า“กีตาร์ไม้ไผ่”
          - mla“วิญญาณของคนไม่ดี” mla te “วิญญาณของคนดี”
          - nakobe“มาก” (ใช้ในการนับ) neremoy “น้อย”
          - nakobe tawen“ไกล” (ความหมายตรงตัวคือพระอาทิตย์หลายดวง)
          - neremoy tawen“ใกล้” (ความหมายตรงตัวคือพระอาทิตย์ไม่กี่ดวง)
          - O tshakalengเป็นคำที่มลาบรีร้องเมื่อเจอเพื่อน
          - O tady din uy tadyaมลาบรีตะโกนคำนี้เมื่อเจอศัตรู
          - Rupto“มีดปลายแหลม”
          - Tanglangเป็นเครื่องดนตรีที่เทียบได้กับ Xylophone
          - Tawen ake“ตอนกลางวัน” (พระอาทิตย์อยู่สูงสุด)
          - Tawen awik“ตอนเย็น” (พระอาทิตย์ตกดิน)
          - Tawen libe“ตอนเช้า” (พระอาทิตย์ขึ้น)
          - Toคือ “มีดที่ได้จากม้งและลาว”
          - Tulu putเป็นขลุ่ยคู่ใช้ในการเรียกสมาชิกในกลุ่มมารวมตัวกัน
          - Tutแปลว่า “ให้”

Study Period (Data Collection)

การเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วงปี ค.ศ.1936 และ 1937

History of the Group and Community

          ในจังหวัดน่านมีพระรูปหนึ่งมีเอกสารที่บันทึกว่ามลาบรีเคยเป็นข้าแผ่นดินของกษัตริย์น่านและในสมัยนั้นมีมลาบรีอยู่เป็นจำนวนมาก มลาบรีถวายของบรรณาการ เช่น น้ำผึ้ง หวายและขี้ผึ้งให้แก่กษัตริย์ทุกปี (หน้า 43) อย่างไรก็ตามมลาบรีไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา พื้นที่ที่อยู่อาศัยและการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มตนเองได้ มีมลาบรีคนหนึ่งบอกว่ากลุ่มของตนมาจาก “ดินแดนชาวขมุ”และเพิ่งข้ามมายังชายแดนไทยเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วประวัติความเป็นมาของมลาบรีนั้นยังคลุมเครือ ไม่มีงานวิจัยที่ให้ข้อมูลทั้งช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์และงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ไม่มีเรื่องเล่าหรือตำนานหรือประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่จะระบุประวัติความเป็นมาของกลุ่มมลาบรี (หน้า 78-79)  

Settlement Pattern

          มลาบรีอยู่บนภูเขาสูงโดยเฉพาะในป่าไผ่เนื่องจากบริเวณที่มีไผ่มักมีพืชหัวเช่นเผือก มัน ผลไม้และพืชอื่นๆที่กินได้ (หน้า 45) มลาบรีไม่ตั้งที่พักในที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเสือทำร้าย ในป่าไผ่ทึบนั้นมลาบรีแต่ละกลุ่มจะมีขอบเขตดินแดนของตนแต่ด้วยอาหารที่ขาดแคลนทำให้มลาบรีต้องเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาอาหาร (หน้า 34, หน้า 46) หากสภาพอากาศและพื้นดินอำนวย มลาบรีจะนอนบนกองใบไม้ที่ปูบนพื้นดิน แต่ในช่วงฤดูฝน มีพายุ อากาศหนาวเย็นหรือมีน้ำค้างลงจัด มลาบรีจะสร้างเพิงกันลมลักษณะคล้ายเพิงที่พักของเซมังแต่สร้างอย่างลวกๆ กว่า โดยจะนำไม้ยาวประมาณ 5 ฟุตตรงปลายมีกิ่งไม้แยกเป็นสองแฉกปักลงไปบนพื้นดินเป็นโครง นำกิ่งไม้ขนาดใหญ่มาวางพาดแนวนอนระหว่างปลายแยกสองอันเพื่อเป็นโครงรับน้ำหนัก จากนั้นจึงนำกิ่งไม้มาวางพิง มัดด้วยใบปาล์มหรือใบตองป่าหนึ่งหรือสองชั้นแล้วแต่สภาพอากาศ ไม่พบว่ามีการสร้างเพิงที่พักสองเพิงติดกัน แต่จากคำบอกเล่าบอกว่าพบการสร้างที่พักติดกันให้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว (หน้า 46-47) มลาบรีไม่ตั้งที่พักตรงใต้ต้นไม้ใหญ่เนื่องจากกลัวว่าต้นไม้จะล้มทับและมลาบรีกลัวต้นไม้ใหญ่ที่เชื่อว่ามีผีสิงสถิตอยู่ (หน้า 46) ไม่พบการสร้างเพิงแยกสำหรับคนแปลกหน้าที่มาเยือนหรือสำหรับผู้หญิงที่ตั้งท้องหรือมีประจำเดือน ไม่พบการสร้างศาลสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่สำหรับทำพิธีบูชา สำหรับการป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่านั้นไม่มีการวางกับดักหรือหลุมพรางสำหรับดักสัตว์ (หน้า 47 - 48) ในพื้นที่ที่มีเสือเยอะจะทำรั้วไผ่เพื่อกันเสืออย่างง่ายๆ รั้วนี้ไม่มีประตูและจะสร้างขึ้นเมื่อสมาชิกทั้งหมดอยู่ด้านในแล้วเท่านั้น (หน้า 48)  ในการตั้งที่พักมลาบรีจะไม่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่ เช่น การตัดต้นไม้ ดังนั้นแล้วชาวเขาที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมักไม่รู้ว่ามลาบรีอาศัยอยู่ใกล้กับตน (หน้า 45-46) เมื่อมลาบรีย้ายถิ่นฐานไปยังแหล่งที่อยู่ใหม่ก็จะขุดเอาขี้เถ้าจากกองไฟที่ดับแล้วไปด้วย ถ้ามีคนมาที่เพิงพักของมลาบรีและเห็นกองไฟเป็นหลุมก็จะทราบได้ว่ามลาบรีได้ย้ายออกไปแล้ว (หน้า 40) ถ้ามลาบรีตามรอยเท้าสัตว์เข้าไปในป่ามลาบรีจะใช้กิ่งไม้วางขวางทางไว้เพื่อไม่ให้คนอื่นไปตามเส้นทางนั้น (หน้า 40) 

Demography

ข้อมูลจำนวนประชากรจากงานศึกษานั้นมีข้อมูลดังนี้ (หน้า 43-44)
          - ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำฟ้ามี 2 กลุ่ม 1. กลุ่มที่มีสมาชิก 5 คน (ผู้ชาย 2 คน หญิง 1 คน เด็ก 2 คน) และ 2. กลุ่มที่มีสมาชิก 6 คน (ผู้ชาย 2 คน หญิง 2 คน เด็ก 2 คน)
          - ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำPong Chut มี 1 กลุ่ม ประกอบด้วยสมาชิก 3 คนเป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน
          - ในพื้นที่รอบหมู่บ้านขมุ Nam Mau อยู่ทางเหนือของ Bowa ระยะห่างเป็นเวลาเดินทาง 3 วันมี 1 กลุ่ม ประกอบด้วยสมาชิก 7 คน เป็นชาย 3คน หญิง 3 คนและเด็ก 1 คน
          - ในพื้นที่รอบๆ หมู่บ้านขมุที่ Ban Thong อยู่ทางตะวันออกของ Bowa ระยะห่างเป็นเวลาเดินทาง 2 วัน มีสมาชิก 11 คนประกอบด้วย ชาย 4 คน หญิง 4 คนและเด็ก 3 คน
          - ในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านม้งชื่อว่าPe Pu อยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านม้ง Ban Nam Fa ระยะห่างเป็นเวลาเดินทาง 3 วัน มีสมาชิก 7คนประกอบด้วย ชาย 3คน หญิง 2 คนและเด็ก 2คน
          - ในบริเวณหมู่บ้านแม้ว Ban Nam Fa มีมลาบรี 6คนประกอบด้วย ชาย 3คน หญิง 2คนและเด็ก 1คน
          นอกจากนี้มีข้อมูลระบุว่าในเทือกเขาSen Pu Khaที่เป็นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์เย้า (อยู่ห่างจากหมู่บ้านชาวม้งในบริเวณแม่น้ำฟ้าเป็นระยะเวลาเดินเท้า 6 วัน) ม้งให้ข้อมูลว่าในพื้นที่นั้นมีมลาบรีอยู่ 8 กลุ่ม มีสมาชิกรวมประมาณ 30 คน (หน้า 44) ผู้เขียนเห็นว่าการระบุที่แหล่งที่อยู่อาศัยที่แน่นอนของมลาบรีนั้นทำได้ยากแต่คาดว่ามลาบรีมีจำนวนประมาณ 200-300 คน ซึ่งเป็นตัวเลขโดยประมาณ (หน้า 44)
          เด็กมลาบรีนั้นมีจำนวนเด็กเฉลี่ยไม่เกิน 1-2 คนต่อกลุ่มสายตระกูล สาเหตุอัตราการตายที่สูงของเด็กและการที่จำนวนเด็กมีน้อยเนื่องจากความเจ็บป่วย จากการเข้ามาของคนภายนอกที่เจริญกว่าทำให้ชุมชนมลาบรีเริ่มสลายตัวและมลาบรีดำรงชีวิตยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงมีจำนวนน้อยลงเพราะร่างกายอ่อนแอกว่าผู้ชาย ส่งผลให้จำนวนมลาบรีมีน้อยลงและอาจจะทำให้มลาบรีสูญพันธุ์เร็วขึ้น นอกจากนี้สัตว์ร้ายเช่นเสือก็มีผลต่อจำนวนประชากรที่ลดลงของมลาบรี ชาวลาวที่รู้ธรรมชาติของเสือว่าจะโจมตีเหยี่อที่อ่อนแอกว่าจะไม่เข้าป่าไปโดยที่ไม่เอาสุนัขไปด้วย หากเจอเสือเสือโจมตีสุนัขและทำให้มนุษย์มีเวลาหนี ในขณะที่มลาบรีเข้าป่าคนเดียวโดยที่ไม่มีอาวุธป้องกันตัว เด็กมลาบรีจำนวนมากจึงตกเป็นเหยื่อของเสือเมื่อเข้าป่ากับแม่ (หน้า 45)

Economy

การเก็บของป่าและการล่าสัตว์
          มลาบรีดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ผลไม้ และน้ำหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อของต้นสาคู (sago palm) ขุดหัวของพืชเช่นปาล์ม เผือกและมันเทศและได้ข้าวจากการแลกเปลี่ยนกับชาวม้ง (หน้า 51) มลาบรีชอบน้ำผึ้งป่าและรังผึ้ง โดยจะใช้ควันไฟรมให้ผึ้งตายก่อนที่จะเก็บน้ำผึ้ง (หน้า 50) อาหารเหล่านี้เป็นอาหารหลักของมลาบรี มลาบรีไม่รู้วิธีปลูกพืชและไม่เคยลองปลูกพืชผักใดๆ มลาบรีเชื่อว่าหากปลูกพืชแล้วผีร้ายจะส่งเสือมาล่าพวกเขาตายทั้งหมด (หน้า 51) มลาบรีเลี้ยงสุนัขซึ่งช่วยหาและขุดหน่อไม้สุนัขบางตัวถูกฝึกให้จับเต่าและจิ้งเหลนได้ด้วย (หน้า 50)
          มลาบรีไม่ล่าสัตว์ใหญ่เนื่องจากกลัวสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่และต้องการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากสัตว์ป่าเหล่านี้ มลาบรีเกือบทั้งหมดที่พบไม่มีอาวุธติดตัวและไม่ใช่นักล่า ไม่รู้วิธีการล่าและการตามรอยเท้าสัตว์ มีเพียงการใช้บ่วงดักนกคล้ายกับบ่วงดักสัตว์ของคนลาว บางคนมีแหลนที่แลกเปลี่ยนมาจากม้งแต่ขว้างไม่เป็นได้แต่ใช้แทงเท่านั้น (หน้า 50 -51) 
 
อาหาร
          มลาบรีจับสัตว์เล็กเช่น หอยทาก หนอนผีเสื้อ ปู กิ้งก่า และกบ นำไปย่างไฟหรือต้มในปล้องไม้ไผ่ กิ้งก่าและเต่าถือเป็นอาหารจานพิเศษของมลาบรี มลาบรีไม่กินงูและไส้เดือนแต่กินหนู ตัวอ้น กระรอกและสัตว์เล็กอื่นๆ มลาบรีไม่ล่านกแต่กินไข่นก โดยเฉพาะไข่ของนกเงือกและนกล่าเหยื่อ เวลากินไม่ถลกหนังออกแต่จะเผาไฟให้ขนหลุดออกก่อนจากนั้นจึงจะนำไปต้มในหม้อที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่หรือตัดเป็นชิ้นๆ แล้วนำไปย่างไฟ มลาบรีปรุงอาหารด้วยเกลือ พริกป่า และพริกไทย (pepper) มลาบรีเอาเกลือมาจากดินเค็มซึ่งมีอยู่ทั่วไปและแลกเกลือมาจากชาวเขากลุ่มอื่นๆ (หน้า 51) มลาบรีไม่กินเนื้อดิบ เลือดสดหรือนมแต่จะชอบกินไขกระดูกสดๆ หากมลาบรีล่าเนื้อได้จะตัดเนื้อเป็นชิ้นๆไว้ในปล้องไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 ฟุต เติมน้ำและปิดฝาด้วยใบไม้และรัดไว้ให้แน่นก่อนนำไปเผาไฟ ประมาณหนึ่งชั่วโมงจะดึงเนื้อออกจากกระบอกไม้ไผ่ กินกับหน่อไม้และผักซึ่งนำไปต้มในปล้องไม้ไผ่อีกอันหนึ่ง มลาบรีจะให้เด็กกินอาหารส่วนที่ดีที่สุด (หน้า 51) หากล่าเนื้อได้มากกว่าที่จะกินหมดภายในวันเดียว มลาบรีจะเอาเนื้อรมควันและย่างไฟให้พอสุกเพื่อเก็บรักษา ไม่พบว่ามีการเอาเนื้อมาหมักเกลือ (หน้า 51) ถ้ามีอาหารเพียงพอในหนึ่งวันมลาบรีจะกินอาหาร 3 มื้อคือในตอนเช้าตรู่ ตอนกลางวันและตอนเย็น ถ้าอาหารไม่พอมื้อเช้าจะถูกตัดออกไป ครอบครัวจะกินอาหารด้วยกัน (หน้า 52) มลาบรีกินอาหารด้วยมือ (หน้า 28) ไม่พบว่ามีข้อห้ามใดๆเกี่ยวกับอาหาร (หน้า 51)
 
การแลกเปลี่ยน 
          มลาบรีไม่ค้าขายแต่จะแลกเปลี่ยนของป่าที่เก็บได้ เช่น น้ำผึ้งป่า ขี้ผึ้ง หวาย ฟืน เสื่อและตะกร้าสานเพื่อแลกกับสิ่งของที่ต้องการ เช่น ยาสูบ ข้าว เกลือ เนื้อ เสื้อผ้าเก่าๆ มีด หอกปลายแหลม ฝิ่นและเหล้าจากชาวเขากลุ่มต่างๆ เช่น ม้ง ลาว เย้า ถิ่นและขมุ มลาบรีจะเอาของป่าที่เก็บได้แบกขึ้นไหล่และยึดไว้ด้วยเชือกที่ทำจากหวายถักหนาประมาณนิ้วก้อยของผู้ชาย เดินจากป่าลึกไปตามเส้นทางลำธารและตามรอยเท้าสัตว์ป่าหรือถนนแคบๆ ในหมู่บ้านชาวเขา (หน้า54) ในหมู่บ้านเหล่านี้ไม่มีตลาดหรือจุดแลกเปลี่ยนสินค้าและไม่มีฤดูแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะยกเว้นในช่วงหน้าฝนที่เดินทางลำบาก (หน้า54) มีบางกรณีที่มลาบรีกลัวที่จะต้องติดต่อกับคนนอกก็จะแลกเปลี่ยนแบบไม่เจอหน้า (silent bartering) (หน้า 1, 54) โดยมลาบรีจะเอาของป่าเช่นน้ำผึ้ง ขี้ผึ้งและหวายมาวางไว้บนทางเดินในตอนกลางคืนและกลับมาในวันต่อมาเพื่อเอาข้าวที่ชาวบ้านทิ้งไว้เป็นการแลกเปลี่ยน (หน้า 1) บางครั้งพ่อค้าคนกลางก็มีบทบาทในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างคนลาวกับมลาบรีด้วย (หน้า 54)  ชาวม้งจ้างมลาบรีทำไร่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและตอบแทนด้วยอาหาร บางครั้งมลาบรีขโมยข้าวจากนาข้าวของม้งจึงถูกยิงตาย (หน้า 51)
 
          ผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กมลาบรีจำนวนหนึ่งชอบสูบยาสูบ มลาบรีได้ยาสูบมาจากการแลกเปลี่ยนกับชาวเขาโดยเฉพาะชาวม้งที่ปลูกยาสูบในปริมาณมาก มลาบรีจะเคี้ยวหรือสูบยาสูบจากกระบอกไม้ไผ่ที่ทำโดยชาวม้ง สำหรับฝิ่นนั้นมลาบรีแลกเปลี่ยนฝิ่นมาได้ในปริมาณไม่มากเนื่องจากฝิ่นมีราคาแพงจึงนำมาใช้เป็นยากิน มลาบรีจึงไม่ติดฝิ่น ส่วนหมากและเหล้าที่กลั่นจากข้าวหมักนั้นเป็นของหายาก นานๆ ทีมลาบรีจะได้ในปริมาณไม่มากนักจากชาวเขา (หน้า 52)   
 
การผลิตและการบริโภค
           มลาบรีไม่มีการผลิตของใช้ฟุ่มเฟือย มีเพียงเครื่องมือและของที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น (หน้า 52) แทบไม่มีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและอุปกรณ์ทำอาหารใดๆ โต๊ะอาหารของมลาบรีคือกองใบไม้สีเขียว มลาบรีกินอาหารด้วยมือและนำใบไม้มาม้วนใส่น้ำดื่มแทนแก้วน้ำ มลาบรีใช้เชือกที่ถักจากเส้นไผ่หรือหวาย (หน้า 48) นำกิ่งไม้เหลาปลายแหลมไว้ขุดดิน มลาบรีทำมีดใช้เองโดยเหลามีดปลายแหลมจากไม้หรือไม้ไผ่และใช้มีดที่แลกมาจากชาวม้งและลาว การใช้มีดมลาบรีจะหนีบด้ามมีดไว้ระหว่างหัวเข่าเอาปลายมีดลงแล้วเอาของที่ต้องการจะตัดไว้ใต้ใบมีดและถูสิ่งของที่ต้องการตัดกับใบมีด 
          มลาบรีจุดไฟโดยใช้หินแร่ไพไรต์แต่ในระยะหลังใช้เหล็กในการจุดไฟแทนและใช้ใบไม้แห้งของพืชบางชนิดมาใช้เป็นวัตถุสำหรับติดไฟ มลาบรีเก็บวัสดุจุดไฟเหล่านี้ไว้ในกล่องไม่ไผ่ สำหรับคนที่อยู่ในป่าแล้ววัสดุจุดไฟเหล่านี้เป็นสมบัติล้ำค่าที่สุด (หน้า 48)  มลาบรีใช้คบไฟให้แสงสว่างนอกเหนือจากการก่อกองไฟ ซึ่งคบไฟเหล่านี้นี้ทำมาจากเส้นไม้ไผ่แห้งมัดเข้าด้วยกันซึ่งมลาบรีจุดคบไฟเพื่อไล่สัตว์ป่า (หน้า 48)     
 
การชั่งตวงวัด
          มลาบรีไม่มีความรู้เรื่องการชั่งวัด ค่าเงินและการแลกเปลี่ยนทำกำไร มลาบรีมักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการแลกเปลี่ยนเสมอ เช่น แลกตะกร้าที่พวกเขาใช้เวลาทำหลายสัปดาห์กับเกลือหนึ่งกำมือหรือหอกหนึ่งเล่ม เป็นต้น (หน้า54 - 55) มลาบรีไม่วัดความยาวเป็นตัวเลข เช่น เมื่อพ่อให้ลูกถักเชือกจะไม่บอกความยาวว่าเชือกยาวเท่าไหร่แต่จะบอกว่าจะเอาเชือกไปทำอะไร การชั่งน้ำหนักนั้นทำได้โดยการกะขนาดด้วยสายตาและยกของขึ้นเพื่อวัดน้ำหนัก สำหรับระยะห่างมลาบรีจะวัดจากระยะเดินทางหน่วยเป็นวัน มลาบรีมีคำบอกระยะเพียงสองคำนั่นคือ นั่นคือคำว่า “neremoy tawen” แปลว่า ใกล้ และคำว่า “nakobe tawen” แปลว่าไกล (หน้า55) 
 
 

Social Organization

โครงสร้างทางสังคม (social organization) 
          สังคมมลาบรีเป็นสังคมที่ไม่มีการจัดระเบียบสังคมและไม่มีโครงสร้างทางสังคมที่ชัดเจน ในกลุ่มเครือญาติหนึ่งจะมีจำนวนสมาชิกประมาณ 10-12 คน ประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวหลายครอบครัว การที่ครอบครัวขนาดเล็กมีสมาชิกจำนวนไม่มากนั้นมีข้อดีคือสามารถหาอาหารในบริเวณหนึ่งได้เพียงพอสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ดังนั้นแล้วภาษามลาบรีจึงไม่มีคำเรียกครอบครัวขนาดเล็กและใหญ่ มีแต่คำว่า “meyum” แปลว่ากลุ่ม แต่ละครอบครัวจะสร้างเพิงของตนเองและแยกกันหาอาหารในป่าโดยแต่ละกลุ่มจะมาพบเจอกันโดยบังเอิญเป็นครั้งคราว (หน้า 66) การที่มลาบรีย้ายถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ นั้นทำให้ไม่เกิดการแบ่งงานกันทำ (division of labor) ยกเว้นการล่าสัตว์ที่เป็นงานของผู้ชายเท่านั้น สำหรับการเก็บของป่า การตั้งที่พักและการเตรียมอาหารนั้นเป็นหน้าที่ทั้งของผู้หญิง ผู้ชายและเด็กช่วยกันตามแต่ใครจะสะดวก (หน้า 52) มลาบรีจะปฏิบัติดูแลคนแก่อย่างดี (หน้า 59) และแบ่งปันอาหารที่หามาได้แก่ผู้ที่ขาดแคลน ผู้ที่ได้รับอาหารจะนำอาหารมาคืนเมื่อตนหาอาหารได้เพียงพอ ประสบการณ์ของมลาบรีที่มีกับคนลาวและชาวเขากลุ่มอื่นๆเป็นบทเรียนให้มลาบรีเคารพทรัพย์สินส่วนตัวของผู้อื่นและใช้คืนของเท่ากับจำนวนของที่ยืมมา แม้ว่าจะใช้เวลาในการใช้คืนก็ตาม (หน้า67-68)
          มลาบรีมักเลี่ยงความสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่ม (หน้า 1) มลาบรีไม่มีสัญญาณเตือนภัยหากมีศัตรูเข้ามาใกล้แต่จะตะโกนเตือน โดยจะตะโกนว่า “O tady din uy tadya” และเมื่อเจออันตรายที่ไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นอะไรจะตะโกนว่า “Ui ui ui!” ถ้าเจอเพื่อนจะมลาบรีจะพูดว่า “O tsakaleng!” มลาบรีดูแลผู้หญิงในครอบครัวและไม่ให้ปรากฏให้คนภายนอกเห็นจึงไม่เกิดเหตุผู้หญิงถูกข่มขืน มีกรณีเดียวคือเด็กหญิงชาวมลาบรีมาที่หมู่บ้านม้งพร้อมกับครอบครัวของเธอเพื่อมาขอข้าว มีชาวม้งคนหนึ่งล่อลวงเธอเข้าไปในบ้านและข่มขืน จากนั้นมลาบรีก็ไม่เคยเข้าไปในหมู่บ้านนั้นอีกเลย (หน้า 58)
 
การแต่งงาน
          เด็กมลาบรีทั้งชายและหญิงจะไม่สุงสิงกันจนกว่าถึงเวลาแต่งงานด้วยความเชื่อที่ว่าผีร้ายจะลงโทษด้วยการสาบให้ฝ่ายชายกลายเป็นสัตว์ (หน้า57, 65) หนุ่มสาวมลาบรีจะถึงวัยพร้อมจะแต่งงานเมื่ออายุประมาณ 16-18 ปีหรือเมื่อเด็กสาวมีหน้าอก (หน้า 57)  สังคมมลาบรีไม่มีประเพณีการหมั้นหมายก่อนแต่งงานและไม่มีประเพณีการจัดให้หนุ่มสาวมาพบปะทำความคุ้นเคยกัน หนุ่มสาวจะพบเจอและชอบพอกันเองเมื่อกลุ่มสายตระกูลมาพบปะกันโดยไม่มีการกำหนดว่าจะต้องเลือกหญิงจากสายตระกูลใดโดยเฉพาะ (หน้า 58) เมื่อฝ่ายชายต้องการแต่งงาน พ่อของฝ่ายชายจะเข้าไปคุยกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง หากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงตกลง ฝ่ายชายและพ่อจะไปเก็บผลไม้ หน่อไม้ น้ำผึ้งป่า หวายและขี้ผึ้งนำไปมอบให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง (หน้า 57) ส่วนใหญ่แล้วมลาบรีจะแต่งงานในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายนซึ่งเป็นช่วงหลังฤดูฝนมีอาหารอุดมสมบูรณ์ (หน้า 58) แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เห็นด้วยคู่รักก็จะไม่ได้แต่งงานหรือหนีตามกันไปอยู่ในป่า หากคู่ใดรอดชีวิตในหลายปีหลังจากนั้นไม่ว่าจะมีลูกด้วยกันหรือไม่ก็ตาม พ่อแม่มักให้อภัยและอนุญาตให้กลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวได้โดยไม่ขัดขวางความรักอีกต่อไป (หน้า 57-58) 
          หลังจากแต่งงานแล้วภรรยาจะเข้าไปอยู่ในสายสกุลของครอบครัวสามีและถือว่าเป็นสมบัติของสามี ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว ลูกจะสืบสายสกุลทางพ่อ สถานะของภรรยาไม่ได้ด้อยไปกว่าสามี สามีไม่สามารถขาย ให้ยืมหรือทำร้ายภรรยาได้ สามีมีสิทธิ์ที่จะทิ้งภรรยาแม้ว่าเธอจะไม่ยินยอมแต่ภรรยาไม่สามารถทิ้งสามีถ้าสามีไม่อนุญาต หากภรรยาฝ่าฝืนสามีมีสิทธิ์ที่จะบังคับให้ภรรยากลับมาอยู่ด้วยตามเดิม (หน้า 59) การแต่งงานของมลาบรีเป็นการแต่งงานแบบสามีภรรยาเดียว การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นข้อห้ามสำหรับทั้งชายและหญิง เนื่องจากไม่มีผู้หญิงมากพอที่จะมีการแต่งงานแบบสามีภรรยาหลายคนจึงไม่พบข้อมูลว่ามีการนอกใจ (หน้า 58) สิ่งที่ควบคุมศีลธรรมของมลาบรีอีกประการหนึ่งคือความเชื่อเรื่องผี มลาบรีเชื่อว่าถ้าเด็กผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับชายมากกว่าหนึ่งคน หญิงคนนั้นจะถูกหมีทำร้ายและกัดกิน (หน้า 57) ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบว่ามีเด็กที่เกิดนอกสมรส ถ้ามีกรณีเช่นนั้นเกิดขึ้นพ่อของเด็กจะต้องให้เครื่องมือจุดไฟ ซึ่งนับว่าเป็นของที่มีค่ามากที่สุดสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในป่าแก่ฝ่ายหญิง เด็กที่เกิดมานอกสมรสคนนั้นจะอยู่กับแม่และพ่อซึ่งจะต้องแต่งงานกันตามประเพณี (หน้า 57) 
          ถ้าสามีหรือภรรยาเสียชีวิตอีกฝ่ายสามารถแต่งงานใหม่โดยแต่งกับคนที่ไม่ผิดข้อห้ามที่กำหนดไว้เมื่อสามีตายภรรยาจะกลับไปที่กลุ่มของพ่อแม่ตนพร้อมลูกๆ หากลูกโดแล้วลูกจะอยู่ในสายตระกูลของพ่อตามเดิมหรืออาจตั้งครอบครัวของตนขึ้นใหม่ (หน้า 59)  สามีภรรยาที่แยกทางกันสามารถแต่งงานใหม่ได้อย่างอิสระ ไม่มีการหย่าอย่างเป็นทางการ ไม่มีการเอาของแต่งงานที่ให้ไปแล้วกลับคืน ลูกจะเลือกอยู่กับพ่อหรือแม่ก็ได้ (หน้า 59) 
          การแต่งงานระหว่างพี่ชายกับน้องสาวร่วมท้อง ลุงกับหลานสาว ป้ากับหลานชายหรือลูกพี่ลูกน้องเป็นสิ่งต้องห้าม หากลูกพี่ลูกน้องจะแต่งงานกันต้องทำพิธีเสี่ยงทายกับผีก่อน โดยหญิงและชายจะเข้าไปในป่าด้วยกัน หากไปเจอซากสัตว์ที่โดนเสือฆ่าแปลว่าผีห้ามไม่ให้แต่งงานกัน (หน้า 58) 
 
ความสัมพันธ์กับคนนอก 
          มลาบรีจะถูกมองว่าเป็นผีร้าย (evil spirits) และมักโกงตักตวงผลประโยชน์หรือแม้กระทั่งฆ่า(หน้า 18) มลาบรีไว้ใจชาวม้งมากกว่าชาวเขากลุ่มอื่นๆ เพราะชาวม้งไม่เอาเปรียบมลาบรีแต่จะให้การคุ้มครองและช่วยเหลือ เมื่อมลาบรีมาเคาะประตูบ้านของชาวม้งในฤดูฝน ตัวเปียกและหิวโหย ชาวม้งจะให้มลาบรีเข้ามาพักผิงไฟ (หน้า 18)  
 
 

Political Organization

การปกครอง
          ในแต่ละสายตระกูลจะมีผู้นำหรือหัวหน้าเป็นผู้ชายซึ่งมีอายุที่เหมาะสมและมีความสามารถพิเศษ เมื่อมีเรื่องสำคัญจะหารือหัวหน้าจะไม่เรียกประชุมแต่จะพูดคุยกับสมาชิกทุกคนในตอนเย็นข้างกองไฟ (หน้า 67) ผู้นำมลาบรีนั้นไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด สมาชิกในกลุ่มสามารถออกไปเข้ากลุ่มใหม่หรือแยกตัวอยู่ตามลำพังหากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้นำกลุ่ม แต่กรณีนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เมื่อผู้นำกลุ่มเสียชีวิต คนที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นผู้นำคนใหม่โดยทันทีโดยที่ไม่ต้องมีพิธีแต่งตั้งใดๆ (หน้า 66) 
 
ความขัดแย้ง
          ไม่พบความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นหรือการไม่เชื่อฟังพ่อแม่ (หน้า 65) มลาบรีไม่ครอบครองอาวุธเพื่อการรบและไม่มีการทำสงครามก่อนเพื่อป้องกันตนเอง มลาบรีจะต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองเท่านั้น (หน้า 67)
 
กฎหมาย 
          สังคมมลาบรีไม่มีการให้สิทธิเหนือที่ดินของบุคคล ไม่มีการครอบครองที่ดินอย่างเป็นทางการ แต่ละกลุ่มจะมีพื้นที่ขอบเขตของตนเอง ไม้ผล ต้นปาล์ม ต้นไผ่และสัตว์ป่าในพื้นที่นั้นเป็นของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ถ้ากลุ่มอื่นต้องการเข้ามาก็ต้องขออนุญาตก่อน ถ้าในกลุ่มไม่มีคนป่วยก็มักได้รับอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่ กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้อยู่จะมีสิทธิอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องให้สิ่งของใดๆตอบแทนแต่ถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็ต้องไปพื้นที่อื่น (หน้า 67) มลาบรีไม่ทำเครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของบนสิ่งของส่วนบุคคลเช่น มีด กระบอกยาสูบ เครื่องดนตรี เครื่องมือตีเหล็ก หอก เชื้อไฟ เสื้อผ้า (หน้า 67) สังคมมลาบรีไม่มีกฎหมายให้มรดกตกทอดแก่ลูกหลานเพราะไม่มีมรดกตกทอดใดๆ ของใช้ส่วนตัวของผู้ตายจะวางไว้ข้างๆร่างผู้ตายตอนฝัง (หน้า 67) ไม่มีข้อมูลว่าเกิดการฆาตกรรมในกลุ่มของมลาบรี หัวหน้ากลุ่มให้ข้อมูลว่าหากมีการฆาตกรรมเกิดขึ้น คนฆ่าจะต้องชดใช้ด้วยการย่างหมูและนำหมูวางไว้ข้างๆร่างของผู้ตาย (หน้า 68) หากมีมีผู้ถูกทำร้ายบาดเจ็บ ผู้ที่ทำร้ายจะต้องดูแลผู้บาดเจ็บจนกว่าจะหายโดยจะถือว่าเหยื่อเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ทำร้ายและหากพิการก็จะต้องดูแลไปตลอดชีวิต (หน้า69)
          การลงโทษผู้ทำผิดที่รุนแรงที่สุดคือการชดใช้ด้วยเครื่องมือจุดไฟ ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษผู้ที่ทำร้ายร่างกายผู้หญิง (หน้า 68) หากมีอันเป็นไปเกิดขึ้นกับผู้ที่กระทำผิด มลาบรีจะมองว่าเป็นการลงโทษจากผี ยกตัวอย่างเช่นมีชายหนุ่มมลาบรีมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กหญิงสองคน พ่อของหญิงทั้งสองมาบอกหัวหน้าซึ่งจะไปหาชายหนุ่มที่ทำผิดและสั่งให้ไปล่าหมีหรือหมูป่ามาให้แก่พ่อแม่ของหญิงสาวทั้งสอง หากเด็กหนุ่มออกล่าหมีและถูกหมีฆ่าตาย มลาบรีมองว่าเป็นการลงโทษจากผี ซึ่งหากชายหนุ่มไม่ตายและไม่สามารถล่าสัตว์มาได้ก็จะต้องชดใช้ด้วยวิธีอื่นเช่นการสานเสื่อให้แก่พ่อแม่ของหญิงสาว เป็นต้น ผู้ใดที่ทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะถูกให้ออกจากกลุ่มและต้องอยู่ตามลำพัง ที่ผ่านมายังไม่มีมลาบรีคนใดไม่ยอมรับการลงโทษด้วยการออกจากกลุ่ม (หน้า 68)
 
 

Belief System

การเชื่อในวิญญาณ
          มลาบรีมีความเชื่อว่าในร่างคนมีวิญญาณ (ขวัญ) ซึ่งจะออกจากร่างในตอนหลับและเข้าไปในป่าทำให้ผู้ที่นอนหลับเห็นภาพฝัน (หน้า 69) มลาบรีไม่เชื่อในดินแดนหลังความตาย ไม่เชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพของคนที่ตายไปแล้วหรือเรื่องผลบุญและผลกรรม มลาบรีเชื่อว่าเมื่อมีคนตายวิญญาณของคนนั้นจะออกจากร่างภายใน 3-4 วันหลังจากตาย มลาบรีเรียกวิญญาณชั่วร้ายว่า “mla” และเรียกวิญญาณของคนดีว่า “mla te” (หน้า 69) วิญญาณของคนที่ชั่วร้ายจะกลายเป็นเสือร้ายที่ไล่ล่าหมูป่าและกวางในป่า วิญญาณร้ายนั้นเป็นอมตะและเมื่อเสือตายก็จะกลายเป็นเสือตัวอื่นต่อไป (หน้า 69) ความเชื่อเรื่องวิญญาณกลายร่าง (metamorphosis) เป็นสัตว์นักล่านั้นพบในกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ลาว ถิ่นและขมุ ด้วย ดังนั้นอาจสรุปได้ว่ามลาบรีรับความเชื่อนี้มาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น (หน้า 69) มลาบรีจะพิธีบูชาต่อวิญญาณร้ายเมื่อเกิดเหตุร้ายต่างๆขึ้น เช่น การเจ็บป่วย ส่วนวิญญาณดีนั้นไม่ทำอันตรายและมักช่วยเหลือคน (หน้า 69)
 
ความเชื่อเกี่ยวกับผี 
          นอกจากความเชื่อเรื่องวิญญาณของผู้ที่ตายแล้ว มลาบรีเชื่อว่ามีผีร้าย (evil spirits) ที่เรียกว่า “dkat” และ “baa” และผีดีที่เรียกว่า “gruray” ซึ่งเป็นผู้รักษาคุณธรรมและข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆของมลาบรี ผีนั้นเพิ่มจำนวนได้เหมือนสัตว์และไม่เป็นอมตะแต่วิญญาณของผีนั้นเป็นอมตะและจะสถิตอยู่ในป่าตามต้นไม้หลังจากที่ตายแล้ว ในลำต้นของต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่าจะมีผีอยู่หลายตน ตามความเชื่อของมลาบรีผีจะไม่อยู่ในน้ำ หินผาหรือภูเขา (หน้า 70) ผี dkat เป็นผีที่เหมือนสุนัขหรือแมวตัวเล็กๆทำทุกวิถีทางที่จะทำอันตรายต่อคน หากคนหลงเข้าไปในที่สิงสถิตของผี dkat จะไม่รอดชีวิต มลาบรีจึงเลี่ยงที่จะไปในที่ๆ เป็นที่อยู่ของผีร้าย หากมีเหตุจำเป็นที่มลาบรีจะต้องพักใกล้กับที่สิงสถิตของผี มลาบรีจะนำหัวเผือกและมันมาเผาเพื่อบูชาผี dkat ก่อน โดยจะวางของบูชาด้านหน้าที่ผีสถิตอยู่และขอให้ผีไว้ชีวิตพวกเขา (หน้า 70) หากผู้ใดตั้งที่พักใกล้กับที่ผีร้ายสิงสถิตอยู่ ผีจะมาปรากฏตัวในฝันของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในตอนกลางคืน ผู้ที่ฝันจะต้องสัญญากับผีว่าจะทำพิธีบูชาและขอให้ผีไม่ทำอะไรพวกเขา ในตอนเช้าวันต่อมาคนที่ผีเข้าฝันจะทำพิธีบูชาและทุกคนจะออกเดินทางเพื่อย้ายที่พัก มลาบรีบอกว่าช้างไม่กลัวผี dkat ดังนั้นวิญญาณร้ายนี้ไม่ได้มีอำนาจเหนือสิ่งมีชีวิตทั้งหมด สำหรับผี Baa อาศัยอยู่ในกวาง กวางเขี้ยวดาบ หมูป่า หมี หากกินเนื้อของสัตว์ป่าเหล่านี้จะทำให้ปวดท้อง ส่วนผี gruray อยู่ในต้นไม้ คอยคุ้มครองและช่วยเหลือคน มลาบรีบูชาผีเหล่านี้ด้วยอาหาร เช่น กองเผือกมันเผากองเล็กๆ วางบนใบไม้ที่วางอยู่บนกองไม้ไผ่ด้านนอกของที่พักโดยคนที่ทำพิธีบูชาจะเป็นสมาชิกคนใดก็ได้ของกลุ่ม ผู้ทำพิธีจะพนมมือหันหน้าไปทางที่สิงสถิตของผีและยกมือที่พนมขึ้นลงพร้อมสวดมนต์ไปด้วย (หน้า 70) มลาบรีไม่เคยกินของที่นำมาทำพิธีไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูหรือเป็นของที่มีค่าอื่นๆ ไม่พบว่ามีบูชาด้วยของที่ไหม้เกรียม ไม่มีสถานที่ทำพิธีเฉพาะและไม่มีนักบวชสำหรับทำพิธีบูชาผีและพิธีกรรม (หน้า 71) ไม่พบว่ามลาบรีใช้เวทมนตร์คาถา หมอผี เครื่องรางของขลังหรือผ้ายันต์ มลาบรีเชื่อว่าผู้มีเวทมนตร์ของชาวเขากลุ่มอื่นๆ ส่งผีออกมาทำร้ายมลาบรี มลาบรีเชื่อว่าเย้าเป็นกลุ่มคนมีคาถามนต์ดำมากที่สุดและเวทมนตร์คาถาคนลาวก็ทำให้มลาบรีเสียชีวิตไปแล้วหลายครั้ง ว่ากันว่าในหมู่บ้านของชาวลาวที่ชื่อ Ban Mo นั้นมีหมอผีที่ส่งภูติผีร้ายออกมาฆ่ามลาบรี มลาบรีเชื่อว่าชาวลาวส่งผีเสือมาไล่กัดมลาบรีตาย (หน้า 71) 
          มลาบรีไม่รู้จักผีที่กลุ่มชาวเขากลุ่มอื่นๆนับถือ ไม่รู้สาเหตุของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นฟ้าร้องและฟ้าผ่า มลาบรีหวาดกลัวปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้และขอให้ผีช่วยคุ้มครอง (หน้า 71) ความเชื่อของมลาบรีนั้นมักเกี่ยวข้องกับป่า ไม่พบว่ามลาบรีเชื่อเรื่องลางสังหรณ์หรือเชื่อเรื่องลางบอกเหตุทั้งดีและร้าย ไม่พบว่ามีสมาคมทางศาสนา สมาคมลับ เครื่องดนตรีที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ การเต้นรำเชิงศาสนาและพิธีกรรม (หน้า 71- 72)
          ความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์การขึ้นลงของพระอาทิตย์ มลาบรีเชื่อว่าพระอาทิตย์ตายทุกคืนและเกิดใหม่ในเช้าของทุกๆวัน ดวงอาทิตย์ที่ตายแล้วจะเคลื่อนที่อ้อมใต้โลก ไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับการขึ้นลงของดวงจันทร์ (หน้า 39)
 
ความเชื่อที่เป็นข้อห้าม
          มลาบรีมีข้อห้ามทางศาสนาห้ามดื่มน้ำไหลหรือลำธารด้วยเหตุผลคือกลัวถูกเสือทำร้ายเนื่องจากเสือมักจะหาโอกาสที่คนหรือสัตว์มาดื่มน้ำตามแหล่งน้ำดื่ม มลาบรีจะดื่มที่เก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่แทน (หน้า 45) มลาบรีไม่ปลูกพืชผักเพราะเชื่อว่าหากปลูกพืชแล้วผีร้ายจะส่งเสือมาล่าพวกเขาตายทั้งหมด (หน้า 51) นอกจากนี้มีข้อห้ามเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ทางเพศในครอบครัว ห้ามชิงสุกก่อนห่ามและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่ของตน มลาบรีเชื่อว่าถ้าเด็กผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับชายมากกว่าหนึ่งคน ผู้หญิงจะถูกหมีทำร้ายและกัดกิน (หน้า 57)  
 
ประเพณีและพิธีกรรม
          มลาบรีมีความเชื่อว่าเด็กหญิงมลาบรีต้องเจาะหู ถ้าเด็กหญิงชาวมลาบรีไม่เจาะหูสัตว์ที่กลืนกินดวงจันทร์เมื่อท้องฟ้ามืดมิดในตอนกลางคืนจะลงมากัดหูข้างหนึ่งจนขาด ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าความเชื่อนี้มีในเฉพาะมลาบรีกลุ่มที่อาศัยอยู่ในในบริเวณใกล้หมู่บ้านชาวขมุเท่านั้น ดังนั้นจึงสรุปว่าความเชื่อนี้เป็นอิทธิพลที่มาจากภายนอก (หน้า 49) 
          สำหรับพิธีทำศพของมลาบรี ถ้าตายในช่วงเวลากลางวัน ศพจะถูกฝังทันทีหลังจากเสร็จพิธีแล้ว ถ้าตายตอนกลางคืนจะต้องทำพิธีบูชาแก่วิญญาณที่อยู่ในร่างผู้ตายทันทีและในวันรุ่งขึ้นนั้นก็จะมีพิธีบูชาครั้งที่สองก่อนฝังศพ ศพจะวางบนไม้หนาวางเรียงอยู่บนจุดที่ผู้ตายเสียชีวิต ศพนอนตะแคงขวา เข่าสองข้างงอ มือขวาวางหงายรองใต้หู แขนซ้ายวางราบไปจนถึงเข่า ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องหันศพไปทางทิศใด มลาบรีเอาของใช้ส่วนตัวของคนตายมาวางไว้ข้างศพ (ไม่เอาอาหารมาวาง) ไม่แตะต้องข้าวของของผู้ตายเพราะกลัวว่าจะถูกวิญญาณตามมาแก้แค้น ญาตินั่งล้อมศพและร้องไห้สักพักก่อนที่จะนำใบไม้มาคลุมฝังศพและไม่กลับมาดูศพอีกเพราะกลัวศพและผีที่อยู่รอบๆศพ การแสดงออกถึงความเศร้าโศกเสียใจคือการคิดถึงและพูดถึงผู้ตายบ่อยครั้ง (หน้า 59)
 
 

Education and Socialization

          ความสามารถในการเรียนรู้ของมลาบรีนั้นอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักและระดับสติปัญญาอยู่ในระดับต่ำกว่าชาวมอแกนและเซมัง มลาบรีไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว (หน้า 38) ไม่พบว่ามีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ภูมิปัญญาเกี่ยวกับธรรมชาติ การใช้ตรรกะเหตุผล ความสามารถในการค้าขายหรือการปรับใช้และการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ (หน้า 38-39)  มลาบรีไม่สามารถคิดวางแผนล่วงหน้า คิดแบบนามธรรม จับใจความสำคัญ ใช้ความจำหรือพูดถึงอดีตและอนาคตได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะมลาบรีไม่จำเป็นต้องใช้ความจำและการนึกย้อนอดีตในชีวิตประจำวัน (หน้า 37- 39) อย่างไรก็ตาม มลาบรีสามารถเรียนรู้และจดจำภาษาได้ดีเทียบเท่ากับชาวเขากลุ่มอื่นๆ มลาบรีเกือบทุกคนสามารถพูดภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาของตนเองได้ประมาณ 1-2 ภาษา ขึ้นอยู่กับว่ามีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับชาวเขากลุ่มอื่นๆ มากน้อยเพียงใด (หน้า 40) 
          ความรู้และความฉลาดมีความสำคัญน้อยมากสำหรับมลาบรี มลาบรีไม่ยกย่องหรือดูถูกคนเพราะความฉลาด แต่จะชื่นชมคนที่สามารถหาอาหารได้จำนวนมาก คนที่มลาบรีถือว่า “โง่”นั้น คือคนที่ไม่สามารถหาอาหารได้ (หน้า 39) แม่ชาวมลาบรีนั้นไม่ได้คาดหวังอะไรจากลูกมากไปกว่าการที่ลูกมีชีวิตรอดจากอันตรายต่างๆในป่า (หน้า 66) 
          มลาบรีมีความรู้ทางภูมิศาสตร์น้อยมากแต่จำทิศทางได้ดี (หน้า 40)  รู้ชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนบ้านเช่น แม้ว เย้า ถิ่น ลาวและขมุ แต่ไม่รู้ชื่อที่ชาวเขากลุ่มอื่นๆใช้เรียกภูเขา ลำธาร แม่น้ำและสถานที่อื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามลาบรีติดต่อกับคนนอกกลุ่มไม่มากนัก มลาบรีไม่มีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับที่อยู่ของตนเองและไม่เคยเห็นชาวยุโรปผิวขาวมาก่อน (หน้า 39)
 
การสอนและการพัฒนาสติปัญญาเด็ก 
          เด็กๆมลาบรีได้รับการปฏิบัติด้วยความเมตตาจากผู้ใหญ่ทุกคนและได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ลงโทษลูกด้วยการตีหรือทำร้ายลูกยกเว้นว่าผู้เป็นแม่อาจตีลูกเมื่อลูกโกหก เด็กชาวมลาบรีพึ่งพาตนเองตั้งแต่ยังเล็กและมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ (หน้า59-60) พ่อแม่ไม่ให้ของรางวัลหรือให้ของเล่นแก่ลูก เมื่อเด็กมลาบรีคลานได้ก็จะคลานไปหาของเล่นรอบๆ บริเวณที่พัก เช่น ดิน ทราย ไม้ พืชหรือดอกไม้ โดยจะเก็บไม้ชิ้นเล็กๆและก้อนหินมากลิ้งไปมา ฉีกใบไม้และดอกไม้เป็นชิ้นๆ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะก่อเนินทรายและดินและเก็บไม้ เด็กผู้หญิงอุ้มก้อนหินหรือกิ่งไม้แทนตุ๊กตา ป้อนอาหารตุ๊กตาด้วยใบไม้และจุดไฟเล่นทำอาหารและสมมติว่าเศษไม้เป็นหัวเผือกและหัวมัน เด็กชอบเล่นเกมส์พ่อแม่และชอบเล่นกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขโดยจะลูบและพูดคุยกับสุนัขและไม่พบว่ามีการรังแกสัตว์เพื่อความสนุก (หน้า61) เด็กผู้ชายเล่นจับแมลงและผีเสื้อ (หน้า 60) เด็กชาวมลาบรีไม่เล่นเกมส์ที่มีกฎกติกาหรือการแข่งขันยกเว้นเกมส์โยนก้อนหินซึ่งมลาบรีเรียนรู้มาจากเด็กชาวเย้า เด็กมลาบรีไม่เล่านิทาน เพลงหรือการเต้นระบำ เพลงที่ร้องมักมีการแปลงเนื้อเพลงและทำนอง ผู้ใหญ่ไม่เล่นเกมส์กับเด็กแต่ก็ไม่ห้ามไม่ให้เด็กเล่น เกมส์ที่เด็กมลาบรีโปรดปรานคือการเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น การคาบกระบอกยาสูบไว้ในปาก แม้แต่เด็กอายุ 3 ขวบก็ชอบสูบยาสูบ ซึ่งการสูบยาสูบตั้งแต่อายุยังน้อยนี้เป็นลักษณะเฉพาะของชาวภูเขาเช่น แม้ว เย้า อาข่า ซึ่งมลาบรีเรียนรู้มาจากชาวภูเขาเหล่านี้ (หน้า 61) 
          การศึกษาเรียนรู้ของเด็กมลาบรีนั้นเป็นการเรียนรู้จากวิธีคิดและการกระทำของผู้ใหญ่ เป็นการสอนโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (หน้า 65) เด็กเริ่มทำงานต่างๆเมื่ออายุประมาณ 8-9 ปี เด็กผู้ชายจะทำงานเหมือนผู้ใหญ่คือเก็บอาหารและไม้ ตักน้ำ เก็บไม้ใบมามุงที่พัก ทำอาหารและคอยเติมเชื้อเพลิงให้กองไฟลุกอยู่เสมอ งานที่ทำเด็กชายจะต้องทำขึ้นอยู่กับพละกำลัง ความฉลาดเฉลียวและนิสัยใจคอของเด็ก เด็กมักทำงานด้วยความเต็มใจแม้ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำงาน พ่อแม่ไม่ต้องสอนงานเพราะเด็กได้ดูพ่อแม่ทำงานมาตั้งแต่ยังเด็ก  เด็กมลาบรีจะอยู่ในสายตาของพ่อแม่และสมาชิกในกลุ่มตลอดเวลาเพราะกลัวว่าเสือจะมาทำร้ายและจะไม่ค่อยอยู่นอกที่พักโดยที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วยแต่บ่อยครั้งเด็กก็ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของของสัตว์ป่า (หน้า 62)
          เด็กมลาบรีมีนิสัยขี้อายและเก็บตัวเมื่ออยู่ต่อหน้าคนแปลกหน้าและจะไม่ยอมรับของจากมือคนแปลกหน้าโดยตรง  เมื่อเจอของที่ไม่รู้จักเด็กจะประหลาดใจและรู้สึกกลัวมากกว่ารู้สึกอยากรู้อยากเห็น การกลัวสิ่งที่ไม่คุ้นเคยนี้เป็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การทำความรู้จักกับมลาบรีจึงต้องใช้ความระมัดระวัง การพยายามผูกมิตรด้วยการให้ของนั้นไม่เป็นผล พ่อแม่ชาวมลาบรีไม่ได้สอนลูกให้เรียกสิ่งของด้วยชื่อต่างๆและไม่สอนให้ยืน คลานหรือเดิน แต่ให้เรียนรู้ด้วยตนเอง  (หน้า 62)  
 
 

Health and Medicine

ความเชื่อเรื่องการเจ็บป่วย
          มลาบรีข้อห้ามไม่ให้ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำไหลหรือลำธารเพราะกลัวว่าจะถูกเสือทำร้ายขณะดื่มน้ำ มลาบรีจะเก็บน้ำดื่มไว้ในกระบอกไม้ไผ่และจะดื่มน้ำจากกระบอกนี้ตลอดทั้งปี ทำให้มลาบรีเป็นชาวเขาในแถบพื้นที่นี้ที่ไม่เป็นโรคคอพอก (struma หรือ goitre) หรือโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (cretinism) เหมือนชาวเขากลุ่มอื่นๆที่อาศัยอยู่พื้นที่เดียวกันที่เป็นโรคดังกล่าวทั้งชายและหญิง (หน้า 46)
 
การรักษาพยาบาล
          มลาบรีรักษาความเจ็บป่วยด้วยการทำพิธีบูชาผีและการใช้ไฟรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยนอนข้างกองไฟเพื่อหายใจเอาควันไฟเข้าไป มลาบรีเชื่อว่าควันไฟนั้นสามารถรักษาโรคได้ (หน้า 75) สำหรับการบูชาจะทำโดยการบูชาอาหารในตอนเช้าและตอนเย็นและผู้ป่วยจะต้องลุกจากที่ตนเองนอนป่วยเพื่อทำพิธีบูชาด้วยตนเอง ระยะเวลาในการทำพิธีนั้นไม่นานนักเพราะผู้ป่วยยังอ่อนแรง เมื่อผู้ป่วยสามารถคลานได้เล็กน้อยก็จะทำพิธีบูชาบนพื้นดินห่างออกไปจากที่พักประมาณสิบห้าก้าว (หน้า 69)
          มลาบรีไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค การใช้ยาแก้พิษงูเวลาที่โดนงูกัด การรักษากระดูกหักรวมทั้งการบาดเจ็บรุนแรงอื่นๆ เมื่อเป็นแผลมลาบรีจะเอาขี้เถ้ามาโปะรักษาแผล เมื่อถามมลาบรีว่าหากมีคนข้อเท้าหักตอนที่เดินป่าอยู่จะทำอย่างไร มลาบรีตอบว่า “คนๆนั้นจะตาย” (หน้า 75) บางครั้งผู้ป่วยหรือคนที่บาดเจ็บจะไปพบหมอชาวลาวเพื่อรักษาโดยการทำพิธีไล่ผีร้ายจากร่างผู้ป่วย ซึ่งเชื่อว่าการรักษานี้จะเชิญผีป่าซึ่งจะไล่ผีร้ายออกจากร่างผู้ป่วย นอกจากนี้มลาบรียังเรียนรู้วิธีการรักษาแผลสดจากชาวลาวด้วยการใช้ใบไม้ของต้นไม้บางชนิดรักษาแผล (หน้า 75)
 
การรักษาความสะอาด
          มลาบรีจะ “อาบน้ำ” ด้วยการยืนใกล้กองไฟยื่นแขนขาออกไปใกล้เปลวไฟแล้วใช้มือถูตามร่างกายทำให้ฝุ่นหลุดออกและทำให้ขนตามร่างกายที่ไม่ต้องการหายไปด้วย มลาบรีสระผมด้วยการนั่งหน้ากองไฟ ก้มหัวลงไปใกล้กองไฟแล้วขยี้ผมให้แมลง ฝุ่น โคลนต่างๆ ปลิวลงไปในกองไฟ การซักผ้าก็เช่นกันมลาบรีจะสะบัดผ้าผ่านเปลวไฟสองสามครั้งถือว่าสะอาด (หน้า 32) 
 
การให้กำเนิดบุตร
          แม่มลาบรีให้กำเนิดลูกใกล้กับเพิงที่พักโดยไม่มีหมอตำแยช่วยในการคลอด ถ้าในกลุ่มไม่มีผู้หญิงก็จะขอให้ผู้หญิงจากกลุ่มอื่นมาช่วยโดยจะเข้ามาล่วงหน้าก่อนวันคลอดหลายวัน มารดาจะดื่มน้ำเย็นปริมาณมากและใช้มือลูบท้องในทิศทางไปทางปลายเท้าเพื่อให้ปวดคลอดเร็วขึ้น เมื่อรู้สึกเจ็บท้องคลอด สามีจะปักไม้ยาวบนดินและจับเสาไว้ขณะที่ภรรยานั่งยองๆ ยึดเสาไว้ (หน้า 55) หลังจากคลอดแล้วสามีอุ้มภรรยากลับที่พักและให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งดูแลแม่และลูกเนื่องจากผู้เป็นพ่อไม่สามารถสัมผัสลูกได้จนกว่าลูกจะหายตัวเปียก ขณะที่แม่นอนพักบนเตียงผู้หญิงที่มาช่วยจะตัดสายสะดือเด็กด้วยมีดไม้ไผ่  ห่อรกด้วยใบไม้และเอาไปวางไว้บนต้นไม้ (ไม่แขวนกับต้นไม้) ระยะเวลาพักฟื้นจะขึ้นอยู่กับเรี่ยวแรงของแม่ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 6-7 วัน ผู้เป็นแม่จะอาบน้ำเด็กทารกที่เกิดใหม่ด้วยน้ำอุ่นเป็นเวลา 2-3 วัน เช็ดอุจจาระด้วยชิ้นไม้เล็กๆและทำให้ตัวแห้งด้วยการอังใกล้ไฟ เมื่อเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปก็จะไม่อาบน้ำบ่อยแต่จะใช้วิธีล้างตัวกับไฟแบบที่ผู้ใหญ่ทำ มลาบรีอาบน้ำที่ลำธารเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แม้จะอาบน้ำไม่บ่อยนักแต่มลาบรีก็ดูไม่สกปรก แม่จะให้นมเมื่อลูกร้องและให้นมลูกเป็นเวลาหลายปีจนกว่าเด็กจะโตและเก็บหัวเผือกหัวมันกินได้เอง หากแม่ไม่มีน้ำนมหรือมีน้ำนมน้อยเกินไปทารกก็จะตายเพราะมลาบรีไม่มีแม่นม เนื่องจากจำนวนผู้หญิงมีน้อยทำให้การมีแม่นมนั้นเป็นไปได้ยาก เมื่อเด็กอายุประมาณ 2-3 เดือนจะป้อนมันที่ลอกเปลือกออกแล้วบดละเอียดหรือน้ำผึ้งเสริมจากนมแม่ แม่จะอุ้มลูกด้วยโดยการอุ้มไว้แนบอกโดยใช้หวายถักหรือผ้าผูกไว้รอบคอ เมื่อเด็กโตขึ้นแม่จะให้ขี่หลัง เด็กจะเริ่มเดินเท้าเพื่อย้ายที่พักเมื่ออายุ 4-5 ปีโดยจะเดินช้าๆ เด็กเล็กๆจะนอนบนที่นอนเดียวกับแม่ โดยนอนหลับในอ้อมกอดแม่โดยไม่สวมเสื้อผ้า พออายุประมาณ 8 ปีเด็กจะแยกนอนในที่นอนของตนเอง โดยจะนอนใกล้กองไฟในที่พักเดียวกับแม่ (หน้า 56)
          ไม่พบว่ามีการฆ่าเด็กแต่อัตราการเสียชีวิตของเด็กมีสูงมาก มลาบรีไม่รู้จักการมีลูกแฝด มลาบรีมองว่าถ้าหญิงมีลูกแฝดจะลำบากมากเพราะผู้หญิงไม่แข็งแรงมากพอที่จะเลี้ยงลูกสองคนและหาอาหารไปด้วยพร้อมๆกัน ผู้ชายมลาบรีคนหนึ่งเห็นว่าถ้าหญิงมีลูกแฝดแปลว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายสองคนซึ่งกรณีนั้นจะมีในหมู่ชาวลาวเท่านั้นซึ่งหญิงหลับนอนกับชายหลายคน (หน้า 57) 
          มลาบรีอยากมีลูกชายมากกว่าลูกสาวเพราะลูกชายนั้นแข็งแรงกว่าและสามารถต่อสู้ชีวิตได้มากกว่าลูกสาว ถ้าลูกเกิดมาอ่อนแอหรือพิการพ่อแม่จะเลี้ยงดูให้รอดแต่เด็กที่พิการเกือบทั้งหมดเสียชีวิตเพราะไม่สามารถรอดชีวิตจากสภาพชีวิตที่ยากลำบากได้ (หน้า 56-57)
          อัตราการตายในวัยเด็กมีสูงถึงประมาณร้อยละ 80 มลาบรีจะไม่ค่อยเจ็บป่วยแต่มีอายุไม่ยืนยาวนัก โรคที่พบในหมู่มลาบรีคือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคไขข้อ ป่วยเป็นไข้มาลาเรียบ้างและไม่พบผู้ปวยเป็นโรคผิวหนัง มลาบรีส่วนใหญ่มีอายุน้อย พบมลาบรีอายุประมาณ 50 ปีเพียงคนเดียวและมีจำนวน 4 คนที่อายุ 40 กว่าปี ไม่พบว่ามีมลาบรีคนใดที่จำปู่ย่าตายายของตนเองได้ ซึ่งการที่มลาบรีมีอายุสั้นเป็นผลมาจากวิถีชีวิตไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอาหารและการเสี่ยงอันตรายในป่าซึ่งเป็นสิ่งที่มลาบรีจะต้องพบเจอตลอดชีวิตของตน สาเหตุการตายส่วนใหญ่ได้แก่ ถูกงูเห่ากัดตาย  2 คน ถูกเสือกัดตาย 6 คน ตายจากการตกต้นไม้ขณะปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้ง 1 คน เสียชีวิตจากถูกหมีทำร้าย 2 คน ถูกชาวเย้าวางยาพิษ 1 คน กินเนื้อหมูที่ติดเชื้อโรคที่ชาวลาวให้มา 1 คน ตายเพราะกระดูกหัก 2 คน ถูกชาวถิ่นยิงเสียชีวิต 4 คน ถูกชาวเย้าฆ่าตาย 2 คน ตายเพราะผีร้าย 4 คน ซึ่งอาการป่วยของคนที่ตายเพราะผีนั้นน่าจะเป็นอาการของโรคอหิวาห์ตกโรค (cholera) หรือไข้รากสาดใหญ่ (typhus) (หน้า 44-45)
          ไม่พบว่ามีมลาบรีฆ่าตัวตาย เนื่องจากมลาบรีไม่มองว่าสถานการณ์ที่ตนเองเจอนั้นดีหรือไม่ดีและไม่ได้พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้น มลาบรีไม่คิดเปรียบเทียบว่าคนกลุ่มอื่นๆนั้นมีชีวิตที่ดีกว่าตนเอง (หน้า 41-42) 
 
 

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย
          ข้อมูลที่ได้จากม้งระบุว่าแต่ก่อนหน้ามลาบรีไม่ใส่เสื้อผ้าเลย จนกระทั่งในช่วงหลัง มลาบรีทั้งชายและหญิงเริ่มสวมแถบผ้ารอบเอวแล้วนุ่งไปเหน็บไว้ด้านหลัง มลาบรีใส่เสื้อผ้าใช้แล้วที่ได้มาจากชาวเขาเพื่อนบ้านโดยไม่เคยซักเลยและใส่จนขาดเป็นชิ้น เมื่อถามว่าทำไมมลารีไม่เปลือยหมดเหมือนแต่ก่อน คำตอบที่ได้จากมลาบรีคือเพราะคนอื่นใส่เสื้อผ้า มลาบรีจะสะสมของที่หามาได้เพื่อนำไปแลกกับเสื้อผ้าเหล่านี้ (หน้า 48-49) มลาบรีไม่ใส่เครื่องประดับใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอหรือแหวน มลาบรีไว้ผมยาวรุงรังประมาณไหล่ เมื่อตัดผมจะใช้มีดหรือใช้ไฟเผาให้ผมสั้นลง (หน้า 49) มลาบรีไม่รู้จักการสัก (tattooing) มีการตกแต่งร่างกายอย่างเดียวคือการเจาะติ่งหูซึ่งจะทำทั้งชายหญิงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยใช้ไม้ชิ้นเล็กๆหรือใบไม้ม้วนเข้าด้วยกันนำมาใส่ในรูติ่งหูที่เจาะไว้ เป็นความเชื่อที่ว่าถ้าเด็กหญิงชาวมลาบรีไม่เจาะหู สัตว์ที่กลืนกินดวงจันทร์เมื่อท้องฟ้ามืดมิดในตอนกลางคืนจะลงมากัดหูข้างหนึ่งจนขาด ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าความเชื่อนี้มีในเฉพาะมลาบรีกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับชาวขมุ (หน้า 49)
          หัตถกรรมและงานฝีมือต่างๆ ไม่พบว่ามลาบรีทำงานฝีมือที่ใช้กระดูก เปลือกหอย งาช้าง หิน หนังสัตว์ การย้อมหนังสัตว์หรือการปั้นหม้อ มลาบรีทำมีด กระบอกใส่น้ำและกล่องใส่ยาสูบจากไม้ไผ่เช่นเดียวกับชาวม้งและทำปืนเป่าลูกดอกจากไม้ไผ่มีลักษณะคล้ายปืนลูกดอกที่คนลาวใช้ มลาบรีเรียนการสานตะกร้าและเสื่อจากชาวม้งโดยพักในหมู่บ้านม้งเป็นเวลาหลายวันเพื่อสานตะกร้าและเสื่อโดยที่ม้งคอยดูแลหาอาหารให้ มลาบรีจะนำตะกร้าและเสื่อที่สานเสร็จแล้วไปแลกกับของที่ต้องการและสานกระเป๋าเพื่อนำไปขายแก่พ่อค้าชาวลาว  (หน้า 53) มลาบรีใช้เหล็กแต่ไม่พบว่ามีการสกัดและการหลอมเหล็ก (หน้า 53-54) 
          ศิลปะ มลาบรีไม่วาดภาพไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายเส้นหรือสัญลักษณ์ เมื่อขอให้วาดรูปมลาบรีจะวาดเป็นวงกลมเล็กๆ แทนป่า กองไม้ไผ่ เพิงที่พัก สุนัข เสือหรือเด็กชายที่หลงทางจากพ่อแม่ ภาพวาดนั้นเป็นภาพวาดลายเส้นง่ายๆ มลาบรีวาดภาพออกมาคล้ายๆกันจนไม่สามารถระบุได้ว่าคนใดมีพรสวรรค์ในการวาดภาพ (หน้า 73)
          ดนตรี มลาบรีมีศิลปะเพียงอย่างเดียวคือดนตรี ดนตรีของมลาบรีเน้นท่วงทำนองเป็นหลัก มีเครื่องดนตรี 3 ชิ้นทำจากไม้ไผ่ ชิ้นแรกคือ tulu put หรือขลุ่ยคู่ (Double flute) สำหรับเป่าให้สัญญาณเรียกรวมตัว ทำจากลำไม้ไผ่ขนาดเล็กสองลำที่มีความยาวต่างกันปลายขลุ่ยชี้ลงล่างและเป่าจากด้านบน (หน้า 72) เครื่องดนตรีชิ้นที่สองคือ tanglang เป็นเครื่องดนตรีที่คล้าย xylophone ทำจากลำไม้ไผ่ความยาวต่างกันจำนวนสามลำ เวลาเล่นใช้นิ้วมือซ้ายหนีบลำไม้ไผ่ทั้งสามไว้ มือขวาถือไม้เล็กๆตีให้เกิดเสียง เครืองดนตรีที่สามคือกีตาร์ไม้ไผ่เรียกว่า latek ทำจากลำต้นไม้ไผ่ยาวประมาณ 28 นิ้วและหนาประมาณ 3-4 นิ้ว สายดีดหนาประมาณครึ่งนิ้วซึ่งยึดไว้กับตัวกีตาร์ด้วยชิ้นไม้เล็กๆจำนวนสองสามชิ้น เวลาดีดจะใช้กิ่งไม้ไผ่ดีด กีตาร์นั้นเล่นเดี่ยวหรือเล่นคู่กับเครื่องดนตรี tanglang ไม่พบว่าผู้หญิงหรือเด็กเล่นกีตาร์ (หน้า 72) มลาบรีเล่นดนตรีเพื่อความบันเทิง ไม่ร้องเพลงคลอไปกับเครื่องดนตรีและไม่มีเพลงประจำกลุ่ม เมื่อร้องเพลงมักแปลงเนื้อเพลงเสมอ ไม่มีการจัดเทศกาลการแสดงและการเต้นรำ (หน้า73) 
 
 

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          มลาบรีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ (Mongoloid) ที่ยังรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และมีภาษาพูดเป็นของตนเอง ด้วยประวัติความเป็นมาของมลาบรีที่ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดและไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มลาบรีเก่าแก่กว่ากลุ่มชาติพันธุ์นิกริโต (Negrito) หรือไม่ จากการศึกษาพบว่ามลาบรีมีความเป็นชนเผ่าดั้งเดิมยิ่งกว่าชาวเซมังซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นเก่าแก่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาจเป็นชนเผ่าดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนยุคหินใหม่ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาไปสู่มนุษย์ในยุคเหล็ก (iron age) ข้อสรุปต่างๆเกี่ยวกับที่มาของมลาบรีเป็นเพียงการคาดเดา แต่ผู้วิจัยเชื่อว่ามลาบรีนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ (Mongoloid) มีที่มาจากมองโกลอยด์ที่อยู่ทางใต้ของคาบสมุทรมลายูซึ่งเป็นกลุ่ม old pre-negritic ที่หลงเหลืออยู่หรือเรียกว่า protomongoloid กลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดนี้ภายหลังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมองโกลอยด์รุ่นเก่า (Paleomongoloid) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ตั้งรกรากอยู่ในแถบอินโดจีนตะวันออกและในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย (หน้า 78-79) แต่อย่างไรก็ตามมลาบรีมีข้อแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์ Paleomongoloid ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายประการ (หน้า 77)

Social Cultural and Identity Change

          ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นการรุกรานของคนนอกและอาหารในป่าที่ลดน้อยลงทำให้วิถีชีวิตของมลาบรีเปลี่ยนแปลงไป อาหารที่ขาดแคลนทำให้มลาบรีต้องออกมาจากพื้นที่ของตนเพื่อหาอาหารและต้องติดต่อกับคนนอกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยน การรับจ้างถักทอเพื่อแลกกับสิ่งของที่ต้องการและการรับจ้างทำนา เป็นต้น (หน้า 46, 51)  การติดต่อกับคนภายนอกทำให้มลาบรีเริ่มใส่เสื้อผ้าโดยนุ่งผ้ารอบเอวและใส่เสื้อผ้าที่ได้มาจากชาวเขาเพื่อนบ้านและสามารถพูดภาษาของชาวเขากลุ่มอื่นๆได้ (หน้า 48-49) 

Other Issues

ลักษณะทางกายภาพ
          ความสูงเฉลี่ยของชายมลาบรีคือ 158 เซ็นติเมตร ในจำนวนที่วัดความสูง 18 คนคนที่สูงที่สุดสูง 169 เซ็นติเมตรและสูงน้อยที่สุดคือ 151 เซ็นติเมตร ความสูงเฉลี่ยของผู้หญิง 12 คนคือ 144 เซ็นติเมตร คนที่สูงที่สุด 146 เซ็นติเมตรและสูงน้อยสุดคือ 138 เซ็นติเมตร ความสูงของเด็กนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่แน่นอนเพราะมลาบรีมีเด็กจำนวนไม่มากและคาดเดาอายุได้เพียงคร่าวๆเท่านั้น (หน้า 76) มลาบรีทั้งชายและหญิงมีรูปร่างที่สวยงาม ไหล่ตกเล็กน้อย ร่างกายส่วนบนจะยาวกว่าเมื่อเทียบกับส่วนล่าง มือและเท้าใหญ่และแข็งแรง กล้ามเนื้อตามร่างกายไม่แข็งแรงมากนัก (หน้า 76) มีผิวสีขาวเหลือง ผู้หญิงผิวขาวกว่าผู้ชาย มีกลิ่นกายออกเปรี้ยว ซึ่งต่างจากกลิ่นของชาวเขากลุ่มอื่นๆเช่น ม้งซึ่งจะมีกลิ่นกายเป็นกลิ่นเหงื่อและนมเปรี้ยว ซึ่งกลิ่นกายของมลาบรีนี้จะยังคงอยู่ในที่พัก หลังจากที่พวกเขาย้ายออกไปแล้ว (หน้า 76)
          เด็กมลาบรีหลังเกิดใหม่จะมีปานมองโกเลียน (Mongol marks) ซึ่งจะจางไปในเวลาไม่กี่ปี (หน้า 76) รูปทรงหัวกะโหลกศีรษะมีขนาด mesocephalic และในบางกรณีเป็น brachyceptic (หน้า 76) มลาบรีมีผมหนา ไม่พบว่ามีมลาบรีคนไหนที่หัวล้าน ผมดำสนิท หยักศกเล็กน้อย ไม่ค่อยพบมลาบรีที่มีผมตรง ผมผู้ชายยาวประมาณ 6 นิ้ว ผมผู้หญิงยาวประมาณไหล่ ไม่มีการไว้เคราหรือมีเพียงแค่การไว้หนวดเล็กน้อย ซึ่งจะตรงข้ามกับคิ้วที่หนามาก คิ้วผู้ชายหนาเป็นพุ่มและจะค่อนข้างสากแข็ง (หน้า 76) ซึ่งจากการอาบน้ำด้วยไฟของมลาบรีทำให้ไม่แน่ใจว่ามลาบรีมีขนตามตัวน้อยตามธรรมชาติหรือเพราะขนนั้นถูกกำจัดออกด้วยไฟ (หน้า 76) 
          โหนกแก้มเป็นส่วนที่ค่อนข้างโดดเด่นบนใบหน้าของมลาบรี พบทั้งใบหน้ารูปไข่และสามเหลี่ยม ซึ่งรูปหน้าสามเหลี่ยมนี้จะมีในหมู่ของผู้หญิงเท่านั้น หน้าผากสูงปานกลางและค่อนข้างเถิกซึ่งเผยให้เห็นขมับที่ยื่นเด่นของทั้งหญิงและชาย (หน้า 67)  จมูกค่อนข้างใหญ่ รูปทรงดี มีดั้งจมูก ปีกจมูกค่อนข้างกว้างและเชิดขึ้น ดวงตาซ้ายขวาอยู่ห่างกันซึ่งแสดงลักษณะของกลุ่มเชื้อชาติมองโกลอยด์ (Mongoloid race) (หน้า 76-77) รูม่านตาขนาดใหญ่ ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ไม่พบมลาบรีที่มีม่านตาสีดำ กระจกตามีสีขาวออกฟ้า ไม่มีสีขาวออกเหลือง ปากกว้างแต่ไม่ใหญ่เหมือนนิกรอยด์ (negroid) ฟันซี่ใหญ่ รูปทรงแข็งแรงและไม่พบฟันผุ ไม่พบภาวะโครงกระดูกใบหน้าส่วนล่างยื่น คางสั้นเล็กน้อย คางผู้หญิงจะปลายแหลม ใบหูกว้าง ติ่งหูนั้นถ้าไม่มีขนาดปกติตามปกติก็จะเล็กมากจนเหมือนไม่มีติ่งหู (หน้า 77) มลาบรีจะเดินโน้มตัวไปข้างหน้า ก้าวขาเหมือนค่อยๆเดินย่อง ขณะเดินจะแกว่งแขนจากหน้าไปหลัง (หน้า 77)
 
ลักษณะนิสัย (characteristic) 
          มลาบรีมีทักษะการเอาตัวรอดในป่า จริงจังและเก็บตัว ไม่พึ่งพาและไม่ไว้ใจใครง่ายๆ (หน้า 31,35) มลาบรีจะปฏิบัติกับคนอื่นขึ้นอยู่กับระดับความคุ้นเคยโดยจะต้อนรับขับสู้คนนอกกลุ่มที่พวกเขารู้จักดีเท่านั้นเช่นคนจีนและม้ง ถ้าไม่รู้จักมลาบรีจะประหม่าที่จะเข้าใกล้ แต่เมื่อไว้ใจและคุ้นเคยกันแล้วมลาบรีเดินเข้ามาขอสิ่งที่ต้องการ โดยพูดว่า “tut” ซึ่งแปลว่า “ให้” และไม่กล่าวคำว่า “กรุณา” หรือ “ขอบคุณ” มลาบรีเห็นว่าการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนนั้นสำคัญมากและยอมอดเพื่อให้ผู้มาเยือนได้กิน (หน้า 34-36) มลาบรีจะสบายใจเมื่ออยู่ในกลุ่มของตนเองและเมื่อนั่งสูบยาสูบเงียบๆหน้ากองไฟหลังมื้ออาหาร (หน้า 36) ตามปกติแล้วมลาบรีจะพูดสื่อสารกันน้อยโดยสามารถอยู่ด้วยกันเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่พูดจากันเลย มีเพียงเสียง “m-m” และ “ehhh” ยาวๆ เมื่อผู้หญิงนั่งรวมกลุ่มกันจะพูดคุยด้วยเสียงสูง (หน้า 36) 
          มลาบรีไม่กล่าวคำทักทาย เมื่อเจอกันก็จะพูดว่า “ไปไหนมา” หรือ “จะไปไหน” และเมื่อจะจากกันจะพูดว่า “ไป” เมื่อจะลาคนแปลกหน้ามลาบรีจะแยกตัวโดยไม่กล่าวคำลา (หน้า 34-35) มลาบรีไม่มีกฏเกณฑ์เรื่องมารยาท แต่ไม่พบพฤติกรรมที่รับไม่ได้ เช่น การถ่มน้ำลายหรือเรอในระหว่างที่ทานอาหาร ในการพูดคุยกันมลาบรีแทบจะไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ทั้งอารมณ์โกรธหรือตื่นเต้นดีใจ แม้กระทั่งการกอดสัมผัสลูกก็ไม่ได้แสดงความรักมากนัก (หน้า 35) มีพี่น้องมลาบรีที่ไม่ได้เจอกันนานหลายเดือนและรอเป็นเวลานานที่จะได้เจอกัน เมื่อพบเจอกันก็ไม่ได้ทักทายหรือพูดจากันแต่อย่างใด การไม่แสดงออกเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ามลาบรีไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่จะแสดงด้วยการกระทำ เช่น การเสียสละ การดูแลคนแก่และคนเจ็บ รู้สึกเป็นห่วงคนที่หายไปและการเก็บอาหารไว้ให้คนที่ไม่อยู่ (หน้า 35)
          แม้ว่ามลาบรีรักสงบและเก็บตัวแต่มลาบรีไม่ได้ว่าง่ายและเชื่อฟังเสมอไป มลาบรีไม่คิดว่าใครเหนือกว่าหรือต่ำกว่า (หน้า 34) มลาบรีมีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา รักษาสัญญา การโกหกเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับมลาบรี หากเด็กมลาบรีโกหกก็จะโดนลงโทษ  (หน้า 41) มลาบรีแยกแยะคนดีกับคนไม่ดีโดยกล่าวว่า “คนดีจะแต่งตัวเหมือนยุมบรี คนไม่ดีแต่งตัวเหมือนคนลาวและคนเลวร้ายที่สุดคือคนที่ใส่หมวก” (หน้า 41)
          เมื่อขอให้มลาบรีทำงานอะไรก็ตามมลาบรีจะบอกว่า “ทำไม่ได้” และจะลงมือทำเมื่อเห็นคนทำสิ่งนั้นสำเร็จก่อน (หน้า 31) มลาบรีขาดสมาธิจดจ่อกับงานโดยมักละทิ้งงานกลางคัน (หน้า 37)
 
 

Map/Illustration

ให้ระบุชื่อภาพ แผนที่ ตาราง ที่สำคัญ พร้อมเลขหน้าที่ปรากฏในงาน
1.Fig. 8-14 ลักษณะทางกายภาพของผู้หญิงและเด็กชาวมลาบรี
2. Fig.16 ภาพมลาบรีใช้กิ่งไม้ยาวขุดรากไม้ที่กินได้ในป่า
3. Fig.17 มลาบรีจุดไฟด้วยเหล็กและก้อนหิน
4. Fig.18-20 มลาบรีย่างเนื้อให้สุกในกระบอกไม้ไผ่ กินกับข้าวหุงสุก
5. Fig.21 มลาบรีดื่มน้ำที่เก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่ โดยนำใบไม้มาม้วนสำหรับรองน้ำเวลาดื่ม
6. Fig.22 มลาบรีทำพิธีบูชาผีทุกวันเพื่อขอให้ผีคุ้มครอง
7. แผนที่ “Ascertained zone of dispersion of the Phi Tong Luang”
8.fig. 25-26 มลาบรีพุ่งแหลนที่ได้มาจากชาวม้ง
9. Fig. 29-30 การทอเสื่อและตะกร้าจากหวาย
10. Fig. 31-33 เครื่องดนตรีของชาวมลาบรี latek (กีตาร์ไม้ไผ่),tanglang(เครื่องดนตรีที่คล้าย xylophone) และ tulu put หรือขลุ่ยคู่ (Double flute)
11. Fig.35-36 ลักษณะที่พักของมลาบรี
Fig.76 (สำหรับดูเปรียบเทียบ) มลาบรีที่อาศัยอยู่ในป่าที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของลาว (J.Rischel,2000) 
Fig.77 (สำหรับดูเปรียบเทียบ) มลาบรีในลาวชายชรากำลังถักเสื่อ (J.Rischel,2000) 
Fig.78  (สำหรับดูเปรียบเทียบ) กลุ่ม “Minor Mlabri” กลุ่มสุดท้ายในประเทศไทย ในปี 2005  (J.Rischel, 1997) 
Fig.79 (สำหรับดูเปรียบเทียบ) สมาชิกกลุ่ม subgroup ที่ใหญ่ที่สุดของมลาบรี ซึ่ง settled ในหมู่บ้านในจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ในประเทศไทย

Text Analyst พิมลวรรณ บุนนาค Date of Report 21 เม.ย 2559
TAG มลาบรี, ผีตองเหลือง, รูปแบบการตั้งชุมชน, การรวมกลุ่มทางสังคม, ข้อมูลทางประชากร, ลักษณะทางกายภาพ, ความเชื่อและพิธีกรรม, การรักษาโรค, การแลกเปลี่ยน, การบริโภค, ระบบการเรียนรู้, ภาษา, ดนตรี, น่าน, ประเทศไทย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง